วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 56 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 17:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
เรียบเรียงโดย พระมหาสมศักดิ์ ญาณโพโธ


สารบัญ

คำนำ
บทนำ
บทที่ ๑

๑. อินเดียก่อนพุทธกาล
๒. ยุคพระเวท
๓. ยุคพราหมณะ
๔. ยุคอุปนิษัท
๕. ทรรศนะของครูทั้ง ๖
๖. ลัทธิโลกายัต (จารวาก)

บทที่ ๒
๑. กำเนิดพระพุทธศาสนา
๒. งานประกาศศาสนา (Missionary Works)
๓. พระพุทธศาสนากับหลักการสังคมสงเคราะห์
๔. พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ
๕. หลักความเชื่อขั้นสูง ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา
๖. พระพุทธศาสนากับหลักการครองเรือน
๗. พระพุทธศาสนากับเรื่องกรรม
๘. พระพุทธศาสนากับสตรี
๙. การเข้าถึงพระพุทธศาสนา ๓ ประการ
๑๐. คำสอนของพระพุทธเจ้า
๑๑. ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

บทที่ ๓
๑. พุทธปรินิพพาน
๒. ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๓. บ่อเกิดของนิกายและหลักธรรมที่สำคัญ
๔. พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา
๕. พระเจ้ากนิษกะมหาราช
๖. บ่อเกิดของการสร้างพระพุทธรูป

บทที่ ๔
๑. กำเนิดพระพุทธศาสนามหายาน
๒. นิกายมหายานในสมัยพุทธกาล
๓. พระพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์คุปตะ
๔. มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก
๕. พุทธตันตรยาน
๖. พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าศีลาทิตย์
๗. พระพุทธศาสนาเสื่อมจากประเทศอินเดีย
๘. ธัมมปาละฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

บทที่ ๕
๑. พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา
๒. พระพุทธศาสนาในประเทศธิเบต
๓. พระพุทธศาสนาในประเทศจีน
๔. สรุปนิกายพระพุทธศาสนาในประเทศจีน
๕. พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น
๖. พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า

บทที่ ๖
๑. พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
๒. พระพุทธศาสนาในลานนาไทย
๓. พระพุทธศาสนาในสมัยสุโขทัย
๔. พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา
๕. พระพุทธศาสนาในสมัยธนบุรี
๖. พระพุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์
๗. การปฏิวัติการศึกษาของคณะสงฆ์สมัยใหม่

บรรณานุกรม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำนำ

เอกสารประกอบการสอนชุดวิชา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานี้ เป็นวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอนในชั้นปีที่ ๑ ตามหลักสูตรใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้เขียนได้เรียบเรียงจากตำราของท่านผู้เป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ได้พยายามเขียนให้เนื้อหากระชับไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่ดีเลิศกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็หาไม่ แต่ก็ได้พยายามค้นคว้าจากหนังสือหลายเล่มเพื่อให้ผู้ศึกษาเอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ได้เนื้อหาสาระที่ครอบคลุมประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาพอสมควร คงจะมีประโยชน์อยู่แก่ผู้ศึกษาไม่มากก็น้อย หากมีเนื้อหาบางส่วนบางตอนที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอีกหลายประเทศที่มิได้กล่าวถึง ที่นำมากล่าวเน้นเฉพาะประเทศที่สำคัญเท่านั้น และอีกประการหนึ่ง ก็จำกัดด้วยจำนวนของหน้ากระดาษด้วย ก็ขอให้ผู้ใคร่ต่อการศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าจากตำราของผู้เป็นบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาที่เขียนไว้แล้วมีอยู่เป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้ศึกษาค้นคว้ามีความรู้ทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี เอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ก็ต้องมีเนื้อหาบางส่วนที่ขาดตกบกพร่องหายไปบ้าง ถ้ามีเนื้อหาส่วนใดผิดพลาดไม่ถูกต้อง หรือขาดความสมบูรณ์ของเนื้อเรื่อง ผู้เขียนยินดีน้อมรับคำตำหนิจากบัณฑิตทุกท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ และยินดีจะปรับปรุงเนื้อหาสาระให้มีความสมบูรณ์ในการพิมพ์ครั้งต่อๆ ไป


ด้วยความปรารถนาดี

พระมหาสมศักดิ์ ญาณโพโธ
คณะศาสนาและปรัชญา
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 17:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

บทนำ

ศาสนา คืออะไร ศาสนา หมายถึง คำสั่งสอน คำสั่งสอนที่จะนับได้ว่าเป็นศาสนา(๑) นั้นจะต้องประกอบไปด้วยหลักสำคัญดังต่อไปนี้ :-

๑. ศาสดา ต้องมีศาสดาเป็นผู้ก่อตั้งศาสนา และศาสดาต้องมีอยู่จริงในทางประวัติศาสตร์ เช่น ศาสนายิวมีโมเสสเป็นศาสดา พระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา ศาสนาคริสต์มีพระเยซูเป็นศาสดา และศาสนาอิสลามมีพระนบีมหะหมัด เป็นต้น

๒. ศาสนธรรม ต้องมีศาสนธรรมคำสอนทางธรรมจรรยา คำสอนเป็นหลักของศาสนา และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุผลอันดีงาม เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่ คัมภีร์พระเวท พระพุทธศาสนา ได้แก่ คัมภีร์พระไตรปิฎก ศาสนายิว ได้แก่ คัมภีร์เก่า (Old Testament) ศาสนาคริสต์ ได้แก่ คัมภีร์ไบเบิล และศาสนาอิสลาม ได้แก่ คัมภีร์อัลกุรอาน เป็นต้น

๓. ศาสนพิธี ต้องมีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องมาจากคำสอนของศาสนา ซึ่งพิธีกรรมนี้ทำให้ศาสนาแยกออกจากลัทธิได้ พิธีกรรมของศาสนาต่างๆ เช่น พิธีสวมสายยัชโญปวีตหรือ (พิธีอุปานยัน) และพิธีล้างบาปในแม่น้ำคงคาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิธีอุปสมบทของศาสนาพุทธ พิธีสารภาพบาปของศาสนาคริสต์ และพิธีฮัจญ์ของศาสนาอิสลาม เป็นต้น

๔. ศาสนบุคคล ต้องมีคณะบุคคลทำหน้าที่โดยเฉพาะ สำหรับรักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนนั้นสืบต่อมา บุคคลคณะนี้เรียกว่า "พระ" ถือเป็นวรรณะและเป็นเพศพิเศษต่างกับสามัญชน เรียกว่า "สมณเพศ"

๕. ศาสนสถาน ต้องมีศาสนสถานเพื่อการประกอบศาสนกิจและศาสนพิธีต่างๆ ศาสนสถานของพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่ เทวสถานหรือเทวาลัย ของพระพุทธศาสนา ได้แก่ วัด โบสถ์ ศาลาการเปรียญ วิหาร ศาสนาคริสต์ ได้แก่ โบสถ์ วิหาร ศาสนาอิสลาม ได้แก่ สุเหร่าหรือมัสยิด เป็นต้น

๖. ศาสนิกชน ต้องมีศาสนิกชนผู้นับถือ เลื่อมใสศรัทธาในศาสนานั้นๆ ซึ่งศาสนิกชนดังกล่าวเหล่านี้มักเรียกตามชื่อของศาสนาที่ตนนับถือ เช่น ฮินดูชน พุทธศาสนิกชน คริสตศาสนิกชน อิสลามมิกชนหรือมุสลิม เป็นต้น

๗. การกวดขันเรื่องความจงรักภักดี ชาวตะวันตกเรียกว่า Fidelity หมายความว่า ถือศาสนาหนึ่งแล้ว จะไปถือศาสนาอื่นอีกไม่ได้ แม้แต่จะเป็นรูปเคารพบูชาปูชนียวัตถุของศาสนา หรือลัทธิอื่นก็ ถือเป็นบาปใหญ่หลวงทีเดียว

หลักทั้ง ๗ ประการนี้ เรายึดถือกันสำหรับที่จะเรียกคำสอนหรือลัทธิอันใดอันหนึ่งว่า "ศาสนา" ถ้าไม่ครบถ้วนทั้ง ๗ ประการนี้ เรามักจะไม่ยอมรับเป็นศาสนา

คุณค่าของศาสนา

ศาสนานั้นมีคุณค่านานาประการสุดที่จะพรรณนา คุณค่าของศาสนาที่มีผลโดยตรงต่อมนุษย์ เป็นคุณค่าทางจิตใจอันถือได้ว่าเป็นคุณค่าที่สูงกว่าวัตถุ คุณค่าของศาสนาที่พอจะกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

๑. เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ คือเป็นที่พึ่งทางใจ ทำให้มนุษย์ไม่รู้สึกอ้างว้างว้าเหว่จนเกินไป

๒. เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีของหมู่คณะ รวมไปถึงความสามัคคีในหมู่มนุษย์ชาติทั้งมวล

๓. เป็นบ่อเกิดแห่งการศึกษาทั้งในด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา

๔. เป็นบ่อเกิดแห่งจริยธรรม ศีลธรรม และคุณธรรม

๕. เป็นบ่อเกิดแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามทั้งหลาย

๖. เป็นเครื่องดับความเร่าร้อนทางใจ ทำให้ใจสงบเย็น

๗. เป็นดวงประทีปส่องโลกที่มืดมิดด้วยอวิชา ให้สว่างไสวด้วยวิชา

๘. เป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ เพราะว่าสัตว์ไม่มีศาสนา

ประเภทของศาสนา

ศาสนามีหลายประเภท เช่น มีพระเจ้าองค์เดียวบ้าง (Monotheism) หลายองค์บ้าง (Poly- theism) ไม่มีเทพเจ้าบ้าง (Atheism) เป็นต้น แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีอยู่สองอย่างคือ มีพระเจ้า ผู้สร้างสรรพสิ่ง เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน

สาเหตุของการเกิดศาสนา

สาเหตุของการเกิดศาสนานั้น มีหลายอย่างหลายประการตามความเชื่อของประชาชน แต่ละกลุ่มและสภาพสิ่งแวดล้อมที่โน้มน้าวให้เกิดความเชื่อเช่นนั้น ซึ่งพอจะรวมกล่าวได้ ๖ ประการคือ(๒)

๑. เกิดจากความไม่รู้ (อวิชชา)
๒. เกิดจากความกลัว
๓. เกิดจากความจงรักภักดี
๔. เกิดจากความอยากรู้เหตุผล (ปัญญา)
๕. เกิดจากอิทธิพลของคนสำคัญ
๖. เกิดจากลัทธิการเมือง

๑. เกิดจากความไม่รู้

ความไม่รู้เหตุผลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปรากฏการณ์ธรรมชาติก็คิดว่าเป็นอำนาจของเทพเจ้าบันดาลให้เป็นไป ซึ่งความไม่รู้ในเหตุผลทั้งหลายเหล่านั้น พอจะสรุปกล่าวโดยย่อๆ ได้ดังนี้

ความไม่รู้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ : คนในประเทศอินเดียไม่เคยปีนไปบนยอดเขาหิมาลัยอันปกคลุมด้วยหิมะอย่างหนาทึบในฤดูหนาว เมื่อถึงฤดูร้อนหิมะละลาย น้ำไหลลงมาเป็นแม่น้ำคงคา ชาวอินเดียไม่รู้ว่าต้นน้ำของแม่น้ำคงคาเกิดจากเหตุนี้ เข้าใจว่าเป็นน้ำที่ไหลมาจากสวรรค์ผ่านเศียร พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ และเข้าใจว่าแม่น้ำคงคานั้นศักดิ์สิทธิ์สามารถล้างบาปได้ คนจึงนิยมไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคาเพื่อล้างบาป ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์

ความไม่รู้เหตุผลทางดาราศาสตร์ : เมื่อเกิดจันทรุปราคาและสุริยุปราคาขึ้นเพราะการโคจร ของโลกรอบดวงอาทิตย์ ประชาชนที่ไม่รู้เหตุผลก็เรียกว่าเกิดราหูอมจันทร์ จึงยิงปืนบ้าง จุดประทัดบ้าง หรือตีเกราะเคาะไม้ เพื่อให้ราหูตกใจแล้วจะได้หนีไป เป็นต้น

ความไม่รู้เหตุผลทางชีววิทยา : คนบางคนเดินผ่านต้นไม้ใหญ่ เขาจะยกมือไหว้โดยเชื่อว่า ต้นไม้นั้นเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า ผู้ที่เดินทางผ่านภูเขาใหญ่ หรือภูเขาที่ประกอบด้วยหน้าผารูปแปลกๆ ชาวบ้านให้ชื่อภูเขานั้นตามที่ตนนึกว่าเหมือนอะไร แล้วก็แสดงความเคารพภูเขานั้น โดยถือว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่

ความไม่รู้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ : เมื่อเห็นรุ้งกินน้ำ ก็เข้าใจว่าเกิดจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เกิดขึ้น จึงทำนายไปตามความเข้าใจของตนว่า รุ้งกินน้ำทางทิศนี้ฝนจะตกชุก รุ้งกินน้ำ ทางทิศนั้นฝนจะแล้ง เป็นต้น

จากความไม่รู้เหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ทำให้คนยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดศาสนาประเภทเทวนิยมขึ้น

๒. เกิดจากความกลัว

เนื่องจากความไม่รู้เหตุผล เมื่อบุคคลได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ลมพายุ ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว มีดาวหางปรากฏขึ้น ก็เกิดความกลัวจึงขวนขวายหาที่พึ่งโดยคิดว่าปรากฏการณ์เหล่านั้น มีเทพเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้นจึงได้อ้อนวอนบนบานศาลกล่าวขอให้เทพเจ้าเหล่านั้น โปรดระงับสิ่งเหล่านั้นเสีย

๓. เกิดจากความจงรักภักดี

ความภักดี คือความเชื่อในสิ่งนั้นว่ามีอำนาจเหนือคน หรือเชื่อในบุคคลว่ามีความดีที่เชื่อถือได้ เกิดความเลื่อมใสในสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นว่ามีศักดิ์ศรีหรือมีจริยาวัตรที่ควรแก่การยกย่อง เมื่อเกิดความเชื่อความเลื่อมใสแล้ว ความเคารพ ความรักและความนับถือจะเกิดขึ้นตามมา กิจกรรมประกอบในสิ่ง ที่ตนมีความเชื่อความเลื่อมใสนั้น ได้แก่ การแสดงความเคารพทางกายมีการกราบไหว้บูชา เคารพทางวาจาได้แก่ การกล่าวคำสรรเสริญยกย่อง เคารพทางใจได้แก่ การเลียนแบบจริยาวัตร หรือปฏิบัติตามคำสอนของผู้นั้น ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดศาสนาขึ้น

๔. เกิดจากความอยากรู้เหตุผล

ความอยากรู้เหตุผลนั้น เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งจะต้องคิดค้นถึงเหตุผลที่แท้จริงว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมาจากสิ่งอะไร เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย ทรงพยายามที่จะแก้ทุกข์ทั้ง ๓ อย่าง โดยทรงดำริว่าในโลกมีสิ่งที่เป็นคู่ๆ ตรงกันเสมอ เช่น มีมืดแล้วก็มีสว่าง มีร้อนแล้วก็มีเย็น ฉะนั้น เมื่อมีแก่ก็ต้องมีไม่แก่ได้ มีเจ็บก็ต้องมีไม่เจ็บได้ มีตายก็ต้องมี ไม่ตายได้ ความอยากรู้เหตุผลเป็นเหตุให้เกิดศาสนาที่เป็นอเทวนิยม

๕. เกิดจากอิทธิพลของคนสำคัญ

การเคารพต่อวิญญาณของบรรพบุรุษ เป็นสิ่งที่ได้กระทำกันมาช้านาน ถ้าบุคคลนั้นเป็นที่สำคัญต่อชุมชน ก็สามารถเป็นจุดศูนย์รวมน้ำใจของคนส่วนมากไว้ได้อีกประการหนึ่ง การเคารพบุคคลสำคัญทางวรรณคดี เช่น พระรามและพระกฤษณะในเรื่องมหาภารตะ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย พราหมณ์ต้องการให้พระรามและพระกฤษณะเข้ามาเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เพื่อต้องการให้ประชาชนนับถือศาสนาฮินดูมากยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศแก่ประชาชนว่า พระรามและพระกฤษณะก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือพระวิษณุได้อวตารลงมานั่นเอง ประชาชนได้ทราบเช่นนั้นก็ไม่ว่าอะไร เพราะเขานับถือของเขาอยู่แล้วก็ยิ่งเป็นความดียิ่งๆ ขึ้น การเคารพนับถือวิญญาณของบุคคลสำคัญก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดศาสนาขึ้น

๖. เกิดจากลัทธิทางการเมือง

ความเชื่อถือทางลัทธิการเมือง ทำให้คนมีจิตใจเบี่ยงเบนออกไปจากศาสนาประจำชาติของตนได้ เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้กล่าวประณามศาสนาเป็นยาเสพติด เอาเปรียบสังคม เป็นกาฝากสังคม สูบเลือดเอาประโยชน์จากสังคม ผู้ที่เชื่อถือศาสนาเป็นพวกงมงาย ทำให้ประเทศชาติเจริญช้า ลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้คนเสมอกัน คนมีฐานะเสมอเหมือนกันหมด ประเทศที่เริ่มต้นเผยแพร่ลัทธิ นี้คือประเทศรัสเซียและจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นประเทศที่ถือลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นศาสนาประจำชาติ


.................................................................................

(๑) พลตรีหลวงวิจิตร วาทการ, ศาสนาสากล เล่ม ๑, พ.ศ. ๒๕๒๓, น. ๑
(๒) ศ. เสฐียร พันธรังษี, ศาสนาเปรียบเทียบ


มีต่อ >>> บทที่ ๑

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 17:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

บทที่ ๑

๑. อินเดียก่อนพุทธกาล
๒. ยุคพระเวท
๓. ยุคพราหมณะ
๔. ยุคอุปนิษัท
๕. ทรรศนะของครูทั้ง ๖
๖. ลัทธิโลกายัต (จารวาก)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 17:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๑. อินเดียก่อนพุทธกาล

ประเทศอินเดียมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก และในปัจจุบันนี้ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๓,๒๘๗,๒๖๓(๑) ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านคน ย้อนไปเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ชนเผ่าดราวิเดียน (Dravidians) หรือมิลักขะได้เข้ามาสู่ดินแดนส่วนนี้ ถิ่นเดิมของเผ่านี้อยู่ที่ไหนไม่ปรากฏชัด อารยธรรมที่ขุดค้นพบในอินเดียแสดงให้เห็นว่า ชนชาติทราวิดหรือดราวิเดียนนี้เป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อน ส่วนมากได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่แถบลุ่มแม่น้ำสินธุ ก่อนจะมาถึงยุคพุทธกาล เราอาจจะแบ่งช่วงระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย ออกได้ ๓ ยุคด้วยกัน คือ :-

๑. ยุคพระเวท
๒. ยุคพราหมณะ
๓. ยุคอุปนิษัท


.................................................................................

(๑) Manorama, Yearbook of India, 1996


มีต่อ >>> ๒. ยุคพระเวท

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 17:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๒. ยุคพระเวท

ยุคพระเวท เป็นยุคที่พวกอารยันอพยพมาจากใจกลางดินแดนของทวีปเอเชีย อพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาในลุ่มแม่น้ำสินธุ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียปัจจุบันนี้ ได้แก่ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของประเทศปากีสถาน พวกอารยันนั้นตามนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นพวกผิวขาว ที่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ทางแถบทะเลสาบแคสเปี้ยนระหว่างยุโรปกับเอเซีย เมื่อมีความขัดสน มีการเปลี่ยนแปลงทางดินฟ้าอากาศเกิดขึ้น พวกอารยันจึงได้แบ่งแยกสาขาอพยพไปหาแหล่งทำมาหากินใหม่ อันเป็นต้นตอของบรรพบุรุษชนชาติโรมัน ชนชาติกรีกในยุโรป และเป็นต้นตอของพวกอียิปต์ในอาฟริกาเหนือ

อีกพวกหนึ่งก็เพิ่งจะมาอพยพในราว ๑,๐๐๐ ปี ถึง ๑,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธกาลอพยพไปทางตะวันออก โดยถือเอาดวงอาทิตย์เป็นเป้าหมาย คือ การอพยพของชาวโบราณนั้นมีอยู่ ๒ วิธีด้วยกันคือ :-

๑. อพยพไปตามตะวันออกตามดวงอาทิตย์ขึ้น
๒. อพยพไปตามแม่น้ำพยายามหาทางออกทะเล

เพราะฉะนั้นพวกอารยันที่พยายามอพยพไปตามแม่น้ำ เพื่อหาทางออกอ่าวก็ได้แก่บรรพบุรุษของพวกกรีกและโรมัน ส่วนพวกอารยันที่อพยพไปตามดวงอาทิตย์ขึ้นก็ได้แก่ชนชาติพวกอิหร่านกับชาวอินเดียในยุคปัจจุบันนี้ อิหร่านกับอินเดียเป็นต้นตระกูลอันเดียวกัน เพิ่งจะมาแยกออกเป็น ๒ พวกตอนที่อพยพมาทางอัฟกานิสถาน เกิดมีความแตกแยกทางข้อคิดเห็นบางสิ่งบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อถือในพระเจ้าเกิดแตกแยกกันขึ้น ไม่สามารถจะรวมเป็นพวกอยู่ร่วมกันอีกต่อไป จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ สาขา คือ :-

- สาขาหนึ่งอพยพเข้ามาในเปอร์เซีย หรือประเทศอิหร่าน

- อีกพวกหนึ่งก็อพยพเข้าอินเดียทางช่องเขาไคเบอร์ (Khyber pass) ที่ตั้งอยู่ในปากีสถานต่อแดนอัฟกานิสถานปัจจุบันนี้

ชนชาติอารยันนั้นมีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เรียกว่า อริยกะบ้าง เรียกว่า อรยันบ้าง เรียกว่า อารยะ หรืออารยันบ้าง ชื่อทั้งหมดนี้มีความหมายอย่างเดียวกันคือมีความหมายว่า "เจริญ"

เนื่องจากชนชาติอารยันเป็นชาติที่มีความเจริญด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ยิ่งกว่าชนชาติดราวิเดียน (Dravidians) หรือพวกมิลักขะซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิม ชนชาติอารยันจึงมีอำนาจเข้าครอบงำปกครองอินเดียทั้งหมด พวกมิลักขะต้องตกอยู่ในอำนาจของพวกอารยันโดยสิ้นเชิง แต่ลัทธิความเชื่อของชนทั้งสองเผ่านี้ ผสมกลมกลืนเข้ากันได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีข้อแตกต่างกัน กล่าวคือ พวกดราวิเดียนหรือพวกมิลักขะมีความเชื่อถือและเคารพธรรมชาติเบื้องต่ำ เช่น แผ่นดิน ภูเขา ต้นไม้ ดิน น้ำ ไฟ ลม โดยถือว่าเป็นเทพเจ้าหรือมีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถอำนวยผลที่ตนต้องการ จึงทำการบูชายัญและกราบไหว้อ้อนวอน

พวกอารยันก็มีความเชื่อถือและเคารพบูชาธรรมชาติเบื้องบนมาก่อน เช่น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงไฟ พายุ ปฐพี เป็นต้น โดยยกขึ้นเป็นเทพเจ้า ตลอดจนเชื่อวิญญาณของบรรพบุรุษ หรือพวกผีประจำตระกูล เมื่อพวกอารยันอพยพเข้ามาสู่อินเดียแล้ว ก็ได้นำเอาศาสนามาด้วย ศาสนานั้นก็เรียกว่า "พระเวท" ศาสนาสมัยพระเวท คำว่า "เวทะ" แปลว่า แสงสว่าง หรือความรู้ ที่ชื่อว่าแสงสว่างหรือความรู้นั้น เพราะว่าชนชาติอารยันนั้น การบูชาพระเจ้าของเขาจะต้องอาศัยไฟเป็นสื่อเพื่อบูชาพระเจ้าที่สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ หากว่าไม่มีไฟเป็นสื่อแล้วก็ไม่สามารถจะนำสิ่งที่เราบวงสรวงไปให้พระองค์ได้ เพราะฉะนั้นพวกอารยันจึงตั้งกองฟืนก่อกองไฟไว้ แล้วเอาสิ่งที่ตนเองจะบูชาพระเจ้าเทลงไปบนกองไฟนั้น เช่น พวกขนม นม เนย ต่างๆ แล้วมีคำสวดอ้อนวอนให้พระเพลิงหรือพระอัคนี เป็นผู้นำสิ่งสักการะเหล่านี้ไปให้กับพระเจ้าที่ตนจะบูชา

เพราะฉะนั้นเมื่อไฟมีประโยชน์ต่อชนชาติอารยันทั้งในทางศาสนา ทั้งในทางขจัดความมืด ในเมื่อผู้อพยพจะอยู่ในที่ใดๆ ก็ตาม ก็ต้องอาศัยกองไฟเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายอย่างหนึ่ง และให้ความอบอุ่น เมื่อไฟเป็นประโยชน์ในทางหุงต้ม ป้องกันสัตว์ร้าย และยังเป็นสื่อที่จะนำสิ่งของที่จะสักการบูชาไปให้พระเจ้าในสรวงสวรรค์ ดังนั้น เมื่อนับถือนานเข้า ไฟก็เป็นพระเจ้าองค์หนึ่งขึ้นมา อยู่ระหว่างโลกกับสวรรค์

พระอัคนีไม่ได้อยู่ในสวรรค์ แต่อยู่ระหว่างโลกกับสวรรค์ เป็นเทวทูตนำข่าวสาส์นต่างๆ ของมนุษย์ไปแจ้งแก่เทวดาทราบ ซึ่งเป็นต้นตอของคำว่า "เวทะ" หรือเวท ซึ่งพวกอารยันนับถือเป็นต้นตอของคำว่าพระเวทเกิดจากไฟแสงสว่าง สมัยนั้นตัวอักษรของพวกอารยันยังไม่มีใช้ เพราะฉะนั้นคำสวดต่างๆ ในทางศาสนาก็ช่วยกันจำ มีพราหมณ์ปุโรหิตช่วยกันจำ คำสวดเหล่านั้นโดยมากแต่งเป็นฉันท์ ใจความนั้นเป็นไปในทำนองอ้อนวอนให้พระเจ้ารักษาสัตว์เลี้ยง พิทักษ์รักษาตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัย เพราะคนเราเวลาบูชามีอารมณ์กลัวในสิ่งใดก็จะตบแต่งถ้อยคำในทำนองวิงวอนในสิ่งนั้นอย่าให้มาทำร้ายตนเองได้

ภายหลังเมื่อพวกอารยันตั้งมั่นในอินเดียแล้ว ก็ได้รวบรวมขึ้นตั้งชื่อว่า "คัมภีร์เวท" อันเป็นปฐมยุคของพราหมณ์ที่เริ่มต้นด้วยคัมภีร์เวท คัมภีร์เวทหรือไตรเพทถือกันว่าเป็นศรุติ คือ คัมภีร์ที่ได้รับฟังมาจากเทพเจ้าผู้สูงศักดิ์โดยตรง คัมภีร์พระเวท ได้แก่

๑. ฤคเวท เป็นคำฉันท์ร้อยกรองคำอ้อนวอนขอพรจากเทพเจ้า และประจบเอาใจเทพเจ้าเหล่านั้น สวดสรรเสริญเทพเจ้าต่างๆ ให้คุ้มครองตน สัตว์เลี้ยง ครอบครัว เป็นต้น

๒. ยชุรเวท เป็นคำร้อยแก้ว ว่าด้วยหลักการในการทำพิธีกรรม และบวงสรวงเทพเจ้าต่างๆ

๓. สามเวท เป็นคำฉันท์ใช้สวดในพิธีบูชาถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์ และขับกล่อมเทพเจ้า

ต่อมาเมื่อถึงยุคพราหมณะ มีคัมภีร์เพิ่มขึ้นอีก ๑ คัมภีร์ เรียกว่า อาถรรพเวท เป็นคาถาอาคม มนต์ขลัง หรืออาถรรพณ์แก้เสนียดจัญไร ป้องกันสรรพภัยพิบัติต่างๆ นำสิ่งอันเป็นมงคลมาแก่ผู้สวด และนำผลร้ายไปให้ศัตรู

เทพเจ้าที่สำคัญในยุคแรกสุดของพระเวทมี ๔ องค์ด้วยกัน คือ :-

๑. พระสาวิตรี เทพเจ้าแห่งอาทิตย์ เนื่องจากพวกอารยันนับถือพระอาทิตย์มาก่อน

๒. พระวรุณ เทพเจ้าแห่งฝน

๓. พระอินทร์ เทพเจ้าผู้สร้างโลก เพราะพวกอารยันมองเห็นความจำเป็นที่โลกจะต้องมีผู้สร้าง พระอินทร์จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างสรรพสิ่ง

๔. พระยม เทพเจ้าแห่งความตาย เป็นผู้ปกครองชีวิตในปรโลกหลังจากมนุษย์ตายไปแล้ว เป็นเทพเจ้าทำหน้าที่ลงโทษคนที่กระทำผิด

นอกจากเทพเจ้าทั้ง ๔ องค์ดังกล่าวแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็มีเทพเจ้าเกิดขึ้นมาตามลำดับ เช่น พระรุทระ เทพเจ้าแห่งป่า ผู้เป็นใหญ่ในเขตป่าทั้งหมด เป็นเทพเจ้าที่มีความดุร้ายมากในเวลาโกรธ จึงเป็นที่เกรงกลัวของชาวอินเดียโบราณอย่างมาก พอๆ กับพระวรุณ และพระอัคนี เทพเจ้าแห่งไฟ

ในสมัยพระเวทนี้ พวกอารยันได้นับถือยกย่องเทิดทูนพระอินทร์ให้เป็นเทพเจ้าสูงสุด พระอินทร์นอกจากจะมีฐานะยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างโลกแล้ว ยังเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามอีกด้วย ในการทำสงคราม ก่อนจะยกกองทัพออกไปต่อสู้กับศัตรู กษัตริย์ในสมัยนั้นจะต้องทำพิธีบวงสรวงพระอินทร์เป็นพิเศษ เมื่อทำศึกชนะแล้วก็จัดพิธีบวงสรวงเป็นการเฉลิมฉลองอีกครั้งหนึ่ง พวกพราหมณ์ผู้ทำพิธีได้เพิ่มพูนความสุขสมบูรณ์ให้แก่พระอินทร์อย่างเต็มที่ ให้มีชายาหลายองค์ ให้เสพสุราได้ สุราชนิดนี้เรียกว่าน้ำโสม พิธีถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่มาก จะต้องมีคำสวดถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์ในคัมภีร์สามเวทเป็นพิเศษ

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยพระเวท คือ ระบบวรรณะ (Caste system) พวกอารยันหรืออริยกะนั้นเป็นพวกผิวขาว เจ้าของถิ่นเดิมคือพวกดราวิเดียน หรือพวกมิลักขะนั้นเป็นพวกผิวดำ นี้เป็นต้นเหตุการแบ่งชนชั้นวรรณะของคนอินเดีย ซึ่งได้ขยายออกมาเป็นวรรณะ ๔ คือ

๑. วรรณะกษัตริย์ มีหน้าที่รักษาเขตแดนและขยายเขตแดน หรือป้องกันเขตแดนเวลาถูกข้าศึกภายนอกรุกราน

๒. วรรณะพราหมณ์ มีหน้าที่ศึกษาในเรื่องไตรเพท และเป็นผู้นำทางการศึกษาและประกอบพิธีทางศาสนา

๓. วรรณะแพศย์ เป็นคนสามัญ ได้แก่ ชาวนา ชาวสวน มีหน้าที่ทางการค้าขาย

๔. วรรณะศูทร ได้แก่ พวกกรรมกร คนงาน ทำหน้าที่รับจ้างทั่วๆ ไป


มีต่อ >>> ๓. ยุคพราหมณะ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 18:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๓. ยุคพราหมณะ

ต่อจากยุคคัมภีร์พระเวท เมื่อชาวอารยันอพยพเลื่อนจากแม่น้ำสินธุลงมาในภาคกลางของอินเดีย คือ ลุ่มแม่น้ำคงคา เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอยู่สบายแล้ว ก็ได้ตั้งแว่นแคว้นขึ้นเป็นรากฐานทางสังคมฮินดูเรียบร้อยแล้ว ก็มีวิวัฒนาการทางความคิดคือมีพวกปุโรหิตอีกพวกหนึ่งเห็นว่า คัมภีร์เวทเหล่านั้นคำสวดต่างๆ มีมากมายเหลือเกิน และบางทีคำสวดเหล่านั้นจะต้องทำคำอธิบาย ด้วยว่าต้องอธิบายการบูชาอย่างไร จึงจะได้ผลอย่างนั้นๆ พวกปุโรหิตพวกนี้จึงได้แต่งคัมภีร์อรรถกถาคัมภีร์เวทให้ชื่อว่า "พราหมณะ"

ในสมัยพราหมณะนี้พราหมณ์ได้คิดสร้างเทพเจ้าที่พิเศษขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง คือ พระพรหม เนื่องจากพระอินทร์แม้จะเป็นเทพเจ้าชั้นสูงเป็นผู้สร้างโลกสร้างสรรพสิ่งก็จริง แต่มีผู้นับถือเคารพบูชาน้อยลง และไม่สามารถจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง ส่วนเทพเจ้าผู้สร้างโลก และสรรพสิ่งในโลกนั้นคือพระพรหม โดยถือกันว่าพระพรหมเป็นเทพเจ้าผู้บริสุทธิ์ เพราะไม่มีตัวตน ไม่มีลูก ไม่มีเมีย ไม่เกี่ยวข้องทางกามารมณ์เหมือนพระอินทร์ แล้วประกาศแก่ประชาชนทั้งหลายพูดว่า พระพรหมนั้นไม่ทำความเสียหายเหมือนพระอินทร์แน่นอน เพราะว่าพระพรหมนั้นเป็นเพียงสภาวธรรมเท่านั้นในคัมภีร์อุปนิษัท มีการพูดถึงพระพรหมไว้เป็น ๒ ลักษณะ(๑) คือ

ลักษณะที่หนึ่ง พูดถึงพระพรหมในแง่โลกียะ (Cosmic) ซึ่งในแง่นี้ พระพรหมเป็นสิ่งที่ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ดีทั้งปวง (สคุณะ) และถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษทุกอย่าง (สวิเศษะ) พระพรหมในลักษณะนี้เรียกว่า อปรพรหมหรืออีศวร อปรพรหมหรืออีศวรเป็นภาคปุคคลาธิษฐานของสิ่งสัมบูรณ์เป็นพระเป็นเจ้าที่มีตัวตนหรือรูปร่างอย่างมนุษย์

ลักษณะที่สอง พูดถึงพระพรหมในแง่โลกุตตระ (Acosmic) ซึ่งในแง่นี้ พระพรหมคือสิ่งสมบูรณ์ พระพรหมในลักษณะนี้เรียกว่า อปรพรหม เป็นภาคธรรมมาธิษฐานของพระเป็นเจ้า ซึ่งได้แก่สิ่งสมบูรณ์นั่นเอง ที่ปราศจากคุณลักษณะทุกอย่าง (นิรคุณะ) ปราศจากคุณวิเศษทั้งปวง (นิรวิเศษะ) และไม่อาจใช้คำพูดหรือภาษาพูดบรรยายได้ (อนีรวจนียะ) พระพรหมในแง่โลกุตตระนี้มีชื่อเรียกว่า ปรพรหม เป็นสิ่งสมบูรณ์ซึ่งดำรงรงอยู่ในฐานะอุตตรภาวะ เป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ และอธิบายไม่ได้ ปรพรหมหรือพรหมันในสถานะนี้เป็นมูลการณะของสรรพสิ่ง เป็นปฐมเหตุของสรรพสิ่ง แม้แต่พระเจ้าสูงสุดที่เรียกว่าอิศวร ก็เป็นการสำแดงให้ปรากฏของสิ่งสมบูรณ์นี้ วิธีเดียวที่จะอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของพระพรหมได้ก็คือโดยการปฏิเสธ อย่างเช่นที่ ยาชญวัลกยะ กล่าวไว้ปรากฏอยู่ในพฤหทารัณยกอุปนิษัทว่า "สิ่งซึ่งไม่มีเสื่อมสลายที่ผู้ฉลาดเคารพบูชานี้ เป็นสิ่งที่ไม่หยาบ ไม่ปราณีต ไม่สั้น ไม่ยาว ไม่มีเงา ไม่มีความมืด ไม่มีอากาศ ไม่มีช่องว่าง ไม่มีอุปาทาน ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีรูป ไม่มี คำพูด ไม่มีจิต ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีลมหายใจ ไม่มีหู ไม่มีปาก ไม่มีข้างนอกข้างใน ไม่กินอะไรและ ไม่มีอะไรจะกินมัน....." รวมความว่า ในสมัยพราหมณะนี้ พระพรหมได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง สรรพสิ่งมาจากพระพรหม สัตว์โลกทั้งมวลมาจากพระพรหม พระพรหมเป็นปรมาตมัน เป็นอัตตาสูงสุด เป็นอมตะมองเห็นด้วยสายตาไม่ได้ เป็นอนาทิ ไม่มีเบื้องต้น และเป็นอนันตะ ไม่มีที่สุด เป็นเบื้องต้นแห่งปฐมวิญญาณทั้งปวง

แต่ถึงกระนั้น การที่พราหมณ์สร้างพระพรหมที่เรียกว่า ปรพรหม ให้ไม่มีเนื้อ มีตัวนั้น มีลักษณะเป็นจิต และจิตก็ไม่มีรูปร่างอย่างมนุษย์ เมื่อเทพเจ้ามีลักษณะเป็นจิต การบวงสรวงบูชาเพื่อขอให้อำนวยผลประโยชน์ต่างๆ ย่อมไม่สามารถกระทำได้ไม่เป็นที่ชอบใจของคนทั่วไปเท่าใดนัก คนไม่เห็นด้วย เพราะไม่สามารถจะบูชาปรพรหมซึ่งเป็นสภาวธรรมนั้นได้ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

ดังนั้น เพื่อให้ตรงกับความประสงค์ของประชาชน พราหมณ์จึงแก้ไขเรื่องพรหมอีกนิดหน่อย แก้ไขจากปรพรหมมาเป็น อปรพรหม อปรพรหมก็คือ พรหม หรืออิศวร เป็นเทพเจ้าที่มีตัวมีตน ไม่เป็นนามธรรมเหมือนอย่างปรพรหม สามารถจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้เคารพบูชาได้ แล้วจึงประกาศแก่ประชาชนว่า ความจริงพระพรหมนั้นมีตัวตนและมีถึง ๔ หน้า สามารถมองดูทิศทั้ง ๔ ได้ในเวลาเดียวกัน และดูความเป็นไปของชาวโลกได้ทุกหนทุกแห่งพร้อมกันได้

เมื่อพระพรหมมีตัวตน และยังมีถึง ๔ หน้าอีก ซ้ำยังไม่มีภรรยา ไม่ยุ่งเกี่ยวข้องด้านกามารมณ์เหมือนพระอินทร์ ประชาชนต่างก็นิยมชมชอบพอใจ แนวความคิดของพราหมณ์ที่สร้างพระพรหมเป็นที่พอใจของประชาชนนี้ ทำให้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลเหนือจิตใจของชาวอินเดียอย่างไม่เสื่อมคลาย

พราหมณ์ได้กำหนดหน้าที่คือสร้างเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมา ๓ องค์(๒) คือ

๑. พระพรหม ผู้สร้าง (Creator)
๒. พระวิษณุ หรือนารายณ์ ผู้รักษา (Preserver)
๓. พระศิวะ หรืออิศวร ผู้ทำลาย (Destroyer)

เทพเจ้าทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า "ตรีมูรติ" แปลว่า สามรูป ในคัมภีร์พระเวท พระพรหมได้สร้างมนุษย์ในระบบวรรณะ ๔ ไว้ เพื่อสันติจากอวัยวะต่างๆ ของพระองค์เอง ดังนี้

๑. ทรงสร้าง พราหมณ์ จากพระโอษฐ์ของพระองค์
๒. ทรงสร้าง กษัตริย์ จากพระพาหา (แขน) ของพระองค์
๓. ทรงสร้าง แพศย์ (พวกพ่อค้า) จากพระโสณี (ตะโพก)
๔. ทรงสร้าง ศูทร (กรรมกร) จากพระบาท

ด้วยเหตุนี้เอง ระบบชนชั้น หรือระบบวรรณะ ๔ ในสังคมอินเดียจึงมีมาตั้งแต่ยุคพราหมณะ ในอดีตเรื่อยมาจนมาถึงปัจจุบันนี้ ไม่มีใครจะสามารถทำลายล้างได้ คงจะมีอยู่ตลอดไปตราบนานเท่านาน

ในยุคพราหมณะนี้ เมื่อแนวความคิดของพราหมณ์ที่สร้างพระพรหมจนเป็นที่พอใจของประชาชนทั่วไป ทำให้พราหมณ์คาดหวังผลอันยิ่งใหญ่ในศาสนาของตน จึงได้สร้างลัทธิพิเศษขึ้นมาอีก

ลัทธินับถือยกย่องเพศพรหมจรรย์

ตามแนวความคิดเดิมของพราหมณ์ก็อยู่กันเป็นครอบครัว สามีเป็นพราหมณ์ ภรรยาเป็นนางพราหมณี มีบุตรหลานสืบสกุลต่อไปและสามารถประกอบอาชีพได้ด้วย แต่เมื่อมีแนวความคิดที่สร้างพระพรหมไม่ให้มีเมียขึ้นมา และไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ ทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์กว่าเทพเจ้าทั้งหลาย เช่น พระอินทร์เป็นเทพเจ้าที่มีเมียมาก ความเสียหายทางกามคุณก็เกิดขึ้น เพราะความไม่อิ่มทางกามารมณ์ ถึงกับไปทำชู้กับภรรยาของฤาษี ประชาชนรังเกียจเทพเจ้าที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อย มีความประพฤติเหมือนคนธรรมดา จึงหันไปยกย่องนับถือพระพรหมที่มีความบริสุทธิ์กว่าเทพเจ้าองค์อื่นๆ

ต่อมามีผู้คิดเลียนแบบที่จะประพฤติอย่างพรหม คือ สละทรัพย์สมบัติ ไม่มีภรรยา ออกไปอยู่โดดเดี่ยวปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังบำเพ็ญภาวนา ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จึงเกิดมีพราหมณ์ ๒ ประเภท คือ

๑. พราหมณ์ที่ยังมีลูกมีเมีย ประกอบอาชีพอยู่เป็นครอบครัว เรียกว่า คฤหบดีพราหมณ์

๒. พราหมณ์ที่ไม่มีลูกไม่มีเมีย สละทรัพย์สมบัติออกไปบำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ตามลำพัง ทำจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง เรียกว่า สมณพราหมณ์

ดังนั้น จึงเกิดสถาบันใหม่ในสังคมของอินเดีย คือ ผู้ที่สละทรัพย์สมบัติ สละบ้านเรือน ไม่มีบุตรภรรยา สละความสุขในเพศคฤหัสถ์ ออกไปอยู่โดดเดี่ยวรักษาศีลบำเพ็ญภาวนา ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เรียกว่า เพศพรหมจรรย์ จึงมีผู้เคารพนับถือนำสิ่งของมาถวายถือว่าได้บุญ และผู้ประพฤติเช่นนั้นยังหวังที่จะได้บรรลุคุณธรรมพิเศษ มีฤทธิ์เดชมีอำนาจ มีผู้เคารพนับถือเหมือนเทพเจ้าขึ้นมา

พวกพราหมณ์ได้กำหนดปรัชญาในการดำเนินชีวิตของพวกเขาเอง ซึ่งมีระดับขั้นตอนอยู่ ๔ ระดับ หรือเรียกว่าอาศรม ๔ ดังนี้

๑. พรหมจารี เป็นวัยที่ต้องศึกษาเล่าเรียน จะเริ่มทำพิธีเล่าเรียนเรียกว่า "อุปานยัน" แปลว่า นำชีวิตเข้าสู่ความรู้ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ เบื้องแรกจะต้องให้พราหมณ์ผู้เป็นครูอาจารย์เป็นผู้สวมคล้องด้ายสายศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า ยัชโญปวีต เท่ากับเป็นการประกาศและปฏิญญาณตนว่าเป็นพรหมจารีที่จะต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาเชื่อฟังครูอาจารย์ ในระหว่างเป็นพรหมจารีนี้ต้องมีความประพฤติเรียบร้อย ต้องเคารพต่ออาจารย์ทุกโอกาส และต้องเรียนอยู่ในสำนักของอาจารย์อย่างน้อย ๑๒ ปี จึงสำเร็จการศึกษา

๒. คฤหัสถ์ เป็นการแสวงหาความสุขทางโลกตามฆราวาสวิสัย เมื่อกลับมาสู่บ้านแล้ว จะต้องทำพิธีแต่งงานและมีบุตรอย่างน้อย ๑ คน เพื่อใช้หนี้บรรพบุรุษ และเป็นการป้องกันมิให้บิดามารดาตกนรกขุม "ปุตตะ" จะต้องประกอบอาชีพให้มีฐานะมั่นคงในทางฆราวาส ปฏิบัติตามกฎของผู้ครองเรือน ตลอดจนเอาใจใส่ในการประกอบยัญพิธี

๓. วนปรัสถ์ ผู้ที่สร้างฐานะในทางคฤหัสถ์ได้แล้ว มีบุตรธิดาสืบสกุลแล้วก็ยกทรัพย์สมบัติให้บุตรธิดาแล้วออกไปอยู่ในป่า เพื่อบำเพ็ญเพียรทางใจทำคุณงามความดีต้องออกไปหาความสุขสงบจากความวิเวกในป่า เรียกว่า วนปรัสถ์ ยังมีภรรยาเหมือนกับบุคคลทั่วไป แต่มุ่งบำเพ็ญความดีเพื่อสัมปรายภพให้มากยิ่งขึ้น

๔. สันยาสี พิธีบวชเป็นสันยาสี คุรุจะทำพิธีสวดมนต์บูชาพระเจ้า แล้วสอนให้ผู้บวชว่าตาม เสร็จแล้วคุรุจะอบรมให้ผู้ถือบวชทราบทางปฏิบัติ การถือบวชเป็นสันยาสี เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตของผู้ที่หวังประโยชน์สูงสุด จะต้องสละโลกและบุตรภรรยา ความวุ่นวาย ออกบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าตลอดชีวิต เพื่อจุดหมายปลายทางของชีวิตคือโมกษะ

ลัทธิอาตมัน

ตามความคิดดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์นั้นถือว่า ความดี ความชั่ว อยู่ที่เทพเจ้า มนุษย์จะดีจะชั่วอยู่เทพเจ้าจะบันดาล ผู้ที่อยากได้ความดีก็พยายามเซ่นสรวงบูชา เพื่อให้เทพเจ้าพอใจจะได้บันดาลให้เกิดความดีต่างๆ

เมื่อพราหมณ์สร้างพระพรหมขึ้นให้เป็นผู้บริสุทธิ์ทางความประพฤติ ประชาชนพอใจในความบริสุทธิ์ของพระพรหม จึงประพฤติเลียนแบบพรหมเรียกว่า "พรหมจรรย์" ผลของการประพฤติพรหมจรรย์เกิดขึ้นจริง ประชาชนเคารพนับถือมากผู้ที่เสียสละความสุขทางโลก ประพฤติพรหมจรรย์และสั่งสอนให้คนประพฤติตามได้ ได้รับเกียรติสูงส่งทำให้คนมองเห็นว่าความดีความชั่วนั้นอยู่ที่ตัวเอง

ดังนั้น แนวความคิดของมนุษย์เริ่มเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง คือ รู้ว่าความดีความชั่วอยู่ที่การกระทำของตนเอง ลัทธิอาตมันหรือลัทธิตนเอง เป็นแนวความคิดใหม่ของพราหมณ์ก็เกิดขึ้น คือให้ความสำคัญแก่ตนเอง ได้แก่ จิตใจโดยตรง ความดีอยู่ที่ตนเอง ไม่ต้องไปเที่ยวอ้อนวอนหรือขอจากผู้อื่น กฎแห่งกรรมคือการกระทำของตนมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เริ่มขึ้นจากลัทธิอาตมัน ซึ่งสอนให้มนุษย์รู้จักรับผิดชอบชั่วดีด้วยตนเอง

หลักความดีสูงสุดในคัมภีร์พระเวท

การปฏิบัติธรรมคือความดีสูงสุด ความดีสูงสุดตามทัศนะของปรัชญาพระเวท คือการนำเอาอาตมันเข้าสู่ปรมาตมันเพื่อหลุดพ้นจากสังสารวัฏแห่งชีวิต หรือการเวียนว่ายตายเกิด การดำเนินชีวิตให้ถึงความดีสูงสุดคือโมกษะนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลัก ๔ ระดับ คือ :-

๑. กรรมมรรคหรือกรรมโยคะ คือการกำหนดว่ากรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ชีวะของแต่ละคนย่อมเวียนว่ายตายเกิด มีสุข มีทุกข์ โดยอาศัยแรงแห่งกรรม ให้พิจารณาว่ากรรมใดที่เป็นสาเหตุให้เวียนว่ายตายเกิด จงละกรรมนั้นเสีย และกรรมใดเป็นสาเหตุให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จงปฏิบัติกรรมนั้น

๒. ชญาณมรรคหรือชญาณโยคะ คือให้การกำหนดปฏิบัติโดยความรู้แจ้ง ความเห็นชอบ อันเป็นผลมาจากการพิจารณาโดยบริสุทธิ์ ไม่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ชีวะใดๆ มุ่งแต่การสร้างประโยชน์ และความดีงามให้แก่ส่วนรวม

๓. ภักติมรรคหรือภักติโยคะ คือให้กำหนดปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีต่อคำสอนของเทพเจ้า

๔. ราชมรรคหรือราชโยคะ คือมุ่งปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกทางใจ บังคับใจให้อยู่ในอำนาจด้วยการบำเพ็ญโยคะ คือบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์ เพื่อให้จิตพ้นจากกิเลส และมีลำดับขั้นตอนในการบำเพ็ญเพียรทางจิตดังนี้

- โสลกยัม คือการบำเพ็ญเพียรกระทั่งจิตไปสู่โลกทิพย์เสมือนไปอยู่เฉพาะหน้าพระผู้เป็นเจ้า ได้แก่ พระอิศวรหรือพระศิวะ

- สมิปยัม คือการเข้าฌานฟอกจิตให้สะอาดจนมองเห็นพระเจ้า

- สรุปยัม คือการฟอกจิตให้แน่วแน่จนตัวกลืนหายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า

- สยุชยัม คือการเข้าถึงพระเจ้าจนตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันเป็นจุดหมายสูงสุดของสันยาสีทั้งหลาย เรียกว่าการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงคือโมกษะ อันเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


.................................................................................

(๑) รศ.ดร. สุนทร ณ รังษี, ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ, พ.ศ. ๒๕๓๗, น. ๔๓
(๒) พระญาณวโรดม, ศาสนาต่างๆ, พ.ศ. ๒๕๒๙, น. ๓๓


มีต่อ >>> ๔. ยุคอุปนิษัท

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ค. 2010, 06:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๔. ยุคอุปนิษัท

ศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒนาการมาจากยุคพราหมณะก็มาเข้าสู่ยุคที่ ๓ ซึ่งเป็นยุคสมัยอุปนิษัท ใกล้พุทธกาลประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ ปี เมื่อชาวอินเดียมีความเป็นอยู่แน่นอนลงไปแล้ว ทุกคนก็เริ่มฉุกคิดค้นหาความจริงในชีวิต คือเห็นว่าลำพังการบูชาบวงสรวงด้วยวิธียัญญกรรมต่างๆ อย่างที่เคยประพฤติมานั้น ไม่สู้จะได้ผลอะไรแต่อย่างใด ไม่สามารถทำบุคคลให้พ้นทุกข์ได้ ทำจิตใจให้สบายได้ นอกจากว่าเป็นการปลอบใจ หรือว่าเป็นการบำรุงขวัญชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง ไม่สามารถจะเอาชนะทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด

เพราะฉะนั้นจึงมีพวกที่ต้องการแสวงหาความจริงพวกหนึ่ง หลีกเร้นปลีกวิเวกออกไปตามป่าเขาลำเนาไพร แล้วก็พยายามใช้ปัญญาของตนขบคิดหาความจริงว่า ชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน ซึ่งนักคิดที่จะตอบปัญหาเหล่านี้ เมื่อขบคิดไปก็พบข้อคิดจริงบางอย่างบางประการที่พวกเขาพบเข้า จึงได้รวบรวมขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่งให้ชื่อว่า "อุปนิษัท"

คำว่า "อุปนิษัท" นั้นหมายความว่า นั่งเข้ามาตีวงใกล้ๆ หรือนั่งเข้ามาฟังใกล้ๆ เพราะว่าพวกฤาษีชีไพรที่ไปขบคิดปัญหาทางปรัชญาทางชีวิตพวกนี้ สมัยโบราณไม่มีเครื่องขยายเสียงไมค์โครโฟน ถ้าไม่เข้ามาตีวงใกล้ๆ กับอาจารย์ ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจว่าอาจารย์พูดอะไร สมัยที่ปรัชญาอุปนิษัทเกิดขึ้นเป็นยุคที่ใกล้กับพุทธกาลแล้ว เป็นยุคที่นักคิดชาวอินเดียเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ผูกพันกับระบบประเพณีดั้งเดิมซึ่งสมัยพระเวทถ่ายทอดกันมา เพราะฉะนั้นจึงมีนักคิดอิสระที่มีความคิดแหวกแนวออกไปจากระบบประเพณีดั้งเดิมของพระเวทออกไป

พวกนักคิดอิสระเหล่านี้ปฏิเสธพระเวท พวกที่ปฏิเสธมีอยู่หลายพวกในประวัติวรรณคดีบาลีได้กล่าวถึงชื่อ พวกปริพาชก สันยาสี นิครันถะ และพวกครูทั้ง ๖ พวกนี้ล้วนแต่เป็นนักคิดอิสระทั้งนั้นที่ไม่ใช่พวกพราหมณ์ รวมทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

เพราะฉะนั้นเราจึงแบ่งศาสนาและทัศนะต่างๆ ของอินเดียออกเป็น ๒ พวก(๑) ใหญ่ๆ ได้ดังนี้

๑. พวกไวทิกวาทะ

วาทะที่ยังนับถือพระเวทเป็นปทัฏฐาน ลัทธิศาสนาในพวกนี้ยอมรับประเพณีของพราหมณ์ ไม่ปฏิเสธพระเวท ซึ่งภายหลังได้เกิดเป็น ๖ ลัทธิใหญ่ เรียกว่า ษัททรรศนะ ประกอบด้วยลัทธิ สางขยะ มีมามสา เวทานตะ ไวเศษิกะ นยายะ และโยคะ ๖ ลัทธินี้สอนว่ามีอัตตาทั้งนั้น แนวความคิดของปรัชญาทั้ง ๖ สาขา มีดังนี้ :-

๑) ลัทธิสางขยะ ลัทธินี้ถือกันว่าเป็นปรัชญาฮินดูที่เก่าแก่ที่สุด ท่านมหากบิลมุนี เป็นผู้ตั้งขึ้น คำว่า สางขยะ มาจากคำว่า สางขยา แปลว่า การนับ หรือจำนวน ที่มีชื่ออย่างนี้เพราะหลักธรรมหรือปรัชญาของลัทธินี้ กล่าวถึงตัตตวะหรือความจริงแท้ ๒๕ ประการ ซึ่งอาจย่อลงเป็น ๒ คือ (๑) ปุรุษะ อันได้แก่ อาตมัน หรือวิญญาณสากล (๒) ประกฤติ หรือปกติ คือสิ่งที่เป็นต้นเหตุหรือต้นกำเนิดของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

สาระปรัชญาของลัทธินี้ถือว่า :-

๑. สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมเกิดมาจากเหตุและผลของมันเอง สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องเกิดจากสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว สิ่งที่มีอยู่ต้องเกิดมาจากสิ่งที่มีอยู่ จะเกิดจากสิ่งที่ไม่มีไม่ได้

๒. ถือว่าไม่มีพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก พระเจ้าไม่มีตัวตนจะมาสร้างสิ่งที่มีตัวตนได้อย่างไร

๒) มีมามสา หรือปูรวมีมามสา ผู้ที่เป็นเจ้าลัทธิปรัชญามีมามสาคือ ไชมินิ คำว่า มีมามสา แปลว่า พิจารณาหรือสอบสวน หมายถึงการสอบสวนพระเวท ให้ใช้ความไตร่ตรองในเหตุผลและทำพิธี การเสียสละเครื่องพลีบูชานั้นเป็นหลักใหญ่ ปรัชญามีมามสากล่าวถึงเรื่องวิญญาณ แสดงความเชื่อว่า วิญญาณเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เชื่อว่าโลกและวิญญาณเป็นอมตะและเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท แต่มิได้กล่าวถึงผู้สร้างโลก โดยถือว่าพระเจ้าสูงสุดไม่มีความจำเป็น ตามทรรศนะของมีมามสา โลกนี้ไม่มีใครสร้างและจะไม่มีการแตกสลาย มันจะดำรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ไม่มีกาลไหนๆ ที่สากลจักรวาลจะมีลักษณะผิดแผกแตกต่างไปจากที่มันเป็นอยู่ในเวลานี้

๓) เวทานตะ ผู้ที่เป็นเจ้าลัทธิปรัชญาสาขานี้คือ พาทรายณะหรือวยาส คำว่า เวทานตะ แปลว่า ตอนท้ายแห่งพระเวท ปรัชญาสาขานี้แสดงว่าความแท้จริงมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ ปรมาตมัน ปรมาตมันแตกตัวเป็นอาตมัน คือวิญญาณของบุคคล อาตมันมีลักษณะเหมือนกับปรมาตมันทุกอย่าง มันสิงอยู่ในตัวคนทุกคน คนทุกคนจึงมีจิตเป็นพระพรหมอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่ทราบเท่านั้นเอง ปรัชญาหลักของเวทานตะ คือ :-

"ความไม่รู้เท่าทันความจริงที่ว่า จิตของเราแต่ละคนเป็นอาตมัน เป็นอย่างเดียวกับจิตของพรหมคือปรมาตมัน คนเราจึงกระทำกรรมและถือกรรมต่างๆ เป็นตัวตนของเขา ดังนั้น จึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ เมื่อใดกำจัดอวิชชาความไม่รู้ได้แล้ว อาตมันก็จะเข้าร่วมกับปรมาตมัน คนที่สำเร็จจะกลายเป็นพรหม"

๔) ไวเศษิกะ คำว่า ไวเศษิกะ มาจากคำว่า วิเศษ ซึ่งหมายถึงลักษณะที่ทำให้สิ่งหนึ่งต่างไปจากอีกสิ่งหนึ่ง เป็นทฤษฎีวิเคราะห์ สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จริงชั่วนิรันดร ซึ่งตามทฤษฎีของลัทธิไวเศษิกะมีอยู่ ๙ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ กาละ ทิศ หรือ เทศะ หมายถึงสถานที่ หรือสิ่งที่มีการกินเนื้อที่ อาตมัน ใจ หรือมนะ ผู้ก่อตั้งปรัชญาสาขานี้คือ ท่านกณาทะ ลัทธินี้เป็นปรัชญาคู่แฝดกับลัทธินยายะ บางครั้งจึงเรียกรวมกันว่า นยายะไวเศษิกะ ทั้งนี้เพราะปรัชญาทั้งสองระบบมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือ ถือว่าโมกษะความหลุดพ้นจากทุกข์ของชีวาตมัน สามารถเข้าถึงได้ด้วยการขจัดอวิชชาหรือความโง่เขลาให้หมดไป และทำความรู้แจ้งในสัจจธรรมให้เกิดขึ้น

๕) นยายะ ปรัชญานยายะสาขานี้ ฤาษีโคตมะหรือเคาตมะ เป็นคนแรกที่ตั้งปรัชญานยายะขึ้น

คำว่า นยายะ แปลว่า นำไป หรือโต้แย้ง การโต้แย้งด้วยเหตุผลทางตรรกวิทยา เป็นระบบปรัชญาที่หนักไปในทางส่งเสริมสติปัญญาของมนุษย์ โดยอาศัยการอนุมาน (Inference) คล้ายกับหลักการของอริสโตเติล เช่นว่า

ที่ภูเขามีไฟ (ประติชญา)
เพราะที่ภูเขามีควัน (เหตุ)
ที่ใดมีควันที่นั่นมีไฟ เช่น ที่เตาหุงข้าว (อุทาหรณ์)
ที่ภูเขามีควันซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยไฟ (อุปนัย)
เพราะฉะนั้นที่ภูเขามีไฟ (นิคม)

ส่วนของอริสโตเติล มีเพียง ๓ ขั้นตอน เช่นตัวอย่างข้างบนนี้ว่า

ที่ใดมีควันที่นั่นมีไฟ (Major Premise)
ที่ภูเขามีควัน (Minor Premise)
เพราะฉะนั้นที่ภูเขามีไฟ (Conclusion)

หลักสำคัญของปรัชญานยายะ คือให้พิจารณาถึงความทุกข์ ความเกิด ความเคลื่อนไหวในระหว่างมีชีวิตอยู่ และความสำคัญผิด ด้วยการพิจารณาหาความจริง ตามความเหมาะแก่เหตุผล สอนให้บุคคลเลิกละอกุศล ให้มีเมตตาต่อกัน มีสัจจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน

๖) โยคะ ปรัชญาสาขานี้ ท่านปตัญชลี เป็นผู้ตั้งขึ้น คำว่า โยคะ แปลว่า การประกอบ คือการลงมือทำให้เกิดผล ปรัชญาลัทธินี้มีทรรศนะไปข้างมีเทพเจ้าผู้ทรงอำนาจ มีอำนาจเหนือมนุษย์ คือพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่หรือปรมาตมัน อันเป็นปฐมวิญาณของสัตว์ทั้งหลาย ปรัชญาลัทธินี้กำหนดให้ตั้งสมาธิ คือการเพ่งให้เป็นเอกัคคตา เพื่อให้วิญญาณเล็กน้อยทั้งหลายเข้าร่วมอยู่ในวิญญาณอันเป็นปฐม (คือให้อาตมันเข้าไปอยู่ในปรมาตมัน) อุบายวิธีในการบำเพ็ญโยคะเพื่อให้เข้าถึงปรมาตมันนั้นมีอยู่ ๘ ประการดังต่อไปนี้

๑. ยมะ การสำรวมความประพฤติ
๒. นิยมะ การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติทางศาสนา
๓. อาสนะ อริยาบถต่างๆ ของร่างกายที่ถูกต้องในลักษณะต่างๆ
๔. ปราณายามะ การกำหนดลมหายใจ
๕. ปรัตยาหาระ การสำรวมอินทรีย์
๖. ธารณะ การทำใจให้มั่นคง
๗. ธยานะ การเพ่ง
๘. สมาธิ การทำจิตให้เป็นสมาธิ คือตั้งมั่นอย่างลึกซึ้ง

๒. พวกอไวทิกวาทะ

คือพวกที่ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท ไม่ยอมรับประเพณีของพราหมณ์ ซึ่งมีลัทธิของครูทั้ง ๖ ศาสนาเชน และพระพุทธศาสนา แต่ศาสนาเชนสอนว่ามีอัตตา เรียกว่า ชีวาตมัน พวกอุจเฉททิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ และลัทธิโลกายัต (จารวาก) ก็รวมอยู่ในพวกอไวทิกวาทะนี้ด้วยเพราะปฏิเสธพระเวทเหมือนกัน


.................................................................................

(๑) เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์ศาสนา, ฉบับมุขปาฐะ ภาค ๑, น. ๘


มีต่อ >>> ๕. ทรรศนะของครูทั้ง ๖

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ค. 2010, 11:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๕. ทรรศนะของครูทั้ง ๖

แนวความคิดของครูทั้ง ๖ นั้น เป็นแนวความคิดที่แหวกแนวปฏิวัติไปจากความคิดดั้งเดิมของคัมภีร์พระเวท เป็นแนวความคิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ซึ่งมีปรากฏอยู่ในประวัติวรรณคดีบาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของท่านเหล่านั้นมีปรากฏอยู่ในสามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย พอจะนำมาสรุปแนวความคิดได้ดังนี้

๑. ปูรณกัสสปะ

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า มีตระกูลหนึ่ง มีทาส ๙๙ คน ทาสคนหนึ่งเกิดมาครบ ๑๐๐ คนพอดี ดังนั้น นายจึงตั้งชื่อทาสคนที่หนึ่งร้อยว่า "ปูรณะ"(๑) และนายจะกำชับคนทั้งหลายว่า ปูรณะเป็นทาสที่เป็นมิ่งมงคล อะไรก็ตามที่ปูรณะทำ ไม่ว่าจะทำดี หรือทำชั่ว การงานที่ทำแล้ว หรือยังไม่ทำ ห้ามกล่าวโทษปูรณะ

อยู่มาวันหนึ่ง ปูรณะคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่เป็นทาส จึงได้หลบหนีออกไป ขณะที่หนีออกไปได้ถูกโจรชิงผ้า เขาจึงไม่รู้แม้กระทั่งจะหาอะไรมาปกปิดร่างกายตัวเอง ก็เลยเป็นผู้เปลือยกายเดินไปตามที่ต่างๆ บังเอิญมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งสำคัญว่าบุรุษคนนี้ต้องเป็นสมณะ เป็นพระอรหันต์ มีความมักน้อย สันโดษ จึงให้ข้าวน้ำ เนื้อ นมขนมนมเนย เป็นต้น

ปูรณะคิดว่า ข้าวปลาอาหาร เนื้อนม ขนมนมเนย ที่คนทั้งหลายนำมาให้ คงเป็นเพราะสาเหตุที่เราไม่นุ่งผ้า และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเขาก็ไม่นุ่งผ้าอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีผ้านุ่งก็ตาม ถือว่าตัวเองเป็นนักบวชผู้หนึ่ง และยังมีผู้คนอีกประมาณ ๕๐๐ คน พากันบวชในสำนักของเขา

ปูรณกัสสปะเป็นพวก อกิริยวาที คือสอนว่า "บุญ บาป" ไม่มี การกระทำทุกอย่างที่ทำไปแล้วไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่ว ก็ถือว่าไม่เป็นการกระทำ แม้การทรมานอินทรีย์ การสำรวมศีล การกล่าวคำสัตย์ ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญอะไร และผลบุญก็ไม่ถึงแก่ผู้กระทำเช่นนั้น การฆ่าสัตว์ ลักทัพย์ เป็นต้น ไม่เป็นบาปอะไร เมื่อจบสิ้นแล้วก็แล้วกันไป ไม่มีผลย้อนกลับตอบสนองในภายหลังอย่างไรทั้งสิ้น

๒. มักขลิโคสาล

ตามประวัติแล้วมีชีวประวัติคล้ายกับปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาลเป็นทาสของนายผู้หนึ่ง คราวหนึ่งนายใช้ให้แบกหม้อน้ำมันเดินไปบนแผ่นดินที่มีเปือกตมลื่นมาก นายกำชับว่าแบกหม้อน้ำมันให้ดี อย่าลื่นนะพ่อคุณ ผลที่สุดก็ลื่นเพราะความพลั้งเผลอจนได้ และมีความกลัวนายจึงคิดจะวิ่งหนี นายวิ่งไปฉุดผ้าไว้ เขาก็เลยทิ้งผ้า วิ่งหนีไปเป็นคนเปลือย อีกนัยหนึ่งบางครั้งก็เรียกว่า โคสาล หมายถึง เกิดในโรงโค

มักขลิโคศาลเป็น พวกอเหตุกวาที สอนว่า "ความเศร้าหมอง หรือความบริสุทธิ์สุข ทุกข์ หรือความดี ความชั่ว เป็นสิ่งเกิดเองโดยธรรมชาติ ไม่มีอะไรเป็นเหตุหรือปัจจัยสนับสนุนให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของตนเองหรือคนอื่นก็ตาม ทั้งคนพาลและบัณฑิตเมื่อท่องเที่ยวไปจะสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เอง"

๓. ปกุทธกัจจายนะ

ตามประวัติกล่าวว่า ที่เรียกชื่อว่า ปกุทธกัจจายนะ เรียกกันตามชื่อตระกูลเขา ปกุทธกัจจาห้ามน้ำเย็น เวลาถ่ายอุจจาระก็ดี กินข้าวก็ดี ของไม่สะอาดอะไรๆ เปื้อนก็ดี ก็ไม่ทำกิจคือชำระด้วยน้ำเย็น ได้น้ำร้อนหรือน้ำข้าวแล้วจึงทำ ข้ามแม่น้ำหรือน้ำในทาง ก็เข้าใจว่าศีลของเราขาดแล้ว จึงทำการก่อตะล่อมกองทรายอธิษฐานศีล แล้วจึงไป

ปกุธกัจจายนะเป็น พวกนัตถิกวาที สอนว่า "สิ่งที่เป็นจริงแท้ในโลกนี้มีเพียง ๗ อย่างเท่านั้น คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวะ กรรมดี กรรมชั่ว บุญ บาป นรก สวรรค์ เป็นสิ่งที่ตั้งกันขึ้นเอง ทั้งสิ้น แท้จริง ไม่มี ลัทธินี้ถือว่า การฆ่า ผู้ถูกฆ่า ไม่เป็นบาปกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เช่น เมื่อเราใช้ดาบฟันลงไปบนร่างกาย คมดาบจะผ่านแทรกลงไปในระหว่างอนุภาคของสิ่งที่เป็นนิรันดร (ใน ๗ สิ่ง) ซึ่งไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายหรือแบ่งแยกได้เท่านั้น จึงเท่ากับไม่มีผลดีผลร้ายอย่างไรเกิดขึ้น"

ความเห็นของปกุทธะกัจจายนะ ที่นับได้ว่าสำคัญตอนหนึ่งในสามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย พระเจ้าอชาตศัตรูได้ถามปัญหาเรื่องสามัญญผลแห่งการดำเนินชีวิตของสมณะหรือนักบวช ว่าจะได้รับผลในชีวิตนี้อย่างไรบ้าง ปกุทธะกัจจายนะไม่ทูลตอบปัญหานี้โดยตรง แต่ตรงกันข้ามกับแสดงทัศนะของตนว่า

"ดูก่อนมหาบพิตร สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่ใช่สิ่งที่ใครได้ทำไว้ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครบัญชาให้เนรมิตไว้ เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุข หรือทุกข์หรือทั้งสุขทั้งทุกข์แก่กันและกัน สภาวะ ๗ กองนั้นเป็นไฉน คือ กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ สุข ทุกข์ และชีวะ สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครได้ทำไว้ ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครบัญชาให้ใครมาเนรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคง ดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้คนอื่นฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินเอง ก็ดี ผู้กล่าวให้บุคคลอื่นได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความหมายเองก็ดี ผู้ทำให้คนอื่นเข้าใจความหมายก็ดี ไม่มีอยู่ในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะบุคคลที่เอาศาสตราที่คมกล้ามาตัดศีรษะกันก็ไม่ชื่อว่าใครปลงชีวิตใคร เป็นแต่ศาสตราสอดเข้าไปตามช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น"

จากข้อความข้างบนนี้ เราพอจะสามารถสรุปแนวความคิดของปกุทธะกัจจายนะได้ว่า สภาวะ ๗ กองที่เจ้าลัทธินี้กล่าวถึง เป็นเหมือนสสารหรือวัตถุที่ไร้ความรู้สึกนึกคิด เมื่อสภาวะทั้ง ๗ อย่างมารวมตัวกันอย่างได้สัดส่วนจึงเกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมา เช่น มนุษย์ สัตว์ เป็นต้น ถึงแม้จะมีชีวิตก็ตาม ส่วนประกอบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตก็ยังคงเป็นวัตถุหรือสสารนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เจ้าลัทธิปกุทธะกัจจายนะจึงเห็นว่า ถ้ามีใครเอาดาบคมกริบไปตัดศีรษะของคนอื่น หรือแทงคนอื่นให้ตาย ก็ถือว่าไม่มีผู้ฆ่าหรือผู้ถูกฆ่า เพราะผู้ที่ตัดศีรษะผู้ที่แทงก็เป็นวัตถุ และสิ่งที่ถูกตัดหรือถูกแทงก็เป็นวัตถุ จึงไม่มีผู้ฆ่าและผู้ที่ถูกฆ่า ดังนั้น ปกุทธะกัจจายนะจึงเป็น พวกนัตถิกวาที กล่าวว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี และกล่าวปฏิเสธ ความดี ความชั่ว ถูก ผิด บุญ บาป นรก สวรรค์ โมกษะ ไม่มีโดยสิ้นเชิง เมื่อสภาวะ ๗ กองรวมตัวกันจึงเกิดมีสิ่งมีชีวิต เมื่อสภาวะ ๗ กองแยกออกจากกัน จิตหรือความรู้สึกก็หมดไป ไม่มีความรู้สึกนึกคิดที่จะเหลืออยู่อีกต่อไป

๔. อชิตเกสกัมพล

ตามประวัติที่ได้ชื่อว่า อชิตเกสกัมพล เพราะว่าใช้ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมของมนุษย์ อชิตเกสกัมพลเป็น พวกนัตถิกวาที และอุจเฉทวาที กล่าวว่า ความรู้เกิดมาจากประสาทสัมผัส (Perception) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตามทัศนะของอชิตเกสกัมพล จิต ไม่เป็นสิ่งแท้จริง มันไม่ได้แยกต่างหากจากกาย แต่ว่ามันเกิดขึ้นอันเป็นผลพลอยได้จากการรวมตัวกันของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งได้สัดส่วนเท่านั้น เมื่อวัตถุธาตุทั้ง ๔ นี้รวมกันเข้าก็เกิดขึ้นเป็นร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดก็เกิดมีขึ้น

อชิตเกสกัมพลถือว่า ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นที่เป็นของจริง สิ่งอื่นนอกนั้นล้วนเป็นมายา (Illusion) เกิดจากการรวมตัวของธาตุ ๔ เมื่อธาตุ ๔ สลายตัวแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันสูญ อชิตเกสกัมพล ปฏิเสธเรื่องความดี ความชั่ว บุญ บาป โดยสิ้นเชิง การให้ทานก็ดี การเซ่นสรวงหรือการบูชายัญก็ดี จะไม่ก่อให้เกิดผลแก่ผู้กระทำในทุกกรณี การให้ทานเป็นการบัญญัติของคนโง่เขลา การสอนว่าการให้ทานจะก่อให้เกิดผลดีแก่ผู้กระทำ การสอนแบบนี้เป็นการสอนที่เหลวไหลไร้สาระ เป็นการหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงผิด เป็นการสอนเพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงชีพของคนสอนเอง เป็นเรื่องของคนฉลาดสอนให้คนโง่ให้ทาน แต่คนฉลาดรับทาน การกระทำใดๆ ก็ตามไม่มีผล ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่ว การคาดหวังว่า การกระทำความดี ย่อมจะได้รับผลดี และการคาดหวังว่าการกระทำความชั่ว ย่อมจะได้รับผลชั่ว เป็นความคาดหวังที่ว่างเปล่า เป็นการตั้งความหวังอย่าง ลมๆ แล้งๆ ซึ่งไม่มีทางจะสมหวังได้เลย บิดามารดา ไม่มี ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่มี วิบากกรรม จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดทั้งสิ้น ลัทธินี้ถือว่า สุข ทุกข์ เป็นเรื่องของความบังเอิญ ไม่เกี่ยวกับกรรมดี กรรมชั่ว ไม่มีนรก สวรรค์ ไม่มีการหลุดพ้น และไม่มีการเกิดใหม่ ตายแล้วสูญมีคำอธิบายบางตอนของอชิตเกสกัมพล ต่อคำตรัสถามของพระเจ้าอชาตศัตรู ปรากฏอยู่ในสามัญญผลสูตรมีเนื้อความว่า

"ดูก่อนมหาบพิตร ทานไม่มีผล (นตฺถิ ทานํ) การบูชาไม่มีผล (นตฺถิ หุตํ) การเซ่นสรวง ไม่มีผล (นตฺถิ ยิฏฺฐํ) ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ที่เกิดเป็นโอปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งรู้แจ้งเห็นจริงในโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ของตนเอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้แจ้งเห็นจริงไม่มีในโลก มนุษย์เป็นเพียงการมาประชุมของมหาภูตทั้ง ๔ (ธาตุ ๔) เมื่อทำกาลกิริยาตายไป ธาตุดินคืนสู่ดิน ธาตุน้ำคืนสู่น้ำ ธาตุลมคืนสู่ลม ธาตุไฟคืนสู่ไฟ อินทรีย์ทั้งหลายย่อมจางหายไปในอากาศ คนทั้งหลายมีแคร่เป็นที่ ๕ จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้ากลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิราบ การเซ่นสรวงมี ขี้เถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกที่พูดว่า ทานมีผล ล้วนแต่เป็นคำพูดอันว่างเปล่า เป็นคำเท็จ เป็นคำเพ้อเจ้อ เพราะร่างกายแตกดับ บุคคลทั้งพาลและบัณฑิตขาดสูญพินาศสิ้น ตายไปแล้วย่อมไม่มีการเกิดอีก"

จากเนื้อความข้างบนนี้เราจะเห็นได้ว่า แนวความคิดปรัชญาของอชิตเกสกัมพลนั้น เป็นแนวความคิดแบบสุดขั้ว เป็นพวกวัตถุนิยมหรือสสารนิยมแบบสุดๆ คล้ายกับลัทธิปรัชญาโลกายัตหรือจารวาก

๕. นิครนถนาฏบุตรหรือเจ้ามหาวีระ

ตามประวัติที่ได้ชื่อว่า นิครนถนาฏบุตร ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า ท่านเป็นบุตรของนักฟ้อน(๒) แต่ตามความเป็นจริงแล้วท่านเป็นกษัตริย์ในลิจฉวีวงศ์ แคว้นวัชชี มีชีวประวัติคล้ายกับพระพุทธเจ้ามาก นิครนถนาฏบุตรหรือเจ้ามหาวีระ ต่อมาได้กลายมาเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาไชนะหรือเชน เป็นศาสนาที่เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ศาสนาเชนมีศาสดานับเนื่องกันได้ ๒๓ พระองค์ในอดีต ศาสดาทางศาสนาเชนเรียกกันว่า ติรถังกร(๓) (Tirthankara) หมายถึง วิญญาณที่สมบูรณ์ หรือชินะ องค์แรกมีนามว่า "ฤษภะ" และองค์ที่ ๒๔ นับเป็นองค์สุดท้ายมีนามว่า วรธมานะ หรือมหาวีระ ก็เป็นคนเดียวกับนิครนถนาฏบุตร และถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาเชนและพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง

วรธมานะ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า มหาวีระ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าขณะเยาว์วัย เจ้าชายวรธมานะเสด็จประพาสเล่นในอุทยานหลวงกับพวกเพื่อนๆ ขณะที่กำลังเล่นกีฬากันเพลินๆ ช้างพลายตกมันเชือกหนึ่งหลุดออกจากโรงช้างบุกเข้าเขตอุทยาน และตรงเข้าทำร้าย เด็กพวกอื่นพากันวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เจ้าชายวรธมานะไม่มีชาติของผู้ขลาด เมื่อเห็นช้างเข้ามาใกล้ก็ตั้งสติมั่น ยืนตรงอยู่กับที่คอยทีอยู่ เมื่อช้างวิ่งเข้ามาใกล้ตัวเพื่อจะทำร้าย เจ้าชายวรธมานะกระโดดเข้าจับงวงตามวิธีที่ได้รับฝึกฝนมาจากควาญหลวง ขึ้นหลังบังคับขี่กลับไปถึงโรงช้างมอบให้นายควาญช้างได้

เจ้าชายวรธมานะเสด็จเข้าวังโดยไม่ได้ตรัสเรื่องนั้นแก่ใครๆ เลย แต่ควาญช้างผู้เป็นอาจารย์มองเห็นความกล้าหาญที่เด็กคนอื่นไม่สามารถกระทำได้ จึงนำความไปกราบทูลกษัตริย์สิทธารถให้ทรงทราบ กิตติศัพท์ได้แพร่กระจายออกไปทั่วคามนิคมถึงความกล้าหาญ ครั้งนี้ เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญของคนทั่วไป จึงพร้อมเพรียงกันถวายพระนามใหม่ให้เจ้าชายว่า "มหาวีระ" แปลว่า ผู้กล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ ก็เหมือนกับพระมหากษัตริย์ไทยเรา เช่น ในหลวงรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จึงได้รับขนานพระนามใหม่จากประชาชนอีกพระนามหนึ่งว่า "พระปิยมหาราช" เป็นต้น

เจ้ามหาวีระมีเชื้อชาติความเป็นกษัตริย์เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ศากยวงศ์ ส่วนเจ้ามหาวีระหรือนิครนถนาฏบุตรเป็นกษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากลิจฉวีวงศ์ เมืองไพศาลีในลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบน โดยได้รับคำทำนายจากโหราจารย์โดยมีคติเป็น ๒ เช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะในเวลาออกบวช ศาสดาทั้งสองก็เสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุใกล้เคียงกัน พระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุ ๒๙ เจ้ามหาวีระออกบวชเมื่ออายุ ๓๐ ปี

ชีวประวัติของท่านนิครนถนาฏบุตรนั้น มีความละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า คือได้มีมเหสีแล้วและทรงเบื่อโลกออกบวช สละโลกาวิสัยแล้วเสด็จออกไปแสวงหาความจริงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ๑๒ ปี ในที่สุดก็ถือว่าได้เป็นผู้หลุดพ้นเป็นอรหันต์ตรัสรู้เป็นสัพพัญญูขึ้นมา แล้วก็ได้บัญญัติศาสนาใช้เวลา ๓๐ ปีเศษสอนสาวกของตนแพร่หลายศาสนาไปในลุ่มแม่น้ำคงคา ยมุนา ในพื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจมา

น่าแปลกใจที่ว่าศาสดาทั้ง ๒ องค์นี้ ไม่เคยมีโอกาสพบปะสนทนากันเลย ในประวัติวรรณคดีบาลีก็กล่าวถึงเสมอว่า ทั้งสองท่านได้ไปอยู่ในที่แห่งเดียว จำพรรษาอยู่ใกล้เคียงกัน แต่ว่าก็ไม่เคยพบปะกันจังๆ สักคราวหนึ่งเลย ที่พบกันส่วนมากก็เป็นว่านิครนถนาฏบุตรหรือเจ้ามหาวีระส่งลูกศิษย์คนสำคัญมาโต้วาทีกับพระพุทธเจ้า

มีเรื่องใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญอยู่ ๒ เรื่อง ใน อุปาลิวาทสูตร ได้พูดถึงข้อโต้แย้งระหว่าง ๒ ศาสนานี้ถึงนิครนถ์คนหนึ่ง นิครนถ์คนนี้มีชื่อว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์ เป็นสาวกกำลังสำคัญของศาสดาเจ้ามหาวีระ ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นเจ้ามหาวีระก็จำพรรษาอยู่ในเมืองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ คือเมืองเวสาลีนั่นเอง ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้เสนอแนวความคิดหลักธรรมอ้างถึงศาสดาของตนว่า ศาสดาของตนนั้นเมื่อจะบัญญัติโทษทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม บัญญัติว่าโทษทางกายกรรมหนักกว่าโทษทางวจีกรรมและมโนกรรม แต่คำสอนในศาสนาไชนะหรือเชนเรียกว่าทัณฑะ คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ และมโนทัณฑะ ในบรรดาทัณฑะทั้ง ๓ นั้น กายทัณฑะหนักกว่าวจีทัณฑะและมโนทัณฑะ ทีฆตปัสสีทูลถามพระพุทธองค์ว่าทรงมีความคิดเห็นอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าความเห็นของเรานั้นมีความเห็นว่า มโนทัณฑะมีโทษมากกว่ากายทัณฑะและวจีทัณฑะ ทีฆตปัสสีให้พระพุทธองค์ยืนยัน ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าก็ให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ยืนยัน ๓ ครั้ง ว่าวาทะของท่านเป็นอย่างนั้น

นี้เป็นธรรมเนียมของคนในสมัยนั้น เพราะว่ากลัวจะมีการกลับคำพูดอีกในภายหลัง หลังจากนั้นทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ไม่ได้โต้แย้งอะไร แล้วทูลลากลับ เมื่อกลับมาแล้วก็ไปเฝ้าศาสดาของตัวคือเจ้ามหาวีระ ก็เล่าความจริงให้ฟังว่าได้ไปเฝ้าพระสมณโคดมมาได้โต้แย้งความคิดเห็นอย่างนี้ นิครนถนาฏบุตรก็ชมเชยว่าตอบได้ถูกต้อง และย้ำว่ากายทัณฑะมีโทษมากกว่า ขณะนั้นอุบาลีคฤหบดีเป็นอุบาสกของเจ้ามหาวีระนั่นแหละเป็นคฤหบดีคนสำคัญ มีชื่อเสียงและร่ำรวยมาก เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในเมืองเวสาลี ได้นั่งฟังอยู่ด้วย และนิครนถนาฏบุตรก็มีประสงค์ที่จะส่งอุบาลีคฤหบดีไปโต้แย้งหักล้างวาทะด้วยวาทะกับพระสมณโคดม เพื่อจะทำให้พระพุทธเจ้ากลับมาเป็นศิษย์ของนิครนถนาฏบุตรให้ได้

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ยินดังนั้น ก็ห้ามว่าอย่าส่งไปเลยท่านอาจารย์ เพราะว่าใครๆ ก็รู้ว่าพระสมณโคดมนั้น ใครที่ไปท้าโต้วาทีก็แพ้กลับมาทุกราย ก็ดูอย่างกระผมซิยังไม่กล้าเลย เพราะกลัวว่าแพ้แล้วจะต้องกลายเป็นลูกศิษย์ไป นิครนถนาฏบุตรก็ออกปากห้ามทีฆตปัสสีว่าอย่าพูดมากไปเลย ตรงกันข้ามเรากลับมีความเห็นว่า ถ้าอุบาลีคฤหบดีศิษย์ของเราไปโต้วาทะกับพระสมณโคดมแล้วจะสามารถทำให้พระสมณโคดมกลับมาเป็นศิษย์ของเรามากกว่า เพราะเราเชื่อมั่นว่าอุบาลีคฤหบดีมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีปัญญามาก รู้เรื่องลัทธิตนและลัทธิของผู้อื่นเป็นอย่างดี และรู้เรื่องศาสนาต่างๆ เป็นอย่างมาก จะสามารถเอาชนะพระสมณโคดมได้ การโต้วาทะในครั้งนั้นก็เน้นหนักเรื่องกรรม คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

ผลของการโต้แย้งกันปรากฏว่า อุบาลีคฤหบดีกลับใจเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าทูลขอปฏิญญาเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าก็ทรงห้ามว่าอย่าเลยคฤหบดี อย่ารีบด่วนมานับถือเราเลย เพราะว่าตัวท่านนั้นใครๆ ก็รู้ว่าเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของพวกนิครนถ์ทั้งหลายอยู่ การที่คนมีชื่อเสียงอย่างท่านมีศรัทธาหนักแน่นในลัทธินิครนถ์อย่างท่านมากลับใจเปลี่ยนศาสนาเสียง่ายๆ ไม่สมควรเลย พระพุทธเจ้าทรงยับยั้งไว้

อุบาลีคฤหบดีพอได้ยินดังนั้นก็ทูลตอบว่า ชื่นใจเหลือเกิน ข้าพระองค์ไม่เคยฟังเจ้าลัทธิใดที่จะมายับยั้งความเลื่อมใสของข้าพระองค์เช่นพระองค์อย่างนี้เลย ถ้าเป็นเจ้าลัทธิอื่นพอรู้ว่าข้าพระองค์จะเลื่อมใสเท่านั้น เขาจะเที่ยวประกาศตีฆ้องร้องเป่าไปทั่วเมืองแล้วว่า ท่านผู้นั้นๆ กลับใจมานับถือเราแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เอาเถอะอุบาลีท่านไตร่ตรองแล้วจึงทำนะ การที่ท่านมาเปลี่ยนใจเปลี่ยนศาสนามานับถือเราสมควรอยู่หรือ อุบาลีทูลตอบกับพระพุทธเจ้าว่า สมควรอย่างยิ่งพระพุทธเจ้าข้า เพราะบัดนี้ข้าพระองค์เห็นจริงแล้วว่าคำโฆษณาชวนเชื่อคำเล่าลือเสียๆ หายๆ ที่เจ้าลัทธิอื่นโจมตีพระพุทธองค์ว่า พระองค์มีมายาในการกลับใจคน วันนี้การที่ข้าพระองค์มาเลื่อมใส ไม่ใช่เป็นเพราะพระองค์ใช้มายาในการกลับใจคนแต่อย่างใด แต่เกิดความเลื่อมใสในข้อธรรมะที่พระองค์ได้ชี้แจงคำสั่งสอนอันมีเหตุมีผล สามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองให้เห็นจริงได้ จนข้าพระองค์อับจนเกิดปัญญาเลื่อมใสขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นจึงขอให้พระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่าถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คฤหบดีเมื่อท่านมีศรัทธามีความเลื่อมใสอย่างนี้ก็ตามที แต่ว่าตัวท่านเคยให้ทานแก่พวกนิครนถ์อย่างไร ก็จงให้อย่างนั้นนะ อุบาลีคฤหบดีทูลตอบว่า พระองค์ตรัสอย่างนี้ ทำให้ข้าพระองค์เลื่อมใสมากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนมีแต่คำโฆษณาทับถมพระพุทธองค์ว่า พระสมณโคดมสอนให้คนทำทานแก่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระองค์เท่านั้นถึงจะได้บุญ ทำบุญทำทานแก่นักบวชนอกศาสนาแล้วไม่ได้บุญเลย วันนี้มาได้ยินได้ฟังกับหูตนเองแล้วยิ่งทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

ตกลงว่าคำโฆษณากล่าวร้ายทับถมที่ข้าพระองค์ได้ยินมาแต่ก่อนหน้านี้ ล้วนแต่เป็นคำใส่ร้ายป้ายสีทั้งนั้น ไม่เป็นเรื่องจริงเลย เป็นการพูดของศาสดาเหล่านั้นเกรงว่าสาวกของตนจะมาเลื่อมใสพระองค์ ลาภสักการะก็จะสูญเสียไป มาบัดนี้มารู้ด้วยตัวเอง ฟังกับหูตัวเองแล้ว ข้าพระองค์จะทำตามพระพุทธองค์ทุกอย่างพระพุทธเจ้าข้า จากนั้นอุบาลีคฤหบดีก็จากไป

หลังจากนั้น ข่าวได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วว่า อุบาลีคฤหบดีลูกศิษย์ของท่านนิครนถนาฏบุตรที่มีความมุ่งหวังจะไปหักล้างวาทะด้วยวาทะเพื่อเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นลูกศิษย์ให้ได้ บัดนี้ถูกพระพุทธเจ้ากลับเอามาเป็นลูกศิษย์แล้ว นิครนถนาฏบุตรได้ฟังแล้วก็ยังไม่เชื่อ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ลูกศิษย์ชั้นเอกของเราที่มีความเชี่ยวชาญทั้งลัทธิตนและลัทธิของคนอื่นจะไปเป็นลูกศิษย์ของพระสมณโคดม จึงพร้อมด้วยบริวารยกขบวนไปบ้านของอุบาลีคฤหบดี พอถึงบ้านผู้ที่เฝ้าหน้าประตูบ้านคฤหบดีบอกว่านิมนต์หยุดอยู่ที่ประตูเรือนก่อน ถ้าท่านต้องการข้าว ต้องการน้ำ ต้องการอาหารชนิดใด เราจะไปนำมาให้ที่หน้าประตูเรือน

นิครนถนาฏบุตรบอกว่าเจ้าไม่รู้หรือว่าเราเป็นใคร เราเป็นศาสดาของนายเจ้า รีบไปตามนายของเจ้าออกมาเร็วๆ คนเฝ้าประตูก็ไปบอกอุบาลีคฤหบดีออกมา อุบาลีก็เชิญให้เข้ามาในบ้าน ถ้าเป็นวันอื่นๆ อุบาลีจะต้องตักน้ำมาล้างเท้าให้นิครนถนาฏบุตร ปูลาดอาสนะให้นั่งในที่สูงกว่าตนเอง และกระทำสามีจิกรรมอัญชลีกรรมต่อนิครนถนาฏบุตร แต่มาวันนี้ อุบาลีคฤหบดีนั่งอยู่ในที่เสมอกันกับนิครนถนาฏบุตร ไม่กระทำสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น และพูดว่า ดูก่อนนิครนถ์ น้ำก็มีอยู่ อาหารก็มีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาจะฉันน้ำก็ฉันน้ำ ถ้าท่านปรารถนาจะฉันข้าวก็จงฉันข้าว ที่นั่งก็มีอยู่เชิญนั่ง

นิครนถนาฏบุตรเห็นการกระทำอย่างนั้นก็โกรธเป็นกำลัง กล่าวว่า “อุบาลี ท่านลืมคำปฏิญญาของท่านแล้วหรือ ก่อนที่ท่านจะจากเราไปท่านสัญญาบอกกะเราว่า จะไปหักล้างวาทะด้วยวาทะกับพระสมณโคดม แต่ทำไมบัดนี้ท่านถึงได้ทำกิริยาหยาบคายกะเราแบบนี้เล่า” อุบาลีบอกว่า “ไม่ได้หยาบคายเลยท่านผู้เจริญ เราได้ทำการปฏิสันถารสมบูรณ์แล้ว” แล้วเราไม่ได้เป็นศาสดาของท่านหรือ อุบาลีตอบว่า “ไม่ใช่” จากนั้นก็ห่มผ้าเฉวียงบ่าแล้วหันหน้าไปทางทิศที่พระพุทธเจ้าประทับ เปล่งสดุดีพระพุทธคุณออกมา นิครนถนาฏบุตรทนฟังไม่ได้เพราะมีความเสียใจ และโกรธอย่างสุดโกรธแค้นอย่างสุดแค้นถึงกับอาเจียนเป็นโลหิตในที่นั้น เดินกลับออกจากเรือนของคฤหบดีไปในทันที

นี้เป็นเรื่องของสองศาสนาที่เป็นอเทวนิยมด้วยกันทั้งคู่ในสมัยพุทธกาล บางเรื่องก็ตรงกัน บางเรื่องก็ขัดแย้งกัน ที่แย้งกันเหมือนขาวกับดำก็คือ ศาสนาเชน ถึงแม้ว่าจะปฏิเสธพระเวท แต่ก็ยังรับรองเรื่อง “อัตตา” ที่เรียกว่า “ชีวาตมัน” ส่วนพระพุทธศาสนาสอนเรื่อง “อนัตตา” ไม่รับรองเรื่อง “ชีวาตมัน” นี้เป็นข้อแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาเชน

ส่วนข้อที่ตรงกันของศาสนาเชนกับพระพุทธศาสนาก็คือปฏิเสธพระเจ้า (God) ผู้สร้างโลก พระพุทธศาสนาก็ปฏิเสธพระเจ้าผู้สร้างโลก ศาสนาในโลกมีเพียง ๒ ศาสนาเท่านั้นที่ปฏิเสธฐานะของพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก คือพระพุทธศาสนาและศาสนาเชน ศาสนานอกนั้นสอนมีพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกทั้งนั้น

นิครนถนาฏบุตรหรือเจ้ามหาวีระเผยแผ่ศาสนามีอายุยืนไปถึง ๗๐ ปี และพักเทศนาสั่งสอนคนทั้งหลายอยู่ที่เมืองปาวา อยู่ตราบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของตนก่อนเข้าสู่ถึงนิพพาน เจ้ามหาวีระเรียกสาวกทั้งหลายเข้ามาสั่งสอนเป็นครั้งสุดท้าย อนุญาตให้ศิษย์ทุกคนตั้งปัญหาถาม เพื่อมิให้มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ในข้อธรรมของตนให้เหลืออยู่ได้ในภายหลังสาวกคนหนึ่งได้ถามว่า ในบรรดาคำสอนของพระชินะทั้งปวง คำสอนอะไรถือว่าเป็นคำสอนสำคัญที่สุด เจ้ามหาวีระตอบว่า

อหิงสา เป็นธรรมสำคัญที่สุดในบรรดาคำสอนของเราทั้งหมด และกล่าวต่อไปว่า ต้องไม่ทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต ทางร่างกาย ทางวาจา และทางน้ำใจ อย่าฆ่าสัตว์ทั้งหลายเพื่ออาหารของตน อย่าล่าสัตว์ อย่ายิงนกตกปลา อย่าฆ่าริ้นยุง แม้ว่ามันจะกัดกินเลือดเนื้อ อย่าทำสงคราม อย่าต่อสู้ศัตรู อย่าย่ำเหยียบพืชผักใดๆ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีวิญญาณทั้งสิ้น(๔)

เจ้ามหาวีระสอนว่า ให้แสวงหาความหลุดพ้น จากสภาวะการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการเว้นจากการประพฤติเบียดเบียนชีวิตทุกชนิด พูดเท็จ การถือครองทรัพย์สิ่งทั้งหลายทั้งปวง แม้แต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การลักทรัพย์ ให้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด นิยมการทรมานตนเองให้ได้รับความลำบาก ที่เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

ในขั้นสูงสุดก็ยังถือว่ามีอัตตาอยู่ เรียกว่า ชีวาตมัน แต่ที่เหมือนกับพระพุทธศาสนาก็คือ ปฏิเสธการสร้างโลกโดยพระเจ้า และถือหลักอหิงสาคือความไม่เบียดเบียนอย่างเข้มงวดมาก

จุดสูงสุดคือสอนคนให้เข้าถึงนิรวาณหรือเข้าถึงไกวัลยะด้วยเกวลัชญาณ จะเข้าสู่อโลกเป็นอมตะชั่วนิจนิรันดร พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้ และหลักการปฏิบัติที่จะทำตนให้เข้าถึงนิรวาณได้นั้นมีเพียง ๓ ประการ คือ

๑. สัมมาญาณ คือความรู้ชอบอันบุคคลจะได้จากตีรถังกร คือศาสดาแห่งตนที่ได้สั่งสอนไว้

๒. สัมมาทัสสนะ ความเห็นชอบ คือการเคารพต่อความจริงอาศัยศรัทธาต่อพระชินเจ้า

๓. สัมมาจริต ความประพฤติชอบ คือการประพฤติควบคุมตัณหา อารมณ์ ความคิด การพูด เป็นต้น

สรุปแล้วเจ้ามหาวีระสอนให้แสวงหาความหลุดพ้นจากสภาวะการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการเว้นจากการประพฤติเบียดเบียนชีวิตทุกชนิด ไม่พูดเท็จ ไม่ถือครองทรัพย์สินทั้งหลายทั้งปวง แม้แต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การลักทรัพย์ ให้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด นิยมการทรมานตนเองให้ ได้รับความลำบากที่เรียกกันว่าอัตตกิลมถานุโยค

ในขั้นสูงสุดก็ยังถือว่ามีอัตตาอยู่ เรียกว่า ชีวาตมัน แต่ที่เหมือนกับพระพุทธศาสนาก็คือ ปฏิเสธการสร้างโลกโดยพระเจ้า และถือหลักอหิงสาคือความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันอย่างเข้มงวดอุกฤษฏ์มากที่สุด

๖. สัญชัยเวลัฏฐบุตร

ตามประวัติแล้วเรียกว่า สัญชัยเวลัฏฐบุตร เพราะว่าเป็นบุตรของช่างสาน สัญชัยเวลัฏฐบุตรเป็น พวกอมราวิกเขปิกวาที (มีวาทะกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ซัดส่ายไม่ตายตัวลื่นแบบปลาไหล) มีลัทธิคัดค้านปฏิเสธทุกทฤษฎี บางครั้งสอนจนฟังไม่รู้เรื่อง คือสอนว่าโลกนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ มิใช่มิใช่ก็มิใช่

มีความเห็นว่าไม่ควรเชื่อความคิดเห็นของบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความคิดเห็นเป็นสิ่งที่อาจผิดพลาดได้ ผู้อยู่ในลัทธินี้มักจะใช้คำปฏิเสธเหตุผลของผู้อื่นว่า อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างโน้นก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ใช่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ใช่อย่างโน้นก็ไม่ใช่ สรุปความว่าสอนลื่นเหมือนปลาไหลไม่ให้ยอมรับทรรศนะของผู้ใดว่าผิดหรือถูก


.................................................................................

(๑) มงคลทีปนี, ทุติโย ภาโค, ภาค ๒ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
(๒) มงฺคลตฺทีปนี, ทุติโย ภาโค, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร
(๓) Comparative Religion, Kedar Nath Tiwari, p. 70
(๔) ศ. เสฐียร พันธรังษี, ศาสนาเปรียบเทียบ


มีต่อ >>> ๖. ลัทธิโลกายัต (จารวาก)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ค. 2010, 11:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๖. ลัทธิโลกายัต (จารวาก)

ลัทธิโลกายัตหรือจารวาก เป็นพวกวัตถุนิยมจัดหรือสสารนิยม (materialism) ผู้ก่อตั้งลัทธินี้คือ ฤาษีพฤหัสบดี หรือท้าวสหัมบดีพรหม ท่านผู้นี้นับเป็นคนแรกที่มีทรรศนะว่าสสารเป็นอันติมะสัจจะ เป็นสภาพความจริงสูงสุด แนวความคิดของลัทธิโลกายัตในสมัยนั้น บางครั้งเป็นที่ตลกขบขัน บางครั้งก็เป็นที่เกลียดชังของพวกนักคิดในสมัยเดียวกัน เพราะในสมัยนั้นนักคิดต่างๆ ทุกสำนักจะเป็นพวกจิตนิยม (Idealism) กันทั้งนั้น

ลัทธิโลกายัตหรือจารวากถือว่าประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (Perception) เท่านั้น เป็นแหล่งความรู้ที่แน่นอนและถูกต้องแท้จริง ความรู้ทางอ้อม เช่น ความรู้ที่เกิดจากการอนุมาน (Inference) ความรู้ที่ได้มาจากการเรียน หรือบอกเล่าจากคนอื่น เป็นความรู้ที่เชื่อถือไม่ได้ ความรู้เหล่านั้นนำไปสู่ความผิดเสมอ เราไม่ควรเชื่อถือความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ผ่านประสาทสัมผัสของเราเสียก่อน

คำสอนของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก

มีคำสอนบางอย่างของฤาษีพฤหัสบดีได้กล่าวถึงสาระสำคัญของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก(๑) ซึ่งพอจะนำมากล่าวโดยย่อเป็นข้อๆ ได้ดังต่อไปนี้

๑. ธาตุทั้งหลายมีเพียง ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ

๒. ร่างกาย ประสาทสัมผัส และสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุต่างๆ

๓. วิญญาณ (Consciousness) เกิดมีขึ้นจากการรวมตัวอย่างถูกส่วนของวัตถุ เช่นเดียวกับคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความมึนเมาของสุราเมรัยซึ่งเกิดขึ้นจาการหมักดองของวัตถุที่ใช้ผลิตฉะนั้น

๔. สิ่งที่เรียกวิญญาณหรืออาตมันนั้น มิใช่อะไรอื่น ที่แท้ก็คือร่างกายที่มีสัมปชัญญะ หรือความรู้สำนึกนั่นเอง

๕. ความบันเทิงเริงรมย์เป็นจุดหมายเพียงอย่างเดียวของชีวิต

๖. ความตายคือโมกษะหรือความหลุดพ้น

คำสอนของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก ถือว่าไม่มีสวรรค์ ไม่มีความหลุดพ้น (โมกษะ) ไม่มีวิญญาณใดๆ อยู่ในโลกอื่น ไม่มีการกระทำหรือกรรมของใครในวรรณะทั้ง ๔ ที่จะก่อให้เกิดผล (ไม่มีผลของกรรม) การบูชาไฟ พระเวททั้งสาม การร่ายมนต์ของพวกนักบวช และการทาตัวด้วยขี้เถ้า เป็นอุบายวิธีหาเลี้ยงชีพของคนโง่ ไร้ยางอาย การฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นการต้มตุ๋นหลอกลวง เป็นคนลวงโลก ถ้าหากสัตว์ที่ถูกฆ่าในพิธีบูชายัญจะได้ไปเกิดในสวรรค์จริงแล้ว ไฉนเลยผู้ประกอบพิธีบูชายัญ ไม่เอาบิดามารดาของตนมาฆ่าบูชายัญเช่นนั้นบ้างเล่า

ลัทธิโลกายัตหรือจารวากสอนให้แสวงหาความสุขตั้งแต่ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ กินดื่มให้สุขสำราญ แม้ว่าจะต้องเป็นหนี้เป็นสินเขาก็ตาม เพราะว่าเมื่อร่างกายถึงความตายถูกเขาเผาเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว มันจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกไฉน พิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นอุบายวิธีหาเลี้ยงชีพของพวกพราหมณ์นั่นเอง ผู้แต่งคัมภีร์พระเวท คือ คนโง่งั่ง คนลวงโลก เจ้าพวกอสูรกาย

ลัทธิโลกายัตหรือจารวากถือว่าคัมภีร์ดังกล่าวเขียนขึ้นโดยพวกพระที่มีเล่ห์คดโกง และเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวงประชาชนผู้โง่เขลา พวกพระเหล่านี้สอนประชาชนให้หลงใหลกับการประกอบพิธีกรรมบูชายัญ ทั้งนี้เพื่อพวกตนจะได้มีปัจจัยไทยธรรมเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หาได้มีประโยชน์อันใดที่พึงเกิดขึ้นจากการประกอบพิธีกรรมบูชายัญเหล่านั้นแต่ประการใดไม่

อภิปรัชญาของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก

สสารหรือวัตถุเท่านั้นเป็นความจริงที่เป็นอันติมะ ถือว่าความรู้ที่แท้จริง ต้องเป็นความรู้ที่ได้รับมาทางประสาทสัมผัสหรือความรู้ประจักษ์ (empiricism) เท่านั้น เป็นความรู้ที่ถูกต้อง สิ่งใดที่ประจักษ์โดยประสาทสัมผัสไม่ได้ ก็ถือว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง ดังนั้น นรก สวรรค์ บาป บุญ เทวดา ภูตผีปิศาจ ชีวิตในโลกหน้า วิญญาณหรืออาตมัน พระพรหม พระเป็นเจ้าจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้รับรู้ไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัส สิ่งที่มีอยู่จริงตามทรรศนะของพวกลัทธิโลกายัตหรือจารวากจึงมีเพียงวัตถุเท่าที่เรารับรู้ได้เท่านั้น อภิปรัชญาของจารวาก(๒) อาจแบ่งได้ ๓ หัวข้อคือ

๑. ยืนยันว่าสรรพสิ่งเกิดมาจากการรวมตัวของธาตุทั้ง ๔
๒. ปฏิเสธการมีอยู่ของโลกหน้าและตัวตนหรืออาตมัน
๓. ปฏิเสธการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิง


ปรัชญาการดำเนินชีวิตของจารวาก

คติการดำเนินชีวิตของพวกลัทธิโลกายัตหรือจารวาก มีปรัชญาชีวิตว่า กิน ดื่ม และรื่นเริงสำราญ มีความสุขทางเนื้อหนัง เป็นจุดหมายปลายทาง มนุษย์เกิดหนเดียวตายหนเดียว ไม่มีโลกหน้า ไม่มีการเกิดใหม่ หลังจากตายแล้ว คนดีคนชั่วมีจุดสุดท้ายของชีวิตอย่างเดียวกันคือความตาย ดังนั้น มนุษย์จึงควรรีบตักตวงแสวงหาความสุขเสียให้เต็มที่ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ กินให้เป็นสุข ดื่มให้เป็นสุข และสนุกเสียให้เต็มอิ่ม ตายแล้วก็สิ้นสุดกัน จะดื่มสนุกสนานอะไรไม่ได้อีกแล้ว ลัทธินี้สอนตรงกับความต้องการกิเลสของปุถุชนทั่วๆ ไป พวกนี้ยอมรับเอาหลักปรัชญาชีวิตของจารวากมาปฏิบัติได้โดยไม่รู้สึกตัวและง่ายดาย

ลัทธิโลกายัตหรือจารวากยังสอนให้คนเราแสวงหาทรัพย์ เพราะว่าทรัพย์สมบัติทำให้เราสามารถแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินในชีวิตได้อย่างเต็มที่ ความสุขทางเนื้อหนัง หรือความสุขทางกามารมณ์เป็นความสุขสูงสุด คุณธรรมไม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เพราะคนดีคนชั่วก็จบลงด้วยความตายเท่ากัน

ทัศนะเกี่ยวกับโมกษะ

โมกษะ คือความหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่จำเป็นต้องรีบแสวงหาในขณะนี้ และไม่มีประโยชน์อันใดด้วย ผู้ที่ยอมทนทุกข์ทรมานหรือยอมสละความสุขทางโลกียวิสัย เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นบรรลุโมกษะ ได้ชื่อว่าเป็นคนโง่เหง้าเต่าตุ่นตามทรรศนะของพวกลัทธิโลกายัตหรือจารวาก การแสดงความเคารพภักดีและอ้อนวอนบูชาพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะมีนามอย่างไร ล้วนเป็นความโง่เหง้าทั้งสิ้น เพราะความตายเท่านั้นคือโมกษะอันแท้จริงของคนทุกคน ดังนั้น บุคคลจึงควรแสวงหาความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน กินให้เป็นสุข สนุกให้เต็มอิ่ม ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อความตายมาปลิดฉากชีวิตก็เป็นอันหมดกันไป ร่างกายก็สูญสลายไปตามอากาศธาตุ ที่กล่าวมานี้คือแนวปรัชญาการดำเนินชีวิตของลัทธิโลกายัตหรือจารวาก


.................................................................................

(๑) รศ.ดร. สุนทร ณ รังษี, ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ, พ.ศ. ๒๕๓๗, น. ๖๕
(๒) รศ.ดร. สุนทร ณ รังษี, ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ, พ.ศ. ๒๕๓๗, น. ๗๑


มีต่อ >>> บทที่ ๒

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2010, 05:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

บทที่ ๒

๑. กำเนิดพระพุทธศาสนา
๒. งานประกาศศาสนา (Missionary Works)
๓. พระพุทธศาสนากับหลักการสังคมสงเคราะห์
๔. พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ
๕. หลักความเชื่อขั้นสูง ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา
๖. พระพุทธศาสนากับหลักการครองเรือน
๗. พระพุทธศาสนากับเรื่องกรรม
๘. พระพุทธศาสนากับสตรี
๙. การเข้าถึงพระพุทธศาสนา ๓ ประการ
๑๐. คำสอนของพระพุทธเจ้า
๑๑. ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2010, 06:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๑. กำเนิดพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นหนึ่งในสามศาสนาที่สำคัญๆ ของโลก มีแหล่งกำเนิดในดินแดนที่เรียกกันว่า "ชมพูทวีป" ปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกไปเป็นหลายประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน และเนปาล

เจ้าชายสิทธัตถะทรงถือกำเนิด ณ ดินแดนที่อยู่ทางเหนือของชมพูทวีป ปัจจุบันดินแดนแห่งนั้นอยู่ในเขตแดนประเทศเนปาล ทรงประสูติที่สวนลุมพินีวัน (ปัจจุบันเรียกว่า รุมมินเด เเขวงเปชวาร์) ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับนครเทวทหะ (ปัจจุบัน กรุงกบิลพัสดุ์อยู่ในประเทศอินเดีย ห่างจากสวนลุมพินีวัน ๑๒ ไมล์ และนครเทวทหะอยู่ในประเทศเนปาล ห่างจากสวนลุมพินีวันประมาณ ๑๒ ไมล์เช่นกัน, ๑ ไมล์เท่ากับ ๑.๖ กิโลเมตร) ในวันวิสาขะเพ็ญเดือน ๖ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกษัตริย์ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์เมืองหลวงของแคว้นสักกะ กับพระนางสิริมหามายา ราชธิดาของกษัตริย์โกลิยวงศ์ผู้ครองนครเทวทหะ

เมื่อแรกประสูติ มีดาบสคนหนึ่งชื่อว่า อสิตดาบส หรือกาฬเทวิลดาบส ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเป็นที่นับถือของราชตระกูลมาก เมื่อได้ทราบข่าวการประสูติของพระราชกุมาร จึงเข้าไปในพระราชวังเพื่อขอชมพระกุมาร เมื่อท่านได้เห็นพระกุมารมีลักษณะถูกต้องตามปุริสลักษณะที่ดีเลิศ ก็ทราบว่าต่อไปภายหน้าพระกุมารนี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ลุกขึ้นจากที่นั่งคุกเข่าลงถวายอัญชลีแล้วกราบลงที่พระบาทของพระกุมาร และถือว่าเป็นบุญตาของตนเอง แต่เมื่อพิจารณาสังขารเห็นว่าตนเองจะต้องตายเสียก่อน จึงพลาดโอกาสที่จะได้มรรค ผล และนิพพาน มีความเสียดายยิ่งนักถึงกับร้องไห้ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ได้เห็นดังนั้นจึงพากันพิศวงยิ่งนัก ต่างก็พากันไต่ถามพระดาบส เมื่อได้ทราบความว่าพระกุมารจะต้องเป็นผู้มีเดชานุภาพยิ่งใหญ่ต่อไปในภายหน้า ต่างก็พากันกราบพระกุมาร แม้พระเจ้าสุทโธทนะเองก็ทรงกราบพระกุมารเช่นกัน แล้วอสิตดาบสก็ทูลลากลับ

พิธีขนานพระนาม

เมื่อพระราชโอรสประสูติได้ครบ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะมีพระประสงค์จะทรงทำพิธีทำนายลักษณะและขนานพระนาม โดยให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมางานสโมสรกินเลี้ยง จากนั้นให้คัดเลือกเอาพราหมณ์ที่เก่งที่สุด ๗ คน ในจำนวนพราหมณ์ร้อยแปดนั้น ให้เป็นผู้ทำนายพระลักษณะพระกุมาร มีพราหมณ์ ๗ คน ได้ทำนายลักษณะเป็น ๒ นัย(๑) คือ

๑. ถ้าพระกุมารครองความเป็นฆราวาสต่อไป จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
๒. ถ้าพระกุมารเสด็จออกบรรพชา จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลก

แต่โกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่มได้ทำนายไว้เพียงข้อเดียวว่า พระกุมารจะต้องออกบรรพชา และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แล้วพราหมณ์เหล่านั้นก็ขนานพระนามพระกุมารว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า ผู้มีความต้องการอะไรสำเร็จทุกอย่าง

พระนางสิริมหามายาสวรรคต

พอประสูติได้ ๗ วัน พระราชมารดาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะจึงมอบเจ้าชายสิทธัตถะให้อยู่ในความดูแลของพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านาง ซึ่งเป็นพระชายาพระเจ้าสุทโธทนะเหมือนกัน แม้ในกาลต่อมาพระนางมีพระโอรสองค์หนึ่งคือ เจ้าชายนันทะ และพระราชธิดาอีกหนึ่งองค์คือ เจ้าหญิงรูปนันทา

สมัยหนึ่งมีพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะพร้อมด้วยข้าราชบริพารได้เสด็จไปทำพิธีแรกนาขวัญ ณ ทุ่งนาหลวง และได้เชิญเจ้าชายสิทธัตถะไปด้วย โดยจัดที่ประทับไว้ให้ใต้ต้นหว้าใหญ่ ขณะที่พระราชาเสด็จลงทำพิธีไถนาเป็นปฐมฤกษ์ พร้อมด้วยอำมาตย์ข้าราชบริพาร พวกพระพี่เลี้ยงก็ออกมาชมด้วย ทิ้งเจ้าชายไว้ในม่านแต่พระองค์เดียว เมื่อเจ้าชายอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว ได้ทรงเจริญภาวนาอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นได้ เวลานั้นเป็นเวลาบ่าย เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลายได้คล้อยไปตามตะวันทั้งสิ้น แต่เงาต้นหว้าที่ประทับปรากฏเป็นแนวตรงเหมือนเป็นเวลาเที่ยงวัน ครั้นพระพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับไปเห็นเหตุการณ์เป็นที่ประหลาดใจ จึงรีบกลับไปทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ เมื่อพระราชาเสด็จกลับไปทอดพระเนตร ก็ทรงรู้สึกอัศจรรย์พระทัยจึงได้ถวายอภิวาทพระกุมารเป็นครั้งที่ ๒

เจ้าชายสิทธัตถะศึกษาศิลปวิทยา

เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระขึ้นภายในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ คือ ปลูกอุบลบัวขาบ ปลูกปทุมบัวหลวง และปลูกปุณฑริกบัวขาว เพราะว่าพระเจ้าสุทโธทนะมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าชายสิทธัตถะครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ไม่ต้องการให้ออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าเลย จึงได้พยายามผูกมัดด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เจ้าชายพอใจในราชสมบัติเท่านั้น

เมื่อทรงเห็นว่าเจ้าชายเจริญวัย ควรจะได้รับการศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว จึงส่งไปศึกษาในสำนักครูวิศวามิตรเพื่อให้ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ วิชาที่ศึกษาเล่าเรียนก็มีวิชาขี่ม้า ฟันดาบ ยิงธนู เป็นต้น เจ้าชายสิทธัตถะมีความเฉลียวฉลาดสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าก็สามารถเรียนเจนจบจากสำนักของครูวิศวามิตร จนครูไม่มีวิชาอะไรที่จะสอนอีกต่อไป

ทรงอภิเษกสมรส

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาทขึ้น ๓ หลังเพื่อเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ และสมควรจะอภิเษกสมรสได้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้จัดให้ทรงอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะกับพระนางอมิตาแห่งโกลิยวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นเบญจกัลยาณีผู้มีความงาม ๕ อย่าง คือ

๑. เกสกลฺยาณํ ผมงาม
๒. ฉวิกลฺยาณํ ผิวงาม
๓. มํสกลฺยาณํ เนื้อริมฝีปากงาม
๔. อฏฺฐิกลฺยาณํ กระดูก (ฟัน) งาม
๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม (สวยไม่ส่าง)

แล้วก็ให้ประทับอยู่ในปราสาททั้ง ๓ ฤดูอย่างสุขสำราญ พระเจ้าสุทโธทนะได้พยายามสร้างสิ่งอำนวยความสุขทางฆราวาสวิสัยอย่างเต็มที่ เช่น สร้างประสาท ๓ ฤดู โดยให้มีการขับกล่อมประโคมดนตรีทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้ขับกล่อมดนตรีเป็นสตรีล้วน และพยายามควบคุมให้เพลิดเพลินอยู่ในพระราชวังเพื่อมิให้ทรงเห็นความทุกข์ยากของประชาชนในภายนอก

แต่จะอย่างไรก็ตาม วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะมีพระทัยจะเสด็จประพาสอุทยาน จึงรับสั่งให้นายฉันนะมหาดเล็กจัดรถเทียมม้าขับเที่ยวไปในอุทยาน ในขณะที่กำลังทรงเพลิดเพลินอยู่นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ที่เทวดาจำแลงมา คือ เห็นคนแก่ชราที่มีหลังโกง เดินถือไม้เท้าไปในระหว่างทาง ก็ทรงแปลกพระทัยถึงกับตรัสถามฉันนะว่า ชายผู้นี้ทำไมถึงมีรูปร่างผิดกับบุคคลทั่วๆ ไป เมื่อทรงทราบว่าเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องชราแก่ไปด้วยกันทั้งนั้น ก็บังเกิดความสังเวชสลดพระทัยเสด็จกลับพระราชวัง

วันต่อมา เมื่อเจ้าชายได้เสด็จประพาสอุทยานอีก ก็ทรงพบคนเจ็บและคนตายในวาระที่สองและที่สาม ก็ทรงถามนายฉันนะเหมือนดังคราวก่อน เมื่อทรงทราบว่าเป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องเจ็บ ต้องตาย ก็ทรงสังเวชพระทัยเป็นทวีคูณ แต่ในวาระที่สี่ทรงเห็นบรรพชิตที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ มีกิริยาอาการสำรวม น่าเคารพเลื่อมใสยิ่งนัก ก็ทรงถามนายฉันนะอีก เมื่อทรงทราบว่าเป็นบรรพชิต ผู้สงบ ไม่มีอันตราย ทรงพอพระทัย ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะมีพระทัยผ่องแผ้วเบิกบาน จึงเสด็จเที่ยวอยู่ในอุทยานตลอดวัน

แต่ในวันนั้นเอง เจ้าหญิงพิมพาได้ประสูติพระโอรส พระเจ้าสุทโธทนะจึงให้มหาดเล็กไปทูลให้เจ้าชายทรงทราบ พระองค์มีพระทัยน้อมไปในบรรพชาจึงออกพระโอษฐ์ว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ ห่วงบังเกิดขึ้นแล้ว เครื่องผูกพันเกิดขึ้นแล้ว แล้วในตอนเย็นพระองค์ก็เสด็จกลับพระราชวัง

เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา

หลังจากวันที่เจ้าชายเสด็จไปพบเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงดำริก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้น คือ ทรงดำริว่าสภาพทั้งหลายทั้งปวงโดยธรรมชาตินั้นต้องมีของแก้กันได้เสมอ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ มีทุกข์ก็ต้องมีสุขแก้ มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็ต้องมีเครื่องแก้ไม่ให้แก่ เจ็บ ตายได้ เจ้าชายทรงคำนึงว่า ถ้ายังอยู่ในเพศของฆราวาสวิสัยอยู่ก็ไม่อาจหาทางแก้ทุกข์ได้ เพราะฆราวาสวิสัยนี้คับแคบ และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง เพราะความรัก ความชัง ความหลง เป็นที่มาของธุลี ส่วนการบรรพชานั้นเป็นช่องว่างพอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้ เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ทำให้มีพระทัยน้อมไปในการบรรพชามากยิ่งขึ้น

และในราตรีนั้นเอง ในขณะที่มีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก็ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา โดยยอมหนีพระนางพิมพา พระโอรส ราชสมบัติ ยศศักดิ์รัชทายาททั้งหลายทั้งปวง แล้วเสด็จหนีออกจากพระราชวัง โดยประทับม้าชื่อว่า "กัณฐกะ" พร้อมด้วยมหาดเล็กฉันนะในยามราตรี เสด็จถึงชายฝั่งแม่น้ำอโนมานที (แขวงมัลละชนบท) ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ และทรงเปลื้องเครื่องประดับต่างๆ ออกแล้วสวมใส่ชุดนักบวช อธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ต่อไป

ครั้งแรก พระโคดมได้ประทับอยู่ที่ป่ามะม่วง ชื่อ อนุปิยอัมพวัน อยู่ถึง ๗ วัน จากนั้นได้เสด็จผ่านแคว้นโกศลมุ่งตรงไปยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อจะได้ศึกษาข้อปฏิบัติของเจ้าลัทธิทั้งหลาย พระองค์ได้พบพระเจ้าพิมพิสารพระราชาผู้ครองแคว้นมคธด้วย พระเจ้าพิมพิสารได้ตรัสถามถึงสกุลวงศ์ที่ออกบวช แล้วตรัสเชิญให้พระองค์ครองราชสมบัติในแคว้นมคธด้วย โดยจะแบ่งให้ปกครองแคว้นมคธกึ่งหนึ่ง พระโคดมทรงปฏิเสธโดยสุภาพ โดยตรัสว่า พระองค์มุ่งแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ในการแสวงหาราชสมบัติอีกต่อไป พระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้ทราบพระประสงค์เช่นนั้น ก็ได้ทรงอนุโมทนาและขอพรต่อพระองค์ให้ทรงรับปฏิญญาว่า ถ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณขอให้มาเทศนาโปรดบ้าง พระองค์ก็ทรงรับคำขอร้องนั้น

ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ เมื่อได้ทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช ตนเองมีความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ชักชวนเพื่อนพราหมณ์ที่เคยไปทำนายลักษณะเจ้าชายออกบวชตาม บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ และมีผู้บวชตามอยู่ ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ พราหมณ์ทั้ง ๕ คนนี้รวมเรียกว่า ปัญจวัคคีย์

เข้าศึกษาในสำนักของดาบส

หลังจากที่พระองค์ได้พบปะสนทนากับพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ก็ได้เข้าไปศึกษายังสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ฝากพระองค์เป็นศิษย์ศึกษาจนสำเร็จตามหลักสูตรของอาจารย์ ซึ่งก็ใช้เวลาในการศึกษาไม่นานเท่าไรนัก พระองค์ก็สามารถศึกษาได้อย่างรวดเร็ว อาจารย์อาฬารดาบสก็หมดความรู้ที่จะสอนให้กับพระองค์ พระองค์ก็ได้สมาบัติ ๗ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน กับอรูปฌาน ๓ ได้แก่ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ และอากิญจัญญายตนะ

จากนั้นพระองค์พิจารณาเห็นว่า ความรู้ที่ได้ศึกษาจากสำนักของอาฬารดาบสไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความเป็นพุทธะได้ จึงได้อำลาอาจารย์ไป

ต่อมา พระองค์ได้เข้าไปทดลองศึกษาในสำนักของดาบสอีกท่านหนึ่งมีนามว่า อุทกดาบสรามบุตร และก็ได้รับความรู้ในอรูปฌานเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งก็นับว่าเป็นความรู้ทางจิตที่สูงมากของอาจารย์ พระองค์ได้ศึกษาจนมีความชำนาญเท่าเทียมกับความรู้ของอาจารย์แล้ว แต่พระองค์ก็ไม่ทรงพอพระทัย เพราะนั่นยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ทรงพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ พระองค์จึงขอลาออกจากสำนักอุทกดาบสไปแสวงหาสัจจธรรมตามลำพังพระองค์เอง

เมื่อลาจากสำนักของอาจารย์ทั้งสองแล้ว พระองค์ก็เสด็จจาริกมุ่งตรงไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงพิจารณาเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นสถานที่สงบ น่ารื่นรมย์ มีพื้นที่ราบเรียบ มีแนวป่าเขียวสด มีน้ำใสไหลผ่าน มีที่สำหรับโคจรภิกษาอยู่โดยรอบ จึงทรงประทับเพื่อบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้นต่อไป

ฝ่ายปัญจวัคคีย์ซึ่งพากันติดตามพระองค์มาหลายท้องที่หลายเมือง ก็ได้มาพบพระองค์ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เห็นพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีต่างๆ อยู่ ก็คิดว่าพระองค์คงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ จึงได้พากันเข้าไปช่วยปรนนิบัติรับใช้พระองค์

ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมนี้เอง พระโคดมได้เริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยาซึ่งเป็นวิธีการนิยมทำกันอย่างมากของพวกดาบส ฤาษี ชีไพร ในสมัยนั้น โดยคิดว่าจะเป็นหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ พระองค์ได้ตั้งพระทัยบำเพ็ญทุกรกิริยาแบบเอาชีวิตเข้าแลก คือทรงใช้วิธีปฏิบัติ ๓ วิธี

วิธีแรก : กดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดาน) ด้วยพระชิวหา คือ ใช้ลิ้นดันเพดานไว้ให้แน่นจนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลออกจากพระกัจฉะ (รักแร้) จนเกิดความทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ก็ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

วิธีที่สอง : หลังจากทรงทดลองวิธีแรกแล้วไม่เป็นผล จึงทรงหันมาใช้วิธีแบบที่สอง คือ ทรงกลั้นลมหายใจเข้าออก เมื่อลมเดินไม่สะดวกทางช่องพระนาสิก (จมูก) และพระโอษฐ์ไม่สะดวก ก็เกิดเสียงอู้ทางช่องพระกรรณ (หู) ทำให้ปวดพระเศียร เสียดในพระอุทรร้อนไปทั่วพระวรกาย ก็ยังไม่ได้บรรลุสัจธรรมที่ทรงประสงค์

วิธีที่สาม : ทรงใช้วิธีการอดอาหาร ผ่อนเสวยวันละน้อยๆ บ้าง เสวยอาหารที่ละเอียดบ้าง จนพระวรกายเหี่ยวแห้งทรุดโทรมลง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏไปทั่วพระวรกาย พระกำลังก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ แม้พระองค์จะทรงทรมานหนักหนาสาหัสถึงเพียงนั้น ก็ยังไม่พบคุณวิเศษใดๆ เลย

พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า การบำเพ็ญเพียรทางกายอย่างมากก็ทำได้เพียงแค่นี้ ไม่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว ถึงทรมานร่างกายขนาดนั้นแล้วก็ยังไม่เห็นทางที่จะบรรลุและพ้นไปจากทุกข์ได้เลย พระองค์ทรงหวนระลึกถึงการบำเพ็ญเพียรทางจิตว่าคงจะเป็นทางทำให้ตรัสรู้ได้ และทรงเทียบกับพิณ ๓ สาย คือถ้าขึงเกินไป พอดีดก็จะขาดออกไป ถ้าขึงหย่อนเกินไป ดีดก็จะไม่เป็นเสียงเพลง แต่ถ้าขึงปานกลาง ย่อมดีดฟังเสียงไพเราะเจริญใจ เมื่อเทียบกับการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ถ้าย่อหย่อนนักคือหมกมุ่นหนักไปในทางกามารมณ์จนเกินไป ก็เป็นเสมือนพิณที่ขึงหย่อน ย่อมไม่สามารถออกจากทุกข์ได้ ถ้าหากปฏิบัติตึงเกินนัก เช่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาที่เคยปฏิบัติมานั้น ก็เป็นเสมือนพิณที่ขึงตึงนักพอดีดก็ขาด พระองค์ก็เช่นเดียวกันบำเพ็ญทุกรกิริยาลำบากเปล่า แทบจะขาดใจก็หาผลใดๆ ไม่ได้ ฉะนั้น จึงควรเดินสายกลางไม่ตึงนักและหย่อนนัก ซึ่งเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คงจะเป็นทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

ฝ่ายพวกปัญจวัคคีย์พอเห็นพระองค์เลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับมาเสวยอาหารเช่นเดิม ก็คิดว่าพระองค์คลายจากความเพียรเวียนมาเพื่อความมักมากเสียแล้ว คงไม่อาจจะตรัสรู้ได้อย่างแน่นอน พวกเราไม่อาจฝากความหวังไว้กับพระองค์ได้อีกต่อไป ความหวังที่จะเห็นพระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าคงจะไร้ผล ถ้าพวกเรายังปฏิบัติพระองค์ต่อก็คงไม่ได้อะไร ทั้งหมดจึงพร้อมใจกันหนีไปอยู่ยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถ ไกลจากสถานที่พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยามาประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร) ใกล้เมืองพาราณสี การที่พวกปัญจวัคคีย์หลีกหนีไปก็เป็นความดีแก่พระองค์อยู่เหมือนกัน เพราะพระองค์สามารถบำเพ็ญเพียรทางจิตได้อย่างเต็มที่ ถ้ามีคนอยู่มากก็ก่อให้เกิดความพลุกพล่านก่อให้เกิดอันตรายต่อความสงบของพระองค์ ซึ่งนับเป็นโชคอย่างยิ่งอยู่เหมือนกัน

ในเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสพร้อมถาดจากนางสุชาดา ซึ่งนางนำมาแก้บนที่ได้บุตรคนแรกเป็นชาย เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ก้อน แล้วก็ทรงนำถาดทองใบนั้นไปลอยที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา โดยทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป ถ้าจะไม่สำเร็จก็ขอให้ถาดนั้นลอยไปตามน้ำ ปรากฏว่าถาดนั้นได้ลอยไปทวนกระแสน้ำ พระองค์เมื่อทรงเห็นเช่นนั้นก็ทรงมั่นพระทัยว่า พระองค์จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยอย่างแน่นอน

ทรงบรรลุอมตธรรม

เมื่อพระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเรียบร้อยแล้ว ทรงดำริที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป จึงทรงมุ่งตรงไปยังต้นมหาโพธิ์ตามที่ทรงกำหนดหมายไว้ ในระหว่างทางพระองค์ได้พบโสตถิยพราหมณ์ถือหญ้าคามา ๘ กำเดินสวนทางมา พอพราหมณ์นั้นมาพบพระองค์ก็เกิดความเลื่อมใสจึงน้อมหญ้าคาทั้ง ๘ กำเข้าไปถวาย พระองค์ก็ทรงรับไว้แล้วเสด็จต่อไปยังต้นมหาโพธิ์ เมื่อเสด็จถึงต้นมหาโพธิ์แล้ว พระองค์ได้ทรงพิจารณาว่า ทิศตะวันออกของต้นมหาโพธิ์เป็นสถานที่เหมาะจึงทรงลาดหญ้าคา ๘ กำปู ณ ที่นั้น ทรงพอพระทัยในบรรลังก์หญ้านั้น ทรงนั่งขัดสมาธิบนบรรลังก์หญ้านั้น หันพระพักตร์ไปในทิศตะวันออก แล้วทรงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด เราจักไม่ลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเนื้อเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที" แล้วทรงกระทำจิตเข้าสู่สมาธิอย่างเข้มข้น ทรงประมวลเอาพระบารมีที่ทรงสั่งสมมาหลายร้อยหลายพันชาติมาเป็นพระกำลัง จนสามารถเอาชนะธรรมฝ่ายต่ำได้ มีพระทัยที่แน่วแน่มากยิ่งขึ้นตามลำดับ และในราตรีนั้นเอง พระองค์ก็ได้บรรลุญาณตามลำดับแห่งราตรีดังนี้คือ

๑. ยามแรก (เวลา ๑๘-๒๒ น.) ทรงบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือรู้และเข้าใจอดีตชาติหนหลังของพระองค์ได้อย่างแจ่มแจ้ง

๒. ยามที่สอง (เวลา ๒๒-๐๒ น.) ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ คือทรงรู้และเข้าใจเหตุที่สัตว์โลกต้องเกิดและตายมีสภาพที่แตกต่างกัน ทั้งรู้แจ้งการกำเนิดและเรื่องของชีวิต

๓. ยามที่สาม (เวลา ๐๒-๐๖ น.) ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือความรู้ความเข้าใจความสิ้นไปของกิเลสอาสวะทั้งหลาย คือทราบว่าการที่ขันธ์มาประชุมกันขึ้นเป็นตัวเราตัวเขานี้ ก็เพราะความโง่เขลา (อวิชชา) ความต้องการ ความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด (ตัณหา) ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) และการกระทำของเรา (กรรม) นั่นเอง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเหตุและผลของกันและกัน เหมือนกับสายโซ่ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ทำให้ถอนความหลงความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์เสียได้ และรู้ความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ไม่เคยได้ทรงทราบมาจากเจ้าลัทธิใดมาก่อน เรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ คือ

๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก
๒. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์
๓. นิโรธ คือ วิธีที่จะทำให้ความทุกข์สิ้นไป
๔. มรรค คือ แนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ทรงดำริที่จะประกาศธรรม

เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงเสวยวิมุตติสุขตามสถานที่ร่มไม้ต่างๆ มีร่มไม้อชปาลนิโครธ เป็นต้น รวมแล้วเป็นเวลา ๔๙ วัน (๗ สัปดาห์) พระองค์ได้ทรงดำริว่า ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นเป็นพระธรรมที่ลึกซึ้ง ยากที่คนธรรมดาจะรู้และเข้าใจปฏิบัติตามแบบพระองค์ได้ ทรงมีพระทัยท้อแท้ไม่คิดจะสอนผู้อื่นอีกต่อไป เเต่เป็นเพราะพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณ ที่มีอยู่ในพระทัยของพระองค์ตลอดเวลา ทรงพิจารณาเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลว่า สัตว์ทั้งหลายนั้นมีระดับสติปัญญาไม่เหมือนกัน และทรงเปรียบหมู่สัตว์ทั้งหลายเหมือนกับดอกบัว ๔ ประเภท(๒) คือ

๑. อุคฆฏิตัญญู ได้แก่ บุคคลที่มีสติปัญญาดีเยี่ยม มีกิเลสเบาบาง สามารถสอนให้รู้ได้โดยง่าย เปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นจากน้ำแล้ว พอได้สัมผัสแสงอาทิตย์ส่องก็จะบานในทันที

๒. วิปจิตัญญู ได้แก่ บุคคลที่มีสติปัญญาค่อนข้างดี เมื่อได้รับการอบรมจนมีอุปนิสัยแก่กล้า ก็ย่อมจะสามารถรู้ตามได้ เปรียบเหมือน ดอกบัวที่เสมอน้ำ รอวันจะบานในวันพรุ่งนี้

๓. เนยยะ ได้แก่ บุคคลผู้มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรมโดยย่อและโดยพิศดารแล้ว ยังไม่สามารถรู้ได้ในทันที เมื่อได้ฟังพร่ำสอนอยู่เสมอๆ จะสามารถบรรลุธรรมนั้นได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ จักบานในวันถัดไป

๔. ปทปรมะ ได้แก่ บุคคลที่มีปัญญาอ่อน และไม่สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ แม้จะได้รับการแนะนำทั้งโดยย่อและโดยพิศดารแล้วก็ตาม เปรียบเหมือนกับดอกบัวที่ยังอยู่ในโคลนตม ซึ่งจะเป็นอาหารของปลาและเต่า ไม่อาจจะขึ้นพ้นน้ำได้เลย

หลังจากพระองค์ทรงเปรียบเทียบสัตว์โลกว่า แต่ละคนนั้นมีระดับความรู้และการเรียนรู้ที่แตกต่างกันดังนี้แล้ว พระองค์จึงทรงดำริที่จะแสดงธรรม ครั้งแรกทรงหวนระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งสองท่านนั้นมีระดับจิตที่สูง กิเลสที่เบาบาง และอีกประการหนึ่งพระองค์ก็เคยไปฝากตัวเป็นศิษย์อยู่กับท่านทั้งสองนี้ด้วย แต่เมื่อทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว พระองค์จึงทรงพิจารณาหาบุคคลผู้ควรรับฟังพระธรรมเทศนาต่อไป ทรงเห็นว่า ปัญจวัคคีย์ เป็นนักบวชที่เคยอุปัฏฐากพระองค์มาก่อน ทั้งมีกิเลสเบาบาง ควรที่จะได้รับฟังพระธรรมเทศนา แต่ขณะนี้ปัญจวัคคีย์ได้หลบหนีพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะไปแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์

แสดงปฐมเทศนา (The First Sermon)

พระองค์เสด็จดำเนินไปตามลำพัง เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฝ่ายพวกปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล จึงพูดกันว่า "พระสมณโคดมคลายจากความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมาก คงไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษอะไร นี่คงจะมาให้เราอุปัฏฐากอีกแล้ว"

เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้วจึงตรัสว่า เราได้บรรลุธรรมวิเศษโดยชอบแล้ว เราจะแสดงธรรมแก่พวกท่าน ถ้าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามก็จะบรรลุคุณธรรมวิเศษนั้น พวกปัญจวัคคีย์แสดงอาการกระด้างกระเดื่องไม่เคารพ กล่าวว่า อาวุโสโคดม ท่านประพฤติอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนั้น ยังไม่สามารถบรรลุคุณธรรมวิเศษได้ เมื่อท่านคลายจากความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมากอย่างนี้ ไหนเลยท่านจะบรรลุคุณธรรมวิเศษได้ พระองค์ทรงตรัสย้ำอีก พวกปัญจวัคคีย์คัดค้านอยู่อย่างนั้น ๒-๓ ครั้ง ท้ายที่สุดพระองค์ได้ตรัสว่า "วาจาเช่นนี้ เราได้เคยพูดกับพวกเธอในกาลก่อนถึงบัดนี้หรือ" พวกปัญจวัคคีย์ฉุกคิดได้ว่า วาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสเลย จึงเชื่อว่าพระองค์คงได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษจริงๆ จึงมีจิตอ่อนลงและพร้อมตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา

เมื่อพระองค์ทรงเตือนให้ปัญจวัคคีย์ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาได้แล้ว จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นกัณฑ์แรก เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แก่ปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหปุณณมี คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

เมื่อปัญจวัคคีย์ได้พิจารณาไตร่ตรองธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้ว ท่านโกณฑัญญะซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสที่สุดได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) คือได้เห็นตามความเป็นจริงทุกประการ นับว่าเป็นบุคคลแรกในโลกที่ได้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์ อันเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงพอพระทัยมากที่พระธรรมอันลึกซึ้งที่พระองค์ได้ตรัสรู้มานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยที่คนจะรู้ตามได้ ท่านอัญญาโกณฑัญญญะเป็นพยานยืนยันได้เป็นอย่างดี พระองค์ถึงกับเปล่งอุทานว่า "อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ...อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ" แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ และพระองค์ก็ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุโดยสมบูรณ์ โดยตรัสว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด" นับได้ว่าเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า

ในพรรษาแรก พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในระหว่างพรรษานั้นพระองค์ก็ได้แสดงธรรมโปรดยสะกุลบุตรพร้อมกับสหายอีก ๔ คน คือ วิมละ, สุภาหุ, ปุณณชิ และควัมปติ และสหายที่ไม่ปรากฏชื่ออีกจำนวนหนึ่งในเมืองพาราณสีรวม ๕๐ คน จนได้บรรลุอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด รวมแล้วพรรษาแรกเท่านั้นพระองค์ได้สาวกเพิ่มเป็น ๖๐ องค์ รวมทั้งพระองค์ด้วยก็เป็น ๖๑ องค์พอดี


.................................................................................

(๑) คู่มือการศึกษานักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี, กรมการศาสนา, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. ๒๕๓๖ น. ๕๓
(๒) คู่มือการศึกษานักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี, กรมการศาสนา, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. ๒๕๓๖ น. ๕๙


มีต่อ >>> ๒. งานประกาศศาสนา (Missionary Works)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2010, 10:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๒. งานประกาศศาสนา (Missionary Works)

เมื่อพระองค์มีพระอรหันตสาวกครบ ๖๐ องค์แล้ว ครั้นออกพรรษาทรงพิจารณาเห็นว่า ควรจะออกไปประกาศหลักธรรม หลักคำสั่งสอน หลักศาสนา ของพระองค์ให้แพร่หลายได้แล้ว พระองค์จึงเรียกประชุมสงฆ์สาวกทั้ง ๖๐ องค์มา เพื่อประกาศหลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และได้ตรัสว่า "จรถ ภิกฺขเว จาริกํ ฯเปฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก จงอย่าไปที่เดียวกันสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด ให้สมบูรณ์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง แม้ตัวเราเองก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นเดียวกัน"

พระดำรัสที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าเป็นที่น่าประทับใจ ลึกซึ้งกินใจชาวพุทธยิ่งนัก คือพระองค์ทั้งขอร้อง ทั้งบังคับ ให้พระสงฆ์สาวกของพระองค์ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระธรรมคำสอนของพระองค์ให้ไปถึงประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พระพุทธศาสนานับได้ว่าเป็นศาสนาแรกของโลกที่มีการจัดระบบงานเผยแผ่ศาสนา (Missionary Works) โดยส่งสาวกไปสอนศาสนาก่อนศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวพุทธทั่วโลกที่พระสาวกในพระพุทธศาสนาได้ทำงานแบบนี้มาเป็นเวลานานมาแล้ว

เทคนิควิธีในการเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้า

หลักการเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้า มีความแตกต่างจากศาสดาของศาสนาอื่นๆ เป็นอย่างมาก พระองค์จะทรงเน้นไปที่ผู้เป็นใหญ่หรือปัญญาชนในชุมชนนั้นๆ เป็นหลัก เพราะเมื่อสามารถสอนหัวหน้าของเขาให้กลับใจมานับถือได้แล้ว ย่อมจะสามารถดึงบริวารของเขามาได้โดยปริยาย จึงทำให้พระพุทธศาสนาสามารถขยายไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จไปเผยแผ่ศาสนาแก่พวกชฎิล ๓ พี่น้อง แต่ผลก็ได้มากเกินคาด คือได้บริวารของพวกชฎิลเหล่านั้นมานับเป็น ๑,๐๐๐ คน มาเป็นสาวกของพระองค์

อีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นตัวอย่างได้ดีก็คือ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล และพร้อมกันนั้นข้าราชบริพารเป็นจำนวนมากของพระองค์กลับใจมานับถือพระพุทธศาสนา แล้วได้ถวายวัดเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม และนับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาอีกด้วย

อีกตัวอย่าง ทรงแสดงธรรมแก่อนาถปิณฑิกเศรษฐีจนเกิดมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้สร้างวัดเชตวันถวาย มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก และพระองค์ก็จำพรรษาที่วัดเชตวันถึง ๑๙ พรรษา มากที่สุดกว่าที่ใดๆ

ตัวอย่างสุดท้ายที่ยกมาให้เห็นอีกตัวอย่างก็คือ พระองค์แสดงธรรมโปรดนางวิสาขาธิดาของเศรษฐีในภัททิยนคร นางวิสาขาได้บรรลุโสดาปัตติผล พร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมากหันมานับถือพระพุทธศาสนา และมีศรัทธาได้สร้างวัดบุบผารามและโลหปราสาทให้เป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุสงฆ์

จากตัวอย่างข้างบนนี้ที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้นมีความแตกต่างจากศาสดาในศาสนาอื่นๆ เป็นอย่างมากในการสอนศาสนิก เพราะคำสั่งสอนหลักธรรมในศาสนาของพระพุทธองค์นั้นทนต่อการพิสูจน์ ไม่มีข้อบกพร่อง ทันสมัย ใหม่อยู่เสมอหรือที่เรียกกันว่า อกาลิโก (Modernize) พระองค์จะเน้นไปที่ผู้เป็นใหญ่ในชุมชนนั้นๆ เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระองค์จะทรงละเลยคนชั้นปลายแถว แต่เป็นเพราะว่าพระประสงค์ที่ต้องการให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปได้อย่างรวดเร็วและตั้งมั่น จึงเน้นไปที่ชนชั้นที่มีพลังในทางสังคมหรือชนชั้นปกครองเป็นหลัก

พุทธกิจที่ทรงกระทำตลอดพระชนม์ชีพ

พระพุทธเจ้าทรงประกอบไปด้วยพระมหากรุณาคุณอันยิ่ง พระองค์อุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาทรงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่พระองค์ทรงกระทำอยู่เป็นกิจวัตรนั้นก็คือ

๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ = เวลาเช้าทรงบิณฑบาตทุกวัน
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ = เวลาเย็นแสดงธรรมสั่งสอนประชาชน
๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ = เวลาค่ำประทานโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ = เวลาเที่ยงคืนตอบปัญหาเทวดา
๕. ปจฺจูเส ว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ
= เวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูสัตว์โลกที่ควรจะบรรลุธรรม แล้วเสด็จไปสั่งสอน

หัวใจคำสอนของพระพุทธศาสนา

หลังจากออกพรรษาแรกที่ตรัสรู้นั้นมีภิกษุสงฆ์ที่พระองค์ทรงบวชให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา มาเข้าเฝ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูปโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ คือตรัส หัวใจพระพุทธศาสนาและวินัยเครื่องควบคุมคณะสงฆ์ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ = การไม่ทำบาปทุกอย่าง
กุสลสฺสูปสมฺปทา = การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ = การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธานสาสนํ = นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯลฯ

อนูปวาโท = การไม่กล่าวร้าย
อนูปฆาโต = การไม่ทำร้าย
ปาติโมกฺเข จ สํวโร = ความสำรวจในปาติโมกข์
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ = รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ = ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัด
อธิจิตฺเต จ อาโยโค = การฝึกจิตให้สงบระงับ
เอตํ พุทฺธานสาสนํ = นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

หลักการสอนของพระพุทธเจ้า

๑. สันทัสสนา = อธิบายให้เห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่าง
๒. สมาทปนา = โน้มน้าวจิตใจให้ผู้ที่ถูกสอนมีใจที่จะทำตามโดยไม่ยาก
๓. สมุตเตชนา = ให้กำลังใจเพื่อให้เกิดความอุตสาหะในการที่จะทำ
๔. สัมปหังสนา = สอนให้เกิดความเพลิดเพลินไม่น่าเบื่อหน่าย

รายละเอียดปลีกย่อยในการสอนของพระองค์ก็ยังมีอีกมากมาย ที่สำคัญคือพระองค์มีปรจิตตวิชานนะคือทรงรู้จิตรู้ใจของคนที่พระองค์จะสอนเป็นอย่างดี ทรงรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ว่าคนชนิดไหนควรจะได้รับการสอนอย่างไร เป็นต้น จะขอยกตัวอย่างการสอนของพระพุทธเจ้าให้ดูเป็นแบบก็คือ

สอนจากสิ่งที่รู้แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ : เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนสิงคาลมาณพในสิงคาล สูตรที่เขากำลังไหว้ทิศทั้ง ๖ ตามที่บรรพบุรุษของเขาสั่งสอนมา โดยก็ไม่ทราบว่าไหว้ไปทำไม แต่พระองค์ได้กลับใจเขา ทรงสอนให้เขาเข้าใจทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนา อย่างนี้เรียกว่า สอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้

สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม : เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนพระนางรูปนันทาเถรี โดยพระองค์ทรงเนรมิตหญิงสาวสวยให้ถวายงานพัดใกล้ ๆ กับพระองค์ในเวลาที่ทรงแสดงธรรม เพราะทรงรู้ว่าพระนางรูปนันทาเป็นผู้หนักในรูปคือเป็นพวกราคจริต พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตให้หญิงนั้นเริ่มจากวัยรุ่น ---> ไปสู่วัยกลางคน ---> วัยชรา ---> และเสียชีวิตลงในที่สุด และทรงแสดงความไม่เที่ยงแห่งสังขารในวาระสุดท้าย คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา อย่างนี้เรียกว่า สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม

สอนโดยการใช้อุปกรณ์ : เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนพระจูฬปันถกโดยทรงให้พระจูฬปันถกใช้ฝ่ามือลูบคลำชิ้นท่อนผ้า โดยให้บริกรรมว่า รโชหรณํ รโชหรณํ ไปเรื่อยๆ เมื่อใช้เวลานานเข้า ชิ้นท่อนผ้าก็เก่าเศร้าหมองเกิดขึ้น พระจูฬปันถกก็ได้คิดว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง และในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่า การสอนโดยใช้อุปกรณ์ประกอบการสอน

สอนให้เกิดความคิดขึ้นมา : เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนนางกิสาโคตมี คือนางกิสาโคตมี ได้อุ้มลูกน้อยซึ่งตายแล้วไปเที่ยวขอยาตามสถานที่ต่างๆ เพื่อจะเอามารักษาลูกของนางให้ฟื้นคืนชีพ คนทั้งหลายเริ่มเข้าใจว่านางคงจะเป็นบ้าไปเสียแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่คิดจะช่วยนาง บอกว่าให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์อาจมียารักษาลูกของนางให้หายได้ นางดีใจมากเมื่อได้ยินอย่างนี้ เมื่อนางได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า มี.....มียาพอที่จะรักษาลูกของนางให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ แต่มีข้อแม้อยู่เพียงข้อเดียวคือต้องไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาจากบ้านของคนที่ยังไม่เคยมีใครตายเลย นางกิสาโคตมี ดีใจมากรีบอุ้มลูกน้อยไปเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ บ้านแล้วบ้านเล่า ไม่มีสักบ้านเดียวที่ไม่เคยมีคนตาย จึงเกิดความท้อแท้ใจ จากนั้น นางเริ่มจะคิดได้และปลงตกกับความจริงของธรรมชาติชีวิตว่า สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสลายไปในที่สุด ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยสูญเสียสิ่งที่ตนเองรัก สิ่งที่ตนเองชอบใจ จากนั้นนางไม่มีความคิดที่จะหายามารักษาลูกของนางอีกต่อไป เดินมุ่งหน้ากลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าและขอบวชเป็นภิกษุณีและได้บรรลุพระอรหันต์ในที่สุด วิธีการสอนอย่างนี้ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า การสอนให้เกิดความคิดขึ้นมาเอง

หลักการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า

แต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนมากมาขอเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาที่หลากหลายกับพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการตอบปัญหาอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. เอกังสพยากรณ์ ทรงตอบไปโดยส่วนเดียว เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

๒. วิภัชพยากรณ์ ทรงแยกตอบไปตามลักษณะของเรื่องนั้นๆ เช่น ถ้ามีคนถามปัญหาว่า "ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่" จะทรงตอบจำแนกไปตามเหตุและผล คือ เมื่อเหตุให้เกิดมีอยู่ การเกิดก็ต้องมี เมื่อเหตุของการเกิดไม่มี การเกิดก็ไม่มี

๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ทรงถามย้อนกลับโดยเอาคำถามที่ถามมา ย้อนถามไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จะได้คำตอบเองเหมือนหลักของตรรกวิทยา เช่น ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร แสดงความคิดเห็นของตนว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" พระองค์ตรัสตอบว่า "ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้นด้วย"

๔. ฐปนียะ ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องไร้สาระ ตรัสออกไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ผู้ฟัง ถ้ามีคนถามปัญหาอย่างนี้ พระองค์ก็จะไม่ได้รับคำตอบ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าพระองค์ไม่รู้ พระองค์ทรงรู้ทรงเป็นสัพพัญญู แต่เป็นปัญหาไร้สาระ ไม่เป็นไปเพื่อคลายความทุกข์ เช่น มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่ามาลุงกยบุตรถามปัญหาทางอภิปรัชญากะพระองค์ว่า โลกนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมี ที่สุดหรือไม่มีที่สุด เป็นต้น พระองค์จะไม่ทรงตอบปัญหาเช่นนั้น

พระดำรัสของพระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสทุกครั้ง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลัก ๔ ประการคือ

๑. เป็นเรื่องจริง
๒. เป็นธรรม
๓. มีประโยชน์
๔. เหมาะสมแก่กาล



มีต่อ >>> ๓. พระพุทธศาสนากับหลักการสังคมสงเคราะห์

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2010, 10:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๓. พระพุทธศาสนากับหลักการสังคมสงเคราะห์

พระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สอนให้ทุกคนไม่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว ให้ทำลายอหังการ และมมังการ ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้ามนุษย์ทุกคนถือว่านี่เรา นี่พวกของเรา นั่นพวกของผู้อื่น มีมากขึ้นในตัวมนุษย์ ความเข้าใจความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็จะหมดไปในทันที จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉาน สังคมก็จะมีแต่ความแห้งแล้งน้ำใจ ความเอื้ออาทรในเพื่อนร่วมโลกด้วยกันก็จะหมดไป กลายเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบตัวใครตัวมันเป็นการแบ่งทวีป แบ่งประเทศ แบ่งภาค แบ่งพวกไปในที่สุด

พระพุทธศาสนาได้วางหลักสังคมสงเคราะห์ให้มนุษย์ในสังคมได้ปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ เป็นเครื่องผูกมิตรไมตรี เป็นเครื่องสร้างมนุษยสัมพันธ์ และเป็นธรรมที่ชนะใจคนซึ่งก็ได้แก่

๑. ทาน คือการให้ช่วยเหลือคนยากจน คนที่ด้อยโอกาสในสังคม คนประสบภัย และให้การบริจาคแก่มูลนิธิเพื่อการกุศลต่างๆ

๒. ปิยวาจา พูดจาอ่อนหวานไพเราะนุ่มนวล ทำให้ผู้ได้ยินแล้วประทับใจอยากสนทนาด้วย

๓. อัตถจริยา ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำตนให้เป็นกาฝากทางสังคมหรือขัดขวางความเจริญในสังคม

๔. สมานัตตตา วางตนเสมอต้นเสมอปลาย เหมาะสม ไม่ถือตัว ไม่หยิ่งยโส


มีต่อ >>> ๔. พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2010, 10:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๔. พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ

โดยหลักกว้างๆ แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักของความเชื่อไว้ ๑๐ อย่าง และตัวอย่างที่พระองค์ทรงแสดงแก่ชาวกาลามะในสมัยโน้นยังเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจนมาถึงปัจจุบัน คือพระองค์ให้ชาวกาลามะพิจารณาให้ดีรอบคอบเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ โดยครั้งนั้นชาวกาลามะสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อคำสั่งสอนของสมณพราหมณ์เหล่าใดดี เพราะต่างฝ่ายก็กล่าวว่าหลักธรรมของตนถูกต้อง โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา พวกชาวกาลามะจึงเข้าไปเฝ้าและทูลถามว่า ควรจะเชื่อหลักธรรมคำสอนของใครดี พระองค์จึงได้วางหลักการจะเชื่อให้แก่ชาวกาลามะ และเป็นแบบอย่างของชาวพุทธมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ หลักของการเชื่อ(๑) มีดังนี้

- อย่ายึดถือ โดยการฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)
- อย่ายึดถือ โดยการถือสืบๆ กันมา (ปรัมปรา)
- อย่ายึดถือ โดยเล่าลือ (อิติกิรา)
- อย่ายึดถือ โดยการอ้างตำรา (ปิฎกสัมปทาน)
- อย่ายึดถือ โดยตรรก (ตักกะ)
- อย่ายึดถือ โดยการอนุมาน (นยะ)
- อย่ายึดถือ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)
- อย่ายึดถือ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)
- อย่ายึดถือ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)
- อย่ายึดถือ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณ โน ครูติ)

ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ทรงสอนว่า การจะเชื่ออะไรลงไป ไม่ควรเชื่ออย่างงมงาย ควรเชื่ออย่างมีเหตุผล คือเชื่อด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาไว้ในที่ใด ก็สอนเรื่องปัญญากำกับไว้ในที่นั้นด้วย พระพุทธศาสนาไม่นิยมการล่อลวงให้เชื่อ หรือบีบบังคับให้เชื่อ ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันถ่องแท้เสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ จะทำให้ไม่ผิดพลาดในภายหลัง


.................................................................................

(๑) พุทธธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พ. ศ. ๒๕๓๘, น. ๖๕๑

:b46: กาลามสูตร : หลักความเชื่อของชาวพุทธ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=18318


มีต่อ >>> ๕. หลักความเชื่อขั้นสูง ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 56 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร