วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 00:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2010, 10:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

การทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิ

พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



พระพุทธเจ้าผู้ทรงไม่หวั่นไหวทั้งพระกายพระจิตทุกเวลา
ทุกสถานการณ์ที่ทรงเผชิญ ได้ทรงแสดงธรรมเหตุแห่งความไม่หวั่นไหว
ปรากฏในพุทธภาษิตที่แปลความว่า
“สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันผู้ใดอบรมบริบูรณ์ดีแล้ว
ทั้งกายทั้งจิตของผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว”



จิตนั้นเป็นความสำคัญ การปฏิบัติธรรมทั้งสิ้นต้องปฏิบัติให้ถึงจิต จึงจะเป็นผลสำเร็จ
ศีลสมาธิปัญญา ก็ต้องปฏิบัติให้ถึงจิต จึงจะเป็นศีลสมาธิปัญญา
แม้จะเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น สติ สัมปชัญญะ ขันติ โสรัจจะ
ก็ต้องปฏิบัติให้ถึงจิต จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นต้น
การปฏิบัติธรรมจะต้องปฏิบัติให้ถึงจิต และการจะปฏิบัติธรรมให้ถึงจิตได้นั้น
จิตจะต้องตั้ง ถ้าจิตไม่ตั้ง คือ จิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
กุศลธรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในจิตได้
เหมือนมือที่แกว่งไปมา ของย่อมตั้งอยู่ในฝ่ามือไม่ได้ ต้องหล่นตกไป
ต่อเมื่อมือนิ่งอยู่ ของบนฝ่ามือจึงจะตั้งอยู่ได้
จิตสามัญนั้นไม่นิ่ง จึงจำเป็นต้องปฏิบัติทำจิตให้นิ่ง
คือ ให้ตั้งหรือให้เป็นสมาธินั่นเอง ไม่ให้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย


ในการทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิต้องอาศัยสติ สำหรับระลึกกำหนดอยู่ในที่ตั้งข้อใดข้อหนึ่ง
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อานาปานสติ คือ ความระลึกกำหนดข้อหนึ่ง
อานาปานสติเป็นสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก
นั่นก็คือ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นที่ตั้งของสติ เป็นที่ระลึกกำหนด
เมื่อจิตตั้งกำหนดอยู่ได้ ความที่กำหนดนั้นก็เป็นตัวสติ
ความที่ตั้งอยู่ได้นั้นก็เป็นตัวสมาธิ
ดังนี้ ที่เรียกว่า จิตตั้ง
ดังนั้น จิตจะตั้งเป็นสมาธิได้จึงต้องมีทั้งสมาธิมีทั้งสติประกอบกันอยู่
สติเป็นตัวกำหนด สมาธิเป็นตัวตั้ง จะตั้งได้ก็ต้องกำหนดในที่ตั้ง
และจะกำหนดในที่ตั้งได้ก็ต้องมีความตั้งจิต สติและสมาธินี้จึงต้องอาศัยกัน
ในการปฏิบัติให้มีสติมีสมาธิต้องมีความเพียรพยายาม
ต้องไม่ละความเพียรพยายามและต้องมีความรู้คุมตัวเองอยู่เสมอ
อันความรู้ที่คุมตัวเองนี้เรียกว่า สัมปชัญญะ
ซึ่งหมายถึงความรู้ในอิริยาบถความเคลื่อนไหวทั้งของกาย และทั้งของใจ

รู้อิริยาบถของกายก็คือ ยืนก็รู้ว่ายืน เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งหรือนอนก็รู้นั่งหรือนอน
รู้อิริยาบถของจิต ก็คือ จิตคิดไปอย่างไรก็รู้ จิตหยุดคิดเรื่องอะไรก็รู้
จิตสงบก็รู้ จิตไม่สงบก็รู้ ในการทำจิตให้ตั้ง ต้องมีสติมีสมาธิและมีสัมปชัญญะพร้อมดังนี้
และต้องคอยกำจัดคือ คอยสงบความยินดีความยินร้าย ๆ ต่าง ๆ
ที่เข้ามาดึงจิตไม่ให้กำหนดอยู่ในที่ตั้ง เช่นที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก


พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกคือ
มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
หายใจเข้าหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจเข้าหายใจออกยาว
หายใจเข้า หายใจออกสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าหายใจออกสั้น
ศึกษาคือ สำเหนียกว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า
เราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก
ศึกษาว่าเราจักสงบรำงับกาย สังขาร เครื่องปรุงกาย
หายใจเข้าเราจักสงบรำงับกายสังขาร คือ เครื่องปรุงกายหายใจออกดั่งนี้
นี้เป็นหัวข้อการปฏิบัติทำอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
ส่วนวิธีปฏิบัติที่ใช้สำหรับประกอบเข้าเป็นคำสอนของเกจิอาจารย์คือ
อาจารย์บางพวก ซึ่งการจะพอใจในวิธีปฏิบัติของอาจารย์พวกไหน
ก็ควรต้องให้อยู่ในหลักแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้
เพื่อการปฏิบัติทำสมาธิในพุทธศาสนาจะได้เป็นไปโดยถูกต้อง


หลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นั้น เริ่มต้นแต่แสวงหาที่สงบสงัด
จะเป็นป่าเป็นโคนไม้เป็นเรือนว่างก็ตาม
หรือไม่ก็ต้องสร้างป่าสร้างโคนไม้สร้างเรือนว่างขึ้นในใจ
คือทำจิตให้ว่าง ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ
การทำจิตให้ว่างได้ดังนี้ก็จะสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
สำคัญกว่าไปอยู่ป่าอยู่โคนไม้ อยู่ในที่สงบสงัดแต่จิตยังวุ่นวาย ซึ่งจักทำสมาธิไม่ได้
เพราะฉะนั้นแม้จะได้ที่ว่างข้างนอก ก็ต้องสร้างที่ว่างข้างในด้วย
หรือแม้ไม่มีที่ว่างข้างนอก สร้างที่ว่างข้างในได้ก็ได้เหมือนกัน
ดังนี้ก็ปฏิบัติทำสมาธิได้ คือทำสติรวมเข้ามากำหนดลมหายใจเข้าออก
หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ ทำเพียงเท่านี้ก่อน
และเมื่อจิตรวมเข้ามาได้ ยาวหรือสั้นจะปรากฏขึ้นเอง
คือ ยาวหรือสั้นปรากฏขึ้นก็แปลว่าจิตรวมเข้ามาแล้ว
คือ จิตรวมเข้ามาที่กายนี้แหละ ไม่ใช่รวมเข้าที่ไหน
เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
ให้จิตรวมอยู่ในขอบเขตนี้และเมื่อจิตรวมอยู่ในขอบเขตนี้
สติก็จะกำหนดได้ว่าหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
และจะรู้อิริยาบถของกายได้ รู้อิริยาบถของใจได้
เมื่อเป็นดังนี้แล้วก็เป็นอันว่าได้เริ่มรู้กายทั้งหมด คือกายเนื้อกายใจนี่แหละ


ความรู้ในกายทั้งหมดเป็นความรู้ตามที่กายและ ใจเป็นไป ไม่ใช่การปรุง
ต้องระวังไม่ให้ปรุง ไม่ให้เกิดตัณหา
ไม่ให้ความดิ้นรนทะยานอยากอย่างใดอย่างหนึ่งเกิด
ต้องไม่อยากหายใจให้แรง ไม่อยากหายใจให้เบา
ความอยากเป็นตัณหา อยากได้สมาธิเร็วก็เป็นตัณหา
อยากเลิกทำสมาธิเร็วก็เป็นตัณหา
เมื่อยขบเจ็บปวดที่นั่นที่นี่ ยึดอยู่ในความรู้สึกนั้นก็เป็นตัณหา
อยากเห็นนั่นเห็นนี่ก็เป็นตัณหา จิตส่งออกนอกกายก็เพราะตัณหาดึงออกไป
ตัณหาเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องปรุงทั้งนั้น
รวมเข้าในคำว่ากายสังขาร เครื่องปรุงกาย
จึงต้องคอยสงบคือสงบตัณหานั่นเอง
ทำจิตให้เป็นอุเบกขา คือ เข้าไปเพ่งเข้าไปรู้ แต่ไม่ยึดอยู่ในสิ่งที่รู้
ทำความรู้อยู่เท่านั้น กายเป็นอย่างไรก็รู้ จิตเป็นอย่างไรก็รู้
หายใจเข้าหายใจออกเป็นอย่างไรก็รู้ ให้รวมจิตไว้ข้างใน ไม่ให้ออกไปข้างนอก
ดั่งนี้เป็นการสงบกายสังขาร เครื่องปรุงกาย จิตก็จะสงบยิ่งขึ้น
กายก็จะสงบยิ่งขึ้นจนถึงเหมือนอย่างไม่หายใจ
เช่นทีแรกนั้นการหายใจเป็นปกติเช่นที่เรียกกันว่าหายใจทั่วท้อง
คือ หายใจลงไปจนถึงท้อง ท้องพองขึ้นยุบลงในขณะหายใจเข้าออกก็เป็นปกติ
แต่เมื่อจิตและกายสงบขึ้นๆ อิริยาบถที่หายใจนี้ก็จะละเอียดเข้า
จนเหมือนอย่างว่าหายใจอยู่เพียงทรวงอก ไม่ลงไปถึงท้อง
ท้องเป็นปกติ ไม่พองไม่ยุบ และเมื่อละเอียดเข้าอีกๆ
ก็เป็นเหมือนอย่างว่าหายใจอยู่เพียงปลายจมูก ไม่ลงไปถึงทรวงอก
แผ่วๆ อยู่เพียงปลายจมูกเท่านั้น และเมื่อสงบเข้าอีก
แผ่วๆ นั้นก็จะไม่ปรากฏ เหมือนหายไปเลย ไม่หายใจ
อันที่จริงนั้นไม่ใช่ไม่หายใจ หายใจ แต่การหายใจนั้นละเอียดเข้า
ละเอียดเข้า ละเอียดเข้า ไม่ควรต้องเกิดความกลัวว่าจะตายเพราะไม่หายใจ
ดังที่บางคนแสดงว่าเคยได้ถึงจุดนี้ เกิดกลัวขึ้นมา ก็เลยต้องเลิกทำ
เมื่อจิตสงบตั้งอยู่ภายใน กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
ก็เป็นอันว่าจิตได้สมาธิชั้นกายานุปัสสนา พิจารณากาย
ในการปฏิบัตินี้ต้องอาศัยวิตกกับวิจาร วิตก ความตรึก
คือ นำจิตให้ตั้งอยู่ในที่ตั้งของสมาธิ หรือที่เรียกว่าอารมณ์ของสมาธิ
คือ ลมหายใจเข้าออก วิจาร ความตรอง
คือ ประคองจิตให้ตั้งอยู่ ไม่ให้ตกจากอารมณ์ของสมาธิ
โดยที่จิตเต็มไปด้วยนิวรณ์ อันหน่วงจิตให้ออกจากที่ตั้งคือ อารมณ์สมาธิ
การทำสมาธิแรกๆ จึงเหมือนจับปลาขึ้นจากน้ำ
ใครๆ ก็เป็นเช่นนี้ในการปฏิบัติทำสมาธิทีแรก ที่ยังไม่ได้ผล
เมื่ออาศัยวิตกวิจารจับจิตตั้งไว้ในอารมณ์สมาธิ
และคอยประคองไว้ให้อยู่ด้วยความพยายาม
จิตก็จะตั้งอยู่ได้นานขึ้นเป็นลำดับ
อันเครื่องที่จะจับจิตมาตั้งและเครื่องสำหรับประคองไว้
คือ สติ ความกำหนด ความระลึกรู้ ใช้สติ ทำสติ
เมื่อเผลอสติ จิตตก ได้สติ ก็ตั้งขึ้นใหม่ ประคองไว้
เผลอสติอีก จิตตกอีก ก็จะตั้งขึ้นอีก ประคองต่อไปอีก
สมาธิที่ได้รับทีละเล็กละน้อย
จะขับไล่นิวรณ์ออกจากจิตไปทีละเล็กละน้อยพร้อมกัน
ปีติจะเกิดเมื่อเริ่มตั้งตัวในสมาธิได้ ขับไล่นิวรณ์ออกไปได้โดยลำดับ
เมื่อเกิดปีติ ก็ให้กำหนดปีติหายใจเข้าหายใจออก
ปีตินี้เป็นเวทนา เป็นสุข ก็ให้รู้ รู้ในความสุข จิตเป็นสุข
จิตก็จะตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้มากขึ้น
ความทุกข์ในอันที่จะต้องคอยระวังรักษาสติไม่ให้เผลอ ไม่ให้จิตตก ก็น้อยลง
ความทุกข์ที่จะต้องคอยประคองจิตไว้ก็น้อยลง
เพราะจิตอยู่ตัวแล้ว มีความดูดดื่มในสมาธิแล้ว
เหมือนอยู่ที่ไหนสบายก็ไม่อยากจากไปจากที่นั่น
แต่อยู่ที่ไหนไม่สบายก็ไม่อยากอยู่ที่นั่น
คิดแต่จะไปที่อื่นต่อไป ในทำนองเดียวกัน
เมื่อพบที่เย็นคือสมาธิ ได้ปีติ ได้สุข จิตก็ตั้งอยู่ ไม่ดิ้นรนไปไหนอีก


กายและจิตไม่หวั่นไหว ที่ปรากฏในพุทธภาษิตเป็นเช่นนี้
แต่กายและจิตจะไม่หวั่นไหวมั่นคงอยู่ตลอดไปได้
ก็ต่อเมื่อการอบรมสติกำหนดลมหายใจเข้าออกได้แล้วบริบูรณ์ดี
ถ้ายังไม่บริบูรณ์ดีจริง ก็ยังต้องมีหวั่นไหวเป็นครั้งคราว เป็นบางกรณี
ผู้เห็นความสุขสงบอันเกิดจากกายและจิตไม่หวั่นไหวว่าเป็นความสำคัญ
จึงพากเพียรอบรมสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก
หรืออบรมสมาธินั่นเอง ให้บริบูรณ์ดี เมื่ออบรมสมาธิบริบูรณ์ดีแล้ว
ย่อมไม่มีเหตุการณ์ใดมาทำให้กายและจิตหวั่นไหวได้
ความทุกข์ทั้งปวงอันเกิดแต่ความอ่อนแอหวั่นไหวของกายและจิตย่อมไม่มี



ที่มา... http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10352

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2010, 17:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: อนุโมทนาด้วย..นะจ๊ะ :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร