วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 04:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2010, 11:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการอันงบ ตั้งอกตั้งในฟังด้วยดี
ฟังให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา


วันอาทิตย์ญาติโยมที่หยุดงานหยุดการ
ก็ได้ชักชวนกันมาพักผ่อนทางกาย
หาความสุขทางใจด้วยการศึกษาธรรมะ
อันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตของเราทุกคน
ผู้ที่ได้ปฏิบัติเป็นประจำย่อมจะรู้สึกว่า
ธรรมะเป็นอาหารทางใจอันประเสริฐ
ทำให้เกิดความสงบความเยือกเย็น
สามารถมีกำลังต่อสู้กับอุปสรรคอันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา
จึงได้ปฏิบัติอย่างนี้เป็นปกติตลอดมา
บางท่านก็ฟังกันมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เลิกละจากการฟัง
เพราะถือว่าธรรมะเป็นอาหารที่เราควรทานทุกวันๆ
อาหารกายเสียอีกเรารับประทานกันมาก
วันหนึ่งตั้งสามมื้อแล้วยังของเล็กของน้อย รับประทานกันเรื่อยๆ ไป


โดยเฉพาะเมืองไทยเรานี้ อาหารค่อนข้างจะสมบูรณ์
การรับประทานอาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย จึงได้กระทำกันอยู่มากมายก่ายกอง
แต่ว่าอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจนั้น รู้สึกว่ายังทำกันน้อยไป
คนบางคนก็ร่างกายแข็งแรงเติบโตดี แต่จิตใจค่อนข้างจะอ่อนแอ
ไม่ค่อยจะมีกำลังต่อต้าน กับอุปสรรคปัญหาต่อชีวิต
กระทบอะไรนิดอะไรหน่อย ก็หวั่นไหวไปกับสิ่งที่มากระทบ
ยินดีเมื่อได้รับสิ่งพอใจ ยินร้ายเมื่อได้รับสิ่งที่ไม่พอใจ
จิตใจขึ้นๆ ลงๆ ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้าย
ประเดี๋ยวก็มีความสุข ประเดี๋ยวก็มีความเดือดร้อน


อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวันของเรา
ที่ได้เป็นไปเช่นนั้นก็เพราะว่า กำลังใจมันไม่เพียงพอ
ขาดสติซึ่งเป็นตัวกำลัง ขาดปัญญา ขาดความอดทน
เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้จิตใจก็อ่อนแอ พ่ายแพ้ต่ออุปสรรค สิ่งขัดข้องได้ง่าย
เราอยากจะอยู่ในรูปอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าตั้งปัญหาสอบถามอย่างนี้
ใครๆ ก็คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากอยู่ในรูปเช่นนั้น
แต่อยากอยู่อย่างสงบ มีอารมณ์เป็นปกติ
ไม่วุ่นวายในสิ่งต่างๆ ที่มากระทบมากเกินไป
อันนี้เป็นความต้องการของคนทั่วๆ ไป
แต่ทั้งๆ ที่มีความต้องการในเรื่องเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
เพื่อให้เรื่องเช่นนี้มันมีอยู่ เป็นปกติในจิตใจของเราได้


อันนี้เป็นเรื่องที่ขาด ที่ได้ขาดไปเพราะว่า ขาดการศึกษาในเรื่องของชีวิต
ขาดธรรมะเป็นเรื่องหล่อเลี้ยงใจ จึงได้มีสภาพเช่นนั้น
อีกประการหนึ่ง เราอาจนึกไปว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะศึกษาธรรมะ
หรือที่จะเรียนรู้ในเรื่องอะไรที่จำเป็น เพราะว่าในเมืองไทยเรานี้
ตามปกติเราเห็นคนเข้าวัดเป็นคนแก่ๆ หมดภาระหน้าที่ อันต้องจัดการต้องทำแล้ว
ก็เลยเข้าใจไปเสียว่า เรื่องไปวัดเรื่องฟังธรรม เป็นเรื่องของคนอยู่ในวัยชรา
ไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาชีวิต
การคิดในรูปเช่นนี้นับว่าผิดห่างไกล
แล้วก็วิธีการที่ทำกันอยู่ในบ้านเรานั้น ความคิดก็ยังไม่ถูกต้อง


การมาวัดนั้น ไม่ใช่เรื่องของคนแก่คนชรา
แต่เป็นเรื่องของคนที่ต้องการความสงบทางใจ
ต้องการความมั่นคง ทางด้านจิตใจ ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยไหน
เราก็ต้องการสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าการกระทำนั้น มักจะเป็นไปในรูปอย่างนั้น
จึงใคร่ขอแนะนำว่า เรามาปฏิรูปกันเสียที
แทนที่จะเป็นคนแก่เข้าวัดศึกษาธรรมะ
เราควรที่จะเอาคนที่อยู่ ในวัยหนุ่ม วัยฉกรรจ์ วัยกลางคน เข้าวัดกันเสียมั่ง
เพราะว่าคนที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์นี่แหละ
จะเป็นกำลังสำคัญ ของสังคมไทยในการต่อไป
ถ้าจิตใจของเขาไม่มั่นคง ขาดกำลังเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
การปฏิบัติกิจในหน้าที่ จะเอาดีได้อย่างไร


อันนี้ เป็นเรื่องคน มีความเกี่ยวข้องกับการงานต่างๆ
มีความเกี่ยวข้องกับคนมากๆ ย่อมจะมองเห็นด้วยตัวเอง
ว่าคนที่ปฏิบัติงานอยู่ ในหน้าที่ประจำนั้น
ยังมีการขาดอะไรบางสิ่ง บางประการ
ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด จึงได้เกิดเป็นปัญหา
มีความวุ่นวายด้วยอาการต่างๆ นั่นแหละคือการขาดธรรมะ
ไม่ได้สนใจ ที่จะมารับฟัง สิ่งที่เป็นประโยชน์
เราจึงควรจะได้เปลี่ยนแปลง นำคนที่ควรนำเข้ามาวัด
คล้ายๆ กับคนป่วย ที่เราควรนำมารักษา
ถ้าคนไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ร้องรักษาก็ไม่เป็นไร
เพราะว่าคนป่วยนั้น อาการมันหนักเราก็ต้องให้หยูกให้ยารักษากันไปตามเรี่อง
คนป่วยทางกาย ยังต้องรีบพาไปโรงพยาบาล
อันนี้นับว่าเป็นความผิดพลาดในชีวิตประจำวัน


จึงใคร่แนะนำว่า ถ้าเรามีคนอยู่ในปกครองของเรา
เช่น ลูก หลาน ถ้าเห็นว่า มันมีอาการผิดปกติทางจิตใจ
มีความคิดไม่ค่อยถูกทาง เราก็ควรแนะนำเขามาหาพระสงฆ์องค์เจ้า
เพื่อช่วยแนะนำแนวทางชีวิตแก่เขา ให้เขาได้รู้ว่า
อะไรเป็นอะไร ถูกต้องตามเรื่องที่ควรจะรู้ ควรจะเข้าใจ
นี้เป็นเรื่องที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ในสังคมยุคปัจจุบัน
ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น กว่าเด็กเหล่านั้นจะเป็นคนแก่
ก็คงจะสร้างความรำคาญ ให้แก่เพื่อนมนุษย์มากมายก่ายกองทีเดียว
แต่ถ้าเรารีบเอาไปรักษา ชี้แนะแนวทางให้เขาเข้าใจ
เขาก็จะเปลี่ยนเข็มชีวิตได้


ปกติของคนเราทั่วๆ ไปนั้น
ความจริงแล้ว เป็นผู้ที่ต้องการทำดี ทำถูก ด้วยกันทั้งนั้น
ไม่มีใครที่จะทำสิ่งชั่วร้าย แต่ที่ได้ทำลงไปนั้น เพราะเรื่องไม่เข้าใจ
เขาสำคัญว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความเก่งความกล้าหาญ
เป็นความเด่นในสังคม เลยก็ทำเรื่อยไป
จนชินชากับการกระทำอย่างนั้น แล้วเลิกไม่ได้
อันนี้ก็เพราะว่าความเข้าใจผิด ไม่ใช่เรื่องอะไร
แต่ถ้าเราปรับความเข้าใจของเขาใจ เขาสำคัญว่าการกระทำเช่นนั้น
ความเก่งเป็นความกล้าหาญ เป็นความเด่นในสังคม เลยก็กระทำเรื่อยๆไป
จนชินชากับการกระอย่างนั้น แล้วเลิกไม่ได้
อันนี้ก็เพราะว่าความเข้าใจผิดไม่ใช่เรื่องอะไร
แต่ถ้าเราปรับความเข้าใจ เมื่อเข้าคงจะไม่ดันไปในทางชั่วต่อไป



โดยเฉพาะเด็กๆ นี้ ถ้าเราทำความเข้าใจแล้ว เขาจะรับได้ง่ายกว่า
เพราะเด็กนั้นพร้อมอยู่เสมอ ที่จะทำอะไรในทางที่ถูกที่ชอบ
แล้วเขาอยากจะให้ผู้ใหญ่ชมเชย ในเรื่องเกี่ยวกับคุณงามความดี
ถ้าเราเห็นเขาทำดี เราชมเขาแนะนำเขายกเขา ให้กำลังใจเขา
เขาจะได้คิด ได้มีกำลังใจต่อ ปฏิบัติกับลูกของตน
หรือคนที่เกี่ยวข้อง กับเด็กก็ควรกระทำในรูปอย่างนั้น
เราอย่าเข้าใจเขวในเรื่องธรรมะ อย่าเห็นว่าธรรมะไม่จำเป็น
อย่าเห็นว่าศาสนาศีลธรรม ของเก่าเรื่องล้าสมัย
ไม่จำเป็นจะต้องใช้ในยุคนี้ ในยุคนี้ก็จะเกิดมากขึ้น
อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดประการหนึ่ง


อีกประการหนึ่ง คนเรานี้ถ้าไม่มีพื้นฐานทางจิตใจมั่นคงพอ
เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นหลักประจำแล้ว
อาจจะวินิจฉัยอะไรๆ ต่างๆ เขวไปได้
เรื่องผิดเขาอาจจะคิดเป็นเรื่องถูกไปก็ได้ เรื่องยุติธรรมไปเสียก็ได้
ได้ฟังกลุ่มคนบางกลุ่ม บางพวกนั่งคุยกัน นั่งสนทนากัน
อาตมาก็ไปนั่งฟังเขาเฉยๆ ก็ไม่ว่าอะไร ไม่แสดงความเห็นอะไร
เพียงแต่ว่าเป็นผู้รับฟัง แต่ว่าฟังแล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นในใจ
ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ นี้หลายเรื่องหลายประการ
ทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า คนที่พูดทั้งหมดนั้น ยังไม่เป็นตัวเองแท้
แต่ว่ามีความเห็นผิดไปในเรื่องต่างๆ เช่น ว่ามีความเห็นเข้าข้างตัว
มีความเห็นเข้าข้างพรรคพวกของตัว แล้วก็คิดว่าคนอื่นกระทำไม่ถูกไม่ตรง
ไม่ยุติธรรมอะไรต่างๆ นานา อันนี้คิดผิดมาก
ทำไมจึงได้คิดผิดไปในรูปเช่นนั้น ก็เพราะว่ามันมีอะไรเป็นฐาน อยู่ในใจอย่างหนึ่ง
ฐานที่อยู่ในใจสำคัญก็คือ เรื่องความเห็นแก่ตัวนี่เอง


เรื่องความเห็นแก่ตัวนี่ อาตมาพูดอยู่บ่อยๆ
พูดอะไรก็มักจะวกไปสู่เรื่องนั้นๆ เรียกว่าความเห็นแก่ตัว
เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นฐานของสิ่งทั้งหลาย ทั้งด้านดีและด้านเสีย
ถ้าพูดในด้านเสียแล้ว ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ
เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำคนให้คิดผิดไป ให้พูดผิดไป
ให้กระทำอะไรๆ ไปในทางที่ผิดที่เสียหาย
ก็เพราะฐาน ที่มีความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นก่อน
แต่ถ้าไม่มีความเป็นแก่ตัว มีความเห็นในด้านธรรมะจริงแล้ว
เรื่องผิดมันก็คงจะไม่เกิด เพราะธรรมะนั้น
จะช่วยให้เกิดความคิดนึก ที่ถูกที่ชอบ ตรงตามเป้าหมาย
แต่พอมีตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดที่ผิดเกิดตามขึ้นมา



ตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่า นาย ก. นี่เป็นอยู่กับใครคนหนึ่ง
แล้วคนๆ นั้นไปกระทำอะไรเข้าสักอย่างหนึ่ง
ซึ่งคนส่วนมากเขาก็เห็นว่ามันไม่ถูก ไม่เหมาะ ไม่ควรด้วยประการต่างๆ
แต่ว่านาย ก. ไม่ได้คิดเช่นนั้น ไม่ได้มองเห็นในรูปเช่นนั้น
กลับพูดว่าท่านผู้นั้น หรือว่านาย ก.เป็นคนที่ดีอย่างนั้น
ดีอย่างนี้หลายอย่างดีหลายประการ
แต่ว่าฟังดูแล้ว เรื่องดีของส่วนรวม เป็นเรื่องดีเฉพาะคนๆ นั้น


เช่นนาย ก. นี่ได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชู จากคนนั้น ในเรื่องต่างๆ นานา
เจ็บไข้ได้ป่วย ที่เขาช่วย รักษามารดาตาย เขาช่วยทำศพให้
หรือว่ามีความทุกข์ความเดือดร้อน ก็วิ่งไปหาให้ความช่วยเหลือ
ความช่วยเหลือเกื้อกูลต่างๆ นั้น เป็นเครื่องมัดจิตใจนาย ก.
ให้มีความรัก ความเคารพต่อบุคคลนั้น
แต่ว่าไม่ได้คิดไปถึงว่า สิ่งที่เราได้มันเป็นเรื่องของปัจเจกชน
หรือเป็นเรื่องของมหาชน เขาไม่ได้คิดถึงเรื่องอย่างนั้น
คิดแต่เพียงประการเดียว ว่าเขาดีต่อฉันอย่างนั้น อย่างนี้
ส่วนที่เขากระทำอะไรลงไป ในเรื่องที่เป็นความผิดความเสียหายนั้น
เขามองไม่เห็น ทำไมจึงมองไม่เห็น ก็เพราะว่าอคติเข้าครอบงำใจ
อคตินี่คือความลำเอียง เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้
คือความลำเอียงเพราะรัก เรียกว่าฉันทาคติ
ความลำเอียงเพราะชัง เรียกว่าโทสาคติ
ความลำเอียงเพราะกลัวเรียกว่า ภยาคติ
ความลำเอียงเพราะเขลาเรียกว่าโมหาคติ


อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ว่าตัวใดตัวหนึ่ง ถ้าเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้ว
ทำให้บุคคลนั้นต้องตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำไมจึงต้องตกต่ำ
เพราะว่าความคิดมันผิด การพูดผิด การกระทำผิด
การคบหาสมาคมก็จะพลอยผิด พลอยเสียไปด้วย
เพราะอาศัยอคติ ๔ นี้เป็นฐานอยู่ในใจ
เรื่องอื่นที่มันจะเกิดขึ้น มันก็จะเอียงไปตามอคติที่มีอยู่
เช่นเรามีความรัก เราก็มองคนไปในแง่ดี
มีประโยชน์แก่ตน ใครมาบอกว่าไม่ดีนั้นไม่ยอมรับ



สมมติว่า ชายหนุ่มหญิงสาวมีความรักกัน หญิงสาวมีความรักชายหนุ่ม
แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่มองแล้ว มองแล้วเห็นว่า มันไม่ได้ความ
ไอ้เจ้าหนุ่มคนนั้นเป็นคนหยิบโหย่ง ไม่เอางานเอาการ
นิสัยไม่ค่อยดีไม่เรียบร้อย แล้วก็มาบอกกับลูกสาวว่า
แม่พิจารณาดูแล้ว ว่าเจ้าหนุ่มคนนี้ ที่เธอสมมติว่าเป็นแฟนนี่ มันไม่ได้เรื่องอะไร
ลูกสาวจะเชื่อไหม จะฟังไหม ไม่เชื่อหรอก
หาว่าคุณแม่รังเกียจอย่างนั้น รังเกียจอย่างนี้
ไม่ชอบแล้วก็พูดอย่างนั้น พูดอย่างนี้ ด้วยประการต่างๆ
เขามองไม่เห็นความไม่ดี ของคนที่เขารัก เพราะว่าเขารักมาก
เขาก็มีอคติมากหน่อย เรียกว่ามีอคติเข้าข้างคนนั้น มากหน่อย
ใครที่พูดว่าไม่ดีนั้น จะถูกหาว่าไม่ชอบละ อย่างนั้น อย่างนี้ละ
แล้วมักจะเอาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นข้ออ้าง
เช่นอ้างว่า เขาเป็นคนจนบ้างละ เขาไม่มีเทือกเขาเหล่านั้นบ้างละ
เขาเป็นคนอย่างโน้นอย่างนี้ เอามาอ้างในรูปต่างๆ
ไม่ยอมรับความจริง ที่คนอื่นมองเห็น เพราะว่าตาของตัวนั้นมันเป็นฝ้า
มองอะไรมัวไปหมด ไม่เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง อันนี้มีอยู่


หนุ่มก็เหมือนกันแหละ ถ้าไปรักหญิงสาวแล้ว
ถ้าใครไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย มาคัดค้านนี่ เขาก็ไม่ยอมท่าเดียว
เขาจะต้องรักของเขาไป จนกระทั่งจะได้สมใจละ
หรือว่าจนกระทั่งความเสียหาย มันเกิดขึ้นแล้ว จึงจะรู้ว่า อ้อมันหลงผิดไปแล้ว
แต่ว่ามันหลงผิดไปแล้ว มันขาดทุนไปตั้งเท่าไรก็ไม่รู้
อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า จะวินิจฉัยเรื่องอะไรนั้น
อย่าวินิจฉัยโดยถือเอาตัวเป็นใหญ่ก็ไม่ได้
เพราะว่ามักจะเข้าตัว มีอคติเกิดขึ้นในใจ นี่เรียกว่าฉันทาคติ
บางทีเกิดโทสาคติขึ้น เราไม่ชอบคนนั้น
เมื่อไม่ชอบคนนั้นก็ลงมติว่า ไม่ได้ความใช้ไม่ได้ ไม่ดีไม่งามด้วยประการทั้งปวง


การที่ลงมติไปในรูปเช่นนั้น ก็มีฐานมาจากว่าตัวไม่ชอบ
ตัวไม่ชอบนั่น ก็คือตัวความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ไอ้ความชอบนั่น ก็คือความเห็นแก่ตัวเหมือนกันแหละ
ตัวพอใจตัวพึงใจก็ว่าดี แต่เอาตัวเข้ามาเกี่ยวข้องอีกในรูปหนึ่งว่า
ฉันไม่ชอบ ฉันไม่พอใจ เขาทำอะไรๆ ไม่ถูกอารมณ์ของฉัน
เราก็เกิดโทสาคติ คือความลำเอียงเกิดขึ้นทันทีว่า คนนั้นใช้ไม่ได้
การกระทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง แม้จะถูกก็ไม่ยอมว่าถูก
แต่ถ้าผิดก็เอาเลยละ เรียกว่าได้ทีขี่แพะไล่เอาเลยทีเดียว
อันนี้มีอยู่เหมือนกัน เรียกว่าลำเอียงเพราะชังกัน


ลำเอียงเพราะกลัววินิจฉัยอะไรๆ บางเรื่อง นี่กลัวอิทธิพลเขา
กลัวพรรคพวกเขา กลัวอำนาจ กลัวความเป็นใหญ่
การวินิจฉัยนั้น ก็มักจะเข้าไปในสิ่งที่ตัวกลัว เพื่อให้ตัวปลอดภัย
ก็ความเห็นแก่ตัวอีกเหมือนกัน เอาตัวเข้าไปใช้อีก
แล้วก็วินิจฉัยในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ มันผิดไป ไม่ตรงตามเรื่องที่เป็นความจริง
นี่เรียกว่าลำเอียงเพราะความกลัว ส่วนลำเอียงเพราะความหลงนั้น
คือไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่เข้าใจอะไร ไม่มีปัญญาไม่มีเหตุไม่มีผล
ได้ยินเขาว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามเขา เป็นสีแก้วพลอยรุ่งไปกับเขา
ไอ้แสงของตัวไม่มีสักหน่อย อย่างนี้เขาเรียกว่าโมหาคติ
คนเราถ้ามีอคติอย่างนี้แล้ว มันก็เขวไปเท่านั้นเอง


ทีนี้คนนั้นเป็นใคร ก็มักจะใช้ความลำเอียงของตัวนั่นแหละ
ไปทำในเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่อไป ให้เกิดความเสียหายไป ด้วยประการต่างๆ
การวินิจฉัยอะไรว่าดีว่าถูก ว่าชั่วว่าไม่ชั่วอะไรนี่ จะเอาอคติมาใช้ไม่ได้
เราจะต้องวิจิจฉัยด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเป็นธรรมนั้น
ต้องเอาอะไรหลายอย่าง เข้ามาประกอบ เช่นว่าเอาศีล เข้ามาเป็นหลักวินิจฉัย
ศีลห้านี่ ไม่ต้องเอาอะไรมาก เอาศีลทั้งห้าข้อ มาวินิจฉัยกันก่อน
การกระทำนั้นจะดีหรือชั่ว จะเป็นความผิดความเสียหรือไม่
ศีลห้ามีอะไรบ้าง โดยมากเราก็พอรู้กันอยู่ คือการไม่ฆ่ากัน
การไม่ลักของกัน การไม่ประพฤติล่วงเกินความรักความชอบใจกัน
การไม่พูดจาโกหกหลอกลวงกัน ไม่เสพของมึนเมา
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันนี้เป็นฐานเบื้องต้น
ที่เราจะเอามาวินิจฉัย ว่าอะไรถูกอะไรผิด



ถ้าสมมติว่ามีการฆ่ากันขึ้น คนที่ถูกฆ่าจะเป็นใครก็ตาม
ผู้ฆ่าจะเป็นใครก็ตาม เราจะวิฉัยโดยเอาตัวเราไปแอบด้วยไม่ได้
ถ้าสมมติว่าผู้ฆ่านั้น เป็นพวกของเรา คนที่เป็นผู้ฆ่านั้น เป็นพวกของเรา
เราก็อาจจะหาสิ่งแวดล้อม มาพูดจาประกอบเรื่องเข้าไปว่า
การฆ่านั้นมันจำเป็นต้องฆ่า ถ้าไม่ฆ่าไม่ได้ วินิจฉัยไปในรูปอย่างนั้น
อันนี้ไม่ได้วินิจฉัยไปตามมูลฐานแล้ว แต่วินิจฉัยโดยอาศัยเอาความรักเข้าไปใช้
เพราะคนนั้นเป็นพวกของเรา เราจะวินิจฉัยว่าที่ต้องทำเช่นนั้น
เพราะมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างนี้มันก็ไม่ถูกความ หมายแล้ว


แต่ถ้าหากว่า เราวินิจฉัยว่าไอ้การฆ่ากันนี้มันไม่ดีแหละ ไม่ว่าเพราะอะไร
ฆ่ากันนี่มันไม่ดี เราก็ต้องว่าคนที่ฆ่านั้นเป็นคนไม่ดี เพราะไปฆ่าเขา
ส่วนเรื่องอื่นนั้นค่อยว่ากันทีหลัง เบื้องต้นนั้นว่าการฆ่าเป็นการผิดศีลธรรม
เป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร แล้วก็ค่อยพิจารณาต่อไปว่า ทำไมจึงต้องฆ่ากัน
ที่ได้ฆ่ากันเพราะอะไรอันนี้เป็นตัวอย่าง เอาหลักศีลมาเป็นเครื่องวินิจฉัย
เอาหลักธรรมะเป็นเครื่องวินิจฉัยก็ได้


ธรรมะที่เป็นพื้นฐานนั้นอยู่ที่อะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การไม่เบียดเบียนกันนี้เป็นสิ่งสูงสุดแต่ถ้ามีการเบียดเบียนกันนี้
เราก็วินิจฉัยได้ว่าไม่ใช่สิ่งสูงสุดแต่ถ้ามีการเบียดเบียนแล้ว
จะเบียดเบียนกันในทางกาย เบียดเบียนกันในทางทรัพย์
เบียดเบียนกันในทางกาม หรือเบียดเบียนกันในรูปใดก็ตาม
การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา
ถ้าผู้ใดกระทำการเบียดเบียนใครๆ ด้วยวิธีใดก็ตาม
เราก็เอาหลักธรรมะของพระพุทธเจ้ามามาเป็นฐานแล้ววินิจฉัยตามธรรมะนั้น
ก็จะมองเป็นความจริงถูกต้องว่า มันไม่ถูกในการที่เบียดเบียนกันเช่นนั้น
ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ว่าทำไมจึงต้องเบียดเบียนกัน
แต่ว่าถ้าพูดกันโดยธรรมะแล้วมันไม่ถูกละ แต่ว่าเราจะให้โอกาสแก่คนนั้นบ้าง
เราก็พิจารณาไปตามสื่งแวดล้อมสภาพอะไรๆ ที่เป็นอยู่
อย่างนี้ก็จะเรียกว่าเกิดความเป็นธรรมขึ้นมา


อีกอันหนึ่งมันเป็นเรื่องของบุคคล แล้วก็ไปทำอะไรๆ ขึ้นมา
การกระทำนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวก็ได้ แต่ว่าเมื่อทำลงไปแล้ว
มันกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ ต่อความสุขของส่วนรวม
เราจะรักคนนั้นสักเท่าไร คนนั้นจะเป็นอะไรๆ กับเราก็ตามใจ
เราจะไปพูดว่าเขาทำถูกอย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่าเราการกระทำนั้น
มันถูกคนเดียวแต่มันผิดหลายคน คือการทำแล้วมันเดือดร้อนคนมาก
ทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมประเทศชาติอะไรต่างๆ นานา
แล้วเราจะไปพูดว่า มันจำต้องทำเช่นนั้น ความจำเป็นนั้นมันจะจำเป็นอะไร
จำเป็นเฉพาะตัวผู้นั้นหรือ หรือว่าจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น
ความจำเป็นนั้นมันจะเป็นอะไร จำเป็นเฉพาะตัวผู้หรือ
หรือว่าจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น ถ้าไม่ทำเช่นนั้นชาติจะล่มจมจะเสืยหาย
เราก็ต้องพิจรณากันอีก แต่ถ้าพิจรณาเห็นแล้วว่าการกระทำเช่นนั้น
มันจำเป็นสำหรับตัวคนเดียว เพราะมีอารมณ์อะไรอยู่ในใจ
เช่นมีความเคียดแค้น มีความพยาบาทมีความน้อยเนื้อต่ำใจเกิดขึ้นในใจ
แล้วก็ทำไปด้วยอำนาจกิเลสเป็นผู้สั่งการกระทำอะไรก็ตาม
เราจะวินิจฉัยว่าเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศลนั้น ต้องดูฐานของการกระทำ
ว่าการกระทำนั้นมาจากโลภโกรธหลง มาจากความไม่โลภ
ความไม่โกรธไม่หลง ถ้ามาจากโลภโกรธหลงแล้วมันเป็นอกุศล
เป็นผลเป็นทุกข์ความเดือดร้อน แต่ถ้าฐานมาจากความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง
ผลมันก็เป็นความสุข เป็นความสบาย


เพราะฉะนั้น จะต้องวินิจฉัยถึงฐานของการกระทำนั้นว่า
อะไรมันเป็นฐานให้กระทำ ทำไมจึงต้องกระทำอย่างนั้น
ถ้าเราเห็นว่าฐานแห่งการกระทำนั้น เริ่มจากตัวก่อน
แล้วตัวนั้นมีอะไรเป็นเครื่องประกอบ มีความโลภมีความโกรธ
มีความหลง มีความริษยาพยาบาท มีความน้อยเนื้ต่ำใจ
มีความอะไรๆ มาสุมในอกตลอดเวลา จนไม่เป็นอันสงบใจ
ไม่เป็นอันทำอะไรที่จะสร้างสันติให้เกิดขึ้นในใจตนแม้แต่น้อย
คอยเอาเชื้อความไม่ดีใส่ในความคิดของตนตลอดเวลา



เช่นว่ามันด่าเรา มันตีเรา มันประหัตประหารเราทำเราให้เจ็บช้ำใจนัก
นี่เขาเรียกว่า เพิ่มเชื้อแห่งกิเลส เพิ่มเชื้อไฟแห่งราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ
ให้เกิดขึ้นในใจถ้าเรานั่งเพิ่มเชื้ออย่างนี้อยู่ตลอดเวลา
แล้วเราก็ต้องติ ต้องว่าตนที่ตรงกันข้ามเสียแย่ไปเลย
หาว่าอย่างนั้นแหละ หาว่าอย่างนี้แหละ เป็นคนไม่รักษาคำพูดบ้างแหละ
เสียสัจจะบ้างละ ไอ้สัจจะนี่มันมีไว้สำหรับทำอะไร
สัจจะเขามีไว้สำหรับคนที่มีสัจจะด้วยกัน
ถ้าเป็นคนไม่มีธรรมะ เราจะเอาธรรมะเข้ามาไปใช้ มันก็ลำบากเหมือนกัน
เอาสัจจะเข้าไปใช้ มันก็ไม่ได้ สัจจะในหมู่โจรมันไม่มี
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "นตฺถิ พาเล สหายตา"
ความเป็นสหายผู้ร่วมงานกันแท้จริง ในหมู่คนพาลนั้น มันไม่มี
มันเป็นเพื่อวัตถุเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เป็นด้วยอุดมการณ์ทางจิตใจที่ถูกต้อง
แต่เป็นสิ่งที่เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ เป็นสะพานไต่เต้า ไปสู่สิ่งที่ตนปรารถนา
ถ้าตนไม่ได้สิ่งที่ต้องการแล้ว เขาก็จะบอกเลิกสัญญาเมื่อไรก็ได้
ไม่เป็นสหายกันต่อไปแล้ว อันนี้มันจริงอยู่ในสังคมของมนุษย์เราทั่วๆ ไป


เรื่องอย่างนี้ จึงใคร่จจะขอฝากพวกญาติโยมไว้
ได้ยินได้ฟังอะไร เหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น เราต้องวินิจฉัยด้วยความเป็นธรรม
เอากฎหสาย เป็นหลักวินิจฉัยบ้าง เอาศีลธรรมเป็นหลักวินิจฉัยบ้าง
แล้วเราก็จะเห็นว่าความจริงมันคืออะไร เนื้อแท้มันคืออะไร
ไม่อย่างนั้นแล้ว เกิดความเสียหายขึ้น ด้วยประการต่างๆ
ทำให้เกิดปัญหารวนเรต่อไป นี้ประการหนึ่ง
เป็นข้อคิดที่อยากจะนำมาฝากกับญาติโยมทั้งหลายไว้
ว่าสังคมในยุคปัจจุบันนี้ มันมีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในสังคมของเราตลอดเวลา
แล้วเราจะได้ยินคนพวกหนึ่ง พูดว่าอย่างนี้ อีกพวกหนึ่งพูดว่าอย่างนั้น
เราจะเอาอย่างไร เหมือนกับชาวกาลามชนนั่นแหละ
ที่ได้ฟังครูอาจารย์ทั้งหลายมาเทศน์ ครูคนนั้นเทศน์ว่าอย่างนั้น
ครูคนนั้นเทศน์ว่าอย่างนี้ แล้วก็เทศน์เข้าข้างตัวทั้งนั้นแหละ
คือบอกว่า ของตัวถูก ให้มาเป็นพวกตัวทั้งนั้น
พวกนั้นก็ลังเลใจไม่รู้จะรับของใครดี
ก็พอดีพระพุทธเจ้าเสด็จมา พวกนั้นก็แห่กันเข้าไปถามทีเดียว


พระองค์ก็บอกว่า ชอบแล้วที่ท่านลังเลใจอย่างนั้น
ชอบแล้วที่ท่านไม่เชื่อ ในรูปความคิดอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าเป็นเรื่องแปลก
ไม่มีอยู่ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น มีอยู่ในน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้า
พระองค์ได้ตรัสออกมา ในรูปอย่างนั้น แล้วก็บอกว่าอย่าไปเชื่อง่ายๆ
อย่าเชื่องมงาย ให้เชื่อด้วยการคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ
เช่นไม่ให้เชื่อข่าวลือ ไม่เชื่อเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ให้เชื่อว่ามีอยู่ตำรา
ไม่ให้เชื่อว่าคนนี้พูดเก่ง คนนี้ต้องเชื่อ ไม่ให้เชื่อว่า คนนี้เป็นครู อาจารย์ ของเรา
พูดอะไรเราก็เชื่อไปหมด มันก็ไม่ได้เรื่องทั้งนั้น
สิ่งที่เราตัดสินใจ ยอมรับอะไรในเรื่องนั้น เราจะต้องเอาไปกรองหลายชั้น
กรองให้เหลือแต่เนื้อแท้ๆ เหมือนกับกรองน้ำกะทิ
ถ้ากระชอนมันห่าง มันมีกากติดเข้าไป เพราะฉะนั้นต้องกรองให้ละเอียด
ต้องกรองด้วยผ้าจึงจะได้น้ำกะทิล้วนๆ ไม่มีกากมะพร้าวเข้าไป
แต่ถ้ากรองไม่ดีแล้ว กากก็ติดเข้าไปเยอะทีเดียว


เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่กรองให้รอบคอบ ก็ไม่ได้
ที่เขาพูดกันว่า ข่าวกรองนะ สมัยนี้เขาพูดกันว่าข่าวกรอง
บางทีข่าวนั้นยังไม่ได้กรองหรอก เอามาทั้งดุ้นนั้นแหละ ยังไม่ได้คั้นเลย
แล้วก็ยังไม่ได้กรองเลย แล้วก็เอามาพูด เอามาเขียนกัน ลงไปในหน้ากระดาษต่างๆ
บางทีก็เรียกว่าเป็นเรื่องแปลกๆ เขาเขียนไปอย่างนั้นแหละ



จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เรื่องวันวานนี้แหละ ที่เขาประหารท่านผู้หนึ่งไป
บอกว่า ก่อนประหารนี่ ขอให้นิมนต์ให้ท่านเจ้าคุณปัญญา มาเทศน์ให้ฟังหน่อย
มานิมนต์แล้วท่านไม่ไป มันไม่มีแม้สักนิดเดียว แล้วคนที่ถูกประหารชีวิต
เขาจะมีความคิดอะไรอย่างนั้น ไม่ได้เตรียมตัวนี่
ปุปปับเขาก็มาหิ้วรักแร้ท่านไปเอง ในเรือนจำเขาอย่างนั้น ไม่ได้บอกล่วงหน้า
เออเย็นนี้นะเตรียมตัวไว้ ฉันจะเอาไปฆ่าแล้ว เรือนจำเขาไม่ได้ทำอย่างนั้นละโยม
เขาไปถึงหิ้วมาเลย คนไหนจะถูกประหารวันนี้ เขาก็ไปหิ้วมาเท่านั้นละ
ไม่ได้ไปบอกเขาไว้ก่อน ไม่ได้คนมันเยอะแยะ เดี๋ยวมันจะเกิดเรื่องกัน
ไปถึงหิ้วปีกมาเท่านั้นเอง พอมาสู่สำนัก พิมพ์นิ้วลายมืออะไรต่ออะไรเรียบร้อย
เสร็จแล้วอ่านคำประกาศของศาลให้ฟัง แล้วนิมนต์พระไปเทศน์
ไปเหอะ องค์ไหนๆ ก็เทศน์ไปเหอะกูฟังทั้งนั้นแหละ เพราะว่าจะตายแล้ว
เขาไม่ได้เลือกนี่ ฟังได้ทั้งนั้นแหละ แล้วพระที่ไปเทศน์
ไม่ต้องเทศน์ให้ยืดยาวอะไร เจ้าหน้าที่บอกเทศน์น้อยๆ
เรียกว่าพอเทศน์กันเป็นพิธี ไม่ใช่เทศน์กันนานๆ


อาตมาก็เคยไปเทศน์ ที่ได้ไปเทศน์นี่ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก
คืออยากจะดูการประหารนักโทษ อยากจะสัมนา อยากจะคุยกับเขาสักหน่อย
ก่อนที่เขาจะถูกประหารนี่ ว่าเขามีความคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร
ก็เลยสั่งเจ้าหน้าที่ไว้ บอกว่าวันไหน จะมีการประหารนักโทษละบอกด้วยนะ
เขาก็มาบอก มาบอกว่าอย่าไปดูเฉยๆ ไปเทศน์ให้เขาฟังสักหน่อย
ก็เลยไปเทศน์ให้เขาฟัง นักโทษที่จะไปแดนประหารนี่
บางคนเขาพูดว่าน้ำใจอดทน เข้มแข็งดี
มันเหมือนๆ กันทุกคนละที่อาตมาไปดูแล้วนะ
คือว่ามันเดินไปปกติอย่างนั้น อาจจะมีบางคน มืออ่อน ตีนอ่อน มันไม่อยากเดิน
นี่ มันไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก ต้องเอารถใส่มันไป
มันคงเกิดอารมณ์ว่า ไหนๆ กูจะตายแล้ว ขอใช้พวกนี้เป็นครั้งสุดท้าย
แล้วมันก็ไม่เดินเสียเฉยๆ อย่างนั้นแหละ


อันนี้เจ้าหน้าที่ก็เอารถมา มาวางไว้บนแล้วเข็นไป
มันก็กระหยิ่มใจว่าถึงกูจะตายกูก็ยังใช้พวกนี้ได้ อยู่มันอย่างนั้น
อารมณ์มันไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่าที่อาตมาไปพูดให้ฟังนี่เขาก็เดินไปยิ้มย่องผ่องใส
โบกไม้โบกมือกับเพื่อนฝูงที่อยู่ชั้นบน นักโทษที่อยู่ชั้นบนมันมี มองเห็น
เขาก็โบกมือ ลาก่อนพรรคพวก ชาติหน้าค่อยพบกันใหม่แล้วก็บอกว่า
ฉันจะมาคุยมาพบกันอีก แล้วมันก็เดินไป


อาตมาก็สัมภาษณ์ว่า เรานี่รู้สึกอย่างไรในการที่จะถูกประหารวันนี้
เขาบอกว่าเขาก็ไม่รู้สึกอะไรละ เขาบอกว่าเขารู้นานแล้วว่า จะต้องถูกฆ่าสักวันหนื่ง
แล้วเรารู้ไหมว่าเราถูกฆ่านี้เพราะอะไร รู้ฮะ รู้อย่างไร
ก็ผมฆ่าเขาก่อนเขาก็ต้องฆ่าผมมั่งแหละ มันก็พูดดี
และเมื่อผมฆ่าเขา เขาก็ต้องฆ่าผมบ้างละ เลยก็ถามต่อไปว่า ทำไมจึงได้ฆ่ากัน
โกรธอะไรกันนักหนา อยู่รวมแผ่นดินกันไม่ได้ บอกว่ามันก็ไม่ได้โกรธกันมาก่อน
แต่ว่ามันโกรธขึ้นมาไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเลยฆ่ามันตายไป ฆ่าที่ไหน ถามต่อไป
เขาบอกว่าฆ่าในเรือนจำที่จังหวัดลำพูน ผมไปติดคุก
ไอ้เจ้านั่นก็ไปติดคุกแล้วก็นอนใกล้กัน ถกเถียงกันอารมณ์มันหุนหันเลยบีบคอตายเลย


นี่มันเป็นอย่างนี้ มันไม่ได้มีแผนว่าจะฆ่าไอ้นี่อะไรหรอก
แต่มันโมโหขึ้นมา แล้วก็ฆ่าตาย แล้วเรามาติดคุกเรื่องอะไร
ถามต่อไป ผมก็ติดคุกเรื่องพยายามจะฆ่าคน นี่เรื่องอะไรถามต่อไป
ผมก็ติดคุกเรื่องพยายามจะฆ่าคน นี่เรื่องจะฆ่าคนอีกแล้ว
ถามว่าเราพยายามอย่างไร ผมไปซุ่มอยู่จะยิงมันให้ตาย
แล้วได้ยิงมันหรือเปล่า ยิงมันเหมือนกัน แต่มันไม่ถูก ไม่ถูกแล้วคนไม่ตาย
คนหนึ่งมันได้ยินเสียงปืน แล้วเขาก็มาล้อมจับได้ทั้งปืน เลยก็ตัดสินเข้าคุกไป


เอ้า...มาอยู่ในคุกกลัวว่าจะไม่ตาย เลยไปฆ่าเขาให้มันตายเสีย
เลยก็ได้ประหารสมใจ แล้วเวลาไปประหารมันกสั่งเจ้าหน้าที่บอกว่าผ้าขนหนูผืนน้อยนี่
อย่าเอาออกจากคอนะครับ อาตมาก็ถามว่าผ้าผืนนี้มีอะไรเป็นพิเศษ
แฟนให้ถึงได้รักใคร่นักหนา ไม่ใช่แฟนอะไรหรอก
วันจะขึ้นรถไฟคุณแม่มาแล้วคุณแม่ผูกคอให้ เป็นผ้าที่คุณแม่ผูกคอให้
เป็นผ้าที่คุณแม่ผูกคอให้เป็นที่ระลึก
ไหนๆ จะตายแล้วก็ขอให้อยู่กับเนื้อกับตัวว่าช่วยเอาผ้าผืนนี้ช่วยผูกตาหน่อย
เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้เขามีผ้าแล้ว ถ้ายังงั้นก็อย่าเอาออกจากคอก็แล้วกัน
ผูกไว้อย่างนี้แหละ แล้วก็คุยกันเรื่องอื่นกันต่อไป


พอไปถึงที่ใกล้ประหาร เขาก็ให้นั่งเอาดอกไม้ให้ชุดหนึ่ง
ไอ้ตรงนั้นมันอยู่ใกล้วัดเห็นโบสถ์ เขาก็ให้หันหน้าไปทางโบสุ์วัดบางแพรก
ให้ไหว้พระสวดมนต์ อาตมาก็เข้าไปใกล้เขาบอกว่า
อย่าลืมนะภาวนาให้ดี พุทโธ พุทโธ ให้แข็งไว้
อย่าไปโกรธใครเชียวนะ ทำใจให้ดีๆ เราหลับตาตายด้วยใจบริสุทธิ์ จะได้ไปเกิดใหม่
ต้องบอกมันหน่อย ให้มันไปเกิดใหม่ที่ดีๆ
มันอยากเกิดดีให้ทำดีตรงนั้นแหละเป็นนาทีสุดท้าย มั
นก็ภาวนา พุทโธ พุทโธ ย่างทุกก้าวพุทโธ พุทโธ จนกระทั่งไปถึงหลักนั่นแหละ


เมื่อไปถึงหลัก อาตมาก็ยังเข้าไปพูดกับมันอยู่ เขายังไม่ยิง
พูดกันจนกระทั่งว่าเจ้าหน้าที่เขาเตรียมปืน เตรียมอะไรเสร็จ ติดป้ายเสร็จ
ก็ออกมานั่งอยู่ข้างๆ มันก็พุทโธ พุทโธ อยู่นั่นแหละ ไม่ได้หยุดปากหรอก
จนกระทั่งเขายิงเปรี้ยง เปรี้ยง เข้าให้ ก็เลยตายไป อย่างนั้นแหละ
ก็มันใจก็ดีแหละ มันไม่ได้เป็นทหารก็ใจดีเหมือนกัน เขาว่ามันก็อย่างนั้น


ไอ้คนที่มันฆ่าคนใจมันก็อย่างนั้น ไม่ค่อยหวาดกลัวความตายพวกนี้ มันใจเฉยๆ
เพราะมันรู้ว่าศาลตัดสินแล้ว ศาลชั้นต้นตัดสิน อุทธรณ์ตัดสิน ฏีกาตัดสิน
เขายังให้ทูลเกล้าได้อีกนะว่าประวิงเวลา
แล้วก็รอคำทูลเกล้าโดยมากไม่ค่อยได้ผลหรอก มาได้ผลเอาตอนนี้
ตอนในหลวงเสวยท่านมีพระชนมายุครบ ๔๘
นักโทษคนใดศาลตัดสินก่อนเหตุการณ์นั้นคิดว่าบุญแท้ รอดไปหลายคนในตอนนั้น
ได้รับทูลเกล้าถวายฏีกาให้ขังไปตลอดชีวิตมันได้มีชีวิตมาจนบัดนี้
พวกนั้นไม่ต้องถูกฆ่า แต่เหลือจากนั้นก็ไม่มี เขาฆ่ากันทั้งนั้น


อาตมาไปเทศน์มาหลายศพแล้ว แล้วก็เดินทุกศพเจ้าหน้าที่ก็ยังพูดชมอยู่ว่า
เจ้าคุณเทศน์ดีไม่ต้องเอารถเข็นมาเดินไปได้ ว่าเราไปให้กำลังใจมันไม่ใช่เรื่องอะไร
ให้กำลังใจมันให้มันรู้สึกเนื้อ รู้สึกตัว ให้มันคิดในทางที่ถูกไหนๆ มันจะตายแล้ว
ก็พูดให้มันรู้เรื่องหน่อยใช้เวลา ๑๐ นาที ไอ้เจ้าหน้าที่มันก็คอยขยิกอยู่
มันกลัวจะช้ามันกลัวจะไม่ได้ฆ่าทันใจ เลยก็พูดน้อยๆ
เสร็จแล้วก็เอาไปฆ่ากันตามเรื่อง นี่มันเป็นอย่างนั้น
คนที่ใกล้จะตายมันเป็นอย่างนั้น อาตมาก็เคยไปอย่างนี้
บอกว่า ให้นิมนต์ไปแล้วไม่ได้ไปนี่มันไม่ถูก หนังสือพิมพ์มันลงอย่างนั้น
บางทีมันมาถ่ายรูปถึงวัดมันก็ยังว่าไม่ถูก มันบอกว่าเจ้าคุณปัญญานันทะ
นำศพขึ้นสู่เมรุ ความจริงไม่ใช่ ความจริงเจ้าคุณวัดบวรนั้นเป็นคนนำ
อาตมานั่งเฉย แล้วมันเอารูปไปลงมันไม่ใช่รูปเจ้าคุณปัญญา
แต่ว่ามันอ้วนคล้ายกันเท่านั้น เลยก็คนบ้านนอกที่ไม่เคยเป็นเจ้าคุณปัญญา
ก็นึกว่าเจ้าคุณปัญญาได้เกียจตินำศพคราวนี้ มันไม่ใช่เรื่องอย่างนั้นก็ใส่ส่งเดชทั้งนั้น
แล้วก็ยังว่าอีกว่า มีจ๊อกกี้บวชหน้าศพแล้วก็อาตมาบวชสามเณรอยู่พอดี
มันมาถ่ายรูปปรับเข้าแล้วเอาไปลงหนังสือพิมพ์ว่า
สามเณรบวชหน้าศพอุทิศให้ ความจริงศพอื่นไม่ใช่ศพนั้น มันคนละศพ
แล้วเวลามันถ่ายรูปก็บอกด้วยนะว่ามันคนละศพนะ ไม่ใช่ศพนั้นคนละศพ
พอมันไปถ่ายแล้วมันก็ไปลง บวชในศพนั้น ตามเรื่องของเขาอย่างนั้น


การที่ทำอย่างนี้นี่ เป็นการลดเกียรติตัวเอง หนังสือพิมพ์นั่นแหละลดเกียรติของตัวเอง
คือเขียนข่าวไม่ตรงตามความจริง ไม่ตรงตามเรื่องที่ถูกต้อง
เช่นคำสัมภาษณ์อะไรนี้ บางทีเราพูดไปสิบคำนี่ เอาไปลงเพียงสองสามคำ
ลงที่เขาชอบเป็นประโยชน์แก่เขา ไอ้เรื่องถูกไม่ค่อยลง
นักหนังสือพิมพ์เรานี่มันเป็นอย่างนี้ แล้วก็ดูเหตุการณ์ที่เข้ามาทำบางทีจุ้นจ้านไป
พูดกันไม่ค่อยจะรู้ภาษา อันนี้พูดไว้ให้เขาเข้าใจ ว่านักหนังสือพิมพ์อย่าไปโกรธ
วินิจฉัยให้ถูกต้องว่า กูนี่ผิดหรือถูกที่เจ้าคุณปัญญาว่าเอา ถ้าว่าผิดก็ไปแก้เสีย
ถ้าว่าถูกเขาก็ไม่ว่า ไปว่าทำไมถ้าถูกแล้ว
สิ่งใดที่ไม่ถูกเขาจึงว่าสิ่งนี้เป็นตัวอย่างในเหตุการณ์ทั้งหลายมันเป็นอย่างนั้น


คนโบราณจึงพูดว่า ฟังศึกให้ไปฟังข้างเหนือ ฟังเสือให้ไปฟังข้างใต้ นี่
มันเป็นภาษิตคนทางใต้ เหนือของทางใต้ไม่ใช่ทิศเหนือ มันทิศตะวันตก
คือทิศตะวันตกมันเป็นภูเขา ภูเขานั้นระหว่างพัทลุงกับตรัง
เขาเรียกว่าเหนืออันนี้ถ้าพูดว่าเรื่องศึกต้องไปฟังข้างเหนือ
เรื่องมันเยอะแต่ถ้าฟังเรื่องเสือต้องไปฟังชายทะเล
ซึ่งไม่มีเสือแต่คนแถวนั้นพูดเรื่องนั้น เรื่องมันไม่มีแต่มาคุยกันเรื่องเสือ
ถ้าไกลๆ ก็ไปคุยกันเรื่องศึก เหตุการณ์ตามชายแดนอะไรก็เหมือนกัน
เราฟังกรุงเทพมันใหญ่โต แต่ถ้าไปถึงที่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ใหญ่อย่างนั้น
ชาวบ้านก็เป็นปกติไม่ค่อยตื่นเต้นอะไรหรอก ก็มีเหตุการณ์บ้างเป็นธรรมดา
แต่ถ้ามาฟังที่ไกลแล้วเรื่องมันใหญ่


นี่เหละคนโบราณเขาจึงว่า กาเช็ดปากกลายเป็นกาเจ็ดปากมาเลย
ครั้งแรกเขาบอกว่ากาเช็ดปากคือมันกินอะไรแล้วก็เช็ดไปเช็ดมาเขาเรียกว่ากาเช็ดปาก
พูดไปๆ เป็นกาเจ็ดปากมาแล้ว มันขยาย มนุษย์เรานี่มันชอบขยาย
รู้เล็กๆ น้อยๆ ขยายให้มันกว้างออกไป อันนี่ที่ขยายออกไปอย่างนี้มันเรื่องอะไร
มนุษย์เรานี้อย่างหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือคนอื่นโดยไม่รู้ตัวคือชอบพูดข่าวลือนั่นเอง


ข่าวลือนี้ชอบพูดกันจริงๆ พอได้อะไรหน่อยก็อมไปพูดกันที่นั่นที่นี่
นี่เรารู้ไหมว่าเรากลายเป็นเครื่องมือเขาโดยไม่รู้ตัว
ฝ่ายตรงกันข้ามเขาออกอุบายง่ายๆ
เขาทำข่าวลือแล้วเวลาทำข่าวลือเขาคุยซุบซิบกัน ไอ้คุยซุบซิบนี่คนสนใจ
ถ้าเราไปนั่งซุบซิบกันในร้านกาแฟนี่คนเอียงหูฟังกัน มันซุบซิบกันเรื่องอะไรกัน
อันนี้เขาซุบซิบเรื่องที่จะให้คนลือนี่แหละ พอคนนั่นได้ฟังเข้าก็ออกไป
เขาว่าอย่างนั้นเขาว่าอย่างนี้ เขาว่าจะปฏิวติกันอีกว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้
เป็นเครืองมือเขาโดยไม่รู้ตัว


จึงอยากจะขอฝากเอาไว้สักหน่อยว่า อย่าพูดข่าวเล่าลือ
ข่าวอะไรที่เป็นข่าวเล่าลือนี้หยุดพูดเสียเลย ให้ถือหลักสัจจวาจา สัมมาวาจา
สัมมาวาจานี่เขาเรียว่าพูดคำอ่อนหวานสมานสามัคคีมีประโยชน์
ไม่ให้พูดคำหยาบ คำเหลวไหล คำเพ้อเจ้า คำเพ้อเจ้อมันอยู่ในข่าวลือ
เช่นเราได้ฟังอะไรมาก็เอาไปเล่า เที่ยวบอกว่านี่รู้ไหมเขาว่าอย่างนั้นๆ
อย่างนั้นละแล้วคนนั้นก็ไปบอกเพื่อนอีก รู้ไหมเขาว่าอย่างนั้นๆ
วันหนึ่งข่าวออกไปไกลนะที่เขาว่าออกจากหูเข้ารูล่าละไปตั้งไกล
ไปตั้งวันละ ร้อยโยชน์ ข่าวไปเร็วเหลือเกิน ไปบนรถไฟก็ไปกับรถไป
สถานีไหนลงข่าวมันก็ลงด้วยละ โอนกันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเดียว ลือไปทั่วประเทศแล้ว
กว่ารัฐบาลจะประกาศทางวิทยุกระจายเสียง ลือกันทั่วประเทศแล้ว
เสียกำลังใจไปแล้ว เสียขวัญไปแล้ว


อันนี้เป็นเรื่องร้าย เป็นเรื่องทำลายสมรรถภาพทางใจของคนโดยไม่รู้สึกตัว
จึงขอให้เราได้ยกเว้น มี ลูกมีหลาน ก็ขออย่าให้มาคุยข่าวลือให้ฟัง
ถ้าพอจะเอ่ยพูดก็บอกว่า อย่าพูดเลยลูกเอ๋ย นี่มันข่าวลือไม่จริงหรอก
พูดแล้วก็ทิ้งไว้ตรงนั้นอย่าไปพูดต่อไป ให้มันเหยียบไว้ตรงนั้นละ
อย่าพูดต่อไป แต่ไม่ค่อยได้ คนที่เขาสร้างข่าวลือนี่
เขานั่นเองทำอย่างนั้น อย่าไปบอกใคร เป็นความลับ ไอ้นี้ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก
ต้องการให้บอกนั่นเอง ถ้าต้องการให้บอกนี่ ถ้าบอกนี่ไม่ได้
แต่มนุษย์เรานี้มันชอบดื้อเสียด้วย เขาเขียนป้ายบอกไว้ว่า
ห้ามเดินตัดสนามคนก็ชอบเดินแหละ แต่ว่าถ้าเขียนว่า ให้เดินทางนี้ดันเดินทางโน้น
เขาเรียกว่าความดื้อของมนุษย์มันเป็นอย่างนั้น
ไอ้สิ่งใดที่เขาให้ทำกลับไม่เอา แต่ถ้าเขาไม่ให้ทำแล้วกลับชอบเป็นอย่างนั้น
เขาเรียกว่าพวกดื้อพวกนี้สร้างข่าวประเภทต่างๆ
ให้เกิดความวุ่นวายให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมเรา
เป็นประการต่างๆ พุทธบริษัทเราจึงควรจะช่วยกัน


ถ้ามีข่าวอะไรอย่างนั้นขึ้น เราควรจะหยุดข่าวเหล่านั้นเสีย
นอกจากจะหยุดแล้วเราควรจะอธิบายเหตุผลให้เข้าใจว่า
มันไม่มีความจริงหรอก เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องที่สร้างให้เกิดความตื่นเต้น
ให้เกิดความตระหนักตกใจอะไรกันต่างๆ ตัวอย่างเช่นข่าวลือเรื่องสินค้าแพง
เรามักจะตื่นเต้นกัน แล้วจะไปซื้อกัน เราไม่รู้ว่าการไปซื้อกันมากๆ
นั้นแหละทำให้สินค้าแพง เพราะคนขายนี่เขาต้องดูความต้องการของคนซื้อ
ถ้าเห็นว่าคนซื้อมาก เขาก็ต้องขึ้นราคา เพราะรู้ว่าคนกำลังต้องการ
นี่เราอย่าแสดงอาการตกใจรีบไปซื้อ คืออย่ากลัวว่าจะไม่ได้ซื้อของนั้น
อย่ากลัวว่ามันจะหมดเสียก่อน ไม่หมดหรอก พ่อค้าเขาไม่ให้หมดหรอก
ไอ้อะไรที่คนใช้ เขาจะสต็อกไว้เรื่อยๆ เราก็ค่อยๆไปซื้อ
อย่าไปกันทีเดียวเต็มร้านเลย เลยเห็นคนเข้ามาสองสามคน
ราคาห้าบาทพอยี่สิบคนหกบาท ขึ้นไปแล้วประเดี๋ยวเดียวก็ขึ้น
พักเดียวเพราะเห็นคนแย่งกันซื้อ อย่างนั้นไม่ได้
ใจเย็นๆ เราเป็นพุทธบริษัทต้องใจเย็นๆ หน่อย อย่ารีบร้อนในการใช้จ่ายจะซื้อ



แล้วอย่าไปแสดงความสนใจมากเกินไปในของนั้น คนขายเขาดูรู้นะ
ว่าสนใจในของนั้นเลยบอกผ่านให้แพงหน่อย
ถ้าเป็นของผ่าน อันนี้บางทีไปแล้ว วกกลับอีก รู้ว่าต้องเอาแน่ๆ
กูต้องยืนราคานี้ไม่ลดเลย มาถึงต่อ เช่นเขาบอกว่าสิบบาท
เอาเจ็ดบาทได้ไหม มันไม่ลด รู้ว่าอย่ากจะได้กูไม่ลด
แล้วมันก็ต้องยืนไว้อย่างนั้น แล้วก็เดินไป เดี๋ยวกลับมาอีกละ
เป็นก็ต้องยืนไว้อย่างนั้น แล้วก็เดินไป เดี๋ยวกลับมาอีกล่ะ เป็นไงเจ็ดบาทได้ไหม
แหมไม่ได้ครับขาดทุนถ้าขายเท่านั้น เวลานี้น้ำมันขึ้นมันก็แพง
ค่าขนส่งก็แพงต้องสิบบาท ครับเราก้ต้องซื้อสิบบาทเสียท่าแล้ว
เพราะความต้องการมันมากไป แสดงออกให้เขาเห็นว่าเราต้องการ
เขาจึงต้องขึ้นราคาเป็นเรื่องธรรมดา


อาตมาสมัยเด็กๆ นั้นมันก็เป็นมนุษย์แปลกเหมือนกัน
ไปที่ปีนังไปกับหลวงลุง วันหนึ่งหลวงลุงท่านไปตลาดเขาเรียกว่า ยายโมล่า
เขาขายของถูก แล้วเขาก็ซื้ออะไรๆ กันหลวงลุงก็ถามว่า แกไม่ซื้ออะไรบ้างหรือ
ของผมดูๆ แล้วไม่รู้ซื้ออะไร หลวงลุงก็ยิ้มๆ ว่าไอ้นี่มันท่าจะไม่ได้ความละ
มันมาเดินอยู่ในตลาดจะซื้อเสื้อสวยๆ ก็ไม่ซื้อ ซื้อการเกงก็ไม่ซื้อ
รองเท้ามันก็ไม่ซื้อ มันไม่ต้องการ คือใจมันอย่างนั้น มันเฉยๆ เขานึกว่าเรามีอยู่แล้ว
รองเท้ายางก็สวมอยู่แล้ว การเกงก็สวมอยู่แล้ว แล้วก็มีอีกสำรองอีกตัวหนึ่ง
แล้วก็มีอีกตัวสำรองอีกตัวหนึ่ง แล้วจะซื้อไปทำไมก็ไม่ซื้อ
เป็นอย่างนั้นเป็นนิสัยอย่างนั้นไป ไหนๆ ก็ไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร


เวลาไปอินเดียนี่ พาโยมเข้านิวมาเก็ต โยมก็ซื้อกัน
อาตมาก็เดินต่อให้ ต่อราคาให้ช่วยซื้อให้โยม แต่ตัวเองไม่ได้ซื้ออะไรเลย
เขาถามว่าไม่ซื้ออะไร ก็ไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรจีวรมันก็ไม่มีขายในตลาดนิวมาเก็ต
แล้วจะไปซื้อ แต่ถ้าว่าไปเจอะร้านหนังสือก็ซื้อบ้าง
เข้าไปดูๆ ก็ซื้อติดไม้ติดมือมาสักเล่มหนึ่ง สองเล่ม อย่างนั้นซื้อ
ของอื่นนี่มันไม่จำเป็น แล้วเวลาเดินทางไกลๆ นี่นึกได้
แหมไอ้เราไปไกลๆ หอบผ้าไปมากๆ แต่ว่าโยมมันจำเป็นสำหรับโยมนะ
เพราะคุ้นเคยอย่างนั้น เคยนุ่งหลายชุด อาตมานี่มันชุดเดียวจีวร ไปไกลๆ
สี่ห้าวันชุดเดียวพอแล้ว ยังไม่ทันเปียกเหงื่อเท่าไร พอใช้ได้
เลยลองไปอย่างนั้น อ้าว...ชุดเดียว มันก็อยู่ได้สบาย
เลยไม่ต้องพรุงพรัง บ้านเรือนเราเหมือนกัน ของอื่นก็เหมือนกัน
ในสมัยที่ข้าวของแพงนี้ นี่ใครๆ ก็บ่นว่าของนั้นแพงของนี้แพง


มันแพงตรงที่เราจะซื้อจะเอานั่นเอง ถ้าเราไม่เอามันก็ไม่แพง อะไรติดราคาไว้
ฉันไม่ตัองการมันก็เฉยๆ อันนี้อย่าไปซื้อมันไม่จำเป็น เอาเท่าที่จำเป็น
อะไรๆ ที่ญาติโยมมีอยู่เวลานี้มันก็พอใช้แล้วทั้งนั้น ของใช้
สมมติว่าอะไรแพง ที่เขาแพงเวลานี้ สมมติว่าสบู่แพงเราใช้สบู่ถูกๆ ก็ได้
ไม่ต้องใช้สบู่ก้อนหนึ่งหลายๆ บาท ไอ้หลายๆ บาทมันก็อย่างนั้นแหละ
ถูแล้วก็ล้างน้ำออกไปเท่านั้นเอง มันติดตัวอยู่เมื่อไร
เราถูสบู่เพื่ออะไร เพื่อขัดสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง
อันนี้อะไรมันก็ขัดข้องได้อะไรมันก็ใช้ได้ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำถู
มันก็ออกเกลี้ยงเหมือนกันแหละ แต่บางทีบ่นไม่มีสบู่จะใช้
ลองใช้อย่างนั้นก็ได้ เมื่อไม่มีก็ใช้ได้ อยู่ได้ด้วยความเรียบร้อย


แต่ว่าคนเรามันติดนี่ ถ้าเคยใช้อะไรแล้วมันติดสิ่งนั้น
ใช้สบู่ยี่ห้อไหนต้องใช้สบู่ยี่ห้อนั้น ยาสีฟันชนิดไหน แปรงอย่างไรมันติดทั้งนั้น
ติดข้าวติดของ เลยมีความทุกข์เดือดร้อนใจ อย่าไปติดของเหล่านั้น
ใช้เท่าที่มีได้ แล้วจิตใจจะสบาย อย่าให้เกิดอารมณ์เวลาไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้
แล้วจะไปดุคนนั้นคนนี้ มันไม่ได้เรื่องอะไร
ทำใจให้มันสงบทุกโอกาส เราจะมีแต่เรื่องไม่วุ่นวาย ดังที่ได้พูดมาก็สมควรแก่เวลา



ที่มา...www.panya.iirt.net

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2010, 16:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

สาธุด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร