วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2010, 20:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สังคมที่มีแต่ ‘ให้’

ขณะที่ผู้ปกครองในยุคดิจิตอลพยายามดิ้นรนหาโรงเรียนสอนพิเศษในวันหยุด เพื่อหวังสร้างให้ลูกหลานของตัวเองเป็นยอดอัจฉริยะฉลาดเป็นเลิศ พูดภาษาอังกฤษคล่องเหมือนเจ้าของภาษา สามารถบวกเลขได้ไวแข่งกับเครื่องคิดเลข ฯลฯ แต่ก็มีผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ที่มีความฝันเพียงแค่ให้ลูกเป็นคนดี มีศีลธรรม และเป็นเด็กที่มีสัมมาคารวะตามแบบวัฒนธรรมไทยที่ดีเท่านั้น

“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ.....” เสียงเด็กเล็กสวดมนต์แว่วมาจากห้องเรียนของ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยมีพระอาจารย์ยืนสำรวมอยู่หน้าชั้น เป็นภาพที่คุ้นตามานานกว่า 48 ปีแล้ว

เด็กชายหญิงกว่าสามหมื่นคนที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มาแล้ว แม้ว่าจะไม่ ได้มีใครโดดเด่นเป็นพิเศษในวงสังคม แต่เด็กทุกคนที่ผ่านการเล่าเรียนธรรมะจากที่นี่ ต่างก็ได้รับคำชมเชยจากผู้ปกครอง รวมถึงคนรอบด้านในเรื่องของการมีสัมมาคารวะและอยู่ในศีลในธรรม และที่แห่งนี้คือแหล่งที่พึ่งของบรรดาผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่มีฐานะปานกลาง ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะส่งเสียให้ลูกได้เรียนกวดวิชาในสถาบันดีๆ แพงๆ พวกเขาจึงหันมาส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้ว ยังได้ความรู้ด้านวิชาการควบคู่ไปอีกด้วย

รูปภาพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)


๏ กำเนิดโรงเรียนพุทธศาสนาฯ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2500 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพิมลธรรม” สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้เดินทางไปดูกิจการพระพุทธศาสนาที่ประเทศพม่าและศรีลังกา ท่านได้เห็นเยาวชนของประเทศเหล่านั้นใส่ชุดขาวไปวัดในวันอาทิตย์ โดยมีพระสงฆ์ในประเทศเหล่านั้นจัดการเรียนการสอนให้แก่เยาวชน

ท่านเห็นภาพเหล่านั้นแล้วก็เกิดความประทับใจอยากจะให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้เช่นนั้นบ้าง เมื่อกลับมาจึงได้ปรารภให้แก่พระสงฆ์ในวัดได้รับทราบ

สมัยนั้นที่วัดมหาธาตุจะมีประชาชนมาฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดทุกวันอาทิตย์อยู่แล้ว ซึ่งผู้ปกครองหลายคน ที่มาก็จะนำลูกหลานมาด้วย ขณะที่ผู้ใหญ่ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระ บรรดาเด็กๆ ก็วิ่งเล่นอยู่แถวนั้น พระอาจารย์ก็จับเด็กมาเล่าพุทธประวัติให้ฟังบ้าง เล่าเรื่อง ธรรมะบ้าง ก็มีเด็กมาเรียนมาฟังเยอะขึ้นเรื่อยๆ

“ทางเราก็เลยคิดที่จะเปิดโรงเรียนสอนเด็กในวันอาทิตย์ให้เป็นเรื่องเป็นราวบ้าง จึงตั้งเป็นชมรมผู้ปกครองขึ้น ในช่วงแรกก็มีคนสนใจเข้าเรียนเป็นพันคน ต่อมาเราต้องขยายสาขาโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ออกไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด” พระอาจารย์ธวัชชัย ถาวรธัมโม ซึ่งเป็นพระอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 22 ปี เล่าปฐมบทของการตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น

โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2501 และถือเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งขึ้นตรงกับแผนกธรรมวิจัย จุดมุ่งหมายของการเปิดโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้การศึกษาอบรมศีลธรรมแก่กุลบุตรกุลธิดาให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา ปัจจุบันโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีสาขาถึง 170 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งใช้หลักสูตรเดียวกัน

รูปภาพ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


๏ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ผู้ประสาทหลักสูตรฯ

หลักสูตรการเรียนการสอนนั้นมี ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นผู้ร่างหลักสูตรขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังจำวัดอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ และหลักสูตรนี้ก็ได้ริเริ่มใช้ตั้งแต่เริ่มต้นและใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน ซึ่งวิชาหลักที่สอนคือ ธรรมะ พุทธประวัติ สมาธิกรรมฐาน นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมเสริมในภาคบ่ายเพื่อให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความชอบ อาทิ ดนตรีไทย นาฏศิลป์ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น

โดยจะแบ่งระบบการศึกษาเป็น 3 ระดับคือ ป.1- 3, ป.4-6, ม.1-3 ซึ่งจะมีการวัดผลโดยตัดเกรดมาตั้งแต่เริ่มทำการสอนเมื่อ 48 ปีก่อนแล้ว “ตอนวางหลักสูตรของโรงเรียนแห่งนี้ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์มองการณ์ไกลมาก เราจะวัดผลเป็นระบบหน่วยกิตหรือตัดเกรดมานานแล้ว และสิ่งที่ท่านเน้นคือการใช้ธรรมะสอนเพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจของเด็ก” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าว

ทุก 8 โมงเช้าของวันอาทิตย์บริเวณด้านหน้าของโรงเรียนจะเต็มไปด้วยบรรดาเด็กชายหญิงนักเรียนทุกชั้นเรียนอยู่ในชุดขาว/ชมพู เพื่อเข้าแถวอยู่ที่หน้าโรงเรียน พร้อมกับสวดมนต์ ตามด้วยร้องเพลงมาร์ชของโรงเรียนอย่างพร้อมเพรียงกัน จากนั้นก็เป็นการให้ โอวาทโดยพระอาจารย์ และทุกครั้งที่จะทำการกราบพระเด็กทุกคนจะท่องจำขึ้นใจว่า “อัญชลี-วันทา- อภิวาท” ก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้าห้องเรียน และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ก่อนพระอาจารย์จะสอนทุกครั้งเด็กจะต้องสวดมนต์อาราธนาศีล พร้อมกับนั่งสมาธิ 5-10 นาที และเมื่อเรียนจบแต่ละวิชาแล้ว เด็กๆ จะต้องสวดมนต์และนั่งสมาธิอีกครั้ง

สำหรับบุคลลากรที่จะมาสอนนั้น แต่เดิมก็ให้บุคคลภายนอกมาช่วยสอน แต่มีผู้ปกครองหลายคนเสนอแนะว่าที่นำบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ก็เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระมากขึ้น ทางโรงเรียนจึงปรับนโยบายให้พระมาสอนทุกวิชา ยกเว้นการเรียนภาคบ่ายซึ่งเป็นกิจกรรมเสริม จะเป็นฆราวาสอาสาสมัครมาช่วยสอนให้

๏ จรรยานำวิชาการ

“เป้าหมายประการหนึ่งที่บรรดาผู้ปกครองส่งลูกหลานมาฝึกอบรมกับเราคือต้องการให้ลูกมีมรรยาทและมีสัมมาคารวะ มากกว่าที่จะเน้นเรื่องวิชาการ” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าวถึงเป้าหมายหลักของโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งนี้

ซึ่งนโยบายหลักของการตั้งโรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มแรกคือ ‘จรรยานำวิชาการ’ ดังนั้น การเรียนการสอนจึงไม่เข้มงวดในเรื่องวิชาการมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านศีลธรรม จริยธรรม การประพฤติปฏิบัติตัวให้งดงามตามอย่างวัฒนธรรมไทย รวมถึงการกตัญญูต่อบุพการี

วิธีการสอนของพระอาจารย์แต่ละรูปจึงเน้นไป สอนเรื่องคติธรรมที่เป็นประโยคสั้นๆ เพื่อให้เด็กท่องจำและเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยขัดเกลาจิตใจดวงน้อยๆ ของเด็กในวันนี้ให้เป็นคนดีในวันข้างหน้าได้

หลักการนี้ไปโดนใจผู้ปกครองหลายคนที่ตั้งเป้าหมายในชีวิตของลูกน้อยเพียงให้เป็นคนดีของสังคม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ผู้ปกครองหลายคนดีใจเมื่อลูกเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีหลังจากที่เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ได้เพียงปีแรกเท่านั้น

“นอกจากนี้เรายังเน้นเรื่องความเคารพรักและกตัญญูต่อพ่อแม่ อย่างเช่นตอนกลางวันทางโรงเรียน จะมีอาหารกลางวันให้กินฟรีทั้งผู้ปกครองและเด็ก โดยรอบแรกจะให้เด็กไปเข้าแถวเพื่อรับอาหารมาให้ตัวเองก่อน จากนั้นก็ให้ไปเข้าแถวอีกรอบเพื่อนำมาให้ผู้ปกครอง เราจะได้เห็นภาพพ่อแม่ลูกนั่งกินข้าวกลางวันกันอย่างอบอุ่น เพราะเราคิดว่าในวันธรรมดาผู้ปกครอง ก็ต้องยุ่งกับการทำงาน บางครอบครัวไม่มีโอกาสกินข้าวพร้อมหน้ากันตลอดอาทิตย์ พอถึงวันอาทิตย์เมื่อนำลูกมาเรียนกับเรา เราจึงสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้ครอบครัวได้กินข้าวกันพร้อมหน้าบ้าง” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าวเสริม

ในสภาพสังคมปัจจุบันยุคเกมคอมพิวเตอร์แทรกซึมไปสู่สังคมของเด็กๆ ส่งผลให้เด็กเป็นจำนวนมากติดเกมและมีสมาธิสั้นลง มีความอดทนน้อยลง โรงเรียนแห่งนี้จึงกลายเป็นที่พึ่งสำหรับพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่ต้องการใช้ธรรมช่วยให้ลูกมีสมาธิดีขึ้น

“ผู้ปกครองหลายคนบอกเจตนาที่นำลูกมาเรียนเพราะลูกสมาธิสั้นเนื่องจากติดเกมคอมพิวเตอร์ เด็กพวกนี้จะมีความอดทนน้อยลงไปเรื่อยๆ ทางเราก็จะใช้ การสวดมนต์ ฝึกนั่งสมาธิ และสอนว่าทำอะไรให้เขาใช้สติและปัญญาในการแก้ปัญหา” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าว

รูปภาพ
พระอาจารย์ธวัชชัย ถาวรธัมโม


๏ สังคมที่มีแต่ ‘ให้’

การส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย สิ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินก็มีเพียงอุปกรณ์การเรียน อาทิ สมุด หนังสือ ที่พระอาจารย์จัดทำกันเองและจำหน่ายในราคาถูก ส่วนอาหารกลางวันจะมีประชาชนที่มีจิตศรัทธาบริจาคให้

และที่สำคัญคือ พระอาจารย์กว่า 10 รูปที่สอนนั้นก็ไม่มีเงินเดือนเหมือนอาจารย์ทั่วไปหรืออาจารย์สอนพิเศษตามสถาบันชื่อดัง แต่ละรูปได้รับเพียงค่าพาหนะสำหรับเดินทางมาสอนซึ่งเป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิดเท่านั้น ส่วนอาจารย์พิเศษที่มาสอนในช่วงบ่าย ซึ่งมีทั้งอาจารย์นาฏศิลป์ที่มาสอนการรำ และอาจารย์ดนตรีไทยนั้นก็เป็นศิษย์เก่าที่เคยเรียนจากโรงเรียนแห่งนี้ และทุกคนก็ไม่ได้รับเงินค่าจ้างเช่นกัน แต่มาสอนด้วยใจรักจริงๆ

สำหรับงบประมาณประจำปีของการดำเนินงานของโรงเรียนสอนศาสนาวันอาทิตย์แห่งนี้ ใช้ปีละล้านกว่าบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้จากงบประมาณของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ส่วนที่เหลือได้รับจากน้ำใจของบุคคลทั้งภายในและภายนอก นอกจากผู้ปกครองจะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแล้ว ในแต่ละปีทางโรงเรียนยังมีการแจกทุนการศึกษาให้สำหรับเด็กที่ความประพฤติดี ทุนสำหรับเด็กที่ขยันหมั่นเพียรมาเรียนไม่เคยขาด เป็นต้น

สำหรับชีวิตสมณะที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์กว่า 20 พรรษาของพระอาจารย์ธวัชชัย ถาวรธัมโม และเวลาที่มีอยู่ก็อุทิศให้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่เยาวชน ผ่านโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สิ่งที่พระอาจารย์ตั้งความหวังจากความพากเพียรคือ “แรกๆ ก็รู้สึกว่าทำแล้วได้กุศล จึงได้ทุ่มเททำงานทุกวันกว่าจะเสร็จงานก็ 5 ทุ่มเกือบทุกคืน มีความสุขในการให้เวลาไปสอนเด็ก ก็หวังว่าอย่างน้อยพวกเขาจะได้คิดเมื่อตอนโตก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะตอนนี้พวกเขายังเด็กอยู่ ธรรมะก็เหมือนเกลือ จะแกงเมื่อไหร่ ถ้าแกงไม่จืดก็ไม่ต้องใส่เกลือ แต่ถ้าแกงแล้วจืดก็จะเรียกหาเกลือ”

๏ นานาทัศนะจากผู้ปกครอง

การที่จะต้องตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ ซึ่งเป็นวันหยุดเพียงวันเดียวในรอบสัปดาห์ของผู้ปกครองหลายคน เพื่อที่จะพาลูกมาเรียนโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์นั้น ถือเป็นเรื่องยากลำบากที่จะกระทำได้อย่าสม่ำเสมอ แต่ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งก็พยายามจะสลัดความเกียจคร้านและความเหน็ดเหนื่อยเพื่ออนาคตของลูก

เบื้องหลังของความมุ่งมั่นนั้นแต่ละคนมีเหตุผลเช่นไร ลองมาฟังทัศนะจากผู้ปกครองกันดู

รูปภาพ
นางพิมพร เจืออุปถัมภ์


- นางพิมพร เจืออุปถัมภ์ คุณแม่ของ ด.ช.พุฒิพงษ์ บอกว่าตนเองมีลูกเมื่ออายุมากแล้วและเป็นลูกชายเพียงคนเดียวเท่านั้น “เราไม่ได้ตั้งความหวังให้ลูกเรียนเป็นเลิศอะไรหรอก เพียงแต่อยากให้ลูกหลีกเลี่ยงอบายมุขได้ เลยอยากให้เขาอยู่ใกล้ธรรมะ” ด.ช.พุฒิพงษ์ มาเรียนที่นี่ได้ 3 ปีแล้ว จากเด็กที่ฝักใฝ่เรื่องธรรมะมาตั้งแต่เล็กๆ และเมื่อมีโอกาสได้เรียนใกล้ชิดพระ ทำให้เขาสนใจใฝ่ศึกษาธรรมะมากขึ้นจนถูกเพื่อนๆ ตั้งฉายาว่า ‘ท่านมหา’

รูปภาพ
นางยุพาพร นามสุดตา


- นางยุพาพร นามสุดตา คุณแม่ของน้องมายด์ และน้องพลอย ก็เป็นคนหนึ่งที่นำลูกสาวทั้ง 2 คนมาเรียนได้ปีกว่าแล้ว ซึ่งคุณแม่ยุพาพรเปิดเผยว่าลูก ทั้ง 2 มีความสุขและสนุกที่ได้มาเรียนที่นี่โดยเฉพาะการเรียนนาฏศิลป์ โดยขณะนี้น้องมายด์ลูกสาวคนโตสอบนักธรรมตรีได้แล้ว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดหลังจากลูกสาวทั้ง 2 คนได้รับคือการมีกริยามารยาทที่ดีขึ้น มีสัมมาคารวะผู้ใหญ่

รูปภาพ
นางอัญชลี แก้วสุวรรณ


- นางอัญชลี แก้วสุวรรณ คุณแม่น้องเพ่ย-เพ่ย บอกถึงสาเหตุที่ส่งลูกมาเรียนว่าไม่อยากให้ลูกใช้เวลาว่างหมดไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ “ประทับใจเมื่อวันแม่ที่โรงเรียนจัดกิจกรรม พอพระอาจารย์พูดถึงพระคุณของพ่อแม่ เพ่ย-เพ่ยฟังแล้วก็ร้องไห้ออกมา แสดงว่าเด็กคิดตามคำสอนของพระในเรื่องการกตัญญูต่อพ่อแม่”

รูปภาพ
นางจินดา ปิ่นเกษร


- นางจินดา ปิ่นเกษร คุณแม่ของน้องต้า นำลูกชายคนเดียววัย 6 ขวบมาเรียนได้หนึ่งปีแล้ว จากความที่อยากให้ลูกมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น แม้จะยังไม่บรรลุถึงความตั้งใจ แต่น้องต้าก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากเดิมมาก พูดจามีหลักการเหตุผลมากขึ้น และทุกคืนน้องต้าจะต้องไปกราบพระและสวดมนต์ก่อนนอน


จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 74 ม.ค. 50 โดย ปาณี
ผู้จัดการออนไลน์ 15 มกราคม 2550 00:13 น.

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2010, 16:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว




4-4.gif
4-4.gif [ 19.41 KiB | เปิดดู 6516 ครั้ง ]
:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2010, 01:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มี.ค. 2010, 00:52
โพสต์: 1

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




6img042.jpg
6img042.jpg [ 7.14 KiB | เปิดดู 6491 ครั้ง ]
ประวัติพระแสวง สงฆโสภโณ
สถานะเดิม
นามเดิม แสวง ครึกครื้น

วิทยฐานะ
ประโยคครูมูล, นักธรรมชั้นเอก

ตำแหน่งหน้าที่การงาน
1. เป็นครูสอนนักธรรม – สอนบาลี
2. เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมหาธาตุวรวิหาร มาโดยตลอด
3. เป็นผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมหาธาตุวรวิหาร
4. เป็นพระธรรมทูต ปี 2509 – 2516
5. เป็นครูผู้สอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตั้งแต่ปี 2507 ถึงปัจจุบัน
6. เป็นกรรมการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี

ผลงาน
1. เป็นผู้ริเริ่มโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2507 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 23 ปี มีผู้เรียนประมาณ 10,000 คน
2. เป็นผู้เขียนหลักสูตรการเขียน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ได้ทดลองใช้ 3 ปี และได้ปรับปรุงนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน
3. จัดทำหนังสือของศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมหาธาตุวรวิหาร เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และแจกให้กับประชาชนทั่วไป
4. จัดทำบทละครศีลธรรม แจกแก่ประชาชน
5. เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมหาธาตุวรวิหารมาโดยตลอด
6. ดำเนินการเปิดสนามสอบธรรมศึกษา ตรี โท เอก ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร มีผู้เข้าสอบประมาณปีละ 400 คน
7. เคยเป็นธรรมทูต ตั้งแต่ปี 2509 – 2516 เห็นกิจการไม่เจริญก้าวหน้า ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจึงหยุดดำเนินการ
8. เป็นวิทยากรอบรมศีลธรรม จริยธรรม มารยาทไทยตามโรงเรียนต่าง ๆ

ระดับการเรียน
1. รับนักเรียนทุกระดับ ตั้งแต่ ป.4 – 6, ม. 1 – 5 และอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยทุกระดับ
2. การเรียนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
2.1 นักเรียน ป.4 – 6 เรียกว่า ชั้นต้น มี 3 ห้อง
2.2 นักเรียน ม. 1 – 5 เรียกว่า ชั้นกลาง มี 3 ห้อง
2.3 นักเรียนอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย เรียกว่า ชั้นสูง มี 1 ห้อง

ระดับการสอน แบ่งวิชาออกเป็น 3 อย่าง คือ
1. วิชาพระพุทธศาสนา มีธรรมะ พุทธประวัติ ศาสนประวัติ ศาสนพิธี ธรรมปริทรรศ เบญจศีล เบญจธรรม และความรู้ทั่วไป
2. วิชาสามัญ มีคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ทางศาสนา
3. วิชาพิเศษ มีวิชาธรรมศึกษา ตรี โท เอก ภาษาบาลี ภาษาฝรั่งเศส และวิชาวาทศิลป์
4. จำนวนครูที่สอนทั้งหมด มี 15 ท่าน ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์
5. จำนวนนักเรียนทั้งหมดในระยะ 3 ปี ทั้งที่มาเรียน ทั้งที่เข้าสอบ ทั้งที่สอบได้ มีดังนี้
5.1 พ.ศ. 2526 มี 350 คน เข้าสอบ 150 คน สอบได้ 120 คน
5.2 พ.ศ. 2527 มี 220 คน เข้าสอบ 120 คน สอบได้ 100 คน
5.3 พ.ศ. 2528 มี 250 คน เข้าสอบ 100 คน สอบได้ 75 คน
6. จัดกิจกรรมพิเศษ คือ อบรมนักเรียนให้มาประพฤติพรหมจรรย์ (บวชชีพราหมณ์)
6.1 พ.ศ. 2525 มีนักเรียนเข้าอบรม 75 คน
6.2 พ.ศ. 2526 มีนักเรียนเข้าอบรม 100 คน
6.3 พ.ศ. 2527 มีนักเรียนเข้าอบรม 250คน
6.4 พ.ศ. 2528 มีนักเรียนเข้าอบรม 350 คน
6.5 พ.ศ. 2529 มีนักเรียนเข้าอบรม 430 คน
7. การส่งเสริมหรือการสนับสนุนเกี่ยวกับการศึกษาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีดังนี้คือ
7.1 ได้ส่งครูและตนเองไปสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ
7.2 ได้ส่งนักเรียนไปร่วมกิจกรรมตอบปัญหา กับนักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์อื่น ๆ
8. การริเริ่มหรือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้นั้นมีดังนี้คือ
8.1 เชิญชวนและขอความอุปถัมภ์จากสาธุชนผู้ใจบุญมีศรัทธาทั่ว ๆ ไปร่วมกันบริจาค
8.2 จัดการทอดผ้าป่าตั้งทุนการศึกษาเฉพาะโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์

พระแสวง สงฆโสภโณ ได้อุทิศตนส่งเสริมการศึกษาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์โดยตลอด เป็นทั้งผู้อำนวยการและเป็นผู้เขียนหลักสูตร ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา พระแสวง สงฆโสภโณ จึงเป็นบุคคลที่พึงได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้มีผลงานดีเด่นประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์โดยแท้
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร