วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 14:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พุทธวิธีแก้หลง

พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กทม.



ที่มา... http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12316

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 14:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำนำ


มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มีนโยบายที่จะจัดพิมพ์หนังสือทางพระพุทธศาสนา
เพื่อประชาชนทุกระดับชั้นสามารถอ่านศึกษาความรู้
เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาได้โดยง่าย
อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดสันติสุขแก่ชีวิตและสังคม
ทั้งจะเป็นการช่วยดำรง และส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบไปด้วย


มหามกุฎราชวิทยาลัยได้พิจารณาเห็นว่า
พระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เหมะสมเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะจัดพิมพ์เผยแพร่ตามนโยบายดังกล่าว
เพราะเป็นบทพระนิพนธ์ที่ประกอบด้วยเนื้อหาสาระครบถ้วนสมบูรณ์
และอ่านเข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่านทุกระดับ มหามกุฏราชวิทยาลัย
จึงได้เลือกสรรมาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นชุดๆ เป็นลำดับไป


เรื่องพุทธ วิธีแก้หลงนี้ ได้ตัดทอนมาจากพระนิพนธ์เรื่อง การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่
เฉพาะส่วนที่แสดงถึงวิธีที่จะฝึกตนเองให้คลายลุ่มหลงไปในสิ่งที่ไร้คุณค่า หรือไร้ประโยชน์
อันเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสงบและมีความสุขยิ่งขึ้น


ตาม หลักคำสอนและตามความมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนา
มีเนื้อหาไม่ยาก และไม่ง่ายจนเกินไป ทั้งไม่ยาวและไม่สั้นจนเกินไปด้วย
แต่ก็มีเนื้อหาเพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่าน
ได้ความรู้ความเข้าใจถึง พุทธวิธีในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี


(พระมหารัชมงคลดิลก)
ผู้อำนวยการ

มหามกุฏราชวิทยาลัย
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 14:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สารบัญ


๑. เพราะหลงจึงรัก

๒. เพราะหลงจึงปรารถนา

๓. เพราะหลงจึงไม่เชื่อกรรม

๔. ความเชื่อไม่อาจเปลี่ยนความจริง

๕. ความหลงที่มีโทษยิ่ง

๖. วิธีดูหน้าตาความหลง

๗. ความจริงคือที่มาของความสุข

๘. การปฏิเสธความจริงคือที่มาของความทุกข์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 15:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พุทธวิธีแก้หลง


ไม่ว่าโลภะหรือโทสะก็ตาม มีมูลเหตุเกิดจากกิเลสตัวสำคัญคือโมหะ
ที่เรียกเป็นคำไทยง่ายๆ ว่า ความหลง
อันหมายถึงความรู้ความคิดที่ไม่ถูกต้องตามความจริง
ความหลงนี้เห็นจะพอเปรียบได้กับยาดำ


คือมีแทรกอยู่ในกิเลสทุกกอง ทุกประเภท ตั้งแต่หยาบสุดถึงละเอียดสุด
พูดให้ถูกก็คือความหลงหรือโมหะเป็นเหตุให้เกิดกิเลสทั้งปวง เป็นพื้นฐานของกิเลสทั้งปวง


ความรักความชอบก็เกิดจากโมหะ
ความชังก็เกิดจากโมหะ
ความปรารถนาก็เกิดจากโมหะ
ความเกียจคร้านก็เกิดจากโมหะ
แม้ความโลภก็เกิดจากโมหะ
และความโกรธก็เกิดจากโมหะ


ภาวะของจิตที่สิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น
ที่ปราศจากโมหะหรือความหลงเข้าไปเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย
เป็นภาวะเดียวจริงๆ ที่พ้นจากโมหะหรือความหลง
ภาวะอื่นของจิตมีความหลงเป็นเหตุแทรกซึมอยู่ทั้งนั้น


ด้วยเหตุนี้ ตราบใดที่ยังมีความหลงให้บรรเทาเบาบางไม่ได้
ตราบนั้นจิตยังจะต้องมืดมิด และเร่าร้อนวุ่นวาย
กระสับกระส่ายอยู่ด้วยอารมณ์รุนแรงร้อยแปด เช่น


อารมณ์รัก
อารมณ์ชัง
อารมณ์ยินดี
อารมณ์ปรารถนา
เหล่านี้เป็นต้น


แต่ ถ้าเมื่อใดทำความหลงให้บรรเทาเบาบางลงได้
เมื่อนั้นจิตก็จะผ่องใสและเยือกเย็นเป็นสุขขึ้น
ด้วยไม่มากด้วยอารมณ์รุนแรงร้อยแปดดังกล่าว


:b48: ๑. เพราะหลงจึงรัก

ทำไมจึงกล่าวว่า ความรักความชอบก็เกิดจากความหลง
ลองพิจารณาดูให้พอเข้าใจว่าเป็นจริงหรือไม่เพียงใด เพียงในประการเดียวก่อน
ภายหลังจึงจะได้จับพิจารณาประการอื่นๆ ต่อไปให้พอเข้าใจ
ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ
ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้นต้องมีความเข้าใจเสียก่อนจึงจะทำได้ถูกต้อง


การจะแก้โมหะหรือความหลงก็เช่นกัน
จำเป็นจะต้องทำความเช้าใจให้รู้จักหน้าค่าตาเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร
แอบแฝงอยู่ตรงไหน ถ้าไม่เข้าใจไม่รู้หน้าตาของความหลง
ก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจว่ามีแอบแฝงอยู่ตรงไหน เมื่อไม่รู้จักหน้าตาที่ซ่อนของผู้ร้าย
จะจับผู้ร้ายออกมาไม่ได้ฉันใด เมื่อไม่รู้จักหน้าตาที่แอบแฝงของโมหะ
ก็จะจับโมหะออกไม่ได้ฉันนั้น


ความหลงที่เป็นเหตุแห่งความรักความชอบ
หรือที่มีอยู่ในความรักความชอบก็คือ ความหลงที่เป็นความรู้ความคิดว่า
ผู้นั้นหรือสิ่งนั้นน่ารักน่าชอบ เป็นคนหนุ่มคนสาว
เป็นคนสวยเป็นของงาม เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อความรู้ความคิดเช่นนั้นไม่เกิดขึ้น ความรักความชอบก็จะไม่เกิด
เหตุที่กล่าวว่าความรู้ความคิดที่ทำให้เกิดความรักความชอบตามมานั้น
เป็นโมหะหรือความหลง ก็เพราะความรู้ความคิดเช่นนั้นผิดจากความจริง
คือ ที่รู้ที่คิดว่าผู้นั้นหรือสิ่งนั้นน่ารักน่าชอบ
เป็นคนสวยเป็นของงามนั้น ไม่ถูกต้อง

ตามความจริงไม่มีผู้นั้น ไม่มีสิ่งนั้น ที่น่ารักน่าชอบเป็นคนสวยเป็นของงาม
มีแต่ความเป็นสิ่งปฏิกูล มีแต่ความเปื่อยเน่าผุสลาย นี้คือความจริง
แต่ก็เป็นความจริงที่สามัญชนผู้อบรมปัญญาบารมีไม่เพียงพอ
ยากจะเข้าใจให้รู้ถูกคิดถูกตามเป็นจริงได้
สามัญชนจึงยังมีโมหะความหลง
ที่นำให้เกิดความรักความชอบในผู้นั้นในสิ่งนั้นอยู่ทั่วไป
ยังต้องได้รับความทุกข์เพราะความหลงนี้อยู่ทั่วไปเป็นอันมาก


วิธีแก้ความหลง ที่แทรกอยู่ในความรักความชอบ อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
ก็ต้องพยายามคิดให้ถูกต้องตามเป็นจริงว่า ผู้นั้นหรือสิ่งนั้นเป็นสิ่งปฏิกูล
เป็นสิ่งเปื่อยเน่าผุสลาย ไม่น่ารักไม่น่าชอบ นี้เป็นขั้นยาก
แต่ก็ต้องยากเพราะเป็นการแก้รากเหง้าของกิเลสทีเดียว
ผู้ปรารถนาจะได้มีสุขเพราะพ้นจากโทษของความรักความชอบ
จำเป็นต้องอบรมให้สม่ำเสมอ
ความตั้งใจจริงประกอบด้วยการใช้ปัญญาอย่างมีความเพียรไม่ขาดสาย
จะทำให้ได้รับความสำเร็จเป็นลำดับไป อันโมหะนี้มีโทษมาก
มีโทษกว้างขวาง คนละเมิดสามีภริยาเขา ลูกหลานเขา ก็เพราะเห็น


สวยงามน่ารักน่า ปรารถนา คนที่ลักขโมย ฉ้อโกง ไม่ว่าของเล็กของใหญ่
เงินน้อยเงินมาก็เพราะเห็นเป็นสิ่งมีค่า สวยงาม
น่าครอบครองเป็นเจ้าของเห็นเป็นสิ่งที่จะทำให้ตนมั่นคงยิ่งขึ้นในฐานะอันสูงอันดี
ซึ่งจะต้องยั่งยืนด้วยตั้งอยู่บนรากฐานอันตนได้พยายามก่อสร้างขึ้นทุกวิถีทาง
ไม่คำนึงว่าจะเป็นการได้มาอย่างสุจริตหรือทุจริตก็ตาม
ความคิดเห็นเช่นนั้นเป็นโมหะ ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง


ผู้ที่คิด ที่เห็นเช่นนั้นมาแล้ว และที่กำลังคิดกำลังเห็นเช่นนั้นอยู่
ถ้าต้องการจะบริหารจิต ให้เป็นจิตที่สมบูรณ์เบาบางจากกิเลสทั้งหลาย
อันจะเป็นเหตุให้คิด พูด ทำ ความผิดความชั่วทั้งปวง
จำเป็นจะต้องแลให้เห็นโมหะในใจตนเองเสียก่อน ยอมรับเชื่อเสียก่อนว่า
การคิดการเห็นนั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ควรจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเสียที
ผู้ใดสิ่งใดที่เห็นเป็นสวยเป็นงามน่าใคร่น่าปราถนาน่าพอใจ
ก็ให้คิดให้เห็นว่าไม่มีอะไรสวย ไม่มีอะไรงาม
ไม่มีอะไรน่าใคร่ น่าปราถนาน่าพอใจ


คนที่เห็นสวยงามจนเกิดความรัก ความใคร่ความปรารถนาต้องการ
ก็ให้แลลงไปให้เห็นตามความเป็นจริง
เพียงหนังบางๆ ที่ห่อหุ้มอยู่ทั่วไปฉีกขาดออก
แม้เพียงในบริเวณหนึ่งบริเวณใดของร่างกายเพียงเล็กน้อย
ก็จะอาจเห็นความไม่น่ารัก ไม่น่าใคร่ไม่น่าปรารถนาได้แล้ว
เนื้อก็แดงมีเลือด มีน้ำเหลืองเปรอะเปื้อน
หาได้เห็นผิวพรรณผุดผ่องสวยงามไม่ ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ไม่ต้องลองลอกหนังที่ห่อหุ้มอยู่ออก
ทุกคนก็สามารถนึกภาพความจริงอันไม่สวยงาม
น่ารังเกียจนั้นได้ชัดเจนด้วยกันทั้งนั้น


เมื่อนึกภาพบริเวณเล็กๆ ที่หนังหลุดหายไเปลือก
แต่เนื้อสกปรกเปรอะเปื้อนด้วยเลือดและน้ำเหลืองได้แล้ว
ก็ให้นึกภาพบริเวณที่ใหญ่ออกไปอีก ที่หนังหลุดหายไป
ก็จะได้เห็นภาพอันเป็นปฏิกูล
ไม่สวยงามน่าปรารถนาอย่างใดเลยชัดเจนขึ้น
วิธีบริหารจิตเช่นนี้เรียกว่าการเจริญอสุภะ
ใช้แก้ความหลงหรือโมหะที่นำให้เกิดความรักใคร่ปรารถนาได้อย่างดี
ผู้เจริญอสุภะอย่างสม่ำเสมอจะไม่เป็นผู้ละเมิดบุตร ภริยาเขา
จะเป็นผู้ไม่มักมากในความรักความใคร่
จะเป็นผู้อาจมีสันโดษในหญิงเดียวชายเดียวผู้เป็นภริยาหรือสามีตนเท่านั้น


ซึ่งจะเป็นการไม่ก่อความเดือดร้อน ทั้งให้แก่ผู้อื่นและให้แก่ตนเองด้วย
ตรงกันข้ามกับผู้ไม่มีสันโดษในเรื่องนี้ ความไม่มีสันโดษในเรื่องภริยาสามี
ย่อมนำความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายมาสู่ทั้งแก่ผู้อื่นและแก่ตนเอง
ดังได้ปรากฏให้รู้เห็นกันอยู่แล้ว แทบไม่ว่างเว้น
จึงไม่จำเป็นจะต้องยกตัวอย่างไว้ในที่นี้อีก


:b48: ๒. เพราะหลงจึงปรารถนาต้องการ

สิ่งของหรือทรัพย์สินเงินทองที่เห็นสวยงาม มีค่าน่าปรารถนาต้องการก็เช่นกัน
หากจะเป็นการต้องได้มาด้วยวิธีไม่ทุจริตแล้ว
ก็ต้องใช้วิธีบริหารจิตให้พ้นจากความปรารถนาต้องการนั้นให้ได้
อาจจะด้วยการคิดให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งแก่ใจตนเองว่า
สิ่งของนั้นหรือทรัพย์สินเงินทองนั้นมิได้ยั่งยืนจักหมดสิ้นไปในวันหนึ่ง
หากได้มาโดยชอบก็สมควรที่จะให้ได้มา
เพราะแม้เมื่อถึงเวลาที่หมดสิ้นก็ไม่มีความเสียหาย
เหลือไว้เป็นมลทินให้เสียหายเศร้าหมอง
แต่หากจะต้องได้มาโดยมิชอบแล้ว
โดยต้องทุจริตแล้ว ก็ไม่สมควรเลยที่จะให้ได้มา


เพราะเมื่อถึงเวลาที่หมดสิ้นก็จะมีความเสียหาย
อันเกิดจากการทุจริตเหลือไว้เป็นมลทินให้เสียหายเศร้าหมองตลอดไป
อย่างไม่มีวันจะอาจลบได้เลย แม้ชีวิตจะหาไม่แล้ว
มลทินนั้นก็จะยังประกาศตัวอยู่ไม่รู้แล้ว เป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย
แต่การคิดให้ได้เช่นนี้ ผู้คิดต้องมีโมหะไม่มืดมิดจนเกินไป
ความโลภไม่รุนแรงจนเกินไป สำหรับผู้ที่มีโมหะ
มีความโลภรุนแรงจนเกินไปแล้ว ก็จักไม่อาจเห็นอะไรตามความเป็นจริงได้เลย


หากจะเป็นการขัดต่อสิ่ง ที่เขาคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของเขา
ซึ่งที่จริงหาได้เป็นผลประโยชน์แต่อย่างใด เป็นโทษแท้ๆ
การได้มาซึ่งสิ่งของหรือทรัพย์สินใดๆ ก็ตาม ด้วยวิธีอันมิชอบ
นับเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย
เพราะสิ่งเหล่านั้นเมื่อถึงเวลา ก็ต้องหมดสิ้นไปตามธรรมดา
แต่ความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตย่อมจักคงอยู่


ฉะนั้น เมื่อมีความปรารถนาเกิดขึ้นในสิ่งใดอย่างมิชอบ
ให้ใช้วิธีแก้ไขความปรารถนามิชอบของตนให้ดับด้วยการคิดถึงความจริงว่า
เป็นสิ่งที่ไม่คงทนถาวร จะต้องสลายไปเป็นธรรมดา
เมื่อใดสามารถแลเห็นความต้องสลายไป
เป็นธรรมดาของสิ่งที่ตนปรารถนาต้องการได้
เมื่อนั้นความปรารถนาต้องการในสิ่งนั้นย่อมดับลงได้
และผู้ใดสามารถทำให้ความปรารถนาต้องการดับลงได้
ด้วยการแลเห็นเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า
สิ่งที่ปรารถนาต้องการนั้นไม่คงทนถาวรอยู่ตลอดไป จักเสื่อมสลายหมดสิ้น
นับว่าผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีโมหะในเรื่องนั้นสิ่งนั้น
มีความเห็นถูกเห็นจริงในเรื่องนั้นสิ่งนั้น
ผู้มีความเห็นถูกเห็นจริง หรือเรียกว่าไม่มีโมหะ
ไม่มีความหลงในเรื่องใดสิ่งใดก็ตาม ย่อมจักไม่ทำผิดในเรื่องนั้นสิ่งนั้น


ส่วนผู้ที่ทำผิดในเรื่องใด สิ่งใด ก็เพราะมีโมหะหรือความหลง
คิดผิดเห็นผิดในเรื่องนั้นสิ่งนั้นนั่นเอง
ผู้ที่ทุจริตต่อหน้าที่การงานของตน
เพราะหวังผลอันเป็นลาภสักการะ
ก็เพราะมีโมหะหรือความหลงเป็นเหตุนี้มีขึ้นอยู่เสมอ
ความเห็นว่าการทุจริตต่อหน้าที่ของตนเพียงเท่านั้นเไม่เป็นไร
ลาภผลที่จะได้จากการทุจริตต่อหน้าที่เพียงเท่านั้นมากมายพอคุ้มกัน
เช่นนี้เรียกว่าเป็นความเห็นไม่ถูกต้องตามความจริง
เรียกว่า เป็นโมหะหรือความหลง
และผลของความหลงจะเป็นผลดีไปไม่ได้
ผลของความหลงต้องเป็นผลไม่ดีเสมอ


ผลดีต้องเป็นผลของความไม่หลง ตัวอย่างมีอยู่แล้วเสมอ
ทุจริตต่อหน้าที่ ได้รับเงินทองตอบแทนในระยะแรก
แต่ได้รับโทษในระยะต่อไป
ผู้ที่มีโมหะพิจารณาเรื่องดังกล่าวข้างต้นนี้จะเข้าใจว่า
การทุจริตต่อหน้าที่ทำให้ได้ทั้งผลดีคือได้เงินด้วย
และได้ทั้งผลเสียคือได้รับโทษด้วยในภายหลัง
ส่วนผู้ไม่มีโมหะนั้นหากพิจารณาเรื่องเดียวกัน
จะเข้าใจทันทีว่าเงินทองที่ได้ในระยะแรกมิใช่เป็นผลดีของการทุจริตต่อหน้าที่
ผลของความทุจริตมีเป็นโทษอย่างเดียวเท่านั้น
ผู้ไม่หลงย่อมแลเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า
กรรมทุกอย่างย่อมมีผล กรรมดีย่อมมีผลดี กรรมชั่วย่อมมีผลชั่ว
กรรมดีจะไม่มีผลชั่ว และกรรมชั่วไม่มีผลดี


:b48: ๓. เพราะหลงจึงไม่เชื่อเรื่องกรรม

ผู้ใดมีความคิดหรือความเห็นเกิดขึ้นไม่ว่าเมื่อใดก็ตามว่า
บางเวลากรรมดีก็ให้ผลไม่ดี หรือบางเวลากรรมชั่วก็ให้ผลดี
ผู้นั้นมีความคิดความเห็นผิดจากความจริงแล้ว
หลงแล้ว มีโมหะแล้ว จะสามารถทำอะไรๆ ผิดๆ ได้ตามอำนาจของความหลง
หากไม่รีบแก้ไขเสีย ดังเช่นบางคนเมื่อจะให้ทานเกิดความคิดขึ้นว่า
ให้ทำไม ทำให้เสียเงินทองของเราเปล่าๆ
ถ้าการให้ทานเป็นการทำดีจริง ทำไมผู้ให้จึงกลับเป็นผู้เสียคือเสียเงิน
ทำไมผู้ให้ซึ่งว่าเป็นผู้ทำดีจึงไม่เป็นผู้ได้
การคิดเช่นนี้ สงสัยเช่นนี้ เรียกได้ว่าเป็นไปด้วยอำนาจของโมหะ
การทำทานเป็นการทำดี ผลที่ได้รับต้องเป็นผลดี
การเสียเงินหรือสิ่งของไปในการทำทานนั้น
หาใช่เป็นการได้ผลไม่ดีจากการทำดีไม่ ที่จริงผลกรรมคือการกระทำนั้น
บางทีก็แยกออกให้เห็นถนัดชัดเจนยาก ว่ากรรมดีให้ผลดีเสมอ
กรรมชั่วให้ผลชั่วเสมอและเพราะแยกออกให้เห็นยากเช่นนี้
ผู้มีโมหะจึงเห็นผิดไปเสียเป็นส่วนมาก
ว่ากรรมดีไม่ให้ผลดี กรรมชั่วไม่ให้ผลชั่ว
อย่างเช่นที่ยกมากล่าวแล้ว การทำทานซึ่งเป็นการทำดีแต่ต้องเสียเงิน
ไม่ได้เงิน เพื่อให้เห็นง่ายขึ้น ชัดขึ้น ถึงเรื่องผลของกรรมหรือการกระทำ
ท่านสอนวิธีไว้ดังนี้ คือท่านให้แยกผลของการกระทำแต่ละอย่างออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ


ผลของกรรมฝ่าย ๑
และผลของกิริยาฝ่าย ๑


การให้ทานนั้น ผลของกิริยาคือต้องเสียทรัพย์หรือสิ่งของทุกที
แต่ผลของกรรมต้องเป็นความอิ่มเอิบใจ เป็นความสุขทั้งแก่ตนเอง
ผู้ให้และแก่ผู้รับ เป็นบุญที่จะสั่งสมตัวเองต่อไปไม่จบสิ้น
การทำกรรมทุกอย่างแยกผลออกได้ ๒ ฝ่ายเช่นนี้
ผลฝ่ายกิริยาจะปรากฏทันที เช่น คนลักขโมยของเขา
ผลฝ่ายกิริยาจะทำให้ได้ของมาทันที
แต่ผลฝ่ายกรรมเกี่ยวแก่กาละ จะเห็นชัดต้องรอ
เช่น คนลักขโมยเขานั่นแหละ ได้รับผลฝ่ายกิริยาคือได้ข้าวของไปทันทีแล้ว
แต่ผลฝ่ายกรรมเมื่อรอจนถึงเวลาก็จะได้รับ
เช่น รอพอได้คิดก็จะต้องทรมานใจ เพราะกลัวถูกจับ
รอต่อไปพอถูกจับได้ก็จะต้องได้รับโทษ เช่นนี้เป็นต้น
การฝึกแยกผลของการกระทำเช่นนี้
จะเห็นชัดเจนทั้งผลของกิริยาและผลของกรรม
เมื่อสามารถเห็นผลทั้งสองชัดเจน โมหะก็จะเบาบางลง
จะทำสิ่งใดก็จะรู้จักยับยั้ง ไม่ทำที่เป็นการไม่ดี
ผลที่ได้รับก็ย่อมเป็นความสุขสงบ
ตามควรแก่การกระทำที่มีโมหะหรือความหลงเป็นพื้นฐานมากน้อยเพียงใด


การกระทำทุกอย่าง ทั้งดีและไม่ดี เมื่อทำแล้ว ไม่ลบเลือนไปไหน
จะสั่งสมตัวเองอยู่ตลอดเวลา อยู่ภายในใจของผู้กระทำนั้นเอง
เป็นพื้นฐานแห่งจิตใจของผู้กระทำนั้นเอง
ทำดีมาก พื้นฐานของจิตใจก็ดีมาก
ทำไม่ดีมาก พื้นฐานของจิตใจก็ไม่ดีมาก
ความจริงมีอยู่เช่นนี้ แต่ผู้มีโมหะหรือความหลงมากจักไม่ยอมรับความจริงนี้
จักพยายามลบล้างปฏิเสธความจริงนี้
คือจักกล่าวว่าทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป
ไม่มีผลเหลืออยู่เป็นความดีความชั่วที่ยั่งยืนตลอดไปทุกภพทุกชาติ
บุคคลประเภทดังกล่าวจึงมักทำกรรมโดยมุ่งผลฝ่ายกิริยาเท่านั้น
มิได้คำนึงถึงผลฝ่ายกรรมที่ต้องขึ้นแก่กาละดังกล่าวแล้ว
นั้นก็คือบุคคลประเภทดังกล่าวมักจะทำอะไรก็ได้ที่ต้องการจะทำ
โดยไม่ต้องคิดว่าเป็นการทำชั่วหรือทำดี
ทำผิดหรือทำถูก ควรทำหรือไม่ควรทำ


บุคคลประเภทที่มีโมหะหรือความหลงมากขนาดนี้
จะทำอะไรลงไปโดยไม่คิดถึงอดีตไม่คิดถึงอนาคต ที่ว่าไม่คิดถึงอดีต
ในที่นี้หมายความว่า ไม่คิดถึงเรื่องราวทำนองเดียวกับที่ตนกำลังจะทำ
ซึ่งเคยมีผู้กระทำมาก่อนแล้ว มีผลเสียหายมาก่อนแล้ว
เช่น เมื่อจะทุจริตคิดคดโกง ก็ทำลงไปเลย
ไม่คิดถึงคนอื่นที่เคยทุจริตเช่นนั้นมาก่อนแล้ว
ว่าได้รับผลเช่นไรจากการกระทำเช่นนั้น
ความไม่คิดถึงอดีตเช่นนี้ทำให้ไม่มีเครื่องยับยั้ง
ต้องการทำเป็นทำ ซึ่งผลนั้นไม่มีเป็นอื่น ต้องเป็นผลที่ตรงต่อเหตุเสมอ
ทำเหตุไม่ดีผลก็ต้องไม่ดี ทำเหตุดีผลจึงจะดี ที่ว่าไม่คิดถึงอนาคต
ในที่นี้หมายความว่า ไม่คิดถึงให้ไกลออกไปข้างหน้า
ว่าเมื่อทำแล้วจะได้รับผลดีเพียงเฉพาะหน้าหรือจะได้รับผลดีต่อไปในภายหน้าด้วย
ผู้ที่คิดถึงอนาคตในแง่ดังกล่าว เมื่อจะทำอะไรที่ไม่ดี
จะต้องคิดได้แน่นอนถึงผลไม่ดีที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า
เช่น เมื่อจะทุจริตคิดคดโกงไม่ทำลงไปทันที


แต่คิดให้ไกลออกไปว่าผลของ การกระทำเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร
ก็ย่อมจะต้องคิดได้แน่นอนว่าจะต้องเป็นผลไม่ดี จะต้องเป็นความทุกข์
เห็นง่ายๆ ก็เช่นทุกข์เพราะกลัวจถูกจับได้ จะถูกลงโทษ
แม้เพียงความกลัวว่าจะถูกลงโทษก็เป็นทุกข์อย่างยิ่งแล้วสำหรับผู้กระทำทุจริต
ฉะนั้น เมื่อต้องได้รับโทษเข้าจริงๆ จะเป็นทุกข์สักเพียงไหน
การคิดถึงอนาคตเช่นนี้เท่ากับมีเครื่องยับยั้ง
ไม่ทำอะไรลงไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการ
โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นการทำดีหรือทำชั่ว
โมหะหรือความหลงของผู้ไม่รู้จักคิดถึงอดีตไม่รู้จักคิดถึงอนาคตดังกล่าวแล้วนั้น
เป็นเหตุอันแท้จริงให้เกิดการทำไม่ดี ไม่ชอบไม่ถูกไม่ควรขึ้นเนืองๆ
เรียกได้ว่าไม่เว้นวันและวันหนึ่งมากมายหลายสิบเรื่อง


ทั้งที่เป็น เรื่องเปิดเผยอื้อฉาว และที่เป็นเรื่องปิดบังซ่อนเร้น
การทำลายโมหะดังกล่าวให้หมดสิ้นไป
ควรจะทำได้ด้วยการฝึกสอนอบรมจิตใจให้คิดถึงอดีตและอนาคต
ในทำนองดังกล่าวแล้ว ไว้ให้สม่ำเสมอ
เรียกง่ายๆ ว่า หมั่นสอนใจตัวเองไว้เสมอๆ
ในข่าวหนังสือพิมพ์ประจำวันหรือเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังจากคนนั้นเล่าคนนี้เล่า
จะเป็นเครื่องช่วยในการสอนใจตัวเองได้อย่างดี
ขอเพียงได้สนใจและมีความตั้งใจจริงที่จะอบรมตนเองเท่านั้น
อันความสนใจและตั้งใจจริง ที่จะอบรมตนเองนี้สำคัญมาก ขาดเสียไม่ได้
ถ้าขาดเสียก็จักไม่ได้รับความสำเร็จ
คือจักไม่สามารถทำลายโมหะหรือความหลงดังกล่าวได้
และถ้าผู้ใดไม่พยายามเลยที่จะทำลายโมหะในใจตน
โมหะของผู้นั้นจะไม่มีเวลาบรรเทาเบาบางลงได้
แต่จะยิ่งเพิ่มพูนพอกหนาขึ้นทุกที เป็นเหตุก่อทุกข์โทษภัยแก่เจ้าตัวยิ่งขึ้นทุกที


:b48: ๔. ความเชื่อไม่อาจเปลี่ยนความจริง

โมหะ นั้นเองที่ทำให้คนคิดคนเชื่อว่า
การกระทำทุกอย่างทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป
ไม่มีผลเหลืออยู่เป็นความดี ความชั่วที่ยั่งยืนตลอดไปทุกภพทุกชาติ
ตราบเท่าที่ยังมีการเวียนว่ายตายเกิด
ความคิดความเชื่อแบบคนหลงหรือคนมีโมหะเช่นนี้เป็นโทษอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกับความคิดความเชื่อที่ว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว
ซึ่งเป็นความคิดความเชื่อของคนหลง ของคนมีโมหะเช่นกัน
ความคิดความเชื่อไม่สามารถทำให้สัจธรรมคือความจริงเปลี่ยนไปได้
สัจธรรมมีอยู่อย่างไรต้องเป็นอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนไปตามความคิดความเชื่อ
เช่นสัจธรรมมีอยู่ว่า การกระทำทุกอย่างมีผล ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว
แม้ผู้มีโมหะจะคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ดังกล่าวแล้วข้างต้น
คือการกระทำทุกอย่างทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป หรือทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว
สัจธรรมก็จะไม่เปลี่ยนแปลง จักเป็นความจริงแท้อยู่เสมอไป
ดังนั้น แม้ผู้ที่มีโมหะจะเห็นว่าทำดีไม่มีผลดี
ทำชั่วก็ไม่มีผลชั่วแล้วกระทำความชั่ว
สัจธรรมไม่เปลี่ยนแปลง คือผู้ทำชั่วจักต้องได้รับผลชั่ว


อันเป็นการตรงกันข้ามกับความคิด ความเชื่อ
ซึ่งเกิดด้วยอำนาจของโมหะหรือความหลง
คือไม่เห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
ด้วยเหตุนี้ ความคิดความเชื่อแบบคนไม่หลง
หรือไม่มีโมหะจึงเป็นคุณอย่างยิ่ง
ในทางตรงกันข้าม ความคิดความเชื่อแบบคนหลงหรือมีโมหะ
จึงเป็นโทษอย่างยิ่งเช่นกัน
การพยายามทำความคิดให้ไม่อยู่ในอำนาจของโมหะจนเกินไป
คือการพยายามคิดไม่ให้ผิดจากความจริงจนเกินไปนัก
จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตั้งใจพยายาม
การศึกษาพระพุทธศาสนาจะช่วยได้อย่างยิ่งในเรื่องนี้
เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงผู้แจ้งเห็นจริงตลอดแล้ว
ได้มีพระกรุณาสั่งสอนไว้ชัดเจนทั้งหมด
ว่าการกระทำเช่นใดเป็นการกระทำดี
การกระทำเช่นใดเป็นการกระทำชั่ว
และพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้แหละที่ทรงชี้บอกไว้ว่า
การกระทำทุกอย่างมีผล ไม่ใช่ไม่มีและการกระทำดีให้ผลดีไม่ใช่ให้ผลชั่ว
ส่วนการกระทำชั่วให้ผลชั่วไม่ใช่ให้ผลดี


ผู้มีจิตศรัทธาเชื่อความ ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
มีโอกาสจะทำความคิดของตน ให้พ้นจากอำนาจของความหลงหรือโมหะ
ได้ง่ายกว่าผู้ไม่มีศรัทธาเชื่อในความตรัสรู้ของพระองค์
เด็กที่ยังไม่รู้ว่าไฟร้อน
ถ้าเชื่อคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ไว้ก่อนจะไม่เป็นการเชื่ออย่างงมงาย
แต่จะเป็นการเชื่อที่ช่วยคุ้มครองรักษาเด็กเองมิให้ถูกไฟลวกไฟไหม้พองฉันใด
ผู้ที่ยังไม่เห็นถนัดชัดแจ้งด้วยตนเองในเรื่องกรรมและผลของกรรม
ถ้าเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ก่อน ก็จะไม่เป็นการเชื่ออย่างมงาย


แต่จะเป็นการเชื่อที่ช่วยคุ้มครองรักษาผู้เชื่อเองมิให้ได้รับผลร้ายจากการกระทำไม่ดี
แต่ให้ได้รับผลดีจากการทำดีฉันนั้น เด็กที่ไม่รู้จักไฟว่าร้อน
แต่เชื่อคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ วันหนึ่งเมื่อเติบโตรู้ภาษาขึ้น
หรือเรียกว่ามีปัญญาขึ้น ก็จะรู้จักด้วยตนเองว่าไฟร้อน
จะเป็นการรู้จักที่ไม่ต้องถูกไฟลวกไหม้ให้ทนทุกข์ทรมานเสียก่อน
ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ยังไม่เห็นถนัดชัดแจ้งด้วยตนเอง
ในเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่เชื่อพระพุทธองค์ทรงสั่งสอน


วันหนึ่งเมื่อปัญญาเจริญขึ้นด้วย การอบรม
ก็จะเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมด้วยตนเอง
จะเป็นความเข้าใจที่ไม่ต้องถูกผลไม่ดีของกรรมไม่ดี
ทำให้บอบช้ำแสนสาหัสเสียก่อน เช่นนี้แล้วควรพิจารณาว่า
เด็กที่ไม่รู้จักไฟว่าร้อน เชื่อผู้ใหญ่ไว้ก่อนดีหรือไม่
ผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องกรรม เชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ก่อนดีหรือไม่
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ให้ทำกรรมดี เพราะกรรมดีเท่านั้นจักให้ผลดี
อย่าทำกรรมไม่ดีเพราะกรรมไม่ดีจักให้ผลไม่ดี
ที่ทรงสอนไว้เช่นนี้ น่าจะเพราะทรงเห็นแล้วว่า


คนทั่วไปจะเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมให้ถูกต้องนั้นยากมาก
ความสลับซับซ้อนของกรรม และผลของกรรมมีอยู่มากมาย
จนอาจทำให้คนทั่วไปเห็นผิดได้ง่ายๆ ว่า
กรรมดีไม่ให้ผลดีเสมอไป และกรรมชั่วไม่ให้ผลชั่วเสมอไป
อาจทำให้เห็นผิดไปได้ง่ายๆ ว่า
บางทีกรรมดีก็ให้ผลไม่ดี และบางทีกรรมไม่ดีก็ให้ผลดี


ด้วยเหตุนี้จึงทรงชี้แจงแสดงไว้อย่างชัดแจ้ง
เพื่อบรรดาผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระองค์จะได้เห็นถูก
พ้นจากทุกข์โทษภัยของความเห็นผิดในเรื่องกรรมและผลของกรรม
ผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมที่ทรงตรัสรู้และทรงสั่งสอน
และในพระสงฆ์ที่สอนพระธรรมของพระพุทธเจ้า
ย่อมจักชื่อว่าการกระทำทุกอย่างมีผล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ความเชื่อนี้ย่อมจักทำให้พิจารณาก่อนกระทำการทุกอย่าง
เพื่อทำแต่ดี ไม่ทำชั่ว อันจะเป็นผลให้พ้นทุกข์โทษภัย จากการทำไม่ดี
และเป็นสุขสวัสดีจากการทำดีตลอดไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 16:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: ๕. ความหลงที่มีโทษยิ่ง

โมหะ หรือความหลงอันเป็นโทษอย่างยิ่ง
คือโมหะที่เป็นเหตุให้คิดผิดเห็นผิดไปว่า
ผลของการกระทำไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ความจริงทั้งหมดแล้วจะทรงสอนว่า
การกระทำทุกอย่างมีผล ผู้ใดทำดีจักได้รับผลดี ผู้ใดทำชั่วจักได้รับผลชั่ว
แต่โมหะหรือความหลงก็สามารถทำให้คิดผิดเห็นผิดเห็นผิดเป็นอย่างอื่นไปได้
ทำให้ไม่เชื่อพระพุทธองค์ได้
ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงมีดวงพระเนตรเป็นทิพย์แล้ว
ด้วยพระปัญญาคุณอันไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน
และทั้งๆ ที่ตนเองเป็นผู้มีดวงตามืดมัวด้วยปราศจากแสงแห่งปัญญา
อันผู้ขาดปัญญา ก็คือ ผู้มีโมหะความหลงผิด
ขาดปัญญาประกอบความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้
ก็ย่อมมีโมหะในการคิด ในการเห็น ในการเชื่อ ในการรู้
คือมีความคิดที่หลงผิดจากความจริง มีความเห็นที่หลงผิดจากความจริง
มีความเชื่อที่หลงผิดจากความจริง มีความรู้ที่หลงผิดจากความจริง
ผู้มีปัญญามากในเรื่องใดก็มีโมหะความหลงผิดน้อยในเรื่องนั้น


หรือ ผู้มีโมหะความหลงผิดน้อยในเรื่องใดก็มีปัญญามากในเรื่องนั้น
ผู้มีปัญญาบริบูรณ์ในเรื่องใดก็ไม่มีโมหะความหลงผิดเลยในเรื่องนั้น
หรือผู้ไม่มีโมหะความหลงผิดเลยในเรื่องใดก็มีปัญญาบริบูรณ์ในเรื่องนั้น
แต่สามัญชนที่จะไม่มีโมหะความหลงผิดเลย
มีปัญญาบริบูรณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นไม่มี
พระอริยบุคคลเท่านั้นที่มีปัญญาบริบูรณ์ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
โดยไม่มีโมหะความหลงผิดเลยในเรื่องนั้น
และพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลายเท่านั้น
ที่ทรงมีพระปัญญาและมีปัญญาบริบูรณ์ไม่ทรงมีและไม่มี
โมหะความหลงผิดเลยในเรื่องทั้งปวง


อย่างไรก็ตาม ไม่นับผู้ไม่มีปัญญาในทางโลกแท้ๆ
ว่าเป็นผู้มีโมหะความหลงผิด
เช่นไม่นับผู้ไม่มีปัญญาในการศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ว่า
เป็นผู้มีโมหะ หรือความหลง
หรือไม่นับผู้ไม่มีปัญญาในการหาเลี้ยงชีพให้สมบูรณ์พูนสุข
ว่าเป็นผู้มีโมหะหรือมีความหลงเช่นนี้เป็นต้น

แต่นับว่าเป็นผู้ไม่มีปัญญาในทางศึกษาเล่าเรียน
หรือเป็นผู้ไม่มีปัญญาในทางหาเลี้ยงชีพ
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความไม่มีปัญญาในทางโลกแท้ๆ
ไม่นับเป็นความมีโมหะหรือความหลง
จะนับว่ามีโมหะหรือความหลงก็ต่อเมื่อขาดปัญญาในความรู้
ความคิดความเห็น ความเชื่อที่จะทำให้ความทุกข์
ของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารลดน้อยลง หรือหมดสิ้นไปเท่านั้น
เช่นดังกล่าวแล้ว ผู้ไม่เชื่อว่าการกระทำทุกอย่างมีผล
ไม่เชื่อว่าทำดีจักได้รับผลดี ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว นับเป็นผู้มีโมหะ


ความหลงผิด เพราะขาดปัญญาที่จะทำให้รู้ให้คิดให้เห็น
หรือเพียงให้เชื่ออย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
ในเรื่องที่จะทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่ในวัฏสงสารลดน้อยลง
ทั้งยังเป็นการเพิ่มความทุกข์นั้นให้มากขึ้นอีกด้วย
เพราะการขาดปัญญาสำหรับขจัดโมหะความหลงผิดนี้แหละ
ผู้ที่เชื่อว่าผลของกรรมคือการที่กระทำมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
คือผู้ที่ไม่เชื่อว่าความสุขความทุกข์นานาประการที่เกิดขึ้นเป็นประจำในโลก
ทั้งแก่ตนเองแลทั้งแก่ผู้อื่น มิได้เป็นผลของกรรมคือการที่กระทำ
อย่างหนึ่งอย่างใดของตนเองและของผู้อื่น
แต่เชื่อว่าความสุขความทุกข์เหล่านั้นเป็นสิ่งเกิดขึ้นได้เอง
จะสุขก็สุขเพราะเหตุอื่น จะทุกข์ก็ทุกข์เพราะเหตุอื่น
ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำใดๆ ทั้งสิ้นของตน
ก็จะเชื่อด้วยว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควรพิจารณาก่อนแล้วจึงทำ
ความเชื่อนี้แหละเป็นความเชื่อของผู้มีโมหะความหลงผิด
ที่จะทำให้ความทุกข์ในวัฏสงสารของตนเองเพิ่มขึ้นมิได้ลดน้อยลง
เพราะแม้ว่าไม่พิจารณาก่อนทำเพื่อทำแต่กรรมดีไม่ทำกรรมชั่ว
ผลของกรรมที่ทำโดยไม่เลือกดีหรือเลือกชั่ว
ย่อมเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของตน แน่นอน
การกระทำไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูก ไม่ชอบ ทั้งหลายที่มีกระทำกันอยู่เป็นธรรมดานั้น
ผู้ทำล้วนเป็นผู้มีโมหะ ความหลงผิดด้วยกันทั้งนั้น
แตกต่างกันเพียงที่บางคนมีมาก บางคนมีน้อย
คนมีโมหะความหลงผิดมากก็ทำไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูก ไม่ชอบหนักมาก
คนมีโมหะความหลงผิดน้อยก็ทำหนักน้อย
เป็นไปตามอำนาจของความหลงผิดอย่างแท้จริง


แต่โมหะที่ทำให้หลงผิด ตั้งแต่คิดผิดเห็นผิดจนถึงทำผิดได้นั้น
ไม่อาจคุ้มครองใครให้พ้นจากทุกข์โทษภัยของการคิดผิดเห็นผิดทำผิดได้เลย
แม้แต่จะทำให้ผลอันเป็นทุกข์โทษภัยลดน้อยลง
โมหะก็ช่วยไม่ได้ โมหะได้แต่เพิ่มทุกข์โทษภัยให้มากมายขึ้นเท่านั้น


:b48: ๖. วิธีดูหน้าตาของความหลง

การจะดูหน้าตาโมหะในใจตนให้รู้จัก
จึงอาจดูได้ด้วยการดูทุกข์โทษภัยที่เกิดแก่ตน
แม้มีมากก็รู้ได้ว่าโมหะในใจตนมีมาก
จึงเป็นเหตุให้คิดผิดเห็นผิดจนถึงทำผิดมาก ได้รับผลเป็นทกุข์โทษภัยมาก
คิดผิดเห็นผิดทำผิดในทางใดมา ก็รู้ได้ว่ามีโมหะในทางนั้นมาก
เช่น คิดผิดเห็นผิดว่าบุญบาปไม่มีแล้วทำบาปมาก
ก็รู้ได้ว่ามีโมหะมากในเรื่องบุญบาป
โมหะหรือความหลงผิดไม่มีปัญญารู้จริงในตัวอย่างนี้แหละ
ที่จะทำให้ความทุกข์ ในวัฏสงสารเพิ่มมากขึ้น
มิใช่อย่างเดียวกับความไม่มีปัญญารู้ในเรื่องการศึกษาเล่าเรียน
หรือในการหาเลี้ยงชีพให้สมบูรณ์พูนสุขที่เป็นปัญญาในทางโลกแท้ๆ
ซึ่งไม่นับเป็นโมหะหรือความหลง


ดังนั้น เมื่อจะทำโมหะหรือความหลงที่มีอยู่ในสามัญชนทุกคน
ให้ลดน้อยลงจนถึงหมดสิ้นไป คือจนถึงเปลี่ยนสภาพจิตใจ
จากความเป็นปุถุชนให้เป็นอริยบุคคล
ต้องอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้นเป็นลำดับและต้องเป็นการอบรมปัญญาที่จะทำให้กิเลส
คือตัวโมหะลดน้อยลง นั่นก็คือ ต้องอบรมปัญญา
ที่จะทำให้ความทุกข์ในการต้องเวียนว่ายตายเกิดให้ลดน้อยลงเป็นลำดับ
จนถึงหมดสิ้นไป ได้มีความสุขอย่างยิ่งจนถึงได้มีบรมสุขคือถึงพระนิพพาน
อันเป็นผลสูงสุดของการทำดีได้ดี ในพระพุทธศาสนาที่ไม่มีในศาสนาอื่น


ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้โมหะหรือความหลงผิดลดน้อยลงได้
จึงต้องตั้งใจจริงพากเพียรอบรมปัญญาในทางพระพุทธศาสนาให้สม่ำเสมอ
อนึ่ง อันความง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม ฟุ้งซ่าน ลังเล เคลือบแคลงสงสัย
ก็เป็นโมหะ เพราะนิวรณ์หรืออาการดังกล่าวนั้นเป็นเหตุให้ความคิด
ความเห็น ความเชื่อ และความรู้ผิดไปจากความจริง
ผู้ที่ง่วง ที่ซึม ที่ฟุ้ง ที่ลังเล ที่สงสัย เป็นผู้ที่ปัญญาไม่อาจเกิดได้
และเมื่อปัญญาไม่เกิด โมหะก็เกิดนี้เป็นธรรมดา


นึกถึงตัวเองก็จะเห็นได้ไม่ยาก เวลาที่ง่วง หรือ ซึม หรือฟุ้ง
หรือลังเล หรือสงสัย ย่อมเป็นเวลาที่ไม่อาจใช้ปัญญาพิจารณาให้เกิดความคิด
ความเห็น ความเชื่อ หรือความรู้ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ตามสมควร
เวลานั้นเป็นเวลาที่มีโมหะมาก มีความหลงผิดมาก
ถ้าจะเปรียบความหลงเป็นความหลับ ความคิด
ความเห็นและความเชื่อความรู้ของผู้มีความหลงก็เปรียบเหมือนความฝัน คือไม่จริง
แต่ขณะฝันหรือขณะมีความหลงย่อมคิดว่าจริง
ย่อมยินดียินร้ายไปตามเหตุการณ์ที่ประสบ
ทุกคนจะรู้ว่าฝันต่อเมื่อตื่นแล้ว เมื่อยังหลับฝันอยู่จะคิดว่าเป็นความจริง


ผู้หลงอยู่ก็เหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็นผู้ฝันไปทั้งกำลังตื่นอยู่
เมื่อประสบโลกธรรม ธรรมสำหรับโลกอันเป็นอิฏฐารมณ์
อารมณ์ที่น่าปรารถนา เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ตื่นเต้นยินดี
เมื่อประสบอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
เช่น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ยินร้าย ฟุบแฟบ เสียใจ
เพราะรู้สึกว่าเป็นการได้การเสียจริงๆ
เมื่อได้ก็ดีใจ เสียก็เสียใจ นี้เป็นธรรมดาของสามัญชน


แต่เมื่อพูดถึงในกระแสธรรมก็เรียกว่าเป็น ความหลง
นอกจากนี้ยังมีความสำคัญผิด เชื่อผิดต่างๆ ในเรื่องทั้งหลาย
ซึ่งเป็นตัวความหลงอย่างชัดแจ้งอีกมาก
ทุกคนเมื่อพิจารณาดูเหตุการณ์ที่ตนเองประสบอยู่
ก็ย่อมรู้ว่าได้เคยมีความเห็น ความเข้าใจ และความเชื่อ
ผิดมาแล้วหลายสิ่งหลายอย่าง ขณะไม่รู้ก็ย่อมเห็นว่าจริง
ครั้นรู้แล้วจึงจะเปลี่ยนความเห็นได้ว่าไม่จริง
เป็นความสำคัญผิดเชื่อผิดของตัวเอง สรุปได้ว่า
โมหะความหลงผิด ถือเอาผิดนี้ คือถือเอาผิดจากสัจจะ ตัวความจริง
สัจจะคือตัวความจริงเป็นอย่างหนึ่ง ถือเอาเป็นอย่างหนึ่ง
เช่น สัจจะเป็นทุกข์ แต่ถือเอาเป็นสุข สัจจะเป็นเหตุเกิดทุกข์
ถือว่าไม่ใช่เหตุเกิดทุกข์ สัจจะเป็นความดับทุกข์
ถือว่าเป็นความไม่มีสุข สัจจะเป็นทางปฏิยัติให้ดับทุกข์ ถือว่าให้เกิดทุกข์


ฉะนั้น เมื่อมีโมหะถือเอาผิดจึงเหมือนหลับ แล้วฝันเห็นบ้างรางๆ แต่ไม่จริง
หลงยินดียินร้ายอยู่ คนสามัญเป็นดังนี้ และยากจะรู้สึกว่ากำลังหลับฝันอยู่
ก็เหมือนคนหลับฝันไม่รู้สึกตัว คิดเห็นในขณะฝันว่าเป็นจริง
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตื่นด้วยความรู้ในสัจจะทั้งหลายตามความจริง
ทรงเห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ทรงเห็นเหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ตามเป็นจริง
และทรงเห็นสัจจะทางปฏิบัติให้ดับทุกข์ จึงทรงรู้โลกธรรมตามจริง
จะเป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ก็ตาม ทรงรู้ว่าเป็นธรรม
คือเรื่องของโลก อยู่ในโลก จะเป็นปุถุชนหรืออริยบุคคล
ก็ต้องพบโลกธรรมซึ่งเป็นเรื่องโลก จะปรารถนาหรือไม่ก็ต้องพบ
และได้ทรงตรัสรู้ว่าโลกธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวนเป็นธรรมดา
มีได้ต้องมีเสีย เมื่อยึดเอาไว้ก็จะเป็นทุกข์
ไม่ต้องเป็นเรื่องภายนอกชีวิตนี้เอง
เมื่อมีเกิดก็ต้องแตกดับ เป็นโลกธรรมเหมือนกัน ไม่มีใครบังคับเอาไว้ได้
เมื่อทำความรู้ให้เข้าถึงความจริงดังนี้ ก็จะไม่ไปฝืนโลก ไม่ไปรั้งโลก
เหมือนรั้งดวงอาทิตย์ไม่ให้โคจร
โลกหมุนก็ให้หมุนไป โลกธรรมก็หมุนไปด้วย
มีเช้าแล้วก็มีสาย บ่าย เย็น จะให้เช้าอยู่เสมอไม่ได้
แม้จะเย็นค่ำไปแล้ว ก็จะกลับมาเช้าใหม่ ธรรมดาหมุนเวียนอยู่ดังนี้


ผู้มีความรู้ในคติ ธรรมดาของโลกธรรมตามสัจจะ ไม่ยึดถือในทางผิดธรรมดา
ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดา คือปล่อยวาง เรียกว่าเป็นผู้ตื่นด้วยความรู้
ปราศจากโมหะคือความหลง จักไม่มีความยินดียินร้าย ความฟูขึ้นฟุบลงอีกต่อไป


:b48: ๗. ความจริงคือที่มาของความสุข

พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จักตื่น จึงทรงได้พระนามว่า พุทโธ
และเพราะเหตุนี้จึงทรงเบิกบานแล้ว เพราะปราศจากทุกข์ทั้งปวง
ทรงรู้เต็มที่ ทรงมีคุณธรรมทั้งปวงเต็มที่ ไม่บกพร่อง
เพราะทรงมีความรู้ที่สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่มีสัจจะอะไรที่ไม่ทรงรู้
ทรงรู้บริบูรณ์ ทรงสิ้นทุกข์ สิ้นความเศร้าหมองด้วยประการทั้งปวง
จึงทรงเบิกบานเต็มที่ เหมือนดอกบัวเมื่อต้องแสงอาทิตย์
ปัญญาตรัสรู้ก็เทียบได้กับแสงอาทิตย์ เมื่อตรัสรู้ก็ทรงเบิกบานเต็มที่
ไม่บกพร่อง จึงได้พระนาม พุทโธ
เมื่อทรงแสดงธรรมก็เพื่อให้ผู้ฟังตื่นด้วยความรู้
คือรู้จนตื่นจากหลับคือความหลงใหลดังกล่าว


แต่ว่าโลกยังมีโมหะอยู่ มาก ดังที่มีพุทธภาษิตว่า
“โลกมืดมีความมืดคืออวิชชาโมหะหุ้มห่ออยู่”
และได้มีพระพุทธภาษิตเตือนว่า
“ไฉนจึงไม่แสวงหาดวงประทีป คือธรรมที่ส่องให้รู้สัจจะคือความจริง”
ธรรมของพระพุทธเจ้าแม้จะเป็นดวงประทีปที่จะส่องให้รู้สัจจะคือความจริงดังกล่าว
แต่ผู้ที่มีความมืดหุ้มห่อมาก เหมือนคนตาบอด
แม้จะมีแสงสว่างอยู่ก็ไม่เห็น สิ่งที่ทำให้เกิดความมืดเหมือนตาบอด
ก็ได้แก่โลกธรรมทั้งหลายเป็นต้น เมื่อลุ่มหลงเกินไป
แสงสว่างคือธรรมยากจะส่องเข้าถึงจิตใจ
ผู้ที่สนใจศึกษาให้รู้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้รู้สัจจะพอสมควร
ปฏิบัติตัวให้มีสติปัญญาในธรรมพอสมควร
ย่อมได้เปรียบเวลาประสบโลกธรรมทั้งหลาย จักพอมีแสงสว่างให้เห็นความจริง


โลกธรรม ทั้งปวงจะไม่ทำให้ตาบอด ซึ่งตาบอดแล้วแสงสว่างก็ไร้ประโยชน์
ต้องตาดี มีแสงสว่างลืมตามองก็เห็นสัจจะคือความจริง
เพราะฉะนั้น ผู้ยังมีตาดี เรียกว่ามีละอองในจักษุน้อย ก็ยังพอเป็นเวไนย
คือพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนอบรมได้
สามารถใช้ตาอาศัยธรรมเป็นแสงสว่างให้เห็นสัจจะคือความจริงได้
อันการจะปฏิบัติให้เกิดสติปัญญาในธรรมนั้น ในชั้นต้นท่านให้อาศัยสัญญา
คือการจำได้หมายรู้ เช่นจำไว้ให้ได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงสั่งสอนไว้ว่า
ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือทุกสิ่งไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่อยู่ใต้อำนาจการบังคับบัญชา
หรือความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น


เมื่อทุกสิ่งเป็นดังกล่าวจึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นให้เที่ยง
ให้ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของตน
เพราะแม้ไปยึดมั่นถือมั่นให้ผิดจากสัจจะเช่นนั้นแล้ว
เมื่อไม่เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นไปไม่ได้
ก็ย่อมจักผิดหวัง เสียใจ เกิดความทุกข์ ความยินร้าย
การที่จะให้แลเห็นอย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตนเองว่า
ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมเป็นการยากสำหรับคนทั่วไป
จึงเป็นการจำเป็นจะต้องอาศัยสัญญาการจำได้หมายรู้เป็นทางดำเนิน


เช่น ผู้ที่กลัวความแก่ ไม่ต้องการแก่
ต้องการเป็นหนุ่มสาวสวยสดงดงามอยู่เสมอตลอดไป
ก็จำเป็นจะต้องอาศัยสัญญาจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้
ว่าเมื่อเกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จะหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกคนถ้าไม่ตายเสียก่อนแก่ ก็หนีความแก่ไม่ได้ ต้องแก่ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อถึงวาระหนึ่ง ผู้ที่ไม่ต้องการแก่ ดิ้นรนจะรักษาความไม่แก่ไว้เสมอ
นับว่าเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นในทางที่ผิด
ต้องนึกถึงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ดังกล่าว
แล้วพยายามปลงใจเสียให้ได้ว่าทุกคนต้องแก่ เช่นเดียวกับที่ต้องตาย


ถ้าไม่อาศัยสัญญาคือความจำได้หมายรู้
จะมุ่งหน้าใช้แต่ปัญญาตนให้สามารถรู้แจ้งเห็นจริงในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็ย่อมจะตายเปล่า โดยไม่อาจรู้แจ้งเห็นจริงได้เลย
โดยไม่อาจทำโมหะความหลงผิดให้ลดน้อยถึงหมดสิ้นไปได้เลย
การอาศัยสัญญาจึงเป็นความสำคัญและจำเป็นไม่น้อย
สำหรับผู้ต้องการจะลดกิเลส ให้น้อยลงจนถึงหมดสิ้นไปอย่างสิ้นเชิง
พระพุทธองค์ตรัสรู้ไว้อย่างไร และทรงสั่งสอนไว้อย่างไร
ควรต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ จะได้เลือกหยิบยกไปเป็นสัญญา
ประกอบความเพียรพยายามพิจารณาเจริญปัญญา
เพื่อทำโมหะความหลงให้น้อยลง
ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ร้อนนานาประการ
อันการเกิดขึ้นแห่งปัญญาเห็นจริงด้วยตนเองในเรื่องใด
ก็คือการดับไปซึ่งโมหะ ความหลงผิดจากความจริงในเรื่องนั้น


ดังนั้นการอาศัยความจำได้หมาย
รู้ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าประกอบความเพียรพิจารณา
ให้เกิดปัญญาเห็นจริงด้วยตนเอง
จึงเป็นการปฏิบัติเพื่อทำโมหะความหลงผิดจากความจริงในเรื่องทั้งปวง
ให้ลดน้อยถึงหมดสิ้นไปได้ สามัญชนทั้งปวงมีความยึดมั่นถือมั่น
จะให้สิ่งทั้งหลายเที่ยง ให้ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ให้เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการของตน
แต่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการของผู้ใด


พระพุทธองค์ตรัสรู้ ทรงเห็นแจ้งในสัจธรรมนี้
และได้ทรงแสดงไว้ในพระธรรมคำสั่งสอน
อันเปรียบเหมือนดวงประทีบส่องโลกให้สว่าง
พ้นจากความืดคืออวิชชาหรือโมหะที่หุ้มห่ออยู่
ผู้ต้องการให้จิตพ้นจากความมืด มีความสว่าง
นั่นคือพ้นจากความทุกข์ ได้มีความสุข
ต้องจำสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ให้แม่นยำ
เมื่อโมหะความหลงผิดในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแสดงตัวขึ้นในจิตใจ
สัญญาความจำได้ในสัจธรรมที่ทรงสอนไว้
จะเป็นเครื่องช่วยยับยั้งความหลงผิดได้
มากหรือน้อยแล้วแต่กำลังของสติปัญญา


เช่นคนหนุ่มสาวที่หลงยินดีใน ความหนุ่มความสาว
ปรารถนาจะยืดยุดความหนุ่มสาวนั้นไว้ ให้เที่ยง ให้ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ให้เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของตน
พยายามทำทุกอย่างที่คิดว่าจะเกิดผลดังความหลงผิด
เป็นต้นว่าบำรุงรักษาด้วยประการต่างๆ
แต่การกระทำเช่นนั้นหาอาจทำให้สัจธรรมเปลี่ยนแปลงได้ไม่
ทุกสิ่งในโลกนี้ตกอยู่ใต้กฎของสัจธรรม คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวน เปลี่ยนแปลง
และไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการของผู้ใด
แม้จะบำรุงรักษาเพียงใด ก็ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
และต้องไม่เป็นไปตามความปรารถนาพอใจของผู้ใดทั้งสิ้น
นั่นก็คือเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ได้เสมอไป


จะต้องแก่เริ่มแต่แก่น้อยแล้วก็แก่มาก แก่เข้าทุกที
ผู้ที่มีสัญญาจำที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ได้ดังกล่าว
หากจะหลงยินดีขึ้นมา แม้สัญญาที่จำได้นั้นปรากฏขึ้นด้วย
ก็จะยับยั้ง ความหลงยินดีนั้นได้ ทำให้สติเกิดขึ้นได้
และปัญญาของตนเองเกิดขึ้นด้วยเมื่อใด
เมื่อนั้นก็จะทำให้ความหลงยินดีหมดสิ้นไป


:b48: ๘. การปฏิเสธความจริงคือที่มาของทุกข์

มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องเป็นทุกข์ เพราะพยายามต่อสู้ไม่ให้แก่
นับว่าเป็นการต้องเป็นทุกข์เปล่าจริงๆ เพราะถึงอย่างไรก็หนีความแก่ไม่พ้น
ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ทุกคนต้องแก่ เช่นนี้แล้วน่าจะพิจารณาดูว่า
ควรจะทุกข์เพราะกลัวแก่ หรือไม่ควร
การที่จะห้ามไม่ให้ตกแต่งบำรุงรักษาร่างกายของแต่ละคนนั้น
เป็นสิ่งห้ามกันได้ยาก ยากทั้งที่ผู้อื่นจะห้าม
และยากทั้งที่ตัวเองจะห้ามใจตัวเองด้วย


ดังนั้น ทางที่ดีก็น่าจะให้เป็นว่า ตกแต่งรักษากันไปพลาง
แต่ต้องมีสัญญา คือจำไว้ให้ได้ด้วยว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ใครหนีความแก่ได้
ทุกคนต้องแก่ เราเองก็ต้องแก่ เป็นหลักธรรมดา
เป็นสัจธรรม ฝืนไม่ได้ แก้ไขไม่ได้
การปล่อยใจให้เป็นทุกข์กลัวความแก่ อยากจะหลีกเลี่ยงความแก่
คือการยอมให้ใจตกอยู่ใต้อำนาจของโมหะความหลงผิดประการหนึ่ง
ผู้ต้องการยกระดับจิต ทำจิตให้เบาบางจากกิเลส
ต้องแก้ความหลงผิดประการนี้ให้ได้ด้วยเหมือนกัน
จึงจะสามารถมีความสุขได้


ไม่เช่นนั้นทุกครั้งที่ส่องกระจกเห็นตนเอง
เห็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงของตนเอง จะเกิดความทุกข์
จิตใจเศร้าหมอง เพราะอำนาจโมหะความหลงผิดที่ต้องการจะไม่แก่
จิตใจที่เศร้าหมองจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แก่ก็จะต้องแก่
และจะเป็นการแก่อย่างเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส
แต่ถ้าเลิกกลัวแก่เสียได้ ด้วยอาศัยสัญญาพิจารณาให้เห็นตามความจริง
ก็จะเป็นการแก่ที่ไม่เศร้าหมอง ที่ผ่องใส ใช้สติและใช้ปัญญา
โดยอาศัยสัญญา พิจารณาให้เห็นจริงตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า
ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตา
ไม่อยู่ใต้อำนาจการบังคับบัญชาหรือความปรารถนาต้องการของผู้ใด
สังขารร่างกายนี้ก็เช่นกัน เป็นอนิจจัง ทกุขัง อนัตตา


คนเป็นจำนวน มากพยายามต่อต้านความแปรปรวน
เปลี่ยนแปลงของสังขาร หรือพูดง่ายๆ ว่าพยายามต่อต้านความแก่
พยายามจะไม่ให้ตนแก่ นั่นก็เป็นเพราะมีโมหะความหลงผิด
คิดว่าคงจะมีวิธีใดวิธีหนึ่งที่ให้ผลสมปรารถนา คือทำไม่ให้แก่ได้
ซึ่งถ้าโมหะความหลงผิดนั้นสิ้นไปเมื่อไร ก็จะรู้ชัดว่าไม่มีวิธีหนึ่ง
วิธีใดที่จะยับยั้งความไม่เที่ยงของสังขารร่างกายได้เลย
ยังมีโมหะความหลงผิดอีกชั้นหนึ่งที่เป็นเหตุให้พยายามต่อต้านความแปรปรวน
เปลี่ยนแปลงของสังขารร่างกาย มิให้ผ่านจากหนุ่มสาวไปสู่ความเฒ่าชรา


นั้นคือ ความหลงผิดคิดว่าความสวยสดงดงามของความเป็นหนุ่มเป็นสาว
นั้นมีความสำคัญ เหนือความดี
ถ้าไม่มีความหลงผิดเช่นนี้แล้วก็จะต้องพยายามทำความดี
สร้างความดี อบรมจิตใจให้มีความดียิ่งกว่าที่จะพยายามบำรุง
รักษาร่างกายต่อต้านความแก่ชรา
การพยายามบำรุงรักษาร่างกายให้มีกำลังแข็งแรงเสมอเป็นการดี
แต่การพยายามบำรุงรักษาจิตใจให้เข้มแข็งสมบูรณ์ด้วยความดี
ยิ่งๆ ขึ้น เป็นการดียิ่งกว่า ผู้มีปัญญาเห็นถูกย่อมจะเห็นเช่นนี้
แต่ผู้มีโมหะความหลงผิดย่อมจะไม่เห็นเช่นนี้ ย่อมจะถูกโมหะ
ความหลงผิดนี้นำไปสู่ความหลงผิดอีกชั้นหนึ่งดังกล่าวแล้ว
คือความหลงผิดว่าจะสามารถต่อต้านความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ของสังขารร่างกายได้ และเมื่อทำไม่ได้สำเร็จก็จะเกิดความทุกข์
โมหะย่อมนำให้เกิดทุกข์ต่างๆ กันเช่นนี้


สามีภริยาที่อยู่กันจนแก่เฒ่านั้นมิใช่ว่าจะไม่แลเห็น
ความแก่เฒ่าของกันและกัน แต่ทั้งๆ ที่เห็นแต่ก็เหมือนไม่เห็น
เพราะมีสิ่งอื่นที่เห็นเด่นชัดกว่า มีความสำคัญเหนือกว่า
สิ่งนั้นคือความดีที่มีต่อกัน สามีภริยาที่แยกกันตั้งแต่ยังไม่แก่ไม่เฒ่า
มิใช่ว่านึกล่วงหน้าไปถึงความแก่เฒ่าไม่สวยไม่งามของแต่ละฝ่าย
ที่จริงก็ยังเห็นความสวยงามความหนุ่มสาวของกันและกันอยู่
แต่ทั้งๆ ที่เห็นแต่ก็เหมือนไม่เห็น เพราะมีสิ่งอื่นที่เด่นชัดกว่าสำคัญกว่า
นั่นคือการไม่เห็นความดีของกันและกัน


แม้พิจารณาความจริงนี้ให้ เห็นด้วยปัญญาย่อมไม่เดือดร้อนกลัวความแก่
ย่อมเห็นจริงว่าความดีสำคัญกว่าความสวยสดงดงามของหนุ่มสาว
ย่อมเบิกบานที่จะใช้ความคิดและสติปัญญาสรรค์สร้างความดีเต็มความสามารถ
ผู้ที่ทำความดีสม่ำเสมอจะมีความดีเป็นนิสัย เป็นพื้นใจ
ผู้มีปัญญาย่อมเห็นจริงเช่นนี้ แต่แม้จะยังไม่เกิดปัญญาเห็นจริงด้วยตนเอง
ยังมีโมหะความหลงผิดอยู่ ก็อาจทำปัญญาในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้
ด้วยวิธีที่กล่าวแล้ว คืออาศัยสัญญาเป็นทางดำเนิน
จำที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แล้วพิจารณาตามไปจนเกิดปัญญาของตนเอง
เห็นจริงตาม ว่าความดีทำให้เสมอจะยังใจให้เป็นใจที่ดี
และใจที่ดีนี้แหละเป็นใจที่มีค่าเหนือค่าของสิ่งอื่นใดทั้งหมด


อย่างไรก็ตาม มีโมหะความหลงผิดอีกอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้รู้จักความดีไม่ถูกต้องตามเป็นจริง ไปถือเอาความไม่ดีเป็นความดี
ถือเอาความดีเป็นความไม่ดี นี้ปรากฎมีอยู่เสมอ
เช่นถือเอาการที่สามารถสร้างตนให้มั่งมีขึ้นได้ด้วยวิธีไม่สุจริตว่าเป็น ความดี
และถือเอาการที่ต้องยากจนเพราะไม่ใช้วิธีทุจริตว่าเป็นความไม่ดี เป็นต้น
โมหะความหลงผิดเช่นนี้ ทำให้คนทำผิดโดยคิดว่าเป็นถูก
จึงทำได้ทำเอา ไม่ตะขิดตะขวง และไม่หยุดยั้ง
สำหรับผู้ทำเพื่อเงินก็ทำอย่างที่เรียกกันว่าไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ
ซึ่งก็เพราะอำนาจของโมหะเท่านั้นทำให้เป็นไป
คือ เมื่ออำนาจของโมหะทำให้เห็นว่าทำเช่นนั้นถูก ทำเช่นนั้นดี
แล้วทำไมเล่าจึงจะไม่ควรทำต่อไป ในเมื่อเป็นการทำถูกเป็นการทำดี


เมื่อใดสามารถทำลายโมหะความหลงผิดในเรื่องเห็นดีเป็นชั่ว
เห็นชั่วเป็นดีเสียได้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะทำความชั่ว
ความไม่ดีเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ จะรู้จักตะขิดตะขวง จะรู้จักยับยั้ง
ทั้งนี้ก็เพราะอำนาจของปัญญารู้ตามเป็นจริง ช่วยยับยั้งไว้
ก็ใครเล่าที่ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของโมหะความหลงผิดจะยินดีทำความชั่ว
จะไม่ยินดีทำความดี พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า
การกระทำทุกอย่างมีผล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ถ้าไม่มีโมหะความหลงผิดจะไม่มีใครทำชั่ว จะมีแต่คนทำดี


โมหะจึงเป็นเหตุแห่งการทำชั่วที่จะนำให้เกิดผลชั่ว
โมหะจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรพยายามทำให้ลดน้อยลง
จากจิตใจของตนเป็นลำดับๆ ไป ด้วยการอบรมปัญญาทางพระพุทธศาสนา
ให้เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับๆ เช่นเดียวกัน
ความสกปรกล้างได้ด้วยน้ำสะอาดฉันใด
โมหะความหลงผิด ก็ทำลายได้ด้วยปัญญาฉันนั้น


>>>>> จบค่ัะ <<<<<

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 16:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับคุณลูกโป่ง

:b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48:
:b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41:
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุ..นะจ๊ะ..น้องสาวที่รัก

:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2010, 16:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร