วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2010, 05:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


มหาสติปัฏฐานสูตร
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B ... 257&Z=6764

อรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10.0&i=273

อรรถกถาอิริยาบถบรรพ
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.p ... i=273&p=2#อิริยาบถบรรพ

จากหนังสือ อุบายดับทุกข์ โดย อ. ไชยวัฒน์
(ส่วนแรกของหนังสือ จะมีการรวบรวม มหาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ หมวดใหญ่อย่างย่อ ๆ ผมไม่ได้คัดลอกมาลงไว้ครับ)

พึงทราบว่า การที่ทรงวางอริยสัจ ๔ ไว้เป็นหมวดสุดท้าย ก็เพื่อแสดงว่าการปฏิบัติทุกหมวดจบลงที่การแทงตลอดอริยสัจนั่นเอง

เท่าที่กล่าวมาเกี่ยวกับเนื้อหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ทุกหมวดนี้ เป็นการกล่าวโดยย่อ เอาแต่ใจความมาแสดงให้เห็นพอเป็นหลักการเท่านั้น ผู้ต้องการความละเอียดทั้งหมด พึงค้นดูในมหาสติปัฏฐานสูตรพร้อมทั้งอรรถกถา เถิด.

อนึ่งพึงทราบว่า ผู้ประสงค์เจริญสติปัฏฐาน หาจำเป็นต้องเจริญทั้ง ๔ ไม่, เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เท่านั้นก็ใช้ได้ และไม่จำเป็นต้องเจริญครบทุกหมวด เพียงหมวดใดหมวดหนึ่ง เช่น หมวดกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออกเท่านั้น ก็ใช้ได้ เพราะว่าในตอนท้ายของแต่ละหมวดล้วนจบลงที่คำว่า “ อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ - เป็นผู้ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลกด้วย “ ดังนี้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นผู้หมดจดจากตัณหาและทิฏฐิ ทำ พูด และคิด และหมดอุปาทาน ความยึดมั่นในโลก คือ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เป็นเรา เป็นของเรา เป็นต้น คำนี้แสดงถึงผลสำเร็จชั้นสูงสุดแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้อง ในสติปัฏฐานแต่ละหมวดโดยไม่แปลกกันเพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เจริญเพียงหมวดใดหมวดหนึ่งหมวดเดียวเท่านั้นก็ใช้ได้

ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร ท่านจำแนกบุคคลผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานเป็น ๒ จำพวก คือ บุคคลตัณหาจริต ๑ บุคคลทิฏฐิจริต ๑ และแม้ใน ๒ จำพวกนี้แต่ละจำพวก ก็ยังจำแนกออกเป็น ๒ อีก คือ พวกที่มีปัญญาทึบ ๑ พวกที่มีปัญญากล้า ๑ แล้วกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
" มนฺทสฺส ตณฺหาจริตสฺส โอฬาริกํ กายานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ วิสุทฺธิมคฺโค, ติกฺขสฺส สุขุมํ เวทนานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ ฯลฯ ฯเปฯ ธมฺมานุปสฺสนาสติปฏฺฐานํ วิสุทฺธิมคฺโค " (สุมงฺคลวิลาสินี ๒/๔๖๘)
แปลว่า " กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นข้อที่หยาบ เป็นหนทางหมดจดสำหรับบุคคลตัณหาจริต ผู้มีปัญญาทึบ, เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นข้อที่ละเอียด เป็นทางหมดจด สำหรับบุคคลตัณหาจริตผู้มีปัญญากล้า, จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งไม่แตกประเภทเกินไปนัก เป็นทางหมดจด สำหรับบุคคลทิฏฐิจริตผู้มีปัญญาทึบ, ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งแตกประเภทยิ่ง เป็นทางหมดจด สำหรับบุคคลทิฏฐิจริตผู้มีปัญญากล้า " ดังนี้
คำพูดในอรรถกถาตอนนี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

ชื่อว่า บุคคลตัณหาจริต ได้แก่ ผู้มากด้วยตัณหา แม้ว่าเขาจะเป็นผู้มีทิฏฐิด้วย แต่ก็มีตัณหานั่นแหละ ออกหน้าเป็นประธาน กล่าวคือ เป็นผู้มีปกติประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยอำนาจความอยาก ยินดีพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย จึงจัดว่า เป็นผู้ไม่หมดจด คือไม่บริสุทธ์ เพราะตัณหาหากว่าใช้อารมณ์กรรมฐานที่ไม่เหมาะสมแก่จริต ปฏิบัติไป การปฏิบัติย่อมเป็นไปไม่สะดวก เพราะมีตัณหาเกลือกกลั้ว ไม่สามารถทำให้ก้าวหน้าไปจนบรรลุวิสุทธิมรรคคือพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้น จึงควรใช้อารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมแก่จริต คือเป็นปฏิปักษ์ต่อตัณหา ตัณหาจะได้ไม่กำเริบ ทำให้การปฏิบัติดำเนินไปโดยสะดวก สามารถทำให้ก้าวหน้าไปจนบรรลุวิสุทธิธรรมได้ ได้แก่ รูปกายที่จะแสดงความเป็นของไม่งาม น่าเกลียด เป็นปฏิกูลให้ปรากฏและเวทนาที่จะแสดงความเป็นทุกข์ให้ปรากฏด้วยว่า ความเป็นของไม่งาม น่าเกลียดเป็นปฏิกูล และความเป็นทุกข์ เป็นสภาพที่ตัณหาเบือนหนี ไม่อยากได้ ไม่เป็นที่อาศัยเกิดแห่งตัณหาโดยตรง เพราะตัณหามีปกติอยากได้ อาศัยเกิดในอารมณ์ที่อยู่ว่างามบ้าง ว่าเป็นสุขบ้าง เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเป็นการพิจารณารูปกายและเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเป็นการพิจารณาเวทนา ๒ ข้อนี้ จึงเหมาะสมแก่บุคคลตัณหาจริต

ก็แต่ว่า รูปกายเป็นของหยาบ เพราะเป็นรูปธรรม เวทนาเป็นของละเอียดกว่า เพราะเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น การพิจารณารูปกายเพื่อประโยชน์แก่การเห็นตามความเป็นจริง จึงกระทำได้ง่ายกว่าการพิจารณาเวทนา เมื่อเป็นเช่นนี้การพิจารณารูปกาย จึงเป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะสม สำหรับบุคคลผู้มีปัญญาทึบคือไม่แกล้วกล้านัก เพราะแม้ไม่ต้องใช้ปัญญาแกล้วกล้านัก ก็สามารถตามพิจารณาเห็นความจริงได้ ส่วนการพิจารณาเวทนาอันเป็นธรรมชาติที่ละเอียด เป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะสมแก่บุคคลที่มีปัญญากล้า เพราะต้องใช้ปัญญาที่แกล้วกล้าจริง ๆ จึงจะสามารถเห็นความจริงได้ เพราะเหตุนั้น สติปัฏฐาน ๒ อย่างข้างต้น แม้ล้วนเหมาะสมแก่บุคคลตัณหาจริตทั้งนั้นก็ตาม ถึงกระนั้น ก็ยังมีการจำแนกให้พิเศษด้วยปัญญาได้อีกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมแก่บุคคลตัณหาจริตปัญญาทึบ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมแก่บุคคลตัณหาจริตปัญญากล้า โดยเป็นทางคือเป็นอุบายหมดจดจากกิเลส หรือเป็นอุบายบรรลุวิสุทธิธรรมคือพระนิพพาน

ส่วน บุคคลทิฏฐิจริต ได้แก่ บุคคลผู้มากด้วยทิฏฐิคือความเห็น เป็นคนเจ้าความคิดความเห็น แม้ว่าเขาจะเป็นคนมีทั้งตัณหา ทั้งทิฏฐิ แต่ก็ชื่อว่ามีทิฏฐินั่นแหละ ออกหน้าเป็นประธานอยู่ กล่าวคือ มีปกติเกิดความเห็นว่า จะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ ในอารมณ์ทั้งหลายที่กำลังรับรู้อยู่ทางทวารต่าง ๆ มีความประพฤติทางกายเป็นต้น เป็นไปคล้อยตามทิฏฐิ จัดว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์เพราะทิฏฐิ ในเวลาปฏิบติ หากว่าได้อารมณ์กรรมฐานที่ไม่เหมาะสมแก่จริต การปฏิบัติย่อมดำเนินไปไม่สะดวก เพราะมีทิฏฐิเกลือกกลั้ว ไม่บริสุทธิ์เพราะทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องใช้อารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมแก่จริต คือสงบทิฏฐิได้ ไม่ทำทิฏฐิให้กำเริบขึ้น นั่นก็ได้แก่ จิตและธรรมทั้งหลายอันต่างด้วยขันธ์ ๕ เป็นต้น ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นส่วนมาก เมื่อถือเอาด้วยทิฏฐิว่า “ เที่ยง “ เขาย่อมถือเอาจิตนี้แหละ เป็นสำคัญ เมื่อจะถือเอาว่า “ อัตตา “ ก็ย่อมถือเอาธรรม อันมีประเถทเป็นขันธ์ ๕ เป็นสำคัญ แต่เมื่อต่อมาได้พิจารณาจิตและธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ความเป็นของไม่เที่ยงแห่งจิต ความเป็นอนัตตาแห่งธรรม มีขันธ์ ๕ เป็นต้น ย่อมปรากฏชัดเจนแก่เขา ก็ความรู้ว่าไม่เที่ยงก็ดี ว่าเป็นอนัตตาก็ดี ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิที่มีปกติเห็นว่าเที่ยง ว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการพิจารณาจิตและธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันมีประเภทเป็นขันธ์ ๕ เป็นต้น จึงเหมาะสมแก่บุคคลทิฏฐิจริต
ก็แต่ว่า จิตที่พึงพิจารณา มีเพียง ๑๖ ประเภท มีจิตมีราคะเป็นต้น ไม่มากมายจนเกินไปนัก ย่อมไม่เหลือความสามารถของคนผู้มีปัญญาไม่แกล้วกล้านัก จะพึงพิจารณาได้ ส่วนธรรมอันมีประเภทเป็นขันธ์ ๕ เป็นต้น มีการแตกประเภทไปได้มากมาย กล่าวคือ ขันธ์ทั้งหลาย แม้มีเพียง ๕ เท่านั้น ก็ตาม แต่ผู้ปฏิบัติจะได้ชื่อว่า พิจารณาขันธ์ ก็ต่อเมื่อได้ใส่ใจลักษณะที่เป็นขันธ์ ๑๑ อย่าง มีความเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน หยาบ ละเอียด เป็นต้น แห่งขันธ์แต่ละขันธ์ด้วย เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ จึงมีการแตกประเภทไปได้มากมายอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น การพิจารณาธรรมเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้ปัญญาที่แกล้วกล้าสามารถมาก จึงจะเห็นความจริงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมกล่าวได้ว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมแก่คนทิฏฐิจริต ปัญญาทึบ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมแก่คนทิฏฐิจริตปัญญากล้า โดยเกี่ยวกับเป็นหนทาง คืออุบายหมดจดจากกิเลส หรือเป็นอุบายบรรลุวิสุทธิธรรม คือพระนิพพาน
ก็แต่ว่า ในยุคปัจจุบันนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุซึ่งเป็นพวกรูปธรรม เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้งและแพร่หลายยิ่ง สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาในยุคนี้ ส่วนมากจะสนองประโยชน์ต่อกามสุข เป็นเครื่องมอมเมาจิตใจทำตัณหาให้เจริญ ข้อนี้ น่าจะเป็นเครื่องหมายแสดงว่า ผู้คนในยุคนี้ส่วนมากเป็นคนตัณหาจริต มากด้วยอยาก สิ่งเหล่านี้จึงถูกผลิตสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างแพร่หลายเพื่อสนองความอยากของคนเหล่านั้น โรงมหรสพ สถานเริงรมย์ทุกประเภท ภัตตาคาร ศูนย์การค้า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือสร้างความสุขต่าง ๆ เกิดมีมากมายดาษดื่น ก็ในปัจจุบันนี้แหละ

อนึ่ง พระศาสนามีอายุล่วงเลยมานานถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี นับว่าเป็นเวลานานอยู่ ระยะเวลาอันยาวนานอย่างนี้ น่าจะเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนอันลึกซึ้งน่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับกลายเป็นว่าพระพุทธศาสนานี้กำลังมลายหายสูญไปจากดินแดนที่เคยแพร่หลายแต่ในอดีตทีละแห่ง เริ่มตั้งแต่ประเทศอันเป็นที่อุบัติคืออินเดียเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะเผยแผ่เข้าไปในประเทศใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีผู้คนยอมรับนับถือกันมาก่อนก็ตาม ความพยายามก็สำเร็จผลเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ ผู้คนที่ยอมละจากศาสนาที่นับถืออยู่เดิมของตน หันมานับถือพระพุทธศาสนานั้น มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เทียบไม่ได้กับที่เสื่อมสูญไปแล้ว และที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามลำดับ ทั้งบรรดาผู้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกันนี้ ผู้ที่รู้ทั่วถึงคำสอนที่ลึกซึ้งจริง ๆ ก็หาพบยากเข้าทุกที ความเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นเครื่องแสดงว่าผู้เกิดในยุคนี้และยุคต่อ ๆ ไป เป็นผู้มีปัญญาเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถรองรับคำสอนที่ลึกซึ้งอุดมด้วยเหตุและผลได้ พระศาสนาจึงค่อย ๆ เสื่อมสูญไปตามลำดับ เพราะขาดแคลนผู้สืบต่อ เพราะฉะนั้น อาศัยเหตุผล ๒ ประการดังกล่าวมานี้ ก็พอจะอนุมานได้ว่า ผู้คนสมัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนตัณหาจริตปัญญาทึบ เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ผู้เกิดในยุคสมัยนี้ หากมีศรัทธาใคร่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ควรคำนึงถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นสำคัญ

อีกอย่างหนึ่ง แม้จะไม่มีการวินิจฉัยด้านจริตและปัญญาด้วยเหตุด้วยผลดังกล่าวมานี้ก็ตาม แต่เนื่องจากในยุคสมัยนี้ ขาดแคลนกัลยาณมิตร หรืออาจารย์ผู้ทรงญาณปัญญา ที่สามารถสอบสวนสภาพจิตใจของผู้อื่นอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้จะบอกได้ว่า ผู้นั้นผู้นี้ควรเจริญสติปัฏฐานข้อใด หมวดไหน จึงจะเหมาะสมต่อสภาพจิตใจของเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ควรเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นแหละ เพราะเทียบสติปัฏฐานข้ออื่นแล้ว จะเป็นข้อที่เจริญได้ง่ายกว่า เพราะข้อนี้มีการพิจารณารูปธรรมเป็นหลัก ก็การพิจารณารูปธรรมซึ่งเป็นของหยาบ ทำได้ง่ายกว่าการพิจารณานามธรรม มีเวทนาเป็นต้น ซึ่งเป็นของละเอียด

ก็ในบรรดากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ หมวดนั้น สำหรับหมวดแรกซึ่งเป็นการกำหนดลมหายใจเข้าและออกนั้น เป็นกรรมฐานที่พิเศษกว่ากรรมฐานอื่น แม้ท่านกล่าวว่า เจริญได้ง่าย เหมาะแก่คนปัญญาน้อยก็ตาม ก็พึงทราบว่า ที่นับได้ว่าเจริญได้ง่ายก็เกี่ยวกับสักแต่มุ่งจะทำจิตให้สงบไปอย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือจิตที่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย กระสับกระส่าย จะสงบได้รวดเร็ว เมื่อเพียงแต่กำหนดลมหายใจไปสักระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าจะต้องการให้จิตที่สงบไปพอประมาณนั้น สงบยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ตามลำดับ จนบรรลุฌาน โดยเฉพาะได้ฌานแล้ว ใช้ฌานนั้นเป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนาต่อไปนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้แสนยากอย่างยิ่ง ผู้มีปัญญาสามารถจริง ๆ เท่านั้น จึงจะกระทำได้ เหตุผลในเรื่องนี้ ได้กล่าวไว้แล้วในหนังสือเรื่องหยั่งลงสู่พระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการเจริญสติปัฏฐานเพื่อความพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ไม่ใช่สักแต่ว่าทำจิตให้สงบ น่าจะคำนึงถึงหมวดอื่น ๆ ก่อนหมวดกำหนดลมหายใจนี้

แม้ใน ๑๓ หมวดที่เหลือ ตกมาถึงยุคสมัยนี้ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธศาสนากำลังเสื่อมไปตามลำดับ ก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายเสียทีเดียว กล่าวคือ สัมปชัญญบรรพซึ่งเป็นหมวดพิจารณาอิริยาบถย่อยนั้น ยังทำได้ยากสำหรับผู้ที่ยังไม่ชำนาญในการพิจารณาอิริยาบถ ๔ ใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นของหยาบกว่า มาก่อน การใส่ใจความเป็นปฏิกูลในอาการ ๓๒ เล่า ก็เป็นของทำได้ยากในยุคสมัยนี้ที่นิยมวัตถุ ดื่มด่ำในความสวยความงาม เพราะเหตุนั้น เมื่อจะทำใจให้น้อมไปว่าเป็นของปฏิกูล ไม่งามอยู่เนือง ๆ ย่อมเป็นภาระหนัก ส่วนการพิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ ๔ มีธาตุดินเป็นต้น โอกาสที่จะกลายเป็นเพียงความนึกคิดเอาอย่างฉาบฉวย ไม่ได้สัมผัสตัวสภาวะที่เป็นธาตุดินเป็นต้น ด้วยปัญญาจริง ๆ ก็มีได้มาก สำหรับการพิจารณษซากศพ ๙ อย่าง ก็เป็นหมวดที่แทบจะหาโอกาสบำเพ็ญไม่ได้เอาทีเดียว เกี่ยวกับหาซากศพที่จะใช้เจริญกรรมฐานยากหนักหนา เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น ระเบียบกฏเกณฑ์ของบ้านเมืองไม่ยอมให้มีการทิ้งซากศพให้เน่าเปื่อยอยู่ตามที่ต่าง ๆ อย่างเปิดเผย แม้แต่ในป่าช้า ด้วยเหตุว่า เป็นที่อุจาดนัยน์ตาของผู้พบเห็น เป็นที่แพร่เชื้อโรค และเป็นเรื่องล้าหลัง ส่วนหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน หมวดเดียวที่เหลืออยู่นี้เท่านั้นที่เป็นกรรมฐาน อันเป็นอารมณ์ของการพิจารณาที่หาได้ง่าย เพราะอิริยาบถ ๔ นี้ มีติดตัวอยู่ตลอดเวลา คนเราต้องการทรงกายอยู่ใดอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งแน่นอน ไม่มีว่างเว้นจากอิริยาบถ อนึ่ง ในเวลาที่ทรงกายอยู่ในอิริยาบถใดก็ตามก็ย่อมรู้แน่อยู่แก่ใจที่เดียวว่า เวลานี้กำลังทรงกายอยู่ในอิริยาบถนั้น คือ รู้ดีว่าเวลานี้กำลังเดินอยู่ หรือยืนอยู่ หรือนั่งอยู่ หรือนอนอยู่ เพราะอาการอย่างนั้นอย่างนั้น แสดงให้ทราบ จึงจัดได้ว่าเป็นของปรากฏชัด เมื่อเป็นเช่นนี้ การกำหนดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จึงน่าจะกระทำได้ง่ายกว่าหมวดอื่น ๆ เพราะเหตุนั้นนั่นแหละผู้ใคร่เจริญสติปัฏฐานได้โดยสะดวก พึงคำนึงถึงการพิจารณาอิริยาบถ ๔ นี้ ก่อนเถิด และในที่นี้ก็ใคร่ขอแสดงวิธีเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถนี้เป็นนิทัสสนะ

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔

เนื้อหาสาระที่พระพุทธองค์รับสั่งในหมวดพิจารณารูปอิริยาบถ นั้น มีว่า :
“ – ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ -- ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอีกวิธีหนึ่งยังมีอยู่ คือ ภิกษุ เดินอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ เดินอยู่ “
-- ฐิโต วา ฐิโตมฺหีติ ปชานาติ -- ยืนอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ ยืนอยู่ “
-- นิสินฺโน วา นิสินฺโนมฺหีติ ปชานาติ -- นั่งอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ นั่งอยู่ “
-- สยาโน วา สยาโนมฺหีติ ปชานาติ -- นอนอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ นอนอยู่ “
-- ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต โหติ ตถา ตถา นํ ปชานาติ .
-- ก็หรือว่า กายของเธอตั้งอยู่โดยอาการใด อาการใด ย่อมรู้ชัดซึ่งกายนั้น โดยอาการนั้น อาการนั้น
-- อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯเปฯ เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุกาเย กายานุปสฺสี วิหรติ. -- ตามประการที่กล่าวมาแล้วนี้ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายกายภายในอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในกายอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความดับไปเป็นธรรมดาในกายอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นทั้งความเกิดขึ้นทั้งความดับไปเป็นธรรมดาในกายอยู่บ้าง ก็หรือว่า สติย่อมเป็นอันปรากฏแก่เธอว่า “ กาย มีอยู่ “ เพียงเพื่อประโยชน์แก่ญาณ ความรู้ที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพียงเพื่อความระลึกได้เฉพาะเท่านั้น เธอย่อมเป็นผู้ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ย่อมไม่ยึดถือมั่นอะไร ๆ ในโลกด้วย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ชื่อว่า เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ แม้ตามประการที่กล่าวมาแล้วนี้ “ ดังนี้

จบเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการพิจารณารูปอิริยาบถเพียงเท่านี้

เนื้อความตามพระบาลีที่ยกมานี้ มีคำอธิบายอย่างย่อ ๆ ดังต่อไปนี้
คำว่า คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ แปลว่า " เดินอยู่ ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่าเดินอยู่ " ดังนี้ ก่อนอื่น พึงทราบว่า คำว่า " ปชานติ " ที่แปลไปก่อนว่า " รู้ชัด " ในที่นี้ มีความหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอยู่ จำต้องอธิบาย หากไม่อธิบายศัพท์นี้ก่อน ก็ย่อมมองไม่เห็นว่า การสอนให้พิจารณาอิริยาบถนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างไร เพราะใคร ๆ ในเวลาที่เดิน ก็ย่อมรู้ชัด คือรู้แน่แก่ใจว่าตนเดินอยู่ ในเวลาที่ยืน ในเวลาที่นั่ง หรือในเวลาที่นอน ก็ย่อมรู้ชัดว่า ยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ คนวิกลจริตเสียสติเท่านั้น ที่ในเวลาเดิน ก็ไม่รู้ว่าเดินอยู่ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มีสุนัขเป็นต้น มันทรงกายอยู่ในอิริยาบถคือท่าทางนั้น ๆ ความรู้อย่างนี้ มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายตามปกติ ไม่ใช่ความรู้ที่ต้องอบรมทำให้เกิดขึ้น แต่ความรู้ของผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานหมวดนี้ เป็รความรู้ที่ต้องอบรมทำให้เกิดขึ้น เป็นไปเพื่อถอนความเข้าไปถือเอาว่าเป็นสัตว์ ที่เรียกว่า สัตตูปลัทธิ เป็นไปเพื่อทำกิเลสให้สิ้นไป เป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์ทั้งปวงในที่สุด เพราะฉะนั้น จึงกล่าวคำว่า " ปชานาติ " นี้ มีความหมายพิเศษ จำต้องมีคำอธิบาย

คำว่า " ปชานาติ " เป็นคำกิริยา ที่แปลว่า " รู้ชัด " เป็นการแปลไปก่อนเพื่อป้ปงกันคำพูดเยิ่นเย้อ หรือฟังไม่รื่นหูเท่านั้น ความจริงท่านให้ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ " ปกาเรหิ ชานาติ ปชานาติ " แปลว่า " รู้โดยประการทั้งหลาย ชื่อว่า ปชานาติ " หมายความว่าในสิ่งที่ควรรู้นั้น มีประการอะไร ๆ ที่ควรรู้สักกี่ประการก็ตาม ก็ย่อมรู้สิ่งนั้น โดยประการทั้งหมดนั้น

ในเวลาที่เดินอยู่ ประการที่ควรรู้ในอิริยาบถเดิน มี ๓ ประการคือ
๑. โก คจฺฉติ - ใครเดิน, นี้ก็เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้
๒. กสฺส คมนํ -- การเดินเป็นของใคร, นี้ก็เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้
๓. กึ การณา คจฺฉติ -- เพราะเหตุไรจึงเดิน, นี้ก็เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้

ประการแรก โก คจฺฉติ -- ใครเดิน, มีอรรถาธิบายว่า อาการเดิน ท่าทางที่เดิน เป็นเพียงอาการของรูปธรรมเท่านั้น รูปนั่นแหละเดิน หามีสัตว์ บุคคล หญิง ชาย ในอาการเดินนั้นไม่ การพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ เป็นไปเพื่อการถอนทิฏฐิ คือความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลผู้เดิน
ประการที่ ๒ กสฺส คมนํ -- การเดินเป็นของใคร มีอรรถาธิบายว่า การเดิน คือ อาการที่เดิน ท่าทางที่เดิน ไม่ใช่ของสัตว์ ไม่ใช่ของบุคคล ไม่ใช่ของหญิง ไม่ใช่ของชาย ตลอดจนไม่ใช่ของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ของพระโยคี ไม่ใช่ของพระกรรมฐาน เพราะว่าอย่าว่าแต่สัตว์ บุคคล หญิง ชายเลย แม้แต่ผู้ปฏิบัติหรือพระโยคีหรือพระกรรมฐานตามที่ใช้เป็นชื่อของผู้ปฏิบัตินั้น ก็หามีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ไม่ เป็นเพียงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจความ หรือใช้สื่อความหมายในเวลาที่พูดเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การเดินนี้จะเป็นของใครที่ไหนได้ ก็เป็นของรูปนั่นแหละ เพราะเป็นอาการของรูป ประการที่ ๒ นี้ หากมองเพียงผิวเผินแล้ว จะไม่เห็นความแตกต่างกับประการแรก เพราะว่าความรู้ว่า รูปเดิน ไม่ใช่คนสัตว์เดิน กับความรู้ว่าการเดินเป็นของรูป น่าจะเป็นความรู้อันเดียวกัน แต่ทว่าความจริงยังมีข้อที่แตกต่างกันอยู่ กล่าวคือ ความรู้ในประการแรกนั้น เป็นเพียงปฏิเสธความมีอยู่แห่งสัตว์บุคคลผู้เดิน อันไม่มีอยู่จริง สิ่งที่มีอยู่จริง ที่สร้างความเข้าใจผิดว่ามีผู้เดินในเวลานั้น ก็คือรูปเดินเท่านั้น ความรู้อย่างนี้กล่าวได้ว่า เป็นความรู้ที่ถ่ายถอนทิฏฐิคือความเห็นผิดตรง ๆ ส่วนความรู้ในประการที่ ๒ เป็นการปฏิเสธแม้ความเป็นบุคคลพิเศษ คือ เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นพระโยคี เป็นพระกรรมฐาน อันพิเศษกว่าคนธรรมดา ก็ความรู้สึกว่า ตนเป็นคนพิเศษกว่าคนอื่น คือเป็นผู้ปฏิบัติเป็นต้นนี้ เป็นความเห็นผิด ที่ท่านเรียกว่า มานวินิพันธาทิฏฐิ แปลว่า ทิฏฐิเกี่ยวกับมานะ กล่าวคือ นอกจากจะเห็นผิดด้วยทิฏฐิว่า เป็นสัตว์เป็นบุคคลดังกล่าวแล้ว ยังสำคัญว่าสัตว์บุคคลนั้นเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นพระโยคี เป็นพระกรรมฐาน ด้วยมานะความถือตัว ความนับถือตัว เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย และเมื่อสำคัญว่ามีผู้ปฏิบัติ มีผู้กรรมฐานอันเป็นบุคคลพิเศษอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมยังความประพฤติเป็นไปของตน ให้เป็นของพิเศษ อันเป็นของเฉพาะตน ซึ่งเป็นคนพิเศษเท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่ผู้คนตามปกติอื่น ๆ นั่นก็คือ แต่งท่าทางการเดินของตนให้แปลกไปจากท่าทางการเดินของผู้ไม่ปฏิบัติ กล่าวคือ ค่อยๆ ยก ค่อยๆ ย่าง ค่อยๆ ก้าว จะยกเท้าก้าวอย่างช้า ๆ เป็นจังหวะ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเมื่อทำอิริยาบถให้ผิดปกติไปอย่างนี้ ก็ย่อมเล็งเห็นอิริยาบถที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษนี้ ว่าเป็นสาระ เป็นของดี เป็นของมีประโยชน์ อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่จะทำปัญญาให้เกิดขึ้นมาเห็นความจริงในรูปอิริยาบถว่า รูปเดินเป็นต้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันเป็นการเห็นว่า ไม่เป็นสาระนั่นเอง ย่อมมีได้ยาก เหตุเพราะเข้าไปตั้งความเป็นสาระไว้เสียก่อนแล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้นต้องปฏิบัติโดยประการที่ป้องกันมานะด้วย คือต้องมีการสำเหนียกอยู่เสมอว่า การเดินเป็นของรูปเท่านั้น ไม่ใช่ของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ของพระโยคี ไม่ใช่ของผู้กรรมฐาน นี้เป็นข้อที่แปลกไปจากประการแรก แห่งประการที่ ๒

ประการที่ ๓ กึ การณา คจฺฉติ -- เพราะเหตุไรจึงเดิน, คือ การเดิน อาการเดิน ท่าทางที่เรียกว่าเดิน เกิดขึ้นได้เพราะเหตุไร ก็พึงตอบได้ว่าการเดิน อาการเดิน ท่าทางที่เรียกว่าการเดิน เกิดขึ้นได้เพราะเหตุ เพราะปัจจัย ไม่ใช่ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ก็เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเดินนั้น ได้แก่ วาโยธาตุ คือธาตุลมอันเกิดจากจิตที่ประสงค์จะเดิน กล่าวคือ เมื่อจิตคือความคิดว่าจะเดินเกิดขึ้น จิตนั้นย่อมยังวาโยธาตุให้ตั้งขึ้นบริเวณอวัยวะที่จะเคลื่อนไหว โดยเฉพาะขาทั้งสอง วาโยธาตุนั้นย่อมผลักดันให้อวัยวะเคลื่อนไหวไปตามความประสงค์ของจิต อาการก้าวไปจึงเกิดขึ้น เรียกว่า เกิดการเดิน เพราะฉะนั้น วาโยธาตุที่เกิดจากจิตที่มีความประสงค์จะเดิน พร้อมทั้งจิตนั้นนั่นแหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการเดิน เพราะเหตุนี้แหละ จึงเกิดการเดิน

ก็แต่ว่า ความรู้ตามประการที่กล่าวมานี้ กล่าวหมายเอาความรู้ปัจจัยที่ทำให้รูปอิริยาบถนั้นๆ เกิดขึ้น อันเป็นผลจากการปฏิบัติที่ถูกต้องมาก่อนหน้านี้ มิได้หมายเอาความรู้ที่สักแต่ว่านึกคิดเอาให้คล้อยตามปริยัติที่เรียนมา หรือที่ฟังมาจากครูอาจารย์เท่านั้น อันยังมิได้สัมผัสสภาวะของจริง ก็ความรู้ถึงปัจจัยดังกล่าวนี้ ย่อมเกิดเองแก่ผู้ปฏิบัติ ผู้มีปัญญารอบรู้ว่ามีแต่นามรูปเท่านั้น สัตว์บุคคลไม่มี เพราะมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องมาก่อนเท่านั้น หมายความว่าเมื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ญาณความรู้ที่เกิดขึ้นทีแรก เป็นญาณความรู้ว่า มีแต่นามรูปเท่านั้น สัตว์บุคคลไม่มี และเมื่อเห็นอย่างนั้นแหละ ซ้ำๆ ซากๆ ปัญญา ก็จะแกล้วกล้าไปตามลำดับ จนสามารถหยั่งรู้ถึงปัจจัยของนามรูปนั้นๆ ได้ว่านามรูปนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้นๆ ไม่ไช่ไม่มีปัจจัยหรือมีผู้บันดาล แม้รูปอิริยาบถนี้ก็มีปัจจัย กล่าวคือรูปอิริยาบถเดิน มีจิตและวาโยธาตุที่เกิดจากจิตนั้นเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล ผู้เริ่มปฏิบัติซึ่งยังไม่บรรลุผลขั้นนี้ ไม่ควรใส่ใจปัจจัยคือจิตและวาโยธาตุ ตามประการที่กล่าวมานี้ก่อน เพราะจะกลายเป็นเพียงความนึกคิดใคร่ครวญเอาตามที่เรียนมาที่ฟังมาเท่านั้น ไม่ได้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาของตน มิได้ทำให้กิเลสสะดุ้งสะเทือนแต่ประการใด แต่ควนใส่ใจปัจจัยอย่างอื่น ที่เป็นอุปนิสัยทำให้เกิดการเดินอย่างสำคัญ อันนอกเหนือไปจากจิตและวาโยธาตุดังกล่าวแล้วนั้น นั่นคือ ทุกขเวทนา อันได้แก่ความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นในอิริยาบถก่อนหน้าที่จะเดิน มีอิริยาบถนั่ง เป็นต้น นั่นเอง เพราะว่า เมื่อทรงกายอยู่ในอิริยาบถใดนานๆ ความปวดเมื่อยก็ย่อมเกิดขึ้น เมื่อความปวดเมื่อยเกิดขึ้น คนเราย่อมคิดจะเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อบำบัดทุกข์คือความปวดเมื่อยนั้น อิริยาบถเดิน เป็นต้น จึงเกิดขึ้นได้โดยประการอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าทุกข์บังคับ เพราะทุกข์บีบคั้นจึงเดินเพื่อแก้ คือเพื่อบรรเทาทุกข์นั้น ก็ทุกข์คือความปวดเมื่อยนี้เป็นของหยาบ บุคคลย่อมใส่ใจหรือพิจารณาได้โดยไม่ยาก ผู้ปฏิบัติพึงใส่ใจทุกข์นี้ทุกครั้งที่จะเปลี่ยนอิริยาบถ จึงจะเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาที่เดียวว่า เพราะทุกข์บีบคั้น เพราะทุกข์บังคับ จึงเกิดการเดิน ฉะนี้แล
ในเวลาที่เดินอยู่ ประการที่ควรรู้ในการเดินมี ๓ ประการ และมีอรรถาธิบายดังกล่าวมานี้
แม้ในอิริยาบถที่เหลือ มีอิริยาบถยืน เป็นต้น แต่ละอิริยาบถ ก็พึงทราบโดย ๓ ประการ มีว่า โก ติฏฺฐติ -- ใครยืน เป็นต้น ตามนัยที่กล่าวมาแล้วนี้ ที่กล่าวมานี้ เป็นความรู้ในอิริยาบถของผู้ปฏิบัติ ในเวลาที่เดินอยู่ ใครเดิน ก็ไม่รู้, การเดินเป็นของใคร ก็ไม่รู้ เพราะเหตุไรจึงเดิน ก็ไม่รู้, แม้ในอิริยาบถที่เหลือ ก็ไม่รู้ อย่างนี้เหมือนกัน

ส่วนคำว่า ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต ตถา ตถา นํ ปชานาติ ที่แปลว่า “ ก็หรือว่า กายของเธอ ตั้งอยู่โดยอาการใด อาการใด ก็ย่อมรู้ชัดซึ่งกายนั้น โดยอาการนั้น โดยอาการนั้น “ นี้ เป็นคำพูดรวมอิริยาบถทั้งปวง มีความหมายว่า จะตั้งกายอยู่โดยอิริยาบถใดใดก็ตาม ก็ย่อมรู้กายคือรูปกายนั้น ตามอิริยาบถนั้น ๆ โดยประการทั้งหลาย ตามที่กล่าวมาแล้ว นั่นเทียว

ส่วนคำว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ที่แปลว่า “ ตามประการที่กล่าวมานี้ ภิกษุ ชื่อว่า ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่บ้าง “ นี้ มีความหมายว่า ตามประการที่กล่าวมานี้ คือ ตามที่ปฏิบัติโดยวิธีที่กล่าวมานี้ ภิกษุคือผู้เห็นภัยในสังสารวัฏแล้วปฏิบัติ ผู้นี้ ชื่อว่า ย่อมเป็นผู้ตาม พิจารณาเห็น กาย คือรูปอิริยาบถ มีรูปเดินเป็นต้น ในกาย คือในรูปกายหรือสรีระ, ภายใน คือที่เป็นของตน ที่ยึดถือว่าเป็นตน อยู่บ้าง ตามพิจารณาเห็นอย่างไร ? ตามพิจารณาเห็นว่าเป็นรูปเดิน ไม่ใช่สัตว์เดิน ไม่ใช่บุคคลเดิน เป็นต้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว นั่นแหละ
คำว่า พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ที่แปลว่า “ ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกอยู่บ้าง “ นั่นมีความหมายว่า ย่อมพิจารณาเห็นกายคือรูปอิริยาบถอย่างนั้น นั่นแหละ ในรูปกาย ภายนอก คือ ที่เป็นของผู้อื่น โดยคล้อยตามการเห็นในรูปกายของตน นั่นเทียว ทำนองว่า ของตนฉันใด ของผู้อื่นก็ฉันนั้น

คำว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ที่แปลว่า “ ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกอยู่บ้าง “ นั้นมีความหมายว่า ย่อมพิจารณาเห็นกายคือรูปอิริยาบถอย่างนั้น นั่นแหละ ในรูปกาย ทั้งภายในคือทั้งที่เป็นของตน ทั้งภายนอกคือทั้งที่เป็นของผู้อื่น คำนี้ตรัสไว้เพื่อแสดงถึงความที่กรรมฐานของผู้ปฏิบัติเป็นไปอย่างคล่องแคล่ว ปรารถอิริยาบถของตนบ้าง ของผู้อื่นบ้าง กลับไปกลับมา ดุจว่าพร้อม ๆ กัน

ส่วนคำว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ที่แปลว่า “ ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในกาย อยู่บ้าง “ นี้ มีความหมายว่าผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมเกิดญาณรู้เห็นความเกิดขึ้นในกาย คือในรูปอิริยาบถ กล่าวคือ เห็นปัจจัยที่ทำให้รูปอิริยาบถเกิดขึ้น อันได้แก่จิตและวาโยธาตุที่เกิดจากจิต ดังกล่าวแล้ว ตลอดจนในรูปกายทั้งปวง กล่าวคือ เห็นปัจจัยที่เป็นสาธารณะแห่งรูปขันธ์ทั้งปวง อันได้แก่ อวิชชา -- ความไม่รู้อริยสัจ ๔ , ตัณหา -- ความอยาก, อุปาทาน -- ความยึดมั่น, กรรม -- คือกุศลและอกุศลที่ได้ทำไว้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยอดีต และ อาหาร ที่กลืนกินในแต่ละมื้อเพื่อค้ำจุนรูปขันธ์ให้ตั้งอยู่ได้ตลอดอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยปัจจุบัน ย่อมเข้าถึงความจริงว่า รูปอิริยาบถก็ดี รูปขันธ์ทั้งหมดก็ดี มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะปัจจัยเกิดขึ้นอย่างนี้แล. แม้คำว่า วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ที่แปล่า “ ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความดับไปเป็นธรรมดา ในกายอยู่บ้าง “ นี้ ก็มีนัยเดียวกันนั้นแหละ ความว่า เห็นความดับไปเป็นธรรมดาในรูปอิริยาบถ ตลอดจนในรูปกายทั้งหมด เพราะความที่ปัจจัยเหล่านั้น นั่นแหละ ดับไป. ส่วนคำว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ ที่แปลว่า “ ย่อมตามพิจารณาเห็นทั้งความเกิด ทั้งความดับไป เป็นธรรมดาในกายอยู่บ้าง “ มีความหมายว่าย่อมเกิดญาณรู้เห็นความเกิดขึ้น เพราะปัจจัยเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามกาลอันควร ย่อมเกิดญาณรู้เห็นความดับไป เพราะปัจจัยดับไปเป็นธรรมดาตามกาลอันควร หรือว่า คำนี้ แสดงถึงความที่ญาณปัญญาของผู้ปฏิบัติแกล้วกล้าจนสามารถเห็นทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความดับไป ในอารมณ์เดียวกัน พึงทราบว่า คำพูดเกี่ยวกับการเห็นความเกิดขึ้นดับไปนี้ แสดงถึงความที่ข้อปฏิบัตินี้ เป็นไปเพื่อเกิดวิปัสสนาปัญญา นั่นเอง

ส่วนคำว่า อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา เป็นต้น ที่แปลว่า “ ก็หรือว่าสติ ย่อมเป็นอันปรากฏแก่เธอว่า กายมีอยู่ “ เป็นต้นนั้น มีอรรถาธิบายว่า สติที่ประกอบกับปัญญาตามพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นอันปรากฏแก่เธอว่า “ กาย คือ รูปกายหรือขันธ์เท่านั้น มีอยู่ สัตว์ก็ดี บุคคลก็ดี หญิงก็ดี ชายก็ดี อัตตาก็ดี สิ่งที่เนื่องกับอัตตาก็ดี หามีอยู่ไม่ “ ดังนี้ นั่นเอง และสติที่ปรากฏอย่างนี้นั้น มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ที่แท้แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ญาณ คือปัจจัยแก่ญาณ ความรู้ที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น สืบต่อกันไป และเพื่อความเพิ่มพูนกำลังแห่งสติ ที่จะมีสืบต่อไปเท่านั้น เป็นประมาณ ความว่า เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งสติและสัมปชัญญะ สาระของสติก็มีเพียงเท่านี้ สติก็มีอันเกิดขึ้น ดับไปเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับขันธ์อื่นทั้งหลายนั่นแหละ และเมื่อสาระของสติ ปรากฏอยู่เพียงเท่านี้ ก็ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างไม่อาศัยตัณหา กล่าวคือ ความอยากได้สติที่ประกอบกับปัญญาอย่างอื่น และไม่อาศัยทิฏฐิ กล่าวคือความเห็นผิดแม้เกี่ยวกับสาระของสติ เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ จึงเป็นผู้หมดจด ไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป หรือเวทนา หรือสัญญา หรือสังขาร หรือวิญญาณว่า นี้ เป็นอัตตา หรือเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาของเรา ก็เป็นอันสำเร็จที่สุดแห่งการปฏิบัติ ตามประการดังกล่าวมานี้แหละ ชื่อว่าเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกาย ฉะนี้แล

คำอธิบายเนื้อความพระบาลี เกี่ยวกับการพิจารณารูป อิริยาบถ ก็มีเพียงเท่านี้
ก็เนื้อความทั้งหมด เกี่ยวกับการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดพิจารณาอิริยาบถ ทั้งส่วนพระบาลี ทั้งคำอธิบายของอรรถกถา เท่าที่กล่าวมานี้จัดว่า ย่อเกินไป ยังลึกซึ้ง หยั่งถึงได้ยาก ยังมีเงื่อนงำปฏิบัติตามได้ยาก น่าจะมีการจำแนกอธิบายเป็นเรื่อง ๆ ให้ละเอียดเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานหมวดนี้ต่อไปในภาค ๒ เถิด

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2010, 06:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญหาเกี่ยวกับการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดพิจารณาอิริยาบถ

๑.พระโยคีจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่า เจริญสติปัฏฐาน ? องค์ประกอบของผู้ที่ได้ชื่อว่าเจริญสติปัฏฐาน เป็นอย่างไร ?

เฉลยว่า : ก่อนอื่น พระโยคีผู้ประสงค์จะเจริญสติปัฏฐาน ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสติที่ชื่อว่า สติปัฏฐาน ให้เข้าดีพอสมควรก่อน เมื่อทราบว่า สติที่ชื่อว่าสติปัฏฐานนี้ เป็นอย่างไร มีอะไรเป็นประโยชน์แล้ว ต้องการประโยชน์นั้นอยู่ก็ทำสติอย่างนี้ให้เกิดขึ้น และให้เป็นไปบ่อย ๆ ติดต่อกัน ก็ชื่อว่า เจริญสติปัฏฐาน
สติอย่างไรเล่า ชื่อว่า สติปัฏฐาน ? ได้กล่าวไปในภาค ๑ แล้วว่า สติที่พระโยคีทำให้เข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ ๔ อย่าง มีกายเป็นต้น และเป็นไปพร้อมกับธรรมอีก ๒ อย่าง คือ ความเพียรและสัมปชัญญะ นั่นเอง ชื่อว่า สติปัฏฐาน, มี ๔ อย่าง มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น เพราะอารมณ์ที่เข้าไปตั้งอยู่นั้นมี ๔ อย่าง มีกายเป็นต้น ตามพระดำรัสที่ว่า “ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปิ สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ “ แปลว่า “ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้ เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายอยู่, มีความเพียรเผาผลาญกิเลส มีสัมปชัญญะความรู้สึกตัว มีสติความระลึกได้ กำจัดอภิชฌาความยินดี และโทมนัสความยินร้าย ในโลกได้ “ ดังนี้เป็นต้น ก็เนื้อความพระบาลีที่ยกมานี้ ตรัสไว้เป็นสาธารณะแก่สติปัฏฐานทุกข้อทุกหมวด รวมทั้งหมวดพิจารณาอิริยาบถที่ประสงค์จะพูดถึงโดยตรงนี้ เพราะฉะนั้น พระโยคีผู้ประสงค์จะเจริญสติปัฏฐาน จะข้อใดหมวดใดก็ตามก่อนจะเจริญ ควรสำเหนียกความหมายของพระบาลีบางส่วนดังนี้

ในภาค ๑ แม้ว่าจะได้อธิบายขยายาความพระบาลีส่วนที่เป็นอุเทสนี้ไปบ้างแล้วก็ตาม ถึงกระนั้น คำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า อาตาปี -- ผู้มีความเพียรเผาผลาญกิเลส, คำว่า สมฺปชาโน -- ผู้มีสัมปชัญญะความรู้สึกตัว และคำว่า สติมา นั้น ยังจัดว่าสังเขปอยู่ ยังไม่เป็นการเพียงพอสำหรับพระโยคีผู้ประสงค์จะได้ความรู้เบื้องต้นไปปรารภเจริญสติปัฏฐานหมวดหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะเป็นอรรถาธิบายโดยพิศดารเกี่ยวกับ “ อาตาปี “ เป็นต้น นี้

คำว่า อาตาปี แปลว่า ผู้มีความเพียรเผาผลาญกิเลส ก็คำว่า อาตาปะ แปลว่า เผาผลาญหรือทำให้ร้อน ในที่นี้ ทรงใช้เป็นชื่อของความเพียร จริงอยู่อันการจะเผาผลาญคือละกิเลสทั้งหลายได้นั้น บุคคลต้องเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรมหลายอย่าง มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ถึงกระนั้นในบรรดาธรรมเหล่านี้ วิริยะคือความเพียรนั่นเทียว กล่าวได้ว่า เป็นเหตุพิเศษสุดในอันเผาผลาญกิเลสได้ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า คนเกียจคร้านย่อหย่อนความเพียร ย่อมไม่มีการงานที่เป็นการเผาผลาญ และเพราะธรรมอื่น ๆ ที่เหลือมีสติเป็นต้น จะมีอานุภาพสามารถเผาผลาญกิเลสได้ ก็ต่อเมื่อมีความเป็นไปบ่อย ๆ ติดต่อกันจนเกิดกำลังขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งจะเป็นได้อย่างนั้น ก็ต้องอาศัยความเพียรแล เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดา เมื่อทรงเล็งเห็นว่าอันการจะเผาผลาญกิเลสให้มอดไหม้ไป คือละให้หมดไปนี้ พระโยคีจะต้องเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียรอย่างแน่นอน ขาดมิได้เลย จึงทรงยกย่องเฉพาะความเพียรเท่านั้น ตรัสเรียกว่า อาตาปะ, ตรัสถึงบุคคลผู้มีความเพียรที่ชื่อว่า อาตาปะ นั้นว่า อาตาปี ข้อนี้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า “ อาตาปีติ ตตฺถ กตโม อาตาโป. โย เจตสิโก วิริยารมฺโภ ฯเปฯ สมฺมาวายาโม, อยํ วุจฺจติ อาตาโป. อิมินา อาตาเปน อุเปโต โหติ ฯเปฯ สมนฺนาคโต เตน วุจฺจติ อาตาปีติ. “ แปลว่า “ บทว่า อาตาปี ถามว่าในบรรดาธรรมเหล่านั้น อาตาปะ เป็นไฉน ? การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ (ความพยายามชอบ) อันใด, นี้เรียกว่า อาตาปะ, บุคคล เป็นผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเพียรที่ชื่อว่าอาตาปะ นี้, เพราะเหตุนั้น จึงเรียกเขาว่า อาตาปี -- ผู้มีความเพียรเผาผลาญกิเลส “ ดังนี้.
หากมีข้อคลางแคลงสงสัย ถามว่า ความเพียรทุกอย่างชื่อว่า อาตาปะ ทั้งนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างไรในเรื่องนี้ ? ก็พึงมีคำเฉลยพอให้คลายสงสัยได้บ้างว่า ความเพียรที่มีลักษณะเผาผลาญกิเลสได้เท่านั้น จึงจะได้ชื่อว่า อาตาปะ. ความที่ไม่มีลักษณะนี้ ไม่ชื่อว่า อาตาปะ.

จริงอยู่ ความเพียรมี ๒ อย่าง คือ ความเพียรที่ไม่มีลักษณะเผาผลาญกิเลสได้ และความเพียรที่มีลักษณะเผาผลาญกิเลสได้

ความเพียรที่มีลักษณะเผาผลาญกิเลสได้ ได้แก่ ความเพียรที่บุคคลปรารภ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ในโลกนี้ เกี่ยวกับความเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวย ถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ ไม่ขัดสนอยากจน ตลอดจนความเป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั้งหลาย เป็นต้น เป็นความเพียรในการแสวงหาทรัพย์ แสวงหาความรู้ที่มิใช่ความรู้ในอันนำออกจากทุกข์ และได้แก่ความเพียรที่ปรารภเพราะเห็นแก่ประโยชน์ในโลกหน้า กล่าวคือ ความเป็นผู้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดำรงความเป็นมนุษย์ผู้ถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและชื่อเสียงเกียรติยศ หรือความเป็นเทวดาผู้พรั่งพร้อมด้วยทิพยสมบัติ หลังจากที่กายแตกทำลายตายไปแล้ว ในภพนี้ เป็นความเพียรในการประพฤติบุญกุศล มีการบริจาคทาน การรักษาศีล เป็นต้น

ก็ความเพียรที่บุคคลปรารภเพราะเห็นแก่ประโยชน์ ๒ อย่าง ดังกล่าวมานี้ชื่อว่า ไม่มีลักษณะเผาผลาญกิเลส ก็เกี่ยวกับว่า เป็นไปด้วยอำนาจกิเลสคือตัณหา ความต้องการในความสุขที่พึงได้รับจากทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศซึ่งเป็นของมนุษย์ และจากทิพยสมบัติซึ่งเป็นของเทวดา, และเป็นไปด้วยอำนาจทิฏฐิความเห็นคลาดเคลื่อนในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เป็นต้น จัดว่าเป็นความเพียรที่ไม่บริสุทธิ์คือไม่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสที่สร้างความไม่บริสุทธิ์ ๒ อย่าง คือตัณหาและทิฏฐิ นั่นแหละ ความเพียรที่ไม่บริสุทธิ์เพราะเป็นไปด้วยอำนาจกิเลสอย่างนี้ จะเผาผลาญกิเลสอะไร ๆ ได้เล่า หรือจะเป็นปัจจัยให้ธรรมอื่น ๆ มีสติเป็นต้น เกิดมีอานุภาพเผาผลาญกิเลสได้อย่างไร, เหมือนอย่างคนที่ตกหล่มลึกช่วยตัวเองให้ขึ้นจากหล่มไม่ได้ จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกหล่มอยู่ด้วยกันให้พ้นจากหล่มได้อย่างไร, เพราะฉะนั้น ความเพียรอย่างนี้ ไม่มีลักษณะเผาผลาญกิเลสได้ ไม่เรียกว่า อาตาปะ, บุคคลผู้มีความเพียรอย่างนี้ก็ไม่ชื่อว่า อาตาปี.

ส่วน ความเพียรที่มีลักษณะเผาผลาญกิเลสได้ ได้แก่ ความเพียรมี่เป็นไปในกิจ ๔ อย่าง ที่ท่านเรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ (สัมมัปปธาน แปลว่า ความเพียรชอบนั่นแหละ ความเท่ากับสัมมาวายามะนั่นเอง) สัมมัปปธาน ๔ อะไรบ้าง ? พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ “ จตฺตาโรเม ภิกฺขเว สมฺมปฺปธานา, กตเม จตฺตาโร ? อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ อกสุสลานํ ธมฺมานํ อนุปฺปาทาย ฉนฺทํ ชเนติ ฯปฯ อิเม โข ภิกฺขเว จตฺตาโร สมฺมปฺปธานา. “ ( สํ. มหา. ๑๙/๓๑๒ )
แปลว่า :
“ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธานมี ๔ อย่างเหล่านี้, ๔ อย่างมีอะไรบ้าง ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมบากบั่น เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อันชั่วช้า ที่ยังไม่เกิดขึ้น (๑) ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ฯลฯ ย่อมบากบั่น เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้าที่เกิดขึ้นแล้ว (๒) ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ฯลฯ ย่อมบากบั่น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดขึ้น (๓) ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ฯลฯ ย่อมบากบั่น เพื่อความดำรงอยู่ได้ เพื่อความไม่หลงลืม เพื่อความยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว (๔) “ ดังนี้
ในพระบาลีตอนนี้ ได้สาระใจความเกี่ยวกับสัมมัปปธาน ๔ อย่างย่อ ๆ อย่างนี้ว่า :
-- เพียรพยายาม เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้น
-- เพียรพยายาม เพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
-- เพียรพยายาม เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ได้มีโอกาสเกิดขึ้น
-- เพียรพยายาม เพื่อให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งมั่นและเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
คำว่า อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ดี, ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดี ได้แก่ นิวรณ์ ทั้งหลาย มีกามฉันทะ คือความใคร่ ความพอใจในกามคุณ ๕ เป็นต้น อันเป็นเครื่อวขัดขวางไม่ให้การปฏิบัติดำเนินไปอย่างสะดวก หรือว่าขัดขวางความเกิดขึ้นแห่งสมาธิ เพราะนิวรณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อสมาธิ, ก็แต่ว่า วิปัสสนาปัญญาย่อมเกิดขึ้นได้เพราะมีสมาธิเป็นปัจจัย และมรรคย่อมเกิดขึ้นได้เพราะมีวิปัสสนาเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีสมาธิเกิดขึ้น เพราะถูกนิวรณ์เข้าไปขัดขวางไว้ แม้วิปัสสนาปัญญา แม้มรรค ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเหตุนั้นย่อมกล่าวได้ว่า นิวรณ์ทั้งหลายนี้ย่อมขัดขวางทั้งวิปัสสนา ทั้งมรรค พระโยคีย่อมเพียรพยายามปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมคือพวกนิวรณ์ทั้งหลายได้มีโอกาสเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ย่อท้อ ก็เพียรปฏิบัติเพื่อละนิวรณ์เหล่านั้น กล่าวคือไม่ให้เป็นไปสืบต่อ

คำว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ดี, ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดี ได้แก่ สมาธิ วิปัสสนา และมรรค พระโยคีย่อมเพียรพยายามปฏิบัติเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น และแม้ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เพียรพยายามให้ตั้งอยู่ได้ ไม่อันตรธานเลือนหาย และให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ก็ความเพียร แม้ท่านกล่าวไว้เป็น ๔ อย่าง อย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่ากิจ ๔ อย่างเหล่านี้ สามารถเป็นไปพร้อมกันในคราวเดียวกันได้ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า การจะป้องกันอกุศลก็ดี จะละเสียก็ดี ต้องมีเครื่องมือป้องกันและเครื่องมือละ. ก็แต่ว่า เครื่องมือป้องกันอกุศล หรือละอกุศล ที่จะพ้นไปจากกุศลไม่มี เพราะกุศลเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศล เพราะฉะนั้น ในเวลาใดนับได้ว่า มีการป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดก็ดี มีการละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็ดี ในเวลานั้นชื่อว่า เป็นการทำกุศลให้ตั้งมั่นไม่เลือนหาย และเป็นการทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ฉะนี้แล

ความเพียรที่มีกิจ ๔ อย่าง อย่างนี้แล เป็นอาตาปะ เผาผลาญกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ ทำให้ถึงพระนิพพานได้แน่นอน ข้อนี้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า “ เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว คงฺคา นที ปาจีนนินฺนา ปาจีนโปณา ปาจีนปพฺพารา ; เอวเมว โข ภิกฺขเว ฯเปฯ นิพฺพานนินฺโน โหติ นิพฺพานโปโณ นิพฺพานปพฺภาโร “ ( สํ. มหา ๑๙/๓๑๒) แปลว่า “ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา เป็นแม่น้ำที่ลาดไปทางทิศปราจีณ โอนไปทางทิศปราจีณ เงื้อมไปทางทิศปราจีณ แม้ฉันใด, ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เจริญสัมมัปปธาน ๔ ผู้กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ย่อมเป็นผู้มีใจน้อมไปในพระนิพพาน โอนไปในพระนิพพาน เงื้อมไปในพระนิพพาน ฉันนั้นเหมือนกันแล “ ดังนี้ บุคคลผู้มีความเพียรอย่างนี้แหละ ชื่อว่า อาตาปี.

ก็แต่ว่า ความเพียรที่มีกิจ ๔ อย่าง อย่างนี้ ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปได้ ก็ในเมื่อพระโยคีได้ปฏิบัติมาอย่างถูกต้องก่อนหน้านั้น จนกระทั่งเกิดผลคือกุศล มีสมาธิวิปัสสนาเป็นต้น ขึ้นในภายหลัง เมื่อกุศลอันเป็นผลเกิดขึ้นแล้ว ความเพียรนั้นจึงจะนับว่า เป็นสัมมัปปธาน ซึ่งได้ชื่อว่า อาตาปะ ในที่นี้. เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดปัญหาว่า ในเวลาที่พระโยคีปรารภการปฏิบัติในเบื้องต้น ก่อนหน้าที่ผลคือกุศลเหล่านั้น จะเกิดขึ้นนั้น พระโยคีจะทราบได้อย่างไรว่า ความเพียรพยายามที่พระโยคีปรารภอยู่นี้ จะเป็นเหตุให้กุศลเหล่านั้นเกิดขึ้น อันจะได้ชื่อว่า เป็นอาตาปะ ?

ข้อนี้ ขอเฉลยว่า ความเพียรที่พระโยคีปรารภในเบื้องต้น อันจะเป็นเหตุให้กุศลเหล่านั้นเกิดขึ้นในภายหลัง ถึงความนับว่าเป็นอาตาปะได้นั้น ต้องมีลักษณะตรงข้ามกับความเพียรที่ไม่นับว่าเป็นอาตาปะ ดังได้กล่าวแล้วนั้นกล่าวคือ ต้องเป็นความเพียรที่บริสุทธิ์ ที่พระโยคีมิได้ปรารภโดยอิลอาศัยตัณหาและทิฏฐินั่นเทียว นั่นก็คือ พระโยคีผู้ได้สดับดีแล้ว เกิดปัญญาพิจารณาเห็นภัยในสังสารวัฏ ว่า เรายังถูกภัยใหญ่คือชรามรณะครอบงำอยู่ยังไม่พ้นไปได้ ดังนี้ เป็นต้นแล้ว ก็เกิดความสังเวชสลดใจ หวั่นกลัวภัยนี้ คิดปรารภความเพียรปฏิบัติเพื่อพ้นภัย ตามพระบาลีที่ว่า สํวิคฺโค โยนิโส ปทหติ (องฺ จตุกฺก, ๒๑/๑๖๒) ที่แปลว่า “ ผู้มีใจสลดสังเวช ย่อมเพียรพยายามโดยถูกทาง “ ดังนี้ ความเพียรของพระโยคีผู้นี้ เป็นความเพียรที่ปรารภโดยมิได้อิงอาศัยตัณหา บริสุทธิ์จากตัณหา เพราะมิได้เกิดขึ้นโดยอำนาจความต้องการประโยชน์สุขในโลกนี้และโลกหน้า ทว่า เพื่อประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ความสิ้นทุกข์ เท่านั้น อนึ่งเพราะเหตุที่มีการสดับมาดีแล้ว ก็ย่อมไม่เข้าใจผิดเกี่ยวกับทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ รวมทั้งธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ จึงไม่ปรารภความเพียร ปฏิบัติปฏิปทาอย่างอื่นจากสติปัฏฐาน ๔ เพื่อจะถึงธรรมที่ดับทุกข์อย่างอื่นจากพระนิพพาน แต่ทว่า จะปรารภความเพียรปฏิบัติปฏิปทาคือสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เพื่อจะถึงธรรมที่ดับทุกข์ได้แท้จริง คือพระนิพพานเท่านั้น เพราะฉะนั้นความเพียรแม้นี้ นับว่าเป็นความเพียรที่พระโยคีปรารภโดยมิได้อิงอาศัยทิฏฐิ บริสุทธิ์จากทิฏฐิได้ทีเดียว ก็ความเพียรที่บริสุทธิ์จากตัณหาและทิฏฐิ ตามประการดังกล่าวมานี้แล จะเป็นเหตุปัจจัยให้กุศลทั้งหลาย มีสมาธิเป็นต้น เกิดขึ้น และเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งกุศลเหล่านั้นจะเผาผลาญกิเลสให้มอดไหม้ไป จึงกล่าวได้โดยผลโวหาร(คำพูดพาดพิงถึงผล) ว่าเป็นอาตาปะเผาผลาญกิเลสได้, บุคคลผู้มีความเพียรอย่างนี้ ย่อมได้ชื่อว่า อาตาปี แน่นอน

การวินิจฉัยความเพียรที่ประสงค์ เท่าที่กล่าวมานี้ ยังเป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ เท่านั้น ความจริงยังมีรายละเอียดประกอบการวินิจฉัยอย่างอื่น ๆ อีก เช่นว่า พระโยคี ครั้นทราบว่า อันการจะถึงธรรมที่สิ้นทุกข์นั้น ต้องอาศัยคุณธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะปัญญานั่นแหละ เป็นสำคัญ อย่างนี้แล้ว ก็เกิดเล็งเห็นสาระในปัญญา เกี่ยวกับว่า เป็นความรู้ความเห็นที่วิเศษกว่าความรู้ชั้นธรรมดา เห็นความจริงของสภาวธรรม เห็นเกิดดับเป็นต้น ถึงคราวปฏิบัติปรารภความเพียรก็มีใจน้อมไปในอันที่จะได้มาซึ่งปัญญานี้ มิได้น้อมไปในทุกข์ มิได้มีความจริงใจ ในอันที่จะปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็วินิจฉัยได้ทีเดียวว่า ความเพียรที่พระโยคีผู้นี้ปรารภ ไม่ชื่อว่า “ อาตาปะ “ ทั้งตัวเขาก็ไม่ชื่อว่า “ อาตาปี “ เพราะเหตุไร เพราะเป็นความเพียรที่ปรารภด้วยอำนาจตัณหาคือความต้องการให้ได้มาซึ่งปัญญา อันหาสาระที่น่าต้องการมิได้, จริงอยู่ ปัญญาก็เป็นนามธรรมเหมือนนามและรูปอื่น ๆ นั่นแหละ คือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าต้องการ เช่นเดียวกับนามรูปอื่น ๆ ที่พระโยคีเห็นว่าเป็นทุกข์ แล้วประสงค์จะปฏิบัติเพื่อพ้นไปนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ความเพียรที่ปรารภ โดยเอาการได้มาซึ่งปัญญา จึงไม่ใช่ความเพียรที่เผาผลาญกิเลส แล อย่างนี้ เป็นต้น ก็ท่านผู้ใคร่ในการศึกษา เมื่อได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติในแง่มุมอื่น ๆ ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้านี้แล้ว ก็จะเข้าใจความเกี่ยวกับความเพียรนี้ได้แจ่มแจ้งขึ้น สามารถนำมาประกอบในวินิจฉัยเรื่อง ความเพียร นี้ ได้เองทีเดียว

ส่วนคำว่า สมฺปชาโน แปลว่า ผู้มีสัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัว ได้แก่ เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยปัญญาที่ชื่อว่าสัมปชัญญะนั้น จริงอยู่ สัมปชัญญะ นั้น เป็นชื่อของปัญญา, บุคคลผู้มีสัมปชัญญะจึงได้ชื่อว่า สัมปชาโน, เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า “ สมฺปชาโนติ ตตฺถ กตมํ สมฺปชญฺญํ ? ยา ปญฺญา ปชานนา ฯเปฯ สมนฺนาคโต, เตน วุจฺจติ สมฺปชาโนติ “ ( อภิ. วิ. ๓๔/๒๖๙) แปลว่า “ บทว่า สมฺปชาโน ถามว่าในบรรดาธรรมเหล่านั้น สัมปชัญญะ เป็นไฉน ? ปัญญา คือความรู้โดยประการทั้งหลาย ฯลฯ ความเห็นชอบอันใด, นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ, บุคคลผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยสัมปชัญญะนี้, เพราะเหตุนั้น จึงเรียกเขาว่า สัมปชาโน “ ดังนี้ ก็สัมปชัญญะที่ตรัสถึงนี้ ได้แก่สัมปชัญญะ ๔ อย่าง มีสาตถกสัมชัญญะ เป็นต้น อันได้กล่าวมาแล้วในภาค ๒ นั้น. บุคคลผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ๔ อย่างนี้แล ชื่อว่า สัมปชาโน.

ส่วนคำว่า สติมา แปลว่า ผู้มีสติระลึกได้. ได้แก่ เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติความระลึกได้ ซึ่งมีลักษณะอันได้กล่าวแล้วในภาค ๒ นั้น เหมือนกัน. สมจริงดังที่ตรัสว่า “ สติมาติ ตตฺถ กตมา สติ ? ยา สติ อนุสฺสติ ฯเปฯ สมฺมาสติ, อยํ วุจฺจติ สติ. อิมาย สติยา อุเปโต โหติ ฯเปฯ สมนฺนาคโต เตน วุจฺจติ สติมาติ “ ( อภิ. วิ. ๓๔/๒๖๙) แปลว่า “ บทว่า สติมา ถามว่า ในบรรดาธรรมเหล่านั้นสติเป็นไฉน ? สติ คือความระลึกได้เนือง ๆ ฯลฯ ความระลึกชอบ, นี้เรียกว่า สติ. บุคคลผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกเขาว่า สติมา “ ดังนี้

ก็ สติ ที่ตรัสไว้โดยบุคคลว่า สติมา นี้แหละ ชื่อว่า สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นแล บุคคลใดก็ตาม มีความเพียรชนิดเผาผลาญกิเลส ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวมานี้ ทำสติอันประกอบกับสัมปชัญญะตามประการที่กล่าวแล้ว ให้เกิดขึ้นและให้เป็นไปติดต่อในอารมณ์ ๔ มีกายเป็นต้น ปรารภความเพียรนั้นติดต่อไม่ทอดทิ้ง บุคคลนั้น ชื่อว่า เจริญสติปัฏฐาน

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2010, 06:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


๒.พระบาลีเกี่ยวกับการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถนั้น มีคำอรรถาธิบายโดยพิศดารอย่างไร ?

เฉลยว่า : ก่อนที่จะอธิบายขยายความ เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานหมวดนี้โดยพิศดาร ขอยกนิเทสพระบาลีเกี่ยวกับสติปัฏฐานหมวดนี้ มาแสดงอีกครั้งหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า : ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ คจฺฉนฺโต ว่า “ คจฺฉามี ” ติ ปชานาติ, ฐิโต วา “ ฐิโตมุหี “ ติ ปชานาติ, นิสินฺโน วา “ นิสินฺโนมฺหี “ ติ ปชานาติ, สยาโน วา “ สยาโนมฺหี “ ติ ปชานาติ. ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต โหติ, ตถา ตถา นํ ปชานาติ. อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯเปฯ เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กายเ กายานุปสฺสี วิหรติ.
แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกวิธีหนึ่ง คือว่า ภิกษุเดินอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ เดินอยู่ “ , ยืนอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ ยืนอยู่ “, นั่งอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ นั่งอยู่ “, นอนอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ นอนอยู่ “ ก็หรือว่ากายของเธอตั้งอยู่โดยอาการใด อาการใด ก็ย่อมรู้ชัดซึ่งกายนั้น โดยอาการนั้น อาการนั้น ดังนี้

ความหมายของพระบาลีเท่าที่ยกมานี้ มีดังต่อไปนี้ :
ในคำว่า เดินอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “เดินอยู่” นี้ มีความหมายว่า ในเวลาที่เดินอยู่ ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานหมวดนี้ ย่อมรู้ชัด คือย่อมรู้อาการที่เดิน ท่าทางที่เดิน โดยประการทั้งหลาย คือโดยประการที่ควรรู้ ๓ ประการ กล่าวคือ ประการแรก รู้ว่าใครเดิน, ประการที่ ๒ รู้ว่าการเดินเป็นของใคร, ประการที่ ๓ รู้ว่าเพราะเหตุไรจึงเดิน ตามความเป็นจริง, แม้ในคำว่า ยืนอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ ยืนอยู่” เป็นต้น ก็มีความหมายว่า ในเวลาที่ยืนอยู่เป็นต้น ก็ย่อมรู้โดยประการทั้งหลาย ๓ ประการ คือ ใครยืน การยืนเป็นของใคร เพราะเหตุไรจึงยืน เป็นต้น อย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งได้อธิบายขยายความอย่างย่อๆ แล้วในภาค ๑ ส่วนต่อไปนี้ จะเป็นคำอรรถาธิบายโดยพิศดารเกี่ยวกับ ๓ ประการที่ควรรู้นั้น.
ขอว่าเกี่ยวกับอิริยาบถเดิน ก่อน.

ประการแรก ใครเดิน. เฉลยว่า ในเวลาที่เดินอยู่ พระโยคีผู้ปฏิบัติพึงทำความรู้ตามความเป็นจริงว่า ใครเดิน ให้เกิดขึ้น. ในเวลาที่เดินอยู่ อาการที่เดิน ท่าทางที่เรียกว่าเดิน นับเนื่องในรูป เพราะเป็นอาการของรูป รูปนั่นแหละเดิน หามีอัตตา มีเรา มีสัตว์ มีบุคคล ซึ่งเป็นผู้เดินไม่ พระโยคีพึงกำหนดรูปเดินคือพึงทำสติซึ่งมีลักษณะดังกล่าวแล้ว ให้เข้าไปตั้งไว้ที่รูปเดินก่อน แล้วทำความรู้สึกว่า “ นี้ รูปเดิน กำลังดูรูปเดินอยู่ “ ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความรู้ที่เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ นั่นเทียว เป็นไปเพื่อถอนความเห็นผิดว่า มีสัตว์ มีบุคคล ผู้เดิน. และเพื่อให้ความรู้ความเห็นอย่างนี้ เป็นไปอยู่เสมอ ๆ เนือง ๆ ไม่ทิ้งไปในระหว่าง แม้รู้แล้วว่า “ นี้รูปเดิน “ ก็พึงทำความรู้สึกตัวคือพึงสำเหนียกตัวผู้ดูว่ากำลังดูนามอะไร รูปอะไรอยู่ อันเป็นความรู้สึกตัวที่เรียกว่า โคจรสัมปชัญญะ นั่นแหละ ให้เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ

ก็การจะปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างนี้ พระโยคีต้องสดับมาแล้ว จนเข้าใจเป็นอย่างดีว่าอะไรคือรูปเดิน ท่านเรียกอะไรว่าเป็นรูปเดิน รูปเดินอยู่ที่ไหน ตลอดจนแยกแยะเกี่ยวกับสติสัมปชัญญะได้ว่า อย่างไรเรียกว่าไม่มีทั้งสติสัมปชัญญะ, อย่างไรเรียกว่ามีแต่สติอย่างเดียว ไม่มีสัมปชัญญะ, และอย่างไรเรียกว่ามีทั้งสติทั้งสัมปชัญญะ ถ้าหากพระโยคีไม่มีการรอบรู้ในเรื่องเหล่านี้โดยการสดับตรับฟังเป็นเบื้องต้นมาก่อน โอกาสที่จะปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์ทั้ง ๒ ด้าน คือ ด้านกรรมฐาน อันได้แก่นามรูป และด้านผู้กำหนดพิจารณากรรมฐาน คือ สติสัมปชัญญะ ก็มีได้ยาก

เป็นความจริงว่า พระโยคีบางท่าน ในเวลาที่เดินอยู่ ประสงค์จะกำหนดรูปเดิน แต่เพราะไม่เข้าใจว่า อะไรคือรูปเดิน รูปเดินอยู่ที่ไหน จึงกำหนดเพ่งอยู่ที่ขาทั้ง ๒ ในเวลาที่ตนก้าวเดินไป ซึ่งการปฏิบัติอย่างนี้ เป็นเครื่องแสดงว่าเขาเข้าใจว่า ขานั่นเองคือรูปเดิน ซึ่งการปฏิบัติอย่างนี้ เป็นเครื่องแสดงว่าเขาเข้าใจว่า ขานั่นเองคือรูปเดิน รูปเดินอยู่ที่ขานั่นแหละ ก็ความเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะเหตุไร ? เพราะในเวลาที่ทรงกายอยู่ในอิริยาบถอื่นนอกจากอิริยาบถเดิน คือในเวลาที่นั่งอยู่ หรือยืนอยู่ หรือนอนอยู่ก็มีขาเหมือนกันั่นแหละ หาใช่ไม่มี แต่ในเวลานั้น หามีการเดินไม่ เพราะฉะนั้นรูปเดินจึงไม่ใช่ขาทั้ง ๒. จริงอยู่ การเดินมิได้เป็นไปได้ด้วยอาศัยขาทั้ง ๒ เพราะว่าคนขาด้วน ขาพิการ ไม่สามารถเดินได้, ถึงกระนั้น แม้ว่ามีขา แต่ถ้าหากว่าไม่มีอาการที่เดินคือที่ก้าวไปแต่ละก้าว การเดินก็ไม่มี เพราะฉะนั้น อาการหรือท่าทางที่ก้าวไปแต่ละก้าวนั่นเอง เป็นรูปเดิน รูปเดินอยู่ที่อาการหรือท่าทางที่ก้าวไปแต่ละก้าวนั่นเอง เป็นรูปเดิน รูปเดินอยู่ที่อาการหรือท่าทางที่ก้าวไปแต่ละก้าวนั่นเอง หาใช่อยู่ที่ขา หรือแม้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไม่

อนึ่ง พระโยคีบางท่าน เพราะไม่เข้าใจเกี่ยวกับลักษณะหรือการทำงานของสติสัมปชัญญะ ในเวลาที่กำหนดนามรูป จึงไม่สามารถแยกแยะได้ว่าในเวลานี้ไม่มีทั้งสติสัมปชัญญะ หรือว่ามีสติอย่างเดียว ไม่มีสัมปชัญญะ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารเจริญสติสัมปชัญญะกำหนดรูปเดินได้อย่างถูกต้อง
เป็นความจริงว่า มีสภาวธรรมหลายอย่าง ที่คล้ายสติสัมปชัญญะ คือวิตกมีลักษณะคล้ายสติ เพราะวิตกเป็นธรรมชาติที่คิดนึก ดำริอารมณ์ เหมือนอย่างที่สติระลึกถึงอารมณ์ มีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์นั้น ๆ เป็นลักษณะ เหมือนอย่างที่สติมีความเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ เป็นลักษณะ เพราะฉะนั้น พระโยคีบางท่านผู้ไม่สามารถแยกความต่างกันระหว่างวิตกกับสติได้อย่างชัดเจน ในเวลาที่เดินอยู่ จิตนึกถึงอารมณ์ คือบัญญัติว่ารูปเดิน นึกถึงชื่อว่า รูปเดิน ด้วยกำลังของวิตกนั่นเทียว บริกรรมอยู่ในใจว่า “ รูปเดิน รูปเดิน “ ไม่ซัดส่ายหรือฟุ้งซ่านนึกถึงอารมณ์อื่น ก็เข้าใจว่า ในเวลานั้น ตนนั้นเป็นผู้มีสติ หรือทำสติให้เกิดขึ้นได้แล้ว ความจริง เขาจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ก็หาไม่ เพราะสักว่าเป็นการนึกถึงบัญญัติ นึกถึงชื่อ บริกรรมไปว่า “ รูปเดิน “ เท่านั้น มิได้สัมผัสตัวสภาวธรรมที่เป็นรูปเดินอย่างแท้จริงเลย การนึกถึงบัญญัติ นึกถึงชื่อ บริกรรมว่า “ รูปเดิน “ ไปอย่างนี้ หาชื่อว่ามีสติไม่ พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าหากว่ามีแต่การนึกอยู่ในใจ บริกรรมไปว่า “ รูปเดิน รูปเดิน “ ไม่มีความรู้สึกเข้าไปตั้งไว้คือออกไปที่อาการท่าทางที่ก้าวไปนั้นจริง ๆ แล้วไซร้ ในเวลานั้นไม่ชื่อว่ามีสติ เพราะว่า วาระนี้ ประสงค์สติที่เป็นสติปัฏฐาน อันมีความเข้าไปตั้งอยู่ที่อาการเดินนั้นเท่านั้น จริงอย่างนั้นผู้ปฏิบัติบางคน เพราะตุที่มีแต่การนึกถึงบัญญัติ นึกถึงชื่อแล้วบริกรรมไปว่า “ รูปเดิน “ อยู่ที่ใจ อย่างนี้นั่นเอง พอถูกอาจารย์สอบอารมณ์กรรมฐาน ถามว่า “ รูปเดินอยู่ที่ไหน ? “ ก็ตอบว่า “ อยู่ที่ใจ “ แทนที่จะอยู่ที่อาการหรือท่าทางที่ก้าวไปนั้น ทั้ง ๆ ที่ในเวลาที่ไม่ปฏิบัติ เมื่อจะสำคัญว่าเราเดิน ก็หาสำคัญที่ใจไม่ ที่แท้แล้ว ก็สำคัญผิดที่อาการท่าทางนั่นเทียว

อนึ่ง เพราะเหตุที่ไม่มีสติอย่างนี้ นั่นเอง ความรู้ว่าเป็นรูปเดินของเขา จึงเป็นความรู้ของสัญญา บริกรรมไปตามสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ของสัมปชัญญะ เพราะเรียนรู้แล้วจำได้ด้วยสัญญามาก่อนว่า อาการอย่างนี้ท่าทางอย่างนี้เรียกว่า รูปเดิน แม้ว่าได้รู้อยู่บ่อย ๆ ก็เกี่ยวกับว่า ตนคอยบริกรรมเอาเท่านั้น ไม่ใช่เพราะเกิดปัญญา ดุจเดียวกับคนที่เจริญกสิน นึกถึงดวงกสินมีปฐวีกสินเป็นต้น บริกรรมไปว่า “ ปฐวี ปฐวี, ดิน ดิน “ เป็นต้น ฉะนั้นอย่างนี้แล ชื่อว่า ไม่มีทั้งสติ ทั้งสัมปชัญญะ

ส่วนผู้ปฏิบัติอีกท่านหนึ่ง สามารถทำสติให้เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ ไม่ใช่สักแต่นึกบริกรรมว่า “ รูปเดิน รูปเดิน “ อยู่ที่ใจ แต่ทว่า สามารถให้ความรู้สึกออกไปที่อาการท่าทางที่ก้าวเดินไปแต่ละก้าวนั้นได้จริง ๆ ในเวลานั้น ก็มีจิตใจสำรวมอยู่ในอาการนั้น เท่านั้น ไม่ซัดส่ายวุ่นวายไปในอารมณ์อื่น นับว่าได้ปัจจุบันอารมณ์ ถึงกระนั้น ก็ไม่เกิดความรู้ว่า “ นี้รูปเดิน , กำลังดูรูปเดินอยู่ “ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ชื่อว่า มีสติอย่างเดียว ไม่มีสัมปชัญญะ หรือแม้จะมีความรู้ว่า “ นี้รูปเดิน “ บ้าง ก็ตอนที่ออกเดินใหม่ ๆ เท่านั้น แล้วความรู้นั้นก็หมดไป หลังจากนั้น ก็ไม่มีความรู้ว่า “ นี้รูปเดิน “ เกิดขึ้นอีกเลย ตลอดเวลาที่ยังเดินอยู่เหลือแต่อยู่สัญญาความจำได้เท่านั้น สัญญานี้ พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบไว้ว่า เหมือนพยับแดด เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า “ มรีจิกูปมาสญฺญา “ แปลว่า “ สัญญามีอุปมาด้วยพยับแดด “ ดังนี้

จริงอย่างนั้น ในสถานที่บางแห่งซึ่งเป็นที่กว้างขวางแต่โล่งเตียน ปราศจากร่มเงา อย่างเช่น ตามถนนหนทาง หรือในทะเลทราย เป็นต้น ในเวลาเที่ยงวัน เป็นต้น ซึ่งเป็นเวลาที่มีแสงแดดสาดส่องพื้นดินเต็มที่ เปลวแดดร้อนระอุเกิดเป็นพยับแดดที่สั่นระรัวอยู่เหนือพื้นดิน ผู้คนที่เดินทางมองไปข้างหน้าทางพยับแดดเหล่านี้ ก็จะเห็นเป็นภาพแอ่งน้ำบ้าง ภาพแมกไม้บ้าง ภาพบ้านเมืองบ้าง บางคนหลงเข้าใจว่าเป็นภาพจริง เกิดความดีใจที่ได้พบน้ำเป็นต้น ก็รีบเดินทางเพื่อจะให้ถึงเร็ว ๆ แต่ในที่สุดก็พบว่า ภาพแอ่งน้ำเป็นต้นเหล่านั้น หามีอยู่จริงไม่ เป็นเพียงสิ่งลวงตาที่พยับแดดสร้างขึ้นเท่านั้น ข้อนี้ฉันใด, ในโลกนี้ความจริงก็มีเพียงแต่นามและรูปอันว่างเปล่าจากอัตตา จากสัตว์ จากบุคคล แต่เพราะมีความเห็นผิดว่าเป็นอัตตา เป็นสัตว์ เป็นคน ด้วยอำนาจแห่งมิจฉาทิฏฐิ ก็หมายรู้และจำไว้ว่า เป็นอย่างนั้น ด้วยอำนาจแห่งสัญญาที่เรียกว่า สัญญาวิปลาส เวลาที่นามหรือรูปนั้น ๆ เกิดขึ้น เป็นไปอีกในกาลต่อมา สัญญาที่เคยหมายรู้และจำไว้อย่างนั้น ก็ลวงให้เห็นไปว่า เป็นอัตตา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่อไปอีก ความเป็นอัตตาเป็นต้น จึงเป็นสิ่งหลอกลวง คือไม่จริง ที่สัญญาสร้างขึ้นฉันนั้น ในการปฏิบัติ ในเวลาที่เดินอยู่ พระโยคีจะรู้ว่า “ นี้รูปเดิน “ ก็เวลาที่พระโยคีเริ่มออกเดินใหม่ ๆ เท่านั้น เมื่อได้รู้แล้วอย่างนั้น ความรู้นั้นก็หมดไป หลังจากนั้น พระโยคีก็กำหนดหรือดูรูปเดินไปอย่างปราศจากความรู้ มีแต่สติสำรวมอยู่ที่อาการเดินอย่างเดียว แต่พระโยคีผู้ไม่รู้จักลักษณะของปัญญาที่เรียกว่า สัมปชัญญะ นี้ หาทราบไม่ว่า เวลานี้สัมปชัญญะหรือปัญญาที่รู้ว่า “ นี้ รูปเดิน “ นั้น หมดไปแล้ว ดับไปแล้ว กลับสำคัญว่า รู้อยู่ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุยังจำได้นั่นเทียว ก็ความจำได้ว่านี้เป็นรูปเดิน เป็นเพียงสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญา สัญญานี้ แม้ไม่นับว่าเป็นสัญญาวิปลาส เหตุเพราะจำได้ถูกต้องต่อความเป็นจริง และมีชาติเป็นกุศลก็ตาม ถึงกระนั้น เมื่อเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติสำคัญผิดว่า ในเวลานี้ตนมีปัญญารู้รูปเดินอยู่ ก็ย่อมตั้งอยู่ในฐานะผู้หลอกลวง ดุจพยับแดดนั้นได้เหมือนกัน หลอกลวงว่าอย่างไร ? หลอกลวงว่ากำลังรู้รูปเดินอยู่ มีรูปเดินให้พิจารณาอยู่นั่นแหละ ก็ในการกำหนดนามรูปนี้ ท่านประสงค์ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้วสามารถไถ่ถอนความเห็นผิดว่าเป็นอัตตา เป็นเรา ในนามหรือรูป นั้นได้ ก็ความรู้ว่า “ นี้รูปเดิน “ ย่อมสามารถถ่ายถอนความเห็นผิดว่า “ เราเดิน “ ออกไปจากอาการเดินนั้น ความรู้ที่สามารถอย่างนี้ เป็นความรู้แห่งปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้คือความจำได้แห่งสัญญา เพราะฉะนั้น ในเวลาที่เดินอยู่ พระโยคีผู้ใด แม้มีสติคือมีความรู้ออกไปที่รูปเดิน อันได้แก่อาการที่ก้าวไปแต่ละก้าวได้แล้วสำรวมอยู่ที่อาการนั้นเท่านั้น ไม่มีการนึกบริกรรมอยู่ที่ใจเลยก็ตาม แต่เมื่อไม่มีปัญญา คือสัมปชัญญะเกิดร่วมด้วย พระโยคีจะดู จะพิจารณาอาการนั้นไปนานสักเพียงไรก็ตาม ความรู้สึกผิด ๆ ว่า “ เราเดิน “ อันเป็นกิเลสละเอียดขั้นอนุสัยที่ท่านเรียกว่า ทิฏฐานุสัย ก็ยังคงมีติดตามต่อไปได้อยู่นั่นเอง จริงอยู่ สักว่ามีสติเท่านั้น จิตก็ถึงความเป็นกุศลได้แล้ว ก็แต่ว่ากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาไม่สามารถจะป้องกันตลอดจนละกิเลสขั้นอนุสัยได้เลย อย่างสูงสุดก็เพียงขั้น ปริยุฏฐานะ คือที่กลุ้มรุมอยู่ในใจเท่านั้น ตามประการดังกล่าวมานี้แล ชื่อว่า มีสติอย่างเดียว ไม่มีสัมปชัญญะ
ส่วนพระโยคีอีกผู้หนึ่ง ได้เรียนรู้ลักษณะของสติและสัมปชัญญะมาดีแล้วและในคราวปฏิบัติจริงก็สามารถทำทั้งสติทั้งสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้คืออย่างไร คือในเวลาที่เดินอยู๋ สามารถทำความรู้สึกให้ออกไปที่ท่าเดินนั้นได้ พร้อมทั้งทำความรู้ว่า “ นี้รูปเดิน “ ให้เกิดขึ้นได้ แม้ความรู้นั้นจะหมดไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่สำคัญผิดว่า ยังมีอยู่ แต่ทว่า รู้จักอุบายที่จะทำความรู้อย่างนั้นให้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ ได้อีก โดยความเป็นผู้มีสัมปชัญญะที่เรียกว่า โคจรสัมปชัญญะ สำเหนียกตนอยู่บ่อย ๆ ว่า กำลังดู กำลังพิจารณารูปอะไร นามอะไรอยู่นั้น นั่นเอง ความรู้ว่า “ นี้ รูปเดิน “ ก็จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็จัดว่าเป็นผู้มีทั้งสติ ทั้งสัมปชัญญะกำหนดรูปเดิน ในเวลาเดิน ตามประการดังกล่าวมานี้แล ชื่อว่า มีทั้งสติทั้งสัมปชัญญะ พระโยคีพึงเป็นผู้ปฏิบัติโดยประการที่มีทั้งสติทั้งสัมปชัญญะ อย่างนี้เถิด

ประการที่ ๒ การเดินเป็นของใคร เฉลยว่า การเดิน ท่าทางที่เดิน อาการที่เดิน เป็นของรูป คือเป็นของรูปกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งรูปธรรมทั้งหลาย มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น โดยอาการของรูปกายนั้น เป็นของนับเนื่องในรูป ไม่ใช่ของสัตว์ ของบุคคล โดยเฉพาะไม่ใช่ของพระโยคี ไม่ใช่ของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ของคนกรรมฐาน ฯลฯ ความรู้ในประการที่ ๒ นี้ เป็นความรู้ที่ห้ามความเห็นผิดว่า การเดินเป็นของอัตตา ของเรา ตลอดจนเป็นของบุคคลพิเศษที่เป็นพระโยคี เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นคนกรรมฐาน ฯลฯ เป็นความเห็นผิด ที่ท่านเรียกว่า มานวินิพันธาทิฏฐิ แปลว่า ทิฏฐิที่เกี่ยวพันกับมานะ กล่าวคือ นอกจากจะเห็นผิดด้วยทิฏฐิว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลแล้ว ยังสำคัญสัตว์บุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลพิเศษ คือเป็นพระโยคีเป็นต้น ซึ่งไม่ใช่คนปกติธรรมดา ด้วยมานะคือความถือตัวหรือความสำคัญตัว อีกด้วย ตามที่ได้กล่าวแล้วในภาค ๑.
จริงอยู่ อย่าว่าแต่พระโยคี ผู้ปฏิบัติ คนกรรมฐาน ซึ่งเป็นบุคคลพิเศษนั้นเลย แม้แต่อัตตา สัตว์ บุคคลตามปกติ ซึ่งไม่พิเศษอะไร ๆ ก็ยังไม่มีเลยเพราะฉะนั้น การเดินจะเป็นของใคร ๆ หามิได้ ที่แท้แล้วก็เป็นของรูปเท่านั้น ก็สำคัญว่าตนเป็นคนพิเศษ ไม่สาธารณะด้วยบุคคลปกติธรรมดาต่อไปอีก กล่าวคือ ในเวลาจะเดิน ย่อมสร้างอิริยาบถเดินที่พิเศษคือเดินช้า ๆ เป็นจังหวะ ค่อย ๆ ยกเท้า ค่อย ๆ เสือกเท้าไปข้างหน้า ค่อย ๆ วางเท้าลง เป็นต้น ด้วยสำคัญว่า ท่าเดินอย่างนี้เท่านั้น จึงจะนับว่าเป็นท่าเดินของพระโยคี หากว่า ในเวลานั้น ผู้อื่นผ่านมาพบเห็นเข้า ก็ย่อมทราบได้ทีเดียวว่า ผู้นี้เป็นผู้ปฏิบัติธรรม กำลังปฏิบัติอยู่ ก็อิริยาบถที่ทำขึ้นเป็นพิเศษนี้ เป็นอิริยาบถที่ผู้ปฏิบัติทำขึ้นด้วยเล็งเห็นความเป็นของดีมีสาระ เป็นอิริยาบถที่เคร่งครัด จะช่วยให้การปฏิบัติของตนประสบผลสำเร็จ เป็นต้น ก็แล การเล็งเห็นว่า สิ่งไรดี มีสาระอันการที่จะทำปัญญาให้เกิดขึ้นเห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ดี ไม่มีสาระ เกี่ยวกับว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่การถอนกิเลสความยินดี ยึดมั่นในสิ่งนั้น ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นพระโยคีพึงป้องกันเสียด้วยการสำเหนียกว่า การเดินนี้ เป็นของรูป คือเป็นอาการของรูปกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งธาตุ ๔ มีธาตุดินเป็นต้น เท่านั้น หากว่าได้สำเหนียกอยู่เสมอ ๆ อย่างนี้ ก็จะไม่มีการถือเอาความเป็นของดีมีสาระในอิริยาบถทั้งหลาย อิริยาบถทั้งหลายก็จะเป็นไปตามปกติธรรมดา ไม่ใช่อิริยาบถพิเศษ ที่ทำขึ้นต่างหาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะมีโอกาสทำปัญญาให้เกิดขึ้นเห็นความจริง คือความไม่เป็นสาระ เกี่ยวกับว่า เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ในอิริยาบถทั้งหลายได้สืบต่อไป

อนึ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติที่สามารถทำวิปัสสนาญาณทั้งหลายให้เกิดขึ้นได้ ให้แกล้วกล้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเห็นความเกิดขึ้นดับไปแห่งนามรูป เข้าถึงสามัญลักษณะได้ ย่อมรู้ประจักษ์ด้วยปัญญาของตนทีเดียวว่า การเดินนี้หามีบุคคลผู้เป็นเจ้าของไม่ เพราะเหตุไร ? เพราะมีอันเกิดขึ้นแล้วดับไป สิ่งที่มีอันเกิดขึ้นแล้วดับไป ย่อมเป็นสิ่งที่หาผู้เป็นเจ้าของครอบครองมิได้ การเดินนี้เป็นอาการของรูปกายเท่านั้น จึงเป็นของรูปกายที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั้นนั่นแหละ มีอันเกิดขึ้นแล้วดับไป พร้อม ๆ กับรูปกายนั้นนั่นแหละ

ประการที่ ๓ เพราะเหตุไรจึงเดิน เฉลยว่า การเดินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ๒ ประการ คือ จิตหรือความคิดที่จะเดินและวาโยธาตุที่เกิดจากจิตนั้น ประการหนึ่ง, ทุกขเวทนา คือความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นในอิริยาบถอื่นก่อนหน้าที่จะเดินนั้น ประการหนึ่ง, ดังได้กล่าวแล้วในตอนท้าย ๆ ของภาค ๑ เพราะเหตุปัจจัย ๒ ประการนี้เอง จึงเกิดการเดิน ปัจจัยประการที่ ๒ สนับสนุนให้เกิดปัจจัยประการที่ ๑

สำหรับพระโยคีผู้ปฏิบัติยังไม่บรรลุถึงญาณที่จับกำหนดปัจจัยของนามรูปยังไม่เห็น ยังไม่ประจักษ์ด้วยปัญญาของตน ว่าการเดินเป็นไปเพราะปัจจัยคือจิตที่ประสงค์จะเดิน และวาโยธาตุที่เกิดจากจิตนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ในเบื้องต้น พึงใส่ใจปัจจัยที่ให้สำเร็จการเดินอย่างที่ ๒ คือ ทุกขเวทนาอันได้แก่ความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นในอิริยาบถอื่น ก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนเป็นเดินนั่นเทียว เพราะว่า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในอิริยาบถที่ทรงอยู่นาน ๆ ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลดำริจะเปลี่ยนอิริยาบถทั้งหลาย รวมทั้งอิริยาบถเดินนี้ เพื่อบรรเทาทุกขเวทนานั้น เพราะฉะนั้น ก็ย่อมกล่าวได้ว่า การเดินนี้ย่อมมี แม้เพราะปัจจัยคือความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นในอิริยาบถที่ทรงอยู่ก่อนหน้านี้

จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายปรารภอิริยาบถเดินด้วยอำนาจเหตุ ๒ ประการ คือ กิเลสและวิบาก
การที่สัตว์ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องลุกขึ้นเดินเลย เช่น ยังไม่เกิดทุกขเวทนาคือความปวดเมื่อยขึ้นเลย ก็ลุกขึ้นเดิน เพื่อไปทำกิจอย่างนั้น อย่างนี้ ที่สักแต่ว่าอยากจะทำ, เดินเล่น เดินชมสวน หรือแม้เพียงแต่เดินเพราะเกิดเบื่อหน่ายที่จะต้องนั่งอยู่เฉย ๆ นาน ๆ เป็นต้น การเดินอย่างนี้ชื่อว่า ปรารภด้วยอำนาจกิเลส เพราะสักว่าเป็นการใช้อิริยาบถ ด้วยอำนาจกิเลสคือความอยากนั่นเทียว

ส่วน เมื่อเกิดทุกขเวทนาคือความปวดเมื่อยขึ้น แล้วจึงลุกขึ้นเดิน ถ้าหากว่ายังไม่เกิดความปวดเมื่อยในอิริยาบถที่ทรงอยู่ ก็ยังไม่คิดจะเดิน การเดินอย่างนี้ชื่อว่า ปรารภด้วยอำนาจวิบาก เพราะว่า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นวิบาก คือผลของกรรม เป็นของเนื่องในอัตภาพ ที่สำเร็จจากกรรมในอดีต สัตว์ทั้งหลาย ปรารภอิริยาบถเดินด้วยอำนาจเหตุ ๒ ประการ อย่างนี้ ก็แลสัตว์ทั้งหลาย แม้ว่าเมื่อเกิดทุกขเวทนาคือความปวดเมื่อย ในอิริยาบถที่ทรงอยู่แล้ว ประสงค์จะเดิน การเดินของเขานับว่าเป็นไปตามความจำเป็นแห่งวิบากเท่านั้นก็ตาม ถึงกระนั้น เมื่อมิได้ใส่ใจทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้นเสียก่อนที่จะเดิน ใจของเขาย่อมน้อมไปหาความสุขสบายในอิริยาบถที่จะเปลี่ยนดุจเกิดความหิว ใจก็น้อมไปหารสอร่อยของอาหาร ฉะนั้น ตัณหา ความต้องการในอิริยาบถเดินก็เกิดขึ้น เดินไปด้วยความสำคัญว่า เพราะอยากจะเดินจึงเดิน ไม่เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เดินเพราะทุกข์บังคับให้จำต้องเดิน เดินเพื่อแก้ เดินเพื่อบำบัด เพื่อบรรเทาทุกข์คือความปวดเมื่อยนั้น ก็เป็นอันว่า เขา ในเวลานั้นแม้ใช้อิริยาบถไปตามความจำเป็นแห่งวิบากก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้ใส่ใจทุกข์ที่เกิดขึ้นเสียก่อน ตัณหาความต้องการ ก็เข้าแอบแฝงในการเดินนั้นได้ ตามประการดังที่กล่าวมานี้

สำหรับพระโยคีผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นผู้มีศีลที่ถึงความสูงส่ง คือมีความสำรวมกายและวาจาสิ้นเชิง ย่อมไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวกายหรือวาจาวุ่นวาย ไม่เหลือบตาดู ไม่เงี่ยหูฟังล่อกแล่ก จะดูจะฟังก็เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เวลาเดินไปแม้จำต้องดูทาง ก็เหลือบดูชั่วแอก เพียงเพื่อให้เดินตรงทาง เพื่อรู้ตำแหน่งแห่งที่ที่ควรเหยียบ คือเหยียบแล้วไม่เกิดอันตรายเป็นต้น เท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น พูดง่าย ๆ ว่าสำรวมอิริยาบถน้อยใหญ่ ใช้อิริยาบถทั้งหลายเท่าที่จำเป็น เพราะฉะนั้น พระโยคีผู้สำรวมได้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีภาระเกี่ยวกับการคอยป้องกันการใช้อิริยาบถด้วยอำนาจกิเลส โดยเป็นกิจที่ต้องทำอีกอย่างหนึ่งต่างหาก มีภาระอย่างเดียว คือตามใส่ใจทุกข์ในเวลาที่จะเปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น ในเวลาจะเดิน หากได้ใส่ใจทุกข์ที่เกิดขึ้นเสียก่อน ก็จะหาความยินดีต้องการในอิริยาบถเดินไม่ได้ เพราะเมื่อได้ใส่ใจทุกข์นั้นอยู่ ใจก็จะไม่น้อมไปหาสาระคือความสุขสบายในการเดิน จะไม่เดินด้วยสำคัญว่า เพราะอยาก เพราะต้องการเดิน จึงเดิน, แต่ทว่า จะเกิดปัญญาที่เรียกว่า สาตถกสัมปชัญญะ รู้ตามความเป็นจริงทีเดียวว่า เพราะเหตุไรจึงเดิน นี้ คือความรู้ประการที่ ๓ ในการเดิน

เนื้อหาสาระเกี่ยวกับความรู้ในอิริยาบถเดินทั้ง ๓ ประการ ก็มีโดยประการดังกล่าวมานี้แล แม้ในอิริยาบถที่เหลือ มีอิริยาบถยืนเป็นต้น แต่ละอิริยาบถ ก็พึงทราบประการที่ควรรู้ ๓ ประการ มีประการว่า ใครยืน เป็นต้น ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วในอิริยาบถเดินนี้แหละ มีเรื่องที่ผู้ปฏิบัติพึงสำเหนียกเป็นอย่างยิ่ง ก็เกี่ยวกับกรรมฐานที่จะกำหนดพิจารณาด้านหนึ่ง กับสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นผู้กำหนดพิจารณาอีกด้านหนึ่ง เช่นเดียวกับในอิริยาบถเดินนั่นเทียว อย่างเช่นในเวลาที่พระโยคีนั่งอยู่ รูปนั่งที่พระโยคีจะพึงกำหนดพิจารณา ก็ได้แก่ อาการที่นั่งอยู่ ท่านั่ง ท่าทางที่เรียกว่านั่ง นั่นเทียว พระโยคีได้ชื่อว่า กำหนดพิจารณารูปนั่ง ก็เมื่อมีสติเข้าไปตั้งไว้ที่ท่านั่งนั้น คือมีความรู้สึกออกไปที่ท่านั่งนั้นจริง ๆ ไม่ใช่นึกถึงชื่อบริกรรมอยู่ที่ใจ และไม่ใช่ให้จิตจดจ่ออยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มีขาที่คู้อยู่หรือเหยียดอยู่ หรือตรงสะโพกส่วนที่ทับอยู่บนพื้นกระดาน เป็นต้น เพราะรูปนั่งไม่ใช่อวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้ของร่างกาย เช่นเดียวกับรูปเดินนั่นแหละ และเมื่อมีสติออกไปที่ท่านั่งนั้นได้แล้วเทียว ก็ทำความรู้ให้เกิดขึ้นว่า “ นี้ รูปนั่ง, กำลังดูรูปนั่งอยู่ “ ดังนี้ เป็นต้น

ท่านผู้ใดใคร่ในการศึกษาพึงทราบว่า ความรู้ประการแรกเป็นไปเพื่อถอนความเห็นผิดว่า มีอัตตา ซึ่งเป็นผู้เดิน ผู้ยืน ผู้นั่ง ผู้นอน ความรู้ประการที่ ๒ เป็นไปเพื่อถอนความเห็นผิดว่ามีบุคคลพิเศษที่เป็นพระโยคีเป็นต้น ความรู้ประการที่ ๓ เป็นไปเพื่อป้องกันตัณหาในการใช้อิริยาบถ ฉะนี้ แล
อรรถาธิบายเกี่ยวกับความรู้ ๓ ประการ ในอิริยาบถทั้งหลาย ก็มีโดยประการฉะนี้

หลักฐานการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

เมื่อพระพุทธเจ้าสอนการกำหนดการปฏิบัติสติปัฏฐาน หมวดพิจารณา “ อานาปานสติ “ จบลง คือว่าสามารถบรรลุธรรมแจ้งอิริยสัจ ๔ ได้ด้วยการดูลมหายใจ เข้า – ออก แล้ว ท่านก็ขึ้นข้อใหม่เลยว่า “ ปุนจปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ฯลฯ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ฯลฯ เป็นการแสดงว่าไม่ใช่จะปฏิบัติแต่ดูลมหายใจเพียงอย่างเดียว ข้ออื่นยังมีอีก ตลอดการเทศนาสติปัฏฐานก็ขึ้นต้นอย่างนี้ถึง ๔๔ หัวข้อ ต่อไปนี้เป็นหลักฐานจากพระไตรปิฏกและอรรถกถา พร้อมทั้งเหตุผล – ผลของการปฏิบัติวิปัสสนา หมวดพิจารณา “ อิริยาบถ ๔ “ ผู้รวบรวมเรียบเรียงโดยอาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์ จากหนังสือ อุบายดับทุกข์


พระอภิรักษ์ เตชปุญโญ
(ผู้รวบรวมจัดทำหนังสือ แนะแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนา, วิสุทธิ ๗ เนื่องในโอกาส ๑๐๘ ปี อุบาสิกาแนบ มหานีรานนท์ )

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2010, 06:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


หลักของวิปัสสนา และ ปรมัตถธรรม โดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
http://www.dhammajak.net/board/viewtopi ... 61&start=0

แนะแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา โดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6180

เหตุผลในการกำหนดอิริยาบถ โดย อาจารย์บุญมี เมธางกูร
http://www.abhidhamonline.org/Ajan/BM/hatpol.doc

ก้าวแรกของวิปัสสนา โดยหลวงพ่อเสือ
http://www.abhidhamonline.org/Ajan/Sua/kawraek.doc

หนังสือธรรมของ อภิธรรมมูลนิธิ
http://www.abhidhamonline.org/Ajan/book.htm

ชีวิตจะยุติการเกิดได้อย่างไร ?
http://larndham.org/index.php?showtopic=19097&st=2

คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐาน โดย ท่านพระครูศรีโชติญาณ
http://www.abhidhamonline.org/Ajan/SW/quest.doc

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2010, 07:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




avatar36381_1.gif
avatar36381_1.gif [ 13.54 KiB | เปิดดู 23447 ครั้ง ]
ข้างบน มีหลากหลายอาจารย์ จึงหลายความเห็น (ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน) จึงแปะ link เป็นหลักกลางให้

ไว้ด้วย

viewtopic.php?f=2&t=19015&p=86074#p86074

เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ

ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิม และ แตกต่างกันไปได้หลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอด

สืบต่อ มีพื้นความรู้ การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน

ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง นำเอาความรู้ ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่น

เข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง

อิทธิพลศาสนา และวัฒนธรรม ในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง

คำสอนบางแง่เด่นขึ้น

บางแง่เลือนลง เพราะการย้ำ และเลี่ยงความสนใจ ตามความโน้มเอียง

และความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง

ฯลฯ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 31 ม.ค. 2010, 09:01, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 05:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
ข้างบน มีหลากหลายอาจารย์ จึงหลายความเห็น (ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน) จึงแปะ link เป็นหลักกลางให้

ไว้ด้วย

viewtopic.php?f=2&t=19015&p=86074#p86074

เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ

ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิม และ แตกต่างกันไปได้หลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอด

สืบต่อ มีพื้นความรู้ การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน

ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง นำเอาความรู้ ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่น

เข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง

อิทธิพลศาสนา และวัฒนธรรม ในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง

คำสอนบางแง่เด่นขึ้น

บางแง่เลือนลง เพราะการย้ำ และเลี่ยงความสนใจ ตามความโน้มเอียง

และความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง
ฯลฯ



ขอยกตัวอย่าง ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิม และ แตกต่างกันไปได้หลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อ มีพื้นความรู้ การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน

ที่อาจจะเข้าใจว่าตนเองปฏิบัติตามแนวยุบหนอ พองหนอแล้ว เกิดวิปัสสนาญาณขั้นสูง


อ้างคำพูด:
จากหนังสือ พุทธวิปัสสนา ของอาจารย์สายยุบหนอ พองหนอ

ถ้าหากผู้ปฏิบัติรู้สึกขนลุกขนชัน หรือรู้สึกซู่ซ่าตามตัวหรือแขนขา หรือสะดุ้งขึ้นมาเฉย ๆ ก็ให้กำหนดว่า " ขนลุกหนอ" หรือ " ซู่ซ่าหนอ " หรือ "สะดุ้งหนอ" แล้วแต่กรณีอาการเหล่านั้นจะหายไป หรือถ้าเกิดสงสัยขึ้นมาในใจ เช่น สงสัยว่าว่า วิธีกำหนด " พองหนอ ยุบหนอ " เช่นนี้ จะทำให้บรรลุมรรคผลได้อย่างไร ดูไม่มีเหตุผลเลย หรือสงสัยว่า วิธีปฏิบัติอยู่นี้จะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่จะนำไปสู่มรรคผลได้หรือไฉน ก็ให้กำหนดว่า "สงสัยหนอ สงสัยหนอ" แล้วหันมากำหนด "พองหนอ ยุบหนอ" ใหม่ ความสงสัยจะค่อย ๆ คลายลงและหมดไปในที่สุด พร้อมกับเต็มใจที่จะปฏิบัติตามวิธีที่ทำมาแล้ว
เมื่อปฏิบัติถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันถือได้ว่า ผู้ปฏิบัติได้บรรลุถึง ปัจจยปริคคหญาณ โดยสมบูรณ์
!
!
!
กำลังใจของผู้ปฏิบัติในระยะนี้ จะอ่อนแอเกิดความท้อถอย คิดว่า ตนหมดวาสนาที่จะปฏิบัติธรรมเสียแล้วทำให้ไม่อยากปฏิบัติต่อไป และไม่อยากแม้แต่จะเข้าห้องปฏิบัติของตนเอง ถ้าปฏิบัติอยู่ในสำนักวิปัสสนาก็อยากจะหนีไปเสีย เพราะความเบื่อหน่าย และบางทีจะเตรียมเก็บข้าวของหีบห่อเพื่อกลับบ้าน เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจว่า ความรู้หรืออารมณ์ดังกล่าวนี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางจิตอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อญาณแก่กล้าขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์อย่างนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคน ฉะนั้นจะต้องพยายามปฏิบัติต่อไป ด้วยน้ำใจอันหนักแน่นไม่ท้อถอย และอย่าเลิกร้างการปฏิบัติเสียเป็นอันขาด อีกไม่ช้านักก็จะถึงจุดมุ่งหมายปลายทางอันเป็นยอดปรารถนา

ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นลักษณะของ มุญจิตุกัมยตาญาณ ซึ่งโบราณขนานนามว่า " ญาณม้วนเสื่อ " เพราะเมื่อถึงญาณนี้ ผู้ปฏิบัติมักจะม้วนเสื่อและเก็บข้าวของกลับบ้านเนื่องจากเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งหลาย
เมื่อได้หันกลับมาตั้งใจปฏิบัติเดินจงกรม และนั่งวิปัสสนาต่อไป ความเบื่อหน่ายและความท้อถอยก็จะค่อยๆ อันตรธานและหายไป ให้เปลี่ยนวิธีเดินจงกรมใหม่ คือเพิ่มการเดินห้าจังหวะเข้าด้วย

------------------------------------------------------------------



หรือ คิดเอาความเห็นของตน ไปอธิบายรายละเอียดในการปฏิบัติ เช่น วิปัสสนาปัญญาที่เห็นการเกิดดับ ถึง ๖ ครั้ง ของพระสารีบุตร (ผู้มีปัญญามาก)

อัตตโนมติรุ่นหลัง ก็มาอธิบายว่า คือ การกำหนดการเดินให้ได้ ๖ ระยะ

แต่พระวิปัสสนาจารย์ผู้ทรงพระไตรปิฏก อย่างพระครูศรีโชติญาณ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

อ้างคำพูด:
การเดินตามหลักของการเดิน

ในหมวดอิริยาบถ ๔ อย่าง คือ การเดิน ยืน นั่ง หรือนอนนี้ ในพระบาลีมหาสติปัฏฐานสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรตี แปลว่า ผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่ อันนี้หมายความว่า คำว่า กาเย เป็นคำรวมกันอยู่ของการเดิน ยืน นั่ง หรือนอน แต่เวลาจะใช้อิริยาบถ ๔ เราไม่ได้เอามาใช้พร้อมกัน เพราะความจริงมันใช้พร้อมกันไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ในพระบาลีจึงได้ทรงแยกออกมาพิจารณาทีละอิริยาบถ ซึ่งตรงกับพระบาลีว่า กายานุปสฺสี ตัดบทออกเป็น กายํ และ อนุปสฺสี ที่แปลว่า พิจารณาหรือดูกายคือ อิริยาบถที่กำลังปรากฏอยู่เนือง ๆ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องสังวรระวังอยู่ในอิริยาบถเนือง ๆ เป็นอินทรีย์สังวรศีล มีสติตั้งมั่นอยู่ในท่าเดินนั้นและมีสัมปชัญญะรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า การเดินเป็นอะไร คือ เป็นรูปหรือเป็นนาม ถ้าเป็นรูป จะต้องรู้ด้วยว่าเป็นรูปอะไร เพราะมีรูปอยู่ด้วยกันหลายรูป

อีกประการหนึ่ง การที่จะผลัดเปลี่ยนจากอิริยาบถหนึ่งไปหาอิริยาบถหนึ่ง มิใช่อยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปตามใจชอบไม่ได้ ต้องมีความจำเป็นจึงต้องเปลี่ยน และจะต้องรู้ด้วยว่าจะเปลี่ยนไปทำไม เพื่ออะไร ถ้าไม่เปลี่ยนจะได้ไหม แม้ในอิริยาบถอื่น ๆ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน ความจริงตัณหาและทิฏฐิที่เป็นอนุสัยมันคอยนอนเนื่องอยู่ในความรู้สึก คือรู้สึกว่าเราเดิน การเดินเป็นเรา อันนี้เพราะถูกความไม่รู้ปิดบังเป็นเจ้าเรือนอยู่ ถูกอวิชชาหุ้มห่ออยู่อย่างสนิท ถ้าไม่มีวิชาคือ วิปัสสนามาเปิดขึ้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายจะไม่เห็นความจริงคือทุกข์ได้เลย เมื่อไม่เห็นความจริงก็หลุดพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้

ส่วนรายละเอียด ข้าพเจ้าได้นำเอาเรื่องของโยนิโสมนสิการของนักปฏิบัติในสำนักวิวัฏฏะมาประกอบเพื่อให้ผู้ประสงค์จะปฏิบัติได้ใช้ดุลยพินิจแล้วนำไปใช้ตามสมควรแก่เหตุเกิด

ส่วนการเดิน ๖ ระยะหรือเดินเป็นหมู่ ๆ นับเป็นเพียงมติของการปฏิบัติของท่านอาจารย์มหาสีสยาดอแห่งสำนักปฏิบัติศาสนยิ๊ดต้าแห่งสหภาพพม่า ซึ่งสำนักนี้ตั้งอยู่หลังวัดพระนอนใหญ่ในเมืองร่างกุ้งที่อาตมาไปเรียนปริยัติอยู่ อาตมาได้เดินผ่านวัดสำนักนี้แทบทุกวันขณะไปบิณฑบาต หรือไปไหว้พระธาตุร่างกุ้ง จำต้องผ่านสำนักนี้อยู่แล้ว แม้ตัวท่านอาจารย์มหาสีเองอาตมาก็เคยได้ไปนมัสการท่าน เพราะท่านเป็นพระมหาเถระที่มีอัทธยาศัยเยือกเย็นน่าเคารพบูชา แต่ก็น่าแปลกประหลาด ทำไมอาตมาจึงไม่มีศรัทธาที่จะปฏิบัติอยู่ในสำนักนั้น แต่กลับไพล่ไปปฏิบัติอีกสำนักวิปัสสนาชื่อสำนักชะนะมารซึ่งตั้งอยู่ทางทิศอินเส่ง เป็นแบบอิริยาบถบรรพแบบเดียวกับของท่านอาจารย์วิลาสะ วัดปรก ที่บ้านทะวายทางตรอกจันทร์ เพราะท่านอาจารย์วิสุทธิมรรคเมธาวี เจ้าสำนักชะนะมาร ท่านเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกันกับท่านวิลาสะ วัดปรก ที่เป็นอาจารย์ของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ซึ่งโยมอาจารย์แนบก็ได้เป็นคู่สนทนาธรรมกับพระสุขและอาตมามานาน ก่อนพระอาจารย์โชติกะจะมาจากพม่า และก่อนพระอาจารย์บุญมี เมธางกูร จะมาเลื่อมใสโยมแนบด้วยซ้ำไป

พูดถึงเรื่องการเดิน ๖ ระยะ
เรื่องนี้มีแสดงไว้ในขอบเขตของสัมมสนญาณ ซึ่งอยู่ในส่วนของมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ เมื่อเกิดปัญญาแล้วจึงเห็นเป็นระยะ ๆ แบบนั้น แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติมาจัดทำกันขึ้นเอง เหมือนอย่างที่กำลังทำกันอยู่ในทุกวันนี้


---------------------------------

คุณกรัชกายครับ เห็นตัวอย่างของ สายยุบหนอ พองหนอ ของคุณที่เข้าใจพุทธธรรมแปรเปลี่ยนไปจากเดิมแล้วนะครับ

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2010, 07:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณเฉลิมศักดิ์ cool
ว่าเขา เขาก็ว่าเรา มันเวียนวนกันอยู่อย่างนี้แหละ
ถ้าไม่มาว่ากัน ( ไม่สร้างเหตุ ) ก็คงไม่มีใครมาว่าเรา ( ผล )
ครูบาฯทุกท่านก็ไม่แตกต่างกับเราหรอก ท่านเองก้ต้องรับผลจากการที่ว่าคนอื่นๆไว้
เสียดายที่คุณเฉลิมศักดิ์ ไม่เคยเจอสภาวะด้วยตัวเอง
เลยต้องยกทางโน้น ทางนี้มาอ้าง
สุดท้ายก็เลยกลายเป็นมาละเมิดครูบาฯกัน
เอ้า!!! ยกมาให้อ่านนะ สายพม่า กับ หลวงพ่อพุทธทาส
เห็นสภาวะเดียวกัน แต่เขียนคนละอย่างเท่านั้นเอง
อ้อ ... มีของฆราวาสต่อท้ายนิดนึง ลองอ่านดูละกัน





บัญญัติ-ปรมัตถ์


สภาวะโดยการเปรียบเทียบใหนภาพที่ชัดเจนทั้งของพม่า และของไทย ถึงแม้คำพูดจะแตกต่าง แต่สภาวะเดียวกัน

สันตติขาด ฆนบัญญัติแตก

เมื่อโยคีบุคคลได้กำหนดพิจรณาในสังเขตธรรมรูป,นามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าตามสภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยอยู่ สันตติบัญญัติและฆนบัญญัติที่กำบังปกปิดการเกิดดับของสังเขตธรรมรูป,นามที่ขาดแตกไป เป้นความเห็นที่บริสุทธิ์เกิดขึ้นเวลาใด เวลานั้นวิปัสสนาญาณของโยคีบุคคลก็เข้าถึงความเป็นอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นได้ หมายความว่า ผู้ที่ไม่มีการกำหนดรู้ในสังเขตธรรมที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าทุกๆระยะของจิตและรูปนั้น อย่าว่าแต่ความเกิดดับของสังเขตธรรมรูป,นามเลย แม้แต่รูปนามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าก็ไม่รู้ไม่เห็นเสียแล้วคงรู้คงเห็นแต่บัญญัติ เช่น
เมื่อได้เห็นสีก็คงรู้คงเข้าใจไปในแง่ที่ว่านี้ ชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ สัตว์ ต้นไม้ บ้านเรือน ผ้าผ่อน
เมื่อได้ยินเสียง ก็คงรู้คงเข้าใจไปในแง่ที่ว่านี้เป็นเสียงชาย หญิง สัตว์ ดนตรี หัวเราะ ร้องไห้
เมื่อได้กลิ่น ก็คงรู้คงเข้าใจไปในแง่ที่ว่านี้ เป็นกลิ่นดอกไม้ กลิ่นของหอม กลิ่นอาหาร กลิ่นอุจจาระ
เมื่อได้รส ก็คงจะรู้คงเข้าใจไปในแง่ที่ว่านี้ รสมะขาม มะนาว ส้ม ผลไม้ พริก เกลือ น้ำตาล
เมื่อได้สัมผัสกับความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ก็คงเข้าใจไปในแง่ที่ว่านี้ น้ำแข็ง น้ำร้อน ไฟ สำลี นุ่น ไม้ มีด อิฐ หิน พอง ยุบ ร่างกาย หย่อน เบา แข็ง ตุง หนัก ยกมือ ยกขา ดังนี้เป็นต้น
นี้เป็นโดยสันตตบัญญัติและฆนบัญญัติได้กำบังปกปิดในอารมณ์ภายนอกต่างๆและอารัมมณิกวิถีจิตภายในเอาไว้นั่นเอง จึงมีความรู้ความเข้าใจไปดังนี้ เรียกว่า สันตติบัญญัติไม่ขาด ฆนะก็ไม่แตก

แต่ความเป็นจริงนั้น ขณะที่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ รูปารมณ์เก่าย่อมดับไป รูปารมณ์ใหม่เกิดขึ้น ติดต่อกันไม่ขาดสาย ผู้เห็นคงเห็นแต่รูปารมณ์ที่เกิดใหม่ตลอดระยะเวลาที่ดูอยู่ วิถีจิตที่เกิดขึ้นรับรูปารมณ์คือ การเห็นนั้นแล้ว ก็มีการเห็นเก่าดับไป การเห็นใหม่เกิดแทน ติดต่อกันโดยไม่ขาดสายเช่นกัน แต่แล้วผู้ดูอยู่ก็เห็นผิดเข้าใจไปในรูปารมณ์และการดูของตนว่า รูปารมณ์ที่ตนดูอยู่ก็ดี การเห็นของตนที่กำลังเห็นก็ดี ในนาทีแรกและนาทีหลังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคงที่อยู่เป็นปกติ ขณะได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัสอยู่ เสียงกับการได้ยินก็ดี กลิ่นกับการได้กลิ่นก็ดี รสกับการกินก็ดี เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง กับการสัมผัสก็ดี เหล่านี้มีสภาวะเช่นกันคือ เก่าดับไป ใหม่เกิดขึ้นติดต่อกันไปไม่ขาดสาย แต่แล้วก็มีการเข้าใจผิดไปว่าเป้นอันหนึ่งอันเดียวกันคงที่อยู่ปกติ การเกิดขึ้นสืบต่อกันแห่งอารมณ์ภายนอกและอารัมมณิกวิถีจิตภายในเป็นสันตติบัญญัติ การเกิดขึ้นสืบต่อเนื่องกันไปมีสภาวะไม่ขาดสายแห่งอารมณ์ภายนอกและอารัมณิกวิถีจิตภายในนั้น ซึ่งคล้ายๆกับเป็นกลุ่มเป็นกอง นี้เป็น ฆนบัญญัติ ในบัญญัติ ๒ ประการนี้ เมื่อสันตติบัญญัติปรากฏในใจ ฆนบัญญัติก็ปรากฏในในพร้อมๆกัน ดังนั้นจะเรียกรวมกันทั้งสองอย่างว่าสันตติฆนบัญญัติก็ได้
สันตติฆนบัญญัติได้กำบังปกปิดไว้ดังกล่าวนี้แหละ จึงทำให้ผู้ที่ไม่มีสติกำหนดรูป,นามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้า ไม่มีใครได้รู้เห็นความเกิดดับที่เป็นอนิจจลักขณะได้

ฝ่ายผู้ที่ทำการกำหนดสังเขตธรรมรูป,นามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้า โดยมีสติรู้อยู่ติดต่อกันไม่ขาดสายนั้น ย่อมรู้เห็นแทงทะลุปรุโปร่งสันตติฆนบัญญัติ ที่กำลังปกปิดการเกิดดับของสังเขตธรรมรูป,นามไปได้ โดยการกำหนดรู้เห็นวิถีจิตที่ก่อเกิดก่อนและวิถีจิตที่เกิดขึ้นทีหลังในระยะเวลาที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสกับ ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เมื่อย เจ็บ ปวด ดีใจ เสียใจ นึกถึงต่างๆเหล่านี้ขาดลงเป็นตอนๆไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกัน ในด้านรูปนั้น ก็คงกำหนดรู้เห็นรูปที่เกิดก่อนและรูปที่เกิดหลัง ในระยะเวลาที่พองขึ้น ยุบลง หายใจเข้า หายใจออก ยกมือ ยกขา ก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง ลุกขึ้น นั่งลง เหลียวซ้าย แลขวา กระพริบตา อ้าปาก เหล่านี้ขาดเป็นตอนๆ ไม่ใช่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การรู้เห็นในวิถีและอารมณ์ขาดเป็นตอนๆดังนี้เรียกว่า สันตติบัญญัติขา,ฆนบัญญัติแตก อนิจจลักขณะคือ ความเกิดดับไปก็ปรากฏขึ้น เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณของผู้นั้นได้เข้าถึงอนิจจานุปัสสนาที่แท้จริง

จาก วิปัสสนาทีปนีฎีกา รจนาโดย หลวงพ่อภัททันตะ อาสภมหาเถระ


หลักการดูและเห็นทางจิต

-- ข้อที่ต้องเปรียบเทียบกันตั้งแต่ขั้นต่ำสุด คือ ขั้นที่ดูด้วยตาธรรมดา เช่น จดไว้ในกระดาษแล้วเราก็ดูด้วยตา แล้วก็เห็น มันก็เห็นตัวหนังสือที่เขียนว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ก็ดูตัวหนังสือในกระดาษแล้วก็เห็นนะ มันไม่เห็นธรรมะ เพราะมันไม่ได้ดูด้วยธรรมจักษุ มันดูด้วยตาเนื้อ ต่อเมื่อดูด้วยธรรมจักษุ จึงจะเห็นธรรม ซึ่งดูด้วยตาเนื้อไม่เห็น
-- ธรรมจักษุที่จะเห็นธรรมนั้น มันต้องดูด้วยอะไร? ลองสังเกตุของตัวเองดู ในบาลีก็มีคำว่า ธัมมจักขุง จักษุสำหรับเห็นธรรม ก็คือ ปัญญา หรือเจตสิกธรรม ที่เป็นกลุ่มของปัญญานั่นแหละ ปัญญานี้มันต้องอาศัยการดูด้วยจิตที่เป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วก็น้อมไปเพื่อจะเห็น ฉะนั้น เราจะต้องทำปัญญาจักษุกันอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นอยู่ด้วยปัญญาจักษุ ไม่ใช่ปากว่าบริกรรม แต่ให้รู้สึกเห็น เห็นอย่างรู้สึก รู้สึกอย่างที่เห็น นับตั้งแต่ดูด้วยตา แล้วก็ดูด้วยปัญญา แล้วก็รักษาการดูนั้นไว้ด้วยปัญญา ยกตัวอย่างเรื่องที่พวกเราทำกันอยู่เป็นประจำ คือว่า เดินจงกรมนี้ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ถ้าดูที่เท้าด้วยตา มันก็คือการเห็น ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ดูด้วยตา ดูที่เท้า ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องศึกษาด้วยปัญญาก่อนจนเห็นว่า มันมีแต่ การยกหรือย่าง หรือเหยียบ เท่านั้นหนอ ไม่มีบุคคล ผู้ยก ผู้ย่าง ผู้เหยียบเลย เพราะว่าเรื่องธรรมะขั้นปัญญานั้น มันไม่ใช่ยกเท้าขึ้นมา แล้วยื่นออกไป แล้วเหยียบลง ตัวอย่างนี้ มันเป็นเรื่องสติ หรือสมาธิ
-- ยกหนอ หมายความว่า มันสักว่ามีการยกเท้า มีเท้าที่ยกขึ้นแล้วหนอ แต่ไม่มีบุคคล ที่เป็นผู้ยกหรือเป็นเจ้าของเท้านี้ ให้เขาบริกรรมสั้นมากกว่า ยกหนอ เท่านั้น ถ้าทำได้ลึกอย่างนั้น มันก็เป็นการเห็นอยู่ เห็นธรรมะอยู่ เมื่อยก ย่าง เหยียบนั่นแหละ สักว่าการยกเท้าเท่านั้นหนอ สักว่าการย่างเท้าไปเท่านั้นหนอ สักว่าการเหยียบเท้าลงเท่านั้นหนอ นี่มันลึกมาก มันเป็นหัวใจของธรรมะทั้งหมด คือว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ถ้าทำถึงที่สุดเป็นวิปัสสนา มีความหมายอย่างนี้
-- ถ้าทำในขั้นริเริ่มต้นๆ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เป็นขั้นสติ ว่าสติอยู่ที่เท้ายกขึ้นมา ที่เท้าเสือกไป ที่เท้าหย่อนลง ก็เป็นสติเท่านั้น ยังไม่ใช่ปัญญา ยังไม่ใช่การเห็น เป็นการควบคุมด้วยสติหรือว่าการที่มีสติมั่น ผูกพันติดอยู่กับเท้าที่ยก ย่าง เหยียบนี้ อย่างนี้มันก็เป็นสมาธิ ยังไม่ใช่ตาเห็นธรรม ยังไม่ใช่เห็นในขั้นวิปัสสนา ขั้นวิปัสสนามันก็ต้องเห็นที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่แท้ที่จริงแล้ว ต้องการให้เห็นอนัตตาหรือสุญญตา ว่าไม่มีสัตว์ บัคคล ตัวตนอะไรที่ไหน ซึ่งเป็นผู้ยก ผู้ย่าง ผู้เหยียบ ตัวธรรมะแท้ เห็นด้วยปัญญา เรียกว่า วิปัสสนา
-- ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ไม่เพียงแต่ว่าเป็น สติ หรือว่าเป็นสมาธิ และไม่ได้หมายความว่า เห็นด้วยตา ความจริงการดับกิเลสตัณหานี้ ดับด้วย อนัตตา เพียง อนิจจังยังไม่ดับ ต้องให้เห็นทุกขัง เพียงทุกขัง ยังไม่ดับ ต้องเห็นอนัตตา มันจึงจะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด บรรลุมรรคผลได้ ให้เห็นว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเป็นอนัตตา เอาปัญญาเป็นจักษุ ธรรมจักษุนี้มาดูอยู่ด้วยกันตลอดเวลาทุกอริยาบถ เมื่ออริยาบทยืนก็ยืนหนอ สักว่าการยืนหนอ ไม่มีเจ้าของตัวผู้ยืน เมื่อเดินนี้แยกเป็น ยก ย่าง เหยียบนี้ มันก็สักว่า ยก ย่าง เหยียบ ไปตามเหตุ ปัจจัยของมันเท่านั้นเองหนอ ไม่มีส่วนไหนที่จะเป็นบุคคล ตัวตนอันแท้จริง เพราะฉะนั้น ทุกๆหนอ อาจจะทำให้เป็นวิปัสสนาได้ ถ้าขั้นฉันอาหาร หยิบหนอ ยกหนอ ใส่ปากหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ นี่ก็เหมือนกันอีก สักว่ามือมันหยิบอาหารมาด้วยเหตุปัจจัยนามรูปอะไรก็ตาม ไม่มีกู ไม่มีกูผู้หยิบอาหาร ไม่มีกูผู้กินอาหาร ไม่มีผู้กลืนหนอ อร่อยหนอ ไม่มีตัวตนแห่งความอร่อย ไม่มีตัวตนแห่งบุคคลอร่อยเลย
-- จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะอาบ จะถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ ทุกอย่างแหละ ใส่คำว่า หนอ แล้ว มันเป็น สักว่า เท่านั้น หรือ เช่นนั้น เท่านั้นหนอ มันเป็นวิปัสสนาอยู่ในอริยาบถนั้นๆถึงกับว่าจะบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ในอริยาบถนั้นๆอยู่ก็ได้ เพราะว่าเป็นวิปัสสนา
-- การดูและการเห็น มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเมื่ไร ในอริยาบถไหนมันก็เกิดบรรลุมรรคผลขึ้นได้ ในอริยาบถนั้นๆที่นั่น และเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น เราทำให้ดีๆสิ ทำให้ถูกๆ ให้ดีๆ ให้เป็ยวิปัสสนา คือ ดูและเห็น อยู่ด้วยปัญญาจักษุ ก็จะบรรลุธรรม คือ บรรลุมรรคผล
-- สรุปความว่า ขอให้ปฏิบัติถึงขั้นที่มันเป็นวิปัสสนา เช่น ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ก็ให้ถึงขั้นวิปัสสนา คือ รู้อยู่แก่ใจแจ่มชัดว่า มันสักว่า อริยาบถ ยก ย่าง เหยียบ เท่านั้นหนอ ไม่มีผู้ยก ย่าง เหยียบ สักว่า เป็นกิริยา อาการของการ ยก ย่าง เหยียบ เท่านั้นหนอ นี้เรียกว่า วิปัสสนา คือ การเห็น

รจนาโดย หลวงพ่อพุทธทาส





ภาพแบบ matrix เป็นเรื่องของสมาธิและสติ ทำงานร่วมกันในระดับหนึ่ง
สภาวะนี้สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

แต่ถ้าสมาธิและสติที่มีกำลังมากกว่านั้น จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมากกว่านั้น
คือจะเห็นภาพหรือกิริยาของการเคลื่อนไหว ขณะนั้นๆ ขาดออกจากกันเป็นตอนๆค่ะ
ไม่เป็นสายแบบ matrix เขาเรียกว่า สันตติขาด ฆนะบัญญัติแตก
สภาวะนี้เห็นได้แค่ทางจิตทางเดียวเท่านั้น

ถึงบอกคุณเฉลิมศักดิ์ไงคะ ถ้าคุณเคยพบกับสภาวะนี้แล้ว
มันจะง่ายมากเวลาคุณอธิบาย ไม่ต้องไปเอาครูบาฯที่ไหนมาอ้างอิงด้วย
ไม่มายึดติดด้วยว่า อ๋อ ญาณนี้ๆ เพราะให้ดูกิเลส ไม่ใช่มาดูกันที่ญาณ
ญาณน่ะแค่บัญญัติ มีไว้สำหรับเปรียบเทียบสภาวะที่ปรากฏขึ้น
เพื่อสื่อสารไปทางเดียวกัน ไม่ใช่มายึดกันจนสุดโต่ง
แค่นำมาอธิบายให้รู้เฉยๆว่า สภาวะนี้มันมีคำเรียกนะ เท่านั้นเอง

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2010, 07:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว



อ่านสภาวะแล้วเข้าใจว่ากระไรบ้าง ไม่เห็นเล่าสู่กันฟังบ้างเลยนะคะ :b12:

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2010, 12:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ถามเฉลิมศักดิ์

ปัญญา

ปริญญา

ญาณทัสสนะ

อะไรเป็นตัวตรัสรู้

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2010, 07:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
วลัยพร เขียน
อ่านสภาวะแล้วเข้าใจว่ากระไรบ้าง ไม่เห็นเล่าสู่กันฟังบ้างเลยนะคะ

อ่านสภาวะแล้วเข้าใจว่ากระไรบ้าง ไม่เห็นเล่าสู่กันฟังบ้างเลยนะคะ :b12:



อ่าน อัตตโนมติ และอาจาริยวาท ที่คุณวลัยพรนำมาแสดงแล้ว

ไม่มีรายละเอียดในการปฏิบัติ เป็นการแสดงแบบคลุมเครือ

ผมขออ่าน อรรถกถา ฏีกา และที่พระวิปัสสนาจารย์ผู้ทรงพระไตรปิฏก บรรยายไว้ดีกว่าครับ

พระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
viewtopic.php?f=2&t=29201

แนะแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/smati/5.html


แต่คนที่ติดคำภาวนา หนอ ๆ ๆ ๆ ๆ แล้ว ไม่ทำความรู้สึกออกไปดูของจริง อย่างคุณวลัยพร คุณกรัชกาย

คงยากที่จะเข้าใจ ในสิ่งที่ พระไตรปิฏก อรรถกถา และพระวิปัสสนาจารย์ท่านบรรยายไว้

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2010, 08:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว



รู้สึกว่าคุณจะบ้า " หนอ " นะ
ขนาดเราว่าเราเคยฝึกด้านการใช้หนอมา ยังไม่คลั่งไคล้หนอเหมือนคุณเลย :b6:
แล้วก็ไม่มายึดติดติดกับหนอแหนแบบที่คุณนำมาพูดด้วย
แทนที่จะรู้จักสนทนาดีๆ กลับมาพูดจาประชดประชัน
คุณมารู้ได้ยังไง?
ขออภัยนะ เราไม่ใช่พวกคลั่ง " หนอ "

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2010, 09:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


chalermsak เขียน:
อ่าน อัตตโนมติ และอาจาริยวาท ที่คุณวลัยพรนำมาแสดงแล้ว

ไม่มีรายละเอียดในการปฏิบัติ เป็นการแสดงแบบคลุมเครือ

ผมขออ่าน อรรถกถา ฏีกา และที่พระวิปัสสนาจารย์ผู้ทรงพระไตรปิฏก บรรยายไว้ดีกว่าครับ

พระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
viewtopic.php?f=2&t=29201

แนะแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/smati/5.html


แต่คนที่ติดคำภาวนา หนอ ๆ ๆ ๆ ๆ แล้ว ไม่ทำความรู้สึกออกไปดูของจริง อย่างคุณวลัยพร คุณกรัชกาย

คงยากที่จะเข้าใจ ในสิ่งที่ พระไตรปิฏก อรรถกถา และพระวิปัสสนาจารย์ท่านบรรยายไว้


อ้าว คุณเฉลิมศักดิ์มาโผล่ที่นี่ :b32:

รู้ตำราทั้งหมด แต่สงเคราะห์เนื้อหาสาระในตำราเข้ากับชีวิตไม่ได้ นั่นคือการรู้ผิด ไม่เกิดประโยชน์ต่อชีวิต

มนุษย์เท่าที่พึงมีพึงได้ พูดให้เห็นชัดก็รู้เหมือนโฆษกงานปิดทองฝังลูกนิมิตตามงานวัด :b28:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2010, 09:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




53.gif
53.gif [ 150.33 KiB | เปิดดู 23243 ครั้ง ]
คุณวลัยพร ให้กรัชกายกับคุณเฉลิมศักดิ์สนทนากันสองคน

คุณสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ เพื่อกันคุณเฉลิมศักดิ์ปลิ้นไปทางอื่นได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2010, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




picture-5576.gif
picture-5576.gif [ 2.45 KiB | เปิดดู 23221 ครั้ง ]
อ้างคำพูด:
(เฉลิมศักดิ์เขียน)
สติ แปลว่า การตามระลึกรู้อารมณ์

ปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้ง (ของการเพ่ง)

สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง ฐาน หรือที่ตั้งอันเป็นที่รองรับของการกำหนดสติอย่างประเสริฐ เพราะเป็นการตามระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ (รูป-นาม) ที่เกิดขึ้นตามฐาน ซึ่งมี ๔ ฐานด้วยกัน คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ผู้ใดที่มีการปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักของสติปัฏฐาน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาปัญญา อันเป็นปัญญาที่เข้าถึงสภาวธรรมของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ในที่สุด ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ สามารถทำลายวิปลาสธรรม ๔ ประการได้




คุณเฉลิมศักดิ์ครับ :b1:

-ปฏิบัติสติปัฏฐานยังไงครับที่ว่า ปฏิบัติถูกต้อง ?

-รูป กับ กาย เหมือนกันหรือต่างกันครับ



ถามที่กระทู้นี้

viewtopic.php?f=2&t=29011&st=0&sk=t&sd=a&start=105

คุณไม่ตอบ หลบหลีกมานี่ จึงต้องนำมาถามตรงนี้ :b28:

ตอบด้วยครับ รูป กับ กาย ต่างกันหรือเหมือนกัน :b13:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2010, 07:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


พฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ไม่น่าปรารถนาที่มักเกิดกับนักศึกษาธรรมะ(นักปฏิบัติธรรม) บางท่าน
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=16059

ข.มีพฤติกรรม สวนกระแสพระสัทธรรม เช่น
๑)อติมานี มีมานะจัด มีนิสัยหยาบกระด้าง (ปากร้าย ชอบทะเลาะ เบาะแว้ง ) บุคคลอื่นแนะนำตักเตือนไม่ได้
๒)โกธาภิภูโต มักโกรธ หงุดหงิดรำคาญง่าย ไร้เหตุผล
๓)พหุภาณี พูดมาก ไม่รู้จักกาลเวลา ไม่เลือกสถานที่ และบุคคล ขาดความสุภาพ
๔)สาเถยยมายาวี เป็นคนเจ้าเล่ห์ มารยา มีเจตนาแอบแฝงที่ไม่ดี หน้าด้าน ไม่รู้จักอาย เป็นคนแก้อยาก


คุณกรัชกายครับ ผมว่าพฤติกรรมของคุณที่แสดงผ่านความเห็นต่าง ๆ ดูเบี่ยงเบนไปเรื่อย ๆ แล้วนะครับ

ของดการสนทนากับคุณกรัชกาย ก่อนนะครับ

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron