วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2010, 10:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สังฆานุสติ

หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย

สังฆานุสติ การระลึกถึงคุณพระสงฆ์ พระสงฆ์ในที่นี้มี ๒ อย่าง สมมติสงฆ์ อย่างหนึ่งและอริยสงฆ์ อย่างหนึ่ง

สมมติสงฆ์นั้นใช้เรียก กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนผุ้มีกัลยาณธรรมงามเรียบร้อยทุกสิ่งทุกอย่าง ถือพระวินัยตามสิกขาบทนั้น ๆ ตามสมควร กิริยามารยาทภายนอกงามทุกสิ่งทุกประการ ถึงแม้ไม่เป็นอริยบุคคล แต่เป็นคนงาม เรียกว่า กัลยาณปุถุชน

ส่วนพระอริยสงฆ์อย่างที่เรากล่าวกันอยู่เสมอ ๆ ว่า

สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดี

อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรง

ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์

สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติน่ากราบไว้และบูชา

ผู้ที่ปฏิบัติเช่นนี้มี ๔ คู่ ๘ บุคคลเท่านั้นคือ

โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล

สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล

อนาคามิมรรค อนาคมมิผล

อรหัตตมรรค อรหัตตผล

เมื่อพิจารณาถึงเรื่อง สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดี ในที่นี้ ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาวัด ปุถุชน ผู้พากันอยากจะได้พระอริยบุคคลนักหนา แต่ว่าอริยบุคคลนั้นเป็นเช่นไรก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ปฏิบัติดีนั้นเอาอะไรเป็นเครื่องวัด ไม่มีใครวัดได้เลย เรานี่แหละวัดเอาเอง เราเห็นของเราเอง เรารู้ของเราเอง คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่าง บางองค์ที่เขาไม่ชอบเขาก็หาว่าไม่ดี บางองค์นั้นเลวจะตายเขาก็นิยมนับถือฉะนั้นจึงว่าจะเชื่อคนอื่นไม่ได้ เอาเรานี่แหละเป็นตัวกลางเป็นผู้ส่องดูและปฏิบัติตัวของเราเอง ย่อมเห็นของเราเองรู้ของเราเอง

คำว่า ปฏิบัติ ในที่นี้หมายความถึง อาการภายนอกพร้อมทั้งภายใน จะเป็นกายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี ตรงกันหมด เวลาปฏิบัติเราต้องเห็นด้วยตัวเอง เราปฏิบัติอย่างไร เราทำอะไร เราอยู่ด้วยอาการอย่างไร อะไรผิด อะไรถูก ดีชั่วหยาบละเอียด เห็นด้วยตนเอง สิ่งที่เป็นความชั่วนั้น ตนรู้แล้วก็ยังฝ่าฝืนทำอยู่ อันนั้นไม่ใช่ปฏิบัติดีแล้ว การเห็นด้วยตนเอง เช่นอย่างที่เรามาบวชเป็นพระเป็นเณรนี้ กาย วาจา ใจ ของเราเป็นอย่างไร มันตรงกันไหมกับคำที่เรียกว่า สมณะ หรือเรียกว่า พระก็ดี

สมณะคือผู้สงบแล้ว กาย วาจา ใจ ของเราสงบไหม สงบไม่ได้หมายความว่าไม่พูด พูดเหมือนกัน แต่พูดในทางที่ชอบ เราปฏิบัติธรรมต้องพูดในธรรม พูดในศีล พูดในกิจวัตรข้อวัตร นั่นจึงเรียกว่าปฏิบัติตรง มิใช่ว่าเราปฏิบัติอย่างหนึ่ง เวลาพูดก็พูดอีกอย่างหนึ่ง ทำก็ทำอีกอย่างหนึ่ง ที่คิดนั้นก็ไปคิดอีกอย่างหนึ่ง เช่นบวชเป็นพระเป็นเณรแต่ไปคิดเรื่องฆราวาส กิจของฆราวาสหน้าที่ของฆราวาส อย่างนั้นมันจะใช้ได้หรือ มันจะเป็น “ สุปฏิปนฺโน ” ได้อย่างไร มาบวชเป็นแม่ชี มาเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ฉันเดียวกันนั่นแหละ ฐานะของเราเป็นอย่างไรเรามาปฏิบัติอะไร ต้องให้รู้เรื่องของเราว่ามันตรงกับกิจของเราหรือไม่ “ อุชุปฏิปนฺโน ” จึงจะเป็นการปฏิบัติตรงกับความบริสุทธิ์ มันจะผิดพลาดไปไหน เมื่อคอยระมัดระวังอยู่เรื่อย ไม่แวะเวียน ไม่ให้ไปส่งทางโน้นทางนี้มันก็ตรงต่อศีล ตรงต่อธรรม ตรงต่อข้อวัตรปฏิบัติ ตรงต่อธรรมวินัย

ครั้นเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็เป็น “ ญายปฏิปนฺโน ” ปฏิบัติถูกหนทางไปในตัว เป็น “ นิยฺยานิกธรรม ” นำผู้ปฏิบัติให้ผลจากทุกข์ นั่นคือปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงหมายความว่า เอาข้อวัตรปฏิบัติหรือความประพฤตินี่แหละทั้งกาย วาย และใจ เป็นเครื่องวัด เป็น “ ญายปฏิปนฺโน ” ปฏิบัติมุ่งต่อความบริสุทธิ์ มุ่งต่อมรรคผล พระนิพพานครั้นปฏิบัติเช่นนั้นแล้วก็เป็น “ สามีจิตปฏิปนฺโน ”

ใครจะไม่กราบไม่ไหว้ ใครจะไม่บูชา ใครจะไม่เคารพนับถือ มันต้องเคารพนับถือแน่ทีเดียว การกราบไหว้ของเขาก็ไม่เสียผล ทายกทายิกาทำบุญก็ไม่เสียผลทำน้อยพลอยได้มากเสียด้วย นี่แหละเป็นเครื่องวัด

อริยสงฆ์ไม่ได้หมายเอาเฉพาะบุคคลผู้เป็นพระอย่างเดียว ฆราวาสก็เป็นเหมือนกัน คือท่านถือเอาข้อปฏิบัติ เช่น สุปฏิปนฺโน เป็นต้น เป็นเครื่องงัดของผู้นั้นผู้เป็นพระ ปฏิบัติในฐานะของพระ รู้จักฐานะของตน เป็นเณรก็รู้จักฐานะของตน อุบาสก อุบสิกา ก็รู้จักฐานะของตน อยู่ในขอบเขตของฐานะของตน ก็เป็นอริยสงฆ์ได้ บางทีสงฆ์ปฏิบัติเลวกว่าฆราวาสก็มี มันจะเป็นอริยะได้อย่างไร บวชเป็นขาวเป็นชีเลวกว่าพวกชาวบ้านก็มี ชาวบ้านปฏิบัติดีกว่า มีศีลมีธรรม มีจริยามารยาทดีกว่าเป็นขาวเป็นชีก็มี จึงว่าอยู่ที่การปฏิบัติต่างหาก

สรุปรวมลงได้ว่า ศาสนานี้ไม่ใช่สอนให้ฟังเอาเฉย ๆ แต่สอนให้ปฏิบัติด้วย ศาสนานี้เป็นเครื่องวัดการปฏิบัติเบื้องต้น

นี่อธิบายถึงเรื่องสังฆคุณ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เอามาระลึกไว้ในตัวของเราแท้ ๆ ทีเดียว มาปรากฏที่ตัวของเราจริง ๆ จึงจะเป็นสังฆคุณ นำเอาธรรม ๔ ข้อนี้แหละมาไว้ในตัวของเรา มีสติรักษาตัวอยู่ตลอดทุกเวลาทุกอิริยาบถ นี้เรียกว่าระลึกถึงพระสงฆ์ ไม่ใช่ระลึกถึงพระสงฆ์สมัยโน้น เช่น พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร นั่นท่านนิพพานไปแล้วแต่นมนาน ไม่ใช่ระลึกถึงอันนั้น แต่ระลึกเอาที่เราตรงนี้แหละ ให้มันเกิดมีขึ้นในตัวของเรามันจึงจะเป็นอนุสติ

คราวนี้รวมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาไว้ ณ ที่เดียวกัน

พุทฺธโ ธมฺโม สงฺโฆ จาติ นานาโหนฺตมฺปิ วตฺถุโต

อญฺญมญฺญาวิโยคา ว เอกีภูตมฺปนตฺถโต

พุทฺโธ ธมฺมสฺส โพเธตา ธมฺโม สงฺเฆน ธาริโต

สงฺโฆ จ สาวโก พุทฺธสฺส อิจฺเจกาพทฺธเมวิทํฯ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าโดยวัตถุแล้ว เป็นคนละอันกัน พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ชอบเองแล้ว พระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนำมาเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ พระสงฆ์ คือ ผู้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำมาปฏิบัติตามจนได้รู้ตามเห็นตาม นี้กล่าวโดยวัตถุ

ถ้ากล่าวโดยอรรถคือเนื้อความแล้วเป็นอันเดียวกันนั่นคือ ก่อนที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องทรงรู้พระธรรมตามความเป็นจริงเสียก่อน ความรู้อันนั้นแหละคือ พระพุทธเจ้า มิใช่ตัวพระสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้าพระสิทธัตถะเกิดจากธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แตกดับสลายไป ธาตุทั้งสี่เป็นแต่เปลือกหุ้มห่อพระพุทธไว้เท่านั้นเปลือกหุ้มพระพุทธอาจเกิดได้ในวงศ์ตระกูลกษัตริย์พราหมณ์ หรือตระกูลของคหบดีมหาเศรษฐีก็ได้ ส่วน พระพุทธนั้น คือความรู้อันแท้จริง เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ดับไม่สูญ ไม่ตั้งอยู่และไม่เกิดขึ้นทั่วไป เกิดขึ้นเฉพาะผู้ได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ครบถ้วนแล้วเท่านั้น พระสงฆ์ก็เช่นนั้นเหมือนกัน แต่พระสงฆ์ไม่ได้รู้เองเห็นเอง ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอนแล้ว พระสงฆ์พิจารณาตา ปฏิบัติตาม จึงรู้เห็นธรรมนั้นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน แต่การรู้เห็นเป็นปัจจัตตัง คือด้วยใจของพระสงฆ์องค์นั้น ดังนั้น พระสงฆ์ที่แท้จริงจึงหมายเอาที่ใจอันเข้าถึงธรรม ไม่ได้หมายเอาสารีบุตรหรืออุปติสสะ สารีบุตร และอุปติสสะเป็นแต่ธาตุที่เป็นเปลือกหุ้มห่อพระอัครสาวกไว้เท่านั้น ดังนั้น พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จึงเป็นอันเดียวกัน พระสงฆ์ที่แท้จริงคือความรู้ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วทำอาสวะให้สิ้นไปต่างหากเพราะฉะนั้น พระพุทธ พระสงฆ์ ก็มารู้พระธรรมอันเดียวกัน

สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยใจ ด้วยปัญญาของตนตามที่อธิบายมานี้ ควรถือเอาพระคุณของพระพุทธเจ้าหรือเอารูปของพระพุทธเจ้าที่เห็นได้ด้วยตาเนื้อนั้นมาเป็นอารมณ์ก่อน ก็จะเป็นอนุสติได้เป็นอย่างดี ดีกว่าที่จะปล่อยให้ใจวุ่นวายไปในอารมณ์ต่างๆ หาที่สุดมิได้ ส่วนพระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน ให้ระลึกคุณความดีของท่าน หรือเอารูปของท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาเป็นอนุสติไว้เสียก่อน เมื่อเข้าใจหรือจิตถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระสงฆ์ที่แท้จริงแล้ว จะปล่อยอารมณ์อันนั้น เข้าถึงพระธรรมเลย

ผู้ปฏิบัติถึงพระสงฆ์แล้ว ความคิดความนึกก็เป็นพระสงฆ์ไปหมด คือคิดนึกเป็นไปแต่ในทางอันนำตนให้พ้นไปเสียจากโลกนี้เท่านั้น ไม่ได้คิดนึกไปทางโลกอันเป็นที่เกิดความเศร้าหมองของใจ เป็นบ่อเกิดของกิเลส มีกามวิตกเป็นต้น





จากหนังสือ ธรรมลีลา ฉบับที่ 39 กุมภาพันธ์ 2547

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 18 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร