วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 08:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ธ.ค. 2009, 12:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการปาฐกถาธรรมะ
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี
เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิด จากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

ในวันอาทิตย์ได้เห็นโยมมาฟังธรรมกันมากๆ
จนกระทั่งว่าไม่มีที่นั่งในศาลา ก็ทำให้รู้สึกอึดอัดใจอยู่บ้างเล็กน้อย
อึดอัดว่าในด้านบริการด้านเก้าอี้ไม่พอแก่ญาติโยม
ส่วนด้านธรรมะนั้นบริการกันจนพอไม่ลำบาก
แต่เก้าอี้ที่นั่งไม่ไหวเพราะศาลาเนื้อที่จำกัด
บริเวณก็ฤดูนี้ฝนตกเฉอะแฉะไม่สะดวก
อีกไม่เท่าใดโรงเรียนที่สร้างก็จะเสร็จเรียบร้อย
บริเวณถมไว้กว้างกว่านี้ นั่งข้างในก็ได้ขางนอกก็ได้สะดวกกว่าโปร่งกว่า
แล้วก็เงียบกว่าตรงนี้ เพราะไม่มีรถวิ่งพลุกพล่าน
จะได้รับความสะดวกในการฟังมากขึ้น

การก่อสร้างก็กำลังเร่งอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยอะไร
แต่เกิดขึ้นด้วยธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระศาสนา
ที่เราได้ปฏิบัติได้เผยแผ่แก่ญาติโยม อานิสงส์ของธรรมะนั้นมีมาก
ถ้าเรากระทำอยู่แล้วก็เกิดประโยชน์เรื่อยไป ดีกว่าอย่างอื่น
สิ่งอื่น นั้นจืดจางง่าย แต่ธรรมะไม่รู้จักจืดจาง
ถ้าเป็นอาหารก็เรียกว่าเป็นอาหารที่กินไม่เบื่อ

อาหารบางประเภทรับประทานบ่อยก็เบื่อ แต่บางประเภทไม่เบื่อ
นอกจากเวลาร่างกายผิดปกติธรรมะก็เป็นอาหารใจประเภทที่กินไม่เบื่อ
ดูหนังสือธรรมะที่เราอ่าน เรื่องหนึ่งอ่านได้หลายครั้งหลายหน
แต่ถ้าหนังสือประเภทเริงรมย์นวนิยาย อ่านจบเดียวมันก็หมดเรื่อง
แล้วก็ไม่อยากอ่านอีก แต่ธรรมะนี่อ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่เบื่อ

ไปที่จังหวัดอ่างทอง ที่อำเภอวิเศษไชยชาญ
คุณโยมคนหนึ่งบอกว่า หนังสือเล่มนี้ ผมอ่าน ๑๕ ครั้งแล้ว
คือหนังสือแก่นพุทธศาสนา อ่าน ๑๕ ครั้ง
บอกว่าทุกครั้งที่อ่านมีอะไรใหม่เกิดขึ้นในใจเสมอ
อันนี้แสดงว่าอาหารใจหรือธรรมะเป็นสิ่งไม่เบื่อ
สำหรับผู้ที่รักจะรับประทานอาหารประเภทนั้น
ญาติโยมที่มาฟังธรรมนี่ก็เหมือนกัน ไม่เบื่อในการฟัง
อาตมาก็ไม่เบื่อในการให้ธรรมะแก่ญาติโยมทั้งหลาย
เมื่อผู้ให้กับผู้ฟังไม่เบื่อ มันก็ว่ากัน เรื่อยไป

อาทิตย์นี้ก็เรียกว่าเป็นอาทิตย์สุดท้ายของการเข้าพรรษา
วันที่ ๒ ก็ออกพรรษาแล้ว แต่ว่าถึงจะออกพรรษาเราก็ไม่ออก
ถ้าจะออกก็ได้เหมือนกัน แต่ออก จากความชั่วไปสู่ความดี
ออกจากผีไปอยู่กับพระ แต่ถ้าออกจากพระไปอยู่กับผีนี่ไม่ได้เรื่องอะไร
เพราะฉะนั้นอะไรที่เราทำมาในพรรษาก็ทำเรื่อยไป
อาหารใจเป็นเรื่อง ไม่จบก็ต้องทำเรื่อยๆ ไป ญาติโยมก็มาฟังกันเรื่อยไป
เพราะว่าบางคราวอาจจะมีธุระไป ไหนเสียบ้าง
แต่ว่าถึงไปก็ให้พระองค์อื่นแสดงให้ญาติโยมฟัง
ตามปกติก็ไม่ค่อยจะไปไหนในตอนออกพรรษาแล้ว
ก็ดีจะได้พูดธรรมะให้ญาติโยมฟังกันต่อไป

ญาติโยมที่มาฟังกันอยู่เป็นประจำนั้น ย่อมได้รับประโยชน์จากธรรมะ
คืออย่างน้อยๆ ก็สบายใจยิ่งโลกในสมัยปัจจุบันนี้ด้วยแล้ว
มีเรื่องกระทบกระเทือนขุ่นข้องหมองใจกัน บ่อยๆ
แม้เทวดาก็ยังถูกคนว่าเวลานี้ อ่านหนังสือพิมพ์...
ว่าหนังสือวารสารของมหาวิทยาลัย....
เขียนกระทบกระเทือนในหลวง
เรียกว่า ถ่มน้ำลายรดฟ้า มันก็เปื้อนหน้าตัวเอง
ความจริงในหลวงของเรานั้นทรงมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองเหลือหลาย
ได้ปฏิบัติกิจเพื่อความสุขของประชาชนอย่างเต็มที่
ถ้าพระองค์จะนั่งอยู่ในวัง เฉยๆ ก็ไม่ว่าอะไร
แต่ว่าคนสันดานชั่วมันก็หาเรื่องด่าได้ทั้งนั้น ทำดีมันก็ด่า ทำชั่วมันก็ด่า

พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าคนมันก็อย่างนั้น
เราเดินก้มมันก็ว่า เดินแหงนหน้ามันก็ว่า
ปากปิดมันก็ว่าปากเผยมันก็ว่า คนสวยมันก็ด่า คนไม่สวยมันก็ติ
มนุษย์ในโลกมันเป็นอย่างนั้น
แม้พระพุทธปฏิมาก็ยังราคิน มนุษย์เดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา
เขาว่าเป็นกลอน ไว้อย่างนี้
แต่ว่าคนที่ไปว่าบุคคลที่ไม่ควรว่า แสดงว่าจิตใจต่ำเต็มที

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "พาลา นัปปสังสันติ ทานัง"
คนพาลไม่เคยสรรเสริญการให้"
ถ้ามีการให้ การแจกที่ใด คนพาลหมั่นไส้ มันไม่ยินดีปรีดาในการให้
คนพาลไม่ยินดีในการทำดีของใครๆ เพราะนิสัยมันต่ำนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
อ่านแล้วก็สงสารคนเขียน ไม่ได้ สงสารในหลวงดอก
เพราะว่า ฝุ่นนั้นไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่ฟ้า
ฟ้ายังให้ประโยชน์แก่แผ่นดินอยู่ตลอดเวลา
แต่ว่าสงสารคนเขียน ว่าทำไมจิตใจมันจึงต่ำลงถึงขนาดนั้น
เขียนไปตามอารมณ์ ไม่มีสติปัญญา ไม่มีเหตุผล
แม้จะเป็นนักศึกษาก็เรียกว่า เรียนไม่ได้เรื่อง
ถ้าได้ปริญญาไปก็คงไปทำลายตัวเองด้วยความรู้ของตัว

เหมือนต้นกล้วยตายกับปลีกล้วยนั่นเอง ต้นไผ่ก็ตายกับขุยไผ่
แม่ม้าอัศดรก็ตายเพราะเกิดลูกม้าออกมา
เพราะว่าลูกมันแก่มันก็ถีบท้องออกมาเลย ธรรมชาติมันไม่มี
แต่ว่าเขาเปรียบเทียบให้ฟัง
หมายความว่า คนเราถ้าทำลายตัวเองแล้วมันตาย
ไปไม่รอดชีวิตไม่เจริญก้าวหน้า
ถ้าเราไปประทุษร้าย ต่อคนที่ไม่ประทุษร้ายตอบ
ได้รับโทษทัณฑ์หลายสถาน เป็นโทษทัณฑ์แรงๆ ทั้งนั้น
เช่น เป็นบ้า มีโรคขนาดหนักรักษาไม่ได้
ไม่มีใครอยากคบหาสมาคม เป็นต้น เป็นเรื่องเสียหาย
แต่ว่าเพราะไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยเข้า ใกล้พระ
คบแต่คนชั่วคนร้ายมิจฉาทิฏฐิ
จึงได้มีจิตใจตกต่ำไปถึงขนาดนั้น น่าสงสาร

คนในโลกที่เราควรสงสารที่สุด ก็คือคนที่วิญญาณตกต่ำนี่เอง
ถ้าจิตใจต่ำไปสู่ความชั่ว ความร้าย เป็นคนน่าสงสาร
คนเจ็บทางกายยังไม่สงสารเท่าใด แต่คนป่วยทางใจน่า สงสารที่สุด
เพราะคนเจ็บกายก็ไปนอนที่โรงพยาบาล ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร
แต่คน วยทางใจ ร่างกายไม่อยู่โรงพยาบาล
ยังเที่ยวทำความรำคาญให้เพื่อนบ้านร้านถิ่น
ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนหลายสถาน
จึงเป็นคนประเภทที่น่าสงสาร ควรจะให้การช่วยเหลือ

การช่วยเหลือก็คือว่า ช่วยแนะนำชักจูง ให้เขาเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่ว ดี
ให้กระทำสิ่งที่ควรทำ ให้ละสิ่งที่ควรละ
ให้ตั้งตนไว้ชอบตามหลักธรรมะก็นับว่าเป็นการช่วยที่ประเสริฐ
ทำชีวิตให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ยาติโยมทั้งหลายที่เข้าสู่ธรรมะ
มีลูกมีหลาน ในระหว่างนี้ต้องหมั่นเตือนลูกหลานไว้
อันตรายมีต่อไปข้างหน้า ให้ระวังเนื้อ ระวังตัว
อย่าเที่ยวอย่าเตร่ อย่าไปทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร
อันตรายอาจจะเกิดขึ้น แก่ชีวิตของเขาได้
จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้ระมัดระวังไว้ ให้อยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน
ไม่จำเป็นก็อย่าออกไปเที่ยว
เพราะมีภัยรอบด้าน อันนี้เป็นเรื่องน่าคิดอยู่ประการหนึ่ง

ทีนี่เรื่องที่ตั้งใจจะนำมาพูดกับญาติโยมในวันนี้
อยากจะพูดเรื่องเกี่ยวกับการกระทำดีเสีย
คือว่าในสมัยก่อนนี้คนอยากเป็นเทวดากันมาก
ทำบุญสุนทานอะไรก็อยากจะไปเกิดในสวรรค์อยากจะไปเป็นเทวดา
เพราะเข้าใจว่าเทวดานั้นเป็นภพที่เต็มไปด้วยความสุขความสงบ
ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความเดือดร้อน
แต่ความจริงนั้นหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อมีเกิดที่ใดก็ต้องมีทุกข์ที่นั่น
มีชาติมีภพในที่ใดก็มีทุกข์ในที่นั่น แต่ว่าเราไม่เข้าใจซึ้งในเรื่องอย่างนี้
เข้าใจว่าเป็นมนุษย์นี่แสนลำบาก เป็นเทวดาคงจะสบาย

แต่ความจริงก็หาได้สะดวกสบายอะไรไม่ คล้ายๆ กับคนยากจน
นึกว่าคนมั่งมีเขาคงจะ เป็นสุขสบาย มีอะไรกินอะไรใช้สะดวกทุกประการ
อันนั้นมันเป็นเรื่องความสะดวก แต่ว่าอาจจะไม่สบายทางใจก็ได้
เพราะเรื่องจิตใจนั้นเป็นเรื่องภายใน ที่ไม่มีใครมองเห็นได้
เจ้าตัวเท่านั้นรู้ว่า สภาพจิตใจของตัวเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าพอมีอะไรสมบูรณ์
แล้วหมดทุกข์หมดร้อน ความทุกข์ความเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้นได้
เมื่อยังมีอวิชชาครอบงำ จิตใจ เมื่อใดเราทำลายอวิชชาออกไปเสียได้
เมื่อนั้นแหละความทุกข์จึงจะหายไป

แต่ว่าคนเราเข้าใจว่า สวรรค์เป็นยอดแห่งความสุข ก็มีความต้องการ
ทำบุญสุนทานอะ ไรก็อธิษฐานขอให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา
จะได้มีความสุขความสบายตามสมควรแก่ฐานะ

เรื่องเทพบุตรเทพธิดานี้ ความจริงก็เป็นเรื่องเก่าแก่
มีมาก่อนพระพุทธเจ้าของเราเกิดด้วยซ้ำไปเพราะในศาสนาฮินดู
หรือศาสนาพราหมณ์นั้น มีเรื่องเกี่ยวข้องกับ เทวดามากมาย
มีความสัมพันธ์กับมนุษย์อยู่ตลอดเวลา
เขานับถือเทพเจ้าใหญ่บ้างเล็ก บ้าง มีมากมาย
ถ้าไปถามนักปราชญ์ศาสนาฮินดูแล้ว
เขาก็จะตอบว่า เทวดามีประ มาณ ๓๐ โกฏิ ไม่ใช่น้อยๆ
มากกว่าพลเมืองไทยเสียด้วยซ้ำไป เรียกว่าอยู่กันแน่นหนาคับคั่ง
อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด
บางแห่งกล่าวว่า จะเอาเข็มทิ้งลงไปก็จะไปถูกหัวเทวดา
เพราะว่ามีมากเหลือเกิน
อันนี้เป็นเรื่องเขาเล่าไว้ก่อนพระพุทธเจ้าของเราเกิดด้วยซ้ำไป

ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าของเราอุบัติขึ้นในโลก ได้ตรัสรู้ธรรมะแล้ว
พระองค์ไม่ได้สอนให้เราถือเทวดาในรูปบุคคลสมมติอย่างนั้น
แต่ให้ถือคุณธรรมเป็นเทวดา คือ ให้ประพฤติดีประพฤติชอบ
แล้วก็จะได้เป็นเทวดา จึงได้บอกไว้ว่าเทวดามี ๓ เหล่า
คือ อุบัติเทวดา หมายถึงเทวดาเก่าๆ
ที่เขาเชื่อกันมา ทำความดีแล้วก็ไปเกิด ตามที่เขาเชื่อกันมาก่อน
แล้วก็สมมติยกย่องเป็นเสมือนเทวดา
เช่นพระราชามหากษัตริย์ อย่างนี้ เราเรียกว่าสมมติเทวดา
ในคำบาลีเวลาพูดกับพระราชา เขาใช้อาลปนะว่า สมมติเทว
ข้าแต่สมมติเทพ เป็นเทวดาโดยสมมติ ส่วนเทวดาอีกพวกหนึ่งนั้น
เป็นเทวดาแบบพุทธแท้เรียกว่า วิสุทธิเทวดา หรือวิสุทธิเทพ
หมายถึงบุคคลผู้มีใจบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส คือพระอรหันต์นั่นเอง

พระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าเรียกว่าวิสุทธิเทวดา
วิสุทธิเทวดาเกิดโดยธรรม เกิดจากธรรม
ส่วนเทวดาอื่นนั้นเกิดโดยชาติโดยกำเนิด
แต่วิสุทธิเทวดานั้นเกิดจากธรรมโดยแท้
ผู้ใดประพฤติธรรมข้อที่จะทำให้เป็นเทวดา ก็เรียกว่าผู้นั้นเป็นเทวดา
พระพุทธเจ้าทรง เปลี่ยนตัวบุคคลสมมติให้เป็นธรรมะ
ถ้าเราเรียกตามภาษาธรรมะเขาเรียกว่า ปุคคลาธิษฐาน
หมายถึงการอ้างตัวบุคคลเป็นตัวอย่าง ธัมมาธิษฐาน
พูดถึงข้อปฏิบัติล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยตัวบุคคล
เช่นว่าพระพรหม ถ้าพูดเป็นบุคคลก็หมายถึงพระพรหม ๔ หน้า
ที่เขาปั้นไว้หน้าโรงแรมเอราวัณอะไรอย่างนั้นแหละ นั่นมันเป็นบุคคลสมมติ

ถ้าพูดเป็น ธัมมาธิษฐาน ก็หมายถึง พรหมวิหารธรรม
ได้แก่ เมตตา ปรารถนา ความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น
กรุณา มีใจสงสาร อยากจะช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน
มุทิตา คือการพลอยยินดี ในความดี ความสุขความเจริญของผู้อื่น
อุเบกขา หมายถึงความวางเฉย
ในเมื่อไม่สามารถจะบำเพ็ญธรรม ๓ ข้อข้างต้นได้
ผู้ใดตั้งอยู่ในธรรม ๔ ประการนี้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพรหม
มารดาบิดานี้เขาเรียกว่าเป็นพรหมของบุตร
เพราะมีคุณธรรม ๔ อย่างนี้สมบูรณ์อยู่ในจิตใจ
พระผู้มีพระภาคทรงเปลี่ยน อย่างนี้

คนอินเดียโบราณนับถือเทดาเป็นองค์ๆ แต่พระองค์แนะธรรมะให้ปฏิบัติ
แม้เรื่องพระพรหมที่เป็นพระเจ้าผู้สร้างของชาวฮินดู
เวลาไปถามพระพุทธเจ้า พระองค์กลับถามว่า
พระพรหมเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเปล่า เขาก็ตอบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
แล้วทำไมท่านไม่ทำตัวให้บริสุทธิ์ เพื่อเข้าถึงพระพรหมเสียเล่า
พระองค์ย้อนถามไปในรูปอย่างนั้น
คือไม่ได้คิดถึงธรรมะข้อปฏิบัติจึงพูดเป็นตัวบุคคล
ถ้าเราพูดในแง่ธรรมะ ก็หมายถึงข้อ ปฏิบัติ หมายถึงการปฏิบัติ
หมายถึงผลอันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เช่นว่า พระพรหมเป็นผู้บริสุทธิ์
เราก็ควรทำตัวให้บริสุทธิ์ พระเจ้าเป็นผู้มีความกรุณา
เราก็ควรทำใจให้กรุณา ให้บริสุทธิ์ พระเจ้าเป็นผู้มีความกรุณา
เราก็ควรทำใจให้กรุณา ให้บริสุทธิ์ อย่างนี้เป็น ต้น
จึงจะเรียกว่าเข้าถึงสิ่งเป็นเนื้อแท้คือตัวธรรมะ อันเรานำมาปฏิบัติได้

ถ้าเราใคร่เป็นเทวดาในรูปใดก็ตาม เราควรจะปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นเทวดา
เพราะในขณะ ปฏิบัติธรรมนั้น จิตใจสูงขึ้นอยู่ในขั้นนั้น
แต่ว่าไม่ใช่ให้หยุดเพียงขั้นนั้นดอก ให้ผ่านพ้นต่อไป
สวรรค์นั้นถือว่าเป็นทางผ่าน ไม่ใช่ทางที่เราจะไปตั้งรกรากลงที่นั่น
เพราะมันยังเต็ม ไปด้วยความทุกข์ความวุ่นวาย
แต่ว่าเราผ่านไปสักหน่อย เพื่อไปเยี่ยมดูเทวดาทั้งหลาย
เสร็จแล้ว เราไม่แวะที่นี่ เราจะเดินต่อไป
จนกระทั่งถึงการดับทุกข์ดับร้อนได้เด็ดขาด เรียกว่าพระนิพพาน
อันเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติทางพุทธศาสนา
เป็นสภาพทางจิตที่สงบเย็นอยู่ตลอดเวลา เป็นจุดหมายสำคัญ

แต่ถ้าเรายังไม่ถึงจุดนั้นก็เอาเพียงขั้นเป็นเทวดาในบ้านไปก่อน
เรียกว่าเป็นเทวดา อยู่ในสังคม ดีกว่าเป็นอย่างอื่นอยู่ในสังคม
ในเรื่องคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนารุ่นอรรถกถา
ไม่ใช่รุ่นพระบาลีซึ่งเป็นคัมภีร์ดั้งเดิม
แต่ว่าเป็นคัมภีร์อรรถกถา คือ อธิบายบาลีทีหนึ่ง
ก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับเทวดาไว้มากเหมือนกัน
แต่ว่าก็แนะว่า ถ้าจะเป็นเช่นนั้นก็ต้องปฏิบัติธรรม
เช่นว่า เขาเล่าเรื่องนายหนุ่มคนหนึ่งชื่อมะฆะมานพ
เป็นคนใจกว้าง เสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
ชอบใช้ชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม หรือแก่บุคคลอื่นทั่วๆ ไป
แกชอบไปทำอะไร ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ
เช่นว่าถนนหนทาง ถ้าตรงไหนลุ่มก็เอาดินไปถมให้มันตื้นขึ้น
ตรงไหนควรมีสะพานก็ไปสร้างสะพาน
ตรงไหนรกเต็มไปด้วยขวากหนามเดินลำบาก ก็ถางให้มันเตียน

ชั้นแรกก็ทำคนเดียวไม่ได้ชักชวนใคร ไปทำบ่อยๆ เวลาว่างก็ไปทำ
ส่วนเวลาอื่นก็ทำมาหากินตามฐานะ
แต่พอว่างจากงานส่วนตัว ก็ต้องไปทำสิ่งที่เป็นประ โยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป
ชั้นแรกก็ทำคนเดียว แต่ว่ามีคนเดินผ่านทางนั้น
ได้รับความสะดวกสบาย เมื่อเห็นเขาทำก็ไปถาม ถามว่าท่านทำอะไร
แกก็บอกว่า ฉันทำทางไปสวรรค์ ว่าอย่างนั้น
คนเหล่านั้นก็นึกว่า เออ! เข้าทีดี ก็บอกว่า เอ้า! ฉันจะร่วมมือ
อีกสักคนหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นสอง ต่อมาคนอื่นมาเห็นก็มาถามอย่างนั้น
ว่าท่านทั้งสองนี่ ทำอะไรกัน เขาก็ตอบพร้อมกันว่า ทำทางไปสวรรค์
คนเขาอยากไปสวรรค์ก็มาร่วมทำ กันอีก เพิ่มขึ้นๆ จนกลายเป็น ๓๓ คน
ร่วมกันทำทาง ทำบ่อน้ำ สร้างสวนสาธารณะ สร้างศาลาพักร้อน
อะไรต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่สังคมในยุคในสมัยนั้น

ทางจังหวัดภาคใต้เรา ที่สงขลาเป็นตัวอย่าง
ถ้าเดินทางจากตัวเมืองสงขลา ข้ามไปทางหัวเขาแดง
เรียกว่า เขตอำเภอเมือง จะทิ้งพระ ระโนต เป็นเขตชายทะเล
ฝั่งในทั้งสองฝั่ง ฝั่งในทะเลสาป ฝั่งนอกทะเลหลวง คืออ่าวไทย
ระหว่างทางที่เดินไปนั้นจะเห็นศาลา บ่อน้ำ ต้นไม้ร่มรื่น มากมายเหลือเกิน
คนเขาสร้างไว้ ไปพักศาลานี้มองเห็นศาลาหลัง
หน้าพักที่ศาลาหลังนี้ก็มองเห็นศาลาหลังโน้น
ทางเดินแถวนั้นเป็นดินทรายละเอียด ทรายชายทะเล
ถ้าเป็นหน้าร้อนก็ต้องวิ่ง เพราะมันร้อนเต็มที
คนเดินไปร้อนๆ พอไป เจอศาลาบ่อน้ำร่มไม้ก็หยุดพัก
หายเหนื่อยแล้วก็เดินทางต่อไป

ศาลาไม่รู้สักกี่ร้อยหลังในบริเวณนั้น เต็มไปหมด
ชาวบ้านเขามาสร้างบ้าง พระชวนชาวบ้านสร้างบ้าง
สร้างศาลา สร้างบ่อน้ำ เวลาเดินทางก็ได้พักผ่อนสบาย
แล้วโดยมากก็มีแม่ค้าเอาของมาวางขายในศาลาขายข้าวยำบ้าง
ขายขนมบ้าง ขายอะไรๆ บ้าง
พระสงฆ์องค์เจ้าเดินทางไม่ต้องกลัวอดดอก ๑๑ โมงไปถึงศาลาไหน
ไปนั่งไม่ต้องพูดต้องจา นั่งไม่ทันเหงื่อแห้งเดี๋ยวก็มาแล้ว
เขาเอามาถวาย อันนี้เป็นกิจที่เขาชอบทำ
บางหลังก็ใหญ่โต นิมนต์พระไปเทศน์ทุกวันพระเวลาเย็นๆ
เพื่อให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงได้ฟังพระธรรมเทศนา
เรื่องอย่างนี้ก็เป็นเรื่องทำสิ่งที่ เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

แต่ว่ามาในสมัยนี้เขาทำถนนรถยนต์วิ่ง ศาลาที่สร้างไว้คนก็ไม่ค่อยได้พักเท่าใด
เว้นไว้บางแห่งซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้าน คนก็มานั่งพักเพื่อจะขึ้นรถต่อไป
ก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ เมืองไทยเราสมัยก่อนมีศาลาพักร้อน
มีร่มไม้ มีบ่อน้ำ ตามหน้าบ้านก็มีหม้อน้ำใส่น้ำ เย็นๆ
มีขันใบน้อยๆ วางไว้บนหม้อ เพื่อให้คนได้ดื่มกินน้ำเวลาเดินทาง
แต่ว่าต่อมาสิ่ง ที่เอาไปไว้นั้น คนก็ขโมยเอาไปเสีย
เช่นว่าขันน้ำที่วางไว้มันก็ขโมยเอาไปเสีย อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยหายไป
ไม่มีคนตั้งน้ำไว้ให้คนเดินทางดื่มต่อไป

ยังมีอยู่บ้างในบางแห่งที่ทำกันอยู่ในรูปแบบนี้
เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องความเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม
การเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นกิจชอบอย่างหนึ่งที่ควรจะได้กระทำทั่วๆไป
คนเราถ้ามีน้ำใจเสียสละแล้วก็กลายเป็นคนใจกว้าง
ถ้าเกิดความเห็นแก่ตัว แล้วก็เป็นคนใจคับแคบ
ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ใครๆ โลกเราถ้าเต็มไปด้วยคนใจคับแคบมันก็วุ่นวาย
เกิดปัญหานานาประการ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม
เกิดจากคนใจ แคบทั้งนั้นแหละ คนใจแคบก็คือคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้
ทำอะไรก็จะเอาแต่ประโยชน์ ตนเป็นใหญ่
ไม่คำนึงถึงประโยชน์และความสุขส่วนรวม
ความวุ่นวายก็ต้องเกิดมากเป็นธรรมดา
แต่ถ้าหากว่าเราตั้งใจเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
เรื่องความยุ่งมันก็น้อย ลงไป สมัยโบราณเขาก็สอนกันมาในรูปอย่างนี้

ชายหนุ่มชุด ๓๓ คนเขาช่วยกันทำงาน พัฒนาถนน บ่อน้ำ
ศาลาสาธารณะ จนแก่ เฒ่าตายไป แล้วก็ไปเกิดเป็นพระอินทร์
อันนี้เป็นเรื่องเก่าที่เขาเล่ากันมา ครั้นเรื่องนี้
ไปถึงพระโสตของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคท่านตรัสเป็นเรื่องธรรมะไป
คือ ว่าถ้าใครอยากจะเป็นพระอินทร์ในรูปอย่างนั้น ก็ต้องประพฤติธรรม
แล้วก็วาง หลักธรรมะไว้ ๗ ประการ เพื่อให้คนเอาไปปฏิบัติแล้ว
จะได้เป็นพระอินทร์ คือเป็น ก่อนตาย ไม่ใช่เป็นกันเมื่อตายแล้ว
เป็นอะไรมันเป็นก่อนตายนี่ดีกว่า เป็นเมื่อตายแล้ว เราไม่รู้ไม่เห็น
แล้วคนอื่นก็ไม่ได้ พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย
เพราะไม่รู้ว่าเป็นหรือเปล่า แต่ถ้าเราเป็นเสียก่อนตาย
มันเห็นได้ชัดด้วยตัวเราเอง ไม่ว่าเรื่องอะไร

ในทางพระพุทธศาสนาให้เป็นก่อนตายกันทั้งนั้น
แม้การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพพาน ก็ให้บรรลุก่อนตาย
ถ้าตายแล้วบรรลุมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นพระองค์
จึงสอนให้ นิพพานก่อนตาย ไม่ใช่ไปเอากันเมื่อตายไปแล้ว
ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกว่า ฝัน มากไปหน่อย

เพราะฉะนั้นจึงสอนทางปฏิบัติเป็นตัวธรรมะไว้เพื่อให้เราเอามาปฏิบัติ
เราลองมาศึกษาเรื่องนี้สักเล็กน้อย
ว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมในยุคปัจจุบันขนาดไหน
ถ้าเราได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ๗ ประการ
ที่ทำให้คนเป็นพระอินทร์นี้ จะดีหรือไม่
ถ้าเอามาศึกษาพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา
แก่สังคมอย่างมากหลาย และถ้าเราดูสังคมในยุคปัจจุบัน
มีจำนวนไม่ใช่น้อยที่ขาดคุณธรรมเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย
ความวุ่นวายส่วนตัว ความวุ่นวายในครอบครัว ในวงงาน
ตลอดจนความวุ่นวายของสังคมโลก
ก็เกิดจากว่า ไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็น แนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
จึงได้เกิดปัญหายุ่งยากด้วยประการต่างๆ
แต่ถ้าสมมติว่า เราชวนกันใช้หลักเหล่านี้ เป็นแนวปฏิบัติ อะไรๆ ก็จะไม่วุ่นวาย

เมืองไทยเรานี้เป็นเมืองพุทธศาสนา ที่เราพอจะคุยอวดกันอยู่ได้
อวดได้ว่ามีความมั่นคง คือมั่นคงในการจัดระเบียบ
ในการเป็นการอยู่เรียบร้อยกว่าประเทศอื่น ที่นับถือพุทธศาสนาด้วยกัน
เพราะว่าประเทศอื่นนั้น เสียหลักเอกภาพไป
ไม่มีความเป็นอิสระในชาติ ศาสนาก็เลยอับเฉาไปด้วย
เพราะผู้ที่เข้ามาปกครองนั้น ไม่ได้เอาใจใส่บำรุงส่งเสริมศาสนา
ส่วนในเมืองไทยเรานั้น พระราชามหากษัตริย์ทุกพระองค์
ตั้งแต่สมัยโบราณมารจนถึงกาลบัดนี้ เวลาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ
ก็ได้ประกาศเป็นสัจจะวาจาว่า
"เราจะบำรุงขอบขันธสี มาอาณาจักร
และพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า"
อันนี้เป็นหน้าที่ขององค์ พระมหากษัตริย์

การบำรุงพระศาสนาของพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ใช่บำรุงแต่เพียงด้านวัตถุ
แต่ว่าได้บำรุงในด้านการปฏิบัติธรรมะ คือองค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิบัติธรรม
เป็นตัวอย่างแก่ประชาราษฎร พระมหากษัตริย์อยู่ในทศพิธราชธรรม
คือธรรมสำหรับพระ ราชา ๑๐ ประการ อันเป็นคุณธรรมที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์
และประเทศชาติ การปฏิบัติในธรรมเหล่านั้น เรียกว่าบำรุงศาสนาอย่างแท้จริง
ทรงเป็นตัวอย่างใน ทางการปฏิบัติธรรมะแก่ประชาชน
เช่นในหลวงของเราองค์ปัจจุบันนี้ ถ้าเราเพ่งพินิจพิจารณา ด้วยดีแล้ว
ก็จะพบว่า พระองค์เป็นผู้แทนของพระธรรมทีเดียว
เป็นประมุขที่ทรงปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา
ในชีวิตประจำวันของพระองค์ก็ทรงเป็นธรรม เป็นผู้แทนของธรรมะก็ว่าได้
จึงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของธรรมะในพุทธศาสนา เป็นเครื่องคุ้มครองรักษา
เราจึงได้อยู่เย็นเป็นสุขกันพอสมควร

แต่ว่าก็มีลางร้ายบอกเหตุการณ์อยู่บ้าง
ว่าต่อไปข้างหน้าต้นไทรกิ่งหักจะเกิดขึ้น ต้นโพธิ์ ใบโขรนจะมีขึ้น
เพราะว่าคนเราไม่สนใจธรรมะ เห็นธรรมะเป็นของครึไม่ทันสมัย
เห็นกิจกรรมทางศาสนาเป็นของคุณตา คุณยาย ไม่ค่อยสนใจเสียเลย
อันนี้แหละเป็นเหตุ ให้เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ ในกาลต่อไปข้างหน้า
คนเราถ้าชวนกันละเลยแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
แล้วจะมีอะไรเป็นหลักรักษาจิตใจกันต่อไป
ก็จะอยู่กันด้วยความเขม่นเข้าหากัน
ก็จะเกิดเป็นปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน

บทเรียนใกล้ๆ บ้านมันก็สอนอยู่พอแล้ว
ว่าการไม่ประพฤติธรรมนั้น ให้ผลอย่างไร
เราคนไทยจึงควรจะช่วยกันกอบกู้ฐานะธรรมะทางจิตใจ
ให้คงอยู่ในตัวเราตลอดไป โดยเฉพาะญาติโยมที่มาวัด นับว่าได้ปฏิบัติอยู่แล้ว
ทั้งที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว แม้เด็กหนุ่มๆ ก็มาฟังกันอยู่บ้างเป็นประจำ
ก็นับว่าเป็นผู้ได้เดินตามเส้นทางที่ดีงาม
คือ เดินตามทางของบรรพบุรุษพระพุทธเจ้า
ท่านบอกว่า "จงเดินตามทางที่ผู้ใหญ่เดินแล้ว"
ผู้ใหญ่นั้นหมายถึงผู้ที่มีธรรม ไม่ใช่ใหญ่ เพราะเกิดในตระกูลใหญ่
แต่ว่าใหญ่เพราะมีธรรมะเป็นหลักครองใจ ผู้ใดมีธรรมะครองใจ
แม้ยังเด็กก็เป็นผู้ใหญ่ ยังหนุ่มสาวก็เป็นผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นคนแก่
ถ้ามีธรรมะ ก็เรียกว่าน่าดู น่าเคารพน่ากราบไหว้ น่าบูชาสักการะ
เพราะมีธรรมะเป็นเครื่องประดับจิตใจ
เราจึงควรจะได้ใช้ธรรมเป็นแนวทางชีวิตไว้

คนในสมัยก่อนๆ จึงได้กล่าวสอนกล่าวเตือนกันนักหนา
ให้คนประพฤติธรรม ให้ตั้ง มั่นอยู่ในธรรมะตลอดไป
เช่นในเรื่องนี้ก็เรียกว่า สอนให้ประพฤติธรรม ๗ ประการ
ในข้อแรกท่านสอนว่า ผู้ที่จะเป็นใหญ่เป็นโตขนาดพระอินทร์ได้นั้น
จะต้องเป็นผู้บำรุง เลี้ยงมารดาบิดา เรื่องการเลี้ยงมารดาบิดานี้เป็นเรื่องใหญ่
เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตคน เรา เพราะเราถือกำเนิดมาจากมารดาบิดา
มารดาเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้เลี้ยง เป็นผู้บำรุงรักษา ให้การศึกษาเล่าเรียน
ชี้แนะแนวทางผิดถูกให้เราเข้าใจ ให้เราได้ปฏิบัติ
ในทางที่ถูกที่ชอบอยู่ตลอดเวลา
เราจึงถือว่าเป็นเจ้าบุญนายคุณ เป็นผู้อยู่เบื้องหน้า เรา

ในทางพระพุทธศาสนา จัดทิศไว้ ๖ ทิศด้วยกัน เรียกว่า ทิศเบื้องหน้า เบื้องหลัง
เบื้องขวา เบื้องซ้าย เบื้องบน เบื้องล่าง
ทิศเบื้องหน้านั้นคือมารดาบิดา เอามารดา บิดาไปไว้ข้างหน้า
เพราะเป็นสิ่งที่เราจะเห็นก่อนอะไรทั้งหมด เหมือนกับทิศตะวันออก
พอตื่นขึ้นเราก็เห็นดวงตะวัน ดวงตะวันเป็นของเด่นในอากาศ
พอตื่นขึ้นก็มองเห็น ว่ามีแสงสว่าง แสงสว่างนั้นมาจากดวงอาทิตย์
ดวงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งที่เราเห็นก่อนใน ตอนเช้า ฉันใด
เราเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกก็ได้ เห็นคุณแม่ก่อนใครๆ แล้วเราก็เห็น
คุณพ่ออีกทีหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่จึงถือว่าเป็นทิศเบื้องหน้า
เป็นทิศที่เราจะต้องกราบต้องไหว้ ต้องเคารพสักการะบูชา

ผู้ใดละเลยไม่กราบไหว้ทิศเบื้องหน้า ผู้นั้นเป็นคนคบไม่ได้
เพราะว่าทิศที่อยู่เบื้องหน้าตน ตนไม่เหลียวแล ก็เท่ากับว่า เป็นคนตาบอดตาใส
มองอะ ไรไม่รู้จักนั่นเอง แต่คนใดมีความเคาพรรักมารดาบิดา
เป็นคนที่ไว้ใจได้ เราเข้าใกล้ ก็ได้ เอามาร่วมหุ้นร่วมส่วน ทำการค้าขายอะไรก็ได้
เพราะคนประเภทนั้น พื้นฐาน ทางจิตใจดี มีความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐาน
คนเราถ้าจิตใจมั่นอยู่ในความกตัญญูกตเวที
ต่อพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าแล้ว เป็นคนที่คบได้
ถ้าขาดคุณธรรมข้อนี้แล้ว เห็นจะไม่ไหว เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ในครอบครัวใหญ่ๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคงเป็นปึกแผ่น
ก็เพราะคนในครอบครัวนั้นเคารพรักในมารดาบิดา
เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ถือว่า ท่านผู้นำเป็นผู้ที่เดินไปข้างหน้าเรา
เราเป็นผู้เดินตาม ท่านเดินไปทางไหน เราก็เดิน ไปทางนั้น
อันปกติของพ่อแม่นั้น ย่อมเดินไปในทางถูกทางชอบ ไม่เดินไปในทางผิด
ถ้าเป็นคนที่มีความสำนึกในหน้าที่ อาจจะมีบ้างที่เดินผิดทางไป
เพราะไม่รู้จักหน้าที่ของตัว เราผู้เป็นบุตรธิดาก็เรียกว่า
เดินตามทางของพ่อแม่ พ่อแม่ไปทางไหนเราก็เดินไปทางนั้น ก็นับว่าปลอดภัย

แต่ถ้าเดินออกนอกลู่นอกทางเมื่อใด ก็จะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนเรื่องนี้ไว้ก่อนเป็นข้อต้น
มารดาบิดาเป็นพรหมในครอบครัว เป็นเทวดาในครอบครัว
เป็นพระอรหันต์ของลูกๆ ในครอบครัว
เป็นผู้ที่เราจะต้องกราบไหว้บูชาสักการะทุกค่ำเข้าเข้านอน
คนในสมัยโบราณเขาถือนักถือ หนาในเรื่องอย่างนี้
แต่ว่ามาในสมัยนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป
ความเคารพในมารดาบิดาก็ชักจะน้อยลงไป
ภาพอะไรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพ่อแม่ก็น้อยลงไปทุกวันเวลา
ทำไมจึงได้น้อยไปในเรื่องอย่างนี้ ก็เพราะว่าคนเราสนใจในวัตถุมากเกินไป
สนใจแต่ในการแสวงหาวัตถุมากเกินไป
จึงไม่สนใจในสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม การละเลยก็เกิดขึ้น

หรือบางทีอาจจะนึกเสียว่า คุณพ่อคุณแม่ท่านไม่มีอะไรที่จะต้องช่วยเหลือท่าน
มีความสุขความสบายอยู่พอแล้ว ก็เลยไม่เอาใจใส่ อย่างนี้เขาเรียกว่าคนไม่มีหัวใจ
คือไม่ได้คิดว่าพ่อแม่ไม่ใช่ต้องการแต่วัตถุเพียงอย่างเดียว
ท่านต้องการเห็นหน้าลูก ต้องการให้ลูกทุกคนไต่ถามสารทุกข์สุขดิบอะไรต่างๆ บ้าง
เช่นว่ามารดาบิดาเรา ท่านมีเงินมีทองใช้ มีบ้านอยู่อุดมสมบูรณ์
แล้วเราก็คิดเสียว่า ไม่ต้องไปยุ่งกับท่าน ท่านอยู่สบายแล้ว
อย่างนี้คิดไม่ถูกเพราะว่าคนอายุมาก คือคนแก่นี้ มักจะว้าเหว่ทางจิตใจ
ความว้าเหว่ทางจิตใจนี่ทุกข์มาก เป็นเรื่องความทุกข์ในชีวิตประจำวัน

ลูกที่ดีต้องสำนึกในข้อนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะมีความสุขความสบายทางวัตถุแล้ว
แต่บางที่อาจจะไม่ สบายทางจิตใจก็ได้ เพราะฉะนั้น เราควรจะเข้าใกล้ไต่ถาม
เช่นตื่นเข้าไปเยี่ยมท่าน เสียหน่อย ไปดูว่าเป็นอย่างไร "เมื่อคืนหลับสบายดีไหม,
วันนี้ต้องการอะไรบ้าง, จะ ให้ผมช่วยเหลือเจือจุนอะไรบ้าง
" อย่างนี้ก็นับว่า เป็นความชุ่มเย็นใจของท่าน เพียงแต่ ไปไต่ถามเท่านั้น
ท่านก็สบายใจแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ตอนเย็นเวลาจะนอน
ก็ไปเยี่ยมไปดูเสียหน่อย หรือกลับจากทำงานก็ไปเยี่ยมเสียหน่อย
ถ้าเราไปไหนมาก็มีอะ ไรมาฝากท่านบ้าง
ซื้อผลไม้เล็กๆ น้อยๆ ของที่ท่านชอบเอามาฝาก
ฝากคนเฒ่าคนแก่ ไม่ต้องมากดอก แต่น้ำใจสำคัญกว่าวัตถุ

คนเราถ้าไม่มีน้ำใจวัตถุมันก็ไม่มา แต่ถ้ามีน้ำใจแล้ววัตถุมันก็ตามมาเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น เราควรจะมีอะไรไปฝากท่านบ้าง วันเกิดของท่าน ก็เอาอะไรไปให้ท่าน
ไปอวยพร ความจริงเราไปอวยพรผู้ใหญ่ก็เท่ากับ เราไปรับพรมากกว่า
คือไปรับพรจากท่าน แต่เราเรียกว่าไปอวยพรให้ท่าน
เรียกว่าไปอวยพรก็ถูกใจแง่หนึ่งเหมือนกัน คือไปให้ท่านสบายใจ
เมื่อท่านสบายใจก็กินได้นอนหลับ อายุมั่นขวัญยืน
ถ้าว่าลูกหลานไม่ไปเสียเลยมันก็ไม่ไหว คนโบราณเขาจึงถือ
เช่นว่าวันสำคัญ วันตรุษวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษาออกพรรษา
วันปีใหม่อะไรอย่างนี้ เขาก็ไป กราบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ ตามบ้านอกทั่วๆ ไปนั้น
ใครที่แก่กว่าเพื่อนในหมู่บ้าน ย่อมได้รับ การสักการะเคารพจากคนในหมู่บ้านนั้น

เมื่อเด็กๆ เคยจำได้ว่า มีคนแก่อยู่คนหนึ่งที่บ้านที่อยู่นั้นชื่อตาบี้
ตาบี้นี้เดินหลังคู้ แต่ว่ามีความรู้หลายอย่าง เป็นช่างไม้
สมมติว่าจะ สร้างบ้านสร้างเรือน ตาบี้ต้องไปขีดให้เขาเจาะ
ให้เขาบากเสา ให้ตัดไม้ ทั้งที่แก่เต็ม ทีแล้วก็ยังใช้แกอยู่
อยู่คนเดียว ลูกๆ ไม่มี แต่ว่าไม่เดือดร้อน เพราะคนบ้านใกล้เรือนเคียงเอาใจใส่
เอาข้าวสารไปให้ เอาปลาไปให้ มีขนมนมเนยก็เอาไปให้
ทุกคนในบ้านนั้นเลี้ยงตาบี้คนเดียว ได้รับความสุขความสบาย
ตาบี้นั้นจะดุลูกใครหลานใครก็ได้ จะตีก็ได้เขาไม่ว่า
ถ้าร้องมาว่าตาบี้ตีแล้วพ่อเฉยแม่เฉย เพราะเขาไว้ใจว่า
ตาบี้นี่เป็น คนยุติธรรม ไม่รังแกเด็ก ไม่ตีโดยไม่มีสาเหตุ ไม่ได้ตีแรงอะไร
ก็ก้านมะยมหวด ก้นสองสามที อาตมาก็เคยถูกแกตีเอาบ้างเหมือนกัน
ร้องไห้มาหาคุณแม่ แม่เฉย ถือว่า ตาบี้แกเป็นคนยุติธรรม เขาเลี้ยงกันในรูปอย่างนั้น

ถ้าหากว่าวันสำคัญ เข่นวันทำบุญเดือน ๑๐ ขนมบ้านตาบี้เยอะแยะ
คนเอามาให้ ได้ตั้งกะเฌอใหญ่ พวกเราเด็กๆ ก็ชอบ ไปบ้านตาบี้ตอนนั้น
เพราะว่ามีขนมเลี้ยงอย่างนั้น อันนี้เป็นวัฒนธรรม
เป็นประเพณีของการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ในเขตบ้านนั้น
เขาจึงอยู่กันด้วยความสุขความสบาย คนแก่จะดุใครว่าใครก็ได้
เวลาแต่งงานก็ต้องเชิญไปนั่ง เป็นประธาน มีศพก็ไป
ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บวชนาค จะต้องไปด้วยทั้งนั้น

บ้านไหนไม่มีคนแก่ที่เขาเคารพไปนั่งเขาก็ว่าเอาแหละ
เอ ทำงานอะไรไม่เห็นตานั้นมา หาว่าเป็นคน ไม่ดี
แล้วตานั่นคนนั้นไม่ไปด้วยถึงกับเสียหาย สังคมเขาเป็นอย่างนั้น
จึงอยู่กันฉันท์พี่ ฉันท์น้อง มีความสุขความสบาย
ไม่วุ่นวายเดือดร้อน นี่คือความเคารพกัน

ความรักความเคารพกันในระหว่างชน เป็นเหตุให้เกิดความสุขความสบาย
ไม่วุ่นวาย เดือดร้อน นี้คือความเคารพกัน
ความรักความเคารพกันในกระหว่างชนเป็นเหตุให้เกิด ความสงบสุข
แต่ถ้าเกิดเกลียดกันขึ้นเมื่อใด ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนเมื่อนั้น
เดี๋ยวนี้คุณธรรมเหล่านั้นชักจะเลือนหายไป
ไม่ค่อยจะปรากฏเหมือนเมื่อเด็กๆ ที่แลเห็น ก็เพราะจิตใจคนเปลี่ยนแปลงไป
มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ความเสียสละน้อยไป แม้กับพ่อ แม่ก็ไม่อยากจะให้เวลานี้
อยากจะเอาไว้กินไว้ใช้ผู้เดียว พ่อแม่ขออะไรบ้างก็ต้องช้า
แต่ถ้าตัวขอจากพ่อแม่ต้องขู่เอาให้ได้ เอาเท่านั้นเท่านี้
นิสัยขู่มันเป็นมาตั้งแต่เด็ก เป็น หนุ่มวัยทีนเอจก็ยังไปขู่เรื่อยไป
โตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังขู่ต่อไป

เช่นมาขู่รัฐบาลเป็นต้น จะเอานั่นเอานี่ ถ้าไม่ได้แล้วฉันจะลาออกจากประชาชน
ไม่รู้จะไปเป็นลิงเป็นค่างที่ไหนลาแล้ว เป็นเสียอย่างนี้มนุษย์เรา
มันอุตริไม่เข้าเรื่อง ลาออกอย่างไร จะไปอยู่ที่ไหนลาแล้ว นี้เรียกว่า เป็นการขู่เข็น
เสียนิสัยมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ ไม่เคารพผู้ใหญ่คือพ่อแม่

เวลาใครมานั่งปกครองเรา เราก็ไม่เคารพอีก จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้
จะเอาตามชอบใจ มันก็วุ่นวายเดือดร้อน คนโบราณเขาว่า
"คบเด็กสร้างบ้าน คบคนหัว ล้านสร้างเมือง" เขาว่าไว้อย่างนั้น
ไม่รู้ว่ามันยุ่งอย่างไร เรื่องอย่างนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอยู่
ที่เราควรจะได้เพาะให้เกิดขึ้นในสังคม คือเคารพบิดา เลี้ยงดูมารดาบิดา
ถ้าไม่เลี้ยงกายก็เลี้ยงใจ เลี้ยงใจสำคัญกว่าเลี้ยงกาย
อย่างนี้แล้วก็อยู่กันด้วยความสุขสบาย

อีกประการหนึ่งเขาสอนว่า ให้เคารพผู้ใหญ่ในสกุล
พ่อแม่นี่ท่านไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปดอก
วันหนึ่งท่านจะต้องจากเราไป ตายไปจากโลกนี้

ที่นี้เมื่อพ่อแม่เราตายไปแล้ว เราก็ต้องอุปโลกใครสักคนหนึ่ง
ให้เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นหัวหน้าในสกุลของเรา ที่เราจะถือเป็นธงเป็นผู้นำ
แล้วก็รับฟังคำสอนคำเตือน ของบุคคลนั้นต่อไป อันคนที่อยู่กันเป็นหมู่เป็นพวก
ถ้าปราศจากผู้นำหมู่แล้ว จะอยู่กันได้อย่างไร ปลาก็มีผู้นำฝูง
นกก็มีผู้นำฝูง วัวควายก็มีผู้นำฝูง อะไรๆ มันก็มีหัวหน้าทั้งนั้น
แม้มดตัวเล็กๆ ก็มีหัวหน้า ถ้าเราไปศึกษาดูแล้วก็จะเห็นว่ามดมันมีหัวหน้า
ต้องดูนานๆ ดูตามที่มันคลานไปตามดิน จะเห็นว่ามีตัวหนึ่งไปข้างหน้า
ถ้าตัวนั้นเอียงไปทางขวาพวกลูกน้องก็ไปทางขวา ถ้าตัวนั้น ไปซ้ายมันก็ไปซ้าย
คดไปตามหัวหน้า ถ้าตัวนั้นลงรูก็ลงรูกันเป็นแถวไปเลย นี้ให้เห็นว่า
มันก็มีหัวหน้า นกก็มีหัวหน้า คนป่าคนเยิงที่ไม่เจริญด้วยอารยธรรม
ก็มีคนเป็นหัวหน้า เขาเคารพบุคคลผู้เป็นหัวหน้า

เรื่องหัวหน้านี่สำคัญมาก ในตัวมนุษย์เราต้องมีหัว มือก็ต้องมีหัวแม่มือ
เท้าก็มีหัวแม่เท้า ระหว่างแข้งขาก็มีหัวเข่า เรื่องหัวๆ สำคัญทั้งนั้น
ถ้าหลุดไปสักหัวก็ไม่รอด หัวเข่าหลุดเดินไม่ได้
หัวแม่มือไม่มี มี ๔ นิ้วก็ไม่ได้เรื่องอะไร ต้องมีผู้นำ ขาดผู้นำแล้วก็ไม่ไหว
เพราะฉะนั้น ในครอบครัวเราต้องมีผู้นำ ผู้นำคือคุณพ่อ คุณแม่เริ่มต้น
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตายแล้วเราก็ต้องตั้งผู้นำขึ้นใหม่
ผู้นำของเราก็คือผู้ที่เป็นพี่ใหญ่ในครอบครัวของเรานั่นแหละ
สมมติว่าคนให้เป็นผู้หญิง ก็ต้องให้เป็นผู้นำ เป็นผู้ชายก็ต้องให้เป็นผู้นำ

เคยไปที่งานเขาแห่งหนึ่ง บิดาตายก่อนแล้ว เหลืออยู่แต่มารดา
วันนั้นมารดาตาย พอมารดาตายลูกก็มาประชุมพร้อมกัน
ลูกของแม่นั้นเป็นพระอยู่องค์หนึ่ง พอมาประ ชุมพร้อมท่านก็บอกว่า
ต่อแต่นี้ไปขอให้พี่สาวชื่อนั้น เป็นผู้นำในครอบครัวของเรา
เรื่องจัดการงานศพทำอะไรทุกอย่างต้องฟังเสียงคุณพี่ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระ
แต่ท่านให้ เกียรติแก่พี่สาว ให้พี่สาวเป็นใหญ่ในงานในการความจริง
ถ้าท่านเป็นเสียเองก็ได้ แต่ว่าไม่เหมาะ เพราะว่าไม่เคารพต่อพี่สาว ซึ่งเป็นพี่ใหญ่
ก็เลยตั้งให้พี่สาวเป็นใหญ่ใน ครอบครัวของเรา ทุกคนต้องฟังเสียงคุณพี่
ถ้าคุณพี่ว่าเอาก็ต้องเอา ไม่เอาก็ต้องไม่เอา จะทำอะไรก็ต้องฟังเสียงพี่ทั้งนั้น
ในงานการเรียบร้อยหมดไม่มีการตุกติกตุ้งติ้งอะไรกันเลย นี่เพราะว่าเรายกคนให้เป็นผู้นำ

ในหมู่ชาติประเทศก็เหมือนกัน ก็มีผู้นำ ถ้าไม่มีผู้นำก็วุ่นวาย
ผู้นำฝ่ายบริหารก็มี ฝ่ายตุลาการก็มี ฝ่ายนิติบัญญัติก็มี ตามแบบประชาธิปไตย
ใครมีหน้าที่อันใด ก็ต้องปล่อย ให้เขาทำหน้าที่นั้นให้เรียบร้อยสมบูรณ์
อย่าไปขัดคอเขา เมื่อเราให้เขาเป็นแล้วก็ให้ เขาเป็นให้เต็มที่
ถ้าไปขัดคอกันนอกกฎ ก็เรียกว่าไม่เคารพระเบียบแบบแผน
ไม่ประท้วงแบบเอะอะเกรียวกราว ให้คนตกใจขวัญหนีดีฝ่อ
จึงจะเรียกว่ามีปัญญา ทำอะไรด้วย ปัญญามันไม่วุ่นวาย
แต่ถ้าทำอะไรด้วยอารมณ์แล้วก็วุ่นวาย สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน
เวลาเราเดินทางไปไหนๆ เรามีคนนำเรียกว่าผู้นำทาง
ในหมู่อุบาสกก็มีผู้นำ เรียกว่าทายก เรียกที่ถูกว่า มรรคนายก แปลว่า ผู้นำทาง
แต่เราเรียกให้ขาดไปเสีย เรียกว่าทายก
ทายกเขาแปลว่า ผู้ให้เท่านั้นเอง ควรจะเรียกว่ามรรคนายก

เช่นว่าพันเอกเสรี นำเราสวดมนต์ไหว้พระเรียกว่าเป็นมรรคนายกของวัดชลประทานแล้ว
ไม่ต้องตั้งเป็น คือเป็นด้วยการกระทำ เมื่อทำหน้าที่ในการนำเขาไหว้พระสวดมนต์
ทำบุญสุนทาน ก็เรียกว่าเป็นมรรคนายก เมื่อมรรคนายกว่าอย่างใดเราก็ว่าตามกันไป
แต่ถ้ามีเรื่องอะไรก็ปรึกษากันได้ แสดงความคิดความเห็น ว่าจะเอาอย่างไร
ก็ฟังเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ อย่างนี้มันก็ไม่ยุ่ง ทีนี้บางทีเวลาประชุมกัน ตกลงกันแล้ว
คนหนึ่งไม่เห็นด้วย ออกไปยืนพูดอยู่นอกสภา อย่างนี้ก็วุ่นวาย

เมื่อพูดตกลงกันแล้วก็เป็นอันตกลงกันไปเลย ออกไปแล้วอย่าไปพูดอีก ให้มันวุ่นวาย
เพราะเรายอมรับมตินั้นแล้ว เรื่องมันก็ไม่ยุ่ง ในหมู่พระเรานี่ก็ต้องมีผู้นำ
วัดหนึ่งก็มีสมภารองค์หนึ่ง มีผู้ช่วย แล้วก็ยังตั้งองค์อื่น ได้อีก
องค์นั้นมีหน้าที่ดูแลข้าวของ ภัณฑาคาริกอะไรต่างๆ เป็นหน้าที่ๆ ไป
ต่างคนต่างทำ หน้าที่แต่ต้องฟังเสียงสมภาร ซึ่งเป็นหัวหน้า
ถ้าสมภารสั่งทำอะไรก็ทำตาม เรื่องมันก็ เรียบร้อย
ในชุมนุมชนใดคนไม่เคารพหัวหน้า เห็นหัวหน้าเป็นหัวตอ
แล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เรื่องนี้สำคัญ

ในครอบครัวเราควรจะอบรมไว้ คืออบรมให้เด็กรู้จักเคารพผู้อาวุโสในครอบครัว
เช่นว่าลูกหลายคน ให้ถือว่าคนหัวปีว่าอะไรต้องฟัง สอนให้เขาฟังและปฏิบัติ
ได้ทราบว่าครอบครัวชาวญี่ปุ่น เขาถือเรื่องนี้เคร่งครัด เวลาตักอาหารแจก
แจกตามอาวุโส เขาถือตามหลักพุทธศาสนา ตามวินัยของพระ
พระเราแจกของต้องแจกตามอาวุโส สมภารต้องได้ก่อน
แล้วก็รองเรียงพรรษาลงไป จนถึง คนสุดท้ายคือสามเณร เหลือเณรก็ถึงเด็ก
ตามลำดับอาวุโส เดินก็ต้องไปตามลำดับอาวุโส
พระพรรษาแก่เดินหน้า พรรษาอ่อนตามหลัง

เรื่องไม่ถืออาวุโสมีเรื่องเดียว คือเรื่องไปส้วมนี่ถือไม่ได้ ใครไปก่อนต้องเข้าก่อน
ถ้าไปเรียงอาวุโสอยู่ตรงนั้นจะเกิด เรื่องกันใหญ่ อย่างนี้ไม่ถือ
นอกนั้นแล้วถือทั้งนั้น เขาวางระเบียบไว้ดี ในครอบครัวก็เหมือนกัน
ควรจะถือลำดับอาวุโสไว้ เช่นในญี่ปุ่นเขาเล่าให้ฟังว่า
ในครอบครัวหนึ่ง ตักข้าวเลี้ยงกันในครัว แม่เป็นคนตัก ตักให้พ่อก่อน
แล้วก็ตักให้แม่ แล้วให้ลูกคนหัวปี เรียงลงไปตามลำดับ
จนกระทั่งถึงคนสุดท้อง คนสุดท้องเขาเรียกว่า เจ้าข้าวตัง
เพราะ ว่ามันถึงก้นหม้อได้กินข้าวตัง
การกระทำอย่างนั้นก็เป็นการฝึกให้เคารพอาวุโสนั่นเอง
เพราะฉะนั้นคนญี่ปุ่นนี่เขาเคารพกันนักหนา เคารพจักรพรรดิ์ว่าเป็นหัวหน้า
เคารพต่อรัฐ บาล ต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างเคร่งครัด
ญี่ปุ่นจึงสร้างชาติสร้างประเทศได้รวดเร็ว เพราะความเคารพเชื่อฟังกันนั่นเอง

เดี๋ยวนี้เขารับอารยะธรรมใหม่มา อาจจะวุ่นวายบ้างแต่ก็ไม่มาก
เพราะเชื้อเดิมมันมากกว่า เชื้อเดิมมันรุนแรงกว่า เขาก็ยังเก่งอยู่
ของเราก็ควรจะเป็นอย่างนั้น หัดตามลำดับอาวุโสไว้
เด็กจะได้เคารพกันตามลำดับ สิ่งทั้งหลายมันตั้งต้นในครอบครัวทั้งนั้น
ไม่ว่าอะไร เรื่องชาติ เรื่องบ้านเมือง เรื่องโลก มันมีมาในครอบครัวทั้งนั้น
ถ้าเราเริ่มต้นอะไรไว้ในครอบครัวแล้ว มันก็กลาย เป็นเรื่องใหญ่ไปได้
ลูกของเราไปอยู่ที่ไหน มันก็เอาระเบียบในครอบครัวไปใช้
เคารพบูชากันเป็นนิสัย อันนี้มันดี

คนงานคนการเราก็เหมือนกัน เราต้องตั้งหัวหน้าไว้ คนนี้เป็นหัวหน้าในเรื่องครัว
นี้หัวหน้ารับแขก คนนั้นหัวหน้าเฝ้ารถต้องรับผิดชอบ ตั้งไว้ อย่างนั้น
ทุกคนต้องเคารพหัวหน้า เป็นเรื่องระเบียบธรรมะ เรียกว่าเคารพตามอาวุโส
เพราะฉะนั้น จึงวางหลักในครอบครัวไว้ว่า ให้เคารพผู้ใหญ่ในสกุล
ต้องมีผู้ใหญ่แล้วให้ ดีต้องประชุมกันบ่อยๆ คนที่เป็นสมาชิกในครอบครัว
ต้องประชุมกันบ่อย วันนั้นไปประ ชุมบ้านนั้น วันนี้ไปประชุมบ้านนี้ ถ้ามีหลายคน

สมมติว่า ๕ คนพี่น้อง เรานัดประชุมกัน วันเสาร์อาทิตย์ไปประชุมกัน เสียทีหนึ่ง
ปรึกษาหารือกันในเรื่องการทำมาหากิน ในเรื่องปัญหา เรื่องนั้นเรื่องนี้
พบปะกันเสียบ้าง ความสามัคคีมันก็เกิด แล้วเวลาไปประชุมพาเด็กไปด้วย

เด็กให้เขาประชุมกันในหมู่เด็ก ไปเล่นกันสนุกตามประสาเด็ก
ผู้ใหญ่ก็คุยกันตามประ สาผู้ใหญ่ รับประทานอาหารด้วยกัน
อย่างนี้ทำให้เกิดความสมานฉันท์ เกิดความรัก ความสามัคคีในสกุลเดียวกัน
อยู่กันด้วยความมั่นคงต่อไป มีปัญหาอะไรก็ปรึกษากัน
คนไหนเป็นผู้ใหญ่ในที่ประชุมเราต้องเคารพต่อหัวหน้า เป็นอปริหานิยธรรม เรียกว่าธรรม
เป็นที่เป็นไปเพื่อความเจริญถ่ายเดียวไม่เสื่อม เพราะมีการประชุมกันบ่อยๆ
คนเรานั่น อยู่คนเดียว ความคิดความอ่านก็คับแคบ แต่ถ้าได้ปรึกษาหารือกันแล้ว
ความคิดมันก็ กว้างออกไป มีเรื่องอะไรเอามาปรึกษากันมันหลายหัว
ก็ช่วยกันคิดช่วยกันตรองช่วยกัน แก้ไขขจัดปัญหาเหล่านั้น
ก็เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้า จึงต้องมีการประชุมกันบ้างพบปะกันนานๆ
ก็นัดพบกันเสียที่หนึ่งคุยกันแล้วก็ปรึกษาหารือในเรื่องการงาน
อันนี้เป็นเรื่องดี พี่ๆ น้องๆไม่เคยพบกัน มันห่างกันออกไป เพราะไม่ได้พบกันเลย
แต่ถ้ามา พบกันบ่อยๆ ก็เกิดความคุ้นเคยสนิทสนม

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า"วิสสาสา ปรมาญาตี" ความคุ้นเคยนั่นแหละเป็นญาติอย่างยิ่ง
แม้เราเป็นญาติโดยสืบสายโลหิต แต่ไม่คุ้นกันก็ไม่เป็นญาติ ทีนี้มาพบปะกัน
ก็เรียกว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง จึงต้องเคารพกันตามลำดับพบปะกัน ปรึกษาหารือกัน
การอยู่กันก็จะเรียบร้อยไม่มีเรื่องอะไรเสียหาย อันนี้ประการหนึ่ง

สำหรับวันนี้ก็พูดกันเพียงนี้ก่อน วันหน้าก็ค่อยต่ออีกใหม่ จึงขอหยุดไว้แต่เพียงนี้

สุกรานิ อสาธุนิ อัตตโม อหิตานิ จะ
ยัง เว หิตัญจ สาธุญ จะ ตัง เว ปรมะทุกกรันติ

กรรมทั้งหลายที่ไม่ดี และไม่เป็นประโยชน์แก่ตนทำได้ง่าย
กรรมใดแล เป็นประโยชน์ด้วยดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากยิ่ง
พุทธพจน์.

ตุ๊รัน พิมพ์/ทาน Edit 18/4/99 14:48


ที่มา...ปาฐกถาธรรม เรื่อง ทำดีเสียก่อนตาย
วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2517
http://www.panya.iirt.net


:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ธ.ค. 2009, 13:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2007, 01:05
โพสต์: 14

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า"วิสสาสา ปรมาญาตี" ความคุ้นเคยนั่นแหละเป็นญาติอย่างยิ่ง
แม้เราเป็นญาติโดยสืบสายโลหิต แต่ไม่คุ้นกันก็ไม่เป็นญาติ ทีนี้มาพบปะกัน
ก็เรียกว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง จึงต้องเคารพกันตามลำดับพบปะกัน ปรึกษาหารือกัน
การอยู่กันก็จะเรียบร้อยไม่มีเรื่องอะไรเสียหาย อันนี้ประการหนึ่ง


ชอบข้อความข้างบนครับ

อนุโมทนาบุญ สาธุ :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 48 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร