วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 13:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดผลด้วยตนเอง-การอภัยทาน

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ


วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐
ณ โรงเรียนพุทธธรรม วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ปากเกร็ด นนทบุรี


ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ
คนที่นั่งในลานไผ่ก็หยุดคุยกันได้แล้ว เอียงหูมาทางนี้
จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตต่อไป

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ที่ในกรุงเทพฯเขาครึกครื้นกันมาก
เพราะว่าคนไปวิ่งข้าม สะพานลอยฟ้า หรือสะพานแขวน
เป็น “สะพานเสาขึงเคเบิลระนาบเดียว” ชื่อว่า สะพานพระราม ๙
ซึ่งทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
เปิดวิ่งเพื่อหาเงินสร้างตึกโรงพยาบาลศิริราช
เรียกว่า ตึกสยามมินทร์ เพราะศิริราชครบ ๑๐๐ ปี
เขาสร้างตึกเป็นอนุสรณ์ใหญ่โตมาก
เลยหาเงินได้ คนไปเที่ยวนี่ ขึ้นไปเดินบนสะพานเขาไม่เก็บสตางค์
แต่เขาบอกว่าบริจาคทำบุญ ๒๐ บาทแล้วจะได้ “เกียรติบัตร”
เป็นที่ระลึกด้วย คืนแรกได้ตั้ง ๒-๓ แสน
แล้วก็ได้มาเรื่อย ๆ ได้จากพวกวิ่งบ้าง อะไรบ้าง

อาตมาก็ไปดูมาแล้วเหมือนกัน ผู้ว่าการทางด่วนเขาบอกว่า
“หลวงพ่อไปดูได้ คราวนี้เรียบร้อยแล้ว”
เพราะไปดูครั้งก่อนยังไม่เสร็จ ยังไม่ได้ลาดยาง
ไปดูคราวนี้เขาก็พารถวิ่งไปจนสุดทางที่ลงไปปากท่อ
แล้ววิ่งกลับมา หยุดรถแล้วก็ให้เดินชมสะพาน
มีคนหลายคนเห็น “โอ! หลวงพ่อปัญญาก็มาด้วย”

“เอ้า! ของมันใหญ่ มันโต ต้องมาดูเขาหน่อยซิ”
ไปดูกัน เดินดูทั่วบริเวณ เห็นว่ากำลังเร่งรีบทำที่
ต้อนรับสมเด็จพระเทพฯ ที่จะเสด็จไปดูการแข่งเรือแข่งแพ
ฝนมันตก โคลนเฉอะแฉะ รถบดไม่ค่อยสะดวก
แต่ก็รีบเร่งทำ ซื้อทรายมาถม เอาหินมาใส่
เป็นงาน “จุลกฐิน” กันเลยทีเดียว ทำกันอย่างเร่งรีบ

ชาวบ้านชาวเมืองก็ไปสนุกสนานกัน เพราะว่าเมื่อเปิดให้รถวิ่งแล้ว
ขึ้นไปเดินไม่ได้ เขาไม่ให้ใครขึ้นไปเดินเอ้อระเหยอยู่บนนั้น
เพราะเป็นทางรถวิ่ง คนก็เลยไปดูกันใหญ่
แม้คนแก่ ๆ ก็ไป แต่เดินไม่ไหว นั่งรถ ขสมก. ๒ บาท
พาไปสุดฝั่งโน้นแล้วก็พากลับมา ได้เงินเข้าโรงพยาบาลเหมือนกัน
เขามาช่วย ได้บุญได้กุศลไปด้วยในตัว
วันนี้เขาวิ่งกันเป็นการใหญ่ ตอนนี้ก็ยังไม่เสร็จ
วิ่งแข่งกันบ้าง วิ่งเล่นบ้าง สนุกกันไปตามเรื่อง
เป็นการออกกำลังกาย
วิ่งข้ามสะพานกัน แต่ข้ามไม่พ้นหรอก
ข้ามอยู่อย่างนั้นแหละ วิ่งเวียนไปเวียนมา
ไม่สามารถจะข้ามไปได้ เพราะว่าไปวิ่งข้ามสะพานใหญ่ ไม่ได้วิ่งข้าม
“สะพานสังสารวัฎฎ์” คือการเวียนว่ายตายเกิด”

ที่เราเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่ทุกวันทุกเวลานี่ไม่ได้วิ่งข้าม
ไม่มีใครชวนให้ข้าม ชวนให้ข้ามก็ไม่มีใครอยากข้าม
เพราะยังติดฝั่งนี้อยู่ ไม่อยากจะไปฝั่งโน้น
ฝั่งนี้มันสนุกด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
อันก่อให้เกิดความเพลิดเพลินสนุกสนาน
ด้วยแสงสีอะไรต่าง ๆ นานา
หลงอยู่ในป่าของกามารมณ์ไม่อยากจะข้ามไป

แม้มีคนตะโกนบอกว่า “ข้ามมาฝั่งนี้…ฝั่งนี้สงบเรียบร้อยไม่ยุ่งยาก”
เขาก็ไม่อยากไป เขากลับคิดว่า เอ! สงบแล้วมันจะสนุกอะไร
มันจะสนุกก็ต้องมีอะไรแปลก ๆ มีสิ่งน่าดูน่าชม
ถ้าไปถึงก็มีแต่ความสงบ สะอาด สว่าง เขาก็ยังไม่อยากได้
เพราะจิตใจยังไม่เบื่อในสิ่งที่เขาประสบพบเห็น
ยังสนุกสนานเพลิดเพลินกันอยู่ในโลก
จึงไม่อยากจะไปฝั่งโน้น
แม้จะมีคนตะโกนเรียกสักเท่าใด หูก็ไม่ได้ยิน
ตาก็ไม่ดู ใจก็ไม่ได้คิด ว่าฝั่งโน้นมีอะไร
มีความสุขอย่างไร เขาก็ไม่ได้คิดที่จะไป ก็ยังเวียนว่ายอยู่ในฝั่งนี้
แม้ว่าว่ายน้ำไปได้สักครึ่งแม่น้ำก็ว่ายกลับมาอีก
เพราะนึกว่ามันไม่สนุกสนานอะไร ก็เลยไม่มีใครอยากไป

ธรรมะนี่เป็นของที่คนเข้าถึงยาก
แต่ว่าก็ต้องพยายามชักจูงโน้มน้อมจิตใจ
ให้คนหันหน้าเข้าหาธรรมะ
เพื่อจะได้เอาไปเป็นหลักในชีวิตประจำวันต่อไป


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 21 เม.ย. 2010, 13:53, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 13:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ขณะนี้คณะของพวกเราก็ได้ทำงานอยู่อย่างหนึ่ง
เรียกว่า “ทศพิธราชธรรมสมโภช”
ได้ออกไปจัดเผยแผ่ธรรมะตามจังหวัดต่าง ๆ
อาศัยวิทยาลัยครูบ้าง วิทยาลัยเทคนิคบ้าง
ส่งพระออกไป เป็นจุดศูนย์กลางแล้วก็ออกไป
ทำการพูดธรรมะให้เด็กนักเรียนบ้าง
นักศึกษา ชาวบ้าน ประชาชนได้ฟังกัน
ก็ได้แต่เพียงเด็กนักเรียนกับนักศึกษา
ชาวบ้านยังไม่ถึง...ยังไม่ถึงเป้าที่เราต้องการ
จะต้องทำต่อไป แม้พ้นงานเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว
ก็จะทำต่อไป เพื่อให้ธรรมะเข้าถึงประชาชน
ให้ประชาชนเข้าถึงธรรมะ จึงเป็นงานที่ต้องกระทำ
ทำด้วยความเต็มใจ ทำด้วยความเสียสละ

เรื่องของธรรมะนี้ต้องทำด้วยความเสียสละ
ถ้าทำเพื่อเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ในลาภสักการะอะไร
มันก็ไปหยุดชะงักได้เมื่อตัวไม่ได้อะไร
เมื่อไม่ได้สักการะอะไร ไม่มีใครชมเชย
ให้กำลังใจ ก็จะท้อแท้แล้วเลิกไป


มีพระหลายรูปที่มาร่วมงานส่งไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ
ที่ค่อนข้างจะลำบากหน่อย อยู่ ๆ ไปก็หายเสียแล้ว
สึกไปเสียแล้ว แล้วไปบ่นว่า
“ปล่อยให้มาอยู่คนเดียวไม่เห็นใจกันบ้างเลย ไม่ช่วยเรื่องอะไร”
ท้อแท้เหนื่อยหน่าย

คือไม่ได้นึกว่าทำงานเพื่ออะไร ?
ถ้าทำงานเพื่อคนนั้น เพื่อคนนี้ เมื่อคนนั้นคนนี้ไม่สนใจ
เราก็เกิดเบื่อหน่าย ไม่ได้อะไรก็เบื่อหน่าย
เช่นไม่ได้ลาภก็เบื่อหน่าย ไม่ได้ยศก็เบื่อหน่าย
ไม่อยากจะทำอะไรต่อไป การคิดอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง
เราไม่ควรคิดว่าทำเพื่ออย่างนั้น ไม่ใช่ทำเพื่อลาภ เพื่อยศ
เพื่อสรรเสริญ เพื่อความสุขแบบชาวบ้าน
แต่ว่าเราทำงานเพื่อพระธรรม
ทำงานเพื่อธรรมะ หรือ ทำงานเพื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์


พระพุทธเจ้าท่านไม่มีอะไรจะให้แก่เรา
แต่ท่านให้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่เกิดขึ้นในใจของผู้ทำงาน
คือจิตใจนั้นเต็มไปด้วยความเสียสละ
ตัดความเห็นแก่ตัวออกไป ทำอะไรก็มุ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ทำถวายพระพุทธเจ้า ถวายพระธรรม พระสงฆ์
ไม่ได้หวังอะไรที่เป็นเรื่องของชาวโลก
เช่นว่า ยศถาบรรดาศักดิ์นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา
อย่าไปหวังอะไรให้มันวุ่นวาย

เราทำงานเพื่อพระพุทธเจ้า อุทิศชีวิตถวายแก่งาน
เพื่อให้งานนี้มันเจริญก้าวหน้าต่อไป
ได้อะไรก็อย่างนั้น ไม่ได้อะไรก็อย่างนั้น เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า ทำงานเพื่อให้งานเจริญก้าวหน้า
เผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน
ถ้ามีหลักในใจแน่นแฟ้นอย่างนี้จะไม่ท้อถอย ไม่เบื่อหน่าย
เพราะไม่ได้หวังอะไรจากใคร ๆ
ต้องการแต่จะทำงานเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม
คนทำงานต้องคิดอย่างนั้น โดยเฉพาะทำงานเพื่อธรรมะ
ต้องคิดอย่างนั้น คิดอย่างอื่นไม่ได้
คิดถึงเรื่องที่จะมีจะได้ ที่จะเป็นอะไรนี่มันยุ่งทั้งนั้น
ไม่ควรจะไปคิดถึง

คิดถึงแต่ว่าเรามีหน้าที่เผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน
ก็ต้องทำไปตามหน้าที่ ใครจะชม ใครจะติไม่สนใจ
ถ้าจะสนใจแต่เพียงว่า เขาชมเราถูกต้องหรือไม่
เขาติเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าเขาชมถูกต้องก็อย่าไปหวั่นไหว
แต่อย่าไปยินดียินร้าย เขาติก็อย่าไปยินดียินร้าย
ให้นึกแต่เพียงว่าเป็นการแสดงออกของเขาเท่านั้นเอง
เราอย่าหวั่นไหวกับคำแสดงออกเหล่านั้น
ตั้งหน้าตั้งตาทำงานทำการต่อไป

วงการพระศาสนาต้องการคนอย่างนี้
…คนที่มีอุดมการณ์แน่วแน่เพื่อทำงานให้แก่พระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง
ถ้าได้คนประเภทนี้มากขึ้น ศาสนาก็จะเจริญก้าวหน้า
เพราะมีผู้เสียสละเพื่อพระศาสนา

ถ้าเราคิดถึงองค์สมเด็จฯพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะเห็นว่าท่านมีความเสียสละขนาดไหน
พระองค์เป็นถึงมกุฎราชกุมาร เป็นเจ้าฟ้า
มีความสุขมีความสบายในวังทุกสิ่งทุกประการ
แต่ก็เสียสละสิ่งเหล่านั้นออกมาอยู่ป่า
นอนบนดินกินบนทราย อาศัยร่มไม้เป็นหลังคา
เสื้อผ้าก็เป็นเสื้อผ้าเก่า ๆ ที่เก็บมาจากกองขยะมูลฝอย
ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร เรียกว่านุ่งผ้าขี้ริ้ว เป็นคนนุ่งผ้าขี้ริ้ว

พระองค์ไปเที่ยวศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจ
จากสำนักครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ที่มีชื่ออยู่ในสมัยนั้น
เพื่อทดสอบดูว่าความรู้อย่างนั้น
จะช่วยให้พระองค์พ้นจากความทุกข์หรือไม่
เมื่อไปเป็นศิษย์ในสำนักใดก็เป็นศิษย์ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว
เชื่อฟังคำสอนคำเตือนของอาจารย์
ไม่ได้อยู่ให้ใครหนักอกหนักใจ
แต่อยู่ให้คนทุกคนสบายอกสบายใจ
ตั้งใจเรียน ตั้งใจปฏิบัติจริงจัง จนกระทั่งอาจารย์ยกย่อง ว่า
“เธอนี้มีความรู้เท่าเทียมกับฉันแล้ว
อยู่ต่อไปเถอะ จะได้เป็นครูสั่งสอนศิษย์ต่อไป”

แต่พระองค์ทราบในน้ำพระทัยดีว่า มันยังไม่ถึงที่สุด
สิ่งที่ได้รับนี่ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่เด็ดขาด ยังมีความทุกข์อยู่
ยังมีความเดือดร้อนกังวลใจอยู่ มันต้องหาทางต่อไป
ก็ไปทำอะไรหลายอย่างหลายประการ
เอาชีวิตเข้าแลก เป็นการเสี่ยงเหลือเกิน
แต่ว่าเป็นบุญนักหนาของชาวโลก
ที่ชีวิตของพระองค์ไม่ไปสิ้นเสียในป่าด้วยโรคภัยไข้เจ็บในสมัยนั้น

ผลที่สุดก็สำเร็จเป็น พระพุทธเจ้า
คือได้ตรัสรู้ความจริง แล้วก็มีจิตผ่องใสเบิกบาน
เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงขึ้นมาด้วยปัญญาที่พระองค์ได้ค้นพบ
แล้วก็ไม่ได้อยู่นิ่งอยู่เฉยไปเที่ยวสอนประชาชนตามที่ต่างๆ
…เดินไป เดินฝ่าแดดฝ่าลมฝ่าความร้อนความหนาวในประเทศอินเดีย
ประเทศอินเดียถึงบทร้อนก็ร้อนอย่างทารุณ
ถึงบทหนาวก็หนาวแห้ง ๆ ไม่มีความชื้น
คนไทยไปอินเดีย ถ้าไปหน้าหนาว
ก็มักจะมีปรากฏแตกที่ริมฝีปากบ้าง เท้าแตกบ้าง
เพราะว่ามันไม่มีความชื้น มันแห้งมันเกรียม
ไปเห็นอย่างนั้น เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้า
นึกถึงความเป็นอยู่ของพระองค์ในสภาพป่าดงพงพี
แล้วพระองค์ก็ทำประโยชน์แก่ประชาชน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: สาธุค่ะคุณลูกโป่ง
ขออนุโมทนากับความเพียรอันมีค่ายิ่งนี้ค่ะ
พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนอีกรูปที่ดิฉันเคารพนับถืออย่างยิ่ง
เคยมีโอกาสไปกราบและสนทนาธรรมกับท่านค่ะ
สาธุ :b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถ้าเรานึกถึงพระพุทธเจ้าบ่อย ๆ ใจเราจะมั่นคงขึ้น
จะรักพระพุทธเจ้า อยากจะทำงานถวายแก่พระองค์
ได้กำลังใจจากพระองค์ อย่างนี้ถ้าเราคิดแล้วมันก็ได้
ถ้าไม่คิดมันก็ไม่ได้ ไปนั่งคิดแต่เรื่องอื่นเสีย
เรื่องวิตกกังวลด้วยเรื่องอะไรที่ไม่เป็นเรื่อง
ไม่ได้คิดเอาพระพุทธเจ้ามาปลอบโยนจิตใจ
ไม่ได้คิดถึงความเสียสละ การทำจริง
ความเมตตากรุณาปรานีที่พระองค์มีต่อชาวโลกทั้งหลาย

ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนั้น กำลังใจมันก็เหี่ยวไปเรื่อย ๆ
เพราะไม่ได้รดน้ำ คือธรรมะ เอาแต่น้ำสกปรกมารด
ต้นไม้ก็หายใจไม่ออกแล้วก็ถึงแก่ความตายไป


คนเราถ้าคิดแต่เรื่องโลก ๆ จิตใจมันก็กวัดแกว่ง
มันอยากจะไปอยู่กับชาวโลก
แต่ถ้าคิดถึงเรื่องธรรมะ จิตใจก็ห่างโลก
ห่างออกไป ๆ ก็ไปอยู่กับพระธรรม
อยู่กับฝ่ายแห่งความสะอาด แห่งความสว่าง แห่งความสงบ
เรียกว่าอยู่กับพระ
แต่ถ้าไปคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นเรื่องโลกียวิสัย
จิตใจก็ไปอยู่กับสิ่งเหล่านั้น หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ไม่ออกจากทุกข์ไปได้

การอยู่ในความทุกข์นั่นมันดีหรือไม่?
ญาติโยมคิดดูก็จะมองเห็นว่า อยู่กับความทุกข์นี่มันไม่ดี
ความทุกข์ร้อยแปดอย่างที่มีปรากฎอยู่ในชีวิตของคนเราทั่ว ๆ ไป
ทุกข์ส่วนตัว ทุกข์เรื่องครอบครัว ทุกข์การงาน
ทุกข์ของประเทศชาติของสังคม
ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้นถ้าคิดไม่เป็น
ถ้าคิดเป็นมันก็ไม่ทุกข์
แต่ถ้าคิดไม่เป็นก็คิดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ
ด้วยความหลงใหลเข้าใจผิด ก็นั่งกลุ้มด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้

การที่นั่งกลุ้มนั้นมันไม่ถูกต้อง ไม่ใช่วิสัยของพุทธบริษัท
พุทธบริษัทเราควรจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส
เมื่อเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส
จะไปนั่งทุกข์อยู่ทำไม ควรจะได้สติขึ้นในขณะนั้น
ฉุกคิดขึ้นมาได้ทันท่วงทีว่า
“เอ๊อ ! นี่มันอะไรกัน อะไรมันอยู่ในใจของฉัน
ฉันคิดเรื่องอะไร ทำไมฉันจึงกลุ้มใจ
ทำไมฉันนั่งเป็นทุกข์ อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง”


แล้วควรจะคิดอย่างไร?
แม้จะคิดในเรื่องนั้นก็ได้ แต่ว่าต้องคิดด้วยปัญญา
ไม่ได้คิดด้วยความโง่ความเขลา
ถ้าคิดด้วยความโง่ นั่งกลุ้มใจ
ถ้าคิดด้วยปัญญามันก็หมดความกลุ้มใจ
เพราะถ้าคิดด้วยปัญญานั้นมันเกิดเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง
รู้ว่าความทุกข์คืออะไร? ทุกข์นี้มาจากอะไร?
ทุกข์นี้เป็นเรื่องแก้ได้ แก้ได้โดยวิธีใด?
ด้วยวิธีสอบสวนทวนถามถึงปัญหาคือความทุกข์
จนเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร
แล้วเราก็ไม่ต้องคิดให้เป็นทุกข์ต่อไป

ทุกข์เรื่องนี้คิดแทงตลอดได้ เรื่องอื่นมาก็แทงตลอดต่อไป
คิดให้มันรู้แจ้งแทงตลอดไปเรื่อย ๆ
ผลที่สุดอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา
เราก็ปลงได้ วางได้ด้วยปัญญา
ใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือสำหรับปลงวางสิ่งนั้น

การใช้ปัญญาก็คือ หมายถึงว่าเราคิดค้นในเรื่องนั้น
ไม่ใช่นั่งเพ่งมองในเรื่องความทุกข์อย่างเดียว
แต่มองว่ามันมาอย่างไร
มันไปอย่างไรจึงได้เกิดยุ่งขึ้นมาในใจของเรา
พิจารณาให้มันลึก แทงให้มันตลอดในเรื่องนั้น
เราก็จะเข้าใจเรื่องนั้นได้ ความทุกข์ค่อยลดน้อยลงไป


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 12 พ.ย. 2009, 14:06, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รื่องความทุกข์ในชีวิตประจำวันนี่แหละ
เป็นเครื่องวัดการปฏิบัติธรรมของพวกเรา

เรามาวัดฟังเทศน์มากี่ปีแล้ว ได้อ่านหนังสือบ้าง
ฟังเทปบ้าง ฟังกันมาเรื่อยๆ
ทีนี้ก็ต้องวัดที่ตัวเราเองว่า เราเบาบางจากทุกข์ขนาดไหน
จิตใจสงบขนาดไหน สะอาดขนาดไหน
มีอะไรมากระทบตีโต้กลับไปด้วยปัญญาได้ขนาดไหน
นี่เป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องวัดความรู้สึกนึกคิดของเราเอง
ด้วยปัญญาของเราเอง

ถ้าหากว่าเรายังเหมือนเดิม เคยโกรธเหมือนเดิม
เคยโลภอยู่เหมือนเดิม เคยเกลียดอยู่เหมือนเดิม
ใครทำอะไรให้ ก็เอามาฝังไว้ในใจ
คิดอยู่ด้วยความพยาบาทอาฆาตจองเวร
ก็แสดงว่าไม่ดีขึ้น การเข้าหาธรรมะยังไม่ถึงธรรมะ
ไปเที่ยวลูบๆ คลำๆ อยู่เท่านั้นเอง
เหมือนกับไปลูบๆ คลำๆ ไหที่ใส่อะไรอยู่ข้างใน
ไม่เปิดออกสักที แล้วไม่กินสักที
แต่ไปลูบผิวของไหอยู่นั่นแหละ แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา

เราก็ต้องวัดเราบ้าง วัดตัวเราว่าเมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร?
เมื่อก่อนสภาพจิตเป็นอย่างไร
เดี๋ยวนี้สภาพจิตของเราเป็นอย่างไร
เมื่อก่อนเวลาอะไรมากระทบเราเป็นอย่างไร
เดี๋ยวนี้เมื่อมีอะไรมากระทบเราเป็นอย่างไร
ความสงบของใจเป็นอย่างไร
รู้แจ้งในปัญหาต่างๆ เป็นอย่างไร
มีสติรู้ทันรู้เท่าต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงอย่างไรหรือไม่
อันนี้เป็นเรื่องทดสอบตัวเราเอง

แล้วเราก็ต้องสอบจริง ๆ
อย่าอยู่อย่างไม่ได้สอบถามตัวเอง
ต้องสอบตัวเองว่า เรามีสภาพจิตใจดีขึ้นไหม
มีความคิดถูกต้องไหม ทำอะไรตามอารมณ์หรือไม่
หรือทำด้วยเหตุด้วยผล ไม่ไหลตามอารมณ์ที่มากระทบ
ไม่วู่วาม ไม่เหมือนกับไฟไหม้ฟาง
พอจุดพึ่บก็ลุกวืบขึ้นไปเผาไหม้ฟางจนหมดเป็นขี้เถ้า
เราไม่มีอาการเช่นนั้น สภาพจิตใจหนักแน่น อดทน
บังคับตัวเองได้ ควบคุมตัวเองได้
อย่างนี้ก็แสดงว่าเราได้รับผลของการศึกษาธรรมะ
ไม่เสียทีที่เรามาวัดทุกวันอาทิตย์
ไม่เสียทีที่ได้ฟังธรรมจากท่านเจ้าคุณปัญญา
เราว่าอย่างนั้นแหละ ใจมันก็ดีขึ้น
ถ้าเราทำอย่างนั้น สภาพจิตใจก็ดีขึ้น เป็นเครื่องทดสอบ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การทดสอบเราก็ต้องไปคลุกคลีกับชาวบ้านชาวเมือง
ไม่ใช่ว่ารู้ธรรมะแล้ว “โอ๊ย! ฉันจะต้องไปอยู่ที่เงียบๆ” …..หนีเลย
หนีไปอยู่คนเดียว ไปอยู่คนเดียว อยู่ในบ้านคนเดียว
อยู่ในห้องคนเดียว
“ฉันมันคนชอบสงบ ไม่อยากรบกวนใคร ไม่อยากให้ใครรบกวน”
อันนี้ไปไม่รอด มันต้องทดสอบกับคนมากๆ


สมมติว่าเรามาปฏิบัติธรรมที่วัดนี่สามวัน ห้าวันอะไรก็ตาม
ออกไปก็ต้องไปอยู่คลุกคลีกับอารมณ์ที่มากระทบ
เพื่อทดสอบว่าการไปฝึกสติปัญญามาหลายๆ วันมันช่วยได้ไหม
ช่วยให้เราหยุดได้ไหม สงบได้ไหม
มีอะไรมากระทบเราก็ชะงัก หยุดมันได้
ไม่วู่วาม ไม่เร่าร้อน “ยิ้มได้เมื่อภัยมา” ว่าอย่างนั้นเถอะ
แม้อะไรมากระทบเราก็ยิ้มรับได้ด้วยความชื่นบาน
ไม่แสดงอาการตอบโต้ออกไปเหมือนกับที่เคยเป็น
นี่เครื่องทดสอบ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วต้องไปเก็บตัวเงียบ

มีคนมาพูดบ่อยๆ บอกว่า “ฉันอยากอยู่เงียบๆ “

“ทำไมมาอยู่เงียบๆ”

“ที่บ้านมันยุ่ง มีเรื่องมาก”

“อ้าว! ต้องไปสู้ที่บ้าน อย่ามาสู้ที่เงียบ
สู้ที่เงียบแล้วมันจะได้อะไร หัดมวยแล้วไม่ขึ้นชกบนเวที
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเก่งขนาดไหน
มันต้องขึ้นชก ไม่ขึ้นชกแล้วจะรู้ว่าเราเก่งอย่างไร
ต้องชกกัน ไปอยู่บ้านแหละ”

“ไม่ไหวค่ะ เรื่องมาก”

“เอ้า! เรื่องมากยิ่งดี จะได้ต่อสู้ จะได้ทดสอบตัวเองว่า
มีปัญญาขนาดไหน มีความอดทนขนาดไหน
มีอะไรขนาดไหน มีอะไรขนาดไหน
ไปต่อสู้ด้วยสติปัญญา อย่ามาอยู่วัดเลย
ไปสู้มัน สู้ให้ได้ก่อน เอาชนะให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาอยู่วัด”

ไปหายทุกรายไป ไม่เห็นมาสักที
เขาสอนให้ไปทำ แล้วก็ไม่ไปทำ จะหนีท่าเดียวแหละ
ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่คนหนีนะ
โยมจำคำนี้ไว้ด้วย…ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่พวกหนี
แต่เป็นพวกสู้กับอารมณ์ สู้กับมัน
มีอะไรก็ต้องสู้ด้วยสติ ด้วยปัญญา
อย่าหนี หนีมันไม่ได้สู้นี่
เมื่อไม่ได้สู้แล้วเราจะรู้กำลังใจได้อย่างไรว่า
เราเก่งขนาดไหนล่ะ จะไปคุยกับใครว่า “ฉันใจสงบ”

เขาถามว่า “สงบอย่างไร?”

“ฉันอยู่คนเดียว สงบ” “อยู่คนเดียว มันก็สงบน่ะซิ
เพราะไม่มีใครมาด่ามาชี้หน้านี่”

ทีนี้ถ้าออกไปมีคนถามว่า “คุณนี่ไปอยู่วัดกี่วันแล้ว”

“ไปอยู่มาเดือนหนึ่งแล้ว”

“เฮ้ย! ไม่ได้ความเลย” เดี๋ยวก็ปังขึ้นมาทันที อย่างนั้นอย่างนี้”

เหมือนกับคุณคนหนึ่ง ไปคุยกับโยมคนหนึ่ง
“ดิฉันหมู่นี้ไม่ยึดไม่ถืออะไรแล้ว” อย่างนั้นอย่างนี้
คุยเพลินไป ลืมตัวแล้ว
สักประเดี๋ยวโยมคนนั้นก็พูดอะไรขึ้นอย่างหนึ่ง
ในเรื่องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของแก พอพูดจบ แกว่า
“โอ๊ะ! ไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้ ไม่ยอม” อ้าว! แล้วกัน

พอพูดแกอย่างนั้น โยมคนนั้นก็ว่า
“เอ้า! ไหนว่าไม่ยึดไม่ถือแล้วไง”

“ฮื้อ! ไม่ได้ เรื่องนี้มันต้องเอาหน่อย”
นี่แสดงว่ายังไม่ดี…ยังแพ้อารมณ์อยู่
พออะไรมากระทบแรงก็ปังขึ้นมาทันที ยังสู้ไม่ได้
ต้องหนักแน่น อดทน ต้องอยู่เหมือนกับเสาหิน
ใครจะมาทำอะไรก็ไม่หวั่นไหว เสาหินไม่หวั่นไหว
จิตใจก็ต้องอย่างนั้น เรียกว่ามีน้ำอดน้ำทนอย่างแท้จริง
ทนต่ออารมณ์ที่มายั่วที่มายุ เฉย…ไม่แสดงอาการอะไร
ถ้าอย่างนี้แล้วก็ใช้ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


จิตใจเป็นสุขได้ในที่ทุกสถาน อยู่ในป่าเป็นอย่างใด
อยู่ในบ้านก็เป็นอย่างนั้น อยู่คนเดียวอย่างใด
อยู่ในหมู่คนก็เป็นอย่างนั้น มีเสียงมากระทบก็เฉยๆ
มีรูป มีกลิ่น มีรสมากระทบอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เราก็ไม่หวั่นไหวโยกโคลง…นั่นแหละใช้ได้


เรามาเรียนมาศึกษานี่เพื่อเอาไปสู้นะ
ไม่ใช่เรียนเพื่อจะหนี
โยมเข้าใจว่าเรียนแล้วจะหนี
“ฉันจะไปอยู่คนเดียว” อยู่ได้อะไร
อยู่คนเดียว มันต้องอยู่ในสังคม อยู่กับครอบครัว
อยู่กับลูกหลาน อยู่ร่วมงานร่วมการกับใครๆ
แล้วเราไม่เป็นทุกข์เพราะการอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้น
นั่นแหละคือประโยชน์ของธรรมะ
ไม่ใช่เรียนธรรมะแล้วเก็บตัวเข้าป่าเข้าดงไปเลย ไม่สู้ใครแล้ว


เมื่อเช้านี้ก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ พระรูปหนึ่ง แม่ชี ๒ คน
ไปตายที่ในป่าโน้น ……ตายป่าเชียงใหม่
ลึกเข้าไปอำเภอจอมทอง ไม่มีใครรู้ใครเห็น
บังเอิญคนเข้าไปตัดไม้ในป่า ไปถึงเห็นเข้า
เอ้า พระหัวห้อย แต่ว่าส่วนอื่นร่วงมาหมดแล้ว เน่าแล้ว
เหลือแต่หัวติดบ่วงอยู่ มีชี ๒ คนนอนอยู่บนเปลที่ผูกกับกิ่งไม้
นอนตายอึดทึดอยู่แล้วทั้งนั้น คนเขาไปเห็น
แล้วก็ไปเที่ยวดูๆ มีจดหมาย

จดหมายเขียนบอกว่า….ที่ตายนี่เป็นพระจริง เป็นแม่ชีจริง
เราทั้ง ๓ คนนี้อยากหาที่ตายสงบๆ ว่าอย่างนั้น
เลยมาพบที่ตรงนี้แล้วก็มาตาย
จะตายแล้วยังเขียนแสดงความโง่ไว้ให้คนอื่นรู้อีก
นี่เหละเขาเรียกว่าไปหาที่ตายที่สงบมันโง่
โง่เปล่าๆ แล้วก็ตาย เป็นพระครู…เป็นเจ้าคณะตำบล
อยู่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

แล้วก็บอกว่า…ไม่ต้องบอกใคร
ถ้าใครมาพบก็ช่วยเผาเสียด้วยก็แล้วกัน ไม่ได้
ทำอย่างนั้นไม่ได้ เขาก็เลยบอกเจ้าหน้าที่
เอาศพไปโรงพยาบาลเพื่อทำการพิสูจน์
แม่ชี ๒ คนนั่นกินยาพิษ พระนั่นผูกคอตาย เป็นอย่างนั้น
มันเป็นเรื่องอะไรที่ทำอย่างนั้น

นี่ก็เรื่องไม่เข้าใจธรรมะ ชีวิตไม่ต่อสู้
รำคาญเรื่องอะไรก็ไม่ต่อสู้ ไม่แก้ปัญหา แล้วก็ไปพ่ายแพ้
การไปตายอย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นคนแพ้ แพ้อย่างโง่เสียด้วย
ไม่ใช่แพ้อย่างฉลาดอะไร มันก็เสียหาย
เราไม่ควรจะคิดอย่างนั้น
ต้องต่อสู้กับปัญหา ต้องคิดต้องตรอง

ถ้าเราคิดเองไม่ออก เพราะว่ามันลำบาก
ก็มาหาผู้รู้ช่วยให้เป็นที่ปรึกษา
ให้แนวคิดแล้วก็เอาไปต่อสู้กันต่อไป
ให้โยมเข้าใจอย่างนี้ ว่าเรามาศึกษาธรรมะ
เพื่อเอามาเป็นอาวุธ เอาธรรมะเป็นอาวุธ
เอาปัญญาเป็นอาวุธ เอาขันติ…ความอดทนเป็นอาวุธ
เพื่อต่อสู้กับปัญหาชีวิตที่ในสังคม
เราหนีไม่ได้เราต้องสู้ ต้องทำงานทำการ
เช่นคนอยู่ในครอบครัวก็ต้องทำงานทำการ

แม่บ้านบางคนก็พูดว่า “ดิฉันเบื่อครอบครัว”

“เอ้า! เบื่อครอบครัวแล้วลูกอยู่กับใคร
สามีอยู่กับใคร ลูกจะอยู่กับใคร ทิ้งลูกทิ้งเต้า
เราตัดช่องน้อยแต่พอตัวอย่างนั้นมันก็ไม่ได้

เขาบอกว่า “พระพุทธเจ้าท่านยังทิ้ง”

“เอ้า! พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทิ้งแบบคุณนี่
พระพุทธเจ้าท่านทิ้งไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ชาวโลก
เพื่อเอาชีวิตไปค้นคว้าธรรมะ เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก
แล้วทำประโยชน์อย่างกว้างขวาง
นี่เราหนีมา หนีผัวบ้าง หนีลูกบ้าง หนีหนี้บ้าง”

บางคนหนีหนี้ บอกว่า “ไม่ไหว เป็นหนี้มากมาย ขอมาอยู่วัด”

อาตมาบอกว่า “ไม่ได้ มาอยู่วัดไม่ได้
คนเป็นหนี้มากเดี๋ยวเจ้าหนี้มาทวง ฉันจะลำบากอีก
ต้องไปเปลื้องหนี้กันเสียก่อน
ใครเป็นหนี้อะไรก็ไปเปลื้องกันเสียก่อน
แก้ปัญหาก่อนแล้วค่อยมาใหม่”
อย่างนี้ก็มี มาในรูปแปลกๆ พวกหนีทั้งนั้นแหละ
พวกไม่สู้ทั้งนั้น แล้วก็เกิดความเสียหายในชีวิตด้วยประการต่างๆ

ชาวพุทธเราไม่ใช่คนประเภทหนี
แต่เป็นประเภทต่อสู้กับปัญหา ไม่ว่าเรื่องอะไรเกิดขึ้น
ต้องเอาปัญญาตีให้แหลกลงไปเลย พิจารณาแยกแยะออกไป
จนเห็นชัดว่ามันไม่มีอะไร ที่จะทำให้เราต้องเป็นทุกข์
มันเป็นแต่เพียงธรรมขาติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเท่านั้น
เอาหลักนี้เข้าไปพิจารณาอะไรๆ มันก็จะดีขึ้น นี่อันนี้เป็นข้อควรคิด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


โดยเฉพาะในสมัยนี้ เราเมืองไทย
กำลังตื่นตัวกันในเรื่องในหลวง…ก็น่าจะตื่นตัว
เพราะพระองค์ได้ทรงกระทำประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมาย
ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินประเทศไหนที่ทรงปฏิบัติงาน
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ประชาขน
เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินของเรา พระองค์นี้
พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมากในการปฏิบัติงานตลอดเวลา
เหงื่อไหลไคลย้อย

เมื่ออาตมาไปที่จังหวัดลำพูน ไปวิทยาลัยเทคนิค
เข้าไปในห้องผู้อำนวยการ มีรูปในหลวง
เขาทำปฏิทิน เขาถ่ายรูป แหม! ถ่ายเก่ง
ช่างคนนั้น เขาถ่ายขณะที่เหงื่อไหลอยู่ที่ปลายจมูก
เรียกว่าพระเสโทไหลที่ปลายพระนาสิก
เห็นเหงื่อไหลเป็นหยดติดอยู่ในภาพนั้นเลย

ผู้อำนวยการบอกว่า “รูปนี้ดีมาก ผมต้องเอามาไว้ในห้อง
ใส่กรอบไว้เป็นเครื่องเตือนใจ เวลาไหนเหน็ดเหนื่อย
เบื่อหน่ายการงานก็ดูรูปนี้แหละ พอดูรูปแล้ว
โอ้ย! ในหลวงยังทำงานจนเหงื่อไหลขนาดนี้
เราจะหนีงานอย่างไร จะทิ้งงานได้อย่างไร
จะอ่อนแอ ท้อแท้ได้อย่างไร”

ได้กำลังใจจากเหงื่อปลายจมูกของในหลวงนี่เอง เป็นกำลังใจ
นี่แสดงว่าทรงทำงานเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน
เหงื่อไหลไคลย้อย เสด็จไปที่โน่น ไปที่นี่
เป็นเรื่องที่เราประชาชนชื่นอกชื่นใจ
แล้วก็ทำกิจอะไรกันหลายอย่าง
เพื่อตอบแทนบุญคุณของพระองค์
ก็นับว่าเป็นการทำที่ชอบที่ควร ที่ควรจะได้กระทำเช่นนั้น



ทีนี้ก็มีการเคลื่อนไหวทางเรื่องเกี่ยวกับการบ้านการเมือง
ก็มีการเคลื่อนไหวเหมือนกัน คือมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง
เขามีความคิดว่าพวกที่ติดในคดีการเมืองอะไรทั้งหลาย
ที่เขาเรียกว่าเป็นขบถ…ความจริงมันเรื่องของการเมือง
ไม่ใช่ขบถอะไรหนักหนา ควรจะได้รับอภัยโทษ
ในคราวที่ในหลวงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พระชันษา
เพราะในครั้งครบ ๖๐ นี่ให้อภัยแก่ผู้ต้องขัง
ให้ได้รับการปลดปล่อย

วันก่อนนายอนันต์ เสนาขันธ์ ก็ได้เดินลอยหน้าลอยตาออกมาแล้ว
เหมือนกัน แล้วบอกว่าต้องสู้ต่อไป แต่สู้อะไรก็ไม่รู้ ว่าต้องสู้ต่อไป
เลยออกมาเป็นอิสระ สบายอกสบายใจกันทั่วกัน
ทีนี้ยังคิดถึงคนอื่นๆ ที่ว่ายังถูกกักขังอยู่
ยังไม่รู้ชะตากรรมของตนว่าเป็นอย่างไร
เราคิดถึงคนเหล่านั้น พวกนั้นเขาคิดถึงคนเหล่านั้น
แล้วก็นึกสงสารว่าควรจะได้รับอภัยในสมัยนี้แหละ
ในสมัยที่ในหลวงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พระชันษา

แต่ในหลวงท่านทรงทำอะไรเองไม่ได้
ในหลวงในระบอบประชาธิปไตยเขาเรียกว่าทำไม่ผิด
พระราชาในระบอบประชาธิปไตยนี่ทำอะไรไม่ผิด
เพราะไม่ได้ทำด้วยพระองค์เอง
โดยการแนะนำของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศชาติ
รัฐบาลได้กลั่นกรองพิจารณากันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็เสนอขึ้นไปลงพระนามเท่านั้นเอง
เมื่อลงพระนามแล้วก็ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น เข้าไปเฝ้าสมเด็จย่า
สมเด็จย่าก็ไม่ค่อยรู้จักแล้วว่าใครเป็นใคร
ก็ทรงถามว่า “เราทำมาหากินอะไร?”
ถามในหลวงว่าทำมาหากินอะไร

ในหลวงท่านตอบว่า “รับจ้างเซ็นชื่อพะย่ะค่ะ”
ตอบพระเจ้าย่าว่า รับจ้างเซ็นชื่อ
ท่านก็เซ็นชื่อเรื่อยไป ใครเสนอขึ้นมาก็เซ็นๆ ไปอย่างนั้น
ท่านตอบอย่างนั้น ตอบให้เจ้าย่าได้ยิน ขำๆ ขันๆ
แต่พระเจ้าย่าท่านก็มีพระชนมายุมากเต็มทีแล้ว ไม่รู้เรื่องอะไร
พระเจ้าย่าฟังแล้วเฉยๆ
แต่ว่าในหลวงท่านตอบขำดี ว่ารับจ้างเซ็นชื่อ

พระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตยก็มีหน้าที่อย่างนั้น
แต่ในหลวงท่านทำอะไรมากไปกว่านั้น
ไม่ใช่นั่งคอยเซ็นชื่ออยู่ในวัง
ท่านทรงเห็นว่าอะไรควรกระทำ ท่านก็ทรงกระทำ
ตามหน้าที่ของพระองค์ท่าน มีมากมาย
โครงการพระราชดำริมีมากมายเหลือเกิน

นี่ความจริงในหลวงก็คงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตาปรานี
แก่คนเหล่านั้น อยากจะให้อภัยเขา
แต่ไม่มีคนเสนอขึ้นไปจะทำได้อย่างไร ให้อภัยไม่ได้
ไม่เหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช
แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ก็มีคนเข้าไปขอเหมือนกัน

เช่นว่าสมัยพระนเรศวรมหาราช
ยกทัพไปสู้กับพม่าข้าศึกที่หนองสาหร่าย ที่เมืองสุพรรณ
ที่อำเภอศรีประจันต์ เขาสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึก
พระนเรศวรชนช้างที่นั่น ช้างมันเมามัน เดินเร็ว
ทิ้งทหารหมด ทหารวิ่งไม่ทัน
นายทัพนายกองวิ่งไม่ทัน ๒ พระองค์ก็ไปกัน ๒ พี่น้อง
ตะลุยเข้าไปในหมู่ข้าศึก แล้วก็ไปชวนมหาอุปราช
และมังจาชะโร ชนช้างกัน ชนช้างกันก็พ่ายแพ้
๒ ท่านนั้นก็ตายบนคอช้าง พระนเรศวร พระเอกาทศรถ ก็ปลอดภัย

กลับมาถึงวังก็เรียกข้าราชการนายทหารแม่ทัพนายกองทั้งปวง
มาบอกว่า “นี่แหละ ดีที่เรานี้มีความสามารถ รบข้าศึกชนะ
แต่ถ้าหากว่าข้าศึกเก่งกว่าเราเราก็ตายในสมรภูมิ
ท่านทั้งหลายทำผิดมาก ที่ปล่อยให้เรา ๒ พี่น้อง
เข้าไปในสมรภูมิเพียง ๒ คน
ท่านเดินล้าหลัง มีโทษต้องประหารชีวิต” จะเอาไปประหารหมด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้ว ในสมัยนั้น เป็นพระผู้ใหญ่ พอรู้ข่าวก็เข้ามาในวัง
“ได้ทราบว่า พระมหาบพิตรพระราชสมภาร เสด็จมาจากกองทัพแล้ว
ก็เข้ามาเยี่ยมเยียน กิติศัพท์ของพระองค์ที่ไปชนช้างนี่นับว่าโด่งดังมาก
พระองค์เข้าไปในสมรภูมิ เป็นการทำให้พระบารมีของพระองค์มากยิ่งขึ้น”

“เหมือนกับสมัยพระพุทธเจ้า ในเวลาใกล้จะตรัสรู้ พวกเทวดาทั้งหลายก็ไปหมด…ตกใจ มารมา เทวดาหนีหมด แต่ว่าพระองค์อยู่ผู้เดียวก็รบสู้กับพญามารได้ชัยชนะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เพราะบารมีของพระพุทธเจ้านั้นมีมาก”

“มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ก็เช่นเดียวกัน บารมีสูงส่ง ทำให้พวกทหารเหล่านั้นเดินไม่ทัน เพื่อจะทำให้ชื่อเสียงของพระองค์โด่งดังไปทั่วโลกว่า สามารถเอาชนะข้าศึกได้
ถ้าพวกนายทหารทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปด้วย ชื่อเสียงก็จะลดน้อยลงไป
พวกนั้นไปช้า ไม่ได้เป็นโทษ…แต่ว่าเป็นคุณแก่มหาบพิตรพระราชสมภาร”
ว่าไปทำนองนั้น แต่ว่าไพเราะกว่านี้ ในพงศาวดารเขาเขียนเพราะกว่านี้
เพราะคนเขาเขียนขึ้น

ในหลวงได้ทรงฟังแล้วก็ปลื้มพระทัย ปลื้มพระทัยก็เลยให้อภัย
ไม่ทรงให้ประหารชีวิตแก่คนเหล่านั้น แต่บอกว่าต้องทำการแก้ตัว
ให้ไปตีเอาเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี เมืองทะวายให้ได้
พวกนั้นก็ยกทัพไปตีอีก เลยไม่ตาย อันนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระนเรศวร
แต่อาศัยพระเข้าไปขอ

พระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อนนั้น พูดเป็นกฎหมายนะ
ท่านตรัสอะไรก็เป็นกฎหมายไปเลยทีเดียว ไม่ว่าอะไร
ตรัสแล้วก็เป็นกฎหมาย คนอื่นจะทำอะไรลบล้างไม่ได้
…ครูคนหนึ่งสอนศิษย์ดี สอนนักเรียนดี ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ไปเห็นเข้า
พอพระทัยมากเลยบอกว่า “เธอสอนดีมาก ให้รับเงินเดือน ๙๐ บาทตลอดชีวิต”
ไม่ได้ขึ้นเลย ได้ ๙๐ เลยไม่ได้ขึ้นเลย ขึ้นให้ก็ไม่ได้..ผิดพระราชโองการ
ลดก็ไม่ได้ผิดพระราชโองการ บำนาญก็ ๙๐ ๙๐ จนหมดลมหายใจ ไม่มีได้ขึ้นกับใคร
เป็นคุณหลวงด้วยนะครูคนนั้น..นี่เขาเรียกว่า พระราชโองการ เป็นกฎหมาย
เป็นกฎหมายของพระเจ้าแผ่นดิน

เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น คือในหลวงตรัสอะไรก็ไม่เรียกว่าเป็นกฎหมาย
แต่ว่าเป็น “พระราชดำรัส” ที่ทุกคนเคารพเชื่อฟัง
ถ้าพระองค์ตรัสอะไร ทุกคนก็ต้องเชื่อ มีความเคารพ มีความเกรงใจ
ทีนี้คนที่จะทำให้สิ่งอะไรสำเร็จนั้น มันอยู่ที่ “คณะบริหาร” ซึ่งจะต้องทำได้

นึกถึงเหตุการณ์ ร.ศ.๑๓๐ มีการกระทำเรียกว่า “การกบฎ”
คือความจริงพวกนี้คิดจะทำ “รัฐประหาร” เหมือนกัน
พวกนักเรียนนายร้อยรุ่นนั้น ไม่หลับไม่นอน
กลางคืนอ่านแต่หนังสือปฏิวัติกันทุกคืนๆ ผลที่สุดคิดทำการปฏิวัติ
คือจะปลดในหลวงรัชกาลที่ ๖ ลง แล้วจะเอากรมหลวงพิษณุโลกขึ้น
เพราะกรมหลวงพิษณุโลกก็เป็นแม่ทัพ เป็นผู้บัญชาการทัพใหญ่
ทหารรัก เห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ ๖ นี่
ท่านก็เล่นละครบ้างอะไรต่ออะไร แต่ไม่รู้นโยบายของท่าน

ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทำอะไรมีจุดหมาย เช่นว่า
สร้างเมืองเล่นๆ..ดุสิตธานี..ไม่ได้ทำเล่น แต่ท่านสอนประชาธิปไตย
สอนประชาธิปไตยแก่ข้าราชการ ให้มีสภา มีที่ประชุม
มีนายกรัฐมนตรี มาประชุมกัน ต้องถกต้องเถียงกันอะไรกัน
ลองดูว่าพวกนี้เขาจะไปรอดไหม เป็นประชาธิปไตยได้ไหม
หัดให้เป็นประชาธิปไตย แต่ท่านแสดงอย่างนั้น นี่..จุดหมายของท่าน

แม้แสดงละคร ตัวพระองค์ท่านเองไม่ได้เป็นพระเอกในละครสักเรื่องเดียว
เป็นคนใช้ เป็นตัวตลกอะไรไปอย่างนั้นแหละ
คือแสดงให้เห็นว่า “ฉันเป็นพระราชา แต่ฉันก็ไม่ถือพระองค์
ฉันเป็นอะไรก็ได้ เป็นตัวอะไรก็ได้ แสดงเป็นอะไรก็ได้”
เป็นการแสดงลัทธิประชาธิปไตย ให้ข้าราชการประชาชนได้รับรู้
แต่พระองค์ยังเห็นว่า ยังไม่ไหว ประชาชนยังไปไม่รอด
ข้าราชการก็ยังไม่ตื่นตัวอะไร ต้องปกครองแบบนี้กันไปก่อน..

แต่ว่ามีคนกลุ่มหนึ่ง คิดจะทำการรัฐประหาร พวก ร.ศ. ๑๓๐ นี่…ก็ไม่สมหวัง
ทำไม่สำเร็จ พอคิดวางแผนกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
มีพระยาคนหนึ่งพันเอกพระยาภักดีอะไร แกไปบอกเรื่องให้ในหลวงทรงทราบ
เลยถูกจับหมด..พวกนั้นถูกจับหมดทุกคน จับขึ้นศาลทหาร
ศาลทหารก็ตัดสินประหารชีวิต แต่ในหลวงท่านตรัสว่า
“เขาประทุษร้ายต่อฉัน ฉันไม่ถือโทษโกรธตอบเขา
แต่พวกนี้มีความคิดร้อนรนมาก เพราะฉะนั้นขังไว้ก่อน” ก็เลยเพียงจำขังไว้

แต่อยู่ไม่กี่ปี ในหลวงท่านเห็นว่า ถูกขังมานานพอสมควรแล้ว
ควรจะปลดปล่อยเสียที ก็พระราชทานอภัยโทษออกหมด
ออกมาก็ได้เป็นนายร้อยตรี ร้อยโทต่อไป ออกมาตั้งห้างขายยา
เช่นห้างพระจันทร์โอสถ หมอคง คุปตัษเฐียร
ห้างขายยาหมอเหล็ง ศรีจันทร์ แล้วเป็นนักเขียน ไปก็มี อะไรก็มี
ออกไปทำมาหากิน บางคนก็มาเป็นนักการเมือง
เช่นร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ เป็นผู้แทนพัทลุง

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีพวก ร.ศ. ๑๓๐ ได้เป็นผู้แทนหลายคน
ผู้แทนปราจีน ผู้แทนพัทลุง ผู้แทนจังหวัดไหนๆ หลายคน
พวกรุ่นเดียวกันทั้งนั้น เขาได้มาเป็นผู้แทนได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป

คนมีความรู้ มีความสามารถ แต่บางครั้งบางคราว
ปัญญามันเกินสติ ทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง เหมือนกับลูกหลานของเรา
มันทำอะไรผิด จะมาเฆี่ยน มาตี ทุบให้มันตายก็ใช่ที่
เมื่อทำผิดแล้วพ่อแม่ก็ไม่ได้โกรธอะไรนักหนา ให้อภัยแก่ลูกเหล่านั้น
ค่อยสั่งค่อยสอน อบรมกันต่อไป จนกระทั่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่
ได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป ไม่มีอะไรเสียหาย


การปล่อยออกมานั้นเป็นเรื่องดี เรื่อง “การให้อภัย” นั่นมันเป็นเรื่องดี
แสดงน้ำใจว่าเราไม่ได้ถือโทษ ไม่พยาบาท ไม่อาฆาตจองเวร
ความพยาบาทอาฆาตจองเวรนี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า…ในกาลไหนๆ เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร
แต่ระงับด้วยการไม่ผูกเวรต่อกัน คือให้อภัยกัน
…หลักพระพุทธศาสนาต้องการให้คนไม่จองกรรมจองเวรต่อกัน
แต่ให้อภัยกันในเรื่องที่เขาทำผิดพลาด


พวกที่ทำการผิดพลาดไปนั้นก็สำนึกตัวกันทั้งนั้น ว่าเรานี่ได้ผิดพลาดไปแล้ว
ทำให้คนอื่นลำบากหลายคน..ครอบครัว ภรรยา ลูกตั้งหลายคน
พ่อติดคุกเสียแล้ว ลูกก็ไม่ได้เรียนหนังสือ แม่ก็ลำบาก…ลำบากกันทุกคน
ใครที่ไม่ได้ติดไป ก็ต้องเฉลี่ยแบ่งทรัพย์ให้ลูกหลานของคนเหล่านั้น
ก็ไม่มีทุนมูลนิธิอันใดที่จะช่วยเหลือ เขาก็อยู่กันด้วยความลำบาก


คนๆ หนึ่งอยู่ในคุก แต่คนนอกคุกเป็นทุกข์อยู่อย่างน้อย ๕-๖ คน
รวมกันแล้วเป็นร้อยๆ พลเมืองของชาติจะเสียหายไป
เพราะการที่พ่อบ้านไปอยู่ในคุกในตาราง ทำให้คนเหล่านั้นต้องลำบาก
ทำให้สังคมไทยเราเกิดความเสียหาย ถ้าเรามีน้ำใจประกอบไปด้วยเมตตาปรานี
เราก็มาแสดงออกกันในคราวนี้ แสดงออกว่า
“ฉันมีน้ำใจเมตตา ฉันไม่ถือโทษโกรธตอบแก่คนเหล่านั้น”
นี่เป็นเรื่องของรัฐบาล โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรี

ความจริงท่านนายกรัฐมนตรีท่านก็เป็นคนใจดีใจงาม ใจเยือกเย็นใจสงบ
พูดแต่น้อยๆ ไม่ค้อยพูดมากอะไร ถ้าจะไม่ขัดในเรื่องนี้
ก็ “เอ้า! จัดการไปตามหน้าที่” เรื่องมันก็ไปเรียบร้อย
พระราชกำหนดนิรโทษกรรมก็จะออกมา สำเร็จ
พวกเหล่านั้นก็เหมือนกับได้รับน้ำฝนอันชื่นใจ จากน้ำใจที่มีเมตตาปรานี

ข้าวกำลังแห้ง คอยฝนอยู่ในเวลานี้ ทีนี้ฝนพอตกลงมาประโปรย
ต้นข้าวทั้งหลายที่เหี่ยวแห้งก็ได้น้ำได้ฝน
ชื่นขึ้นมาออกดอกออกรวง เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคต่อไป

อันนี้เป็นเรื่องที่พอทำได้ ไม่ได้เสียหาย ถ้าไม่ทำซิ จะเกิดความเสียหาย
เพราะเหตุการณ์นี้จะพ้นไปเสีย โดยเราไม่ได้ทำอะไร
ทำให้คนพวกนั้นกลุ้มใจต่อไป มีความทุกข์ต่อไป
คนเราถ้ามันโกรธมากเข้า มันต้องแก้แค้นกันต่อไป
แต่ถ้าไม่ทำให้โกรธก็จะมีความรักความเมตตาปรานีต่อกัน ไม่ถือโทษโกรธตอบกัน
ยิ้มเข้าหากันต่อไป มาช่วยสร้างชาติสร้างเมืองกันต่อไป ก็จะเกิดประโยชน์มากขึ้น


สังเกตพวกที่ถูกหาว่ากบถ เริ่มแรกเปลี่ยนการปกครองชุดท่านบวรเดช
พวกนั้นต้องไปอยู่โน่น…เกาะตะรุเตาที่ขังนักโทษ
แต่ก็มีคนหนีออกจากตะรุเตา มีพระยาสราภัยพิพัฒน์ หนีไปได้
พระยาสุรพันธ์เสนี…พวกบุนนาค แกก็หนีไป
แล้วนายอะไรอีกคนจำไม่ได้แล้วไปกัน ๓ คน พายเรือเล็กลัดเลาะไป
ข้ามไปเกาะลังกาวี พวกเรือก็เที่ยวติดตามส่องไฟ
พวกนั้นเก่งเหมือนกัน…ทหารเรือเก่า หลบไปขึ้นที่โน่นได้ก็ไปอยู่ที่มาเลเซีย
อยู่ที่มาเลเซียแล้วก็พ้นไปออสเตรเลีย

สมัยญี่ปุ่นเกิดบุกประเทศไทย พระยาสราภัยพิพัฒน์ไปเป็นโฆษกอยู่ที่ซิดนีย์
โฆษกทางวิทยุ พูดให้แก่ประเทศไทย
พูดต่อสู้อยู่ตลอดเวลา พูดทุกวันๆ เป็นปากเป็นเสียง

ทีนี้พอรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ สมัยนั้นได้ขึ้นทำหน้าที่เป็นนายก
แต่ว่าพวกนั้นถูกย้ายแล้ว จากตะรุเตา มาอยู่เกาะเต่า
ลำบากกว่าตะรุเตาอีกเกาะเต่านี่ นายควง อภัยวงศ์
ก็นึกสงสารพวกเหล่านั้น ก็เลยให้อภัยโทษ
ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้ ปล่อยหมด เหลืออยู่คนเดียว
นายไถง สุวรรณทัต “เอ! ทำไมไม่ถูกปล่อยล่ะ”
มันคนละคดี คนละเรื่อง คดีชุดนั้นปล่อย ลืมไป…ลืมนายไถง เพื่อนกลับหมด
นายไถงยืนน้ำตาไหลอยู่ที่เกาะเต่า “เอ้อ! กูจะต้องกินปูกินเต่าต่อไป”

พวกที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว ก็มาหาคุณควง
บอกว่า “ยังเหลืออีกคนหนึ่ง ยังไม่ได้ปล่อยนะ…นายไถงไงล่ะ”

“มันคนละคดี” ทำไมๆไม่ได้ นายไถงก็ได้ออกมาต่อสู้ทางการเมือง
จนกระทั่งขาหายไปข้างหนึ่ง เดี๋ยวนี้แกยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้
ไปตั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจ อยู่โน่น ก็ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยแก่ชาติอะไรคนเหล่านั้น
พระยาสราภัยฯ ก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีศึกษาฯ ทำงานเป็นประโยชน์ต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 14:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อีกรุนหนึ่ง รุ่นกรมขุนชัยนาท ซึ่งถูกจับไป เอาไปขังคุกไว้เหมือนกัน
พระยาเทพหัสดินฯ ลูกชาย ๓ คน นายเผ่าพงษ์ นายผุดผาด
นายผกผันอะไร ๓ คนพี่น้อง เอาไปหมดเลย พ่อด้วย ไปติดคุกอยู่ แต่ไม่เป็นไร
ผลที่สุดก็ได้รับอภัย พระยาเทพหัสดินฯ ออกมาแล้วก็เป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม
ได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป
แต่ลูกชายนั้นถูกยิงเป้า ตายไปเสียก่อน พระยาเทพหัสดินฯ ไม่ถูกยิงเป้า
กรมขุนชัยนาทก็ไม่ถูก ถ้าเอาไปยิงเป้าเสียแล้วก็แย่เลย
แต่ไม่เป็นไร บุญบารมีรอดอยู่ได้ นี่นับว่าชีวิตปลอดภัย

แล้วท่านออกจากคุกมาเป็นภัยแก่ชาติหรือเปล่า?
กรมขุนชัยนาทออกมาแล้ว ได้รับยศคืนได้เป็นผู้สำเร็จราชการ
ดูแลการงานแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จนพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ ๒๐ ชันษา ก็ให้ราชสมบัติ
ท่านก็ทำงานเป็นประโยชน์ต่อไป จนกระทั่งสวรรคตไป
ไม่เห็นคนใดที่ออกมาแล้วมีพิษมีภัยแก่ชาติแก่บ้านเมือง
แต่กลับทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นคุณเป็นค่าแก่บ้านเมืองทั้งนั้น
คนเราเมื่อทำผิดแล้วย่อมรู้สึกผิดอยู่เหมือนกัน
แล้วถ้าได้รับอภัยในคราวนี้ ก็สำนึกในบุญคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทำให้คนรักพระองค์มากขึ้น ทำงานเพื่อชาติเพื่อประเทศมากขึ้น

คนบางพวกยังได้รับอภัย โดยเฉพาะคนที่ไปอยู่ในป่า
ที่ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านเหล่านี้นั้นความจริงก็ทำอันตรายพอสมควร
ทำลายรถไฟบ้าง สะพานบ้าง เผาโรงเรียนบ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง
โทษมันหนักทั้งนั้นแหละ แต่ว่าผลที่สุดก็ออกนิรโทษฯ ให้
พวกนั้นก็ได้มาอยู่ในบ้านในเมืองต่อไป
ความจริงคนพวกนี้เขาก็ทำผิดมาก อันตราย…แต่ก็ยังได้รับอภัย

พวกที่ติดร่างแห ๒๙ กันยายน, ๑ เมษายน อะไรต่ออะไร
มีนายทหารผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนติดไปด้วย แต่เขาให้ประกันมา
นายทหารเหล่านี้บางคน โอ๊ย! เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
สมัยมีอำนาจก็ไม่คิดจะทำอะไร แก่แล้วจะไปทำอะไรที่ไหน…นอนอยู่
อยู่ในชุดนอนเขามาเชิญไป เอาไปเป็นตัวเชิด ไม่ใช่เรื่องอะไร…แล้วก็ติดอยู่
เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ จิตใจไม่สบาย มีความกังวลด้วยประการต่างๆ

รัฐบาลควรจะได้ทำบุญครั้งใหญ่ ด้วยการแผ่เมตตาบารมี…กรุณาบารมี…มุทิตาบารมี
ไปยังคนเหล่านั้น แล้วก็ออกกฎหมายมาให้มาสำเร็จประโยชน์กับคนเหล่านั้นต่อไป
จะเป็นเรื่องที่เรียกว่าทำบุญอันยิ่งใหญ่ ให้ทานชีวิตแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
เป็นการให้อภัยทาน แก่คนที่กำลังได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ในเวลานี้

แล้วคนที่พ้นทุกข์มาแล้ว ก็ทำงานทำการเป็นประโยชน์อยู่ทั้งนั้น
เท่าที่รู้จักมักจี่ เขาก็ไม่ได้คิดร้ายอะไร เขาสำนึกได้ว่า “เอ๊อ! ทำไปมันก็ไม่ได้เรื่อง”
แล้วเราจะทรมานให้เขาอยู่อย่างนั้น ทรมานเขา..ไม่ใช่คนเดียว
ลูกหลาน..ครอบครัว ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน

จึงใคร่ขอให้คณะรัฐบาลผู้มีอำนาจบริหารประเทศ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มีน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แผ่เมตตาบารมีไปยังคนเหล่านั้น
ให้กฎหมายนี้ได้ออกมาเป็นประโยชน์ เหมือนกับปล่อยลูกนกลูกกาอย่างนั้นแหละ

เรามาวัด มาซื้อนกปล่อยบ่อยๆ ไม่ได้เรื่องอะไร ปล่อยนกปล่อยเต่านี่ไม่ได้เรื่องอะไร
แต่ถ้ารัฐบาลปล่อยพวกที่ทำผิดอยู่ในคดีต่างๆ เหล่านี้
…นั่นแหละจะได้ประโยชน์ดีกว่าปล่อยนกปล่อยเต่าเสียอีกด้วยซ้ำไป
แล้วเราเองก็ได้ปล่อยตัวเอง คือว่าทิ้งความพยาบาทออกไป
อยู่ด้วยน้ำใจเมตตาปราณี เขาจะได้เรียก คุณป๋า ต่อไป

ทำในยุคนี้แหละดี ไปทำตอนอื่นมันก็ไม่ดี ต้องทำในยุค ๖๐ ปีของในหลวง
เพื่อให้คนได้ชื่นชมในพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
นี้เป็นเรื่องที่อยากจะขอฝากไว้เพื่อให้ได้คิด ได้ช่วยกันจัดกันทำ

อาตมาพูดนี้ ก็ไม่ได้เป็นพรรคเป็นพวกกับคนเหล่านั้น ไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกัน
แต่ว่ามีน้ำใจเห็นทุกข์ของคนที่อยู่ในคุกในตะราง เพราะว่าไปเทศน์ในคุกบ่อยๆ
เขาก็มีอาหารกิน มีอะไรพอสมควรหรอก แต่ว่าจิตใจมันไม่มีอิสระ..

เหมือนกับนกที่อยู่ในกรงนั่นน่ะมันสบายอะไร จะเลี้ยงดี มีข้าวให้กิน มีน้ำให้กิน
แต่ว่านกมันก็เอาหัวแยงรูนั้นรูนี้ แยงอยู่ตลอดวันแหละ
แยงดูว่า “กูจะออกรูนี้ได้หรือไม่” แยงจนขนหัวโล้นไปตามๆ กัน
นกที่ถูกขังน่ะ..ทรมาน ไปเจอเข้าก็บอกคนที่ขังมันว่า
“ไปทรมานมันทำไม อยากจะฟังเสียงนกก็ปล่อยไป ให้มันมาขันหน้าบ้าน”

ที่วัดนี้ นกเขา มาขันทุกวัน นกดุเหว่า ก็มาขันอยู่ทุกวัน
ไม่ต้องขัง..เลี้ยงมัน ทรมานสัตว์..เป็นการทรมานสัตว์
ไม่ได้ประโยชน์อะไร ปล่อยมันไป นกมันก็อยากจะออกจากกรง

ช้างในเขาดิน สัตว์ในเขาดินน่ะลองเปิดประตูกรงซิ
มันต้องออกไปเดินถนนราชดำเนินแน่ๆ ละ หรือว่าไปไหนต่อไหน

คราวหนึ่งมีวัวตัวหนึ่ง เขาจะเอาไปฆ่าที่ถนนตกโน่น ฆ่ากลางคืนนะ..มันเดินมา
ตุหรัดตุเหร่มา เข้าไปในทำเนียบรัฐบาลได้นะ
มายืนเตร่อยู่แถวนั้นแหละพอเขาเปิดประตูทำเนียบ..ปรุ๊ด..เข้าไปเลย
พวกไล่จับกันใหญ่ จับก็ไม่ได้ มันหลบไปหลบมาอยู่

ประเดี๋ยวแขกมาแล้ว มาถึงบอกว่า “ออ! วัวของผมเองน่ะ มันหลุดมาได้”

พวกนั้นบอกว่า “ไม่ได้ ไม่ได้ วัวมันมาพึ่งเราแล้ว เราไม่ให้ เราจะต้องเอาไว้”

“โอ! จะเอาไว้นะ นายจะต้องจ่ายค่าวัวน่ะ”

พวกนั้นก็เรี่ยไรกัน..ข้าราชการในทำเนียบรัฐบาลทั้งหมดเรี่ยไรเงินกันไถ่วัวตัวนั้น
แล้วเอาวัวนั้นไปให้ “เขาดิน” เอาไปเลี้ยงต่อไป
หรือก็เอาไปให้กับพวกที่เขาเลี้ยงสัตว์ไว้..พวกธนาคารวัว ธนาคารควายน่ะ
เลยมันก็รอดชีวิต..มันก็มาพึ่งนายกเหมือนกันนะ อุตส่าห์มาพึ่งนายกรัฐมนตรี
แต่นายกยังไม่ทันมา ลูกน้องนายกช่วยก่อน วัวปลอดภัย

วัวที่จะถูกฆ่า เขายังปล่อยเลย แล้วคนที่ถูกขังทำไมไม่คิดจะปล่อยกันบ้าง
เพื่อให้คนเหล่านั้นได้มีความสุขความสบาย

คนไทยเรานั้น มีน้ำใจเมตตาปรานี รู้จักให้อภัยแก่กันและกัน
ประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา ก็เป็นมาอย่างนั้น ให้อภัยกัน ไม่ถือโทษโกรธตอบกัน

ขงเบ้ง จับ เบ้งเฮก ไปได้กี่ครั้ง ขงเบ้งยังไม่ฆ่าเบ้งเฮกเลย
รบๆ เอ้า! เบ้งเฮกแพ้ จับได้ก็ไม่ทำลาย เอ้า! ปล่อยไป เบ้งเฮกมารบอีก
จับได้ปล่อยไป รบกัน..เบ้งเฮกแพ้ถึง ๗ ครั้ง เลยยอมแพ้ขงเบ้ง
บอกว่า “แหม! ท่านนี่น้ำใจดีมาก ไม่ฆ่าเรา เราต้องยอมแพ้ท่าน”
นี่..ขงเบ้ง ชนะด้วยความไม่จองเวร ไม่ทำร้ายผู้ที่จับได้แล้ว เลยชนะได้
ชื่อเสียงขงเบ้งก็ปรากฎอยู่ในเรื่องพงศาวดารจีน เรื่อง “สามก๊ก” ว่าเป็นคนให้อภัยแก่เบ้งเฮก

เบ้งเฮกมันก็คนไทยนั่นแหละ เรียกว่าคนไทยในสมัยโน้น
ซื่อนายเบ้งเฮกไปรบกับขงเบ้ง..แพ้ แต่ขงเบ้งไม่ฆ่า..ปล่อย..ปล่อย..๗ หน
ยอมแพ้เลย นี่เรียกว่า ชนะด้วยความดี แล้วก็ได้เป็นพรรคเป็นพวกกันต่อไป
ถ้าเราไปฆ่าเขาเสียก็ไม่ได้เรื่องอะไร

คนบางคนมันควรถูกฆ่า เช่นพวกโจร ปล้นฆ่าคน ไอ้อย่างนี้มันก็อย่างหนึ่ง
แต่ว่าพวกโทษทางการเมืองนี่มันไม่ใช่พวกโจรโดยสันดาน
ไม่ใช่เป็นผู้ร้ายโดยกำเนิด แต่ว่าความคิดความเห็นอาจจะไม่ตรงกันกับผู้บริหารประเทศ
เกิดอารมณ์วูบขึ้นมา ทำการไปตามเรื่อง แต่บางทีก็ชนะเหมือนกัน มันก็ชดเชยกันแหละ

เมืองไทยนี่มันก็ทำกันมาอย่างนั้น คนนี้ทำได้สำเร็จ คนนี้มาโค่นคนนั้น
คนโน้นมาโค่นคนนี้ มากันเรื่อยๆ กรรมสนองกรรม กันมาเรื่อยๆ
แหละ ทีนี้ถ้าเรามาหยุดดูซิ คือว่าไม่ลงโทษเขารุนแรง
เป็นการหยุดเสียที มันก็หยุดกันไป ก็มีตัวอย่างมาทุกครั้ง

คนที่ปกครองบ้านเมืองนี่ ถ้ามีใครมาทำอะไร ก็ต้องคิดเหมือนกันว่า
“เอ๊! เรามันบกพร่องอะไร เราทำอะไรไม่ถูกบ้าง”..พิจารณา

ถ้าใครมาด่าเรานี่ เราอย่าเพิ่งไปโกรธคนด่า แต่โกรธตัวเองว่า
“กูนี่มีความบกพร่องอะไร จึงมีคนด่ามีคนติ”
แล้วก็มองดูตัวเองว่า เราผิดอะไร เราไม่ถูกอะไร
แล้วเราก็แก้ไขเสีย ปรับปรุงเสีย เรื่องมันก็เรียบร้อย จะไปโกรธคนด่าก็ไม่ได้
เพราะมีเหตุที่ตัวเราทำให้เขาด่า

ถ้าเราทำอะไรไม่ถูกเราแก้ที่ตัวเรา ไม่ใช่แก้ที่คนอื่น เรื่องมันก็เรียบร้อย
อย่างนี้เขาเรียกว่าใช้ธรรมะ ถ้าเราใช้ธรรมะทุกสิ่งทุกอย่างสงบ
แต่ถ้าไม่ใช้ธรรมะ..กรรมสนองกรรม..ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น
ฆ่ากันเรื่อยไป ทำร้ายกันเรื่อยไปไม่จบ

หยุดกันเสียที!! แล้วก็แผ่เมตตาต่อกัน เอามาใช้งานได้
คนเหล่านั้นเป็นคนมีความรู้ บางคนไปเรียนถึงต่างประเทศ
ยังเป็นคนหนุ่ม..เยอะ เป็นคนหนุ่มที่มีกำลัง มีความสามารถ
เอามาใช้งานดีกว่า เอาไปไว้ในคุก..ใช้อะไรทำอะไรก็ไม่ได้ อันนี้น่าคิด


ก็ขอพูดฝากไว้ในวันอาทิตย์นี้ เพราะอีกไม่กี่วันจะถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา
สภาก็จะปิดแล้ว ถ้าหากใครได้ยินก็เอาไปบอกไปกล่าวกัน
หรือว่าเอาหนังสือส่งไปให้ใครๆ ที่ในสภาบ้างก็ได้ พิมพ์เป็นเล่มแล้วก็ส่งไป
เอาเทปไปให้นายกก็ได้ ท่านจะได้ฟังว่า “โอ๊ะ! ท่านปัญญาว่ากูเข้าให้แล้ว”
ท่านก็จะได้คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรต่อไป ไม่ได้เสียหายอะไร
เทศน์นี้ ก็เทศน์ด้วยน้ำใจที่เมตตาปรานีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงได้พูดออกมาอย่างนี้

ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

พวกที่ได้รับการปลดปล่อยให้อภัยแล้ว
เขาก็หยุด..เขาไม่ทำต่อไป แต่มีพวกคนอื่นๆ มาทำกันอีก

ที่มา...ประตูสู่ธรรม

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2009, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 20:45
โพสต์: 1094

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับคุณลูกโป่ง

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2009, 10:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 พ.ย. 2009, 15:28
โพสต์: 307

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร