วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 03:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2009, 12:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย


ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี
เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา


วันอาทิตย์เป็นวันว่างจากงานฝ่ายกาย
เราก็ชวนกันมาวัดเพื่อทำงานฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ
กายกับจิตนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา
ความเหนื่อยกายก็เกี่ยวกับความเหนื่อยจิตด้วย
จิตเหนื่อยกายก็พลอยเหนื่อยไปด้วย
ร่างกายอ่อนแอ จิตก็พลอยอ่อนแอไปด้วย
เราจึงต้องทำให้สมดุล คือให้เกิดความพอดี ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต
แต่ว่าส่วนมากเรามักจะสนใจเรื่องของกาย
ไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องทางจิตมากนัก
เวลาไม่มีปัญหาอะไรไม่เป็นไร แต่ว่าเวลามีเรื่องมีปัญหาเกิดขึ้น
เมื่อไม่ได้เตรียมตัวทางใจไว้ ปัญหาที่เกิดนั้นมันก็รุนแรง


ความจริงเรื่องมันไม่รุนแรง แต่ว่าความรู้สึกของเรามันรุนแรง
เพราะเราไม่ได้เตรียมรับสถานการณ์ไว้ก่อน
เมื่อไรเกิดขึ้นมันก็เป็นความทุกข์หนักในชีวิต
ดังที่เป็นอยู่แก่คนทั่วๆไป
ที่ได้เกิดเป็นเช่นนั้นขึ้นมา
ก็เพราะว่าเราไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อนในเรื่องทางจิตทางวิญญาณ
เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร
หรือมาแก้กันในปัญหาเฉพาะหน้าบางทีมันก็แก้ไม่ได้
เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า


ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ต่อสู้มีการเตรียมตัว
เช่นทหารก็ต้องเตรียมตัวอยู่ตลอดเวลา
ต้องฝึกการรบให้มีความเก่งกล้าสามารถ
ให้รู้จักใช้อาวุธที่จะต้องใช้ เข้าใจยุทธวิธีในการที่จะต่อสู้ข้าศึก
ฝ่ายเสนาธิการก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับสถานการณ์
ไม่ใช่ไปเตรียมกันตอนที่มีข้าศึกประชิดเมือง
แต่ต้องเตรียมแผนล่วงหน้าไว้ว่าเราจะทำอย่างไร
ถ้าข้าศึกมาทางด้านนั้นมาด้านโน้นจะทำอย่างไร
หรือว่าข้าศึกสมัยปัจจุบันนี้ไม่ใช่มันเดินเข้ามาเหมือนสมัยก่อน
แต่ว่าเขาลอยมาในท้องฟ้า มากระโดดร่มลงไป
ในบ้านในเมือง หรือมาทางเรือบินมาทิ้งระเบิด
ก็ต้องเตรียมไว้ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรเมื่อเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น
จะต่อสู้อย่างไร จะป้องกันอย่างไร
ทุกอย่างต้องพร้อมเมื่อมีความพร้อม
พอข้าศึกมารุกรานก็พอจะต่อสู้เอาตัวรอดได้
แต่ว่าถ้าไม่ได้เตรียมพร้อม เอาตัวไม่รอด ก็พ่ายแพ้แก่ข้าศึก
บ้านเมืองก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่น
อันนี้ที่เราเห็นได้ง่ายก็เพราะขาดการเตรียมตัว


ที่นี้เรื่องชีวิตของแต่ละบุคคล
ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวไว้ให้พร้อม
เมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเราก็มีความทุกข์หนัก
ไม่รู้ว่าจะแก้ความทุกข์นั้นอย่างไรปัญหาเกิดขึ้น
ก็เป็นเรื่องรุนแรงทั้งนั้นไม่รู้จะแก้อย่างไร
แม้จะมาฟังพระเทศน์สอนให้คิดนึก
ในทางที่จะแบ่งเบาความทุกข์ทางใจ ก็ทำไม่ได้
เพราะไม่ได้หัดทำไว้ก่อน เหมือนนักมวยที่ไม่ได้ฝึกการชกไว้ก่อน
ขึ้นไปบนเวทีก็ทำท่าไม่ถูกต้อง ฝ่ายที่เขาฝึกไว้ดีแล้ว
ก็ชกล้มคว่ำคะมำหงาย นับสิบแล้วก็ยังลุกไม่ขึ้น อันนี้เป็นการเสียเปรียบ


ในชีวิตเราแต่ละคนนี่ก็เหมือนกัน
ถ้าเตรียมไม่พร้อมเราก็ต้องเสียเปรียบตลอดเวลา
เสียเปียบแก่ข้าศึกที่มาโจมตีตัวเรา คือ ความทุกข์นั่นเอง
ความทุกข์มาโจมตีเมื่อไหร่เราก็เสียเปรียบแก่ความทุกข์
เพราะเรานึกไม่ได้ที่จะต่อสู่กับความทุกข์เหล่านั้น
ไม่มีปัญญาที่จะคิดไม่มีสติที่จะนึกจะเตรียมตัวเพื่อการต่อสู้
อย่างนี้ในทางพระท่านถือว่าอยู่ด้วยความประมาท


อยู่ด้วยความประมาท ก็คือ ขาดการวางแผนในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ไม่ได้คิดไว้ว่าอะไรมันจะเกิด
และเมื่อเกิดขึ้นเราจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไรไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน
ก็ถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว เราอาจจะถูกข้าศึกโจมตีโดยไม่รู้ตัวบ่อยๆ
พอถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว ก็กลับตัวไม่ทัน เกิดการตกอกตกใจ ขวัญหนีดีฝ่อ
เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าในการที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้น
นี่เป็นปัญหาเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราทั่วๆไป
ไม่ว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ก็ย่อมมีสภาพเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมในเรื่องอย่างนี้


“เตรียมพร้อม” ก็คือเตรียมหาธรรมะไว้ใช้เป็นเครื่องป้องกันตัว
ไม่ให้ตกไปสู่ภาวะแห่งความตกต่ำทางจิตใจ
จึงต้องเข้าวัดฟังธรรมอ่านหนังสือทางศาสนา เพื่อให้เกิดความรู้ก่อน
เมื่อมีความรู้แล้วก็ต้องเอาความรู้นั้น
ไปใช้ในชีวิตของเราต่อไป เอาไปใช้แก้ปัญหา


การเรียนการรู้กับการปฏิบัติ ต้องใช้สัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา
เรียนรู้แล้วไม่ปฏิบัติ ก็เรียกว่า ยังไม่เกิดประโยชน์แก่ตัวเรา
ที่จะใช้ป้องกันความทุกข์ความเดือดร้อนไม่ให้เกิดขึ้น


เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนแล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ
เช่นเรามาฟังธรรมก็ดี มาสวดมนต์ตอนเช้าตอนเย็นอะไรก็ตาม
บทสวดมนต์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นบทเตือนใจ
ให้เราได้คิดได้นึกถึงเรื่องธรรมชาติ
ธรรมดาของชีวิต ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นมันมีการเกิดขึ้น
เป็นอยู่ เป็นไปอย่างไรอะไรเป็นของเที่ยง อะไรเป็นของไม่เที่ยง
อะไรเป็นสภาพอย่างไรต้องเตรียมตัวเอามาคิดมานึกไว้บ่อยๆ


เวลาสวดนั้นสวดรวมกัน แต่ว่าเราก็ต้องไปพิจารณาด้วยตัวเราเอง
เป็นเรื่องเฉพาะคนที่จะต้องนั่งคิดนั่งนึกตรึกตรองในคำเหล่านั้น
เช่น คำที่เราสวดว่า.....


รูปปาทานักขันโธ - รูปที่เข้าไปยึดถือนั้นเป็นความทุกข์...


เวทนูปาทานักขันโธ - เวทนาที่เข้าไปยึดถือนั้นเป็นความทุกข์..
สัญญาที่เข้าไปยึดถือไว้เป็นความทุกข์...
สังขารที่เข้าไปยึดถือไว้เป็นความทุกข์...
วิญญาณที่เข้าไปยึดถือไว้เป็นความทุกข์...
เราก็ต้องเอามานั่งคิดพิจารณาว่ามันเป็นทุกข์เพราะอะไร
เป็นทุกข์เพราะอุปาทาน


อุปาทาน นั้นหมายความว่า เข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน
เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา
ที่สำคัญก็คือนึกว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา
ที่ท่านพุทธทาสพูดภาษาง่ายๆ ว่าตัวกู-ของกู
ใครฟังแล้วก็นึกว่าเป็นคำที่ค่อนข้างจะเป็นชาวบ้านมากไปหน่อย
แต่ว่าเป็นคำที่ง่ายที่สุดว่า ตัวกู-ของกู
คนเรามี“ตัวกู”ก่อน แล้วก็มี“ของกู”ขึ้นมา
ในภาษาบาลีเรียกว่า อหังการ มมังการ


อหังการ คือ สำคัญว่าตัวมีตัวเป็น สำคัญว่าตัวเป็นก่อน
แล้วก็สำคัญว่าตัวมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ คือ มีตัวสำหรับรองรับแล้วมีอะไรเกิดขึ้น
ตัวก็เข้าไปรับเอาสิ่งนั้น รับเอาว่าเป็นของฉันขึ้นมา
อะไร ก็เป็นของฉันไปหมด นี่เราคิดไปอย่างนั้น
ความคิดอย่างนั้นมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เป็นอุปาทาน
คือ สร้างตัวยึดถือ ความยึดถือนั้นเป็นตัวอุปาทาน


ไม่ว่าเราจะไปยึดถืออะไร ที่นั้นมันก็จะทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้นมา
เช่น ยึดถือในเรื่องปัจจัยเงินทองว่าเป็นของฉัน
มันก็เป็นทุกข์เพราะเงินนั้น รถของฉัน บ้านของฉัน อะไรของฉัน
มีมากมายหลายเรื่องหลายอย่างที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้น
ถ้าเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉันเป็นของฉันขึ้นมา
ไอ้ตัวยึดถือนันแหละมันเป็นความทุกข์ขึ้นมา
เพราะเกิดความยึดถือว่าเป็นตัวฉันเป็นของฉันแล้ว
ก็เกิดความหวงแหนในสิ่งนั้นไม่อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างอื่น
อยากให้เป็นของเราเสียตลอดเวลา
ถ้ามันเป็นอื่นไปเราก็เป็นทุกข์
เพราะเรายึดว่าเป็นของฉันมันก็เกิดความทุกข์


เคล็ดของความทุกข์มันอยู่ตรงนี้
อยู่ตรงที่เราเข้าไปยึดมันถือมันในเรื่องนั้นๆให้สังเกตดูให้ดี
สังเกตที่ใจของเรา ถ้าอะไรไม่ใช่ของเรา
เราไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนอะไรหรือเราไม่ได้ยึดถือว่าเป็นของเรา
มันจะแตกจะหักจะเป็นอะไรไปเราก็เฉยๆ เพราะไม่ใช่ของเรา


แต่ถ้าหากว่าเป็น“ของเรา”ขึ้นมา
เข็มสักเล่มหนึ่งเราก็ยังเป็นทุกข์เพราะเข็มเล่มนั้น
เพราะว่าเข็มเล่มนั้นเป็น“ของฉัน”เป็น“ของเรา”ขึ้นมา
นี่แหละคือความยึดถือ ที่พระท่านสอนว่า...


รูปปาทานักขันโธ-รูปที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวทุกข์


ถ้ารูปเฉยๆ มันก็ไม่เป็นทุกข์แก่เรา
แต่เป็นทุกข์ตามสภาพของมัน
หมายความว่า มันทนอยู่ไม่ได้ในสภาพอย่างเดียว
มันต้องเปลี่ยนไปเพราะสิ่งทั้งหลายไม่เทียง มีความเปลี่ยนแปลง
มีความทุกข์โดยสภาพ ไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง
นั่นมันคือรูปเรื่องธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น


แต่ว่าคนเรามักจะหลงผิดเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ
ไม่ได้คิดในแง่ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ได้คิดในแง่ว่ามันเป็นทุกข์
ไม่ได้คิดในแง่ว่ามันเป็นอนัตตา แต่เราคิดว่ามันเที่ยง
มันเป็นสุข มันเป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา
แล้วเข้าไปยึดถือในสิ่งที่เป็นนั้น
แล้วก็มีของอื่นเข้ามาประกอบทำให้ความยึดถือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าเรามีเพียงอย่างเดียวก็ยึดถือน้อย
ถ้ามีมากความยึดถือมันก็มากขึ้นตลอดเวลา


เด็กเกิดใหม่ๆ นี่คงจะไม่มีความยึดถืออะไรให้สังเกตดูเด็กตัวน้อยๆ
เราจะเห็นว่าเขาไม่ได้ยึดถืออะไร ยังไม่มีความยึดมั่นในจิตใจ
ยังไม่มีความรู้สึกอะไรมากนัก มีความต้องการก็น้อย
คือ ต้องการนม พอดื่มนมเสร็จแล้วก็หลับไปเท่านั้นเอง
หลับแล้วก็ตื่นขึ้น ถ้าไม่หิวก็นอนเฉยๆ
ใครจะเข้ามาทำอะไรไม่มีอะไร นั่นคือสภาพเด็กอ่อน

:b51: :b52: :b53:


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 25 ก.ย. 2009, 12:51, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2009, 12:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เราหัดทำตนเป็นเด็กอ่อนทางจิตใจเสียบ้างก็จะสบาย
เด็กได้เปรียบผู้ใหญ่เพราะเด็กไม่มีความยึดมั่นในเรื่องอะไรต่างๆ
เด็กยังไม่ฉลาดในการที่จะยึด แต่ว่าเรานี่ฉลาดในการที่จะยึด
แต่เป็นความฉลาดที่ไม่ได้เรื่อง เพราะฉลาดในการที่จะยึดจะแบก
เอามาไว้เป็นของตัวโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้เราหนักใจ
ทำให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ เราไม่เข้าใจเราก็เข้าไปยึดสิ่งนั้นไว้
สำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นของเราตลอดเวลา
ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวางในสิ่งเหล่านั้น เราก็แบกหนักอยู่เรื่อยไป
เหมือนกับคำที่พระท่านว่า
“ภาราหะเว ปัญจักขันธา - ขันธ์ห้า เป็นภาระอันหนักเน้อ”
หมายความว่า หนักเพราะเข้าไปแบก ถ้าเราไม่ไปแบก มันก็ไม่หนักอะไร
มันเป็นเรื่องธรรมชาติของมันอย่างนั้น


มันเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ตามวิถีทางของธรรมชาติ
ถ้าเราไม่เข้าไปยึด มันก็เป็นของมันอย่างนั้น
เราไม่ต้องเป็นทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น
แต่เมื่อใดเราไปยึดถือว่าสิ่งนี้ที่เป็น“ของฉัน”ขึ้นมา
เราก็เป็นทุกข์เพราะความยึดถือนั้นด้วยตัวอุปาทาน
ตัวศัพท์ธรรมะเรียก“อุปาทาน” แปลเป็นภาษาไทยว่า ยึดมันถือมั่น
หรือท่านใช้ศีพท์อีกคำหนึ่งว่า“อภินิเวส”
เช่นในพระพุทธภาษิตที่ว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ”


“อะภินิเวสายะ” ก็หมายถึงว่าการยึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน
เหมือนกับตัวอุปาทานนั่นแหละ แต่ว่าใช้ศัพท์อีกศัพท์หนึ่งว่า อะภินิเวสายะ
แปลว่า เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน
เมื่อเราเข้าไปยึดสิ่งใดว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เป็นตัวฉันเป็นของฉัน
จิตก็เป็นทุกข์ทันที เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น


อันนี้เป็นเคล็ดที่เราควรจะรู้ไว้ในใจของเรา
แล้วก็จะได้ไปแก้ปัญหาชีวิตของเราได้
เวลาใดที่เราเป็นทุกข์ เราก็ต้องพิจารณาว่าที่ได้เกิดความทุกข์นี่เพราะอะไร
เพราะเราไปยึดถือว่าเป็นของเรานั่นเองเป็นของฉัน
ทรัพย์ของฉัน สามีของฉัน ภรรยาของฉัน บ้านของ ฉันรถของฉัน
รวมไปถึงประเทศของฉัน มันก็ยิ่งไปกันใหญ่
ถ้าใครไปยึดถืออย่างนั้นความทุกข์มันก็เพิ่มขึ้น


ยึดถือของน้อย ทุกข์มันก็มีปริมาณน้อยหน่อย
ใหญ่มันก็มีปริมาณมาก ยึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย
แต่ถ้าเราไม่ยึดเสียเลย...การไม่ยึด ก็คือ มีปัญญา
มีปัญญารู้เท่ารู้ทันในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
คือรู้ว่าอะไรๆ มันก็มีแต่เพียง ๓ เรื่องเท่านั้น
คือเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป
สภาพมันเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา
อย่าไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งของสิ่งนั้นว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา
เราก็ไม่ต่อมีปัญหา ไม่ต่องมีความทุกข์ เพราะเรื่องอย่างนั้น


ทีนี้ คนเราไม่รู้จักใช้ปัญญา พิจารณาสิ่งต่างๆให้เกิดความเข้าใจว่า
ธรรมชาติแท้จริงของสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอยางไร
เราไม่ได้คิดให้เกิดปัญญาให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง
พออะไรเกิดเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเราก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น
บางทีทุกข์ขนาดหนัก ทุกข์จนกระทั่งว่าจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับเอาเสียทีเดียว
แล้วถ้าทุกข์มากๆ เข้า สภาพจิตก็จะเปลี่ยนแปลงไป
คือ จะเป็นโรคทางจิต หรือเป็นโรคทางประสาท
อาการทางร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย


สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่เข้าใจในเรื่องทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง
ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็พูดว่า เราโง่ นั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร
เราโง่...พอเราโง่แล้วเราก็เข้าไปหาเรื่องที่มันเป็นทุกข์ตลอดเวลา
ถ้าเรามีความฉลาดเราก็ต้องคิดในแง่ที่จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์
มีการคิดที่จะไม่ให้เป็นทุกข์ก็ได้ คิดให้เป็นทุกข์ก็ได้เหมือนกัน


ถ้าเราคิดให้เป็นทุกข์ก็คิดด้วยความโง่ความเขลา
แต่ถ้าเราคิดให้ไม่เป็นทุกข์ก็หมายความว่า เราคิดด้วยปัญญา
มันมีทางอยู่ตั้ง ๒ ทางที่จะให้เราเดิน ทีนี้เราจะเดินทางใด
เดินทางที่จะคิดให้เป็นทุกข์หรือว่าเส้นทางที่เราคิดแล้วไม่มีความทุกข์
ญาติโยมลองนึกดู นึกดูด้วยปัญญาของตัวเอง
ก็จะเห็นว่า เอ! คิดแล้วไม่ให้เป็นทุกข์นี่มันดี
แต่คิดแล้วไห้เป็นทุกข์มันไม่ดี เราก็มองเห็น
แต่มองเห็นแล้วทำไมเราไปคิดให้เป็นทุกข์อีก
ทำไมไม่มาคิดในท่าทีที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นในจิตใจของเรา
ทำไมเราไม่คิดอย่างนั้น ความเคยชินนั่นเอง
เพราะตั้งแต่เกิดมานี่เราเรียนรู้แต่เรื่องให้ยึดทั้งนั้น
เขาสอนให้เรายึดถือทั้งนั้น


ตั้งแต่เป็นเด็กพอรู้เดียงสาเขาก็บอกให้เรารู้ว่าอันนี้ของหนู
อันนี้ของพ่อนั่นของหนูให้ยึดถือเรื่อยมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก
เราสอนอย่างนั้นให้เด็กยึดถือทั้งนั้นไม่ได้สอนให้ปล่อยให้วาง
แต่ว่าเด็กมันก็รับไว้อย่างนั้นจนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นเด็กอนุบาล
เป็นเด็กประถมมัธยมอะไรในโรงเรียนในการสอนต่างๆ
ก็สอนให้“ยึด”ทั้งนั้น ให้รักชาติ ไห้รักประเทศ อะไรอย่างนี้
สอนให้รักก็คือให้ยึดถือในชาติของตัวในประเทศของตัว
แล้วก็ในพระศาสนานี่ก็สอนให้ยึดถือ
คือ ไม่ได้สอนให้สมาทานเอาไปปฏิบัติ


มันมีคำอยู่คู่กันเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น
มาจากคำว่า“อุปาทาน”หรือ“อะภินิเวายะ”
อีกคำหนึ่งเรียกว่า“สมาทาน”
เช่นเราสมาทานศีลนี่ก็หมายความว่า รับเอาข้อปฏิบัติไปใช้ในชีวิตของเรา
นั่นมันไม่ทำให้เกิดความยึดถือ..เป็นทุกข์
ถ้าเราสมาทานด้วยปัญญาเราก็ไม่เป็นทุกข์อะไร
เอาไปใช้โห้เกิดความเจริญทางด้านจิตใจ
เช่น เราสมาทานศีล ๕ เราก็ระวังใจของเรา
ไม่ให้มีเจตนาที่จะไปฆ่าใครทำร้ายใครไปลักของใคร
ไปประพฤติผิดโนทางกามกับใครๆ ไม่พูดโกหก
คำหยาบ คำเหลวไหล ไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมา
รักษาสภาพใจไว้อย่างนั้นเรียกว่า เราสมาทานศีลอยู่ ปฏิบัติศีลอยู่
ไม่ได้เกิดความทุกข์อะไรไม่ได้ทำใจให้เป็นทุกข์เพราะการสมาทานอย่างนั้น


เราสมาทานในเรื่องที่จะทำสมาธิ หมายความว่า
อธิษฐานใจให้เกิดความมั่นคงทางใจว่า
เราจะฝึกสมาธิชั่วเวลาเท่านั้นเวลาเท่านี้
เช่นจะนั่งทำใจให้สงบเป็นเวลา ๑๐ นาที ๒๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง
อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการสมาทาน เพื่อให้เกิดอาการเช่นนั้นขึ้นมาในใจ
ไม่เรียกว่าเป็นการยึดมั่นถือมั่นหรือไม่เรียกว่าเป็นตัวอุปาทาน
มันเป็นความตั้งใจที่จะทำในสิ่งถูกต้อง สภาพจิตเราจะไม่เป็นทุกข์อะไร


แต่ถ้าเราไปทำอาการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ก็เกิดเป็นปัญหา
เช่น นับถือศาสนานี่ ก็เรียกว่า นับถือเพื่อนำมาใช้เป็นระเบียบ
สำหรับปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นในตัวศาสนา
อะไรนิดอะไรหน่อยกระทบไม่ได้ เกิดความขัดแย้งกันรุนแรงในระหว่างศาสนา
ดังที่เห็นเป็นข่าวบ่อยๆ ความขัดแย้งทางศาสนา
นั่นก็เป็นความยึดมั่นไปจึงเกิดการกระทำที่เราเห็นว่าเขาทำลายเรา
ความจริงเขาทำลายไม่ได้


ตัวธรรมะหรือตัวคำสอนที่แท้จริงนั้นไม่มีใครจะทำลายได้
มันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาไม่มีอะไรจะมาทำลาย
เหมือนในสมัยหนึ่งที่เขาโฆษณาว่า“คอมมิวนิต์มา ศาสนาหมด”
เขาว่าอย่างนั้น คนก็กลัวกันกลัวว่าคอมมิวนิลต์มาศาสนาจะหมด
ความจริงมันก็หมดไปไม่ได้ธรรมะเป็นของอยู่คู่โลก มันไม่หมดไป
ถ้าตราบใดยังมีคนสมาทานคือเอามาปฏิบัติอยู่
ศาสนาก็ไม่หมดไปจากจิตใจคน คอมมิวนิสต์ไม่มาแต่ถ้าเราไม่สมาทาน
คือไม่เอาธรรมะมาปฏิบัติ ธรรมะมันก็หมดไปจากใจเรา แต่มันก็อยู่กับโลก


ธรรมะยังอยู่กับโลกแต่เราไม่ได้เอามาใช้
เหมือนกับแร่ธาตุต่างๆที่อยู่ใต้ดิน มันก็อยู่อย่างนั้น
แก๊สในอ่าวไทยมันก็อยู่มานานแล้ว น้ำมันมีมันก็อยู่มาอย่างนั้น
แร่ดีบุก..ทองเหลือง..สังกะสี..ทองคำ..เพชรนิลจินดา..
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันก็มีอยู่ในโลก
อยู่ใต้พื้นพสุธาที่เราอาศัยแต่ว่าเราไม่ได้ไปขุดเอามาใช้
มันก็จมดินจมทรายอยู่อย่างนั้น
เมื่อใดมีคนฉลาดมารู้เข้าด้วยการพิสูจน์ตามแง่ของวิทยาศาสตร์
หรือทางธรณีวิทยาเขาก็รู้ว่าตรงนี้มีสิ่งนั้นมีสิ่งนี้
กรมทรัพยากรธรณีนี่เขารู้หมดรู้ว่าในประเทศไทยมีอะไรบ้าง เขารู้แล้ว
แต่ว่าไม่มีทุนจะทำไม่มีคนที่สามารถจะไปทำ ก็เลยอุบไว้ก่อนไม่พูดไม่จา
แต่เมื่อมีคนฉลาดมีความสามารถมีเงินทองพอจะใช้ได้เขามาขออนุญาตทำ
เขาก็ให้ทำเจาะไปเจาะมาก็เจอเข้า ได้สิ่งนั้นมาใช้ สิ่งนั้นมันอยู่ในโลก


ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน มีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลา
แต่เราไม่ได้สมาทาน คือไม่ได้เอามาปฏิบัติ
ธรรมะนั้นก็อยู่แต่ลำพัง ธรรมะยังไม่เกิดประโยชน์แก่ใคร
เมื่อใดเราสมาทานธรรมะเราปฏิบัติธรรมะ
ธรรมะก็คุ้มครองเรารักษาเราให้มีความสุขความเจริญขึ้น


ให้เข้าใจความหมายของคำเหล่านี้เสียด้วยว่า “สมาทาน”
นั้นคือ การยอมปฏิบัติตามหลักนั้นๆ
เพื่อทำตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทางใจ
ส่วน“อุปาทาน” ความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นการยึดไว้ด้วยความไม่เข้าใจ
ทำให้เกิดความทุกข์ คล้ายกับคนไปกอดเสาไว้
เอามือประสานกอดเสาไว้แล้วก็พูดว่า..เอาออกอย่างไร..เอาออกอย่างไร..
มันไม่รู้จะเอาออกอย่างไร มันกอดไว้อย่างเดียว
ความจริงเอาออกมันก็ง่ายนิดเดียวไม่ยากอะไร
แต่ว่าเอาออกไม่ได้ มันคล้ายอย่างนั้น


คนเราที่ยึดถืออะไรแล้วมันก็ยึดอยู่อย่างนั้น
ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวให้เป็นอย่างอื่น
คิดแต่ในเรื่องที่จะให้เกิดปัญหาในซีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา
แม้เราจะรู้ เช่นอ่านธรรมะ.รู้ ฟังเทปธรรมะ
ก็รู้มาฟังพระเทศน์พระสอนในวันอาทิตย์ก็รู้
แต่ว่าพอกลับไปถึงบ้านถึงเรือน จิตมันก็กลับไปสู่ภาวะเดิม
เพราะเราเคยคิดในรูปอย่างนั้นเคยนึกในเรื่องอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา
วิตกกังวลไปด้วยเรื่องอะไรต่างๆ มากมายกายกองในชีวิตของเรา
สิ่งใดเกี่ยวข้องในชีวิตเราก็นึกไปไกล
กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้
อะไรต่างๆ มันก็เกิดเป็นปัญหา ทำให้เราเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ

:b51: :b52: :b53:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 49 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron