วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 12:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 20:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: คำนำ :b42:

หนังสือปุจฉาวิสัชนาในประเทศเล่มนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมปัญหามาจากผู้ถามโดยเฉพาะ ซึ่งผู้อ่านจะหาอ่านได้ยาก ถ้าผู้อ่านสนใจในทางธรรมบ้าง ก็จะเข้าใจในปัญหายิ่งๆ ขึ้น ถ้าหากผู้อ่านเป็นนักปฏิบัติหน่อยๆ ด้วยแล้ว จะวางหนังสือนี้ไม่ลง เพราะอะไร เพราะว่าปัญหาที่ถามมานั้นล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการภาวนาโดยเฉพาะ และการตอบก็ตอบโดยความเป็นจริงทุกอย่างในทางปฏิบัติ ถึงนักปริยัติจะไม่เข้าใจ เพราะบางปัญหาจะไม่มีในปริยัติ แต่นักปฏิบัติแล้วซาบซึ้งดีมากเพราะปัญหาของนักปฏิบัตินั้น ไม่จำเป็นจะต้องตรงกับปริยัติเสมอไป จึงจะเป็นปัญหาธรรมได้

นักปฏิบัติโดยส่วนมากเมื่อสงสัยและข้องใจในปัญหานั้นๆ แต่ไม่กล้าถามครูบาอาจารย์ จะเพราะเกรงใจหรือกลัวหรือละอายหมู่เพื่อนก็ไม่ทราบ เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็จะเปลื้องความสงสัยนั้นๆ ได้ ผู้เขียนได้ตอบปัญหานักปฏิบัติโดยเฉพาะ เพื่อให้เข้าใจตรงตามแนวปฏิบัตินั้นๆ แล้วจะไม่ท้อถอยในการปฏิบัติ เพราะผู้ปฏิบัติโดยส่วนมาก เมื่อมีความขัดข้องหรือสงสัยในสิ่งนั้นๆ เช่น เห็นภาพนิมิตหรือมีเสียงส่อ แสดงเรื่องต่างๆ ในภาวนา หรือมิฉะนั้นก็ภาวนาไปถึงขั้นนั้น แล้วก็นิ่งเฉยเสีย มักจะเข้าใจว่าตนเก่งตนวิเศษเหนือคนอื่น แล้วเมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมหายไปก็เสียใจ มักจะสำคัญว่าคนอื่นก็จะเป็นอย่างเรา พุทธศาสนานี้ ใครปฏิบัติอย่างนี้จะดีสักเท่าไร มรรคผล นิพพาน คงไม่มีแน่ เราปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้แล้วก็ยังเสื่อมได้ คนประเภทนี้น่าเสียดายมาก และน่าสงสารอย่างยิ่งนั่นเพราะถือเสียว่าตนเก่งแล้ว ไม่คบค้าสมาคมกับท่านผู้รู้ที่ได้ประสบการณ์มาแล้ว ไม่มีความรู้ที่แน่นอน ยึดหลักปฏิบัติไม่มั่นคง จึงหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทั่วไป ไม่เฉพาะแต่นักปฏิบัติเท่านั้น นักปริยัติก็คงจะได้อรรถรสของธรรมกว้างขวางออกไป ท่านที่ไม่เคยศึกษาและปฏิบัติก็อาจจะสนใจมาหัดทำสมาธิภาวนา ทดลองศึกษาหาความจริงดูด้วยตนเองบ้างก็ได้


( พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ )
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕



:b44: ผู้เขียนได้เขียนปุจฉาวิสัชนาในต่างประเทศไปแล้วเล่มหนึ่ง คุณอาคม ทันนิเทศ โฆษกวิทยุทหารอากาศ ๐๑ บางซื่อ ได้อ่านออกอากาศไปแล้ว รู้สึกว่ามีคนฟังแล้วชอบใจเป็นส่วนมาก ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นอคติไม่เป็นธรรมนัก ไปต่างประเทศครั้งเดียวมีคนถามปัญหาก็ตอบเป็นคุ้งเป็นแคว เกิดในเมืองไทยโตในเมืองไทยแท้ๆ ไม่ยักตอบปัญหาในเมืองไทย มิใช่คนไทยจะไม่มีปัญหาหรือไม่ถามปัญหาก็หามิได้ แท้จริงคนไทยมีปัญหามากมายเหลือที่จะตอบ ตั้งแต่ปัญหาส่วนตัวถึงปัญหาครอบครัวและปัญหาส่วนรวม ปัญหาเหล่านี้มนุษย์คนเราเกิดขึ้นมาในโลกนี้ย่อมมีด้วยกันทั้งนั้น ต่างแต่ว่าใครจะมีมากและน้อยเท่านั้น คนไทยเรามีที่ระบายค่อยยังชั่วหน่อย มีปัญหาอะไรก็ไปวัดไปหาครูบาอาจารย์ให้ท่านช่วยแก้ไข ก็ค่อยเบาบางไปหรือบางทีก็หายไปเลย มิฉะนั้นก็เอาหนังสือธรรมะมาอ่านดูก็ช่วยแก้ไขได้เหมือนกัน แต่คนต่างชาตินี่ซิไม่มีทางแก้ไขได้จริงๆ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเชื่อว่าพระเจ้าอยู่บนสวรรค์จะมาแก้ไขให้ ไหว้วอนแล้วๆ เล่าๆ เมื่อพระเจ้าไม่มาช่วยแก้ไขให้ก็หมดหนทาง พระเจ้าเป็นของไม่มีตัวจะไปถามที่ไหนก็ไม่ทราบ อนึ่ง พระเจ้าท่านก็มีภาระมาก คนเกือบครึ่งโลกใครมีอุปสรรค อะไรก็ไหว้วอนถึงท่านให้ช่วยเหลือ ท่านจะมีเวลาที่ไหน พระเจ้านั้นแต่ช่วยมนุษย์มาก็นานเกือบสองพันกว่าปีแล้ว ป่านนี้คงแก่หง่อมอักโขแล้ว หูตาและความจำคงเสื่อมไปมาก อะไรก็ตามถ้าอยู่ไปนานๆ มันจะต้องเป็นอนิจจังไปตามสภาพของสังขารเป็นธรรมดา

เมื่อผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปถึง นับแต่สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย คนเหล่านั้นได้ข่าวมา เข้าใจเป็นพระเจ้าหรืออะไรก็ไม่ทราบ เพราะคำว่า พระ คำนี้คนส่วนมากเข้าใจว่าผู้นุ่งเหลืองห่มเหลือง จึงได้แห่กันมาถามปัญหาและได้ระบายความเดือดร้อนของตนๆ ให้ผู้เขียนฟัง ผู้เขียนไม่ได้รับบัญชาจากพระเจ้า แต่ด้วยความหวังดีต่อคนเหล่านั้น จึงได้แก้ปัญหาเขาเหล่านั้นเป็นคนๆ ไป ยิ่งอยู่นานวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกที จึงได้มีหนังสือปุจฉาวิสัชนาในต่างประเทศขึ้นมาให้เราได้อ่านและได้ฟังกันดังปรากฏอยู่นี่

อันที่จริงปัญหาดังกล่าวแล้วข้างต้น จะแก้ไขได้ด้วยธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น นอกจากธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีอะไรจะแก้ไขได้เลย เพราะ ธรรมคำสอนของพระองค์ท่านสอนถึงของจริง คือให้เข้าถึงใจ ปัญหาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากใจของมนุษย์ ทุกๆ คนมีใจด้วยกันทั้งนั้น เมื่อใจมันคิดนึกปรุงแต่งจึงเกิดเป็นปัญหา แต่เจ้าตัวจับใจไม่ได้คิดว่าปัญหาเกิดจากของภายนอก จึงแก้ไขปัญหาไม่ถูก พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาของพระองค์ได้แล้วจึงแก้ของคนอื่นได้ถูกต้อง

ชาวพุทธควรจะศึกษาธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจถ่องแท้ แล้วจะได้ไปแก้ปัญหานั้นได้ถูกต้อง ไม่ควรจะไปแสวงหาสิ่งอื่นนอกเหนือจากคำสอนของพระองค์ ซึ่งสอนให้แก้ที่ใจโดยตรงอยู่แล้ว คนสมัยนี้เรียนวิทยาศาสตร์สอนให้เชื่อสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยตามีพยานด้านวัตถุเป็นหลักฐาน นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นอย่างนี้แหละเรียนไปเถิดเรียนเท่าไรๆ ก็ไม่หมดสงสัยสักที เรียนแต่ด้านวัตถุก็ไม่หายสงสัยอยู่แล้ว ยิ่งด้านนามธรรมซึ่งไม่มีตนมีตัวจะจบสิ้นได้อย่างไร ถึงด้านธรรมจะมีการเรียนอยู่บ้างก็เป็นการเดาๆ เอาแล้วก็คาดคะเนเอาว่า อาจเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หาได้รู้แจ้งแทงทะลุด้วยตนเองไม่ ส่วนพุทธศาสนาเรียนทางด้านวัตถุและนามธรรมด้วยเรียนแล้วก็ทดสอบด้วยการปฏิบัติตามให้เห็นแน่แท้ตามเป็นจริงโดยตนเองจริงๆ เรียนจบแล้วกิเลสทั้งหลายก็หมดตามไปด้วย

แท้จริงเรียนวิทยาศาสตร์ก็ดีมิใช่ไม่ดี มีประโยชน์แก่ผู้ที่ยังไม่อยากหนีไปจากโลกนี้ สำหรับผูกมัดให้เขาเหล่านั้นติดอยู่ในทุกข์แน่นเข้า เช่น ทุกข์ในการทำงานวิทยาศาสตร์เครื่องทุ่นแรงและหาเครื่องทุ่นแรงมาช่วย ทุกข์ในการทำงานก็ค่อยเบาลงหน่อยแต่ไปทุกข์ในการหาเงินไปซื้อเครื่องทุ่นแรงและน้ำมันมาใส่ในเครื่องนั้นคนเห็นว่าสะดวกสบายได้ผลก็มาก อย่างนี้เป็นต้น เหตุนั้นคนส่วนมากเมื่อได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศนาให้เห็นโทษทุกข์ในโลก แล้วยอมสละโลกนี้จึงมีส่วนน้อย

ความจริงพระพุทธศาสนาก็สอนวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เรียกว่าวิทยาศาสตร์ เรียกว่าสอนให้รู้จักเหตุผลในสิ่งนั้นๆ พอได้ยินเรียกว่าวิทยาศาสตร์เลยตื่นเห่อกันใหญ่ นี่แหละไม่ศึกษาพุทธศาสนาให้เข้าถึงของจริง และทั้งไม่ได้ปฏิบัติด้วยตนเอง จึงมักเป็นเช่นนี้ เหตุนี้ความสงสัยในพระพุทธศาสนาก็ดี ในเหตุผลสิ่งทั้งปวงก็ดี ก็ไม่ผิดแผกแตกต่างจากคนในต่างประเทศเท่าไรนัก

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าของเรายังมีพระชนมายุอยู่ มานพชื่อวังคีสะ มีความรู้ทางด้านวิญญาณของมนุษย์ที่ตายไปแล้วไปเกิดในคตินั้นๆ เมื่อเอากะโหลกศีรษะมาเคาะดูก็รู้จักว่าคนนี้ไปเกิดในคตินั้นๆ แต่หารู้ไม่ว่าเขาทำกรรมอะไรไว้จึงไปเกิดในคตินั้นๆ เธอแข่งดีจึงอยากไปทดสอบความรู้นั้นจากพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าให้คนไปเอากะโหลกศีรษะของพระอรหันต์มาให้เคาะดูเธอก็มืดตื้อไม่รู้ พระอรหันต์ท่านนิพพานแล้วจึงไม่มีการเกิดอีกจึงยอมเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธองค์

ยังอีกเรื่องหนึ่ง สมัยผู้เขียนยังเที่ยวรุกขมูลอยู่ พระภิกษุรูปหนึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของหลวงปู่พระเทพสิทธาจารย์จังหวัดนครพนมนี่เอง ท่านไปได้วิชามาจากไหนไม่ทราบ เมื่อไปพักในป่าช้าบ้านไหน หลุมผีที่เขาฝังไว้เธอไปรู้หมดว่า หลุมนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ตายเมื่ออายุเท่านั้นๆ ตายเพราะโรคอันนั้นๆ เมื่อถามพวกญาติเขาดูก็ตรงทุกอย่าง นี่ก็เป็นของแปลกดีเหมือนกัน ของเหล่านี้ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ แต่ก็ได้เป็นมาแล้วในอดีตและปัจจุบัน ในโลกนี้ยังมีเรื่องทำนองเดียวกันนี้อีกมาก ซึ่งพวกเราพร้อมทั้งวิทยาศาสตร์พากันงงเป็นไก่ตาบอด แต่ก็ยังเชื่ออยู่ทั้งที่ไม่รู้นั่นเอง

ผู้เขียนจะประมวลเอาข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งมีผู้ถามมาก มาเรียบเรียงไว้ในที่นี้ แต่จะไม่ขอกล่าวชื่อท่านเหล่านั้นไว้ ณ ที่นี้ ด้วย และข้อสงสัยนั้นๆ ซึ่งมีผู้ถามยังซาบซึ้งกว่าคนในต่างประเทศถามอีกเป็นไหนๆ มีนายทหารชั้นพันเอกหลายคนไปหาผู้เขียนแต่มีนายทหารคนหนึ่งถามว่า

(๑) ถาม การทำบุญอุทิศให้ผู้มีพระคุณทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้น ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับบุญเหล่านั้นจะเป็นของใคร

(๑) ตอบ ปัญหาเรื่องนี้กินความกว้างขวางมาก มีผู้ถามปัญหาข้อนี้กับผู้เขียนตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอยู่ จนมาได้บวชพระนับเป็นเวลา ๖๐ กว่าปี แล้วก็ยังมีคนถามอยู่ นี่แหละผู้เขียนหวังว่าถึงผู้เขียนตายไปแล้ว ถ้ายังมีการทำบุญให้ผู้ตายไปแล้วอยู่คงจะมีปัญหาอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ผู้เขียนจะตั้งประเด็นไว้เป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และกันความหลงลืมดังนี้
๑.๑ ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
๑.๒ ทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าผู้นั้นได้รับหรือเปล่า
๑.๓ ถ้าผู้นั้นไม่ได้รับ บุญอันนั้นจะเป็นของใคร

๑.๑ ผู้ทำบุญโดยส่วนมาก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เพื่ออุทิศแก่ผู้มีพระคุณทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้น
ชาวพุทธมีดีตรงนี้แหละ พุทธศาสนาสอนให้รู้จักบุญคุณของผู้ที่มีพระคุณทั้งหลาย แล้วทำดีเพื่อสนองพระคุณของท่านเหล่านั้น ถ้าไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณแล้ว คนเราก็จะกลายเป็นเดรัจฉานไปหมด การทำความดี คือ บุญกุศลนี้ย่อมทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ตนและคนอื่น ทำในที่เปิดเผย ไม่ทำในที่ลับด้วยและทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เหมือนกับคนที่ทำความชั่ว ทำความชั่วนั้นทำด้วยความเศร้าหมองไม่ผ่องใสและก็ทำในที่ลับไม่เปิดเผยด้วย ทั้งไม่อุทิศส่วนบาปนั้นให้แก่ผู้มีพระคุณทั้งหลาย ถึงแม้อุทิศให้แก่ใครก็ไม่มีใครอยากรับ เพราะเป็นของเศร้าหมอง

ทำบุญให้แก่ผู้มีพระคุณที่ตายไปแล้วนี้ จงทำด้วยของบริสุทธิ์อย่าไปฆ่าเป็ด ไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควายมาทำ จะบาปหนักเข้าไปอีกทำเล็กๆ น้อยๆ ด้วยใจผ่องใสบริสุทธิ์ เป็นต้นว่าตักบาตรถวายอาหารพระสงฆ์ บุญก็มากเอง บุญมิใช่เกิดเพราะไทยทานมากๆ แต่เกิดขึ้นจากใจเลื่อมใสศรัทธาต่างหาก เปรียบเหมือนเทียนที่เรามีอยู่แล้วไปขอต่อจากคนอื่น เทียนของคนอื่นก็ไม่ดับ ของเราก็ได้ไฟสว่างมา เหตุนั้นบุญในพุทธศาสนาจึงหมดไม่เป็น คนมากี่ร้อย กี่พันเอาหัวใจของตนมาตักตวงเอาบุญในพุทธศาสนานี้ก็ไม่มีหมดบุญยังเต็มเปี่ยมอยู่ตามเดิม ถ้าทำด้วยความเลื่อมใสแล้ว วัตถุทานมีน้อยก็กลายเป็นของมากเอง

๑.๒ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าผู้ตายไปนั้นได้รับหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นของพูดยาก เพราะผู้ที่ตายไปแล้วก็ไม่ได้ตอบรับเหมือนเราส่งจดหมายไปหากัน อนึ่ง บุญนั้นก็มิใช่จะส่งไปได้อย่างพัสดุไปรษณีย์เพราะเป็นของไม่มีตัวตน เป็นความรู้สึกภายในใจว่าบุญที่ตนทำนี้ต้องถึงผู้ตายไปแน่ และเราเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วต้องทำในพระภิกษุผู้มีศีลและเมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้บริโภคอาหาร ก็ต้องทำบุญถวายอาหารเมื่อต้องการอยากจะให้เขาได้เครื่องนุ่งของห่ม ก็ถวายผ้าผ่อนเครื่องนุ่งของห่ม แล้วอุทิศกุศลนั้นไปให้แก่เขาเหล่านั้น แล้วของเหล่านั้นก็จะปรากฏแก่เขาเหล่านั้นเองโดยที่ไม่มีใครนำไปให้เขา
๑.๓ เรื่องนี้บอกได้ชัดเลยว่า บุญเป็นของผู้ทำแน่นอนเพราะผู้ทำเกิดศรัทธาเลื่อมใสพอใจในการกระทำบุญ บุญก็ต้องเกิดในหัวใจของผู้นั้นเสียก่อนแล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ผู้มีอุปการะคุณที่ตายไปแล้ว ได้ชื่อว่าทำบุญสองต่อ คือเราได้ทำบุญแล้วเพราะศรัทธาเลื่อมใสจึงทำบุญ แล้วเราอุทิศส่วนบุญนั้นไปให้แก่ผู้ตายไปอีก เป็นอีกต่อหนึ่ง

ทำบุญให้ผู้ตายนี้ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ แต่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำ นับว่าเป็นความดีของผู้นั้นอย่างยิ่ง ท่านเปรียบไว้ สมมุติว่าบุญที่ทำลงไปนั้นแบ่งออกเป็น ๑๖ ส่วน แล้วเอาส่วนที่ ๑๖ นั้นมาแบ่งอีก ๑๖ ส่วน ผู้ตายไปจะได้รับเพียง ๑ ส่วน เท่านั้นฟังดูแล้วน่าใจหาย เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้มีสิ่งใดควรจะทำก็ให้รีบทำเสียตายไปแล้วเขาทำบุญไปให้ไม่ทราบว่าจะได้รับหรือไม่ ถึงแม้ได้รับก็น้อยเหลือเกิน เพราะคนตายแล้ว เขาเรียกว่าเปรต ไม่ได้เรียกว่า บิดา มารดา ป้า น้า อาว์ ครูบาอาจารย์ อย่างเมื่อเป็นมนุษย์อยู่นี้หรอก ในบรรดาเปรตเหล่านั้นมี ๑๑ พวก มีจำพวกเดียวที่จะได้รับส่วนบุญที่คนยังมีชีวิตอยู่อุทิศไปให้ เรียกว่า ชีวิตูปรัตตเปรต เปรตจำพวกนี้ได้รับทุกข์ร้อนลำบากมาก เพราะในเปรตโลกนั้นไม่มีการทำนาค้าขาย แม้แต่ขอทานก็ไม่มี เสวยผลกรรมของตนๆ ที่ทำไว้ เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นี้เท่านั้น ฉะนั้นเปรตจำพวกนี้แหละมนุษย์คนที่ยังเป็นอยู่ทำบุญอุทิศไปให้จึงจะได้รับ เปรตนอกนั้นแล้วไม่ได้รับเลย เช่น ตายไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้รับ นับประสาอะไร บางทีสามีภรรยานอนอยู่ด้วยกันแท้ๆ ฝ่ายหนึ่งทำบุญขอให้อีกฝ่ายหนึ่งอนุโมทนาด้วย ก็ไม่รับ พวกที่ไปเกิดเป็นเดรัจฉานยิ่งไม่รู้กันใหญ่ ไปเกิดในนรกหมกไหม้ทุกขเวทนามาก ทำบุญอุทิศไปให้ก็ไม่รู้อะไร เพราะกำลังเสวยผลกรรมอันนั้นอยู่ หรือไปเกิดเป็นเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่งก็เหมือนกัน เขากำลังเสวยผลบุญของเขาอยู่ เขาจะมาเอากุศลผลบุญของเราได้อย่างไร

ชีวิตูปรัตตเปรต ดังเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าพิมพิสารเกิดอาเพทตอนกลางคืน มีเสียงดัง ขลุกๆ ขลักๆ ทั่วไปหมดในห้องพระตำหนัก พระเจ้าพิมพิสารกลัวจะเกิดเหตุเป็นอันตรายแก่ราชบัลลังก์ จึงเข้าไปกราบทูลเหตุอันนั้นแก่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ไม่มีอันใดเลย พวกเปรตที่เป็นญาติของพระองค์แต่ครั้งพระพุทธเจ้าชื่อว่า พระวิปัสสี โน่น เขามาขอส่วนบุญกับพระองค์ ขอมหาบพิตรจงทำบุญให้เขาแล้วอุทิศส่วนบุญนั้นให้เขาเสีย เสียงนั้นก็จะหายไป พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงกระทำ ทักษิณานุประทาน ทำบุญอุทิศให้แก่เปรตเหล่านั้นแล้ว พวกเปรตเหล่านั้นได้รับส่วนบุญแล้วก็มีกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ยังไม่มีผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทีหลังก็มาปรากฏให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นอีก พระเจ้าพิมพิสารก็นำเอาเรื่องพฤติการณ์อันเปรตมาแสดงนั้นไปกราบทูลพระพุทธเจ้าอีก พระองค์จึงตรัสว่า เพราะมหาบพิตรไม่ได้ทำบุญผ้า พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงทำบุญถวายผ้าแก่พระสงฆ์ และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่เปรตเหล่านั้น พอเปรตเหล่านั้นได้รับแล้วก็ไปเกิดในสุคติภพในสวรรค์

ที่มาเล่าสู่กันฟังพอเป็นทัศนคติที่ว่า ทำบุญให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้วจะได้รับหรือไม่ เพราะผู้เขียนก็ไม่สามารถจะไปล่วงรู้เขาได้ และผู้ตายไปแล้ว แม้แต่โยมบิดามารดาของผู้เขียนก็ไม่เคยบอกว่า บุญที่ทำแล้วอุทิศไปให้ได้รับหรือเปล่า แต่ผู้เขียนก็ทำบุญอุทิศไปให้เสมอเป็นแต่ได้ฟังมาจากตำรา จะหาว่าเล่านิทานหลอกเด็กให้กลัวเฉยๆ แต่ถ้าผู้ใหญ่กลัวอย่างเด็กๆแล้ว บ้านเมืองก็ไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ เด็กเชื่อง่ายหัวอ่อน สั่งสอนน้อมใจเชื่อเร็ว ผู้ใหญ่จึงชอบสอนเด็กๆ แต่เมื่อโตขึ้นมาแล้ว ถือว่าเรามีสิทธิเสรีเต็มที่ไม่ต้องเชื่อความคิดของคนอื่น เชื่อความคิดของตนเอง หรือเข้าสมาคมกับผู้ใหญ่เลยเป็นผู้ใหญ่ไปหมด ความเชื่อและความคิดเมื่อยังเด็กอยู่ที่อบรมไว้เลยหายหมดเลยกลายมาเป็นผู้ใหญ่อย่างผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

อนึ่ง เรื่องการทำบุญใช้หนี้เจ้ากรรมนายเวร เรื่องนี้ผู้เขียนไม่รู้จริงๆ จึงตอบไม่ได้ ขอผู้รู้ทั้งหลายได้เมตตาแนะแนวให้ผู้เขียนได้ทราบบ้างก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

กรรมที่ตนกระทำไว้แล้ว ไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว ผลของกรรมนั้นย่อมเกิดที่ใจของตนเอง มิใช่ผู้ทำกรรมผู้หนึ่ง เจ้ากรรมนายเวรอีกผู้หนึ่ง คล้ายๆ กับว่ามีเจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้บัญชาการอยู่ ทำบุญอุทิศกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรผู้บัญชาการเพื่อให้เป็นสินน้ำใจ แล้วเจ้ากรรมนายเวรก็จะลดหย่อนผ่อนผันให้อย่างนี้เป็นต้นหรือกรรมเวรที่เราทำแก่คนอื่นนั้น คนนั้นเองเป็นเจ้ากรรมนายเวรเราเห็นโทษความผิดแล้วทำบุญอุทิศไปให้แก่เขาเพื่อเขาจะลดโทษผ่อนผันให้ อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะเขาตายไปแล้ว ไม่ทราบไปเกิดในที่ใด และกำเนิดภูมิใด ดังได้อธิบายมาแล้วในข้างต้น คนที่ทำกรรมทำเวรแก่กันแล้วเมื่อยังเป็นคนอยู่นี้ จะพ้นจากกรรมจากเวรได้ก็เมื่ออโหสิกรรมให้แก่กันและกัน ในเมื่อยังเป็นคนอยู่นี่แหละตายไปแล้วจะอโหสิกรรมให้แก่กันและกันไม่ได้เด็ดขาด มิใช่ว่าเราได้ทำกรรมชั่วทุจริตด้วยจิตที่เป็นบาปมีอกุศลมูลเป็นพื้น มาภายหลัง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือเท่าไรก็ตาม ระลึกถึงกรรมอันนั้นแล้วกลัวบาป จึงทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ที่เราได้กระทำแก่เขานั้นเพื่อให้เขาอโหสิกรรมให้ ดังนี้เป็นการไม่ยุติธรรม เป็นการตัดสินคดีภายหลังจากเหตุการณ์ ถ้าถือว่าเราระลึกถึงความชั่วของตนแล้ว ทำความดีเพื่อแก้ตัวหรือปลอบใจของตัวเอง เป็นการสมควรแท้ การทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วจะได้หรือไม่ มีอรรถาธิบายกว้างขวางมาก อธิบายมาก็มากพอสมควร พอที่ผู้ฟังจะเข้าใจบ้างตามสมควร จึงขอยุติไว้เพียงแค่นี้เสียก่อนเพื่อจะได้ตอบปัญหาคนอื่นต่อไป

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แก้ไขล่าสุดโดย Bwitch เมื่อ 01 ส.ค. 2009, 22:14, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 20:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: :b42: :b42:

นายทหารยศพันตรี ผู้หนึ่งมาถามว่า

(๒) ถาม รูปเหรียญและวัตถุมงคลต่างๆ ที่ผู้ถือแล้วศักดิ์สิทธิ์จริงไหม และเป็นศิริมงคลจริงหรือเปล่า ถ้าจริงอย่างที่ว่าแล้วอาจารย์ผู้ที่ให้ของศักดิ์สิทธิ์และรูปเหรียญต่างๆ ทำไมจึงต้องเกิดอุปัทวะเหตุ เช่น รถคว่ำ เรือล่ม เครื่องบินตกและถูกโจรฆ่าเป็นต้น
(๒) ตอบ ปัญหานี้คนทุกชั้นทุกประเภททุกหมู่เหล่าย่อมถามแซดกันไปหมด และคนเหล่านั้นแหละที่ถือของเหล่านี้อยู่เป็นส่วนมาก เพราะอะไร ก็เพราะของเหล่านี้ไม่มีในตำราคัมภีร์พระพุทธศาสนา และคนทั้งโลกก็พากันกลัวตายกัน ทั้งนั้น จึงหาเครื่องป้องกันตาย แต่หาไม่ถูก หาออกไปภายนอก ไม่หาเข้ามาที่หัวใจเพราะภายนอกคือ กายนี้ ทุกรูปทุกกายย่อมตายด้วยกันทั้งหมด แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ต้องหาภายใน คือ ใจ เพราะที่ใจนี้ตายไม่เป็น กายตายแล้วใจยังมีกิเลสอยู่ตราบใดก็ไปเกิดถือกำเนิดอีกต่อไป ปัญหานี้ก็คล้ายกับปัญหาข้อแรกที่ว่า ทำบุญให้ผู้ที่ตายไปแล้วจะได้รับหรือไม่

ก็น่าเห็นใจพวกเรายังมีกิเลสอยู่ ถือรูปขันธ์นี้ว่าเป็นของกูๆ อยู่ ก็ต้องกลัวตายเป็นธรรมดา เมื่อกลัวตายก็ต้องหาสิ่งจะมาป้องกันใครพูดว่าอะไรดีป้องกันได้ก็วิ่งแสวงหา จะถูกจะแพงสักเท่าใดก็หามาจนได้ เมื่อหามาได้ก็เป็นเครื่องอบอุ่นใจไปชั่วระยะหนึ่ง ในผลที่สุดก็ต้องตายไปด้วยกันทั้งหมด แม้อาจารย์ผู้แจกหรือผู้ขายของศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องม้วยไปด้วยกัน ของในโลกนี้ทั้งหมดมันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงมั่นถาวรสักอย่างเดียว แท้จริงส่วนมากเกิดจากหน้าม้าหรือลูกศิษย์ผู้ต้องการอยากให้อาจารย์ดัง ตัวอาจารย์เองไม่เท่าไรหรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า กัมมัสสกา วิภัชชันติ กรรมที่มนุษย์และสัตว์ได้กระทำไว้แล้วย่อมจำแนกแจกสัตว์ให้เกิดและตายไปเป็นต่างๆ กัน คนเรามักมองแต่ความตาย ความเกิดไม่มอง เกิดมากเท่าไรก็ตายมากเท่านั้น ถ้าตายไม่ดีไม่งาม เช่นตายเพราะเกิดอุปัทวะเหตุหรือตายปัจจุบัน ก็เรียกว่าตายไม่ดี ความตายจะตายอย่างไรก็เอาเถิด เรียกว่า ธาตุแตกขันธ์ดับ เปลี่ยนสภาพใหม่เหมือนกันทั้งนั้นไม่เป็นปัญหา ความต้องการของทุกๆ คน ก็เพื่อทำใจของตนให้ใสสะอาดเท่านั้นเป็นพอ หากเกิดอุปัทวะเหตุรถคว่ำเรือล่มหรือเครื่องบินตก ถ้าเราทำจิตของเราให้สะอาดแล้วจะไม่ดีกว่าที่ตายอย่างทรมานนั่นหรือ บางคนเจ็บออดๆ แอดๆ หรือเป็นอัมพาตทรมานอยู่ตั้งหลายๆ ปี จะตายแหล่ไม่ตายแหล่ เมื่อร่างกายทรุดโทรมสติสตังก็อ่อนแอ หลงหน้าลืมหลัง กินแล้วก็หาว่าไม่ได้กิน เห็นแล้วเป็นที่น่าทุเรศมาก นี่เพราะกรรมตกแต่งให้แท้ๆ ใครจะปรารถนาเอาตามใจชอบของตนเองไม่ได้ ฉะนั้น จึงควรทำแต่กรรมที่ดีจนเป็นนิสัย เพื่อจะไม่ได้เสวยผลของกรรมชั่วเมื่อจวนจะตาย และตายไปแล้วก็จะไปสู่สุคติในภพนั้น

เรื่องกรรมนี้บุคคลที่ทำลงแล้วไม่ว่าดีและชั่ว จะทำอย่างไรๆ แม้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตาม เมื่อยังมีวิบากอันนี้เหลืออยู่ ได้โอกาสเมื่อไรย่อมตามขยี้เอาจนได้ ดังพระโมคคัลลานะ เป็นตัวอย่าง เมื่อนานมาแล้วในอดีต พระโมคคัลลานะท่านเกิดเป็นบุรุษลูกคนเดียวเลี้ยงบิดามารดาตาบอด โดยความเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องนุ่งห่มตลอดถึงอาบน้ำนวดเท้า ไม่ให้บิดามารดาอุทธรณ์ร้อนใจตามปฏิบัติทุกเช้าเย็น มารดาเห็นเช่นนั้นด้วยสัญชาตญาณก็เกิดสงสารบุตร จึงเรียกบุตรมาบอกว่า ลูกเอ๋ยลูกคนเดียว ปฏิบัติบิดามารดาเป็นการลำบากมาก ไหนจะต้องวิ่งเข้าครัวออกครัว ไหนจะต้องวิ่งทำมาหากินภายนอกบ้าน แล้วจะต้องปฏิบัติคนพิการทั้งตายายอีกด้วย อย่ากระนั้นเลย แม่จะไปหาภรรยามาให้เพื่อจะได้ช่วยแบ่งเบากัน ลูกชายคนดีก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ลูกคนเดียวสามารถจะทำได้ทุกอย่าง ได้ภรรยามาแล้วไม่ทราบว่าเขาจะพอใจปฏิบัติหรือไม่ ถ้าเขาพอใจปฏิบัติก็ดีไป ถ้าเขาไม่พอใจปฏิบัติก็จะทำให้ยุ่งไปเปล่าๆ มาภายหลังมารดาก็พูดเช่นนั้นอีก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ลูกชายก็คัดค้านเช่นเคย ทีหลังมารดาไม่ได้พูดอีกแล้ว ขอเอาหญิงในตระกูลที่เห็นว่าสมควรมาให้ลูกชายมาเป็นภรรยา เมื่อภรรยามาอยู่ทีแรกก็ดีอยู่ น้ำท่า ฟืนไฟ และปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวแทนผัวได้ อยู่มาหน่อยมันไม่ใช่บิดามารดาของตนเอง เราปฏิบัติแต่ผัวของเราก็แย่อยู่แล้ว ธุระอะไรจะมาปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวอีกเล่า คิดแล้วก็อดกลั้นไว้แต่ในใจไม่กล้าพูดให้ผัวฟัง เมื่อผัวออกไปทำงานนอกบ้านก็ไม่เอาใจใส่ปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัว เวลาผัวกลับมาจากทำงานก็แกล้งกุลีกุจอปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวดี

อยู่มาวันหนึ่งทำเป็นหน้าเศร้าข้าวก็ไม่กิน ผัวจึงเข้าไปถามเรื่องอะไร ทำเป็นอิดๆ ออดๆ ตามภาษามารยาของหญิงชั่ว แล้วร้องไห้โฮออกมาว่า จะเรื่องอะไรก็พ่อแม่ของคุณนั่นแหละ ทำอะไรไม่ถูกใจสักอย่างเดียว ฉันอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าอย่างนี้เห็นจะอยู่ไม่ได้แน่ สามีบอกว่า พ่อแม่ของฉัน เธออยู่ไม่ได้จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของเธอก็ตามใจ แต่ฉันจะต้องปฏิบัติพ่อแม่ของฉัน แล้วเรื่องนั้นก็ระงับไป อยู่มาทีหลังเธอก็พูดอย่างนี้อีก สามีก็พูดอย่างเก่า เสาอินทขีลฝังลึกถึง ๘ ศอก หากมีคนผลักบ่อยๆ หนักเข้ามันก็คลอนเป็นเหมือนกัน นับประสาอะไรใจผู้ชายถูกเมียกระตุกบ่อยเข้าจะไม่หวั่นไหวได้หรือ มาวันหนึ่งจึงเข้าไปพูดกับบิดามารดาว่า ฉันจะพาไปเยี่ยมญาติที่บ้านโน้น แล้วเอามารดาบิดาขึ้นเกวียนขับไปพอถึงกลางดงแห่งหนึ่ง จึงบอกมารดาบิดาว่า ที่แห่งนี้มีโจรชุกชุมมากขอให้ระวังตัวหน่อย ว่าแล้วก็แกล้งว่ามีธุระ หยุดเกวียนแล้วก็ลงจากเกวียนไป ประเดี๋ยวเดียวก็ร้องตะโกนมาว่า เหวยๆ ใครมานั่นเอาให้ตาย ใครมาอะไรนั่น ส่วนมารดาบิดาด้วยรักบุตรสุดกำลังจึงเรียกบอกว่า พ่อหนูจงหนีให้พ้นจากมือโจร มารดาบิดาจะตายก็ช่างเถิด หาได้รู้ว่าเป็นโจรบุตรของตนไม่ พอมาถึงก็ทุบเอา ๒ ตายายจนดับในที่นั้น ลูกทรพีพอดับสิ้นชีพไปแล้วก็ไปเกิดในทุคติและถูกเขาฆ่าเป็นเอนกชาติ (แต่มิใช่บิดามารดาตามไปฆ่ากรรมหากบันดาลให้เขาฆ่าเอง) มาในชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไปจำพรรษาอยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ กรรมเก่าตามทัน ทำให้โจรมาล้อมปองทำร้ายอยู่นานถึง ๔ เดือน มาทีไรท่านเหาะหนีทุกที ทีหลังท่านมาพิจารณาดูก็รู้ว่า อ้อ กรรมเก่าท่านได้กระทำไว้ จึงปล่อยให้โจรทุบเอาจนนิพพาน อันนี้เรียกว่ากรรม

ส่วนเวรนั้นสับเปลี่ยนทำร้ายล้างผลาญซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องก่อน แต่เรื่องนี้มีแต่มารดา เมื่อมารดาหาภรรยามาให้แล้วไม่มีบุตร ทีหลังภรรยาหลวงไปหาภรรยาน้อยมาให้สามีเอง เมื่อภรรยาน้อยมีบุตรก็กลัวเขาจะใหญ่กว่าตน จึงแกล้งไปทำดีด้วย ให้อาหารและรักษาครรภ์ในผลที่สุดทำยาแท้งลูกให้กินเสีย ทำอยู่อย่างนี้ถึง ๒-๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายนี้แม่ของเด็กเลยตายไปด้วย ก่อนจะตายจึงรู้ว่าภรรยาหลวงทำให้ตาย จึงปรารถนาว่าขอให้กูได้ฆ่าลูกมึงถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ขอให้กูได้ฆ่ามึงพร้อมทั้งลูกด้วย เมื่อสามีรู้เรื่องนั้นเข้าจึงโกรธภรรยาหลวง ทุบด้วยศอกตอกด้วยเข่าเอาจนตาย ตายไปแล้วเกิดเป็นแม่ไก่ ภรรยาน้อยไปเกิดเป็นแมว ไก่ไข่มาแมวก็เอาไปกินเสียถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ขม้ำแม่ไก่เอาไปกินด้วย แม่ไก่ตายไปเกิดเป็นเสือเหลือง แมวตายไปเกิดเป็นนางเนื้อ นางเนื้อเกิดลูกมาเสือเหลืองก็เอาไปกินหมด ครั้งที่ ๓ ขม้ำแม่เนื้อเอาไปกินด้วย นางเนื้อตายไปเกิดเป็นนางยักขินี เสือเหลืองตายไปเกิดเป็นนางกุลธิดา เมื่อนางกุลธิดาคลอดบุตรมานางยักขินีทำเป็นเหมือนสหาย แล้วอุ้มลูกของนางกุลธิดาชมไปชมมาก็ฉีกกินลูกนั้นเสีย ครั้งที่ ๒ ก็ทำเช่นนั้นอีก ครั้งที่ ๓ นางกุลธิดาเข็ด พอคลอดแล้วก็อุ้มลูกพาสามีหนีไปสู่ตระกูลของตนพอไปถึงกลางทาง นางอุ้มลูกให้สามีแล้วลงอาบน้ำอยู่ก็เห็นนางยักขินีวิ่งติดตามมา พอนางเห็นก็วิ่งเข้าไปในวัดเชตวันหวังที่พึ่งพระพุทธเจ้า แล้วบอกว่า ขอพระองค์โปรดช่วยลูกของข้าพระองค์ด้วย นางยักขินีมันจะกินเอา นางยักขินีวิ่งไปถึงประตูวัดพระอานนท์ไม่ให้เข้าไป พระพุทธองค์บอกว่า ให้เข้ามาเถิด เมื่อเข้าไปถึงแล้วพระพุทธองค์เทศนาเรื่องเวรก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุด ดีที่เธอได้มาพบเราตถาคตในวันนี้ ถ้าหาไม่แล้วก็จะก่อเวรแก่กันและกันไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อจบเทศนาแล้วต่างมีความเบิกบานชื่นใจให้อภัยซึ่งกันและกัน พระองค์จึงทำให้ทั้งสองเป็นสหายกัน แล้วนำไปเลี้ยงดูกันต่อไป

ทั้งสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเวรนั้นถ้าอยู่พร้อมหน้ากันก็สามารถอภัยให้ซึ่งกันและกันได้ ในบางกรณี เช่น เรื่องนางยักขินี นี้เป็นต้น ส่วนกรรมนั้นใช้กันเป็นเอนกชาติกันทีเดียว กรรมมิใช่คู่กรรมด้วยกันจะมาสนองกรรมอยู่เรื่อยไป แต่กรรมที่ตนกระทำไว้มันบันดาลให้เป็นไปเอง

เจ้ากรรมนายเวรก็คือ ตัวของเราเองนั่นแหละ เราได้กระทำไว้แล้วด้วยความตั้งใจ มิใช่มีคนอื่นมาบังคับให้กระทำ หรือคนอื่นมายกให้ จิตที่ตั้งเจตนาไว้แล้วว่า จะทำกรรมนั้นๆ ไม่ว่าดีหรือชั่วนั่นแหละเป็นตัวกรรม ผลของกรรมดีและกรรมชั่วก็จิตของผู้นั้นได้เสวย คนอื่นจะเสวยแทนไม่ได้

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 20:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b53: :b53: :b53:

อุบาสิกาคนหนึ่งถามว่า

(๓) ถาม ทำบุญอะไร มากและน้อยอย่างไร จึงจะได้บุญมาก
(๓) ตอบ ทำบุญอย่างหนึ่ง ทำทานอย่างหนึ่ง ทำกุศลอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน
แต่ลงที่เจตนาอันเดียวเป็นรากฐาน


ทำบุญ นั้น มีเจตนาศรัทธาเป็นทุนก่อน จะมีวัตถุหรือไม่ก็ตาม ศรัทธานั้นเต็มเปี่ยมบริบูรณ์อยู่ในใจแล้ว ยิ่งมีวัตถุสิ่งของเป็นเครื่องแสดงให้ไปก็ยิ่งเพิ่มศรัทธาขึ้นเป็นทวีคูณ นี่เรียกว่า บุญ บุญคือ ความยินดีในสิ่งที่ตนให้แล้วเกิดเต็มเปี่ยมขึ้นมาในใจ

ทำทาน นั้น จะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม คิดจะให้แล้วก็ให้ไปเลย ไม่ว่าสิ่งของอะไรทั้งหมด ถ้ามีเจตนาศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลผู้รับและสิ่งที่ตนให้นั้น หรือเอ็นดูต่อบุคคลผู้รับนั้นแล้วให้ไปเรียกว่า ทาน สมดังคำว่า ทานํ เทติ เทก็หมายความว่า เทให้ ทอดให้ ให้สิ่งของจึงเรียกให้

สรุปได้ว่า ทำทาน คือ ให้สิ่งของพัสดุนั้นไม่ว่ามากหรือน้อยหยาบหรือละเอียด ไม่ปรารถนาผลตอบแทน แต่มีเมตตาจิตเป็นพื้นฐานแม้ที่สุดให้ด้วยแก้ความรำคาญ เรียกว่า ทำทาน

การทำบุญนั้น ต้องมีเจตนาศรัทธาเป็นพื้นฐาน ก็การให้นั่นแหละเรียกว่า ทำบุญ จะให้สิ่งของอะไรมากและน้อย หยาบและละเอียดก็ตาม ให้แล้วหวังผลตอบแทน เช่น ปรารถนาว่า ด้วยอำนาจอานิสงส์ที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญแล้วในครั้งนี้ ของให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติเป็นต้น

การกุศล นั้นคือ ทำบุญทำทานนั่นเอง แต่เป็นกุศโลบายของท่านผู้รู้ทั้งหลายที่จะให้พ้นจากความยากและความหิวทั้งปวงทำไปเพื่อให้ใจผ่องใสสะอาดไม่พึงปรารถนาสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่จิตคิดจะทำภาวนาสมาธิก็เช่นเดียวกัน

ทำบุญ ทำทาน ทำกุศล ไม่ว่ามากหรือน้อย วัตถุมิใช่ตัวบุญแท้ ตัวบุญแท้มันเกิดที่หัวใจ คือ เจตนาของบุคคลนั้นต่างหาก ถ้าเจตนาศรัทธาในขณะใด ในบุคคลใด ในสถานที่ใด ในที่นั้นๆ ได้บุญมาก ฉะนั้น บุญในพุทธศาสนานี้คนทำจึงไม่รู้จักหมดจักสิ้นสักที พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้สองพันกว่าปีแล้วว่า ทำบุญได้ บุญเช่นไร มาในปัจจุบันนี้หรือในอนาคตต่อไปก็ได้อย่างนั้นเช่นเคย คนทำบุญมากเท่าไรก็จะได้บุญมากเท่าที่ตนนั้นสามารถจะรับเอาไปได้ เหมือนกับคนนับเป็นหมื่นๆ แสนๆ ถือเทียนมาคนละเล่มไปขอจุดจากผู้ที่มีเทียนที่จุดอยู่แล้ว ย่อมได้แสงสว่างตามที่ตนมีเทียนเล่มโตหรือเล่มเล็ก ส่วนดวงเดิมที่ตนขอจุดต่อนั้นก็ไม่ดับเทียนหลายดวงยิ่งเพิ่มแสงสว่างยิ่งๆ ขึ้นไปอีก :b43:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 22:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b47: ครูโรงเรียนคนหนึ่งได้ถามปัญหาผู้เขียน มานานแล้ว แต่ปัญหานั้นผู้เขียนเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป จึงได้นำมาลงไว้ ณ ที่นี้


(๔) ถาม ผู้ไม่มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือมีแต่ไม่ครบทั้งหมด จะทำสมาธิภาวนาให้แน่วแน่เต็มที่ได้หรือไม่

(๔) ตอบ ปัญหานี้กว้างขวางมาก จะขอตอบแต่เฉพาะข้อแรก คือข้อที่ว่ามีศีล ๕ แต่ไม่ครบทั้ง ๕ ข้อ จะทำสมาธิภาวนาได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้แน่นอน เพราะศีล ๕ ข้อ แต่ละข้อจะล่วงละเมิดได้ก็เพราะเจตนา เจตนาเป็นตัวศีล ๕ ข้อนั้นเป็นแดนให้เกิดโทษต่างหาก ถึงผู้นั้นจะไม่มีเจตนาที่จะรักษาศีลเลย ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ในเบื้องต้น แต่เมื่อภาวนาเป็นแล้ว ศีลเข้าถึงจิต ตัวเจตนาในศีลข้อนั้นๆ ศีลจะสมบูรณ์ขึ้นมาเอง คราวนี้ไม่ต้องสมาทานและไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวของเราเอง ธมฺโว หเว รกฺขติ ธมฺมจาริ  ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ผู้ปฏิบัติธรรมดีแล้วย่อมนำสุขมาให้

ครูผู้นั้นแกบอกว่า บางคนพูดว่าศีลและสมาธิไม่ต้องเจริญเพราะเป็นของภายนอกเจริญวิปัสสนาเอาเลยทีเดียว ผู้เขียนอยากจะร้องขอว่า คำๆ นั้นอย่าได้เอามาพูดเลยในที่นี้ เพราะเป็นวังคศาสนาไม่ใช่สัตถุศาสนา ถ้าจะสอนให้คนปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงแล้ว จงสอนตามแนวคำสอนของพระองค์เถิด พระองค์สอนว่า สิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางดำเนินในพุทธศาสนา มรรค ๘ ก็รวมลงใน ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ ผู้เจริญศีลให้มากแล้วมีสมาธิเป็นอานิสงส์มาก สมาธิเมื่อเจริญให้มากแล้วมีปัญญาเป็นอานิสงส์มาก เมื่อมีปัญญาแล้วจะทำให้จิตใจพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวงได้ คำสอนของพระองค์บ่งชัดอยู่อย่างนี้ จะสอนนอกลู่นอกทางไปทำไม ผู้พูดอย่างนั้นคือ ผู้ที่ไม่เคยรักษาศีลเลย หรือรักษาศีลไม่ได้จึงพูดอย่างนั้น

ศีลห้า เป็นรากฐานของการกระทำกรรมต่างๆ ไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีต้องเว้นจากโทษห้านี้ ข้ออื่นๆ เป็นเรื่องปลีกย่อยออกไปจากศีลห้าทั้งนั้น เมื่อไม่มีศีล ๕ ข้อนี้กำกับอยู่กับใจแล้ว ความชั่วนอกนั้นทั้งหมดจะหลั่งเข้ามาครองใจ ความดีทั้งปวงไม่สามารถจะทำให้เกิดมีขึ้นมาได้ ถึงทำให้เกิดมีขึ้นมาได้ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นาน ไม่ต้องพูดถึงสมาธิ สมาบัติ ปัญญาหรอก

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 22:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b45: ข้าราชการผู้ใหญ่จากกระทรวงศึกษาคนหนึ่งถามว่า

(๕) ถาม มีสำนักปฏิบัติมากในสมัยนี้ เมื่อเข้าไปศึกษาแต่ละสำนักก็สอนไม่เหมือน
กัน เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติลังเลใจไม่ทราบว่าจะปฏิบัติตามแบบสำนักไหนดีจึงจะถูกต้อง
(๕) ตอบ น่าเห็นใจมากสำหรับผู้ฟังเฉยๆ จะลังเลอยู่เลยไม่ทราบจะปฏิบัติตามสำนักไหน แต่สำหรับผู้ปฏิบัติมาแล้วย่อมได้รับรสชาติต่างๆ แล้วเลือกเอาแต่สิ่งที่เห็นว่าสมควรเหมาะสมกับอัธยาศัยของตน ยังจะเป็นประโยชน์ให้เพิ่มความรู้อีกด้วย อาจารย์แต่ละองค์ท่านปฏิบัติมาแคล่วคล่องทางไหนก็สอนไปในทางนั้น เพราะท่านเห็นว่าถูกที่สุดดีที่สุดแล้ว ทั้งๆ ที่ท่านสอนอยู่นั้น (บางสำนักก็ไม่มีในคัมภีร์พุทธศาสนาด้วย) สอนเอาตามความเห็นของท่าน แต่ก็ยังดีมีคนปฏิบัติตามมากเหลือหลาย ทำให้คนละชั่วทำดีได้อักโข แต่บางองค์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พอได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ได้ความรู้ความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ หรือศึกษาจากตำราแล้วก็เอาไปสอนเลย ตัวเองยังไม่ได้ฝึกหัดอบรมให้เป็นไป หรือฝึกหัดอบรมพอเป็นไปบ้าง แต่ยังไม่ชำนาญเพียงพอ แล้วก็ไปตั้งสำนักฝึกหัดอบรมลูกศิษย์ พอลูกศิษย์เป็นสมาธิภาวนามีนิมิตเห็นสิ่งต่างๆ ก็ชมเชยสรรเสริญว่านั้นถูกแล้วดีแล้วอะไรต่างๆ นานา เลยทำให้เขาเกิดวิปริตเสียผู้เสียคนไปก็มาก

การฝึกหัดสมาธิภาวนาเป็นการฝึกหัดใจ ซึ่งเป็นของไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เหมือนการสอนหนังสือ ต้องฝึกหัดด้วยตนเองให้ชำนิชำนาญรู้จักเล่ห์กลมารยาของใจเสียก่อน จึงจะฝึกหัดคนอื่นได้ถูกต้อง เวลาลูกศิษย์เป็นไปต่างๆ จึงจะสามารถแก้ไขเขาได้ เพราะนิสัยของคนเราเป็นไม่เหมือนกัน บางคนก็ชอบสงบซึมเซ่อ บางคนก็ชอบเห็นโน้นเห็นนี่ เมื่อเขาไปพูดให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็เห็นเป็นของแปลกและน่าอัศจรรย์ อาจารย์ไม่เคยเป็นและไม่เคยเห็นก็ชมเชยว่านั้นถูก ดีแล้วอะไรไปตาม ทำนองนี้ ลูกศิษย์ก็ยิ่งได้ใจใหญ่ทำให้เสียคน เป็นเหตุให้คนอื่นซึ่งจะเริ่มทำหรือยังไม่เคยทำเลยก็กลัวกันใหญ่ พุทธศาสนานี้สอนให้คนดี มิใช่สอนให้คนเป็นบ้า แต่ผู้สอนเองสอนไม่ถูกทางจึงทำให้คนเป็นบ้า ไม่เหมือนสอนหนังสือสอนผิดแล้วลบได้เขียนใหม่

(๖) ถาม ท่านปฏิบัติอยู่นี้เชื่อว่าถูกหนทางอยู่แล้วหรือ มีอะไรเป็นเครื่องวัด
(๖) ตอบ ผู้เขียนเชื่อว่าถูกทางแล้วเพราะปฏิบัติมา ๖๐ กว่าปียังไม่เคยท้อถอย และครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติเช่นนี้มาหลายชั่วคนแล้ว อนึ่ง การปฏิบัตินั้นก็ไม่ผิดจากศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ และการปฏิบัตินั้นก็มิใช่เพื่อเห็นแก่ตัว ปฏิบัติเพื่อละสิ่งที่ชั่วจริงๆ แล้วตัวเองก็เห็นด้วยใจของตัวเองจริงๆ ว่าสิ่งที่ชั่วนั้นค่อยหายไปโดยลำดับ แต่การที่ถูกมากถูกน้อยมันเห็นด้วยใจของตนเอง คนอื่นจะตัดสินให้ไม่ได้

(๗) ถาม ปฏิบัติแบบไหนที่เรียกว่าถูกแล้ว แบบยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอรหัง หรือ อานาปานสติ หรือพุทโธ
(๗) ตอบ ถูกด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ตั้งสติกำหนดอารมณ์ของบริกรรมนั้นๆ ให้มั่นคง จนกระทั่งจิตเป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์ นั้นๆ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อจิตรวมลงเต็มที่แล้ว คำบริกรรมที่บริกรรมอยู่นั้นก็จะหายหมด จะยังเหลือแต่จิตตัวเดียว เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นแต่เครื่องล่อให้จิตรวมเข้ามาเท่านั้น การบริกรรมก็คือต้องการให้จิตรวมเข้าอยู่ที่เดียว เมื่อรวมเข้ามาอยู่ในที่เดียวกับจิตได้แล้วคำบริกรรมนั้นไม่มีปัญหา จะใช้คำบริกรรมอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ได้เหมือนกัน ผู้ไม่เข้าใจถือเอาแต่คำบริกรรมนั้นเป็นหลัก จิตจึงไม่ก้าวหน้า

(๘) ถาม จิตที่ตั้งสติให้มั่นกำหนดให้เป็นอารมณ์อันเดียวอย่างที่ท่านว่านี้เห็นท่านจะได้แล้ว
(๘) ตอบ ถ้าผู้เขียนได้แล้วก็ไม่ต้องทำอย่างนั้นอีกต่อไป ถ้าไม่เห็นการกระทำอย่างนี้อยู่นานตั้ง ๖๐ กว่าปี ก็ไม่มีประโยชน์อะไร การภาวนามันพูดถึงเรื่องของจิต จิตเป็นของไม่มีตัวมีตนถ้าพูดว่าจิตเรา เรารักษาได้แล้วใครจะไปเชื่อ มิใช่เหมือนกับวัว ควายผูกจูงมาให้ดูกันได้ ถึงวัวควายก็เอาเถิด จะผูกจะจูงมาได้ก็แต่ตัวของมันเท่านั้น ส่วนจิตใจของมันจะมาด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบ มันอาจจะหากินหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าที่ไหนก็ไม่ทราบ :b44:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 22:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: สตรีชาวกรุงเทพ ฯ คนหนึ่งเป็นนักภาวนา ได้เที่ยวแสวงหา ครูบาอาจารย์มาหลายสำนักแล้วถามว่า

(๙) ถาม นั่งสมาธิภาวนาจระเข้กบดาน จะแก้ไขได้อย่างไร
(๙) ตอบ เอ๊ะ คำๆ นี้ชอบกลแฮะ ไม่เคยได้ยิน ขอให้อธิบายให้ฟังอีกที คำที่ว่านั่งสมาธิภาวนาจระเข้กบดานนั้น คือ ทำอีท่าไหน นอนพังพาบลงแล้วเหยียดสี่ขาดังจระเข้นั้นหรือ จึงเรียกว่า จระเข้กบดาน อันนั้นก็มิใช่นั่งสมาธิ มันเป็นการนอนเสียแล้ว คนสมัยนี้บัญญัติศัพท์แปลกๆ ชอบกลๆ เราตามเขาไม่ทัน

เขาได้อธิบายว่า เวลานั่งสมาธิภาวนาแล้วจิตมันรวมลงนิ่งแน่วแน่อยู่คนเดียวไม่มีความรู้สึกอะไรเลย นั่นเรียกว่า นั่งสมาธิภาวนาจระเข้กบดาน ผู้เขียนบอกว่า อ๋อ ถ้าอย่างนั้นเข้าใจ บอกว่านั่งสมาธิมันหลับทั้งนั่งก็หมดเรื่องไป งงอยู่ตั้งนาน

มันเป็นอย่างนี้ คือผู้นั่งสมาธิจะให้คำบริกรรมอะไรก็เอาเถิด เมื่อภาวนาไปๆ จิตจะรวมลงไม่มีสติ แล้วหายเงียบไป บางคนก็ตั้งนานหลายชั่วโมง บางคนตลอดคืนก็มี บางคนเลยนอนหลับไปไม่รู้ตัว พอตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่าตนนอนหลับเสียแล้ว ทั้งหมดนี้พอรู้ตัวก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เป็นแต่พักกายพักจิตเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ดีกว่าจิตที่ฟุ้งซ่านไม่มีขอบเขต สำหรับผู้ทีมีจิตฟุ้งซ่านมากนอนไม่หลับ หัดสมาธิภาวนาจระเข้กบดานได้แล้วดีมากทีเดียว

ยังมีอีกชนิดหนึ่งเมื่อจิตรวมลงไปอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อรวมลงแล้วอารมณ์ภายนอกไม่เกี่ยวทั้งหมด เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอกหายไปหมด จะเหลือแต่อารมณ์ภายใน (เรียกว่า อายตนะภายใน) อารมณ์ภายในนี้ก็เหมือนกับอารมณ์ภายนอกนี่แหละ แต่มันมีรสชาติละเอียดกว่า เมื่อเข้าไปถึงนั้น แล้ว ชมรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสนุกสนานมากเมื่อจิตถอนออกมาจากนั้นแล้ว สัมผัสกิเลสและอารมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่เช่นไรก็มีอยู่เช่นเคย หาได้ทำให้เบาบางลงไม่ ซ้ำร้ายกว่านั้นอีกเมื่อผู้เข้าไปอยู่นานๆ หรือเข้าไปบ่อยๆ เวลาออกจากนั้นแล้ว จะรู้สึกซึมเซ่อเห็นอะไรเป็นของแปลกไปหมด ขี้โกรธ หงุดหงิด ไม่อดทนต่ออารมณ์ ถ้าเป็นฆราวาสมักทะเลาะกับครอบครัวบ่อยๆ ถ้าเป็นพระเป็นเณรอยู่กับหมู่เพื่อน เพื่อนๆ จะเอาใจยากที่สุด อันนี้จะเรียกว่า สมาธิจระเข้ขังกรงหรืออะไร

อนึ่ง เมื่อจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว มีสติรู้ตัวอยู่จะพิจารณาอะไรก็ได้ จะไม่พิจารณาเลยอยู่เฉยๆ ก็ได้ สติ สมาธิมันหากอยู่ตามสภาพของมันเอง อันนี้จะเรียกว่า สมาธิภาวนาจระเข้เป็นอิสระก็ได้ ถ้าหากภาวนาสมาธิเข้าไปเห็นตัวจระเข้ (คือจิตแล้ว) จระเข้มันจะแสดงอาการต่างๆ ร้อยแปด ขอแต่ให้ผู้ภาวนาอย่าได้ทิ้งตัวจระเข้ก็แล้วกัน ปัญญาหากจะเกิดขึ้นก็เกิดในที่นั้น ไม่ต้องไปหาปัญญาในที่อื่น


:b39: อุบาสิกาคนหนึ่งมีวัยประมาณ ๖๐ กว่าปีแล้ว แกไปปฏิบัติอยู่วัดหินหมากเป้งเสมอๆ อยู่มาแกสมาทานมังสาวิรัต แล้วชักชวนผู้เขียนทำอย่างแกบ้าง ผู้เขียนบอกว่า เมื่อผู้เขียนทำอย่างนั้นแล้วเขาต้องตามปฏิบัติผู้เขียนนะ เพราะผู้เขียนหากินเองอย่างเขาไม่ได้ เขาได้ถามปัญหาว่า

(๑๐) ถาม รับประทานมังสาวิรัตผิดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือ
(๑๐) ตอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตก จะต้องอธิบายกันมากจึงจะเข้าใจ คนเกิดมาในโลกนี้ทั้งหมด ล้วนแล้วแต่กินเลือดเนื้อของผู้อื่นทั้งสิ้น เดิมแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็กินอาหารของมารดาที่ซึมซาบเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายจึงเติบโตขึ้นมาได้ คลอดออกมาแล้วจนเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เช่นนั้นเหมือนกันพึ่งมาปฏิวัติรับประทานมังสาวิรัตเมื่อโตขึ้นมานี่เอง เรื่องนี้จึงเป็นความฝ่าฝืนความรู้สึกของคนส่วนมาก เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าของเรายังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระเทวทัตก็เคยเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาให้พระพุทธองค์ได้ทรงอนุมัติแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ไม่ทรงอนุญาต จึงได้ประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า พระสงฆ์องค์ใดเห็นดีกับเราก็ไปกับเราภิกษุที่บวชใหม่ยังไม่รู้ธรรมวินัยจึงได้ติดตามพระเทวทัตไป นั่นก็โลกแตกครั้งหนึ่งล่ะ ผลที่สุดพระเทวทัตถึงแก่มรณภาพไป พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นเห็นความอาฆาตของพระเทวทัตซึ่งมีต่อพระพุทธเจ้า จึงกลับเข้ามาหาพระพุทธเจ้าอีก ฉะนั้น พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัททั้งหลายจึงไม่ควรยกเอาคำนี้ขึ้นมากล่าวอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า มันจะเป็นเหตุให้สงฆ์แตกแยกกัน ส่วนฆราวาสนั้นก็ปล่อยเขาตามเรื่อง ถ้าหากรับประทานมังสาวิรัตเฉพาะตนเพื่อทรมานตน เพราะจิตใจของตนมันชอบการทรมานอย่างนั้นก็สมควรอยู่ ถ้าอ้างว่ามังสาวิรัตเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ผู้เขียนก็ขอร้องเถิด มันจะกลายเป็นวังคศาสนาไป มิใช่สัตถุศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้า แท้จริงมังสาวิรัตนี้พระพุทธเจ้าของเราท่านก็รู้ดีเหมือนกันว่าคนในสมัยนั้นเขานิยมกันขนาดไหนและเขาปฏิบัติกันได้ มากน้อยเพียงใด พระองค์จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุฉันเนื้อได้โดยปราศจากโทษ ๓ ประการ
๑. โดยไม่ได้ใช้ให้เขาฆ่ามาเพื่อตน
๒. โดยไม่ได้เห็นได้ยินเขาฆ่าเพื่อตน
๓. โดยไม่สงสัยเขาจะฆ่าเพื่อให้ตน
เมื่อพ้นจาก โทษ ๓ ประการนี้แล้วฉันได้

ถึงเราจะกินและไม่กิน ทั้งโลกนี้โดยส่วนมากเขาก็ฆ่ากันอยู่อย่างนั้น พระยังชีพเนื่องด้วยคนอื่น ถ้าไปในถิ่นที่เขารับประทานเนื้อ พระที่ฉันมังสาวิรัตก็จะอยู่ด้วยกับเขามิได้ และคนที่จะฟังคำสอนของพระพุทธเจ้ามิใช่มีแต่พวกมังสาวิรัต มีทั้งมังสาวิรัตและรับประทานเนื้อด้วย คนเหล่านั้นถ้าหากฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าใจดีแล้วก็จะไม่เป็นอุปสรรคแก่กันและกัน สำหรับพระภิกษุพระวินัยสิกขาบทของพระยังมีมากที่ยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนไม่ควรเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มายกโทษซึ่งกันและกัน
ผู้เขียนจะยกเรื่องพระคณาจารย์ฉันมังสาวิรัตองค์หนึ่งมาเล่าสู่ให้ฟัง เมื่อราว ๔๐ กว่าปีมานี้เอง ทีแรกท่านก็ฉันตามธรรมดาๆ อย่างเราท่านทั้งหลายฉันกันอยู่อย่างนี้แหละ เมื่อพระโลกนารถเข้ามาเมืองไทยมีคุณนายคนหนึ่งไปเรียนกินเจกับพระโลกนารถแล้วทำถวายท่าน ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากหลาย ลูกศิษย์เหล่านั้นก็เลยทำตามพระองค์นั้น ต่อมาท่านชักชวนหมู่เพื่อนให้ทำตาม เมื่อหมู่เพื่อนไม่ทำตามก็หาว่าย่อหย่อนต่อการปฏิบัติ ท่านก็เลยดีคนเดียว หมู่เพื่อนคบค้าสมาคมไม่ได้ ลูกศิษย์ลูกหาค่อยๆ หายไปๆ จะไปรุกขมูลทางไหนต้องให้พระล่วงหน้า ไปก่อน บอกชาวบ้านว่าท่านอาจารย์ท่านฉันเจ ต้องจัดหาอาหารอย่างนั้นๆ เว้นอย่างนั้นๆ ท่านถึงจะฉันได้ เวลาเข้าไปบิณฑบาตในบ้านที่เขาไม่รู้ เขาเอาห่อเนื้อมาใส่บาตรให้ ท่านก็จับเอาของเขาปาทิ้งเสีย ทีหลังเขาเลยพากันไม่ใส่บาตร เห็นท่านเดินมาเขาพากันมองหน้าท่านเป็นแถวเลย อย่างนี้เขาเรียกว่า ทำเกินควร ไม่สมแก่สมณะสารูปผู้สำรวมเลย เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วก็ไม่มีใครปฏิบัติต่อ

พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ธรรมอย่างยิ่งทั้ง ๔ อย่างนี้เราได้ทำมาแล้ว ซึ่งไม่มีใครจะทำได้เหมือนเรา แต่ก็ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้ ธรรม ๔ อย่างเป็นไฉน ธรรม ๔อย่าง คือ

เกลียดอย่างยิ่ง ๑ กลัวอย่างยิ่ง ๑ ระวังอย่างยิ่ง ๑ ตบะอย่างยิ่ง ๑

เกลียดอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ เห็นร่างกายของตนและของคนอื่นเป็นของน่าเกลียด และทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้เป็นของน่าเบื่อหน่ายแทบจะอยู่ไม่ได้เสียเลย นั่นเรียกว่า เห็นหน้าเดียว คนทั้งโลกพร้อมด้วยตัวของเราทำไม่จึงอยู่มาได้จนบัดนี้ เขาโง่หรือตัวเราโง่ ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นสภาพตามความเป็นจริงแล้วเกิดสลดสังเวชเบื่อหน่าย ถอนความยินดีในโลกด้วยอุบายแยบคายอันชอบแล้ว

กลัวอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ กลัวบาปอกุศลแม้แต่อาบัติเล็กๆ น้อยๆ ก็กลัว เป็นต้นว่าจะยกย่างเดินเหิรไปมาที่ไหนก็กลัวจะไปเหยียบมดและตัวแมลงต่างๆ ให้ตายเป็นอาบัติ นั่นเรียกว่า ระวังส่งออกไปนอก พระวินัยท่านสอนให้ระวังที่ใจถ้าไม่มีเจตนาแกล้งทำให้ล่วงเกินก็ไม่เป็นอาบัติ

ระวังอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ สังวรกาย วาจา ใจ ไม่ให้เกิดกิเลสบาปอกุศลทั้งหลาย ซึ่งมันล่องลอยมาตามอายตนะทั้ง ๖ นี้ ระวังจนไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยินสิ่งต่างๆ จนเข้าไปอยู่ในป่าคนเดียวเวลาเข้าไปบิณฑบาตในบ้านก็เอาตาลปัตรบังหน้าไว้ กลัวมันจะเห็นคน อย่างนี้เขาเรียกว่า ลิงหลอกเจ้า กิเลสมันไม่ได้เกิดขึ้นที่อายตนะ แต่มันจะเกิดที่ใจต่างหาก ขอโทษเถิด คนตายแล้วให้ผู้หญิงคนสวยๆ ไปนอนด้วย มันก็นิ่งเฉย ผู้หญิงที่ไปนอนกลับกลัวเสียอีก

ตบะอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ นักพรตที่ทำความเพียรเร่งบำเพ็ญตบะธรรมที่จะให้พ้นจากทุกข์ในเดี๋ยวนั้น ทำความเพียรตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ไม่คิดถึงชีวิตชีวาเลย เหมือนกับกิเลสมันเป็นตัวเป็นตนวิ่งจับผูกเอามาได้ฉะนั้น แท้จริงกิเลสมันวิ่งเข้ามาซุกอยู่ในความเพียร (คือ ความอยากพ้นจากทุกข์) นั่นเอง ไม่รู้ตัวมัน ความอยากทำให้ใจขุ่นมัว น้ำขุ่นทำให้ไม่เห็นตัวปลา ถึงแม้น้ำใสแต่ยังกระเพื่อมอยู่ก็ไม่เห็นตัวปลาเหมือนกัน

ความเกลียด ความกลัว ความระวัง และตบะอย่างยิ่งทั้ง ๔ อย่างนี้ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าไม่เป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์ทั้งปวง จึงละเสีย แล้วทรงปฏิบัติทางสายกลางจึงทรงสำเร็จพระโพธิญาณ สิ่งใดมันไม่พอดี สิ่งนั้นมันก็ไม่งาม เขาจึงเรียกว่า ไม่พอดีไม่พองาม เช่น รถ เรือ ล้อ เกวียน บรรทุกเกินน้ำหนักของมันมันเป็นอันตราย บางทีถึงกับล่มจมหรือหักก็ได้ มันไม่งาม

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2009, 00:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณ Bwitch

ขอบคุณธรรมดีดีที่นำมาฝากค่ำคืนนี้

ธรรมะสวัสดีค่ะ

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2009, 20:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b46: มีพระบวชใหม่หลายรูป มีทั้งนักศึกษาและมิใช่นักศึกษาพากันสนทนาปรารภถึงเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องพระศาสนาเสื่อมและไม่เสื่อม ภิกษุปฏิบัติไม่เหมือนกัน สมัยก่อนพระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยไว้น้อย แต่ผู้บวชมาในพุทธศาสนาได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นส่วนมาก เดี๋ยวนี้พระวินัยมีมาก แต่ผู้ปฏิบัติได้สำเร็จมรรคผลพระนิพพานมีน้อย ดังนี้เป็นต้น ผู้เขียนเดินกรายไปในกลุ่มพระเหล่านั้น ได้ยินแล้วชอบกล พระเหล่านี้บวชใหม่แต่ยังสนใจในพุทธศาสนา ผู้เขียนไม่ได้เข้าร่วมวงกับพระเหล่านั้นแต่มาคำนึงถึงปัญหาเหล่านั้นแล้ว คิดว่าน่าจะนำเอามาตอบไว้ในที่นี้เพื่อจะได้ฟังกันให้เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป สรุปรวมปัญหาแล้วมีดังนี้

(๑๑) ถาม พระพุทธศาสนาในสมัยนี้เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ทำไมพระพุทธศาสนาเหมือนกันจึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน

(๑๑) ตอบ พระพุทธศาสนาในสมัยนี้จะว่าเสื่อมก็เสื่อมจะว่าเจริญก็เจริญ ความเสื่อมและความเจริญมิได้อยู่ที่คนนั่งพูด ยืนพูด แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัตินั้นต่างหาก พุทธศาสนาสอนให้คนปฏิบัติตาม ถ้าผู้นั้นปฏิบัติตามหรือหลายๆ คนปฏิบัติตามแล้ว พุทธศาสนาก็ได้ชื่อว่าเจริญในบุคคลนั้นหรือในหมู่ในคณะนั้นๆ คนเรียนมากๆ รู้มากพูดมาก แต่ตัวเองไม่ถึงพระไตรสรณคมน์ ศีล ๕ ศีล ๘ และสมาธิก็ไม่ทำ จะได้ชื่อว่ายังพุทธศาสนาให้เจริญไปได้อย่างไร สู้คนที่ไม่ได้เรียนเลย แต่เขาตั้งใจปฏิบัติและเห็นศีลธรรมด้วยตนเองไม่ได้ เหมือนคนที่มีจอบอยู่ในมือแล้วอวดอ้างว่า ฉันมีจอบแล้ว หญ้าฉันไม่กลัวเอาให้เตียนราบเลย กับคนที่ไม่ไดพูด แต่เขาดายหญ้าให้เตียนเลย คนไหนจะดีกว่ากัน

พระพุทธศาสนาสอนกว้างขวาง สอนให้คนละความชั่ว ทำดีด้วยตนเอง แล้วชำระใจให้สะอาด ไม่ว่าใครคนใด คณะใดหมู่ใดจะอยู่ในที่เช่นไรก็ตาม ถ้าหากทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลัก ๓ ประการนี้แล้ว ก็ชื่อว่าทำถูกทำตามคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่ที่จะถูกมากถูกน้อยเอาไว้อีกเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเที่ยวออสเตรเลียกับเขาหนหนึ่ง มีสวามี ๒ คน เป็นหัวหน้าสอนศาสนาฮินดู คนหนึ่งบวชอย่างพระธิเบต คนหนึ่งไม่ได้บวชแต่ยังไม่มีเมีย ทั้ง ๒ คน ถือเพศพรหมจรรย์ อายุ ๖๐ และ ๘๐ กว่าปี แกได้ไปศึกษาในประเทศอินเดียกับ ๖ อาจารย์มาแล้ว ทั้ง ๒ คนได้มาเยี่ยมผู้เขียนถึงที่อยู่ แต่มาคนละวันกัน ที่เป็นพระมาก่อนพอเห็นหน้าผู้เขียนก็แสดงความยินดียกมือไหว้ไม่ถือตัวผู้เขียนจึงถามถึงศาสนาฮินดู แกบอกว่าเหมือนกันทุกศาสนา เมื่อถามถึงปฏิปทาของแก แกบอกว่า เมื่อใช้คำว่า โอมะ เป็นคำบริกรรมแล้วจิตก็จะค่อยสงบลง ต่อจากนั้นก็จะเห็นพระเจ้ามาสอนเป็นเรื่องๆ ไป คือสอนให้ละสิ่งนั้นๆ ไม่ดีอย่ากระทำ และสอนให้ทำสิ่งที่ควรกระทำ (พุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมเป็นเครื่องสอน ธรรมเป็นของไม่มีตัวตน เขาถือพระเจ้า เลยหาว่าพระเจ้ามาสอน ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติดีแล้วไม่ให้ตกไปในที่ชั่วหรือเรียกว่า รูปฌาน) เมื่อจิตสงบเต็มที่แล้ว พระเจ้าก็ไม่มาสอนจิตนิ่งเฉย เหมือนน้ำในแม่น้ำไม่มีคลื่นฉะนั้น นั่นถึงพระเจ้าอย่างนิรันดร (พุทธศาสนาเรียกว่า อรูปฌาน) ผู้เขียนถามถึงเรื่องเผยแพร่ศาสนาได้ผลอย่างไร แกบอกว่าเหมือนกับศาสนาทั่วไปมีคนมาอบรมมากบ้างน้อยบ้าง ผู้ที่มาถ้าหากอบรมได้ความสงบดีก็ไม่อยากจะกลับบ้าน ถ้าไม่สงบก็อยากจะกลับบ้าน เมื่อกลับแล้วก็ไม่เห็นหน้าอีก ดูเหมือนแกจะรู้เรื่องของศาสนานั้นๆ ดี แกยังพูดว่า คนในสมัยนี้พูดยาก ไปเอาแต่เรื่องวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาอ้าง มันจึงทำสมาธิไม่เป็น ไม่เห็นพระเจ้า เมื่อเห็นพระเจ้าแล้วก็สอนง่าย ผู้เขียนถามถึงเรื่องคำว่าสวามี ใครเป็นคนตั้งให้แกบอกว่ามันเป็นเอง เราสอนเขา เขาก็นิยมนับถือ เขาก็เรียกเองเมื่อได้เวลาแล้วแกยกมือไหว้ผู้เขียน ผู้เขียนจับมือแกแล้วบอกว่าขอขอบใจที่ได้มาเยี่ยมและได้สนทนาธรรมกัน แกบอกว่า ไม่ต้องขอบใจ เราเป็นกันเอง เราลูกศิษย์พระเจ้าอันเดียวกัน (เขาถือว่าพระโมหะหมัด พระเยซู และพระพุทธเจ้าของเราเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าอวตาลลงมาเกิด เหตุนั้นแกจึงพูดว่าเราเป็นกันเองมีพระเจ้าองค์เดียวกัน)

สวามีคนที่สองที่ไม่ได้บวชเป็นพระ ก็พูดในทำนองเดียวกันนี้ แต่คนนี้แกไม่ได้เห็นพระเจ้ามาสอน เป็นแต่ทำความสงบและสงบมากเสียด้วยจนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างหายเงียบไปหมดเมื่อผู้เขียนถามถึงการเผยแพร่ศาสนา ก็พูดอย่างเดียวกัน เมื่อผู้เขียนถามถึงการบวช แกบอกว่า บวชหรือไม่บวชก็เหมือนกัน ถ้าเราทำดีแล้ว อบรมตนให้เข้าถึงพระเจ้าแล้วก็ใช้ได้เหมือนกัน เมื่อผู้เขียนถามถึงอาชีพแกบอกว่าไม่ได้ทำมาค้าขายอะไร แต่ลูกศิษย์ผู้ที่เสื่อมใสศรัทธาเขาให้คนละเล็กละน้อย เราไม่ขอเขาการไปไหนการมาไหนก็เหมือนกัน เขาหากให้เอง

การปฏิบัติถ้าหากเข้าถึงจิตใจแล้วไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติตระกูลอะไรอยู่ ณ ที่ไหน นับถือศาสนาใดก็ตาม ย่อมเข้าถึงธรรมด้วยกันทั้งนั้น แต่จะให้เข้าถึงมากหรือน้อยนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะตัดสินเอาเองและเข้าถึงธรรมแล้วจะไม่ข่มขู่เหยียดหยามสับโขกซึ่งกันและกัน ถ้ามีการข่มขู่เหยียดหยามสับโขกซึ่งกันและกันอยู่ ผู้นั้นได้ชื่อว่ายังไม่เข้าถึงธรรมของจริงแท้ ดูตัวอย่างสวามีผู้เป็นหัวหน้าสอนศาสนาฮินดูทั้งสองคนที่นำมาเล่าให้ฟังนั้น อยู่คนละฟากฟ้า และทั้งไม่ใช่ศาสนาอันเดียวกับผู้เขียน พอเห็นผู้เขียนก็ยกมือไหว้อย่างสนิทไม่เก้อเขินและคุยเรื่องการภาวนาอย่างสิ้นเชิง ไม่เหมือนคริสต์และอิสลามในบ้านเราบางคนและบางหมู่

ที่ว่าพระในพุทธศาสนาอันเดียวกัน ทำไมจึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน ผู้เขียนก็ขอตอบว่าเรียนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อไม่เข้าใจไม่ได้สอบถามจากผู้รู้ทั้งหลายให้เข้าใจถี่ถ้วนเสียก่อน และยังไม่ได้ปฏิบัติให้เข้าใจถึงเนื้อความอันนั้นด้วย เมื่อไม่เข้าใจก็แสดงว่าความเข้าใจนั้นยังคลาดเคลื่อนอยู่ ผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นำเอาคำสอนนั้นๆ ไปสอนแก่คนอื่นก็คลาดเคลื่อนเรื่อยไป จึงเป็นเหตุให้ปฏิบัติผิดแผกแตกต่างกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนใดเข้าใจว่าตนเป็นผู้ฉลาดแล้ว คนนั้นเป็นคนโง่โดยแท้ คนใดยังเห็นว่าตนยังเป็นคนโง่อยู่ คนนั้นเป็นผู้ฉลาดอยู่บ้าง คนเราชอบเรียนแต่ความฉลาด เพราะมีหลักสูตรเรียนจบแล้วเขาให้ประกาศนียบัตร แต่คนไม่ชอบเรียนโง่ เพราะไม่มีหลักสูตร เรียนจบหรือไม่จบ จะรู้ด้วยใจของตนเอง :b51: :b51: :b53:

(๑๒) ถาม สมัยก่อนพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทวินัยมีน้อย แต่มีพระปฏิบัติตามได้สำเร็จมรรคผลนิพพานมาก สมัยนี้สิกขาบทวินัยมีมาก แต่มีพระได้สำเร็จมรรคผลมีน้อย นี้เป็นเพราะเหตุใด

(๑๒) ตอบ ปัญหานี้มีมานานแล้วแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนมายุอยู่ พระมหากัสสปะเถระเคยทูลถามพระพุทธเจ้าแล้วเหมือนกัน พระที่เข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้ เบื้องต้นมีน้อยและเมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็ต้องการทำความเพียรเพื่อพ้นทุกข์จริงๆ สิกขาบทวินัยจึงไม่ต้องบัญญัติมากมาย เมื่อพระบวชมามากเข้า บวชเพื่อเจตนาหลายอย่างต่างๆ กัน ไม่ได้บวชเพื่อความพ้นจากทุกข์อย่างเดียว จึงประพฤติผิดแผกแตกต่างจากทำนองคลองธรรมเป็นอลัชชี อันเป็นเหตุทำความเดือดร้อนให้แก่พระที่ปฏิบัติดี พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยมากขึ้นโดยลำดับ เพื่อปราบอลัชชีเหล่านั้น สิกขาบทวินัยจึงมีมากและผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานจึงมีน้อย :b53: :b53: :b51:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2009, 20:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: นักศึกษาหญิง คนแก่ทั้งหญิงและชาย และข้าราชการหลายคนซึ่งไม่เคยหัดกัมมัฏฐานถามในทำนองเดียวกันนี้ว่า

(๑๓) ถาม การฝึกหัดกัมมัฏฐานคือทำอย่างไร และฝึกหัดตรงไหน อย่างพวกผมนี้เป็นฆราวาส พวกผมจะทำกัมมัฏฐานได้ไหม

(๑๓) ตอบ พวกเราชาวพุทธนับถือพุทธศาสนาทำบุญ ทำทาน รักษาศีลตามบรรพบุรุษสืบเนื่องมาโดยลำดับ แต่ไม่มีการทำภาวนา จึงน่าเห็นใจมากที่ถามเช่นนั้น แท้จริงพุทธศาสนาสอนให้ทำกัมมัฏฐาน คือภาวนาสมาธินั่นเอง จาคานุสติ ระลึกถึงการจาคะก็ดี ศีลานุสติ ระลึกถึงศีลของตนอยู่ก็ดี เรียกว่า ภาวนาแล้ว แต่ผู้สอนไม่สอนให้เขาเข้าใจว่าเป็น กัมมัฏฐานต่างหาก แต่ถึงกระนั้นคนแต่ก่อนก็ยังนำพระศาสนามาให้เราได้ปฏับัติอยู่จนทุกวันนี้ ดีกว่าผู้ที่เอาแต่ภาวนาอย่างเดียว หรือเอาแต่ปัญญาอย่างเดียว แต่ไม่เคยเข้าวัดทำบุญเลย ถ้าเป็นอย่างพวกหลังนี้แล้ว พุทธศาสนาเห็นจะไม่มีเหลือให้พวกเราได้รู้ได้เรียนอีกแล้ว
ที่ถามว่า การฝึกหัดกัมมัฏฐาน คือทำอย่างไร

ตอบว่า การฝึกกัมมัฏฐาน คือ ฝึกหัดจิตของตนให้อยู่ในความสงบ จิตของคนเราไม่สงบชอบส่งส่ายปรุงแต่งไปในที่ต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ถ้าชั่วมันก็เศร้าหมอง ถ้าดีมันก็ผ่องใสเบิกบาน พระพุทธเจ้าทรงมีเมตตากรุณาแก่เหล่ามนุษย์ จึงได้ทรงสอนให้ทำจิตสงบอยู่ในความดี คือ จาคะ และรักษาศีลอย่าได้ส่งส่ายออกไปภายนอกหาความไม่ดี จิตจะเศร้าหมอง

ถามว่า แล้วจะฝึกหัดตรงไหน
ตอบว่า ฝึกหัดตรงใจของทุกๆ คนนั้นแหละ เพราะทุกๆ คนก็มีใจด้วยกันทั้งนั้น และใจของทุกคนก็ต้องมีการปรุงแต่งและกระสับกระส่ายวุ่นวายเหมือนกันทั้งนั้น

ถามว่า อย่างพวกผมนี้เป็นฆราวาสจะทำกัมมัฏฐานได้ไหม
ตอบว่า ถ้าต้องการให้จิตสงบก็ทำได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแต่เฉพาะพระ สอนทั่วไปหมดตลอดถึงฆราวาสด้วย ไม่ว่าพระไม่ว่าฆราวาสมีกิเลสเท่ากัน คือมีโลภ โกรธ หลงเหมือนกัน ที่ไปบวชเป็นพระนั้น คือต้องการละกังวลทางโลก แล้วจะมีเวลาบำเพ็ญความเพียรให้มากๆ จึงต้องบวช ถ้าบวชแล้วยังไม่ละความชั่ว บวชมาก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

บางคนพูดว่า กิเลสมีอยู่ที่หัวใจของตนทุกๆ คนแล้ว บวชหรือไม่บวชไปวัดหรืออยู่ที่บ้าน หรือเข้าป่าก็เหมือนกัน ไม่เห็นผิดแปลกอะไร เราละกิเลสได้อย่างเดียวก็ใช้ได้ จริงอยู่ผู้ที่พูดเช่นนั้นไม่ค่อยเห็นทำอะไร นอกจากจะติดสุขในทุกข์ คนทำไม่ได้แล้วก็พูดเอาเปรียบคนอื่นเท่านั้นเข้าตำราว่า ตนไม่พายเอามือราน้ำลองคิดดู ถ้าหากทำตนอย่างคนที่พูดนั้นทุกๆ คนแล้ว พุทธศาสนาจะเป็นมาได้ถึงขนาดนี้หรือ พุทธศาสนาสอนให้ละสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง เพราะเป็นอุปสรรคแก่การฝึกจิตให้สงบ ผู้ที่ฝึกจิตให้สงบได้แล้ว อย่าว่าแต่เข้าวัดหรือออกบวชเลย แม้แต่ในป่าที่มีทหารคอมมูนิสต์อยู่ตั้งกองพันก็สามารถบุกเข้าไปหาวิเวกได้


:b39: มีชาวอินโดนีเซียผู้ชายคนหนึ่งมาเที่ยวเมืองไทย แล้วเข้าไปนมัสการถามถึงเรื่องภาวนา

(๑๔) ถาม เมื่อภาวนากำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่นั้นลมมันจะค่อยหายไปๆ จนหมดลมหายใจ แล้วจะเหลือแต่จิต เมื่อดูเฉพาะแต่จิต จิตมันค่อยรวมเข้าเป็นอัปปนาแหล่ไม่รวมแหล่อยู่เพียงแค่นั้น ไม่ทราบจะแก้อย่างไร

(๑๔) ตอบ การพิจารณาอารมณ์จนลมมันหายไป ไม่มีลมยังเหลือแต่จิตนั้นดีแล้ว แต่เมื่อเหลือแต่จิตก็อยากให้จิตรวมเป็นอัปปนาสมาธิโดยสำคัญตามสัญญาว่า เมื่อจิตถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จะเกิดวิชาปัญญาอย่างนั้นอย่างนี้ มันเลยไม่เป็นอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิมิใช่ของแต่งเอาได้ มันต้องละทั้งหมดตลอดถึงอดีตอนาคต แม้แต่ปัจจุบันมันก็ไม่ถือ จึงจะรวมเป็นอัปปนาสมาธิได้ คนส่วนมากมีความหวังและตั้งใจปรารถนาไว้ มันจึงลงไม่ถึงอัปปนาสมาธิได้


:b43: สตรีผู้หนึ่งในกรุงเทพฯ เริ่มภาวนา ยังไม่เป็นดีพอ แต่รู้จักจิตของตนว่าอยู่หรือไม่อยู่เท่านั้น
เขารักลูกมากจนเห็นโทษของความเกิดและการมีครอบครัว ความรักลูกก็รู้จักว่ามันเป็นทุกข์แต่อดกลั้นไม่ได้ เขาจึงอยากจะถามว่า

(๑๕) ถาม ความรักและความโกรธทั้งๆ ที่รู้ตัวมันอยู่ แต่ทำไมมันจึงละไม่ได้

(๑๕) ตอบ ความรักและความโกรธถ้ารู้มันก็ดีละซี่ กลัวแต่จะไม่รู้ตัวมันนั่นแหละ เมื่อมีความรักและความโกรธจะไปเพ่งแต่วัตถุภายนอก ไม่ได้เพ่งเข้ามาหาตัว เราจึงไม่หายรักและหายโกรธ วัตถุหรือบุคคลหรืออารมณ์นั้นๆ มิใช่ความรักหรือความโกรธอยู่ ณ ที่นั่น ที่นั่นเป็นแต่วัตถุอันหนึ่งเท่านั้น ใครจะรักหรือจะโกรธมัน มันก็อยู่อย่างนั้นของมัน ผู้รักหรือผู้โกรธแท้ คือ ตัวใจของเรานี้ต่างหาก เหตุนั้นเมื่อจะดับความรักและความโกรธจึงดับที่ใจของเรานี้ เราไม่ต้องละความรักและความโกรธหรอก ถ้าเห็นความรักและความโกรธเกิดขึ้นที่ใจแล้วมันจะดับไปเอง แม้แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวก็เช่นเดียวกัน :b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2009, 20:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b45: ผู้หญิงคนหนึ่งอายุ ๖๐ กว่าปี ถามว่า

(๑๖) ถาม เคยภาวนาอานาปานสติ เวลาภาวนาไปลมหายใจมันหายเงียบไป ดิฉันคิดว่ามันหลับ แต่ทำไมมันงุบลง เป็นอย่างนี้บ่อยครั้ง ดิฉันอยากทราบว่านั่นมันเป็นอะไร

(๑๖) ตอบ นั่นคือจิตรวมแต่ไม่มีปัญญา ผู้ภาวนาทั้งหลายโดยส่วนมากมักจะเป็นอย่างนี้คือ เมื่อภาวนาอานาปานสติ หรือภาวนาอะไรเป็นบริกรรมก็สุดแล้วแต่ เมื่อภาวนาไปๆ ไม่มีปัญญามีแต่จะทำให้จิตรวมอย่างเดียว ก่อนจิตจะรวม มีอาการซึมเซ่อแล้วน้อมจิตไปตามความสงบสุขนั้น ประเดี๋ยวเดียวก็หายเงียบไป เรียกว่า จิตรวมเข้าภวังค์ ( คือเข้าสู่ภพจิตของจิตเดิม แต่ไม่ใช่ภวังค์ ทั้ง ๓ ที่ท่านพูดไว้ ) แต่ถ้ามีปัญญาจะไม่เป็นอย่างนั้น คือปัญญาค้นคว้าในอานาปานสตินั้นแหละ เช่น พิจารณาลงในกายนี้ ให้เห็นอาการของลมที่ขึ้นลงและซาบซ่านไปในร่างกาย ตลอดถึงความเป็นอยู่นี้ก็เพราะลม เห็นละเอียดเข้าๆ จนลมนั้นหายเงียบไปก็รู้ตัวอยู่ว่าลมหายไป จะอยู่ด้วยความว่างนั้น ตอนนี้ปัญญาไม่เกิด แต่อย่าไปอยากให้มันเกิดหรือไม่เกิด ความว่างนั้นจะหายไป จงทำอย่างนั้นให้มากๆ จนกระทั่งทำได้ทุกอิริยาบถ ปัญญาและความรู้มันหากจะเกิดขึ้น ณ ที่ความสงบนั้นเอง ตะเกียงจุดสว่างแล้ว ลมไม่พัดย่อมสว่างจ้า เห็นวัตถุสิ่งของรอบๆ ข้าง ของเหล่านี้ก็มิได้เรียกให้ตะเกียงมาส่อง ตะเกียงก็มิได้เรียกให้วัตถุสิ่งของเหล่านั้นมาตั้งให้ตะเกียงส่อง เมื่อจุดตะเกียงสว่างแล้วมันหากเห็นของมันเองที่ว่าปัญญาเกิดจากสมาธินั้น สมาธิยังไม่เกิดหรือเกิดแต่ยังไม่พอที่จะเป็นบทบาทของปัญญา ปัญญาจึงไม่เกิด ผู้ภาวนาทั้งหลายใจร้อนอยากให้เกิด แต่ปัญญายิ่งไม่เกิด เพราะความอยากเป็นเหตุ

ขอให้เอาแต่ปัญญาตื้นๆ นี้เสียก่อน คือเห็นความเกิดขึ้นและดับไป หรือเป็นทุกข์ในขันธ์ห้านี้อยู่เป็นนิจ พิจารณาอย่างนี้ไปจนชำนิชำนาญ หากจะไม่เห็นแจ้งด้วยใจก็เห็นอนุมานไปก่อน นานๆ เข้าหากจะเห็นแจ้งด้วยใจ การเห็นแจ้งด้วยใจมิใช่ของแต่งเอาได้ ของเกิดเองเป็นเองโดยไม่ได้สนใจไว้ก่อน แต่ด้วยการกระทำที่ถูกที่เหมาะแก่เหตุผลนั้นเอง และการเกิดปัญญาเช่นว่านี้ก็ไม้ได้เกิดบ่อยครั้งนัก เหตุนั้นหน้าที่ของเรามีเพียงทำความสงบอบรมสมาธิให้ชำนาญ ทำปัญญาขั้นสามัญพื้นๆ นี้ให้เกิดก่อน สมาธิและปัญญาขั้นละเอียดมันหากจะเกิดเอง นั่นจึงเป็นของแท้แน่นอน

:b45: มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านปฏิบัติอยู่ในสำนักที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง มีความสงสัยว่า

(๑๗) ถาม ผู้ที่ได้ฌานมาแล้วจะมีโอกาสตกนรกได้ไหมครับ
(๑๗) ตอบ ถ้าได้แต่เพียงโลกียฌานก็มีโอกาสตกนรกได้ ตัวอย่างเช่น พระเทวทัตเป็นต้น

(๑๘) ถาม เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราได้ฌานอะไรแล้ว
(๑๘) ตอบ ผู้ไม่ชำนาญเข้าฌานหรือไม่พิจารณาตามตำราที่ท่านว่าไว้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะได้ฌานอะไร และถึงขั้นไหนแล้ว

(๑๙) ถาม ผู้ปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานผิดทางจะได้ฌานไหมครับ
(๑๙) ตอบ ผู้ปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานผิดทางย่อมได้ฌานมิจฉาสมาธิ

(๒๐) ถาม ผู้ที่ได้ปฐมฌานแล้วจะฝันหวานอีกไหมครับ
(๒๐) ตอบ ผู้ที่ได้ปฐมฌานที่เป็นโลกียะหรือโลกุตระก็ตามทีที่ยังอ่อนอยู่ เวลาออกจากฌานแล้วยังฝันหวานอยู่เหมือนกัน :b50: :b49: :b48:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร