วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 11:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2009, 18:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย


ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังธรรมปาฐกถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา


หมู่นี้ ใครๆ ก็บ่นกันว่า อากาศมันร้อน แต่ว่าวันนี้ฝนตกลงมาในตอนเช้า รู้สึกว่าค่อยชุ่มชื่นขึ้นมาบ้างตามสมควรแก่ดินฟ้าอากาศ เรื่องของธรรมชาติเราจะไปบังคับไม่ได้ มันเป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติ ประเดี๋ยวเป็นอย่างนั้นประเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่มันเป็นไปตามเรื่องของเขา เราไม่ควรจะไปคิดให้มันวุ่นวายใจ เอามาเป็นเรื่องจนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แต่เราควรจะหมุนจิตใจของเราให้เหมาะแก่สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่นมีอากาศร้อน เราก็ควรจะพอใจฝนตกก็ควรจะพอใจ ถ้าเราไม่พอใจเราก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราพอใจเราก็สบายใจ การอยู่ในชีวิตประจำวัน ควรจะอยู่ด้วยความสบายใจมากกว่าอยู่ด้วยความไม่สบายใจ เพราะความไม่สบายใจนั้นมันสร้างปัญหา แต่ความเบาใจ โปร่งใจไม่สร้าง ๒ ปัญหาอะไรให้เกิดขึ้น ผู้มีปัญญาจึงควรจะรักษาตน ให้มีสภาพจิตใจสงบทุกโอกาส


ทีนี้การที่เราจะทำใจให้สงบได้ทุกโอกาสนี่แหละเป็นปัญหา เป็นเรื่องที่เราควรจะศึกษาทำความเข้าใจการมาศึกษาธรรมทุกวันอาทิตย์ ก็เพื่อประโยชน์แก่เรื่องนี้ คือเพื่อให้รู้ว่าเราควรจะอยู่อย่างไร ควรจะคิดอย่างไร ควรจะทำอย่างไร ชีวิตจะสดชื่นรื่นเริงในเรื่องชีวิตนั้น ก็ควรจะเป็นความสดชื่นตามแบบผู้ประพฤติธรรม ไม่ควรจะรื่นเริงตามแบบผู้คะนองในความสุขทางเนื้อหนัง หรือว่าในทางวัตถุมากเกินไป เพราะว่าความสุขอันเกิดจากวัตถุนั้น มันก็เปลี่ยนแปลงไปตาาสิ่งนั้น เช่นเวลาได้ก็ดีใจ เวลาเสียก็มีความเสียใจ ก็สิ่งทั้งหลายนั้นมันไม่มั่นคงที่ถาวร ไม่ได้อยู่อยู่ในสภาพเดิมมันตลอดเวลา แต่มันอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรไปเมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้นที่เราสวดมนต์ตอนท้ายว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือร่างกายจิตใจ รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นมันไม่เที่ยง คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ถ้ามันมีอยู่กับเราเราก็สบายใจ แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงไปเราก็เป็นทุกข์ ถ้าหากว่าไปความสุขจากสิ่งที่เปลี่ยนแปลง เราก็ต้องมีความทุกข์สุขสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ไม่จบไม่สิ้น เวลาใดได้ก็สบายใจ เวลาเสียไปก็มีความทุกข์ มีความเสียใจ


เรื่องได้กับเสียนี้มันเป็นสิ่งคู่กัน เดินทางกันมาด้วยกัน คล้ายกับการสลับฉากของสิ่งต่างๆ เวลาหนึ่งมันเป็นเรื่องของการได้ แต่เวลาหนึ่งมันก็เป็นเรื่องของการเสียไป ถ้าจิตใจเราไม่มีหลักประจำแล้วเราก็ขึ้นๆ ลงๆ กับเรื่องได้เรื่องเสีย ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น การที่มีจิตขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้น มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร เป็นความสงบได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะทำในเรื่องอย่างนั้น แต่เราควรจะได้มีการรู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงต้องมาทำการศึกษาในเรื่องนั้นๆ เพื่อจะได้ต้อนรับสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้องตามเรื่องที่มันควรจะเป็น การต้อนรับสิ่งเหล่านี้มันให้ถูกต้องนั้น คือเราจะต้องรับมันด้วยปัญญา ไม่ใช่รับด้วยความเขลา ถ้าเราไปรับเอาอะไรด้วยความเขลา ก็เหมือนกับว่าเรากินผลไม้ทั้งเปลือก กินทุเรียนทั้งเปลือกนี้ไม่ได้เรื่องแน่ เพราะว่าหนามทุเรียนจะทำปากเราให้เลือดไหลไปตามๆ กัน กินมังคุดทั้งเปลือกก็ไม่ได้ เมื่อสมัยเด็กๆ เคยกินมะม่วงสดๆ แล้วก็ไม่ต้องใช้มีด เลยก็เป็นแผลที่ริมฝีปากเพราะว่ายางมันเผาไหม้ นั่นคือการกินทั้งเปลือกมันได้ทุกข์อย่างนั้น


ในอารมณ์ทั้งหลายที่มันมากระทบเราก็เหมือนกันเราต้องปอกสิ่งเหล่านั้นออกไป ไม่งุบไว้ทั้งเปลือก แตเราควรจะปอกมันด้วยปัญญา ให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรเปลี่ยนแปลงไป ต้องรู้สภาพความจริงของเรื่องให้ถูกต้อง แล้วเราก็ไม่ต้องนั่งเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้นๆ ก็สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันก็ปนกันไปตลอดเวลา คนเคยเป็นใหญ่อาจจะกลายเป็นผู้น้อยไปเมื่อใดก็ได้ มั่งมีอาจจะกลายเป็นคนจนไปเมื่อใดก็ได้เคยมีพวกพ้องบริวาร อาจจะกลายเป็นคนหมดพวกหมดบริวารไปก็ได้ อันนี้มันเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะความประมาทความเผลอเรอ ในการดำรงชีวิตในทางธรรมะท่านจึงสอนให้เราไม่ประมาท ให้รู้จักสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งร้ายเกิดขึ้น เพื่อให้สิ่งที่ดีคงอยู่อย่างนั้นตลอดไป เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลือวิสัย ถ้าเป็นเรื่องเหลือวิสัยพระผู้มีพระภาคเจ้าคงจะไม่สอนไว้ ให้เราทั้งหลายปฏิบัติ เพราะหลักธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้นั้น เป็นหลักที่เป็นไปได้ คือปฏิบัติได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งเหลือวิสัย เราบางทีอาจจะนึกไปว่าทำไม่ได้ เช่น คนบางคนมักจะพูดว่า แหมทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้เพราะว่าไม่มีความตั้งใจที่จะทำ ไม่มีความรักที่จะทำ สิ่งอะไรที่เราไม่พอใจจะทำ มันก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามองเห็นว่าเป็นเรื่องควรจะทำได้ แล้วก็สร้างความพอใจให้เกิดขึ้น การกระทำสิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้น และเมื่อเราทำไปๆ ก็จะรู้สึกว่ามันค่อยเบาขึ้นสบายขึ้น ไม่ว่าเรื่องอะไรทำในขั้นตอนแรกมันก็หนักหน่อย แต่ว่าทำไปๆก็ค่อยเบาขึ้น


อันนี้เราจะเห็นง่ายๆ ในการทำวัตถุประเภทใดก็ตาม เบื้องต้นรู้สึกว่าลำบาก เพราะยังไม่เข้าใจวิธีของการกระทำ ยังไม่คล่องมือไม้ก็ยังไม่คล่องตัว เราก็รู้สึกอึดอัดขัดใจเล็กน้อย แต่ถ้าเรามีความเพียรมั่น มีความอดทนมีความตั้งใจจริง สิ่งที่ยากนั้นจะกลายเป็นของธรรมดา แล้วก็เป็นเรื่องกล้วยๆ เราสามารถจะทำได้สำเร็จในเวลาไม่กี่นาที อันนี้เราเห็นอยู่ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันของเราแล้ว ฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติขัดเกลาจิตใจตนเองก็เหมือนกัน มันไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า เหลือวิสัย ที่เราจะทำไม่ได้ เพราะถ้าทำไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่บัญญัติไว้ ที่พระองค์บัญญัติหลักธรรมะไว้นั้นแสดงว่าพระองค์ได้กระทำด้วยพระองค์เองแล้ว เห็นผลจากการกระทำนั้นแล้วว่า ได้จริงๆ จึงได้นำมาสอนแก่ชาวโลก เพื่อให้ชาวโลกได้นำมาปฏิบัติต่อไป เพราะฉะนั้นเราอย่าเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายในเรื่องนั้น แต่ให้คิดว่ามันเป็นเรื่องดีมีประโยชน์เป็นเรื่องที่จะก่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริงในทางจิตใจ มีความสงบเกิดขึ้นแล้วเราก็พยายามที่จะกระทำ เท่าที่เวลาจะอำนวยให้เรื่องอื่นยากๆ เราก็ไปทำได้ ทีนี่เรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่จิตใจของเรา ทำไมเราจึงทำไม่ได้ ถ้าหากว่าตั้งใจจริงแล้วก็จะสำเร็จตามความปรารถนา เพราะฉะนั้นขอให้ญาติโยมทั้งหลายอย่าอิดหนาระอาใจ อย่าได้นึกว่าทำไปก็ไม่สำเร็จ อย่าไปเชื่อคำพูดของคนบางประเภทที่พูดให้มันเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน เช่นเขาพูดว่าต้องบำเพ็ญบารมีสิ้นแสนอสงไขยหรือว่าสิ้นแสนกัลป์อนันตชาติอะไรอย่างนี้ มันมากไปหน่อย เกินไป พูดให้มันหนักไปให้ลำบากไป ซึ่งความจริงมันไม่ต้องมากมายอย่างนั้น เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องที่จะสำเร็จได้ในชีวิตนี้ ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะทำมันก็มีความสำเร็จได้อย่าไปเชื่อตามแบบที่ว่าต้องบำเพ็ญนานถึงขนาดอย่างนั้น ถ้าจะเชื่อตามแบบนั้นก็เชื่อแต่เพียงว่า ต้องใช้ความเพียรหนักหน่อย ใช้ความพยายามให้มากหน่อยเพียงเท่านั้นพอ แต่อย่าให้ถึงแสนอสงไขยหรือแสนกัลป์อนันตชาติเลย ซึ่งมันนานเกินไป ให้เอาแต่เพียงว่าต้องใช้ความเพียรต้องใช้ความพยายาม อาศัยการกระทำจริงมีความอดทนมีความบากบั่น เราก็จะถึงจุดหมายที่เราต้องการได้สมตามความตั้งใจ ให้คิดไว้ในรูปอย่างนี้ แล้วเราก็ทำไปตามที่โอกาสจะทำได้


ในการปฏิบัติอย่างนั้น เราจะต้องทำให้สม่ำเสมอตลอดไป ต้องคอยเตือนตัวเองไว้บ่อยๆ ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องทำ แล้วเราก็ทำเท่าที่นึกได้ พอจิตนึกขึ้นมาได้ก็ต้องทำทันทีในเรื่องนั้น คออยควบคุมความคิดความนึกของเราไว้ ให้ไปตามเส้นทางที่เราต้องการ ทำนานเข้าบ่อยเข้ามันก็ชินเป็นนิสัย เรื่องชั่วเรื่องร้ายทั้งหลวยนี้มันไม่ใช่ของดั้งเดิมของเรา แต่อาศัยการกระทำบ่อยๆ ก็เลยติดในสิ่งนั้น เช่นคนสูบบุหรี่ติดก็ไม่ใช่สูบมาตั้งแต่เกิดเมื่อไร เพิ่งมาหัดสูบเมื่อโตแล้ว ดื่มเหล้าติดงอมแงม ก็ไม่ใช่ติดมาตั้งแต่ออกมาจากท้องคุณแม่ เมื่อเล็กๆ ก็เขาไม่ได้หัดให้เราดื่มเหล้าสักหน่อย ให้ดื่มแต่น้ำนมเท่านั้นเอง จึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้ แต่พอครั้นเติบโตเป็นหนุ่มเป็นน้อยไปเที่ยวอุตริดื่มสิ่งนั้นเข้า ดื่มบ่อยๆ จนกระทั่งติดเป็นนิสัย ไม่ได้ดื่มอยู่ไม่ได้กลายเป็นของจำเป็นสำหนับชีวิตไป อันนี้มันไม่ใช่ของเดิมแต่อาศัยการกระทำบ่อยๆ แล้วก็เลยติดในสิ่งนั้น คิดแล้วไม่ใช่เกิดประโยชน์ เกิดเหตุเกิดโทษแก่ชีวิต ทำลายสุขภาพทางจิตใจ สติปัญญาทรุดโทรมเสื่อมถอย ทรัพย์สมบัติก็ไม่เจริญงอกงาม อะไรๆ ก็เสื่อมลงไปทั้งนั้น สิ่งเหล่านั้นทำไมเราทำได้ ทั้งๆ ที่มันฝืนธรรมชาติร่างกายก็ไม่ต้องการ แต่ว่าฝืนเข้าไป กระทั่งว่าตกเป็นทาสของสิ่งนั้น ไม่สามารถถอนตนออกจากความเป็นทาสได้ นี่เป็นฝ่ายต่ำเรื่องที่ไม่ดี ก็ไม่เคยทำมาก่อน แล้วก็มาอุตริทำเข้า เลยกลายเป็นนิสัยเป็นสันดานไป


เราลองมาคิดในแง่ตรงกันข้าม คือว่าในฝ่ายต่ำนั้น เราทำได้ คือว่าทำจนกลายเป็นนิสัยสันดานแล้ว ทีนี้เรามาคิดว่า ฝ่ายดีนี้ก็น่าจะทำได้ เราเปลี่ยนกำลังเปลี่ยนความคิด ใช้สติปัญญาให้มากสักหน่อย กลับมาสร้างเสริมในด้านดีด้านงามต่อไป ก็ไม่เป็นเรื่องเหลือวิสัย เมื่อนิสัยในทางดีมีความละอายมีความกลัวต่อสิ่งชั่วสิ่งร้าย จิตใจก็มั่นคงอยู่ในคุณธรรม เราก็จะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้เหมือน กัน อันนี้เป็นตัวอย่างที่พูดให้เห็นง่ายๆ ว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย ลำบากอะไรอย่างเดียวแต่ว่าให้พยายามกระทำเท่านั้น


ทีนี้การกระทำในด้านดีนี่แหละเรียกว่า การปฏิบัติธรรม การกระทำในด้านเสียนั้นไม่ชื่อว่า การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการละเลยต่อธรรมะ ยิ่งมีการละเลยเพิกเฉยต่อธรรมมากเท่าใด ความตกต่ำทางจิตในก็มีมากขึ้นแต่ถ้าเราเข้าใกล้ธรรมะมากเท่าใด ความตกต่ำทางจิตใจก็มีมากขึ้น แต่ถ้าเราเข้าใกล้ธรรมะมากเท่าใด จิตใจก็จะสูงขึ้นสอาดขึ้นประณีตขึ้น แล้วก็จะมีความสุขทางใจเพิ่มขึ้น เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ประจักษ์แก่ตน ผู้ใดประพฤติปฏิบัติก็จะเห็นผลด้วยตนเอง ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของเราบ้าง เช่นเราไม่เคยเข้าวัดรักษาศีลฟังธรรม แล้วเรามาเริ่มเข้าวัดรักษาศีบฟังธรรมเข้า เราจะรู้สึกว่าสภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงไป มีความรู้ในเรื่องชีวิตถูกต้องขึ้น มีสติปัญญาเพิ่มขึ้น จะคิดอะไรจะพูดจะทำอะไรก็มีหลักมีเกณฑ์ มีระเบียบประจำจิตใจ ไม่ทำอะไรตามอารมณ์ ตามสิ่งที่มากระทบ สมัยหนึ่งนี้เราไม่ได้ศึกษาธรรมะ จิตใจก็ไหลไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อมของอารมณ์ ที่มากระทบอะไรมากระทบก็พึมพับขึ้นมาทันที คล้ายกับน้ำมันกับไฟ พอมาใก้ลกันก็ลุกพึ๊บขึ้นมาทันที ทำให้เกิดความร้อนซ่าไปทั้งตัว จิตใจวู่วาม พูดคำไม่เหมาะกิริยาท่าทาง ไม่น่าดู มันเกิดง่าย เพราะเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจ คล้ายๆ กับรถไม่มีห้ามล้อมันก็เกิดอันตราย แต่เมื่อเรามาศึกษาธรรมะเข้าวัดเข้าวา อ่านหนังสือบ้างฟังบ้าง แล้วเอาความรู้นั้นมาเป็นเครื่องประกอบการดำเนินชีวิต เราก็จะเห็นว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปคือเปลี่ยนแปลงในทางที่ฉลาดขึ้น เข้าใจสิ่งต่างๆ ถูกต้องดีขึ้น การทำอะไรก็ไม่มีความประมาท รู้จักใช้เหตุใช้ผล ไม่เป็นคนอารมณ์ร้อนอารมณ์แรงมากเกินไป อันนี้คือผลที่ปรากฏแก่เราผู้เข้ามาปฏิบัติ ว่ามันเกิดผลแก่เราอย่างไร เมื่อเราได้เห็นผลเช่นนั้นแล้ว เราก็พอใจในการที่จะศึกษาปฏิบัติมากขึ้น เพราะชีวิตมันเปลี่ยนแปลงไปในางที่ดีงาม มีความสุขสงบทางด้านจิตใจขึ้นกว่าปกติ อันนี้เห็นได้ง่ายเหมือนสีดำกับสีขาว เห็นได้ชัดที่สุด ว่าสมัยหนึ่งนั้นเรามีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร แล้วต่อมาสภาพจิตใจเป็นอย่างไรเห็นได้ชัด ถ้าเราเอาไปปฏิบัติแล้วเห็นได้ชัดว่าม้นเปลี่ยนแปลง จากขาวเป็นดำไปเลยทีเดียว


ทีนี้เมื่อเราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์อย่างนั้น เราก็ทำต่อไปเรื่อยๆ หรือว่าเราไม่ทำแต่เพียงคนเดียว แต่ว่าชวนคนอื่นกระทำด้วย การชวนคนอื่นกระทำนั้นไม่ต้องชวนด้วยคำพูดเสมอไปหรอก แต่ว่าเราทำให้เขาเห็นทำความเป็นคนใจเย็นให้เขาเห็น เป็นคนสงบให้เขาเห็นเป็นคนไม่เร่าร้อนไม่วู่วามให้คนทั้งหลายเห็น เมื่อเขาเห็น เขาก็เห็นว่า เออเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน มีสภาพชีวิตแปลกไปจากเมื่อก่อน เขาก็พลอยได้รับความสุขใจจากเรา เมื่อก่อนนี้เขาได้รับความทุกข์จากเรา เช่นเวลาเราโกรธเราพูดคำหยาบ เราแสดงอาการไม่ดีออกไปอย่านึกใครจะไม่ได้รับผลจากเรา คนที่นั่งอยู่ข้างๆ นั้นพลอยเป็นทุกข์ด้วยทั้งนั้น ขอให้สังเกตตัวเราเอง เวบาเรานั่งใกล้คนที่กำลังโกรธ หรือกำลังพูดคำหยาบแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะไม่ควร เราจะรู้สึกอย่างไร เราก็รู้สึกว่า ไม่สบายใจ มีอะไรๆเกิดขึ้นในใจ เช่นมีความหวาดกลัวกลัวมันจะขยำคอเราเข้า หรือจะแพ่นกระบานเราเข้าหรือจะเหวี่ยงอะไรมาถูกเราเข้า ก็ไม่สบายใจเพียงแต่เห็นคนอื่นแสดงกิริยาอาการว่าขาดการยับยั้งชั่งใจ เราก็ไม่สบายใจ แต่ว่าความไม่สบายใจที่เราได้รับนั้น มันเกิดขึ้นแล้วก็หายไป เราไม่ได้เอามาเป็นเครื่องเตือนใจให้เพิ่มเข้าสักนิดหนึ่งในเรื่องอย่างนี้ ประสบการมันเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมาก ไม่ว่าประสบการณ์ในรูปใดๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น ถ้าเราเอามาคิด มันจะเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ เป็นครูเป็นผู้สอนเราทีเดียวในภาษาพระท่านใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการนี้เป็นคำบาลีอยู่หน่อย จำยาก แต่ให้เจ้าใจว่า การคิดโดยแยบคาย หมายความว่าคิดโดยแยบคาย การคิดโดยแยบคายนั้นคือการคิดหาเหตุหาผลของเรื่องนั้น หาคุณหาโทษของเรี่องนั้น หาประโยชน์และไม่มีประโยชน์จากเรื่องนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไรเมื่อมันเกิดขึ้นในใจของเราแล้วเราอย่าปล่อยให้มันดับไปเฉยๆ แต่ให้เอาเรื่องนั้นมารเป็นเครื่องเตือนจิตใจเป็นผู้ชี้ทางชีวิตของเราต่อไป


การที่จะเอามาเป็นเครื่องเตือนใต นั้นก็คือการคิดโดยแยบคาย เมื่อมันดับไปแล้วก็เอามาคิดใหม่การคิดใหม่นั้นไม่ใช่คิดเพื่อให้เป็นทุกข์ แต่คิดเพื่อให้เกิดปัญญาการคิดอะไรเพื่อให้เกิดปัญญานั้น แม้สิ่งนั้นจะเป็นอดีตล่วงไปแล้วก็ไม่เสียหายไม่เป็นโทษ แต่ว่าเรื่องใดที่มันล่วงไปแล้วเราเอามาคิดด้วยอารมณ์ทุกข์นั้นไม่ได้ พระท่านไม่ให้คิดในรูปอย่างนั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อตีตํ นาน วา คเมยฺย อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงมา หมายความว่า อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาให้เป็นทุกข์ ถ้าคิดให้เป็นทุกข์แล้วมันเป็นบาปทางตจิตใจเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่เราเอาเรื่องที่ล่วงมาแล้วนั้นมาคิด เพื่อให้เกิดปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องนั้น เพื่อจะได้เป็นครูสอนใจต่อไป การคิดในเรื่องเช่นนั้นไม่เสียหาย เป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำ เพราะการคิดในเรื่องอย่างนั้นเขาเรียกว่า คิดด้วยปัญญา การคิดอะไรด้วยปัญญานั้นไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้าคิดด้วยความโง่ความเขลาแล้วก็เป็นทุกข์ เช่นเรานั่งกลุ้มใจ คนกลุ้มใจเพราะคิดถึงเรื่องอดีต เรื่องเก่าที่ผ่านมาแล้วเอามารคิดให้กลุ้มใจ คิดแล้วก็มือมัวไปหมดในจิตใจ ไม่เป็นทางออกเลย การคิดในรูปอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านติเตียน เพราะเป็นการคิดด้วยความโง่ความเขลา ไม่ได้ ไม่ได้เกิดปัญญาอะไรชึ้นมา ท่านไม่ให้คิดอย่างนั้น แต่ให้เอามาวิเคราะห์วิยัยแยกแยะออกไปในเรื่องนั้น ว่าสิ่งนั้นก่ออะไรมันเกิดจากอะไร เมื่อเกิดแล้วสภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร มืดมัวเร่าร้อนกระวนกระวายหรืออย่างไร แล้วขณะสิ่งนั้นมาเกาะตั้งอยู่ในใจมันดีไหม ความเร่าร้อนนี้ดีไหม ความมืดบอดมันดีไหม ความวุ่นวายจิตใจดีไหม ลองถามตัวเอาเราก็จะได้ตอบตัวเองว่าไม่มีอะไรดี มันไม่ดีทั้งนั้น เรื่องอย่างนั้นมันไม่ดีทั้งนั้น เออแล้วทำไมมานั่งกลุ้มใจ ทำไมมาคิดให้เป็นทุกข์ ก็เพราะว่าเราไม่เข้าใจในวิธีการนั่นเอง ไม่ได้ศึกษาวิธีการคิดให้ถูกต้อง เลยก็มานั่งกลุ้มใจ


บางคนไม่ช่กลุ้มใจเพียงเล็กๆ น้อยๆ กลุ้มขนาดนอนไม่หลับแล้วมันจะลามไปถึงกินไม่ได้ด้วย กินไม่ลงกลุ้มใจกินไม่ลง มันเรื่องอะไรที่กลุ้มจนกินไม่ไดด้นอนไม่หลับ มันไม่ได้เรื่อง นั่นแหละคือความเขลาในเรื่องชีวิตที่เป็นเช่นนั้น เราไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าควรจะตีปัญหาอันนั้นให้มันแตกออกไป คนโบราณเขาว่าทุบให้แตก เมื่อไปเจออะไรแล้วทุบให้แตก ทุบด้วยสติด้วยปัญญา สติหมายความว่า รู้สึกตัวว่ากำลังเลอะเทอะรู้สึกกำลังไม่ได้เรื่อง แล้วเอาปัญญาตีมันลงไป ฟันลงไปฟันด้วยพระขรรค์ ถ้าไปดูภาพเขียนที่ผนัง จะเห็นภาพคนใช้พระขรรค์ฟันอะไรลงไป ฟันให้มันขาดมันเลย นั่นแหละคือตัวปัญญา สำหรับใช้พิจารณาแยกแยะในเรื่องนั้นเพื่อให้รู้ชัดเห็นชัดว่ามันคืออะไร แล้วจิตใจจะได้สงบจากเรื่องนั้น อะไรก็ตามถ้าเรารู้ชัดว่ามันคืออะไรแล้วมันหยุดทันที ถ้ายังไม่รู้แล้วก็ยังหลงเรื่อยไป เมาเรื่อยไปไม่รู้จักจบสิ้น แต่พอรู้ว่าคืออะไรแล้ว เรียกว่าถึงบางอ้อ มันก็หยุดเท่านั้นเองไม่มีอะไร ต่อไป อันนี้คือวิธีที่เราควรจะได้ศั้กษาในเรื่องนั้นๆ อย่างถูกต้อง แต่ว่าบางทีเราไม่อาจจะศึกษาด้วยตนเองได้ กำลังใจไม่พอ สติปัญญาไม่สมบูรณ์ เรียกตามภาษาธรรมะว่า บารมียังน้อย คำว่าบารมี หมายความว่า ทำบ่อยๆ ในเรื่องนั้นๆ ถ้าเราทำบ่อยๆ บารมีมันก็สูงขึ้น กำลังปัญญามากขึ้นกำลังสติมากขึ้น กำลังความอดทนมากขึ้น เขาเรียกว่า อินทรีย์แก่กล้า อินทรีย์คือความเชื่อความเพียร สติ ปัญญา มันมากขึ้นสมบูรณ์ขึ้น เมื่อสิ่งเหล่านี้มันสมบูรณ์พอกพูนมากขึ้น เราก็สามารถจะเอาชนะอะไรต่างๆ ได้ ไม่ยากเลยแม้แต่น้อย จึงต้องใช้สิ่งเหล่าๆ นี้ประกอบกันเข้า เป็นเครื่องมือที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้าเรามันขาดตกบกพร่องยังไม่สมบูรณ์ เราก็ต้องเข้าใกล้ผู้รู้ คือเข้าใกล้พระบ้าง คฤหัสถ์บ้างก็ไม่เป็นไร ใครที่เป็นผู้รู้ธรรมดำรงชีวิตชอบ เป็นผู้แสดงออกตัวอย่างในทางความสุขความสงบในทางจิตใจ เราเข้าไปปรึกษาหารือในเรื่องการดำรงชีวิต เขาก็แนะนำเรา ว่าเราควรจะคิดอย่างไร ควรจะนึกอย่างไร ควรจะปฏิบัติจิตใจอย่างไร


การที่ได้รับคำบอกเล่าจากผู้อื่นนั้น อย่าถือว่าเป็นกิจทั้งหมดแล้ว แต่ให้ถือว่าเป็นเรื่องเบื้องต้นเท่านั้นเอง คล้ายๆ กับว่าเราจะเดินทาง เราไปศึกษาทางจากคนอื่นว่าเราจะไปอย่างไร ควรจะมีอะไรบ้าง เขาชอบให้เพียงแต่รู้ ทางเท่านั้น นั้นมันยังไม่ถึง จุดหมายปลายทางการจะถึงจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องลงมือเดินทาง ตามที่เราได้เรียนได้รู้ไว้ เมื่อเราเดินไปเราก็ถึงจุดหมายปลายทางได้ ฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตเราก็เหมือนกัน เรายังไม่รู้อะไรเลย เราไปศึกษากับผู้รู้ เช่นเราอ่านหนังสือธรรมะก็ได้มาฟังก็ได้ ดูจากตัวอย่างชีวิตคนอื่นก็ได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น แล้วต่อจากนั้นเราก็เอามาทอสอบกับตัวของเราเอง คือลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง คอบควบคุมความคิดการนึกของเรรให้เข้าถูกทางมีอะไรเกิดก็พยายามวิเคราะห์วิจัย ให้รู้ชัดเห็นชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ทำไปๆ ก็มีประสบการณ์มากขึ้น มีความชำนาญในเรื่องนั้นมากขึ้น เราก็พอจะพึ่งตัวเองได้

มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งที่เราได้ยินกันมากเหลือเกินว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน พระพุทธภาษิตบทนี้สำคัญมากที่สุด ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน แตี่ที่เราได้ยินนั้นมันครึ่งเดียว ยังไม่เต็มบาทห้าสืบสตางค์เท่านั้น ที่เต็มนั้นต้องมีแถมท้ายอีกหน่อยหนึ่งชั้นแรกว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ต่อไปข้างท้ายว่า ธรรมะนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน ท่านสอนให้พึ่งธรรมะนั่นแหละเรียกว่า พึ่งตนเอง หรือในพุทธภาษิตที่บอกว่า เธอทั้งหลายจงทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง แล้วก็แถมท้ายว่า จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือให้พึ่งธรรม ธรรมะก็คือหลักดารสำหรับนำมาปฏิบัติ ผู้ใดต้องการที่จะพึ่งตนเองช่วยตนเอง ให้รอดพ้นจากความตกต่ำ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ต้องประพฤติธรรม เมื่อเราประพฤติธรรมก็ชื่อว่ามีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นแพเป็นเรือสำหรับข้ามฟากของชีวิต ทะเลชีวิตก็คือความทุกข์นั่นเอง สังสารวัฏฏ์ก็คือความทุกข์ความเดือดร้อน ที่มันสลับฉากกันอยู่ในจิตใจของเรา ทำให้มืดบอดเร่าร้อนวุ่นวายกันอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า เป็นสังสารวัฏฏ์ คือเวียนอยู่เรื่อยไป เวียนไปเวียนมาอยู่ในเรื่องนั้นไม่รู้จักจบสิ้น วนไปวนมาเราต้องการจะตัดสังสารวัฏฏ์ ต้องตัดด้วยการประพฤติธรรมถ้าเราไม่ประพฤติธรรมก็ตัดไม่ได้ ที่นี้เราประพฤติธรรมเมื่อใดมันก็ค่อยตัดรอนสิ่งนั้นเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งว่าตัดได้หมดมันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป จิตใจก็ถึงที่สุดคือหลุดพ้นจากความทุกข์เด็ดขาด นี่คือวิธีการของพระพุทธเจ้าสอนให้เราพึ่งตัวเองช่วยตัวเอง

เรื่องช่วยตัวเองพึ่งตัวเองนี้ใช้ได้ทั้งสองฝ่าย คือในโลกียธรรมก็ใช้ได้ ด้านโลกุตตระก็ใช้ได้ ที่เรียกว่าโลกียธรรมหมายความว่า การปฏิบัติเพื่ออยู่ในโลกนี้อย่างคนที่ไม่มีความทุกข์มากเกินไป เรียกว่า อยู่ในโลกียธรรม โลกุตตรธรรมะนั้น ร่างกายอยู่ในโลกนี้แหละ แต่จิตใจอยู่เหนือโลก พ้นจากความดึงดูดของกิเลสทั้งหลายมีจิตใจสูงพ้นจากอำนาจของธรรมชาติทั้งหลายที่จะดึงดูดให้มันตกลงไป คล้ายๆ กับดาวเทียมที่เขาส่งไป ในอวกาศไปโคจรอยู่รอบๆ โลกอวกาศ เพราะในอวกาศนั้นไม่มีการดึงดูด พ้นไปจากความดึงดูดของโลก มันก็ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศเรื่อยไป ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก จิตของคนที่พ้นไปจากความดึงดูดของธรรมชาติ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ สิ่งเหล่านี้มันดึงใจคนลงมา รูปดึงลงมา เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดึงใจลงมาให้ตกลงไปในอำนาจของมัน ถ้าเรายังอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านี้ ก็ยังเรียกว่า ยังเป็นโลกียชน แต่ว่าเป็นโลกียชนที่ไม่หมกมุ่นมัวเมา ไม่หลงไหลในสิ่งนั้นมากเกินไป ก็พอใช้ได้ อยู่อย่างกัลยาณปุถุชน หมายความว่า เป็นคนดีมีสติปัญญากำกับ ไม่ตกลงไป ในอำนาจของมันจนกระทั่งว่าจมตัวว ยังพอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่บ้าง ก็พอจะปลอดภัย


ส่วนโลกุตตระนั้นหมายความว่าพ้นไปจากความดึงดูดของสิ่งเหล่านั้น จิตมันอยู่เหนือโลก เหนืออารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ก่อให้เกิดความกำหนัดเพลิดเพลินหลงใหลมัวเมาได้ เพราะมองเห็นสิ่งเหล่านั้นตามสภาพที่เป็นจริง ที่ว่ามองเห็นตามสภาพที่เป็นจริงนั้น จริงอย่างไร คือเห็นความไม่เที่ยงของทั้งหลาย เห็นความทุกข์ในสิ่งนั้น เห็นความเป็นอนัตตา อันนี้แหละเรียกว่า เป็นความจริง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือตัวความจริงตัวสัจจะในสิ่งทั้งหลาย ถ้าเรามองเห็นอะไรเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็เห็นความจริง เมื่อเห็นความจริงเราก็ไม่ติดอยู่ในของที่เป็นเท็จเทียม หรือว่าเป็นมายา หลอกให้เราหลงจิตเราอยู่เหนือสิ่งนั้น ขณะใดจิตเราอยู่เหนือสิ่งนั้น ก็เรียกว่าเราอยู่เหนือโลก เหนืออารมณ์โลก คนเราถ้าอยู่เหนือโลกแล้วมันสบาย คล้ายๆ กับเรานั่งเครื่องบินญาติโยมบางคนเคยนั่งเครื่องบินบ่อยๆ ถ้ามันบินสูงแล้วก็เรียบ ไม่กระเทือนไม่โคลงเลย นั่งสบายเหมือนกับเรานั่งในตึกหลังนี้ไปอย่างเรียบร้อย แต่พอใกล้สนามบินก็ต้องร่อนลงต่ำ พอร่อนลงต่ำจะรู้สึกว่า เริ่มมีอาการโคลงเครงนิดหน่อย แล้วก็มีอะไรวูบๆวาบๆ ข้าง แล้วแต่ดินฟ้าอากาศในที่นั้น อันนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นง่ายๆว่าจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้ายิ่งสูงมากเท่าใดก็ยิ่งสอาด ยิ่งสงบ ยิ่งสว่าง ถ้าต่ำลงไปแล้วมันมืดเร่าร้อนวุ่นวาย อันนี้เห็นได้ในตัวเราเอง เวลาใดใจเรามันไม่คิดเรื่องยุ่งๆ เรานั่งเป็นสุขสบาย แต่พอคิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมาแล้วก็กลุ้มใจ หรือว่านั่งใกล้คนที่เขาวุ่น เราก็พลอยวุ่นไปกับเขาด้วย นี่เขาเรียกว่า ใกล้โลกลงมา เหมือนกับเรือบินที่มันใกล้พื้นโลก เอียงขวาเอียงซ้ายวุ่นวายอยู่ตลอดเวลาคนโดยสารบางคนก็อาเจียรออกมา เพราะว่ามันโครงเครง จิตใจเราก็เป็นอย่างนั้น พอใกล้โลกแล้วมันชักจะโคลงเครงจะอาเจียรออกมา ออกมาเป็นรูปต่างๆ สภาพเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น


เพราะฉะนั้นเราควรจะได้ยกระดับของเราไว้ ให้สูงไว้ตลอดเวลา อย่าให้ตกลงมาเป็นอันขาด ในการยกระดับจิตของเราให้สูงไปนั้น ก็ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ เช่นว่าเราหัดให้เป็นคนมีระเบียบมีวินัย เช่นว่าหัดเป็นคนถือศีล อย่านึกว่าศีลนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วก็เป็นเรื่องไม่สำคัญ มันเป็นฐานชั้นต้นที่จะให้ก้าวไปสู่ความดับทุกข์ เช่นเราถือศีล ไม่มีอะไรมาก เช่นศีลห้า นี่ก็เป็นฐานชั้นต้นแล้วที่จะบังคับจิตใจของเราไม่ให้ตกต่ำมากเกินไป ไม่ให้แสดงอะไรหยาบๆ ออกมาการทำร้ายร่างกาย การฆ่าเขามันเป็นเรื่องของคนกิเลสหยาบ การไปถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นเรื่องของคนกิเลสหยาบ การประพฤติล่วงเกินของรักของชอบใจของใครๆก็เป็นเรื่องของคนใจหยาบ พูดคำโกหกคำหยาบคำเหลวไหลคำเพ้อเจ้อไม่ได้เรื่องได้ราวก็เป็นเครื่องแสดงความต่ำทางจิตใจ จิตใจยังหยาบเหลือเกินจึงได้พูดคำนั้นออกไป เช่นเราเห็นใครพูดคำหยาบๆ ก็แสดงว่าจิตใจหยาบเหลือเกิน ไม่ได้กลั่นกรอง ไม่ได้มีการควบคุม จึงออกมาในรูปอย่างนั้น ถ้าเป็นกะทิก็เรียกว่า มีกากเยอะแยะ เอาไปแกงไม่อร่อย กากมันมากเพราะไม่ได้กรอง แต่ถ้าว่าเอากระชอนมากรองเสียให้ดีจะได้แต่กะทิล้วนๆ กากเอาไปให้ไก่กินเสีย คนเราที่พ้นอะไรไม่ดีออกมาแสดงว่าจิตใจหยาบ พูดด้วยความโกรธพูดด้วยความหลง พูดด้วยความโลภ พูดด้วยความริษยา จึงออกมาหยาบไม่น่าฟัง มันจึงเสีย

แม้คนที่ไปเสพของเสพติดให้โทษต่างๆ ก็เรียกว่ามันยังหยาบอยู่ ยังไม่มีปัญญา ยังไม่รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ยังบังคับตัวเองไม่ได้ จึงไปเที่ยวดื่มของที่ไม่จำเป็น ไปสูบสิ่งที่ไม่จำเป็น เปลืองเงินเปลืองทอง แล้วบ่นว่าเงินเดือนไม่พอใช้ แต่ว่าไปใช้ในเรื่องที่ไม่เข้าเรื่องเสียเยอะแยะ ถ้าเราตัดเรื่องอย่างนั้นออกเสียบ้างเราก็จะมีสตางค์พอใช้เพราะตัดออกได้หลายบาท หลายเรื่องหลายประการ ศีลมันก็ช่วยได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า การรักษาศีลให้เกิดโภคทรัพย์ ให้เกิดความสุขให้ดับทุกข์ได้ เวลาพระท่านให้ศีลแล้วท่านจะบอกอานิสงส์ไว้เสร็จว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ จะได้ความสุขก็เพราะศีล สีเลน โภคสมฺปทา จะได้ลาภสมบัติก็เพราะศีล สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ จะดับทุกข์ดับร้อนได้ก็เพราะศีล อานิสงส์เยอะถ้าเราถือแล้วมันค่อย ประณีตขึ้นโดยลำดับ จิตใจประณีตขึ้นโดยลำดับ นี่เรียกว่า เป็นพื้นฐานชั้นต้นในการยกระดับจิตใจนั่นเอง


ครั้นเมื่อเราถือศีลอย่างนั้นแล้ว ยังไม่พอ ก้าวหน้าไปถืออุโบสถ อุโบสถเป็นพรหมจรรย์ เป็นศีลที่สูงขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็ต้องบังคับหลายเรื่องหลายประการ การบังคับตัวเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นคนเราถ้าไม่มีการบังคับตัวเองเสียเลยแล้ว จะมีชีวิตที่ประเสริฐได้อย่างไร สัตว์เดรัจฉานนั้นมันไม่มีระเบียบไม่มีการบังคับตัวเอง จึงทำอะไรตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม เรานี้ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน เราเป็นมนุษย์ไม่ใช่คน มนุษย์คือผู้อยู่ในระเบียบวินัย มีจิตใจสูง เพราะฉะนั้นจึงต้องบังคับตัวเองให้มากขึ้นไปทุกวันเวลา ยิ่งบังคับตัวเองได้มากเท่าใด ยิ่งประเสริฐมากเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ยอดแห่งสารถี สารถีคือคนที่ฝึกช้างฝึกม้า ท่านบอกว่ายังไม่เก่ง ฝึกช้างเก่งฝึกม้าเก่ง ฝึกอะไรๆ เก่งก็ยังไม่เก่งคนที่เก่งนั้นคือคนที่ฝีกตนได้ นั่นแหละยอดเก่ง ยอดสารถี ยอดสารถีคือคนที่ฝึกตัวเองได้ ควบคุมตัวเองได้ ไม่ปล่อยตัวไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อมสิ่งยั่วยุ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสารถีแท้ เป็นยอดแห่งสารถี เพราะฉะนั้นเราควรจะถือหลักไว้พูดกับเด็กๆให้เข้าใจว่าคนเก่งคนดีนั้น คือคนที่สามารถจะบังคับตัวเองได้ ใครบังคับตัวเองได้คนนั้นแหละเป็นคนดี เป็นสุภาพชน เป็นมนุษย์ มันสูงขึ้นไปโดยลำดับ การรักษาพรหมจรรย์คือการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นฐานะที่จะได้ฝึกสมาธิต่อไป


ทีนี้การฝีกสมาธิ ตามปกติคนเรามันก็มีสมาธิอยู่พอสมควรแล้ว ที่เราทำงานทำการอยู่ในชีวิตประจำวันไม่ผิดไม่พลาด ก็เรียกว่ามีสมาธิ เช่นเขียนหนังสือหน้าหนึ่งไม่ผิดนี่ก็แสดงว่ามีสมาธิ คนบางคนเขียนไม่ผิดสะกดการันต์เรียบร้อย วรรคตอนเรียบร้อย เขียนเสร็จแล้วไม่ต้องตรวจ เอาไปพิมพ์เลย นั่นแสดงว่าสมาธิดีมาก เพราะขณะเขียนนั้นจิตมันอยู่กับเรื่องที่เขียน มันคิดเรื่องที่จะให้ออกมาเป็นตัวหนังสือ แล้วมือก็เขียนไป เคยสังเกตว่า ถ้าจิตไม่ฟุ้งไปในเรื่องอื่นแล้วจะเขียนไม่ผิดเลยสักตัวเดียว แต่ถ้าว่าพอไปเขียนตรงนั้นใจมันนึกไปเรื่องอื่น ก็ผิดทันที เพราะฉะนั้นคนใดที่เขียนหนังสือผิดมาก แสดงว่าจิตฟุ้งซ่าน ไม่มีระเบียบสำหรับบังคับใจ สมาธิไม่ดี อ่านมันก็เสีย เสียเวลาที่จะต้องมานั่งแก้ข้อความ มานั่งแก้วรรคตอนสะกดการันต์ มันก็ผิดไปใหญ่ แต่ถ้ามีสมาธิแล้วก็เรื่องเรียบร้อย ยิ่งคนที่จะต้องประกอบกิจธุระการงานอยู่ในสังคมต้องมีสมาธิเป็นพิเศษ ถ้าไม่มีสมาธิจะทำอะไรได้ ทำอะไรก็เดี๋ยวผิดบ่อยๆ ผิดบ่อยก็เสียหายแก่เศรษฐกิจแก่ปัญหาร้อยแปด เรื่องยุ่ง แต่ถ้ามีสมาธิมันก็ดี โดยปกติเราก็มีสมาธิดังกล่าวแล้วนั้นพอสมควร แต่ว่ามันยังไม่มีเทคนิค ต้องฝึกหน่อย ฝึกเสียบ้างเป็นบางครั้งบางคราว


การฝึกแบบง่ายๆก็คือคอยกำหนดลมหายใจเข้าออก เรียกว่า อานาปานสติ เอาความคิดมาอยู่ที่ลมเข้าลมออกที่ไหนเมื่อใดก็ได้ ไม่เลือกเวลาเลือกสถานที่อะไรทั้งนั้น แล้วอย่าไปคิดให้มั่นยุ่ง ในการปฏิบัติฝึกสมาธิ อย่าไปคิดว่าฝึกเพื่อให้มันได้อ้ายนั่นอ้ายนี่ ฝึกแล้วจะได้ดูเลขท้ายมั่ง หรือว่าเลขมันออกอะไร วุ่นวาย พวกนี้แหละที่มันจะบ้า ไปเจริญสมาธิแล้วมันบ้าก็พวกนี่แหละ คิดมาก ทำไปๆ ไม่เห็นสักที ความอยากมันรุนแรงเลยเอาใหญ่แล้วไม่กินไม่นอนแล้ว นั่งอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเครียดแล้วก็ไม่สบาย ที่ทำแล้ว ที่เขาว่าไปฝึกภาวนาแล้วเป็นบ้าเพราะอารมณ์อย่างนี้ อารมณ์อยากจะทำอะไรด้วยความอยากไม่ได้ เขาไม่ให้อยากให้ทำเฉยๆ ทำไปเถอะมันค่อยๆ ดีของมันเอง ที่นี่ความอยากคืออยากในด้านวัตถุ อยากจะได้นั่นได้นี่ อยากจะได้ตาทิพย์บ้างหูทิพย์บ้าง อะไรต่ออะไรเที่ยวฟุ้งซ่านไป แล้วทำไปมันก็ไม่ได้ทีนี้มุใหญ่ไม่กินไม่นอนแล้ว มันไม่ได้จิตยิ่งฟุ้งใหญ่เขาไม่ให้ต้องการอย่างนั้น เพียงแต่ให้เอาจิตมากำหนดไว้ที่ลมเข้าลมออก เวลาใดที่ใจมันวุ่นวาย มีปัญหานั่งเฉยๆ ในห้องทำงานก็ได้ ยิ่งห้องปรับอากาศยิ่งสบายใหญ่ นั่งเก้าอี้ให้ตัวตรงแล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างให้ไปคิดเรื่องอื่นตลอดเวลา เราจะรู้สึกว่ามันสงบสบายขึ้น ทำบ่อยๆ มันก็เกิดความแคล่วคล่องว่องไว ทำที่ไหนก็ได้ โอกาสใดที่เราจะทำได้ เราก็ทำ เช่นว่าโดยสารไปในรถก็ทำได้ ถ้าว่าไปทำสมาธิแบบนั้นมันไม่ยุ่งใจ ไม่ยุ่งกับเรื่องร้อนกับคนแน่น เรื่องรถมันหยุดช้าไม่ยุ่ง เพราะใจมันไม่ไปคิดถึงเรื่องยุ่ง แต่คิดถึงเรื่องนี้คือเรื่องลมเข้าลมออก หรือว่านั่งรถไฟไปไกลๆเรานั่งฝึกสมาธิไปเสีย มันก็ไม่ยุ่ง ถ้าไม่ฝึกสมาธิก็ยุ่ง แหมรถทำไมรถมันหยุดนาน สถานนี้ทำไมมัหยุดนาน ก็ยุ่งใจดูนาฬิกาบ่อยๆ เอ๊ะ เมื่อไหร่มันจะถึงสักที วุ่นวาย


เวลาถ้าเราไปเร่งมันช้า ถ้าไม่เร่งมันเร็ว เพราะฉะนั้นนั่งฝึกจิต เวลามันจะได้ไม่ช้า ไปถึงที่หมายตามทึ่เราต้องการ แล้วก็ไม่วุ่นวานใจด้วย อย่างนี้ก็สบายหรือว่ามีอะไรปัญหาขึ้นกับเพื่อนฝูงมิตรสหาย เรานั่งหลับตาทำไม่รู้ไม่ชึ้มันก็หมดเรื่อง ไปรู้ไปชี้มันเข้าเรื่องมาก เพราะฉะนั้นทำเฉยเสีย ไม่รู้ไม่ชี้ ฉันไม่ได้ยินใครพูดฉันก็ไม่ได้ยิน ใครแสดงอาการอย่างไรฉันก็ไม่เห็น พระท่านบอกว่ามีตาก็บอดๆ เสียมั่ง มีหูก็ทำเป็นคนหูตึงเสียบ้าง มีลิ้นพูดได้ก็เป็นใบ้เสียบ้าง เรื่องมันไม่ยุ่ง ที่เรามันเขาเรียกว่า หาเรื่อง ตาหาเรื่อง หูหาเรื่อง ปากหาเรื่อง เรื่องไม่ควรพูด เที่ยวไปพูดกับเขา ไม่ควรดูก็จะไปดูเขา ไม่ควรฟังก็เสือกไปฟังกับเขา นี่เขาเรียกว่า หาเรื่อง เราก็เฉยๆ เสียบ้าง ธุระไม่ใช่เสียบ้างในเรื่องที่มันไม่จำเป็น หรือว่ามีเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควรเกิดขึ้นเราก็รีบบอกตัวเองว่าอย่าไปยุ่งกับเขา เขายุ่งอยู่คนเดียวก็พอแล้ว อย่าไปเพิ่มคนยุ่งขึ้นอีกสักคนหนึ่งเลย แล้วใครเขาทำอะไรเราก็เฉยทำไม่รู้ไม่ชี้ เขาจะพูดอะไรเราก็เฉย เขาแสดงอาการอะไรเราก็เฉย ก็เป็นการสอนคนนั้นอยู่ในตัวว่า เฉยเสียบ้าง วางเสียบ้าง ปล่อยเสียบ้าง แล้วมันจะไม่ยุ่ง แล้วเขาจะได้บทเรียนสำหรับชีวิต


นี่เป็นวิธีการทั้งนั้น เราต้องทำกับตัวเราบ่อยๆ ทำสมาธิ ทำใจเย็น มีอะไรเกิดขึ้นก็เอามาพิจารณาให้เห็นว่า เรามันบกพร่อง เราขาดสติ เราขาดปัญญา ใจร้อน ใจเร็ย มันจึงได้รับผลอย่างนี้ ทีหลังอย่าทำอย่างนี้ เตือนตัวเองไว้อย่างนั้น แล้วก็ต้องเตือนบ่อยๆ ในเมื่อมีอะไรจะเกิด เช่นว่าไปหาใคร เกี่ยวข้องกับงานใด กิจใด มันจะเกิดอะไรก็คอยบอกคอยเตือนตัวไว้ว่า อย่าเกิดสิ่งนั้นอย่าคิดสิ่งนั้น อย่าพูดอย่างนั้น ระวังตัวไว้ ระวังไว้ คอยเตือนอย่างนั้น เรื่องอันตรายภายในก็จะไม่เกิดขึ้นแก่ตัวเรา เราจะมีชีวิตสดชื่นสมความตั้งใจ นี้เป็นเรื่องที่สมควรคิดประการหนึ่ง วันนี้พูดมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้.

คัดลอกจาก... http://www.panya.iirt.net

:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร