วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 18:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ธรรมบรรยาย
หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ
วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา



:b48: 01.ศีล สมาธิ ปัญญา

เกี่ยวกับพระไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญานั้น
หลวงพ่อท่านเคยอธิบายไว้ให้ฟังว่า ผู้มี ศีล ดี ย่อมเป็นพื้นฐานของสมาธิ
และสามารถยังปัญญาให้เกิดได้ ผู้ที่มี สมาธิ ดี
ย่อมสามารถสร้างปัญญาให้เกิดและเล็งเห็นความสำคัญของการมีศีล
สำหรับผู้ที่มี ปัญญา ดีแล้ว ย่อมมีความฉลาดสามารถครอบคลุม
รู้ถึงวิธีการรักษาศีล และย่อมได้ตัวสมาธิด้วย
จะเห็นว่าพระไตรสิกขาทั้งสามข้อนี้ เกี่ยวเนื่องกันหมด
โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกัน
ดังเช่นคำของครูบาอาจารย์บางท่านว่า
สมาธิอบรมปัญญา และปัญญาอบรมสมาธิ
ซึ่งท่านเน้นทางด้านปัญญาที่มีความสำคัญครอบคลุมทุกอย่าง
ดังภาพข้างล่างซึ่งหลวงพ่อดู่ท่านเคยเขียนอธิบายให้ศิษย์ท่านหนึ่ง

ศีล-สมาธิ-ปัญญา
สมาธิ-ปัญญา-ศีล
ปัญญา-ศีล-สมาธิ


:b48: 02.อานิสงส์การภาวนา

หลวงพ่อท่านเคยพูดเสมอว่า"อุปัชฌาย์ข้า (หลวงพ่อกลั่น) สอนว่า
ภาวนาได้เห็นแสงสว่างเท่าปลายหัวไม้ขีด
ชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่าช้างกระดิกหูงูแลบลิ้น
ยังมีอานิสงส์มากกว่าตักบาตรจนขันลงหินทะลุ"
พวกเรามักจะได้ยินท่านคอยให้กำลังใจอยู่บ่อยๆ ว่า
"หมั่นทำเข้าไว้ หมั่นทำเข้าไว้ ต่อไปจะได้เป็นที่พึ่งภายหน้า"
เสมือนหนึ่งเป็นการเตือนให้เราเร่งความเพียรให้มาก
การให้ทานรักษาศีลร้อยครั้งพันครั้ง
ก็ไม่เท่ากับนั่งภาวนาหนเดียวนั่งภาวนาร้อยครั้งพันครั้ง
กุศลที่ได้ก็ไม่เท่ากุศลจิตที่สงบเป็นสมาธิเกิดปัญญาเพียงครั้งเดียว


:b48: 03.ควรทำหรือไม่?

ครั้งหนึ่ง มีลูกศิษย์หลวงพ่อผู้สนใจธรรมปฏิบัติกำลังนั่งภาวนาเงียบอยู่
ไม่ห่างจากท่านเท่าใดนัก บังเอิญมีแขกมาหาศิษย์ผู้นั้นแต่ไม่เห็น
ก็มีศิษย์อีกท่านหนึ่งเดินเรียกชื่อท่านผู้กำลังนั่งภาวนาอยู่ด้วยเสียงอันดัง
และเมื่อเดินมาเห็นศิษย์ผู้นั้นกำลังภาวนาอยู่
ก็จับแขนดึงขึ้นมาทั้งที่กำลังนั่งภาวนา เมื่อผู้นั้นห่างไปแล้ว
หลวงพ่อท่านจึงเปรยขึ้นมาว่า "ในพุทธกาลครั้งก่อน
มีพระอรหันต์องค์หนึ่งกำลังอยู่นิโรธสมาบัติได้มีนกแสกตัวหนึ่ง
บินโฉบผ่านหน้าท่านพร้อมกับร้อง "แซ๊ก"
ท่านว่านกแสกตัวนั้นเมื่อตายแล้วได้ไปอยู่ในนรก
แม้กัปนี้พระพุทธเจ้าผ่านไปได้พระองค์ที่สี่แล้ว
นกแสกตัวนั้นยังไม่ได้ขึ้นมาจากนรกเลย"


:b48: 04.แสงสว่างเป็นกิเลส?

มีคนเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า มีผู้กล่าวว่าการทำสมาธิแล้ว
บังเกิดความสว่างหรือเห็นแสงสว่างนั้นไม่ดี เพราะเป็นกิเลสมืดๆ จึงจะดี
หลวงพ่อท่านกล่าวว่า "ที่ว่าเป็นกิเลสก็ถูกแต่เบื้องแรก
ต้องอาศัยกิเลสไปละกิเลส (อาศัยกิเลสส่วนละเอียดไปละกิเลสส่วนหยาบ)
แต่ไม่ได้ให้ติดในแสงสว่างหรือหลงแสงสว่าง แต่ให้ใช้แสงสว่างให้ถูก
ให้เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างกับเราเดินผ่านไปในที่มืด
ต้องใช้แสงไฟหรือจะข้ามแม่น้ำ มหาสมุทรก็ต้องอาศัยเรือ อาศัยแพ
แต่เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่ได้แบกเรือแบกแพขึ้นฝั่งไป"
แสงสว่างอันเป็นผลจากการเจริญสมาธิก็เช่นกัน
ผู้มีสติปัญญา สามารถใช้เพื่อให้เกิดปัญญาอันเป็นแสงสว่างภายใน
ที่ไม่มีแสงใดเสมอเหมือนดังธรรมที่ว่า
"นัตถิ ปัญญา สมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี"


:b48: 05.ปลูกต้นธรรม

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเคยเปรียบการปฏิบัติธรรมเหมือนการปลูกต้นไม้
ท่านว่า...ทำนี้มันยาก ต้องคอยบำรุงดูแลรักษาเหมือนกับเราปลูกต้นไม้

ศีล...................นี่คือ ดิน
สมาธิ................คือ ลำต้น
ปัญญา...............คือ ดอก ผล

ออกดอกเมื่อใดก็มีกลิ่นหอมไปทั่ว
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกันผู้รักการปฏิบัติต้องคอยหมั่นรดน้ำพรวนดิน
ระวังรักษาต้นธรรม ให้ผลิดอก ออกใบ มีผลน่ารับประทาน
ต้องคอยระวัง ตัวหนอน คือ โลภ โกรธ หลง
มิให้มากัดกินต้นธรรมได้อย่างนี้...จึงจะได้ชื่อว่าผู้รักธรรม รักการปฏิบัติจริง


คัดลอกจาก.... http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... _01_01.htm

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 06.เทวทูตทั้งสี่

ธรรมะที่หลวงพ่อยกมาสั่งสอนศิษย์เป็นประจำมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ เทวทูตทั้งสี่
หลวงพ่อท่านหมายถึงผู้เตือน ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย
หลวงพ่อเล่าถึงเทวทูตทั้งสี่ สรุปได้ว่า

เมื่อเราเกิดมาแล้ว

เรามีความแก่เป็นธรรมดา

เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา

เรามีความตายเป็นธรรมา

ท่านว่า " ให้พิจารณาดูให้ดีให้เห็นอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา "


:b48: 07.เรารักษาศีล ศีลรักษาเรา

ศีลเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง
หลวงพ่อมักจะเตือนเสมอว่าในขั้นต้นให้หมั่นสมาทานรักษาศีลให้ได้
แม้จะเป็นโลกียศีล รักษาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้าง
ก็ให้เพียงระวัง รักษาไป สำคัญที่เจตนาที่จะรักษาศีลไว้
และปัญญาที่คอยตรวจตราแก้ไขตน "เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ"
ท่านว่าเจตนาเป็นตัวศีล "เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ" เจตนาเป็นตัวบุญ
จึงขอให้พยายามสั่งสมบุญนี้ไว้ โดยอบรมศีลให้เกิดขึ้นที่จิตเรียกว่า เรารักษาศีล
ส่วนจิตที่อบรมศีลดีแล้ว จนเป็นโลกุตรศีลเป็นศีลที่ก่อให้เกิดปัญญาในอริยมรรค
อริยผลนี้จะคอยรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติมิให้เสื่อมเสีย
หรือตกต่ำไปในทางที่ไม่ดีไม่งามนี้แลเรียกว่า ศีลรักษาเรา


:b48: 08.แนะวิธีปฏิบัติ

เคยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมีปัญหาถามว่า
นั่งปฏิบัติภาวนาแล้วจิตไม่รวม ไม่สงบ ควรจะทำอย่างไร
ท่านแก้ให้ว่า " การปฏิบัติ ถ้าอยากเป็นเร็วๆ มันก็ไม่เป็น
หรือไม่อยากให้เป็น มันก็ประมาทเสีย ไม่เป็นอีกเหมือนกัน
อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ
ตั้งใจให้แน่วแน่ในกัมมัฏฐานที่เรายึดมั่นอยู่นั้น แล้วภาวนาเรื่อยไป
เหมือนกับเรากินข้าวไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อยๆ กันไปมันก็อิ่มเอง
ภาวนาก็เช่นกันไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ
หน้าที่ของเราคือ ภาวนาไปก็จะถึงของดี ของวิเศษในตัวเรา
แล้วจะรู้ชัดขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป "


:b48: 09.อุบายวิธีทำความเพียร

ครั้งหนึ่งที่ได้สนทนาปัญหาธรรมกับหลวงพ่อ
ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า...เขามาถามปัญหาเข้า
ข้าก็ตอบไม่ได้อยู่ปัญหาหนึ่ง ผู้เขียนเรียนถามท่านว่า "ปัญหาอะไรครับ"
ท่านเล่าว่า " เขาถามว่า ขี้เกียจ (ปฏิบัติ) จะทำอย่างไรด ี"
หลวงพ่อหัวเราะ ก่อนที่จะตอบต่อไปว่า " บ๊ะ ขี้เกียจก็หมดกัน ก็ไม่ต้องทำซิ”
สักครู่ท่านจึงเมตตาสอนว่า " หมั่นทำเข้าไว้ๆ ถ้าขี้เกียจให้นึกถึงข้า
ข้าทำมา 50 ปี อุปัชฌาย์ข้าเคยสอนไว้ว่า
ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่ก็ต้องทำ วันไหนเลิกกินข้าว...นั่นแหละถึงไม่ต้องทำ "


:b48: 10.หลวงพ่อทวดกับศิษย์

ในตอนบ่ายของวันหนึ่ง หลวงพ่อดู่ได้สนทนาธรรมกับศิษย์ผู้ปฏิบัติท่านหนึ่งว่า
" ข้าโมทนาสาธุด้วย ไม่เสียทีที่เกิดมาแล้ว นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ
เอาจริงได้เลย เรียนแล้วต้องไปประดับเอาเอง ไปถามครูบาอาจารย์ตัวนอก
ตัวนอกเขาก็ปุถุชนเหมือนกันใครอ่านหนังสือมากใครรู้มาก เขาแบ่งกันออกไป "
จากนั้นท่านก็ได้เล่าถึงหลวงพ่อทวดให้ฟังว่า
ฉันไม่ใช่เป็นอาจารย์หรอก อาจารย์นั่นพระพุทธเจ้า หลวงพ่อทวดมั่น
ฉันเป็นลูกศิษย์ท่าน หลวงพ่อทวดท่านก็ไม่ยอมเป็นอาจารย์นะ
เคยมีลูกศิษย์จะขอให้หลวงพ่อทวดท่านตั้งแบบให้ ได้ถามท่านว่า
"หลวงพ่อ ช่วยตั้งแบบปฏิบัติให้ที"" ข้าตั้งไม่ได้
" ท่านตอบ" เพราะเหตุไร หลวงพ่อ " ศิษย์เรียนถาม"
ก็ข้าเป็นศิษย์พระสมณโคดม ถ้าข้าตั้ง ข้าก็สบประมาทท่าน
ผิดจากแบบพระไตรปิฎก ต้องหาแบบใหม่มา เป็นบาป " ท่านตอบ"
ถ้าอย่างนั้น ผมขอหลวงพ่อช่วยเหลือในหมู่คณะปฏิบัติ" ศิษย์ขอร้อง
ท่านจึงตอบว่า " เออ! งั้นได้ ช่วยเหลือสนับสนุนพระพุทธเจ้าเดิม
เพื่อประโยชน์พระศาสนาต่อไปภายหน้า "

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 18:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 11.เสกข้าว

ครั้งหนึ่งเคยมีศิษย์บางท่านนำข้าวมาให้หลวงพ่อ
ท่านเสกอธิษฐานจิตให้ทานเสมอ ซึ่งท่านก็เมตตาไม่ขัด
แต่บ่อยๆ เข้าท่านก็พูดว่า "เสกอะไรกันให้บ่อยๆ เสกเองบ้างซิ"
คำพูดนี้ท่านได้ขยายความให้ฟังในภายหลังว่า คำว่า เสกเอง
คือ การเสกตนเองให้เป็นพระ ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติต่อจิตใจของตนเอง
ยกระดับให้สูงขึ้น หรือมีใจเป็นพระบ้าง
มิใช่จะเป็นท่านอธิษฐานเสกเป่าของภายนอก
เพื่อหวังเป็นมงคลถ่ายเดียว โดยไม่คิดเสกตนเองด้วยตนเอง


:b48: 12.สำเร็จที่ไหน

มีผู้ปฏิบัติธรรมบางท่านข้องใจข้อปฏิบัติธรรมะ
เกี่ยวกับการวางที่ตั้งตามฐานของจิตในการภาวนา
จึงได้ไปเรียนถามหลวงพ่อตามที่เคยได้รับรู้ รับฟังมาว่า
" การภาวนาที่ถูกต้อง หรือจะสำเร็จมรรคผลได้นั้น
ต้องตั้งจิตวางจิตไว้ที่กลางท้องเท่านั้น ใช่หรือไม่? "
หลวงพ่อท่านตอบอย่างหนักแน่นว่า
" ที่ว่าสำเร็จนั้นสำเร็จที่จิต ไม่ได้สำเร็จที่ฐาน
คนที่ภาวนาเป็นแล้วจะตั้งจิตไว้ที่ปลายนิ้วชี้ก็ยังได ้"
แล้วท่านก็บอกจำนวนที่ตั้งตามฐานต่างๆ ของจิตให้ฟัง
จะเห็นได้ว่าท่านไม่ได้เน้นว่าต้องวางจิตใจที่เดียวที่นั่นที่นี่
เพราะฐานต่างๆ ของจิตเป็นทางผ่านของลมหายใจทั้งสิ้น
ท่านเน้นที่สติและปัญญาที่มากำกับใจต่างหาก
สมดังในพระพุทธพจน์ที่ว่า " มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยาฯ"
"ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่เป็นประธานสำเร็จได้ด้วยใจ "


:b48: 13.อารมณ์อัพยากฤต

เคยมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า
อารมณ์อัพยากฤตไม่จำเป็น ต้องมีได้เฉพาะพระอรหันต์ ใช่หรือไม่?
ท่านตอบว่า " ใช่ แต่อารมณ์อัพยากฤตของพระอรหันต์ท่านทรงตลอดเวลา
ไม่เหมือนปุถุชนที่มีเป็นครั้งคราวเท่านั้น " ท่านอุปมาอารมณ์ให้ฟังว่า
เปรียบเสมือนคนไปยืนที่ตรงทางสองแพร่ง
ทางหนึ่งไปทางดี (กุศล) อีกทางหนึ่งไปในทางที่ไม่ดี (อกุศล)
ท่านว่า อัพยากฤตมี 3 ระดับ คือ ระดับหยาบ
คือ อารมณ์ปุถุชนที่เฉยๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ซึ่งมีเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ระดับกลาง มีในผู้ปฏิบัติสมาธิ มีสติ มีความสงบของจิต
วางอารมณ์จากสิ่งที่ดี ที่ชั่ว ดังที่เรียกว่าอุเบกขารมณ์
ระดับละเอียด คือ อารมณ์ของพระอรหันต์
ซึ่งไม่มีทั้งอารมณ์ที่คิดปรุงไปในทางดีหรือในทางไม่ดี
วางอารมณ์อยู่ได้ตลอดเวลาเป็นวิหารธรรมของท่าน


:b48: 14.การบวชจิต-บวชใน

หลวงพ่อเคยปรารภไว้ว่า...จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี
ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีศีล รักในการปฏิบัติจิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด
ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน
ได้เท่าเทียมกันทุกคนไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะ
แต่อย่างใดไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้
นอกจากในของผู้ปฏิบัติเอง ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า.....
" ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้า เป็นพระอุปัฌาย์ ของเรา ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ...ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แล้วอย่าสนใจขันธ์ 5 หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี
มีความยินดีในการบวช ชายก็เป็นพระภิกษุ หญิงก็เป็นพระภิกษุณี
อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว "


:b48: 15.อุปมา ศีล สมาธิ ปัญญา

ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับหลวงน้าสายหยุด
ท่านได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
หลวงพ่อเคยเปรียบธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนแกงส้ม
แกงส้มนั้นมี 3 รส คือ เปรี้ยว เค็ม และเผ็ด ซึ่งมีความหมายดังนี้
รสเปรี้ยว หมายถึง ศีล ความเปรี้ยวจะกัดกร่อนความสกปรกออกได้ฉันใด
ศีลก็จะขัดเกลาความหยาบออกจากกาย วาจา ใจ ได้ฉันนั้น
รสเค็ม หมายถึง สมาธิ ความเค็มสามารถรักษาอาหารต่างๆ
ไม่ให้เน่าเสียได้ฉันใด สมาธิก็สามารถรักษาจิตของเรา
ให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณความดีได้ฉันนั้น
รสเผ็ด หมายถึง ปัญญา ความเผ็ดร้อนโลดแล่นไป เปรียบได้ดั่งปัญญา
ที่สามารถก่อให้เกิดความคิด ขจัดความไม่รู้
เปลี่ยนจากของคว่ำเป็นของหงาย จากมืดเป็นสว่างได้ฉันนั้น

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2009, 15:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 16.ตรี โท เอก

ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนจะจัดทำบุญเพื่อเป็นกตัญญูกตเวทิตาธรรม
น้อมถวายแด่หลวงพ่อเกษม เขมโก
เนื่องในโอกาสที่หลวงพ่อท่านมีอายุครบ 74 พรรษา
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 ผู้เขียนได้เรียนถามหลวงพ่อว่า
" การทำบุญอย่างไร จึงจะดีที่สุด "
หลวงพ่อท่านได้เมตตาตอบว่า
" ของดีนั้นอยู่ที่เราของดีนั้นอยู่ที่จิตจิตมี 3 ชั้น ตรี โท เอก
ถ้าตรีก็ต่ำหน่อย โทก็ปานกลาง เอกนี่อย่างอุกฤษฎ์มันไม่มีอะไร
...ก็ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตัวอนัตตานี่แหละเป็นตัวเอกไล่ไปไล่มา
ให้มันเห็นสังขารร่างกายเรา ตายแน่ๆคนเราหนีตายไปไม่พ้นตายน้อย
ตายใหญ่ตายใหญ่ก็หมด ตายน้อยก็หลับไปตรองดูให้ดีเถอะ... "


:b48: 17.ต้องสำเร็จ

หลวงพ่อเคยสอนว่า... " ความสำเร็จนั้นมิใช่อยู่ที่การสวดมนต์อ้อนวอน
พระเจ้ามาประทานให้ หากแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง
ถ้าตั้งใจทำตามแบบแล้ว ทุกอย่างต้องสำเร็จ
ไม่ใช่ จะสำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านวางแบบเอาไว้แล้ว
ครูบาอาจารย์ทุกองค์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด
ก็ได้ทำตามแบบเป็นตัวอย่าง ให้เราดู อัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุกันหมด
เมื่อได้ไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบแล้ว ขอให้ลงมือทำทันที
ข้าขอรับรองว่าต้องสำเร็จ ส่วนจะช้า หรือเร็วนั้น อยู่ที่ความเพียรของผู้ปฏิบัติ "
ขอให้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า "สิ่งนั้น บัดนี้เราได้ลงมือทำแล้วหรือยัง?"


:b48: 18.พระนิพพาน

เคยมีศิษย์นักปฏิบัติท่านหนึ่งได้ถามหลวงพ่อเกี่ยวกับเรื่องของพระนิพพาน
หลวงพ่อท่านได้ตอบให้ฟังเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดว่า
" พระนิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้
หรือไม่ได้อยู่เพียงนิดเดียวในการทำจิตตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น
พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน
ท่านได้ปรินิพพานไปในระหว่างรูปฌาณและอรูปฌาน
ผู้ที่ดับขันธ์ในระหว่างทรงรูปฌานย่อมได้เป็นรูปพรหมซึ่งยังไม่วิมุติหลุดพ้น
ผู้ที่ดับขันธ์ในขณะทรงอรูปฌาน ย่อมได้เป็นอรูปพรหม
ซึ่งก็ยังเป็นสมมติอยู่เช่นกัน ส่วนพระพุทธเจ้าท่านดับขันธ์ระหว่างช่วงทั้งสอง
เป็นการดับขันธ์ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง
ไม่ติดอยู่ทั้งในรูปฌานและอรูปฌานซึ่งเป็นวิปัสนูกิเลสทั้งสองอย่าง
พระอรหันต์บางประเภทที่ไม่สามารถเจริญอรูปสมาบัติ
ท่านก็ดับขันธ์ไปด้วยความบริสุทธิ์เช่นกัน
แม้อยู่ก็อยู่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ติดในสมมติใดๆ
เพราะความชำนาญในด้านสมาธิของพระอรหันต์แต่ละประเภทนั้นไม่เท่ากัน"


:b48: 19.จะเอาโลกหรือเอาธรรม

บ่อยครั้งที่มีผู้มาถามปัญหากับหลวงพ่อ โดยมักจะนำเอาเรื่องราวต่างๆ
ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน สามี ภรรยา ลูกเต้า ญาติ มิตร หรือคนอื่นๆ
มาปรารภให้หลวงพ่อฟังอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ให้คติเตือนใจผู้เขียนว่า
"โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม "
ซึ่งต่อมาท่านได้ให้ความหมายว่า
"เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด
เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา
ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง
ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้วต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง
ถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา
เพราะธรรมแท้ๆ ย่อมเกิดจากในตัวของเรานี้ทั้งนั้น "


:b48: 20.การอุทิศส่วนกุศลภายนอกภายใน

มีบางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายของหลวงพ่อ
ซึ่งท่านเมตตาทำเป็นปกติ จึงมีความหวังว่าเมื่อตนตาย
หลวงพ่อท่านจะเมตตาให้บุญส่งวิญญาณ ส่งจิตไปสวรรค์ไปนิพพานได้
ด้วยตนเป็นผู้เข้าวัดทำทานและปรนนิบัติหลวงพ่อมานาน
หลวงพ่อท่านก็เมตตาเตือนว่า
"ถ้าข้าตายไปก่อน แล้วใครจะส่ง (บุญ) ให้แกล่ะ" ด้วยความไม่เข้าใจ
ท่านผู้นั้นจึงมีคำตอบว่า "ขอให้หลวงพ่ออยู่ต่อไปนานๆ ให้พวกผมตายก่อน"
นี่เป็นจุดชวนคิดในคำเตือนของท่านที่บอกเป็นนัยว่า
การไปสุคติหรือการหลุดพ้นนั้น ต้องปฏิบัติ ต้องสร้างด้วยตนเองเป็นสำคัญ
มิใช่หวังจะพึ่งบุญพึ่งกุศลผู้อื่น การอาศัยผู้อื่นเมื่อตายแล้วนั้น
เป็นเพียงส่วนน้อยที่อาจจะได้ อีกทั้งยังเป็นความไม่แน่นอนด้วย
สู้ทำด้วยตัวเองไม่ได้เป็นแง่คิดให้คิดว่า
ต้องปฏิบัติตนให้มั่นใจในตนเองตั้งแต่ก่อนตาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติให้รู้แจ้งในธรรมตั้งแต่ปัจจุบันชาตินี้เป็นดียิ่งทีเดียว

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2009, 15:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 21.ธรรมโอวาท

เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในวงของผู้ปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อท่านได้ให้โอวาทเตือนผู้ปฏิบัติไว้ว่า
"การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกัน
มากเข้าย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา
ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฏฐิความเห็นย่อมต่างกัน
ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลวมาอวดกัน"
การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจ้วงจาบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หรือท่านที่มีศีล มีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเรา
และขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า
ดังนั้น หากเห็นใครทำความดี ก็ควรอนุโมทนายินดีด้วย
แม้ต่างวัด ต่างสำนักหรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม ไม่มีใครผิดหรอก
เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน
เพียงแต่เราจะทำให้ดี ดียิ่ง ดีที่สุดเท่านั้น
ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า " แล้วเราล่ะ ถึงที่สุดแล้วหรือยัง? "


:b48: 22.นายระนาดเอก

เกี่ยวกับเรื่องไหวพริบ ปฏิภาณและตัวปัญญา
หลวงพ่อท่านได้ยกตัวอย่าง เรื่องของนายระนาดเอกไว้ให้ฟังว่า
สมัยก่อนการเรียนระนาดนั้น อาจารย์จะสอนวิชาการตีระนาดแม่ไม้ต่างๆ
โดยทั่วไปแก่ศิษย์ ส่วนแม่ไม้วิชาครูจะเก็บไว้เฉพาะตน
มิได้ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ผู้หนึ่งผู้ใด อยู่มาวันหนึ่ง
นายระนาดเอกพักผ่อนนอนเล่นอยู่ใต้ถุนเรือนที่บ้านอาจารย์ของตน
ได้ยินเสียงอาจารย์ของเขากำลังต่อเพลงระนาดทบทวนแม่ไม้วิชาครูอยู่
นายระนาดเอกก็แอบฟัง ตั้งใจจดจำไว้จนขึ้นใจ
วันหนึ่งอาจารย์ได้เรียกศิษย์ทุกคนมาแสดงระนาดให้ดูเพื่อทดสอบฝีมือ
ถึงครานายระนาดเอก ก็ได้แสดงแม่ไม้วิชาครูซึ่งไพเราะกว่าศิษย์ผู้อื่น
อาจารย์รู้สึกแปลกใจมากที่ศิษย์สามารถแสดงแม่ไม้ของครูได้
โดยที่ตนไม่เคยสอนมาก่อน จึงถามนายระนาดเอกว่า
ไปได้แม้ไม้นี้มาจากไหน นายระนาดเอกจึงตอบว่า
" ได้มาจากใต้ถุนเรือน ครับ " แล้วหลวงพ่อได้สรุปให้พวกเราฟังว่า
การเรียนรู้ธรรมก็เช่นกัน ต้องลักเขา แอบเขาเรียน
คือ จดจำเอาสิ่งที่ดีงามของผู้อื่นมาปฏิบัติแก้ไขตนเองให้ได้
ตัวท่านเองสอนได้บอกทางได้แต่ไม่หมด ที่เหลือเราผู้ปฏิบัติต้องค้นคว้าเอง
ฝึกฝนนำไปประดับด้วยตนเอง
ใครไหวพริบดีก็เรียนได้เร็ว เหมือนนายระนาดเอกในเรื่องนี้


:b48: 23.คำสารภาพของศิษย์

เราเป็นศิษย์รุ่นปลายอ้อปลายแขม และมีความขี้เกียจเป็นปกติก่อนที่เราจะไปวัด
เราไม่เคยสนใจทำอะไรจริงจังยาวนาน
คือ เราสนใจทำจริงจังแต่ก็ประเดี๋ยวเดียว
เมื่อเราได้ไปวัด ด้วยความอยากเห็นอยากรู้เหมือนที่เพื่อนบางคนเขารู้
เขาเห็น เราจึงพยายามทำ แต่มันไม่ได้
ความพยายามของเราก็เลยลดน้อยถอยลงตามวันเวลาที่ผ่านไป
แต่ความอยากของเรามันไม่ได้หมดไปด้วย
พอขี้เกียจหนักเข้า เราจึงถามหลวงพ่อว่า
" หนูขี้เกียจเหลือเกินค่ะ จะทำยังไงดี "
เราจำได้ว่าท่านนั่งเอนอยู่ พอเรากราบเรียนถามท่านก็ลุกขึ้นนั่งฉับไว
มองหน้าเรา แล้วบอกว่า " ถ้าข้าบอกแก้ไม่ให้กลัวตาย แกจะเชื่อข้าไหมล่ะ "
เราเงียบเพราะไม่เข้าใจที่ท่านพูดตอนนั้นเลย
อีกครั้งหนึ่งปลอดคน เรากราบเรียนถามท่านว่า
" คนขี้เกียจอย่างหนูนี้ มีสิทธิ์ถึงนิพพานได้หรือไม่ "
หลวงพ่อท่านนั่งสูบบุหรี่ยิ้มอยู่และบอกเราว่า
" ถ้าข้าให้แกเดินจากนี่ไปกรุงเทพฯ แกเดินได้ไหม "
เราเงียบแล้วยิ้มแห้งๆ ท่านจึงพูดต่อว่า
" ถ้าแกกินข้าวสามมื้อ มันก็มีกำลังวังชา เดินไปถึงได้
ถ้าแกกินข้าวมื้อเดียว มันก็พอไปถึงได้แต่ช้าหน่อย
แต่ถ้าแกไม่กินข้าวไปเลย มันก็คงไปไม่ถึง ใช่ไหมล่ะ "
เรารู้สึกเข้าใจความข้อนี้ซึมซาบเลยทีเดียว
แล้วหลวงพ่อท่านก็พูดต่อว่า
" เรื่องทำม้งธรรมะอะไรข้าพูดไม่เป็นหรอก
ข้าก็เป็นแต่พูดของข้าอย่างนี้แหละ "


:b48: 24.สั้นๆ ก็มี

เคยมีผู้ปฏิบัติกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า " หลวงพ่อครับ ขอธรรมะสั้นๆ
ในเรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อให้กิเลส 3 ตัว
คือ โกรธ โลภ หลง หมดไปจากใจเรา จะทำได้อย่างไรครับ "
หลวงพ่อตอบเสียงดังฟังชัด จนพวกเราในที่นั้นได้ยินกันทุกคนว่า "สติ"


:b48: 25.วัดผลการปฏิบัติด้วยสิ่งใด?

มีผู้ปฏิบัติหลายคน ปฏิบัติไปนานเข้าชักเขว ไม่แจ้งว่าตนปฏิบัติไปทำไม
หรือปฏิบัติไปเพื่ออะไร ดังครั้งหนึ่ง เคยมีลูกศิษย์กราบเรียน
ถามหลวงพ่อท่านว่า " ภาวนามาก็นานพอสมควรแล้ว
รู้สึกว่ายังไม่ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆ มีนิมิตภายนอก แสดงสีต่างๆ เป็นต้น
ดังที่ผู้อื่นเขารู้เห็นทางปฏิบัติกันเลย " หลวงพ่อท่านย้อนถาม สั้นๆ ว่า
" ปฏิบัติแล้ว โกรธ โลภ หลง แกลดน้อยลงหรือเปล่าล่ะ ถ้าลดลงข้าว่าแกใช้ได้ "

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2009, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 26.ของจริง ของปลอม

เมื่อหลายปีก่อน ได้เกิดไฟไหม้ที่วัดสะแกบริเวณกุฏิตรงข้ามกุฏิหลวงพ่อ
แต่ไฟไม่ไหม้กุฏิหลวงพ่อ เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ศิษย์และผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
ถึงขนาดมีฆราวาสท่านหนึ่งคิดว่าหลวงพ่อท่านมีพระดี มีของดี ไฟจึงไม่ไหม้กุฏิท่าน
ผู้ใหญ่ท่านนั้นได้มาที่วัดและกราบเรียนหลวงพ่อว่า
" หลวงพ่อครับ ผมขอพระดีที่กันไฟได้หน่อยครับ "
หลวงพ่อยิ้มก่อนตอบว่า " พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ไตรสรณคมน์นี่แหละพระดี "
ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็รีบบอกว่า " ไม่ใช่ครับผมขอพระเป็นองค์ๆ อย่างพระสมเด็จน่ะครับ "
หลวงพ่อก็กล่าวยืนยันหนักแน่นอีกว่า
" ก็พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละมีแค่นี้ล่ะ ภาวนาให้ดี"
แล้วหลวงพ่อก็มิได้ให้อะไรจนผู้ใหญ่ท่านนั้นกลับไป
หลวงพ่อจึงได้ปรารภธรรมอบรมศิษย์ที่ยังอยู่ว่า
" คนเรานี่ก็แปลก ข้อให้ของจริงกลับไม่เอา จะเอาของปลอม "


:b48: 27.จะตามมาเอง

หลายปีมาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้มาบวชปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสะแก
ก่อนที่จะลาสิกขาเข้าสู่เพศฆราวาส
ท่านได้นัดแนะกับเพื่อนพระภิกษุที่จะสึกด้วยกัน 3 องค์ว่า
เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนสึกพวกเราจะไปกราบขอให้หลวงพ่อพรมน้ำมนต์และให้พร
ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่หลวงพ่อพรมน้ำมนต์ ให้พรอยู่นั้น
ท่านก็นึกอธิษฐานอยู่ในใจว่า
" ขอความร่ำรวยมหาศาล ขอลาภขอผลพูนทวีมีกินมีใช้ไม่รู้หมด
จะได้แบ่งไปทำบุญมากๆ "
หลวงพ่อหันมามองหน้าหลวงพี่ที่กำลังคิดละเมอเพ้อฝันถึงความร่ำรวยนี้
ก่อนที่จะบอกว่า" ท่าน ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ
แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะจะตามมาทีหลัง "


:b48: 28.สติธรรม

บ่อยครั้งที่พวกเราถูกหลวงพ่อท่านดุในเรื่องของการไม่สำรวมระวัง
ท่านมักจะดุว่า " ให้ทำ (ปฏิบัติ) ไม่ทำ
ทำประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวออกมาจับกลุ่มกันอีกแล้ว ทีเวลาคุย คุยกันได้นาน "
ปฏิปทาของท่านต้องการให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติตั้งใจทำให้จริงมีสติ
สำรวมระวัง แม้เวลากินข้าว ท่านก็ให้ระวังอย่าพูดคุยกันเอะอะเสียงดัง
"สติ" นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
ที่จะทำให้เราได้หยุดคิดพิจารณาก่อนที่จะทำ จะพูด
และแม้แต่จะคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว
มีคุณประโยชน์หรือเสียหาย ควรกระทำหรือควรงดเว้นอย่างไร
เมื่อยั้งคิดได้ก็จะช่วยให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดประณีต
และสามารถกลั่นกรองเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์ออกให้หมด
คงเหลือแต่เนื้อที่ถูกต้องและเป็นธรรมซึ่งเป็นของควรคิด ควรพูด ควรทำแท้ๆ


:b48: 29.คนดีของหลวงพ่อ

ธรรมะที่หลวงพ่อนำมาอบรมพวกเราเป็นธรรมที่สงบเย็น
และไม่เบียดเบียนใครด้วยกรรมทั้งสามคือ ความคิด การกระทำ และคำพูด
ครั้งหนึ่งท่านเคยอบรมศิษย์เกี่ยวกับวิธีสังเกตคนดีสั้นๆ
ประโยคหนึ่ง คือ "คนดี เขาไม่ตีใคร" ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม
หรือการทำงานในทางโลกนั้นย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน
เป็นธรรมดาของโลกปุถุชน หากเรากระทำการสิ่งใดซึ่งชอบด้วยเหตุและผล
คือ ได้พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว อย่าไปกลัวว่าใครเขาจะว่าอะไรเรา
ใครเขาจะโกรธเรา แต่ให้กลัวที่เราจะไปว่าอะไรเขา กลัวที่เราจะไปโกรธเขา


:b48: 30.อุเบกขาธรรม

เรามักจะเห็นการกระทำที่เป็นคำพูดและการแสดงออกอยู่บ่อยๆ
ส่วนการกระทำที่เป็นการนิ่ง ที่เรียกว่ามีอุเบกขานั้น ไม่ค่อยได้เห็นกัน
ในเรื่องการสร้างอุเบกขาธรรมขึ้นในใจนั้น
ผู้ปฏิบัติใหม่เมื่อได้เข้ามารู้ธรรม เห็นธรรม
ได้พบเห็นสิ่งแปลกๆ และคุณค่าของพุทธศาสนา
มักเกิดอารมณ์ ความรู้สึกว่าอยากชวนคนมาวัด มาปฏิบัติให้มากๆ
โดยลืมดูพื้นฐานจิตใจ ของบุคคลที่กำลังจะชวน
ว่าเขามีความสนใจมากน้อยเพียงใด
หลวงพ่อท่านบอกว่า ให้ระวังให้ดี จะเป็นบาป
เปรียบเสมือนกับการจุดไฟไว้ตรงกลาง ระหว่างคน 2 คน
ถ้าเราเอาธรรมะไปชวนเขา เขาไม่เห็นด้วย
ปรามาสธรรมนี้ ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า
ก็เท่ากับเราเป็นคนก่อ แล้วเขาเป็นคนจุดไฟ บาปทั้งคู่
เรียกว่า เมตตาจะพาตกเหว แล้วท่านก็ยกอุทาหรณ์สอนต่อว่า
" เหมือนกับมีชายคนหนึ่งตกอยู่ในเหวลึก มีผู้จะมาช่วยคนที่หนึ่งมีเมตตา
จะมาช่วยเอาเชือกดึงขึ้นจากเหว ดึงไม่ไหวจึงตกลงไปในเหวเหมือนกัน
คนที่สองมีกรุณามาช่วยดึงอีก ก็ตกลงเหวอีก
คนที่สามมีมุทิตามาช่วยดึงอีกก็พลาดตกลงเหวอีกเช่นกัน
คนที่สี่สุดท้ายเป็นผู้มีอุเบกขาธรรม
เห็นว่าเหวนี้ลึกเกินกว่ากำลังของตนที่จะช่วย ก็มิได้ทำประการใด
ทั้งๆ ที่จิตใจก็มีเมตตาธรรม ที่จะช่วยเหลืออยู่
คนสุดท้ายนี้จึงรอดชีวิตจากการตกเหวตาย เพราะอุเบกขาธรรมนี้แล "

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2009, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 31.หลวงพ่อกับในหลวง

หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน
ครั้งที่ท่านได้ฟังข่าวในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต
ท่านเกิดความสลดสังเวชมากว่าคนไทย
หลายคนยังขาดกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระเจ้าอยู่หัว
ท่านคิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจะให้คนไทยมีความรักชาติ
ศาสนาและพระมหากษัตริย์
องค์ท่านเองนั้นตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งทุกวันนี้
แม้กาลเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี กิจวัตรอันหนึ่งท่านทำอยู่มิได้ขาด
คือ การสวดมนต์ถวายพระพรแด่ในหลวงทุกวันตลอดมา
ขอให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญคนไทยตลอดไป
หลวงพ่อยังได้กล่าวกับผู้เขียนอีกว่าเพราะพระเจ้าแผ่นดิน (ร.9)
ท่านปฏิบัติ (ธรรม) ต่อไปพุทธศาสนาในเมืองไทยจะเจริญขึ้น
เพราะท่านเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่าง


:b48: 32.หนึ่งในสี่

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้ปรารภธรรมกับผู้เขียนว่า...
" ข้านั่งดูดยา มองดูซองยาแล้วก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า
เรานี่ปฏิบัติได้ 1 ใน 4 ของศาสนาแล้วหรือยัง?
ถ้าซองยานี้แบ่งเป็น 4 ส่วน เรานี่ยังไม่ได้ 1 ใน 4
มันจวนเจียนจะได้แล้วมันก็คลาย
เหมือนเรามัดเชือกจนเกือบจะแน่นได้ที่แล้วเราปล่อย
มันก็คลายออก เรานี่ยังไม่เชื่อจริง ถ้าเชื่อจริงก็ต้องได้ 1 ใน 4 แล้ว "
ต่อมาภายหลังท่านได้ขยายความให้ผู้เขียนฟังว่า ที่ว่า 1 ใน 4 นั้น
อุปมาดั่งการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลในพุทธศาสนา
ซึ่งแบ่งเป็นขั้นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีและอรหัตผล
อย่างน้อยเราเกิดมาชาติหนึ่งชาตินี้ ได้พบพระพุทธศาสนา
ซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติอันล้ำค่าแล้ว
หากไม่ปฏิบัติธรรมให้ได้ 1 ใน 4 ของพุทธศาสนาเป็นอย่างน้อย
คือ เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ปิดประตูอบายภูมิให้ได้
ก็เท่ากับว่าเราเป็นผู้ประมาทอยู่
เหมือนเรามีข้าวแล้วไม่กิน มีนาแล้วไม่ทำ ฉันใดก็ฉันนั้น


:b48: 33.ธรรมะจากซองยา(บุหรี่)

บ่อยครั้งที่หลวงพ่อมักจะหยิบยกเอาสิ่งของรอบตัวท่าน
มาอุปมาเป็นข้อธรรมะให้ศิษย์ได้ฟังกันเสมอ
ครั้งหนึ่งท่านได้อบรมศิษย์ผู้หนึ่งเกี่ยวกับการรู้เห็นและได้ธรรมว่า
มีทั้งชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด
อุปมาเหมือนอย่างซองยานี่ (หลวงพ่อท่านชี้ไปที่ซองบุหรี่)
" แต่แรกเราเห็นแค่ชอบของมัน
แล้วเราจะไปเห็นมวนบุหรี่อยู่ในซองนั่น
ในมวนบุหรี่แต่ละมวนก็ยังมียาเส้นอยู่ภายในอีก
แล้วที่สุดจะเกิดตัวปัญญาขึ้น
รู้ด้วยว่ายาเส้นนี้ทำมาจากอะไรจะเรียกว่า เห็นในเห็น
ก็ได้ลองไปตรองดูแล้วเทียบกับตัวเราให้ดีเถอะ "


:b48: 34.ปรารภธรรม

แต่ไหนแต่ไรมา คนเราเกิดมาแล้วมีแต่ความวุ่นวายสารพัดอย่าง
ปรุงแต่งต่างๆ นานานับไม่ถ้วนเหลือที่จะคณา
เมื่อเรามาทำความสงบแม้เพียงประเดี๋ยวเดียวก็รู้สึกว่า เย็นใจสบายใจ
เราก็ควรรักษาความเย็นอันนี้ ความสบายอันนั้นไว้ให้ตลอดไป
จึงจะเป็นไปเพื่อความสุขซึ่งเป็นความปรารถนาของคนทั่วไป
เมื่อได้ความสุขนั้นมาแล้วก็จงรักษาความสุขนั้นไว้
ของหาได้ง่ายแต่รักษาได้ยาก
ครั้นทำได้แล้วที่จะรักษาไว้ให้ได้นานนั้นยากที่สุด
เพราะอะไร เพราะกิริยาอาการทุกอย่างของเรา
มันกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลา
เป็นต้นว่า ยืน เดิน นั่ง นอน การพูด การคุย การกิน สารพัด ทุกอย่าง
เป็นเรื่องกระทบอายตนะทุกสิ่งทุกประการ
จิตมันก็ส่งไปตามอายตนะจึงว่ารักษาได้ยาก
ถ้าหากผู้ทำได้ชำนิชำนาญคล่องแคล่วเสียแล้ว
ท่านรู้เท่ารู้เรื่องท่านตามรู้ตามเห็นทุกสิ่งทุกประการ
มันจะมาแบบไหนก็ตามรู้เรื่องของมันจิตส่งไปก็เป็นธรรมะ
จะคิดนึกถึงก็เป็นธรรมะ มันปรุงมันแต่งก็เป็นธรรมะ
ถ้ารู้เท่ารู้เรื่องมันเป็นธรรมดาเป็นของมันอย่างนั้นเป็นธรรมะทั้งหมด
ผู้ปฏิบัติจะเห็นความดีความชั่วของตน
ตรงนี้แหละมันเป็นธรรมหรือมันเป็นโลก ก็เห็นกันที่ตรงนี้ ที่จิตนี่


:b48: 35.ข้อควรคิด

การไปวัด ไปไหว้พระ ตลอดจนการสนทนาธรรมกับท่าน
สมควรที่จะต้องมีความตั้งใจและเตรียมให้พร้อมที่จะรับธรรมจากท่าน
มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดเป็นโทษได้ ดังเรื่องต่อไปนี้
ปกติของหลวงพ่อท่านมีความเมตตา อบรมสั่งสอนศิษย์
และสนทนาธรรมกับผู้สนใจตลอดมา
วันหนึ่งมีผู้มากราบนมัสการท่านและเรียนถามปัญหาต่างๆ จากนั้นจึงกลับไป
หลวงพ่อท่านได้ยกเป็นคติเตือนใจให้ผู้เขียนฟังว่า
" คนที่มาเมื่อกี้ หากไปเจอพระดีละก็ลงนรก ไม่ไปสวรรค์ นิพพานหรอก"
ผู้เขียนจึงเรียนถามท่านว่า "เพราะเหตุไรครับ "
ท่านตอบว่า " ก็จะไปปรามาสพระท่านน่ะซี ไม่ได้ไปเอาธรรมจากท่าน "
หลวงพ่อเคยเตือนพวกเราไว้ว่า " การไปอยู่กับพระอรหันต์อย่าอยู่กับท่านนาน
เพราะเมื่อเกิดความมักคุ้นแล้ว มักทำให้ลืมตัวเห็นท่านเป็นเพื่อนเล่น
คุยเล่นหัวท่านบ้าง ให้ท่านเหาะให้ดูบ้างถึงกับบอกปากให้ท่านเลยก็มี
การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการปรามาสพระ ลบหลู่ครูอาจารย์และเป็นบาปมาก
ปิดกั้นทางมรรคผลนิพพานได้ จึงขอให้พวกเราสำรวมระวังให้ดี"

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2009, 17:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 36.ไม่พยากรณ์

เกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติธรรมแล้วจะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานหรือไม่
เคยมีพระภิกษุท่านหนึ่งได้มากราบนมัสการและเรียนถามหลวงพ่อว่า
" หลวงพ่อครับ กระผมจะได้สำเร็จหรือไม่ หลวงพ่อช่วยพยากรณ์ทีครับ "
หลวงพ่อนิ่งสักครู่หนึ่งก่อนตอบว่า " พยากรณ์ไม่ได ้"
พระภิกษุรูปนั้นได้เรียนถามต่อว่า " เพราะเหตุไรหรือครับ "
หลวงพ่อจึงตอบว่า " ถ้าผมบอกว่าท่านได้สำเร็จ
หากท่านเกิดประมาทไม่ปฏิบัติต่อ มันจะสำเร็จได้อย่างไร
และถ้าผมบอกว่าท่านไม่สำเร็จท่านก็คงจะขี้เกียจ
และจะทิ้งการปฏิบัติไป นิมนต์ท่านทำต่อเถอะครับ "


:b48: 37.วัดของคนเข้าวัด

การเข้าวัด

วัด หมายถึง สถานที่ที่เป็นสัดส่วน สะอาด สงบ สบายและร่มเย็น
ควรแก่การเคารพบูชา โดยสถานที่ พระสงฆ์ผู้ประพฤติธรรม
ตลอดจนวัตถุสิ่งของเครื่องสักการะต่างๆ ก็ดี
เป็นที่รวมเอาคนและวัตถุเข้าด้วยกัน
รวมคุณงามความดีทั้งหลายไว้เป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ
ให้สูงค่าควรแก่การทะนุบำรุงเพื่อความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาล
มิได้หมายถึงสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามหรือเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยทั่วไป
ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าวัดเป็นที่เที่ยว

วัด คือ การตรวจสอบขนาดความกว้าง ความยาว ความหนา ความบาง
หรือสูงต่ำ ดำขาวในคน สัตว์และสิ่งของ วัดปริมาณ วัดความรู้ ความสามารถ
วัดคุณภาพเพื่อให้รู้ผลลัพธ์ การเข้าวัดคืออะไร เข้าอย่างไร เข้าที่ไหน
การเข้าวัดต่างกับการไปวัดอย่างไรนี้
เป็นสิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน
มิฉะนั้นการเข้าวัดของเราอาจเกิดเป็นโทษมากกว่าเกิดเป็นคุณโดยที่เรามิได้ตั้งใจ
การไปวัด คือ การไปดูไปชมภายในบริเวณวัด
ความสวยงามของธรรมชาติ ศิลปการปลูกสร้าง ธรรมเนียมประเพณีของวัด
ความเป็นอยู่ของพระเณร ดูคนที่ไปอยู่วัดไปเพื่อรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์
เพื่อเสาะแสวงหาโชค หาดวง หาเครื่องรางของขลัง ดูกันไป ฟังกันไป พูดกันไป
จริงบ้างไม่จริงบ้าง มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง
ถูกใจตนก็ว่าดี ไม่ถูกใจตนก็โกรธ ก็เคือง นี้คือ เรื่องของคนไปวัด
ส่วนการเข้าวัด คือ การเข้าไปดูใจของตน
วัดความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีอยู่ในใจ เพื่อชำระสะสางให้หมดไป
กล้าหาญในการที่จะชำระซักฟอกจิตใจของตนให้สะอาดผ่องใส
ไม่ชักช้าลังเลในการตัดสินใจที่จะทำดี หลีกหนีให้ไกลจากความชั่ว
หลีกเลี่ยงหรือพยายามทำผิด ทำชั่วให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
ลงมือเรียนรู้และศึกษาธรรมให้ถึงเนื้อแท้ของธรรม
ลงมือปฏิบัติด้วยความพอใจ ขยันหมั่นเพียร เอาใจฝักใฝ่ในการปฏิบัติ
ดูกายดูจิตไม่วางธุระของตน พยามใช้ปัญญาคิดค้นพิจารณาถึงเหตุถึงผล
ให้เห็นกายในกาย จิตในจิต โดยไม่ลำเอียงหรือมีอคติ
วัดตนเองออกมาให้เห็นให้ชัดเจน
มิใช่ไปวัดดูคนอื่น เพ่งโทษผู้อื่นจนลืมดูโทษใหญ่
โทษน้อยที่เกิดขึ้นภายในตนทั้งทางกาย วาจา และใจ
มิฉะนั้นจะเป็นการเข้าผิดวัดและวัดผิด เป็นการปิดทางเข้าวัด
ปิดประตูทางที่จะก้าวเดินไปสู่ความเจริญ
คือ อริยมรรค อริยผลของตนโดยสิ้นเชิง

วัดคนเข้าวัด

สำหรับผู้เข้าวัดถูก มิใช่วัดผิด และผิดวัด
ก็จะเกิดมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งติดอยู่ที่ใจ เรียกคุณลักษณะพิเศษนี้ว่า "วัตร"
วัตรของคนเข้าวัด จะประกอบด้วยทาน-การให้
มีความยินดีที่จะช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เสมอตามกำลังของตน
ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติ ปัญญา ศีล-ความสำรวมระวัง
ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ด้วยกาย วาจา ใจ จนเกิดเป็นความสงบเย็นแก่ตน
ครอบครัว สังคมและส่วนรวม ภาวนาความงอกงามของจิตใจ
ซึ่งกอปรด้วยสติและปัญญา เป็นใจที่เฉลียวฉลาด
รู้เท่าทันอารมณ์และความคิดต่างๆ และความคุ้มให้เป็นไปในทางที่ดี
รู้เห็นเรื่องราวต่างๆ รอบตัวตามสภาวธรรม ตามความเป็นจริงได้
วัดของคนเข้าวัดเป็นอย่างนี้

คำบูชาพระ

นะโมพุทธายะ พระพุทธ ไตรรัตนญาณ

มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา

พุธโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ

พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

อัคคีทานัง วะรังคันธัง สีวลีจะมหาเถรัง

อะหังวันทามิ ทูระโต

อะหังวันทามิ ธาตุโย

อะหังวันทามิ สัพพะโส

พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ


:b48: 38.พระดีที่น่าเคารพ

ปกติเวลาเราไปไหวพระสุปฏิปันโนหรือพระที่ทรงคุณธรรม
บางครั้งมักจะมีการขอให้ท่านช่วยอธิษฐานจิตวัตถุมงคลที่นำไป
ผู้เขียนและคณะบางครั้งเวลาที่ท่านมีสุขภาพดีอารมณ์แจ่มใส
จึงขอให้ท่านทำให้ มีครั้งหนึ่งผู้คนไปกันมากของที่จะให้ท่านอธิษฐาน
มีหลายอย่างรวมกันไป เมื่อท่านอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อพูดขึ้นว่า

" เจอดีหลายๆ องค์ พระนะ แต่องค์นี้เป็นพระดีมาก "

ท่านชี้ไปที่ล็อกเกตพระสงฆ์องค์หนึ่ง เมื่อผู้เขียนหยิบมาดู จึงกราบเรียนท่านว่า

" ก็เป็นล็อกเกตรูปหลวงพ่อไงละครับ ที่ทางวัดเขาทำให้บูชา "

หลวงพ่อท่านจึงรีบตอบว่า

" เอ้าข้าไม่รู้ ทำไว้ซะเล็กเลยมองไม่เห็นว่าเป็นองค์ไหน "

มีลูกศิษย์อีกคนจึงถามท่านว่า

" ทำไมหลวงพ่อจึงรู้ละครับ "

ท่านจึงตอบว่า

" ข้าก็ไม่รู้เพียงแต่มีความรู้สึกพิเศษ แกถามอาจารย์เขาดูดีกว่า "

หลวงพ่อท่านเลี่ยงมาให้ผู้เขียนตอบแทน แต่ผู้เขียนได้แต่ยิ้มไม่ตอบอะไร
จนเมื่อลาหลวงพ่อกลับจึงตอบให้ฟังว่า

" หลวงพ่อท่านคงมีเมตตาที่เห็นพวกเราทุกคนเคารพท่าน แล้วไม่สงสัยท่าน
ท่านจึงบอกอย่างนี้ก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคงมีแสงสว่างจากพลังจิตใจ
ในคุณพระที่ท่านอธิษฐานไว้ ไปปรากฏที่หลวงพ่อก็ได้ อะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ "

เรื่องของพระดีที่มีคุณธรรมนี้ หลวงพ่อท่านเคยบอกผู้เขียนว่า

" เวลาที่ไปไหว้พระองค์ไหนก็ตาม ถ้าผู้ที่ทำเห็นแล้วจะรู้ได้
เพราะท่านจะมีที่อยู่ของท่านเฉพาะ
ถ้าองค์ไหนเราเห็นท่านอยู่ในที่ของท่านแล้ว องค์นั้นแหละพระดี
ข้อสำคัญต้องทำให้เห็น หรือเวลาแกไปเจอภาพพระองค์์ไหนก็ตาม
เอามือแตะภาพท่านทำใจเฉยๆ ถ้าขึ้น (ปีติ) มาถึงหัวแสดงว่าองค์นั้นดี"

ผู้เขียนเคยนำรูปของสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศไปให้ท่านอธิษฐานจิต
พอหลวงพ่อท่านแตะรูปท่านบอกว่า

" องค์นี้เป็นพระดีมีบารมีสูงมากพอกับหลวงพ่อโตวัดระฆัง จะมากกว่าเสียด้วย
ถ้าแกไม่เชื่อลองจับดูก็ได้ "

ผู้เขียนรีบตอบท่านว่าไม่ละครับ เพราะผู้เขียนรู้ตัวเองดีว่าคุณธรรมของเรายังน้อยนิด
บารมีของเรายังไม่เท่ากับหนึ่งในล้านส่วน
ของเศษละออง ธุลีพระบาทของพระโสดาบันเลย
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งในองค์หลวงพ่อมาก
ที่ท่านมีเมตตาสั่งสอน เพื่อให้ความรู้ และความกระจ่างกับ ลูกศิษย์

สากจฺฉาย ปญฺญา เวทิตพฺพา

ปัญญารู้ได้ด้วยการสนทนา

พุทธพจน์

:b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2009, 21:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ก.ค. 2009, 20:12
โพสต์: 791

แนวปฏิบัติ: พุทโธและสัมมาอรหัง
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: ใต้ร่มโพธิญาณ
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




1181607254.jpg
1181607254.jpg [ 97.59 KiB | เปิดดู 7052 ครั้ง ]
กราบนมัสการหลวงปู่ดู่ และอนุโมทนาในธรรมทานครับสาธุ

.....................................................
ข้าพเจ้าขออาราธนาพระบารมี 30 ทัศ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จนิพพานไปแล้ว มากยิ่งกว่าเม็ดกรวดเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรทั้ง 4 ด้วยเดชะพระพุทธานุภาพ พระธรรมมานุภาพ พระสังฆานุภาพ พระบารมีพระโพธิสัตว์ พระปัจเจกโพธิสัตว์เจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายและพระบารมีขององค์พระสมณะโคดมบรมครู ขอได้ส่งพลังมายังตัวข้าพเจ้า จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าหายจากโรคภัยไข้เจ็บและสรรพเคราะห์ทั้งหลายในกายของข้าพเจ้า จงหายไปสิ้นทั้งหมดขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชนะต่ออุปสรรคและมารทั้งหลาย
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2019, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร