วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


[๔๓๑] สติปัฏฐาน ๔ คือ
๑. ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนืองๆ อยู่
พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและ
ภายนอกเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัส
เสียได้ในโลก

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นเวทนา
ในเวทนาภายนอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอก
เนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้
ในโลก

๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตภาย
นอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกเนืองๆ อยู่ มีความ-
*เพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสเสียได้ในโลก

๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรมใน
ธรรมภายนอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในและภายนอกเนืองๆ
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก

*************************

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒
วิภังคปกรณ์

จิตตานุปัสสนานิเทส

[เห็นจิตในจิตภายใน]

[๔๔๕] ก็ภิกษุ พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในเนืองๆ อยู่ เป็นอย่างไร
ภิกษุในศาสนานี้ เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเรามีราคะ หรือเมื่อ
จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราปราศจากราคะ

เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเรามีโทสะ หรือเมื่อจิตปราศจากโทสะ
ก็รู้ชัดว่า จิตของเราปราศจากโทสะ

เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเรามีโมหะ หรือเมื่อจิตปราศจากโมหะ
ก็รู้ชัดว่า จิตของเราปราศจากโมหะ

เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราหดหู่ หรือเมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่า จิต
ของเราฟุ้งซ่าน

เมื่อจิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราเป็นมหัคคตะ หรือเมื่อจิตไม่
เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราไม่เป็นมหัคคตะ

เมื่อจิตเป็นสอุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราเป็นสอุตตระ หรือเมื่อจิตเป็น
อนุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตของเราเป็นอนุตตระ

เมื่อจิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตของเราตั้งมั่น หรือเมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า
จิตของเราไม่ตั้งมั่น

เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตของเราหลุดพ้น หรือเมื่อจิตยังไม่หลุดพ้น
ก็รู้ชัดว่า จิตของเรายังไม่หลุดพ้น

ภิกษุนั้น ย่อมเสพ เจริญ ทำให้มาก กำหนดด้วยดี ซึ่งนิมิตนั้น ภิกษุ
นั้น ครั้นเสพ เจริญ ทำให้มาก กำหนดด้วยดี ซึ่งนิมิตนั้นแล้ว ย่อมน้อมจิต
เข้าไปในจิตภายนอก

[เห็นจิตในจิตภายนอก]

[๔๔๖] ก็ภิกษุ พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกเนืองๆ อยู่ เป็นอย่างไร
ภิกษุในศาสนานี้ เมื่อจิตของเขาผู้นั้นมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้น
มีราคะ หรือเมื่อจิตของเขาผู้นั้นปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้น
ปราศจากราคะ

เมื่อจิตของเขาผู้นั้นมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นมีโทสะ หรือเมื่อ
จิตของเขาผู้นั้นปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นปราศจากโทสะ

เมื่อจิตของเขาผู้นั้นมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นมีโมหะ หรือเมื่อ
จิตของเขาผู้นั้นปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นปราศจากโมหะ

เมื่อจิตของเขาผู้นั้นหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นหดหู่ หรือเมื่อจิต
ของเขาผู้นั้นฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นฟุ้งซ่าน

เมื่อจิตของเขาผู้นั้นเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นเป็นมหัคคตะ
หรือเมื่อจิตของเขาผู้นั้นไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นไม่เป็นมหัคคตะ

เมื่อจิตของเขาผู้นั้นเป็นสอุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นเป็นสอุตตระ
หรือเมื่อจิตของเขาผู้นั้นเป็นอนุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นเป็นอนุตตระ

เมื่อจิตของเขาผู้นั้นตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นตั้งมั่น หรือเมื่อจิต
ของเขาผู้นั้นไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นไม่ตั้งมั่น

เมื่อจิตของเขาผู้นั้นหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นหลุดพ้น หรือ
เมื่อจิตของเขาผู้นั้นยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตของเขาผู้นั้นยังไม่หลุดพ้น

ภิกษุนั้น ย่อมเสพ เจริญ ทำให้มาก กำหนดด้วยดี ซึ่งนิมิตนั้น ภิกษุ
นั้น ครั้นเสพ เจริญ ทำให้มาก กำหนดด้วยดี ซึ่งนิมิตนั้นแล้ว ย่อมน้อมจิต
เข้าไปในจิตทั้งภายในและภายนอก

[เห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอก]

[๔๔๗] ก็ภิกษุ พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกเนืองๆ อยู่
เป็นอย่างไร

ภิกษุในศาสนานี้ เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจาก-
*ราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากราคะ

เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า
จิตปราศจากโทสะ

เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า
จิตปราศจากโมหะ

เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน

เมื่อจิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหัคคตะ เมื่อจิตไม่เป็นมหัคคตะ
ก็รู้ชัดว่า จิตไม่เป็นมหัคคตะ

เมื่อจิตเป็นสอุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นสอุตตระ เมื่อจิตเป็นอนุตตระ ก็
รู้ชัดว่า จิตเป็นอนุตตระ

เมื่อจิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตตั้งมั่น เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่ตั้งมั่น

เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น เมื่อจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า
จิตยังไม่หลุดพ้น

ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุ ชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภาย
นอกเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส
เสียได้ในโลก

[๔๔๘] ในบทเหล่านั้น บทว่า พิจารณาเห็นเนืองๆ มีนิเทสว่า การ
พิจารณาเห็นเนืองๆ เป็นไฉน

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย
ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด
ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์
ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือ
ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า พิจารณาเห็นเนืองๆ

บทว่า อยู่ มีนิเทสว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่

บทว่า มีความเพียร มีนิเทสว่า ความเพียร เป็นไฉน

การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความตั้งหน้า ความพยายาม
ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความ
ไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคับประคองธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ กำลังคือ
วิริยะ สัมมาวายามะ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีความเพียร

บทว่า มีสัมปชัญญะ มีนิเทสว่า สัมปชัญญะ เป็นไฉน

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย
ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด
ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์
ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือ
ปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสัมปชัญญะ

บทว่า มีสติ มีนิเทสว่า สติ เป็นไฉน

สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่
เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติ

บทว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก มีนิเทสว่า โลก เป็น
ไฉน
จิตนั้นเอง ชื่อว่าโลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่า โลก

อภิชฌา เป็นไฉน
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ ความกำหนัดนักแห่งจิต อันใด
นี้เรียกว่า อภิชฌา

โทมนัส เป็นไฉน
ความไม่สบายทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็น
ทุกข์อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์อันเกิดแต่
เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า โทมนัส

อภิชฌาและโทมนัสดังกล่าวมานี้ ถูกกำจัด ถูกกำจัดราบคาบ สงบ ระงับ
เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไป
อย่างราบคาบ ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศ
ไปแล้ว ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก

จิตตานุปัสสนานิเทส จบ

ที่มา :
====
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... agebreak=0


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 12:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ย. 2008, 12:29
โพสต์: 814

ที่อยู่: กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


พอดีไปอ่านเจอในเวปนึงเข้าเลย เอามาโพสท์เพิ่มเติมครับ :b39:
จิตตานุปัสสนา

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อที่สาม ทำไมเรียกว่าจิตตานุปัสสนา เพราะจิตนี้ไม่มีตัวตน เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ต้องคิดอ่านอารมณ์อยู่ตลอดเวลา คิดนอกคิดใน ตั้งแต่ครั้งไหนมาก็บันทึกไว้ แล้วก็แสดงออกได้เรียกว่าจิต อารมณ์แบบนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันก็เกิด-ดับเรื่อย แต่เกิดดับเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ว่าเกิดดับ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นก็แปรปรวนดับไป มันก็เป็นอย่างนี้แหละหนอ จิตที่คิดออกไปนอกประเด็นก็มีมากหลาย จิตต้องกำหนดรู้หนอ คิดหนอ เป็นต้น นี่จากอารมณ์จิต เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติ ต้องคิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เหมือนเทปบันทึกเสียง เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานรู้ว่า จิตในจิต เวทนาในเวทนา เวทนาตัวในคือนามธรรม รู้แยกออกรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์เวทนาก็แยกออกไป จิตก็แยกออกมาเป็นนามธรรม จิตก็ไม่ไปสนใจในการปวด และเราจะปวดทำไมเล่า ไม่มีตัวตนจะปวด อย่างนี้เรียกว่า เวทนาในเวทนา

จิตภายในจิต หมายความว่า มีสติสัมปชัญญะตัวกำหนดภายในจิต จิตมีสติดี จิตมีสัมปชัญญะดี เรียกว่าภายในจิต ไม่มีตัวตน และเราก็มีสติควบคุมจิตต่อไป จิตก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในจิตภายนอก เรียกจิตนอกจิตใจก็เพราะอย่างนี้เอง คนที่สติสัมปชัญญะดี เรียกว่า จิตในจิต รู้ข้อคิดรู้ปัญญา รู้ความสามารถของตน รู้ความเป็นอยู่ของชีวิต ขอขยายให้ฟัง ต้องกำหนดรู้หนอ คิดหนอ จิตออกไปที่ไหนก็ไม่ทราบ ออกไปเดินนอกวัด ออกไปบ้านแฟน เที่ยวทั่วประเทศ เที่ยวทั่วโลกคือจิต แต่เรารู้ภายใน จิตก็เข้ามาอยู่ข้างใน คือนั่งทางใน คือปัญญา จิตมันก็มีปัญญา มีความสามารถ ประกอบกิจ ใช้จิตทั้งนั้น นี่คือจิตตานุปัสสนาเชิงปฏิบัติการ

ต้องกำหนดรู้ ต้องกำหนดคิด เพราะจิตมันต้องคิด จิตมันต้องรู้ จิตมันต้องเข้าใจ ถ้าแสงสว่างเกิดเป็นทางธรรมแล้ว เรียกว่านามธรรม จิตก็เกิดแสงสว่าง คือปัญญา รู้ภายในจิตของเรา รู้อารมณ์ของเราว่ามีความโลภเข้ามา มีความโกรธเข้ามา มีความหลงเข้ามา จิตเกิดทางอายตนะ ดังที่กล่าวนี้ ก็ต้องกำหนด ผู้ปฏิบัติธรรมต้องกำหนดทุกอิริยาบถ คนที่ไม่ปฏิบัติธรรม นานไปก็มีทิฐิสูง สะสมแต่กิเลส ไม่ได้สะสมรูปธรรม นามธรรม ให้เห็นแจ้งประจักษ์ชัดเจน ก็ไร้ผลไม่เกิดประโยชน์


:b40: ที่มา: http://www.jarun.org/v6/th/lrule04p0303.html

.....................................................
"มีสติเป็นเรือนจิต ใช้ชีวิตเป็นเรือนใจ ใช้ปัญญาเป็นแสงสว่างส่องทางเดินไปเถิด จะได้ล้ำเลิศในชีวิตของท่าน มีความหมายอย่างแท้จริง"
ในการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อท่านบอกว่า ให้ตัดปลิโพธกังวลใจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ลูก สามี ภรรยา ความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวง อย่าเอามาเป็นอารมณ์ จากหนังสือ: เจริญกรรมฐาน7วันได้ผลแน่นอน หัวข้อ12: ระงับเวรด้วยการแผ่เมตตา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 38 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร