วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 07:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มิ.ย. 2009, 10:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

คงไม่มีใครอยากจะอยู่ในชุมชนที่เต็มไปด้วยความอิจฉาพยาบาท
การชิงดีชิงเด่นกัน การพูดจาที่หยาบคายหรือก้าวร้าว
คงไม่มีใครชอบอยู่ด้วยความหวาดระแวงตลอดเวลา
มนุษย์เราอยากอยู่อย่างไร คงไม่ต้องให้สถาบันไหนหยั่งเสียงประชาชน
ขึ้นอยู่กับการกระทำได้ว่าชอบและไม่ ชอบอย่างไร
บรรยากาศในชุมชนขึ้นอยู่กับการกระทำ
และการพูดของสมาชิกมากกว่าอย่างอื่น
ความยากจน ความกดดันจากภายนอกอาจมีผลกระทบบ้าง
แต่ปัจจัยหลักคือสมาชิกชุมชนเอง
อาตมาจะขอสรุปลักษณะการกระทำและการพูดที่ตัวผู้เขียนไม่ชอบ
ขอให้ผู้อ่านลองดูว่าเห็นด้วยไหม

อาตมาไม่ชอบการเบียดเบียน การทำให้ผู้อื่นทุกข์ยากเดือดร้อน
การก่อกรรมทำเข็ญ การตามรังควาน การกลั่นแกล้ง
การระราน การข่มเหง การทำเจ็บทำแสบ การซ้ำเติม
การรุกราน การจองล้างจองผลาญ การบ่อนทำลาย การกดขี่ เป็นต้น

เขียนไปเขียนมา ที่ไม่ชอบก็เยอะเหมือนกัน
เขียนมากว่านี้ก็ได้ไม่อยากแต่กลัวจะเปลืองกระดาษ
แค่นี้ก็น่าจะพอเป็นตัวอย่าง
ไม่ทราบว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยกับอาตมาหรือเปล่า
ค่อนข้างมั่นใจว่าต้องเห็นด้วย

ยังไม่ถึงการพูดที่ไม่ชอบ ขอยกมาพอเป็นตัวอย่าง
คือไม่ชอบการพูดปด การพูดส่อเสียด การพูดหยาบคาย
การถากถางเสียดสี การพูดลามก การพูดจ้วงจาบหยาบช้า
การพูดตลบตะแลง การพูดทิ่มแทง
การพูดเยาะเย้ย การนินทาลับหลัง เป็นต้น

อาตมาเชื่อว่า ชุมชนไหนมีการกระทำและการพูดดังกล่าวเป็นประจำ
คงไม่เจริญและคงไม่น่าอยู่
สิ่งที่น่าเสียดายก็คือการกระทำ
และการพูดที่ไม่มีใครชอบ (อย่างน้อยในคนอื่น) นั้น
ยังปรากฏอยู่ในสังคมมนุษย์อย่างเกลื่อนกลาด
คำถามที่สำคัญคือ จำเป็นไหมที่จะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป
ถ้าไม่จำเป็น ทำอย่างไรจึงจะทำให้มนุษย์อยู่ด้วยกันดีกว่านี้

พระพุทธศาสนายืนยันว่า มนุษย์สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้
แต่ต้องตั้งใจแน่วแน่ และต้องใช้ปัญญา
การใช้อริยสัจสี่เป็นหลักพิจารณาจะช่วยให้การไตร่ตรองเรื่องนี้ชัดขึ้น
คือเรากำหนดตัวปัญหาสืบหาสาเหตุของปัญหา
ตั้งเป้าหมายคือ ภาวะที่ปลอดปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุดให้แจ่มแจ้ง
แล้วปฏิบัติตรงตามวิธีการที่ถูกต้อง
เพื่อขจัดสาเหตุของปัญหาและบรรลุถึงเป้าหมายนั้น


ฟังง่าย แต่ทำยากมาก

ครั้งหนึ่ง ตอนพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี
พระองค์ตรัสถึงหลักการอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนม
โดยเน้นที่การปฏิบัติต่อกันในหมู่สงฆ์ พระองค์ตรัสว่า ถ้าหากพระทุกรูป

• ตั้งใจกระทำแต่ในสิ่งที่เกิดจากเมตตาและประกอบด้วยเมตตา

• ตั้งใจพูดแต่ในสิ่งที่เกิดจากเมตตาและประกอบด้วยเมตตา

• ตั้งใจมองเพื่อนพรหมจารีและคิดต่อกันด้วยเมตตา

• ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปันลาภที่ได้มาอย่างสุจริต

• มีศีลที่ดีเสมอกับหมู่เพื่อน

• มีแนวความคิดความเห็นที่ดีเสมอกับหมู่เพื่อน

คือ ถ้าบำเพ็ญ สารณียธรรม ๖ ข้อนี้ จะทำให้เป็นที่ระลึกกัน
คือ ใครปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้แล้ว
เพื่อนจะไม่ลืม ไม่ทอดทิ้งธรรม ๖ ข้อนี้
ทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ และทำให้ชุมชนอยู่สงบไม่มีการวิวาทกัน
อยู่อย่างประสานกลมกลืน สมานสามัคคี


แม้ว่าพระสูตรนี้ ตรัสแก่พระภิกษุผู้มอบกายถวายชีวิต
ต่อการพัฒนาตนก็ตาม ฆราวาสผู้ครองเรือนก็สามารถเอาเป็นแนวทางได้
เพราะมีแต่ข้อ ๔ ที่มุ่งที่ชีวิตพรหมจรรย์โดยเฉพาะ

ในพระสูตรนี้คุณธรรมที่พระองค์เน้นมากที่สุดคือเมตตา
เมตตาคือความหวังดี ความปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข
โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่หวังสิ่งตอบแทน


การพัฒนาเมตตายากอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เหลือวิสัย
ที่ไม่ยากเกินไปก็เพราะว่าดินเราดี เมล็ดเรามี
หมายความว่า จิตใจมนุษย์เป็นที่เกิดและที่เจริญของเมตตาที่สมบูรณ์
เรียกว่า ดินเราดี นอกจากนี้เมตตานั้น
เป็นสิ่งที่เคยปรากฏในจิตของทุกคนอยู่แล้วไม่มากก็น้อย
เพียงแต่ว่าคนส่วนมากไม่เคยพัฒนาอย่างเป็นระเบียบและต่อเนื่อง
เรียกว่า เมล็ดเรามี เมื่อทรัพยากรเราพร้อมอย่างนี้
ก็สำคัญที่เราเห็นประโยชน์ในการมีเมตตาและโทษ ของการขาดเมตตา
เพราะกำลังใจย่อมเกิดจากการซาบซึ้งในประโยชน์


อานิสงส์ข้อแรกของเมตตาคือทำให้มีความสุขง่ายทันใจ
เมตตาเกิดในใจเราเมื่อไรความสุขก็เกิดเมื่อนั้น
ความสุขที่มั่นคงที่ชีวิตเราต้องการไม่เกิดลอย ๆ
มันเป็นผลของการกระทำทางกาย วาจา และใจอย่างต่อเนื่อง
เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง
เราทุกคนต้องการความสุข
เราก็ต้องฉลาดและขยันในการสร้างเหตุให้เกิดสุข
ทำอย่างไร พูดอย่างไร คิดอย่างไรจึงจะมีความสุข
พระพุทธองค์ตรัสว่าเมตตาเป็นทางลัด คือ สุขทันที
ไม่พยาบาทเสียอย่างก็เห็นผลแล้ว


อยากได้ความสุข ต้องให้ความสุข
และไม่มีใครในโลกนี้ไม่สามารถให้ความสุขแก่คนอื่น
ในระดับใดระดับหนึ่ง (ถ้าใครชอบมองตัวเองในแง่ร้าย
และค้านว่าฉันไม่เคยให้ความสุขกับใครเลย
อาตมาขอตอบว่า แค่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เจ้าภาพมีความสุขแล้ว)

ผู้ที่เจริญเมตตาอย่างสม่ำเสมอ จะไม่เครียด
นอนหลับดี (ประหยัดค่ายานอนหลับ)
หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส (ไม่ต้องเสียเงินผ่านั่นดึงนี่ จึงจะไร้ริ้วรอย)
เป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของอมนุษย์ (ผีไม่คิดหลอก เทวดาดูแล)
จิตสงบง่าย ตายมีสติ ตายแล้วไปที่ดี


เมื่อเมตตาดีอย่างนี้ ทำไมคนเราไม่หมั่นเจริญเมตตาอย่างจริงจัง
คำตอบคงจะง่าย ๆ ไม่ทำเพราะไม่เคยทำ
เป็นเรื่องธรรมดาว่าผู้ที่ไม่เคยพัฒนาเมตตาธรรม
ยังไม่เคยสัมผัสความสุขของจิตที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตา
มักไม่มีแรงบันดาลใจเพียงพอ
ซ้ำร้ายความเข้าใจผิดบางอย่างอาจคอยบั่นทอนความกระตือรือร้นก็ได้
คือ คนบางคนเสียดายความพยาบาท
โดยถือว่าเป็นกำลังภายในซึ่งป้องกันตัว
ทำให้คนอื่นเกรงข้าม ไม่กล้าเอาเปรียบ

การมองว่าเมตตาทำให้เราอ่อนแอ
ชวนให้คนอื่นเอาเปรียบเราได้ง่าย
เกิดจากความไม่เข้าใจธรรมชาติของเมตตา
เมตตาที่แท้ต้องมีปัญญาสนับสนุนเบื้องหลังอยู่เสมอ
(ที่จริงไม่ใช่เมตตาเท่านั้นที่เป็นอย่างนี้
คุณงามความดีทุกประการถ้าขาดปัญญาย่อมไม่ยั่งยืน
เพราะไม่ทันการบ่อนทำลายของกิเลส)
ปัญญานั่นแหละเป็นตัวควบคุมเมตตาให้ไปในทางปลอดภัย
ส่วนเมตตาขาดปัญญาอาจกลายเป็นการบำรุงกิเลสคนอื่น
มากกว่าการให้เขาเป็นสุข เช่น เขาขออะไรจากเรา
แล้วเราไม่พิจารณาถึงผลที่จะตามมาจากการเอาใจเขา
ให้ไปเพียงเพราะว่ารักหรือกลัวว่าขัดใจเขาแล้วเขาจะโกรธหรือไม่รักเรา
ในกรณีเช่นนี้ ความคิดในใจเรา ท่านไม่เรียกว่าเมตตาเสียแล้ว
มันหมดท่ามากกว่าใจอ่อนไม่ใช่ใจเมตตา

สรุปว่าเมตตา ความปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข
ต้องอิงความเข้าใจในเรื่องความสุขจึงจะถูกหลัก
ต้องจับความแตกต่างระหว่างความสุขที่มีผลเป็นความทุกข์ในระยะยาว
และความสุขที่มีผลคือความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป
อย่างแรกต้องสละ อย่างที่สองต้องทำให้มาก


กลับมาพูดถึงเรื่องพระสูตรย่อ
พระพุทธองค์ตรัสว่าชุมชนจะอยู่ดีเพระเมตตาของสมาชิก
พระองค์แยกเมตตาออกเป็นสามข้อคือ
เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรม
โดยกำชับว่าต้องปฏิบัติทั้งสามประการนี้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง


เมตตากายกรรม คือการกระทำที่เกิดจากความหวังดี
เช่น การช่วยเหลือกัน เกื้อกูลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
ช่วยพยาบาลเพื่อนที่เจ็บไข้ ช่วยกิจธุระของส่วนรวม
ทำความดีเงียบ ๆ แบบปิดทองหลังพระ มีของดีให้ส่วนรวม
พยายาม “ เอา ” เป็นคนสุดท้าย
(แต่ถ้าแย่งกันเป็นคนสุดท้ายแบบ “ เชิญ เชิญ ”
“ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร เชิญ เชิญ ” จนรำคาญกัน
ก็คือเมตตาขาดปัญญาอีกแหละ)
ถ้าทำความดีแล้วไม่มีใครชมเป็นอย่างไรไหม
ไม่น้อยใจ ไม่ท้อใจที่ถือว่าสอบผ่านในเรื่องเมตตากายกรรม
เขาชมก็ดีใจชั่วแว่บ ไม่เป็นไร แต่อย่าเอาจริงเอาจังกับมัน
เพราะเดี๋ยวจะติดใจ ช่วยคนอื่นอย่างนี้จะเคารพนับถือตัวเองมากขึ้น
ไม่ต้องหวังอะไรจากคนอื่น คนเขาเคารพนับถือไปเอง
เมื่อความดีปรากฏในชุมชน
สมาชิกต้องเห็นว่าบรรยากาศดีขึ้น แล้วมีกำลังใจที่จะทำความดีต่อไป


เมตตาวจีกรรม คือการพูดด้วยเมตตา
พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ พูดอย่างสุภาพอ่อนโยน
แบ่งปันความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นแก่นสารแก่คนอื่น
ไม่หวงวิชา ให้กำลังใจเวลาเพื่อนทุกข์ใจ เตือนสติเวลาเพื่อนประมาท
ห้ามปรามเวลาเพื่อนอยากทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง
เข้าไปไกล่เกลี่ยเวลาเพื่อนทะเลาะกัน

การดำรงสติในการพูดเป็นสิ่งที่ทำยาก
แต่ความหวังดีต่อคนรอบข้างช่วยประคองจิตไว้ในกุศล
และรักษาคำพูดเราไว้ในกรอบของสัมมาวาจาได้ดี
สำหรับผู้มีกิจธุระมาก มีเวลานั่งสมาธิน้อย
การพัฒนาวาจาของตนให้งาม น่าฟัง
ถึงใจผู้ฟัง เป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะดี


เมตตามโนกรรม คือฝึกมองกันในแง่ดี
ไม่ครุ่นคิดในเรื่องไม่ดีของคนรอบข้าง
ไม่คิดเพ่งโทษ หรือจับผิด ไม่คิดไปในทางแก้แค้นแต่คิดให้อภัย
ปล่อยวาง คิดหาวิธีสร้างประโยชน์แก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้น
และที่สำคัญที่สุดคือเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำ
วิธีการหนึ่งคือนั่งนึกภาพของสมาชิกชุมชนทุกคนทีละคน
และแผ่เมตตาให้เขาอย่างจริงใจ
คือ หายใจออกนึกเหมือนแสงสว่างนิ่มนวล
แผ่ออกจากตัวเราไปสู่ตัวเขา ถ้าเรากำลังโกรธใครเอาคนนั้นไว้สุดท้าย
แต่ถ้าเป็นไปได้ต้องพยายามแผ่ให้กับทุกคน
โดยไม่เอาความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ เป็นประมาณ
เราแผ่เมตตาแก่คนอื่นโดยไม่ต้องชอบบุคลิกเขาก็ได้
เพราะเมตตาไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
เป็นเรื่องการบรรเทาความแบ่งแยกว่าเราว่าเขา
ด้วยพลังแห่งพรหมวิหาร การกระทำ การพูด และการคิด
ดำเนินไปในทางแห่งเมตตา ทำให้ชุมชน
ตั้งแต่ครอบครัวตลอดจนถึงสังคมทั่งไปสงบลงได้
แต่ยังมีคุณธรรมข้ออื่นอีกที่ขาดไม่ได้


การเป็นสาธารณโภคี คือหลักความไม่เห็นแก่ตัว
หรือการให้ทานนั้นเอง

ในกรณีของพระ หมายถึง การแบ่งปันเอกลาภ ไม่ใช้สอย
ไม่สะสมปัจจัยสี่ไว้คนเดียว จนเป็นที่อิจฉาของเพื่อน
สำหรับผู้ครองเรือน น่าจะหมายถึงการแบ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สมบัติ
ให้เกิด ประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่สะสมไว้เฉย ๆ
ไม่เที่ยวอวดความมั่งมี
สังคมไหนมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างและกว้างขึ้นทุกปี
เป็นสังคมที่มีปัญหา แม้ในสังคมสงฆ์ซึ่งสมาชิกทุกคน
กำลyงพยายามชนะกิเลสของตน
ความอิจฉายังเป็นปัญหาอยู่เสมอ
นับประสาอะไรกับสังคมวัตถุนิยม
ที่ชวนให้คนไม่รวยรู้สึกต่ำต้อยและหมดหวัง

ข้อต่อไปคือการมี ศีลเสมอกัน
ศีลของสมาชิกชุมชนไหนไม่เสมอกันก็อยู่กันยาก
เช่นพระผู้ไม่จับเงินไปอยู่กับพระที่จับเงิน ทุกฝ่ายก็อึดอัดใจ
ฝ่ายเคร่งศีลมักจะรู้สึกรังเกียจฝ่ายที่ไม่เคร่ง
ฝ่ายไม่เคร่งก็เขินบ้าง แกล้งบ้าง หาว่าผู้เคร่งอวดดีบ้าง

ในบ้าน สามีชอบกินเหล้าเมา ภรรยาไม่กิน
ไม่นานก็ระหองระแหงกัน พูดไม่รู้เรื่อง
ถ้าการไม่รักษาศีลเป็นที่ยอมรับของทุกคนในชุมชน
อาจจะสามัคคีกันได้ แต่จะเป็นความสามัคคีของโจรผู้ร้าย
หรือจะกลายเป็นว่าเธอไม่ว่าฉัน ฉันจะไม่ว่าเธอ
ทุกคนหาผลประโยชน์ตามใจชอบ ของใครของมัน
บ้านนั้น สังคมนั้นย่อมไม่น่าอยู่

ศีลที่จะนำไปสู่การอยู่กันอย่างมีความสุข
และความเอ็นดูต่อกันพระพุทธองค์ทรงขยายความว่า

• ต้องไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
คือรักษาอย่างพิถีพิถันเห็นโทษในความย่อหย่อนแม้แต่เล็กน้อย
คือรักษาตรงตามตัวหนังสือ (ถูกพยัญชนะ)

• ต้องมีปัญญาป้องกันไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในศีล
ด้วยความคิดเห็น (เช่นถือว่าพระเคี้ยวหมากเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้)
หรือตัณหา (เช่นรักษาศีลเพราะอยากสร้างภาพพจน์ว่าเป็นคนดี
เพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง)

• ต้องเป็นศีลที่พระอริยเจ้าชื่นชม คือ งดงาม หมดจด

• ต้องเป็นศีลที่นำไปสู่สมาธิ
คือ ตรงตามวัตถุประสงค์ในไตรสิกขา (ถูกอรรถะ)


บทบาทของศีลในพระพุทธศาสนาไม่ได้จบอยู่ในตัวของมันเอง
การควบคุมกายวาจาด้วยสติ ภายในกรอบของสิกขาบทต่าง ๆ
ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิต
ฉะนั้นชาวพุทธเราต้องมุ่งมั่นในการใช้ศีล
ช่วยสร้างฐานแห่งความเรียบร้อยดีงาม
เพื่อความสะดวกในการเจริญในมรรคต่อไป

ผู้ที่ชอบหาทางเลี่ยงศีลบางข้อ เช่น ยืนยันว่าทานเหล้าไม่เมา
ไม่น่าจะผิด คงไม่เข้าใจในจุดนี้ คือไม่มองศีลเหมือนกฎหมาย
และการผิดศีลบางประการเหมือนผิดกฎหมายบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญพอที่จะต้องถูกปรับหรือติดคุก
แต่ศีลไม่เป็นกฎหมายเช่นนั้น
และไม่มีใครจะผู้ที่ไม่สามารรับประโยชน์จากศีลข้อนั้น
ซึ่งมีผลทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า
เพราะทุกครั้งที่ใครผิดศีลเขาย่อมเพิ่มกำลังของกิเลส
ที่ทำให้ละเมิดไม่มากก็น้อย

ศีลเป็นสารณียธรรม เพราะชุมชนแห่งผู้มีศีล
จะมีบรรยากาศแห่งความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
และความเคารพนับถือกัน ถ้าเรามั่นใจว่าใครไม่เป็นอันตรายต่อเรา
จะไม่เบียดเบียนเราเป็นอันขาด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
เราจะต้องชอบเขา และทุกคนน่าจะอยู่กันได้อย่างมีความสุข


ข้อสุดท้ายคือข้อที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นคุณธรรมที่รองรับข้ออื่น ๆ
การมีสัมมาทิฐิเสมอกัน ทำให้สมาชิกของชุมชนมีเป้าหมายอันเดียวกัน
เมื่อทุกคนมีความเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม
เชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง คำสอนของพระองค์คือความจริง
ผู้ที่ตรัสรู้ตามพระองค์มีจริง
นโยบายอันใดของชุมชนน่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกคน
เมื่อทุกคนเห็นด้วยว่าชีวิตดีงาม
เกิดจากการพัฒนากาย วาจา ใจ ตามหลักศีล สมาธิและปัญญา
วิถีชีวิตของทุกคนต้องเข้ากันได้ และทุกคนมีโอกาสเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน

สรุปว่าครอบครัวก็ดี ชุมชนก็ดี จะเจริญก็ด้วยมีความเชื่อถือค่านิยม
อุดมการณ์อันเดียวกัน การกระทำทางกาย วาจา ที่ถูกต้องตามหลักศีล
และประกอบด้วยเมตตาธรรม



คัดลอกจาก... http://kanlayanatam.com/sara/sara94.htm

:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38509

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22230


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มิ.ย. 2009, 10:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ลูกโป่ง เขียน:
พระพุทธศาสนายืนยันว่า มนุษย์สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้
แต่ต้องตั้งใจแน่วแน่ และต้องใช้ปัญญา
การใช้อริยสัจสี่เป็นหลักพิจารณาจะช่วยให้การไตร่ตรองเรื่องนี้ชัดขึ้น
คือเรากำหนดตัวปัญหาสืบหาสาเหตุของปัญหา
ตั้งเป้าหมายคือ ภาวะที่ปลอดปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุดให้แจ่มแจ้ง
แล้วปฏิบัติตรงตามวิธีการที่ถูกต้อง
เพื่อขจัดสาเหตุของปัญหาและบรรลุถึงเป้าหมายนั้น


:b43: :b43: :b43:

สาธุ...สาธุ...สาธุ
อนุโมทนาอย่างยิ่งด้วยนะคะ คุณลูกโป่ง

:b8: :b4: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มิ.ย. 2009, 13:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 ก.พ. 2009, 02:06
โพสต์: 811

อายุ: 0
ที่อยู่: มหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว


“สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี”
“ความสามัคคีพร้อมเพรียงแห่งหมู่นำสุขมาให้”
ขุ. ธ. ๒๕/๒๔/๔๑.

:b48: สาธุครับ :b48:

.....................................................
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด (หลวงพ่อชา สุภัทโท)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 เม.ย. 2019, 09:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2020, 10:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร