วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ต.ค. 2019, 14:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธานุสสติ
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
แสดงธรรม ณ โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๖


รูปภาพ

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การแสดงธรรมวันนี้ คิดว่าจะไม่พูดอะไรให้มาก
เพราะการแสดงธรรม ก็คือการนำเรื่องของธรรมะมาเล่าสู่กันฟัง
ตามความรู้และความสามารถของผู้ที่จะพูดได้มากน้อยเพียงใดแค่ไหน
และได้เคยผ่านการปฏิบัติ มีความรู้เข้าใจในหลักการปฏิบัติเพียงใดแค่ไหนตามขั้นภูมิของตัวเอง
การเรียนปริยัติหรือการฟังเทศน์นี้ เข้าใจว่าท่านทั้งหลายก็ฟังกันมามาก
และการปฏิบัติตามธรรมะที่เราได้ฟังและเรียนรู้แล้วนั้น ก็เข้าใจว่าจะมากพอๆ กัน

ณ โอกาสนี้ จึงใคร่ที่จะขอเชิญชวนบรรดาท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
จงกำหนดจิตตั้งใจว่า ฉันจะตั้งใจทำสมาธิให้ดวงจิตของฉันเป็นสมาธิสติภวังค์
เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ในสภาวธรรมตามความเป็นจริง
แล้วก็รวมเอาความรู้สึกทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ดวงจิต นึกถึงพระบรมครู
คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยภาษาบาลีว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ
แล้วก็นึกรวมลงไปที่จิตของเราว่าพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่จิต
พระธรรมก็อยู่ที่จิต พระสงฆ์ก็อยู่ที่จิต จิตตัวรู้นึกคำว่า พุทโธ นั้นก็คือพุทธะ
รวมความแล้วว่าใครก็ตามที่มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบ หรือรู้อยู่ในจิตของตัว
ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีพุทธะ คือผู้รู้อยู่ในจิตของเรา
แต่โดยธรรมชาติของพุทธะที่ยังมีสิ่งมืด มันยังปิดบังอยู่คือ กิเลส
ตัวผู้รู้ของแต่ละบุคคลจึงยังไม่เด่นชัด เพราะฉะนั้นเพื่อให้ผู้รู้ของแต่ละท่านเด่นชัดขึ้น
จึงมีอุบายวิธีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ภาวนา คือ การทำสมาธิ

การทำสมาธิ ก็คืออุบายที่พยายามพรากความคิดที่มันแผ่ซ่านอยู่ทั่วทุกทิศ
ให้ไปอยู่รวมกับสิ่งๆ หนึ่งในเบื้องต้นก่อน
โดยที่สุด แม้ความคิดถึงคำพูดเพียงคำสองคำคือ พุทโธ เป็นต้น
หรือเพ่งจดจ่ออยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง ตามแบบแห่งการเพ่งกสิณ
อุบายดังกล่าวนี้เป็นอุบายที่พรากความรู้สึกของจิตที่มันแผ่ไปทั่วทุกทิศต่างๆ ในอารมณ์ต่างๆ
ให้พรากจากสิ่งนั้นๆ มารวมอยู่ในจุดเดียว คือ พุทโธ หรือจุดที่เพ่งนั้น
และไม่เฉพาะแต่พุทโธ หรือจุดที่เพ่ง คำอื่น เช่น ยุบหนอ พองหนอ หรือเกิดดับอะไรก็แล้วแต่
ล้วนแต่จะเป็นอุบายทำจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบ
คือเพ่งให้อยู่ในจุดนั้นหรือรู้สึกในคำพูดเพียงคำนั้นเท่านั้น อันนี้คืออุบายในเบื้องต้น

ถึงแม้ว่าหลายๆ ท่านอาจจะผ่านการบำเพ็ญภาวนามา
มีภูมิจิตภูมิใจสูงยิ่งขึ้นไปกว่าระดับขั้นดังที่กล่าวแล้วก็ตาม
ที่นำมากล่าวอีกก็เพื่อเป็นการเตือนจิตเตือนใจ
เตือนความรู้สึกของนักปฏิบัติทั้งหลายให้มีความรู้สึกมั่นคงต่อการปฏิบัตินั้นๆ
บริกรรมภาวนาก็ดี หรือการพิจารณาธรรมอันใดอันหนึ่งก็ดี
แม้ว่าเราจะทำผ่านมาแล้ว แล้วจะถือว่าเราผ่านขั้นนั้นมาไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในระดับนั้น หรือขั้นนั้นๆ
ซึ่งเริ่มจากจุดเริ่มต้นจนกระทั่งถึงจุดเบื้องปลาย คือขั้นภูมิจิตละเอียดที่สุด
ตั้งแต่เบื้องต้น เบื้องกลาง และก็เบื้องสูงสุดนั้น เราจะไปปล่อยทิ้งไม่ได้
วิถีจิตที่เคยเดินๆ มาในลักษณะอย่างไร เรามีความรู้ความเห็นอย่างไร
เราจะต้องทบทวนสิ่งที่เราผ่านนั้นบ่อยๆ เพื่อให้มีความชำนิชำนาญ
เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงผิด เข้าใจผิด
บางท่านอาจจะสามารถทำภูมิจิตภูมิใจให้มีความรู้ในธรรมมะขั้นละเอียด
เราอาจจะมีความรู้ เราอาจจะมีความเห็น แต่ถ้าเรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงกันจริงๆ
เราอาจจะไปยึดเอาความรู้กับความเห็นเท่านั้น ที่เราได้ เราถึงว่าเป็นสิ่งที่เราสำเร็จแล้ว
แต่เรายังขาดการนึกถึงอีกสิ่งหนึ่งคือ ความเป็น

การบรรลุธรรมของผู้ปฏิบัติ
ต้องประกอบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิต
๒. ความเห็น คือเห็นด้วยกับความรู้นั้น
๓. สภาพจิตที่เป็น หมายถึงการปล่อยวาง


ประกอบพร้อมด้วยลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ จึงจะได้ชื่อเรามีทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเป็น
สิ่งที่เรารู้ เราเห็น เราเป็น แม้จะเป็นสิ่งเก่า สิ่งเดิมที่เราพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ อยู่นั้น
มันก็เป็นอุบายที่จะให้สภาพจิตของเราเปลี่ยนแปลงขึ้น ตามลำดับขั้นแห่งความสามารถ
เพราะฉะนั้น ในหลักที่ครูบาอาจารย์เคยกล่าวแนะนำสั่งสอน
หรือในหลักพระสูตรต่างๆ ซึ่งท่านทั้งหลายอาจจะได้เรียนมาแล้ว
เช่นอย่างในหลักของโพชฌงค์มีปรากฏว่า ภาวิตา พหุลีกตา
อบรมให้มากๆ กระทำให้มากๆ ทำให้ชำนิชำนาญ นี่คือหลักการของท่าน

สำหรับวันนี้ อาตมาจะกล่าวถึงการปฏิบัติเพียงแค่ขั้นอนุสสติ
อนุสสติ คือ การระลึก ในขั้นนี้จะยกเอาตัวอย่างการระลึกถึงพระพุทธเจ้า
คือ พุทธานุสสติ มาพูดพอเป็นตัวอย่าง
การนึกคุณของเพราะพุทธเจ้าเรียกว่า พุทธานุสสติ
ซึ่งเป็นอนุสสติข้อหนึ่งในอนุสสติ ๑๐
ทีนี้เรามานึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าด้วยคำว่า พุทโธ เป็นต้น ได้ชื่อว่า พุทธานุสสติ
ทีนี้ถ้าเรานึกคำว่า พุทโธๆ พุทโธ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น
กลายเป็นการภาวนาหรือการอบรมจิต เพื่อจะให้จิตของเรามาติดกับคำพูด
คือคำว่า พุทโธ เพียงคำเดียว อันนี้เป็นอุบายในเบื้องต้น

ขอให้ท่านลองสังเกตดูว่าเมื่อท่านนึกถึง
คำว่า พุทโธๆ พุทโธ ติดๆ กันโดยไม่ปล่อยให้มีช่องว่าง
จิตของท่านสามารถที่จะคิดถึงสิ่งอื่นได้ไหม ในเมื่อท่านนึก พุทโธ ติดๆ กันให้ถี่ยิบ
เข้าใจว่าคงจะไม่มีโอกาสส่งกระแสไปในทางอื่นได้
เว้นเสียแต่ว่าท่านอาจจะเผลอไปพักหนึ่ง
แล้วจิตของท่านอาจจะลืมคำว่า พุทโธ แล้วส่งกระแสไปในทางอื่น
เมื่อท่านรู้สึกตัวแล้วก็เอามานึก พุทโธ ไว้ตามเดิม
เมื่อจิตของท่านเผลอไปนึกถึงสิ่งอื่นเมื่อไร ท่านก็เอานึกมาไว้ พุทโธๆ พุทโธ ตามเดิม
และ พุทโธ นี้ ท่านสามารถที่จะนึกได้ไม่เฉพาะแต่เวลาที่ท่านมานั่งหลับตาอยู่ในขณะนี้เท่านั้น
แม้ท่านจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำอะไรอยู่ท่านนึกได้
บางท่านอาจจะนึกว่าเดินนึก พุทโธ กลัวจะเป็นบาป นอนนึก พุทโธ กลัวจะเป็นบาป
อย่าไปเข้าใจผิด เราสามารถที่จะนึก พุทโธ ได้ทุกกาล ทุกเวลา ทุกสถานที่
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนๆ เรานึกได้ทั้งนั้น เรียกว่านึกได้ตลอดเวลาก็แล้วกัน
ถ้าท่านตั้งใจที่จะนึก พุทโธๆ พุทโธ เอาไว้อย่างนั้น
ในเมื่อนึก พุทโธ อยู่ตลอดเวลา จิตมันไม่สงบเป็นสมาธิ ไม่นิ่ง ไม่สว่าง
อย่างที่แบบแผนตำรับตำราท่านกล่าวไว้ จะได้ประโยชน์อะไร
มันได้อยู่ตรงที่ว่าท่านสามารถที่จะเอา พุทโธ สกัดกั้นความคิดเอาไว้
ไม่ให้ปล่อยความรู้สึกนึกคิดสร้างบาปสร้างกรรมอย่างอื่น
หรือให้ความคิดที่เราคิดชั่วหรือความคิดไม่ดีนั้น มันน้อยลง
แม้จะโดยความตั้งใจก็ตาม นี่เราเอาผลแค่นี้ก่อน

ถ้าต่างว่าเรามาภาวนาแบบ พุทโธๆ พุทโธ อย่างเดียวเท่านั้น
เราสามารถที่จะทำจิตให้ดำเนินไปสู่ขั้นวิปัสสนากรรมฐานได้หรือไม่
อันนี้เป็นปัญหาที่นักปฏิบัติทั้งหลายมีความสงสัยมากเหลือเกิน
อาตมาจะขอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า
บริกรรมภาวนาทุกอย่าง จิตจะสงบได้เพียงขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น
เช่นคำบริกรรมภาวนาว่าพุทโธๆ พุทโธ หรือ ยุบหนอ พองหนอ ก็ตาม
เมื่อท่านนึกซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น เมื่อจิตสงบลงไปจริงๆ
คือมันมีอาการวูบวาบแล้วก็สงบลงไป สว่างขึ้น
คำบริกรรมภาวนาที่ท่านนึกอยู่นั้น มันจะหายไปทันที
ในเมื่อคำว่ายุบหนอ พองหนอก็ดี พุทโธก็ดี หายไป
ในขณะที่ท่านมีอาการรู้สึกเคลิ้มๆ ลงไปคล้ายกับจะนอนหลับ
ในตอนนี้จิตมันยังไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นเพียงเริ่มจะเป็นอุปจารสมาธิเท่านั้น
เพราะฉะนั้น บริกรรมภาวนานี้เป็นแต่เพียงสื่อยังไม่เข้าไปสู่ความสงบ
เพียงแค่ขั้นรู้สึกเคลิ้มๆ เหมือนจะนอนหลับ แล้วคำภาวนานั้นก็หายไป
ใครจะบริกรรมภาวนาอย่างไรก็ตาม ส่วนมากจะมีลักษณะอย่างนี้ทั้งนั้น

ทีนี้มีปัญหาว่า เมื่อคำบริกรรมภาวนานั้นหายไปแล้ว ต่อไปนั้นท่านควรจะทำอย่างไร
อันนี้ท่านพึงสังเกตจิตของท่านให้ดี ถ้าหากจิตท่านลงไปนิ่งสว่างอยู่เฉยๆ หรือไม่สว่างก็ตาม
ในตอนนี้ถ้าหากท่านสามารถน้อมจิตไปสู่ลมหายใจได้ ก็รีบน้อมจิตไปสู่ลมหายใจทันที
คือกำหนดรู้ลมเข้า ลมออก ดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออกเฉยอยู่
เพียงแต่รู้ว่ามีลมหายใจเท่านั้น อย่าไปนึกว่านี้ลมหายใจเข้าสั้น นี้ลมหายใจออกสั้น
นี้ลมหายใจเข้ายาว นี้ลมหายใจออกยาว เป็นแต่ทำความรู้อยู่ในที
เมื่อลมหายใจเกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตก็ยังรู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่ลมหายใจ
แม้ว่าเราจะไม่ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาว่า ลมหายใจสั้น-ยาว จิตก็ย่อมรู้อยู่ในทีแล้ว
ไม่จำเป็นจะต้องสร้างความคิดขึ้นมาอย่างนั้น

ถ้าหากสมมติว่า เมื่อจิตนิ่งลงไปสู่ความว่าง
ถ้าจิตมันทรงอยู่ในความสว่างแล้วรู้สึกมีปีติ ก็ให้กำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น
เว้นเสียแต่ว่าจิตมันอาจจะถอนหรือส่งกระแสไปทางอื่น
ถ้าท่านไม่รีบบริกรรมภาวนาอีก ก็กำหนดจิตน้อมไปสู่ลมหายใจ
เอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ
หรือในช่วงนี้บางท่านอาจจะน้อมจิตไปเพ่งพิจารณาอาการ ๓๒
คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เพ่งไปในแง่แห่งอสุภกรรมฐาน
คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกไม่สวยไม่งาม
พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น
ในเมื่อท่านมายึดเอาลมหายใจหรืออาการ ๓๒ ซึ่งเรียกว่ากายคตานุสสติ

กายคตานุสสติมาเป็นเครื่องรู้ของจิต มาเป็นเครื่องระลึกของสติ กรรมฐานทั้งสองอย่างนี้
จะเป็นอุบายนำจิตของท่านให้ดำเนินเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ หรือถึงขั้นสมถกรรมฐาน
แต่บางท่านอาจจะมีลักษณะเป็นอย่างนี้ ในเมื่อบริกรรมภาวนาพุทโธๆ พุทโธ เป็นต้น
เมื่อมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปแล้วจิตก็เริ่มสงบวูบๆ วูบลงไป แล้วก็ไปนิ่งสว่าง
เรียกว่าจิตวิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิเร็วจนเกินไป
ถึงขนาดที่เราไม่สามารถที่จะกำหนดรู้ปีติและความสุขได้
จิตวิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิเร็วเกินไป มันก็ไปนิ่งว่างอยู่เฉยๆ
อันนี้ต้องพยายามทำบ่อยๆ จนกว่าเราจะสามารถกำหนด
เริ่มต้นตั้งแต่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ฝึกหัดจิตให้ดำเนินตามวิถีแห่งองค์ฌานทั้ง ๕ จนชำนิชำนาญ
แม้ว่าเราสามารถที่จะทำจิตให้นิ่งเป็นสมาธิถึงขั้นสมถะ
หรือเรียกว่าอัปปนาสมาธิ ได้บ่อยๆ เข้า
ความจริงความเข้าใจที่ว่าสมถกรรมฐานหรืออัปปนาสมาธิ
ไม่สามารถที่จะทำผู้บริกรรมภาวนาให้มีภูมิจิตให้ดำเนินไปสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐาน
อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง
ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจอย่างนี้
เราจะบริกรรมภาวนาก็ดี หรือจะพิจารณาอะไรก็ดี
ในเมื่อจิตไปสงบนิ่ง ว่างอยู่เฉยๆ
แม้จิตจะสงบละเอียดถึงขนาดที่กายหายไปหมด
ยังเหลือแต่สภาพจิตที่ว่างสงบ นิ่งว่าง สว่าง อยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
จิตที่เป็นอย่างนี้ส่วนมากย่อมจะไม่เกิดความรู้
ย่อมจะไม่เกิดสติปัญญาขึ้นมา ในขณะที่จิตมีสภาพเป็นอย่างนั้น
อันนี้ก็จะเป็นความเห็นที่ถูกต้องอีก


ทีนี้ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เพียงแค่การบริกรรมภาวนา
จิตจะสามารถดำเนินไปสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้อย่างไร
เอาละ สมมติว่า เราเพียงแต่บริกรรมภาวนาให้จิตสงบนิ่งๆ ทุกๆ ครั้ง
จิตสงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธินี้ บางท่านก็ว่าจิตอยู่ในฌานขั้นที่ ๔
บางท่านก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิเฉยๆ
บางท่านก็เรียกว่าอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน
โดยธรรมชาติแล้วจิตไม่เกิดความรู้ในขณะนั้น
เพราะจิตไร้สมรรถภาพที่จะคิดโดยประการทั้งปวง
อันนี้ขอให้ท่านผู้ปฏิบัติพึงสังเกตให้ดีในตอนนี้

ทีนี้ให้เราคอยสังเกตดูแม้ว่าจิตในอัปปนาสมาธิ จะไม่มีความรู้เกิดขึ้นในขณะนั้น
แต่โดยธรรมชาติของจิตที่สงบแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะถอนจากความสงบคือถอนจากสมาธิ
ในเมื่อถอนจากสมาธิในขั้นนี้ ก้าวถอยเข้ามาสู่ภูมิแห่งอุปจารสมาธิ
จิตอยู่ในภูมิอุปจารสมาธินี้ จิตย่อมมีความคิด
ในเมื่อจิตเกิดมีความคิดขึ้นมาในขั้นนี้ ผู้ภาวนาย่อมจะสามารถน้อมจิตได้
พอจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ มีความคิดเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ตามความคิดนั้น
เราคิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ คิดอะไรขึ้นมาเราก็กำหนดรู้ อย่าปล่อยโอกาส
จิตมันจะคิดเรื่องดีก็ตาม คิดเรื่องชั่วก็ตาม
เราต้องกำหนดทำสติรู้ตามความคิดนั้นไปเรื่อยๆ อย่าไปละโอกาส

ตามรู้ความคิดของเราไปเรื่อย จนกว่าจิตของเราจะรู้
สติของเราจะรู้ทันความคิดที่มันคิดขึ้น
เพราะความคิดนั้นเป็นสภาวธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ
ความคิดเป็นธรรมารมณ์ ก็ย่อมเป็นอารมณ์ของจิต
เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ
ในเมื่อจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก แม้จะเป็นนามธรรมก็ตาม
ก็สามารถที่จะทำให้สติกลายเป็นมหาสติขึ้นมาได้

ในเมื่อสติตัวนี้ตามทันความคิด จนกระทั่งสามารถรู้เท่าทันความคิด
รู้สึกคิดว่าสักแต่ว่าคิด รู้สักแต่ว่ารู้
คิดแล้วก็ปล่อยวางไป รู้แล้วก็ปล่อยวางไป
เมื่อจิตตามรู้ตามเห็นความคิดไปอย่างนี้
จิตเอาความรู้ความคิดเป็นเครื่องรู้ สติเอาความรู้ความคิดเป็นเครื่องระลึก
ในเมื่อจิตกับสตินี้ตามทันกันเข้า สติกลายเป็นมหาสติ

สติกลายเป็นสติพละ ก็สามารถที่จะยังจิตลงไปให้สงบอีก
กลายเป็นสมาธิและกลายเป็นสมาธิพละ
ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว พละ ๕ คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
อาจจะไปรวมพร้อมอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง
ซึ่งมีประสิทธิภาพทำให้จิตของเราสงบนิ่งเด่นเป็นสมาธิขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
หรือบางทีอาจจะมีภูมิความรู้ หรือภูมิปัญญาเกิดขึ้นมา
ยกตัวอย่างเช่น บางท่านที่ภาวนาพุทโธๆ พุทโธ แล้ว
ในขั้นต้นเขาสามารถทำจิตให้นิ่งลงไปเป็นอัปปนาสมาธิ
เมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิแล้วก็ไม่มีความรู้อะไร
เพราะจิตมันถอนออกจากสมาธิมาเลย
ในเมื่อทำหลายครั้งหลายหนเข้า จิตก็เป็นอัปปนาสมาธิบ่อยเข้าๆ
ในเมื่อจิตสงบบ่อยๆ เข้า จิตก็มีกำลัง มีสติแล้วก็มีสัมปชัญญะดีขึ้น
เมื่อสมาธิถอนออกมาจากอัปปนาสมาธิ จิตถอนออกมาจากอัปปนาสมาธิ
พอเกิดความรู้สึกมีความคิดขึ้นมา
จิตสามารถเกิดภูมิความรู้ เกิดปัญญารู้อะไรแปลกๆ ขึ้นมา
ความรู้พรั่งพรูออกมา จนไม่สามารถกำหนดทันความรู้ได้ก็มี
ทีนี้เมื่อภูมิความรู้มันเกิดขั้นมาอย่างนี้
ถ้าสติกับจิตมันตามทันกัน ตามทันความรู้เมื่อเกิดขึ้นมาในจิต
มันก็กลายเป็นภูมิวิปัสสนา ภูมิปัญญา ที่เกิดขึ้นในจิต

การอธิบายนี้ การใช้คำพูดอาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริง
อาจจะกระท่อนกระแท่นหรือบางทีอาจจะสับสน
จึงขอฝากไว้กับท่านผู้ฟังได้พิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งอยากขอให้บรรดาท่านทั้งหลายที่ยังสงสัยอยู่
ว่าบริกรรมภาวนานี้จิตเป็นได้แค่สมถกรรมฐานเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การภาวนาพุทโธนี้
มีผู้กล่าวนักหนาว่าภาวนาพุทโธ อย่างดีจิตก็ได้ขั้นสมถกรรมฐาน
ใคร่ที่จะขอร้องนักปฏิบัติทั้งหลายได้ช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง ให้มันรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์
ว่าบริกรรมภาวนานี้จิตมันจะเป็นเพียงแค่ขั้นสมถะเท่านั้นหรือ

แต่อาตมาขอให้นัยเอาไว้ว่านักบริกรรมภาวนาทั้งหลาย
ถ้าหากเราจะพากันโง่หมดทุกคน
บริกรรมภาวนาแล้วจิตมันก็แค่เป็นเพียงสมถกรรมฐาน
เพราะในหลักวิชาการท่านก็ว่าอนุสสติ ๑๐ เป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน
ในเมื่อเรามาบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือคำว่า พุทโธๆ พุทโธ เป็นต้น
มันก็เป็นการปฏิบัติตามอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนา
เพราะฉะนั้น เรามาช่วยกันพิสูจน์ดูว่าบริกรรมภาวนาทุกอย่างเท่าที่มีในคัมภีร์ตำรับตำรานั้น
ในเมื่อเราทำอย่างจริงจังลงไปแล้ว จิตของเราจะเป็นเพียงแค่สมถกรรมฐานเท่านั้นหรือ
จะไม่มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้เองหรือย่างไร
อาตมาอยากจะขอให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ได้ช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหาในตอนนี้
ถ้าหากว่าหลายๆ ท่านช่วยกันพิสูจน์ ช่วยกันพิจารณา ช่วยกันค้นคว้า
หาหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติ โดยสลัดความยึดถือในตำรับตำราออกไปเสีย
เอาแต่ความจริงที่มันเกิดขึ้นของผู้ภาวนานั้นมาเทียบเคียงกัน
มาวัดกันดูว่ามันสามารถจะเป็นวิปัสสนาได้หรือไม่
เพื่อเราจะได้หายข้อสงสัย หายแคลงใจ หายขัดแย้งซึ่งกันและกัน

อาตมาขอให้คติไว้พิจารณาอย่างหนึ่งว่า
บรรดานักปฏิบัติทั้งหลายที่เรายังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ เพราะว่า
๑. ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น ก็เป็นเหตุให้ขัดแย้งกัน
๒. ฝ่ายหนึ่งรู้เห็นเป็น อีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็นจริง ก็เป็นเหตุให้ขัดแย้งกัน

แต่ถ้าหากว่าต่างฝ่าย ต่างรู้ ต่างเห็น ต่างเป็นด้วยกันทั้งสองฝ่าย
โดยเอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตอย่างจริงจังมาเปรียบเทียบกัน
เราจะไม่เกิดขัดแย้งกันในเรื่องการปฏิบัติ หรือความรู้ความเห็นในผู้ปฏิบัติเลย
เช่นพระอรหันต์ทั้งหลายไม่เคยเถียงกันเพราะเรื่องการปฏิบัติ
ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาไม่มี
มีแต่ปุถุชนเท่านั้นเขาเถียงกัน แต่พระอรหันต์ไม่เถียงกัน
อันนี้ขอฝากบรรดาท่านทั้งหลายไว้พิจารณา
เอาละการกล่าวธรรมะพอเป็นคติเตือนใจ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา



:b8: :b8: :b8: จาก : หนังสือ ธรรมปฏิบัติและตอบปัญหาการปฏิบัติธรรม
โดย พระภาวนาพิศาลเถร (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย), พ.ศ.๒๕๓๐
กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์


หมายเหตุ : ธรรมบรรยายเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อครั้งที่ พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาพิศาลเถร


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50583

:b44: รวมคำสอน “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=40915

:b44: ประมวลภาพ “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย” วัดป่าสาลวัน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=28489


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ม.ค. 2024, 20:48 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร