ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

อริยสัจ ๔ พระไตรลักษณ์ โลกุตตรจิต บัญญัติ ปรมัตถ์ และมรรค ๘
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=90&t=55720
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ชาติสยาม [ 21 ธ.ค. 2008, 05:34 ]
หัวข้อกระทู้:  อริยสัจ ๔ พระไตรลักษณ์ โลกุตตรจิต บัญญัติ ปรมัตถ์ และมรรค ๘

รูปภาพ

อริยสัจ ๔ พระไตรลักษณ์ โลกุตตรจิต
บัญญัติ-ปรมัตถ์ และมรรค ๘

:: พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)


ถาม : ขณะที่เราพิจารณาอยู่นี้ เป็นแต่เพียงภาคปฏิบัติเท่านั้น
ขอทราบเทียบเคียงถึงการที่จิตได้ทราบอริยสัจ ๔ โดยสังเขป


หลวงพ่อ : การสังเกตจิตที่ได้ทราบอริยสัจ ๔ อันนี้
จะขอเปรียบเทียบประสบการณ์ที่ผ่านมาในบางครั้ง
ทุกข์ในอริยสัจเป็นทุกข์ของสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ เพราะไปบ่งชัดอยู่ที่ว่า
โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส ถ้าสิ่งที่ไม่มีจิต ไม่มีใจ สิ่งนั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทมนัส
ไม่มีความคับแค้นใจ ไม่มีความทุกข์ใจ

ทีนี้การรู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจ ๔ นั้น
เราจะพึงสังเกตได้ในขณะที่จิตของเราได้ผ่านการพิจารณาลงไปแล้ว
เมื่อจิตไปสงบนิ่งในลักษณะที่ประชุมพร้อมของ อริยมรรคคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ประชุมพร้อมกันเป็นหนึ่งที่ดวงจิต แล้วมีประสิทธิภาพทำให้จิตของเรานิ่งเด่น
สว่างไสวอยู่ ในขณะนั้น จิตจะมีสิ่งรู้ปรากฏผ่านขึ้นมาเรื่อย ๆ

ในเมื่อจิตมีสิ่งที่ผ่านเข้ามา ถ้าจิตอยู่ในอริยมรรคประชุมพร้อม
และอริยมรรคมีกำลัง ในขณะนั้น จิตจะไม่รู้สึกยึดถือในสิ่งที่ผ่านเข้ามา และจะไม่มีความหวั่นไหว
อะไรผ่านเข้ามาแล้วก็จะผ่านไป ๆ เพียงแต่สัมผัส อาการที่จิตซึมซาบในอารมณ์นั้นไม่มี

ทีนี้ในขณะนั้น เราจะพึงสังเกตได้ว่า
ถ้าสิ่งใดผ่านเข้ามา เอาจิตไปยึดมันก็เกิดความยินดี ความยินดีนั้นเป็นกามตัณหา
ถ้าจิตไปยึดก็เป็น ภวตัณหา ถ้าหากจิตไม่พอใจในสิ่งนั้น
คือ เบื่อ ไม่ยินดี เป็นการยินร้าย ก็เป็น วิภวตัณหา

ในเมื่อจิตมีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความทุกข์มันก็เกิดขึ้น
เพราะตัณหาเป็นมูลเหตุให้เกิดทุกข์ อันนี้พึงสังเกตอย่างนี้



ถาม : การพิจารณาพระไตรลักษณ์
พิจารณาได้ทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม ใช่หรือไม่


หลวงพ่อ : การพิจารณาพระไตรลักษณ์
ในเมื่อเรากำหนดจิตลงไปโดยปกติ เราจะรู้ได้ว่าเรามีกาย

ในเมื่อยังรู้ว่ามีกาย เราย่อมรู้ว่าเราย่อมมีเวทนา
ในเมื่อเรารู้เวทนา จิตก็คือตัวผู้รู้นั่นเอง

ธรรมก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงของจิตและกาย และอีกอย่างหนึ่ง
ธรรมในมหาสติปัฏฐานนี้ ส่วนมากท่านจะกำหนดเอานิวรณ์ ๕

ในเมื่อกำหนดจิตไปรู้ว่ากาย ก็ย่อมรู้ว่ามีเวทนา สุข หรือทุกข์
เพราะว่าเวทนานี้มันเกิดจากกาย ทีนี้ตัวรู้นั่นก็คือจิต
ในขณะที่เราภาวนาอยู่นั้น กิเลสตัวใดมันเข้ามารบกวน เราย่อมรู้
อันนี้ในขณะที่เรากำหนด กาย เวทนา จิต ธรรม ที่จิตยังไม่สงบ

ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้วอยู่ในระดับขั้นอุปจารสมาธิ
เราจะรู้เวทนาเป็นสุข คือ สุขเวทนาเพราะจิต
ในเมื่อมีเครื่องกำหนด กำหนดรู้กาย กายเป็นอารมณ์ของจิต
เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ทำให้เรามีสติดีขึ้น

ในเมื่อมีสติประคับประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติได้
จิตก็ย่อมมีอาการสงบลงไป เมื่อสงบลงไปอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ
จะเกิดปีติและความสุข อันนี้เวทนาทุกข์หายไป มีแต่ความสุข ความปีติเท่านั้น

ทีนี้ถ้าหากว่าจิตมันผ่านความสุข ความปีติไปแล้ว จิตเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ
วิตก วิจาร ปีติ สุข หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตนิ่งเป็นสมาธิ สว่างไสว เด่นอยู่อย่างนั้น
ในตอนนี้จิตเป็นกลาง ซึ่งเรียกว่า อุเบกขา

ความรู้สึกของผู้ทำจิตได้ถึงขั้นนี้จะไม่รู้สึกว่ามีความสุข ไม่รู้สึกว่ามีความทุกข์
มีแต่ความเฉย ๆ เป็นกลาง จิตมีลักษณะนิ่ง สว่าง แจ่มใส เบิกบาน ตื่น รู้
อยู่ภายในตลอดเวลาที่จิตดำรงอยู่ในสภาพเช่นนั้น
อันนี้เรียกว่าจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิ ในตอนนี้ความรู้สึกว่ามีกาย
มีเวทนา มีธรรม หายไป ยังเหลือแต่จิตตัวรู้อันเดียวเท่านั้น


ถาม : จิตที่เป็น ฐีติ ภูตัง เป็นโลกุตตระจิตหรือยัง ขั้นมรรคหรือผล

หลวงพ่อ : ฐีติ ภูตัง ฐีติ แปลว่า ตั้งอยู่ ภูตัง แปลว่า ความเป็น
จิตที่ผ่านการพิจารณาสมถกรรมฐานก็ดี วิปัสสนากรรมฐานก็ดี
ในเมื่อจิตรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จิตจะมีลักษณะนิ่งเด่นอยู่เฉย ๆ

ถ้าเห็นรูป จิตก็นิ่งเด่นอยู่เฉย ๆ ความนิ่งเด่นอยู่เฉย ๆ ของจิตนี้
ไม่หวั่นไหวตามอาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรู้ อันนี้เรียกว่า ฐีติ คือ ความตั้งอยู่

สิ่งที่รู้เปลี่ยนแปลงไปนั้นคือ ภูตัง
ถ้าพูดถึงว่าภูมิความรู้ขั้นนี้ ถึงขั้นโลกุตตระจิตหรือยัง
ถึงทั้งโลกุตตระจิต ถึงทั้งโลกียะจิต

ภูมิความรู้นี้ เราสามารถจะรู้ได้จนกระทั่งถึงภูมิของพระอรหันต์
โลกีย์โลกุตตระ ท่านกำหนดเอาความเป็นของจิต จิตรู้แล้ว เช่นอย่างว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา
อย่างที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรม
ในเมื่อรู้แล้วย่อมรับสภาพความเป็นจริง สามารถตัดสังโยชน์ได้
ในเมื่อตัดสังโยชน์ได้ ภูมิจิตก็ขึ้นสู่โลกุตตระ
แต่ภูมิรู้นี้เป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตตระ
แต่ความเป็นนี้เรากำหนดเอาความเป็นของจิตเป็นสำคัญ

ลักษณะการพิสูจน์การเป็นพระโสดาบันนั้น
๑. มีความรักตั้งมั่นใน พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
๒. มีความมั่นคงในข้อวัตรของตน ไม่ท้อถอย
๓. รับฟังมติของผู้พูด เรียกว่าฟังได้ ใครพูดผิดก็ฟังได้ พูดถูกก็ฟังได้
ไม่คัดค้าน ถ้าคัดค้านเห็นเข้าข้างตน เรียกว่า สักกายทิฏฐิ
ถ้าปฏิเสธก็เรียกว่าเข้าข้างตนเป็นสักกายทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ใครพูดมาฟังได้
ถูกผิดพระโสดาบันพิจารณาเอาเองแล้วเก็บไว้ในจิต



ถาม : ในการเจริญสมาธิ ถ้าหากไม่พิจารณาพระไตรลักษณ์
และความเป็น ธาตุ ๔ ก่อน
จิตจะข้ามไปเกิดปัญญา เป็นฐีติ ภูตัง ได้หรือไม่


หลวงพ่อ : อันนี้แล้วแต่อุปนิสัย อาตมาขอฝากอันหนึ่ง
ให้ท่านทั้งหลายได้พิสูจน์ในฐานะที่ท่านเป็นหมอ

อย่างเวลาคนถูกวางยาสลบนี้ พอเขาฟื้นขึ้นมาแล้วขอได้โปรดถามว่า
ในขณะที่สลบไปนั้นจิตเป็นอย่างไร

ทางโรงพยาบาลโคราช อาตมาพิสูจน์แล้วได้มา ๓ อย่าง
อย่างหนึ่ง พอสลบลงไปแล้ว คนไข้มืดมิดไม่รู้อะไร
อย่างที่สอง เมื่อสลบลงไปแล้ว จิตออกจากร่างไปลอยเด่นอยู่เฉย ๆ ไม่รู้ไม่เห็นอะไร
อย่างที่สาม พอสลบลงไปแล้ว จิตลอยออกจากร่างไปลอยเด่นอยู่
แล้วย้อนมามองดูกายที่หมอทำอะไรอยู่นั้น รู้ เห็นหมด
ในที่สุดมองเห็นร่างของตัวเองเป็นโครงกระดูก

การเจริญสมาธิ หากไม่พิจารณาพระไตรลักษณ์ หรือความเป็นธาตุ ๔ ก่อน
จิตจะข้ามไปเกิดปัญญา เป็น ฐีติ ภูตัง ได้หรือไม่ อันนี้ แล้วแต่อุปนิสัย

บางท่านพอภาวนา พุทโธ ๆ ๆ จิตสงบลงไปแค่อุปจารสมาธิ
แล้วก็เดินวิปัสสนาไปพรูด ๆ เลย ไม่ต้องลำบาก ท่านผู้นั้นมีอุปนิสัย

แต่ถ้าหากท่านผู้ใดภาวนาทีไรจิตไปนิ่งอยู่เฉย ๆ
ไม่เกิดความรู้ขึ้นมาสักที ในที่สุดนิ่ง ๆ แล้ว มันเบื่อต่อความนิ่ง มันเกิดเป็นจิตหดหู่
อันนี้ให้พิจารณากายคตานุสสติ หรือธาตุ ๔ เพื่อเป็นการปลุกจิตให้มีกำลัง

ทีนี้ถ้าหากว่าผ่านการพิจารณาธาตุ ๔ ไปแล้ว
เกิดปัญญาอย่างละเอียดขึ้น ฐีติ ภูตัง นาน ๆ เข้า
จิตมันจะอ่อนกำลังลง ในเมื่อจิตมันอ่อนกำลังลงแล้ว มันจะไม่เกิดปัญญา
ไม่เกิดความรู้ กลายเป็นจิตหดหู่ ต้องย้อนมาพิจารณาธาตุ ๔ อีก
เพราะฐานที่ตั้งสตินี้คือ กาย เป็นประการสำคัญที่สุด
เวทนา จิต ธรรม เป็นนามธรรม
ถ้าจิตไปรู้แค่นามเรื่อยไป ๆ ไม่ได้กล่าวถึงรูป พลังของจิตมันจะลดกำลังลง
ในที่สุดสมาธิก็จะหาย ปัญญาก็จะเสื่อม


ถ้าสังเกตดูว่า จิตมันไม่ค่อยเดิน หรือไม่ค่อยมีความรู้ หรือมันมีลักษณะหดหู่
ต้องย้อนกลับมาพิจารณากายทันที

โดยการพิจารณาอสุภก็ได้ พิจารณาธาตุ ๔ ก็ได้
แต่ถ้าหากจิตผ่านไปถึงขั้นที่มันไปกำหนดดูนามแล้ว
ควรจะย้อนมาพิจารณาธาตุ ๔ เพราะการพิจารณาธาตุ ๔ นี้
มันทำให้จิตรู้เห็นความสลายของวัตถุ
และจะกลายมาเป็นรู้รูปธรรม คือรู้กายชัดเจนแล้ว
เมื่อกายหายไปจิตก็จะรู้แต่นามธรรมคือ เกิดดับ ๆ อันนี้แล้วแต่อุปนิสัย

ถ้าหากว่าท่านผู้ใดพอเริ่มภาวนาแล้วสติปัญญามาเกิดในขั้นวิปัสสนา
ก็ปล่อยให้มันไป ไม่ต้องย้อนมาเล่นสมถะอีก
เว้นแต่ว่าพลังจิตค่อยเสื่อมลงแล้ว จึงค่อยย้อนมาพิจารณาวัตถุอีกครั้งหนึ่ง


ถาม : จิตตอนที่จะทิ้งสมมติบัญญัติเข้าสู่ปรมัตถ์นั้น มีสภาพเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : ลักษณะของจิตที่เกิดภูมิความรู้ ที่มันจะก้าวเดินสู่ภูมิแห่งปรมัตถ์
เราพึงสังเกตอย่างนี้

ถ้าอย่างเราทำสมาธิด้วยการพิจารณาอะไรก็ตาม
ในขณะที่เราน้อมนึกพิจารณาโดยเจตนา โดยความตั้งใจ
โดยอาศัยภูมิรู้ที่ได้จากตำรับตำรา หรือได้เรียนมา
เช่นอย่างที่เราอาจจะนึกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น
แล้วก็เป็นอุบายให้จิตสงบลงไปสู่ภูมิสงบ ภูมิสมาธิเพียงแค่ขั้นอุปจารสมาธิ

ในเมื่อจิตสงบไปอยู่ในภูมิขั้นนี้ จิตก็สามารถจะปฏิวัติเป็นภูมิรู้ขึ้นมา
รู้ในแนวที่เราได้พิจารณามาแต่เบื้องต้น รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ความรู้อันนี้เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จิตกับความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน
จิตรู้รูปก็อยู่ที่รูป จิตรู้เวทนาก็อยู่ที่เวทนา ความรู้ขั้นนี้ยังมีสมมติบัญญัติ

รู้อะไรก็เรียกว่าอันนั้น เช่น รู้รูป เห็นรูป ก็ว่ารูป รู้เวทนา เห็นเวทนา ก็เรียกว่า เวทนา
เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ก็จะมีภาษาสมมติบัญญัติว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็รู้เรื่อย ๆ ไปอย่างนี้

ในเมื่อจิตกำหนดดูความรู้ที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันกับจิต
จนกว่าจิตจะรู้ซึ้งเห็นจริงลงไป แล้วยอมรับสภาพความเป็นจริง

เมื่อจิตยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว
จิตจะตัดกระแสความรู้อันมีสมมติบัญญัตินั้น
ให้ขาดตอนลงไปสู่ความว่าง เมื่อจิตเกิดความว่างขึ้นมาแล้ว
ในอันดับต่อไป จิตจะก้าวหน้าไปสู่ภูมิของปรมัตถธรรม

เมื่อภูมิความรู้อันใด เกิดขึ้นมาในขณะนี้ จะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ
สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วจะไม่มีสมมติบัญญัติ

สมมติว่าเห็นนิมิตปรากฏขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง
เช่นอย่างเห็นร่างกายนอนตายเน่าเปื่อยผุพัง จิตก็จะอยู่เฉย ๆ ไม่มีสมมติบัญญัติว่าอะไร
แม้แต่เห็นรูปตัวเองอย่างนี้ ก็จะไม่ว่ารูปของตัวเอง
เมื่อรูปเน่าเปื่อยผุพังไป จนสลายตัวลงไปในที่สุด จิตก็จะไม่มีสมมติบัญญัติ
เรียกอาการที่เป็นไปตามขั้นตอน
เห็นเนื้อไม่ว่าเนื้อ เห็นหนังไม่ว่าหนัง เห็นกระดูกไม่ว่ากระดูก
เห็นความสลาย ก็ไม่ว่าความสลายเปลี่ยนแปลง
เป็นแต่เพียงรู้เห็นอยู่เฉย ๆ ไม่มีสมมติบัญญัติใด ๆ ทั้งสิ้น
อันนี้จิตเดินเข้าไปสู่ภูมิปรมัตถธรรมโดยไม่มีสมมติบัญญัติ
ไม่มีตน ไม่มีตัว ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีจิต
ไม่มีสภาวธรรม ไม่มีอะไรทั้งนั้น แต่หากผู้รู้ปรากฏเด่นชัด
สิ่งที่ปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็นตลอดเวลา
อันนี้คือลักษณะของจิตที่ก้าวขึ้นสู่ภูมิปรมัตถ์



ถาม : ทำไมมรรค ๘ จึงมีปัญญาอยู่ ๒ อย่างครับ

หลวงพ่อ : มรรค ๘

ในเมื่อภูมิจิตของผู้ดำเนินมรรคยังไม่ประชุมพร้อมลงไปเป็นหนึ่ง
ทุกสิ่งทุกอย่างจะปรากฏมีอาการ
เช่น สัมมาทิฏฐิ หรือสัมมาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบนี้ ก็เป็นเรื่องของปัญญา
สัมมาทิฏฐิก็เป็นเรื่องของปัญญา
เพราะฉะนั้นปัญญาในมรรค ๘ จึงมีสอง
มีสองในขณะที่มรรค ๘ ยังไม่ประชุมพร้อมกันที่จิต ยังมีอาการอยู่

แปดนั้นยังเป็นอาการของมรรค เมื่อประชุมพร้อมกันเป็นหนึ่ง
คือ ไปรวมพร้อมกันอยู่ที่สมาธิ
ความประชุมพร้อมของอริยมรรค ๘ นั้น อยู่ที่สัมมาสมาธิ
ในเมื่อสัมมาสมาธิรวมลงเป็นหนึ่งแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเกิดขึ้น

ทีนี้อาการเกิดขึ้นของมรรค ๘
ในเมื่อประชุมพร้อมกันแล้วเราจะนับอาการไม่ถูก
เพราะถ้าหากว่ามรรค ๘ ยังแยกกันอยู่ตราบใด
ยังไม่สามารถที่จะปฏิวัติจิต ไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรม ได้เลย
อย่างดีก็เพียงแค่ทำให้จิตสงบนิดหน่อยเท่านั้น


เพราะฉะนั้น ผู้บำเพ็ญมรรคทั้ง ๘ นี้
บางท่านอาจจะหนักใจว่าทั้ง ๘ ข้อนี้จะทำอย่างไร
กว่าจะรวมทั้ง ๘ ข้อเป็นหนึ่ง จะไม่ต้องเสียเวลามากมายหรือ

การรวมเอามรรค ๘ นี้ เราจะเริ่มด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์โดยเจตนาก่อน

ประการที่ ๒ พยายามทำความมั่นใจ คือฝึกหัดใจให้มีสมาธิ

ประการที่ ๓ ทำสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบในการปฏิบัติว่าเพื่ออะไร
เพื่อมุ่งผลแห่งความสงบ เพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง

ในเมื่อศีลก็บริสุทธิ์ ความตั้งใจก็มั่น วัตถุประสงค์ในการภาวนาก็เป็นแนวทางที่บริสุทธิ์
เป็นอุบายที่จะทำให้จิตเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สมาธิ

เมื่อสมาธิที่สงบลงเป็นหนึ่ง เพียงแต่นิ่งอยู่เฉย ๆ
อันนี้เป็นแต่เพียงมีสมาธิองค์เดียวเท่านั้น

ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่มีกำลังเพียงพอ ศรัทธาพละยังไม่เกิด
วิริยพละยังไม่มี สติพละยังไม่พร้อม สมาธิพละยังไม่เข้มแข็ง
ปัญญาพละยังไม่มีกำลังที่จะรู้รอบอยู่ที่จิต
จิตก็ไม่สามารถจะประชุมพร้อมกันแห่งอริยมรรครวมเป็นหนึ่งได้
ต้องพยายามที่จะฝึกหัดสมาธิให้ยิ่งขึ้น

ในเมื่อมรรคทั้ง ๘ รวมกันเป็นหนึ่งแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่หนึ่งไม่มีสอง
ในเมื่อยังไม่ประชุมพร้อม ก็ยังมีการแยกเป็น ๒

คำถามที่ว่า ทำไมปัญญาในมรรค ๘ จึงมีสอง ก็เพราะเราไปพูดตามอาการ
ในเมื่อเราทำจิตให้เป็นสมาธิ ประชุมพร้อมกันด้วยอริยมรรคแล้ว
สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ รวมเป็นอันหนึ่ง

ในเมื่อมันยังประชุมไม่พร้อมมันก็แยกอาการกันอยู่
เมื่อประชุมพร้อมกันแล้วจะเหลืออยู่หนึ่งเท่านั้นเรียกว่า เอกายโนมัคโค
เมื่อเอกายโนมัคโคเกิดขึ้นแล้ว สามารถที่จะปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรมได้


ถาม : ถ้าปัญญาจะเกิด อยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ
เพราะผู้ภาวนายังจับไม่ค่อยได้ เพราะในระหว่างนั้นอยู่ในขั้นปล่อยวาง


หลวงพ่อ : ปัญญาอันเป็นความคิด
พอที่จะน้อมนึกพิจารณาอะไรได้นั้น อยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ
ปัญญาที่เกิดขึ้นในขั้นอุปจารสมาธินี้ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจ
แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จิตยังมีความสำคัญมันหมายว่าอะไรเป็นอะไร
เช่น จิตมองเห็นรูป ภาษาที่เรียกว่า รูป ยังมีอยู่
จิตมองเห็นจิต ภาษาที่เรียกว่า จิต ก็ยังมีอยู่
จิตรู้เห็นอะไรก็ยังมีการทักท้วง ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น ซึ่งมันจะเป็นเองโดยอัตโนมัติ
ความรู้ในขั้นอุปจารสมาธินี้ ยังมีสมมติ บัญญัติยังมีชื่อที่จะเรียกว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นอะไร

ทีนี้เมื่อจิตตามรู้ตามเห็นความรู้ในขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าหากว่าจิตมันจะรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปแล้ว
มันจะแสดงอาการรวมเป็นสมาธิลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง
ไปสู่ความว่าง ความว่างอันนี้ก็คือ อัปปนาสมาธิ

ทีนี้อัปปนาสมาธิ ในขั้นนี้ ถ้าหากว่าจิตเคยผ่านการพิจารณาสภาวธรรมมาแล้ว
จิตจะเกิดภูมิความรู้ขึ้นมา แต่ภูมิความรู้อันนี้อยู่ในขั้นละเอียดมาก
เพียงแต่สักว่ามีสิ่งรู้ แต่ไม่มีสมมติบัญญัติในสิ่งรู้นั้นว่าเป็นอะไร มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่

ก็อย่างตอนท้ายในธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
ที่ได้อธิบายไว้ในตอนท้ายเทศนากัณฑ์นี้ที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะ
เห็นธรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเอง

และการรู้ธรรมของจริงนี้ ก็รู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

ถ้าสิ่งใดที่รู้ยังมีสมมติบัญญัติ สิ่งนั้นยังไม่เป็นของจริง
ถ้าสิ่งรู้เห็นแล้วอยู่เหนือสมมติบัญญัติ
เพียงแต่สักว่ารู้ว่าเห็น สิ่งนั้นจึงจะเป็นของจริง


เพราะฉะนั้น อัปปนาสมาธิ หรือสมถะอย่างละเอียดนี้
สมถะอัปปนาสมาธิขั้นหนึ่ง
จิตจะนิ่งว่างอยู่เฉยไม่มีความรู้


แต่อัปปนาสมาธิซึ่งเกิดขึ้น หลังจากที่จิตได้พิจารณาสภาวธรรมแล้ว
ย่อมเกิดความรู้ขึ้นอย่างละเอียด อันนี้ถ้าหากว่าใครยังไม่ได้ผ่านแล้ว บางทีอาจจะหัวเราะ

แต่ถ้าภูมิจิตผ่านแล้วหายสงสัย ซึ่งบางทีในตำรับตำราอาจจะไม่ได้เขียนไว้
หรือเขียนไว้เราอาจจะค้นไม่เจอก็ได้

แต่ถ้าหากเราหมั่นพินิจพิจารณา หมั่นภาวนาแล้ว
สิ่งเหล่านี้จะผ่านเข้ามาในความรู้สึกของเราเอง
ในเมื่อพูดถึงตอนนี้แล้วแม้ว่าในหลักของการเจริญอสุภกรรมฐาน
คือมีบทสอนว่า ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม
น่าเกลียด โสโครก ปฏิกูล เป็นอสุภ เน่าเปื่อย ผุพัง เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

การน้อมนึกพิจารณาไปในแง่ที่ว่า เป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นอสุภนั้น
เป็นแต่เพียงระดับขั้นใช้ความคิด เป็นการปรับปรุงปฏิปทา
เป็นแนวชักจูงจิตให้เกิดความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่พิจารณานั้น จะต้องเป็นอย่างนั้น
เป็นอุบายให้จิตน้อมใจเชื่อ เป็นแนวทางให้เกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
แต่เมื่อจิตสงบลงไปจริง ๆ แล้ว เมื่อจิตเห็นอสุภจริง ๆ อย่างสมมติว่า
จิตมันอาจจะถอนออกจากร่าง ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว
ยังสามารถมองเห็นร่างกายที่นอนเหยียดยาวอยู่

เมื่ออาการแห่งความปฏิกูล ของปฏิกูลปรากฏขึ้น
เป็นร่างกายขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังเน่าเปื่อยผุพังเป็นชิ้น ๆ
ซึ่งล้วนแต่แสดงลักษณะให้มีความรู้สึกรังเกียจ
แต่สภาพจิตที่รู้เห็นนั้น ไม่ได้เกิดความรังเกียจ
ก็เลยตอนนั้นจิตสักแต่ว่ารู้เห็นเฉย ๆ ความรู้สึกยินดียินร้าย
ความรู้สึกว่า สวยหรือไม่สวย ไม่มี มีแต่สภาวะเสมอกันหมด

ในบางครั้งเมื่อภาพอสุภนิมิตปรากฏขึ้นมาพร้อม ๆ กันนั้น
อาจจะมีปรากฏภาพที่สวยงามที่สุดมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ

เมื่อจิตของผู้ภาวนาเพ่งมองสิ่งที่รู้เห็นอยู่นั้น
ความรู้สึกระหว่างของเน่าเปื่อย กับ ของที่มีสภาพดีและสวยงาม มีสภาพเสมอกันหมด
อันนี้คือความเป็นจริงในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา

แต่ว่าจะเป็นเรื่องผิดถูกอย่างไร ก็ขอให้ท่านที่มีภูมิจิตผ่านแล้วได้ช่วยพิจารณา
ถ้าหากยังไม่ถึงขั้นนี้แล้ว ก็ขอได้โปรดรับฟังไว้ อย่าเพิ่งเชื่อตามคำพูด
รับฟังไว้ว่า เราจะสามารถพิจารณาให้เรารู้เห็นได้อย่างนี้ได้หรือไม่

การฟังธรรม ศึกษาธรรม สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ ไม่เห็นด้วยตนเอง
อย่าเพิ่งรับรอง และอย่าเพิ่งปฏิเสธ

ถ้าได้ยินแล้วเชื่อรับรองทีเดียวก็ไม่ดี หรือปฏิเสธ ไม่เชื่อเลย ก็ไม่ถูกต้อง

เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่ต้องการพิสูจน์ ขอให้พิสูจน์ให้มันได้ข้อเท็จจริงเสียก่อน
อันนี้ขอฝากไว้สำหรับผู้ที่ท่านสนใจในการปฏิบัติในส่วนลึก



:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมคำสอน “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=40915

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50583

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/