วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:46 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:47 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ทุกขสัจจ์
พระอาจารย์ขาว อนาลโย
:b44: :b44:

ร่างกายที่อาศัยอยู่นี่ก็ดี มันเป็นของสำหรับโลก เหมือนกันทุกคนน่ะแหละ
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ของใคร
ก็แม่นร่างกายนี่แหละ หมดก้อนเท่านี้เป็นตัวสมุทัย เป็นเหตุให้ยึดถือ
นั่นแหละอัสสิมานะ คนถือเราว่าตัวตน
นั่นแหละ อันนี้แหละ ความมานะนี่แหละคือความว่าเขาว่าเรา
พระพุทธเจ้าว่าอัตภาพสังขาร มันหลงสมมติ ท่านให้พิจารณาให้รู้ ให้รู้ทุกขสัจจ์
ทุกขัง อริยสัจจัง ปริญเญญยันติ เม ภิกฺขเว ทุกขสัจจ์ควรกำหนดให้มันรู้
ทุกขัง อริยสัจจัง ปริญเญญยันติ เม ภิกฺขเว อันนี้แหละให้ศึกษาสาเหตุมัน
เส้นผมก็ทุกขสัจจ์ ความเกิดเป็นหญิงเป็นชาย ว่าเขาว่าเรา
อ้ายก้อนนี้มันเกิดมาจากไหน ต้องสาวหาเหตุมัน
มันเกิดมาจากตัณหานี่แหละ นั่นแหละจึงให้ถอนตัณหา ให้ละตัณหา
ให้ละทิ้ง ให้สละ ครั้นมันรู้จักแล้วมันก็จะละ

เรื่องทุกขสัจจ์นี้ให้มันรู้ พิจารณามันทั้งนอกทั้งใน
หรือจะออกพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการสามสิบสองน่ะ
กระจายออกทุกๆ ส่วนแล้ว มันเหลือเป็นคนไหม บ่มีคนแล้ว
กำหนดออกไปๆ จนเหลืออายตนะของมัน
บัญญัติ ความสมมุติ สมมุติคือขันธ์
รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
รูปขันธ์ คือธาตุสี่ประชุมกันเป็นรูปขันธ์
ถ้ามีรูปก็มีเวทนาเกิดขึ้น ต่อไปผัสสะมันต่อกันเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าไม่บอกให้พิจารณาไปอื่น ให้พิจารณาที่นี่
หมดก้อนของเขาของเรานี่แหละ แม่นก้อนธรรม
อย่าไปหาที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่น
มันไปยึดไปสร้างไปเสีย มันจะเป็นเหตุให้เจ้าของติดอยู่
ให้พิจารณาอันนี้ ทางจะไปพระนิพพานมีเท่านี้แหละ ท่านแสดงไว้

สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ก็เห็นกายนี่แหละ ให้พิจารณากาย
นี่เป็นทางไปสู่ทางพ้นทุกข์ ไปสู่ที่อันบรมสุข สุขอันเนรมิตใส่ตน อย่าไปหาที่อื่น
พระพุทธเจ้าว่าแม่นอันนี้หละ ให้มันเห็น นอนกอดอยู่แท้ๆ หมดทั้งวัน
ถ้ามันไปยึดตัวยึดตนอยู่ มันไม่ได้ไปพระนิพพานดอก
ละว่าเขา ว่าเรา ว่ากู ว่ามึงเสีย
พระพุทธเจ้าว่าอันนี้มาสมมุติว่าเป็นตัวตนเราหมดทั้งก้อน
ให้พิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะ อสุภัง
ไม่ให้เห็นเป็นสุภะ ความงาม ความดี ความมั่นคง
มันเห็นนี่แหละ มันจึงเกิดนิพพิทา
ความเบื่อหน่ายต่อร่างกาย เบื่อต่อความเป็นไปของมัน

มันเกิดมาแล้ว มันก็มีความแก่คร่ำคร่า มีพยาธิเบียดเบียน
มีมรณะ ความตาย พลัดพรากจากกัน โสกะ ความโศกพิไรรำพัน
มีโทมนัส ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความขัดข้อง
เมื่อเกิดมาก็เป็นทุกข์ พิจารณาทุกขสัจจ์นี่ให้มันเห็นความจริง
ความพลัดพราก ความประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์

นี่เนื่องจากทุกข์ทั้งหลายมันมารวมอยู่ที่ขันธ์ทั้งห้า
ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
ขันธ์ทั้งห้าเป็นที่ประชุม รับภาระของธุระของหนัก
ท่านว่าขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนักเน้อ
เมื่อวางภาระแล้วก็เป็นสุขเท่านั้น คือวางร่างกายของตน

ก็ให้พิจารณาเห็นทุกข์นี่เสียก่อน
พอเห็นทุกข์แล้วก็ให้สาวไป อันไหนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
มีกามตัณหา ความใคร่ในกิเลสกาม วัตถุกาม
ความใคร่ก็คือความอยากเป็นอยากมีนั่นแล้ว
อยากเป็นผู้ดีมีลาภมียศนั่นแหละ
เรียกว่า ภวะ ความอยากเป็นอยากมีนั่น
วิภวะ ความไม่ชอบ อารมณ์ที่ไม่ชอบเรียกว่าอนิฏฐารมณ์
อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เกลียดชังผมหงอก
ฟันหัก เกลียดชังหนังหดเหี่ยวเป็นเกลียว
ความเสื่อมของอายุของตน ความเสื่อมลาภยศสรรเสริญทรัพย์
ครั้นเห็นอันนี้ก็เพียรละเพียรถอนมัน
เอ มันเป็นเพราะอันนี้ มันเป็นเพราะอยากนี่แล้ว
ความอยากมันมาจากความโง่ความไม่เข้าใจ ความเป็นตนเป็นตัว
นี่เรียกว่า อวิชชา เราคืออวิชชา

พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนวิชา เปรียบเหมือนผู้ก่อกำเนิดของทารก
ทารกนั่นเป็นที่รักของบิดามารดา มารดาเป็นผู้ทำนุบำรุง ทารกก็เป็นสุข
คือตัณหา ความรักใคร่ความชอบใจ เป็นผู้รักษาสนองความสุข
ทารกก็เจริญขึ้น เจริญขึ้นไป
ครั้นเห็นสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดตัณหา
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นทุกข์
ตัณหานี่มันเกิดอยู่ที่ไหน มันตั้งอยู่ที่ไหน ต้องค้นหามัน
นั่นแหละบ่อนมันเกิด บ่อนมันตั้งอยู่

บุคคลจะดับตัณหา จะดับที่ไหน บุคคลจะละตัณหา ละที่ไหน
จะดับตัณหา ดับที่ไหน ตัณหาเกิดขึ้นที่ไหน ให้ดับที่นั่น
โบราณเพื่อนว่า ไฟเกิดที่ไหน เอาน้ำมาราดที่นั่น ดับที่นั่น
ไฟตัณหามันเกิดขึ้นที่ตน ดับนี่ ปล่อยนี่ วางนี่ เกิดขึ้นที่ไหนล่ะ
ตัณหาที่เกิด เกิดขึ้นจากจักขุนั่นแหละ เกิดขึ้นที่โสตะ
เกิดขึ้นที่ฆานะ เกิดขึ้นที่ชิวหา เกิดขึ้นที่กาย เกิดขึ้นที่ใจ
มันเกิดขึ้นที่นี่ ก็ต้องดับที่นี่ ต้องให้เห็นที่นี่
เกิดขึ้นที่ไหนอีก เกิดขึ้นที่รูป เกิดขึ้นที่เสียง
เกิดขึ้นที่กลิ่น เกิดที่รส เกิดที่โผฏฐัพพะ เกิดที่ธรรมารมณ์
เกิดที่ไหนอีก เกิดที่จักขุวิญญาณ วิญญาณความรู้
โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เกิดขึ้นที่นี่

มันเกิดขึ้นนี่มันมาจากสาเหตุไหน มันเกิดมาจากความกระทบ
กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เวทนาเกิดขึ้นจากรูป จากจักขุสัมผัส
ชิวหากระทบกับรส ชิวหาสัมผัสเกิดเวทนา
กาย เวทนาเกิดขึ้นจากสัมผัสทางกาย
เวทนาเกิดขึ้นทางมโน จากสัมผัสทางใจ ความน้อมนึกไปตามอารมณ์
มันเกิดขึ้นที่นี่ อยู่ที่นี่แหละ มันอยู่ตอนอายตนะ มันจะเกิดขึ้นต่อๆ ขึ้นไป
รูปสัญญา โสตสัญญา คันธสัญญา ชิวหาสัญญา โผฏฐัพพสัญญา มโนสัญญา
รูปสัญเจตนาเป็นทุกข์ของโลก โสตสัญเจตนา คันธสัญเจตนา
ชิวหาสัญเจตนา กายสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา
ที่มันเกิดขึ้นเพราะความสุขของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส
รูปตัณหา เห็นรูปเกิดตัณหาขึ้น เป็นทุกข์
โสตตัณหา ฆานตัณหา ชิวหาตัณหา โผฏฐัพพตัณหา มโนตัณหา
ความกระทบของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส
ของโผฏฐัพพะ ของธรรมารมณ์ ยึดเอาละ นี่แหละตัณหา มันเกิดขึ้น

เรารู้จักบ่อนมันเกิด เราจะละอย่างไรล่ะ ถอนอย่างไรล่ะ
รู้จักบ่อนมันเกิดแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นที่หู
บุคคลจะดับตัณหา ดับที่ไหน ดับที่หู ที่ตา ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ
ดับรูป ดับตา ดับหู ดับจมูก ดับลิ้น ดับสัมผัส ดับธรรมารมณ์
ต้องดับอันนี้ ไม่ใช่ดับอันอื่น เกิดขึ้นที่ไหน ดับที่นั่น
เกิดขึ้นที่นี่ เกิดขึ้นจากอายตนะภายใน เกิดขึ้นจากอายตนะภายนอก
เกิดขึ้นจากจักขุสัมผัส โสตสัมผัส จากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ
ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ โผฏฐัพพะวิญญาณ มโนวิญญาณ ดับที่นั่น
เว้าซื่อๆ ว่า เกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดับสนิทแล้ว
ไม่มีความยินดียินร้ายต่อสิ่งทั้งปวง วางใจเป็นกลาง
ครั้นทำใจเป็นกลาง ไม่มีความยินดียินร่ายต่อสิ่งทั้งปวงแล้ว
ใจได้ละวางแล้ว ตัดได้หมดแล้ว แจ้งประจักษ์ ดับสนิทแล้ว
เราได้ทำให้เกิด ให้มีแล้วซึ่งมัคคสมังคี
ทำให้มันแจ้ง มรรคมีองค์แปด ทำให้แจ้งบริบูรณ์

จิตของเราเมื่ออบรมไปแล้วมันลง มันสงบ มันหมดเรื่องความเว้า
อันนั้นแหละมันจึงรู้ว่า เราจะเอาสัญญานี่
เราเอาสัญญานี่แหละพิจารณาร่างกายของเรา
พิจารณาไปๆ มันจึงจะเกิดญาณทัศนะ
ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง มันแจ้งประจักษ์

เบื้องต้นเราก็พิจารณาใช้สัญญานั่นแหละ
ท่านเจ้าคุณอุบาลีท่านว่า มันจะต้องเอาโลกีย์นั่นมาใช้เสียก่อน
พระพุทธเจ้าก็เอาโลกีย์นี่แหละใช้เสียก่อน
มันจึงได้สำเร็จถึงโลกุตระพอดี โลกียะเป็นเหตุ โลกียะเป็นรากเป็นเค้า
ค้นคว้าสังขารร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ค้นคว้าพิจารณาไม่ให้ขาด
ให้มีสติสัมปชัญญะประจำ ให้มันรู้จิต มีราคะก็ให้มันรู้
หายราคะก็ให้มันรู้ เอาประจำอยู่นั่นแหละ จิตมีโทสะก็ให้มันรู้
จิตหายโทสะก็ให้มันรู้ หายโมหะก็ให้มันรู้ จิตหดหู่ก็ให้มันรู้
จิตผุดผ่องก็ให้มันรู้ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด
จิตเราเป็นสมาธิ ได้ฌาน ฌานอุปจาระ ฌานขนิกะสมาธิ อุปจารสมาธิ
จิตเป็นรูปาวจรก็ให้รู้ จิตไม่เป็นก็ให้รู้ ให้มีฌาน
ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานก็ให้มันรู้
จิตเป็นสมาธิก็ให้มันรู้ จิตไม่เป็นสมาธิก็ให้รู้ จิตอยู่ในภพในชาติ
ยังไม่หลุดพ้นก็ให้มันรู้ จิตหลุดพ้นก็ให้มันรู้ ให้กำหนดจิต
พิจารณาจิต เอาประจำอยู่อย่างนี้ มันก็บ่พ้นไปได้ดอก

ครั้นเราตั้งใจอยู่แล้ว ได้หนึ่งเดือน สองเดือนบ่พอ
ให้มันตายเสีย ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ให้รู้จัก
ทำความเพียรเอามันอยู่นั่นแหละ บทมันรู้ มันจะรู้ปู๊น จตุตถฌานไปซื่อๆ นู่น
จะรู้เมื่อมันสงบ มันบ่มีต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์
ธรรมชาติภูเขาที่ไหนไม่มี มีแต่แผ่นดินกับครอบฟ้าจางปางอยู่ฮั่น
อันนั้นแหละจิตมันรวม บริสุทธิ์แล้ว ครั้นมันเห็นอย่างนั้นแล้ว
มันบ่มีคน บ่มีหยัง หมดสัญญาแล้ว อากาสานัญจายตนะนี้
เลยขึ้นไปบ่มี มันจะกลับ มันจะเอากันอีก

อยู่บ้านผือ ไปมันทุกมื้อ ไปพรหมโลกนั่นแหละ ไปสวรรค์ก็ไปมื้อนั้นแหละ
ไปมันทุกวัน อยากวันไหน ก็ไปวันนั้นแหละ อันนี้มันสุดแต่คนแล้ว
เห็นแจ้งชัด มันจะขึ้นไป ความทุกข์มันจะเห็นไม่มี
เหมือนกันกับจุดตะเกียงเจ้าพายุ แดงโร่อยู่อย่างนั้นแหละ
มันสงบลงไปแล้ว ไม่มีหยังแล้ว แต่เราไปเกิดแต่วิญญาณ มันก็บ่ดีแล้ว
แล้วบ่เป็นหยัง บ่มีหยัง มันก็บ่ดีแล้ว มันต้องค้นคว้า จิตเราสงบ
มันสงบดีแล้ว บ่มีหยังๆ ว่ายังงั้นมันก็ไม่ถูก มันต้องค้นคว้า มันสว่างเต็มโลกแน่ะ
มันสว่างก็เห็น ก็ค้นคว้าหาสิ่งของได้ ไม่จุดไฟมันมืด ไม่มีดวงไฟมันก็มืด
บ่เห็นหยัง จะเก็บข้าวเก็บของ เราต้องจุดไฟเจ้าพายุขึ้น เราจึงหาเจอะ
บ่จุดมันก็ตะเกียงซื่อๆ นี่ก็เข้าใจว่า ดวงไฟมันมืด คือขี้เขม่า
มืดก็ต้องขัดเอาเขม่าออก บ่ขัดออก จุดไปนานๆ มันก็มัวหมอง
ไม่สว่างแล้ว จิตของเราครั้นไม่สงบแล้วก็มืด
ถ้าไม่มีสิ่งที่หมักหมมให้มันเศร้าหมองขุ่นมัว มันก็สว่าง สว่างแล้วเราก็ค้นคว้า

ท่านจึงว่า จิตเดิมธรรมชาติเลื่อมประภัสสร
แต่อาศัยอาคันตุกกิเลสเข้ามาหมักหมม จิตมันจึงขุ่นมัวไป
จะเปรียบเทียบเหมือนกับแก้ว หรือเพชรนิลจินดา
ที่เกลือกกลั้วอยู่กับฝุ่นธุลีกับพื้นแผ่นดิน
บุคคลผู้ฉลาดมาตรวจว่ามีเพชรพลอย มีบ่อทองคำที่นี่ เขาจะมาขุดขึ้น
เอามาเจียระไน จึงเป็นทองคำธรรมชาติ เป็นเพชร เป็นพลอยอันใส
เราต้องตั้งต้นตรงนี้เสียก่อน ธุลีมันก็มีอยู่ จิตเดิมมันมีอยู่ ตั้งใจอยู่
แต่ว่ามันเอาสมมุติเข้าไปใส่ มันหยิบหนังสือขึ้นมาแล้วแต่ละมันมืดมันดับ
มีแต่ฝุ่นธุลี มีโคลนมีตมมาเกลือกกลั้วอยู่
ใช้การบ่ได้ ก็เห็นตัวอยู่ชัดๆ จิตของเราก็อย่างนั้นแหละ
เมื่อจิตของเราขัดเกลาดีแล้ว เพื่อไม่ให้มันหลง ขัดอยู่ทุกวี่ทุกวัน
ไม่ให้ทุกข์เข้ามาขุ่นมัวหัวใจ รักษาใจให้มันสว่างอยู่
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตขัดดีแล้ว อบรมดีแล้ว มีแต่ความสุข
มันสุขก็แม่นจิตเท่านั้นแหละ มันจะรู้สึกได้ กายมันเป็นไปตามเรื่องของมันนั่นแหละ
มันก้อนพยาธิม๊ดทั้งก้อน ไม่มีดีสักก้อน ใจมันไปหมักหมมกับอะไรต่ออะไร
เอามาเป็นอารมณ์ อยู่แต่มันอันเดียวเท่านั้น บ่ยึดอันใดถ้ามันเห็นโทษแล้ว
เวลาไม่มีอะไรมาเกลือกกลั้วปะปนแล้ว มันก็ใสอยู่นั่น
ก็เป็นพระนิพพานเท่านั้นแล้ว ใจอยู่ตามธรรมชาติก็เป็นอย่างนั้น ก็ใสอย่างนั้น

เวทนา ร่างกายมันเป็นธรรมดา มันเป็นรังของโรค
เป็นก้อนโรคตั้งแต่ไหนแต่ไรมา มันเป็นอย่างใดก็ไม่มีความหวั่นไหว
พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ก็ไม่มีความหวั่นไหว
เวลามันจะเป็นไป ร่างกายแล้วแต่มันจะเป็นไปตามเรื่องของมัน
หน้าที่ของเขา ทุกขังอยู่นั่น เวทนาอยู่นั่น
เกิดเวทนาก็ให้ฝึกหัดพิจารณาโลกธรรม รูปอันนี้เราได้มาดีแล้ว
เมื่อมันชำรุดทรุดโทรมไปพระพุทธเจ้าก็ไม่มีความหวั่นไหวต่อมัน
มันจะเสื่อมลาภให้มันเสื่อมไปตามวิสัย ใจเราไม่เสื่อม
ความนินทาก็มันลมปาก ครั้นรู้เท่าแล้วจิตไม่กระวนกระวาย
จิตไม่มาร่างกายแล้ว มันก็สุขเท่านั้นแหละ

ความทุกข์กายเกิดขึ้นถ้ารู้เท่าแล้วจิตก็ไม่หวั่นไหว
อโสกํ วิรชํ ไม่มีกิเลสเครื่องมลทินจะตามได้
ไม่มีความโศกเศร้าต่อความเสื่อมของร่างกาย
ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ความนินทา ความสรรเสริญ มีความรู้สึกเป็นปกติ
นี้ชื่อว่าเป็นผู้รู้เท่าโลก รู้เท่าแล้วไม่มีความทุกข์ใจ
ครั้นไม่รู้เท่าความเปลี่ยนแปลงของร่างกายแล้วก็มีความหวาดเสียว
มีความสะดุ้งอยู่ กลัวอยู่ บ่รู้เท่า ยั่นมันก็บ่หายดอก
ไม่รู้เท่าแล้วมันก็มาเกิดอีก ถ้ามันมาเกิดเป็นมนุษย์มันได้สร้างบารมี
ถ้ามันไปเกิดเป็นอื่นละ โอ เป็นอสุภอสุภัง กลับชาติเป็นมนุษย์
พระพุทธเจ้าสร้างบารมี ท่านขึ้นไปอยู่พรหมโลกปู๊น
ไปอธิษฐานให้มันดับเสีย ครั้นอธิษฐานให้มันดับแล้ว
มันนอนอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ มันนอนไม่ได้มาสร้างบารมี
ครั้นอธิษฐานว่าดับเสีย มันไม่ได้เกิดมาสร้างบารมี มีแต่มนุษย์เท่านั้นแหละ
มนุสฺสปฏิลาโภ เกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะได้สร้างบารมี
เกิดเป็นมนุษย์แล้วมาสร้างบาปเฉยๆ มันก็บ่มีลาภแล้ว
อย่าสร้างบาปใส่ตน เกิดมาเป็นลาภแล้ว รีบสร้างบารมีเสีย

ไปอยู่ที่ใด ยั่นมันจะตายเสีย เราตั้งใจแล้วเราตั้งสัตย์อธิษฐานแล้ว
ยังไงมันก็จะให้เป็นชาติสุดท้ายในชาตินี้ การเกิดของเรานี่
เป็นหรือไม่เป็นก็ตาม เราจะทำความเพียรอยู่นั่นแหละ
แม้มันจะตายก็เทียวไปเทียวมาอยู่นี่ ทำมันอยู่นั่นแหละจนตาย
ถ้ายังไม่พ้นทุกข์ ก้อนนี้ก้อนตาย เกิดมาก็เกี่ยวข้องกับมาพากันตายเสีย
แบกทุกข์อยู่อย่างเรานี่ เข้าป่าเข้าดงไปซื่อๆ เกิดมามีแต่ตายเท่านั้นแหละ
เราไม่ประมาท ได้ตั้งใจทำคุณงามความดีแล้ว ตายมันจะไปทุกข์รึ

อย่าทำบาปทำชั่ว อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง
อย่าเห็นแก่หลับแก่นอน เราสร้างความดีใส่ตนไว้
ความทุกข์ยากลำบากบ่มีความสบายใจก็แม่นเราสร้างให้ตน
ผู้อื่นบ่ได้สร้างให้ จะดีก็แม่นตนสร้างใส่ตนเอง จะชั่วก็สร้างใส่ตนเองดอก
พระพุทธเจ้าสอนให้ทำดี ให้กายดี วาจาดี ใจดี อย่าเป็นกายสกปรก
ใจสกปรก ให้ใจสะอาด กายสะอาด นั่นแหละให้รักษาศีล
ให้นึกว่าเราเป็นอะไร เราเป็นพระเน้อ เราเป็นเณรเน้อ
ได้มาเจอศาสนาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นของเย็น อยู่เย็นเป็นสุขนะ

ไปอยู่อำเภอท่าน้อยนั่น บ้านผือนั่นแหละ เราจะตายอยู่นั่น
ตากแดด ตากฝุ่น ตากลมอยู่นั่น ให้มันตายอยู่นั่น ที่อำเภอนั่น
เราพูดว่าเป็นแต่พระ ให้พากันตายอยู่นอกสมมุติ อย่าให้มันตายในสมมุติ
นอกสมมุติหมายถึงพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั่น
ผู้ปฏิบัติตามก็มีความเยือกเย็น ไม่มีความเดือดร้อน
ตายอยู่ป่าชาด ป่ากุง ป่าแก มันฮ้อน ตามตัวก็มีแต่หนอน
ตายอยู่ป่าชาดป่ากุง มีแต่ทิ้งเสียนั่นแหละ

อย่าลืมตน ให้สำนึกตน ให้ดูตน อย่าไปดูผู้อื่น
อย่าเพ่งโทษผู้อื่น ใครทำไม่ดีก็เป็นโทษของเขา โทษของผู้อื่น
จะได้รับความทุกข์ก็แม่นตน ได้รับความสุขก็แม่นตน
เขาทำดี เขาก็ได้รับความสุขของเขาเอง
ให้ดูตน ดูทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้ฝึกตน ให้มีสติกับตน
ให้เร่งทำเมื่อร่างกายให้โอกาส เมื่อร่างกายยังดีอยู่ ยังแข็งแรงอยู่
ทำความเพียรก็ได้อยู่ ครั้นแก่มากครือเรานี่ ก็บ่ทันแล้ว
ได้รับทุกข์ยากทั้งลายก็ไม่ได้ เครื่องมันเก่าแล้วจะทิ้ง
ครือมันไปกับเจ้าของซื่อๆ ก็ทำท่าจะล้มแล้ว แต่น้อย แต่หนุ่มก็กำหนด
เดี๋ยวนี้เราเป็นพระ เดี๋ยวนี้เราเป็นเณรแล้ว ต่างจากฆราวาสธรรมดาแล้ว
เพราะมีผ้าเหลืองนั่น เราต้องมีความสำรวม มีความระวัง อย่าให้ใจคะนอง
สนุกสนานไปในอารมณ์ มีกามารมณ์ ต้องหักห้าม มีสติ
อย่าไปปล่อยตามอารมณ์ ให้ขะมักเขม้นทำความเพียรภาวนา
พุทโธแล้วให้มีสติสำรวมใจอยู่ เอาอิทธิบาทสี่

ตอนเช้าให้มีความสำรวม กายสุจริตัง
กลางวันให้มีสติระวังกายให้เป็นสุจริต ให้วาจาเป็นสุจริต
ให้ใจเป็นสุจริตอยู่ ค่ำมาก็ให้กายวาจาใจเป็นสุจริตอยู่
ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิ ให้ชำระนิวรณธรรม
คืออารมณ์ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทัจจะกุกุจจะ
ให้ชำระอันนั้นเสีย ให้ใจบริสุทธิ์ ยามใดก็ชำระอันเดียวนั่นแหละ
ครั้นชำระอันนี้แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์
ไม่มีราคะ โทสะ โมหะมาเกลือกกลั้ว จิตไม่เศร้าหมองแล้ว จิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง
จิตบริสุทธิ์แล้วอยู่ที่ใดก็มีความสุข ทำการงานอยู่ก็มีความสุข
ความสุขติดตามผู้นั้นไป เหมือนกันกับเงาตามตนไปอยู่ทุกอิริยาบถ
ยืน เดิน นั่ง นอนเพราะชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์
ใจเศร้าหมองไม่ดีละก็มันก็เป็นทุกข์อยู่นั่น ความทุกข์ติดตามผู้นั้นไป
ทำการงานก็ไม่มีความสุข พูดอยู่ก็ไม่มีความสุข
ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไปเหมือนกับกงล้อติดตามรอยเท้าโคไป แอกก็ทับคอมันไป

มนสา เจ ปทุฏฺเฐน มนะคือใจ
ครั้นราคะ โทสะ โมหะ โลภะ ประทุษร้ายแล้ว
ผู้นั้นจะพูดอยู่ก็ดี จะทำการงานอยู่ก็ดี
ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไปเหมือนกงล้อติดตามรอยเท้าโคไปอยู่
มนสา เจ ปสนฺเนน จิตใจของผู้ใด อันโทษไม่ได้ประทุษร้ายแล้ว
จิตใจผ่องใสแล้ว ความสุขย่อมติดตามเขาไปอยู่เหมือนเงาเทียมตน
ถ้าหากเราไม่มีธุระ ไม่มีการงานอันหยัง ชำระจิตใจของตนอยู่นั่นแหละ
อย่าให้มันไปจองเวรกับเขา ได้ชื่อว่าผู้ชนะใจ
อย่าให้มันมีความกำหนัดกับกายตัวนี้แหละ
ครั้นมีความกำหนัดกับกายแล้ว ได้ชื่อว่าจิตไม่บริสุทธิ์ จิตเบียดเบียน
เบียดเบียนตนให้เดือดร้อน แล้วก็เบียดเบียนผู้อื่น


:b47: :b50: :b47:

•• หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

•• รวมคำสอน “หลวงปู่ขาว อนาลโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 21:17 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร