วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 22:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:51 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:53 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

มารกระซิบ
พระธรรมเทศนา ของ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๒

ตามสบายนะ...ไม่ทราบว่าจะพูดอะไรสู่ฟัง...เรื่องธรรมะทุกรูปนามก็มีอยู่แล้ว แต่เราไม่ฉลาดที่จะนำธรรมมาประดับกายวาจาใจของตัว เนื่องจากไม่ฉลาด ภพชาติของเราจึงยืดเยื้อมาตลอดทุกวันนี้ ถ้าเราฉลาดเราก็หนีไปแล้ว ปรินิพพานไปแล้ว

ทำอย่างไร เราถึงจะฉลาดรอบรู้ในเรื่องของตัว ที่จะละความชั่วโง่เสียต่างๆ ให้ตกไป นั่นเป็นหน้าที่ของทุกท่านที่จะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ ความฉลาดที่สามารถขับไล่กิเลสตัณหา ให้เกิดสติปัญญาขึ้นในตัวนั้น ก็มีหลายขั้นหลายตอน

ทางศาสนาท่านบอกว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็มีอยู่ ๓ นัย คือ สุตมยปัญญา อาศัยการศึกษา สดับรับฟังจากผู้อื่น จากตำรับตำรา ศึกษาในเรื่องต่างๆ ให้เข้าใจ เป็นเรื่องแก้ไขความโง่ ความชั่วเสียต่างๆ จินตามยปัญญา นำสิ่งที่ได้เห็นได้ยินต่างๆ มาพินิจพิจารณาหาเหตุผล ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เป็นปัญญาเกิดขึ้นจากการคิด ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการอบรมจิตใจ คือทำจิตใจของตนให้สงบ เมื่อสงบแล้วก็ค้นคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ ให้ทราบให้เห็น จนจิตใจละถอนความข้องติดคิดปรุง ที่เคยยุ่งเกี่ยวต่างๆ ให้หลุดหล่นออกไป เป็นทางขับไล่กิเลสตัณหาออกจากใจ หรือปัญญาเกิดขึ้นจากการพิจารณาธาตุขันธ์ ใครหมั่นพินิจพิจารณาธาตุขันธ์ หรือกายของตัวเท่าไร คนนั้นจะมีปัญญาสำหรับรักษาใจของตัว ให้รู้ให้เข้าใจในสิ่งต่างๆ ตามเป็นจริง ไม่ยึดถือ ไม่มีทิฏฐิมานะ ความเห็นผิดความถือตัวต่างๆ เพราะการพิจารณากายนั้น ทำจิตใจให้สามารถที่จะทราบเรื่องของสิ่งต่างๆ ตามเป็นจริงได้

กายของเราเพียงคนเดียวเท่านั้น สามารถเป็นปัญหาทั่วทั้งโลก ถ้าหากพิจารณากายของตัวทั่วถึง มันก็รู้ตลอดไปในโลก ไม่ว่ากามโลก รูปโลก อรูปโลก หรือนิพพาน หากพิจารณาแยบคายเข้าไป มันจะเคลื่อนไหวความข้องติดคิดแวะต่างๆ ฉะนั้น การพิจารณากายจึงเป็นทางเกิดปัญญา สามารถละถอนความชั่วเสียออกจากใจได้

กายของเราก็มีอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน กายอันนี้มีอยู่ ไม่ได้หนีไปไหน จึงเป็นทางศึกษาให้เกิดปัญญา แก้ไขขับไล่เรื่องกิเลสตัณหาง่าย ความหลงของมนุษย์ทั่วไปก็คือ หลงกาย เข้าใจว่าหญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก่ ว่าสวยงาม ว่าขี้ริ้วขี้เหร่ต่างๆ นี่คือความสัมพันธ์ในจิตในใจ ให้ได้รับสมมติแนะสอนมาจากคนอื่น

เขาสมมติอย่างไร เราก็มักติดข้องอย่างนั้นโดยไม่ได้พิจารณาเรื่องของกายให้แยบคาย ท่านจึงให้พิจารณาเรื่องของกาย กายอันนี้เป็นที่ตั้งของสมมติ เป็นที่ตั้งของมรรคของผล เป็นที่ตั้งของกิเลสตัณหา แล้วแต่สติปัญญา แล้วแต่เราจะน้อมไปสู่เรื่องอะไร

ถ้าน้อมไปในทางกิเลสตัณหา ก็ส่งเสริมความสวยงาม ว่ามันงามอย่างนั้น มันสวยอย่างนี้ อยากจูบอยากชม หลงใหลใฝ่ฝันไปในรูปนั้นๆ ในกายนั้นๆ ทำจิตทำใจให้เดือดร้อนวุ่นวาย ถ้าไม่ได้ตามความปรารถนาของตัว ได้มาก็เป็นภาระดูแลรักษา อยากจะให้คงเส้นคงวา ไม่อยากจะให้เสื่อมโทรมเปลี่ยนแปลง นี่เป็นเรื่องของคนทั่วไปที่มีกิเลสตัณหาในใจ ยึดมั่นถือมั่น เป็นไปอย่างนั้น นี่คือทางพิจารณาให้เกิดกิเลสตัณหา ให้เกิดความยึดความถือ ความห่วงความหวงของตัว

ถ้าหากพิจารณาทางชำระกิเลสตัณหา ก็ตรงกันข้าม พิจารณาเรื่องของกาย ไม่ได้หมายความว่าเป็นหญิงเป็นชาย ไม่ได้หมายความว่าส่วนนั้นส่วนนี้ พิจารณาให้เข้าถึงจุดความจริงของมัน จะพิจารณาทางอสุภะ อสุภัง ความไม่สวยไม่งาม ก็พอพิจารณาได้ เพราะเรื่องของกายของทุกคน ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่าฆราวาสนักบวช มันก็กายเหมือนกัน เป็นของเน่าของปฏิกูล รั่วไหลออกมา ทางหู ทางตา ทางจมูก ไม่ว่าทวารใด ถ้าหากรั่วไหลออกไปจากกายแล้ว ของนั้นหมดคุณค่า เป็นของที่เน่า ที่เหม็น ที่ปฏิกูลทั้งนั้น ของดิบๆ ดีๆ เสื้อผ้าเอามานุ่งห่ม ก็ยังแปดเปื้อนไปด้วยอสุภะ อสุภัง คือความสกปรก ต้องได้ซักได้ล้างอยู่เรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็เหม็นสาบเหม็นโขงกัน

อาหารการขบฉันอยู่กินของเรา อยู่ในถ้วยในจานก็มีกลิ่นน่าดม ดูก็ไม่น่ารังเกียจ เห็นเข้าก็อยากอยู่อยากกิน เพราะถือว่าของนั้น เป็นของไม่สกปรก เป็นอาหารแก่ธาตุแก่ขันธ์ แต่เมื่อพวกเราท่าน เอามาเข้าในปาก บดเคี้ยวเข้าไป ถูกกับมูลฟันกับน้ำลายของเราเข้า เราไม่เห็นต่างหากที่กลืนได้ ถ้าหากคายออกมาตกกับภาชนะถ้วยชามก็ตาม เราไม่สามารถที่จะกลืนเข้าไปอีกได้ นี่ยังไม่ถึงท้อง เพียงแต่อยู่ในปากก็สกปรกแล้ว ยิ่งลงไปสู่กระเพาะอาหาร ไปสู่สำไส้ มันเป็นอย่างไร เราพิจารณาไป ก็เห็นความสกปรกของมัน

นอกจากนั้น ที่เราลุ่มหลงว่ามันสวยมันงาม ก็เพราะอาศัยเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ถ้าหน้าไม่มีเลือดฝาด ก็ไม่น่าดู เพราะมีเลือดอยู่ หน้าจึงแดง จึงอย่างนั้นอย่างนี้ ก็สมมติกันไป ก็หลงเลือดซึ่งเป็นของสกปรก เหม็นสาบเหม็นคาวจะตายไป ถ้าเลือดหยดย้อยใส่ที่นั่งที่นอน ก็ไม่น่านั่งน่านอน ตกใส่ที่ไหนใครเขาก็รังเกียจ เพราะเป็นของสกปรกโสมม นี่คือการพิจารณาในทางอสุภะ คือทางไม่สวยงาม เมื่อเราพิจารณาติดตามอยู่อย่างนี้ ผูกใจมั่นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจริงอย่างนี้อย่างนี้ จิตใจพวกเราท่านก็ไม่ข้องแวะในทางราคะตัณหา นี่คือทางพิจารณาทางอสุภะ

การพิจารณาทางอนิจจัง ก็พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้ไม่คงเส้นคงวา เกิดมาแล้วก็แปรเปลี่ยนไปตามธรรมดาของมัน ไม่มีใครจะมีอำนาจราชศักดิ์บังคับบัญชาได้ มันเป็นไปตามสภาพของมัน เราจะขบจะฉัน จะอยู่จะกิน จะนั่งจะนอน จะเดินขนาดไหน รักษาไม่ให้ความแปรสภาพของมันเกิดขึ้นนั้น รักษาไม่ได้ มันจะแปรไปตามเรื่องของมัน ไม่ว่าอะไรทั้งนั้นที่อยู่ในกาย ผมของเราที่เคยดกดำ นานเข้าก็หงอกก็ขาว ฟันที่แน่นตึงอยู่ นานเข้าก็โยกก็คลอน ก็หลุดก็หล่นออกไป เนื้อหนังที่เปล่งปลั่ง ก็หย่อนก็ยานไปตามกาลตามเวลาของมัน นี่คือเรื่อง อนิจจังของขันธ์ อนิจจังของกาย ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ว่าใครทั้งหมด มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันไม่มีอะไรที่จะควรยึดมั่นถือมั่น

มันสวยมันงามก็ชั่วระยะเวลา เหมือนกันกับดอกไม้แย้มบานออกมาตอนเช้า ตอนเย็นมาก็เหี่ยวก็แห้งก็ร่วงก็โรยไป ธาตุขันธ์ของพวกเราท่านก็ทำนองเดียวกัน ไม่ควรที่จะยึดมั่นว่ามันสวยมันงามอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ควรที่จะไปยินดีชอบพอกับมัน นี่คือการพิจารณาเรื่องอนิจจัง

พิจารณาลงเป็นธาตุขันธ์ ก็พิจารณาได้ ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่านักบวชฆราวาส มีกายเหมือนกัน กายอันนี้ก็เกิดขึ้นมาจากธาตุทั้งสี่ ที่เรามองเห็นได้ถนัดชัดเจน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ รวมถึงอากาศ วิญญาณ ถ้าพูดเป็นธาตุ ๖ ธาตุเหล่านี้ผสมผสานกันเข้า ก็ถือว่าหญิง ว่าชาย ว่าสัตว์ ว่าบุคคล ความจริงธาตุอันนี้ไม่เคยยินดีชอบพอกับความหวงแหนของจิต ซึ่งมาอาศัยอยู่ในธาตุในขันธ์ว่า อันนี้เป็นเรา อันนั้นเป็นของเรา ธาตุเหล่านี้มีหน้าที่เปลี่ยนแปรสภาพของมันไป ผลที่สุดก็สลายลงไปสู่ธาตุเดิม ไม่มีใครที่จะมีความสามารถบังคับบัญชา ไม่ให้มันเปลี่ยนสภาพเป็นไปอย่างนั้น นี่คือการพิจารณาเรื่องของธาตุ

ถ้าหากจิตเห็นชัดเจนว่า นี่เป็นก้อนของดิน ของน้ำ ของลม ของไฟ จริงจัง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เป็นแต่ธาตุผสมกันอยู่ แล้วก็จะสลายลงไปตามหน้าที่ของมันอย่างนั้น ถ้าจิตเห็นจริงอย่างนี้ ก็จะไม่หลงใหลใฝ่ฝัน ไม่ได้ยึดมั่นว่าสัตว์ว่าบุคคล เพราะเป็นธาตุ

ถึงหลงขนาดไหน มันก็เป็นไปอยู่อย่างนั้น รู้ขนาดไหนก็เป็นไปอยู่อย่างนั้น แต่ผิดกัน คนหลงเกิดทุกข์ คนรู้ไม่เกิดทุกข์ เมื่อทราบตามสภาพของมัน มันไม่เกิดทุกข์ นี่คือปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการศึกษา การพิจารณา ปัญญาจะรู้ จะเข้าใจ ปล่อยวางได้ ก็ต้องอาศัยจิตใจของพวกเราท่านมั่นคง ไม่วอกแวกเอนเอียงไปตามเรื่องอารมณ์สัญญา สมมติของโลก

ใจจะตั้งมั่นได้ ก็ต้องอาศัยฝึกอบรมสมาธิ ได้แก่ความหนักแน่นของใจ ความหนักแน่นของใจจะเกิดขึ้นมีขึ้น ก็อาศัยการฝึกการกระทำ ไม่ใช่อยู่ๆ จิตใจของพวกเราท่านก็จะมั่นคงเอง มันต้องอาศัยการฝึก การศึกษา การปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มีอะไรอื่น ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ในสิ่งที่มีอยู่ เข้าใจในสิ่งที่มีอยู่ มาสอนพวกเราก็ทรงสอนสิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้เอามาจากที่ไหน การศึกษาของท่าน ศึกษาจากอาจารย์ทั้งสอง คือ อุทกดาบส อาฬารดาบส ก็ศึกษาจริง แต่ศึกษานั้นไม่ใช่ทางตรัสรู้ของพระองค์

ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ ก็ศึกษาในธาตุในขันธ์ในกายของท่าน อย่างท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาท พิจารณาถึงชาติ ถึงชรา มรณะ เรื่อยมาถึงอวิชชา กลับออกกลับเข้าอยู่นั้น สิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในตัวของเราทั้งนั้น ที่ท่านศึกษา หรือเรื่องของอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็อยู่ในกายในใจ ไม่ได้อยู่ในที่อื่น ถ้าเรากำหนดลงในกายในใจของเรา จึงไม่มีการผิด

อย่ากำหนดไปในทางให้เกิดกิเลส ตัณหา ราคะ ให้กำหนดเพื่อแก้ไข กำหนดให้รู้สภาพความเป็นจริงของมัน จะพิจารณากำหนดด้วยความไม่สวยไม่งามก็ได้ จะกำหนดด้วยความไม่เที่ยงเรียกว่า อนิจจํ ก็ได้ ทุกขํ ก็ได้ อนตฺตา ก็ถูก พิจารณาอยู่ในนี้ พิจารณาลงไป กำหนดลงไป ให้เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ได้ นี่คือการศึกษา การพิจารณา น้อมจิตเข้ามาภายใน อย่าส่งออกไปภายนอก

กำหนดลงไป อย่าส่งออกไป ใจเคยส่งเคยปรุงเรื่องนอก มันจึงไม่สงบ ไม่หนักแน่น และไม่เห็นของจริง มีแต่ของหลอกลวงเรื่อยไป ว่าได้อันนั้น พบอันนี้ จะมีความสุขความสบาย เห่อกัน หลงกัน เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ปัจจุบันนี้ ก็เพราะหลงอารมณ์ หลงสมมติ ถ้าหากมารู้สมมติ รู้อารมณ์ รู้สภาพของธาตุขันธ์ตามความเป็นจริงของมัน จนจิตใจเกิดความละถอนเรื่องความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ มันทราบจากการปฏิบัติของตัวเอง ไม่ได้ทราบจากคนอื่น

แต่ก่อน ใจเคยยึดเคยถือ เคยลุ่มเคยหลง ครั้นมาปฏิบัติ พิจารณาให้จิตเห็นชัดในธาตุในขันธ์ของตัวทั่วถึงเท่านั้น อดีตผ่านมากี่แสนกี่ล้านปีก็เป็นอย่างนี้ อนาคตยังไม่มาถึงก็ทำนองเดียวกับปัจจุบันที่เป็นอยู่ ไม่มีอะไรที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล ผู้ลุ่มหลงก็เกิดทุกข์เกิดโทษแก่ตนของตน ผู้มารู้มาเข้าใจชัดเจน จนละถอนความยึดถือในธาตุในขันธ์ของตน ธาตุขันธ์ของคนอื่นไม่ต้องพูดถึง

ถ้าละขาดจากธาตุจากขันธ์ของตัวได้ จะไม่มีหญิงที่ไหน ไม่มีชายที่ไหน สมมติขึ้นแล้วก็ลุ่มหลงกันไป ตะครุบเงา หาตัวจริงไม่ได้ ตัวจริงเป็นอย่างไร เราพิจารณาในกายของเรา ในธาตุขันธ์ของเรา มันก็รู้ ความจริงเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย ไม่มีอะไรที่จะน่ารัก น่าพอใจ เรามาอยู่ในธาตุในขันธ์ ก็เหมือนกันกับเราตกลงไปในถังขยะ มันไม่มีที่ไหนสะอาดสวยงาม แต่จิตก็ลุ่มหลง เป็นเหมือนหนอนชอบพอของสกปรก มันจึงอยู่ได้

ถ้าหากจิตทราบ เข้าใจตามเป็นจริงของมันแล้ว มันไม่น่าอยู่ไม่น่าอาศัย เพราะธาตุขันธ์ก้อนนี้เป็นภาระหนัก ท่านว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระหนัก หนักอย่างไรนั้น ถ้าหากไม่พิจารณา ก็ถือว่าไม่หนักหนาอะไร มันสะดวกสบาย

ถ้าพิจารณาแล้ว ขันธ์ทั้งห้า ก็มี รูปขันธ์ รูปกายของเรานี้มันหนัก ไม่ใช่ของเบา หนักเอาจริงๆ จังๆ แขน ขา ถ้าเกิดหมดกำลังขึ้นมา ป่วยไข้นานๆ เข้า มันก็ยกไม่ขึ้น รูปขันธ์เป็นของหนัก เป็นภาระที่ต้องหาสิ่งต่าง ๆ มาบำรุงรักษามัน แต่เราเกิดมาตลอดปัจจุบัน ของที่เอามานุ่งมาห่ม มาอยู่มากิน ถ้าเก็บเอาไว้ มันมากมายเหลือหูเหลือตา แต่ละท่านแต่ละคน ของที่เอามาบำรุงธาตุบำรุงขันธ์ รับประทานเข้าไปแล้ว ก็ถ่ายเทออกไป ถ้าหากเก็บเอาไว้ มันมากต่อมาก เป็นภาระหน้าที่ที่จะแสวงหามาบำรุงมัน แต่มันก็ไม่ฟังเสียงของเราว่า เรารักมัน แล้วเราก็งม รักมันอยู่เรื่อยไป แต่มันไม่รักเรา หน้าที่ของเขาจะแก่ จะเฒ่า จะป่วย จะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเรื่อยตามเรื่องของมัน รักษาเท่าไร หายอันนี้ อันใหม่เกิดขึ้น นี่คือเรื่องของรูปขันธ์

เวทนาขันธ์ ความเจ็บปวดก็หนักไม่ใช่เล่น เสียเงินเสียทองเสียข้าวเสียของไปเท่าไร ขอให้อยู่สุขอยู่สบาย ให้กายยังอยู่ เท่าไรก็ยอมเสีย เวลามันเจ็บมันป่วยมา ไม่มีอะไรที่จะทำให้สุขกายสุขใจ สำหรับคนไม่มีธรรมเป็นอย่างนั้น ข้าวของเงินทองก่ายกองขนาดไหน บริษัทบริวารจะมีมากขนาดไหน ก็ไม่มีใครจะช่วยเหลือเราได้

เราเจ็บก็เป็นเรื่องของเราเจ็บอยู่คนเดียวนั้นแหละ ทนทุกข์อยู่อย่างนั้น ยิ่งเขามาเฝ้าดูจะช่วยได้ก็เพียงให้น้ำให้ยา แต่ถ้าหากยังไม่หาย ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะแบกจะหามอยู่นั้น มันเลยทุกข์เลยลำบาก เวทนาขันธ์มันมีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิต

เรื่องของเวทนาที่ว่าเป็นสุขนั้น ใครก็ชอบกัน แต่ทั้งเวทนาที่เป็นทุกข์ก็ดี เป็นสุขก็ดี เฉย ๆ ก็ดี ตามธรรมชาติของมันก็เป็นอนิจจัง เวทนาอนิจจา เวทนาอนัตตา คือมันตั้งอยู่นานไม่ได้ มันหายไปของมันเอง แต่ใจของเราไปยึด อยากจะได้สุขอย่างนั้น อยากจะได้สุขอย่างนี้ ส่วนทุกข์ที่เกิดมา เบื่อหน่าย ไม่อยากให้เกิด แต่ก็บังคับไม่ได้ รักษาไม่ฟัง ถึงกาลถึงเวลาก็เป็นไปตามเรื่องของมัน ความสุขที่เราชอบก็หมดไปหายไป ความทุกข์ที่เราไม่ชอบก็เกิดขึ้นมา ผลที่สุดสุขก็สู้ทุกข์ไม่ได้ ไปสู่จุดหมายของมันคือความตาย มันเป็นด้วยกันทั้งนั้น เรื่องของเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ มันเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่จิตของเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงไปยึดสิ่งที่ตัวชอบ ไปตำหนิสิ่งที่ตัวไม่พอใจ แล้วเพิ่มทุกข์ขึ้นอีก ทุกข์ของกายก็มี ทุกข์ของใจก็เพิ่มขึ้น ขาดปัญญา ขาดธรรมภายใน

ถ้าผู้มีธรรม ท่านเข้าใจตามจริงของมัน อันนี้เป็นขันธ์อันหนึ่งคือเวทนา แต่ผู้มารู้ขันธ์นี้ ไม่ใช่เรื่องของขันธ์ เป็นอีกคนหนึ่งต่างหาก ผู้หนึ่งต่างหาก ผู้เจ็บผู้ป่วย ผู้เป็นอยู่นี้เป็นอีกผู้หนึ่ง ผู้ที่มารู้เป็นอีกผู้หนึ่ง ผู้นี้ไม่มีเจ็บ มีป่วย ไม่มีตาย แต่ปกติคนธรรมดาไม่เห็น เพราะความไม่เห็นนั้นแหละ จึงเกิดทุกข์เกิดโทษแก่ตัวของตัว

เหตุใดจึงไม่เห็น เพราะไม่เคยพิจารณา ไม่เคยศึกษา ไม่เคยปฏิบัติ อายุจะแก่จะเฒ่าขนาดไหน ก็ยังหึงยังหวง ยังไม่รู้ไม่เห็นความเป็นอย่างนั้น ที่ท่านถือว่า จิตคือผู้มารู้มาเห็น ผู้ประพฤติปฏิบัติท่านเห็น ท่านเข้าใจชัดเจนว่าอันนี้เป็นขันธ์ อันนี้เป็นจิต

สัญญาขันธ์ ความจำได้หมายรู้ต่างๆ ก็ทำนองเดียวกัน เอาจริงเอาจังไม่ได้ บางทีก็จำได้ บางทีก็หายไป ถ้าไม่อย่างนั้นอกแตกตาย อย่าไปถือว่าจำได้ทุกอย่างแล้วมันจะดี มันไม่ดี เพราะความชั่วความเสียที่เราจำได้ไม่ละไม่ลืมไปจากใจ มันจะให้ทุกข์ให้โทษ เพราะทุกคนเกิดมาไม่ใช่จะสมปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่างไป เขาชมเชยสรรเสริญก็มี เขาตำหนินินทาก็มี เขาทำดีให้ก็มี เขาทำไม่ดีให้ก็มี ทุกอย่างถ้าหากไม่หลงไม่ลืมไปบ้าง อกแตก

นี่มันดี มันหลงมันลืมไป ไม่ใช่ว่ามันรู้มันเข้าใจอยู่ตลอดเวลา มันมีเวลาลืมไปหลงไป ท่านจึงว่า สัญญาอนัตตา คือบังคับไม่ได้ สัญญาอนิจจา คือความแปรปรวนของมันมีเรื่อยไป นี่เป็นขันธ์ภายในอันหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูป เป็นนาม ผู้ประพฤติปฏิบัติท่านจะเข้าใจ เพราะท่านพินิจพิจารณาอยู่ภายใน

สังขารขันธ์ ความปรุงของใจ ก็ปรุงอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีใครที่จะไม่ปรุงเรื่องของใจ ปรุงอยู่อย่างนั้น นอกจากหลับสนิทหรือจิตรวมถึงที่ มันจึงไม่ปรุงอะไร ซึ่งมีเป็นกาลเป็นสมัย ไม่ใช่ว่าจะอยู่อย่างนั้นตลอดไป เมื่อถอนขึ้นมาใจก็ต้องมีการปรุง การคิดเป็นธรรมดา แต่ท่านไม่หลง สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติ ผู้เข้าถึงอรรถถึงธรรมจริงจัง

วิญญาณขันธ์ ความรู้ทางตา ทางหู ทางอายตนะภายในที่ไปกระทบกับรูป กับเสียง หรืออายตนะภายนอก ก็มีอยู่เป็นธรรมดา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเหล่านี้ก็ดับไป หายไป มันบ่งบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่มีอะไรคงเส้นคงวา

แต่เรื่องใจของเราเข้าไปยึดไปถือ อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ มันจึงผิดอยู่ตลอดเวลา หาแต่ทุกข์แต่โทษแต่ไฟมาเผาตัวเอง เพราะความยึดความถือที่ผิดๆ จิตไม่มีปัญญาที่จะแก้ไขขับไล่ความหลงของใจ ความมืดบอดของใจ จึงเกิดทุกข์เกิดโทษแก่ตัวเรื่อยมา นี่คือคนที่ขาดการภาวนา การศึกษาในตัวเอง

เมื่อหลงตัวเองแล้วก็ไปหลงคนอื่น สัตว์อื่น หลงโลก ไม่ทราบความเป็นจริงของมัน ถ้าหากฝึกภาวนาชำระใจของตัว มีสติ มีปัญญา คือระลึกอยู่เสมอ รู้อยู่เสมอ อะไรเกิดขึ้นพร้อมที่จะรู้ ไม่ใช่เกิดลุกลามไปแล้วถึงจะรู้ เหมือนกันกับไฟไหม้บ้านของเรา พอไฟติดเข้านิดหน่อยเท่านั้น รู้ก็ดับมันได้ หรือเขาจะมาจุดมาเผาเท่านั้น รู้ เราก็ขับไล่เขาหนี มันก็ไม่ได้เผา ไม่ต้องได้ดับ เพราะไฟยังไม่ได้จุดไม่ได้เผา นี่สติของพระอริยเจ้าก็ทำนองเดียวกัน ท่านมีอยู่ทุกราย ไม่ได้ขาดวรรคขาดตอนเหมือนพวกเรา

พวกเรานั่งภาวนา ทำท่าหลับหูหลับตาเอาจริงเอาจัง แต่จิตใจแส่ส่ายไปตามสัญญาอารมณ์ที่ไหนต่อที่ไหน จนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว จึงวกกลับเข้ามา...อ้อ...นี่เรานั่งนานแล้วนะ ภาวนามานานแล้ว สมควรจะหลับจะนอนเสีย แต่ความจริงจิตใจนั้นอยู่ในอรรถในธรรมหรือไม่ หรือไปคิดใคร่เรื่องนอกออกจากธรรม คือมันขาดวรรคขาดตอนของสติ มันหนีไปถึงไหนถึงไหนก็ไม่ทราบ จนวกกลับมาเอง มันเหน็ดมันเหนื่อยกลับมาเอง วกกลับเข้ามาสู่กายสู่ใจของตัวถึงทราบ

พอทราบ เรื่องกิเลสก็เกิดขึ้น เรื่องสัญญาก็เกิดขึ้น บอกว่านั่งมานานแล้ว สมควรแล้ว วันใหม่จึงค่อยทำต่อ วันนี้เหน็ดเหนื่อยเพราะนั่งนาน มันบอกไปหาหมอนเสีย หาหลับหานอนเสีย แทนที่ เอ๊ะ...จิตใจของเรานั่งภาวนา มันไม่อยู่กับเรื่องของอรรถของธรรม มันวิ่งวุ่นไปตามสัญญาอารมณ์ข้างนอก เราจะไม่ยอมหลับยอมนอน ถ้าหากพิจารณาหาความสงบสุขไม่ได้ เรามาปรับโทษตัวเอง ว่านั่งหลอกตัวเอง จิตไม่อยู่กับศีลกับธรรมอะไร วิ่งไปตามเรื่องของโลก

ถ้าเราสอนตัวของเรา เรารู้ตัวของเราอย่างนั้น มีปัญญาสอนตัว ไม่เชื่อตามเรื่องที่มารกระซิบว่า นานแล้วนะ นอนเสียก่อน ตอนเช้าถึงค่อยทำใหม่ ไม่เชื่ออย่างนั้น เชื่อธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำเพื่อความสงบ ทำเพื่อความรู้ความเห็น ทำเพื่อแก้ไขขับไล่สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยออกจากใจ ไม่ใช่เรานั่งหลับตาภาวนาหากิเลส หาโลกหาสงสารอะไร เราจะปัดเป่าเรื่องสัญญาอารมณ์ที่เป็นไปในทางชั่วทางเสียต่างๆ ออกจากใจ ไม่ใช่นั่งนึกคิดวาดภาพเรื่องของโลก

จะพิจารณาอะไรให้จิตใจรู้เห็น จิตใจเย็น สงบ สบาย จึงจะเรียกว่าภาวนาละกิเลส

เราสอนตัวของเราอย่างนั้น ก็ตั้งหน้าทำ พินิจพิจารณาชำระใจของตัวที่ชั่วที่เสียต่างๆ ให้ตกออกไป นี่คือการภาวนาขับไล่เรื่องกิเลสตัณหาออกจากใจ ใครมีสติ ใครมีปัญญา ชำระสะสางใจของตัวอย่างนั้น กิเลสตัณหากลัว เพราะใจมีหน้าที่อันเดียว ถ้าหากพิจารณาเรื่องของธรรมแล้ว เรื่องของกิเลสตัณหาก็ไม่สามารถจะเข้ามาเกี่ยวข้องได้

ถ้าหากใจไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนอก เรื่องกิเลสตัณหา ธรรมก็หมดไป เพราะมันคนๆ เดียว จะไปสองทางไม่ได้ ไปได้ทางเดียวเท่านั้น ฉะนั้นตัวสำคัญคือสติ คือปัญญา ถ้ามีสติรักษาระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา อารมณ์อะไรเกิดขึ้น ผุดขึ้น หรือจรมา ทราบว่า อันนี้เป็นอารมณ์ที่จะนำความเสียหายมาให้ มายั่วยุจิตใจให้หลงใหลใฝ่ฝัน ให้ห่างเหินจากอรรถจากธรรม มีสติรู้ มีปัญญาแนะสอนใจแล้ว มันก็ตกออกไป เพราะเราไม่เชื่อมัน มันเกิดมา มันก็ดับของมันไปเอง ถ้าหากเราไม่ติดตาม นี่คือการศึกษา การพิจารณาภายใน การดูใจของตัว

ถ้าดูใจของตัวทั่ว ทราบเรื่องของตัวตลอด ก็ไม่มีปัญหาอะไรสำหรับโลก มันก็อยู่ของมันมาแต่ไหนแต่ไร เราไม่เกิด มันก็มีอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเดือน ปี นาที โมง มีแต่ตอนเราเกิดนี้ สมมติอันนี้มีมาแต่ไหนแต่ไร เราตายไปก็ไม่ใช่ว่าจะหอบหิ้วหาบหามเรื่องของโลกไปได้ มันเคยมีอยู่อย่างไร มันก็จะเป็นไปตามหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น

ความลุ่มหลงของใจเป็นเรื่องสำคัญ ต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์พิจารณาด้วยความสงบ เมื่อใจมีความสงบแล้ว มองดูอะไรก็มองเห็นถนัด เหมือนกันกับน้ำสงบ เรามองดูเงาหน้าของเราก็มองเห็นได้ มีไฝมีสิวอยู่ที่ไหน มีอะไรติดหน้าของเราบ้าง ธรรมดาหน้าของเราอยู่ใกล้ๆ กับตา แต่มองไม่เห็น ต้องไปส่องกระจกเงา ไปส่องน้ำที่ใสสะอาด จึงจะเห็นได้ ทั้งๆ ที่ตาก็อยู่ในหน้า แต่ก็ไม่เห็น นี้กิเลสตัณหาก็อยู่ในกายในใจของเรา แต่เราก็ไม่เห็น เพราะใจของเราวอกแวก ใจของเราว้าวุ่น ใจของเราไม่หยุดไม่นิ่ง ไม่สงบ มันจึงไม่เห็นอะไรชัดเจน เราจึงแก้ไขขับไล่สิ่งจอมปลอมออกจากใจไม่ได้ ก่อทุกข์ก่อโทษให้แก่ตัว ยึดมั่นถือมั่น สำคัญว่าอย่างนั้น สำคัญว่าอย่างนี้ ก็เลยเกิดทุกข์เกิดโทษ

เมื่อจิตสงบ จิตมีสมาธิ พินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ จึงเกิดปัญญาเห็นตามจริงได้ ละถอนกิเลสได้ ตกหล่นไปได้ ก็ไม่ได้พิจารณาอะไรอื่น พิจารณาเรื่องของธาตุของขันธ์ของกายเท่านั้นที่ท่านสอน เพราะหลงก็หลงอันนี้ แสวงหาไม่ได้พักผ่อนหลับนอน วิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลา โดยมากก็หามาเพื่อเรื่องของกาย ไม่ใช่เพื่อเรื่องของใจ คนที่หลงกันเพื่อเรื่องกายทั้งนั้น บ้านใหญ่โตรโหฐาน หมดเงินเป็นล้าน สร้างขึ้นก็เพื่อให้กายมันอยู่มันอาศัย ส่วนใจนั้นมองข้ามไป ไม่ได้สร้างอะไรให้

ถ้าใจเดือดร้อนวุ่นวาย ติดข้องยึดถือ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เราเคยชำระสะสาง เคยสร้างธรรมให้แก่ใจของเราไหม ใจของเรามีที่พึ่งที่อาศัยไหม หรือสร้างให้แต่กาย หาอาหารให้แต่กาย ปล่อยให้ใจหิวโหย ไม่มีอาหารกิน ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ กายจะอยู่ปราสาทราชวังใหญ่โตรโหฐานขนาดไหน มันก็เลยไม่สุขให้ มีสมบัติข้าวของอะไรเพียงพอขนาดไหน ใจก็ยังเกิดทุกข์เกิดโทษ นี่คือใจหมดอาหาร ใจไม่มีที่อยู่ที่พัก

ถ้าใจมีอาหาร ดูแลใจของตัว ชำระใจของตัว ฝึกอบรมใจของตัวให้สะอาด ให้ผ่องใส ให้หมดกิเลสตัณหาภายใน พระพุทธเจ้าหรืออริยสาวกท่านอยู่ตามป่าตามดง ตามร่มไม้ชายเขา ไม่ได้มีตึกรามบ้านช่องใหญ่โตรโหฐานอะไร ท่านก็สุขใจของท่าน เพราะใจของท่านมีที่พึ่งที่อาศัย ใจของท่านมีอาหาร คืออรรถธรรม บริโภค

นี่เรามองข้ามเรื่องของใจไป ถึงบ้านจะใหญ่ ข้าวของจะมากมาย ใจก็ไม่สุขไม่สบาย เพราะใจไม่มีที่พึ่งที่อาศัย ไม่มีอาหารบริโภค นี่ท่านอยู่สุขได้ สบาย สงบ ก็เพราะเรื่องท่านรักษาใจของท่าน มีอาหารให้ใจของท่านบริโภค มีที่อยู่ให้ใจพักผ่อน คือมีสมาธิ มีปัญญา

คิดปรุงอะไรขึ้นมาก็แก้ไข ในเมื่อใจยังไม่บริสุทธิ์ เราฝึกปฏิบัติก็เพราะเรายังมีความชั่วความเสียในตัวอยู่ จึงฝึกจึงปฏิบัติ ถ้าหากอะไรที่เป็นภัยแก่ใจหมดแล้ว เราก็ไม่ได้ฝึกปฏิบัติอะไร เหมือนกันกับคนไข้ ถ้าหายแล้ว ยาก็ไม่มีความหมาย เพราะเหตุใด เพราะยานั้นกินเพื่อแก้โรคภัยไข้เจ็บต่างหาก ถ้าไม่มีโรคแล้ว ยาก็หมดเรื่องของมัน จะไปหามาทำไม หาบหามอยู่ทำไม เพราะโรคภัยไม่มีแล้ว

ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ยังมีอยู่ในโลก ก็เพราะสัตว์โลกทั่วไปยังเป็นคนไข้ ยังมีโรคภัย คือกิเลสตัณหารุมกัดกินจิตใจ ท่านจึงสอนเอาไว้ เพื่อจะได้ขับไล่กิเลสตัณหา มานะทิฏฐิต่างๆ นานาออกไปจากใจ ถ้าใจหมดโรคภัย คือหมดกิเลสตัณหา หมดภพ หมดชาติ ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนก็ไม่มีสาระประโยชน์อะไร เพราะจิตใจของท่านไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ติดข้องกับเรื่องของกิเลสตัณหา

ฉะนั้น พวกเราท่านที่ยังมีโรคภัยของใจ ก็อย่าไปมองข้ามว่าความสุขความสบายนั้นจะอยู่กับด้านวัตถุถ่ายเดียว มันอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ท่านเหล่านั้นแต่เก่าก่อน ท่านก็เคยติดข้อง ยึดถือมาเหมือนกันกับพวกเรา แต่ท่านพิจารณาเอาธรรมะมาส่องดูว่า อะไรเป็นอะไรกันแน่ เรามันมืดแล้วก็ไม่หาประทีปแสงไฟมาส่อง ตะครุบไว้เรื่อย เพราะมองไม่เห็น โดนหลัก โดนตอ ตกหลุม ตกบ่อ คว้าถูกอะไรก็คว้าไปเรื่อย ถูกของร้อนมันก็ไหม้ก็เผาเอา เพราะในโลกอันนี้ ของร้อนก็มี ของเย็นก็มี

ทำนองเดียวกัน จิตใจของพวกเราท่านยิ่งมืดยิ่งบอด ก็ยิ่งไม่หาแสงสว่างคือธรรมะมาจุดขึ้น เพื่อจะให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร

สิ่งที่เป็นภัย ถ้าหากเราเห็นเราก็เว้นหนีได้ ถ้าเราไม่เห็นเราก็สามารถเหยียบได้ โดนได้ เรื่องของใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ กายจริงๆ นั้นเขาไม่ทราบอะไร ไม่ทราบว่าเรื่องของกายเป็นของปฏิกูลขนาดไหน ถ้าเห็นพอไปเหยียบเข้า เหยียบอันนั้นอันนี้ รีบไปล้าง แต่ความจริงเราไม่เห็นตอนไปเหยียบ ถ้าเห็น มันไม่ไปเหยียบของเน่าของเหม็นของปฏิกูลอย่างนั้น แต่ใจที่ไม่ชำระ มันไม่เห็น มันไม่รังเกียจนะ มันเหยียบได้ มันไปยึดไปได้เป็นที่อยู่อาศัยของมัน

เรื่องของกายก็เหมือนกัน จะเอาไปทิ้งที่ไหน เป็นต้นว่าคนตาย เอาไปทิ้งได้ เขาไม่ได้บ่น ไม่ได้ว่า ที่นี่ไม่สมควรแก่ฉันนะ ฉันเป็นคนมียศศักดิ์ขนาดนั้น มีความดีขนาดนี้ จะเอามาทิ้งอย่างนี้ไม่ได้ นี่เรื่องของกาย จะเอาไปฝังก็ได้ เผาก็ได้ โยนทิ้งแขวนไว้บนกิ่งไม้ เขาก็ไม่ว่าอะไร ไม่เคยหนีไปที่ไหน เรื่องของกาย เขาไม่ต้องการอะไร ไม่ได้ไปไหน มาจากธาตุอะไรก็กลับไปสู่ธาตุอันนั้น

แต่เรื่องจิตใจเราท่านตัวสำคัญ ถ้าไปหมายมั่นของชั่วของเสีย นิยมว่าดีตามที่ส่วนใหญ่เขานิยม ก็ไม่พิจารณาอะไร ว่าดีตามเขาไป ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เป็นอย่างนั้น มีเหตุมีผล ให้พิจารณาในตนจนเข้าใจชัดเจน เป็นปจฺจตฺตํ รู้เฉพาะตน เป็นสนฺทิฏฺฐิโก เห็นเอง จิตที่เคยข้องติดคิดแวะยึดถือต่างๆ เมื่อมาประพฤติปฏิบัติ มันปล่อยมันวาง มันละมันถอนไปอย่างไร จะทราบได้ ไม่ต้องมีคนอื่นหาใบประกาศนียบัตรมาให้ ท่านเห็นในจิตในใจของท่าน

ผู้ประพฤติปฏิบัติที่เรียกว่า สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน ยังมีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มี ธรรมก็ยังคงเส้นคงวาเป็นอกาลิโกจริง ไม่ใช่ว่าหมดไปตามกาลตามสมัย ใครปฏิบัติธรรมเท่าไรก็ไม่เห็นความสุขความสบายให้

ถ้าอย่างนั้น นักบวชเป็นจำนวนแสนๆ ล้านๆ จะโง่จะบอดด้วยกันทั่วไปหรือ ในโลกอันนี้ยังมีคนที่มีหูมีตา ถ้าธรรมไม่เป็นของจริง ประพฤติปฏิบัติไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ดี ไม่เด่น กฎหมายบ้านเมืองเขาบังคับบัญชาไหม ประเทศไหนบ้างว่า เกิดมาแล้วต้องปฏิบัติธรรมกัน ถ้าไม่ปฏิบัติจะเอาไปประหัตประหาร ไม่มี แต่ด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส ความยินดีพอใจปฏิบัติไป เห็นอานิสงส์ คือ เคยติดข้อง เศร้าหมอง เคยวุ่นวายในสัญญาอารมณ์ต่างๆ จิตใจที่มาฝึกอบรมทางธรรมเกิดสงบขึ้น เกิดสุขขึ้น สบายขึ้น

ท่านจึงมีจิตมีใจประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาตลอดถึงปัจจุบันทุกวันนี้ เพราะธรรมยังมี มรรคผลยังมี ให้เห็นประจักษ์ในตัวของตัว ผู้ใดปฏิบัติจริงจัง รู้เห็นเป็นขึ้นในใจของตนแล้ว ย่อมเชื่อมั่น ศรัทธา พากเพียรปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เสียงกิเลส คือ มารกระซิบ ที่เคยมีอิทธิพล ลากจูงจิตใจให้ยึดมั่นสำคัญผิด ลุ่มหลงในธาตุในขันธ์ ในโลกในสมมติ ก็หลุดตกไปจากใจ ใจเป็นอิสระ สงบเบา เป็นวิมุตติ หลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

การอธิบายธรรมเห็นว่าพอสมควร ขอยุติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 19:17 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร