วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:46 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2021, 12:47 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อบรมวันเข้าพรรษา
โดย
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ

กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
:b50: :b47: :b50:

ในวันเข้าพรรษานี้ ตามวัดตามวาครูบาอาจารย์ ตามประเพณีครูบาอาจารย์ เคยว่าธรรมะ คารวะซึ่งกันและกันเป็นประเพณี ใกล้จะเข้าพรรษาท่านก็ตักเตือนให้พวกสามเณรนักบวช ตลอดจนคณะญาติโยม บ่ให้ประมาท ให้เกิดความเพียรทำความดีให้ขะมักเขม้น บ่ให้ผิดพลาด เป็นงานที่จะต้องทำความพากความเพียร ตั้งอกตั้งใจ ส่วนคณะญาติโยมก็ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญเข้าวัดของตน บำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีลให้เกิด บำเพ็ญภาวนา

นี้เป็นข้อวัตรของพระอริยเจ้า บำเพ็ญให้ได้ เพียรให้ได้ ตั้งสัจจะในตนของตนอย่าให้ขาด เว้นแต่เราไม่สบาย เรามีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหว ถ้าเรายังมีความเป็นอยู่สบาย อย่าให้ขาดการบำเพ็ญบุญกุศล

ทานของเรา ศีลของเรา ภาวนาของเรา

การรักษาศีล เราต้องตั้งสัจจะของเรารักษาศีล เอาขีดไหนขั้นไหนในพรรษานี้ อย่างพระท่านว่า ศีล ๕ ศีล ๘ จะรักษาศีล ๕ ให้ตลอดไตรมาส ๓ เดือนอย่างนี้ก็ได้ เป็นกุศลผลดี หรือจะรักษาศีล ๘ ตลอดไตรมาส ๓ เดือน ทุกวันๆ ก็ดี หรือมิฉะนั้น เราจะรักษาเฉพาะพักหนึ่งๆ ชั่ววันหนึ่งๆ อย่างนี้ก็ดี เราตั้งสัจจะของเราอย่างไง ก็รักษาสัจจะของตนไว้ให้ดี อย่าให้ขาด บำเพ็ญไปตามสัจจะของตน เมื่อถึงวันพระหนึ่งๆ เราก็ต้องมาสมาทานศีล รักษาศีล ๘ ตามที่เราได้ตั้งใจไว้ ท่านว่ารักษาศีลแล้ว เราก็ต้องหัดภาวนาไปตามอย่าให้ขาด การมารักษาศีล มานอนวัด อย่ามาคุยกัน มาพูดเล่นกัน มาคุยกันเล่นให้จิตมันวอกแวก อันนี้บ่ใช่การมารักษาศีล

ศีล แปลว่าทำความสงบของกาย ของวาจา ของใจ

กาย ก็ให้งดบาป วาจา งดจากบาป บาปที่เกิดขึ้นทางกายทั้งการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดมิจฉากาม การดื่มสุราเครื่องดองของเมา ทุกสิ่งทุกประการ ถ้าผู้ใดทำก็ตาม ผู้นั้นบ่มีกายสงบ เป็นผู้มีกายชะเนาะ เป็นผู้มีกายสกปรกโสมม เป็นผู้มีกายเป็นบาป ถ้าไม่กระทำบาป กายก็สงบ วาจาที่พูด ถ้างดเว้นพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระประโยชน์ วาจาผู้นั้นก็พอสงบ

ใจ ถ้าพร้อมด้วยเมตตาพรหมวิหารทั้ง ๔ คือมี เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาดีต่อกันและกัน จิตไม่อิจฉา พยาบาทคิดร้ายกัน กรุณา ความสงสารคิดจะช่วยกันเป็นสุข มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นเขาได้ดีก็ให้เขาดีไป อย่าไปคดไปโกง อย่าไปยื้อแย่งแข่งดีเขา สนับสนุนให้เขาดีเรื่อยๆ ขึ้นไป ถ้าคนมีกิเลสปราศจากศีลเป็นผู้ขี้เดียด (รังเกียจ) ความดี กลัวเขาจะดีกว่าตน ในที่สุดก็จะต้องตัดทางเขา ไปถ่วงเขาให้ลดจากความดี เมื่อเขาดีทำดี ก็สนับสนุนให้เขาดียิ่งๆ ขึ้นไป อุเบกขา ความวางเฉยไม่ดีใจเสียใจในเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ นี่สำหรับศีลทางใจ

ถ้าเรามีศีลประจำกาย วาจา ใจของเรา กาย วาจา ใจของเราก็สงบ เมื่อกาย วาจา ใจสงบก็เป็นบ่อเกิดของปัญญา เราจะภาวนาก็เกิดสติปัญญาได้ง่าย ทั้งหญิงชายให้พากันตั้งอกตั้งใจ

อย่าพากันไว้ใจในชีวิตของตน ชีวิตเป็นของไม่เที่ยงไม่แน่นอน วันนี้เรามีชีวิตอยู่ หายใจอยู่ วันหลังมาชีวิตจะเป็นจั๋งใด ดีหรือไม่ ชีวิตของเรานั้น หรือวันหลังมาจะเป็นอย่างไร ในพรรษานี้ พวกเราทั้งหลายเชื่อหรือว่า ชีวิตของเราจะตลอดพรรษา เพราะความตายเป็นของไม่มีกาลเวลา จิตมันจะตายเวลาไหนก็ไม่รู้ เพราะชีวิตมันเป็นของไม่เที่ยง สุดแท้แต่มันจะเป็นไป เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่จึงอย่าพากันประมาท จงพากันรีบเร่งบำเพ็ญทำความดีให้เกิดให้มีในดวงจิตความคิดของเรา

เมื่อเรายังไม่ตาย ทานไม่มี เราพยายามบำเพ็ญให้มีขึ้น ศีลไม่มี เราพยายามบำเพ็ญให้มีขึ้น ภาวนาไม่มี เราพยายามบำเพ็ญให้มีขึ้น เมื่อเราพยายามบำเพ็ญบุญกุศลอยู่อย่างนี้ จึงว่าชีวิตของเราไม่ว่างหรือสูญเปล่า ถ้าเราได้สำนึกประโยชน์อย่างยิ่งในชีวิตที่เราบำเพ็ญอยู่ เราก็มีสุคติสุขสวรรค์เป็นที่ไป บุญกุศลที่เราบำเพ็ญไว้ จะเป็นนิสัยปัจจัยให้แก่กล้าหน้าบานเจริญงอกงามตามหน้าที่ไปจนได้ถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน

นี่แหละ เมื่อพวกเรายังมีชีวิตอยู่ อย่าพากันประมาท อย่าไว้ใจในชีวิตของเรา ในพรรษานี้ หากว่าเรายังมีชีวิตอยู่ตลอดรอดฝั่งไปในพรรษานี้ ในพรรษาหน้าจะเป็นอย่างไร พวกเราจะได้พบกันอีกหรือไม่ อย่าไว้ใจ เพราะเหตุแห่งชีวิตเป็นของไม่แน่นอน ร่างกายเกิดขึ้นในกฎไตรลักษณ์ คือ

๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง

๒. ทุกขัง มันประกอบไปด้วยทุกข์ สุดแท้แต่มันจะเป็นทุกข์

๓. อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่สมหวังของใครๆ ใครจะหวังอย่างใด ร่างกายของเรานี้แต่ละท่านๆ ไม่เป็นไปตามความหวังของใครๆ เหตุนั้นท่านจึงว่ามันมิใช่ตน มิใช่ของตน และมิใช่ของแห่งตน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านมิให้พวกเราประมาท ให้เร่งบำเพ็ญบุญกุศลคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในชีวิตของตน โดยเฉพาะกับชีวิตของเราสำหรับพระเณร พวกพระพวกเณรพวกชีของเราที่เป็นนักบวช ให้พากันตั้งใจ...บังคับตนเอง รีบเร่งกันทำความพากเพียร มีการระลึกตนตลอดเวลา ทรมานตนบ้าง

ภายในพรรษานี้เป็นโอกาสที่ดี อากาศก็ดี อากาศเย็น ให้พากันตั้งอกตั้งใจรีบเร่งทำความพากเพียรของตน ภาวนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานของเราที่ได้เรียนมาจากครูบาอาจารย์ จากอุปัชฌาย์ ทุกคนก็ต้องได้เรียนมาด้วยกันทั้งนั้น ก่อนที่เราจะบวชเรียน อุปัชฌาย์อาจารย์ท่านสอนกรรมฐานให้บ่อยๆ เพื่อให้พวกเราไปพิจารณาให้รู้เห็น คือ ท่านสอนมูลกรรมฐานทั้ง ๕ เพื่อเป็นเครื่องปราบมาร เป็นศาสตราวุธปราบมาร คือกิเลสมาร

กรรมฐานทั้ง ๕ ที่ท่านสอนคืออะไร ? คือมูลกรรมฐาน มูลกรรมฐานทั้ง ๕ คืออะไร คือ (๑) ผม (๒) ขน (๓) เล็บ (๔) ฟัน (๕) หนัง มี ๕ อย่างเท่านี้ มนุษย์เราทุกเพศทุกชาติก็มีสิ่งทั้ง ๕ ครบบริบูรณ์ ถ้าไม่มีสิ่งทั้ง ๕ นี้อยู่ในตัวของคนเราแล้วเขาไม่เรียกว่าคน เขาเรียกว่าผี คือคนตาย


ทำไมท่านจึงให้พิจารณาสิ่งทั้ง ๕ นี้ คือท่านให้พิจารณาผม พิจารณาขน พิจารณาเล็บ พิจารณาฟัน พิจารณาหนัง เพราะคนเราที่จะเกิดราคะ ความรัก ความกำหนัดกัน ก็เพราะสิ่งทั้ง ๕ นี้ปรากฏ เห็นผม เห็นขน เห็นเล็บ เห็นฟัน เห็นหนัง เป็นของสวยของงามนั่นเอง ถ้าสิ่งทั้ง ๕ นี้ไม่มีแล้ว ก็ไม่มีความหมาย ไม่มีความหมายอะไร เห็นเป็นของสวยของงามหมดความหมาย เช่นหนังไม่มีอย่างนี้ ใครจะว่าสวย ใครจะไปรักหนัง ท่านว่าอยู่มีแต่น้ำ น้ำเน่าไหลบากซากซึมอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครว่าเป็นของสวยของงาม ไม่มีใครอยากได้ ไม่มีใครยินดี ไม่มีใครกำหนัดในสิ่งเหล่านี้ ที่จะเกิดราคะความรัก ความกำหนัดเพราะเห็นว่าสิ่งทั้ง ๕ คือ ผมงาม ขนงาม เล็บงาม ฟันงาม หนังหรือผิวงามนั่นเอง เมื่อเห็นว่าสิ่งเหล่านี้งามก็เกิดความรัก ความกำหนัด ความพอใจยินดีลุ่มหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ลุ่มหลงอยู่ในโลกอันนี้ ในขันธ์ธาตุ รูปคือกายอันนี้ ท่านจึงว่า เมื่อคนลุ่มหลงอยู่ในกายอันนี้มันก็เกิดเป็นกิเลสวัฏฏ์กรรมวัฏฏ์ หมุนอยู่อย่างนั้น ไปเกิด ไปแก่ ไปเจ็บ ไปตาย มันเป็นทุกข์เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่ต้องการที่จะเพิ่มทุกข์ ท่านให้พิจารณาสิ่งที่ ๕ คือ กรรมฐานทั้ง ๕ นี้ คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นว่าสิ่งทั้ง ๕ แต่ละอย่างละอย่างเป็นของสกปรกโสโครก เป็นของปฏิกูลด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นของบูดของเน่าเป็นของไม่สวยไม่งาม

ท่านให้พิจารณาสิ่งทั้ง ๕ นี้เช่นผมเป็นต้น ให้พิจารณาโดยรูปพรรณสัณฐาน พิจารณาโดยสี พิจารณาโดยกลิ่น พิจารณาโดยที่เกิด ให้เห็นเป็นของปฏิกูล พิจารณาโดยสัณฐานคือรูปพรรณสัณฐานให้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด พิจารณาโดยกลิ่นให้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด พิจารณาโดยสีให้เป็นของปฏิกูล พิจารณาโดยที่เกิดให้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด พิจารณาโดยที่อยู่ให้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด

เรื่องของผมนี้ พิจารณาอย่างไร

- โดยสี...คือ เริ่มต้นแรกเกิดมาก็เป็นสีดำ ต่อมาก็กลายเป็นสีขาว ที่ขาวก็อาศัยความชราความแก่เข้าครอบงำ นี่มันของปฏิกูลอย่างนี้

- โดยที่เกิด คือ ผมนี้เมื่อแรกมันติดอยู่กับกาย มันเป็นของที่น่ารัก แต่พอพลัดพรากจากกายเท่านั้น ร่วงหล่นจากกายย่อมเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครมีความรักในผมเมื่อพลัดพรากจากกายแล้ว

- โดยสันฐาน โดยรูปพรรณสัณฐาน คือว่าผมนี้ เมื่อบุคคลบริโภคอาหารในเวลาค่ำมืด แล้วไปพบสิ่งใดที่คล้ายคลึงกับผม เช่นเส้นไหมหรือใยบัวซึ่งอยู่ในอาหาร ย่อมสำคัญว่าเป็นผม เมื่อความสำคัญว่าเป็นผมนั้นย่อมเกิดปฏิกูลน่าเกลียดในเส้นไหมใยบัวนั้นเพราะเหตุแห่งความสำคัญว่าเป็นผม ถ้าเราเคี้ยวอาหารปรากฏอยู่ในปากของเราอย่างนั้น เราก็ต้องคายทิ้งเสีย เพราะคนสำคัญว่าเป็นผมเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด แม้จะตกอยู่ในอาหารก็ตาม สิ่งสุดท้าย มีเส้นไหมมีใยบัวเหล่านี้ ถ้าเราไปพบเข้า เราสำคัญว่าเป็นผม ย่อมเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด หยิบทิ้งเสีย ถึงแม้ว่าผมถ้าสกปรกร่วงหล่นใส่อาหารในน้ำดื่มของเรานี้สักเส้นหนึ่ง หรือสองเส้นก็ตาม ย่อมเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดอยู่นั่นเอง สิ่งที่คล้ายคลึงกับผม มีเส้นไหมใยบัวเป็นต้น เมื่อเราพบเข้าในเวลาค่ำมืด เราสำคัญว่าเป็นผม เมื่อมีความสำคัญมั่นหมายในใจว่าเป็นผม ย่อมเกิดปฏิกูลน่าเกลียดขึ้นเพราะเหตุดังกล่าว นี่ท่านให้พิจารณา

- โดยกลิ่น...คือ ผมนี้ถ้าบุคคลปล่อยไว้ไม่ชำระสะสาง ไม่ล้างอยู่บ่อยๆ ปล่อยไว้ผมก็จะส่งกลิ่นเหม็นสาบเหม็นสาง เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้เพราะผมเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของสกปรกโสโครก ยิ่งถูกไฟไหม้เมื่อไหร่ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น เหม็นสาบเหม็นสางจะตาย ถ้าปล่อยไว้ไม่ชำระสะสางไม่ล้างอยู่ ผมนี้ก็จะส่งกลิ่นอันเหม็นอันเน่า อันนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นผมเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโดยกลิ่นอย่างนี้

- ที่เกิดที่อยู่นั้น คือ…ผมนี้เกิดอยู่บนศีรษะ ที่อยู่ของผมเบื้องหน้าจรดหน้าผาก เบื้องหลังจรดท้ายทอย ข้างทั้ง ๒ จดกกหู นี่คือที่อยู่ของผมที่เกิดของผมนั้น ผมเกิดอยู่บนหนังศีรษะ อยู่บนศีรษะเส้นละรู รูละเส้น จะหาที่เกิดรูละ ๒ เส้นนั้นหาไม่ได้ ผมนั้นเกิดอยู่บนศีรษะของเราทุกท่านมีรากหยั่งลงสู่หนังศีรษะลึกเข้าไป ลึกเข้าไปดึงดูดเอาอสุภะของสกปรกโสโครกต่างๆ มีน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำมันข้น เป็นอาหาร ที่เกิดที่อยู่ของผมนี้เป็นของสกปรกยิ่งนัก เป็นของปฏิกูลยิ่งนัก เปรียบเหมือนผักและหญ้าที่เกิดในหลุมมูตรหลุมคูถหลุมอสุภะ ที่เราทิ้งเศษอาหารทิ้งเนื้อเน่า ทิ้งเสลดน้ำลาย ทิ้งมูตร ทิ้งคูถเน่าในนั้น หลุมนั้นเต็มไปด้วยอสุภะของบูดของเน่า มีน้ำบูด น้ำเน่าพร้อม บูดเน่าอยู่อย่างนั้น ก็คือว่าที่เกิดในหลุมมันมีรากหยั่งลงบนหลุมอสุภะ ดึงดูดเอาอสุภะมาเป็นอาหารเลี้ยงหล่อลำต้นของมัน แม้ฉันใด ผมที่เกิดอยู่บนศีรษะของคนเราก็เช่นเดียวกัน ผมที่เกิดบนศีรษะของพวกเรานี้มีรากหยั่งลงสู่หนังศีรษะลึกเข้าไป ดึงดูดเอาอสุภะของสกปรกของบูดของเน่าต่างๆ มีน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำมันข้น เป็นอาหาร ที่เกิดและที่อยู่ของผมเป็นของสกปรกโสโครกยิ่งนัก


สังขารท่านทั้งหลายเหล่านี้ แม้จะเกิดด้วยกันก็ตาม ติดพันอยู่ด้วยกันก็ตาม หรืออยู่ด้วยกันก็ตามก็หารู้จักซึ่งกันและกันไม่ ผมและหนังศีรษะก็หารู้จักซึ่งกันและกันไม่ เปรียบเหมือนผักที่มีรากหยั่งลงสู่ซากอสุภะ หลุมอสุภะ ซากสัตว์หรือสัตว์กับอสุภะที่อยู่ในหลุมนั้น ซึ่งดึงดูดกันเอามาเป็นอาหารอยู่ เขาหารู้จักซึ่งกันและกันไม่ แม้ผมของเราก็เช่นเดียวกัน ที่เกิดอยู่ในหนังศีรษะนี้ มีรากหยั่งลงสู่หนังศีรษะลึกเข้าไป ดึงดูดเอาอสุภะต่างๆ หล่อเลี้ยงเป็นอาหาร หารู้จักซึ่งกันและกันไม่ เหมือนผักหรือหญ้าที่เกิดบนหลุมอสุภะ มีรากหยั่งลงบนหลุมอสุภะ ดึงดูดเอาซากอสุภะ เอาอสุภะมาเป็นอาหารหล่อเลี้ยง หารู้จักซึ่งกันและกันไม่

แม้ผมของเราก็เช่นเดียวกัน จะมีรากหยั่งลงสู่หนังศีรษะ ดึงดูดเอาอสุภะต่างๆ มาหล่อเลี้ยงลำต้นของมัน ดึงดูดเอาน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำมันข้น น้ำตา น้ำลาย ใส่ท่อน้ำมูตร มาเป็นอาหาร หารู้จักซึ่งกันและกันไม่ สังขารธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เป็นของปราศจากโลภ ปราศจากเจตนา เป็นอภัยจิต จึงทำให้สัตว์ให้บุคคลให้ตัวตนเป็นมิตร ธรรมไม่มีชีวิต สูงจากชีวิต สูงจากสัตว์และบุคคล สูงจากนิยมสมมติในบัญญัติสังขารโดยประการทั้งปวง ในกายของเรานี้เป็นอภัยสัตว์ ทางธรรม หารู้จักซึ่งกันและกันไม่ ท่านให้พิจารณา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ ร่างกายของเรานี้ล้วนแล้วเป็นของสกปรกโสโครก เมื่อเราพิจารณาเห็นผมเป็นของสกปรกโสโครก เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด โดยประการ ๕ อย่างเหล่านี้ คือโดยสี โดยสัณฐาณ โดยกลิ่น แล้วก็น้อมไปพิจารณาว่าโดยที่เกิดและที่อยู่ ผมเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโดยประการ ๕ อย่างเหล่านี้

แม้สิ่งอื่นๆ ในร่างกายของเรานี้ก็เช่นเดียวกัน มันเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดเหมือนๆ กัน ไม่มีพิเศษแตกต่างกันแต่ประการใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น ขน เล็บ ฟัน หรือหนัง มันก็เห็นไปตามๆ กันทั้งนั้น ถ้าเห็นอีกอันหนึ่งมันก็ต้องเห็นหมดทุกอันเลย มันเป็นอย่างนี้ จึงว่าสังขารธรรมนั้นมีไตรลักษณ์เสมอกัน ไม่มีลักลั่นสั้นยาวกว่ากัน เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นของมิใช่ตนอย่างเดียวกัน เป็นของสกปรกอย่างเดียวกัน ไม่ผิดกันเลยในร่างกายของเรา ข้อสำคัญให้เห็นอันหนึ่งลงเป็นสัจจะให้เป็นจริงเท่านั้นเอง เราพิจารณานี้ไม่เห็น อย่าไปพิจารณาเหยาะแหยะอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้าง ถ้าพิจารณาหลายๆ อัน อันนี้ก็ไม่ชัด อันนั้นก็ไม่ชัด เกิดความโลๆ เลๆ เกิดความสงสัย ตัดความสงสัยไม่ได้ เพราะตนมิได้พิจารณาลงเป็นสัจจะ พระพุทธเจ้าสอนให้มีสัจจะจะทำอะไรให้เป็นจริง พิจารณาอันเดียวมันต้องรู้ไปหมด เป็นอย่างนั้น อันนี้ก็ไม่รู้แจ้ง เราก็พิจารณาอื่นเสีย อันนี้เราพิจารณาพอแรงแล้ว อันอื่นเรายังไม่ได้พิจารณา เราก็ทิ้งไปพิจารณาเปลี่ยนไปเรื่อย เปลี่ยนไปเรื่อย เป็นคนโลๆ เลๆ เท่านั้นเอง ผลที่สุดก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร จนคนเขาปอกลอกหลอกหลอนเท่านั้นเอง นิสัยโลๆ เลๆ เท่านั้น ไม่แน่นอนเท่านั้น

ครั้นไม่แน่นอนอย่างนี้แล้วก็เป็นผู้ไม่เชื่อกรรมเท่านั้นเอง กรรมเป็นอฐานะ เป็นไปไม่ได้ ทำอะไรต้องทำให้ดีๆ ท่านสอนให้เชื่อกรรมฐาน กรรม แปลว่าการทำ พิจารณาทำตามสัจจะนี้ ฐานมันตั้งอยู่แล้ว เราก็เห็นพิจารณาให้รู้เห็นตามวิธี ฐานมันเป็นอย่างไง ผม ขน เล็บ ฟัน มันเป็นฐานแล้วนี่ ฐานก็ตั้งอยู่อย่างนี้แหละ สกปรกโสโครกอยู่อย่างนี้แหละ เหม็นบูดเหม็นเน่าอยู่อย่างนี้แหละ มันไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้แหละ มันเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้แหละ มันเป็นของไม่ใช่ของตน ไม่ใช่ของแห่งตนอย่างนี้แหละ มันก็เป็นสัตย์เป็นจริงอย่างนี้แหละ เมื่อมีกรรมเราไม่เชื่อกรรม เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ท้อถอยในการทำความพากความเพียร ท้อถอยในการพิจารณา กิเลสมันเข้าย่ำเท่านั้นเอง มันก็มีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความกำหนัด ความยินดี

นี่แหละกิจของเราจะต้องทำความพากเพียรในชีวิตที่เป็นนักบวช คือการเจริญกรรมฐาน พิจารณาภาวนา

กรรมฐานของเราที่เรียนมาจากอุปัชฌาย์อาจารย์แล้วในมูลกรรมฐานทั้ง ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าสอนเท่านี้

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางอันเอก กายนี้เป็นทางอันเอก เป็นทางของบุคคลผู้เดียวจะต้องเดินไป คือดำเนินไป สตฺตานํ วิสุทฺธิ ยา เป็นทางอันบริสุทธิ์หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เป็นทางก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความอาลัย ผู้พิจารณากายให้เห็นความเป็นจริงแล้ว จะเป็นผู้หมดจดโดยประการทั้งปวง ผู้พิจารณากายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว ก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไร ทุกฺขโทมนสฺสานํ อฏฺฐงฺคมาย ผู้พิจารณาให้รู้เห็นโดยปัญญาตามเป็นจริงแล้วในกายนี้จะเป็นผู้ทำทุกข์และโทมนัสให้อัสดงดับไปไม่เหลือเลย ญายสฺส อธิคมาย ผู้พิจารณากายให้รู้ด้วยปัญญาเห็นตามความเป็นจริงแล้วอย่างนี้ เป็นเหตุเพื่อให้เข้าไป เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ เพื่อความรู้ถูก เพื่อมรรคผล นิพพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ผู้พิจารณากายให้รู้เห็นด้วยปัญญาตามความจริงแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้บรรลุถึงพระนิพพาน กระทำพระนิพพานให้แจ้ง ให้ถึงพระนิพพานโดยไม่มีทางสงสัยเลย

ภิกษุทั้งหลายจึงว่าทางอันเอกที่กายเท่านั้น ไม่มีที่อื่นให้พิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างไร มันเป็นจริงมันเป็นของสกปรกโสโครก ของบูดของเน่า เป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด มันเป็นจริง ไม่เที่ยง เกิดในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง ดับทำลายเสียหายในที่สุด มันเป็นจริงเพราะมันเป็นทุกข์

ร่างกายของเราเป็นก้อนทุกข์ เป็นก้อนโรค ทุกข์ภัยต่างๆ นานา บรรดาโรคทั้งหลายที่มีอยู่ในกาย โรคในตา โรคในหู โรคในจมูก โรคในลิ้น โรคในกายมีหลายอย่าง โรคต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นที่กาย มันไม่เกิดขึ้นที่อื่น มีโรคที่หู โรคที่ปาก โรคที่ฟัน โรคไอ โรคหืด โรคหวัด ไข้พิษ โรคในท้อง โรคลมจับอ่อนหวิว สวิงสวาย โรคบิด ลงท้อง จุดเสียด ปวดท้อง โรคลงราก ลงเลือด โรคฝี โรคลมบ้าหมู โรคหิด กุฏฐัง โรคมะเร็ง โรคดีพิการ โรคเบาหวาน โรคริดสีดวง โรคฝีดาษ ราดตะกั่วพุพอง ริดสีดวงลำไส้ โรคผอมเหลือง ผอมแห้งแรงน้อย โลหิตจาง ไข้อ่อนเพลียละเหี่ยใจ โรคเหน็บชา โรครูมาติซั่ม ความเจ็บเกิดแต่ดีให้โทษ ความเจ็บเกิดแต่เสมหะให้โทษ ความเจ็บเกิดแต่ลมให้โทษ ความเจ็บเกิดแต่ไข้สันนิบาต คือมีดี เสมหะ และลมเจือกันให้โทษ โรคเกิดแต่การเปลี่ยนอิริยาบถไม่เสมอกัน โรคเกิดแต่ความเพียร โรคเกิดแต่วิบากกรรมที่ตามมาทัน เหมือนหมาไล่เนื้อทันที่ไหนกัดที่นั้น ไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา โรคเกิดแต่เย็นและร้อน โรคเกิดแต่กระหายน้ำ โรคเกิดแต่อุจจาระปัสสาวะไม่สะดวก โรคเกิด โรคแก่ โรคเจ็บ โรคตาย นานาด้วยโรคภัยหลายอย่าง


ร่างกายของเรานี้เป็นก้อนโรค เป็นเรือนโรค โรคทั้งหลายคือกาย กายคือโรค มันจึงเป็นทุกข์ โรคแก่ โรคเจ็บ โรคตาย มันมีตลอดเวลา ไม่ว่างจากโรค เป็นอกาลิโก ความแก่ไม่ว่าง ความเจ็บไม่ว่าง ความตายไม่ว่าง ตายเป็นลำดับๆ มาจนถึงบัดนี้ ตาก็ตายไปแล้ว หูก็ตายไปแล้ว ผมก็ตายไปแล้ว กำลังวังชาก็ลดน้อยถอยลงไปแล้ว อายุก็ตายไปเกือบจะหมดแล้ว ยังอีกซีกเดียวเท่านั้น จะว่าไม่ตายยังไง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์อย่างนี้แหละ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ ร่างกายมันดียังไง เรามาแบกเอาก้อนทุกข์ มากอดเอาก้อนทุกข์ มานั่งเฝ้านอนเฝ้าก้อนทุกข์อันนี้แหละ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน เพราะเหตุที่ไม่เป็นความหวังของใครๆ มันจะเป็นอย่างไรก็แปรปรวนไปตามหน้าที่ของมันอยู่อย่างนี้ มันบอกไม่ได้ เอาไว้ไม่ฟังมันแปรปรวนอยู่อย่างนี้ จึงบอกได้ว่ามันเป็นของมิใช่ตน มิใช่ของตน ใช่ของแห่งตนอย่างนี้

นี่ท่านให้พิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริงในสัจธรรมอย่างนี้ นี่กรรมฐาน ท่านไม่ได้ให้ไปค้นคว้าพิจารณาหาสิ่งอื่น นี่ ถ้าพิจารณาเห็นด้วยปัญญาตามเป็นจริงแล้ว จิตมันมีตาแล้ว รู้แจ้งเห็นตามเป็นจริงแล้ว กายเป็นของสกปรกโสโครก ของเน่าของเปื่อย ของผุของพัง เห็นว่ากายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เห็นว่าไม่ใช่ของตน มิใช่ของแห่งตน ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่ของแห่งตน ใช่สัตว์ ใช่บุคคล ใช่ตัวตนเราเขาแล้ว ท่านจะไปรักอะไรล่ะ มันจะไปกำหนัดอะไรล่ะ นี่มันไม่เห็น มันจึงเกิดความรัก ความกำหนัด ความพอใจ มันหลงใหลใฝ่ฝันอยู่นี่ หวังอยู่นี้ ในกายหวังเอาอะไรล่ะ กรรมอันนี้ท่านให้พิจารณา กรรมอันนี้ให้เชื่อต่อกรรม จึงเรียกว่ากรรมฐาน ถ้าใครเชื่อต่อกรรมนี่ เป็นฐานะ กรรมฐานถูกต้อง เป็นไปได้ ถ้าปฏิบัติเชื่อกรรมอันนี้ พิจารณาหยั่งลงให้เป็นสัจจะ เป็นพาหนะให้เป็นไปได้ พ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลสได้ โดยมิต้องสงสัย ถ้าไม่เชื่อเป็นไปไม่ได้ โลๆ เลๆ มันเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น จิตที่เราต้องบำเพ็ญเพียรในพรรษานี้ สมถะจิต วิปัสสนาจิต สมถะ คือทำจิตให้สงบ วิปัสสนา คือ ทำจิตให้มีสติปัญญา ให้รู้แจ้ง เห็นจริงตามเป็นจริงในกรรมฐาน คือร่างกายของเรานี้ ให้เห็นเป็นของโสโครก ของสกปรก ของเน่าของเปื่อยผุพัง ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นของทุกข์ เป็นของไม่ใช่ของตน เชื่อเถอะ เชื่อกรรมฐานเถอะ พระพุทธเจ้าท่านว่ากรรมฐาน เป็นพาหนะที่ต้องเป็นไปได้ ผู้เจริญกรรมฐานพิจารณากรรมฐานในร่างกายของตนนี้ ก็เหมือนกันผู้ลงเรือจะข้ามแม่น้ำไปสู่ฝั่งโน้น มีหวังจะต้องถึงฝั่งโน้นฝั่งอันเกษม คือพระนิพพานพ้นโลกได้ แต่ถ้าเป็นผู้ขี้เกียจขี้คร้านเมามัว ไม่มีหวังเลย อย่าไปหลงกรรมฐาน อย่าหลงหนทางพระนิพพาน


หนทางพระนิพพานคืออะไร เอกายโน อยํ ภิกขเว มคฺโค ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายอันนี้เป็นหนทางพระนิพพาน ไม่มีทางอื่น มีทางเดียวนี่ พระอริยเจ้าที่ท่านล่วงไปแล้ว คือท่านข้ามไปแล้วข้ามพ้นแอ่งแก่งกันดารนั้นแล้ว ท่านก็พิจารณากายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในกายอันนี้ แม้ท่านผู้ข้ามไปแล้วในอดีตหาประมาณมิได้ แม้ท่านผู้จะข้ามในอนาคตหาประมาณมิได้ก็ดี หรือแม้ท่านผู้อยู่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ดี ต้องมาพิจารณากายนี้ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง กรรมฐานอันนี้ ให้เห็นว่ากายของเรานี้ และของบุคคลอื่น ให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของโสโครก ของบูดของเน่า ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ให้เห็นเป็นของมิใช่ตน ให้รู้เห็นตามเป็นจริงที่มันเป็นจริง ตามหลักธรรมชาติ ตามหลักสัจธรรมที่มีอยู่ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ มันก็สลัดได้เท่านั้นเอง มันเป็นอย่างนี้ เรามาพิจารณามัน มันเป็นจังซั่น มันก็บ่เห็นหยังแล้ว ให้พิจารณาลงสู่สัจธรรม ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บความตายมันเป็นทุกข์มันมีเท่านี้ ทุกข์อะไรจะยิ่งไปกว่าสิ่งเหล่านี้ เทียวเกิดเทียวตายอยู่นี่ ตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ความอยากนี่ใจสิ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เทียวเวียนว่ายตายเกิดในสามโลกนี่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอะไรที่จะทำให้เวียนว่ายตายเกิดในโลกสามอันนี้ นอกจากตัณหาแล้วไม่มีเลย คือ ความอยาก มันชี้ตัวเหตุที่เป็นเหตุให้หมุนวนอยู่อย่างนี้คือตัณหาความอยากนี่แหละ สรุปแล้ว คือ กิเลส ความโลภ โกรธ หลง นั่นเอง เป็นเหตุให้วนเวียนอยู่นี่

ถ้าเรารู้อย่างนี้เราก็สลัดมันออกสิ มันก็ได้เท่านั้นแหละ วิธีสลัดออกจากตัณหา ท่านบอกไว้แล้ว อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค ทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ทางเดียวนี้แล สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมาวาจา วาจาชอบ สัมมากัมมันโต กระทำชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายาโม เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตชอบ

ที่สำคัญก็คือ สัมมาทิฏฐิ ให้พิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง สัมมาสังกัปโป ตริตรึกนึกคิดอยู่ในนี้ มันก็เป็นไปได้เท่านั้นเอง ไอ้นี่เฮาไม่ไปพิจารณามันจะไปรู้เห็นอย่างไรล่ะ ความเป็นจริง ความเป็นจริงมันก็เป็นคนมีกิเลสหนาปัญญามืด ให้กิเลสมันล้อเลียนตน เห็นกายตนก็ว่างาม เห็นกายผู้อื่นก็ว่างาม เกิดความรักก็อยู่บ่ได้ ครั้งอยู่มาได้อย่างนี้ก็เป็นหมาขี้เรื้อน สุนัขเรื้อนชอบของเน่าของเหม็น หนังเน่าหนังเหม็นเท่านั้นเอง โรคเรื้อนจะกินเท่านั้น โรคเรื้อนคือกิเลส ความโกรธ ความหลงคือตัณหานี่ หมาคือจิตใจของเรานี่ มันชอบหนังเน่าหนังเหม็นเท่านั้นเอง มันไม่พ้นไปได้ นี่แหละ ถ้าเราพิจารณาในกรรมฐานทั้ง ๕ นี้อยู่บ่อยๆ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่าสิ่งทั้ง ๕ ในร่างกายของเรานี้เป็นของสกปรกโสโครก เป็นของบูดของเน่า ของปฏิกูล พึงเกลียด เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มิใช่ของตน ของบุคคล

ถ้ารู้เห็นตามเป็นจริง ตามธรรมชาติ ตามสัจธรรมอย่างนี้ ก็เพียบพร้อมด้วยสัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันก็ถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นได้ ถอนความรักความกำหนัด มีที่ถ่ายถอนกิเลสออกจากใจ ออกจากภพจากชาติ

ความที่จะถ่ายถอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ทางอื่นไม่มี มีทางเดียวเท่านี้ ที่จะข้ามโอฆะแอ่งแก่งกันดาร จะข้ามห้วงทุกข์ ข้ามวัฏฏะได้ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเป็นผู้เชื่อต่อกรรมแล้ว มันต้องเป็นพาหนะที่จะต้องเป็นไปได้ จึงเรียกว่ากรรมฐานเป็นพาหนะที่จะต้องเป็นไปได้ไม่มีทางสงสัย

เอวังเท่านั้นแหละพอ

:b47: :b50: :b47:

หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รวมคำสอน “พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=58443


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 19:18 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร