วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2019, 14:01 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2019, 14:04 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อวิชชาปฏิจจสมุปบาทปัจยาการ ๑๒
บันทึกลายมือ
ของ
พระครูญาณทัสสี
(พระอาจารย์คำดี ปภาโส)

:b49: :b50: :b49:

อวิชชาปัจจยา สังขาระปัจจยาวิญญาณัง วิญญาณปัจจยานามรูปัง นามรูปปัจจยาสฬายตนัง สฬายตนปัจจยาผัสโส ผัสสปัจจยาเวทนา เวทนาปัจจยาตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทานัง อุปาทานปัจจยาภโว ภวปัจจยาชาติ ชาติปัจจยาชรา มรณัง โสกปริเทวทุกข โทมนัสสุปายาสา สัมภะวันติฯ

เอวเมตัสสะ เกวลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สมุทโยโหติฯ คำแปลปัจจยาการ ๑๑ ปฏิจจสมุปบาท ต่อไป

ปัจจยาการ แปลว่า อาการแห่งปัจจัย คือ อาการของเหตุที่สืบเนื่องกันไปประดุจลูกโซ่ที่เกี่ยวคล้องกันไปเป็นสายฉะนั้นฯ

ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า การเกิดขึ้นเพราะอาศัยธรรมอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้น เพราะอาศัยธรรมอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวเนื่องติดต่อกันไปจนตลอดสายคล้ายลูกโซ่ดังกล่าวแล้ว

ปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาทนั้น ท่านจัดหัวข้อไว้ ๑๑ ประการ ดังนี้

ภาค ๑ สมุทัยวาร แสดงความเกิด คือ

๑. เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขาร
๒. เพราะสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ
๓. เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป
๔. เพราะนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ
๕. เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ
๖. เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา
๗. เพราะเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา
๘. เพราะตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน
๙. เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ
๑๐. เพราะภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ


เป็นอันว่าทุกข์ทั้งมวลเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้ฯ

ตามที่กล่าวมานี้โดยสาวออกไปหาผลข้างหน้าโดยลำดับ เรียกว่ากล่าวโดยอนุโลม อนึ่ง นับตามหัวข้อที่กล่าวมานั้นก็เป็นปัจจยาการ ๑๑ ถ้านับชรามรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อันนับเป็นผลในตอนท้ายเข้าด้วย จึงรวมเป็นธรรมที่เรียกว่า ปัจจยาการ หรือ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒

อีกนัยหนึ่ง ถ้านับสาวทวนหาเหตุข้างหลังเข้ามา เรียกว่ากล่าวโดยปฏิโลม ซึ่งได้หัวข้อธรรม ๑๑ หรือ ๑๒ เหมือนกันดังต่อไปนี้

๑. ชรามรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส มีเพราะ ชาติ
๒. ชาติ มีเพราะ ภพ
๓. ภพ มีเพราะ อุปาทาน
๔. อุปาทาน มีเพราะ ตัณหา
๕. ตัณหา มีเพราะ เวทนา
๖. เวทนา มีเพราะ ผัสสะ
๗. ผัสสะ มีเพราะ สฬายตนะ
๘. สฬายตนะ มีเพราะ นามรูป
๙. นามรูป มีเพราะ วิญญาณ
๑๐. วิญญาณ มีเพราะ สังขาร
๑๑. สังขาร มีเพราะ อวิชชา


ภาค ๒ นิโรธวาร แสดงความดับ คือ

๑. เพราะอวิชชาดับ จึงสังขารดับ
๒. เพราะสังขารดับ จึงวิญญาณดับ
๓. เพราะวิญญาณดับ จึงนามรูปดับ
๔. เพราะนามรูปดับ จึงสฬายตนะดับ
๕. เพราะสฬายตนะดับ จึงผัสสะดับ
๖. เพราะผัสสะดับ จึงเวทนาดับ
๗. เพราะเวทนาดับ จึงตัณหาดับ
๘. เพราะตัณหาดับ จึงอุปาทานดับ
๙. เพราะอุปาทานดับ จึงภพดับ
๑๐. เพราะภพดับ จึงชาติดับ


ตามที่กล่าวข้างบนนี้ เรียกว่า กล่าวถึงความดับโดยอนุโลม เช่นเดียวกับความเกิดขึ้น หรือเป็นเหตุให้เกิดขึ้นดังกล่าวแล้วในสมุทัยวารข้างต้นนั้น ส่วนที่กล่าวโดยปฏิโลม ถึงความดับตามนัยหนหลัง ก็เป็นเช่นเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้นนั้นเหมือนกัน ดังต่อไปนี้

๑. ชรามรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสดับ เพราะชาติดับ
๒. ชาติดับ เพราะภพดับ
๓. ภพดับ เพราะอุปาทานดับ
๔. อุปาทานดับ เพราะตัณหาดับ
๕. ตัณหาดับ เพราะเวทนาดับ
๖. เวทนาดับ เพราะผัสสะดับ
๗. ผัสสะดับ เพราะสฬายตนะดับ
๘. สฬายตนะดับ เพราะนามรูปดับ
๙. นามรูปดับ เพราะวิญญาณดับ
๑๐. วิญญาณดับ เพราะสังขารดับ
๑๑. สังขารดับ เพราะอวิชชาดับ


ธรรมที่เป็นปัจจยาการ หรือ ปฏิจจสมุปบาทนั้น มีความหมายดังต่อไปนี้

๑. อวิชชา แปลว่า ธรรมชาติที่ยังรู้ไม่ได้ ได้แก่ อวิชชา ๘
๑) ไม่รู้จักทุกข์
๒) ไม่รู้จักเหตุเกิดแห่งทุกข์
๓) ไม่รู้จักความดับทุกข์ เป็นอาทิ

๒. สังขาร แปลว่า สภาพผู้แต่ง ได้แก่ อภิสังขาร คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร

๓. วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้ง ในที่นี้หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณ คือ วิญญาณแรกเกิด

๔. นามรูป ได้แก่ อุปาทินนกสังขาร คือ อัตตภาพร่างกายนี้เอง

๕. สฬายตนะ แปลว่า อายตนะ ๖ ในที่นี้หมายถึง อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖

๖. ผัสสะ แปลว่า การถูกต้อง ในที่นี้หมายถึง การที่อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกถูก คือกระทบกัน

๗. เวทนา แปลว่า ความเสวยอารมณ์ ในที่นี้หมายถึง เวทนา ๕ คือ สุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เฉยๆ ไม่สุขและไม่ทุกข์ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

๘. ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก ในที่นี้หมายถึง ตัณหา ๓

๙. อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ หรือ ความถือมั่น ในที่นี้หมายถึง อุปาทาน ๔ คือ
๑) กามุปาทาน ถือมั่นในกาม
๒) ทิฏฐุปาทาน ถือมั่นทิฏฐิความเห็นผิดเป็นชอบ
๓) สีลัพพัตตุปาทาน ความถือมั่นในศีลพรต ได้แก่ ความถือมั่นในธรรมเนียมที่เคยประพฤติมาจนชินเคยตัว
๔) อัตตวาทุปาทาน

๑๐. ภพ ท่านแก้ไว้ ๒ ทาง
ทาง ๑ ได้แก่ กรรม
อีกทาง ๑ ได้แก่ อุบัติ คือ ความเกิด ในที่นี้น่าจะสมตามทางหลังคือ ปฏิสนธิ

๑๑. ชาติ แปลว่า ความเกิดฯ

ปัจจยาการ หรือ ปฏิจจสมุปบาท ดังกล่าวแล้วนั้น เทียบเคียงกันได้ดังนี้

ก. อวิชชา เทียบกันได้กับ ตัณหาและอุปาทาน โดยฐานเป็นปัจจัยแห่งกรรมด้วยกัน

ข. สังขาร เทียบกันได้กับ กรรมภพ โดยฐานเป็นปัจจัยแห่งกรรมด้วยกัน

ค. วิญญาณ เทียบกันได้กับ อุปัตติภพ โดยฐานเป็นปฏิสนธิด้วยกัน

ถ้า ภพ หมายเอา อุปัตติภพ อย่างเดียว จะไม่ต้องแยกเทียบกันอย่างนี้ สังขารเป็นอันเข้ากับหมวดอวิชชา

ง. นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เทียบกันได้กับ ชาติ โดยฐานเป็นชาติด้วยกัน

จึงได้ อดีตเหตุหมวดหนึ่ง ปัจจุบันผลหมวดหนึ่ง ปัจจุบันเหตุหมวดหนึ่ง อนาคตผลหมวดหนึ่ง
๑) อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน กรรมภพ นี้เป็น อดีตเหตุ
๒) วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา นี้เป็น ปัจจุบันผล
๓) ตัณหา อุปาทาน กรรมภพ อวิชชา สังขาร นี้เป็น ปัจจุบันเหตุ
๔) ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็น อนาคตผล


๔ หมวดนี้จัดเป็นสังเขป หรือสังคหะละอย่างๆ ย่นเข้าโดยกาลเป็น ๓ คือ
๑) อดีตตัทธา กาลหนหลัง
๒) ปัจจุบันนัทธา กาลยังเป็นอยู่
๓) อนาคตตัทธา กาลข้างหน้า


มีเงื่อนเรียกว่า สนธิ ๓ คือ
๑) เงื่อนในระหว่างอดีตเหตุและปัจจุบันผล เป็นสนธิหนึ่ง เรียกเหตุผลสนธิ ต่อเหตุเข้ากับผล
๒) เงื่อนในระหว่างปัจจุบันผล กับปัจจุบันเหตุ เป็นสนธิหนึ่ง คือ ต่อผลเข้ากับเหตุ
๓) เงื่อนในระหว่างปัจจุบันเหตุ กับอนาคตผล จัดเป็นสนธิหนึ่ง เรียกเหตุผลสนธิ ต่อเหตุเข้ากับผล


และแยกประเภทออกไปเป็น ๒ ส่วน ส่วนกิเลสหนึ่ง ส่วนกรรมหนึ่ง
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นส่วนกิเลส
สังขาร กรรมภพ เป็นส่วนกรรม


จึงย่นเข้าอีกนัยหนึ่งเป็นไตรวัฏฏ์ คือ วน ๓ กิเลสวัฏฏ์หนึ่ง กัมมวัฏฏ์หนึ่ง วิปากวัฏฏ์ คือ ส่วนที่เป็นผล หนึ่ง

วิบากในอนาคตจักมี ก็เพราะกิเลสและกรรมในปัจจุบันเป็นเหตุ กิเลสและกรรมในปัจจุบันมีอยู่ ก็เพราะวิบากในปัจจุบัน กล่าวคือ ต้องอิงอุปาทินนกสังขาร วิบากในปัจจุบันมีขึ้น ก็เพราะกิเลสและกรรมในอดีตเป็นเหตุ สาวทวนเข้าไปวนอยู่อย่างนี้ เป็นแต่ท่านยอมรับว่าสาวเข้าไปไม่ถึงเงื่อนต้น

เขียนอธิบายตามหลักธรรมวิภาคปริจเฉท ๒ สิ้นใจความแต่เท่านี้ฯ

ต่อนี้ไปจะอธิบายตามหลักปริยัติธรรมเทียบกับการปฏิบัติธรรม อันเป็นไปในด้านจิตใจคือตามหลักปริยัติ มีดังนี้ คือ

อดีตเหตุหมวดหนึ่ง ปัจจุบันผลหมวดหนึ่ง ปัจจุบันเหตุหมวดหนึ่ง อนาคตผลหมวดหนึ่ง
๑) อดีตเหตุ ๕ นั้น หมายความว่า เป็นสมุทัยในอดีตชาติหนหลัง

๒) ปัจจุบันผล ๕ นั้น หมายความว่า เป็นวิบากปัจจุบัน

๓) ปัจจุบันเหตุ ๕ นั้น หมายความว่า เป็นสมุทัยในปัจจุบันชาติ

๔) อนาคตผล ๕ นั้น หมายความว่า เป็นวิบากส่วนผลข้างหน้าหรือชาติหน้าก็ถูก

๔ หมวดนี้จัดเป็นสังเขป หรือสังคะหะละอย่างๆ ย่นเข้าโดยกาลเป็น ๓ คือ
๑) อดีตตัทธา กาลหนหลัง หมายถึง ชาติหนหลังหรืออดีตเหตุ ๕ นั้น ก็ถูก

๒) ปัจจุบันนัทธา กาลยังเป็นอยู่ คงหมายปัจจุบันชาตินี้

๓) อนาคตตัทธา กาลข้างหน้า หมายชาติ ชรามรณะ อันจะมีข้างหน้าก็ถูก หรือหมายอนาคตผลข้างหน้าก็ถูกเหมือนกัน

และมีเงื่อน เรียกว่า สนธิ ๓ คือ
๑) เงื่อนในระหว่างอดีตเหตุและปัจจุบันผล เป็นสนธิหนึ่ง เรียกเหตุผลสนธิ ต่อเหตุเข้ากับผล ข้อนี้หมายความว่า อดีตเหตุ ๕ นั้นแหละ สืบเหล่ากอมาเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ต่อมาสร้างภพชาติ ถือปัจจุบันผล ๕ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ได้แก่ ขันธ์ ๕ นามรูปตนตัวของเราท่านนี้เอง

๒) เงื่อนในระหว่างปัจจุบันผลและปัจจุบันเหตุ เป็นสนธิหนึ่ง คือ ต่อผลเข้ากับเหตุ ข้อนี้คงหมายความว่า ต่อผลเข้ากับเหตุเกี่ยวเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้นกระมัง

๓) เงื่อนในระหว่างปัจจุบันเหตุและอนาคตผล จัดเป็นสนธิหนึ่ง เรียกเหตุผลสนธิ คือต่อเหตุเข้ากับผล ข้อนี้หมายความว่า เมื่อปัจจุบันผล คือ รูปนามขันธ์ ๕ ปัจจุบันชาตินี้แตกทำลายแล้ว ปัจจุบันเหตุ ๕ ซึ่งเป็นสมุทัยอยู่ในปัจจุบันชาตินี้ นี่กระมังจะสืบเหล่าสืบกอ เป็นปฏิสนธิวิญญาณต่อไปเกิดชาติหน้า เป็นอนาคตสืบไป

ไตรวัฏฏ์ คือ วน ๓ ได้แก่ กิเลสวัฏฏ์หนึ่ง กัมมวัฏฏ์หนึ่ง วิปากวัฏฏ์หนึ่ง
๑) อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นกิเลสวัฏฏ์

๒) สังขาร กรรมภพ เป็นกัมมวัฏฏ์

๓) วิปากวัฏฏ์ ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ความเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง และเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ นี้เองเป็นวิปากวัฏฏ์ คือ ส่วนเป็นผล

วิบากในอนาคตจักมี ก็เพราะกิเลสและกรรมในปัจจุบันเป็นเหตุ นี้ก็ชี้ปัจจุบันเหตุไม่ใช่หรือ กิเลสและกรรมในปัจจุบันมีอยู่ ก็เพราะวิบากในปัจจุบัน นี้ก็ชี้ปัจจุบันเหตุและปัจจุบันผลนั้นเอง กล่าวคือ ต้องอิงอุปาทินนกสังขาร คือหมายความว่า ปัจจุบันเหตุ ๕ กล่าวคือ ต้องอิงปัจจุบันผลซึ่งเรียกว่า อุปาทินนกสังขาร

วิบากในปัจจุบันมีขึ้น คือ ความสุขและทุกข์ อุเบกขามีขึ้น ก็เพราะกิเลสและกรรมในอดีตเป็นเหตุนั้น หมายถึง กรรมที่กระทำในอดีตชาติหนหลัง ก็ได้แก่ อดีต ๕ นั้นเอง เป็นกิเลสและกรรมในอดีต แต่เหตุไฉนจึงมาเป็นวิบากเกิดขึ้นปัจจุบันเล่า ก็เพราะว่าอดีตเหตุ ๕ นั้นแหละมาเป็นปัจจุบันเหตุ ๕ คือ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สังขาร กรรมภพ

นี้แหละถ้าใครอยากจะรู้หน้าตาปัจจยาการที่แท้จริงแล้ว พึงดูปัจจุบันเหตุ ๕ นั้นเอง เท่าที่มีอยู่แล้วจะเป็นต้นหรือกลางที่ไหนก็ไม่ผิดจากความเป็นจริง แต่ถ้าจะรวมพรรคพวกเหล่ากอให้ครบจำนวนโดยแท้จริงแล้ว พึงนับวิญญาณเข้าในหมวดปัจจุบันเหตุด้วยดังนี้ คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ ตัณหา อุปาทาน กรรมภพ รวมเป็น ๖ ด้วยกัน เท่านี้แหละปัจจัยที่แท้จริง หรือจะกลั่นกรองเข้าไปอีก ก็มีอวิชชาสิ่งเดียวเท่านั้นแหละ เป็นปัจจัยที่แท้จริง แต่อวิชชาในที่นี้ ตามหลักปริยัติธรรมท่านกล่าวว่า เรียกว่า อวิชชา ๘ อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ คือ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุแห่งทุกข์เกิด ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้ทางดับทุกข์ ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต ดังนี้ และอันที่จริงอวิชชาสภาพเดียวเท่านั้นแหละ เป็นผู้ไม่รู้ ไม่รู้ทุกข์ เป็นต้น ฉะนั้นจึงตกลงรวมปัจจยาการที่เป็นต้นเดิมแท้ๆ นั้นมี ๖ ที่นับวิญญาณเข้าในหมวดปัจจุบันเหตุนั้น เพราะว่า ตามหลักก็มีอยู่แล้วว่า ปฏิสนธิวิญญาณ แต่วิญญาณในที่นี้ไม่ได้หมายเอาวิญญาณขันธ์ ๕ คือหมายเอาปฏิสนธิวิญญาณนั้นเอง ส่วนปัจจยาการเหล่าอื่นนอกจากอวิชชา สังขาร วิญญาณ ตัณหา อุปาทาน กรรมภพ นี้นับเข้าในหมวดปัจจุบันผล คือ ชาติ-ความเกิด ชรา-ความแก่ มรณะ-ความตาย ตลอดหมดทั้งสิ้น เมื่อสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องมีความแก่และเจ็บ ตายเป็นธรรมดา จึงพิสูจน์ได้ความว่าสภาวธรรมที่เป็นสาระแก่นสารภายในตัวตนมนุษย์บุคคลเรามีอยู่ คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ ตัณหา อุปาทาน กรรมภพ เท่านี้

แล้วที่ว่าไตรวัฏฏ์คือ วน ๓ ก็พึงรู้โดยนัยนี้ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ๓ นี้เป็นกิเลสวัฏฏ์ นี้แหละเป็นเครื่องหมุนอย่างหนึ่ง สังขาร กรรมภพ ทั้ง ๒ นี้ เป็นกัมมวัฏฏ์ คือ กรรมเป็นเครื่องหมุนอย่างหนึ่ง วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา รวมทั้งอุปัตติภพชาติชรา มรณะ ทั้งนี้ เป็นวิปากวัฏฏ์ ส่วนผลเครื่องหมุนอย่างหนึ่ง

กิเลส กรรม วิบาก เหล่านี้ เมื่ออรหัตตมรรคญาณยังตัดขาดออกจากกันไม่ได้ตราบใดแล้ว ก็ต้องทำการหมุนเวียนเป็นวัฏฏสงสารเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด ฉะนั้นท่านจึงแนะให้กำหนดพิจารณาองค์ธรรมที่เป็นภวจักษ์ คือ มูลรากแห่งธรรมที่เป็นเหตุผลเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน มี ๒ อย่าง คือ

มีอวิชชาเป็นตัวมูลรากเบื้องต้นทางอดีต ส่งถึงเวทนา เป็นตัวปัจจุบันผลเป็นเบื้องปลาย เรียก ปุพพันตะ เพราะมาแต่ส่วนเบื้องต้นอดีตกาลอย่างหนึ่ง

ตัณหาเป็นตัวมูลรากท่ามกลางเหตุปัจจุบัน ส่งถึงชรามรณะ ตัวอนาคตผลเบื้องปลาย เรียก อปรันตะ เพราะแล่นไปหาส่วนเบื้องปลาย เรียก อนาคตผล อย่างหนึ่ง

เมื่อมูลรากคืออวิชชา ก็มีตัณหานั้นแหละ ดับหายไปโดยไม่เชื้อเหลืออยู่เมื่อใด วัฏฏะ ๓ ก็หมดอำนาจ ไม่มีการหมุนเวียนของกองทุกข์ทั้งมวลก็หมดสิ้นไปโดยไม่มีส่วนเหลือด้วยประการฉะนี้ฯ

ตามแนวทางแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมที่กล่าวไว้ให้โยคาวจรกำหนดพิจารณาโดยหลายนัยนั้น เพื่อจะให้รู้จักประเภทแห่งธรรมทั้งหลายที่มีอาการเป็นไปอย่างนั้น มีชื่อเป็นไปอย่างนั้น มีอาการอย่างนี้ เป็นเหตุปัจจัยแห่งกันและกันอย่างนี้ ทั้งมีเกิดมีดับไปพร้อมในตัวทั้งเหตุและผลโดยประการต่างๆ และตามแนวทางที่พระบรมศาสดากำหนดพิจารณาในเวลาจะได้ตรัสรู้นั้น นัยว่าพระองค์ได้กำหนดจับองค์แห่งปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่ ชรา มรณะ ซึ่งเป็นตัวผล ยกขึ้นพิจารณาว่า ชรามรณะนี้มาจากไหน มีธรรมอะไรเป็นเหตุปัจจัย จนกว่าได้ความรับรองในตัวว่า ชรามรณะมาจากความเกิดฉะนี้แล้ว จับอาการของชาติพิจารณาไปว่าชาติมาจากภพ ภพมาจากอุปาทาน สาวเข้าไปหาต้นตอ เรื่อยไปจนถึงตัวอวิชชา ความไม่รู้เป็นต้นเหตุแห่งธรรมทั้งปวง แล้วกำหนดพิจารณาอวิชชานี้ได้แก่อะไร มาจากไหน ถ้าเป็นสาวกเวไนยอย่างพวกเรานี้ก็มืด ๘ ด้าน ไม่รู้เลยว่ามาจากไหน ไม่รู้ต้นหลายสายเหตุจึงยุติเพียงเท่านี้ อันที่จริงอวิชชา ความไม่รู้มาจากฐิติภูตัง ได้แก่อมตะธรรมที่ไม่ตายฯ

:b47: :b50: :b47:

หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รวมคำสอน “หลวงปู่คำดี ปภาโส”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=40903


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 19:25 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร