วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 14:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 12:41 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 12:42 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ไตรอาวุธคาถา ๓ ประการ
พระธรรมเทศนา ของ
พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน


:b39:

ตีณิ อาวุธานิ สุตาวุธํ ปวิเวกาวุธํ ปญฺญาวุธนฺติฯ

...........ต่อแต่นี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาในไตรอาวุธกถา พรรณนาธรรมาวุธ ๓ ประการ อันเป็นดังอาวุธสำหรับประหัตประหารเหล่าหมู่ปัจจามิตรภายใน กล่าวคือ กิเลส อาสวะ น้อยใหญ่ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ มีประเภทต่างๆ นานา ให้พินาศปราชัย ในการศึกสงครามภายนอกที่มีหมู่ปัจจามิตร ยกพยุหเสนาเข้ามาประชิดโจมตีประเทศบ้านเมืองใดถ้าประเทศบ้านเมืองนั้น มิได้เตรียมศาสตราอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้พร้อมพรั่ง ทั้งมิได้ชำนิชำนาญในยุทธวิธีนั้นๆ หมู่ปัจจามิตรมาคู่ควรกัน ก็ต้องตกอยู่ในอำนาจหมู่ปัจจามิตรโดยมิต้องสงสัย ถ้าประเทศบ้านเมืองใดไม่ประมาทนอนใจ แม้ในยามสงบศึก พยายามเตรียมศาสตราอาวุธยุทธภัณฑ์ ไว้สำหรับป้องกันประเทศบ้านเมืองของตนไว้อย่างดี และฝึกหัดพลโยธาให้ชำนาญในยุทธวิธีต่างๆ เป็นอย่างดี ถ้าประเทศบ้านเมืองนั้นแม้จะมีหมู่ปัจจามิตรมาหักโหมโจมตี ก็มีแต่จะได้ชัยชนะ สามารถประหัตประหารสู้รบหมู่ปัจจามิตร ให้ถอยหนีกระจัดกระจาย อับอายปราชัยไปหมดดังนี้

...........บุคคลผู้เกิดมาในโลกนี้ย่อมจะเหมือนกันไปหมด ชื่อว่าตกอยู่ในภัยแห่งสงครามธรรมชาติ สงครามธรรมดา เต็มเปี่ยมแน่นหนาอยู่ด้วยกองทุกข์น้อยใหญ่ ทั้งโดยตรงทั้งโดยอ้อม มีพร้อมทั้งมูลราก คือตัณหา ตัณหา คือ ความเป็นทุกข์ บุคคลผู้ไร้ปัญญา ยากจะปลดปลงตนและบรรเทาให้เบาบางหรือเหือดหายไป ก็เป็นของยาก สมดังความตามพระพุทธโอวาทที่แสดงความเป็นไปของโลกไว้ว่า ตณฺหา อุฏฺฐิโต โลโก ชรา ย ปริวาริโต มจฺจุนา ปิหิโต โลโก ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโตฯ โลกถูกตัณหาสุม ถูกชราสุมล้อม ถูกมัจจุปิดกันไว้ โลกตั้งอยู่ในกองทุกข์อย่างแน่นหนาฯ สัตว์โลกจึงต้องผจญอยู่กับสงครามธรรมชาติ สงครามธรรมดาทุกถ้วนหน้า

...........สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็ตกอยู่ในวงแห่งสงครามธรรมดา ทำนองเดียวกันกับสามัญชน แต่อาศัยพระปรีชาอันเลิศล้ำล่วงสามัญชน ทรงพิจารณาเห็นความเป็นไปของสัตว์โลก ดังที่ได้แสดงมาแล้วจริง พระองค์ไม่ทรงมัวเมา ลุ่มหลง ชักช้า เหมือนชนทั้งหลาย พระองค์ทรงเที่ยวแสวงหาวิชโยบายด้วยความพอใจอันยิ่งใหญ่ ในที่สุดก็ได้ประสบอนุตรวิชัยคือ พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพิชิตมารอุดมเอกในโลก แล้วมีพระหฤทัยอันผ่องใสเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ด้วยพระมหากรุณา จึงได้ทรงประทานพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธเวไนย ให้เห็นอาวุธไว้สำหรับใช้ในสงครามธรรมดา สำหรับปราบปรามเหล่าปัจจามิตร กล่าวคือความทุกข์และความเศร้าหมองที่มีประเภทต่างๆ นานาให้พินาศ ด้วยพระพุทธโอวาทเป็นกระทู้ว่า ตีณิ อาวุธานิ อาวุธ ๓ อย่าง สุตาวุธํ อาวุธคือการฟัง ปวิเวกาวุธํ อาวุธคือความสงบสงัด ปญฺญาวุธํ อาวุธคือปัญญาดังนี้ฯ

...........การตั้งใจฟังและตั้งใจสำเหนียกศึกษา รวมเรียกว่า สุตะฯ ความไม่คลุกคลีเกลื่อนกล่นระคนอยู่ด้วยหมู่คณะ หาที่วิเวกจิตใจของตนอย่างนี้ รวมเรียกว่าความสงบสงัด ความรอบรู้ทั่วถึงทั้งเหตุทั้งผล รวมเรียกว่า ปัญญา ธรรมทั้ง ๓ นี้จึงได้ชื่อว่า อาวุธ เพราะเป็นดังอาวุธสำหรับกำจัดข้าศึกภายใน เป็นต้นว่าความทุกข์ หรือความเศร้าหมองใจมีประการต่างๆ กัน อันเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด ซึ่งยากที่จะเห็น แต่คงเป็นข้าศึกเบียดเบียนความสุขให้อันตรธานสูญหายไปจากตนของตน ก็เพราะตนไม่มีธรรมาวุธ เช่นนี้จึงไม่สามารถสู้รบข้าศึกเช่นนั้นให้พินาศได้ แต่เมื่อเราได้สั่งสมธรรมาวุธไว้พรั่งพร้อม และรู้จักใช้ให้เหมาะตามกาลเวลา ความทุกข์ ความเศร้าหมองก็หมดอำนาจ ไม่อาจเกิดขึ้นครอบงำย่ำยี ไม่อาจประทุษร้ายผู้นั้นได้

...........เพียงแต่สุตะ การฟัง การศึกษา อันแตกฉานด้วยดี ซึ่งเป็นวิธีต่างๆ ความรู้ของท่านผู้รู้มาสู่ตน ก็ปรุงแต่งจิตใจของบัณฑิตให้บริสุทธิ์ปราศจากความเศร้าหมองดังนี้ มีพระพุทธภาษิตรับรองว่า ยถา ปิรหโท คมฺภีโร วิปฺปสนฺโน อนาสิ โล เอวํ ธมฺมานิ สุตฺวาน วิปฺปสีทนฺติ ปณฺฑิตา หมู่บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ย่อมมีจิตอันผ่องใสเหมือนห้วงน้ำลึกใสสะอาดไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น แม้จำพวกนิวรณ์ที่กลุ้มรุมจิต และกางกั้นไม่ให้บรรลุผลดีที่ยิ่งขึ้นไป ก็สงบหายได้ด้วยอำนาจการตั้งใจฟังธรรมด้วยดีอยู่ ด้วยความเคารพจริงๆ ดังนี้

...........มีพุทธภาษิตแสดงความข้อนี้อยู่ว่า ยสฺมึ สมเย อริยสาวโก อฏฐิกตฺวา มนสิกตฺวา สพฺพเจตสา สมนฺนา หริตวา โอหิตโสโต ธมฺมิสุณาติ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดอริยสาวกหวังประโยชน์สนใจประมวลมาด้วยใจทั้งสิ้น เงี่ยโสตสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาอยู่ อิมสฺส ปญฺจ นีวรณา ตสฺมึ สมเย น โหนติ ในสมัยนั้นนิวรณ์ ๕ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกดังนี้ สตฺต โพชฌงฺคา ตสฺมึ สมเย ภาวนาปริปุริ คจฺฉติ ในสมัยนั้น โพชฌงค์ ๗ ย่อมมีถึงความดีบริบูรณ์ดังนี้ การตั้งใจสดับและสำเหนียกศึกษาสนใจ จึงเป็นอาวุธอย่างดีสำหรับปราบปรามข้าศึกภายใน

...........ท่านจึงสรรเสริญว่า สุตะ เป็นอริยทรัพย์ประการหนึ่ง เพราะเป็นเครื่องปลดเปลื้องความวุ่นใจได้บางอย่าง และเป็นนาถกรณธรรม เพราะทำความอุ่นใจ เชื่อใจ มั่นใจ ในคราวต้องตกทุกข์ได้ยากลำบาก และพลัดพรากจากของที่ชอบใจ หรือในเวลาต้องสมาคมด้วยอุปสรรค คือความอึดอัดติดขัดบางอย่าง ทั้งเป็นเครื่องสำหรับสะสางให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ดังพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในคโรปปนสูตรว่า สุตาวุโธ ภิกฺขเว อริยสาวโก อกุสลํ ปชานาติ กุสลํ ภาเวติ สาชฺชํ ปชานาติ อนวชฺชํ ภาเวติ สุทธมตฺตานํ ปริหรติ ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะเป็นอาวุธ ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละสิ่งที่เป็นโทษ เจริญสิ่งที่เป็นประโยชน์ และย่อมบริหารตนของตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์ได้เช่นนี้

...........แต่การฟังการศึกษาจะอำนวยผลอย่างดี ยังต้องมี ความสงัด เป็นเครื่องช่วยอุปถัมภ์ตามกาลเวลา แม้การที่ใช้อาวุธก็ต้องประกอบให้ชอบตามกาลเวลา จึงจะยังข้าศึกให้ปราชัยได้ฉันใด การสู้รบข้าศึกภายในก็ต้องประกอบธรรมให้ถูกตามกระบวนฉันนั้น จึงควรเป็นผู้มีวิเวกาวุธ คือความสงัด ไว้เป็นเครื่องป้องกันและปราบปรามตามสมควร การปลีกตัวเที่ยวอยู่ตามที่สงัด ไม่พลุกพล่านเกลื่อนกล่นระคนด้วยหมู่คน ปราศจากโกลาหล คือความอื้ออึงเอิกเกริก อันเป็นเครื่องกระทบใจ เมื่อได้อาศัยในหมู่ในสถาน อันเป็นที่สบายอย่างนี้ จึงชื่อว่ากายวิเวก สงัดกาย

...........การอบรมจิตให้ลี้ลับปราศจากกามและอกุศลทั้งหลาย ซึ่งรวมเรียกว่านิวรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องกางกั้นปิดบังไม่ให้บรรลุผลดีที่ยิ่งขึ้นไป แต่เมื่อเรามาพิจารณาแต่ในอารมณ์อันเดียว จนจิตตั้งเป็นหนึ่งได้อย่างนี้ จิตจึงผ่องใสสะอาด ปราศจากโทษคือความเศร้าหมองหรือมลทินอย่างนี้ จึงชื่อว่าจิตวิเวก สงัดจิต ทั้ง ๒ วิเวกนี้เป็นอาวุธชนิดหนึ่ง เมื่อมีขึ้นแก่บุคคลผู้ใดแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญหงุดหงิดทุรนทุราย ทำให้ได้พักผ่อนร่างกาย พลิกเปลี่ยนอิริยาบถตามความสะดวกของตน และเป็นทางให้หมดกังวล ให้มีแต่พอประมาณ เพื่อจะไม่ให้อารมณ์เข้ามารบกวนกระทบกระทั่ง และช่วยให้เป็นผู้มีสติรู้จักเหนี่ยวรั้งระวังจิตของตนไว้ และอาจสามารถใช้ความเพ่งเพียรพินิจ ประคองจิตของตนให้น้อมไปแต่ในทางที่ชอบ

...........อันความรำคาญก็ดี และความอึดอัดคับใจก็ดี ความวิตกตรึกนึกไปมากกว่าเหตุก็ดี ย่อมเป็นข้าศึกแห่งความสงัด ทั้งเป็นเครื่องตัดรอนความสุขสำราญของตน ให้อันตรธานหายไปจากตน ดังความร้อนเป็นข้าศึกแห่งความเย็น ฉะนั้นความร้อนจึงต้องมีเครื่องแก้ไขป้องกัน แก้ไขบำบัดตามชนิด ความสงัดกายและความสงัดจิตก็เป็นเครื่องปราบปรามความรำคาญเป็นต้น ให้พินาศแล้ว อาจจะรู้เห็นความสงัดจากผัสสะที่มากระทบถูกต้องใจ จึงไม่มีอะไรที่จะชักนำให้เกิดความเห็นผิดคิดผิดต้องด้วย สมดังพุทธภาษิตว่า วิเวกทสฺสี ผสฺเสว ทิฏฐิยา จ น นิยฺยติ ผู้เห็นความสงัดจากผัสสะทั้งหลายโดยปกติ ไม่มีอะไรจะนำไปในทิฏฐิความเห็นฉะนี้

...........ยิ่งเป็นผู้สันโดษพอใจตามมีตามได้ ความสงัดของผู้นั้นจะมีความสุขเป็นผล สมด้วยพระพุทธนิพนธ์ว่า สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส ความสงัดของผู้สันโดษย่อมเป็นสุข ดังนี้ ก็เห็นว่าความสุขเช่นนั้นย่อมแสดงรสอย่างกระวนกระวาย และความเศร้าหมองของสาธุชนอย่างดี มีพระพุทธภาษิตประกาศเรื่องนี้อยู่ว่า ปวิเวกกรสํ ปิตฺวารสํ อุปสมสฺส จ นิปฺปาโป ธมฺมปิติรสํ ปิโต ความว่า เมื่อได้ดื่มรสอันเกิดแต่ความสงัดและรสแห่งธรรมอย่างที่เข้าไปสงบ ทั้งได้ดื่มรสแห่งธรรมปิติ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวายและความเศร้าหมอง วิเวกจึงเป็นอาวุธอย่างดีดังนี้ฯ

...........แต่นั้นควรอบรมปัญญา อันเป็นอาวุธชนิดที่ ๓ เพื่อเป็นกำลังพร้อมกัน ปราบปรามข้าศึกภายในให้ปราชัย ปัญญาที่เป็นอาวุธได้นั้น หมายถึงปัญญาอันเกิดแต่การทำจิตให้ตั้งมั่น คือความสงัดจิต อาศัยพุทธภาษิตว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ทั่วถึงตามความเป็นจริง ซึ่งบางแห่งท่านเรียกว่า วิปัสสนาปัญญา ที่แปลว่าปัญญาอันเห็นแจ้ง กำจัดความมืดในใจได้ทั้งสิ้นให้ปราศจากไป เมื่อมีอยู่แก่บุคคลผู้ใดแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสว่างแจ่มแจ้งในใจเสมอดังนี้

......ดังกระทู้พระพุทธนิพนธ์ว่า ปญฺญาโกสฺมึ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก และเป็นเครื่องกำจัดซึ่งความเศร้าโศก และความทุกข์ระทมใจ แต่ปัญญาเช่นนั้นต้องอาศัยความพิจารณาตนของตนจนเกิดปัญญาปรากฏขึ้นได้ในใจ อาศัยความพิจารณาอย่างนี้ฉันใด วิปัสสนาก็อุปไมยฉันนั้น ท่านจึงสรรอารมณ์ไว้หลายๆ หมวด มีเบญจขันธ์ คือกายกับใจนี้เป็นต้น เพราะว่ากายกับใจนี้เป็นอุปธิชนิดหนึ่ง ในอุปธินั้นได้แก่กายที่เข้าไปทรงไว้ซึ่งทุกข์ โดยความก็คือเข้าไปหอบทุกข์ไว้ ความทุกข์ทั้งหลายจึงปรากฏขึ้นที่กายกับใจ แม้ความทุกข์จะมีประเภทมากมายเท่าไหร่ ก็อุปธิเป็นมูลเหตุทุกชนิด สมดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่เมตตาสุภมานพว่า อปฺปชฺชนฺติ ทุกฺขา เยเกจิ โลกสฺมึ อเนกรูปา ความทุกข์ทุกชนิดเป็นอเนกเรื่องในโลกย่อมเกิดปรากฏขึ้นในโลกได้ ดังนี้ฯ โย เว อวิทสุอุปธิ กโรติ ปุนปฺปุนํ ทุกฺขมุเปติ บุคคลผู้ใดไม่รู้ทั่วถึง ยังกระทำอุปธิอยู่ บุคคลผู้นั้นเป็นคนโง่เขลาต้องพบประสบการณ์ร่ำไป

...........เพราะฉะนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นว่า อุปธิเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์แล้ว ไม่ควรทำซึ่งอุปธิต่อไป เกิดนิพพิทาคือ ความเบื่อหน่ายเข็ดหลาบ ไม่ติดพันถือมั่น จิตก็หลุดพ้นจากความเศร้าหมอง เป็นจิตบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา อันได้ความตามนัยพระพุทธอุทานคาถาว่า ยทา ห เว ปาตฺภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พรฺาหฺมษณสฺส วิธูปยฺ ติฏฐติ มารเสนํ สูโรว โอภาสยมนฺตลิกขํ เมื่อใดแลธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นพราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ เหมือนอย่างพระอาทิตย์อุทัยในท้องฟ้าสว่างแจ้งหายมืด ฉะนั้น ปัญญาอันกำจัดมารได้เช่นนี้ ชื่อว่า ปญฺญาวุธ ยุชเฌถ มารํ ปญฺญาวุเธน พึงรบมารด้วยปัญญาวุธเช่นนี้

...........ธรรมาวุธ ๓ ประการ คือ สุตาวุธ ปวิเวกาวุธ ปัญญาวุธ มีความดังบรรยายมา เป็นอาวุธที่สามารถสู้รบข้าศึกภายในได้อย่างดี ข้าศึกภายในนั้นคือ ความทุกข์ใจ ความเศร้าหมองใจ มีประการต่างๆ แต่คงเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละอียด รวมเป็น ๓ ขั้นเท่านั้น ผู้มุ่งจะปลดเปลื้องและบรรเทาตน จึงควรอบรมตนสร้างสมให้มีขึ้นในตนไว้ครบครัน ก็จะสามารถบรรเทาทุกข์น้อยใหญ่ให้เหือดหายไป และจะได้ประสบสุขสำราญตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา อันเป็นที่ประสงค์ของพุทธบริษัททั้งหลาย

...........ผู้มีความเบื่อหน่ายในวัฏฏทุกข์ ที่ยังไม่ได้ประสบพบความสุขในขั้นนั้น ก็เพราะยังไม่ได้อบรมให้บริสุทธิ์เต็มที่ ถึงอย่างนั้น ถ้ามีความตั้งใจที่จะเพิ่มพูนบำเพ็ญบารมีเป็นนิจ ก็คงได้ประสบและเห็นเสียว่าเป็นข้อปฏิบัติทวนกระแสใจของสามัญชน ส่วนท่านผู้ปฏิบัติบำเพ็ญได้ครบบริบูรณ์นั้น ในชั้นต้นก็ต้องเป็นสามัญชนเช่นเดียวกันฯ แต่ด้วยอานุภาพแห่งธรรมาวุธที่มีครบบริบูรณ์ในท่านนั้นแล แปรภาวะของท่านให้ขยับจากสามัญภาพเป็นอริยภาพ จนถึงพระสัมมาสัมพุทธะ ประดุจนักรบอย่างเชี่ยวชาญในสงคราม ย่อมได้ใจหาญตามสมควรแก่คุณภาพนั้นๆ ข้อสำคัญก็อยู่ที่ตั้งใจอบรมกระทำจริงหรือไม่เท่านั้น แต่เมื่อตั้งใจอบรมกระทำจริงๆ ให้พอดีพองามแล้ว ย่อมได้ซึ่งผลที่เราต้องประสงค์ตามความปรารถนาได้ทุกประการ เมื่อพุทธบริษัทได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาในไตรวุธคาถาแล้ว ก็เกิดปิติยินดีเป็นผู้ไม่ประมาท เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล

:b47: :b50: :b47:

หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รวมคำสอน “หลวงปู่สาม อกิญจโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=58274


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 21:07 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร