วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 12:39 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 12:39 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สุจิณฺโณวาท
โอวาทของ
พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ


:b39:

กามกิเลส

...........กามนี้มันหมุนรอบโลก มันเป็นเจ้าโลก กามกิเลสนี้แหละที่ทำให้เกิดสงครามต่อสู้กัน เกิดก็เพราะกาม ตายก็เพราะกาม รักก็เพราะกาม ชังก็เพราะกาม

...........กามทุกอย่างนี้เรียกว่ากามกิเลส การต่อสู้กามกิเลสเป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง ความพอใจก็คือกิเลส ความไม่พอใจก็คือกิเลส กามกิเลสนี้อุปมาเหมือนแม่น้ำ ธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณไหลลงสู่ทะเลไม่มีที่เต็มฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งหมดอยู่ที่ใจ สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี่แหละคือตัวเหตุ ทำความพอใจให้อยู่ที่ใจนี่ หมั่นเพียรและตั้งสัจจะให้มั่น รักษาศีล รักษาตา รักษาหู รักษาตัว รักษาปาก สำรวมอินทรีย์ รักษาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ พิจารณาเข้าไป ตจปัญจกกรรมฐาน ๕ กายคตากรรมฐาน พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงก็จะถอนได้ พวกหมู หมา เป็ด ไก่ มันก็เสพกามกันทั่วแผ่นดิน อย่าได้ไปอัศจรรย์ มีแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ใดรักษาศีล ภาวนาเข้าจนเกิดสมาธิแล้ว สติก็ดิ่งเข้าไปแล้ว ก็จะได้ทำจิตทำใจของตนให้บริสุทธิ์ ให้มีสติสัมปชัญญะนำคืนออกให้หมด ถ้ามีสติแล้วก็นำความผิดออกจากกายจากใจของตน อย่าหลงสมมุติทั้งหลาย มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่าเอามาหมักไว้ในใจ

...........กามตัณหาเปรียบเหมือนแม่น้ำ ไหลไปสู่ทะเลไม่รู้จักเต็มสักที อันนี้ฉันใด ความอยากของตัณหามันไม่พอ ต้องทำความพอจึงจะดี เราจะต้องทำใจให้ผ่องใส ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในสมาธิก็ดี ทุกอย่างเราทำความพอดี ความพอใจก็นำออกเสีย ความไม่พอใจก็นำออกเสีย เวลานี้เราจะพักจิต ทำกายของเรา ทำใจของเรา ทำใจของเราให้รู้แจ้งในกายในใจของเรานี้ รู้ความเป็นมา วางให้หมด วางอารมณ์ วางอดีต อนาคตทั้งปวง...ที่ใจนี่แหละ

...........เรื่องสังขารนี้ สังขารมันปรุง สังขารมันแต่ง มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วางอยู่นี่แหละ อดีต อนาคตมันก็มานี่แหละ ตัดอดีต อนาคตลงหมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน สว่างในปัจจุบัน ทำจิตทำใจของเราให้สว่าง ให้รู้แจ้งในมรรคในผล ในศีล สมาธิ ปัญญา เอาที่ใจนี้แหละ ให้มันสำเร็จขึ้นที่ใจ

...........เวลาปฏิบัติจริง กิเลสมันมาได้ทุกทิศทุกทาง ใจนี้มันสำคัญ เหตุมันเกิดจากใจนี้ ตั้งสัจจะ จริงกาย จริงวาจา จริงใจ อย่าหลงไปตามเขา ตามอารมณ์ ละทิ้งความที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สมบัติของเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหมดนี้เป็นที่ตั้งของทาน เป็นที่ตั้งของมรรค เป็นที่ตั้งของพระนิพพาน จงละและวางให้เป็นพุทโธ ละวางหมดก็เป็นสุข ปล่อยวางก็สบาย

ตัณหา

...........กามกิเลสนี้แหละเป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียวทำให้เกิดการต่อสู้ แย่งชิง ความรัก ความชัง จะบังเกิดขึ้นในใจก็เพราะกาม สอนให้พิจารณาถึงสังขารร่างกาย พิจารณาเข้าไปถึง เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตจปัญจกกรรมฐาน ๕ กายคตากรรมฐาน เป็นฐานที่ตั้งของกาม ทุกข์เกิดอยู่ที่นี่ สมุทัยก็เกิดอยู่ที่นี่ น้อมเข้า ขันธ์ทั้ง ๕ ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากำหนดเข้าไป แล้วจะเห็นว่ากามนั้นเป็นของไม่อัศจรรย์ อย่าได้หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทำใจให้บริสุทธิ์ ทำกายให้บริสุทธิ์ ให้ถึงฐีติภูตํ นั่นแหละ กามตัณหาก็จะหมดไป

ละ วาง ถอนที่ใจ

...........เอา “พุท” หายใจเข้า “โธ” หายใจออก จะเอาพุทโธเป็นมรรคของใจหรือเป็นอารมณ์ของใจก็ได้ เอาน้อยๆ แต่ทำให้มาก อาศัยความหมั่นความเพียร ให้จริงวาจา จริงใจ ให้มีขันติบารมี อดทนทางกาย อดทนทางวาจา อดทนทางใจ

...........ความอดกลั้นเป็นบารมีธรรมอย่างเอก อาศัยความเพียร ละกายทุจริต ละวจีทุจริต ละมโนทุจริต ละให้หมด เอาศีลระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย อินทรีย์ทั้ง ๕ อย่างนี้สำคัญ ตานี้เห็นรูป เกิดความพอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี รูปที่มีวิญญาณก็ตาม ไม่มีวิญญาณก็ตาม เอาศีลนั่นแหละเอาออกจากจิตจากใจของเรา ทำใจของเราให้สว่าง รักษาหู เสียงมาทางหู เกิดความพอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี นำออกให้หมด เอาศีลนั่นแหละนำออกให้หมด

...........กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เปรียบเหมือนแม่น้ำธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณไหลลงสู่ทะเล ไม่มีที่เต็มฉันใด กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด

...........ทำความพอใจให้มีขึ้นในใจ อย่าดื่มสุรายาเมา การดื่มสุรายาเมาเป็นการทำลายสมบัติของเจ้าพ่อเจ้าแม่ ก้อน “นะ” ก้อน “โม” นี้เป็นที่ตั้งของศีล เป็นที่ตั้งของธรรม เป็นที่ตั้งของมรรคของผล การเรียนวิชาฝ่ายโลกก็อาศัยก้อนนี้แหละ การจะรักษาศีลให้ทานก็เอาสมบัติของเจ้าพ่อเจ้าแม่นี้แหละ การบำเพ็ญบุญกุศลก็เอาสมบัติของเจ้าพ่อเจ้าแม่นี้แหละเป็นที่ตั้ง

...........ความโกรธ ความหลง อกุศลธรรมเมาทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้น เรานั่นแหละเดือดร้อน เพราะฉะนั้นละให้หมด ทำใจของตนให้ผ่องใส เอาใจละ เอาใจวาง เอาใจถอน ละออก วางออก ถอนออก จากจิตจากใจของเรานี้ ใจของเราแต่งเอาได้ แต่งให้เป็นบุญก็แต่งได้ แต่งให้เป็นศีลก็แต่งได้ ให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ตลอดชีวิต ตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ตั้งอยู่ในศีล ๕ ทำตนของตนให้เรียบร้อย

การสละออกจากใจ

...........จาโค ปฏินิสฺสคฺโค สละคืนถอนออกจากใจนี้เสีย

...........คนเรามักรักสุข เกลียดทุกข์นี่ หนักก็หนักอยู่ตรงนี้แหละ ไม่รับความจริง

...........เราเกิดมา นินทา สรรเสริญก็ดี อย่าไปรับเอามาหมักไว้ในใจ ปล่อยผ่านไปเสีย

...........ความรัก ความชัง ความโลภ ความหลง เกิดขึ้นก็เพราะกิเลสมันเสวนากันอยู่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาทั้งหลายก็ไหลมาจากเหตุ ให้ละเสียให้หมด วางเสียให้หมด ให้ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในการบำเพ็ญกุศล ละบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ บาปอันใดยังอยู่ให้ละเสียให้หมด กายทุจริต วาจาทุจริต ใจทุจริต นำออกให้หมด แล้วรักษากายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริตไว้ เมื่อนำทุจริตออกหมดแล้วจะเหลือแต่สุจริตธรรมตั้งอยู่ในศีล กายก็เป็นศีล วาจาก็เป็นศีล ใจก็เป็นศีล เป็นธรรม เป็นมรรค เป็นผล ตั้งขึ้นในจิตในใจ ละวางทุจริตธรรม สุจริตธรรมตั้งอยู่แล้วจิตก็เบาสบาย อดีตที่ล่วงไปแล้วยังหอบเอามาหมักไว้ในใจก็เดือดร้อน ต้องเอาศีลนั่นแหละนำออกให้หมด

การละอารมณ์

...........มรณาตัวนี้ตัวเดียว ทั้งโลกเต็มแผ่นดินนี้ มีแต่มรณาทั้งนั้น เราก็คนหนึ่ง เราเกิดมาแล้ว มันต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกรูปทุกนาม มันเป็นกงจักรใหญ่ ให้มนุษย์และสัตว์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในโลกอันนี้ ในไตรโลกทั้งสามนี้แหละ ไม่พ้นไปสักที

...........ตัดอดีตอนาคตเป็นอันเดียวกัน อดีตอนาคตมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทำดีก็ดี ทำร้ายก็ดี มุ่งอยู่ที่กามตัณหานี่แหละ ความพอใจก็ตัณหา ความไม่พอใจก็ตัณหา ภวตัณหาก็ดี วิภวตัณหาก็ดี ทั้งสามนี้เหล่านี้ ละให้สิ้น มันเกิดขึ้นในใจก็นำออกจากจิตจากใจของตนเสีย

...........ศีลห้า อยู่ที่ขาสอง แขนสอง หัวหนึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส กามารมณ์ทั้ง ๕ ปล่อยให้ผ่านไปผ่านมา ดีก็ไม่ว่า ไม่ดีก็ไม่ว่า เรื่องราวเต็มโลก เต็มบ้านเต็มเมือง เราก็วางเสีย ละเสีย ละอยู่ที่กาย ที่ใจตนนี่แหละ อย่าไปละที่อื่น การหอบอดีตและอนาคตมาสุมไว้ในใจ ก็เป็นทุกข์ ตัดออกให้หมด หูของเรา ตาของเรา จมูกของเราก็เป็นปกติอยู่แล้ว รูป เสียง กลิ่น รส กามารมณ์อันนั้นต่างหาก ปล่อยให้เขาผ่านไปผ่านมา อย่าเอาหมักไว้ในใจ ใจของเราก็ไม่ได้ไปไหน มันก็ตั้งอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว เราก็ตัดอื่นๆ ที่ผ่านไปผ่านมาออกเสีย ทำใจของเราให้สงบ มันก็ต้องวางหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งอดีตอนาคต อันใดที่ได้ยินมาพอแล้ว ได้เห็นมาพอแล้ว อยู่ทางโลกก็ดี อยู่คนเดียวก็ดี อันใดก็ดี วางอยู่ที่นี่แหละ ละอยู่ที่นี่แหละ ความหลงก็พอแล้ว โลภก็พอแล้ว โกรธก็พอแล้ว ความโศก ความเศร้า กิเลส ตัณหา ความพอใจ ความไม่พอใจ ก็ตัณหาแหละ ละมันเสีย

ธรรมมา ธรรมเมา

...........อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตเป็นธรรมเมา จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ตัดตัณหา ตัดกิเลส ตัดมานะทิฐิ ตัดความยึดมั่นถือมั่นของตนให้เสร็จลงก็สงบได้

...........อดีตมันล่วงไปแล้วไม่ต้องคำนึงถึง ถือเอาบุญเอาบาปในปัจจุบัน เราทำบุญทำบาป บุญบาปอันนี้แหละพาหมุนไปในปัจจุบัน อดีตผ่านไปแล้วเป็นมาแล้ว อย่าไปคำนึงถึงเอามาเป็นอารมณ์ อดีต อนาคตตัดออกให้หมด “อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ’’ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ตลอดชีวิต

...........เอาพุทโธเป็นมรรคเป็นอารมณ์ของใจ มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอารมณ์ของใจ อย่าให้เป็นธรรมเมา เมาคิด เมาอ่าน เมาอดีต เมาอนาคต ใช้การไม่ได้ ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน วางในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน ตั้งความสัตย์ลงไปว่า เวลานี้เราทำจิตทำใจให้สงบ อย่าไปคิด อดีต อนาคต ผ่านไปแล้ว เอาปัจจุบันนี้แหละเป็นที่ตั้ง

อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก

...........เอาความอดกลั้นเป็นบารมีธรรม อาศัยความเพียร ละกายทุจริต ละวจีทุจริต ละมโนทุจริต เอาอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเครื่องกั้น โดยตั้งความสัตย์เข้า ให้จริงกาย จริงวาจา จริงใจ อดทนทั้งกาย อดทนทั้งวาจา อดทนทั้งใจ ละบาปทางกาย ละบาปทางวาจา ละบาปทางใจให้หมดก็จะเป็นสุข ใจตั้งอยู่ในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รักษากรรมบถ ศีล รักษากาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ รักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้หมดจด

...........กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เปรียบเสมือนแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลไม่มีที่เต็มฉันใด กามตัณหาที่ไม่พอก็ดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อให้เกิดทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด จนธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แตกดับ นั่นแหละจึงจะหลุดพ้นจากตัณหาเหล่านี้ ให้ตั้งอยู่ในศีล อดีตที่ล่วงมาแล้วอย่าไปคำนึงมาเป็นอารมณ์ ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ แปลว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ตลอดชีวิต นั่นแหละจึงจะหลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

ของเก่าปกปิดความจริง

...........การเจริญภาวนาโดยยึดเอาอายตนะภายใน ๖ อย่าง มาเป็นอารมณ์เพื่อทำให้ใจสงบ การพิจารณาต้องน้อมนำเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้รู้แจ้ง เห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันก็วางเอง หลวงปู่มั่นได้กล่าวว่า “เหตุก็ของเก่านี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าของเก่า’’ ของเก่านี้ได้แก่ขา แขน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อเวลาปฏิบัติภาวนา ก็ให้พิจารณาอันนี้แหละ ให้รู้แจ้งภายในจึงจะไปนิพพานได้ นักปฏิบัติต้องพิจารณาตรงที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ให้พิจารณากาย พิจารณาใจ ให้เห็นให้เกิดความเบื่อหน่าย ผู้ปฏิบัติต้องน้อมเข้าหาสมมติ ให้เกิดเป็นวิมุตติ (ความหลุดพ้น) พิจารณาให้รู้แจ้ง สมมติให้เกิดเป็นวิมุตติ ให้รู้ถึงของเก่า ซึ่งไม่จีรังยั่งยืน จะต้องผุเน่าเปื่อยไปในที่สุด

ต้องน้อมเข้ามาสู่ใจ

...........รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ พิจารณาใจให้รู้แจ้งเป็นจุด แล้วค่อยขยายออกไป กำหนดทุกข์ เอาจนรู้ รู้เหตุ รู้ผล รู้เท่าเหตุ เหตุดับ ปัจจัยทั้งหลายก็ดับ อวิชชาความมืดก็ดับ

ให้รักษาพระไตรสรณคมน์ให้แน่นหนา รักษาพระไตรสรณคมน์ให้ตลอดชีวิต รักษากาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ อย่าลืมตัว เอาใจนี้แหละเป็นผู้รู้
ให้พิจารณา กาย ใจนี้ให้รู้แจ้ง ใจเป็นตัวเหตุ เอาใจนี่แหละเป็นผู้เห็น เอาใจนี่แหละเป็นผู้ละ เป็นผู้วาง เอาใจนี่แหละเป็นผู้ถอน ถอนทุกสิ่งทุกอย่าง ถอนกิเลส ถอนอยู่ที่ใจนี้แหละ ละอยู่ที่ใจนี้แหละ เอาศีลนี่แหละนำออกให้หมด

...........อดีต อนาคตของตนต้องละให้หมด อดีตอนาคตมันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตัดอดีตอนาคต แล้วจิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้อยู่ในปัจจุบัน ละอยู่ในปัจจุบัน วางอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นพุทโธ จึงเป็นธัมโม น้อมเข้ามาหาใจนี้ กำหนดอยู่ทุกแห่งทุกหน กำหนดไว้ให้รู้ใจของตน อุปาทานทั้ง ๕ อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง ๕ อนัตตาทั้ง ๕ ก็เกิดมาจากใจนี้แหละ วางเสียให้หมด นิจจัง ตั้งอยู่ คงที่ เที่ยงอยู่ อนัตตาทั้ง ๕ วางหมดแล้ว อัตตาตั้งอยู่ ภายในรู้แจ้งอยู่ เราอาศัยอนัตตาอยู่ตลอดไป พิจารณาตจปัญจกรรมฐาน ๕ กายคตากรรมฐาน มีเวลาโอกาสนั่งทำความสงบ กำหนดทุกข์เอาจนรู้ รู้เหตุรู้ผล รู้เหตุว่านี้นำทุกข์มาให้เสมอ พิจารณาใจให้รู้แจ้งเป็นจุด แล้วค่อยขยายออกไป กำหนดทุกข์ เอาจนรู้ รู้เหตุ รู้ผล รู้เท่าเหตุ เหตุดับ ปัจจัยทั้งหลายก็ดับ อวิชชาความมืดก็ดับ

...........ต้องหมั่นรักษาใจนี่แหละ ศีลก็บัญญัติลงที่ใจนี่แหละ สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี บัญญัติลงในใจในกายนี้แหละ สองอย่างเท่านี้ รู้ทางกายก็วางได้หมด รู้ทางกายมันก็รวมเข้ามา มาในใจนี่ คิดดี คิดชั่ว ก็ใจนี่แหละ ปฏิบัติ กาย วาจา ใจ ให้รู้แจ้งเห็นจริง เกิดขึ้นในดวงจิต เจตนาเป็นตัวกรรมบุญ เจตนาเป็นตัวกรรมบาป น้อมเข้ามาหาที่ฐานมัน...ตั้งอยู่ที่ฐาน...อาศัยความเพียร ทำให้มาก ทำใจให้บริสุทธิ์ อันใดมันขัดข้องในใจนี้ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค สละคืนเสีย

...........การบำเพ็ญต้องปฏิบัติเรื่อย เวลามีโอกาสก็ต้องทำ ตั้งสัจจะจริงกาย จริงวาจา จริงใจ ขันติบารมี อดทั้งกาย อดทั้งวาจา อดทั้งใจ ตีติกขะ อดกลั้นทนทานเป็นบารมีอย่างเอก ส่วนบารมีก่อสร้างนั่นมาแต่อดีตชาตินับอเนกอนันต์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมบูรณ์ บริบูรณ์ เป็นบุรุษสตรีสมบูรณ์แล้ว อันใดก็บารมีมาส่งให้ทุกสิ่งทุกอย่างตามนั้น

...........อตีตาธรรมเมา อนาคตาธรรมเมา อดีตก็เป็นธรรมเมา อนาคตก็เป็นธรรมเมา จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้อยู่ในปัจจุบัน ละอยู่ในปัจจุบัน นี้จึงเป็นพุทโธ จึงเป็นธัมโม ปัจจุบันก็พอแล้ว อดีตไม่ต้องคำนึงถึง ความเกิดแก่เจ็บตาย วันคืนเดือนปีสิ้นไปหมดไป อายุของเราก็สิ้นไปหมดไป หมั่นบำเพ็ญจิต บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ใช้ นะ กับ โม ของเราเรื่อยๆ ไป

...........มองดูท้องฟ้า เห็นดวงดาวเต็มไปหมด การเกิด การตาย ไม่รู้ว่าอีกเท่าไร เกิดแล้วตาย...เกิดแล้วตาย

กายเป็นที่เกิดของธรรม

...........อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์คือความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ ตัณหามักจะเกิดในปัจจุบัน เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ สังขารกับสมุทัยนี้เป็นอันเดียวกัน เวลากำหนดจิตเข้าไปจึงเห็นนึกถึงภาพคนนั้นคนนี้จนนอนไม่หลับ ทุกข์ก็เกิดขึ้นตรงนี้ สมุทัยก็เกิดขึ้นตรงนี้ นิโรธความดับทุกข์ก็เกิดอยู่ที่นี่เหมือนกัน เกิดอยู่ที่นี่ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากที่อื่น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วพิจารณาให้รู้แจ้ง ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในธรรม ศีลคือการนำความชั่วออกจากกายจากใจของตน นำความผิดออกจากกายจากใจของตน เป็นที่ตั้งของมรรค เป็นหนทางที่จะทำให้ความทุกข์ทั้งหลายสิ้นสุดไป ให้รู้เหตุของความทุกข์ ทางดับทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

สติ

...........สติที่รู้เท่าทัน คิดขึ้นเรื่องใดก็ดับ คิดท่าใดก็ดับ ถ้ามีสติ พร้อมกับปรุงขึ้นดับ ปรุงขึ้นดับ เรียกว่าสติพร้อมกัน คิดไปก็หลงไปลืมไป แปลว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้วคิดขึ้นร้ายก็ดี คิดดีก็ดี รู้พร้อมกันนั่นแหละ สติรู้พร้อมกัน ดับลงทันทีนั่นแหละ ตัวสตินี่สำคัญ ถ้ามีสติก็มีปัญญาพร้อมกัน คิดขึ้นรู้พร้อม คิดดีก็ตาม คิดชั่วก็ตาม หลงก็ตาม โกรธก็ตาม คิดขึ้นแล้วมีสติมันก็ดับไปทันที ไม่ต้องไปคุมมัน มีสติแล้วจะมีปัญญา เมื่อไม่มีสติก็จะเผลอ เผลอแล้วก็จะหลงไป...ตัวสติครั้นเกิดขึ้นพร้อมกันทุกๆ เมื่อแล้ว เมื่อเวลามันเกิดขึ้นพร้อมกันคราวใดจะดับพร้อมๆ กัน ถ้าไม่มีสติก็จะไม่ดับ

...........ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพียร จะเอาแต่ความสำเร็จให้ได้ เหลวไหลไปเสีย เมื่อมีสติก็ต้องมีความเพียร ความเพียรนั้นต้องรู้จักปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักปฏิบัติก็เพียรผิดไป ความเพียรกับความมีสติคืออันเดียวกัน มีสติแล้วใจก็ผ่องใสเบิกบาน ไม่หลงไม่ลืม คิดอย่างไรขึ้นมันก็จะดับลงไปพร้อมกับความคิดขึ้นนึกขึ้น ตัวสติจึงสำคัญยิ่งนัก

:b47: :b50: :b47:

หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รวมคำสอน “หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42686


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 21:15 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร