วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 12:19 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 12:30 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระธรรมเทศนา
ของ
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม
แสดง ณ พระอุโบสถ วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี


:b44: :b45: :b44:

...........วันนี้ได้มีโอกาส ได้มาแนะนำอบรมสั่งสอน สาธุชนพุทธบริษัทญาติโยมที่มีกุศลจิต ศรัทธาปสาทะในพระพุทธศานาจึงได้พากันมาเข้าวัดฟังธรรม จำศีล และการให้ทานภาวนาตามสมควรแก่ภาวะ การประพฤติปฏิบัติธรรมทางพระศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงประทานโอวาทานุศาสนีแก่เวไนยสัตว์ให้ปฏิบัติธรรมและวินัย ธรรมะเป็นสภาพที่ทรงบุคคลมิให้ตกไปในทางที่ชั่ว ทรงบุคคลให้เป็นคนดี ให้มีจริตนิสัยละเอียดประณีตขึ้นไปโดยลำดับ จนถึง ศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุฌานสมาบัติ มรรค ผล นิพพานเป็นที่สิ้นสุด ส่วนพระวินัยเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ทางกาย วาจาให้เรียบร้อยดีงามเป็นรากแก้วของพระศาสนา เราปฏิบัติศีล ก็คือการสำรวม ระวังกายวาจาของเรา เมื่อกาย วาจาสงบเรียบร้อยเป็นปกติกาย เป็นปกติวาจาก็ชื่อว่าเรามีศีลจารวัตร เป็นข้อปฏิบัติ มีวิรัติ งดเว้นเป็นตัวศีล ผู้มีคุณธรรมตั้งอยู่ในศีล ย่อมมีความสงบระงับดับความกระวนกระวาย จิตใจเยือกเย็น เป็นสุขกายสบายจิต เพราะไม่มีความกระวนกระวาย

...........อะไรเป็นความกระวนกระวาย ความอยากไม่เพียงพอของคนเรานั้นของคนเรานั้นเองเป็นเหตุ คือตัวกิเลสตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา มานะ ทิฏฐิ โลภ โกรธ หลง มันเป็นเครื่องดองในขันธสันดานของคนเรา นอกจากนี้ ก็มีเงินทองวัตถุสิ่งของอย่างอื่น เป็นให้วุ่นวายเดือดร้อน เราก็ระงับไม่ได้ การที่เราระงับดับความกระวนกระวายไม่ได้ก็เพราะความอยากมักมากของเรา อย่างเรานั่งอยู่ที่นี้ก็อาจจะมีความรู้สึกว่าสบายแล้ว ความคิดมันก็เกิดขึ้นว่า ควรเอาบัญชีมาคิดดู ผู้ที่คิดติดอยู่กับบัญชีก็คิดจะเอาลูกคิดมาตีตรวจดูว่ามันขาดตกบกพร่องที่ใด ผู้ที่ขายก็มาตรวจมาคำนึงถึงรายรับรายจ่าย อย่างนี้แหละ มันก็เป็นสิ่งที่ก่อความกระวนกระวายได้ประการหนึ่ง

...........การที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้นั้น จะต้องสำรวมระวังรักษากาย วาจา ใจของเรานี้เองให้มีเจตนาวิรัติ งดเว้นข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต ปฏิบัติในศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ สำรวจตรวจสอบตัวของเราอยู่เสมอ อย่าเลินเล่อเผลอสติสัมปชัญญะ มักจะทำให้ศีลวิบัติ ด่างพร้อย เศร้าหมอง ไม่ใช่ว่าไปรักษาศีลเพียงเอาบุญ ได้คุณเป็นมนุษย์ ได้สวรรค์ ได้ไปเกิดในพรหมโลก รักษาศีลหวังร่ำหวังรวย ถูกหวยรวยเงินทองวัตถุสิ่งของ ถ้ารักษาศีลมุ่งผลอย่างนี้มันก็เปล่าประโยชน์ เรารักษาศีลก็เพื่อหาความสงบปกติ กาย วาจา เพื่อบำรุงจิตใจของเราให้สะอาดผ่องใส กายมองเห็นได้ง่ายเพราะการกระทำทางกายก็ต้องอาศัยกายเป็นเครื่องรับสัมผัสทางกาย มีการยืน เดิน นั่ง นอนเหล่านี้ วาจาก็แสดงออกในทางคำพูดทั้ง ๒ อย่างเป็นภายนอก ส่วนใจเป็นภายในและสำคัญใจเป็นใหญ่เป็นประธานในการทำ ในการพูด จะทำสิ่งใดก็สำเร็จได้ด้วยใจ ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว การงานทุกอย่างมันสำเร็จออกมาจากจิตใจ ถ้าจิตใจไม่มีคำสั่งแล้วก็ออกมาทางกาย วาจาไม่ได้ ถ้าจิตใจมันสั่งอย่างใดก็ต้องทำไปอย่างนั้น ถ้าจิตสั่งให้ไปลักขโมยให้เป็นโจร มันก็ต้องไป จิตสั่งให้กายไปฆ่าฟันรันแทงชกต่อยตีเขา กายก็ต้องไปปฏิบัติตามทันที เพราะจิตเป็นผู้สั่งกายเป็นผู้ทำกิจการงานทุกอย่าง ไม่ใช่กายเขาทำเอง จิตสั่งให้วาจาพูดออกมาเป็นวาจาสุภาพเรียบร้อยไพเราะอ่อนหวาน หรือจิตสั่งบงการให้พูดชั่วหยาบคายไม่ไพเราะหูของผู้ฟัง ก็ล้วนเป็นคำสั่งของจิตทั้งนั้น ไม่ใช่ตา หู จมูก เขาดูฟัง และสูดกลิ่นเองก็หาไม่ เพราะจิตนี้เองเป็นผู้สั่งการ

...........พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าให้เรานึกถึงพุทโธ ให้รู้เท่าเอาทันศีลของเรา จิตใจของเราสะอาดเมื่อไร หากจิตใจของเราสะอาดผ่องใสแล้ว เราจะไปบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน จะนั่งอยู่ครู่หนึ่งขณะเดียวก็ได้ชื่อว่าผู้นั้นได้บำเพ็ญเพียรทางจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ไปได้ตลอดชีวิต ทำไมเล่า เพราะจิตใจของผู้นั้นสงบ ตาก็สงบ หูก็สงบ จมูกก็สงบ กายก็สงบ ใจก็สงบ พร้อมกันทั้ง ๖ เหตุที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจสงบ ก็ต้องมีความสำรวมระวังไม่ให้ยินดียินร้ายเพราะตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสเป็นต้น ยืน เดิน นั่ง นอน ก็พร้อมกันสงบ เมื่อสงบระงับลงไปเช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าสมบูรณ์ เพราะมีจิตตั้งมั่นอยู่แล้ว ได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ให้แน่วแน่ไม่วอกแวกหวั่นไหว ตั้งใจอยู่อย่างนั้น ดูที่กายไม่ได้ดูที่อื่น ให้ดูที่กายของเราทุกลมหายใจเข้าออก ให้เห็นว่ากายนี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เรามาพิจารณาทบทวนคืนหลังก็จะเห็นว่า เกิดมาจากชาติ ชาติอะไรเกิดมา ชาติมนุษย์เป็นมนุษย์ หรือเราจะทำอย่างไร เราจะมานอนสบายสบายหาความสุขคนเดียวอย่างนี้หรือ แม้แต่พระพุทธองค์ก็ได้ทรงอุตสาหะพยายามเดินจงกรมภาวนา นั่งภาวนา ยืนภาวนา แม้เป็นสัตว์ดิรัจฉานพระองค์ก็ทรงทำ เป็นมนุษย์พระองค์ก็ทรงทำ พระองค์ไม่ได้ท้อถอยย่อหย่อนในการทำความเพียรอย่างนั้นอย่างนี้ไม่หยุดหย่อนเลยทีเดียว เห็นว่าเราเป็นคนจน จนอะไร จนคุณสมบัติ คือศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ คุณสมบัติทั้ง ๓ นี้ เรายังไม่สมบูรณ์ เพราะเกิดมาในชาติใด ภพใดไม่มีอะไรมาฝากพ่อฝากแม่ ก็มีแต่เสียงร้องไห้ออกมาเท่านั้น ผู้ได้ยินเสียงเช่นนั้นก็ถามว่า เป็นลูกหญิงหรือลูกชาย มีอวัยวะสมบูรณ์อยู่ดอกหรือ แล้วก็ดีอกดีใจเพราะได้ลูกได้หลานเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเขาเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีผ้านุ่งผ้าห่มไม่มีสมบัติอะไรติดตัวมาแม้แต่น้อย นี้แหละเราเป็นคนจนเมื่อเห็นตัวเราจนก็ให้ตั้งอกตั้งใจ จะว่าเรามีบ้านมีเรือนมีครอบครัวมีลูกมีหลานอย่างไร ขโมยเขามาเกิดทั้งนั้น เมื่อตายก็ขโมยเขาไปตาย ขโมยเขาไปตายไปเกิด เมื่อจะตายก็ไม่มีใครมีรายงานให้รู้ล่วงหน้า มีแต่ร้องโอย โอย อยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อหมดลมหายใจก็เงียบไปเลย ไม่เคยมีใครมารายงานว่าจะตายในวันนั้นวันนี้ ญาติโยมเคยเห็นผู้มารายงานบ้างไหมก็มีแต่ลักขโมยเขามาเกิดไปตายเท่านั้นแหละ

...........เมื่อตกมาถึงสมัยกึ่งพุทธกาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบันนี้ ก็ตกอยู่ในมรสุมของขันธมาร กิเลสมาร มัจจุมาร เทวปุตมาร อภิสังขารมาร เข้ามารัดรุมคุมตัวของพวกเรา ขันธมารอยู่ที่ใดก็อยู่ที่กายอยู่ที่ใจ ขันธมารนั้นก็คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เองมันรัดรึงตรึงตัวของเรา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วสมัยนี้พ่อแม่ก็อยากสวย อยากงาม ใครก็อยากสวยอยากงามกันทั้งหมด คนที่ไม่อยากสวยอยากงามนั้นไม่มี ข้อสำคัญกรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งสังขาร ทำไมคนเกิดมาแล้วจึงอยากสวยอยากงาม บางคนก็ต้องหานมโคนมสัตว์มาเลี้ยงลูก คนโบราณพ่อแม่ของเราถ้าเป็นเลือดก็เป็นเลือดจริงๆ ถ้าเป็นน้ำนมก็เป็นน้ำนมจริงๆ ไม่ได้เอาของอย่างอื่นมาเจือปนแทรกแซง เพราะฉะนั้น คนที่เกิดมาถ้าดื้อก็ดื้อจริงๆ ถ้าดีก็ดีจริงๆ ไม่ดีแบบหลอกหลอน ไม่ดีแบบโกหก ไม่ดีแบบเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ดีมีเหตุมีผล ถ้าชั่วก็ชั่วมีเหตุมีผล เพราะว่าเป็นธรรมชาติของจริงก็เป็นของจริงแท้ แต่สมัยทุกวันนี้มันเป็นของปลอมไปหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสอนเวไนยสัตว์ เมื่อถึงกึ่งห้าพันพวัสสาของเราตถาคต ในพุทธบริษัทภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาสนใจเคารพพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็รวมลงใน ศีล สมาธิ ปัญญา ให้พวกเราภาวนาถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ

...........เราเกิดมา เราเอาอะไรติดตัวมา เรามีเครื่องหมายมาแจ้งรายงานให้มารดาบิดาปู่ย่าตาทวดและเครือญาติของเรา หรือไปถวายรายงานท่านผู้มีพระคุณอันสูงส่ง เช่น ในหลวง หรือผู้ปกครองประเทศชาติมีไหม ไม่มีรายงานบอกให้เขาทราบว่าเราเอาอะไรมา ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ทรัพย์สินเงินทองวัตถุสมบัติต่าง ๆ เราได้มาก่อนหรือ เราจึงไปเสียดายหวงแหนร่างกายสังขารของเรานี้ เมื่อตรวจสำรวจคืนหลังว่า เรานี้เป็นคนยากจน เกิดมาไม่มีอะไร เป็นคนทุกข์ ทุกข์แต่อยู่ในครรภ์ของมารดา เบื้องต่ำก็นั่งกระเพาะอาหารเก่าเป็นแท่นบัลลังก์ เบื้องบนก็ทูลอยู่ด้วยกระเพาะอาหารใหม่ เมื่อมารดารับประทานอาหารลงไปมากๆ หนักลงไปจนหลังเกาะหลังก่อม นี้แหละมันเป็นทุกข์มาอย่างนี้ เมื่อเห็นทุกข์แล้ว ทำไมเล่า เราจะอวดว่าเราเป็นคนมั่งมีได้อย่างไร เมื่อเห็นว่าเราเป็นคนจนก็ต้องรีบเร่งขวนขวาย ทำความเพียรเดินจงกรมภาวนา นั่งภาวนา ยืนภาวนา เพื่อให้กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ให้เกิดขึ้นในตัวของเรา เพราะบรรดาคันถธุระและวิปัสสนาธุระก็มีทั้งสอง ธุระทั้งสองอย่างนี้ต้องปฏิบัติเป็นคู่กันไป เมื่อการศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมเป็นคันถธุระ จะต้องมีวิปัสสนาธุระตามกันไปอีก

...........ส่วนปริยัติธรรม ศึกษาอะไร ศึกษาอยู่ในสกลกายของเราคือ ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณะธรรม ชาติธรรม เราเกิดขึ้นมาจากบิดามารดาเป็นผู้ก่อกำเนิดเกิดเกล้าของเรา เราจะเป็นคนเร่ร่อนอยู่อย่างนี้ทำไม เมื่อเราเข้าไปบวชเรียนในพระพุทธศาสนาเป็นพระภิกษุเป็นผู้เห็นภัยนำออกจากวัฏฏสงสาร เมื่อเห็นแล้วเราจะทำอย่างไร เราจะนอนหายใจเล่นอยู่อย่างนี้หรือ การศึกษาเล่าเรียนเราจะทำอย่างไร เราเรียนได้แล้วเขาก็ให้คือให้ยศถาบรรดาศักดิ์ เราจะหลงไหมนะ นี้หรือเป็นยศเป็นเกียรติของเรา เราจะได้อะไร เราจะมาหวงแหนอะไร พระพุทธองค์ท่านสอนอย่างนี้ เมื่อเห็นแล้วอย่างนี้รู้ว่าเราเป็นคนทุกคนจน จงตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีธรรมของตนเองด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้แก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ โดยยึดถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพนับถือของตน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ยังทรงท่องเที่ยวอยู่ห้าร้อยชาติ ทรงบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระองค์เกิดขึ้นมาในชาติใดก็มานึกถึงพ่อถึงแม่ว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ท่านก็เป็นทุกข์หนอ เราก็เป็นทุกข์ในท้องของท่าน ท่านก็อุ้มท้องอุ้มไส้ล้มลุกคลุกคลานเกิดขึ้นมาแล้ว เราทำมาหากินได้แล้ว ทำไมไม่หันหน้าเข้ามาหาพ่อแม่ของเราบ้างหรือ ไม่หันหน้าเข้ามาหาพี่เลี้ยงนางนมของเราบ้างหรือ

...........พุทโธ ธัมโม สังโฆ ทำไมเราจึงเอาใจไว้กับพระรัตนตรัย ก็เพราะตกมาสมัยกึ่งพุทธกาลก็มีแต่มรสุมอันสำคัญทีเดียวเข้ามายั่วยวนกวนใจของพุทธบริษัท แม้ใจของเราเองก็รบกวนตัวเราเอง ตาของเราก็รบกวนตาเราเอง หูของเราก็รบกวนเราเอง ไม่ใช่คนอื่นมารบกวน เมื่อเราเห็นเป็นเช่นนี้แล้วจึงให้พิจารณาดูว่า รูปกายนี้เราดูตั้งแต่เกศาลงมาเบื้องต่ำ ตั้งแต่ตีนผมลงไป เบื้องสูงตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา เราพิจารณาดูทวนกระแสกลับไปกลับมาในส่วนรูปกายทั้งหมด รูปกายของเราก็ถูกปรุงแต่งขึ้นเป็นรูป รูปแบ่งเป็นกายกับใจ ให้ดูที่รูปของเรานี้พิจารณาร่างกายสังขารให้เห็นเด่นชัดว่า มันไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นแต่สภาวธรรมเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเท่านั้น จะว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนังในร่างกายหรือเป็นตัวตน เปล่ามันไม่ใช่เป็นตัวตน ส่วนร่างกายจะดำจะขาว ผมจะหงอกจะขาว ร่วงหล่นคร่ำคร่า หน้าตาเหี่ยวย่น ตนตัวตกกระสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เราก็เห็นอยู่ประจักษ์ตาทั้งกลางวันกลางคืน เห็นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเป็นแต่ธาตุอันหนึ่งๆ มาประชุมพร้อมกันเท่านั้น ตกเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เราเห็นเป็นตัวตนนั้นเป็นแต่ของสมมติกันขึ้นเท่านั้น ร่างกายของเรานอกจากจะเป็นอนิจจังทุกขังแล้ว จะต้องเป็นอนัตตาตามสภาวธรรมอย่างแน่นอน

...........การที่ว่าเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนนั้น ก็เพราะมันไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด เป็นของบอกไม่อย่าว่าไม่ฟัง บอกไม่ให้มันแก่ เจ็บตาย บอกว่าสังขารร่างกายเอ๋ย มึงอย่าเป็นอย่างนั้น มึงอย่าเป็นอย่างนี้ มึงจะต้องเป็นไปตามปรารถนาที่ต้องการ มันก็ไม่ยอมฟังตาม มันปรุงแต่งขึ้นมาให้มีรูปร่างหน้าตา สูง ต่ำ ดำ ขาว สวยงาม น่ารักใคร่พอใจ รูปร่างไม่สวย ขี้เหร่ น่าเกลียด น่าชัง น่ากลัว รูปร่างวิกลวิการอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น จะไปบอกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้มันก็หาได้ฟังตามเราไม่ ทั้งมันเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มันไม่เป็นของๆ ใครทั้งหมด จะว่าตัวกู หู ตา จมูกของกูหรือ มันก็ไม่ใช่ เพราะมันบอกไม่ได้ และมันเป็นสภาพฝืนอำนาจ คือว่า มันไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชามันก็ไม่ได้ แล้วแต่มันจะเป็นจะไป จะเกิดจะแก่จะเจ็บจะตายมันก็ไปตามทางของมันเอง เมื่อมันเป็นอย่างนี้แหละจึงเรียกว่าเป็น อนัตตา เมื่อเรารู้เห็นเป็นจริงอย่างนี้แล้วควรหรือที่เราจะพากันมัวเมาหวงแหนร่างกายของเรา เป็นห่วงหวงแหนยศถาบรรดาศักดิ์ ลาภ ยศ สรรเสริญ ว่าเป็นของเรา มันเป็นแต่เพียงของยืมมาใช้ชั่วครู่ชั่วยามชั่วชีวิตหนึ่งๆ ของเราเท่านั้น เดี๋ยวมันก็แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป กลายเป็นของคนอื่นหรือเป็นอย่างอื่นๆ ไป เมื่อเราจะตายจะเอาเงินแสนเงินล้านไปซื้อไปไถ่ถอนกลับคืนมาอีกก็ไม่ได้

...........ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงสอนให้รู้เท่าเอาทันด้วยเหตุด้วยผล มิฉะนั้นแล้วจะพลาดท่าเสียที พระองค์จึงทรงวางร่างกายสังขารไว้ในกัมมัฏฐานเพื่อเป็นเครื่องเล่นเครื่องอยู่ของบุคคลทั่วไป จะได้รู้เท่าเอาทัน แม้แต่พระอริยเจ้าทั้งหลายก็เล่นอยู่ใน กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ พุทธานุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะภายในภายนอกเหล่านี้ เป็นเครื่องเล่นเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อท่านเล่นไปถือไป จะไปนั่งในชุมนุมพุ่มไม้ โคนไม้ ถ้ำเหว ภูเขาลำเนาป่า ก็นั่งภาวนาดูรูปกายให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งามกฏิกูลน่าเกลียด แม้ว่ามันจะเจ็บปวดหลังเอวแข้งขา ก็ให้มันเจ็บปวดไป ไม่มีคนเกิดไม่มีคนตาย ไม่มีคนแก่ไม่มีคนเจ็บ ธาตุแตกนามดับต่างหากเพราะชื่อเสียงนั้น บิดามารดาก็ยังอยู่ พระพุทธเจ้าก็ยังอยู่ พระอริยสาวกของท่านก็ยังอยู่ ไม่ได้สูญเสีย มรรคผลธรรมะวิเศษก็ยังอยู่ไม่สูญเสีย สูญเสียแต่จิตของคนไม่สะอาดเท่านั้น

...........ถ้าเราค้นหาธรรมะวิเศษ ก็มีอยู่ในใจของเราทุกคนเหมือนกัน ดอกบัวที่เกิดอยู่ในน้ำในโคลนตม เมื่อดอกเกิดขึ้นมานั้นเขาก็ต้องการที่ดอกโคลนตมกับน้ำมันก็อยู่ด้วยกัน พระพุทธองค์ให้เห็นอย่างนี้ คือให้เห็นรูปกายของตนเองมันเกิดมันดับ เช่น หนังเก่าหลุดไปหนังใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ ขนใหม่เกิดขึ้นขนเก่าร่วงไปเป็นสันตติสืบต่อกันเสมอ หายใจเข้าหายใจออก เกิดดับอยู่อย่างนี้ ถ้าหายใจเข้าอย่างเดียวหายใจออกอย่างเดียว มันก็ดับอย่างเดียว ให้พิจารณาเห็นเป็น อนิจจลักษณะ ลักษณะที่ร่างกายสังขารไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มั่นคงถาวร มีเกิดขึ้นในเบื้องต้นก็แปรไปเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาว สาว เฒ่าแก่ ชราภาพ จนถึงตายในที่สุด พิจารณาให้เห็นเป็น ทุกขลักษณะ คือลักษณะเป็นทุกข์ลำบากทนได้ยาก ทุกข์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ คลอดออกมาแล้วก็เริ่มทุกข์มาโดยลำดับ ทุกข์เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ประจำตัวของเรา นอกจากนี้ ก็ทุกข์เพราะลูกตายเสีย เมียตายจาก พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ ทุกข์เพราะไม่สมหวังสิ่งที่ต้องการ รวมแล้วทุกข์เพราะตกเป็นทาสของตัณหาพาให้อยาก ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเบื่อไม่รู้จักพอ ตัณหามันพาให้เป็นทุกข์ ทุกข์จะเกิดก็เพราะตัณหา ความอยาก ทุกข์จะดับก็เพราะตัณหามันดับ พิจารณาอย่างนี้จึงจะเห็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์แล้วความสุขมันก็เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

...........พิจารณาให้เห็นเป็น อนัตตลักษณะ คือให้เห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นแต่สภาวธรรมปรุงแต่งขึ้นเท่านั้น เมื่อแยกธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แยกขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณออกไป แยกอายตนะภายในมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ออก จะเห็นตัวเห็นตนของมัน ที่ไหนอาศัยปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมันจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด มันมีอำนาจสูงเหนือคน คนตกอยู่ใต้อำนาจของมัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวิสัยของอนัตตาบอกไม่ได้ อย่าแก่ เจ็บ ตาย อย่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันก็ไม่ฟังตาม ที่เรามองเห็นเป็นตัวตนก็เพราะไปติดในสัญญา หมายรู้ว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นเขาเป็นเราต่างหาก เมื่อเราพิจารณาเห็นลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาา ภาวนาเห็นสังขารธรรมในส่วนรูปกาย ใจมันก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดีในสังขาร ไม่รักไม่ชังในความสวยงาม ไม่สวยไม่งาม ได้ชื่อว่าเห็นวัฏฏสงสารอันเป็นมหาภัย ได้ชื่อว่าได้ความร่ำรวยมหาสมบัติอริยทรัพย์ของพระอริยเจ้าอันประเสริฐเลิศกว่าความร่ำรวยสมบัติภายนอกอย่างอื่น เมื่อเรารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง อย่างต่ำก็ได้โลกิยทรัพย์ อย่างสูงก็จะได้โลกุตตรทรัพย์ ได้ชื่อว่าเห็นในวิปัสสนาภาวนากัมมัฏฐาน ก็จะบันดาลให้มีความสุขทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพภายภาคหน้า ดังได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา

...........เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ
:b47: :b50: :b47:

หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รวมคำสอน “หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=58345


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.พ. 2021, 21:18 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร