ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

พระธรรมเทศนา (พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54242
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Nuchys [ 25 ก.ค. 2017, 11:55 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเทศนา (พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ)

อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


:b44: :b47: :b44:

อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239

เจ้าของ:  Nuchys [ 01 เม.ย. 2018, 15:17 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระธรรมเทศนา (พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ)

รูปภาพ

พระธรรมเทศนา
ของ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

ณ วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน

:b39:

...........วันนี้ครบวันประชุมที่เคยประชุมอบรมกัน หมู่คณะผู้หวังทางพ้นทุกข์ เราต้องตั้งใจฟังเพื่อให้เกิดประโยชน์ เบื้องต้นเราไม่เข้าใจก็ต้องฟัง เข้าใจแล้วก็ต้องฟัง เพื่อจะได้เข้าใจชัดแจ้งยิ่งขึ้น ถ้าอธิบายให้ฟังแล้วไม่เข้าใจชัดก็ให้มาถามตัวผมได้ หรือจะไปถามท่านผู้รู้ทั้งหลายให้อธิบายให้ฟังก็ได้ คือ คนเรานั้น เบื้องแรกเกิดมาแล้ว จะได้รู้ จะได้เข้าใจอย่างเดียวกันหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้ จะต้องมีคนนั้นรู้น้อยบ้าง มากบ้าง ตามสมควรแก่อุปนิสัยที่ได้เคยสั่งสอนอบรมมาอย่างผมเอง ถ้ายังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ถ้ายังไม่มีเวลาไต่ถามท่านผู้รู้ ผมก็เก็บมันไว้ก่อน แต่ส่วนมากแล้วผมจะจำหัวข้อธรรมไว้เป็นข้อๆ ก่อน และนำธรรมะเหล่านั้นมาตีความหมายอธิบายด้วยตัวเองจนหายสงสัย แต่ถึงกระนั้นก็ยังสงสัยอีก คนเราถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ตราบใด ก็ยังจะมีความสงสัยอยู่แบบนี้ร่ำไป หาที่สุดแห่งความสงสัยไม่พบ อย่างครูบาอาจารย์ใหญ่มั่นของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าผมสงสัยเกี่ยวกับเรื่องภาวนา ผมก็เดินทางไปถามท่าน ๆ ก็ได้ให้ความกระจ่างแจ้งแก่เราจนหายสงสัย ถ้าสงสัยอีกก็ไปกราบเรียนท่านให้ท่านบอกอีก ทำอยู่อย่างนี้จนท่านจากพวกเราไป ความสงสัยของเราก็ยังมีอยู่อีก

...........อย่างท่านพูดเป็นปัญหาว่า “กล้วย ๔ หวี สำรับอาหาร ๔ สำรับสามเณรนั่งเฝ้า พระเจ้านั่งฉัน” ท่านว่าอย่างนี้ เราในฐานะผู้ฟังจากท่านมา เบื้องต้นก็จำได้แค่นี้ก็เก็บไว้อย่างนี้แหละ แต่ไม่มีการตีความหมายให้แจ่มแจ้ง ในหัวข้อที่ท่านพูดนั้น ถึงตีความได้ก็ไม่แจ่มแจ้งถูกต้องเท่าที่ควร ถ้าจะพูดแล้ว ปัญหาที่ว่านี้ เป็นปัญหาธรรมะเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของบุคคล ส่วนมากคนจะไม่นำไปคิดกันหรอก เพราะถือว่าเป็นปัญหาไม่มีที่คิดหรือแจ่มแจ้งอยู่ในตัวของมันแล้ว นี้แหละเป็นปัญหาที่ครูบาอาจารย์มอบให้เรานำไปคิดพินิจพิจารณาหาเหตุผล คนเราลำพังแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ตัวเองก็มากมายหลายข้ออยู่แล้ว ถ้าเอาของคนอื่นมาแทรกแซงเข้าอีกยิ่งไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นคนเราจึงเต็มไปด้วยปัญหาร้อยแปดพันประการจนเหลือที่จะทำให้หมดสิ้นลงไปได้ แต่คนส่วนมาก เขาถือว่าเป็นของง่าย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ก็ว่ามันถูกของตัวเองหมด คนอื่นใช้การไม่ได้ อย่างพระผู้ที่ท่านผ่านการอบรมธรรมปฏิบัติมาแล้ว คำพูดของท่านแต่ละคำพูดไม่มากมาย แต่ถ้าเรานำมาตีความหมายแล้วจะมากไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งและน่าฟังมาก เราอย่าประมาทในคำพูดแต่ละคำพูดของครูบาอาจารย์ จะทำให้พลาดจากของดีที่ท่านให้ไว้และเป็นสำนวนโวหารที่เราจะไม่ค่อยได้ฟังพร่ำเพรื่อจนเกินไป แต่ถ้าเราได้ฟังแล้ว ขอให้จดจำในข้ออรรถ ข้อธรรมะที่ท่านให้ไว้แล้วนำไปตีความหมายให้ละเอียดลงไปว่า

...........กล้วย ๔ หวี ได้แก่ ธาตุ ๔ เณรน้อยเฝ้า ได้แก่คนที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทัน ตามหลักของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ว่าในตัวตนของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอน เลี้ยงร่างกายให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่ได้ทำอะไรที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองเลย อันนี้แหละชื่อว่าโง่เขลาเบาปัญญา ได้แต่นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ สามเณรนั่งเฝ้าสำรับที่มีอยู่แล้วโดยไม่ฉัน ก็หมายถึงบุคคลที่ไม่รู้ธาตุ ๔ ตามความเป็นจริงว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอย่างไร ไม่ยอมกำหนดรู้แบบชนิดที่ให้เกิดปัญญา “พระเจ้านั่งฉัน” หมายความว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสิรฐ เมื่อภาวนาได้ที่แล้ว ก็ยกธาตุ ๔ (เปรียบด้วยกล้วย ๔ หวี) มาพิจารณาตามหลักแห่งความเป็นจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จคุณเบื้องสูงคือ พระอรหันต์ ก็เพราะพระอริยเจ้าท่านเป็นผู้ฉลาดในอรรถและพยัญชนะจึงไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ ธาตุ ๔ ก็อยู่ที่ตัวของเรา ขันธ์ ๕ ก็อยู่ที่ตัวของเรา มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แต่คนที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เลยต้องนั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ เหมือนลิงนั่งเฝ้าเม็ดทองคำที่ไม่รู้ค่าของทองคำว่าเป็นของดี คนที่โง่เขลาเบาปัญญาก็ได้แต่นั่งเฝ้ารูปธรรม นามธรรม ที่มันอยู่ในตัวของเรานี่แหละ แต่พระอริยเจ้าหมายถึงผู้ฉลาด มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านฉลาด ท่านไม่ได้นั่งเฝ้าอยู่อย่างธรรมดา ท่านหยิบยกเอาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาสับมาโขกให้ละเอียดจนท่านรู้แจ้งเห็นจริงในอัตภาพร่างกายของบุคคลอื่น คือมีอยู่ในตัวของท่านแล้ว ท่านไม่ได้นั่งหลับหูหลับตาอยู่เฉยๆ นั่งฉันเลยทีเดียว นั่งฉันคือ นั่งพิจารณาอัตภาพร่างกายให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อัตภาพคือ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เกิดมาแล้วมันเป็นอย่างไร ชาติปิ ทุกขา กายของเราเกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์ ที่เห็นได้ชัดแจ้งก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เบื้องต้นเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเด็กทารก แทนที่จะคงอยู่เป็นเด็กอย่างนั้นร่ำไปก็หาไม่ จำต้องเปลี่ยนจากเด็กอ่อนขึ้นมาเป็นเด็กหนุ่ม เด็กสาว ในขณะที่เจริญวัยขึ้นตามลำดับนั้น ความคิดมันสมองก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัยของตน เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนถึงแก่เฒ่า ชรากาลนานๆ เข้า ทนอยู่ไม่ได้ก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้ทุกรูปทุกนาม ไม่มีข้อยกเว้น

...........พวกท่านทั้งหลายอย่าได้นั่งเฝ้าร่างกายอยู่เฉยๆ มันไม่เกิดปัญญา ปัญญามันเกิดจากการภาวนา คือการอบรมจิต เพื่อจะทำลายกิเลสให้หลุดหายไปในที่สุด แต่ถ้าจะทำลายกิเลสจริงๆ จังๆ นั้นจะต้องดำเนินตามหลักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนพวกเราเอาไว้ เพื่อให้ดำเนินตาม ไม่มีหลักอันใด จะวิเศษเหมาะสมไปกว่าหลักโอวาทของพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนไว้แล้ว ไม่ว่าพระ ไม่ว่าฆราวาส ท่านสอนให้รู้บ้างแล้ว ลงมือประพฤติปฏิบัติตามทันที และอุบายวิธีที่พระองค์สอนไว้นั้นล้วนแต่เป็นอุบายวิธีเพื่อที่จะถอดถอนกิเลสให้หลุดหายไปทั้งนั้น แต่เราไม่ค่อยจะศึกษาสำเหนียกกันเท่านั้นเอง ยกอัตภาพร่างกายของเราขึ้นมาบ้างสิ อย่ากอดขี้กอดเยี่ยวเอาไว้เฉยๆ

...........การปฏิบัติธรรมอยู่ในที่สงบๆ พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญไว้หลายแห่ง เช่น ท่านตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ คือ ให้ยินดีในเสนาสนะที่สงัด ทีแรกต้องให้กายของเราสงบราบคาบจากการคลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะเสียก่อน ที่ท่านกล่าวว่า กายวิเวก คือ ความสงัดของกาย เมื่อกายมันสงบลงไปแล้ว จิตใจซึ่งเป็นนามธรรม เป็นของละเอียด มันก็จะพลอยสงบลงไปในที่สุด เมื่อจิตใจมันได้ที่หรือที่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิเมื่อไร เราจะยกจิตที่ละเอียดนี้พิจารณาข้ออรรถ ข้อธรรมได้อย่างมีความสุขที่สุดในโลก แต่ถ้าการอยู่ในสถานที่ที่สงบหรืออยู่ในป่า ถ้าจิตของเราไปคิดแต่เรื่องโลกๆ เรื่องไม่เป็นเรื่อง ซึ่งมีอยู่มากมาย มีแต่เรื่องวุ่นวายใจก็เท่ากับไม่ได้อยู่ที่อันสงัด อยู่ป่าก็เหมือนอยู่บ้าน ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย แย่กว่าคนที่เขาอยู่ในบ้านเสียอีกก็มี อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่พวกเราควรนำไปคิดไปพิจารณาให้ถ่องแท้ วันหนึ่ง คืนหนึ่ง ให้พวกเราพิจารณาจิตของตัวเอง ให้ค้นคว้าดูแต่ภายในจิตของตัวเองให้มากๆ เราจะรู้ว่าอะไรมาเกี่ยวข้องอยู่กับจิตของเราบ้าง หลักสำคัญก็คงจะมีกายนี้แหละสำคัญมาก กายก็คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามธรรมดาของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้อยู่กับตัวเรา คือ จิต ตกลงว่าขันธ์ ๕ กับจิตนี้อยู่ร่วมกัน แยกกันไม่ออก

...........แต่ถ้าคนไม่รู้ไม่เข้าใจก็แยกแยะออกเป็นส่วนว่า ส่วนไหน เป็นรูป ส่วนไหน เป็นเวทนา และส่วนไหนเป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ยุ่งเหยิงกันไปหมด นอกจากปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันกับใจ ให้มันผ่านไปตามธรรมชาติของมัน เราต้องพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ทั้ง ๕ คือ

...........รูป ได้แก่ สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ คือปรากฎว่าเป็นรูปอยู่ที่ตา ถ้าตาบอดก็ไม่เห็นรูป แต่เราจะเห็นหรือไม่เห็นรูป มันก็คงรูปอยู่อย่างนั้น เราในฐานะเป็นศิษย์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริง รูปนี่แหละ เป็นนิมิตหมายอันหนึ่งที่เราจะต้องนำมาสับมาโขกให้ละเอียดว่า มันเป็นอย่างไร ปรากฎขึ้นมาแล้ว รูปคงอยู่เป็นรูปตลอดไปไหม สิ่งที่มีวิญญาณเมื่อปรากฎขึ้นมาแล้ว เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไหม คงทนอยู่ได้ไหม ทำไมเราไปติดอยู่ในรูปที่ไม่มั่นคงอย่างนั้น เราเป็นคนโง่หรือเปล่า รูปสวย รูปขี้เหร่ อัปลักษณ์อย่างไร มันก็ไม่อยู่กับเราตลอดไป เราไปติดมันทำไม มันไม่ได้ให้อะไรเลย ถ้าติดในรูปมันก็หยิบยื่นแต่ภพแต่ชาติให้เราเท่านั้นเอง ส่วนขันธ์ข้อที่ ๒ คือ

...........เวทนา อันเวทนานี้ก็เป็นข้าศึกแก่เรา มันไม่มีอะไร ประเดี๋ยวก็ทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา ประเดี๋ยวก็สุข เรียกว่า สุขเวทนา มันเป็น มันเกิดขึ้นภายในจิต โดยลำพัง โดยร้องเรียกหามันบ้าง เราต้องพิจารณาดูเวทนา คือการเสวยอารมณ์ให้ละเอียด อารมณ์สุขก็อย่าไปดีใจตามมัน ถ้าเกิดอารมณ์ที่เป็นทุกข์ก็อย่าทุกข์ใจไปกับมัน ทำใจให้เป็นกลางๆ จนจิตของเราเป็นอุเบกขาเวทนา คือ วางเฉยในอารมณ์ที่เป็นสุขและเป็นทุกข์

...........สัญญา ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ก็สำคัญ แต่ทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่ทุกเวลา ส่วนสัญญาเป็นผู้สำคัญมาก ละเอียดมาก

...........สังขาร เป็นผู้ยื่นให้ สัญญา จนไม่มีที่สิ้นสุด และหัวข้อที่จะยุติได้ยาก

...........วิญญาณ ก็สำหรับรับทราบ สัญญา คือความจำได้หมายรู้ สัญญานี้เอง เป็นเครื่องปิดบังใจให้หลงใหลไปตามสัญญา ฉะนั้น จึงต้องบังคับจิต บังคับใจของตัวเอง

...........การที่พวกเราทั้งหลายรู้เท่าไม่ทันสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าไม่ได้กำหนดในสิ่งทั้ง ๕ นี้ จึงไม่รู้ว่า การเกิดดับของคนเรานั้นมีปราฎอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นของที่ละเอียดมาก ยากที่จะกำหนดจิตให้ดิ่งลงไปได้ การสู้รบตบมือกับกิเลสนั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดและทำได้ยาก แต่ถ้าไม่มีการต่อสู้กิเลสที่มันย่ำยีตัวเราอยู่นั้น ก็เท่ากับพวกเราไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ถึงแม้พวกเราจะบวชเข้ามาอยู่ใกล้พระพุทธองค์ ก็จะไม่มีความหมาย นักบวชที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ต่อสู้หรือปราบปรามกิเลส ถ้าเราไม่มีการต่อสู้กับมัน ปล่อยให้มันย่ำยีเราแต่ฝ่ายเดียวนั้น ตัวเราเองจะย่ำแย่ลงไปทุกที ผลสุดท้ายเราก็เป็นผู้แพ้ยอมเป็นทาสรับใช้ของกิเลส ใช้การไม่ได้

...........สำหรับการสู้รบตบตีกับกิเลส จิตใจ ของเราจะรู้สึกว่า มีความทุกข์ยากลำบาก เป็นกำลังอย่างมากทีเดียว แต่ก็ขอให้พวกเราทำต่อและยอมรับความทุกข์ยากลำบากลำบนอันนั้น ยิ้มรับกับความลำบากเพราะความเพียรพยายามของเรา เมื่อเรามีความท้อถอย พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆจาตินานาโหนฺตมฺปิ วตฺถุโต คือให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นอารมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าของพวกเรา ก่อนที่พระองค์จะทำลายรังของกิเลสลงได้อย่างราบคาบ พระองค์ก็ใช้อาวุธหลายอย่างหลายชนิดเข้าประหัตประหารจนกิเลสยอมจำนนต่อหลักฐาน ยอมให้พระองค์โขกสับได้อย่างสบาย ขันติ พระองค์ก็นำมาใช้ เช่น พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา คือ การกระทำที่บุคคลทั้งหลายในโลกทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างใหญ่หลวง จนเอาชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ พวกท่านทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ป่าแล้ว ก็ได้ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่นิยมอยู่บ้าน คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะการคลุกคลีด้วยหมู่ จิตใจของเราก็จะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย โอกาสที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งนั้นยากเหลือเกิน พระพุทธองค์ เมื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พวกท่านปัญจวัคคีย์ ๕ รูปไปเฝ้าปฏิบัติพระองค์อย่างใกล้ชิดด้วยตั้งใจว่า เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้วจักบอกแก่เราก่อน เมื่อเรามาสันนิษฐานดูแล้วจะเห็นได้ว่า การคลุกคลี หรือ การอยู่ร่วมกันหลายคนนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำสมาธิ พระองค์ก็เลยต้องทำวิธีใดวิธีหนึ่งให้พวกปัญจวัคคีย์เกิดความเบื่อหน่ายแล้วจะได้หลีกหนีไปอยู่เสียที่อื่น พระองค์ต้องกลับมาเสวยพระยาหารอีก ทำให้ท่านเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นในการกระทำความเพียร เลยต้องหลีกหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อท่านปัญจวัคคีย์หนีจากท่านไปแล้ว พระองค์ก็ได้ทำความเพียรทางใจให้อุกฤษฏ์ยิ่งขึ้น จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพทธเจ้าโดยกาลไม่นาน อันนี้จะเห็นได้ว่า พระองค์ทำเป็นตัวอย่างไว้ให้เราดูแล้ว เราผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ท่านก็ควรจะสำเหนียกและดำเนินตาม การทำความเพียรเพื่อทำลายกิเลส มันจะต้องลำบากทุกสิ่งทุกอย่าง การกินก็ลำบาก อดมื้อฉันมื้อก็ต้องยอมอด อดมันทำไม อดเพื่อปราบกิเลส กิเลสมันก่อตัวมานานแสนนาน หลายกัปหลายกัลป์มาแล้ว จนเราสาวหาตัว ต้นตอ โคตร เหง้า ของมันไม่พบ นี่แหละท่านจึงสอนให้อยู่ป่าหาที่สงัดแม้แต่ในครั้งพุทธกาล มีท่านพระเถระหลายท่านที่มุ่งหมายต่อแดนพ้นทุกข์ ได้ออกปฏิบัติตนทรมานตนอยู่ในป่าในเขา และก็ได้บรรลุมรรคเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน แต่เหตุในการบำเพ็ญของท่านเหล่านั้น ท่านทำกันจริงจัง หวังผลคือการหลุดพ้นจริงๆ ท่านสละเป็นสละตายมาแล้วทั้งนั้น ความทุกข์ยากลำบาก ทุกข์มากทุกข์น้อย ย่อมมีแก่ทุกคนในขณะปฏิบัติ

...........เราทำความเพียร ก็ไปทุกข์อยู่กับความเพียร ทำนา ทำไร่ ก็ไปทุกข์อยู่กับทำนา ทำไร่ อันนี้เป็นของธรรมดา แต่จะทุกข์มาก ทุกข์น้อยก็ขึ้นอยู่กับ การกระทำที่ฉลาด รู้วิธีการบ้างพอสมควร อย่างการทำความเพียร ต้องเป็นผู้รักษาสัจจะ คือ ให้มีสัจจธรรม ตั้งใจอย่างไรแล้ว อย่าทำลายสัจจะ สัจจะเมื่อตั้งให้ถูกต้องตามอรรถตามธรรมแล้วจะเกิดเป็นพลังของจิตอย่างดีเยี่ยม พวกเราทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาเข้ามาสู่สมรภูมิรบด้วยกันเช่นนี้แล้ว ต้องตั้งหน้าตั้งตาถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนด้วยกัน อย่าถือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าถือว่าเป็นเรื่องง่ายแล้ว กิเลสมันจะหัวเราะเยาะดูถูกพวกเรา ทุกข์เพราะการทำความเพียร มิใช่ทุกข์ที่ไม่มีผล เป็นทุกข์ที่ทำลงไปแล้วคุ้มค่า เราอย่าไปท้อถอย จงอดทนต่อสู้ อุปสรรคต่างๆ การปราบปรามกิเลส ก็คือการแก้ความไม่ดี ที่สถิตย์อยู่ภายในตัวของเรา จึงต้องทำด้วยความเพียรของบุรุษ ทำด้วยความตั้งจิตตั้งใจจริงๆ ทำด้วยความพากเพียรจริงๆ หนักก็สู้ เบาก็สู้ เช่นเดียวกับเราตกน้ำ เราต้องพยายามแหวกว่ายช่วยตัวเอง กำลังวังชามีเท่าไร เอามารวมกันหมด เพื่อจะเอาตัวรอด จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อไม่ไหวจริงๆ จึงจะยอมจมน้ำตาย หากมีกำลังเพียงพออยู่ตราบใด จะไม่ยอมจมน้ำตายเป็นอันขาด อันนี้ก็เช่นเดียวกันการจะทำความเพียรเพื่อหลุดพ้นนั้นจะทำเหลาะแหละไม่ได้ ต้องทำจริง จังๆ จึงจะเห็นความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ เรามาอยู่รวมกันมากท่านหลายองค์ จงประพฤติตามธรรมตามวินัยอย่างเคร่งครัด อย่าเป็นคนมักง่าย วันหนึ่งคืนหนึ่ง ผ่านไป ผ่านไปอยู่เรื่อยๆ สังขาร ร่างกายนับเวลาที่จะผ่านไปๆ โดยลำดับ พวกเราอย่าปล่อยให้วันคืนล่วงไปเฉยๆ ต้องให้มันผ่านไปด้วยการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็เพื่อจะกำจัดสิ่งปลอมแปลงนั้นออก ให้เหลือแต่ของจริง คือแก่นแท้ของธรรม เฉพาะอย่างยิ่ง คือ การหัดภาวนา ควรจะทำให้เกิดให้มีอย่างแท้จริง งานอย่างอื่นเราก็เคยต่อสู้มาแล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ต่อสู้กับงานหนัก งานเบามาแล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านมาจนบัดนี้ เราก็ทำได้มาเรื่อยๆ แต่เวลานี้เราจะฝึกหัดทำภาวนา คือการทำจิตใจโดยเฉพาะ และการทำภาวนานี้ ก็เป็นงานที่จำเป็นจะต้องทำเช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ หรือควรที่จะทำให้หนักยิ่งไปกว่างานอื่นๆ เสียอีก เพราะเป็นงานหนักและละเอียดกว่างานทั้งหลาย

...........การทำภาวนาแรกๆ จิตของเราย่อมกวัดแกว่งดิ้นรน ล้มลุกคลุกคลาน เป็นของธรรมดาเพราะจิตยังไม่เคยกับการภาวนามาก่อน จึงถือได้ว่า การภาวนาเป็นงานใหม่ของจิต ถึงจะยากลำบากแค่ไหนเราต้องฝืนเพื่อที่จะฉุดกระชากลากจิตที่กำลังถูกกิเลสย่ำยีอยู่นั้นให้พ้นภัยอันตราย ให้เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรทำอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ในโอกาสต่อไปนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะพากันมาบำเพ็ญเพียรทางด้านจิตใจ อันเป็นจุดหมายปลายทางให้เกิดความสุข ความสมหวังขึ้นภายในใจของตัวเอง ด้วย “จิตภาวนา” เหนื่อยบ้าง ลำบากบ้างก็ทนเอา การปล่อยให้จิตคิดไปในแง่ต่างๆ ตามอารมณ์ของจิตนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา นอกจากไปเที่ยวเก็บรวบรวมเอาความทุกข์ ความร้อนจากอารมณ์ภายนอก มาเผาลนจิตใจของตนให้วุ่นวายเดือดร้อน ไม่ขาดระยะเท่านั้น ท่านกล่าวว่า สมาธิก็คือการทำใจให้สงบ สงบจากอะไร สงบจากอารมณ์ เครื่องก่อกวนทั้งหลาย เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน ถ้าเป็นน้ำก็จะใสสะอาด ดุจน้ำฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ยังไม่มีอารมณ์ภายนอกมารบกวน ก็จะเป็นจิตที่ใสสะอาดหมดจด แต่ขณะนี้จิตของเราถูกกิเลส หรืออารมณ์ภายนอกเล่นงานแทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว แต่เราจะมาฝึกเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกเหล่านั้น การทำนั้นต้องค่อยทำค่อยไป จะกำหนดเอาวันนั้น เวลานั้น จะเกิดผลแน่นอนนั้นย่อมไม่ได้ เพราะการทำจิตให้ปราศจากอารมณ์ภายนอกนั้น ต้องใช้เวลาพอสมควร ยิ่งถ้าเราไม่เคยฝึกมาก่อน จะเป็นการลำบากมากทีเดียว แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ ในขั้นแรกของการอบรมจิตนั้นท่านสอนให้ยึดเอาข้ออรรถ ข้อธรรมบทใดบทหนึ่งมาเป็นอารมณ์ บทใดก็ได้ สำหรับเป็นเครื่องกำกับควบคุมใจ ไม่เช่นนั้นจิตจะส่ายกวัดแกว่งไปสู่อารมณ์ต่างๆ ที่เราเคยชินกับอารมณ์นั้นๆ แล้วก่อความทุกข์ให้เป็นที่เดือดร้อนอยู่เสมอ ท่านจึงสอนให้นำบทธรรมะข้อใดข้อหนึ่งมาเป็นอารมณ์ เช่นเราภาวนาบริกรรมว่า พุทโธๆ ธัมโมๆ หรือ สังโฆๆ หรือจะกำหนดให้มีอานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออกควบคู่ไปด้วยก็ได้ เช่น จะบริกรรมว่า พุท เข้า โธ ออก ดังนี้ คำว่าเข้าออก ก็คือหมายกำหนดกองลมนั่นเอง หายใจเข้าก็กำหนดว่า พุท หายใจออก ก็กำหนดว่า โธ ดังนี้ และในขณะที่บริกรรม เราต้องมีสติควบคู่ไปด้วย เมื่อเรามีสติตามระลึกอยู่โดยการเป็นไปติดต่อโดยลำดับ จิตก็ไม่มีโอกาสจะแวะไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอก จิตก็จะค่อยหยั่งเข้าสู่ความสงบโดยลำดับ จิตในขณะนั้นจะมีความสงบมาก ในขณะที่จิตสงบไม่ยุ่งเหยิง วุ่นวาย กาลเวลาและสถานที่จะไม่มีเลย ในขณะนั้น จิตจะสงบอย่างเดียว เพราะจิตที่สงบจะไม่สำคัญมั่นหมายติดอยู่กับสถานที่ กาลเวลาที่ไหนเลย มีแต่ “ความรู้” ที่ทรงตัวอยู่เท่านั้น นี่เรียกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการภาวนา จะเรียกว่าเป็นผลจากการภาวนาก็ได้

...........เราอยู่ในโลกนี้ ต้องอยู่ให้ฉลาดประกอบด้วยปัญญา ตัวเรารู้ว่าเราปฏิบัติผิดไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องพยายามแก้ไขที่ตัวเราให้ถูกต้อง คือเราต้องหาอุบายวิธีอยู่เสมอว่า ทำอย่างไร ตัวเองจึงจะอยู่ให้เป็นสุขไม่วุ่นวายใจ อันนี้ สำคัญมากทีเดียว สิ่งทั้งปวง พระพุทธเจ้าสอนพวกเราว่า “ถ้าใครละความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือ กำจัด ความโลภ ความโกรธ ความหลงเสียได้ ผู้นั้นจะพบเห็นพระนิพพาน พระนิพพานอยู่เหนือความโลภ โกรธ หลง ท่านว่าอย่างนี้ ความโลภ โกรธ หลง เป็นรากเหง้าของโลก ชนชาติใด ภาษาใด ก็มีสิ่งทั้งสามนี้ ทุกคนหนีไม่พ้น มีปัญหาอยู่ว่า ถ้าทุกคนมีกันแล้วอย่างนี้จะทำประการใดดี ไม่คิดจะละสิ่งเหล่านี้บ้างหรือ บางคนถ้าจะละมันออกไป ก็ยังเสียดายมันอยู่ ถือว่ามันเป็นมิตรที่ดีต่อเราอยู่ ไม่ยอมให้มันตีตัวจากเราเลย อันนี้ก็ได้ชื่อว่า เราโง่กว่ากิเลส ปล่อยให้กิเลสเป็นนายเรา

...........ต่อไปนี้ขอให้พวกเรามาร่วมใจกันต่อสู้กับกิเลสอันเป็นรากเหง้าของโลกนี้ ผมกำลังจะพาพวกท่านทั้งหลายที่นั่งประชุมกันอยู่นี้ แอนตี้กิเลส ไม่ยอมให้กิเลสมันขึ้นบ้าน แต่พวกเราอย่าพากันประมาท เผลอเมื่อไรมันเล่นงานเราเมื่อนั้น จงมีสติรักษาจิตให้ดี ตามรู้จิตอยู่ตลอดเวลา อย่าพากันขี้เกียจ มักง่ายเห็นแก่กินแล้วนอน อันจะเป็นการเลี้ยงกิเลสอยู่โดยไม่รู้ตัว เมื่อมันสมบูรณ์มีกำลังพร้อมเมื่อใด มันจะเล่นงานเรา เพราะฉะนั้นเราต้องเล่นมันเสียก่อน

...........สำหรับการอบรมธรรมะในวันนี้ ก็เห็นว่าดึกพอสมควร จึงขอจบลงแค่นี้

:b47: :b50: :b47:

หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รวมคำสอน “หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50458

เจ้าของ:  Duangtip [ 06 ก.พ. 2021, 21:17 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระธรรมเทศนา (พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ)

Kiss

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/