วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 14:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2015, 12:10 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

โทณพราหมณ์ ผู้แจกพระบรมสารีริกธาตุ
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b47: :b40: :b47:

เมื่อครั้งเจ้ามัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ตั้งใจจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดไปประดิษฐานไว้ให้ประชาชนชาวเมืองกุสินาราถวายการบูชา ก็มีกษัตริย์จากต่างเมืองส่งทูตมาขอแบ่ง

ตอนแรกเหล่ามัลลกษัตริย์ไม่ต้องการแบ่ง ร่ำๆ จะเกิดสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุ พอดีพราหมณ์เฒ่าผู้คงแก่เรียน นามว่า
โทณะ ก็โผล่ขึ้นมาห้ามไว้ แสดงสุนทรพจน์ได้จับใจมาก สามารถ “กล่อม” ให้บรรดาผู้ครองนครทั้งหลายสงบอารมณ์และยินยอมให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเท่าๆ กัน โดยมอบความไว้วางใจแก่โทณพราหมณ์ให้ช่วยดำเนินการให้

โทณพราหมณ์ เป็นใคร มักจะไม่ค่อยมีใครสนใจใคร่รู้

ถ้าเปรียบก็ดุจการดูหนัง หนังดำเนินเรื่องมาอย่างสนุกตื่นเต้น ตัวละครต่างๆ ก็แสดงบทบาทของตนมาตามลำดับ มีอยู่ฉากเดียวสั้นๆ มีตัวละครตัวหนึ่งโผล่เข้ามาแล้วก็หายไป ดูหนังจบแล้ว คนก็ลืมตัวละครตัวนั้นสนิทใจเพราะแสดงบทบาทอะไรไม่มาก ฉันใด บทบาทของโทณพราหมณ์ก็คงคล้ายๆ กัน ทำนองนี้

เรารู้ว่าสงครามเลือดครานั้นไม่เกิดขึ้น ก็เพราะว่าฝีปากของโทณพราหมณ์ แต่เมื่อเรื่องสงบไปแล้ว ต่างก็ลืมเลือนโทณพราหมณ์จนหมดสิ้น

โทณพราหมณ์คือใคร ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของโทณพราหมณ์บ้างไหม

เท่าที่ทราบมีอยู่สูตรหนึ่ง ชื่อ
โทณสูตร พระพุทธเจ้าตรัสโต้ตอบกับพราหมณ์ชื่อ โทณะ

วันเวลาที่เกิดเหตุนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินทางไกลถึงเขตแดนระหว่างเมืองอุกกัฏฐากับเมืองเสตัพยะต่อกัน ขณะนั้นพราหมณ์ชื่อโทณะ เดินมาข้างหลังเห็นรอยพระบาทที่ประทับอยู่ตามทาง พิจารณาลักษณะของพระบาทอันสมบูรณ์ด้วยเครื่องหมายที่เป็นมงคล จึงประทับใจ คิดว่าท่านผู้เป็นเจ้าของรอยเท้านี้มิใช่คนธรรมดา จึงตามไปจนทัน แล้วได้สนทนากับพระองค์

พระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า ความจริงพระพุทธองค์ ทรงมีพระประสงค์จะให้โทณพราหมณ์ไปทัน และได้ทูลถามปัญหา จึงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่สมบูรณ์ด้วยพระลักษณะที่เป็นมงคลไว้ให้พราหมณ์เห็นดุจดังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ให้มาคัณฑิยพราหมณ์เห็น ฉะนั้น

เรื่องราวเป็นฉันใด เอาไว้เล่าต่อเมื่อมีโอกาสก็แล้วกัน ตอนนี้มาต่อเรื่องโทณพราหมณ์ พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวอีกว่า พระองค์ทรงต้องการให้โทณพราหมณ์นี้เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้พระองค์ หลังจากพุทธปรินิพพาน วางแผนไว้แต่เนิ่นๆ ปานนั้นเชียว

โทณพราหมณ์กราบทูลถามว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นเทวดาหรือเปล่า”

“เรามิใช่เทวดา” พระพุทธองค์ตรัสตอบ

“ถ้าเช่นนั้นท่านคงเป็นคนธรรพ์”

“เรามิใช่คนธรรพ์”

“ถ้าเช่นนั้นท่านคงจะเป็นยักษ์”

“เรามิใช่ยักษ์”

“ถ้าเช่นนั้น ท่านคงจะเป็นมนุษย์”

“เรามิใช่มนุษย์”

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสดังนี้ โทณพราหมณ์ก็ยิ่งสงสัยหนักขึ้น เทวดาก็ไม่เป็น คนธรรพ์ ยักษ์ และมนุษย์ก็ไม่เป็น แล้วเป็นอะไร จึงกราบทูลถาม

พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่า “กิเลสเหล่าใดที่พาให้เกิดเป็นเทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ และมนุษย์ กิเลสเหล่านั้นเราได้ละหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงมิใช่เทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ และมนุษย์”

“แล้วท่านผู้เจริญเป็นอะไร” คำถามสุดท้ายจากปากของพราหมณ์

“เราเป็นพุทธะ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)” พระพุทธองค์ตรัส

แล้วตรัสพระคาถา (โศลกธรรม) บทหนึ่งว่า กิเลสที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ เราละได้หมดแล้ว ดอกบุณฑริกเจริญในน้ำ ไม่เปียกน้ำ ฉันใด เราเกิดในโลก แต่ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินของโลก เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นพุทธะ


พระสูตรนี้บันทึกไว้เพียงแค่นี้ ไม่ได้บอกด้วยว่าหลังจากสนทนากับพระพุทธองค์แล้วโทณพราหมณ์ได้บรรลุมรรคผลอะไรหรือไม่ แต่อรรถกถาบอกต่อว่า โทณพราหมณ์ได้บรรลุผล ๓ (โสดาปัตติผล สกทาคามิผล และอนาคามิผล) คือ เป็นพระอนาคามี นี้เป็นทรรศนะของพระอรรถกถาจารย์ครับ ในพระไตรปิฎกไม่ได้ระบุเอาไว้ เปิดพจนานุกรมอสาธารณนาม โดย ดร.มาลาลา เสเกรา ท่านบอกไว้ดังนี้ครับ

โทณพราหมณ์พบพระพุทธเจ้าครั้งแรกระหว่างเมืองอุกกัฏฐาและเสตัพยะดังกล่าวแล้ว หลังจากฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ได้บรรลุอนาคามิผล และได้แต่งโศลกสรรเสริญพระพุทธคุณจำนวนพันคำ โศลกนี้ปรากฏชื่อว่า โทณคัชชิตะ

มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สถานะของโทณพราหมณ์นั้นสูงมาก เป็นอาจารย์ที่ประชาชนให้ความเคารพมากมาย

วันดีคืนดีเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ในชมพูทวีปจะมาประชุมกัน ฟังโอวาทโทณพราหมณ์เป็นครั้งคราว เพราะความมีชื่อเสียง และความเป็นครูของคนทุกชนชั้นนี้เอง การปรากฏตัวของโทณพราหมณ์ เมื่อคราวสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุกำลังจะเกิด จึงมีความหมายมาก ทุกคนพอเห็นโทณพราหมณ์จึงเกรงใจ และยินยอมทำตามประสงค์ของโทณพราหมณ์


:b44: พุทธประวัติตอนนี้มีว่า ข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแพร่กระจายไปยังนครต่างๆ อย่างรวดเร็ว ผู้ครองนครทั้ง ๗ ส่งคณะทูตมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปสักการบูชา อันประกอบด้วย

๑. พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์
๒. กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายแห่งเมืองไพศาลี
๓. กษัตริย์ศากยะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์
๔. กษัตริย์โลกิยะแห่งรามคาม
๕. มัลลกษัตริย์ทั้งหลายแห่งเมืองปาวา
๖. มหาพราหมณ์แห่งเมืองเวฏฐทีปกะ
๗. เจ้าถูลี (ฐลิยะ) แห่งเมืองอัลลกัปปะ


เหล่ามัลลกษัตริย์ (แห่งเมืองกุสินารา) ตอบปฏิเสธแข็งขันไม่ยอมแบ่งให้ สงครามเลือดกำลังจะระเบิดขึ้น พอดีพราหมณ์ นามว่า โทณะ มาเจรจาขอให้สงบศึก และรับอาสาแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน แล้วมอบให้ผู้ครองนครทั้ง ๘ นำไปสักการบูชาที่บ้านเมืองของตน

วาทะของโทณพราหมณ์ที่สามารถ “กล่อม” คณะทูตจากเมืองทั้งหลาย มีดังนี้ครับ

สุณนฺตุ โภนฺโต มม เอก วากฺยํ อมฺหาก พุทฺโธ อหุ ขนฺติวาโท
น หิ สาธุกํ อุตฺตมปุคฺคลสฺส สรีรภาเค สย สมฺปหาโร
สพฺเพว โภนฺโต สหิตา สมคฺคา สมฺโมทมานา กโรมฏฐภาเค
วิตฺถาริกา โหนฺตุ ทิสาสุ ถูปา พหู ชนา จกฺขุมโต ปสนฺนา

คำแปลจากปฐมสมโพธิกถา จะไพเราะกว่าครับ ผมคัดลอกมาดังนี้


“ท่านทั้งหลายจงสดับคำแห่งเราสักครู่หนึ่ง ซึ่งพระบรมครูแห่งเราย่อมตรัสเทศนาซึ่งขันติธรรมว่าประเสริฐแล ซึ่งมาเกิดยุทธประหารในที่พระสารีริกธาตุ อันศาสดาปรินิพพานนี้ บ่มิดี บ่มิสมควร

ดูกรท่านทั้งหลาย จงอดกลั้นเสียซึ่งโทษ จึงคิดประนีประนอมพร้อมหฤทัยยินดีด้วยกัน เราจะแบ่งปันพระบรมธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ให้แก่บพิตรทั้งปวงตามควร องค์ละส่วนเสมอกัน จะได้อัญเชิญไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ทุกพระนคร เป็นที่ให้ไหว้บูชาแห่งมหาคนในทิศทั้งหลายต่างๆ”


เมื่อกษัตริย์ทั้งปวงได้สดับรับคำแห่งโทณพราหมณ์พร้อมกันแล้ว จึงตรัสว่า “ถ้าฉะนั้น อาจารย์จงแบ่งปันพระสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ควรจะแจกให้ข้าพเจ้าทั้งปวง”

เป็นอันว่าโทณพราหมณ์ได้ช่วยระงับสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุ ทำหน้าที่แจกแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดาให้ชาวพระนครทั้ง ๘ นำไปบูชาที่บ้านเมืองของตน กษัตริย์โมริยะจากปัปผลิวันมาไม่ทัน จึงได้พระอังคารธาตุไปบูชา

ส่วนโทณพราหมณ์ ว่ากันว่า แอบเอาทาฒธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ซ่อนในมวยผม หวังจะเอาไปบูชา

แต่พระอินทร์มาขมายต่อไปอีก ว่ากันอย่างนั้น

ในที่สุดได้รับฉันทานุมัติจากบรรดากษัตริย์ทั้งปวง ให้เอาทะนานทองไปบูชา


ตรงนี้คงจะเขียนเพลิน ไหนว่าตอนแรกโทณพราหมณ์ได้เป็นพระอนาคามีแล้ว ไฉนไยจึงมีจิตคิดขโมยพระเขี้ยวแก้ว แล้วพระอินทร์จอมเทพก็มีพฤติกรรมไม่แพ้กัน คือ “ขมาย” ต่อไปอีก ฟังๆ ไว้ก็แล้วกันครับ

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50448

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

:b45: โทณพราหมณ์เจดีย์ เมืองกุสินารา
จุดที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48446


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร