วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อาจาริยธัมโมทยาน

รูปภาพ

กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



:b44: :b47: :b44:


อ่านหนังสือฉบับเต็มเล่ม ได้ที่นี่ค่ะ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=54239

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รัตนคาถา
ของ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)

๒๘ มีนาคม ๒๕๐๔


:b39:

......เย เกจิ พุทฺธํ สรณํ คตาเส.
......น เต คมิสฺสนฺติ อปายภูมึ.
......ปหาย มานุสํ เทหํ เทวกายํ ปริปูเรสฺสนฺตีติ.

......“บุคคลเหล่าใด ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตน บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมปิดเสียได้ซึ่งอบายทั้งสี่ มีนรกเป็นต้น เมื่อทำลายกายของมนุษย์แล้ว ย่อมเข้าถึงกายอันเป็นทิพย์ (คือ สวรรค์ เทวโลก)”

......จะได้อธิบายในข้อความข้างต้นนี้ต่อไป เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เข้าถึงซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนาว่าเป็นของเลิศ สามารถที่จะกำจัดทุกข์ภัยของตน เพื่อบรรลุถึงสรณะอันเกษมสำราญ

......จริงอยู่ที่มนุษย์ที่เกิดมาในโลก ย่อมไม่มีที่พึ่งของตนอันเป็นแก่นสารได้เลย คือไม่สามารถที่จะให้ผลติดตามตนของตนไปในปรโลก จะมีอยู่คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เท่านั้น ที่สามารถเป็นที่พึ่งของตนในชาตินี้และชาติหน้า ฉะนั้น ในตอนต่อไปนี้จึงจะได้แยกหัวข้อของพระรัตนตรัยซึ่งได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น พระรัตนตรัยนั้น บุคคลทั้งหลายที่ปฏิญาณตนถึง อยู่ ๒ ประเภท คือ

......๑. เป็นส่วนบุคลาธิษฐาน คนบางจำพวกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แต่ส่วนบุคคลเพียงเท่านั้น
......๒. เป็นส่วนธรรมาธิษฐาน คนบางจำพวกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยธรรม คือทำข้อปฏิบัติให้เกิดมีในตนเอง

๑. ส่วนบุคลาธิษฐาน

......บุคลาธิษฐานนั้นได้แก่ บุคคล อันเป็นส่วนรูปหรือวัตถุ

......๑) ส่วนพระพุทธ พระพุทธเจ้าหมายถึงเอาบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์สะอาดในทางใจ ถ้าขยายไปแล้วก็มีอยู่ ๔ ชนิด คือ

......ก. สัพพัญญูพุทธะ ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่มีครูสั่งสอน

......ข. ปัจเจกพุทธะ ผู้ตรัสรู้แล้วไม่ทรงบัญญัติพระศาสนา สำเร็จแล้วทรงอยู่โดยลำพัง

......ค. สาวกพุทธะ ได้แก่ พระสาวกสาวิกาทั้งหลาย ซึ่งปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์แล้วตรัสรู้ตาม

......ง. พหุสุตตพุทธะ ผู้ได้ศึกษาไว้มากแล้ว ปฏิบัติตามก็ได้ตรัสรู้ธรรมอย่างสูง

......ท่านทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบุคคลคนหนึ่ง แต่ละพระองค์จึงเรียกว่า เป็นส่วนบุคลาธิษฐาน เป็นเครื่องอาศัยที่พึ่งที่ระลึกในส่วนตื้นๆ ยังไม่เป็นแก่นสารเท่าไรนัก แม้จะเป็นความดีได้ก็เสมอกามาวจรกุศลเพียงเท่านั้น ถึงจะปิดอบายได้ก็เป็นบางคราว ถ้าเสื่อมจากความเชื่อและความเลื่อมใสในบุคคลเหล่านั้น ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้ เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้นตกอยู่ในสภาพธรรมดา คือ อนิจฺจํ ความไม่เที่ยง ทุกฺขํ ความลำบาก อนตฺตา ตัวเองก็ไม่สามารถจะกั้นความตายไว้ได้ ฉะนั้นใครถึงเพียงบุคคลเท่านั้น ก็จะมีผลอันจะพึงได้อยู่สองประการคือ ดีใจกับเสียใจในคราวพลัดพราก เพราะธรรมดาบุคคลหรือวัตถุในโลกนี้ต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามธรรมชาติ ไม่ว่านักปราชญ์หรือบัณฑิตหรือคนธรรมดาสามัญ ย่อมเป็นไปเสมอภาคกันหมด

......๒) ส่วนพระธรรม ซึ่งเราขอถึงกันอยู่นั้น ก็ยังเป็นบุคลาธิษฐานอยู่ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า คำสอนทั้งหมดย่อมเกิดขึ้นจากวาทะของบุคคลทั้งนั้น นักปราชญ์ได้จัดไว้ดังนี้

......ก. พุทธภาษิต พระพุทธเจ้าตรัสเองโดยพระโอษฐ์

......ข. สาวกภาษิต สาวกทั้งหลายได้แสดงไว้เพื่อเป็นคำสอน

......ค. เทวตาภาษิต เทพยดาบางเหล่าเมื่อมาเฝ้าพระองค์แล้ว ก็เปล่งคาถาออกมาเป็นคติธรรมที่ควรประพฤติตามได้

......ง. อิสีภาษิต ฤาษี โยคี นักพรต ให้ภาษิตไว้เพื่อเป็นคติที่ถูก สามารถที่จะให้ประโยชน์แก่พุทธบริษัท

......นักปราชญ์ทั้งหลายได้รวบรวมและร้อยกรองไว้เป็นพระปริยัติธรรม คือพระสูตรบ้าง พระวินัยบ้าง พระปรมัตถ์บ้าง ที่รวมเรียกว่า “พระไตรปิฏก” ดังนี้

......พระธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นส่วนแห่งบุคลาธิษฐานทั้งสิ้น ถ้าเราถึงกันเพียง จำได้ เรียนรู้เท่าสัญญาก็ยังไม่เที่ยง ไม่สามารถจะเป็นสรณะที่พึ่งอันเกษมของตนได้แน่นอน อย่างดีก็จะได้เพียงกามาวจรกุศลเท่านั้น เพราะยังอาศัยบุคคลอื่นเป็นที่พึ่ง

......๓) ส่วนพระสงฆ์ นั้นแยกออกโดยประเภท มีอยู่ ๒ คือ

......ก. สมมติสงฆ์ ได้แก่ พระสงฆ์ที่บวชเข้าแล้วทรงเพศบรรพชิตโดยธรรมดาสามัญชน แยกออกมีอยู่ ๔ ประเภท คือ

..............(๑) อุปชีวิกา บวชเข้ามาแล้วในพระพุทธศาสนา ก็ถือว่าการบวชเพียงแต่เป็นอาชีพของตนที่สะดวกสบายเท่านั้น ความเป็นอยู่เนื่องด้วยบุคคลผู้อื่นก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็นอนใจอยู่เพียงเท่าเพศที่บวช ไม่แสวงหาความดีอันยิ่งขึ้นไปกว่านั้น

..............(๒) อุปทุสิกา บวชเข้ามาแล้วในพระพุทธศาสนา ประทุษร้ายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยความประพฤติ เช่น สิ่งที่ควรละ ไม่ละ สิ่งที่ควรทำ ไม่ทำ ประทุษร้ายต่อความดีของตนเองและของบุคคลอื่น ทำให้หายนะ เสื่อมจากคุณความดี คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

..............(๓) อุปมุยหิกา บวชเข้ามาแล้วในพระพุทธศาสนาทำตนเป็นคนหลง คนมืด และงมงาย ไม่หาอุบายประพฤติตนให้ถูกต้องตามแนวคำสอน ไม่ถอนตนออกจากอกุศลทั้งปวง มัวเมาอยู่ หลงอยู่เรื่อยไป ทำใจของตนให้หมกมุ่นหม่นหมอง

..............(๔) อุปนิสรณิกา บวชเข้ามาแล้วในพระพุทธศาสนา ตั้งใจศึกษา อบรมประพฤติปฏิบัติตาม แสวงหาที่พึ่งหรือสรณะอันเกษม ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ส่วนใดเป็นความชั่วที่พระองค์สอนให้ละ ก็พยายามละ ส่วนใดเป็นความดีที่พระองค์สอนให้ปฏิบัติก็ประพฤติปฏิบัติตาม จะถึงได้หรือไม่ก็พยายามขวนขวายอยู่เช่นนั้น

..............ที่กล่าวมาเหล่านี้คือ ชนิดของพระสงฆ์อันเป็นส่วนแห่งบุคลาธิษฐานประเภทหนึ่ง

......ข. อริยสงฆ์ มีอยู่ ๔ จำพวก คือ พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา และพระอรหันต์ ทั้ง ๔ นี้ก็ยังเป็นบุคลาธิษฐานอยู่ เพราะเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งได้บรรลุโลกุตรธรรมในทางใจ ตัวอย่างเช่น สมมติกันว่า พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดา พระสารีบุตรเป็นพระสกิทาคา พระโมคคัลลานะ เป็นพระอนาคา พระอานนท์เป็นพระอรหันต์ ทั้ง ๔ ท่านก็ยังเป็นบุคคลอยู่โดยชื่อและรูปกาย ฉะนั้นบุคคลเหล่าใดมาขอถือว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ก็สักแต่ว่าเป็นบุคคลคนหนึ่ง บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นก็ยังไม่เป็นของเที่ยงและแน่นอน ต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของธรรมดา ของธาตุ ขันธ์ อายตนะ รวมลงก็คือ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง แปรปรวน ทุกฺขํ ทนอยู่ไม่ได้ อนตฺตา ตัวของท่านเองก็ไม่สามารถป้องกันธรรมชาติไว้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เข้าไปถึงบุคคลเหล่านั้นก็ย่อมไม่เที่ยงด้วย เพราะเป็นเพียงเครื่องอาศัยเท่านั้น ไม่ใช่ที่พึ่งที่เป็นแก่นสาร ถึงแม้จะเป็นไปได้ก็ได้ชั่วขณะครู่หนึ่งคราวหนึ่ง ไม่สามารถปิดอบายได้เด็ดขาดอย่างดีก็เพียงกามาวจรกุศล ให้ผลเพียงโลกีย์ธรรมดา โลกีย์นั้นย่อมเปลี่ยนแปลงทุกขณะเวลาอธิบายมาในสรณะทั้งสาม ซึ่งเป็นส่วนบุคลาธิษฐาน ถือเอาบุคคลเป็นที่ตั้งเพียงเท่านี้

๒. ส่วนธรรมาธิษฐาน

......ส่วนธรรมาธิษฐานนั้น คือ ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะโดยรวม “ธรรม” ในที่นี้หมายถึงเอานามธรรม กล่าวสั้นๆ ก็คือ ถึงด้วยใจของตนเองด้วยการปฏิบัติ ใจถึงพระพุทธ ใจถึงพระธรรม ใจถึงพระสงฆ์ ผู้ที่จะถึงพระพุทธโดยธรรมนั้นคือ ให้รู้คุณพระพุทธก่อน คุณพระพุทธนั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ

......ก. กล่าวโดยเหตุ แห่งการตรัสรู้ธรรม คือ สติ สัมปชัญญะ

......ข. กล่าวโดยผล ได้แก่ การตรัสรู้แล้วได้บรรลุโลกุตตรธรรม (คือ ปฏิเวธธรรม กิเลสอาสวะสงบแล้ว)

......เหตุนั้นจึงควรสะสมขึ้นในตนของตนเอง ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตัว สติเป็นเหตุให้ตื่น เรียกว่า พุทธสติ สัมปชัญญะ ความรู้อันสมบูรณ์ รู้เหตุ รู้ผลโดยถูกต้อง สติสัมปชัญญะ ๒ อย่างนี้เป็นเหตุให้ตรัสรู้ ควรสั่งสมขึ้นให้มีในตน จึงจะเป็นการถึงพระพุทธโดยธรรม การที่จะให้ถึงพระพุทธโดยธรรมนั้น ต้องเป็นผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔

......๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การตั้งสติระลึกถึงกายของตน มีสติปลุกกายของตนให้ตื่น มีสติปลุกใจของตนให้ตื่นอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น โดยมีสติสัมปชัญญะ ความรู้รอบคอบ สมบูรณ์ทั่วถึงในกายของตน นั่นแหละเหตุให้ถึงพระพุทธโดยธรรม คือถึงด้วยตนของตนเอง ไม่ต้องไปพึ่งบุคคลอื่น พึ่งตนเองนั้นแหละถูก การตั้งสติกำหนดกายเพื่อให้ตื่นนั้น ควรทราบเรื่องของกายเสียก่อน ซึ่งมีอยู่ ๒ ประเภท ดังนี้

......ก. กาย คือธาตุทั้งสี่ประชุมกันเข้าเป็นก้อนเป็นกอง เรียกว่า รูปกาย

......ข. กายในกาย คือส่วนใดส่วนหนึ่งของธาตุทั้งสี่ เช่น ธาตุดิน-ส่วนข้นแข็ง ธาตุน้ำ-ส่วนเหลว ธาตุไฟ-ส่วนอบอุ่น ธาตุลม-เช่นลมหายใจ ธาตุทั้งหลายเหล่านี้เป็นสามัคคีประชุมกันเข้า ย่อมคลุมกันอยู่เป็นก้อนเป็นกอง กายในกายนี้ให้นึกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งใน ๔ อย่างนั้น เช่น เราจะเอาธาตุลม ก็ให้ตั้งสติสัมปชัญญะ ประคองใจไว้ในลมอย่างเดียว ไม่ต้องไปเกี่ยวในธาตุส่วนอื่น นี่เรียกว่ากายในกาย อีกชนิดหนึ่ง ลมในลม เช่น ธาตุลมมี ๖ จำพวก คือ ลมพัดลงเบื้องต่ำแต่ศีรษะถึงปลายเท้าและง่ามเท้า ง่ามมือ ลมพัดขึ้นเบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าปลายมือง่ามเท้าง่ามมือแล่นขึ้นไปถึงเบื้องบนศีรษะ ลมพัดในท้อง ลมพัดในลำไส้ ลมพัดทั่วไปในผิวกาย ลมหายใจเข้าออก ทั้ง ๖ นี้ ชื่อว่าธาตุลม และลมในลมนั้น ให้ตั้งสติกำหนดเอาแต่อย่างเดียว เช่น ตั้งสติระลึกถึงลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ลมส่วนอื่นไม่ต้องเกี่ยวข้องกังวล นี่เรียกว่าลมในลมอย่างนี้ก็ได้ ส่วนดินในดินก็เช่นเดียวกัน น้ำในน้ำก็เช่นเดียวกัน ไฟในไฟก็เหมือนกัน

......เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะประจำอยู่ในกายก็ดี กายในกายก็ดี ไฟในไฟก็ดี ดินในดินก็ดี น้ำในน้ำก็ดี ส่วนใดซึ่งเป็นความสะดวกสบายของตนก็ควรทำอย่างนั้นให้มาก เมื่อทำได้เช่นนั้น กายก็จะตื่น เพราะไม่ปล่อยให้เขาเป็นเพียงธรรมชาติ เราเอาสติเข้าไประลึกก็เป็นการช่วยปลุกกายให้ตื่น คือกายจะเบาขึ้นโดยการที่เรานึกถึงอยู่เสมอ สัมปชัญญะความรู้สึกหรือเครื่องรู้อันทั่วถึง คุณธรรม ๒ อย่างนี้ เมี่อเข้าไปอยู่ในกายของบุคคลผู้ใดก็จะผ่องแผ้ว ว่องไว มีลักษณะอันเบา เรียกว่า กายลหุตา ใจของบุคคลนั้นก็จะตื่น เกิดความรู้ขึ้นในตนเอง ด้วยการปฏิบัติอันเป็นสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง บุคคลตื่นขึ้นแล้วจากหลับ ก็ย่อมรู้เห็นได้เป็นธรรมดา ผู้เจริญกายคตาสติปัฏฐาน ก็ย่อมเห็นสภาพกายของตนเอง ความเข้าไปรู้เห็นนั้นแหละเรียกว่าเป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งต่างกันโดยวัตถุ แต่เป็นเรื่องเดียวกัน บุคคลใดที่ไม่ปฏิบัติตามให้ได้เช่นนั้น ก็ชื่อว่า มีกายอันหลับ มีใจอันหลับ ธรรมดาคนนอนหลับย่อมไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย ฉะนั้น จึงเรียกได้ว่า เป็นผู้ยังไม่ถึงพุทธะอันเป็นเครื่องตื่นที่เป็นส่วนเหตุ

......๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้ตั้งสติระลึกถึงเวทนาของตนที่มีอยู่ เวทนานั้นเป็นผลวิบากที่เกิดขึ้นจากกรรมเก่าและกรรมใหม่ มีอยู่ ๓ ชนิดคือ

......ก. สุขเวทนา ความเข้าไปเสวยสุข

......ข. ทุกขเวทนา ความเข้าไปเสวยทุกข์

......ค. อุเบกขาเวทนา ความวางเฉยเป็นกลาง สามอย่างนี้เรียกว่า เวทนา

......ผู้ปฏิบัติในเวทนานั้น ก็ให้ตั้งสติเข้าไประลึกถึงเวทนาแต่ละอย่างต่างๆ ชนิดกัน ซึ่งมีอยู่ในกายและใจของตน เช่น บางคราวกายเป็นสุขแต่ใจเป็นทุกข์ บางคราวกายเป็นทุกข์แต่ใจเป็นสุข บางคราวกายก็สบายใจก็สบาย บางคราวกายก็ลำบากใจก็ลำบาก ลักษณะเวทนาซึ่งเกิดอยู่ในตนนั้นย่อมมีอยู่ในตน ควรตั้งสติเข้าไประลึกถึงเวทนา ตรวจตราดูให้ถี่ถ้วน สุขเวทนามีอยู่ตรงไหนให้ตั้งสติเข้าไปกำหนดอยู่ในที่นั้น ทำใจให้ตั้งมั่นเป็นอันเดียว เช่น เราจะกำหนดไว้ในสุขก็ให้กำหนดอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป มิให้ปล่อยใจวอกแวกไปเอาอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก ให้มีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่ในอารมณ์นั้นๆ จนกว่าจะรู้สภาพความจริงของเขาด้วยใจของตนเอง ส่วนนี้เป็นเวทนาธรรม ส่วนเวทนาในเวทนานั้น เรานึกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของเวทนาทั้งหลาย เช่น เราตั้งสติกำหนดเอาสุขเวทนาอย่างเดียวเป็นอารมณ์ ไม่ต้องไปเกี่ยวทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา หรือจะกำหนดเอาความวางเฉยเป็นอารมณ์ไม่ต้องเกี่ยวสุขทุกข์อย่างนี้ก็ได้

เวทนาอันใดอันเป็นส่วนสะดวกในการกำหนดแห่งตนก็ให้ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ให้จงมาก ก็เป็นเหตุให้ตื่นจากเวทนาทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในตน ผู้ใดกระทำได้เช่นนั้นก็ชื่อว่า เป็นผู้มีธรรมอันเป็นส่วนเหตุแห่งความตื่น ที่เรียกว่า “พุทธะ”

......๓) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้ตั้งสติระลึกถึงจิตของตนเองซึ่งมีอยู่ภายใน เพื่อทำจิตของตนให้ตื่นจากความหลับคือ โมหะ เมื่อมีใจที่ตื่นแล้วย่อมรู้เห็นสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเหตุให้จิตตั้งมั่นเป็นองค์ฌานและสมาธิ อันเป็นเหตุแห่งปัญญา วิชา และวิมุตติ คำว่าจิต ในที่นี้แยกออกโดยประเภทหรือลักษณะของอารมณ์ มีอยู่ ๓ อย่าง

......ก. ราคจริต จิตประกอบด้วยราคะ ความกำหนัดยินดีในพัสดุกาม และกิเลสกาม อันเป็นเครื่องย้อมใจเพลิดเพลินและลุ่มหลงมัวเมา เป็นเหตุไม่ให้เข้าถึงธรรมอันสว่างและแจ่มใสได้

......ข. โทสจริต จิตประกอบด้วยโทสะ ซึ่งเกิดขึ้นบางคราวย่อมทำใจของตนให้ขุ่นมัวและหงุดหงิด แม้ความดีของตนที่มีอยู่บ้างก็เสื่อมไป จึงเรียกว่า โทสะ คือ เป็นเครื่องประทุษร้ายทำลายตนเอง

......ค. โมหจริต จิตประกอบด้วยความหลงลืม มัวเมา เข้าใจผิด ทำใจให้มืดมัว

......จิตทั้งหลายเหล่านี้เกิดเพราะอารมณ์ที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง เมื่อใครเป็นผู้มีสติกำกับจิตของตนอยู่ทุกขณะ ก็เป็นเหตุให้ผู้นั้นมีจิตอันตื่นและเบิกบาน เป็นเหตุให้รู้ความจริงในจิตของตนเอง ในขณะใดจิตเกิดราคะก็ให้ตั้งสติกำหนดอยู่ในใจของตน ไม่ให้เกี่ยวข้องกังวลในอารมณ์ภายนอก ตั้งอยู่ในปัจจุบันอย่างเดียว ราคจริตนั้นก็จะลดลง หรือเราจะเจริญเครื่องประกอบบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องวัตถุก็ได้ เช่น พิจารณาอสุภกรรมฐาน กำหนดสังขารร่างกายภายในกายของตนเอง ให้เป็นของโสโครกโสมม จิตของตนเองซึ่งยึดถือจมอยู่ ก็จะคลายจากความกำหนัดยินดี จิตนั้นก็จะเบิกบานขึ้นได้

......ในขณะใดเกิดโทสจริต ก็ให้ตั้งสติกำหนดไว้เฉพาะในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในตน มิให้ไปนึกถึงบุคคลภายนอกหรือวัตถุภายนอก อันเป็นเหตุให้เกิดโทสะ โทสะที่มีอยู่ในจิตนั้นเปรียบเหมือนไฟ ถ้าใครไม่มีสติสัมปชัญญะในใจของตนแล้ว ไปนึกถึงแต่บุคคลและวัตถุแล้วก็เท่ากับเอาไฟมาเผาตน จะมีแต่ความร้อนรนฝ่ายเดียวเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่ควรจะไปนึกเอามาเป็นอารมณ์ ควรที่จะตั้งสติเข้าไปกำหนดไว้ในจิตที่เป็นโทสะ เมื่อสตินั้นมีกำลังสมบูรณ์แล้ว จิตที่มีโทสะก็จะดับไปได้ทันที โทสะนั้นเปรียบเหมือนกระทะครอบกองไฟไว้ ไฟนั้นก็จะแสบร้อนอยู่เสมอ ถ้าเรายกกระทะและฟืนเครื่องสุมและครอบออกเสียได้ ก็เปรียบเสมือนใจของเราปราศจากโทสะ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า ตนเป็นผู้ทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นในจิตใจของตน แสงสว่างนั้นคือปัญญาและวิชา อันที่จริงไม่ต้องไปมองหาความดีในที่อื่น นอกจากจิตของตนเองจึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ที่ท่านเรียกว่า “จิตตฺวิมุตฺติ” จิตพ้นจากอารมณ์ของจิต อันนี้เป็นเหตุให้ถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างหนึ่งโดยธรรม

......โมหจริต จิตที่หนักไปในทางเผลอและหลงลืม จิตชนิดนี้เนื่องมาจากมีอารมณ์เข้ามาแทรกแซงมาก ฉะนั้นจึงควรทำใจของตนให้ตั้งอยู่ในอารมณ์เป็นหนึ่ง เพื่อรวมกำลังของสติสัมปชัญญะให้แรงกล้า เหมือนกับเอาแสงไฟที่กระจายกันอยู่ให้รวมเป็นกลุ่มอันเดียวกัน ก็ย่อมมีกำลังแสงสว่างได้มาก ฉันใดก็ดี เมื่อเรามีสติประจำใจของตนอยู่ ไม่ปล่อยใจของตนไปเกี่ยวข้องในสัญญาอารมณ์ต่างๆ ภายนอก สตินั้นก็จะเปล่งกำลังแสงสว่างให้เกิดขึ้นคือ วิชา เมื่อวิชาเกิดขึ้นแล้วในตนของตนเอง จิตของบุคคลผู้นั้นก็จะสว่างไสว ใจของบุคคลนั้นก็จะตื่นจากความหลับ คืออวิชชา บุคคลใดทำได้เช่นนี้ก็ชื่อว่าถึงสรณะอันเกษมในใจของตนเอง (คือคุณธรรมด้วยใจ) รู้เอง เห็นเอง เป็นเหตุให้ถึงอริยธรรม คือโลกุตตระ

......๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้ตั้งสติเข้าไปกำหนดระลึกถึงธรรมซึ่งมีอยู่ในใจของตนทุกขณะเวลา ธรรมในที่นี้มีอยู่ ๒ ประเภท

......ก. ธรรมอันเป็นส่วนต่ำ อันเป็นเหตุเครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุคุณความดีอันยิ่ง ที่เรียกว่า นิวรณธรรม มีอยู่ ๕ ประเภท

................(๑) กามฉันทะ ความยินดีรักใคร่ในพัสดุกาม มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นที่พอใจชอบใจของตน กิเลสกาม ราคะความกำหนัดยินดีชอบใจ โทสะ ความหงุดหงิด โกธะ ความโกรธ โมหะ ความหลง ไม่รู้จริง สำคัญว่าดีเป็นชั่ว ชั่วเป็นดี สำคัญว่าผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของตนเรียกว่า กามฉันทนิวรณ์

................(๒) พยาปาทะ ความพยาบาทคาดหมายไว้ ในบุคคลและพัสดุต่างๆ ที่ตนไม่ชอบก็จะทำลายในบุคคลและพัสดุนั้นๆ (ฆาตโก)

................(๓) ถีนมิทธะ ความท้อแท้ โง่ง่วง อ่อนใจ ทำสิ่งใดก็เกียจคร้าน

................(๔) อุทธัจจะกุกกุจจะ คิดสิ่งใดก็ไม่สำเร็จดังใจนึก ไม่มีสติยับยั้ง ฟุ้งซ่าน รำคาญ ไม่มีสติยับยั้งดวงจิตของตนให้สบระงับจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

................(๕) วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลในเรื่องราวต่างๆ หรือคุณธรรมต่างๆ ที่ตอนปฏิบัติอยู่ ไม่ตกลงใจได้

......นิวรณธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เป็นธรรมฝ่ายต่ำ เมื่อจิตของบุคคลผู้ใดตกอยู่ในอาการเช่นนั้น ก็ย่อมมืดเหมือนคนลงไปอยู่ในก้นบ่อ เช่นนั้นแล้วย่อมเป็นผู้มีตาอันมืด ไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ในพื้นแผ่นดินได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นเครื่องกั้นความดีของตนไว้หลายอย่าง ธรรมดาคนลงไปอยู่ในก้นบ่ออันลึกเช่นนั้น ย่อมกั้นอิริยาบถของตนอย่างหนึ่ง กั้นมือของตนไว้อย่างหนึ่ง คนอยู่ข้างบนพูดก็ไม่ได้ยิน แสงพระอาทิตย์และแสงจันทร์ที่ส่องโลกให้สว่างก็แลไม่เห็น จึงกั้นหู กั้นตา เรียกได้ว่าเป็นผู้มืดและหลับไม่ตื่น

......ข. ฉะนั้น จึงควรเจริญ ธรรมฝ่ายดี ฝ่ายชอบ อันเป็นเหตุที่จะทำให้ใจของตนตื่นจากความหลับ คือ อวิชชา จึงควรประกอบภาวนาให้เกิดขึ้นในตน เป็นต้นว่า เจริญ ฌาน ทั้ง ๔ อันเป็นเครื่องปราบหรือทำลายนิวรณธรรมเหล่านั้นให้สิ้นไป ฌานทั้ง ๔ นั้นคือ

................(๑) ปฐมฌาน มีองค์ ๕ วิตก - นึกถึงอารมณ์ของกรรมฐานอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ในตัวของตัวเป็นต้นว่า กำหนดเอาซึ่งลมหายใจ ทำใจของตนให้ถึงความเป็นหนึ่ง ประคองใจของตนให้อยู่กับอารมณ์ที่นึกขึ้นนั้น ไม่ให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น ที่เรียกว่า เอกัคคตา

................วิจาร - ตรวจตราในอารมณ์นั้นๆ ให้ถี่ถ้วน จนกว่าจะเห็นความจริงของอารมณ์นั้นๆ เมื่อรู้อารมณ์นั้นๆแล้วโดยทั่วถึงที่ว่า “สัมปชัญญะ” ย่อมเกิดผลในใจของตนเอง ที่เรียกว่า สุขะ ความสบาย,

................ที่เรียกว่า ปีติ นั้นคือความอิ่มใจ อิ่มกาย สติเต็มกาย กายก็อิ่ม เหมือนดินอิ่มน้ำ ปลูกอะไรลงไปก็สดชื่น ต้นไม้และเถาวัลย์ก็ไปเกิดในที่นั้น นกหนูปูปีกก็ย่อมไปอาศัยในนั้น เพราะความร่มเย็น เมื่อฝนตกลงมาก็ขังง่ายไม่ซึมหนี บุคคลผู้ทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นด้วยดีแล้ว ย่อมเป็นที่ขังไว้แห่งบุญทั้งหลายของหมู่มนุษย์และเทวดา เพราะฌานและสมาธินั้นเป็นเครื่องเย็นใจเย็นจิตของผู้อื่นได้สติสัมปชัญญะเข้าไประลึกในใจของตนเอง ใจนั้นก็ย่อมเต็มบริบูรณ์ มีแต่ความปีติปราโมทย์ แจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ นี่เรียกว่า ปีติ

................สุขะ ความสบายกาย ความสบายใจ ได้เกิดขึ้นแล้วด้วยการเจริญปฐมฌานแห่งตน คนนั้นย่อมมีอิสระ ย่อมหายห่วงและกังวลในวัตถุและบุคคล ธรรมดาบุคคลผู้เช่นนั้นย่อมหมดกังวล เปรียบเหมือนคนผู้มีทรัพย์เป็นที่พอใจแล้วย่อมเป็นสุข ย่อมมีความสุขใจหายความกังวลต่างๆ ในชีวิต เมื่อดวงจิตของบุคคลผู้ใดได้รับความสุขเช่นนั้น ย่อมหมดความฟุ้งซ่านและลังเล ที่เรียกว่านิวรณธรรม ให้มีความเพียรพยายามประกอบคุณธรรมขึ้นในตน ให้ตั้งอยู่ในฌานใจของบุคคลผู้นั้นก็จะเบิกบานแจ่มใส เกิดแสงสว่างคือปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ผู้ใดมีวาสนาบารมีพอสมควรจะเป็นไปได้ มาทำใจของตนให้ถึงแค่ปฐมฌาน เพียงเท่านั้น ก็สามารถที่จะบรรลุถึงโลกุตตรธรรมเบื้องต่ำได้ คนบางจำพวกก็ทำใจของตนให้ก้าวไปสู่ทุติยฌาน

................(๒) ทุติยฌาน มี ๓ องค์ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา กำลังจิตก็แรงขึ้นโดยลำดับ แล้วก็พยายามทำจิตของตนอยู่เช่นนั้นด้วยการเพ่ง และตั้งสติกำกับอยู่เช่นนั้น จิตก็จะมีกำลังแก่ขึ้นโดยลำดับ ก็เป็นเหตุให้ถึงตติยฌาน

................(๓) ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา ให้เป็นผู้มีความเพียรเพ่งด้วยอำนาจแห่งสติสัมปชัญญะ ก็จะสามารถละองค์ฌานนั้นๆ ออกได้อีก ก็จะเข้าสู่จตุตถฌาน

................(๔) จตุตถฌาน มีอยู่ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา องค์ฌานที่สี่นี้มีกำลังแรงกล้าด้วยการเพ่งอยู่ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ดวงจิตก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว วางเฉยปลดปล่อยอารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคต กำหนดอยู่ในปัจจุบันธรรมอย่างเดียว จิตนั้นก็จะเที่ยงตรงเหมือนแสงตะเกียงเจ้าพายุที่ปราศจากลม ย่อมทำแสงสว่างให้แก่ปวงชนได้ จิตของบุคคลผู้ได้บรรลุจตุตถฌาน ย่อมมีแสงสว่างเกิดขึ้น คือปัญญาและวิชาอันยิ่ง ที่เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา ก็เป็นเหตุให้รู้สัจธรรมทั้ง ๔ ก็จะถึงซึ่งคุณธรรมอันเลิศ คือโลกุตระ ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงโลกอันอุดม โลกอันปลอดภัย ใจของบุคคลนั้นก็จะมีแต่ความเบิกบานแจ่มใส เป็นผู้มีความเป็นอยู่ด้วยคุณธรรมที่เกิดขึ้นในตนของตน ก็จะถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นส่วนสูงกล่าวคือวิมุตติ (หรือปฏิเวธธรรม - ธรรมอันสงบจากอาสวะกิเลส)

......บุคคลผู้ใดมาปฏิบัติใจของตนเองได้เช่นนั้น บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่า ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยธรรม คือ ถึงด้วยใจของตนเอง ผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยธรรมนั้น ย่อมปิดอบายภูมิทั้ง ๔ ได้อย่างเด็ดขาด เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว อย่างต่ำก็เกิดในสุคติโลก อย่างสูงก็ถึงพระนิพพาน เป็นบุคคลที่เที่ยงตรงต่อพระนิพพาน ที่เรียกว่านิยตธรรม เป็นผู้ถึงธรรมที่เที่ยง ไม่เป็นผู้ทำตนให้ตกต่ำ บุคคลใดถ้าเป็นผู้ไม่ถึงโดยอาการนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่แน่นอน ที่เรียกว่า อนิยตบุคคล ฉะนั้น พุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อต้องการความเกษมสำราญ ในทางพระพุทธศาสนานี้ก็ควรแสวงหาที่พึ่งของตนไว้ให้จงดี ในส่วนแห่งบุคลาธิษฐานก็ให้รู้จักคุณภาพอันจะนำตนไปสู่สุคติ ที่พึ่งอันใดอันเป็นส่วนธรรมาธิษฐานอันจะให้เป็นแก่นสารแก่ตนได้จริงๆ ก็ควรปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตน

......สรุปลง กล่าวโดยธรรมาธิษฐานคือ ธรรมเป็นที่ตั้งแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของอันเดียวกัน ต่างแต่ชื่อโดยวัตถุเท่านั้น

......ฉะนั้นจึงควรน้อมเข้ามาในใจของตนเอง ที่เราเรียกว่า โอปนยิโก สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง ปจฺจตฺตํ รู้ได้เฉพาะตนของตน สิ่งใดที่บุคคลผู้อื่นรู้ด้วยย่อมไม่ปลอดภัย ฉะนั้นผู้ต้องการความสงบหรือสรณะ ที่เป็นแก่นสารและแน่นอนแล้ว ก็ควรทำให้เกิดขึ้นในใจของตนก็จะปรากฏผลดับกิเลส คือ พระนิพพานธรรม ดับเสียซึ่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกนี้และโลกหน้า

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร