วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2020, 09:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พุทธบริษัทพึงรู้และปฏิบัติตนอย่างไร
พระธรรมวิสุทธิมงคล
(หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘


:b49: :b45: :b50:

ภาวะสงครามโลก ก็คือความทุกข์ ความพินาศ ฉิบหายของสัตว์โลก นั้นมันเกิดเป็นครั้งเป็นคราว
ธาตุขันธ์ ใจ กับกิเลสตัณหา เป็นสงครามที่เกิดแก่เราทุกคน มันเกิดอยู่ตลอดเวลา
สงครามนี้ใครๆ ก็มี ใครๆ ก็เกิด ปกติมันอยู่กับธาตุกับขันธ์ อยู่กับจิตใจ
อยู่กับธาตุกับขันธ์ก็คือการเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัวตัวร้อน
มีประการต่างๆ ที่เรียกว่า “สงครามจำเพาะตัวใครตัวเรา” ต้องใช้ยาเข้าไปปราบ
ถ้ายาถูกมันก็หาย ถ้ายาไม่ถูกมันก็ตาย นี่ก็สงครามคือสงครามธาตุขันธ์
สงครามโลกก็มีเรื่องธาตุกับขันธ์ ทำลายสมบัติเงินทองต่างๆ ทำลายจิตใจของกันและกัน
สงครามภายในระหว่างกิเลสกับใจนั้น ก็เป็นทำนองเดียวกัน
ถ้าอันนี้ระงับ สงครามโลกก็ไม่เกิด เพราะสงครามภายในใจไม่เกิดชนวน
ที่ทำให้เกิดสงครามเพราะกิเลสนี้มีมาก
เมื่อลุกลามขึ้นมากน้อยเพียงไรก็แสดงออกมาให้โลกได้เห็นชัดเจน
ถ้าสุมอยู่ภายในก็แสดงอยู่ภายในขันธ์ อยู่ภายในจิตใจของแต่ละคน
ซึ่งล้วนแต่เรื่องของสงครามทั้งนั้น นี่ควรเรียกว่า “สงครามใต้ดิน”
และเป็นสงครามยืดเยื้อเรื้อรังไม่รู้จักสงบและเลิกรากันได้
ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องปราบปราม ดังท่านผู้ได้ชัยชนะเคยปราบปรามมาแล้ว

แต่คำว่าสงครามนี้ มีการต่อสู้กัน จึงเรียกว่า “สงครามในขันธ์” นี้พอจะทราบได้
เช่นการเจ็บไข้ได้ป่วยปรากฏขึ้นมา ก็เอายามาแก้ไข้หรือปราบกับ
นี่ก็มีการต่อสู้ต้านทานกันที่เรียกว่า “สงคราม”
ส่วนสงครามระหว่างใจกับกิเลสนั้น ถ้าไม่มีการแก้ไข ไม่มีการต่อสู้กันเลย
ปล่อยให้กิเลสรุกฝ่ายเดียว ก็ไม่มีทางชนะได้
จำต้องปล่อยให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่เรื่อยไป ไม่มีจุดหมายปลายทาง
ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งกองทุกข์ที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลก นี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่มาก
เพราะฉะนั้นท่านผู้ปฏิบัติธรรม จึงต้องรีบเร่งขวนขวาย
ในอันที่จะแก้สิ่งที่เป็นพิษภัยแก่จิตใจของตนให้เบาบางลง
การแก้ไขดัดแปลงและถอดถอนนี้ เรียกว่า “การต่อสู้” หรือเรียกว่า “สงคราม” ก็ได้
คือมีการรบ มีการต่อสู้กัน ซึ่งอาจมีได้ทั้งแพ้และชนะ ตามแต่กำลังของฝ่ายใดมีมากกว่ากัน

ถ้าขณะใด เวลาใด วันใด กิเลสมันชนะเรา เราก็ยอมทนทุกข์ทรมานภายในใจ
ถ้าเราชนะเราก็มีความผาสุกเย็นใจ
กิเลสแพ้หมอบไปชั่วกาลชั่วเวลา เราก็มีความสะดวกสบายใจ
ด้วยการชำระหรือด้วยการต่อสู้กันโดยวิธีการต่างๆ
เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาไปตามสติปัญญา
ซึ่งเป็นอุบายแก้หรือปราบปรามกิเลส
ถ้ารู้เท่าทันกิเลสมันก็ระงับ และระงับดับลงได้เป็นลำดับๆ
ถ้าอุบายไม่ทัน มันก็ทำเราให้ได้รับความทุกข์ ลำบาก ที่เรียกว่า “เจ็บตัวอยู่ภายใน”
แต่มักไม่ผูกโกรธ ผูกแค้นเพื่อแก้มือกับมันต่อไป
กิเลสจึงไม่แพ้เอาง่ายๆ และกุมบังเหียนอยู่ตลอดเวลา

อุบายที่จะสู้กับกิเลส ก็คือสติปัญญา
เสบียงก็คือความพากเพียรอยู่เสมอ ความอุตส่าห์พยายาม
ความอดความทน หนักก็เอาเบาก็สู้ ไม่ถอย นี่คือกองเสบียง
เป็นกำลังสติปัญญา เป็นเครื่องมือระงับดับกิเลสทั้งหลาย
ให้เบาบางและหมดไปจากใจ
นี่เรียกว่า “การต่อสู้กัน ระหว่างกิเลสกับธรรม”

ถ้ามีการต่อสู้กัน ก็ต้องมีการแพ้การชนะกัน
ถ้าไม่มีการต่อสู้ หมอบราบไปเลยก็เรียกว่า “ยอมแพ้อย่างราบถ่ายเดียว”
ความสุข ความภาคภูมิใจที่จะเกิดขึ้นก็ไม่มี
มีแต่ความทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นจากอำนาจของกิเลสถ่ายเดียว
แต่ถ้ามีการต่อสู้กัน แม้จะได้รับความลำบากลำบนในการต่อสู้
เช่นเดียวกับการรบกันในสงครามโลกก็ตาม
ก็ยังพอมีทางจะได้ชัยชนะ พอเป็นขวัญใจไปเป็นระยะๆ
และมีความสุขใจจากความเพียรที่ได้อุตส่าห์ต่อสู้กับกิเลสเรื่อยมา

“สรณะ” ของพวกเรา คือ พุทฺธํ ก็ดี, ธมฺมํ สงฺฆํ ก็ดี
ท่านผ่านการสงครามได้ชัยชนะมาแล้วทั้งนั้น
พระพุทธเจ้ารบสงคราม ๖ พระพรรษา
ธงชัยถึงปรากฏขึ้นมาเป็น “ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” แก่พวกเรา
พระสงฆ์สาวก ต่างองค์ก็ต่างเข้าสู่สงครามตั้งแต่วันอุปสมบท
เริ่มแรกตั้งแต่อยู่ในฆราวาสเหย้าเรือนมีความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรม
ประพฤติปฏิบัติจนถึงได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา
แล้วตั้งหน้าบำเพ็ญตนเพื่อชำระกิเลส หรือปราบปรามกิเลส
ซึ่งมีอยู่ภายในใจให้หมดไปโดยลำดับๆ ในสนามรบ คือป่าเขาลำเนาไพร
ด้วยความเพียร ซึ่งมีประจำอยู่ในอิริยาบถต่างๆ
อาการแห่งการรบในอิริยาบถต่างๆ นั้น
ท่านมักทำอยู่ในป่า ในเขา ร่มไม้ ชายป่า ชายเขา
ในถ้ำเงื้อมผา ที่เห็นว่าเหมาะสมกับการรบ
หรือการต่อสู้กับกิเลสของแต่ละองค์ๆ ที่จะเลือกหาเอาตามอัธยาศัย

อุบายวิธีที่สำคัญคือสติปัญญา มีความพากเพียรเป็นเครื่องสนับสนุนอยู่ตลอดมา
จึงได้ปรากฏองค์เป็น “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ”
คือผู้ชนะในสงครามระหว่างกิเลสกับจิต หรือระหว่างกิเลสกับธรรม
ได้ครองบรมสุขภายในใจ
และปรากฏเป็น “สรณะที่สาม” ขึ้นมา เป็นคำว่า “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ”
ทั้ง “สามรัตนะ” นี้ได้ผ่านสงครามมาแล้วอย่างเต็มที่
บางองค์เอาชีวิตเข้าแลก
เพราะการต่อสู้ซึ่งมียากง่ายต่างกัน จึงได้ชัยชนะมา

เราซึ่งเป็นพุทธบริษัท ไม่ได้ก้าวเข้าสู่สงครามเลย
มีแต่ยอมแพ้อย่างราบไปตลอดเวลานั้น
คำว่า “พุทธบริษัท” ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย!
ฉะนั้นเพื่อให้คำว่า “พุทธบริษัท”
ซึ่งได้แก่ลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า มีความหมายเด่นขึ้น
ก็ต้องมีการต่อสู้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ดังเราทั้งหลายมาบำเพ็ญกันอยู่เวลานี้
อันเป็นความชอบธรรมในนามของพุทธบริษัท

การมาสู่สถานที่บำเพ็ญนี้
ใครๆ ก็ต้องทราบว่าไม่ใช่วิมานและจะขึ้นสู่ “วิมาน” ตามสมมุตินิยมกัน
แต่ทราบกันแล้วว่าเข้ามาสู่สถานที่ลำบากทรมานตน!
จะอยู่เหมือนอยู่บ้านอยู่เรือน นอนสะดวกสบาย
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของทิพย์นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้
หรือ “ป่า” ในบ้านเราก็ไม่มี เรามาอยู่ในป่านี้อันเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนา
เช่น ขวากหนาม ตลอดสิ่งรกรุงรังทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างมักขาดแคลนตามๆ กัน
แต่เราก็ไม่เห็น “ว่า” ทำให้เกิดความทุกข์ลำบากภายในใจ
เราตั้งหน้าประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในใจ
ด้วยความรื่นเริงบันเทิงและความพออกพอใจ
ชื่อว่าเราดำเนินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
และชื่อว่าเราเป็น “ผู้กำลังรบ” ในสงคราม ระหว่างกิเลสกับธรรม

โดยถือใจเป็นสนามรบ ข้าศึกและธรรม มีอยู่ที่ใจนี้ทั้งสองอย่าง
ธรรมก็มีอยู่ที่ใจ กิเลสก็มีอยู่ที่ใจ การรบกันก็รบที่นี่

ฉะนั้นในขณะที่รบพุ่งชิงชัยกับกิเลส จิตใจจึงรู้สึกว่ามีความทุกข์ลำบากเป็นธรรมดา
เพราะเป็นสนามรบของกิเลสและธรรม ซึ่งรบกันอยู่ในสถานที่นี้
เรายอมรับในเรื่องความลำบากลำบน
ผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากความลำบาก เพราะความพากเพียรในการรบกับกิเลส
ก็คือ “ความสงบสุขภายในใจ” ในวาระต่อไป
เมื่อมีความท้อแท้อ่อนแอเกิดขึ้น หรือมีความท้อถอย
มีความอิดหนาระอาใจ ต่อความพากเพียรเกิดขึ้น
พึงระลึกถึง “ธงชัยของพระพุทธเจ้า” ท่านเขียนไว้ในสูตร
ว่า “อิติปิโส ภควา หรือ อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา สุญฺญาคาเรว ภิกฺขโว”
ที่ท่านสอนพระว่า “เธอทั้งหลาย ไปอยู่ในรุกขมูลร่มไม้ก็ดี ในเรือนว่างก็ดี
หากมีความขลาดความกลัวเกิดขึ้น พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดา
น้อมเข้ามาให้สนิทติดแนบอยู่กับใจ แล้วภัยทั้งหลายก็จะหายไป
คือความกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจนั้น จะค่อยเบาและหายไป”

ท่านว่า “โน เจ พุทฺธํ สเรยฺยาถ, อถ ธมฺมํ สเรยฺยาถ”
หากระลึกถึงพระพุทธเจ้า ความกลัวภัยนั้นยังไม่หายไป
ก็ให้พึงระลึกถึงพระธรรม แล้วภัยทั้งหลายจะระงับไป
หรือความกลัวซึ่งมีอยู่ภายในใจจะหายไป
เมื่อระลึกถึงพระธรรม (ความกลัว) ยังไม่หายไป
พึงระลึกถึงพระสงฆ์เถิด ภัยทั้งหลายจะหายไป
“นี่เป็นหลักยึดของใจที่จะให้เกิดชัยชนะ ให้เกิดความมั่นใจ
ให้เธอทั้งหลายยึดนี้เป็นหลักใจ เมื่ออยู่ในสถานที่เปลี่ยว
เช่น รุกขมูลร่มไม้ หรือเรือนว่าง ในป่าในเขาที่ใดก็ตาม
พึงยึดถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ที่เป็นรัตนะใดก็ตาม เป็นหลักภายในจิตใจ พวกเธอทั้งหลายจะมีชัยชนะ
ความหวาดกลัวทั้งหลายจะไม่เข้ามาราวีจิตใจ และถึงชัยชนะไปโดยลำดับ”

นี่เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนพระในครั้งพุทธกาล

ครั้งพุทธกาลกับครั้งนี้ ก็คือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
เราก็คือพุทธบริษัท ซึ่งเป็นคนเช่นเดียวกันกับครั้งพุทธกาล
การระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็น “องค์รัตนะ” อันเดียวกัน
จึงเป็นการเหมาะสมตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เราอยู่ในสถานที่ใด หากว่าเกิดความท้อแท้อ่อนแอขึ้นมา
ให้ระลึกถึงปฏิปทาของพระพุทธเจ้าที่ทรงดำเนินมา
ท่านดำเนินอย่างไรท่านถึงได้เป็น “พระศาสดา”?
ท่านดำเนินด้วยความท้อแท้อ่อนแอ ดำเนินด้วยความท้อถอยอย่างนี้ หรือดำเนินแบบไหน?
พึงระลึกอย่างนี้เสมอ เมื่อเอาท่านผู้ดี ผู้มีชัยชนะ มาเป็นที่ระลึก
จิตใจเราย่อมคืบหน้า หรือคล้อยตามนั้น
ไม่ให้กิเลสหรือความท้อแท้อ่อนแอ ฉุดลากไปได้ง่ายๆ
และระลึกถึงพระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นหลักยึด


“พระธรรม” ท่านว่า “เป็นของประเสริฐเลิศโลก”
ความขี้เกียจอ่อนแอ ความท้อถอยเหล่านี้ เป็นของประเสริฐหรือไม่
เราทำไมจึงคล้อยตามและเชื่อถือและพอใจกับความขี้เกียจมักง่าย ความอ่อนแอนี้นักหนา!
“ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นของประเสริฐแล้ว โลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ ทำไมจึงไม่ประเสริฐเล่า?
เราควรจะยึดอันใดเป็นหลัก และควรจะปล่อยอันใด ยึดอันใด?”
อันเป็นความถูกต้องเหมาะสมกับเราผู้เป็นนักรบ
เมื่อเหตุผลเครื่องยืนยันพร้อมแล้ว
ใจก็ต้องปล่อยสิ่งที่ไม่ดีและยึดความเข้มแข็งอันเป็นของดี
เพื่อเข้าถึงธรรมอันเป็นของประเสริฐให้มั่นคงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

“สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ของพวกเราท่านท้อแท้อ่อนแอหรือ
ความท้อแท้อ่อนแอนี่กับ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เข้ากันได้ไหม
ความท้อแท้อ่อนแออันเป็นเรื่องของกิเลส
เป็นเครื่องทำลาย “สรณะ” ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจให้สูญไป
เหล่านี้เป็นเครื่องเตือนตัวเอง พร่ำสอนตัวเอง
เพื่อต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรม หรือกิเลสกับสติปัญญา

ความโง่เขลาคือกิเลส แต่มันฉลาดสำหรับกล่อมคนให้เคลิ้มหลับ
ตัวมันเองไม่โง่ แต่คนที่ไปเชื่อมันนั้นโง่
คนที่เชื่อมันก็หยาบ คนที่เชื่อมันก็ขี้เกียจอ่อนแอถอยหลัง
แต่คนที่เชื่อ “ธรรม” ย่อมแก้สิ่งเหล่านี้ออกได้
แล้วขยับตัวเลื่อนฐานะของจิตขึ้นโดยลำดับๆ
เพราะฉะนั้นการเชื่อธรรมจึงจะทำให้เรามีคุณค่า มีสาระขึ้นไปโดยไม่มีขอบเขตจำกัด

การปฏิบัติธรรมมีความลำบากมากแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเดินทางสายเดียวกัน
เพราะการสู้รบกับกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งเหนียวแน่นและฝังลึกภายในใจ
จะเอาความสะดวกสบายมาจากที่ไหน
แม้แต่การทำงานธรรมดาก็ยังลำบาก
การต่อสู้กับกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งเหนียวแน่นทนทานที่สุดภายในใจ
และเป็นสิ่งที่ถือกรรมสิทธิ์ในหัวใจคนมานาน
ทั้งเคยเป็น “ศาสดาจารย์ ของวัฏจักร” นี้มาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์
ในใจดวงหนึ่งๆ เราจะกำจัดปัดเป่าหรือชำระมันออกได้อย่างง่ายดาย
เหมือนปอกกล้วยได้อย่างไร เพราะกิเลสไม่ใช่กล้วยพอจะปอกกันได้ง่ายๆ
นี่เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องตะเกียกตะกาย จึงต้องพยายามสุดกำลังความสามารถ
ทั้งสติปัญญา ทั้งความพากเพียรด้านต่างๆ ที่จะให้เป็นไปตามอรรถตามธรรม
เพื่อสิ่งเหล่านี้จะได้ลดน้อยและหมดสิ้นไป
ความสุข ความสำราญบานใจปรากฏขึ้นแก่เรา
ผู้ดำเนินตามหลักธรรมแห่งพุทธบริษัท
อันเป็นหลักใหญ่ที่เราจะพึงดำเนิน พึงระลึกไว้เสมอในการปฏิบัติธรรม
เพราะกิเลสนั้นคอยกระซิบหลอกอยู่ตลอดเวลา
นั่ง นอน ยืน เดินในอิริยาบถใด
กิเลสจะต้องคอยกระซิบตามอุบายของมันอยู่เสมอ
ถ้าผู้ปฏิบัติประมาทนอนใจ ผลิตธรรม หรือสติปัญญาไม่ทัน
ก็จะต้องคล้อยตามกิเลสและหลงไปโดยไม่รู้สึกตัว
ถ้าอาศัยสติปัญญาอยู่เสมอ อะไรกระซิบขึ้นมา
เป็นเรื่องของกิเลสเราก็ทราบ เป็นเรื่องของธรรมเราก็ทราบ
พอมีทางแก้ไขหรือหลบหลีกกันไปได้

พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกทั้งหลายก็ดี
ท่านสมบุกสมบัน ลำบากตรากตรำมาจนสุดชีวิตจิตใจแทบจะไปไม่รอด
แต่ก็หลุดพ้นมาได้เพราะความเพียรกล้าไม่ล่าถอย
จึงนับว่าเป็น “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ของพวกเรา
ที่องอาจกล้าหาญเหนือ “ไตรภพ” เรียนจบกลมารยาของกิเลสทั้งสามโลกธาตุ
เราผู้ดำเนินตามท่านซึ่งอยู่ในแนวรบอันเดียวกัน
ก็ต้องมีความลำบากลำบนเป็นธรรมดา แต่ไม่ยอมถอย
บางครั้งต้องเอาชีวิตเข้าประกันเลย เป็นก็เป็น ตายก็ตาย
แต่สิ่งที่มุ่งหมายนั้น อย่างไรก็ต้องให้ติดมือมา
ไม่ติดมือมาก็ให้ตายในสนามรบ ถ้าไม่ตายก็ให้ได้ชัยชนะ
บางครั้งต้องเป็นอย่างนั้น สำหรับผู้ต้องการธรรมอันประเสริฐมาครองใจ
ถ้าเอาความอ่อนแอมาเป็นหลัก มาเป็นเครื่องยึด เช่นที่เคยเป็นอยู่แล้ว
ก็เป็นอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีใครผิดแผกแปลกต่างจากใคร
เพราะสิ่งเหล่านี้มันมีเหมือนกัน มันเป็นสิ่งจอมปลอม หลอกลวงเหมือนกัน
คนจึงเป็นเหมือนๆ กัน ไม่มีใครดียิ่งกว่าใครไปได้
ถ้าไม่แก้สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่จอมปลอมนี้ออกไปจากใจได้ ใจจะหาความเด่นดวงไม่ได้เลย

จิตนี้อยู่กับตัว คือความรู้ รู้อยู่กับตัว กิเลสก็แทรกอยู่กับความรู้นี้
และคอยกระซิบความรู้นี้ให้เป็นไปต่างๆ ในแง่ที่เป็นไปในทางต่ำเสมอ
สติปัญญาเป็นเครื่องกำจัด เป็นเครื่องกั้นกางกีดขวางสิ่งเหล่านี้ ที่เป็นของไม่ดี
ให้ผ่านพ้นออกไปได้ จิตใจจะได้สว่างกระจ่างแจ้งเด่นดวงขึ้นโดยลำดับๆ
มองเห็นอรรถเห็นธรรม มองเห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ มองเห็นสุขว่าเป็นสุข
มองเห็นสาระว่าเป็นสาระ มองเห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าเป็นของไร้สาระโดยความจริง
และประสบพบเห็นความสุขความเจริญภายในใจ
นี่เป็นหลักใหญ่แห่งการประพฤติธรรม
ท่านเคยประพฤติมาอย่างนี้ เราก็ต้องประพฤติอย่างนี้
เพราะทางดำเนินเพื่ออรรถเพื่อธรรม ก็ต้องเหยียบย่ำทำลายหรือฝ่าฝืนกิเลส
คำว่า “กิเลส” ก็เหมือนขวากหนาม ต้องคอยทิ่มแทงเราอยู่เสมอ
การแก้ไขกิเลสจึงเป็นการลำบากบ้างเป็นธรรมดา
แต่ไม่ควรจะถือเอามาเป็นอุปสรรค


“ความตาย” นั้นน่ะ “ขวางหน้า” อยู่แล้วด้วยกันทุกคน!
เราอยู่ด้วยกัน เฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ก็ล้วนมีความตายเต็มตัวด้วยกัน
ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากัน ความตายเต็มร่างกาย
และทุกวินาทีที่เรามานั่งอยู่ที่นี่ ก็เรียกว่า “ก้าวไปทุกชั่วโมง”
กาลเวลากินเข้าไปเรื่อยๆ เป็นวินาที เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี
เข้าไป เข้าไปจนถึงจุดแห่งความตาย แล้วก็ตายได้ด้วยกัน
อยู่ด้วยกัน แม้จะรักชอบกันขนาดไหน ความตายมันก็ไม่ได้ไว้หน้าใครทั้งนั้น
ถึงกาลแล้วก็ต้องพลัดพรากจากกันไป


ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า
สพฺเพ สตฺตา อันว่าสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อเวรา โหนฺตุ จงอย่าได้คาดเวร จงอย่าได้มีเวรแก่กันและกัน
อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ จงอย่าได้พยาบาท อาฆาต อย่าได้เบียดเบียนกัน
อนีฆา โหนฺตุ สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ
จงอย่าได้เกลียดหน่าย ชังกัน จงทำตนไปสู่ความสุขโดยทั่วกันเทอญฯ


ที่ท่านสอนให้สัตว์ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน
ให้เห็นอกเห็นใจกัน ให้มีความเมตตาสงสารซึ่งกันและกัน
เพราะอย่างไรก็เหมือนสัตว์ที่เขาตีตราไว้แล้วนั่นน่ะ
เห็นเขาใส่รถไปก็ดี ไล่ไปก็ดี ตามถนนหนทาง เขาตีตราไว้แล้ว
“โอ้ สัตว์ตัวนี้จะตายวันนั้น สัตว์ตัวนี้จะตายวันพรุ่งนี้”
เขาบอกไว้แล้ว และตีตราส่งออกมาเรื่อยๆ
จากนั้นก็ไล่เข้าโรงฆ่าสัตว์ ชีวิตเป็นอัน “จบกัน” ที่นั่น!
พวกเราเขาก็ตีตราไว้แล้ว จะว่าอย่างไร
คนนี้วันนั้น คนนั้นเดือนนั้น คนนั้นปีนั้น ตีตราไว้หมด
เป็นแต่เพียงตรานี้ไม่เหมือนกับตราที่เขาตีกับวัว กับหมู กับสัตว์ต่างๆ เท่านั้น
คนและสัตว์ก็มีตราหมดทุกตัวอยู่แล้ว
จึงไม่ควรประมาท ควรรีบเร่งขวนขวายบำเพ็ญเสียแต่บัดนี้!

คุณงามความดีเป็นสมบัติของเรา
ร่างกายนั้นมอบให้เป็นสมบัติของ “พระยามัจจุราช”
คือความแตกความสลาย ความตาย ปล่อยให้เขาไป!
อย่าไปเสียดาย อย่าไปหึงหวง หึงหวงก็เป็นความลำบากลำบนไปเปล่าๆ
ปล่อยตามความเป็นจริงนั้นๆ เป็นความสะดวกสบาย
สมกับผู้เรียนธรรม ให้รู้ตามเป็นจริง
ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพของ “โลกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
ในตัวของเรานี้เป็น “โลกของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”!
ปล่อยลงตามสภาพของเขา ด้วยสติปัญญาที่พิจารณาเห็นชอบแล้ว
จิตใจเราก็ปล่อยวาง ไม่เห็นต้องยุ่งเหยิงกับภาระอันหนัก
ซึ่งเป็นสมบัติของ “โลกไตรลักษณ์” หรือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

จิตที่เรียนรู้รอบตัวแล้วก็ไม่หนักใจ
มีแต่ความ เบาบาง สว่างกระจ่างแจ้ง สลัดปัดทิ้งสิ่งพัวพันได้หมด
จิตก็เป็น “วิมุตติ” คือความหลุดพ้นจาก “โลกไตรลักษณ์”
นั่นแลท่านเรียกว่า “นิพพาน”

จะเรียกอะไรก็ได้ พอถึงขั้นนั้นแล้วสบายทั้งนั้นแหละ
ฉะนั้นขอให้ทุกๆ ท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ

เอาละขอยุติแต่เพียงนี้


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ ศาสนาอยู่ที่ไหน
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หน้า ๕๗-๖๓


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2020, 09:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2021, 13:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2022, 14:51 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร