วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 18:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2019, 20:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หลักธรรมคือหลักใจ
พระธรรมวิสุทธิมงคล
(หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๔

:b49: :b45: :b50:

วันนี้เป็นวันปีใหม่ ขึ้นปีใหม่วันนี้
ขึ้นปีใหม่ก็มีความหมายสำหรับเราผู้ต้องการความสุขความเจริญ
หากเคยประพฤติตัวไม่ดีอย่างไรมาแต่ก่อนหรือปีก่อนๆ
ก็พยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงในปีใหม่นี้ ให้กลายเป็นคนดี คนใหม่ขึ้นมา
จากคนเก่าที่เคยประพฤติตัวไม่ดีให้กลายเป็นคนใหม่ขึ้นมาอย่างน่าชื่นชม
ผู้ประพฤติตัวดีในปีใหม่นี้ก็เป็นคนดีของปีใหม่
และพยายามประพฤติให้ดีเพื่อเป็นคนดีทั้งปีใหม่นี้
และปีใหม่ที่จะมาถึงในปีหน้า จนเป็นคนดีประจำปีของทุกๆ ปีไป
คนที่ประพฤติตัวดีดังกล่าวนี้ เป็นคนที่หาได้ยาก

หลักแห่งความอยู่เย็นเป็นสุขของมนุษย์เราก็คือหลักธรรม
ใครมีหลักธรรม ใครมีธรรมเป็นหลักใจ
ผู้นั้นก็มีหลักความประพฤติ มีหลักเป็นที่อยู่ที่ไป ที่ประกอบหน้าที่การงาน
ตลอดความประพฤติในด้านต่างๆ
ถ้ามีหลักธรรมเป็นหลักใจ ความประพฤติไม่เหลวไหล
หน้าที่การงานก็ดีมีเหตุผลเป็นเครื่องรับรอง เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า
งานนี้เป็นงานดีชอบธรรมที่เกิดประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม
ไม่ใช่งานฉิบหายวายปวงทั้งตนและผู้อื่น
ผู้มีธรรมเป็นหลักใจย่อมเป็นผู้สะอาดทั้งตนและหน้าที่การงาน
ผลของงานก็ชุ่มเย็น แผ่กระจายไปอย่างกว้างขวาง
ตามอำนาจหน้าที่ของผู้มีธรรมในใจ มีธรรมเป็นหลักใจ

ผู้มีธรรมย่อมคำนึงถึงเหตุถึงผล คือความผิดถูกดีชั่วอยู่เสมอ
คนไม่คำนึงถึงความผิดถูกดีชั่ว ประพฤติตามอำเภอใจ
ซึ่งเต็มไปด้วยความอยากความทะเยอทะยานหาความพอดีและความสงบไม่ได้นั้น
จะเป็นผู้เหลวแหลกแหวกแนวตลอดไป
จนกระทั่งวันตายก็แก้ตัวไม่ได้เพราะไม่สนใจจะแก้ตัวเอง
คนประเภทนี้เป็นคนหลักลอยหาที่ยึดที่เกาะไม่ได้ ทั้งเป็นอยู่และตายไป
ราวกับขอนซุงลอยตามน้ำนั่นแล ไม่มีความหมายอันใดในตัวเลย
ดังนั้นหลักธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรนำมาเป็นหลักใจของชาวพุทธเรา

ในประเทศไทยเรา อย่างน้อย ๘๐% ถือศาสนาพุทธ
แต่เวลาถูกถามพระพุทธเป็นอย่างไร
พระธรรมเป็นอย่างไร พระสงฆ์เป็นอย่างไร…ไม่รู้
ถ้าถามถึงเรื่องสถานที่ที่จะก่อความฉิบหายวายปวงล้มเหลวแก่มนุษย์นั้น
รู้กันแทบทั้งนั้น นั่นมันศาสนาพุทธอะไรก็ไม่รู้
สถานที่ใดเป็นสถานที่ทำคนให้เสีย วัตถุสิ่งใดที่จะทำคนให้เสีย
สิ่งเหล่านั้นรู้กันและชอบทำกันเป็นเนื้อเป็นหนัง
ซึ่งการทำนั้นเป็นการขัดแย้งต่อธรรม เป็นการทำลายธรรม
และทำลายตนไปในตัวทั้งที่รู้ๆ กันอยู่นั่นแล

ความไม่มีธรรมจึงหาที่หวังไม่ได้ แต่มนุษย์ก็ยังหวังกันเต็มแผ่นดิน
หวังกันแบบลมๆ แล้งๆ หาสิ่งพึงใจตอบแทนไม่มีก็ยังหวังกัน
ทั้งนี้เพราะโลกหากพากันสร้างความหวังแบบนี้มานาน
จึงไม่มีใครสะดุดใจคิดพอให้ทราบข้อเท็จจริง
และแก้ไขเหตุอันจะยังผลให้สมหวังกันเท่าที่ควร

ปีใหม่ขึ้นมาก็เป็นคนเก่านั้น แล้วผ่านไปเป็นปีใหม่อีกก็เป็นคนเก่านั้น
ไม่สนใจที่จะแก้ตนเองให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ดี ก็หาความหวังไม่ได้คนเรา
ทั้งๆ ที่เกิดมาเต็มไปด้วยความหวังด้วยกัน
เราไม่ใช่ไม่หวัง ทุกวันเวลาอิริยาบถหวังด้วยกันทุกคน
ไม่ว่าเฒ่าแก่ชราเพศใดวัยใดมีความหวังด้วยกัน
หวังความสุขความเจริญและหวังในสิ่งที่ตนพึงใจ แต่ทำไมถึงได้พลาดไปๆ
ก็เพราะเหตุที่จะทำให้สมหวังไม่มีในความประพฤติการกระทำของตัว
สิ่งที่พึงหวังอันเป็นสิ่งดีงาม อันเป็นความสุขก็กลายเป็นความทุกข์ไปเสีย
เพราะเหตุแห่งการกระทำนั้นเป็นความทุกข์
สุขจึงไม่กล้าอาจเอื้อมแทรกแซงได้ ความหวังอันพึงใจจึงไม่ปรากฏ

ด้วยเหตุนี้การประพฤติตัว การรักษาตัว
จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการปฏิบัติรักษาสิ่งอื่นใดในโลก
สมบัติเงินทองข้าวของเราหามาได้ เราจับจ่ายไปได้เป็นผลเป็นประโยชน์
ถ้าเจ้าของมีความฉลาดตามเหตุผลหลักธรรมเสียอย่างเดียว
แต่การปฏิบัติรักษาเจ้าของให้มีความฉลาดสำหรับตัว
และหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสมบัติเงินทองบริษัทบริวาร นี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะฉะนั้น การรักษาตนจึงควรถือเป็นข้อหนักแน่นยิ่งกว่าการรักษาสิ่งใด
การรักสงวนสิ่งอื่นใดก็ไม่เหมือนรักตนสงวนตน
เพื่อเป็นพื้นฐานแห่งความดีงามและความมั่นคงทั้งหลาย

คนเราถ้าไม่รักตนโดยชอบธรรมถูกธรรมเสียอย่างเดียว
อะไรที่เกี่ยวข้องกับตนก็เหลวไหลไปได้
ไม่ว่าจะมีสมบัติเงินทองเป็นจำนวนล้านๆ บาท
สมบัติเหล่านั้นจะไม่มีคุณค่าอะไรสำหรับคนคนนั้น
นอกจากสมบัติทั้งหลายนั้นจะกลายมาเป็นฟืนเป็นไฟ
เผาลนคนที่หาเหตุผลไม่ได้ให้ฉิบหายวายปวงไปถ่ายเดียว
ทั้งๆ ที่หยิ่งว่าตนมีเงินมีทองมากนั้นแหละ
เพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องค้ำประกันคุณภาพของคนไว้
สมบัติก็บรรลัย ตัวเองก็เหลวแหลกหาความดีงามไม่ได้

ธรรมเป็นเหมือนกับเบรก รถมีทั้งเบรกมีทั้งคันเร่ง พวงมาลัย
ต้องการจะขับขี่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็หมุนพวงมาลัย
ต้องการจะเร่งในสถานที่ควรเร่งก็เหยียบคันเร่งลงไป
ต้องการจะรอหรือจะหยุดในสถานที่ควรรอควรหยุดก็เหยียบเบรกลงไป
รถให้ความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ที่รู้จักการใช้รถเป็นอย่างดีและปลอดภัย
ตัวของเราเองก็มีคนขับรถคือใจ
คอยระวังและเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหมุนพวงมาลัย ทางกาย วาจา ใจ
ให้หมุนดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม คอยเร่งในการงานที่ชอบ
และคอยเหยียบเบรกไว้ไม่ให้ทำความผิดอยู่เสมอ

คนที่ขับรถภายนอกเขาก็ต้องเรียนวิชาขับรถมาก่อน
เรียนจนสอบได้ตามกฎจราจรจริงๆ ไม่ได้สอบแบบทุกวันนี้นะ
ซึ่งเอาเงินไปยื่นให้ตบตากินแล้วปล่อยไปเลย
จะขับเหยียบหัวคนทั้งแผ่นดินก็ตามแกเถอะ ฉันได้เงินแล้วเป็นพอ
ไม่เกี่ยวเรื่องอื่นๆ เพราะฉะนั้นคนขับขี่รถส่วนมากจึงมีแต่คนตาบอด
ขับไม่มีทางเอกทางโท ขับบึ่งไปเลย ชนกันแหลกแตกกระจาย
เวลาฉิบหายก็คนนั่นแหละไม่ใช่อะไรฉิบหาย
รถฉิบหายก็คือรถของคน มาขึ้นอยู่กับคนเป็นผู้ฉิบหาย
นี่เพราะเหตุไร เพราะใบขับขี่ตาบอด ไม่สนใจกับกฎจราจร
ขับกันแบบตาบอดและชนเอาๆ ตายพินาศฉิบหาย วันหนึ่งกี่ศพไม่พรรณนา
สิ่งของสมบัติฉิบหายเป็นเรื่องเล็กน้อย ถือเป็นธรรมด๊า ธรรมดา

กฎจราจร คือกฎแห่งความปลอดภัย
ถ้าสนใจและปฏิบัติตามกฎจราจรแล้วความปลอดภัยมีมาก
เราอยากจะพูดว่า ๙๕% ทั้งนี้เว้นแต่เหตุสุดวิสัย เช่น ยางระเบิดเป็นต้น
แต่นี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อวดเก่งยิ่งกว่ากฎจราจร แล้วก็โดนเอาๆ
นี่เราเทียบเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะภายนอกเพื่อความปลอดภัย
ต้องขับขี่ตามกฎจราจร ผู้ที่จะขับรถก็ต้องได้ศึกษามาด้วยดีในการขับรถ

เราขับตัวเราคือปฏิบัติตัวเราตามสถานที่ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยไร้ทุกข์
เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎแห่งศีลธรรม อันใดที่ควรไม่ควร
งานใดที่ควรให้มีความขยันหมั่นเพียร เปรียบเหมือนกับเหยียบคันเร่ง
ด้วยความอุตส่าห์พยายาม ไม่ขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ
มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานที่ชอบนั้นๆ จนเป็นผลสำเร็จ
สิ่งใดไม่ควรรีบเหยียบเบรกห้ามล้อตัวเองไม่ให้ทำ
และหมุนพวงมาลัยไปตามสายของงานที่เป็นประโยชน์และถนัดกับจริตนิสัยของตน
ชื่อว่าขับขี่ตนโดยชอบ หรือปฏิบัติตนโดยชอบ

ดังพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า อุฏฺฐานสมฺปทา อย่าขี้เกียจ
เพราะท้องปากไม่ได้ขี้เกียจ ท้องปากถึงเวลาหิวมันหิว ถึงเวลาง่วงมันง่วง
อยากหลับอยากนอน หิวกระหาย เป็นไปได้ทุกอย่างทุกเวลา
ทั้งหนาวทั้งร้อนเต็มอยู่ในร่างกายนี้ทั้งนั้น ต้องหามาเยียวยารักษา
สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ขี้เกียจเหมือนคน ความหิวถึงเวลาหิวมันก็หิว
โรคจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ สกลกายทั้งหมดนี้เป็นเรือนแห่งโรค
มันจะเกิดขึ้นในอวัยวะส่วนใดก็ได้ ถ้าไม่มียารักษาก็ต้องตาย
ยามาจากไหน ถ้าไม่มาจากความวิ่งเต้นขวนขวาย
ความวิ่งเต้นขวนขวายที่เป็นไปด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน
จะทันกับความจำเป็นแห่งธาตุขันธ์ได้อย่างไร

ธาตุขันธ์ของเราเต็มไปด้วยโรคด้วยภัย
ด้วยความกังวลวุ่นวายที่จะต้องดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา ถ้าขี้เกียจขี้คร้านก็ไม่ทันกัน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรักษาตัวเองให้แคล้วคลาดปลอดภัย และสมบูรณ์พูนผลจนถึงอายุขัย
ก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียร และขับขี่คือบังคับตนในทางที่ถูกที่ดี
ทางจิตใจก็มีความสุขความสบายด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม มีหลักธรรมเป็นหลักใจ
กายวาจาก็เคลื่อนไหวไปตามธรรมที่ได้อบรมมาเรียบร้อยแล้ว
เปรียบเหมือนกับคนขับขี่รถซึ่งได้เรียนหลักวิชากฎจราจรมาด้วยดีแล้วก็ปลอดภัย

นี่เราก็เรียนหลักวิชาจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ให้ความปลอดภัย
ร้อยทั้งร้อยถ้าปฏิบัติตามธรรมแล้วย่อมปลอดภัย
หมุนกายวาจาของเราให้เป็นไปตามใจ
ใจหมุนให้เป็นไปตามธรรมคือความถูกต้องดีงาม
คนคนนั้นก็มีความสุขความเจริญเพราะความมีหลักเกณฑ์ตามหลักธรรม

การขับตัวเอง การบังคับตัวเอง ขับขี่ตัวเอง
เหมือนกับเขาขับรถตามกฎจราจร ย่อมปลอดภัยไร้โทษ
คนขับรถมือดีก็คือขับไม่ผิดไม่พลาด รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
ควรเร่งก็เร่ง ควรรอก็รอ ควรหยุดก็หยุด
ควรเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็เลี้ยวไปตามเหตุผลที่ควรเลี้ยว
นี่เราจะแยกไปทางไหน หน้าที่การงานไปทางไหน
เห็นว่าเป็นผลเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมเราก็แยกไป เหมือนกับหมุนพวงมาลัย
เพราะฉะนั้น การงานจึงมีในโลกมากมายตามแต่ความถนัดของผู้ต้องการ
ความขยันหมั่นเพียรเป็นสิ่งสำคัญมาก ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการงานที่ชอบ
ผลจะเป็นที่พอใจไม่อดๆ อยากๆ ขาดๆ เขินๆ สะเทินน้ำสะเทินบก
ดังคนขี้เกียจทั้งหลายเผชิญกัน

เวลาได้มาแล้วให้เก็บหอมรอมริบ อย่าสุรุ่ยสุร่าย
อย่าใช้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุเกินผลเกินเนื้อเกินตัว นั่นเป็นของไม่ดี
ทรัพย์สมบัติเสียไปยังไม่เท่าใจที่เสียไป ใจที่เสียไปแล้วแก้ได้ยาก
สมบัติเงินทองเสียไปมากน้อยไม่เป็นไร ถ้ามีเหตุผลในการจับจ่าย
จับจ่ายสิ่งนั้นไปเพื่อผลประโยชน์อย่างนั้น
จับจ่ายเงินไปจำนวนเท่านั้นเพื่อผลประโยชน์อย่างนั้น
และเป็นผลประโยชน์ตามเหตุผลที่คาดเอาไว้ไม่ผิดพลาด
ชื่อว่ารู้จักการจ่ายทรัพย์ ย่อมไม่อับจนทนทุกข์
เพราะเงินมีไว้ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน
เงินไปแลกเปลี่ยนสิ่งใดมา สิ่งนั้นก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน
ไม่ใช่แลกเปลี่ยนมาแล้วมาทำลายตนเอง
เช่นเอาไปซื้อยาเสพติดมากิน ซื้อเหล้าซื้อยาอะไรเหล่านี้มากิน
อันนี้กินแล้วเกิดความมึนเมายังไม่แล้ว ยังทำตัวบุคคลให้เสียอีก
เงินก็เสียไป ใจก็เสีย บุคคลนั้นก็เสีย นี้เรียกว่าจ่ายเพื่อทำลาย
มิใช่จ่ายเพื่อความจำเป็นเห็นผลประโยชน์ในการจ่ายทรัพย์
เหล่านี้ผู้มีธรรมย่อมไม่ทำ ผู้ไม่มีธรรมทำได้วันยังค่ำ
ทำได้จนหมดเนื้อหมดตัว และทำได้จนวันตาย
นี่ผิดกันไหมมนุษย์เรา มนุษย์เหมือนกันนั้นแหละ
มันอยู่ที่ใจที่ได้รับการอบรมทางที่ถูกที่ดีหรือไม่ได้รับการอบรม
ต่างกันตรงนี้มนุษย์เรา

ผู้ได้รับการอบรม ย่อมจะรู้ในสิ่งที่ควรไม่ควร
ผู้ไม่ได้รับการอบรมหรือคนดื้อด้านสันดานหยาบเสียอย่างเดียว
ก็ไม่มีศาสนา ไม่มีครูมีอาจารย์ ไม่ยอมฟังเสียงใคร
ถ้าเป็นโรคก็ไม่ฟังเสียงยา ไม่ฟังเสียงหมอ
คอยแต่จะบึ่งเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. อย่างเดียว
คนประเภทนี้พระพุทธเจ้าท่านว่า ปทปรมะ ไม่มีทางอบรมสั่งสอนได้
ท่านตัดสะพานเสีย คำว่าตัดสะพานคือไม่แนะนำสั่งสอนต่อไป
เหมือนมนุษย์มนา เทวดา อินทร์ พรหมทั้งหลาย
ปล่อยตามสภาพเหมือนกับคนไข้ที่ไม่มีทางรอดแล้ว
ก็เข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. นี่ก็เป็นอย่างนั้น

นี่เป็นปีใหม่ เราต้อนรับปีใหม่ จะรับด้วยวิธีการใด
ที่ถูกต้องรับด้วยความประพฤติตัวดี แก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้นมา
ดัดแปลงใหม่ แก้ไขใหม่ให้เป็นคนใหม่ขึ้นมาในคนคนเก่านั่นแหละ
แต่ก่อนเคยชั่วก็กลับตัวให้ดี เคยดีแล้วก็ให้ดีเยี่ยมขึ้นไป
นี่แหละเป็นพรของพวกเราทั้งหลาย ให้พยายามปฏิบัติตัวอย่างนี้

คำว่าธรรมเป็นหลักใจคืออะไร
หลักธรรมอันแท้จริงก็คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
นี่แหละแก่นแห่งธรรม รากเหง้าเค้ามูลแห่งธรรม คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
พระพุทธเจ้าท่านเป็นศาสดาเอกสอนโลก โลกทั้งสามนี้พระพุทธเจ้าเป็นครูทั้งนั้น
ทำไมพระพุทธเจ้าก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกันกับมนุษย์เรา
เหตุใดท่านจึงได้เป็นครูของโลกทั้งสามได้
เราเพียงเป็นครูสอนเราคนเดียวยังไม่ได้เรื่องจะว่าไง
สอนให้ไปอย่างนี้มันเถลไถลไปอย่างนั้นเสีย
สอนให้เป็นอย่างนั้นมันกลับเถลไถลไปอย่างนี้เสีย
หรือจะให้ยกตัวอย่างเหรอ

ยกตัวอย่างคนเถลไถล เอาฝ่ายผู้ชายก่อนนะ
ถ้าเอาฝ่ายผู้หญิงก่อนเดี๋ยวเขาจะหาว่าหลวงตาบัวนี้เข้ากับผู้ชายมากไป
แล้วเหยียบย่ำทำลายผู้หญิง
หลวงตาบัวไม่เหยียบย่ำใครพูดตรงๆ เอ้า นี่พ่ออีหนูเอาเงินนี่ไปจ่ายตลาดให้หน่อย
วันนี้ยุ่งงานมากไม่ได้ไปแล้ว เมียเอาเงินยื่นใส่มือพ่ออีหนู
พ่ออีหนูไปก็ไปเจอเขาเล่นการพนัน แล้วก็เอาเงินที่เมียมอบให้ไปจ่ายตลาดใส่การพนันเสร็จ
เข้าบ้านไม่ได้กลัวเมียตีหน้าแข้งเอา
นั่นคือความเถลไถล เมียไม่ได้บอกให้ไปเล่นไฮโลไฮเลอะไรกันนั่นน่ะ ให้ไปซื้อของตลาด
แล้วเอาเงินไปเล่นการพนันโน้นเสีย แล้วเข้าบ้านไม่ได้ กลัวแม่อีหนูตีขาเอาจะว่าไง
ไม่ว่าแต่แม่อีหนู พ่ออีหนูก็ฟาดเหมือนกันถ้าแม่อีหนูทำอย่างงั้นนะ
นี่คือความเถลไถลไม่ตรงตามเหตุตามผลอันเป็นความถูกต้องดีงาม
ที่จะทำความไว้วางใจและความร่มเย็นให้แก่ครอบครัว
กลับไปทำความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวเพราะความเถลไถลนั้นแหละ

เงินจำนวนนั้น เอาไปซื้อสิ่งของมาทำอาหารการบริโภคในครอบครัว
ก็สบายไปมื้อหนึ่งๆ วันหนึ่งๆ
แต่ทีนี้เอาไปทำอย่างนั้นเสีย ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั้งครอบครัว
ถึงขนาดพ่ออีหนูเข้าบ้านไม่ได้ แม่อีหนูก็เดือดร้อน
ถึงจะได้ตีหน้าแข้งพ่อไอ้หนูที่ทำผิดก็ตาม
ก็ยังไม่พ้นความเดือดร้อนความไม่ไว้ใจกันอยู่นั่นเอง
นี้แหละคือทางไม่ดี ให้รู้กันเสีย เรายกตัวอย่างมาให้ดูย่อๆ
ที่ว่าสอนตนคนเดียวก็ไม่ได้นั้น ไม่ได้อย่างนี้เอง ฟังเอา
ส่วนพระพุทธเจ้าทรงสอนสัตว์ได้ตั้งสามภพ
จึงต่างกับพวกเราอยู่มากราวฟ้ากับดิน

เงินมีมากมีน้อย ให้จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่เป็นประโยชน์
จะจ่ายไปแต่ละสตางค์อย่าจ่ายด้วยความลืมตัว
ให้จ่ายด้วยความมีเหตุมีผล จ่ายด้วยความจำเป็น
อย่าจ่ายด้วยนิสัยสุรุ่ยสุร่าย นั่นมันเป็นการทำลายตัวและทรัพย์สิน
การจับจ่ายด้วยความจำเป็นนั้นเป็นความเหมาะสมอย่างยิ่ง
ไม่ค่อยผิดพลาดตลอดไป
การแลกเปลี่ยนเอาสิ่งนั้นมา สิ่งนั้นเราไม่มี เรามีสิ่งนี้
แต่เราต้องการสิ่งนั้นเพื่อประโยชน์อย่างนั้นๆ
แล้วเรานำสิ่งนี้เปลี่ยนเอามา ซื้อเอามาได้
นี่ชื่อว่ามีเหตุมีผลและมีความจำเป็น จ่ายมากจ่ายน้อยก็ไม่เสียหาย
ถ้าจ่ายด้วยเหตุด้วยผลและความจำเป็นตามหลักธรรมดังที่กล่าวมา

ให้จ่ายด้วยความคำนึงเสมอ อย่าจ่ายด้วยความลืมเนื้อลืมตัว
จ่ายจนเป็นนิสัย จ่ายจนไม่รู้จักคำว่าเสียดาย
นั่นท่านเรียกว่า บ้าจ่าย ออกจากบ้าจ่ายแล้วก็ใจรั่ว
ลงได้ใจรั่วแล้วเก็บอะไรไม่อยู่เหมือนกับภาชนะรั่วนั่นแล
เอาไปตักน้ำซิ อย่าว่าเพียงน้ำในบึงในบ่อนี้เลย
ไปตักน้ำมหาสมุทรก็ไม่อยู่ ไม่ขัง เอาตะกร้าไปตักน้ำมันไหลออกหมด
นี้ก็เหมือนกัน คนใจรั่วจะเอาเงินให้เป็นแสนๆ ให้กี่สิบล้าน ร้อยล้านก็เถอะ
ไม่มีเหลือเลย ฉิบหายหมดเพราะใจรั่วเก็บไม่อยู่
นี่แลโทษแห่งความเป็นคนบ้าจ่าย โทษแห่งความใจรั่วเป็นอย่างนี้
ใครไม่อยากเป็นบ้าอย่าทำอย่างนั้น

อย่าประพฤติตัวให้เป็นคนใจรั่ว อะไรๆ ผ่านมาคว้าหมดๆ
เงินแทนที่จะมีไว้ใช้ได้สองวันสามวัน แต่ใช้วันเดียวขณะเดียวไม่พอใช้ด้วยซ้ำไป
เพราะความใจรั่วมันสังหารแหลกในพริบตาเดียว
นี่แลคนเราถ้าเลยเขตของธรรมแล้วเป็นอย่างนี้ หาชิ้นดีไม่ได้

ธรรมท่านบอกว่า อารกฺขสมฺปทา ให้เก็บหอมรอมริบ
สิ่งไหนที่ควรจะจับจ่ายก็ให้จับจ่ายโดยทางเหตุผล
เก็บไว้เพราะอะไรก็ให้มีเหตุผลที่เก็บไว้ เก็บไว้เพื่อความจำเป็นในกาลข้างหน้า
ไม่ว่าตัวเราหรือครอบครัวหากเกิดความจำเป็นขึ้นมาอย่างไรแล้ว
จะได้เอาเงินจำนวนที่เก็บไว้นี้เพื่อรักษาตัวและผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็น
จ่ายไปเวลานี้จ่ายไปด้วยความจำเป็นอย่างนี้ๆ ก็รู้ไว้
ธรรมท่านบอกว่าไม่ให้เหลือเฟือ ไม่ให้ใช้ฟุ่มเฟือยแบบลืมเนื้อลืมตัว
ไม่ให้เก็บไว้แบบตระหนี่แกะไม่ออก
แม้ตัวเองจะตายก็ไม่ยอมจ่ายค่าหยูกค่ายา
แต่ก่อนเงินเราเป็นเงินตรา เหรียญตราจนเข้าสนิม
เขาเรียกเป็นกาบปลี เป็นยางปลี ดำปี๋ ดำเป็นสนิมไปเลย

เก็บไว้ไม่มีจ่ายสักทีเพราะผีตัวตระหนี่มันหึงหวงมาก
ตายแล้วยังมาเป็นเปรตเป็นผีเฝ้าถุงเงินอยู่นั้นอีกแหละ
นั่นมันเกินเหตุเกินผลของโลกไป เพราะความตระหนี่ถี่เหนียวบีบบังคับ
ตายไปแล้วยังมาหวงอยู่อีก
นั้นเกินประมาณความพอดีไม่ถูกธรรมของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น การเก็บที่ดีการจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ดี
ให้มีเหตุมีผลเป็นธรรมคุ้มครองรักษาอยู่เสมอ จะเก็บพอดี จะจ่ายพอดีมีความสุข
นี่แลการประพฤติตัว การมีหลักใจ ไม่ให้เป็นคนใจรั่ว
ควรปฏิบัติตัวและสิ่งเกี่ยวข้องตามหลักธรรมดังที่กล่าวมา
คนเรามีหลักใจต้องมีหลักทรัพย์ เมื่อมีหลักทรัพย์กับมีหลักธรรมก็ชุ่มเย็น

สมชีวิตา เลี้ยงชีพก็ให้รู้จักพอดี ความมีประมาณเสมอ รู้จักเวล่ำเวลา
วันหนึ่งทานวันละเท่าไร วันละสามมื้อหรือสี่มื้อ
แต่ดูทุกวันนี้มันไม่ใช่สามมื้อสี่มื้อนะ มันร้อยมื้อร้อยครั้ง
เดินไปนี้จิ๊บๆ เดินไปนั้นจั๊บๆ อันนั้นหวานอันนี้คาวเรื่อย
อันนั้นผลไม้ ลูกนั้นดีลูกนั้นมาจากเมืองนอกนะ ลูกนี้มาจากเมืองนอกนะ
เป็นบ้าเมืองนอกกันไปหมด เห่อเมืองนอกกัน
เมืองในถูกมองข้าม เมืองของตัวเพื่อเป็นเนื้อเป็นหนังตัวเองไม่สนใจ
สิ่งใดก็ตามถ้ามาจากเมืองนอกแล้ว โฮ้ โน้นอยู่ในครรภ์โน้นยังไม่ลืมตา
ก็จะโดดผางออกมาจากครรภ์แม่นั่นน่ะ
มันเก่งขนาดไหน เก่งกระทั่งเด็กอยู่ในครรภ์ ท้องแม่หนังแม่จะแตกไม่สนใจ
ขอให้ได้เห็นของมาจากเมืองนอกซื้อของเมืองนอกเถอะ

พากันตั้งเนื้อตั้งตัว บ้านเมืองของเราเป็นบ้านของไทย
บ้านของไทยให้ต่างคนต่างรักสงวน
ต่างรักษาเนื้อหนังของตนอย่าให้เหลือตั้งแต่โครงกระดูก
ให้กาฝากมากัดมากินมาไชกินไปหมด
กาฝากมีอยู่ต้นไม้ต้นใด ไม้ต้นนั้นต้องฉิบหายวายปวงไม่นานเลย
ยิ่งต้นไหนมีกาฝากมากๆ ต้นไม้ต้นนั้นเราชี้นิ้วได้เลยว่าไม่กี่ปีตายแน่ๆ หรือไม่กี่เดือนตาย
เพราะกาฝากเกิดจากกิ่งไม้แต่มันเป็นเนื้อเป็นหนังของมัน
เป็นดอกเป็นใบเป็นกิ่งเป็นก้านเป็นผลของมันเอง แต่มันดูดซึมเอาอาหารจากต้นไม้ต้นนั้น
ต้นไม้ต้นนั้นไม่ได้เรื่องอะไร มีแต่ถูกเขาดูดซึมไปตลอดเวลาไม่นานก็ตาย

นี่ก็เหมือนกัน เราก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น ทำไมจึงไม่รักไม่สงวนเนื้อหนังของตนเอง
เห่อตั้งแต่เมืองนอกเป็นบ้าไปหมด อะไรก็ของมาจากเมืองนอก ไม่ได้ลืมตาก็ตาม
พอเขาบอกมาจากเมืองนอก ตาบอดมันก็คว้าเอา จะเอาของเมืองนอก มันเป็นบ้าขนาดนั้น
นี่แหละความเห่ออย่างนี้ไม่มีเนื้อมีหนังติดตัว ต่อไปจะเหลือตั้งแต่ร่างนะจะว่าไม่บอก
หลวงตาบัวพูดให้อย่างชัดๆ หลวงตาบัวก็อยู่ในเมืองไทยและเรียนธรรม
การเรียนธรรมปฏิบัติธรรมไม่เรียนโลกจะเรียนอะไร
เพราะธรรมกับโลกประสานและกระเทือนถึงกันอยู่ตลอดเวลา
ทำไมจะไม่รู้เรื่องความผิดความถูกของมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันล่ะ
ลองพิจารณาเรื่องเหล่านี้ดูบ้าง
นี่เราพูดเรื่องความเห่อๆ ไม่เข้าเรื่องเข้าราวไม่เข้าหลักเข้าเกณฑ์
ความเห่อจะพาตัวและบ้านเมืองล่มจมก็ควรกระตุกบังเหียนบ้างคนเรา
ไม่งั้นจมแน่ไม่อาจสงสัย

ให้รักให้สงวน อย่าฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อย่าลืมเนื้อลืมตัว
ของของตัวมีอะไร สนฺตุฏฺฐี ยินดีตามมีตามได้
ของที่เกิดเองทำเองนั้นเป็นของดี เอ้าทำลงไป
ถ้าเป็นควายก็ควายอยู่ในคอกของเรา
เกิดมาตัวใดขายได้ราคาเท่าไร ไม่ต้องหักต้นทุน เป็นกำไรล้วนๆ
ถ้าไปซื้อมา สมมุติว่าซื้อร้อยบาท ขายร้อยห้าสิบบาท
ก็ต้องหักออกเสียร้อยบาทนี้เป็นต้นทุน ได้กำไรห้าสิบบาท นี่มันต้องได้หักเสมอ
ถ้าเป็นควายที่เกิดในคอกของเราทางภาษาภาคอีสานเขาเรียกว่า ควายลูกคอก
ขายเท่าไรได้เงินเท่านั้น ไม่ต้องหักค่าต้นทุนที่ซื้อมาเท่าไรๆ เพราะไม่ได้ซื้อ
เนื่องจากเกิดกับตัวเองเป็นสมบัติก้นถุงของสกุลเสียเอง

นี่ของของเราที่พยายามผลิตขึ้นมา
ได้มากน้อยเท่าไรก็เป็นของเรา คนไทยเป็นคนอันเดียวกัน
เป็นเนื้อเป็นหนังอันเดียวกัน ชีวิตจิตใจฝากเป็นฝากตายด้วยกัน
ไม่ว่าอยู่ภาคใดก็คือคนสมบูรณ์แบบด้วยกันทั้งนั้น
มีพ่อมีแม่ พ่อแม่เป็นคน ลูกเกิดมาเป็นคน
ไม่ว่าอยู่ภาคใดเป็นคนด้วยกัน หัวใจมนุษย์ด้วยกัน
เมื่อมีความรักสงวนซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีซึ่งกันและกัน
ก็เป็นเนื้อเป็นหนังของตนขึ้นมา ชาติก็มั่นคง

ผู้ที่ผลิตผู้ที่ทำ เมื่อเห็นมีรายได้ขึ้นบ้างก็มีแก่ใจคนเรา
ทำอะไรลงไปไม่มีใครสนับสนุนก็เจ๊ง ย่อมหมดกำลังใจคนเรา
แล้วจะมีอะไรเหลือมันเจ๊งไปทั้งนั้นแหละ
ถ้ามีใครสนับสนุนก็มีกำลังใจคนเรา การส่งเสริมเนื้อหนังของตนเองควรส่งเสริม
อย่ามองข้ามหัวของตัวไปจะเป็นการเหยียบหัวตัวเองลงไป
อย่าลืมเนื้อลืมตัวซึ่งเคยเป็นอยู่แล้ว ลืมมากทีเดียว
แม้แต่ของทำในเมืองไทยก็ต้องเอาตราเมืองนอกมาตี
ฟังดูซิตีตราทำในโน้น อิงค์แลนด์อิงเลินอิงบ้ามาจากไหนก็ไม่รู้แหละ
ไม่อย่างนั้นมันไม่ซื้อมันเห่อกัน เห่อหาอะไร
จะเหาะเหินเดินฟ้าทั้งๆ ที่ไม่มีปีก ไม่อายเมืองนอกเขาบ้างเหรอ

คนไทยเราไปที่ไหน มักได้ยินจากคนเมืองนอกเสมอว่า คนไทยแต่งตัวโก้หรู
บางรายก็สงสัย หรือเขาใส่ปัญหาคนไทยเราก็ไม่อาจทราบได้
ว่าเมืองไทยคงเป็นเมืองที่เจริญมาก คนไทยจึงมีแต่ผู้แต่งตัวโก้ๆ หรูๆ กันทั้งนั้น

วันนี้มีเวลาที่จะพูด เมื่อเรื่องมาสัมผัสเราก็พูด
เขาบอกว่าเมืองไทยเข้าไปแทรกเมืองไหนเขารู้ทันที
เพราะการแต่งเนื้อแต่งตัวหรูหราที่สุดเลย เขาว่างี้
แล้วการที่ติดหนี้ติดสินเมืองนอกพะรุงพะรัง
ก็คือเมืองไทยเป็นเบอร์หนึ่ง บางรายเขาว่าอย่างนี้
ไอ้เราอยากจะมุดลงดินไปในขณะนั้นแหละเมื่อได้ยิน
พระก็มีหูมีตาเหมือนกับฆราวาสทำไมจะไม่ได้ยิน มีใจเหมือนกันทำไมจะไม่คิด
เราต้องคิด เราก็ละอายด้วยเพราะเราเป็นคนไทยคนหนึ่ง
เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรคิดด้วยกัน
ไม่ควรภูมิใจว่าตัวมั่งมีและแต่งตัวอวดโลกเขาได้ท่าเดียว
ควรคิดถึงคนไทยทั้งประเทศด้วย อาจได้แก้ไขในสิ่งที่ควรแก้ไข
เมืองไทยอาจมีเนื้อมีหนังขึ้นบ้าง ไม่มีแต่หนังหุ้มห่อกระดูกดังที่เป็นอยู่
ซึ่งเป็นที่น่าอับอายเมืองอื่นเขา

สมชีวิตา เลี้ยงชีพพอประมาณ การจับจ่ายใช้สอยอย่าฟุ่มเฟือยจนเกินเนื้อเกินตัว
เสื้อผ้ากางเกงเครื่องนุ่งห่มใช้สอยให้พอเหมาะพอสมกับตน
นั้นแหละเป็นคนที่งาม งามลึกซึ้ง งามโดยหลักธรรมชาติ
ไม่ได้งามด้วยความเคลือบแฝงตกแต่งร้อยแปด
แต่ไม่สนใจตกแต่งใจที่สกปรกรกรุงรังด้วยความห้อยโหนโจนทะยาน

ความแต่งเนื้อแต่งตัวเลยเถิดเลยเหตุเลยผล
ดูแล้วน่าทุเรศในสายตาสุภาพชนผู้มีศีลธรรม
มันจะกลายเป็นลิงแต่งตัวไป ลิงแต่งตัวเป็นยังไง
คนแต่งตัวก็ไม่เป็นไรไม่ตื่นไม่สะดุดใจนัก
พอลิงแต่งตัวนี้ดู อู๊ย ตัวของมันเองก็ไม่ใช่เล่นนะลิงนะ
พอเขาแต่งตัวให้เรียบร้อยมันมองดูมันนี่
อู้ฮู้ ใส่หมวกแก๊ปให้แล้วมันเหมือนจะเหาะโน้นน่ะลิง
กิริยาอาการหลุกหลิกๆ ทั้งจะเหาะจะโดด ราวกับเป็นโลกใหม่ขึ้นมาในตัวของมัน

คนเราก็เหมือนกัน พอแต่งตัวด้วยเครื่องสำอางชนิดต่างๆ อย่างหรูหรา
ก็เหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้า นั่นละคนลืมเนื้อลืมตัวไม่ดูเจ้าของบ้างเลย
ดูตั้งแต่ข้างนอก อยากให้คนอื่นเขามองเราสนใจในเรา
อยากให้คนอื่นเขามองเราเป็นจุดที่เด่น
มันเด่นด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เด่นด้วยเขาหัวเราะเยาะก็ไม่รู้
เราไม่ได้มองดูหลายแง่บ้าง การมองดูหัวใจคน คนก็มีหัวใจ
เราไม่ได้ไปเอาหัวใจเขามาไว้ในกำมือเรานี่นะ
จึงไม่ทราบว่าเขามองแบบไหน เขาคิดแบบไหนกับเรา

หัวใจของคนมีสิทธิ์คิดได้ เราต้องคิดทั้งหัวใจคนทั้งหัวใจเราด้วย
หัวใจเพื่อนฝูงทั่วๆ ไป ทั้งเมืองนอกเมืองนาเมืองไทย ดูให้ตลอดทั่วถึง
เทียบสัดเทียบส่วนได้พอประมาณแล้วเราก็ดำเนินการทำมาหาเลี้ยงชีพ
เครื่องใช้ไม้สอยทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความพอเหมาะพอสม
สมชื่อว่าเราเป็นเมืองพุทธ
ให้รู้จักว่า สนฺตุฏฺฐี ยินดีตามมีตามได้ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเกินเนื้อเกินตัว

กลฺยาณมิตฺตตา ให้พยายามคบเพื่อนที่ดีงาม
คำว่าเพื่อนนั้นมีทั้งภายนอกภายใน เพื่อนภายนอกก็คือเพื่อนปาปมิตร
คนชั่วกิริยาแสดงออกมาทางกายก็ชั่ว พูดออกมาทางวาจาก็ชั่วเพราะใจมันชั่ว
คนประเภทนั้นให้พยายามหลบหลีกปลีกตัว
อย่าเข้าชิดสนิทสนมมากนัก มันเสียตัวเราเอง
นั่นพาลภายนอกยังพอหลบหลีกได้
ไอ้พาลภายในคือหัวใจของเราเองนี้มันสำคัญ หลบหลีกยาก
วันหนึ่งมันคิดได้กี่แง่กี่ทางที่จะสังหารตัวเองให้เกิดความเสียหายวุ่นวายไปตามนั้นน่ะ
มันมีกี่แง่กี่กระทงหัวใจเรา ให้ดูตัวนี้ตัวพาลนี่
คิดข้อไหนขึ้นมาไม่ดีให้พยายามแก้ไขข้อนั้นให้ดี
เมื่อแก้ไขจุดนั้นได้แล้วต่อไปก็จะมีแต่เหตุแต่ผล ระบายออกมาทางกายทางวาจา
เพราะออกมาจากทางใจที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นคนดี
นี่แหละบัณฑิต คือผู้ฉลาดในทางธรรม
ประพฤติตนให้เป็นความร่มเย็นแก่ตนและผู้อื่น
ท่านเรียกว่านักปราชญ์บัณฑิต

เราพยายามแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีของเราซึ่งเป็นพาลนั้นออกเสีย
ให้กลายเป็นนักปราชญ์บัณฑิตขึ้นมาภายในตน อยู่ที่ไหนก็ร่มเย็นเป็นสุข
นี่แหละพรปีใหม่ที่ให้ท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอให้นำไปพินิจพิจารณา

ในเบื้องต้นก็ได้พูดถึงเรื่องธรรมของฆราวาส
ที่จะเปลี่ยนสภาพจากความเป็นปีเก่ากลายเป็นปีใหม่
ให้เป็นคนดีขึ้นมาตามปีใหม่ว่า

อุฏฺฐานสมฺปทา ให้มีความขยันหมั่นเพียร
อย่าขี้เกียจขี้คร้านในการงานที่ชอบ และเป็นประโยชน์

ข้อสอง อารกฺขสมฺปทา สมบัติมีมากน้อยให้พยายามเก็บหอมรอมริบ
อย่าใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย ใช้อะไรก็ดีให้มีเหตุมีผลเป็นเครื่องค้ำประกัน
ผู้นั้นจะมีหลักทรัพย์เพราะมีหลักใจ

ข้อสาม สมชีวิตา การเลี้ยงชีพพอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ฝืดเคืองเกินไป
ทั้งๆ ที่สิ่งของมีอยู่มาก และคนในครอบครัวมีจำนวนมาก
จะทำเพียงนิดเดียวก็ฝืดเคืองเกินไป ของมีอยู่ก็ทำให้พอเหมาะพอสม

กลฺยาณมิตฺตตา ให้คบเพื่อนอันดีงาม อย่าคบกับพวกปาปมิตร
ในสี่อย่างนี้แหละเป็นสิ่งที่จำเป็น
ที่เราจะต้องได้พินิจพิจารณาและปฏิบัติตามด้วยกัน
เพื่อความเป็นคนดีทั้งปีใหม่นี้และปีใหม่หน้า

ในอวสานแห่งการแสดงธรรมนี้
ขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลายมีความสุขกายสบายใจ
และประพฤติตนให้เป็นสัมมาบุคคลโดยทั่วถึงกัน

เอาละแค่นี้ เอวํ


:b8: :b8: :b8: http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 15&CatID=2

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2020, 08:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2022, 14:55 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร