วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 12:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2019, 09:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

งานล้างป่าช้า
พระธรรมวิสุทธิมงคล
(หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล
ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙


:b49: :b45: :b49:

คำว่า “จิต” โดยปกติก็มีความละเอียดยิ่งกว่าสิ่งใดๆ อยู่แล้ว
แม้จะมีสิ่งละเอียดด้วยกัน
ซึ่งเป็นฝ่ายต่ำฝ่ายมัวหมองปกคลุมหุ้มห่ออย่างหนาแน่นก็ตาม
จิตก็ย่อมจะมีความละเอียดยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลายอยู่นั่นแล คิดดู !

พระท่านตัดเย็บจีวร โดยโยมอุปัฏฐากท่านถวายผ้ามาให้ตัดเย็บเป็นจีวร
ซึ่งมีพระสงฆ์ในวัดช่วยตัดเย็บ เพราะแต่ก่อนเย็บด้วยมือ
พอเย็บย้อมเสร็จก็นำจีวรนั้นไปตากไว้
ขณะนั้นท่านคงมีความรักชอบและยินดีในจีวรผืนนั้นมาก
บังเอิญตอนกลางคืนเกิดโรคเจ็บท้องขึ้นมาในปัจจุบัน และตายในกลางคืนนั้น
ด้วยความห่วงใยในจีวร ท่านเลยเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวรผืนนั้น

บรรดาพระสงฆ์มีจำนวนมากที่อยู่ในวัดนั้นก็ไม่มีองค์ใดพูดว่าอย่างไร
พระพุทธเจ้าต้องเสด็จมารับสั่งว่า
“จีวรผืนนี้จะแจกใครไม่ได้ภายใน ๗ วันนี้
เพราะพระติสสะตายแล้วมาเกิดเป็น “เล็น” เกาะอยู่ที่จีวรนี้แล้ว
และหึงหวงอยู่ในจีวรนี้ ต้องรอจนกว่า “เล็น” นี้ตายไปแล้วจึงจะแจกกันได้
สมควรจะแจกให้องค์ไหนก็ค่อยแจกไป แต่ในระยะเจ็ดวันนี้ยังแจกไม่ได้”
พระติสสะตายแล้วมาเกิดเป็น “เล็น” มาเกาะอยู่ที่จีวรนี้
และมีความหึงหวงจีวรนี้มากมายเวลานี้ กลัวใครจะมาแย่งเอาไป
นั่น ! ฟังดูซี จนกระทั่ง ๗ วันผ่านไปแล้วจึงรับสั่งว่า
“เวลานี้แจกได้แล้ว เล็นตัวนั้นตายแล้ว ไปสวรรค์แล้ว” นั่น ! ไปสวรรค์แล้ว !

ตอนที่ไปไม่ได้ทีแรกก็คงเป็นเพราะความห่วงใยนั่นเอง จึงต้องมาเกิดเป็นเล็น
แต่เวลาจะตายจากความเป็นเล็นนี้คงหายห่วงแล้ว จึงไปสวรรค์ได้
นี่เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าตรัสไว้มีใน “ธรรมบท”
ซึ่งเป็นพยานทางด้านจิตใจอย่างชัดเจน นี่แหละความเกาะความห่วงใย
เหมือนกับสัตว์ตัวกำลังรออยู่ปากคอก เช่น วัวเป็นต้น
จะเป็นตัวเล็กตัวใหญ่ ตัวผู้ตัวเมียก็ตาม ตัวไหนอยู่ปากคอกตัวนั้นต้องออกก่อน
จิตใจขณะใดที่จะออกก่อนได้ จะเป็นฝ่ายต่ำฝ่ายสูงก็ออกแสดงผลก่อนได้
เรื่องความจริงเป็นอย่างนั้น ท่านจึงสอนให้ระมัดระวัง
เพราะจิตเป็นของละเอียดและไม่มีกำลังโดยลำพังตนเอง ต้องอาศัยสิ่งอื่นผลักดัน
เช่น ฝ่ายต่ำผลักดัน ฝ่ายสูงพยุงส่งเสริม ให้เป็นอย่างไรก็เป็นไปได้

เราจึงต้องสั่งสมความดีอันเป็น “ฝ่ายสูง” ให้มากๆ
เพื่อจะผลักดันหรือส่งเสริมไปในทางดี
กระทั่งจิตหมดสิ่งผลักดันโดยประการทั้งปวงแล้ว
ไม่มี “ฝ่ายต่ำ” “ฝ่ายสูง”หรือว่า “ฝ่ายดี” ฝ่ายชั่ว” เข้าเกี่ยวข้อง
จิตเป็นอิสระโดยลำพังแล้วนั้นจึงหมดปัญหาโดยสิ้นเชิง
นั่นท่านเรียกว่า “จิตบริสุทธิ์”

จะมีผู้ใดสามารถมาสั่งสอนอุบายวิธีต่างๆ ในการแก้จิตใจ
ในการชำระความพยศของใจ ในการชำระสิ่งที่มัวหมองของใจ
ให้ออกจากใจได้โดยสิ้นเชิงเหมือนพระโอวาทของพระพุทธเจ้าบ้างไหม ?
การเกิดของโลกมนุษย์นั้น ยอมรับกันว่าเกิดกันมานานแสนนาน
แต่ไม่อาจยอมรับว่ามนุษย์ที่เกิดมานั้นๆ
จะมีความสามารถสั่งสอนโลกได้เหมือนศาสดา

โลกเรากว้างแสนกว้าง มีประมาณสักกี่ล้านคน ?
ใครจะมีอุบายวิธีหรือความรู้ความสามารถในทางความรู้ความฉลาด
เกี่ยวกับทางด้านจิตใจ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับใจนี้
และสั่งสอนให้ทราบทั้งสองอย่าง
คือจิตหนึ่ง สิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับใจมีอะไรบ้างหนึ่ง จะแก้ไขกันด้วยวิธีใดหนึ่ง
ไม่มีใครสามารถเหมือนพระพุทธเจ้าแม้รายเดียว
ท่านจึงกล่าวว่า “เอกํนามกึ” (อ่านว่า เอ-กัง-นา-มะ-กิง) หนึ่งไม่มีสอง
คืออะไร คือพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ได้ตรัสรู้ขึ้นมาในโลกแต่ละครั้ง
มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น เพราะความหาได้ยาก
ได้แก่ผู้เป็น “สัพพัญญู” แล้วมาสอนโลกนั่นเอง


ส่วนผู้ที่คอยรับจากผู้อื่น เพราะไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้นั้นมีมากมาย
เช่นพระสาวก “สาวก” แปลว่าผู้ฟัง
ต้องได้ยินได้ฟังอุบายต่างๆ จากพระพุทธเจ้ามาแล้วถึงจะรู้วิธีปฏิบัติต่อไปได้
แม้กระนั้นก็ยังต้องอาศัยพระองค์คอยตักเตือนสั่งสอนอยู่ตลอดเวลา
คือต้องคอยสั่งสอนอยู่เรื่อยๆ สมนามว่า “เอกํนามกึ” คือหนึ่งไม่มีสอง
ได้แก่พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ได้แต่เพียงครั้งละหนึ่งพระองค์เท่านั้น
มีจำนวนน้อยมาก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดได้ยาก นี่ประการหนึ่ง
ประการที่สอง พระวาจาที่แสดงออก
แสดงออกด้วยความรู้ความฉลาดอาจหาญที่เต็มไปด้วยความจริงทุกอย่าง
ได้ตรัสอย่างไรแล้วสิ่งนั้นต้องเป็นความจริงแท้ ไม่มีสอง
พระญาณหยั่งทราบเหตุการณ์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอนแม่นยำ


โลกไม่เป็นอย่างนั้นได้นี่ ชอบหยั่งทราบแต่เรื่องหลอกลวงตัวเอง
หยั่งทราบอย่างนั้น หยั่งทราบอย่างนี้ หลอกตัวเองแบบนั้น หลอกตัวเองแบบนี้
อยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ยังไม่เห็นโทษแห่งความหลอกลวงนั้นๆ
ยังอุตส่าห์เชื่อไปตาม ไม่มีวันเวลาถอยกลับ ตะเกียกตะกายล้มลุกคลุกคลาน
บึกบึนไปกับความหลอกลวงโดยไม่เห็นโทษของมันบ้างเลย
พากันเชื่อตามมันอย่างเอาจริงเอาจัง

นั่น ! ดูซิ มันผิดกันแค่ไหนล่ะกับพระญาณของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงหยั่งทราบอะไรๆ แล้วสิ่งนั้นๆ จริงทุกอย่าง
ไม่มีโกหกพกลมเลย แต่พวกเราหยั่งทราบอะไร
แม้เรื่องผ่านไปตั้งกัปตั้งกัลป์นานกาเล ยังอุตส่าห์ไปหยั่งทราบจนได้
และกว้านเข้ามาเผาตัวเอง หลอกตัวเองให้เป็นไฟไปจนได้
พวกเราคือพวกตื่น “เงา” ตัวเอง พวกเล่นกับ “เงา” ตัวเอง
ก็ “เงาเรา” น่ะซิ อารมณ์น่ะไม่รู้หรือ อารมณ์อดีตเป็นมาสักกี่ปีกี่เดือน ดีชั่วอะไร
ยังมาครุ่นมาคิดมาบริกรรมมาคุกรุ่นอยู่ในใจ เผาเจ้าของให้ยุ่งไปหมด
ทั้งนี้ส่วนมากไม่ใช่ของดี มีแต่ของชั่วแทบทั้งนั้น
อารมณ์อดีตไปคิดขึ้นมายุ่งเจ้าของยิ่งกว่าสุนัขเกาหมัด
อยู่ที่นั้นก็ว่าไม่สบาย อยู่ที่นี่ก็ว่าไม่สบาย ก็จะสบายได้อย่างไร
มัวเกาแต่อารมณ์ทั้งอดีตอนาคตยุ่งไปตลอดเวลาและอิริยาบถ

สิ่งที่กล่าวมานักปฏิบัติจำต้องพิจารณาด้วยปัญญา
ไม่เช่นนั้นจะเป็นทำนอง “หมาเกาหมัด” เกาหมัดอยู่นั่นแล
หาความสุขกายสบายใจไม่ได้เลย ตลอดวันตายก็ตายเปล่าอย่างน่าสงสาร
เอ้า พูดอย่างถึงเหตุถึงผลเป็นที่แน่ใจสำหรับเราผู้ปฏิบัติ
ไม่ว่ามนุษย์จะมีมากน้อยเพียงไร คนในโลกนี้มีเท่าไร เราจะเชื่อผู้ใด
เพราะต่างคนต่างหูหนวกตาบอด ทางความรู้ความเห็นอันเป็นอรรถเป็นธรรม
มีแต่ด้นๆ เดาๆ ไปด้วยกัน ถามใครก็แบบเดียวกับถามเรื่องแสงเรื่องสีกับคนตาบอด
มันได้อะไรที่เป็นคำตอบที่เชื่อถือได้ ? เปล่าทั้งเพ !
ถามเรื่องเสียงกับคนหูหนวก มีกี่คนถ้าเป็นคนหูหนวกมาแต่กำเนิดด้วยกันแล้ว
มันก็ไม่ได้เรื่องทั้งนั้น !

คนประเภท “หนวก บอด ภายในใจ” นี้ก็ทำนองเดียวกัน
จำพวกนี้ไม่ว่าท่านว่าเราโกหกตัวเองและโกหกผู้อื่นเก่งไม่มีใครเกินหน้า
เราจะเชื่อผู้ใดให้ยิ่งกว่าพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่แสดงออกมาจากความรู้จริงเห็นจริงจริงๆ ในสามโลกธาตุนี้ไม่มีใครเกินพระองค์!
เมื่อคิดโดยทางเหตุผลเป็นที่ลงใจได้แล้วอย่างนี้ กำลังทางด้านจิตใจก็เพิ่มขึ้น
ศรัทธาก็เพิ่ม วิริยะก็เพิ่ม สติ สมาธิ ปัญญา ก็เพิ่มขึ้นตามๆ กัน

เพราะอำนาจแห่งความเชื่อ “พุทธ ธรรม สงฆ์” เป็นเครื่องสนับสนุนให้มีกำลังใจ
เพราะเราเชื่อตัวเองก็ยังเชื่อไม่ได้ รวนเรเร่ร่อนอยู่ตลอดเวลา
ไม่ทราบว่าจะไปทางไหน จะยึดอะไรเป็นหลักใจ
สถานที่จะไปของจิตก็ยังไม่ทราบ จะไปยังไงก็ไม่รู้
ไม่ทราบจะไปดีไปชั่ว เพราะความแน่นอนใจไม่มี
เนื่องจาก “ธรรม” ซึ่งเป็นความแน่นอนไม่ได้หยั่ง
หรือไม่ซึมซาบเข้าถึงจิตใจพอจะเป็นที่เชื่อถือตนได้
ใจเมื่อมีสิ่งที่แน่นอน มีสิ่งที่อาจหาญ มีสิ่งที่แน่ใจเข้าแทรกใจได้
ย่อมสามารถ ย่อมแน่ใจได้
เพราะฉะนั้นจึงควรสร้างความแน่ใจขึ้นภายในจิตใจด้วยข้อปฏิบัติ

เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ ทราบกันมาตั้งแต่วันเกิด !
เกิดก็เกิดมากับกองทุกข์นี่ เราไม่ได้เกิดมากับสวรรค์นิพพานที่ไหน
ในขณะเกิดก็เกิดมากับกองทุกข์ รอดจากทุกข์ขึ้นมาเมื่อไม่ตายถึงมาเป็นคน
เราจะไปตื่นเต้นตกใจเสียอกเสียใจกลัวอะไรกับทุกข์
ก็เกิดมากับความทุกข์ อยู่กับความทุกข์ตลอดเวลานี่
หากจะเป็นอะไรก็เป็นไปแล้ว เวลานี้ไม่ได้เป็นอะไร
จะฉิบหายวายปวงหรือตายไปเราก็ไม่ได้ตาย
เราผ่านพ้นมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบันนี้

ยิ่งเวลานี้เป็นเวลาที่เราจะประพฤติปฏิบัติตัว
ด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงโดยทางสติปัญญา
เราจะกลัวทุกข์ ซึ่งขัดกับหลักเหตุผลที่จะให้ทราบเรื่องของทุกข์
จะทราบความจริงได้อย่างไร ? ถ้ากลัวต้องกลัวด้วยเหตุผล
อย่างพระพุทธเจ้าท่านกลัวทุกข์ พระสาวกท่านกลัวทุกข์
ท่านพิจารณาเพื่อหาทางหลบหลีกจากทุกข์
โดยทางสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร นั้นถูกต้อง !
การกลัวทุกข์ด้วยความท้อแท้อ่อนแอนี้ไม่ใช่ทาง !
ทุกข์เป็นยังไงกำหนดให้รู้ เกิดกับทุกข์ทำไมไม่รู้เรื่องของทุกข์
เกิดกับ “สมุทัย” คือกิเลสตัณหาอาสวะ ทำไมจะไม่รู้เรื่องของสมุทัย
สิ่งที่จะให้รู้มีอยู่ สติ ปัญญา มีอยู่กับทุกคน

ศาสนาธรรมท่านสอนไว้กับ “หัวใจของบุคคล” แท้ๆ
สติได้หามาจากไหน ไม่ต้องไปซื้อหามาจากตลาด ปัญญาก็เช่นนั้น
จงพินิจพิจารณา พยายามคิดอ่านซอกแซกทบหน้าทวนหลัง
อย่าคิดไปหน้าเดียว ถ้าคิดไปหน้าเดียวไม่รอบคอบ
มีช่องโหว่ตรงไหนนั่นแหละ ถ้าเป็นบ้านโจรผู้ร้ายก็เข้าช่องนั้น
ช่องโหว่ของจิตอยู่ที่ตรงไหน กิเลสอาสวะเข้าที่ตรงนั้น
เพราะกิเลสอาสวะ “คอยที่จะแทรกจิตใจ” อยู่ตลอดเวลา
ต้องฝึกหัดสติปัญญาให้ดี
อย่าให้เสียเวล่ำเวลากับสิ่งใดยิ่งกว่าเสียกับความเพียร
ซึ่งเป็นผลประโยชน์อย่างยิ่งกับตัวเราโดยเฉพาะ


นี่เป็นจุดสำคัญ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนบรรดาสงฆ์สาวก
พระสงฆ์ที่ทูลลาพระองค์ไปเที่ยวกรรมฐาน
ไปเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ
ท่านเหล่านี้เป็นผู้กำลังศึกษา
ถ้าสำเร็จเป็นอริยบุคคล ก็ต้องอยู่ในขั้น “เสขบุคคล”
ที่จะต้องศึกษาเพื่อธรรมขั้นสูงขั้นไป
เวลามาทูลลาพระพุทธเจ้าจะไปบำเพ็ญสมณธรรม ท่านก็รับสั่งว่า
“เธอทั้งหลายไปอยู่ในสถานที่ใด อย่าปราศจาก “ที่พึ่ง” นะ”
“การอยู่ไม่มีที่พึ่งนั้นหาความหมายไม่ได้เลย
ไม่มีความหมายในตัวเอง หาคุณค่าไม่ได้
พวกเธอทั้งหลายจงหาธรรมที่มีคุณค่ามากเป็นที่พึ่ง
ธรรมที่มีคุณค่านั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะสถานใดเหตุใด
ถ้าไม่เกิดขึ้นได้กับความมีสติ ความมีความเพียร
มีสติปัญญาอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถต่างๆ
นี้แลธรรมมีคุณค่าที่จะให้สมณธรรมเจริญรุ่งเรือง
กลายเป็นคนที่มีคุณค่าขึ้นมาภายในตน”

เราฟังพระโอวาทท่านซี น่าฟังไหม !
บรรดาพระสงฆ์ที่ได้รับพระโอวาทจากพระองค์แล้ว
ต่างองค์ต่างเสาะแสวงหา“สมณธรรม”
บำเพ็ญธรรมอยู่ในสถานที่ใด ท่านจึงได้ไปด้วยความสงบเสงี่ยมเป็นสุขใจ
เป็นไปด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาท แล้วหาที่เด็ดๆ เดี่ยวๆ
เพื่อความเหมาะสมแก่การแก้กิเลส การฆ่ากิเลสนั่นเอง พูดง่ายๆ
เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้นแล้วเรื่องความเพียรก็มาเองแหละ
ตามปกติมีแต่ความขี้เกียจทับถมอยู่ตลอดเวลามองหาตัวจนแทบไม่เห็นไม่เจอนั่นแล
มีแต่ความเกียจคร้าน มักง่าย ความอ่อนแอ เต็มอยู่ในตัวของบุคคลทั้งคน
เหยียบย่างไปไหนโดนแต่ความขี้เกียจของตน
แต่เวลาเข้าไปสู่สถานที่เช่นนั้น ความขี้เกียจมันหมอบตัว
ความขยันหมั่นเพียรค่อยปรากฏตัวขึ้นมา
เพราะสถานที่เป็นสิ่งแวดล้อมอันสำคัญประมาทไม่ได้
เรามีความมุ่งหมายอย่างไรจึงต้องมาอยู่สถานที่นี้ ?

ความมุ่งหมายเดิม เจตนาเดิมเป็นอย่างไร
ก็คือมุ่งหาสมณธรรม มาหาที่สำคัญที่เด็ดๆ เดี่ยวๆ
เพื่อจะได้ตั้งสติ คิดอ่านด้วยปัญญา พยุงความเพียรอย่างเข้มแข็ง
เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งไปอยู่สถานที่เช่นนั้นด้วยแล้ว “สติ” ก็มาเอง เพราะความระวังตัว
ใครจะไม่กลัวและเสียดายชีวิตล่ะ ไม่เสียดายชีวิต ไม่หึงหวงชีวิตมีเหรอ ? คนทั้งคนน่ะ
แม้ว่าธรรมจะมีคุณค่ามาก แต่ในระยะที่จิตมีความหึงหวงในชีวิต
ซึ่งกลายเป็นของมีคุณค่ามากยิ่งกว่าธรรมยังมี ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสอันหนึ่ง
แต่กิเลสคือความหึงหวงชีวิต เป็นกิเลสที่จะให้เกิด “ธรรม” ได้
คือให้เกิดความขยันหมั่นเพียรในการที่จะประกอบความเพียร


เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ทีนี้มอบได้แล้ว
ตายกับธรรมอย่างเดียวไม่เกี่ยวเกาะกับอะไร มีสติสตัง อยู่ตลอดเวลา
เดินอยู่ในสถานที่ใด นั่งอยู่ในสถานที่ใด เป็นกับตายไม่ต้องเอามายุ่ง
ขอให้รู้เรื่องของจิตที่กระดิกตัวออกมาหลอกลวงตนเองว่ามันปรุงเรื่องอะไร
ปรุงเรื่องเสือ เรื่องช้าง เรื่องอันตราย เรื่องงู เรื่องอะไรก็แล้วแต่
มันปรุงขึ้นที่ตรงไหนก็แล้วกัน
มันปรุงขึ้นที่ใจ ตัวนี้เป็นตัวหลอกลวง จิตขยับเข้าไปตรงนี้ๆ
เรื่องว่าเสือว่าช้างที่เป็นอันตรายภายนอก มันเลยหายกังวล
เพราะตัวนี้เป็นตัวก่อกรรม ตัวนี้เป็นตัวหลอกลวง
สติปัญญาโหมตัวเข้ามาจับจุดที่ตรงนี้
ซึ่งเป็นตัว ”โจรผู้ร้าย” ยุแหย่ก่อกวนจนได้ที่
เมื่อเห็นจุดสำคัญที่เป็นตัวก่อเหตุแล้ว จุดที่ก่อเหตุนี้ก็ระงับตัวลงได้
เพราะอำนาจของสติ อำนาจของปัญญาค้นคว้าลง

จนข้าศึกที่จะปรุงเป็นเสือเป็นช้างเป็นต้นหมอบราบลง

เรื่องความกลัวหายหมด จะไม่หายยังไง ก็ผู้ไปปรุงมันไม่ปรุงนี่
เพราะรู้ตัวของมันแล้วว่า “นี่ตัวอันตรายอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่กับเสือกับช้างอะไรที่ไหน
ถึงความตายอยู่ที่ไหนก็ตาย คนเรามี “ป่าช้า” อยู่ทุกแห่งทุกหนทุกอิริยาบถ
แน่ะ ! ไปหวั่นไปไหวอะไรกับเรื่องความเป็นความตาย
กิเลสที่มันครอบคลุมอยู่ที่หัวใจนี้เป็นภัยอันสำคัญอยู่ตลอดเวลา
ทุกภพทุกชาติด้วย จึงควรจะแก้ที่ตรงนี้
เช่น ความกลัวมันเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง
ต้องใช้สติปัญญาหันเข้ามาที่นี่ ย้อนเข้าที่นี่ จิตก็สงบตัวลงไปเท่านั้น
เมื่อจิตสงบตัวลงไป ถึงจะคิดจะปรุงได้อยู่ก็ตาม แต่ความกลัวไม่มี
เพราะจิตได้ฐานที่มั่นคงภายในใจแล้ว
นี่เราเห็นคุณค่า เราเห็นผลประโยชน์จากสถานที่นี้ด้วยความเพียรอย่างนี้
ก็ยิ่งขยันเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อธรรมขั้นสูง
ต้องหาที่เด็ดเดี่ยวไปโดยลำดับ เพื่อธรรมขั้นสูงยิ่งกว่านี้ขึ้นไป

การประกอบความเพียรในที่คับขันเช่นนั้น เป็นผลประโยชน์ได้เร็วยิ่งกว่าที่ธรรมดา
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุนมีน้อยก็อยากจะได้กำไรมากๆ จะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม
ก็ต้องหาที่เช่นนั้นเป็นทำเลหากินและซื้อขายละซิ
เมื่อกิเลสหมอบลงแล้ว ใจรื่นเริงบันเทิงอยู่กับอรรถกับธรรม
เห็นทั้งโทษเห็นทั้งคุณภายในจิตใจผู้หลอกลวง ผู้ก่อกวน ผู้ยุแหย่ต่างๆ
ให้เกิดความสะทกสะท้านหวั่นไหว ให้เกิดความกลัวเป็นกลัวตายอะไร
มันอยู่ในจิตใจ รู้เรื่องของมันในที่นี่แล้ว กิเลสก็สงบ ธรรมก็ก้าวหน้า

เรื่องเหล่านี้สงบก็เรียกว่า “ข้าศึกสงบ” ใจก็เย็นสบาย เอ้าเดิน
เสือจะกระหึ่มๆ อยู่ ก็กระหึ่มไป เพียงเสียงอันหนึ่งเท่านั้น
เขาก็ตายนี่ เสือก็มีป่าช้าเต็มตัวของมัน
เราก็มีป่าช้าเต็มตัวของเรา กลัวอะไรกับสัตว์กับเสือ!
กิเลสกัดหัวใจอยู่ตลอดเวลาทำไมไม่กลัว นี่ ! เอาที่ตรงนี้ !
บทเวลาจะพาเอาจริงเอาจัง ให้หมุนติ้วๆ จนเกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้นมาที่นี่
จิตก็จริงจังอย่างเต็มภูมิ เสือจะมีสักกี่ร้อยตัวกี่พันตัวก็มาเถอะ
เสือนั่นน่ะ ! เราก็เป็นสัตว์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันเหมือนสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นหมด
ไม่เห็นมีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน จิตมันคิดไปอย่างนั้นเสีย
มันรู้ไปอย่างนั้นเสีย จิตก็เลยรื่นเริงบันเทิง สบาย
แล้วกิเลสค่อยหมดไปๆ หรือหมอบลงๆ ราวกับตัวแบนแนบติดพื้นนั่นแล
โผล่หัวขึ้นมาไม่ได้เดี๋ยวถูกสังหารเรียบไป

อ้าว ทีนี้ค้นทางด้านปัญญา เมื่อสิ่งกังวลภายนอกที่จิตไปเกี่ยวข้องระงับตัวลงไปๆ
เพราะไม่คิดไม่ยุ่ง เนื่องจากสติปัญญาตีต้อนเข้ามาแล้ว
เราค้นวงภายในที่นี้ เอ้า ค้นลงไปเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ
เอาหลักพระพุทธเจ้า เอาหลัก “สวากขาตธรรม”
เข้าไปเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นเครื่องยืนยัน
เพราะเป็นธรรมชาติที่ให้ความเชื่อถือได้ ค้นลงไป !
ท่านว่า “อนิจฺจํ” อะไรเป็นอนิจฺจํ ?
ดูให้เห็นชัดเจนตามความจริงที่พระองค์ทรงสอนไว้
ซึ่งเป็นความจริงล้วนๆ นั้น เวลานี้จิตของเรามันปลอม
อันนี้เป็น “อนิจฺจํ” มันก็ว่าเป็น “นิจฺจํ” อันนี้เป็น “ทุกฺขํ” มันก็ว่า “สุขํ”
อันนี้เป็น “อนตฺตา” มันก็ว่าเป็น “อตฺตา” ตัวตนอยู่อย่างนั้นแหละ
อะไรๆ มันก็ไปกว้านมาเป็นตัวเป็นตนไปหมด
มันฝืนธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ร่ำไป

เมื่อเข้าไปอยู่ในที่คับขันเช่นนั้นแล้วมันไม่ฝืน มันยอม !
เมื่อยอมพระพุทธเจ้าแล้วมันก็เป็นธรรมเท่านั้นเอง
(๑) อย่างน้อยก็ “สมณธรรม” คือ ความสงบเย็นใจ

(๒) ยิ่งกว่านั้น ก็คือความเฉลียวฉลาดทางด้านปัญญา
แยกธาตุแยกขันธ์เห็นอย่างประจักษ์ เวลาเห็นชัดเจนแล้วก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรนี่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ชอบจริงๆ เปิดเผยอยู่ด้วยความจริง สอนด้วยความจริง
สิ่งที่สอนก็เป็นความเปิดเผยอยู่ตามธรรมชาติของตน ไม่มีอะไรปิดบังลี้ลับ
นอกจากความโง่ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสเท่านั้น
ปิดบังตัวเองไม่ให้รู้ความจริงที่เปิดเผยอยู่ตามหลักธรรมชาติของตนได้
เมื่อพิจารณาไม่หยุดไม่ถอย มันก็รู้เข้ามาเอง
ให้ถือธาตุขันธ์ อายตนะนี้แลเป็นสนามรบ เป็นสถานที่ทำงาน
ที่เรียกว่า “กัมมัฏฐานๆ” น่ะ กรรมฐานก็ใช้ได้ไม่เป็นกรรมฐานปลอม

พิจารณาตรงนี้แหละ มันติดที่ตรงนี้ ไม่ติดอะไรเป็นสำคัญ แต่ติดตรงนี้
จงค้นคว้าดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ดูทุกแง่ทุกมุมแห่งอวัยวะ
เมื่อถึงกาลที่ธรรมจะซึมซาบแล้วก็เหมือนไฟได้เชื้อ
มันสืบต่อไปไหม้ลุกลามไปเรื่อย จนหมดเชื้อจึงจะหยุด

(๓) พอถึงขั้นปัญญาที่จะซึมซาบให้เห็นอวัยวะส่วนต่างๆ
ซึ่งมีความเสมอกัน มันแทงทะลุปรุโปร่งไปหมด หายสงสัย
ปล่อยวางได้ตามความจริง เบาหวิวไปเลย
แน่ะ! การพิจารณา พิจารณาอย่างนั้น นี่แหละตัวจริง !
ตำรับตำราท่านสอนไว้มากน้อยกี่คัมภีร์ สอบเข้ามาหาตัวจริงนี่แล
เช่น “สมาธิ” อะไรเป็นสมาธิ หนังสือไม่ได้เป็นสมาธิเป็นตัวหนังสือ
กิเลส หนังสือไม่ได้เป็นกิเลส ใจของเราเป็นกิเลส
แน่ะ ! ปัญญา หนังสือไม่ได้เป็นปัญญา เป็นชื่อของปัญญาต่างหาก
เป็นชื่อของกิเลส เป็นชื่อของกองทุกข์ต่างหาก
ตัวทุกข์จริงๆ คือตัวเรา ตัวกิเลสจริงๆ
คือใจของเรา ตัวปัญญาจริงๆ อยู่ที่ใจของเรา
ตำราท่านสอนชี้เข้ามาที่นี่ๆ จึงว่า “ให้โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวเรา”
ให้เห็นความจริงอยู่ในสถานที่นี้
ความมืดมิดปิดตาก็ปิดอยู่ที่นี่ เวลาสว่างก็สว่างขึ้นที่นี่ !

การพิจารณาด้วยปัญญา ก็เพื่อจะเปิดสิ่งที่ปิดกำบัง
อันฝืนธรรมทั้งหลายนั้นออกไปถึงขั้นความจริง
จิตใจของเราก็จะโล่งและเห็นตามความจริง “โลกวิทู” รู้แจ้งโลก
รู้อะไร ถ้าไม่รู้แจ้งสิ่งที่ปิดบังอยู่ภายในธาตุในขันธ์ของเรานี้ก่อนอื่น
ไม่มีอะไรจะรู้ ต้องรู้ที่นี่ก่อน !

ทุกข์ก็ปิดบัง สมุทัยก็ปิดบัง เมื่อเกิดทุกข์ขึ้นมา ธรรมอยู่ที่ไหนก็ล้มเหลวไปหมด
แน่ะ! มันปิดบังมันทำลายธรรมของเราได้หมด วิริยธรรมก็ถูกทำลาย
สติปัญญาธรรมก็ถูกทำลาย ขันติธรรมก็ถูกทำลายด้วยอำนาจแห่งความทุกข์

ถ้าสติปัญญาไม่สามารถแก่กล้า ไม่มีความอาจหาญจริงๆ
จะเปิดความทุกข์นี้ขึ้นมาให้เห็นเป็นของจริงไม่ได้
ทั้งๆ ที่ทุกข์นั้นเป็นของจริงอันหนึ่ง แต่เราก็คว้าเอามาเป็นของปลอม
เป็นฟืนเป็นไฟเผาจิตใจของตนจนแหลกเหลวไปได้
ทำความเพียรติดต่อกันไม่ได้เลยเพราะทุกข์เข้าไปทำลาย
อะไรปิดบังจิตใจ ? ก็ทุกข์นี่เองเป็นเครื่องปิดบัง สมุทัยก็เหมือนกัน
คิดอะไรหลอกขึ้นมาตั้งแต่เรื่องปิดบังเรื่องจอมปลอมทั้งนั้น
เราก็เชื่อมันไปโดยลำดับๆ ก็ยิ่งเพิ่มทุกข์ขึ้นมามากมาย
ต้องใช้ “สติ ปัญญา” เปิดสิ่งเหล่านี้ให้เห็นตามความจริงของมัน
เมื่อสติปัญญา “จ่อ” เข้าไปถึงไหน รู้เข้าไปถึงไหน
ความรู้แจ้งเห็นจริงและการปล่อยวาง จะปรากฏขึ้นมา เด่นขึ้นมา
แล้วความปล่อยวางจะเป็นไปเอง ค่อยปล่อยวางไปเรื่อยๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆ
ตามความซาบซึ้งของปัญญาที่มีกำลังเป็นลำดับ จนหมดปัญหา

คำว่า “ธาตุขันธ์” พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ได้ ๒๕๐๐ กว่าปีนี้
ล้วนแต่เป็นความจริงตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ทำไมถึงเพิ่งมาทราบกันวันนี้รู้กันวันนี้ ธาตุขันธ์มีมาตั้งแต่วันเกิด
ทำไมแต่ก่อนไม่เห็นกายของเราว่าเป็น “อนิจฺจํ” ก็ไม่เห็น เป็น “ทุกฺขํ” ก็ไม่เห็น
เป็น “อนตฺตา” ก็ไม่เห็น เป็น “อสุภะอสุภัง” อะไรๆ ก็ไม่เห็น
ทั้งที่มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้นแต่ใจก็ไม่เห็น
แล้วทำไมเพิ่งมาเห็นกันวันนี้ ! สิ่งเหล่านี้เพิ่งมีวันนี้เท่านั้นหรือ ?
เปล่า ! มีมาตั้งแต่วันเกิด ! แต่เพราะความมืดมิดปิดตาบังอยู่อย่างหนาแน่น
แม้สิ่งเหล่านี้จะมีอยู่กับตัวเราก็ไม่เห็น ตัวเราอยู่กับ “อนิจฺจํ” ก็ไม่เห็น อนิจฺจํ
อยู่กับ “ทุกฺขํ” ก็ไม่เห็น ทุกฺขํ อยู่กับ “อนตฺตา” ก็ไม่เห็น อนตฺตา
แล้วจะเห็น “ธรรมหรือความจริงแท้แน่นอน” ได้ที่ไหนกัน !

เมื่อสติปัญญาหยั่งลงไปก็เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ
ไม่ต้องบอกเรื่อง “อุปาทาน” จะขาดสะบั้นไปมากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับสติปัญญา ให้พิจารณาเต็มพลัง
ฉะนั้นจงผลิตสติปัญญาขึ้นให้มาก
อย่ากลัวจิตตาย อย่ากลัวจิตฉิบหาย อย่ากลัวจิตล่มจม
ธรรมชาตินี้ไม่ล่มจม เพราะธรรมชาตินี้เท่านั้นที่จะพิจารณาสิ่งทั้งหลาย
สิ่งเหล่านี้ก็อาศัยธรรมชาตินี้อยู่ด้วยกันไป
ถ้าเราหลงถือว่าเป็นเรา สิ่งนั้นก็เป็นภัยต่อเราได้
ถ้าเรารู้ก็ต่างอันต่างจริง อยู่ด้วยกันสะดวกสบายในที่ทั้งหลาย !

นักรบต้องเป็นผู้กล้าหาญต่อความจริง ให้เห็นความจริง
จิตเป็นผู้ที่ชอบรู้ชอบเห็น มีนิสัยอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา
ขอให้น้อมความอยากรู้อยากเห็นนั้นเข้ามาสู่ “สัจธรรม”
ให้อยากรู้อยากเห็นใน “สัจธรรม” คือความจริง

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเป็นความจริง จริงแค่ไหนให้เห็นด้วยสติปัญญาของตัวเอง
จะเป็นที่หายสงสัยว่า อ้อ พระพุทธเจ้าท่านว่าสัจธรรมเป็นของจริง จริงอย่างนี้ !
อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ ทุกข์ก็จริงอย่างนี้ สมุทัยก็จริงอย่างนี้
ปัญญาก็จริงอย่างนี้ จิตก็จริงอย่างนี้ เห็นได้ชัดๆ หายสงสัย
เรื่องพระพุทธเจ้าก็หายสงสัย
เรื่องความพากเพียรของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญอย่างไรมาบ้าง ก็หายสงสัย
อุบายวิธีต่างๆ ที่ทรงสอนไว้อย่างไร หายสงสัยไปหมด
นั่น ! เมื่อถึงขั้นนั้นหายสงสัย หายไปโดยลำดับจนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

เพราะฉะนั้นจงพิจารณา “ขันธ์” ของเรานี้ เอาให้ดี
ยิ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยแล้วเราจะนอนใจไม่ได้
เอาลงให้เห็นเหตุเห็นผลกันจนกระทั่งสิ้นลม
เอ้า ลมมันสิ้นไปจากตัวของเรานี้ก็ไม่ฉิบหาย
มันก็ไปเป็น “ลม” ตามเดิม มันเพียงผ่านจากเราไปต่างหาก
คำว่า “เรา” เอาดินเอาน้ำเอาลมเอาไฟมาเป็น “เรา”
ดินสลายลงไปจากคำว่าเรานี้ก็ไปเป็นดิน
น้ำสลายลงไปจากคำว่าเรานี้ก็ไปเป็น “น้ำ” ไปเป็นลม ไปเป็นไฟ
ธรรมชาติคือใจนี้ก็เป็น “ใจ”
แยกกันให้เห็นตามกำลังของสติปัญญาของเราอย่าท้อเลย !

นี่เหละความช่วยตัวเองช่วยอย่างนี้ ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถช่วยเราได้
ยิ่งถึงขั้นจำเป็นจำใจ ขั้นจนตรอกจนมุมจริงๆ แล้ว
มีแต่นั่งดูกันเฉยๆ นั่นแหละ ไม่มีใครที่จะช่วยเราได้
ถ้าเราไม่รีบช่วยเราด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ของเราเสียตั้งแต่บัดนี้
จนเป็นที่พอใจ เป็นที่แน่ใจ

ส่วนความต้องการเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรนั้นไม่มีความหมาย
ถ้าความเพียรไม่เป็นเครื่องสนับสนุน ความเพียรจึงเป็นสิ่งสำคัญ
อดทนต่อความจริง อดทนต่ออรรถต่อธรรมไม่เสียหาย
เราอดทนต่อสิ่งอื่น ตรากตรำต่อสิ่งอื่นๆ เราเคยตรากตรำมามากแล้ว เราเคย !
คำว่า “เราเคย” แล้วสิ่งนี้ทำไมเราจะไม่สามารถ
ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ “เพชฌฆาต”
พอจะฆ่าคนที่มีความเพียรอันกล้าหาญให้ฉิบหายวายปวงไปนี่
นอกจากฆ่ากิเลสอาสวะซึ่งเป็นตัวข้าศึกอยู่ภายในจิตใจให้เราลุ่มหลงไปตามเท่านั้น

จงพิจารณาลงให้เห็นชัดเจน ดูให้ดีสิ่งเหล่านี้กับจิตมันสนิทกันมาเป็นเวลานาน
ติดจมกันมาเป็นเวลานาน จนแยกไม่ออกว่า “อะไรเป็นเรา อะไรเป็นธาตุเป็นขันธ์”
จึงรวมเอามาหมดนี้ว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรา
ตามหลักความจริงของท่านผู้รู้ไปแล้วท่านเห็นอย่างนั้นจริง แต่จิตของเรามันฝืนอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเรื่องทุกข์มันจึงแทรกเข้ามาตามความฝืนซึ่งเป็นของผิดนั้น
ให้ได้รับความลำบากอยู่เสมอ
ถ้าเดินตามหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วนี้
และรู้ตามนี้แล้วจะไม่มีปัญหาอะไร ธาตุก็เป็นธาตุ ขันธ์ก็เป็นขันธ์
ให้ชื่อมันว่าอย่างไรก็เถอะ “เขา” เป็นสภาพของเขานั่นแหละ
เราเป็นผู้ให้ชื่อ “เขา” ว่า “นี่เป็นธาตุ นั่นเป็นขันธ์ นี่เป็นรูป
นั่นเป็นเวทนา นั่นเป็นสัญญา นี่เป็นสังขาร นั่นเป็นวิญญาณ”

ขอให้ปัญญารู้ทั่วถึงเท่านั้นแหละ มันหมดสมมุติไปเอง
แม้ไม่ไปสมมุติมันก็เป็น “อาการหนึ่งๆ” เท่านั้น
เมื่อทราบความหมายของจิตเสียอย่างเดียวเท่านั้น
สิ่งนั้นๆ ก็เป็นความจริงของมันล้วนๆ
จิตก็มาเป็นความจริงของตนล้วนๆ ไม่คละเคล้ากัน
จงพิจารณาให้เห็นชัดอย่างนี้ เห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วก็ค้นลงไป
มันอะไรกัน จิตดวงนี้ทำไมถึงได้ขยันนักกับเรื่องเกิดเรื่องตาย
ทั้งๆ ที่โลกก็กลัวกันนักหนา
เราเองก็กลัวความตาย แต่ทำไมความเกิดนี้จึงขยันนัก
ตายปั๊บเกิดปุ๊บ แน่ะ ! เกิดปุ๊บก็แบกเอาทุกข์ปุ๊บ
แน่ ! ทำไมจึงขยันนัก พิจารณาให้เห็น

มันเกิดไปจากอะไร ? เรื่องอะไรพาให้เกิด?
ถ้าไม่ใช่จากจิตที่มีเชื้ออันสำคัญแฝงอยู่ภายในนี้
จะเป็นอะไรพาให้เกิดพาให้เป็นทุกข์ การเกิดเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์
พิจารณาลงไปค้นลงไป เอ้า อะไรจะฉิบหายให้เห็นให้รู้
เพราะเราต้องการความจริงนี่
อะไรจะฉิบหายลงไปให้มันรู้ด้วยปัญญาของเรา รู้ด้วยจิตของเรา
อะไรมันไม่ฉิบหายก็ให้รู้ด้วยจิตของเราอีกนั่นแหละ จะหมดปัญหาอยู่ที่จุดนั้น
ปัญหาใหญ่อยู่ที่จิตกว้านอะไรๆ รวมเข้ามาไว้ในตัวหมด ไปกว้านเอาข้างนอกเข้ามา
พอถูกตัดด้วยสติปัญญาแล้วก็หดตัวไปอยู่ภายใน
ไปหลบซ่อนอยู่ภายในจิตนั้น จิตก็ถืออันนี้ว่าเป็นตนอีก ก็หลงอีก
เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาเข้าไปอีก
ฟันเข้าไป ฟาดเข้าไปให้แหลกละเอียดไปตามๆ กันหมด

อะไรที่ไม่ใช่ของจริงในหลักธรรมชาติซึ่งมีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว มันจะสลายตัวลงไป
อันใดเป็นธรรมชาติของตัวเองแล้วจะไม่สลาย เช่นความรู้
เมื่อแยกสิ่งที่แปลกปลอม สิ่งที่แทรกซึมทั้งหลายออกหมดแล้ว
จิตก็เลยเป็นจิตล้วนๆ เป็นความบริสุทธิ์ จะฉิบหายไปไหนความบริสุทธิ์น่ะ !
ลองค้นหาดูซิ ป่าช้าแห่งความบริสุทธิ์ ป่าช้าแห่งจิตนี้ไม่มี ไม่ปรากฏ !

ยิ่งชำระสิ่งจอมปลอมที่พาให้ไปเที่ยวเกิดในร่างนั้น
ถือในร่างนั้นร่างนี้ ออกหมดแล้ว ยิ่งเป็นความเด่นชัด
นี้แลท่านว่า “ธรรมประเสริฐ” ! ประเสริฐที่ตรงนี้
แต่ก่อนผู้นี้แหละเป็นตัวสำคัญหลอกลวงตัวเองอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่พาให้หลอกมันอยู่ในจิต จิตนี้จึงเป็นเหมือนลูกฟุตบอลนั่นแหละ
ถูกเตะกลิ้งไปกลิ้งมา กิเลสนี้แหละมันเตะ ฟันขากิเลสให้แหลกเสียมันจะได้ไม่เตะ
ฟันด้วยปัญญาของเรา ด้วยสติของเราให้แหลกหมด ให้ตรงแน่ว
นิพพานเที่ยงจะไปถามที่ไหนเล่า ?
พอถึงจุดที่เที่ยง คือไม่มีอะไรที่จะเข้ามาแทรกสิงได้อีกแล้ว มันก็ไม่เอนไม่เอียง
นั่นแหละ “สนฺทิฏฺฐิโก” รู้กันตรงนี้ เป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” อันเต็มภูมิ

“ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้จำเพาะตน
รู้ที่ตรงนี้เป็นจุดสุดท้าย รู้ที่ตรงนี้แล้วเรื่องก็หมดที่ตรงนี้
เรื่อง “ป่าช้า” ทั้งหลาย เคยเป็นความเกิดความตายมาเท่าไรๆ แล้ว
มาดับกันที่ตรงนี้ นี่เรียกว่า “งานล้างป่าช้า” คืองานกรรมฐาน ! ฐานนี่แหละ
งานล้างป่าช้าของตนล้างที่ตรงนี้ ภพน้อยภพใหญ่ล้างออกให้หมดไม่มีอะไรเหลือ
นี่ผลที่เกิดขึ้นจากประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก
เข้าอยู่ในป่าในเขา การฝึกฝนทรมานตนไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ไป “เที่ยวกัมมัฏฐาน” ไปเที่ยวแบบนี้แหละ

ทีนี้คำว่า “กัมมัฏฐาน” (กรรมฐาน) นี้มีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่ว่านักบวช ไม่ว่าฆราวาส
“กัมมัฏฐาน” คืออะไร ? เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นั่น! “ตจปัญจกกัมมัฏฐาน”
แปลว่า กัมมัฏฐานมี “หนัง” เป็นที่ห้า เป็นคำรบห้า
ก็มีอยู่กันทุกคนนี่ไม่ว่าพระว่าเณร พิจารณาตรงนี้เรียกว่า “พิจารณากัมมัฏฐาน”
เที่ยวอยู่ตรงนี้เรียกว่า“เที่ยวกัมมัฏฐาน” หลงก็หลงอันนี้
พิจารณาอันนี้รู้แล้วก็รู้กัมมัฏฐาน ถอดถอนกัมมัฏฐาน ถอดถอนภพถอดถอนชาติ
รื้อวัฏสงสารก็รื้อที่ตรงนี้ รวมเข้าไปก็ไปรื้อที่ใจ ก็หมดปัญหาที่ตรงนั้น
นั่นแหละกรรมฐานสมบูรณ์แล้ว “วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ” พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
หรือว่างานกรรมฐานเสร็จสิ้นแล้ว จบที่ตรงนี้ จบทุกสิ่งทุกอย่าง

ศาสนาลงที่จุดนี้ เมื่อถึงจุดนี้แล้วพระพุทธเจ้าไม่ทรงสั่งสอนอะไรต่อไปอีก
เพราะศาสนาธรรมมุ่งจุดนี้
คือมุ่งล้างป่าช้าของสัตว์ที่ตรงนี้
เมื่อถึงจุดนี้แล้วก็เป็นอันว่าหมดปัญหา สาวกจะอยู่ด้วยกันกี่ร้อยกี่พันองค์
ท่านจะไม่มีอะไรสอนกัน เพื่อการบำรุงอย่างโน้นบำรุงอย่างนี้
แม้จะรุมล้อมพระพุทธเจ้าอยู่ก็ตาม พระองค์ก็ไม่ทรงสอนเพื่อการละกิเลส
เพราะได้ละกันหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
ดังใน “โอวาทปาฏิโมกข์” ในวันมาฆบูชาที่ได้เทศน์เมื่อคืนนี้

“สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ”
แน่ะ ! ท่านประกาศ แสดงเป็นสัมโมทนียกถา เครื่องรื่นเริงสำหรับสาวกเท่านั้น
ไม่ได้จะแสดงให้สาวกจะถอนอะไร เพราะบรรดาสาวกเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
เป็นผู้สิ้นกิเลสอาสวะโดยประการทั้งปวงแล้ว การทำบาปก็ไม่มี ความฉลาดก็ถึงพร้อม
จิต ก็บรรลุถึงขั้นบริสุทธิ์หมดจดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
ถูกต้องตามหลักว่า “เอตํ พุทฺธาน สาสนํ” นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์แล้ว
ท่านไม่สอนเพื่อให้ละกิเลสอันใดอีกต่อไปเลย

พระอรหันต์ท่านอยู่กันจำนวนเท่าไรท่านจึงสะดวกสบาย
ท่านไม่มีอะไรกระทบกระเทือนตนและผู้อื่น เพราะเป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ ด้วยกันแล้ว
แต่พวกเรามันมีกิเลสอยู่ภายในนี่ ไม่ได้ทะเลาะกับคนอื่นก็ทะเลาะกับตนเอง ยุ่งกับตัวเอง
นอกจากยุ่งกับตัวเองแล้ว ก็เอาเรื่องตัวเองนี้ไปยุ่งกับคนอื่นอีก
ระบาดไปหมด ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง เอาไปป้ายไปทาคนนั้นคนนี้
แหลกเหลวไปหมด ร้องกันอลหม่านวุ่นไปหมด
เลยเป็นสภามวยฝีปาก สภามวยน้ำลายขึ้นมาในวัดในวาอย่างนี้ก็มีมากมายหลายแห่ง
แข่งดีกันก็เพราะของสกปรกที่มีอยู่ภายในจิตใจนี้เอง ถ้าหมดนี่แล้วก็หมดปัญหา

เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นสมควร


:b8: :b8: :b8: http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 65&CatID=1

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2021, 20:58 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2021, 13:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2022, 14:53 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron