วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2011, 15:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ทางแก้ทุกข์

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
วัดอัมพวัน ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี


วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ท่านทั้งหลายมาเจริญกุศล สร้างทาน ศีล ภาวนา
ให้เกิดศรัทธา ความเชื่อ ความมั่นคงของชีวิต นับว่าเป็นมหากุศล
ที่ท่านทั้งหลายมาสร้างบุญสร้างคุณให้เกิดในชีวิตของตน
เพื่อไม่ต้องเดือดร้อนเบียดเบียนตน
เพื่อต้องการสร้างความสะดวกสบาย
ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
และต้องการหาที่พึ่งทางใจ


การที่ท่านมาบำเพ็ญทานในวันนี้นั้น
ทานเบื้องต้นท่านได้แล้วตั้งแต่เดินทางออกจากบ้าน
โดยเสียสละความสุขในบ้านของท่าน
ต้องการมาเอาบุญให้เกิดความสงบสุข


แต่จะทำให้เกิดความสงบสุขได้
ต้องชำระจิต ทำใจให้สบาย ทำใจให้เป็นปกติ ท่านถึงจะมีความสุข



ถ้าเรามาจากบ้านที่มีแต่ความทุกข์ มีแต่ปัญหา
ไปถึงสำนักงานก็มีแต่ปัญหา
ออกจากสำนักงานหรือกิจการร้านค้าใดๆ
ก็ต้องมีปัญหาตลอดรายการ หาความสุขไม่ได้เลย


พี่น้องที่รักทั้งหลาย เราจะไปหาความสุขที่ใหนเล่า
อ๋อ มาเข้าวัด เสียสละเวลาต้องการหาความสุข
แต่ความทุกข์ก็ยังคงมีอยู่ หาได้สิ้นสุดทุกข์นั้นไม่
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า
เกิดมาในโลกมนุษย์นี้มีแต่ความทุกข์ หาความสุขจริงๆไม่ได้
จะเกิดเป็นเศรษฐีมีเงินเป็นพันล้านก็มีความทุกข์
จะทานข้าวทั้งทีก็มีแต่ความทุกข์
อยู่ในครอบครัวพัวพันอยู่ในใจ
ก็หาความสุขไม่ได้หรอกจะบอกให้


คนมีเงินมีทองมากมายก่ายกองก็เต็มไปด้วยความทุกข์
ที่ไม่มีเงินต้องหาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า ก็มีแต่ความทุกข์
ไม่มีคนไหนมีความสุขอย่างแท้จริง

ความทุกข์ความยากความลำบาก มีตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
ถ้าท่านย้อนจำความได้
ตอนท่านคุดคู้อยู่ในท้องของมารดา จะมีความสุขอะไรเล่า


มารดาที่ตั้งครรภ์ตอนแรกก็มีความสุขชื่นใจว่า
จะได้มีบุตรชายบุตรสาวมาครอบครองสมบัติแทนเรา
แต่แล้วตอนที่ครรภ์แก่ก็มีทุกข์อีก
เช่นกังวลว่าคลอดบุตรในครั้งนี้จะอยู่หรือจะตาย มีทุกข์หรือมีสุข
พอคลอดลูกออกมาแล้วก็เป็นห่วงลูก ต้องเป็นทุกข์เลี้ยงลูก
ลูกเล็กเด็กแดงโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
เลี้ยงยากเลี้ยงเย็นลำเค็ญใจ ก็มีแต่ความทุกข์
คิดโดยละเอียดแล้ว ท่านจะมองเห็นชัดว่าหาความสุขจริงๆไม่ได้


เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีชีวิตต่อไปจนถึงความแก่ชรา
เจ็บป่วย แล้วก็ตายในที่สุด
และในระหว่างมีชีวิตอยู่ก็จะต้องพบกับความโศกเศร้าเสียใจ
คับแค้นใจ เพราะประสบสิ่งที่ไม่ชอบ
หรือมีสิ่งที่รักที่ชอบแล้วแต่ก็ต้องมาพลัดพรากจากไป
หรือหวังอะไรแล้วไม่ได้อย่างหวัง
แต่ละคนจะพบความทุกข์มากน้อยไม่เท่ากัน
คนละแบบ คนละอย่าง แตกต่างกันไป


บางคนก็มีชีวิตระเริงหลงในสังคมถือว่าเป็นความสุข
บางคนดื่มสุรายาเมาถือว่าเป็นความสุข
ตอนกำลังดื่มน่ะอาจจะสุข แต่หายเมาสร่างเมาก็จะพบความทุกข์
ที่หมดเงินทองเลี้ยงเพื่อนเลี้ยงฝูง จนบางคนมีหนี้สินมากมาย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2011, 15:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ตัวอาตมาเอง ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่จะมีกินมีใช้หรือไม่ ไม่ได้สนใจ
ให้อิ่มไปวันยังค่ำ เที่ยวเตร่เสสรวลไปทุกเวลา
ก็ถือว่ามีความสุขประสาเด็ก ซุกซนไปตามสภาพของเด็ก
ไม่เห็นข้างหน้าข้างหลังประการใด
มองไม่เห็นความทุกข์ยากลำบากของพ่อแม่


พ่อแม่ทั้งหลายเลี้ยงลูกก็ต้องการให้ลูกดีมีปัญญา
มีวิชาความรู้ด้วยกันทุกคน พอลูกเข้าโรงเรียนไม่ได้
เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ พ่อแม่ก็มีแต่ความทุกข์
หาความสุขไม่ได้เลย
ลูกเข้าโรงเรียนแล้วก็ยังมีทุกข์ว่าลูกจะเรียนสำเร็จหรือไม่
ลูกหลายคนเขาไม่รู้เลย


แต่ในบรรดาทุกข์ทั้งหลายนั้น พี่น้องเอ๋ย
บัดนี้อาตมาได้รู้ซึ้งว่า “ทุกข์อะไรจะเท่าทุกข์ของพ่อบ้านสมภารวัด
ทุกข์อะไรจะเท่าทุกข์ขององค์พระมหากษัตริย์”



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงแสวงหาวิชาแก้ทุกข์มาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ชาวโลก
ท่านได้ทรงพบความรู้นั้นแล้วทรงบอกเราว่า
ความทุกข์ของคนเรานั้นมีสาเหตุมาจาก ตัณหา
คือ ความทะยานอยาก ความดิ้นรน ความปารถนา ๓ รูปแบบ คือ

๑. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม
อยากได้อารมณ์อันน่ารักน่าใคร่ อยากได้กามคุณ
คือ สิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้งห้า ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

๒. ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ
คือ อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น อยากเป็นคนรวย คนสวยหล่อ
ก็ทำอะไรต่างๆนานาเพื่อให้เป็นอย่างที่อยาก
และพอได้มีแล้ว ได้เป็นแล้ว เช่น มีเงินเป็นเศรษฐี
หรือมีตำแหน่งที่คนยกย่องนับถือแล้ว
ก็อยากจะให้สิ่งนั้นคงมีอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสูญ

๓. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ
คือเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่พอใจ
เช่น พบความผิดหวังหรือปัญหา ก็อยากให้สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น
อยากให้หายวับไปอย่างใจนึก
เมื่อไม่ได้หรือไม่เป็นอย่างใจเราต้องการ เราก็เป็นทุกข์


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอนเราต่อไปว่า
วิธีการแก้ปัญหานั้นต้องปฏิบัติตามแนวทาง มรรคมีองค์แปด
ซึ่งสรุปให้สั้นได้ว่า


ต้องมีศีล คือ การควบคุมกายวาจา
หรือพฤติกรรมทั้งหลายของเราให้เรียบร้อยถูกต้อง
คือ สัมมาวาจา-เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ-กระทำชอบ สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ


ต้องควบคุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงมีความสงบสุข
ที่เรียกว่า การภาวนาหรือทำสมาธิ
คือ สัมมาวายามะ-พยายามชอบ
สัมมาสติ-ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ-ตั้งจิตมั่นชอบ
และต้องมีสัมมาทิฏฐิ-เห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ-ดำริชอบ
แล้วพากเพียรในการภาวนาหรือสมาธิ
จนเกิดปัญญาคือความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริง
ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


การที่ท่านทั้งหลายมุ่งมาวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลภาวนาให้เกิดสมาธิ
หรือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน ๔
เพื่อให้เกิดปัญญาญาณรู้เท่าทันกองสังขาร
รู้วิธีสัมผัสจิต รู้ข้อคิดวิธีแก้ปัญหาของชีวิต
จึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว
ไม่ใช่ไปนั่งหลับตาเพื่อไปสวรรค์ นิพพาน
ไปเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระจุฬามณี หรืออะไรแบบนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2011, 15:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การเจริญสติปัฏฐาน ๔
เป็นการแก้ปัญหาชีวิตตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสอน

ดังนั้นถ้าต้องการมีความสุข ต้องเดินไปตามมรรคมรรคา
เดินทางไปด้วยความถูกต้อง
เดินด้วยสติ ดำริชอบ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ


การเจริญสติปัฏฐานต้องใช้สติเป็นหลักร่วมกับสัมปชัญญะ
เสียงหนอ เขาด่า เสียงหนอเขาเสียดสี
เราก็ตั้งสติไว้ที่หู ตั้งสติกำหนดเสียงหนอ
เสียงเป็นรูป เสียงเขาด่า มันก็เป็นรูป หูเป็นรูป
จิตกำหนดรู้เป็นตัวนาม ว่าเขาด่า
รู้อย่างนั้นแล้วเอาสติสัมปชัญญะไปรู้ไปดูว่าเสียงเขาด่าใครนะ
เขาด่านาย ก. ซึ่งเป็นสมมติบัญญัติชื่อของเรา
เราก็ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ที่หู กำหนดปั๊บสติมีปัญญา ไม่ใช่ด่าเรา
รู้แจ้งประจักษ์ชัด รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์
นี่เรียกว่าเอาสติไว้ที่จิต จิตอยู่ที่ไหน อยู่ที่หู
เพราะเราฟังเสียงที่หู หูเป็นรูป
เสียงที่พูดมานั้นก็เป็นรูป ตัวที่เรารู้ว่ามันด่า เป็นตัวนาม


เรามีสติสัมปชัญญะ กำหนดเสียงหนอ เสียงหนอแล้ว มันก็ดับไป
ผันแปรไปโดยสมมติของมัน เสียงนั้นจะกลัยไปหาคนด่าเอง
จะไม่เข้าไปผนึกในเทปของเรา นี่ความทุกข์หมดไป


ถ้ามานั้งกรรมฐานแต่ไม่เคยกำหนด
เก็บเอาแต่เสียงด่าเก็บโน่นเก็บนี่มาไว้ในใจ
คือ เก็บความเดือดร้อนมาไว้ในใจ ทำให้โยมมีทุกข์
ตรงนี้ไม่มีใครแก้ ยิ่งนั่งยิ่งทุกข์ใหญ่


บางคนบอก หลวงพ่อคะ ฉันมานั่งยิ่งมีทุกข์ ก็มานั้งไม่ถูกเรื่อง
นั่งอยากเห็นเทวดา อยากเห็นพระอินทร์
อยากจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระจุฬามณี เลยมีแต่สร้างกิเลส
เป็นเหตุทำลายตนโดยไม่รู้ตัว ควักเงินทำบุญกันไม่พัก แต่นั่นไม่ใช่บุญนะ


บุญอยู่ที่ใจ ทำจิตให้มีความสุขไม่ได้หรือ
แยกทุกข์ออกจากใจคือขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์
เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ข้อนี้ซิถึงจะเป็นข้อแก้


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแก่พระอานนท์ว่า
“ดูกรอานนท์ จะหนีเขาด่าไปที่ใหนเล่า
ที่ใหนไม่มีคนด่าเรา ไปเมืองนี้โดนเขาด่า
หนีไปที่โน่นเขาก็ด่าเราอีก จะหนีไปใหนเล่าอานนท์เอ๋ย”



“จะทำอย่างไรพระเจ้าข้า” พระอานนท์ทรงทูลถาม


“ต้องแก้ซิ ต้องแก้ปัญหาให้มันหมดไป เหตุเกิดที่ใหน ต้องแก้ที่นั่น”


วันนี้ตั้งแต่อาตมาเข้าโรงอุโบสถ เป็นประธานสงฆ์อุปัชฌาย์
ปวดท้องอย่างที่สุด เพราะไม่ได้ฉันอะไรเลยมาหลายวันแล้ว
พอฉันเข้าไป ๒ ช้อนเท่านั้น ปวดท้องที่สุดมาจนขณะนี้
ต้องทนต่อเวทนาตามที่เคยฝึกไว้ กำหนดปวดหนอ ตั้งสติเข้าไว้


ถ้าโยมเป็นอย่างอาตมา ทนได้ไหม ต้องทนได้
ทำอย่างไรถึงทนได้ ก็ใช้วิธีแยกมันออกว่า
อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เวทนาก็แยกออกไป การปวดมันก็ไม่ไปยึด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2011, 15:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ตรงนี้ทำกันได้ไหม ทำไม่ได้
อย่าบ่นว่า มานั่งไม่ได้เรื่องอะไร
ไม่ได้เรื่องก็เพราะโยมไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่ได้กำหนดเลย
ไม่ได้เอาสติไว้ที่จิต จิตมันอยู่ที่ตาก็เอาสติคุมที่ตา
ดูให้เกิดปัญญา อย่าดูให้มันเสีย


ขอฝากไว้นะ แยกได้หรือยัง ถ้าแยกได้โยมจะไม่มีทุกข์
ถ้ามีก็จะกำจัดออกไปได้มาก จะไม่เอาทุกข์มาไว้ในใจเลย
จะไม่เอาความอิจฉาผูกพยาบาทมาไว้ในใจ
ให้มันเกิดทุกข์ระทมขมขื่นตลอดรายการ
หลายคนมาที่วัดนี้ ครอบครัวไม่มีความสุขเลย
บอกให้มานั่งกรรมฐานก็บอก


“โอ๊ย! มาไม่ได้หรอกจ้ะ”


นี่เวลาแก้ทุกข์มาไม่ได้ ก็สร้างแต่ความทุกข์กันต่อไป
สร้างแต่ปัญหา คนเราต้องสู้ปัญหาด้วยการแก้ปัญหาเสีย
อย่าไปเอาปัญหามาไว้ที่ใจ ทำให้คิดไม่ออก บอกไม่ได้ ใช้ไม่เป็น
แล้วตัวเองจะมีแต่ความทุกข์ กันไม่ได้นอนไม่หลับ
บางคนเป็นอะไรนิดหน่อยเข้าโรงพยาบาล ไม่มีน้ำอดน้ำทน
ไม่มีการกำหนดเวทนา ไม่สู้เวทนา แพ้เวทนา
ใครด่าก็แพ้เขาอีก แพ้เรื่อยไป เป็นคนไม่ชนะตนเองเลย


พระพุทธเจ้าทรงสอนการเจริญสติเพื่อที่จะชนะตนเอง



เมื่อโยมชนะตัวเองได้ จะมีความสุขได้อย่างแน่นอน
การชนะคนอื่นไม่ดีเท่าชนะตนเอง ตัวเองนี้สำคัญมาก
ทิฐิสูงมาก เอาตัวขึ้นเหนือลมด้วยกันทุกคน
ไม่มีเลยที่จะว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี มีแต่ดีกว่าคนอื่นทั้งนั้น


ถ้านั่งเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้ดังกล่าวมาแล้วนี้
จะมีปัญญารู้ว่า ใช่แต่เราที่มีดี เขาก็มีดี
ไม่ดีเฉพาะเขา เราก็มีดีเหมือนกัน
มันจะออกมาในรูปแบบนี้ จะไม่หมิ่นประมาทกัน



ขอให้ทำให้ได้ อย่าไปเอาทุกข์มาไว้ในใจ
กำหนดแยกออกไปได้ไหม


ถ้าแยกไม่ออก กอดความทุกข์เอาไว้ในใจ
ก็ซูบผอมลงไป คนประเภทนี้แก่ไวและตายไวด้วย


“โอ้อนาถวาสนานิจจาเอ๋ย เกิดมามีกรรม เกิดมาทำอะไรเล่า
เกิดมาทำความดีใช้หนี้กรรมบ้างไม่ได้หรือ
ไม่ยอมรับชดใช้ ยังปฏิเสธทุกข้อหาอีกหรือ
สร้างกรรมมาหลายชาติแล้วไม่ยอมรับกรรม”



ขอให้พัฒนาจิตที่เกิดทางตา รับผิดชอบทางตาบ้าง
ดูสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี ก็กำหนดเห็นหนอให้มันดับไป
รูปก็เป็นรูป ตาก็เป็นตา ผนึกกัน จิตรู้ว่าเป็นรูป
อะไรคือตัวนาม แล้วแยกออกไป รูปกับตาเป็นคนละอัน
เป็นอันเดียวกันได้อย่างไร
เราเอามาเป็นอันเดียวกันถึงได้โกรธเขา ลงโทษเขา


ขอฝากไปคิดโดยทั่วหน้ากัน เอารูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ให้ได้
แยกรูปแยกนามออกไป โยมจะไม่ผูกความโกรธไว้ในใจ
จะแยกออกไปเป็นชิ้นส่วนของใครของมัน ไม่เอามาปนกัน



ถ้าโยมมีทิฐิ ไม่ต้องมานั่งกรรมฐาน รับรองว่าทำไม่ได้
ได้กฏแห่งกรรมติดตัวไป แล้วต่อไปโยมจะเสียใจภายหลัง
เป็นที่น่าเสียดาย มาพบของดีแล้วต้องเอาไปให้ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2011, 15:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


“ของดีอยู่ที่ไหนหรือคะหลวงพ่อขา”


“ของดีไม่ใช่อยู่ที่อาตมา อยู่ที่โยม
โยมไม่นำของดีมาใช้ โยมก็ไม่ได้ของดีในตัวเอง
ของดีมีอยู่ด้วยกันทุกคน แต่ทุกคนไม่สนใจในตัวเองน่ะ”


จงละทิฐิเสีย ละมานะที่เป็นอยู่ในชีวิตจิตใจของตน
ทิ้งอารมณ์ของเก่าที่เราเคยมีนิสัยแบบนั้นมา


การเจริญกรรมฐานต้องการรู้นิสัยตนเอง
ต้องการเปลี่ยนภาวะให้กลับร้ายกลายดี มั่งมีศรีสุข



บางคนไม่ได้เป็นชาวพุทธ แต่มานั่งกรรมฐานสามสี่วัน
บอกว่า หลวงพ่อ เดี๋ยวนี้ขายดิบขายดี
เมื่อวานซืนนี้นำเงินมาถวายหมื่นหนึ่ง นำพระพุทธรูปมาถวายด้วย


ชาวพุทธแท้ๆควรจะได้ดีมีสุขจากการนับถือศาสนาพุทธ
โดยแก้ปัญหาที่เกิดด้วยอริยสัจ ๔
ทุกข์เกิดแล้วหาสาเหตุของทุกข์
ด้วยการกำหนดทุกข์หนอ มันทุกข์ตรงใหนหนอ


บำเพ็ญจิตภาวนา สมาธิ ปัญญาจะบอก
ทุกข์เกิดขึ้นตรงนั้น ต้องแก้ตรงนั้น
อย่าไปแก้ผิดจุด อย่าไปให้ผีให้เจ้ามาแก้
หรือเอาหมอดูมาแก้ มันไม่ถูกเรื่อง


เราสร้างกรรม เราก็ต้องแก้เอง ไม่ใช่คนอื่นมาแก้ให้

ขอฝากญาติโยมไว้ต้องอดทน บางคนนั่งไม่อดทน ปวดหนอ
กำหนดตายให้ตายได้ไหม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยิ่งปวดหนัก
จะได้รู้กำหนดของมันว่า ปวดขนาดนี้จะทนได้ไหม
ตั้งสติอารมณ์ เดี๋ยวก็จะแตกออกไปเป็นรูป-นาม
อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เวทนาอาศัยรูปเกิด
มันมีสังขารปรุงแต่ง มันจึงปวดรวดร้าวในสกนธ์กาย


จิตรู้แล้วก็เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์
หาเหตุที่ทุกข์เกิดได้ก็จะดับทุกข์ได้
เพราะมันเป็นอนัตตาทั้งนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนอยู่อย่างนี้


อาตมาเคยพูดไว้ จะรักใครก็รักเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์
อย่ารักให้หมดตัว อย่าเกลียดให้หมดตัว เอาไว้เผื่อเราจะรักกันอีก
จะได้มองหน้ากันได้ อย่าเกลียดใครแล้วเกลียดหมดบ้าน
เกลียดพ่อแล้วเกลียดลูก แล้วยังเกลียดหลานอีก
น่าเสียดาย เสียใจด้วย
พิจารณาให้เห็นว่าอะไรๆ มันก็เปลี่ยนแปรไปได้ทั้งนั้น
แล้วโยมจะไม่โกรธใครเลย จะไม่ลงโทษใคร จะมองคนในแง่ดีเสมอ
มาทำกรรมฐานขอให้ทำจริงๆ
สร้างบุญให้เกิดความสุขให้จริงจัง อย่าไปเกลียดใครเลย


ขณะที่พูดนี่อาตมาอาพาธหนัก ยังพูดให้โยมฟังได้
โยมปวดเมื่อยนิดหน่อยทนได้ไหม
อาตมาเกือบจะตายอยู่ในโบสถ์วันนี้แล้ว
ก็ยังทนตะเกียกตะกายมาพูดให้ฟัง


แยกรูปแยกเวทนาออกไป ให้มันปวดของมันไปก่อน
ฝากความปวดไว้ที่อื่นก่อน
แล้วก็เอาความดีมีปัญญามาพูดให้โยมฟัง


เวทนาที่กำลังปวดหนัก เราก็แยกออกไปซี
ถ้าเอามาปนกัน เอาไข้ไว้ในใจ เอาความทุกข์มาไว้ในใจ
โยมจะมีทุกข์ระทมขมขื่นแค่ไหน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2011, 15:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คนที่รับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือทำงานในภาคธุรกิจก็ดี
อย่าไปสนใจคนอื่น ขอให้สนใจแต่งานในหน้าที่
ท่านจะสร้างความดีต่อไป ไม่ต้องมองใครในแง่ร้าย มองคนในแง่ดี
ถึงเขาจะอิจฉาเราอย่างไรก็กลับไปหาเขาเอง
เขาสร้างความเดือดร้อนของเขาเอง
เราก็ตั้งจิตบำเพ็ญจิตภาวนา กำหนดจิตด้วยการทำงาน
จิตก็แสดงออกด้วยปัญญา จริงต่อการงาน
จริงต่อหน้าที่ จริงต่อวาจาที่พูด จริงต่อบุคคล จริงต่อความดี


คนที่ไม่ได้เคยฝึกกรรมฐานไว้จิตจะสงบยาก
สาเหตุที่จิตไม่สงบมี ๘ ประการ คือ

๑. มีไม่พอ

๒. ถูกเบียดเบียนจิตใจ

๓. โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

๔. อวัยวะไม่ตั้งอยู่ในความปกติ

๕. สิ่งแวดล้อมดึงไปในทางชั่ว

๖. ครอบครัวไม่มีความสุข

๗. มีเวลาว่างมากเกินไป

๘. มัวเมาอบายมุข



ขอให้โยมตั้งใจทำกรรมฐาน
อย่ามาทำจิ้มๆจ้ำๆ ต้องกำหนดสติอยู่ตลอดเวลา
กระทั่งกลับไปอยู่บ้าน ต้องทำที่บ้านด้วย
กำหนดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา คู้แขน เหยียดขา
กำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม ให้ครบ
เดินไปไหนก็ตั้งสติไว้ ยืนหนอ ๕ ครั้ง ก็ตั้งสติให้มันถูกต้อง
จะได้รู้วาระจิตของตนและของคนอื่นเขา
จะได้แก้ปัญหาตรงนั้น
ไม่ใช่แก้ปัญหาไปเอาเจ้ามาเข้าทรงเป็นที่พึ่ง
แล้วไหว้ผีสางกัน น่าจะไหว้ตัวเอง ว่าตัวเองมีของดีอยู่
เอาของดีมาอวดมาใช้บ้าง มีของดีแล้วไม่ใช้
เอาของไม่ดีออกมาอวดเขา เป็นที่น่าเสียดายมาก ขอฝากไว้


ที่มา... หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติเล่มที่ ๒๑
http://jarun.org

:b48: :b8: :b48:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร