วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2023, 08:55 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b47: :b50: :b47: ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


รูปภาพ

เวลานี้เป็นเวลาที่เรามาประชุมกัน
เพื่ออบรมจิตให้เข้าถึงความสงบ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น
เพราะฉะนั้น เราต้องมุ่งความสงบเป็นที่ตั้งในตอนต้น
ตอนต่อไปก็พิจารณาตามที่ท่านแสดงไป
พิจารณาให้รู้ให้เห็นตาม ให้เกิดความเข้าใจในธรรมะที่ท่านแสดง
นี่จึงเรียกว่าเป็นการอบรมฝึกฝนจิตที่ยังไม่สงบให้เข้าถึงความสงบ
จิตที่ยังไม่ฉลาดให้เกิดความรู้ความฉลาดขึ้น
ถ้าเราไม่ฝึกอย่างนี้ จิตนี้มันจะไม่ฉลาดเลย แล้วก็จะไม่สงบด้วยตลอดทั้งปีทั้งชาติ
ไม่รู้จักรสชาติแห่งความสงบเลยแหละ ถ้าไม่ฝึกฝนอย่างว่านี้นะ

เมื่อไม่พบกับความสงบ ก็ไม่ได้พบกับความสุขที่แท้จริง
เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น มันอยู่ที่ความสงบใจ สงบกาย สงบวาจา
สงบกาย คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
ไม่ดื่มของมึนเมา ของเสพติดให้โทษต่างๆ
สงบวาจา คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด
ไม่พูดยุยงให้คนอื่นแตกสามัคคีกัน ไม่พูดคำหยาบโลนต่างๆ
ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล พูดแต่คำที่เป็นประโยชน์เท่านั้น พูดแต่คำจริง
นี่ได้ชื่อว่ากายมันสงบจากบาป วาจามันสงบจากบาป ถ้าเว้นตามที่แนะนำมานี้

ทางจิตใจ ถ้าปล่อยให้มันเกิดความรักความใคร่ขึ้นอยู่
ความรักความใคร่นี้เป็นอกุศลอย่างกลางสำหรับผู้บำเพ็ญผู้ประพฤติธรรม
แล้วปล่อยให้จิตมันเกิดความเกลียดชังคนโน้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ อะไรอยู่อย่างนี้นะ
นี่มันก็เป็นอกุศลอย่างกลางเหมือนกัน
เรียกว่าเพียงแต่เกลียดชัง แต่ว่าไม่ลงมือประทุษร้ายผู้อื่น
เพียงแต่คิดเกลียดชังอยู่ในใจ ผูกใจเจ็บอยู่ภายใน
แล้วก็ชอบใจในการหลับการนอนเกินขอบเขตเกินประมาณ
ไม่เห็นโทษแห่งการหลับการนอน
แล้วปล่อยจิตของตนให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป คิดส่ายไปไม่มีจุดหมายปลายทาง
ปล่อยจิตของตนให้เกิดความสงสัยลังเล ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ
ประโยชน์หรือไม่ใช่ประโยชน์ ตลอดถึงมรรคผลนิพพาน
มรรคผลนิพพานมีหรือไม่หนอ สวรรค์มีหรือไม่หนอ นรกมีหรือไม่หนอ
หมู่นี้ ถ้ายังเกิดความสงสัยลังเลอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง
เรียกว่าอกุศลอย่างกลาง แล้วทำให้จิตใจสงบลงไม่ได้
นี่ให้เข้าใจคำว่าความสงบนั้นน่ะ สงบจากความอกุศลอย่างกลาง ดังกล่าวมานี้

ถ้าหากว่าระงับกิเลสเหล่านี้ลงได้ จิตก็สงบได้ รวมลงเป็นหนึ่งได้
ถ้าละกิเลส ๕ อย่างนี้ไม่ได้ จิตก็สงบลงไม่ได้
ต้องเรียนรู้สิ่งที่กวนใจไม่ให้สงบระงับนั่นน่ะ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเรียนรู้นะ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เมื่อตนภาวนาไป กิเลสชนิดไหนมันเกิดขึ้นครอบงำจิต ก็รู้
เมื่อรู้แล้วก็เพียรละให้มันระงับไปจากจิตใจ จิตใจมันถึงจะสงบลงได้
ไม่เช่นนั้นจิตก็สงบไม่ได้ การทำจิตให้สงบนี่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะเรื่องปัญญานั้น ถ้าหากว่าทำจิตให้สงบแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว มันก็เกิดขึ้นได้ พอเรานึกคิดอะไร
มันก็แจ่มแจ้งขึ้นมาในเรื่องที่ต้องการอยากจะรู้จะเห็นนั้น
ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะรู้ได้เห็นได้ด้วยปัญญาของตนเอง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้ไปได้ทุกอย่าง
ผู้มีภูมิกว้างก็รู้มาก ผู้มีภูมิแคบก็รู้ตามได้น้อย
ตามภูมิปัญญาภูมิวาสนาบารมีของตน
แต่ก็สำคัญว่าให้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์นั่นน่ะ ข้อสำคัญมันอยู่ตรงนั้น

การที่เรารู้จักว่าความคิดอย่างนี้ มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ใจ
เช่นนี้แล้วเราก็ห้ามไม่คิดมันต่อไป นี่สำคัญ
ความคิดอันใดที่มันไม่ก่อให้เกิดทุกข์ใจ
มันก็เพียงแต่ว่าทำใจไม่ให้สงบเท่านั้นเอง แต่ไม่ทุกข์ใจอย่างรุนแรง
แต่ความคิดบางอย่าง เช่น ความคิดรัก ความคิดเกลียดชัง อย่างนี้
อันนี้เป็นความคิดที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างแรง
เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง อย่าให้ความคิดเหล่านี้มันอุบัติขึ้นเกิดขึ้นในจิตใจ
ต้องมีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังสำรวมจิตใจของตนอยู่เสมอไป
นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ นี้ จึงจะครอบงำจิตไม่ได้
ความสำรวมระวัง ความมีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังจิตใจอยู่เสมอๆ นี่สำคัญ
ยืน เดิน นั่ง นอน ทำการงานอะไรอยู่ ก็มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ รู้ใจของตนเองอยู่
ประคองใจของตน ให้เป็นปกติอยู่ได้ อันนี้สำคัญมาก ให้พากันเข้าใจ

ถ้าหากว่าเราห้ามจิตไม่ได้ ประคองจิตให้เป็นปกติอยู่ไม่ได้อย่างนี้
ปัญญามันก็ไม่เกิดเลย จิตใจก็ถูกกิเลสมันครอบงำเอา ให้เศร้าหมองขุ่นมัวไป
เมื่อใจเศร้าหมองขุ่นมัวแล้ว กายวาจามันก็พลอยเศร้าหมองขุ่นมัวไปตามกันแหละ
ก็ใจมันเป็นอกุศลแล้ว มันก็มักจะใช้กายทำในสิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศล
ใช้วาจาพูดไปแต่ในเรื่องที่เป็นบาปเป็นอกุศล
คนเราถ้าใจดำหรือว่าใจมัวหมองแล้วล่ะก็ มันชอบจะโกรธคนนั้น เกลียดคนนี้
ใครพูดอะไรไม่ถูกหูหน่อยหนึ่งก็โกรธแล้ว
ชอบแต่จะใช้วาจาทิ่มแทงตอบโต้กันกับผู้อื่นไป
มันก็เกิดบาปอกุศลขึ้นในใจและในวาจาด้วย
เพราะฉะนั้นเรียกว่าการปล่อยใจให้เศร้าหมองขุ่นมัวนี้ไม่เป็นเรื่องดีเลย
ดังนั้นทุกคนอย่าไปทำใจของตนให้เศร้าหมองขุ่นมัว ทำใจให้เบิกบานผ่องใส
โดยสำรวมจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลคุณงามความดีที่ตนได้กระทำบำเพ็ญมา

คนส่วนมากมักจะลืมความดีของตัวเอง
มักจะคิดส่งไปในเรื่องที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศลนั่นแหละมากต่อมาก
ส่วนบุญกุศลความดีที่ตนทำมาไม่ค่อยจะนึกถึง
ไม่ค่อยคำนึงหาศีลที่ตนรักษามา หมู่นี้ไม่ค่อยคำนึง
ถ้าหากว่าจิตใจมาจดจ่ออยู่ในเรื่องศีล
พิจารณาเห็นอยู่ว่ากายของตนก็เรียบร้อย วาจาก็เรียบร้อย
ไม่ได้ทำอะไรให้ผิดศีล ไม่ได้พูดอะไรให้ผิดศีลอย่างนี้
เมื่อคิดตาม พิจารณาความประพฤติของตัวเองเรื่อยไปอย่างนี้
มันก็เกิดความปีติเอิบอิ่มขึ้นมาในใจว่ากายวาจานี้มีศีล

เมื่อกายวาจาเป็นศีลแล้ว ใจก็เป็นศีลด้วย
เพราะใจเป็นศีลก่อน กายวาจาจึงค่อยเป็นศีลตามหลัง
ก็ต้องหมั่นคำนึงอย่างนี้ เป็นอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรมน่ะ
เว้นเสียแต่เอาเวลาไปคิดอ่านการงาน
ที่ควรจะทำการงานเกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ
อันนั้นก็จำเป็นต้องเอาเวลานั้นต้องคิดอ่าน
เมื่อหมดจากการคิดอ่านการงานภายนอกแล้วอย่างนี้นะ
เราก็ต้องมาคำนึงถึงความดีของตนเองเสมอๆ ไป
เมื่อมองเห็นว่าตนเองมีคุณงามความดีอยู่ในใจแล้ว
ก็จะปลื้มใจอิ่มใจ ใจจะไม่เศร้าหมองขุ่นมัว ก็อยู่เย็นเป็นสุข สบายใจ
ใครจะสรรเสริญใครจะนินทาอะไรไม่หวั่นไหว
เพราะมองเห็นความดีของตนมีอยู่ในใจแล้ว ใครจะด่าว่าเราไม่ดีก็แล้วไป
แต่เรารู้ตัวอยู่ว่าตนดี ใจของตนดีอยู่ อาการกายและวาจาก็ดีอย่างนี้
ก็ไม่ต้องไปโต้ตอบคนที่เขาไปติเตียนนินทาว่าร้ายต่างๆ
เวรทั้งหลายมันก็ย่อมไม่เกิดขึ้น

แต่คนเรานี้ถ้าไม่รู้จักตรวจตรา ดูความประพฤติของตัวเอง
ดูความคิดความเห็นภายในจิตใจตัวเองบ่อยๆ แล้ว
นั่นเขาเรียกว่าลืมตัว ตนทำชั่วพูดชั่วอยู่ ไม่รู้ตัวก็มี ตนคิดผิดอยู่ ไม่รู้ตัวก็มี
ครั้นเผื่อว่าคนอื่นที่เป็นนักปราชญ์รู้ความประพฤติของตน
เห็นความประพฤติของตน ไม่เข้าร่องเข้ารอยในทางศีลธรรม
เขาว่ากล่าวตักเตือน เกิดไม่พอใจ โกรธเอาหาว่าเขาดูถูกดูหมิ่นตน
ที่แท้ตนทำดีพูดดีอยู่คิดดีอยู่

อันนี้เขาเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ถือมั่นในความเห็นผิดของตนเอง ใช้ไม่ได้
ใครเขาตำหนิติเตียนมา ธรรมดาผู้เป็นนักปราชญ์นั้น เพิ่นไม่โกรธใครหรอก
ย้อนพิจารณาตัวเองว่า เอ๊ะ เราทำไม่ดีอย่างไร เขาจึงนินทาจึงติเตียนเอา
ก็ต้องรีบตรวจดูอาการกาย วาจา ใจของตัวเอง ถ้าหากว่าตนทำผิดพูดผิดจริง ก็รู้นะ
เมื่อสำรวจตรวจดู นึกทบทวนดูแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
มันก็รู้ได้ เมื่อรู้ว่า เอ๊ะ ตนเองมันมีผิดจริงก็ยอมนะ ยอมให้เพื่อนติเตียนเอา
คล้ายๆ กับว่าเขาสั่งสอนให้ตนรู้ตัว ให้ตนรู้ความผิดของตนเอง
นั่นแหละตนก็จะได้สำรวมระวัง ไม่ทำผิดพูดผิดอย่างนั้นต่อไป

พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าการที่คนเขามองเห็นความผิดของตน
แล้วเขาตักเตือนเขาบอกกล่าวนั้น
ให้ถือว่าเหมือนอย่างบุคคลบอกขุมทรัพย์อันประเสริฐให้แก่ตน ให้ถืออย่างนั้น
ในตำราพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
เพราะว่าตนจะได้ละความผิดอันนั้น ออกจากกายวาจาใจ
แล้วจะได้ดำเนินในทางที่ถูกต้องจะได้เป็นคนดี มีความสุขความเจริญต่อไป
ถ้าไปมัวถือแต่ทิฏฐิมานะอยู่ ไม่ยอมฟังคำวิจารณ์ของคนอื่นบ้าง
อย่างนี้นะผู้นั้นจะละความผิดของตัวเองไม่ได้ตลอดไปเลย
ท่านเรียกว่าทิฏฐุปาทาน ถือมั่นในความคิดเห็นของตนเองฝ่ายเดียว
ไม่ฟังความคิดความเห็นของคนอื่น

แต่ถ้าหากว่าเราทำถูก พูดถูก คิดถูกอยู่
เทียบกับธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามันตรงกันอยู่
แต่เขาตำหนิติเตียนเอาอย่างนี้
มันก็มีเหตุอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเขาเข้าใจผิดในเราไป
อย่างที่สองก็เป็นด้วยกรรมวิบากที่ตนทำมาแต่ก่อน มันตามมาให้ผล
มีอยู่ อยู่ดีๆ มีคนใส่โทษ มีคนไม่พอใจ รังเกียจเอารังแกเอา อะไรพวกนี้น่ะ
ใครไม่รู้จักเหตุปัจจัยแห่งชีวิตของตนเองตามความเป็นจริงดังกล่าวมานี้นะ
ก็เป็นเหตุให้ได้สร้างกรรมสร้างเวรใส่ตัวเองเรื่อยไป ให้พึงพากันเข้าใจ

ถ้ารู้ว่าความประพฤติของตนเป็นปกติดีอยู่
ตรงตามศีลตามธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ ยังมีคนใส่โทษ ติเตียนอย่างนี้
ก็ให้นึกว่าเป็นกรรมวิบากแต่หนหลังที่ตนได้ทำมา มันติดตามมาสนองเอาแล้ว
ก็อดทนอดกลั้นให้กรรมวิบากนั้นให้มันสนองไปเสีย
เมื่อมันหมดเขตหมดอำนาจของมันแล้วมันก็ระงับไปเอง
แล้วเมื่อกรรมเวรอันนั้นระงับไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีเป็นปกติไป
คนที่เคยเกลียดชังก็เลยกลายมาเป็นมิตรเป็นเพื่อน มาแสดงความนับถือก็มี
นั่นแหละ คนที่ไม่เกลียดชังมาแต่ก่อนก็ยิ่งนับถือยิ่งๆ ขึ้นไป
ในเมื่อบาปกรรมเวรมันระงับไป
บุญกุศลความดีที่ตนทำมานั้นน่ะ มันมาอำนวยผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดีไปหมด
นี่มันต้องรู้อย่างนี้จึงจะสามารถรักษาจิตใจให้เป็นปกติไปได้
เมื่อรู้อย่างนี้นะมันก็ไม่ต้องมีความทุกข์ใจอยู่เรื่อยไป

ดังนั้นแหละ พระบรมศาสดาจึงได้ทรงสั่งสอน
ให้พุทธบริษัทเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม
อย่าไปเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกว่ามาดลบันดาล
ให้ตนเป็นสุขเป็นทุกข์เดือดร้อนอะไรต่ออะไรอย่างนั้นน่ะ ไม่ถูก ไม่เป็นความจริง
แท้ที่จริงแล้วตนจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เพราะการกระทำของตัวเองโดยตรง
บางทีก็เกิดจากการกระทำไม่ดีของตนแต่ในอดีตหนหลังนู่น จนเป็นทุกข์ในปัจจุบันนี้
บางทีมันก็เกิดจากการกระทำความไม่ดีของตัวเองในปัจจุบันนี้
ตนเองทำไม่ดี พูดไม่ดี ผลมันก็อาจจะตามสนองเอาในปัจจุบันนี้ก็มี มันเป็นอย่างนั้น
เราต้องเรียนรู้เรื่องกรรมวิบากนี้ให้มากๆ ทีเดียว
ไม่เช่นนั้นแล้วเดือดร้อนแน่นอน คนเราน่ะ

พระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงตรัสรู้ในยามที่สองหรือตอนเที่ยงคืน
รู้แจ้งในความเป็นไปของสัตว์โลกทั้งหลาย
จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละบุคคลโดยตรงเลย
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใด พระองค์รู้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่งอย่างนี้
ดังนั้นให้พึงพากันพิจารณาตามให้เห็นตามนี้
จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว เมื่อกรรมตามสนองมา ตนก็อดทนได้ กรรมของเราน้อ อย่างนี้นะ
ถ้าใครเขาเกลียดชังเขาด่าว่าก็ด่าไป กรรมของเรา เราจะต้องอดทนเอา
เราทำเอามาเอง แล้วเราจะไปโยนให้ผู้อื่นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่กรรมในอดีต
ความประพฤติไม่ดีของตนทางกาย ทางวาจา อย่างใดอย่างหนึ่ง
เพิ่นว่าเอา นี่รู้ตัวแล้ว เราก็สำรวมกาย วาจานั้นให้ดีงาม
ไม่ทำชั่วพูดชั่วอย่างนั้นต่อไปอีกแล้ว เรื่องต่างๆ มันก็ดีไป มันก็ระงับไป

แต่ถ้าคนอื่นเขาว่ากล่าวเอาอย่างนี้ ตนก็ไปโกรธให้เพิ่นเขาไปเสีย
ตอบโต้กันไป เพื่อปกปิดความผิดของตัวเองไว้
เช่นนี้เวรมันก็ไม่ระงับแล้ว ต่อกันไปอีก ก็สร้างเวรใหม่สืบต่อไปไม่รู้จบรู้สิ้น
นี่ความประพฤติทางกาย วาจาของคนเรานี่น่ะ
มันมีใจเป็นประธาน มีใจเป็นผู้บงการ ถ้าใจดีมันก็บงการให้ทำดีพูดดีไป
ถ้าใจไม่ดีมันก็บงการให้ทำไม่ดี พูดไม่ดีพูดนอกศีลนอกธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไป
ก็มันเป็นอย่างนี้แหละ วิถีชีวิตของคนเรานะ มันมีใจนี่เป็นใหญ่เป็นประธาน

ฉะนั้นผู้ประพฤติธรรมในพุทธศาสนานั้น
อย่ามองไปทางอื่นว่ามาทำให้ตนเป็นสุขเป็นทุกข์
มองดูใจตัวเองนี้ ใจตัวเองนี่แหละทำให้ตนเป็นทุกข์เป็นสุข
ถ้าตนปรับปรุงใจของตนให้ดีแล้วอย่างนี้
ถึงแม้จะมีกรรมเวรหนหลังตามมาสนองมันก็ไม่เป็นทุกข์เท่าไร
เพราะตนรู้นี่ รู้ว่ากรรมเวรที่ตนทำมาแล้ว
จะไปโยนให้ใครรับสนองแทนไม่ได้ ตนเองต้องรับสนองเอง
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วมันก็ไม่ทุกข์ใจ อดกลั้นทนทานให้กรรมเวรนั้นมันสนองไปเสีย
เมื่อมันหมดเขตของมันแล้ว มันก็ระงับไปเอง
ถ้ายังไม่หมดเขตของมัน มันก็สนองไป
เราก็อดทนไป สู้กับผลแห่งกรรมแห่งเวรอันนั้นไป
ทำอย่างไรได้ เพราะตนได้ทำมันมาแล้ว
แล้วก็อธิษฐานใจว่าต่อนี้ไป เราจะไม่ทำชั่วไม่พูดชั่วกับใครต่อไปเลย
จะทำแต่ความดี จะพูดแต่สิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดีเรื่องที่ไม่ดีนั้น จะไม่เอามาพูดเลย
เรื่องที่ไปกระทบกระทั่งคนอื่นให้เป็นทุกข์เดือดร้อนพวกนี้ เราจะไม่ทำไม่พูด
อธิษฐานใจเสมอๆ ไป ในขณะที่กรรมมันสนองอยู่นั้นน่ะ

ทำเช่นนี้ เมื่อกรรมเวรอันนั้นมันหมดไปแล้ว มันก็มีแต่ความดีเท่านั้นน่ะเกิดขึ้น
เมื่อตนได้ทำความดีไว้ในปางก่อนมา
ความดีมันก็โผล่ขึ้นมาให้ผล ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ดีไปหมด
ประกอบกับตนกระทำความดี พูดดีในปัจจุบันนี้เข้าไปอย่างนี้นะ
มันก็เลยมีแต่ดีทั้งนั้นล่ะ
บัดนี้น่ะพอหายไป ในชีวิตของปุถุชนคนที่ยังหนาไปด้วยกิเลสตัณหา
มันลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ก็เพราะความประพฤตินั่นแหละมันไม่สม่ำเสมอ
อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ตัวของตัวเองอย่าว่าแต่คนอื่นเลย ความประพฤติของตนเองมันก็ยังมีลุ่มๆ ดอนๆ อยู่
แล้วทีนี้จะไม่ให้กรรมที่ตนทำนั้น มันตามสนองทั้งสองอย่างยังไงเล่า
บางคราวก็ทำชั่วพูดชั่วไป บางคราวก็ทำดีพูดดีไป อย่างนี้นะ
คราวใดทำชั่วพูดชั่ว มันก็เกิดเป็นกรรมชั่วขึ้นมา
คราวใดทำดีพูดดีก็เกิดเป็นกรรมดีขึ้นมา
แต่กรรมดีกรรมชั่วที่เป็นลหุกรรมเป็นกรรมเบานั่นน่ะ
ถ้าผู้ใดระลึกได้ รู้ตัวว่าตนทำชั่วพูดชั่วผิดศีลผิดธรรม
แล้วอธิษฐานใจละเว้นมันไป สำรวมระวังต่อไป ไม่ทำชั่วไม่พูดชั่วอย่างนั้น
ต่อไปอย่างนี้ กรรมเวรอันนั้นมันอาจเป็นอโหสิกรรมไป
มันจะไม่ตามสนอง เพราะเรารู้ตัว แล้วเราอธิษฐานใจเว้นมันแล้ว

ที่กรรมมันตามสนองคนอยู่นี้ ก็เพราะคนทำมันแล้ว
มันไม่รู้ตัวว่าตนทำไม่ดี พูดไม่ดี ไม่เห็นโทษแห่งการกระทำนั้นเช่นนั้น
กรรมนั้นมันก็ไม่หนีออกจากกายใจของคนเรา ติดสอยห้อยตามไปอยู่อย่างนั้น
เมื่อมันได้โอกาสเวลาไหน มันก็ให้ผลเวลานั้น นี่ต้องให้เข้าใจ
ถ้าไม่เป็นอย่างว่านี้ พระศาสดาคงไม่ทรงสอน
ให้พุทธบริษัทละสิ่งที่เป็นบาปอกุศล แล้วทำในสิ่งที่ดีที่เป็นบุญกุศลใช้คืนแทน
ละบาปกรรมไม่ไปต่อเรื่องต่อราวไม่ดีอีก เมื่อประสบเรื่องราวอะไรก็อดทนเอา
อย่างนี้วิบากกรรมก็ไม่หนัก อย่างนี้บุคคลจึงสามารถละบาปอกุศลได้
พระองค์เห็นแจ้งด้วยพระปัญญาแล้ว
ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัท
ให้เพียรละกรรมชั่วที่เป็นลหุกรรมเสีย

ส่วนครุกรรม กรรมหนักนั้นน่ะ
ใครทำลงไปแล้วนั้นจะเพียรพยายามละอย่างไร มันก็ไม่ได้เลย
ละอย่างไรมันก็ไม่ระงับไป มันต้องตามให้ผลจนได้
เช่น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์
ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน
กรรม ๕ อย่างอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นครุกรรม เป็นกรรมอันหนัก
ถ้าใครไปพลั้งเผลอ กระทำลงไป อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเช่นนี้
แม้จะทำความดีอย่างไรๆ ตลอดชีวิต ก็แก้ไม่ตก
ให้ผลจนได้นำไปสู่อเวจีมหานรกอย่างเดียว ไม่ไปที่อื่น

เราจึงต้องรู้ขั้นตอนแห่งกรรมไว้อย่างนี้
ถ้าเป็นลหุกรรมกรรมเบา ผู้ใดระลึกได้ว่าตนทำผิดจริง ยอมสารภาพผิด
ไม่ยอมสารภาพผิดต่อคนอื่น ก็ยอมสารภาพผิดต่อตัวเอง
หรือว่าต่อหน้าพระพุทธรูปก็ตาม
กราบแล้วอธิษฐานในใจว่าข้าพเจ้าได้ทำผิดอย่างนั้นๆ จริง
ต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะสำรวมระวัง จะไม่ทำผิดไม่พูดผิดอย่างนั้นต่อไปอีก
ด้วยอำนาจแห่งความสัตย์ความจริงอันนี้
ขอให้ความชั่วเหล่านั้นจงระงับดับไปจากจิตใจของข้าพเจ้านี้

นี่ผู้ใดถ้าหากว่ารู้ตัวแล้วอธิษฐานใจอย่างนี้บ่อยๆ เข้า
กรรมชั่วนั้นไม่มีเหลืออยู่ในใจเลย มันจะระงับไป
นี่วิธีละกรรมอันชั่วที่เป็นลหุกรรม
แม้ครุกรรม กรรมหนักก็เหมือนกันแหละ ถ้าผู้ใดได้ทำมาแล้วอย่างนี้
ก็หมั่นอธิษฐานใจเสมอ ต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะไม่ทำอีกแล้ว
เช่นนี้นี่ เมื่อได้เสวยผลแห่งกรรมหนักอันนั้นไปแล้ว พ้นจากกรรมหนักนั้นไปแล้ว
ต่อไปผู้นั้นก็จะไม่ทำกรรมหนักอย่างนั้นต่อไปอีก
เพราะว่าเข็ดหลาบแล้ว รู้ตัวแล้ว อธิษฐานใจมั่นลงไปแล้ว
ถ้าผู้ใดระลึกไม่ได้อย่างว่านี้ มันอาจทำอีกต่อไปก็ได้
เมื่อพ้นจากกรรมชั่วอันนั้นไปแล้วนะ นี่มันเป็นอย่างนี้ ให้พากันเข้าใจ

ในการที่สัตว์โลกทั้งหลายจะวนเวียนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในวัฏสงสาร
อันนี้ก็เพราะระลึกถึงกรรมชั่วที่ตัวทำไม่ได้นี้เองแหละ ไม่อธิษฐานใจละเว้นเลย
บางคนมีจริตนิสัยอย่างไร ติดจริตนิสัยอันไม่ดีอย่างไร
ติดตัวมายังไงก็ไม่เห็นโทษแห่งนิสัยอันไม่ดีอันนั้น ไม่อธิษฐานใจละเว้น
ไม่พยายามดัดจริตนิสัยของตนให้ดี ปล่อยตนให้เป็นไปตามนิสัยอันชั่วต่างๆ หมู่นั้น
ผู้เป็นเช่นนั้นก็มักจะทำชั่วใส่ตัวเองบ่อยๆ เลย ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้
จะต้องท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตายเสวยสุขเสวยทุกข์
เสวยทุกข์นั่นน่ะมากกว่าเสวยสุข อยู่ในวัฏฏะอันนี้

เพราะฉะนั้นทุกคนให้พึงพากันเข้าใจ
ในเรื่องการละบาปบำเพ็ญบุญ ดังที่บรรยายให้ฟังมานี้
ก็โดยอาศัยการทำจิตให้สงบนี้แหละ เป็นการละอกุศลไปในตัวเลย ให้เข้าใจอย่างนั้น
โดยสรุปใจความแล้วนะ เพ่งกรรมฐานเข้าไป
เช่นผู้เป็นโทสะจริตมักโกรธง่ายอย่างนี้ ก็ต้องเพ่งเมตตาธรรมให้มากๆ เข้าไป
เจริญเมตตาธรรม กรุณาธรรมให้มากๆ
มันก็จะบรรเทาเบาบางลง ความโกรธ ความพยาบาทต่างๆ หมู่นั้นนะ
ผู้ใดเป็นราคะจริตเช่นนี้ ก็ให้หมั่นเจริญอสุภกรรมฐานบ่อยๆ เข้าไป
เพราะมันรักสวยรักงาม แต่สิ่งที่ว่าสวยว่างามนั้น เป็นเพียงแค่สมมติ ไม่เป็นความจริง
อย่างรูปร่างกายอย่างนี้ มันงามแต่ผิวหนังข้างนอกเท่านั้นเอง
ถ้าลอกหนังนี่ออกไปแล้ว ไม่มีอะไรสวยงามสักหน่อยเดียว
อย่างนี้นะ เราเพ่งอสุภะเข้าไปอย่างนี้ ความรักสวยรักงามอันนั้น
มันก็จะบรรเทาเบาบางไป จิตใจก็สงบระงับลงได้

นี่อุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอน
เพื่อละกิเลสต่างๆ เหล่านี้นะ มันมีอยู่ แต่คนไม่ปฏิบัติตามเท่านั้นเอง
ผู้ใดปฏิบัติตามก็ย่อมได้ความสุขความเจริญ ตามกำลังความสามารถของตน
ดังแสดงมา ขอจบลงเพียงเท่านี้


ที่มา : หนังสือ ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๗
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี
วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
หัวข้อ ผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ (หน้า ๒๒-๓๗)
จากซีดี แผ่นที่ ๒๑ กัณฑ์ที่ ๒
:b8: :b8: :b8:

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร