วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 22:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2020, 08:47 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b50: :b47: ทางสู่สวรรค์ สู่นิพพาน

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


รูปภาพ

เรียนรู้ตามตำราใครๆ ก็รู้ แต่ว่ารู้ตามวิญญาณ จำได้ตามสัญญาเฉยๆ น่ะ มันไม่สำเร็จประโยชน์ ไม่เข้าใจ มันไม่สามารถที่จะละกิเลสตัณหาได้ ต้องน้อมธรรมะนั้นมาเข้าสู่ดวงใจนี้ให้ได้ ให้ธรรมะนั้นเข้ามาสู่ดวงใจนี้ให้ได้ ให้ธรรมะนั้นมาซึมซาบตั้งมั่นอยู่ในใจนี้ นั่นแหละ ธรรมะนั้นถึงจะมีประสิทธิภาพ กำจัดกิเลสออกจากดวงใจนี้ได้ เช่นอย่างอสุภกัมมัฏฐานอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นเครื่องกำจัดราคะ ความกำหนัดยินดีให้เบาบางออกไปจากจิตใจ

ทีนี้ถ้าใครไม่น้อมสติเข้าไปเพ่งร่างกายสังขารอันนี้ ให้เป็นของเน่าเปื่อยโสโครกสกปรกเช่นนี้แล้ว ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ คือไม่สามารถที่จะทำให้จิตนั้นคลายความรัก ความใคร่ต่างๆ ลงได้ มีแต่จะสะสมความรักความใคร่ให้หนาแน่นขึ้นไปเรื่อยๆ อย่าไปเข้าใจว่ากิเลสเหล่านี้ไม่มีภัยต่อชีวิต หรือว่ามีภัยต่อชีวิตของนักบวชเท่านั้น

แม้เป็นคฤหัสถ์ มันก็มีภัยอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะ เช่น ไปล่วงเกินสามีหรือภรรยาของคนอื่นในทางประเวณี นี่ก็เพราะว่ามันสะสมความรักความใคร่เกินขอบเขตนั่นเอง มันไม่มีอุบายที่จะบั่นทอนราคะตัณหาให้เบาบางลงได้ เพราะแต่ละวันแต่ละคืนไม่ได้มานั่งสมาธิภาวนา ไม่ได้เพ่งดูอัตภาพร่างกายนี้ มีแต่หาความสนุกสนานเพลิดเพลินในกามคุณ มีแต่กินแล้วก็นอน ไม่ได้ทำความเพียร ไม่ไหว้พระ ไม่ได้นั่งสมาธิภาวนาเลย คนส่วนมากเป็นอย่างนั้น มันมักง่าย นึกว่าตนนั้นมีความสุขสบายแล้ว ไม่ต้องไปทรมานฝึกตนให้ลำบาก

เหตุใดจึงชอบแต่นอน แม้เป็นนักบวชนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่มีผู้นำพาอย่างนี้นี่ ส่วนมากก็มีแต่กอนแล้วก็นิน กินแล้วก็นอนอยู่นั่นแหละ หาได้เฉลียวใจไม่ว่า ไอ้ความมักหลับมักนอนนี้เป็นภัยต่อชีวิต ไม่คิดเลยคนเราน่ะ ถ้าไม่เป็นภัยต่อชีวิตแล้ว พระศาสดาท่านไม่ทรงสอนหรอก ไม่ทรงสอนให้ฝืนกฎธรรมดาเหล่านี้ ก็จะทรงปล่อยให้คนนอนตามสบายไปเรื่อย อย่างนั้นแหละ พระพุทธเจ้าตรัสว่า มันเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดนะ เช่น ทรงสอนไว้ในอปัณณกปฏิปทา คือข้อปฏิบัติไม่ผิด ๓ อย่าง คือ

หนึ่ง อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูปด้วยนัยน์ตา เป็นต้น

สอง คือ โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภคอาหารแต่พอควร ไม่มากไม่น้อย

สาม คือ ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียร เพื่อจะชำระใจให้หมดจด ไม่เห็นแก่นอนมากนัก

ข้อปฏิบัติสามประการนี้ พระศาสดาตรัสว่าไม่ผิด หมายความว่า ไม่ผิดทางไปสวรรค์ ไม่ผิดทางไปพระนิพพาน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าว่าใครไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติสามประการนี้ ก็เป็นอันว่าผู้นั้นเดินทางผิด ให้พึงเข้าใจ เดินทางผิดแล้วมันผิดทางไปสวรรค์ ผิดทางไปพระนิพพาน หมายความว่าอย่างนั้น อย่าว่าแต่พระนิพพานเลย แม้แต่สวรรค์ก็ไปไม่ได้

บุคคลเห็นแก่ปากเห็นแก่ท้อง ไม่สำรวมท้องของตัวเอง เอาแต่ความอยาก ติดรสชาติของอาหาร ก็เที่ยวไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มาบำรุงอัตภาพร่างกายนี้อย่างหนึ่ง เมื่อหาเงินทองมาได้สักก้อนหนึ่ง ก็ไปเที่ยวกินอาหารอร่อยๆ อยู่ตามภัตตาคารต่างๆ ซึ่งมีราคาแพงๆ นั่นแหละคือคนติดรสชาติของอาหาร เงินทองหามาได้เท่าไหร่ก็ไม่มีเหลือ มันเป็นหนทางแห่งความเสื่อมของทรัพย์สิน เสื่อมทั้งทรัพย์ภายนอก เสื่อมทั้งทรัพย์ภายใน ก็เมื่อได้เห็นแก่ปากแก่ท้อง จ่ายเงินค่าอาหารไปหมดแล้ว จะเอาอะไรไปให้ทานได้ล่ะ บุญกุศลก็ไม่ได้

ผู้ที่ไม่สำรวมอินทรีย์อย่างนี้ ไม่มีสติอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือว่าไม่ได้ตั้งสติอยู่ในอายตนะภายในทั้ง ๖ นี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ตาไปเห็นรูปที่น่ารักน่าชัง มันก็หลงรักหลงชังไป หูได้ยินเสียงที่น่ารักน่าชัง มันก็หลงรักหลงชังไป จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้สัมผัสรส กายได้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ไอ้ที่น่ารักน่าชังมันก็หลงรักหลงชังไป ใจได้รับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ อย่างนั้น ถ้าหากว่าขาดสติสัมปชัญญะประคับประคองแล้วอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี มันก็หลงรักหลงชังไป แต่ที่จริงมันก็หลงออกไปจากจิตนี้ต่างหากหรอก ตา หู จมูก ลิ้น กายนี้ มันไม่ว่าอะไร มันก็สักแต่ว่าได้เห็นได้ยิน เป็นต้น เท่านั้นเอง แต่มันไม่ว่าน่ารักอะไรหรอกตาหูนี้ ใจต่างหากที่มันสำคัญผิดคิดว่าน่ารักน่าชังน่ะ เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นการสำรวมอินทรีย์ ท่านจึงได้สอนให้สำรวมมนินทรีย์นั้นน่ะ ให้มันได้ และเมื่อสำรวมมนินทรีย์นั้นได้แล้ว ก็คือได้หมดเลย อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายนี้เป็นอันสำรวมไปหมด เพราะว่า เมื่อใจไม่ยินดียินร้าย ในเวลารูปมากระทบนัยน์ตาเป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วเช่นนี้นะ มันก็ไม่เกิดกิเลสตัณหาอะไร ก็จัดว่าเป็นการสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ไปในตัว เพราะว่าเราจะไปห้ามตาไม่ให้ดูรูปอะไรเสียเลยไม่ได้ จะไปห้ามหูไม่ให้ได้ยินเสียง จะไปห้ามจมูกไม่ให้สูดกลิ่น จะไปห้ามลิ้นไม่ให้รับรสอาหารต่างๆ ก็ดี จะไปห้ามร่างกายนี้ ไม่ให้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งอะไรเลยไม่ได้ มันผิดกฎธรรมดา ห้ามไม่ได้

ดังนั้น พระศาสดาจึงให้สำรวมอินทรีย์นั่นแหละ หรือว่าเมื่อสิ่งเหล่านั้นกระทบกระทั่งมา ในอายตนะภายใน ๖ มีตาเป็นต้น ก็ให้มีสติให้ควบคุมจิตให้กำหนดรู้เท่าอารมณ์เหล่านั้นต่างหาก อย่าไปหลงดีใจ อย่าไปหลงยินร้าย ให้พึงเข้าใจคำว่า สำรวมอินทรีย์นั้นน่ะ ไม่ใช่ว่าต้องให้หลับตาเรื่อยไป ไปที่ไหนก็ดีต้องเอาสำลีมาอุดหูไว้ ไม่ต้องให้ได้ฟังเสียงอะไรอย่างนั้น มันไม่ถูกไม่ชอบ

แต่ว่าในพระวินัยของพระภิกษุสามเณรนี้ เช่นในเสขิยวัตร ควรปฏิบัติตามแท้แหละ เวลาเดินไปตามถนนหนทาง ก็ควรทอดสายตาให้ต่ำลง อย่าไปมองเหม่อไปทั่ว ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ เสียจรรยามารยาทของสมณะหรือไม่ใช่สมณะก็ตาม มันเสียทั้งนั้นแหละ เพราะว่าเดินตามทางไปอย่างนี้ มองเหม่อไปนู่นไปนี่ ถ้าเห็นสิ่งใดที่ตนชอบใจแล้ว ก็จ้องมองตามจนตาค้างไปเลย ถ้าเดินไปตามถนนหนทาง เดี๋ยวรถก็ชนเอา นี่ ความไม่สำรวมอินทรีย์ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ มันก็ให้โทษเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงได้ทรงสอนให้สำรวมทั้ง ๖ เลยนะ สำรวมน่ะ หมายถึง มีสติสัมปชัญญะอย่างหนึ่ง ไปไหนมาไหนก็ให้ทอดสายตาลงต่ำ ห่างจากตัวแค่ ๔ ศอก แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นก็จึงค่อยดู จึงค่อยฟัง เป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นแล้วก็ไม่ต้องดูไม่ต้องฟัง ก็ทอดสายตาลงอย่างที่ว่านั่นแหละ อันนี้เป็นคุณธรรมของนักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ท่านบำเพ็ญมาเป็นตัวอย่าง มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

การทำเช่นนี้คือการสำรวมอินทรีย์ อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติไม่ผิดเลย มันเป็นอุปการะแก่สมาธิภาวนานั้นเอง เมื่อสำรวมอินทรีย์ได้อย่างนี้ ใจไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ภายนอกที่มากระทบกระทั่งนี้ เวลานั่งสมาธิภาวนาทำใจให้สงบลงได้ง่ายดี เพราะใจไม่ได้ยึดถืออารมณ์ภายนอกนั้นไว้ มันถึงไม่ก่อให้เกิดกิเลสต่างๆ ใจจึงสงบลงได้ง่าย

การฝึกตนไม่หลับไม่นอนก่อนเวลาอันสมควรอย่างนี้น่ะ แล้วก็มาฝึกตนให้ตื่นตามเวลาที่กำหนดไว้ อย่างนี้ก็เป็นหนทางแห่งความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมของจริงได้ ถ้าใครไม่ฝึกเรื่องการหลับการนอนแล้ว ไม่ได้เรื่อง ผู้นั้นย่อมเป็นคนปัญญาอ่อน ไม่มีปัญญา มีแต่ง่วงแต่เหงา ก็เพราะเหตุว่า ไปฝึกตนให้ผิดนิสัยอย่างนั้น

พอมันอยากนอนก็ไปนอนเสีย จะเป็นเวลาหัวค่ำก็ช่าง ถึงตอนดึกมาได้เวลาก็ตื่นขึ้น แทนที่จะลุกไปล้างหน้าล้างตา พอตื่นขึ้นมามันง่วงก็กลับนอนอีก ยังงี้มันก็เลยไม่ได้ทำความเพียร ไม่ได้ฝึกจิตใจนี้ให้สงบระงับเลย จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ช่าง ถ้าใครมักหลับมักนอนอย่างว่านี้นะ ก็ไม่ได้ทำความเพียรเลย กิเลสมันมีอยู่เท่าไร มันก็อยู่เท่านั้น มันไม่เบาบางออกไปจากจิตใจเลย นี่ลองพิจารณาดู

เหตุที่เรานับถือพระพุทธศาสนานี้นะ ก็เพราะเราได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้าแล้วเป็นอย่างดี เราเห็นแจ้งว่าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนานี้ พระองค์เป็นผู้ละอาสวกิเลสหมดสิ้นไป จากพระขันธสันดานแล้ว ก็จึงได้มาบัญญัติพุทธศาสนานี้ไว้ ถ้าว่าพระองค์ยังไม่สามารถละอาสวกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปจากพระขันธสันดานแล้ว พระองค์จะไม่ตั้งศาสนาอย่างนี้ และจะไม่สอนใครอีกด้วย ลองคิดดูให้ดี

การที่พระองค์ได้ทรงมีนโยบาย เที่ยวจาริกไปในบ้านน้อย เมืองใหญ่ เพื่อทรงแสดงธรรมที่ตรัสรู้แล้วนั้น ก็เพราะว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วว่า ธรรมดีที่พระองค์บรรลุนี้ของจริง เมื่อผู้ใดปฏิบัติตามคำสอนที่พระองค์แนะนำ ผู้นั้นสามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ จะพ้นทุกข์ได้ พระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นอย่างนี้ จึงไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากลำบากเหน็ดเหนื่อยของพระองค์เลย เที่ยวเสด็จไปตามบ้านน้อย เมืองใหญ่ สุดแล้วแต่จะทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยคนหมู่ใด ตั้งบ้านเรือนอยู่ทิศไหน ทรงพิจารณาเห็นว่า คนเหล่านั้น มีอินทรีย์บารมีแก่กล้าพอสมควร สมควรที่จะได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษอย่างนี้ พระองค์ก็เสด็จไป แม้จะไกลก็ไม่ว่า อันนี้แหละ เราได้ศึกษา ได้รู้ประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ เราก็ปรารถนาจะชำระอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ

เพราะฉะนั้นเราจึงได้หันหน้าเข้าสู่วัดวาศาสนา เป็นคฤหัสถ์ก็ได้มาอุปถัมภ์บำรุง เมื่อตนไม่มีความสามารถที่จะปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา ให้เต็มความสามารถ เพราะเหตุว่า เป็นคฤหัสถ์ย่อมมีจิตกังวลห่วงใยมาก เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้านั่นแหละ เมื่อเห็นท่านผู้ใดเป็นผู้สละเคหะบ้านเรือนออกบวช บวชมาแล้วก็ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ให้รู้ให้เข้าใจข้อวัตรปฏิบัติ เที่ยวจาริกไปแสวงหาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า อันเป็นที่สงบสงัด ไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากลำบากเหน็ดเหนื่อยเลย

มานึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นครู เป็นศาสดาของเราทั้งหลายนั้นว่า กว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้แจ้งสัพพธรรมทั้งหลายนี้ พระองค์ก็ได้เอาทุกข์เป็นทุนมาก่อน สู้ทุกข์ สู้ยาก ปฏิบัติมา คลำหาหนทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ มาโดยลำดับ แต่เมื่อบุญบารมีของพระองค์ยังไม่แก่กล้า พระองค์ก็ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น เรามารู้ว่าความตรัสรู้ หรือว่าการละอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป มันเป็นความสุขอันสดใสจริงๆ ผู้ใดต้องการความสุขอย่างนี้นะ ถึงได้มาอุปถัมภ์บำรุง ท่านผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดต่อธรรมวินัย ผู้ยอมเสียสละอามิสสุขในโลกโดยประการทั้งปวง ทรงไว้ซึ่งเพศสมณะ ที่ท่านบัญญัติว่าอุดมเพศนั้นไปจนเฒ่าจนแก่ จนตลอดชีวิตชีวา มีอยู่ถมไป

ทายกทายิกาได้พิจารณาเห็นคุณแห่งพระสงฆ์อย่างนี้แหละ จึงได้เคารพนับถือสักการบูชา ถวายไทยทานต่างๆ ได้ ถวายด้วยความเต็มอกเต็มใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าทำตามประเพณีเท่านั้น เรียกว่าให้ด้วยความเต็มใจ ด้วยความเลื่อมใสจริงๆ เท่าที่สังเกตดูนะ ทายกทายิกาทำบุญทำทานมาทุกวันนี้ แสดงถึงความยินดี ความเลื่อมใส เป็นอย่างยิ่งทีเดียว ไม่ใช่ว่าทำบุญให้ทานแบบหน้าบูดบึ้ง โดยไม่พอใจในการให้ทานนั้น แต่ว่าจำใจต้องให้เพราะหมู่มากลากไป ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ถ้าผู้ใดคิดอย่างนั้น การจะให้ทานของแก่ผู้นั้น มันก็ไม่ได้ผลสมบูรณ์ ได้แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

นี้แหละให้พากันคิดพิจารณาดูให้ดี ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งนักบวชนี้ ต่างก็ปฏิญาณตนถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกมา ถ้าเป็นนักบวช ก็ปฏิญาณตนถึงคุณพระรัตนตรัยนี้เป็นที่พึ่ง ตอนเข้าโบสถ์บวชอยู่นู่น เป็นคฤหัสถ์เช่นนี้ ก็ได้ปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งเรื่อยมา ก่อนที่จะให้ทานอะไร เราก็มีหัวหน้าทายกนั้น พาอาราธนาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ เสียก่อน แล้วแต่กรณี แล้วก็พากันรับศีลจากพระไปเรียบร้อยแล้ว จึงถวายภัตตาหาร เป็นทาน หรือถวายอัฐบริขาร ๘ ประการของพระภิกษุอย่างนี้น่ะ แบบนี้แหละเรียกว่า เราให้ด้วยความเต็มใจ ไม่มีใครบังคับบัญชาเลย

เพราะฉะนั้นการให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี การภาวนาก็ดี ความมุ่งหมายก็เพื่อจะน้อมเอาคุณธรรมเหล่านี้ เข้ามาสู่จิตใจ มาล้างชำระจิตใจนี้ให้ผ่องใสสะอาด เอาทานมาล้างความโลภ ความตระหนี่ หวงแหน ให้ออกไปจากจิตใจ เอาศีลมาล้างความโกรธ ความพยาบาทเบียดเบียนจองเวรซึ่งกันและกัน ให้ห่างเหินออกไปจากจิตใจ เอาภาวนามาชำระความหลง ให้ได้รู้จริงเห็นแจ้งในธรรม ให้ขยายออกจากจิตใจนี้ให้ได้นั่นแหละ

ข้อปฏิบัติทั้ง ๓ ประการนี้ ล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับขัดเกลากิเลส อันหมักหมมอยู่ในจิตใจมานานแล้วนี้ ให้เบาบางออกไปเรื่อยๆ ให้พึงเข้าใจความหมายของข้อปฏิบัติ ๓ ประการนี้ ผู้ใดเข้าใจความหมายอย่างนี้แล้วก็ไม่เกียจคร้าน เพราะว่าตนก็มองเห็นจิตใจของตน ยังหวั่นไหวไปตามกิเลสตัณหาอยู่ ไม่ใช่ว่ามันสงบจากกิเลสตัณหาเรื่อยไปแล้ว มันสงบได้แต่บางเวลา บางครั้งเท่านั้นน่ะ สงบได้แต่เวลาเข้าสังคม เวลาไปร่วมบำเพ็ญกุศลกับหมู่คณะ ถ้าอยู่โดยลำพังตนเองน่ะ สงบไม่ได้เลย ส่งใจคิดฟุ้งซ่านไปจิปาถะ อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นทุกคนต้องพยายามปฏิบัติเพื่อพึ่งตนเองให้ได้ จงประกอบกุศลคุณงามความดีให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อบุญกุศลคุณงามความดีมีมากขึ้นไปเท่าไร จิตใจก็หนักแน่นเข้าไปเท่านั้น ศรัทธาความเชื่อ เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยนั้น มันก็แน่นหนาเข้าไปเรื่อยๆ ไม่มีทางจะจืดจางนะ

ผู้ใดกระทำคุณงามความดีตามแนวของพระพุทธเจ้าดังกล่าวมานี้ ได้แก่ อปัณณกปฏิปทา ข้อปฏิบัติไม่ผิด ๓ อย่าง ใครปฏิบัติตามด้วยความพอใจ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริงๆ มันก็ก่อให้เกิดบุญ ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งกุศล เกิดสติ เกิดปัญญาความรู้ ความฉลาดขึ้นมา สามารถที่จะละกิเลส บาปธรรมนั้นให้เบาบางลงหรือหมดไปสิ้นไปจากจิตใจได้ ก็ด้วยการที่เราไม่ถือเนื้อถือตัว ไม่ทำตนให้เป็นคนกระด้างกระเดื่อง ภายในจิตใจก็ไม่แข็งกระด้าง กายวาจาก็ไม่แข็งกระด้าง น้อมเอาธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้ามาตั้งไว้ในใจแล้วรักษาไว้ ประพฤติปฏิบัติตามไปโดยไม่ประมาท เช่นนี้เราก็สามารถที่จะขัดเกลากิเลสตัณหานี้ ให้น้อยเบาบางออกไปจากจิตใจได้

แม้ธุดงควัตรก็เหมือนกันนะ ของภิกษุ สามเณร ล้วนแต่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสตัณหา ให้น้อยเบาบางออกไปจากจิตใจทั้งนั้น แม้เป็นคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติตามธุดงควัตรนี้ได้ ในเมื่อโอกาสอำนวยนะ ธุดงควัตร พระศาสดาไม่ได้ทรงบัญญัติให้ปฏิบัติไปจนตลอดชีวิตนะ ถ้าว่างๆ โอกาสอำนวยให้อย่างนี้ ก็มาสมาทานเข้าไป ปฏิบัติเข้าไป ไม่ว่าพระภิกษุ สามเณรหรือคฤหัสถ์ เราสามารถสมาทานปฏิบัติเอาไว้ เป็นครั้งเป็นคราวไป ถ้าเกิดไม่สะดวกแล้วก็ลาเสียก่อน ลาธุดงควัตรไว้ก่อน ยกไว้ก่อน ไว้เมื่อโอกาสอำนวย ค่อยสมาทานลงไป เช่น สมาทานไม่นอน สมาทานฉันบิณฑบาต ฉันรวมในบาตรทั้งหมดอย่างนี้นะ สมาทานเป็นครั้งเป็นคราวก็ได้ เมื่อหากว่ามันขัดข้องขึ้นมาก็ยกเลิกไปอย่างนี้ทำได้ทั้งนั้นแหละ ล้วนแต่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสตัณหา บาปธรรมให้น้อยเบาบางไปจากจิตใจ ดังแสดงมา


:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ วรลาโภวาท พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา พระสุธรรมรำลึก
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วันจันทร์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ หัวข้อ ทางสู่สวรรค์ สู่นิพพาน หน้า ๕๙-๗๐

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=51952

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2021, 10:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2022, 11:39 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร