วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2016, 14:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


ต่อนี้ไปพึงพากันตั้งใจ สำรวมจิตใจของตนให้ดี ถ้าสำรวมใจได้ดีมันก็ไม่มีภัยอันใดมารบกวน ภัย คือ กิเลส ผู้สำรวมจิตใจด้วยดี ใจตั้งมั่นลงไปแล้วกิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ธรรมดาของกิเลสมันเป็นมารของจิตใจ มันหน่วงเหนี่ยวจิตนี้ให้วนเวียนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในโลกนี้ไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นให้พากันพิจารณาให้มันเห็นภัย คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนี่เป็นภัยอันใหญ่หลวง เป็นภัยน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง ความกลัวทั้งหลายในโลกนี่ ความกลัวตายนั่นน่ะเรียกว่าเป็นความกลัวอันสุดยอดเลย ให้พากันพิจารณาดูให้มันเห็น เรานั้นมันสะดุ้งหวาดหวั่นต่อความตายอันนี้มานับชาติไม่ถ้วนแล้ว เกิดมาชาติใดก็มาแก่ มาเจ็บแล้วก็มาตาย ก่อนจะตายมันก็สะดุ้งหวาดหวั่นพรั่นพรึง เศร้าโศกเสียใจ

ผู้ที่มีจิตใจกังวลมาก ยึดนู่นยึดนี่มากๆยิ่งเป็นทุกข์หลาย เหตุที่มันพ้นทุกข์ไปไม่ได้ก็เพราะจิตใจมันห่วงโลกนี้เองนะ มันยึดมั่นอยู่ในโลกนี้ด้วยความยินดีด้วยความยินร้าย ด้วยความเสียใจด้วยความเศร้าโศก มันยึดไว้ด้วยอาการดังกล่าวมานี้ เรียกว่ามันเป็นทุกข์ ถ้าเพียงแค่ว่ายึดขันธ์ห้านี้ไว้เพื่อฝึกตน เพื่อบำเพ็ญบุญกุศล เพื่อชำระกิเลสตัณหาอันนี้ให้น้อยเบาบางหรือหมดไปสิ้นไป ถ้ามันยึดถือแบบนี้มันก็ไม่มีภัยเท่าไรนัก เหมือนอย่างบุคคลนั่งเรือรับจ้าง จากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งนู้น ในความรู้สึกนั้นไม่ได้ถือว่าเรือนี้เป็นของเรา เราจ้างเขาขี่ไปจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งนู้นเท่านั้นเอง พอขึ้นเรือแล้วก็แล้วไป ไม่ได้ห่วงใยอะไรในเรือนั้นเลย ข้ออุปมานี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ เราอาศัยขันธ์ห้านี้ประกอบคุณงามความดีต่างๆตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงอย่างสูงก็เพราะเราได้อาศัยขันธ์ห้านี้เองแหละ ถ้าไม่มีขันธ์ห้าอันเป็นรูปร่างของมนุษย์นี้ทำคุณงามความดีอะไรก็ไม่ได้ เหมือนอย่างสัตว์เดรัจฉานที่เราเห็นกันอยู่นี้ เกิดร่วมโลกกันอยู่นี้แหละ มันก็ทำความดีอะไรไม่ได้เลย ลองเทียบกันดู อย่างนี้แหละแล้วมันก็มีจิตวิญญาณเหมือนกันแต่จิตนั้นหากไม่มีความรู้ความฉลาดอะไร นั่นท่านเรียกสัตว์ที่เจริญทางขวาง ไม่มีสติไม่มีปัญญาอะไร สัตว์ที่เจริญทางตั้งนี่เป็นสัตว์ที่มีสติปัญญา ดังนั้นให้ภาคภูมิใจที่ตนได้ขันธ์ห้าอันเป็นมนุษย์นี้มา ด้วยอำนาจบุญกุศลแต่หนหลังนู่นมาตกแต่งให้

และอย่าประมาทเพราะขันธ์ห้านี้ถึงแม้บุญกุศลมันจะตกแต่งให้ มันก็ไม่เที่ยง เพราะบุญกุศลที่ตกแต่งขันธ์ห้านั้นก็ไม่เที่ยงดังนั้นขันธ์ห้านี้จึงไม่เที่ยง ต้องให้ทำความรู้ ทำความเข้าใจอย่างนี้ ในระยะที่บุญกุศลยังรักษาขันธ์ห้านี้ให้มีกำลังวังชาอยู่แล้วก็ต้องรีบเร่งสั่งสมบุญกุศลให้เกิดมีในตนเสียให้เต็มที่ก่อนที่ขันธ์ห้ามันจะแตกดับทำลายไป หากผู้มีปัญญาย่อมหาอุบายเตือนใจของตนไม่ให้ประมาทอยู่อย่างนี้ เตือนใจว่า มัจจุราช คือ ความตาย นั่นน่ะเป็นภัยอันใหญ่ยิ่งต่อชีวิตนี้เพราะใครๆเกิดมาแล้วก็ไม่อยากตาย อยากมีอายุอยู่ยั่งยืนนานตลอดไป แต่เมื่อความตายมาถึงเข้าแล้วก็ย่อมเสียอกเสียใจ ย่อมสะดุ้งหวาดกลัวต่อความตายด้วย ทั้งไม่อยากตายด้วย นี่ล่ะที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรณมฺ ปิทกฺขํ ความตายก็เป็นทุกข์ เว้นเสียแต่ผู้รู้แจ้งในขันธ์ห้าตามเป็นจริง ท่านละความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจแห่งความรักความชังความหลงความเมาดังกล่าวมาแล้วนั้นได้เสียโดยประการทั้งปวง แต่เมื่อบุญกุศลที่ท่านบำเพ็ญมาแต่ชาติก่อนยังมีอยู่ท่านก็ยังไม่นิพพานก่อน อาศัยบุญเก่านั่นล่ะรักษาชีวิตนี้ไว้ ท่านก็ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นไป เมื่อบุญเก่าหมดลงเมื่อใดแล้วท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานไป นั่นแหละผู้ที่พ้นทุกข์พ้นภัยในสงสารนี่ล่ะปรากฏว่ามีแต่ผู้มาเกิดอาศัยขันธ์ห้าอันเป็นมนุษย์นี่ล่ะทั้งนั้นเลย ขันธ์ห้าเป็นเทวดาก็มีแต่ว่าส่วนใหญ่เป็นมนุษย์นี่แหละ ดังนั้นนะอย่าไปปล่อยให้ขันธ์ห้านี้มันทรุดโทรมแตกดับไปเสียเปล่าๆ เราได้ที่อยู่ที่อาศัยสร้างบุญสร้างบารมีแล้วเป็นอย่างดี อย่าใช้ขันธ์ห้านี้ไปทำบาป ผู้ใดอยู่ในเพศใดภูมิใดก็รักษาข้อวัตรปฏิบัติของตนอยู่ในเพศนั้นภูมินั้นให้ได้

เพราะว่าความเป็นอยู่ของคนเรานั้นมันแตกต่างกันด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่บุคคลแต่ละคนสร้างมาแต่ชาติก่อนมากกว่ากัน น้อยกว่ากัน ไม่เท่าเทียมกัน ผู้บำเพ็ญบุญกุศลมามากพอสมควร บุญกุศลนั้นมันก็ดลบันดาลให้เบื่อหน่ายในการอยู่ครองเรือน ยินดีในการเป็นนักบวช ชอบความสงบระงับ ไม่ชอบทะเลาะวิวาทกับใคร ไม่ชอบก่อกรรมก่อเวรกับใคร ผู้เช่นนั้นแล้วก็ย่อมน้อมใจไปในทางที่เป็นนักบวชก็จึงได้เข้ามาบวชในวัดวาศาสนานี้ ถ้าบุญไม่มากไม่ได้เข้ามาบวชเลย ก็ต้องให้พิจารณาให้เห็นอานุภาพแห่งบุญกุศลที่ตนได้บำเพ็ญมาแต่ชาติก่อนว่า อ้อ เรานี่มีบุญมากหนอจึงได้มาบวช เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะไปถอยหลังคืนไปจะสมควรหรือ? ก็ต้องเตือนตนสอนตนอย่างนี้ เพราะว่าตนมีบุญมากแล้ว ส่งชีวิตของตนให้สูงขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่า ความเป็นอยู่ในโลกนี้น่ะ ความเป็นอยู่ของนักบวชในพระพุทธศาสนานี่เป็นความเป็นอยู่อันสูงสุดเลยทีเดียว เพราะว่าผู้เป็นนักบวชนี้สามารถประพฤติปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์แปดนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนละกิเลสให้ขาดจากสันดานโดยเอกเทศบ้าง โดยสิ้นเชิงได้อยู่เป็นจำนวนมากแต่ครั้งพุทธกาล หรือว่าในอดีตล่วงแล้วพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลกแต่ละพระองค์ก็ช่วยสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากวัฏวนนี้เข้าสู่นิพพานคณานับไม่ถ้วนเหมือนกัน ดังนั้นน่ะให้หมั่นพิจารณาดูตัวของตัวเองแล้วมันจะไม่ได้ถอยหลังเข้าคลองต่อไป

สำหรับผู้มีบุญพอปานกลางเช่นนี้ก็อยู่ครองเรือนแต่แล้วก็มีศรัทธาแรงกล้าในการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าตามฐานะของตนผู้ครองเรือน เพราะธรรมะของผู้ครองเรือนพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงสั่งสอนไว้ คือ ศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ อันนี้เรียกว่าเป็นธรรมะของผู้ครองเรือน หรือการทำบุญบริจาคทานหมู่นี้ การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ก็เป็นการสั่งสมบุญบารมีให้แก่กล้าขึ้นไป ถึงแม้จะอยู่ครองเรือนก็สามารถสั่งสมบุญกุศลได้ ถ้าผู้ไม่ประมาทแล้วนะ แต่ว่ามันหากมีน้อยคนที่จะไม่ทำบาป ที่จะตั้งใจทำแต่บุญล้วนๆ นั่นมีน้อยเลย ส่วนมากก็มีศีลอยู่บ้าง ขาดไปบ้าง อย่างนี้นี่มีเป็นจำนวนมากบรรดาผู้นับถือพุทธศาสนานี้นะ สำหรับผู้ที่จะมีศีลเป็นนิจศีลเรื่อยๆ ไปน่ะมีน้อย ไม่มาก ดังนั้นศีลนี่จึงชื่อว่าสำคัญมากทีเดียว ไม่ว่านักบวช ไม่ว่าคฤหัสถ์ถ้าไปล่วงศีลเสียแล้วก็หมายความว่าทำบาปนั่นเองแหละ เมื่อทำบาปแล้วบาปมันก็ครอบงำจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว เหมือนจะบำเพ็ญบุญกุศลคุณธรรมให้สูงขึ้นไปไม่ได้เลยเพราะบาปมันครอบงำจิตไว้แล้ว ไม่มีความสามารถที่จะทำความเพียรให้ก้าวหน้าไปได้

เว้นเสียแต่ผู้นั้นน่ะเห็นโทษของกิเลสมาแต่เบื้องต้น เห็นโทษของบาปมาแต่เบื้องต้นแล้วไม่ทำบาป ละเว้นบาปเสียเรื่อยๆมา เช่นนั้นแล้วผู้นั้นก็จะมีจิตใจผ่องแผ้วสามารถทำกุศลคุณงามความดีให้สูงขึ้นไปได้ ถ้าผู้ใดเมื่อยังหนุ่มแน่นกำลังเพลิดเพลินมัวเมาในลาภยศสรรเสริญ ในความรักความใคร่อะไรมากมายแล้วก็หลงทำบาปทำกรรมชั่วห้าอย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือว่าหลายอย่าง เมื่อต่อมาได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ตื่นตัวได้ว่าเราทำชีวิตให้เป็นหมันไปเสียนานแล้วเพราะไม่ได้ละบาปบำเพ็ญบุญ ทำชีวิตให้มัวหมอง บัดนี้รู้ตัวแล้วเราจะชำระชีวิตนี้ให้มันผ่องใสสะอาดด้วยสมาทานมั่นอยู่ในศีล สมาทานมั่นอยู่ในทานการกุศลต่างๆ คิดได้อย่างนี้แล้วก็สมาทานมั่นอยู่ในศีลลงไป จะทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในกรอบแห่งศีลนี่แหละ จะไม่เลยศีลนี้ไปเลย จะได้เท่าไรก็บริโภคเท่านั้นแหละ เพราะชีวิตนี้มันสั้นเหลือเกิน มันยังน้อยเดียว แม้บุคคลทำบาปได้ข้าวของเงินทองอาหารอันเอร็ดอร่อยมาเลี้ยงอัตภาพนี้เท่าไรมันก็ไม่ยั่งยืนอยู่ร่างกายอันนี้นะ มันก็จะแตกจะดับไปอยู่ เมื่อแตกดับไปแล้วร่างกายนี้มันไม่ได้ไปเสวยทุกข์ มันก็เป็นแต่สภาวะธาตุแตกออกจากกันไปแล้วก็เป็นธาตุดินธาตุน้ำเหมือนเดิม แต่ดวงจิตนี่ซิ มันมีบาปความชั่วนั้นเป็นผู้นำไปสู่ทุกข์ในโลกหน้าต่อไป ก็ต้องให้เข้าใจอย่างนี้เตือนตนอย่างนี้ มันถึงจะละบาปบำเพ็ญบุญได้

ถ้าบุคคลใดไม่เชื่ออานุภาพของบาปกรรมว่า บุคคลใดทำบาปทำกรรมแล้วจะบาปกรรมจะนำไปสู่ทุกข์ในโลกหน้าหรือไปสู่ทุกข์ในปัจจุบันนี้ไปก่อน ถ้าหากว่าไม่เชื่ออย่างนี้แล้วมันก็ละบาปไม่ได้เลย เพราะว่าบุคคลทำบาปลงไปในปัจจุบันนี้แล้วไม่ใช่ว่าบาปนั้นมันให้ผลทันทีเลย บางอย่างนะบางอย่างก็ให้ผลทันที เช่นอย่างไปจี้ปล้นเอาสมบัติผู้อื่นมาเป็นของตนเหล่านี้เป็นต้น เมื่อเจ้าหน้าที่เขาทราบเขาตามจับเอาได้ทันควันก็ไปฟ้องร้องติดคุกติดตะรางอย่างนี้ ก็มีอยู่กรรมชั่วบางอย่างที่ให้ผลในปัจจุบันนี้น่ะแต่ว่าบางอย่างมันก็ยังให้ผลไม่ได้ เนื่องจากว่าบุญกุศลหนหลังนั้นยังรักษาไว้อยู่ แม้ผู้นั้นจะไปทำชั่วในปัจจุบันนี้อยู่ บางคนก็ฆ่าคนตายเขาจับไม่ได้มีอยู่เยอะแยะก็เพราะบุญที่เขาทำมาแต่ชาติก่อนนั้นแหละรักษาเขาอยู่ ก็ขอให้เข้าใจอย่างนี้ อานุภาพของบุญนี้น่ะเมื่อมันมีอยู่ในกายในจิตของคนเรานี่มากๆ แล้วมันก็ช่วยรักษากายและใจนี้ให้พ้นภัยพิบัติอันตรายต่างๆได้ บุคคลมาเข้าใจอย่างนี้แหละมันจึงทำบาปไปเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าทำไปแล้วมันไม่เห็นให้ผลเป็นทุกข์อะไรต่ออะไรเลย ก็เมื่อบุญเก่ายังไม่หมด บาปกรรมที่ทำใหม่นี้มันยังให้ผลไม่ได้ เมื่อบุญเก่าหมดลงไปแล้วบาปกรรมที่ทำนี้มันก็ให้ผลสืบต่อแล้ว อย่างเช่นคนเมื่อบุญเก่าหมดลงแล้วตายอย่างนี้นะ บาปกรรมที่ทำนั้นมันก็ฉุดคร่าเอาดวงจิตนี้ไปสู่ทุกข์ในโลกหน้าต่อไป เป็นอย่างนั้นขอให้เข้าใจ

ดังนั้นน่ะพระพุทธเจ้าจึงแสดงไว้ในตำรับตำราก็มีแทบทุกกัณฑ์เลย เมื่อบุคคลทำบาปมีฆ่าสัตว์ เป็นต้นแล้วละโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่ทุกข์ในอบายภูมิทั้งสี่ภูมิใดภูมิหนึ่ง เช่น มีนรกเป็นต้น อย่างนี้ พระองค์แสดงไว้ในพระสูตรนั้นเกือบทุกกัณฑ์เลย นั่นแหละควรพากันพิจารณาให้มันเห็นว่าพระองค์รู้แจ้งแล้วนี่จึงได้นำมาแสดง รู้แจ้งด้วยพระญาณแล้วนะเป็นอย่างนั้น เว้นเสียแต่บุคคลใดลุ่มหลงทำบาปกรรมมาแล้วอย่างนี้รู้สึกตัวได้แล้ว สมาทานมั่นอยู่ในศีลห้าประการนี้แล้วไม่ทำอีกต่อไป แล้วก็เจริญภาวนาเข้าไป ทำใจให้สงบระงับจากบาปอกุศลต่างๆ ที่มันครอบงำจิตใจอยู่ ให้บาปอกุศลเหล่านั้นระงับออกจากจิตใจได้ในปัจจุบันนี้ บาปนั้นมันก็ไม่ตามไปสนองในโลกหน้าต่อไปอีก เป็นอย่างนั้นเพราะบาปมันไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ดวงจิตนี้เองนะ เช่นอย่างความโกรธ ความพยาบาท อาฆาตจองเวรผู้อื่นอย่างนี้นะ ถ้ามันมีอยู่ในจิตใจของผู้ใดผู้นั้นไม่เห็นโทษของมัน ไม่ละความพยาบาทเป็นต้นเหล่านั้นออกจากจิตใจ ความพยาบาทเหล่านั้นก็ติดสอยห้อยตามไปสู่โลกหน้ามันก็ไปบันดาลให้เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นอีก สร้างบาปสร้างกรรมใส่ตัวเองเข้าไปอีก ตัวเองก็พลอยได้รับผลเป็นทุกข์ในชาติต่อไป มันเป็นอย่างนี้อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นนี้นะ

ดังนั้นแหละพระศาสดาจึงทรงสอนให้พากเพียรระวังอย่าให้บาปเกิดขึ้นในจิตสันดานแต่ถ้าหากว่ามันพลั้งเผลอ พลั้งเผลอไปลุ่มหลงทำบาปกรรมความชั่วไป รู้ตัวเมื่อใดแล้วก็ตั้งใจอธิษฐานนู่นต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะไม่ทำอีกแล้ว จะละเว้นไปเลยอย่างนี้นะ เมื่อตั้งอธิษฐานใจอย่างนั้นแล้วก็มีสติสัมปชัญญะสำรวมจิตใจไปเรื่อยๆไม่ทำบาปเช่นนั้นต่อไปอีก บาปนั้นมันก็ย่อมสงบระงับไปจากจิตใจ เป็นอย่างนั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ไปสมาทานกับพระกับเจ้าผู้มีคุณธรรมสูงกว่าตน เช่นนี้พระศาสดาทรงสอนให้เพียรละบาปก็เพราะเหตุนี้แหละ เพราะคนเรายังมีกิเลสอยู่ บางทีก็เผลอทำบาปไปอย่างนี้นะ บาปอันเป็นลหุกรรมเนี่ย บุคคลรู้ตัวแล้วเพียรพยายามละสามารถละได้ เว้นเสียแต่บาปอันเป็นครุกรรม เป็นกรรมอันหนักเช่น ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน กรรมห้าอย่างนี้เป็นบาปอันหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้นับถือพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงแสดงครุกรรมกรรมหนักไว้อย่างนี้นะ ดังนั้นผู้ใดได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้พึงสังวรระวังไว้ให้มากๆคนโทสจริตนี่ถ้าหากว่าไม่เจริญเมตตาให้มากๆ จริงๆ แล้วมันฆ่าได้ตลอดถึงพ่อถึงแม่ทีเดียวแหละ ดังนั้นควรพากันรู้ตัวอย่าไปสร้างบาปกรรมอันหนักหนาใส่ตัวเอง เพราะบาปกรรมเหล่านี้นี่เมื่อตายแล้วมันจะนำไปสู่อเวจีมหานรกนู่นน่ะ เป็นนรกที่ทุกข์ทนทรมานอย่างยิ่งเลยทีเดียวแล้วก็นานมีอายุอยู่นานซะด้วยหั่นนี้เป็นอย่างนั้น ส่วนลหุกรรมกรรมเบานี่น่ะเมื่อผู้ใดรู้ตัวแล้วเพียรพยายามละไป ทำจิตใจให้สูงอยู่ด้วยคุณธรรมขึ้นไปแล้ว มันก็เป็นอโหสิกรรมไป บาปกรรมนั้นก็ตามไม่ทัน ถ้าบาปกรรมอันเป็นส่วนลหุกรรมนี้หากละไม่ได้แล้วไซร้พระศาสดาจะไม่ทรงสอนให้พากเพียรพยายามละเลย ขอให้เข้าใจอย่างนี้

ทีนี้เมื่อบุคคลอธิษฐานใจละเว้นจากบาปนั้นแล้วก็อธิษฐานใจว่าเราจะบำเพ็ญบุญกุศลสืบต่อบาดนินะ เช่นเมื่อเราอธิษฐานละความโกรธ ความพยาบาทจองเวรใครต่อใครลงไปแล้วเราก็เจริญเมตตาแทน เจริญเมตตาคิดปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขทั่วหน้ากัน ไม่ปรารถนาจะให้ใครเป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะอาการกิริยาของกายที่ตนแสดงออกไป ไม่ปรารถนาจะทำความทุกข์เดือดร้อนให้แก่ใครด้วยกิริยาวาจาที่พูดเสียบแทงคนอื่น พูดหยาบคายให้แก่คนอื่นเจ็บอกเจ็บใจอย่างนี้นะ ไม่ปรารถนาเลย ผู้เจริญเมตตาแล้วก็ต้องสำรวมจิตใจอยู่เสมอ ไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นในจิตใจอย่างรุนแรง แม้มันจะเกิดขึ้นก็ให้มันเกิดขึ้นเพียงนิดหน่อย รู้ตัวแล้วก็รีบกำหนดละมันทันที เช่นนี้แล้วผู้นั้นก็ไม่ได้ทำบาปทำกรรมชั่วใส่ตัวเอง บาปกรรมที่ทำมาแล้วมันก็เป็นอโหสิกรรมไป แล้วก็ไม่ได้สร้างบาปใหม่เข้าใส่ตนอีก นี่แหละที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละบาปแล้วก็บำเพ็ญบุญกุศลใส่เข้าจิตใจไว้แทนบาปนั้น ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วบาปนั้นมันก็จะย้อนกลับมาครอบงำจิตใจอีกต่อไป

เช่นอย่างบุคคลที่เห็นโทษของความโกรธแล้วแต่ว่าไม่ได้เจริญเมตตากรุณาให้เกิดมีขึ้นในจิตใจเช่นนี้นะ เดี๋ยวไม่นานแหละความโกรธมันก็เกิดขึ้นมาอีกแล้ว เช่นนั้น บุคคลผู้เห็นโทษแห่งความโลภ ความเพ่งเล็งในสมบัติผู้อื่นในทางทุจริตอยู่แต่ว่า ไม่ถือสันตุฏฐีตามมีตามได้ ไม่อธิษฐานใจว่าเราจะแสวงหาเลี้ยงชีพด้วยลำแข้งของตัวเอง ได้มากน้อยเท่าใดเราก็ยินดีบริโภคใช้สอยอยู่เท่านั้นแหละ แม้คนอื่นมีมากกว่าตน ตนก็จะไม่ไปคิดแย่งชิงเอาสมบัติของผู้อื่นเลย นั่นถ้าคิดได้อย่างนี้แล้วก็ถือสันตุฏฐีตามมีตามได้ ตนหามาได้เท่าไรก็บริโภคใช้สอยไปเท่านั้น ความโลภทั้งหลายมันก็ย่อมครอบงำจิตใจไม่ได้ต่อไปอีก ความโลภมันก็เป็นมูลเหตุของบาปอกุศลอย่างหนึ่ง นี่ต้องให้ใส่ใจไว้ให้มากๆ คนเราน่ะมันบุคคลทำบาปทำชั่วอยู่ในโลกนี้ก็เพราะมันมาจากกิเลสเหล่านี้แหละ กิเลสเหล่านี้เป็นมูลเหตุ ถ้าหากว่าไม่สร้างกิเลสเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในดวงจิตซะแล้วก็ไม่ได้ทำบาปเพราะความโลภนั้น ดังนั้นทุกคนขอให้ภาวนาค้นหามูลเหตุแห่งบาปอกุศลเหล่านี้ให้มันพบ ภาวนาทำใจสงบแล้วคือว่า ตนเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมอย่างไรบ้าง ก็ให้เพ่งพิจารณาดูดวงจิตดวงนี้แหละ มันก็รู้ได้แหละเมื่อมันหลงไปยังไง ทบทวนดูมันก็รู้ได้เรื่องมันน่ะ แต่ต้องเทียบกับคำสอนพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ได้ว่าตนหลง ถ้าไม่เอาเทียบกับคำสอนพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่ทราบว่าจะไปเข้าใจว่าตนหลงได้อย่างไร

เช่นอย่างพระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม อย่าไปเชื่อมงคลตื่นข่าวอย่างนี้นะ ถ้าบุคคลที่ไปเชื่อมงคลตื่นข่าว ข่าวเล่าลือต่างๆ นานาอย่างนี้แล้วก็ทำไปตามข่าวเล่าลือนั้น จริงบ้างไม่จริงบ้าง นั่นชื่อว่าเป็นผู้หลง หลงทางเดินแห่งชีวิตที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม อันนี้เป็นความจริงเลยบาดเดียว เป็นอย่างนั้นคือ เชื่อต่อการกระทำของตัวเองหมายความว่าอย่างนั้น ตนเองทำดีหรือทำชั่วอย่างไรแล้วกรรมดีหรือกรรมชั่วอันนั้นแหละอำนวยผลให้ตนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ทั้งในปัจจุบันนี้และทั้งในเบื้องหน้า ที่ตนเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้ที่ตนทำมาแต่ชาติก่อนมันติดตามมาอำนวยผลให้ และกรรมชั่วที่ตัวทำในปัจจุบันนี้บ้าง และกรรมดีที่ตนทำในปัจจุบันนี้บ้างสมทบกันเข้ามันจึงให้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้ ต้องให้เข้าใจอย่างนี้มันจึงถูกต้อง ไม่ใช่ว่ามีโฆษณาชวนเชื่อว่าตรงนั้นมีผีดุ ใครไปแล้วไม่กราบไม่ไหว้ไม่บวงสรวงล่ะไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเจ็บไข้ได้ป่วยลงแล้วไปหาหมอ หมอว่าคุณนี่มีเคราะห์ร้าย สะเดาะเคราะห์เสีย คำว่าเคราะห์ของศาสนาพราหมณ์เขาหมายเอาคล้ายๆ ว่ามีตัวแต่ภายนอกนู่น มาแทรกแซงเข้าในร่างกายนี้นะ ทำให้ร่างกายนี้เจ็บไข้ได้ป่วยลงอย่างนี้นะ ทีนี้นะก็มีหมอที่มีคาถาอาคมเสกน้ำเป่าเข้าไป หรือว่าเสกน้ำให้กินเข้าไป เคราะห์นั้นก็จะหายไป อย่างนี้ คนส่วนมากก็ไปเชื่อแบบนั้นนะ นั่นแหละ แม้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาแท้ๆ ก็ยังใช้สำนวนกันว่า เออแล้วทำบุญสะเดาะเคราะห์อย่างนี้นะ อืม คล้ายๆ กับว่า มันมีตัวเสนียดจัญไรอะไรที่อยู่ในร่างกายและจิตใจของเรานี่ เมื่อทำบุญกุศลไปแล้วสิ่งเสนียดจัญไรเหล่านั้นจะหายไปเพิ่นว่า นี่มันยังมีอยู่บางคนบางพวกผู้นับถือพระพุทธศาสนานี่ก็ยังทำ ยังใช้สำนวนอันนี้อยู่ แทนที่จะใช้สำนวนว่า ทำบุญกุศลเพื่อให้เป็นศิริมงคลปราศจากทุกข์ภัยไข้เจ็บต่างๆ แทนที่จะใช้สำนวนแบบนี้ ไม่ใช้กันเลย เพราะว่ามันเคยใช้กันมาจากตำราพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ อะไรๆ ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีล่ะเป็นเคราะห์ทั้งนั้นเลย อันนี้ล่ะเพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาให้รู้ รู้ทั้งสองทางอย่างที่ว่านี้ล่ะ ทางผิดก็ให้รู้ ทางถูกก็ให้รู้ เมื่อเรารู้ทั้งสองแล้วทางผิดเราก็ไม่เดิน เราก็ดำเนินไปทางที่ถูก คือ เชื่อต่อการกระทำของตัวเอง ไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก รวมความแล้วเป็นอย่างนั้น

ไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาพยากรณ์ให้เลย เจ็บไข้ได้ป่วยลงแล้วก็ไปหาหมอ หมอที่เขาเรียนวิชาการแพทย์การพยาบาลคนไข้มา แล้วเขาก็มีหยูกมียาด้วย หมอเขาได้ตรวจได้พิสูจน์แล้วเป็นโรคอะไร หมอจัดยาเข้าให้นั่นแหละ ถ้ามันถูกเรื่องกันมันก็หายไปได้เป็นอย่างนั้น ถ้ามันไม่หาย รักษายังไงก็ไม่หายก็นึกว่าเป็นแต่กรรมแต่เวรที่ตนได้ทำมาแต่ก่อนมันติดตามมาอำนวยผลให้ในปัจจุบันนี้ ก็ต้องอดต้องทนต่ออำนาจแห่งกรรมเวรนั้นไปจนกว่ากรรมเวรนั้นจะหมดสิ้นไป ความทุกข์ทนทรมานอันนั้นก็หมดไปเท่านั้นเอง ถ้ากรรมเวรยังไม่หมดตราบใดก็ต้องเสวยทุกข์ไปอย่างนั้นแล้วก็สอนตนไปว่า ตั้งแต่นี้ไปเราจะไม่ทำบาปทำกรรม เราจะไม่ผูกเวรผูกกรรมเบียดเบียนใครเลย ด้วยอำนาจความสัจความจริงอันนี้ขอให้กรรมเวรทั้งหลายเหล่านี้จงบรรเทาเบาบางไปจากกายจากใจของข้าพเจ้านี้ หมั่นอธิษฐานอย่างนี้ไปบ่อยๆ กรรมเวรเมื่อมันให้ผลมากเข้าไปยังเหลือน้อยแล้วบางทีมันก็เป็นอโหสิกรรมไปเลย มันก็หมดไปเลย นี้แหละในทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างนี้

ดังนั้นเราเป็นชาวพุทธ เรามอบกายถวายชีวิตบูชาพระพุทธเจ้า บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงๆ แล้วเราต้องเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมดังแสดงมาแล้วนั้น กรรมใดดีเราก็พยายามทำสะสมให้เกิดให้มีในตนให้เต็มความสามารถ กรรมใดเป็นกรรมชั่วที่ศึกษารู้แล้วก็เว้นไป พยายามเว้นให้มันหมดไปเลย ไม่ทำไม่พูดมันอีกต่อไปแล้ว พยายามฝึกจิตใจอันนี้ให้มันสงบระงับจากกิเลสบาปอธรรมเหล่านั้นไปพร้อมกันเลย เพราะว่าบาปกรรมทั้งหลายย่อมอยู่ที่จิต เมื่อเราฝึกกำหนดใจละมันแล้ว มันก็ย่อมระงับไปบาปกรรมทั้งหลายนั่นน่ะ ถ้าเราไม่เพียรพยายามละมัน ไม่พยายามทำใจสงบแล้วบาปมันไม่หมดนะ บาปมันไม่ออกจากจิตใจไปเลย มันก็แทรกซ้อนอยู่ในจิตใจนั่นแหละ อันนี้นะที่ว่ามันติดตามให้ผลไปในโลกหน้านั้นน่ะก็เพราะตนไม่ละมันในชาตินี้ ปล่อยให้มันแทรกซึมในจิตใจไป ถ้าผู้ใดรู้ตัวแล้วอย่างนี้ กลัวบาปกรรมอันนี้จะสนองตนให้เป็นทุกข์ก็หมั่นขยันไหว้พระนั่งสมาธิภาวนาเพ่งจิตนี้ให้เข้าถึงความสงบ อยู่ด้วยบุญด้วยคุณ เจริญปัญญาให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนได้ยากลำบาก เป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง ถ้าลงเจริญไตรลักษณญาณอย่างนี้แล้วก็ยิ่งเป็นอุบายกำจัดบาปความชั่วและความทุกข์ทางจิตใจให้น้อยเบาบางลงไปในโดยลำดับ จนกว่ากิเลสบาปอธรรมนั้นจะหมดสิ้น ดังแสดงมา



(จบ)


◇◆ ประวัติ ปฏิปทาและคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” ◆◇
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b44: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์
ของ “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร