วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ย. 2016, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

เรามารวมกันอยู่นี้ก็เพื่อมาฝึกใจของตนให้ใจมันตั้งมั่น ใจมันหนักแน่น ใจคนที่มีกิเลสนี่มันเหลาะแหละเหลวไหล มันจึงหาความสุขไม่ได้ เราจึงได้มาฝึกตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ สำหรับผู้ที่รู้สึกตัวนะ ผู้ไม่รู้สึกตัวมันก็ไม่ฝึกฝนตนแหละ อยู่ไปตามยถากรรม ผู้ใดรู้ตัวว่าตนจะมีความสุขได้ก็เพราะฝึกจิตนี้ให้มันหนักแน่น ให้มันปล่อยมันวางในสิ่งที่ควรปล่อยควรวาง แม้มันยึดถือเรื่องอดีตอนาคตมายุ่งอยู่ในจิตใจอันนี้พระพุทธเจ้าทรงสอน ผู้มีปัญญาไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะสิ่งใดที่ล่วงไปแล้วมันก็ดับไปแล้ว ไม่ควรคาดการณ์ล่วงหน้าสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่มี ยังไม่มาถึง ธรรมใดปรากฏเฉพาะหน้าในปัจจุบันนี้ ในที่นั้นๆ อันไม่ง่อนแง่น อันไม่คลอนแคลน ควรเจริญธรรมนั้นเนืองๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ บอกอุบายฝึกจิตไว้ ดีเหลือเกินนะให้พากันนำไปปฏิบัติ

หัด...อย่าไปให้มันยึดมั่นในเรื่องอดีตที่ล่วงมาแล้ว ไอ้ธรรมดาใจของคนทั่วๆไปเนี่ยมันก็มักยึดถือเรื่องอดีตนั่นล่ะหลายกว่าเรื่องอนาคต ตนได้ทำอะไรมาแต่ก่อน ตนได้พูดอะไรมันก็เก็บเอามาคิด ถ้าเป็นเรื่องผิดหวังก็ เอ้า นึกถึงเวลาใดก็เศร้าใจเวลานั้น กลุ้มใจ เพราะว่ามันผิดหวัง บางคนก็นึกถึงว่า เมื่อวันนั้นเดือนนั้นเขาด่าเรา คนนั้นยกโทษเรา ตำหนิติเตียนเรา พอนึกอย่างนี้แล้วก็กลุ้มใจ น้อยเนื้อต่ำใจ เอ้า คล้ายๆ กับว่าตนนั้นไม่มีคุณค่าอะไร อยู่ที่ไหนก็มีแต่คนดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม นี่ล่ะเรื่องที่ยึดถืออารมณ์ที่เป็นอดีตล่วงมาแล้วมันก็ทำจิตใจให้สงบลงไม่ได้เลย นั่นเป็นอย่างนั้นเพราะมันไปยึดมั่นไปสำคัญว่า มีเขามีเรา สำคัญดีๆชั่วๆอะไรอยู่อย่างนั้นนะ มันไม่ได้นะ จิตจะสงบลงไม่ได้เลยถ้าไปยึดเอาอารมณ์เหล่านั้นมาวิตกวิจารณ์อยู่เรื่อยไปอย่างนี้นะ ไม่ได้

ต้องปล่อยๆ วางๆ มันไปเรื่อยๆ เพราะว่า เรื่องดีเรื่องชั่วมันก็เป็น “สังขาร” เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ไม่มีอะไรตั้งยั่งยืน จิตนี้ต่างหากไปหลง ไปหลงสำคัญว่าเป็นของเที่ยง สำคัญว่ามีตัวมีตน นั่นแหละให้มาทวนกระแสจิตเข้ามา มาโทษตัวเองนี่ ตัวเองเป็นทุกข์เพราะตนเองน่ะไปหลงใหลในเรื่องที่ไม่ควรหลง ไปมัวเมาในเรื่องที่ไม่ควรมัวเมา มันถึงได้เป็นทุกข์

ไอ้ผู้มีปัญญาเขาไม่โทษคนอื่นหรอก เอ้า ใครจะตำหนิติเตียน ใครจะยกโทษอะไรก็แล้วแต่มัน คนมีปัญญาทั้งหลายก็มาสำรวจตรวจดูตัวเอง ไอ้ตัวเองมันบกพร่องอะไรบ้างหรือไม่บกพร่อง ตนเองไปทำไปพูดอะไรให้ใครเจ็บใจมีไหม ตนได้ไปดูถูกเหยียดหยามใคร เมื่อมาทบทวนดูแล้วก็เห็นว่าตนไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะไปเบียดเบียนใครอย่างนี่ เมื่อรู้ว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์จากเรื่องเช่นนั้นอยู่ก็ไม่หวั่นไหวแล อันผู้ที่ตำหนิติเตียนตนนั่นเข้าใจผิด เป็นคนหลงคนเมาก็อภัยให้ไป ทำใจได้อย่างนี้แล้วก็สบาย เพราะว่าคำสรรเสริญและคำนินทานี่มันเป็นธรรมประจำโลก มีอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เป็นธรรมของเก่า ผู้ใดไม่รู้เท่าก็ทุกข์ใจหนักใจ ผู้ใดรู้เท่าแล้วก็ไม่หนักใจ ก็ปล่อยให้มันผ่านๆ ไปแล้วๆ ไป แต่ละวันแต่ละคืนทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อจิตไม่ยึดถือ ไม่หวั่นไหวแล้วมันก็เกิดดับเกิดดับอยู่อย่างนั้นเรื่องของมัน นี่ให้พากันเข้าใจ มันมาสำคัญอยู่แต่จิตดวงเดียวนี่แหละ มันก่อเรื่องขึ้นอยู่เรื่อย ก่อเรื่องให้กับตัวเองนี่แหละ เพราะเหตุไรมันจึงเป็นอย่างนั้นก็เพราะมันไม่รู้ไม่ฉลาดนั่นแหละเรื่องมันน่ะ

มันหลง การฝึกฝนอบรมตนมันยังอ่อนอยู่ ยังไม่เข้มแข็งพอ สติก็อ่อน นี่นะ พูดถึงว่าอ่อนทั้งอินทรีย์ทั้งห้านั้นมันอ่อนนะ ศรัทธาความเชื่อในการฝึกตนให้เข้มแข็งขึ้นมันก็อ่อนแอลง ความเชื่อไม่เพียงพอ เมื่อความเชื่ออ่อนแอลงความเพียรมันก็อ่อน เป็นอย่างนั้นเกิดความเกียจคร้านทำความเพียรขึ้นมาแล้ว เป็นอย่างนั้น เพราะความเชื่อนั้นมันเชื่อว่าทำอย่างนี้น่ะมันจะได้ผลกี่มากน้อยเท่าไร มันลังเลอยู่ในใจอย่างนั้น เหตุนั้นความเชื่อมันจึงได้อ่อนลง ความเพียรมันก็อ่อนไปตามกัน สติความระลึกได้ ความที่ระลึกทวนกระแสจิตเข้ามาภายในก็ไม่ค่อยเข้มแข็ง ไม่ค่อยบ่อยๆ นานๆ จึงนึกถึงตัวเองมาครั้งหนึ่ง อย่างนี้มันไม่ทันกับความหลง เพราะฉะนั้นในพระธรรมคุณน่ะพระองค์เจ้าจึงได้ตรัสไว้ “โอปนยิโก” ให้น้อมพระธรรมนั้นเข้ามา น้อมพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่จิตใจนี้ ดูแต่หลักพระธรรมคุณนี้ก็แล้วกันนะ มันเป็นเครื่องชี้บอกหนทางที่ถูกต้อง พระธรรมคุณนี่ ถ้าผู้ใดได้ประสบกับเรื่องใดๆ มาอย่างนี้นะ ก็หมายความว่าอย่าส่งใจออกไปตามเรื่องนั้นๆ ให้น้อมสติเข้ามาภายในจิตใจ มากำหนดรู้อยู่ภายใน นี่มันเรื่องอะไร? อย่างนี้นะ พอมากำหนดรู้อยู่ภายในพิจารณาอยู่ภายในปัจจุบันนี่ มันก็รู้ชัดเลยเรื่องนั้นเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ เมื่อรู้ความจริงของเรื่องนั้นๆ แล้วก็พิจารณาลงว่า เรื่องต่างๆ เหล่านี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง...ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงถ้าขืนยึดถือไว้มันเป็นทุกข์หรือเป็นสุขล่ะ ก็เป็นทุกข์น่ะไปยึดถือของไม่เที่ยงไว้ มันจะเป็นสุขอย่างไรล่ะ

สิ่งใดเป็นทุกข์ ควรหรือที่จะถือว่าเป็นเราเป็นของของเรา...ไม่ควรเลย ถ้าเช่นนั้นควรอย่างไรล่ะ..ควรปล่อยวางตามสภาพ สิ่งใดเป็นอยู่อย่างไรก็ปล่อยวางให้มันเป็นอยู่ตามสภาพของมัน อย่าส่งจิตไปยึดถือมัน สมมติมันขึ้น อย่างนั้นอย่างนี้ ดีอย่างนั้นชั่วอย่างนี้ สวยงามอย่างนั้นขี้ร้ายอย่างนี้ อะไรอย่างนี้นั่นล่ะอย่าไปวิตกไปในเรื่องนั้นๆ ห้ามจิตได้แล้วไม่มีปัญหาอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นไปตามกลไกของมัน กลไกของมันก็ไม่มีอะไร “เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนแตกดับไปก็เท่านั้น” ไม่เห็นมีอะไรลี้ลับอยู่ในโลกอันนี้ ถ้าจิตนี้มันฝึกเข้าไปมากๆเข้าไป มันเกิดความรู้ยิ่งขึ้นมาแล้วมันก็ละความยึดถือ เมื่อมันละความยึดถือได้แล้วมองดูอะไรก็เป็นความจริงไปหมด เอ้า สมมติก็รู้ว่าเป็นสมมติ ปรมัตถ์ก็รู้ว่าเป็นปรมัตถ์อย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนให้ปฏิเสธนะสมมติเรื่องบัญญัติ รับรู้สมมติเหล่านั้นแต่มันไม่เที่ยง สมมติอะไรต่ออะไรดีชั่วอะไรขึ้นมา เรื่องสมมติต่างๆ เหล่านั้นล้วนแต่ไม่เที่ยงหรอก เกิดแล้วดับไปอย่างนี้

ปรมัตถ์ล่ะ ปรมัตถ์หมายความว่า ความรู้แจ้งตามเป็นจริงในสมมตินั่นแหละ ไม่ใช่อย่างอื่นใด เอออันนี้สมมติ สมมติเหล่านี้นั้นมันเป็นเพียงสมมติเอาสภาวธาตุต่างๆ ที่เกิดดับอยู่ในโลกอันนี้มาว่ากัน สังขตธาตุ อสังขตธาตุ ธาตุที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นี่...ธาตุที่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ได้แก่ คน ได้แก่ สัตว์ ได้แก่ ต้นไม้ ภูเขา ดิน หิน กรวด แม่น้ำลำคลองอะไรต่างๆ หมู่นี้นะ มันอาศัยปัจจัยต่างๆปรุงแต่งให้มีขึ้นแล้วก็แปรปรวนแตกดับไป อสังขตธาตุนั้นได้แก่ ธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มี “นิพพาน” แห่งเดียวเท่านั้นที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เคลื่อนไหวไปมา ให้ท่องเที่ยวไปมา พระนิพพานไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน เรียกว่า อยู่เหนือสมมติ เหนือบัญญัติ ไม่ต้องว่าอะไรกันเลย ถ้าความจริงแท้ๆ แล้วเป็นอย่างนั้น เพราะว่าพระนิพพานนั้นหมดสมมติ หมดบัญญัติแล้ว แต่ก็เอามาสมมติกันว่าอยู่อย่างนี้แหละ ถ้าไม่สมมติก็ไม่รู้เรื่อง แต่ความจริงของนิพพานจริงๆแล้วไม่มีสมมติบัญญัติอะไร ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรอยู่ในนั้นเลย แต่นอกพระนิพพานไปแล้วมันมีเหตุมีปัจจัยเป็นเครื่องปรุงแต่งให้เกิดให้ดับอยู่อย่างนี้ อย่างคนอย่างนี้นะก็มีบุญและบาป หรือว่าอวิชชาตัณหาเหล่านี้เป็นปัจจัยนำให้เกิดในภพน้อยภพใหญ่ต่อไปอย่างนี้นะ คนก็ดี สัตว์ก็ดี เหมือนกันแหละ ทีนี้ดิน หิน กรวด ทราย ต้นไม้ใบหญ้าอะไรหมู่นี้ มันก็อาศัยธาตุสี่นั่นแหละปรองดองสามัคคีกันขึ้นแล้วก็เกิดเป็นพืชต่างๆ ขึ้นมา อย่างนี้แหละ

ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็มีเหตุมีปัจจัยของมันแต่มันไม่มีจิตครองธาตุเหล่านี้น่ะ บางคนก็อาจจะว่า เอ้า เช่นต้นไม้มันก็มีแมลงเข้าไปอาศัยอยู่นั่นล่ะ มันจะไม่มีใจครองหรือ อันนั้นก็ยังว่าตัวแมลงตัวสัตว์ มันเกิดขึ้นเป็นตัวสัตว์อันนั้นน่ะ แต่มันอาศัยอยู่ต้นไม้เฉยๆอย่างนี้แต่ตัวต้นไม้จริงๆมันไม่มีจิตครองอยู่ในนั้นเลย ถ้ามันมีจิตครองอันนี้คนไปตัดไปฟันมันก็เจ็บมันก็ร้อง เหมือนอย่างสัตว์ไปตีมันมันก็ร้อง เจ็บน่ะ นั่นล่ะมันมีจิตวิญญาณครอง นี่เราต้องเรียนให้รู้นะ รู้สภาวธาตุทั้งหลายในโลกนี้ ถ้าสิ่งใดมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งแล้วสิ่งนั้นล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งนั้นเลย มีเกิดแล้วก็แปรปรวนแตกดับไปอยู่อย่างนั้น

อย่างเช่นกิเลสตัณหาอันจิตใจปรุงแต่งขึ้นเนี่ยมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันแหละ ความรักอย่างนี้นะพอมันเกิดขึ้นมาในหัวใจแล้วหน่อยหนึ่งมันไม่สมหวังเข้าไปมันเกิดความชังขึ้นมา นี่ มันจะเอาอะไรมาเที่ยงอยู่นั่นความรักก็ดี ความชังก็เหมือนกันแหละ ชังกันไปชังกันมาหน่อยหนึ่งเกิดดีกันขึ้นมาแล้ว เกิดรักกันขึ้นมาแล้ว เป็นอย่างนี้ล่ะ โกรธกันไปโกรธกันมาหน่อยหนึ่งมันเกิดดีกันขึ้นมา อันหมู่นี้มันพอพิสูจน์ได้แล้วว่า กิเลสต่างๆ เหล่านี้นะล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น พิจารณามันเห็นอย่างนี้แล้วมันก็เบื่อหน่ายมันแหละ ก็ไม่สร้างมันขึ้นแหละบาดนิ สร้างของไม่เที่ยงขึ้นมามันก็มาก่อความวุ่นวายให้แก่จิตใจอยู่อย่างนั้น สร้างความรักขึ้นมาอย่างนี้นะ เอ้า ความรักนี่มันต้องมีความหมายสิ หมายยังไงล่ะ ก็รักในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในเครื่องสัมผัส นั่นแหละ เมื่อรักแล้วก็อยากได้ เมื่ออยากได้ก็แสวงหา อย่างนี้แหละ เมื่อแสวงหาได้มาแล้วมันก็ไม่เที่ยงบาดนิ แปรปรวนไป ทีแรกมาใหม่ๆ ก็ดีอกดีใจ ชื่นใจดี นานๆไปมันชำรุดทรุดโทรมแล้วก็เบื่อหั่นนิ เบื่อ สละมันทิ้ง เอ้า เห็นใหม่ก็รักใคร่ในของใหม่ต่อไปอีก อยากได้อีก ก็แสวงหามันมาอีก เอ้าได้มาแล้วหน่อยหนึ่งมันก็ชำรุดทรุดโทรมมีอันเป็นไป ก็เบื่อหน่าย เป็นอยู่อย่างนี้แหละบุคคลผู้ตกเป็นทาสแห่งกิเลสตัณหาอันเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน จิตใจมันก็พลอยหวั่นไหวไปตามของไม่เที่ยงนั่นแหละ เหตุนั้นน่ะผู้ใดมีกิเลสหลายจิตใจมันจึงฟุ้งซ่านเลื่อนลอยมากก็เป็นทุกข์มาก เป็นเช่นนั้น

ดังนั้นแล้วผู้ภาวนาต้องพิจารณาให้มันเห็นเรื่องที่จิตใจของตัวเองมันข้องมันหลงมันเมาอยู่เนี่ย เราหมั่นทวนกระแสจิตเข้ามาเสมอ ว่าจิตนี้มันอยู่อย่างไร มันมีความกำหนัดยินดีในอะไรอยู่หรือในขณะนี้อย่างนี้นะ ถ้ามันไม่มีความกำหนัดมันก็รู้ เพราะตัวเองทวนกระแสเข้ามาดูตัวเอง ถ้ามันไม่มีความกำหนัดมันก็รู้ว่าไม่กำหนัด หรือว่ามันโกรธใครอยู่ก็รู้ว่ามันโกรธ มันไม่โกรธก็รู้ว่าไม่โกรธ ก็ถ้ารู้ว่ามันมีกิเลสเหล่านั้นขึ้นมาอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งก็กำหนดละมัน ธรรมดาผู้รู้นะ อ่อ อันนี้กิเลส อันนี้ตัวภัยของชีวิต อย่าไปเลี้ยงมันไว้ ก็เพียรกำหนดละมันลงในปัจจุบันนั้น ไม่วิตกวิจารณ์ต่อไป เมื่อใจมันไม่เอาเสียแล้วมันตั้งอยู่ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง กิเลสตัณหาต่างๆ เมื่อใจไม่ต้องการซะแล้วมันอยู่ไม่ได้ มันก็ดับไปแหละ มันเป็นอย่างนั้น

แต่ว่าเมื่อส่วนหยาบ ส่วนกลางดับไป มันยังส่วนละเอียดอีกด้วยนะ ส่วนละเอียดนี่แทบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีกิเลส เหตุฉะนั้นจึงต้องบำเพ็ญสมาธิให้ละเอียดเข้าไป เจริญปัญญาให้ยิ่งไป มันจึงรู้กิเลสส่วนละเอียดได้ คือว่ารู้กิริยาของจิตที่หวั่นไหวไปตามกิเลสส่วนละเอียดนั้นน่ะ มันหวั่นไหวเบาเบา ถ้าหากว่าปัญญาไม่ตามรู้จริงๆ มันไม่รู้เลย ไม่รู้ว่าจิตมันหวั่นไหวไปตามกิเลสอันละเอียด ต่อเมื่อจิตนิ่งเพ่งพินิจอยู่นี่เรากำหนดคอยสังเกตความเคลื่อนไหวของกิริยาจิตก็รู้ได้ กิเลสอันละเอียดส่วนใดมันยังมีอยู่ มันก็ปรากฏให้รู้ให้เห็นในทางปัญญา ก็เป็นเช่นนี้แหละอุบายวิธีละกิเลส ไม่ใช่ว่าเรามีปัญญาแค่นี้แล้วก็จะละกิเลสไปได้หมดทุกประเภท ไม่ได้ ละไม่ได้ ปัญญาในขั้นระดับหนึ่งมันก็ต้องละกิเลสไปได้อีกระดับหนึ่งอย่างนี้นะ ถ้าเราเจริญปัญญาให้ยิ่งกว่านั้นอีก กิเลสส่วนที่เหลือมันก็ระงับไป มันเป็นอย่างนั้น เราจะไปใช้ปัญญาระดับเดียวไม่ได้เลย

ทีนี้ปัญญามันจะเกิดได้ก็อาศัยความเพียรเพ่งอยู่บ่อยๆ หมั่นเพ่งพินิจอยู่บ่อยๆเลย จะเป็นเวลานั่งสมาธิอยู่ก็ตาม ไม่ได้นั่งสมาธิอยู่ก็ช่าง ผู้มีปัญญา ผู้มีสมาธิจิตเป็นทุนอยู่แล้วมันหากเพ่งพินิจอยู่ในตัวเลย เพราะว่าสมาธิหรือปัญญามันกำจัดความหลงขั้นหยาบๆ ออกไปแล้ว ดังนั้นการที่ความหลงขั้นหยาบจะมาทำจิตให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปไม่มี ดังนั้นไอ่ความที่จิตตั้งมั่นอยู่ภายในมันจึงเป็นไปได้บาดนินะ เพราะกิเลสหยาบๆมันระงับลงไปแล้ว จิตจึงได้ตั้งมั่นอยู่เสมอไป ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เห็นจิตของตนตั้งมั่นอยู่ด้วยดี ไม่ยินดีกับอะไร ไม่ยินร้ายกับอะไร แม้เรื่องใดกระทบกระทั่งมามันก็รู้ มันละ มันไม่ยึดถือ เรื่องนั้นมันก็ดับไป มันก็รู้ รู้ว่าจิตไม่ยึดถือมันก็รู้ ก็อย่างว่าฝึกจิตให้รู้ ก็ธรรมของเก่านั่นแหละ แต่เมื่อมันไม่รู้ล่ะมันก็หากฟุ้งไป มันก็ไหลไปตามกระแสของกิเลสนั้น อย่างนี้นะ

ดังนั้นเราจึงต้องฝึก พยายามกำหนดรู้ความเคลื่อนไหวของกิริยาจิตนี้ให้มันบ่อยๆ รู้เท่าทัน ก็หมายความว่าตัวเองแหละรู้เท่าทันตัวเอง ตัวเองควบคุมตัวเองถึงขั้นนี้แล้วนะ เราไม่ได้อาศัยสิ่งใดเลย สติก็อยู่ที่จิตนี่ สมาธิก็อยู่นี่ ศีลก็อยู่ที่จิตแล้วบาดนิ เพราะว่าได้กลั่นกรองเข้ามาไว้ในจิตนี้หมดแล้ว ปัญญามันก็เกิดจากสมาธินี้ เมื่อใช้ปัญญาไปพอสมควรแล้วอย่างนี้ก็หยุด หยุดคิดหยุดวิจารณ์ก็น้อมสติเข้าไป ประคองจิตให้เข้าถึงความสงบอยู่ เป็นอย่างนั้น เรียกว่าเหมือนอย่างคนทำงานด้วยกำลังกายนี่แหละ เมื่อทำไปมันเหนื่อยแล้วก็พักผ่อนบาดนินะ นอนนิ่งอยู่เลย หลับไป เมื่อตื่นขึ้นมาก็มีกำลังเรี่ยวแรงดี หายเหนื่อย จิตนี่ก็เหมือนกันเมื่อใช้ตัวเองทำงานเกี่ยวกับการเพ่งพินิจ การค้นคว้า การกำหนดละ กำหนดรู้ มากๆ เข้าไปมันก็เหนื่อยได้เหมือนกันนะ เหตุนั้นจึงต้องเข้าไปสงบซะก่อน ไปหยุดนิ่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่วิตกวิจารณ์เรื่องอะไรต่ออะไร ให้มันพักอยู่อย่างนั้นไปชั่วระยะหนึ่ง เมื่อมันเห็นว่าจิตมีกำลังดีแล้วอย่างนี้ก็จึงเริ่มพิจารณาต่อไปอีกบาดนิ ต้องการรู้เรื่องอะไรก็กำหนดเรื่องนั้นมาพิจารณา ให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วยึดถือไว้ ไม่ใช่ เมื่อเห็นแล้วก็ปล่อยวาง ถ้ายึดถือไว้ก็เป็นภาระอันหนัก ก็ไปยึดถือของไม่เที่ยงอย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ มันเป็นอย่างนั้น ปล่อยวาง...ครั้นปล่อยวางแล้วจิตก็รวม มันจะไม่ฟุ้งไปทางอื่นเลย เพราะว่ามันเบื่ออยู่ในใจ เบื่อด้วยปัญญาอยู่แล้วมันจึงปล่อยจึงวางสิ่งที่มันพินิจพิจารณาอยู่นั้นที่มันรู้ชัดตามเป็นจริงแล้วนั้น ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรยึดถือเลย เพราะขืนยึดถือก็เป็นทุกข์ เมื่อมันเตือนตัวเองเข้าไปอย่างนี้จิตมันก็วางลง นั่นแหละ เพราะมันหายสงสัยในเรื่องนั้นแล้ว แต่บางอย่างน่ะเรื่องนั้นน่ะเคยสำคัญว่ามันสวยมันงาม เคยสำคัญว่ามันดี อะไรหมู่นี้นะแต่ก่อนมาน่ะเคยสำคัญมาอย่างนั้น ทีนี้เมื่อกำหนดเอามาแยกแยะดูด้วยปัญญาแล้วจึงมองไม่เห็นเลยว่าอันใดที่สวยๆ งามๆ หรืออันใดดี หมู่นี้ไม่มีน่ะ มีแต่สภาวธาตุเท่านั้นเอง ธาตุดินก็เป็นดิน ไป ธาตุน้ำก็เป็นน้ำไป ธาตุไฟก็เป็นไฟไป ธาตุลมก็เป็นลมไป ธาตุดั้งเดิมนะของดั้งเดิมอันนี้ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี่เป็นของดั้งเดิม แต่แล้วบุญกรรมนี้นำจิตมาปฏิสนธิในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี้ต่างหาก บุญกรรมตกแต่งให้เป็นรูปร่างอวัยวะน้อยใหญ่ขึ้นมา ก็ปรุงแต่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี่เองไม่ใช่อย่างอื่นใด เพราะฉะนั้นแหละปัญญาวิปัสสนานี้นะเมื่อเพ่งดูให้มันแจ่มแจ้งเข้าไปแล้วอย่างนี้ มันจึงสามารถละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นได้ ถ้ามันไม่พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนลงไปแล้วมันยังละไม่ได้ เพราะมันเคยยึดเคยถือมานานแสนนานน่ะ จิตวิญญาณนี่อาศัยรูปอาศัยนามอันนี้มาไม่รู้ว่ากี่ชาติกี่ภพกี่กัปกี่กัลป์มาแล้ว เมื่อมันยังไม่รู้แจ้งตามเป็นจริงตราบใด มันก็จะยังต้องอาศัยธาตุสี่ดินน้ำไฟลมนี่แหละไปเรื่อยๆ ไป แล้วก็ได้เสวยสุขมั่งเสวยทุกข์มั่งไปในสงสารนี่ แต่ผลสุดท้ายก็เสวยทุกข์นั่นแหละไป๊ ทำไมอะ เอ้าก็เวลาจวนจะตายน่ะมันมีสุขเมื่อไรเล่า นั่นแหละ หรือเวลาโรคภัยกำเริบขึ้นมานั่นน่ะมองหาความสุขไม่มีเลยมีแต่ทุกข์ล้วนๆ

เมื่อเวลาจวนจะตายก็ยิ่งแล้วเลย หาความสบายน้อยหนึ่งไม่มีเลย มีแต่ทุกข์ล้วนๆ นะ เมื่อเวลาจวนจะหมดลมหายใจเข้าออกจริงๆ เขาก็ปลงก็วางไอ้ธาตุสี่ขันธ์ห้าอย่างที่ว่านี่แหละ เมื่อปลงวางหมดแล้วมันก็เหลือแต่จิตดวงเดียว เหลือแต่ความรู้จริงเห็นแจ้งเท่านั้นแล้วมันไม่ไปยึดถือสิ่งใด เช่นนี้มันก็ไม่มีทุกข์นะบาดนิ เวลามันยังไม่ถึงที่สุดบาดนิมันก็รู้สึกทุกข์อยู่ ครั้นเมื่อเวลาจะทิ้งสังขารนี่จริงๆ แล้วมันไม่รู้สึกทุกข์ล่ะบาดนิ มันปลงมันวางลงโดยจิตก็อยู่เฉพาะจิต กายก็อยู่เฉพาะกาย พูดง่ายๆ มันไม่เนื่องกัน มันไม่ยึดถือแล้ว อย่างนี้นะ ผู้ใดทำจิตได้อย่างนี้เมื่อละร่างอันนี้แล้วมันก็ไม่ได้หอบเอาทุกข์ติดไปด้วย

หรือว่าท่านผู้สิ้นอาสวกิเลสแล้วก็อันนั้นไม่มีปัญหาเลย ท่านก็มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านก็ทำความรู้ตัวอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับอย่างอื่นเลย แล้วท่านก็นิพพานไป ไอ้สำหรับผู้ที่ยังไม่ทันบรรลุถึงพระนิพพาน ถึงแม้จะรู้แจ้งอยู่ในนามในรูปอันนี้ มันก็รู้ได้แต่ส่วนที่มันรู้ ส่วนที่มันไม่รู้มันก็ยึดอยู่ อย่างนี้แหละ แต่อุบายที่ว่าเมื่อเวลาจวนจะสิ้นชีพทำลายขันธ์น่ะมันหากรู้บาดนิอุบายอันนั้นน่ะ อุบายปลงวาง ไม่เกาะเกี่ยวกับเรื่องอดีตอนาคตอะไร ไม่เกาะเกี่ยวกับเรื่องสุขเวทนา ทุกขเวทนาต่างๆหมู่นี้ มันเห็นแจ้งแล้วไม่ใช่ของเรา มันขันธ์ทั้งห้า หรือว่าสังขารต่างหากที่มันแปรปรวนไป มันจะแตกจะดับอยู่นั่น มันไม่มีเราไม่มีเขาอยู่ในนั้นเลย มันกำหนดรู้อย่างนี้ได้แล้วมันก็ไม่มีทุกข์ไม่มีโศกอะไร ถึงแม้ว่าละร่างอันนี้ไปแล้วมันจะไปเกิดอีกมันก็ไปเกิดที่สุขที่สบาย ไม่ได้ไปสู่ทุกข์เลย เมื่อมันหากว่าเหตุปัจจัยยังละไม่หมด มันก็ยังเป็นเหตุปัจจัยส่วนละเอียด เช่นนี้มันก็นำไปเกิดภพที่ละเอียด ที่มีความสุขอันประณีต มันเป็นอย่างนั้น ไอ้เรื่องบุญกุศลนี่นะมันละเอียดเป็นขั้นเป็นขั้นขึ้นไปสุดแล้วแต่จิตของผู้ใดฝึกฝนอบรมไป จิตมันละเอียดไปเท่าใด บุญกุศลก็ละเอียดไปเท่านั้น นี่มันเป็นอย่างนั้น

ดังนั้นน่ะอย่าไปนึกว่า เราภาวนาใจสงบลงเท่านี้พอแล้ว อย่าไปนึกอย่างนั้น ไม่พอ ต้องเพ่งจิตนี่เข้าไปให้มากๆ ต้องพินิจพิจารณาให้ละเอียดเข้าไป เพ่งจิตให้จิตมันรวมลงละเอียดไปกว่านั้น ให้สัมผัสอะไรที่มาถูกต้องจิตให้มันละเอียดเข้าไป เรื่อยๆ ไป อย่าให้สัมผัสหยาบมันปรากฏ อันนี้ล่ะการที่เรามาพิจารณา มาอบรมฝึกฝนจิตนะ เมื่อเราฝึกฝนไปเรื่อยๆ อย่างนี่จิตนี่ก็ค่อยรู้ยิ่งค่อยเห็นจริงขึ้นไป ธรรมของเก่าแหละเราเอามาสอนจิตตัวเอง ของเก่าทั้งนั้นเลย ของที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้นะ จะเป็นของใหม่อะไรเล่าธาตุสี่ขันธ์ห้าเหล่านี้มันก็มีอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็สอนจิตนี่ให้มันปลงมันวางให้มันเบื่อมันหน่ายต่อนามต่อรูปอันนี้นะ สอนแล้วก็สอนอีกอยู่อย่างนั้น บางคนก็คิดว่า พิจารณาแต่ของเก่าอยู่มันก็น่าเบื่อ มันจะไม่มีของใหม่บ้างหรือ ไอ่อย่างนี้ก็มี จะไปเอาของใหม่ที่ไหน มันก็มีอยู่เท่านี้แหละ ไม่มีนอกเหนือไปจากนี้นะ นั่นแหละ บุญกรรมตกแต่งธาตุสี่ขันธ์ห้านี้ให้มาอย่างไรมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันก็มีเท่านี้เองนะ ต่างแต่ว่าจิตของเรายังไม่รู้แจ้งชัดตามเป็นจริงได้ รู้ก็รู้เป็นบางอย่าง ยังไม่แจ่มแจ้ง นี่ให้สำคัญอย่างนี้ จึงว่าต้องเพ่งต้องพินิจพิจารณาให้มากๆ เข้าไป ความรู้อันนี้มันก็จะยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้นะ ให้เข้าใจ ผู้ใดย่อหย่อนในความเพียรผู้นั้นความรู้มันก็ไม่ยิ่งนะ มันก็เท่าเดิม ไม่ก้าวหน้า มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นน่ะคำว่า ความเพียรนี่ มันหมายความว่าเราเดินไปข้างหน้าเรื่อย ไม่มีถอยหลัง แต่ว่าการเดินไปนั่นน่ะ อันผู้มีกำลังมากก็เดินได้เร็ว ผู้มีกำลังน้อยก็เดินได้ช้า แต่เดินไม่ถอยก็ถึงจุดหมายปลายทางได้เหมือนกันก็ให้เปรียบอุปไมยอุปมาดูอย่างนี้แล้วกัน

บางคนน่ะไปเห็นเพื่อนว่าเพื่อนผู้นี้ภาวนาเก่ง ได้สมาธิ นั่งเป็นชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมงก็ได้ ไอ้เราน่ะมันนั่งไม่ได้อย่างนั้นน่ะก็น้อยใจให้ตัวเองอย่างนี้มันไม่ถูก เราจะไปเอาแต่คนอื่นมาเป็นเครื่องวัดตัวเองดำเนินตามผู้อื่นไปร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอกเพราะว่าบุญกรรมต่างคนต่างสร้างมาไม่เหมือนกัน ไอ้ผู้ที่นั่งนานไม่ค่อยได้อย่างนี้ก็เจริญปัญญา เมื่อทำใจให้สงบลงไปพอสมควรดังนี้ก็พิจารณา อืม ให้มันรู้ความจริงของชีวิตนี้ เช่น ในสติปัฏฐานสี่อย่างนี้นะ พระองค์เจ้าทรงสอนทางลัดไปเลย กายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา จิตก็สักว่าแต่จิต ธรรมารมณ์ที่เกิดกับจิตก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาอะไร เนี่ยในสติปัฏฐานน่ะ ก็ให้สติมันระลึกเข้าไปหาจิต กำหนดรู้ตามหลักวิชชาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น กำหนดรู้ในใจจริงๆเลย เอ้อ ร่างกายนี้มันไม่ใช่ของเราจริงจังอะไร เวทนา คือ ความเสวยอารมณ์อันเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุขหมู่นี้มันก็สักแต่เวทนา ไม่ใช่เราไม่ใช่เขานี่พระองค์สอนให้กำหนดรู้สุขเวทนา ทุกขเวทนาต่างๆนี่อย่าไปสำคัญว่าเป็นเรา อย่าไปสำคัญว่าเรากำลังเป็นทุกข์อย่างนี้ เรากำลังเสวยสุขอยู่อย่างนี้ปลื้มอกปลื้มใจเมื่อตนได้เสวยสุข อันนี้ก็ไม่ถูกทาง เป็นอย่างนั้น ไม่ถูกทางสายกลาง จึงว่า เมื่อเห็นแจ้งว่าไม่ใช่ของเราแล้วมันก็ทำจิตเป็นกลางได้นะบาดนินะ

ทีเมื่อยังไม่เห็นแจ้งในสภาวธาตุทั้งหลายเหล่านั้นว่าไม่ใช่ตัวตนเราเขาอะไรอย่างนี้มันก็จะทำจิตให้เป็นกลางไม่ได้ มันก็ต้องเอียงไปแหละบาดนินะ หลงยินดีพอใจ หลงเสียใจหลงโกรธในสิ่งที่ตนไม่ชอบอกชอบใจเพราะมันถือว่ามีตัวมีตนน่ะรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ หมู่นี้ มันถึงได้ถือมั่นอย่างนั้น มีเขามีเราแล้วมันก็มีรักมีชังมีโกรธมีเบียดเบียนกันและกัน นี่โทษที่ไปสำคัญผิดว่าสิ่งทั้งปวงที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี สำคัญว่ามันเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา อันมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนกันอยู่ในโลกนี้ก็เพราะความสำคัญผิดอย่างว่านี้มันมีอยู่ในใจ มันสำคัญว่าเขาว่าให้เรา เขาด่าเขาเบียดเบียนเรา เราจะต้องตอบโต้มัน จะต้องแก้แค้นให้ได้ นี่มันมีเรามีเขาขึ้นมาอย่างนี้แหละมันถึงได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ลองคิดดู โทษแห่งความหลงผิด คิดว่าสังขารทั้งปวงมีเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขานี่โทษมีมากมายเหลือที่จะพรรณนา ผู้เจริญภาวนาเจริญปัญญาวิปัสสนามันต้องรู้มันต้องพยายามพิจารณาให้มันรู้ชัดอย่างที่ว่านี่

เมื่อพิจารณามันรู้แจ่มแจ้งเข้าไปเท่าใดมันก็ถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไปเท่านั้น เป็นอย่างนั้น ถ้ามันยังไม่รู้ยิ่งแล้วมันก็ยังละอุปาทานไม่ได้ คือ ละความยึดถือไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพอแต่เห็นครั้งหนึ่งสองครั้งแล้วมันจะละความยึดถือได้หมดไปเลย..ไม่ใช่ ไม่ได้หรอก ปัญญานี่ยังไม่แหลมคม ยังไม่ยิ่งกว่ากิเลสนี้ตราบใดแล้วมันจะละกิเลสนี้ให้หมดทั้งรากทั้งเหง้าไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องอบรมศีลให้บริสุทธิ์เข้าไปเรื่อยๆ อย่าไปล่วงศีล อบรมสมาธิให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่าปล่อยใจของตนให้เลื่อนลอยไปอยู่อย่างนั้น เพราะธรรมดาผู้มีสมาธิแล้วถึงแม้ออกจากสมาธิมาก็มีสติสัมปชัญญะควบคุมจิตอยู่อย่างนั้น ประคองจิตให้ตั้งมั่นเป็นปกติอยู่ แม้ว่าเราจะคิดอะไรๆก็คิดไปอย่างที่รู้เท่า ไม่ใช่คิดเลื่อนลอยไปด้วยความหลง เมื่อคิดเรื่องใดรู้แจ้งแล้วก็ปลงก็ปล่อยวาง ไม่ถือมั่นไว้ นี่เรียกว่าเรารักษาสมาธิจิตไว้ได้ ดังนั้นมันจึงไม่ยึดมั่นในอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบกระทั่งนั่นแหละปัญญามันก็ย่อมเกิดขึ้นจากสัมผัสนั่นแหละ เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่แล้วมีเรื่องอะไรกระทบเข้ามา เอ้า จิตกำหนดพิจารณาเรื่องนั้นเห็นแจ้งชัด นั่นล่ะท่านเรียกว่า ปัญญา ถ้าหากว่าตนไม่พากเพียรเพ่งพินิจพิจารณาเรื่องที่มาถึงตนนั่นน่ะ ปล่อยใจให้หวั่นไหวไปเสียอย่างนี้ ปัญญาก็ไม่เกิดเลยขอให้เข้าใจ ปัญญามันจะเกิดก็เพราะว่ามีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งเข้ามาแล้วกำหนดรู้ กำหนดเห็น กำหนดพิจารณา เมื่อรู้ว่าไม่มีสาระอะไรแล้วก็กำหนดปล่อยวาง ไม่ถือมั่นไว้อย่างนี้นะ นั่นปัญญามันก็เกิดซีบาดนินะ ปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็มีอุบายสอนจิตเรื่อยไป เป็นอย่างนั้น

ดังนั้นเมื่อได้สดับตรับฟังแล้วขอให้พากันจำอุบายธรรมะที่พรรณนาให้ฟังมานี้ไว้ในใจของเราทุกคน ให้เอาไปสอนจิตของตนเข้าไป เมื่อจิตยังไม่ตั้งมั่นก็พยายามทำจิตให้ตั้งมั่น อย่าไปหลงหลับเนี่ย อย่าไปคิดปรัมปราไปในเมื่อเวลาจิตเลื่อนลอยอยู่ คิดไปแล้วมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก ต้องโน้มต้องเพ่งจิตให้สงบให้ตั้งมั่นเสียก่อน หลักนี้เป็นหลักสำคัญมากขอให้พากันจำไว้ เมื่อตนสามารถบังคับจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมต่างๆ ได้แล้ว ปัญญามันก็ต้องไหลหลั่งถั่งเทออกมาจากสมาธินั่นแหละ ก็รู้ความจริงของชีวิตตามเป็นจริงแล้วปล่อยวางไม่ถือมั่นว่าเป็นเราเป็นเขา อันนี้นะเป็นทางพ้นทุกข์ภัยในสงสาร ดังแสดงมา


(จบ)

◇◆ ประวัติ ปฏิปทาและคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” ◆◇
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b44: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร