ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ปฏิปัตติบูชา : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53112
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Hanako [ 04 ก.ย. 2016, 05:39 ]
หัวข้อกระทู้:  ปฏิปัตติบูชา : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

รูปภาพ


หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย



บรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลายได้อยู่กาลฝนไตรมาสสามเดือน ในระยะสามเดือนนี้ผู้บวชมาใหม่ก็ต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเพื่อให้เข้าใจในแนวทางปฏิบัติ ผู้บวชมาเก่าก็ตั้งใจเจริญสมถวิปัสสนาเพื่อชำระอาสวกิเลสให้น้อยเบาบางออกไปจากจิตใจจนกว่ามันจะหมดสิ้น ผู้เป็นทายกทายิกาก็ตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศล เช่น ตักบาตรเป็นประจำวันอย่างนี้นะ แล้วก็สมาทานศีล รักษาศีลให้บริสุทธิ์ พยายามชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาปจากโทษทั้งหลาย พยายามไหว้พระภาวนาแม้จะอยู่บ้านอยู่ช่องของตนก็ไม่ประมาท

การที่เราทำความเพียรปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ เรียกว่า ปฏิปัตติบูชา เราบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติ เราเสียสละความอยากความปรารถนาของตัวเอง น้อมกายวาจาใจของตนสู่ธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ทำยังไง ไม่ให้พูดอะไร ก็ไม่ทำไม่พูด ทรงอนุญาตให้ทำอะไรพูดอะไรได้ก็จึงทำจึงพูดในสิ่งนั้น เราไม่ทำอะไรพูดอะไรตามใจชอบของตัวเอง เราทำเราพูดอิงอาศัยศีลอาศัยธรรม อาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ขอให้พากันปฏิบัติตนอย่างนี้ เพราะว่าลำพังแต่ความรู้ของเราน่ะ เรายังรู้ไม่รอบคอบ เช่นเรื่องบาปอย่างนี้เราก็ยังไม่รู้แจ่มแจ้งในใจ เรื่องบุญก็เหมือนกันยังไม่รู้แจ่มแจ้งในใจ บางทีก็สงสัยลังเลอยู่ ดังนั้นเราจึงอาศัยฟังคำสอนของพระพุทธเจ้านี้บ่อยๆเมื่อฟังไปบ่อยๆมันก็จะเกิดความรู้ความฉลาดขึ้น มันก็จะหายสงสัยในเรื่องบาปบุญคุณโทษ

อันนี้ล่ะเรียกว่า เราปฏิบัติบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การที่ทำอะไรตามชอบใจตัวเองมันจะขัดต่อศีลต่อธรรมก็ตามไม่นำพา อันนั้นเรียกว่า ผู้ไม่ปฏิบัติบูชาคุณแก้วสามประการ ดังนั้นพวกเราก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความเลื่อมใสในคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ อย่างจริงใจจริงจัง


:b45: :b45:


ส่วนหนึ่งจากพระธรรมทเศนาหัวข้อ
" เพียรละความชั่วออกจากตัว"



◇◆ ประวัติ ปฏิปทาและคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ” ◆◇
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/