วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ย. 2019, 12:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

นางสุปปวาสา โกลิยธิดา
เอตทัคคะในทางผู้ถวายทานอันประณีต

พระนางสุปปวาสา อุบาสิกาผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของอุบาสิกาทั้งหลายผู้ถวายทานอันประณีต ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน ไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้

๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

ดังได้สดับมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดานั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นางบังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป แล้วปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ครั้นสิ้นชีวิตลง นางเวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป

๐ บุรพกรรมเมื่อครั้งเกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์และพระสีวลีเถระ

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระอุทรแห่งพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น ทรงเจริญวัยแล้ว ทรงศึกษาสรรพศิลปวิทยา ณ เมืองตักกสิลา ครั้นพระชนกเสด็จทิวงคต ก็ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม

ท่านก็ได้จุติจากเทวโลก มาบังเกิดเป็นมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ต่อมาพระเจ้าโกศลทรงกรีธากองพลใหญ่มายึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระเจ้าพาราณสีและได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาที่พระบิดาถูกปลงพระชนม์ ได้ทรงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน รวมกำลังโดยลำดับแล้วเสด็จมายังกรุงพาราณสี ตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า จะคืนราชสมบัติหรือจะรบ

พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับแนะนำไปว่า จงอย่ามีการต่อสู้ จงตัดขาดการสัญจรทั่วทุกทิศ โดยการล้อมกรุงพาราณสีไว้ พวกคนในกรุงก็จะพากันลำบากเพราะหมด ไม้ น้ำและอาหาร และจะจับพระราชามาถวายเอง พระราชกุมารได้สดับสาสน์ของพระมารดาแล้ว จึงล้อมประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้านไว้ ๗ ปีแต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่ทรงดำริ เนื่องจากพวกคนในกรุงพากันออกทางประตูเล็ก นำเอาไม้และน้ำเป็นต้น มาทำกิจทุกอย่าง

ครั้นพระมารดาของพระราชกุมารทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับถึงพระโอรส ตำหนิพระโอรสว่า ลูกเราโง่เขลาไม่รู้อุบาย จงปิดประตูน้อยล้อมกรุงไว้ พระราชกุมารทรงสดับพระราชสาสน์ของพระมารดา จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นถึง ๗ วัน ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแต่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ

พระราชกุมารนั้นได้กระทำกรรมนี้แล้ว ในกาลที่สุดแห่งอายุ ไปบังเกิดในอเวจี หมกไหม้อยู่ในนรกตราบเท่ามหาปฐพีนี้หนาขึ้นได้ประมาณโยชน์หนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสา พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภี กล่าวคือพระครรภ์ของมารดา ๗ ปี และเพราะล้อมกรุงไว้ถึง ๗ วันโดยเด็ดขาด จึงถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน ตามเรื่องที่จะได้กล่าวต่อไป

๐ กำเนิดเป็นพระนางสุปปวาสในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลกษัตริย์ พระนครโกลิยะ พระประยูรญาติจึงขนานพระนามพระนางว่า สุปปวาสา ทรงเจริญวัยแล้ว อภิเษกกับศากยกุมารพระองค์หนึ่ง เมื่อได้สดับธรรมกถาของพระศาสดาในการเข้าเฝ้าครั้งแรกเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

๐ พระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดพระนางสุปปวาสา

วันหนึ่ง พระนางถวายโภชนะอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว เมื่อทรงกระทำอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมนี้ แก่พระนางสุปปวาสาว่า ดูก่อนสุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ถวายโภชนะ ชื่อว่า ให้ฐานะทั้ง ๕ แก่พวกปฏิคาหก คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุข ให้พละ ให้ปฏิภาณ ก็แลผู้ให้อายุ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ฯลฯ ผู้ให้ปฏิภาณ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

๐ กำเนิดพระสีวลีราชกุมาร

ต่อมาพระนางก็ทรงพระครรภ์ พระสีวลีราชกุมาร ด้วยกุศลกรรมแห่งการที่พระกุมารผู้อยู่ในพระครรภ์ถวายมหาทานในสมัยแห่งองค์พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาว่าขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และอานิสงส์ที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐ กหาปณะพร้อมชาวเมืองในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ดังนั้นนับแต่วันที่ท่านถือปฏิสนธิ ก็มีคนถือเอาเครื่องบรรณาการมาให้พระนางสุปปวาสา วันละร้อยเล่มเกวียน ทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า

ครั้งนั้น คนทั้งหลายด้วยความปรารถนาจะลองบุญพระกุมารนั้น จึงให้นางเอามือจับกระเช้าพืชพืชแต่ละเมล็ด ผลิตผลออกมาเป็นพืชตั้งร้อยกำ พันกำ พืชที่หว่านลงไปในที่นาแต่ละกรีส (หน่วยวัดที่นาในสมัยพุทธกาล) ก็เกิดผลประมาณ ๕๐ เล่มเกวียนบ้าง ๖๐ เล่มเกวียนบ้าง แม้ในเวลาขนข้าวใส่ยุ้ง คนทั้งหลายก็ให้นางเอามือจับประตูยุ้ง ด้วยบุญของราชธิดาเมื่อมีคนมารับของไป ของที่พร่องไปนั้นก็กลับเต็มเหมือนเดิม เมื่อคนทั้งหลายพูดว่า บุญของราชธิดา แล้วให้ของแก่ใครๆ จากภาชนภัตรที่เต็มบริบูรณ์ ภัตรย่อมไม่สิ้นไป จนกว่าจะยกของพ้นจากที่ตั้ง

ด้วยผลกรรมของพระนาง ที่ได้ส่งสาส์นลับไปแนะนำพระราชโอรส ร่วมกับวิบากกรรมของพระโอรสในอดีตที่ได้ล้อมกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลาถึง ๗ ปี ทำให้เวลาล่วงไปถึง ๗ ปีก็ยังไม่มีพระประสูติกาล

ครั้นเมื่อครบกำหนด ๗ ปีแล้ว ด้วยวิบากกรรมร่วมกันของพระนาง กับ พระโอรสที่ได้ปิดล้อมประตูเล็กของกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลา ๗ วัน ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถออกจากเมืองมาหาอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้รับความลำบากมาก ทำให้พระนางเสวยทุกข์หนักตลอด ๗ วัน

พระนางปรารภกับพระสวามีปรารถนาจะถวายทานก่อนที่จะตาย จึงส่งพระสวามีไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อไปกราบทูลเรื่องนี้ แล้วนิมนต์พระบรมศาสดา และถ้าพระบรมศาสดาตรัสคำใด ขอให้ตั้งใจจดจำคำนั้นให้ดีแล้วกลับมาบอกพระนาง พระสวามีจึงเดินทางไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระพุทธองค์ พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงมี ความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด พระสวามีได้ยินดังนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

ในเวลาเมื่อพระบรมสุคตตรัสเสร็จ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาอย่างสะดวก เหล่าพระญาติและบริวารที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระสวามีที่กำลังเดินทางกลับ พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสเห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์จึงกราบทูลข่าวของพระทศพลนั้นแด่พระราชธิดา พระราชธิดาตรัสให้พระสวามีไปนิมนต์พระทศพล ตลอด ๗ วัน พระสวามีทรงกระทำดังนั้นและได้มีการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน การประสูติของทารก ได้ดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก”

๐ พระสีวลีบวชเมื่อเกิดได้ ๗ วัน

ตั้งแต่เวลาที่ได้เกิดมาแล้ว ทารกนั้นได้เป็นผู้แข็งแรง อดทนได้ในการงานทั้งปวง เพราะค่าที่อยู่ในครรภ์มานานถึง ๗ ปี ครั้นถึงวันที่ ๗ พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมารผู้โอรส ถวายบังคมพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระกุมารถูกนำเข้าไปสักการะพระสารีบุตรเถระเจ้านั้น พระเถระเจ้าได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า สีวลี เธอยังจะพอทนได้หรือ ? สีวลีกุมาร ได้ตรัสตอบพระเถระเจ้าว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า กระผมนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปี

พระเถระได้กล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ก็ถ้าเธอได้รับความทุกข์ถึงขนาดนั้นแล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลีตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้นพูดอยู่กับพระเถระ ก็คิดว่าบุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนได้รับ แล้วกล่าวว่า ถ้าท่านอนุญาต ก็จะบวช

พระนางสุปปาวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ ตจปัญจกกัมมัฎฐาน (กรรมฐาน ๕ กอง คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) และได้กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ ในขณะที่โกนผมปอยแรก พระสีวลีก็บรรลุโสดาปัตติผล และในขณะโกนปอยที่ที่ ๒ ก็บรรลุสกทาคามิผล และในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ก็บรรลุอนาคามิผล และก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับที่โกนผมหมด

ส่วนอาจารย์บางพวก กล่าวถึงการบรรลุพระอรหัตของพระเถระนี้ไว้ดังนี้ว่า เมื่อพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ให้โอวาทโดยนัยดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสีวลีกุมารกล่าวว่า กระผมจักรู้กิจกรรมที่กระผมสามารถจักกระทำได้ (ด้วยตนเอง) ดังนี้ แล้วจึงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เห็นกุฏิหลังหนึ่งว่าง (สงบสงัด) จึงเข้าไปสู่กุฏินั้นในวันนั้นแหละ ระลึกถึงทุกข์ที่ตนเสวยแล้วในท้องมารดาตลอด ๗ ปี แล้วพิจารณาทุกข์นั้น ในอดีตและอนาคต โดยทำนองนั้นแหละอยู่ ภพทั้ง ๓ ก็ปรากฏว่า เป็นเสมือนไฟติดทั่วแล้ว สีวลีสามเณรหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถี เพราะญาณถึงความแก่รอบ ทำอาสวะแม้ทั้งปวงให้สิ้นไป ตามลำดับมรรค บรรลุพระอรหัตแล้ว ในขณะนั้นเอง ส่วนพระเถระก็เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ได้อภิญญา ๖

๐ ทรงแต่งตั้งอุบาสิกาเป็นเอตทัคคะผู้ถวายทานอันประณีต

พระนางสุปวาสานั้น เป็นอัครอุปัฏฐายิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าของเคี้ยวของบริโภคหรือเภสัช อันสมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีสตรีอื่นๆ ที่พึงจัดแจงไว้ในนั้น สิ่งทั้งหมดนั้นพระนางใช้ปัญญาของตนเท่านั้นจัดแจง แล้วจักน้อมเข้าไปถวายโดยเคารพ และนางได้ถวายสังฆภัตและปาฏิปุคคลิกภัต ๘๐๐ ที่ทุกๆ วัน ผู้ใดผู้หนึ่งไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี เข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลนั้นมิได้มีมือเปล่าไป พระนางมีการบริจาคอย่างเด็ดขาด มีมือสะอาด ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน ด้วยประการฉะนี้

ภายหลังพระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระนางสุปปวาสา อุบาสิกาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายทานอันประณีตแล

:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก... นางสุปปวาสา (อุบาสิกา-เอตทัคคะ)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?p=31896


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ย. 2019, 12:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


พระนางสุปปวาสา
เอตทัคคะในฝ่ายผู้ถวายของมีรสอันประณีต

:b44: :b44:

พระนางสุปปวาสา เป็นธิดาของกษัตริย์พระนครโกลิยะ ทรงเจริญวัยแล้ว ได้อภิเษกสมรสกับศากราชกุมารพระองค์หนึ่ง จากนั้นไม่นานนักก็ทรงครรภ์ แต่การทรงครรภ์ของพระนางนั้นผิดกว่าหญิงอื่นๆ เพราะพระนางทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติพระโอรสออกมาพระนามว่า “สีวลี” (เรื่องของพระสีวลีนั้นจะได้กล่าวไว้แล้วใน เอตทัคคะพระเถระ ในเรื่องของพระสีวลี ต่อไป)

พระนางได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาครั้งแรก ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์จบแล้ว ก็ดำรงอยู่ในอริยภูมิเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน

ครั้นเมื่อใกล้เวลาจะประสูติ พระนางได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าจึงขอให้พระสมามีไปกราบบังคมทูลขอพรพระบรมศาสดาและพระพุทธองค์ตรัสประทานพรแก่พระนางว่า

“ขอพระนางสุปปวาสา พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด”

ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ ทุกขเวทนาของพระนางก็อันตรธานไป พระนางประสูติพระราชโอรสอย่างง่ายดาย ดุจน้ำไหลออกจากหม้อ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสาว่า “สีวลีกุมาร”

เมื่อพระนางมีพระวรกายแข็งแรงดีแล้ว มีพระประสงค์ที่จะถวายมหาทานติดต่อกันเป็นเวลา ๗ วัน จึงแจ้งความประสงค์แก่พระสวามีให้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มารับมหาทานอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ตลอด ๗ วัน

ให้อาหารชื่อว่าให้สิ่งประเสริฐ ๕ ประการ

พระพุทธองค์เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เมื่อทรงหระทำอนุโมทนาได้ตรัสพระธรรมเทศนาแก่พระนางสุปปวาสาว่า “ดูก่อนสุปปวาสา บุคคลผู้ถวายโภชนาหารแก่ปฏิคาหก (ผู้รับ) ชื่อว่าให้สิ่งอันประเสริฐทั้ง ๕ ประการ คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ และให้ปฏิภาณ”

“ดูก่อนสุปปวาสา บุคคลให้ของเช่นไรก็ย่อมได้ของเช่นนั้น คือ ผู้ให้อายุ ก็ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ เป็นต้น ผู้ให้สิ่งอื่นๆ ก็พึงทราบโดยนัยเดียวกัน”

สีวลีกุมาร แม้จะประสูตริได้ไม่กี่วัน แต่ก็มีพระวรกายแข็งแรงเหมือนกุมารผู้มีพระชนม์ ๗ พรรษา ได้ช่วยพระบิดาพระมารดาขวนขวายจัดแจงกิจต่างๆ ในการถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ พระสารีบุตรเถระได้สีงเกตสีวลีกุมารตั้งแต่วับแรก รู้สึกพอใจในอัธยาศัยของกุมารน้อยนี้ ในวันที่ ๗ อันเป็นวันสุดท้าย พระเถระได้ชักชวนให้เธอมาบวช สีวลีกุมารผู้มีจิตน้อมไปในการบวชอยู่แล้ว เมื่อพระบิดาพระมารดาอนุญาตแล้ว จึงได้บวชในสำนักของพระสารีบุตรเถระ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยสาวกสำคัญในพระพุทธศาสนา

ต่อมา พระบรมศาสดาขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาอุบาสกทั้งหลายในตำแหน่งต่างๆ ก็ได้ทรงสถาปนาพระนางสุปปวาสาโกลิยธิดานี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถวายของมีรสอันประณีต


:b8: :b8: :b8:

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=26758


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ย. 2019, 12:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


นางสุปปวาสา โกลิยธิดา ผู้มีประวัติพิสดาร
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


:b50: :b47: :b50:

วันนี้ขอเล่าประวัติของอุบาสิกามารดาพระเถระที่ได้ชื่อว่า “มีลาภมากที่สุด” คือ พระสีวลี มารดาของท่านสีวลี นามว่า สุปปวาสา โกลิยธิดา

“นาม โกลิยธิดา บอกอยู่แล้วว่า สุปปวาสาเป็นพระธิดาของเจ้าโกลิยะองค์หนึ่ง จะเป็นองค์ไหน ไม่มีบอกไว้” พอนางเจริญวัยมาก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าลิจฉวี นามว่า มหาลิ มหาลิองค์นี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาไม่น้อย มีหลายสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนมหาลิโดยเฉพาะ

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งคือ สามีของนาง คือเจ้าแห่งราชวงศ์โกลิยะองค์หนึ่ง มิใช่มหาลิ และที่ทำให้ “เง็ง” ยิ่งกว่านี้ ก็มีหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง คือ ในสังยุตตนิกาย (สุปปวาสาสูตร) บอกว่า สุปปวาสา โกลิยธิดา เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าปเสนทิโกศล จะเป็นสุปปวาสาคนเดียวกันหรือว่าชื่อซ้ำกัน ยังไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบให้ชัดเจนได้

จึงขอติดหนี้ไว้ก่อนก็แล้วกัน

นางสุปปวาสา มีประวัติพิสดาร รวมทั้งสีวลีกุมารลูกชายของนางด้วย คือ หลังจากอภิเษกสมรสแล้ว นางสุปปวาสาก็ตั้งครรภ์พิสดาร คือ ไม่ยอมคลอดสักที อุ้มท้องอยู่เป็นเวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน รู้สึกอึดอัดเจ็บปวดทรมานมาก ไปไหนมาไหนต้องอุ้มท้องหนัก เดินเหินไม่สะดวก ถ้าเป็นสมัยนี้คงไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วว่าทำไมจึงไม่คลอดสักที

สุปปวาสา โกลิยธิดา กับลูกน้อยสีวลีของเธอ ทั้งแม่และลูกคงทำกรรมอะไรบางอย่างร่วมกันมา ในอรรถกถาธรรมบท เมื่อพระสงฆ์ประชุมสนทนากันถึงเรื่องราวของพระสีวลีด้วยความอัศจรรย์ใจ อัศจรรย์ที่เด็กน้อยอยู่ในครรภ์ตั้ง ๗ ปี ๗ เดือน ไม่คลอด จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าผู้เสด็จมายังวงสนทนาพอดี เกี่ยวกับบุพกรรมของท่านสีวลี


พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ฟังว่า ที่สีวลีต้องอึดอัดอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี ๗ เดือนไม่คลอดเสียทีนั้น เพราะในชาติปางก่อนสีวลีเป็นกษัตริย์ยกทัพไปล้อมเมืองหนึ่งขอให้ยอมยกเมืองให้ กษัตริย์ของเมืองนั้นไม่ยอม จะล้อมก็ล้อมไป ตนเองสั่งให้ชาวเมืองตระเตรียมเสบียงไว้ให้พอ ข้าศึกล้อมเมืองอยู่ไม่นานก็คงล่าถอยไปเอง

ศึกล้อมเมืองทำท่าจะยืดยาว เพราะชาวเมืองมีเสบียงกรังเพียงพอ พระราชมารดาของกษัตริย์องค์ที่ไปล้อมเมืองเขา ทรงแนะให้กษัตริย์โอรสของตนสั่งปิดประตูเมืองน้อยเมืองใหญ่ห้ามคนในออก ห้ามให้คนนอกเข้า สงครามจะได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

เมื่อทำตามที่พระราชมารดาทรงแนะนำแล้ว ชาวเมืองที่ถูกล้อมได้รับความลำบากเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันก่อกบฏ จับพระราชาของตนสำเร็จโทษ ยินยอมยกเมืองให้พระราชาผู้เป็นข้าศึกแต่โดยดี

พระพุทธองค์ตรัสว่า ทั้งแม่ทั้งลูกได้ทำกรรมร่วมกันมา คือล้อมเมืองเขา ห้ามชาวเมืองนั้นเข้าออกเมือง กรรมนั้นแหละบันดาลให้ผู้เป็นแม่คือ สุปปวาสา ในชาตินี้ต้องอุ้มท้องอยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน และผู้เป็นลูก คือ สีวลีกุมาร ต้องนอนขวางอยู่ในท้องแม่ ไม่ยอมคลอดเสียที


นางสุปปวาสาได้รับความอึดอัดทรมานมาก จนคิดว่าชีวิตของตนคงจะไม่รอดแล้ว จึงวานสามีให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ ฝากกราบทูลถวายบังคมพระพุทธองค์และถ้าพระพุทธองค์รับสั่งอย่างใด ให้จดจำมาบอกด้วย

สามีไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามคำขอร้องของนางสุปปวาสา กราบทูลเล่าถึงเรื่องตัวของภริยาของตนแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า “สุขินี โหตุ สุปฺปวาสา โกลิยธีตา อโรคา อโรคํ ปุตฺตํ วิชายติ = ขอให้สุปปวาสา โกลิยธิดา จึงมีความสุข ปราศจากโรค และคลอดบุตรที่ไม่มีโรคเถิด”

พอสิ้นพระพุทธดำรัสประทานพร นางสุปปวาสาซึ่งอยู่ในบ้านของตนก็คลอดบุตรชายออกมาอย่างง่ายดาย ง่ายยังกับเทน้ำออกจากกระบอก ว่าอย่างนั้น บุตรน้อยของเธอ ทันทีที่คลอดจากครรภ์ก็มีอายุ ๗ ปีแล้ว พูดจาได้ ทำอะไรได้เหมือนเด็ก ๗ ขวบทั่วไป

มหาลิสามีของนาง กลับมาถึงบ้านก็เห็นบุตรชายคลอดออกมาแล้ว มีสุขภาพแข็งแรง แถมยังทำอะไรได้ดุจเด็กอายุ ๗ ขวบทั่วไป นางสุปปวาสามีความปลื้มปีติและเชื่อมั่นว่าที่ตนคลอดบุตรง่ายก็เพราะว่าอานุภาพแห่งพระพรที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้นั้นเอง จึงจัดพิธีถวายทานอันยิ่งใหญ่ ทูลอาราธนาพระพุทธองค์มาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เป็นเวลา ๗ วันติดต่อกัน

นางได้ตระเตรียมอาหารอันประณีตไว้ถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ เพราะเหตุที่นางสุปปวาสาถวายทานแต่ของประณีตแด่พระสงฆ์ จึงได้รับยกย่องในเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทาง “ถวายทานอันประณีต”

การถวายทานนั้น ท่านสอนนักสอนหนาว่า อย่าสักแต่ว่าให้ เพราะการให้ทานที่ไม่ครบองค์ประกอบ ย่อมจะมีอานิสงส์น้อย องค์ประกอบที่ดีของทานคือ

๑. ของที่ให้ทานจะต้องได้มาอย่างสุจริต ได้จากหยาดเหงื่อแรงกายอันสุจริตของเรา มิใช่ของที่ลักขโมย หรือเบียดเบียนคนอื่นได้มา

๒. เจตนาจะต้องบริสุทธิ์ คือ ก่อนจะให้มีจิตเลื่อมใส กำลังให้ก็ให้ด้วยความเลื่อมใส ให้ไปแล้วก็มีจิตยินดี ไม่เสียดายภายหลัง

๓. ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ก็เป็นผู้ควรที่จะให้ เช่น มีศีลบริสุทธิ์ หรือมีคุณธรรมสูง ให้แก่คนชั่ว ให้แก่อลัชชี ย่อมจะได้อานิสงส์น้อยเป็นธรรมดา

นอกจากนี้ ในสัปปุริสทาน (การให้ของสัตบุรุษ) ๑๐ ท่านจะเน้นว่าต้องให้ของสะอาด, ให้ของประณีต, ให้เหมาะแก่กาล, ให้ของสมควรหรือของที่ควรที่ผู้รับจะใช้ได้, พิจารณาเลือกให้ หรือให้ด้วยวิจารณญาณ, ให้เนืองนิตย์, ขณะให้มีจิตผ่องใส, ให้แล้วเบิกบานใจ


ถ้าให้ทานครบองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น ย่อมได้รับอานิสงส์มาก โบราณจึงสอนให้ตั้งอกตั้งใจให้ทาน ให้ทานด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธา มิใช่สักแต่ว่าให้ หรือให้ด้วยความรำคาญ อันจักนำมาซึ่งผลที่ไม่พึงปรารถนา

ดังเรื่องนางปัญจปาปา

นางคนนี้ได้ตำดินเหนียวให้ละเอียด ผสมกับโคมัย (มูลโค) เพื่อฉาบทาบ้าน

ขณะนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงออกจากญาณสมาบัติใหม่ๆ ท่านต้องการดินเหนียวไปฉาบทาผนังถ้ำ จึงมาบิณฑบาตดินเหนียว นางไม่ต้องการให้จึงทำเฉย

พระปัจเจกก็ยังไม่ยอมไป นางจึงเอาก้อนดินเหนียวที่ตำละเอียดก้อนใหญ่โยนลงในบาตรท่านพร้อมกล่าวอย่างรำคาญว่า “เอ้า อยากได้ก็เอาไป”

ว่ากันว่านางเกิดมาในชาติต่อมา เป็นเด็กขี้ริ้วขี้เหร่ อวัยวะพิการถึง ๕ ส่วน เพราะผลแห่งการให้ทานด้วยความโกรธและรำคาญ แต่สัมผัสของนางเป็นทิพย์คือชายใดได้ถูกเนื้อต้องตัวเป็นต้องหลงใหลในตัวเธอ เพราะผลแห่งการให้ดินเหนียวที่ละเอียด


ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า การให้ทาน อย่าสักแต่ให้ พึงให้ด้วยศรัทธาเต็มที่ ให้ของที่สะอาดประณีต และถ้าได้ปฏิคาหกที่มีศีลมีธรรมด้วย ก็ยิ่งจะอำนวยให้ทานของเรามีอานิสงส์ (ผล) ไพศาลยิ่งขึ้น

นางสุปปวาสา โกลิยธิดา เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เวลาจะถวายทานแต่ละครั้ง จึงเตรียมแต่ของที่สะอาดประณีตถวาย จนได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “ให้ทานอันประณีต” ด้วยประการฉะนี้


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b50: :b47: :b50:

:b45: อุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46456


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร