ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

เวรัญชพราหมณ์ พรมหมณ์ผู้ขี้หลงขี้ลืม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58085
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  sirinpho [ 22 ก.ย. 2019, 14:28 ]
หัวข้อกระทู้:  เวรัญชพราหมณ์ พรมหมณ์ผู้ขี้หลงขี้ลืม

เวรัญชพราหมณ์ พรมหมณ์ผู้ขี้หลงขี้ลืม
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b45: :b47: :b45:

เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จออกประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ๆ ยังมิได้วางกฎเกณฑ์หรือสิกขาบทให้พระปฏิบัติ เพราะยังไม่มีผู้ล่วงละเมิดทำสิ่งไม่ดีไม่งามอันไม่เหมาะสมแก่สมณะ (สิกขาบทจะบัญญัติขึ้นหลังจากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น)

พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จไปประทับ ณ เมืองเวรัญชรา วันหนึ่งพราหมณ์นามว่า เวรัญชะ ได้ข่าวว่าพระองค์เสด็จมา จึงเข้าไปหาเพื่อสนทนาปราศรัย เมื่อกล่าวทักทายพระพุทธองค์แล้ว เห็นพุทธองค์ประทับนั่งเฉย มิได้ลุกขึ้นยืนรับตนในฐานะที่เป็นพราหมณ์ผู้เฒ่า ก็นึกโกรธขึ้นมาทันที กล่าวเชิงตำหนิว่า “สมณโคดม เป็นคนไม่มีรสชาติ”

ความหมายของพราหมณ์ก็คือ “สามัคคีรส” คือ ความสามัคคี ร่วมมือกันปฏิบัติตามธรรมเนียมของสังคม เช่น ผู้น้อยเคารพผู้อาวุโส ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ดีทำให้ขนบธรรมเนียมอันดีงามเป็นไปด้วยดี แต่พระพุทธเจ้าไม่รู้จักแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโส จึงนับว่าเป็น “คนไม่มีรสชาติ”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ที่พราหมณ์ว่า ตถาคตไม่มีรสชาตินั้น ถูกต้องแล้วเพราะรสชาติฉันใดที่ชาวโลกเขามีกัน เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ (ความคิดคำนึง) อันน่าใคร่ น่าพอใจ รสชาติอย่างนั้น ตถาคตละได้แล้ว จึงเป็นคนไม่มีรสชาติ

“สมณโคดมไร้สมบัติ” สมบัติในที่นี้ก็คือการรู้จักนอบน้อมต่อผู้ใหญ่นั่นแหละ ใครมีสิ่งเหล่านี้เรียกว่าคนมีสมบัติ คงจะตรงกับสมัยนี้ว่า “สมบัติผู้ดี” นั่นแหละ ใครมีมากก็เรียกกว่าคนมีสมบัติผู้ดี หรือรวยสมบัติผู้ดี ใครไม่ค่อยมีก็เรียกว่าคนยากไร้ไปเลย

พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ว่าเราไร้สมบัตินั้น กล่าวถูกต้อง เพราะสมบัติ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ชาวโลกเขาชอบพอยินดีนั้น เราตถาคตละได้หมดแล้ว จึงไม่มีสมบัติเหล่านั้น

“สมณโคดมสอนไม่ให้กระทำ” พราหมณ์ หมายถึงพระพุทธองค์สอนให้คนกำจัด และพระองค์เองก็เป็นคนกำจัดขนบธรรมเนียมอันดีงามของสังคม ไม่รู้จักนบนอบต่อผู้หลักผู้ใหญ่

พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ว่าเราตถาคตสอนให้กำจัดนั้นเป็นความจริง เพราะเราตถาคตเป็นผู้กำจัดสรรพกิเลสได้สิ้นเชิง และสอนให้คนอื่นกำจัดกิเลสเหล่านั้นไปด้วย

“สมณโคดมเป็นคนล้างผลาญ” ความหมายของพราหมณ์ก็คือ คนที่ไร้การศึกษาไม่มีการศึกษาไม่มีการฝึกอบรมเรื่องกิริยามารยาทของสังคม อย่างนี้นับว่าเป็นคนชั่ว คนเลว ตายไปไม่ได้ผุดได้เกิดในสุคติภพเป็นแน่

พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ท่านว่าเราตถาคตไม่ผุดไม่เกิดนั้น เป็นคำกล่าวถูกต้อง เพราะกิเลสเหล่าใดอันจะนำพาให้เกิดใหม่ กิเลสเหล่านั้นเราตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว จึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

พราหมณ์ว่าพระองค์อีกสองสามอย่างไม่มีเวลามาค้นมาเล่าโดยละเอียด

เอาเป็นว่าไม่ว่าพราหมณ์จะ “ด่า” พระองค์ในแง่ไหน พระองค์ทรง “แปร” ความหมายไปในด้านดีหมด เช่น ด่าว่า “ไม่ผุดไม่เกิด” นี้ออกจะแรง เพราะเท่ากับว่าพระพุทธเจ้าไม่มีโอกาสเกิดในท้องมนุษย์อีก มีแต่จะไปเกิดเป็นพวกเปรต พวกอสูรกาย (ซึ่งไม่เกิดในท้องคน แต่จะผุดเกิดแล้วโตทันที เพื่อเสวยผลแห่งกรรมชั่ว)

พูดให้ชัด คำว่า “ไม่ผุดไม่เกิดนี้ หมายถึงด่าว่า “ไอ้เปรต ไอ้อสุรกาย” อะไรทำนองนั้น ปานนั้นแหละ ขอรับ ก็พราหมณ์แกโกรธนี่ครับ โกรธที่พระพุทธเจ้ายังหนุ่มกว่าตน แต่ไม่แสดงความเคารพตนตามลำดับอาวุโส

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายเชิงเปรียบเทียบว่า ลูกไก่ที่แม่ไก่ฟักออกจากไข่หลายฟอง ตัวโตเจาะกระเปาะไข่ออกมาก่อน เขาก็เรียกลูกไก่ตัวนั้นว่า “พี่” หรือ “ลูกไก่ตัวโต” ฉันใด ในหมู่มนุษย์นั้น พระองค์เป็นคนแรกที่เจาะกระเปาะไข่ คือ อวิชชาออกมาได้ พระองค์จึงควรนับว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของมนุษย์ทั้งปวง ทั้งนี้ ด้วยคุณธรรมเป็นเครื่องวัด มิใช่ด้วยอายุพรรษา

พราหมณ์พยักหน้าเห็นด้วย มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จึงกล่าวปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสมณะตลอดชีวิต พราหมณ์ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาที่เมืองเวรัญชรา ปวารณาว่าจะดูแลเรื่องปัจจัยสี่ อำนวยความสะดวกแก่พระพุทธองค์และคณะสงฆ์แล้วก็หลีกไป

ในพรรษานั้นเกิดฝนแล้ง ประชาชนไม่ได้ทำนา ทำไร่ ข้าวยากหมากแพง พราหมณ์เองหลังจากออกปากว่าจะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธองค์และพระสงฆ์แล้วก็ลืมสนิท ภิกษุทั้งหลายประสบความยากลำบากด้วยอาหาร การฉันต้องอาศัยข้าวแดงจากพวกพ่อค้าม้าที่พักแรมฤดูฝน ณ เมืองนั้นยังชีพ อย่างทรหดอดทนจนพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญเหล่าสาวกของพระองค์ว่าไม่เห็นแก่ปากท้องยอมอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ตลอดพรรษา

พระโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก เห็นพระสงฆ์ลำบากจึงกราบทูลเสนอวิธีแก้ไขปัญหาหลายประการ เช่น จะไปบิณฑบาต ณ ที่อื่นไกลๆ ด้วยอำนาจฤทธิ์ นำอาหารมาถวายพระสงฆ์ แต่ถูกพระพุทธองค์ห้ามไว้

ออกพรรษาแล้ว พระพุทธองค์ชักชวนพระอานนท์พุทธอนุชาไปลาเวรัญชพราหมณ์ ผู้นิมนต์ให้จำพรรษา

พราหมณ์พอเห็นพระพุทธองค์เท่านั้น ก็รำลึกได้ว่าตนเป็นสาเหตุให้พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขอดอยากตลอดพรรษา รู้สำนึกผิด จึงกราบทูลนิมนต์พระองค์พร้อมเหล่าสาวกไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน ถวายไทยธรรมอันประณีตจำนวนมาก (แก้ตัวว่าอย่างนั้นเถอะ)

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเขา ทรงอำลาเขา เสด็จไปยังเมืองไพศาลี ประทับอยู่ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน

พราหมณ์แกผิดคำสัญญา แต่ตอนหลังกราบขอขมาและถวายทานแก้ตัว ก็เลยไม่ต้องรับผลแห่งการผิดสัญญา

คัมภีร์เล่าว่า คนที่ออกปากว่าจะถวายสิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ภิกษุผู้ทรงศีล แล้วไม่ทำตามที่พูดไว้ มักจะทำมาค้าขายขาดทุนหรือไม่ก็มักจะพลาดโอกาสดีๆ ที่พึงได้ในชีวิตบ่อยๆ เช่น มีข่าวว่าจะได้เลื่อนยศ ได้ตำแหน่ง ขนาด “เต็งหาม” แล้วก็ยังพลาด

ใครที่เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ให้รีบทำบุญแก้ตัวเสีย และต่อไปอย่าปากไวว่าจะถวายนั้น ถวายนี้ แล้วลืมเป็นอันขาดนะ สิบอกไห่ !



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b45: :b47: :b45:

:b44: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/