วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ย. 2019, 13:40 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


อายุวัฒนกุมาร เด็กรอดตายเพราะต่ออายุ
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b45: :b47: :b45:

พิจารณาตามเนื้อหาแล้ว เรื่องนี้น่าจะแต่งภายหลังพุทธกาล แต่พยายามโยงไปถึงพระพุทธองค์

เหตุผลง่ายๆ คือ สมัยพุทธกาลไม่มีการสวดพระปริตร การต่ออายุหรือสวดพระปริตร ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ฝากนักปราชญ์พิจารณาด้วย
ขอเล่าเรื่องให้ฟังก่อน


ดาบสสองตนเป็นเพื่อนกัน บำเพ็ญพรตเคร่งครัดอยู่ในป่า ดาบสตนหนึ่งคิดว่า ขืนบวชอยู่อย่างนี้จนตายก็คงไม่มีบุตรสืบสกุล แล้วสกุลวงศ์ก็ขาดสูญ

คิดได้ดังนี้จึงลาพรตมาเป็นผู้ครองเรือน แต่งงานกับหญิงสาวที่เหมาะสมกัน ก่อร่างสร้างตัวจนฐานะมั่นคง มีโคถึง ๑๐๐ ตัว (สมัยโน้นใครมีโคมากปานนั้น ถือว่ามีฐานะดี)

ไม่ช้าไม่นานก็ได้บุตรชายน่าเกลียดน่าชังมาคนหนึ่ง พอดีได้ข่าวว่าดาบสสหายเก่าของตน อาศัยอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านตน จึงพาลูกเมียไปกราบ

ขณะบิดาไหว้ดาบสก็อวยพรว่า “ขอให้โยมอายุมั่นขวัญยืน” ขณะมารดาไหว้ก็ได้รับคำอวยพรเช่นเดียวกัน

แต่เมื่อบุตรชายไหว้บ้าง ท่านดาบสกลับนั่งนิ่ง

“พระคุณท่านไม่อวยพรให้บุตรชายเราหรือขอรับ” คุณพ่อเด็กเรียนถามดาบสผู้เป็นสหายเก่า

“เด็กคนนี้อายุจะไม่ยืน อาตมาจึงไม่อวยพร”

“มีทางช่วยอย่างไรบ้างหรือไม่ครับท่าน” ผู้เป็นพ่อถามด้วยความกังวลใจ

“อาตมาไม่รู้วิธีแก้ไข รู้แต่ว่าเด็กจะอายุไม่ยืน” ดาบสกล่าว

“มีใครบ้างที่ทราบ”

“พระสมณโคดมคงจะทราบ” ดาบสเอ่ยถึงพระพุทธองค์ คงเพราะเกียรติคุณของพระพุทธคุณแพร่ขจรไปทั่ว แม้ฤๅษีชีไพรนักบวชต่างศาสนาก็ทราบกันดี

“แต่ผมไม่นับถือศาสนาของพระสมณโคดมนะ เกรงว่าตบะจะเสื่อม” พ่อเด็กแย้ง

“ถ้าโยมรักลูก ไม่อยากให้ลูกตาย โยมคิดเอาเองก็แล้วกัน” ดาบสแนะนำ


เขาและภรรยาจึงตัดสินใจอุ้มลูกน้อยไปเฝ้าพระพุทธองค์ ขณะเขาและภรรยาถวายบังคมพระพุทธองค์ ก็ได้รับพรจากพระพุทธองค์ว่า ขอให้อายุมั่นขวัญยืน แต่เมื่อให้ลูกน้อยกราบบังคมทูลบ้าง พระพุทธองค์กลับประทับดุษณีเช่นเดียวกับดาบสสหายเก่าของเขา

เขาจึงกราบทูลถามสาเหตุ พระพุทธองค์ตรัสบอกว่าเด็กจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๗ วัน หลังจากวันนี้ เมื่อเขากราบทูลถามว่า มีทางรอดไหม

พระพุทธองค์ตรัสว่า มี ถ้าท่านจักให้พระสาวกทั้งหลายของเราสวดพระปริตร ๗ วัน ๗ คืน โดยสร้างปะรำไว้บริเวณบ้าน ตั้งตั่งไว้ ขึงสายสิญจน์รอบบริเวณ เอาเด็กนอนตรงกลาง นิมนต์พระสาวกของเรามาสวดพระปริตร ๗ วัน ๗ คืน โดยวิธีนี้เด็กจะรอดชีวิต

เขากลับไปตระเตรียมปะรำพิธี ตั้งตั่งสำหรับสวดพระปริตร ขึงด้วยสายสิญจน์รอบบริเวณ นำบุตรน้อยมานอนตรงกลางปะรำตามที่พระองค์ตรัสบอกนิมนต์ พระสงฆ์ไปสวดพระปริตรติดต่อกัน ๖ คืน คืนที่ ๗ พระพุทธองค์เสด็จไปสวดพระปริตร

ตำรากล่าวว่า ที่เด็กน้อยจะมีอายุแค่ ๗ วันเท่านั้น ก็เพราะมียักษ์ตนหนึ่งรับใช้ท้าวเวสสวัณ หัวหน้ายักษ์อย่างดีมาเป็นเวลา ๑๒ ปี ท้าวเวสสวัณพอใจ จึงให้พรว่าภายใน ๗ วันนี้ อนุญาตให้จับเด็กกินได้คนหนึ่ง บังเอิญว่าเด็กคนนี้เกิดในวันที่ยักษ์ตนนี้ได้รับพร แกจึงจ้องที่จะจับเด็กคนนี้กิน

แต่เมื่อพ่อแม่ของเด็กจัดการสวดพระปริตรต่ออายุให้ ยักษ์ตนนั้นก็ไม่มีโอกาสจับเด็ก ได้แต่จ้องรอจังหวะอยู่ใกล้ๆ บริเวณพิธี (รอว่าเด็กน้อยออกจากวงด้ายสายสิญจน์เมื่อใด ก็จะจับเอาไปกินทันที)

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาในปะรำพิธี เพื่อทรงสวดพระปริตร เหล่าเทวดาผู้มีปกติใหญ่น้อยทั้งหลายต่างก็แห่กันมาเฝ้าพระพุทธองค์ บริเวณพิธีจึงเต็มไปด้วยเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ เทพผู้มีศักดิ์น้อยจำต้องถอยออกไปยืนห่างๆ

ยักษ์ตนที่พูดถึงนี้ก็จำต้องถอยออกไปยืนอยู่ไกลมาก เพราะตนเป็นเพียงยักษ์ “กระจอก” ตนหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ได้โอกาสเข้าไปรอจับเด็กกิน เมื่อพ้น ๗ วัน ๗ คืนไปแล้ว เธอก็ไม่มีสิทธิทำอะไรเด็กน้อยได้

เด็กน้อยจึงรอดชีวิต พ่อแม่เด็กจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า บุตรชายของตนจะอายุยืนเท่าไร พระพุทธองค์ตรัสว่า เขาจะมีอายุ ๑๒๐ ปี

ด้วยเหตุนี้พ่อแม่จึงตั้งชื่อเขาว่า อายุวัฒนกุมาร (กุมารผู้มีอายุยืน) และเขาก็มีอายุยืนจริงๆ เขาเจริญเติบโตมา แต่งงานเป็นหลักฐาน มีชีวิตครอบครัวที่มั่นคงตลอดอายุขัย

วันหนึ่งเหล่าสาวกพระพุทธองค์สนทนากันใน “อุปัฏฐานศาลา” (หอฉันใช้เป็นศาลาสนทนาธรรมด้วย) ยกประเด็นเรื่องเด็กที่จะตายภายใน ๗ วัน รอดชีวิตมาได้เพราะอานุภาพการสวดพระปริตร จนเด็กได้ชื่อว่าเด็กชายอายุยืน

พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสให้โอวาทพวกเธอว่า คนจะอายุยืนนั้น จะต้องมีคุณสมบัติหรือคุณธรรม ๔ ประการ มิใช่เพียงอายุยืนอย่างเดียว วรรณะ (ผิวพรรณ) ก็ผ่องใส มีความสุข และมีพละกำลังด้วย คุณธรรมที่ว่านี้คือ

๑. ต้องมีปกติกราบไหว้ผู้อื่นเสมอ

๒. ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อผู้เจริญด้วยวัยวุฒิเป็นนิตย์

คุณธรรม ๒ ประการนี้ ความจริงสรุปลงเป็นข้อเดียวได้ คือ ความเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน กราบไหว้ผู้ควรกราบไหว้เป็นนิตย์


พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ คนที่รู้จักสัมมาคารวะ มืออ่อน ไม่ถือเนื้อถือตัว เหตุผลอื่นอาจลึกมากจนผมมองไม่เห็น

แต่ที่เห็นแน่ๆ ก็คือ คนที่รู้จักเคารพนบนอบ เป็นคนน่ารัก ใครๆ เห็นใครๆ ก็เอ็นดู คนเช่นนี้จะหาศัตรูไม่ได้ อันโอกาสคนที่จะเตะต่อยทุบตี หรือถูกมีดจิ้มพุงถูกหามส่งโรงพยาบาล ดังคนยโสโอหังบางคนนั้นไม่มีแน่ คนอย่างนี้ย่อมมีโอกาสแก่ตายครับ ไม่ตายโหง

อายุยืนเพราะเป็นคนนอบน้อม พอมองเห็นเหตุผล แต่คนอ่อนน้อมถ่อมตน มีผิวพรรณสวย มองยาก แต่พอไปอ่านฉบับอื่น ตรงนี้ท่านใช้คำว่า “กิตติ” (ชื่อเสียง) แทนคำว่า “วณฺณ” (ผิวพรรณ) จึงถึงบางอ้อ ว่าคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิตย์คนเขาย่อมยกย่องสรรเสริญ ชื่อเสียงก็ขจรไปไกล

ส่วนความสุขนั้น แน่นอน คนเช่นนี้มีความสุขแน่

และพละ ถ้าไม่คิดถึงแต่เพียงกำลังกาย พลังด้านอื่น เช่น พลังเพื่อนพ้อง ญาติมิตร ผู้ช่วยเหลืออุปถัมภ์ คนที่ชอบอ่อนน้อมถ่อมตน ย่อมมีคนรักใคร่ช่วยเหลือมากมาย มีเหตุผลฟังขึ้นครับ

แต่ที่จะขอฝากให้ช่วยคิดต่อ ก็คือที่ผมได้เกริ่นไว้ตอนต้นนั้น สมัยพุทธกาลไม่มีการสวดพระปริตร และไม่มีการโยงสายสิญจน์ทำพิธีตลอดจนทำน้ำมนต์ ประเพณีอย่างนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นที่ศรีลังกาสมัยหลังแล้วก็แต่งคัมภีร์โยงไปถึงสมัยพุทธกาล ทำนองให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน้น

ขอฝากไว้พิจารณาด้วยครับ


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b45: :b47: :b45:

:b44: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร