วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ส.ค. 2019, 14:13 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิสาขะ อุบาสกผู้แตกฉานในธรรม
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
=========================

นอกจากอุบาสกผู้แตกฉานในธรรม ได้รับยกย่องใน ‘เอตทัคคะ’ (ความเป็นผู้เลิศกว่าคนอื่น) ในทางแสดงธรรม คือ จิตตคหบดี วิสาขะ ก็มีความแตกฉานในธรรมไม่แพ้กัน ภูมิธรรมก็เป็นอนาคามีเช่นเดียวกับจิตตคหบดี เพียงแต่ไม่ได้รับแต่งตั้งในเอตทัคคะเท่านั้น

ประวัติของท่านวิสาขะสับสนนิดหน่อย เพราะชื่อ วิสาขะ มีอีกคนหนึ่ง บังเอิญว่าเป็นบุตรคนร่ำรวยเช่นเดียวกัน เป็นชาวเมืองราชคฤห์เหมือนกัน พระอรรถกถาจารย์ จึงเหมาเอาว่าเป็นคนเดียว ดังเรียกวิสาขะอุบาสกคนนี้ว่า ‘ปัญจาลีพราหมณีบุตร’ (บุตรนางปัญจาลีพราหมณี) วิสาขะ บุตรนางปัญจาลีนั้น ประวัติบอกว่าได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา แต่วิสาขะอุบาสกไม่มีหลักฐานว่าได้ออกบวช จึงน่าจะเป็นคนละคน

วิสาขะอุบาสกแต่งงานกับนางธรรมทินนา ท่านเป็นเศรษฐีที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งมคธรัฐท่านหนึ่ง ดังปรากฏว่าได้เสด็จในงานต่างๆ เสมอ

ครั้งหนึ่งตามเสด็จพระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนา ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ต่อมาเมื่อได้รับฟังพระโอวาทจากพระพุทธองค์บ่อยๆ ก็ได้บรรลุสกทาคามิผล และอนาคามิผล โดยลำดับ


พอเป็นพระอริยบุคคลระดับอนาคามีแล้ว ก็มีความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในชีวิตครอบครัว เนื่องจากพระอนาคามีละความต้องการทางเพศได้แล้ว จึงมิยุ่งเกี่ยวกับภรรยาฉันสามีภรรยาทั่วไป วิสาขะจึงอธิบายให้ภรรยาสาวฟังถึงสาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้


นางธรรมทินนาจึงบอกสามีว่า ถ้าเช่นนั้นฉันขออนุญาตไปบวชเป็นภิกษุณี (คงคิดว่าการครองเรือนกับผู้ไม่มีความรู้สึกทางเพศ คงเป็นปัญหามาก สู้ตัดใจออกไปบวชเสียให้รู้แล้วรู้รอด) สามีก็อนุญาต และเพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา

วิสาขะอุบาสกจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระเจ้าพิมพิสาร แห่นางรอบเมือง (คงเช่นเดียวกับที่เราแห่นาคในทุกวันนี้กระมัง) อย่างสมเกียรติ

เมื่อนางธรรมทินนาบวชแล้ว ก็ลาอุปัชฌาย์อาจารย์ (อุปัชฌาย์ภิกษุณี เรียกตามศัพท์ว่า ‘ปวัตตินี’) ไปปฏิบัติธรรมในป่าซึ่งอยู่ต่างเมือง ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ คือ

แตกฉานในอรรถ (เนื้อความรายละเอียด)

แตกฉานในธรรม (หลักการใหญ่ ประเด็นหลัก)

แตกฉานในนิรุกติ (ภาที่นำเสนอหรือสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ) และ

แตกฉานในปฏิภาณ (ปรับประยุกต์ให้เกิดความแจ่มแจ้ง จนสามารถสร้างแนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ๆ ได้)


วันดีคืนดี พระธรรมทินนาเถรี ก็กลับมายังมาตุภูมิ ตั้งใจที่จะอนุเคราะห์อดีตสามีและญาติมิตร จึงไปบิณฑบาตทางบ้านเดิมของตน วิสาขะอดีตสามีและญาติมิตร จึงไปบิณฑบาตทางบ้านเดิมของตน วิสาขะอดีตสามีพบท่านเข้าจึงได้นิมนต์ไปฉันภัตตาหาร ในใจก็คิดว่า ธรรมทินนาอดีตภรรยาของตนคง ‘กระสัน’ (ภาษาพระแปลว่า อยากสึก) กระมัง จึงกลับมาเยี่ยม ถ้าอยากสึกก็ตามใจเธอ วิสาขะคิด

วิสาขะจึงลองถามปัญหาธรรมกับพระเถรี ถามเรื่อยไปตั้งแต่ภูมิชั้นต้นๆ จนถึงภูมิธรรมระดับอนาคามีที่ตนได้บรรลุ พระเถรีก็วิสัชนาได้อย่างถูกต้องและแจ่มแจ้งจนวิสาขะจนปัญญาจะถามต่อ จึงรู้แน่ว่าที่แท้พระเถรีนั้นได้บรรลุคุณวิเศษเหนือตน แต่จะเป็นชั้นใด เกินวิสัยที่ภูมิอนาคามีอย่างตนจะหยั่งรู้ได้ จึงมีความยินดียิ่งนักและกล่าวอนุโมทนาในความก้าวหน้าในธรรมของพระเถรี

ส่งภิกษุณีกลับสำนักแล้ว วิสาขะอุบาสกก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบถึงการปุจวิสัชนาปัญหาธรรมกับพระธรรมทินนาเถรี

ความจริงรายละเอียดของการสนทนากัน มีปรากฏในจูฬเวทัลลสูตรครับ เป็นธรรมสากัจฉาที่ลึกซึ้งมาก อยากจะนำมาเล่าไว้ในที่นี้ ก็กลัวจะเป็น ‘ยานอนหลับ’ ขนานเอก ครั้นจะแปลเป็นภาษาง่ายๆ ก็ไม่แน่ใจตนเองว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ กลัวว่ายิ่งแปลให้ง่ายก็ยิ่งจะยากขึ้นกว่าเดิมอีก เอาไว้คราวหน้าค่อยทำก็แล้วกัน

คราวนี้เอาเพียงพอให้เห็นภาพว่า ท่านทั้งสองสนทนาว่าด้วยเรื่องอะไร ท่านตอบกันเกี่ยวกับสักกายะ (กายของตน) ว่าคืออะไร เกิดมาจากสาเหตุอะไร จะดับมันได้โดยวิธีไหน สักกายทิฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตน ความยึดมั่นในตัวตน) คืออะไร จะดับได้โดยวิธีไหน ขันธ์ห้ากับอุปาทานขันธ์ห้า เป็นอันเดียวกันหรือคนละอย่างกัน ถามตอบสูงๆ ขึ้น จึงถึงการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (การดับสัญญาความจำ และดับเวทนาความรู้สึก) ว่าเป็นอย่างไร โอ๊ย ลึกมาก จนหยั่งไม่ถึง อย่าหยั่งดีว่า ถอยมาตั้งหลักบนตลิ่งก็แล้วกัน

เป็นอันว่า วิสาขะอุบาสกได้ฟังพระเถรีวิสัชนาอย่างแจ่มแจ้งพิสดาร

จึงนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น พระพุทธองค์ตรัสว่า “ที่ธรรมทินนาบุตรสาวเราวิสัชนานั้นถูกต้องแล้ว ถ้าเราตถาคตอธิบายก็จะอธิบายเช่นเดียวกับธรรมทินนาอธิบายนั้นแล”

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ตรัสพระคาถา (โศลกธรรม) ความว่า ผู้ใดไม่มีความกังวลในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เราเรียกผู้นั้นว่าคนไม่มีอะไรแล เรียกว่า ‘พราหมณ์’

ความหมายของพระองค์ ก็คือผู้ที่ไม่ยึดมั่นด้วยอำนาจ ความอยากในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ผู้นั้นก็เรียกว่าคนไม่มีอะไร คือคนไม่มีความยึดมั่นในสิ่งใดๆ คนเช่นนี้เรียกว่า ‘พราหมณ์’ ในความหมายว่าละบาปได้หมดแล้ว

พูดสั้นๆ ก็คือ คนที่มีลักษณะดังว่ามีนี้คือพระอรหันต์ว่าอย่างนั้นเถอะ เท่ากับบอกวิสาขะอุบาสกว่า ธรรมทินนาบุตรสาวของพระพุทธองค์เป็นพระอรหันต์แล้ว ธรรมะที่พระอรหันต์แสดงนั้นถูกต้องแล้ว

ไม่ปรากฏว่าวิสาขะอุบาสกออกบวช แต่เพราะความที่ท่านเป็นพระอนาคามีถึงไม่บวชก็เหมือนบวชนั้นแล ท่านได้ใช้ภูมิธรรมที่ท่านมี ช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเต็มความสามารถ ตราบจนอายุขัย

ครับ ผู้ครองเรือนก็มีส่วนสำคัญในการธำรงพระพุทธศาสนาไม่แพ้ภิกษุ ภิกษุณี ข้อสำคัญ ใครอยู่ในสถานะไหน ก็ให้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ เป็นใช้ได้



:b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร