วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 23:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2015, 16:54 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อุบาลีคหบดี อดีตมือขวาของพระมหาวีระ
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
===================

ขอนำอดีตเดียรถีย์อีกท่านหนึ่ง ที่หันมาเป็นสาวกของพระพุทธองค์ เป็นสาวกหนึ่งในจำนวน ๕ ท่านที่ “แตกฉานในปฏิสัมภิทา” ทั้งๆ ที่ยังเป็นเสขะ (ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์) อีกท่านที่เหลือคือ พระอานนท์ จิตตคหบดี ธมมิกอุบาสก นางขุชชุตตรา และอุบาลีคหบดี เท่านั้น

ตามประวัติ อุบาลี เป็นคนมั่งคั่ง เกิดที่นาลันทา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ นับถือพวกนิครนถ์ อันมีพระมหาวีระ (หรือนิครนถ์นาฏบุตร) เป็นศาสดา

ในพระศาสดานี้เดิมไม่นุ่งห่มผ้า เรียกว่า “ทิคัมพร” (แปลตามตัวว่านุ่งทิศห่มทิศ หมายถึงนุ่งลมห่มฟ้า หรือชีเปลือยนั้นเอง) ต่อมาได้อนุโลมให้นุ่งขาวห่มขาวได้ จึงแบ่งเป็นสองนิกาย คือ นิกายทิคัมพร (นุ่งลมห่มฟ้า) กับ นิกายเสตัมพร คือ เศวตามพร (นุ่งขาวห่มขาว)

ศาสดามหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตร เน้นในความเคร่งครัด เคร่งจนเกินพอดี อันเข้าข่าย “อัตตกิลมถานุโยค” (ทรมานตนเอง)


เขาเชื่อว่า ถ้าทรมานร่างกายให้ได้รับความลำบากแล้ว กิเลสก็จะเหือดแห้ง แต่พระพุทธองค์ตรัสตำหนิว่าเป็น “ทางสุดโต่ง” (extreme) อย่างหนึ่งในสองทางที่ไม่นำไปสู่การพ้นทุกข์ ดังที่ได้ตรัสสอนปัญจวัคคีย์ ณ วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันคือสารนาถ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)

อุบาลีเป็นสาวกระดับนำของนิครนถ์ เป็นผู้แตกฉานในคำสอนของนิครนถ์ เป็นประดุจมือขวาของพระศาสดามหาวีระทีเดียว (ไม่ขวาก็ซ้ายละครับ) เพราะในช่วงนั้นมีคนดังอยู่สองคน คือ สัจจกะนิครนถ์ กับอุบาลีคนนี้แหละ แต่ทั้งสองคนก็กลายมาเป็นพุทธมามะหมด)

อุบาลีถูกส่งตัวมาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า เขามีปฏิภาณยอดเยี่ยม มีวาทะแหลมคม สามารถต้อนคู่ต่อสู้จนมุมมามากต่อมาก คราวนี้เขาก็หยิ่งผยองว่าเขาจะสามารถเอาชนะพระพุทธเจ้าของชาวพุทธได้อย่างไม่ยากเย็น

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย นิครนถ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนาม ทีฆตปัสสี (แปลว่า โย่ง ผู้เคร่งตบะ) เตือนอุบาลีว่า อย่าได้ประมาทพระสมณโคดมเป็นอันขาด ท่านผู้นี้มีมนตร์ “อาวัฏนีมายา” คือ มนต์กลับใจคน ใครเข้าใกล้เป็นต้องถูกครอบงำหมด ระวังตัวให้ดี


แต่อุบาลีว่าไม่ต้องกลัว เพราะฝึกซ้อมมาดี เขาเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ที่ปาวาริกอัมพวัน พร้อมพวกพ้องบริวารกลุ่มใหญ่ การโต้วาทะกันก็เกิดขึ้นท่ามกลางมหาสันนิบาต อันมีประชาชนจำนวนมาก

ทั้งสองท่านเถียงเรื่องอะไรกัน บางท่านอาจสงสัยอย่างนี้ แน่นอนครับ เรื่องที่เถียงกันนั้นเป็นวิชาการชั้นสูงที่มีประโยชน์แก่การปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น มิใช่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง

เรื่องที่เถียงกันคือเรื่องกรรมครับ

นิครนถ์ใช้ศัพท์เทคนิคว่า “ทัณฑ์” มี ๓ นิกาย คือ กายทัณฑ์ (ทัณฑ์ หรือการกระทำทางกาย) วจีทัณฑ์ (ทัณฑ์ทางวาจา) มโนทัณฑ์ (ทัณฑ์ทางใจ) พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “กรรม” มี ๓ คือ กายกรรม (การกระทำทางกาย) วจีกรรม (การกระทำทางวาจา) มโนกรรม (การกระทำทางใจ)


อุบาลีกล่าวว่า บรรดาทัณฑ์ทั้ง ๓ นั้น ทัณฑ์ทางกายสำคัญที่สุด ขณะที่พระพุทธองค์ตรัสว่า การกระทำทางใจคือความคิดสำคัญที่สุด หลังจากอภิปรายซักค้านกันพักใหญ่ อุบาลีก็ถูกพระพุทธองค์ค่อยๆ ต้อนเข้ามุมจนอับจนปัญญาจะโต้ตอบ ได้แต่นั่งก้มหน้านิ่ง เสียงกองเชียร์ก็เงียบกริบ

ปัญญาชนอย่างเขามิใช่คนดื้อดึง เมื่อรู้ตัวว่าสติปัญญาสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็ยอมรับ จึงก้มกราบพระพุทธองค์ เปล่งวาจาขอถวายตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ยกพระหัตถ์ขึ้นปรามว่า

“อุบาลี คนมีชื่อเสียงเช่นท่าน จะตัดสินอะไรลงไป ขอให้ใคร่ครวญก่อนนั้นจะเป็นการดี” พูดง่ายๆ ว่าอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ เพราะคนดังคนเด่นเช่นอุบาลี เป็นถึงสาวกมือขวาของศาสดามหาวีระ ทำอะไรลงไปแล้วย่อมเกิดความกระทบกระเทือนต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาเชนจะกระเทือนหนักที่สาวกคนสำคัญละทิ้งศาสนาดั้งเดิม

และที่สำคัญก็คือ พระพุทธเจ้าจะถูกกล่าวหาว่า “แย่ง” สาวกของพวกเขาไปด้วย

แต่อุบาลีก็ยืนยันเจตนารมณ์เดิม แม้พระพุทธองค์จะเตือนถึงสามครั้งก็ตาม เมื่อทรงเห็นว่าเขาไม่เปลี่ยนใจแน่แล้ว จึงตรัสว่า “อุบาลี” ท่านเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์มาช้านาน ถึงจะมาเป็นสาวกของเราตถาคตแล้ว ก็ควรถวายทานแก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิม ทรงแสดงธรรมให้เขาฟัง ที่สุดพระธรรมเทศนาเขาได้บรรลุโสดาปัตติผล

จากเรื่องนี้จะเห็นถึงความเป็น “ผู้ใจกว้าง” ของพระพุทธองค์ เห็นได้ชัดว่าพระพุทธองค์มิใช่ศาสดาประเภท “กระหายสาวก” ขนาดคนสำคัญอย่างอุบาลีขอเป็นสาวก พระองค์ยังไม่รีบรับ กลับตรัสให้เขาคิดทบทวนให้ดีก่อน

แม้เขาเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์ พระองค์ก็ยังทรงห่วงใยพวกเดียรถีย์กลัวว่าจะขาดผู้อุปถัมภ์ พระองค์ทรงมีพระเมตตาตรัสให้อุบาลีถวายอาหารบิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ ซึ่งเคยเป็น “พระ” ของเขา เหมือนที่เคยปฏิบัติ

นับเป็นพระมหากรุณาอันใหญ่หลวง


ทีฆตปัสสี ผู้เคยเตือนอุบาลี ทราบว่าอุบาลีทิ้งศาสนาเชนไปเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงรีบแจ้งแก่มหาวีระศาสดาของตน มหาวีระก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง แม้ทีฆตปัสสีจะยืนยันว่าเป็นจริง เพราะได้ไปเห็นมากับตา มหาวีระจึงไปยังคฤหาสน์ของอุบาลีเพื่อพิสูจน์ความจริง

เมื่อไปถึง รปภ. เฝ้าคฤหาสน์ไม่ยอมให้ท่านเข้า แม้ท่านจะบอกว่า ไปบอกอุบาลี ศาสดาของเขามาหา ให้ออกมาต้อนรับ เขาสั่งคนของตนให้ไปปูอาสนะไว้ที่ศาลาบริเวณบ้านใกล้ซุ้มประตู แล้วให้ไปเชิญนิครนถ์นาฏบุตรเข้าไป


เมื่อศาสดามหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตรเข้าไป เห็นคนที่เคยเป็นสาวกของตนนั่งอยู่บนอาสนะแรกที่สูงกว่าอาสนะอื่นๆ พร้อมผายมือเชิญให้ท่านหาอาสนะนั่งเอาเองตามใจชอบ ใครมันจะไม่สะอึกเล่าครับ เมื่อวันก่อนยังกราบอาจารย์ก้นโด่งอยู่เลย วันนี้ทำท่าเหมือนเป็นบรมครู ไม่สนใจ ไม่ให้เกียรติศาสดาของตน

มหาวีระจึงพูดทั้งน้ำตาว่า ชาวเมืองราชคฤห์นับตั้งแต่พระราชาลงมา ต่างก็รู้ว่าอุบาลีเป็นสาวกของนิครนถ์ บัดนี้เราอยากรู้ว่าท่านเป็นสาวกของใครกันแน่ เราหรือสมณโคดม

อุบาลี จึงห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทิศทางที่พระพุทธเจ้าประทับ กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าด้วยพระคุณ ๑๐๐ บท ให้มหาวีระฟัง ยังมิทันจะครบ ๑๐๐ บทเลย มหาวีระทนฟังต่อไปไม่ไหว กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกมา ลูกน้องต้องเอาเปลหามออกจากคฤหาสน์ทันใด

ว่ากันว่า หลังจากนั้นมามหาวีระก็ป่วยกระเสาะกระแสะ แล้วก็สิ้นชีวิตในที่สุด


พุทธคุณ ๑๐๐ บทมีอะไรบ้าง เคยเขียนถึงแล้ว แต่เมื่อให้เรื่องมัน “เข้าชุดกัน” ขอนำมาเล่าสู่กันฟังคราวหน้าขอรับ

ที่พูดค้างไว้เกี่ยวกับพุทธคุณ ๑๐๐ บท ที่อุบาลีคหบดีสวดคำบรรยายให้กับศาสดามหาวีระหรือนิครนถ์นาฏบุตรยังไม่ทันจบ ก็ร้องว่าพอๆ ไม่อยากฟังแล้ว แล้วก็กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกมา ลูกน้องก็ต้องหามออกไปจากบ้าน อุบาลีคหบดี อดีตมือขวาก็กลายเป็นชาวพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ทำให้มหาวีระชีช้ำกะหล่ำปลี

พุทธคุณ ๑๐๐ บทนั้น ชาวพุทธไทยไม่ค่อยคุ้น ผมเขียนมาครั้งหนึ่งแล้ว (คอลัมน์จำไม่ได้ เขียนมากด้วยกัน) ขอนำมารวมไว้ในที่นี้ เพราะเป็นพระพุทธคุณที่กล่าวสรรเสริญโดยอุบาลีคหบดี ท่านพุทธทาสได้แปลไว้ในพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ผมจึงขออนุญาตคัดลอกออกมา (เปลี่ยนแปลงบ้างบางคำ) ดังนี้ครับ

ดูก่อนท่านผู้เจริญ ขอท่านจงฟังซึ่งคำของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้านั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

(๑) เป็นนักปราชญ์ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญา (๒) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากโมหะ (๓) เป็นผู้มีเสาเขื่อนเครื่องตรึงจิตอันหักแล้ว (๔) เป็นผู้มีชัยชนะอันวิชิตแล้ว (ชนะเด็ดขาด) (๕) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากสิ่งคับแค้นสะเทือนใจ (๖) เป็นผู้มีจิตสม่ำเสมอด้วยดี (๗) เป็นผู้มีปกติภาวะแห่งบุคคลผู้เป็นพุทธะ (๘) เป็นผู้มีปัญญาเครื่องยังประโยชน์ให้สำเร็จ (๙) เป็นผู้ข้ามไปได้แล้วซึ่งวัฏสงสารอันขรุขระ (๑๐) เป็นผู้ปราศจากแล้วมลทินทั้งปวง

(๑๑) เป็นผู้ไม่มีการถามใครว่าอะไรเป็นอะไร (๑๒) เป็นผู้อิ่มแล้วด้วยความอิ่มในธรรมอยู่เสมอ (๑๓) เป็นผู้มีเหยื่อในโลกอันทรงคายทิ้งแล้ว (๑๔) เป็นผู้มีมุทิตาจิตในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง (๑๕) เป็นผู้มีสมณภาวะอันทรงกระทำสำเร็จแล้ว (๑๖) เป็นผู้ถือกำเนิดแล้วแต่กำเนิดแห่งมนุษย์โดยแท้ (๑๗) เป็นผู้มีสรีระอันมีในครั้งสุดท้าย (๑๘) เป็นผู้เป็นนรชน คือเป็นคนแท้ (๑๙) เป็นผู้อันใครๆ กระทำอุปมามิได้ (๒๐) เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันพึงเปรียบได้ด้วยธุลี

(๒๑) เป็นผู้หมดสิ้นแล้วจากความสงสัยทั้งปวง (๒๒) เป็นผู้นำสัตว์สู่สภาพเดิม (๒๓) เป็นผู้มีปัญญาเครื่องตัดกิเลสดุจหญ้าคาเสียได้ (๒๔) เป็นสารถีอันประเสริฐกว่าสารถีทั้งหลาย (๒๕) เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่าโดยคุณธรรมทั้งปวง (๒๖) เป็นผู้มีธรรมเป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งปวง (๒๗) เป็นผู้ขจัดความสงสัยของสัตว์ทั้งปวง (๒๘) เป็นผู้กระทำซึ่งความสว่างแก่ปวงสัตว์ (๒๙) เป็นผู้ตัดซึ่งมานะเครื่องทำความสำคัญมั่นหมาย (๓๐) เป็นผู้มีวีรธรรมเครื่องกระทำความแกล้วกล้า

(๓๑) เป็นผู้เป็นยอดมนุษย์แห่งมนุษย์ทั้งหลาย (๓๒) เป็นผู้มีคุณอันใครๆ กำหนดประมาณมิได้ (๓๓) เป็นผู้มีธรรมสภาวะอันลึกซึ้ง ไม่มีใครหยั่งได้ (๓๔) เป็นผู้ถึงซึ่งปัญญาเครื่องทำความเป็นแห่งมุนี (๓๕) เป็นผู้กระทำความเกษมแก่สรรพสัตว์ (๓๖) เป็นผู้มีเวทคือญาณ เครื่องเจาะแทงซึ่งโมหะ (๓๗) เป็นผู้ประดิษฐานอยู่ในธรรม (๓๘) เป็นผู้มีพระองค์อันทรงจัดสรรดีแล้ว (๓๙) เป็นผู้ล่วงกิเลสอันเป็นเครื่องข้องเสียได้ (๔๐) เป็นผู้หลุดรอดแล้วจากบ่วงทั้งปวง

(๔๑) เป็นผู้เป็นดังพระยาช้างตัวประเสริฐ (๔๒) เป็นนอนสงบสงัดจากการรบกวนแห่งกิเลส (๔๓) เป็นผู้มีกิเลสเครื่องประกอบไว้ในภพสิ้นสุดแล้ว (๔๔) เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากทุกข์ทั้งปวง (๔๕) เป็นผู้มีความคิดเหมาะเจาะเฉพาะเรื่อง (๔๖) เป็นผู้มีปัญญาเครื่องทำความเป็นแห่งมุนี (๔๗) เป็นผู้มีมานะเป็นดุจธงอันทรงลดลงได้แล้ว (๔๘) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากราคะ (๔๙) เป็นผู้มีการฝึกตนอันฝึกแล้ว (๕๐) เป็นผู้หมดกิเลสเครื่องเหนี่ยวหน่วงให้เนิ่นช้า

(๕๑) เป็นผู้แสวงหาพบคุณอันใหญ่หลวง (๕๒) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากความคดโกง (๕๓) เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวิชชาทั้งสาม (๕๔) เป็นผู้เป็นพรหมแห่งปวงสัตว์ (๕๕) เป็นผู้เสร็จจากการอ่านการล้างแล้ว (๕๖)เป็นผู้มีหลักมีเกณฑ์ในการกระทำทั้งปวง (๕๗) เป็นผู้มีกมลสันดานอันระงับแล้ว (๕๙) เป็นผู้ทำลายซึ่งธานีนครแห่งกิเลสทั้งห้า (๖๐) เป็นผู้เป็นจอมแห่งสัตว์ทั้งปวง

(๖๑) เป็นผู้ไปพ้นแล้วจากข้าศึก คือ กิเลส (๖๒) เป็นผู้มีตนอันอบรมถึงที่สุดแล้ว (๖๓) เป็นผู้มีธรรมที่ควรบรรลุอันบรรลุแล้ว (๖๔) เป็นผู้กระทำซึ่งอรรถะทั้งหลายให้แจ่มแจ้ง (๖๕) เป็นผู้มีสติสมบูรณ์อยู่เองในทุกกรณี (๖๖) เป็นผู้มีความรู้แจ้งเห็นแจ้งเป็นปกติ (๖๗) เป็นผู้มีจิตใจไม่แฟบลงด้วยอำนาจแห่งกิเลส (๖๘) เป็นผู้มีจิตไม่ฟูขึ้นด้วยอำนาจแห่งกิเลส (๖๙) เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจแห่งกิเลส (๗๐) เป็นผู้บรรลุถึงซึ่งความมีอำนาจเหนือกิเลส

(๗๑) เป็นผู้ไปแล้วโดยชอบ (๗๒) เป็นผู้มีการเพ่งพินิจทั้งในสมาธิและปัญญา (๗๓) เป็นผู้มีสันดานอันกิเลสตามถึงไม่ได้แล้ว (๗๔) เป็นผู้หมดจดแล้วจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง (๗๕) เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัยไม่ได้แล้ว (๗๖) เป็นผู้ไม่มีความหวาดกลัวในสิ่งที่น่าหวาดกลัว (๗๗) เป็นผู้สงัดแล้วจากการรบกวนแห่งกิเลสทั้งปวง (๗๘) เป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งธรรมอันเลิศ (๗๙) เป็นผู้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะกันดาร (๘๐) เป็นผู้ยังบุคคลอื่นให้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะนั้น

(๘๑) เป็นผู้มีสันดานสงบรำงับแล้ว (๘๒) เป็นผู้มีปัญญาอันหนาแน่น (๘๓) เป็นผู้มีปัญญาอันใหญ่หลวง (๘๔) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากโลภะ (๘๕) เป็นผู้มีการไปการมาอย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลาย (๘๖) เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี (๘๗) เป็นบุคคลผู้ไม่มีบุคคลใดเปรียบ (๘๘) เป็นบุคคลผู้ไม่มีบุคคลใดเสมอ (๘๙) เป็นบุคคลผู้มีญาณอันแกล้วกล้า (๙๐) เป็นผู้มีปัญญาละเอียดอ่อน

(๙๑) เป็นผู้เจาะทะลุข่ายคือตัณหา เครื่องดักสัตว์ (๙๒) เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นปรกติ (๙๓) เป็นผู้มีกิเลสดุจควันไฟไปปราศแล้ว (๙๔) เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่ฉาบทาได้อีกต่อไป (๙๕) เป็นผู้เป็นอาหุไนยบุคคล ควรแก่ของบูชา (๙๖) เป็นผู้ที่โลกทั้งปวงต้องบูชา (๙๗) เป็นบุคคลผู้สูงสุดแห่งบุคคลทั้งหลาย (๙๘) เป็นผู้มีคุณอันไม่มีใครวัดได้ (๙๙) เป็นผู้เป็นมหาบุรุษ (๑๐๐) เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเลิศด้วยเกียรติคุณ

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดังนี้แล

ขอความสุข สมหวัง ความเจริญงอกงามในธรรม จงมีแด่สาธุชนทุกท่านตลอดปีและตลอดไป



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


===================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2019, 19:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อุบาลีคหบดี
ผู้กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บทคนแรก
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

:b47: :b44: :b47:

เราเคยได้ยินพระพุทธคุณ ๙ บท หรือ นวารหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ดังที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน หรือสรุปลงในพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แต่น้อยคนจะได้ยินพระพุทธคุณ ๑๐๐ บท

ผู้กล่าวพระคุณ ๑๐๐ บทคือ อุบาลีคหบดี อดีตสาวกของนิครนถ์นาถบุตร หรือศาสดามหาวีระแห่งศาสนาเชน เมื่อแรกท่านผู้นี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาโต้วาทะแข่งกับพระพุทธเจ้า อาจารย์ของตนคือมหาวีระก็อนุญาต แต่ศิษย์รุ่นพี่คนหนึ่งชื่อทีฆปัสสีไม่เห็นด้วย

แกห้ามอุบาลีว่า อย่าเลย สมณโคดม เขามี “มนต์กลับใจ” ใครได้พูดกับเขา มักจะถูกเขาใช้มนต์กลับใจหันไปเลื่อมใสแทบทุกคน ทางที่ดีอย่าไปสู้กับเขาดีกว่า

อุบาลีถือว่าตนเป็นพหูสูต ไม่มีทางที่จะยอมง่ายๆ จึงไม่ยอมเลิกรา วันเวลาแห่งการโต้วาทะก็ใกล้เข้ามา

ผู้คนต่างก็รอเวลาเพื่อจะดูว่าใครเก่งกว่าใคร ตามประสาแขกมุง (ซึ่งคงไม่ต่างกับไทยมุงสักเท่าไหร่)

วันนั้นอุบาลีหมายมั่นปั้นมือว่าตนเองชนะแน่นอน เรื่องที่นำมาโตแย้งคือเรื่องกรรมซึ่งทางฝ่ายนิครนถ์เรียกตามศัพท์ของเขาว่า “ทัณฑ์” โดยเขาเห็นว่า กายกรรม (กายทัณฑ์) นั้นมีโทษมากกว่าวจีกรรม และมโนกรรม พระพุทธองค์ทรงโต้ว่า มโนกรรมนั้นสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมแพ้ด้วยเหตุผล จึงประกาศยอมแพ้ และยอมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต


พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามปรามตั้งสามครั้งว่า “อุบาลี คนมีชื่อเสียงอย่างท่านจะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน”

อุบาลี ก็ยืนยันว่า คิดดีแล้ว ขอยืนยันนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มิไยพระพุทธองค์จะทรงห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง

เมื่อเห็นว่าเขาไม่ฟัง พระพุทธองค์ก็ตรัสกับเขาว่า ตัวท่านเป็นอู่ข้าวอู้น้ำของพวกนิครนถ์มาก่อน เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ย่อมกระทบกระเทือนต่อพวกนิครนถ์มาก

ในระยะเริ่มต้นนี้ขอให้สำคัญข้าวและน้ำที่เคยให้แก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด

น่าสังเกตนะครับ พระองค์แทนที่จะเป็น “ศาสดากระหายสาวก” คือรีบๆ รับ แต่พระองค์กลับทรงแผ่พระมหากรุณาแก่พวกเขาเสียอีก น้ำใจอย่างนี้ยากจะหาได้ และดูเหมือนมันจะเด่นมากในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เมื่ออุบาลีประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ทีฆปัสสีทราบข่าว ก็ไปต่อว่าศาสดามหาวีระ เห็นหรือยัง ข้าอุตส่าห์ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้เป็นยังไง อุบาลีคนเก่งของพวกเราถูกพระสมณโคดม “ดูด” ไปเสียแล้ว

มหาวีระไม่เชื่อว่าเป็นจริง จึงเดินทางไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านลูกศิษย์ ไปถึงเขาไม่ยอมให้เข้าบ้าน จนต้องขอร้องอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร เข้าไปแล้วเขาก็เชิญให้ไปนั่งที่ศาลาหน้าบ้านรออยู่พักใหญ่


อุบาลีออกมาก็นั่งอาสนะสูงกว่า ถูกอดีตศาสดาต่อว่าต่อขานว่า อุบาลีเจ้าจะบ้าไปแล้วหรือ นี่ศาสดาของเจ้านะ

อุบาลียืนยันว่า ข้าพเจ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นศาสดา หามีใครอื่นใดไม่

มหาวีระกล่าวว่า อุบาลี พระสมณโคดมมีดีอะไรนักหนา เจ้าจึงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา

อุบาลีกล่าวว่า ถ้าท่านอยากฟังนะ ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระพุทธคุณของพระองค์ให้ท่านฟัง

ว่าแล้วก็กล่าวพระพุทธคุณทั้ง ๑๐๐ บทไปตามลำดับ นัยว่าอุบาลีกล่าวได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งมหาวีระทนฟังไม่ไหว ยกไม้ยกมือร้องห้ามว่า พอแล้วๆ แล้วเลือดอุ่นๆ ก็พุ่งออกจากปาก

พวกลูกศิษย์ทั้งหลายต้องหามแกออกจากคฤหาสน์อุบาลี อดีตสาวกของแก ก่อนหน้านี้ก็สัจจกนิครนถ์ทีหนึ่งแล้ว มาคราวนี้ก็อุบาลีอีก ทั้งสองคนเป็นคนดังของพวกนิครนถ์


โดยเฉพาะคนหลังนี้ มิเพียงเป็นพหูสูตเท่านั้น ฐานะความเป็นอยู่ในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง นับเป็นเรี่ยวเป็นแรงของพวกนิครนถ์เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อเขาหันไปนับถือศาสนาอื่นเสียแล้ว ย่อมกระทบกระเทือนไม่น้อย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เขาถวายความอุปถัมภ์แก่ลัทธิดั้งเดิมของตนไปสักระยะหนึ่งก่อน

แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครเชื่อดอก เมื่อออกมาแล้วย่อมจะพยายามหนีไปให้ไกลที่สุดเป็นธรรมชาติ บางคนนับถือพุทธอยู่ดีๆ แสนจะขี้เกียจ พอเข้ารีตนับถือศาสนาอื่นกลับขยันขันแข็ง อ้างว่าเพราะเขานับถือศาสนาอื่น จึงทำให้ชีวิตดีขึ้น อย่างนี้ก็มี

มหาวีระตั้งแต่ออกจากบ้านอุบาลีวันนั้น ป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ ไม่ช้าไม่นานก็นิพพาน เข้าใจว่าคงเสียใจมาก แบบจิวยี่ในเรื่องสามก๊กก็ไม่ปาน

อุบาลีนับเป็นคนแรกที่กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บท มีบันทึกไว้ในอุปาลิวาทสูตร มัชฌิมนิกาย ด้วยประการนี้


:b8: :b8: :b8: ที่มา >>> หนังสือ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
(ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=20382

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2022, 10:56 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2024, 13:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร