วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2019, 19:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


สามเณรติสสะ
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


:b50: :b47: :b50:

ชักจะหาสามเณรมาเล่ายากทุกทีแล้ว น่าแปลกมากครับในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีพูดถึงสามเณรน้อยมาก แสดงถึงการไม่เห็นความสำคัญของเหล่ากอสมณะมาตั้งแต่ต้น

วันนี้ขอนำเอาประวัติ สามเณรติสสะ มาเล่าให้ฟัง

สามเณรน้อยรูปนี้ตอนเป็นสามเณรไม่โด่งดังเท่าไหร่ พอบวชเป็นพระแล้วก็มาดังเอาตอนแก่ เพราะมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา

ประวัติความเป็นมาของท่านติสสะคล้ายกับประวัติของ พระนาคเสน และพระพุทธโฆสาจารย์ คือท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ และถูกพระเถระรูปหนึ่งชักจูงให้มาบวช และพระเถระรูปที่ว่านี้ก็รับคำสั่งจากคณะสงฆ์ที่ลง “ทัณฑกรรม” ท่าน (พูดง่ายๆ ว่าลงโทษ) ฐานไม่ไปประชุมปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระศาสนา

ท่านจึงต้องพยายามชักจูงเด็กน้อยให้มาบวชให้ได้ เพื่อจะได้พ้นจากทัณฑกรรม

หรือพูดให้ถูก ประวัติพระนาคเสนและพระพุทธโฆสาจารย์ คล้ายกับประวัติสามเณรติสสะ เพราะติสสะท่านเกิดก่อนสองรูปนั้น

เรื่องมีอยู่ว่า หลังเสร็จสังคายนาครั้งที่สอง (พ.ศ.๑๐๐) แล้ว พระเถระทั้งหลายก็ปรึกษากันว่า อีกประมาณร้อยปีข้างหน้า พระศาสนาจักเกิดความมัวหมองเพราะน้ำมืออลัชชี จะมีใครสามารถทำหน้าที่ชำระสะสางพระศาสนาให้บริสุทธิ์ได้บ้าง

พระเถระผู้ทรงอภิญญาก็หยั่งเห็นด้วยทิพยจักษุว่า ติสสมหาพรหม จักมาเกิดเป็นมนุษย์และถ้านำเธอออกบวชให้การศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างดีแล้ว ก็จักเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา แต่เมื่อพิจารณาแล้วแต่ละท่านก็ชราภาพแล้ว คงอยู่ไม่ถึงวันนั้น

บังเอิญว่ามีพระหนุ่มสองรูปไม่ได้มาประชุมปรึกษาหารือด้วย คือ พระสิคควะ กับ พระจัณฑวัชชี

พระเถระทั้งหลายจึงลง “ทัณฑกรรม” ภิกษุหนุ่มทั้งสองว่า ท่านทั้งสอง รูปหนึ่งจงนำเด็กมาบวชให้ได้

อีกรูปหนึ่งรับภาระให้ศึกษาพระพุทธวจนะ หาไม่แล้วจักไม่พ้นโทษ

ท่านสิคควะรับหน้าที่ชักจูงเด็กน้อยมาบวชก็คอยดูว่าจะมีเด็กน้อยบุตรพราหมณ์คนไหนอยู่ในข่ายบ้าง ก็เล็งเห็นว่า บุตรชายโมคคลีพราหมณ์น่าจะใช่บุคคลที่พระเถระผู้เฒ่าทั้งหลายพูดถึง จึงพยายามไปบิณฑบาตที่บ้านพราหมณ์ทุกวัน

บังเอิญว่าพราหมณ์แกเป็น “มิจฉาทิฐิ” (ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) จึงไม่สนใจไยดีจะใส่บาตร หรือทำบุญทำกุศลแต่อย่างใด เห็นพระเถระมายืนหน้าบ้านก็ตะเพิดด้วยความไม่พอใจ

พระเถระก็ยังไม่ย่อท้อ ยังคงบิณฑบาตที่หน้าบ้านพราหมณ์อย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่าเป็นเวลา ๗ ปีทีเดียว ไม่ได้แม้กระทั่งข้าวทัพพีเดียว

วันหนึ่งพราหมณ์ออกไปธุระนอกบ้าน ขากลับเดินสวนทางกับพระเถระ จึงเอ่ยปากถามว่า สมณะ วันนี้ได้อะไรบ้างไหม ถามไปอย่างนั้นเอง รู้อยู่แล้วว่าคงไม่มีใครในเรือนที่ให้ข้าวแก่สมณะ

แต่ผิดคาด พระเถระกล่าวว่า “วันนี้ อาตมาได้ โยม” ได้ยินดังนั้นแกก็หูร้อนขึ้นมาทันที หน็อยแน่ กูไม่อยู่วันเดียว เมียกูบังอาจให้ข้าวสมณะเชียวเรอะ กลับมาต่อว่าเมีย เมียบอกว่าไม่ได้ให้อะไรแก่สมณะเลย

พราหมณ์เข้าใจว่าสมณะพูดเท็จ ต้องการจะจับเท็จท่าน วันรุ่งขึ้นจึงดักพบท่านแต่เช้า ต่อว่าท่านว่าพูดเท็จ เมื่อวานนี้ไม่มีใครให้อาหารท่านเลย ท่านกลับบอกว่าได้

พระเถระตอบว่า “อาตมามาบิณฑบาตที่บ้านโยมเป็นเวลา ๗ ปีแล้วไม่เคยได้อะไรเลย มาเมื่อวานนี้อาตมาได้คำพูดอันไพเราะว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด อาตมาหมายเอาคำพูดนี้ เมื่อโยมถามว่าได้อะไรไหม อาตมาจึงตอบว่าได้”

ได้ยินดังนั้น พราหมณ์ก็เลื่อมใสขึ้นมาทันที “โอ สมณะศากยบุตรนี้จิตใจละเอียดอ่อนเหลือเกิน เพียงแค่ได้คำพูดไพเราะประโยคเดียวก็ ‘อภิเชต’ (appreciate) จึงนิมนต์ให้ท่านไปฉันบนบ้าน และปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐากตั้งแต่วันนั้น

ฝ่ายบุตรชายนามว่าติสสะ ตอนนี้เป็นหนุ่มน้อยวัย ๑๖ ปีแล้ว เรียนไตรเพทจนแตกฉาน ถือตนเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องคนหนึ่ง เห็นพระผู้เฒ่ามาฉันที่บ้านประจำ แต่ก็ไม่เคยสนใจจะสนทนาปราศรัยด้วย

วันหนึ่งพระเถระเห็นว่า ถึงเวลาอันควรแล้วจึง “หาเหตุ” สนทนากับเด็กหนุ่มจนได้

คือเมื่อท่านเดินขึ้นเรือนมา พราหมณ์หาอาสนะไม่ได้ จึงไปเอาอาสนะของบุตรชายมาปูให้ท่านนั่ง (นัยว่า พระเถระบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้อาสนะอื่นอันตรธาน) เด็กหนุ่มกลับมาเห็นพระเถระนั่งอาสนะของตน ก็ไม่พอใจ จึงพูดเปรยๆ ว่า คนที่สมควรนั่งอาสนะของข้าพเจ้าจะต้องมีความรู้เรื่องไตรเพทเท่านั้น สมณะท่านรู้อะไรไหม

พูดทำนองดูถูกว่า น้ำหน้าอย่างท่านคงไม่มี “กึ๋น” อะไรดอก แล้วยังสะเออะมานั่งอาสนะของปราชญ์ใหญ่เช่นเรา ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระเถระตอบเย็นๆ ว่า ก็พอรู้บ้าง พ่อหนุ่ม ถามสิ บางทีอาตมาอาจจะตอบได้

เด็กหนุ่มก็ถามเรื่องที่ยากๆ ในไตรเพท ที่ตนเรียนมา พระเถระตอบได้หมด สร้างความประหลาดใจแก่เด็กหนุ่มเป็นอย่างมาก

ในที่สุดพระเถระกล่าวว่า เธอถามอาตมามากแล้ว ขออาตมาถามบ้าง

ว่าแล้วท่านก็ถามปัญหาพระอภิธรรม เด็กหนุ่มมืดแปดด้าน จึงเรียนถามท่านว่า อันนี้เรียกว่าอะไร พระเถระตอบว่า นี้เรียกว่าพุทธมนต์

เมื่อเด็กหนุ่มขอเรียนบ้าง พระเถระตอบว่า จะถ่ายทอดให้เฉพาะคนที่ถือเพศเช่นเดียวกับท่านเท่านั้น

ด้วยความอยากเรียนพุทธมนต์ จึงขออนุญาตบิดาบวช เมื่อบวชแล้วพระเถระก็บอกกรรมฐานให้ปฏิบัติ ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระเถระเห็นว่าถ้าให้สามเณรปฏิบัติกรรมฐานต่อไป ก็จะบรรลุพระอรหัต บางทีอาจ “ขวนขวายน้อย” คือไม่ใส่ใจศึกษาพุทธวจนะก็เป็นได้

จึงส่งสามเณรไปเรียนพุทธวจนะจากพระจัณฑวัชชีเถระ

สามเณรไปกราบท่านพระจัณฑวัชชี ตามคำสั่งของพระอุปัชฌาย์ ถามว่า สามเณรมาจากไหน

“พระอุปัชฌาย์ของกระผมส่งกระผมมาขอรับ”

“อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร”

“ชื่อ สิคควะ ขอรับ”

“ฉันชื่ออะไร” ท่านชี้ที่ตัวท่าน

“พระอุปัชฌายะของกระผม รู้จักชื่อใต้เท้าดีขอรับ” สามเณรตอบ (ตอบแบบนี้ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ว่า “ยวน” แต่คิดอีกทีเป็นการสอบปฏิภาณก็ได้นะครับ)

พระจัณฑวัชชีรับสามเณรเป็นศิษย์ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉานในเวลาอันสั้น ต่อมาก็เจริญกรรมฐานต่อ จนได้บรรลุพระอรหัต

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีพวกอัญเดียรถีย์ (คนนอกพุทธศาสนา) ปลอมตัวมาบวชเป็นจำนวนมาก แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย สร้างความปั่นป่วนขึ้นในสังฆมณฑล พระผู้ทรงศีลไม่ลงโบสถ์ร่วมกับพวกอลัชชี พระเจ้าอโศกทรงทราบ ทรงส่งอำมาตย์ไปจัดการให้สงฆ์สามัคคีกัน

อำมาตย์เข้าใจผิดนึกว่าพระราชามอบอำนาจเด็ดขาดให้ตนเอง ได้ตัดคอพระที่ไม่ยอมลงโบสถ์ไปหลายรูป จนกระทั่ง พระติสสะ อนุชาของพระเจ้าอโศกมาขวางไว้ เรื่องทราบถึงพระเจ้าอโศก พระองค์ทรงร้อนพระทัยที่เป็นสาเหตุให้พระถึงแก่มรณภาพไปหลายรูปจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี

มีผู้กราบทูลให้ไปปรึกษากับพระติสสะ (อดีตสามเณรหนุ่ม) พระเจ้าอโศกจึงนิมนต์ท่านเข้ามายังเมืองปาตลีบุตร ถามข้อข้องใจจนสิ้นกังขาทุกกระทงแล้ว ตกลงพระทัยช่วยพระเถระทำสังคายนาชำระสังฆมณฑลเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว นับเป็นการสังคายนาครั้งที่สาม

ว่ากันว่า หลังสังคายนาครั้งนี้เสร็จสิ้น พระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ ถึง ๙ สายด้วยกัน

หนึ่งในเก้าสายนั้น มายังดินแดนอันเรียกขานสมัยนั้นว่า “สุวรรณภูมิ” พระโสณเถระ กับ พระอุตตรเถระ เป็นผู้เดินทางมาเผยแผ่ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในภูมิภาคแถบนี้

สุวรรณภูมิก็คือดินแดน “ลุ่มเจ้าพระยาเห็นสายธาราละล่อง” นี้เอง มีเมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลาง ว่ากันอย่างนั้นนะครับ

อดีตสามเณรหนุ่มนามติสสะ เป็นผู้มีบทบาทในการทำสังคายนาครั้งนี้โดยเป็นประธานและเป็นกรรมการจัดสอบความรู้พระสงฆ์ด้วย พระภิกษุที่สอบไม่ผ่านถูกจับสึกเป็นจำนวนมาก เหลือแต่พระที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง

ท่านได้แต่งหนังสือชื่อ “กถาวัตถุ” แสดงทรรศนะอย่างไรถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ทรรศนะอย่างไรเป็นมิจฉาทิฐิ บิดเบี้ยวไปจากคำสอนของพระพุทธองค์

หนังสือเล่มนี้ ได้ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ในเวลาต่อมา


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ สามเณร เหล่ากอแห่งสมณะ
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b50: :b47: :b50:

:b45: สามเณร ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46459


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร