วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2015, 10:57 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระอัมพปาลีเถรี อดีตนางคณิกา
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
=================

อัมพปาลี นามนี้ชาวพุทธส่วนมากรู้จักดี เพราะเป็นนางคณิกาหรือโสเภณีที่สวยงามในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี แค่นั้นยังน้อยไป ที่สำคัญคือนางได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของนางให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ในปลายพุทธกาล

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระอานนท์ บ่ายพระพักตร์ไปยังเมืองกุสินาราเพื่อดับขันธปรินิพพาน ผ่านมาทางสวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางทราบเข้าจึงไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

ขณะที่นางกำลังเดินทางกลับบ้านนั้น ได้สวนทางกับเจ้าชายลิจฉวีจำนวนหนึ่ง เมื่อเจ้าลิจฉวีทราบว่านางอัมพปาลีได้อาราธนาพระพุทธเจ้าไว้ก่อนแล้ว จึงขอ “ซื้อ” กิจนิมนต์นั้นจากนาง หมายความว่า ขอให้นางสละสิทธิ์การถวายภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นมอบให้พวกเขาเสีย พวกเขาจะตอบแทนให้ด้วยรถม้าสวยงาม ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตา (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงจะเป็นรถเบนซ์ราคาแพง) นางก็ปฏิเสธ

พวกเจ้าลิจฉวี แม้จะเสนอเงินทองให้มากมายเพียงใด นางก็ยังยืนกรานปฏิเสธ นางบอกว่าการได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้านั้นมีค่ามากกว่าสิ่งใด ในที่สุดพวกลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้


อัมพปาลี คนนี้มีประวัติอันพิสดาร อรรถกถากล่าวว่า นางเป็น “โอปปาติกะ” (ผุดเกิดที่โคนต้นมะม่วง) พวกราชกุมารแห่งเมืองไพศาลีมาพบนางเข้า ต่างจะเอาเป็นสมบัติของตน จึงถึงกับวิวาทกันใหญ่โตเมื่อเรื่องเข้าสู่ศาล ศาลให้พิพากษาว่า “ให้นางเป็นสมบัติของทุกคน” จึงได้แต่งตั้งนางให้เป็นนางนครโสเภณี (หญิงงามเมือง)

เข้าใจว่าประวัตินางจะ “เว่อร์” ไปหน่อย คงเพราะนางงดงามมาก จึงแต่งประวัติให้เป็นนางไม้ เป็นโอปปาติกะ ความจริงนางคงเป็นสตรีของใครคนใดคนหนึ่งในเมืองไพศาลีนั้นแหละ

ตำแหน่งนครโสเภณีสมัยก่อนโน้นเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ พระราชาแต่งตั้งดูเหมือนจะมีเงินเดือนกินด้วย มิใช่ธรรมดา มีสาวๆ ในความควบคุมดูแลอีกมากสมัยนี้เรียก “มาม่าซัง” อะไรทำนองนั้น

แคว้นวัชชี หัวก้าวหน้ากว่ารัฐอื่น เป็นแคว้นแรกที่มีตำแหน่งนครโสเภณี เพื่อ “ดูด” เงินตราจากต่างประเทศ กษัตริย์เมืองเล็กเมืองน้อยได้ทราบข่าวว่าที่นครไพศาลีมีนางนครโสเภณีที่เป็นสมบัติของทุกคน ต่างก็ขนเงินมา “ทิ้ง” ที่เมืองนี้กันปีละจำนวนไม่น้อย ว่ากันว่าค่าอภิรมย์กับนางอัมพปาลี คืนหนึ่งแพงหูฉี่ แต่ก็มี “แขก” ต่างเมืองมาเยี่ยมสำนักเธอมิขาดสาย

ว่ากันอีกว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นแขกพิเศษของนางอัมพปาลี จนได้บุตรด้วยกันมาคนหนึ่งนาม วิมละ หรือวิมล หนุ่มน้อยวิมล เสด็จพ่อนำไปเลี้ยงไว้ในราชสำนักเมืองราชคฤห์ (ผู้เป็นพ่อยอมรับโดยมิต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอ) ต่อมาวิมลได้ออกบวชและได้บรรลุพระอรหัตผล

พระเจ้าพิมพิสารได้แนวคิดไปจากนี้แหละครับ ภายหลังจึงได้แต่งตั้งนางนครโสเภณีขึ้นที่เมืองราชคฤห์ โดยสถาปนานางสาลวดี เป็นผู้รับตำแหน่งคนแรก และข่าวลืออีกนั่นแหละว่า นางสาลวดีได้กำเนิดบุตรชายและบุตรสาวเพราะความเผลอ นางเลี้ยงบุตรสาวเพื่อสืบทอดตำแหน่ง แต่ไม่ปรารถนาบุตรชาย จึงให้คนนำไปทิ้งไว้ใกล้ๆ ประตูวัง เจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จมาพบเข้า นำเด็กน้อยไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

เด็กน้อยคนนี้เป็นผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมมาแล้วแต่ปางก่อน เมื่อเจริญวัยมาได้ไปศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ กลับมาได้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านนี้คือหมอชีวกโกมารภัจจ์ น้องสาวของท่านชื่อ สิริมา ต่อมาได้ตำแหน่งนครโสเภณีแทนแม่

ว่ากันว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ แท้ที่จริงคือโอรสพระเจ้าพิมพิสาร กับนางสาลวดี เพราะเหตุนี้จึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพิมพิสารมาก

กลับมายังเรื่องของนางอัมพปาลี ตอนผมศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาก็ไม่ทราบว่านางอัมพปาลีตอนหลังได้มาบวชเป็นภิกษุณี ต่อเมื่อมาอ่านอรรถกถาเถรีคาถาจึงพบว่า
อัมพปาลีเถรีที่แท้ก็คืออดีตนางนครโสเภณีชื่อ “อัมพปาลี” นั้นเอง

หลังจากถวายสวนมะม่วงให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาแล้ว นางได้ฟังธรรมจาก
พระวิมลเถระ (บุตรชายของนาง) รู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงออกบวชในสำนักของนางภิกษุณี พิจารณาเห็นความเป็นอนิจจังแห่งสรีรร่างกายของตน ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระอัมพปาลีเถรีได้กล่าวคาถาแสดงถึงสัจจะชีวิตของนาง น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติแก่สตรีทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ขอคัดมาบางตอนดังนี้

เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา

เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอมดุจอบด้วยดอกมะลิ เป็นต้น เดี๋ยวนี้กลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา

เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันนายช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา


เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้วไม่งามเลย เวลารุ่นสาวจมูกของเรางดงามเหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเฮี๋่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในศีรษะ เพราะชรา

เมื่อก่อนฟันของเราขาวงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้กลายเป็นฟันหัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา

เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สรรพสิ่งเป็นอนิจจังเป็นจริงทุกประการ


นางได้พรรณนาความงามของสรรพางค์กาย ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้าว่าล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาชื่นชมของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อนางมาบวช) อวัยวะที่งดงามเหล่านั้นทรุดโทรม เพราะชรา ไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอนิจจัง ยืนยันพระราชดำรัสของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสรรพสิ่ง


ก็ขอฝากไว้ให้ช่วยพิจารณา เผื่อจะมีใครบรรลุธรรมเหมือนพระอัมพปาลีเถรีก็ได้



:b8: :b8: :b8: คัดลอกมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=================

:b45: โสเภณี กับ พระพุทธศาสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47955

:b45: ภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46460


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2018, 09:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก (นางอัมพปาลี)

โสเภณี มีคำเต็มว่า “นครโสเภณี” แปลว่าหญิงผู้ยังพระนครให้งาม แปลเป็นไทยแท้ๆ ว่า “หญิงงามเมือง”

สมัยก่อนโน้น โสเภณีเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติระดับที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมือง พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกเอาสตรีเลอโฉมที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างดี ว่าอย่างนั้นเถอะ

สวยอย่างเดียวไม่มีกึ๋น ไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นโสเภณี

ต่อมาในยุคหลังๆ นี้เท่านั้น ที่โสเภณีตกต่ำลง ถึงขั้นเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนทั่วไป

นางโสเภณีดังๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศานาหลายคน

คนหนึ่งชื่อ
อัมพปาลี อยู่ที่เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี นางได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ถวายสวนมะม่วงของเธอให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์

การถวายสวนมะม่วงนี้ หลักฐานบางแห่งก็ว่าเพิ่งมาถวายในช่วงท้ายพุทธกาลก่อนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน บางแห่งพูดทำนองว่าถวายไว้นานแล้ว ก็ว่ากันไป เราเกิดไม่ทันก็ฟังๆ ไว้แล้วกัน

นางอัมพปาลี นับเป็นโสเภณีคนแรกที่สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

นางเป็นคนมั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินาราเพื่อปรินิพพาน เสด็จถึงโกฏิคามใกล้เมืองไพศาลี นางได้เข้าเฝ้า กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

ขณะนั่งรถกลับ ก็สวนทางกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี บรรดาชายหนุ่มเจ้าสำราญ เห็นนางผู้ซึ่งคุ้นเคยกันเพราะเป็น “แขก” คนสำคัญของเธอทั้งนั้น เรียกให้ทันสมัยก็คือ “ขาประจำ” จึงแกล้งขับรถเข้าไปกระแทกกับรถนางเป็นที่สนุกสนาน

“นางผู้เลอโฉม ไปไหนมา”

“เพิ่งกลับจากเฝ้าพระพุทธองค์มา แล้วพวกท่านจะไปไหน” นางถาม

“พวกเราก็จะไปเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน”

“ไปด้วยวัตถุประสงค์ใด”

“ไปทูลอาราธนาเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่วังของพวกเรา”

นางจึงบอกว่า ถ้าไปด้วยเหตุนั้น ก็จงกลับเถอะเพราะพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของนางแล้ว

พวกกษัตริย์ลิจฉวี จึงอ้อนวอนนางขอแลกกับรถม้าและเครื่องประดับล้ำค่าทั้งหมด นางก็ปฏิเสธ

แม้เสนอจะให้ทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดนางก็ยืนกรานปฏิเสธ


นางบอกว่าที่มีโอกาสถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้านั้นมีค่ามากกว่าสิ่งใด

ในที่สุดพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้

นางอัมพปาลี มีบุตรชายชื่อ
วิมลโกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระวิมลได้แสดงธรรมให้แก่โยมมารดาฟัง นางรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม ตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุณี ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่ ก็มองเห็นความเป็นอนิจจังของสังขารร่างกายของตนยกขึ้นสู่วิปัสสนา ในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระเถรีได้กล่าว “คาถา” (โศลก - อ่านว่า สะ-โหฺลก) อันแสดงถึงสัจจะแห่งชีวิต เป็นคติสอนใจสตรี (บุรุษด้วยแหละ) ทั้งหลายได้อย่างดีทีเดียว จึงขออนุญาตคัดข้อความบางตอนมาลงไว้ดังนี้

“เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ” คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา

เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยมะลิ เดี๋ยวนี้มีกลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา

เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา

เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณีรุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้ว ไม่งามเลย

เมื่อก่อนจมูกของเรางดงาม เหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในกะโหลกศีรษะ เพราะชรา

เมื่อก่อนฟันของเราขาวงดงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้หัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา

เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ช่างเป็นจริงทุกประการ”

นางได้พรรณนาความงดงามของสรรพางค์กายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าว่า ล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อยามชรา) อวัยวะที่ว่างดงามนั้น ทรุดโทรมเพราะชราไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความอนิจจัง

ยืนยันพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความไม่เที่ยงแท้ “ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัว”

ฝากไว้ให้ช่วยพิจารณา เผื่อจะมีใครบรรลุธรรมเหมือนนางอัมพปาลีบ้าง


ที่มา...หนังสือ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
ศ. (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต :b8: :b8: :b8:

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=20382


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2018, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2022, 12:03 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร