วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2015, 09:06 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงธรรม
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

=========================

พูดถึงอุบาสกที่มีชื่อเสียงในพระพุทธศาสนา ก็อดที่พูดถึงพระเจ้าอโศกมหาราชมิได้ ถ้าหากว่าท่านนี้จะมีชีวิตอยู่ในสมัยพุทธกาล คงได้รับยกย่องในเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้าด้านใดด้านหนึ่งเป็นแน่

พระเจ้าอโศกมหาราช มีพระราชประวัติน่าสนใจ จะเรียกว่าเป็นผู้ “ต้นคตปลายตรง” ก็คงได้ ถึงแม้ต้นจะไม่คตมากขนาดองคุลิมาล หรืออชาตศัตรูก็ตาม พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระราชาจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งชาวกรีกขนานพระนามว่า “สัตตุฆ็อต” (แปลว่า ผู้สังหารศัตรู)

พระเจ้าพินทุสารเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์ กษัตริย์ต้นวงศ์โมริยะ หรือเมารยะ “ปู่” พระเจ้าอโศกพระองค์นี้ก็มีประวัติที่น่าสนใจ มีเวลาจะเล่าภายหลัง

เข้าใจว่าอโศกกุมารมิใช่พระราชโอรสองค์ใด เพราะมีพระเชษฐาเป็นสุมนะอันเกิดแต่พระมเหสี (เข้าใจว่าเป็นพระมเหสีองค์รอง) อโศกกุมารคงเป็นพระราชโอรสจากพระอัครมเหสี เพราะสมัยที่ยังหนุ่มถูกส่งไปเป็นอุปราชครองเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในครอบครองของพระเจ้าพินทุสาร

เจ้าชายอโศกได้อภิเษกสมรสกับบุตรสาวแห่งนายบ้ายวิทิสา (หรือเวทิส) ขณะอยู่เมืองอุชเชนี ก็มีโอรสองค์หนึ่งนามว่า มหินท์ และธิดานามว่า สังฆมิตตา

เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็กลับมายังเมืองปาตลีบุตร

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการแก่งแย่งราชบัลลังก์กันในหมู่พระเชษฐาและพระอนุชา อโศกกุมารถือว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ในพระราชบัลลังก์เต็มที่ ก็ขึ้นครองราชย์หลังจากได้สังหารพี่น้องเป็นจำนวนมาก

ว่ากันว่าได้ฆ่าทั้งหมด ยกเว้นเพียงพระอนุชาร่วมพระอาทร (คือ เกิดจากพระมารดาเดียวกัน) นามว่า “ติสสะ”

พระเชษฐานามว่าสุมนะ รู้ว่าชะตาตัวเองจะขาดแน่นอน จึงสั่งให้พระชายาซึ่งทรงครรภ์แก่ หนีเอาตัวรอดไป นางจึงหลบหนีออกจากเมืองไปอยู่กับพวกคนจัณฑาลในหมู่บ้านคนจัณฑาลนอกเมือง ให้กำเนิดบุตรชายใต้ต้นไทร จึงขนานนามว่า “นิโครธ”

ซึ่งต่อมาเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ นิโครธก็บวชเป็นสามเณรด้วยความยินยอมของมารดา เพราะเห็นว่าเป็นทางเดียวที่จะพ้นราชภัย

ติสสกุมาร พระอนุชาของพระเจ้าอโศกก็ออกบวชหนีราชภัยเช่นเดียวกัน เพื่อความเป็นใหญ่ พี่น้องก็ฆ่ากันได้ ติสสะคิดว่า วันดีคืนดีถ้าเสด็จพี่ระแวงก็อาจหาเรื่องฆ่าได้ จึงถือเพศบรรพชิตเสียเลยจะได้ปลอดภัย

พระเจ้าอโศกในช่วงที่ยังหนุ่มแน่น ว่ากันว่าทรงดุร้ายมาก จนได้รับขนานนามว่า “จัณฑาโศก” (อโศกผู้ดุร้าย) ทรงกระหายสงคราม ขยายอาณาจักรยกทัพไปตีเมืองต่างๆ ไว้ในอำนาจมากมาย ว่ากันว่า อาณาเขตปกครองของพระเจ้าอโศกกว้างใหญ่ไพศาลมาก

แต่วันดีคืนดีก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ คือ หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ ๘ ปี พระเจ้าอโศกเสด็จไปทำสงครามที่แคว้นกลิงคะ ทอดพระเนตรเห็นผู้คนล้มตายจำนวนมาก ก็สลดสังเวชพระราชหฤทัย พระทัยที่เคยดุดันแข็งกร้าวก็อ่อนโยนลง เห็นในความทุกข์วิปโยคของคนอื่น

ดังข้อความในศิลาจารึก ฉบับที่ ๑๓ ว่า “สมเด็จพระปิยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงนั้น จากแคว้นกลิงคะนั้น ประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นถูกจับเป็นเชลย จำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไป นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะถูกยึดครองแล้ว การทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการอบรมสั่งสอนธรรมก็ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ”

ว่ากันว่า การหันมาประพฤติธรรมของพระเจ้าอโศก ก็คือหันมานับถือพระพุทธศาสนานั่นเอง และในศิลาจารึกหลักหนึ่งบอกว่าพระองค์ “ทรงเข้าถึงพระสงฆ์” มีผู้ตีความว่าทรงผนวชเป็นเวลาสามเดือน ขณะที่ยังครองราชย์

และผลจากที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนานี้เอง ทำให้ทรงเปลี่ยนวิธีการเผยแผ่กฤษดาภินิหารจากการทำสงคราม มาเป็นการเอาชนะได้ด้วยคุณธรรม อันเรียกว่า “ธรรมวิชัย” (หรือธรรมราชา) ดังจารึกตอนหนึ่งว่า “สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ “ธรรมวิชัย” (ชัยชนะโดยธรรม) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ทรงกระทำสำเร็จแล้วทั้ง ณ ที่นี้ (ในพระราชอาณาจักร) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวงไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์...”

ก่อนจะหันมานับถือพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่าพระองค์ทรงนับถือศาสนาเชน (ลัทธิชีเปลือย) มาก่อน ตามบรรพบุรุษแห่งโมริยวงศ์ และหลังจากหันมาทรงดำเนินนโยบายธรรมวิชัย แผ่กฤษดาภินิหารด้วยธรรมะแล้วทรงได้รับขนานพระนามใหม่ว่า “ธัมมาโศก” (อโศกผู้ทรงธรรม)

พิเคราะห์ตามนี้ แสดงว่าพระเจ้าอโศกทรงนับถือพระพุทธศาสนา เพราะทรงสำนึกได้ว่าได้ทำบาปไว้มาก จึงละความเบียดเบียน หันมาถืออหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) โดยประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องความไม่เบียดเบียนเป็นหลัก

แต่ถ้าถือตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท พระเจ้าอโศกทรงนับถือพระพุทธศาสนา เพราะสามเณรน้อยรูปหนึ่งชักจูง

ในหนังสือสมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก) กล่าวว่า เช้าวันหนึ่ง ขณะประทับทอดพระเนตรผ่านช่องสีหบัญชร (หน้าต่าง) พระราชมณเทียร ทอดพระเนตรเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งเดินผ่านไป

ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถอันสงบของสามเณรน้อย รับสั่งให้นิมนต์ขึ้นไปบนพระราชมณเทียร ทรงซักถามได้ทราบความว่า สามเณรน้อยเป็นบุตรของสุมนราชกุมาร พระเชษฐาของพระองค์เอง นามว่า นิโครธ

เมื่อทรงทราบว่าเป็น “หลาน” ของพระองค์ ก็ยิ่งทรงมีพระเมตตาต่อสามเณรน้อย ขอให้สามเณรน้อยกล่าวธรรมให้ฟัง

สามเณรน้อยถวายพระพรว่า ตนเพิ่งบวชเรียนศึกษาได้ไม่มาก ไม่สามารถกล่าวธรรมโดยพิสดารได้ ขอกล่าวแต่โดยย่อ ว่าแล้วก็ได้กล่าวพุทธภาษิตใน “พระธรรมบท” ว่า

อัปปะ มาโท อะมะตังปะทัง ปะมาโท มัจจุโน ปะทัง
อัปปะมัตตา นะ มียันติ เย ปะมัตตา ยะถา มะตา


ความว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เสมือนตายแล้ว

ถ้าจะ “ประนีประนอม” ความก็คงจะได้ว่า พระเจ้าอโศกทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาเอง หลังจากทรงเกิดความสลดพระทัยที่ทอดพระเนตรเห็นคนตายจำนวนมากในสงคราม เมื่อครั้งไปตีเมืองกลิงคะก็ถูก จะกล่าวว่าทรงนับถือพระพุทธศาสนาเพราะได้ฟังธรรมจากสามเณรนิโครธ นั้นก็ถูกเหมือนกัน

เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดไล่เลี่ยกัน พระองค์ทรงสังเวชพระทัยในการล้มตายของทหารและพลเมืองชาวกลิงคะอยู่ก่อนแล้ว พอดีมาพบสามเณรน้อย ได้ฟังธรรมจากสามเณรน้อยเข้า ก็ยิ่งทรงแน่ใจว่า การประพฤติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นทางถูกต้องและดีที่สุด ในที่สุดจึงประกาศตนเป็นพุทธมามกะ

ว่ากันอีกเหมือนกันว่า พระเจ้าอโศกมิเพียงเป็นพุทธมามกะเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเท่านั้น หากยังทรงประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติด้วย

พระองค์ทรงศึกษาธรรมจนซาบซึ้ง และได้ประยุกต์หลักพุทธธรรมมาใช้ในการปกครองประเทศ อันเรียกว่า “อโศกธรรม” ทรงวางหลักการปกครองแผ่นดินโดยธรรม ยึดเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้งและส่งเสริมกิจการสาธารณูปการ ประชาสงเคราะห์ สวัสดิการสังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง

แนวทางของพระองค์ได้รับการยึดถือเอาเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ผู้ครองแว่นแคว้นในยุคต่อมา เช่น พระเจ้ากนิษกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ ๗) พระเจ้าหรราวรรธนะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒) พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙) เป็นต้น

ทรงสร้างวัดแปดหมื่นสี่พันวัด สร้างเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เป็นอย่างดี จนพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคของพระองค์ เป็นเหตุให้เหล่า “เดียรถีย์” (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) เข้ามาปลอมบวชเพื่อหวังจะอยู่สุขสบาย

เมื่อบวชเข้ามาแล้วได้แสดงธรรมวินัยวิปริตผิดเพี้ยนไป สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในพระศาสนา จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการชำระสะสางสังฆมณฑลครั้งใหญ่ อันเรียกว่าทำ “สังคยานาครั้งที่สาม”

เมื่อพระเจ้าอโศก ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์อย่างนี้ พระพุทธศาสนาโดยรวมก็เจริญรุ่งเรือง พวกนอกศาสนาเห็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้รับความเคารพนับถือ และมีลาภสักการะเช่นนั้นบ้าง ก็พากันปลอมบวชเป็นพระภิกษุ บวชเข้ามาแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่า “ไผเป็นไผ” เพราะนุ่งห่มเหมือนกัน

พระภิกษุปลอมบวชก็ยังไม่รู้ว่าเป็นพระปลอม จนกว่าจะแสดงธรรมวินัยออกมาผิดเพี้ยนจากแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา

ถ้าเอามาตรฐานนี้วัด แม้ผู้ที่บวชถูกต้องตามพระวินัย แต่ไม่ศึกษาเล่าเรียน แสดงธรรมผิดๆ เพี้ยนๆ เอาพุทธไปเป็นพราหมณ์ ก็น่าจะเรียกว่าเป็นพระปลอมเหมือนกันนะครับ

พวกเดียรถีย์ที่ปลอมบวช ต่างก็แสดงธรรมวินัยวิปริตผิดเพี้ยน แถมวัตรปฏิบัติก็ไม่เคร่งครัดสำรวมเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ก็ได้รับความรังเกียจจากพระสงฆ์ผู้ทรงศีล หนักเข้าถึงขนาดท่านเหล่านั้นไม่ยอมลงโบสถ์สังฆกรรมด้วย ความแตกแยกก็เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบว่าพระสงฆ์ไม่ลงรอยกัน จึงได้ส่งมหาอำมาตย์คนหนึ่งไปจัดการให้พระสงฆ์สามัคคีกัน

อำมาตย์ถือว่าได้รับพระบรมราชานุญาตให้ไป “จัดการ” ให้พระสงฆ์สามัคคีกัน แกก็ไป “จัดการ” จริงๆ เหมือนกัน ไปถึงก็เรียกประชุมภิกษุสงฆ์ บอกท่านเหล่านั้นว่า “ในหลวงมีรับสั่งให้ผมมาจัดการให้พวกท่านสามัคคีกัน พวกท่านจะลงโบสถ์ทำสังฆกรรมร่วมกันตามพระราชประสงค์หรือไม่” ภิกษุปลอมเป็นพวกไม่มีกระดูกสันหลัง จะเอาอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว จึงกล่าวว่า “พวกอาตมาไม่มีปัญหา” (แน่ พูดเหมือนอดีตนายกฯ ที่ชื่อ “น้าชาติ” ผู้ล่วงลับแฮะ) ว่า แต่ว่าท่านเหล่านั้นจะยินยอมไหม

ท่านเหล่านั้น ก็หมายถึงพระภิกษุผู้ทรงศีลทั้งหลาย เมื่อมหาอำมาตย์หันไปถาม ท่านเหล่านั้นจึงว่า “พวกอาตมาจะไม่ยอมลงโบสถ์กับพวกทุศีลเป็นอันขาด”

“ท่านจะยอมไหม” มหาอำมาตย์ย้ำคำถามเดิม

“ไม่ยอม” เสียงยืนกรานดังมาจากแทบทุกปาก

ทันใดนั้น มหาอำมาตย์ก็ชักดาบออกจากฝัก ฟันคอพระเถระผู้นั่งอยู่แถวหน้าล้มลงถึงแก่มรณภาพทันที สร้างความตกตะลึงไปทั่ว แล้วร้องถามเสียงดังว่า “ท่านล่ะจะยอมไหม”

พระเถระรูปถัดไปร้องว่า “ไม่ยอม”

“ไม่ยอมหรือ นี่แน่ะ” สิ้นคำว่านี่แน่ะก็เสียงดังเฟี้ยว คอหลุดจากบ่าพระเถระอีกรูป เลือดแดงฉานนองพื้น

พระนวกะรูปหนึ่งนั่งอยู่ท้ายแถว เห็นเหตุการณ์จะไปกันใหญ่ จึงถลันเข้ามานั่งขวางไว้ มหาอำมาตย์ชักดาบกำลังจะเงื้อฟันอยู่พอดีเห็นหน้าพระคุณเจ้าก็จำได้ จึงสอดดาบเข้าฝักเดินลงจากศาลากลับไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน

พระหนุ่มนั้นหาใช่ใครไม่ คือ พระติสสะ พระอนุชาของพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง

พระเจ้าอโศกทรงทราบว่ามหาอำมาตย์ไปทำการเกินคำสั่ง ก็ร้อนพระทัย รีบเข้าไปหาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ผู้เป็นหลักในสมัยนั้น กราบทูลถามว่า พระองค์จะบาปมากไหมที่ส่งให้อำมาตย์ไปทำการอย่างหนึ่ง แต่อำมาตย์ได้ปลงชีวิตพระภิกษุไปหลายรูป

พระเถระถวายพระพรว่า “ถ้าพระองค์มิได้มีพระประสงค์ให้พวกอำมาตย์ไปฆ่าพระ ก็ถือว่าไม่มีเจตนา ถึงบาปก็เบา”

“โยมจะทำอย่างไรดี” พระเจ้าอโศกตรัสปรึกษา

“ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ถึงอุปถัมภ์สังคายนา” พระเถระถวายคำแนะนำ ซึ่งพระเจ้าอโศกก็ทรงเห็นด้วย แล้วสังคายนาพระพุทธศาสนาครั้งที่สามก็เกิดขึ้น

พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป ได้รับคัดเลือกเพื่อทำสังคายนา ณ อโศการาม เมืองปาตลีบุตร โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงถวายความอุปถัมภ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบความรู้พระธรรมวินัยพระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล คำถามนั้นเป็นคำถามกว้างๆ แบบ “อัตนัย” คือถามว่า “พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไร”

ผู้เข้าสอบจะต้องอธิบายธรรมะที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา กรรมการจะซักถามทุกแง่ทุกมุมจนเป็นที่พอใจ จึงสอบผ่าน

ว่ากันว่า ถ้าใครไม่ตอบในแง่ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็น “วิภัชชวาที” คือ ตรัสจำแนก หรือ ตรัสสอนแบบวิเคราะห์แยกแยะแล้ว ปรับตกหมด ถึงจะอธิบายดีอย่างไรก็ตาม อลัชชีปลอมบวชนั้น แน่นอน ต้องสอบตกแน่ๆ แต่พระภิกษุที่บวชถูกต้องตามพระวินัย ที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่รู้พระพุทธศาสนา ถูกปรับตก ก็มีไม่น้อย ท่านที่สอบไม่ผ่านจะถูกจับสึกทั้งหมด

ว่ากันว่าพระภิกษุจำนวนหมื่นๆ รูปถูกจับสึกเหลือแต่พระภิกษุที่มีความรู้พระธรรมวินัยดี เท่ากับคัดบุคลากรที่มีคุณสมบัติไม่พร้อมที่จะธำรงพระพุทธศาสนาออก เหลือแต่ที่มีคุณภาพล้วนๆ ถึงเหลือน้อยก็ทำให้พระศาสนามีกำลังและดำรงอยู่ได้นาน

ในสมัยอยุธยาเองก็มีการสอบแบบนี้เหมือนกัน ว่ากันว่ามีคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามากมาย จนกระทั่งขาดชายหนุ่มที่มารับราชการรับใช้บ้านเมือง พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงปรึกษาหารือกับพระเถระผู้ใหญ่ พระเถระผู้ใหญ่จึงแนะให้จัดสอบความรู้ พระเถระใดสอบตกก็ไล่สึกให้ไปทำราชการ

คำว่า “สอบไล่” มีมาตั้งแต่สมัยนั้น แต่มิได้หมายถึงสอบเลื่อนชั้น ที่จริงหมายถึง “ไล่สึก” ครับ ไปยังไงมายังไงไม่ทราบ เรานำมาใช้ในความหมาย “สอบครั้งสุดท้าย” หรือ final exams เดี๋ยวนี้คำนี้หายไปแล้ว

หลังทำสังคายนาครั้งนั้นสิ้นสุดลง ก็ได้มีการส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ จำนวน ๙ คณะ คือ

๑. พระมัชฌันติกะและคณะ ไปแคว้นกัสมีระและคันธาระ (คือ แคชเมียร์และอัฟกานิสถานปัจจุบัน)

๒. พระมหาเทวะและคณะ ไปมหิสกมณฑล (คือ ไมชอร์ ติดต่อกับแคว้นมัทราส ทางใต้ของชมพูทวีป)

๓. พระรักขิตะและคณะ ไปวนวาสีประเทศ (แถบอินเดียใต้ จังหวัดกรรนาฏในปัจจุบัน)

๔. พระโยนกธัมมรักขิตะและคณะ ไปอปรันตประเทศ (คัชราฏ) (ที่ตั้งของเมืองบอมเบย์ปัจจุบัน)

๕. พระมหาธัมมรักขิตะและคณะ ไปมหารัฐ (แคว้นมหาราษฎร์ในปัจจุบัน)

๖. พระมหารักขิตะและคณะ ไปโยนกประเทศ (เขตบากเตรียในเปอร์เซียปัจจุบัน)

๗. พระมัชฌิมะและคณะ ไปหิมวันตประเทศ (คือแถบเนปาลในปัจจุบัน)

๘. พระมหินทะและคณะ ไปลังกาทวีป

๙. พระโสณะและพระอุตตระพร้อมคณะ ไปสุวรรณภูมิ (ดินแดนพม่า มอญ ไทย ในปัจจุบัน)

ถ้าไม่กางแผนที่ก็ไม่รู้ดอกว่าท่านรูปใดไปแคว้นดินแดนใด ผมเองก็ไม่เก่งทางด้านภูมิศาสตร์ด้วย มองภาพไม่ออกว่าที่ไหนเป็นที่ไหน พูดกว้างๆ ก็แล้วกันว่าพระเจ้าอโศกทรงส่งคณะธรรมทูตไปยังแคว้นต่างๆ ในชมพูทวีปเอง และออกนอกชมพูทวีป เช่น ลังกา ไทย (ในปัจจุบัน) เป็นต้น

แม้ว่านักประวัติศาสตร์บางท่าน เช่น โอลเดน เบอร์ก จะปฏิเสธว่าไม่มีการทำสังคายนาที่สามที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์ และไม่เชื่อว่าพระเจ้าอโศกส่งคณะธรรมทูตไปยังต่างประเทศ การที่พระพุทธศาสนาแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ เช่น ลังกาเป็นผลแห่งการถ่ายโอนทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งค่อยเป็นค่อยไป มิใช่มีใครมาจัดส่งพระพุทธศาสนาแบบ “สำเร็จรูป” ไปดังเชื่อกัน

การถ่ายโอนทางศาสนาและวัฒนธรรม ก็ผ่านเส้นทางพาณิชย์ การค้าขายติดต่อกันระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง เมื่อพ่อค้าเดินทางไปยังต่างเมือง พระสงฆ์ก็เดินทางไปด้วย พระพุทธศาสนาก็พลอยได้รับความเชื่อถือและปฏิบัติจากประชาชนประเทศนั้นๆ ว่ากันอย่างนั้น

จะอย่างไรก็ตาม มีผู้พบหลักฐาน ก็คือจารึกผอบหินทรายที่ขุดพบที่โบราณสถานที่เมืองสาญจิ บอกว่าเป็นผอบบรรจุอัฐิแห่งพระโมคคัลลีบุตร พระกัสสปโคตร ผู้ทรงศีลแห่งแคว้นหิมาลัย พระมัชฌิมะผู้สัปปุรุษ เป็นหลักฐานแสดงว่า ในสมัยพระเจ้าอโศก มีการส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังดินแดนจริง มิใย (ขอโทษอาจารย์สุลักษณ์ ขอยืมวลีประจำตัวมาใช้หน่อย) ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นแบบอย่างอุบาสกผู้ทรงธรรม ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เป็นมหากษัตริย์ที่นำเอาพุทธธรรมมาปรับใช้เป็นหลักการปกครองประเทศและสำหรับดำเนินชีวิต เป็นต้นแบบ “ธรรมวินัย” หรือ “ธรรมราช” ที่พระมหากษัตริย์ในยุคต่อมาพยายามดำเนินรอยตาม

ชาวพุทธจึงควรสำนึกในพระมหากรุณาที่ทรงช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาจนกระทั่งยั่งยืนมาถึงเราในปัจจุบันนี้


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

:b44: จาก “พระพุทธเจ้า” ถึง “พระเจ้าอโศกมหาราช”
โดย ศ. (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4574


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2018, 09:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron