วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2015, 11:13 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระสิคาลกมาตาเถรี (พระสิงคาลมาตาเถรี)
มารดาของมาณพต้นตำรับทิศหก
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
=========================

ทิศ ตามศัพท์แปลว่า “ทางซึ่งถือดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตกเป็นเกณฑ์” พจนานุกรมให้คำจำกัดความว่าอย่างนั้น

แต่ทิศในทางพระพุทธศาสนา หมายความว่า เอาแนวทางปฏิบัติต่อบุคคลที่เราเกี่ยวข้องให้ถูกต้องเหมาะสม เป็นหลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอน เพื่อให้ผู้ครองเรือนได้นำไปปฏิบัติเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

ผู้ที่ได้รับคำสอนนี้เป็นคนแรกชื่อ สิคาลกมาณพ (อ่าน สิ-คา-ละ-กะ) เป็นเด็กหนุ่มที่กตัญญูต่อบิดามาก เมื่อบิดาจะสิ้นชีวิตได้สั่งเสียลูกชายว่า “พ่อตายไปแล้วลูกจงไหว้ทิศทั้ง ๖ เป็นประจำทุกวัน

เรื่องการไหว้ทิศนั้นมิใช่ของแปลก เพราะโยคีอินเดียตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไหว้ทิศกันอยู่ ไปอินเดียก็จะเห็นทุกๆ เช้า ที่ท่าน้ำเมืองพาราณสี เป็นต้น โยคีจะมายืนไหว้พระอาทิตย์ ปากก็พร่ำบ่นมนต์พึมพำๆ มีท่าโยคะท่าหนึ่ง เรียกว่า “สุรยมนัสการ” (ท่าไหว้พระอาทิตย์) แสดงการไหว้ทิศมิใช่เรื่องประหลาด แต่ถ้าใครมายกมือไหว้ทิศปลกๆ ทุกเช้าที่เมืองไทย คนอาจหาว่าสติสตังไม่ดีก็ได้

วันหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จออกบิณฑบาต (ราชาศัพท์ว่า “ทรงบาตร”) ผ่านมายังสถานที่ที่เด็กหนุ่มหน้ามนคนนี้ไหว้พระอาทิตย์อยู่ จึงตรัสถามว่า “พ่อหนุ่มเธอกำลังทำอะไร” เด็กหนุ่มรู้ว่าผู้ถามคือพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ (ตอนนั้นแกยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา) จึงกราบทูลว่า “ไหว้ทิศ พระเจ้าข้า” “ไหว้ทำไม” รับสั่งถามอีก “บิดาสั่งให้ไหว้ทุกวัน พระเจ้าข้า” เขาตอบอย่างนอบน้อม “ดีแล้ว เธอทำตามคำสั่งสอนของพ่อ นับว่าเป็นบุตรกตัญญู แต่พ่อเจ้าคงมิได้หมายความว่าให้เจ้าไหว้ทิศภายนอกดอกกระมัง”...รับสั่งชวนให้คิด

เมื่อเห็นว่าเขาทำท่างง พระองค์จึงตรัสอธิบายว่า พ่อเจ้าต้องการให้เธอไหว้ทิศภายใน คือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหน้าที่ที่มีอยู่ในสังคม ว่าแล้วก็ทรงแสดง “ทิศหก” ดังนี้

ทิศตะวันออก คือ บิดามารดา
ทิศตะวันตก คือ สามีภรรยา
ทิศเหนือ คือ มิตรสหาย
ทิศใต้ คือ ครูบาอาจารย์
ทิศเบื้องบน คือ สมณชีพราหมณ์
ทิศเบื้องล่าง คือ คนใช้และคนงาน


การที่เราอยู่ในโลกนี้ ก็คืออยู่ในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบตัวเรา มนุษย์ที่อยู่รอบตัวเราย่อมมีฐานะต่างๆ กัน เปรียบคนทั้งหลายที่อยู่ในฐานะต่างๆ ก็เหมือนกับทิศน้อยทิศใหญ่ที่เราจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ ให้ถูกต้อง จึงจะมีชีวิตอยู่ด้วยดี มีความสุข ความเจริญ การไหว้ทิศ ก็คือปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ ให้ถูกต้องนั่นเอง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทิศหกในแนวใหม่ให้ฟัง เด็กหนุ่มก็เลื่อมใส น้อมรับเอามาเป็นหลักปฏิบัติ หลังจากได้กล่าวปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

มารดาของสิคาลกมาณพ ซึ่งชื่อเรียงเสียงใดไม่ระบุ ใครๆ ก็เรียกเธอว่า “สิคาลกมาตา” (มารดาของสิคาลกะ) เป็นบุตรีเศรษฐี เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แต่งงานแล้วมีบุตรชายคนเดียว ชื่อ สิคาลกะ (ดังกล่าวข้างต้น)

วันหนึ่ง นางได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า และมีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาก นางเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุรุษที่มีรูปร่างสวยงาม น่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง นับว่าสิคาลกมาตาเป็นบุคคลประเภท “รูปัปปมาณิกา” (ถือรูปร่างเป็นสำคัญ หรือแปลง่ายๆ ก็คือชอบคนรูปหล่อ)

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา (คนไทยเรียกกันสั้นๆ ว่า อรรกถาธรรมบท) กล่าวว่า คนจะเลื่อมใสในพระศาสนามีอยู่ ๔ ประเภท คือ

๑. รูปัปปมาณิกา ถือรูปเป็นประมาณ เห็นใครๆ รูปร่างสวยงาม แต่งตัวดี บุคลิกดี ก็เลื่อมใสคนประเภทนี้ มีศรัทธาแก่กล้า ดังวักกลิ มานพน้อยคนหนึ่ง ทันทีที่เห็นพระพุทธองค์ก็ติดใจในความหล่อของพระพุทธองค์ ตามไปเฝ้าดูไม่ยอมห่าง เพื่อให้ได้ดูตลอดเวลา จึงตามไปบวชอยู่ด้วย ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงใช้วิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง” วักกลิก็ได้บรรลุ สิคาลกมาตาก็เป็นประเภทเดียวกันกับวักกลิ

๒. โฆสัปปมาณิกา ถือเสียงเป็นประมาณ บางคนก็เลื่อมใสเพราะได้ยินเสียงเทศน์เสียงเจรจาอันไพเราะของพระภิกษุบางรูป ว่ากันว่าพระโสณะกุฏิกัณณะสวดธรรมไพเราะนุ่มนวลชวนฟัง มีผู้ชื่นชอบฟังท่านแสดงธรรมมาก

๓. ลูขัปปมาณิกา ถือข้อปฏิบัติเคร่งครัดเศร้าหมองเป็นประมาณ เช่น ชอบคนที่ถือธุดงค์อยู่อย่างขัดเกลา เห็นพระห่มจีวรสีคล้ำๆ ปักกลดอยู่ริมทางก็เลื่อมใสว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว บางทีไม่ทันพิจารณาเสียด้วยซ้ำว่า ธุดงค์แท้ หรือธุดงค์ปลอม กว่าจะรู้ก็โดนอาจารย์เลขเด็ดหลอกไปหลายเงิน อย่างนี้ก็มี

๔. ธัมมัปปมาณิกา ถือธรรมเป็นประมาณ คือ ไม่คำนึงว่าท่านจะเทศน์เสียงไพเราะหรือไม่ ถือธุดงค์เคร่งครัดขนาดไหน บุคลิกหล่อเหลาขนาดไหน แต่จะดูว่าสิ่งที่ท่านพูดท่านแสดงนั้นมีสาระหรือไม่ สามารถนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางดำเนินชีวิตได้จริงหรือไม่ คนพวกนี้ก็มีเป็นจำนวนมากในโลก


พระสิคาลกมาตา เป็นประเภทรูปปัปปมาณิกา ถือบุคลิกองอาจสวยงามเป็นสำคัญ ที่ไปฟังธรรมบ่อยๆ ก็เพราะ “ประทับใจ” ในจุดนี้ ที่ออกบวชเป็นภิกษุณีก็เพราะเรื่องนี้ แรกๆ ก็มิได้ใส่ใจเนื้อหาสาระที่ทรงแสดงเท่าไร พระพุทธองค์ก็ทรงปล่อยให้เวลาผ่านไประยะหนึ่ง รอให้ “อินทรีย์แก่กล้า” (ให้มีความพร้อม) แล้วพระองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง ไม่บอกว่าพระองค์ทรงแสดงพระสูตรอะไรให้นางฟัง แต่เข้าใจว่าทรงใช้ศรัทธานั้นแหละเป็นแนวทาง

คนที่มีศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากๆ มักจะ “ติดครูอาจารย์” จนแกะไม่ออก สิคาลกมาตาก็คงประเภทเดียวกัน พระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมที่ไหนก็ตามไปฟัง แต่มิได้ใส่ใจในเนื้อหาธรรมที่ทรงแสดงเท่าไร หากจ้องมองพระพุทธองค์ด้วยความชื่นชมมากกว่า

พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เธอเห็นความเป็นปฏิกูลเน่าเหม็นของร่างกาย จนนางรู้เห็นตามสภาพเป็นจริง คลายความกำหนัดยินดีในร่างกายอันเปื่อยเน่าผุพังเป็นธรรมดาได้...ในที่สุดได้บรรลุพระอรหัต หมดสิ้นกิเลสอาสวะทั้งหลาย

ผู้ที่จะบรรลุธรรมระดับสูงนั้น ท่านว่ามีบารมีอันสั่งสมมาแล้วมากในอดีตชาติ พระคัมภีร์กล่าวว่า นางเคยเกิดเป็นบุตรีของเสนาบดีในสมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมมุตตระ ตามบิดาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนเขาสรรเสริญถึงภิกษุณีรูปหนึ่งว่าเป็นอรหันต์ในทาง “สัทธาธิมุต” (มีศรัทธามาก และบรรลุธรรมเพราะศรัทธา) จึงตั้งความปรารถนาอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงพยายามทำความดีตลอดมา

ด้วยปณิธานและความดีงามที่สั่งมาตลอดเวลายาวนานจนนับไม่ถ้วน ในชาตินี้นางจึงได้มาเลื่อมใสในพระพุทธองค์ และได้บรรลุธรรมขั้นสูงในที่สุด

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสิคาลกมาตา ว่าเป็นเอตทัคคะ (ผู้ที่เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านหลุดพ้น เพราะมีศรัทธาแก่กล้า (สัทธาธิมุต)

พระสิคาลกมาตาเป็นพระเถรีเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ดำรงอยู่ตราบอายุขัยก็นิพพาน



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ย. 2019, 13:08 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระสิคาลกมาตาเถรี (พระสิงคาลมาตาเถรี)
เอตทัคคะในทางผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา

พระสิงคาลมาตาเถรี (พระสิคาลกมาตาเถรี) ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา ก็โดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระปทุมุตรพุทธเจ้า ครั้งนั้นนางเกิดในสกุลอำมาตย์ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ในพระนครหงสวดี เมื่อเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่ง นางได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับบิดาเพื่อฝังธรรม ครั้นเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุณี ครั้นบวชแล้ว ก็ได้ละเว้นบาปกรรมทางกาย ละวจีทุจริตชำระอาชีวะบริสุทธิ์ มีความเลื่อมใสเคารพเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ขวนขวายในการฟังธรรม มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นปกติของตน

ครั้งหนึ่ง เมื่อฟังธรรมของพระศาสดา นางเห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณี ฝ่ายสัทธาธิมุติ จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง

ครั้งนั้น พระสุคตเจ้าผู้มีพระอัธยาศัยประกอบด้วยกรุณา ตรัสกะนางว่าบุคคลผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นดีในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะรักใคร่สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เป็นหมัน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรม

นางได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว มีความเบิกบานใจ ได้ทูลถามถึงความปรารถนาของนาง

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เธอเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า มีธรรมงาม จักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนานั้น ในกัปที่หนึ่งแสนต่อจากกัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดม มีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้เป็นธรรมทายาทแห่งพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต เป็นมารดาแห่งสิงคาลมาณพ จักได้เป็นสาวิกาของพระศาสดาครั้งนั้น

นางเมื่อได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยการเพียรปฏิบัติตนทั้งหลายจนสิ้นชีวิต ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้นและด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ นางละร่างกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๐ ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลเศรษฐีกรุงราชคฤห์ ได้สามีที่มีสกุล เป็นคฤหบดีมหาศาล มีชาติเสมอกัน มีทรัพย์เก็บไว้ในเรือน ๔๐ โกฏิ ต่อมานางได้มีบุตรคนหนึ่ง ชื่อว่า สิงคาลกุมาร เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงเรียกนางว่า สิงคาลมารดา

ได้ยินว่าคฤหบดีผู้เป็นบิดาสิงคาลกุมารนั้น ถึงความเชื่อมั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอุบาสกผู้โสดาบัน แต่บุตรของเขาไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส. ครั้งนั้น มารดาและบิดาก็ได้สั่งสอนบุตรนั้นเนืองๆ อย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก ลูกจงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา เข้าไปหาพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะพระมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์

แต่บุตรนั้นก็กล่าวว่า การเข้าไปหาสมณะทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ฉัน เพราะการเข้าไปหาสมณะทั้งหลายก็ต้องไหว้เมื่อก้มลงไหว้หลังก็เจ็บ เข่าก็ด้าน จำเป็นต้องนั่งบนพื้นดิน เมื่อนั่งบนพื้นดินนั้น ผ้าก็จะเปื้อน จะเก่า นับแต่เวลานั่งใกล้ ย่อมมีการสนทนาเมื่อมีการสนทนา ย่อมเกิดความคุ้นเคย แต่นั้นย่อมต้องนิมนต์แล้วถวายจีวรและบิณฑบาตเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ประโยชน์ย่อมเสื่อม การเข้าไปหาพวกสมณะย่อมไม่มีแก่ฉัน ดังนี้

มารดาบิดาแม้สอนบุตรของเขาจนตลอดชีวิต ด้วยประการฉะนี้ ก็ไม่สามารถจะนำเข้าไปในศาสนาได้ ต่อมา บิดาของเขาเมื่อใกล้จะตาย นอนอยู่บนเตียงคิดว่า ควรจะให้โอวาทแก่บุตรของเรา แล้วคิดต่อไปว่า เราจักให้โอวาทแก่บุตรอย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก ลูกจงนอบน้อมทิศทั้งหลาย เมื่อเขาไม่รู้ความหมายที่แท้จริงก็จักนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลาย เห็นเขาแล้วจักถามว่า เธอทำอะไร แต่นั้นเขาก็จักกล่าวว่า บิดาของข้าพเจ้าสอนไว้ว่าเจ้าจงกระทำการนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลาย จักแสดงธรรมแก่เขาว่า บิดาของเธอจักไม่ให้เธอนอบน้อมทิศทั้งหลายเหล่านั้น แต่จักให้เธอนอบน้อมทิศเหล่านี้ เขารู้คุณในพระพุทธศาสนาแล้วจักทำบุญดังนี้

ลำดับนั้น คฤหบดีให้คนเรียกบุตรมาแล้วกล่าวว่านี่แน่ลูก ลูกควรลุกแต่เช้าตรู่ แล้วนอบน้อมทิศทั้งหลายดังนี้ ธรรมดาถ้อยคำของบิดาที่สั่งไว้ก่อนที่จะตาย ย่อมเป็นถ้อยคำอันบุตรพึงระลึกถึงจนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น คฤหบดีบุตรนั้น จึงได้ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ กระทำการไหว้ทิศทั้งหลายอย่างนั้น

ตอนเช้าตรู่ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตรนั้น กำลังนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่ ทรงดำริว่า วันนี้ เราจักกล่าวสิงคาลกสูตรอันเป็นวินัยของคฤหัสถ์แก่สิงคาลกคฤหบดีบุตร ถ้อยคำนั้นจักบังเกิดประโยชน์แก่มหาชน เราควรไปในที่นั้น ดังนี้

วันนั้น พระองค์จึงเสด็จออกแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จเข้าไป ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตรไหว้ทิศทั้งหลายอยู่อย่างนั้น จึงได้ตรัสถามสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร เธอทำอะไรหนอ

สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คุณพ่อของข้าพระพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะตายได้สั่งไว้ให้ข้าพระพุทธเจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าสักการะ เคารพนับถือ บูชาคำของคุณพ่อ จึงลุกขึ้นแต่เช้า กระทำการนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่ดังนี้

พระผู้มีพระภาค : ดูกรคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างนี้

สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลถามว่า : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด ฯ

จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้แสดงสิงคาลสูตร แก่สิงคาลมาณพ เมื่อจบแล้วสิงคาลมาณพบังเกิดความเลื่อมใส กล่าวถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต นางสิงคาลมาตาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในคราวนั้น

๐ นางสิงคาลมาตาออกบวช

จากนั้น เมื่อนางเห็นว่า สามีก็ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ประกอบกับบุตรของตนก็ได้เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุณี

ตั้งแต่บวชแล้ว กลับได้สัทธินทรีย์ประมาณยิ่ง นางไปสู่วิหารเพื่อต้องการฟังธรรม กำลังยืนมองดูพระสิริสมบัติของพระทศพลอยู่นั่นเอง ขณะนั้นพระศาสดาทรงทราบว่า นางเป็นผู้ดำรงมั่นในลักษณะแห่งศรัทธาแล้ว จึงทรงแสดงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส พระเถรีนั้นก็กระทำศรัทธาลักษณะนั่นแหละให้เป็นธุระ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว

๐ ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา

ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระสิงคาลมาตาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...พระสิงคาลมาตาเถรี (ภิกษุณี-เอตทัคคะ)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6719

:b45: ภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46460


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2022, 15:52 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2024, 14:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร