วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2015, 14:11 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระอัฑฒกาสีเถรี อดีตนางโสเภณี
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

=========================

พระท่านว่า คนเราเกิดมาเป็นอะไรอย่างไรเพราะ “เพรงกรรม” (กรรมแต่ปางก่อน) จัดสรรให้มาเกิด กรรม คือ สิ่งที่เราทำด้วยเจตนา ไม่ว่าเราจะทำดีหรือไม่ดีล้วนแต่ออกจากเจตนา (ความตั้งใจ) ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้รับผลจากการกระทำ ก็คือได้รับผลจากเจตนาของเราเอง

ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า การที่เราเกิดมาจนมิใช่เกิดมาโดยบังเอิญ ดังคำพูดว่า “บังเอิญเกิดมาจน” หากแต่ตั้งใจเกิดมาจนเองต่างหากเล่า

อ้าว คุณตั้งใจทำกรรมอันเป็นสาเหตุให้ต้องเกิดมาจน ก็เท่ากับคุณตั้งใจเกิดมาจนนั่นแหละ อย่าเถียง ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ตรัสว่า

คนชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไร้เมตตา ตายไปตกนรก เกิดมาใหม่เป็นคนอายุสั้น

คนชอบเบียดเบียนสัตว์ ตายไปตกนรก เกิดมาใหม่เป็นคนขี้โรค

คนมักโกรธพยาบาทคนอื่น ตายไปเกิดเป็นคนมีผิวพรรณทราม ไม่สวย

คนขี้อิจฉาไม่มีความเคารพอ่อนน้อม ตายไปเกิดเป็นคนที่ไม่มีอำนาจ

คนกระด้างถือตัว ตายไปเกิดในตระกูลต่ำ

คนชอบเสวนาผู้รู้ สนใจไถ่ถามเรื่องบุญและบาป ตายไปเกิดเป็นคนฉลาด

คนที่อายุยืน ไม่มีโรค หล่อหรือสวย มีชาติสกุลสูง ฉลาด ก็เพราะทำกรรมตรงกันข้ามกับข้างต้น


เรื่องกรรมและผลแห่งกรรมเป็น “พุทธวิสัย” พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้นจะรู้ได้ ปุถุชนคนมีกิเลสไม่สามารถหยั่งรู้ได้ จึงไม่ควรคิดให้ปวดสมองว่ามันเป็นไปได้อย่างไร

ข้อสำคัญ เราพึงสังวรสำรวจตัวเรามิให้พลาดทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่งามเป็นใช้ได้

ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ภิกษุณีนางหนึ่งด่าภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่งว่า “อีนางแพศยา” ด้วยความโกรธ ด้วยสาเหตุใดไม่แจ้ง ภิกษุณีรูปนั้นในชาตินั้นไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร เพราะทำกรรมหนัก คือ “ว่าร้ายพระอริยเจ้า” (อริยุปวาท) อันเป็นหนึ่งใน “กรรมหนัก” (อนันตริยกรรม) ๕ ประการ

หลังจากใช้กรรมในนรกหมดแล้ว นางกลับมาเกิดใหม่ในพุทธกาลนี้ เป็นบุตรีของตระกูลเศรษฐีในเมืองแคว้นกาลี ก็คงกุศลกรรมบางอย่างแหละที่บันดาลให้นางมาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐี

แต่เศษบาปกรรมเก่าก็ยังมีอยู่ จึงทำให้ชีวิตนางผันผวนกลายเป็นนางคณิกา (หญิงโสเภณี) ในที่สุดลูกเศรษฐีกลายเป็นหมอนวดโสเภณี

นางอัฑฒกาสีชื่อเสียงเรียงใดไม่แจ้ง ที่ได้ชื่อว่า “อัฑฒกาสี” เพราะว่า “ค่าตัวเธอแพงหูฉี่” ใครจะร่วมอภิรมย์กับนางเพียง “ประตูเดียว” ก็ราคาเท่ากับครึ่งหนึ่งของภาษีแคว้นกาสีเก็บได้ในวันหนึ่ง

ว่ากันว่า แคว้นกาสีเก็บส่วยได้วันหนึ่งตกประมาณพันกหาปณะ ครึ่งหนึ่งของหนึ่งพันก็คือ ห้าร้อยกหาปณะ เพราะเหตุนี้นางจึงมีชื่อเรียกขานว่า “อัฑฒกาสี” แปลว่า ราคาครึ่งหนึ่งของภาษีของแคว้นกาสี

นางอัฑฒกาสีมีอาชีพ “ขายเนื้อสด” อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมารู้สึกเบื่อหน่ายในอาชีพของตน คิดอยากบวชเป็นภิกษุณี พวกนักเลงล่วงรู้ความลับของนาง จึงพากันไปดักกลางทางเพื่อจับตัวนาง

นางรู้ข่าวนั้นจึงส่งคนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า นางต้องการบวช แต่ได้ข่าวว่าพวกนักเลงดักจับตัวนางระหว่างทาง จะให้ทำประการใด

พระพุทธองค์ทรงส่ง “ทูต” ไปทำพิธีอุปสมบทให้นาง การอุปสมบทของนางจึงเป็นการอุปสมบทแบบที่เรียกว่า “ทูเตนะอุปสัมปทา” (การอุปสมบทโดยผ่านทูต)

สมัยนั้นในหมู่ภิกษุสงฆ์ มีการบวชอยู่ ๒ ประเภท คือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา (การบวชที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้เอง) กับ ทูเตนะอุปสัมปทา (การบวชผ่านทูต) การบวชของภิกษุณีมีอยู่ประการเดียว และต่อมาก็มีการบวชผ่านทูตเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์ พระอัฑฒกาสีเถรี จึงเป็นรูปแรกที่ได้รับการอุปสมบทแบบนี้


พระอัฑฒกาสีเถรี หลังจากบวชแล้วก็ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา ทันทีที่ได้บรรลุพระอรหัต พระอัฑฒกาสีเถรีได้เปล่งอุทาน อันประกอบด้วยปีติปราโมทย์ว่า

“แคว้นกาสีได้ส่วยประมาณเท่าใด คนเขาตั้งราคาของเราเท่ากับกึ่งหนึ่งของส่วยของแคว้นกาสี ต่อมาเราเบื่อหน่ายในรูปโฉมโนมพรรณของเรา เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัดยินดีในรูปโฉม คิดว่าเราอย่าได้เวียนเกิดเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอีกเลย (จึงออกบวช) เราได้บรรลุวิชชาสามประการแล้ว ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้ว”


ว่ากันว่าคนที่เวียนว่ายอยู่ในทะเลกามนานเข้าอาจถึง “จุดอิ่ม” เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ เมื่อคนเช่นนี้เกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ไม่มีทางที่จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้ เพราะรู้สึก “เอียน” มาก ดุจเดียวกับ “คอทองแดง” บางคนเมาหัวราน้ำ วันดีคืนดีอาจหันหลังให้สุรายาเมาอย่างเด็ดขาด ก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว

พระอัฑฒกาสีก็เป็นคนประเภทนี้ เมื่อนางออกบวชจึงบรรลุธรรมชั่วระยะเวลาไม่นานเลย บุญบารมีแต่ปางก่อนที่ได้บวชเป็นภิกษุณี ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ก็คงมีส่วนหนุนส่งให้ได้เบนชีวิตมาในพระศาสนา และได้บรรลุธรรมในที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นพระท่านจึงสอนเสมอว่าให้ทำบุญกุศลไว้ให้มาก บุญกุศลนี้แหละสักวันหนึ่งจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเรา

ประวัติพระอัฑฒกาสีเถรีให้ข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนามิได้รังเกียจผู้มีเบื้องหลังชีวิตที่สังคมรังเกียจอย่างนางคณิกา นางคณิกาเมื่ออยากบวชก็ได้รับอนุญาตให้บวชเช่นเดียวกับคนทั่วไป

พระพุทธศาสนาถือ “ศักยภาพ” เป็นสิ่งสำคัญ และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้เสมอเหมือนกัน นางคณิกา คนยากคนจน คนเกิดวรรณะชั้นต่ำที่สังคมรังเกียจ พระพุทธศาสนาให้โอกาสเขาเข้ามาพัฒนาคนได้เสมอ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ

นี้คือความใจกว้างของพระพุทธศาสนา


ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ผู้มีประสบการณ์ชีวิตอันขมขื่นมาก่อน หลังจากบวชแล้ว ประสบการณ์ตรงนั้นเองกลับเป็นเครื่องมือ หรือ “สื่อ” สั่งสอนคนอื่นได้เป็นอย่างดี

อย่างพระนางปฏาจาราที่ประสบความทุกข์จนเกือบเสียจริต พอบวชมาแล้วก็นำเอาประสบการณ์นั้นไปตักเตือนสั่งสอนภิกษุณีและสตรีอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าพระอัฑฒกาสีเถรีก็คงนำเอาประสบการณ์ชีวิตของนางมาเป็นบทเรียนแก่สตรีอื่นๆ เช่นกัน

ข้อสังเกตประการสุดท้าย ความพลาดพลั้งของพระอัฑฒกาสีเถรีในอดีตชาติที่ด่าพระอริยเจ้า ก็ช่วยให้เราสังวรมากขึ้นว่า อย่าพึงด่าว่าร้ายใครง่ายๆ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นพระอริยะหรือไม่ หาไม่พลาดพลั้งทำ “อริยุปวาทกรรม” ดุจดังพระอัฑฒกาสีในอดีตก็เป็นได้


:b8: คัดบางตอนมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: โสเภณีกับพระพุทธศาสนา (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47955

:b45: ภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46460


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2018, 18:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร