วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 21:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ

กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นวังสะโดยกำเนิดมี ๒ รูป คือ พระพากุละ และพระปิณโฑลภารทวาชะ แต่ละรูปมีประวัติน่าศึกษา ดังนี้

๏ สถานะเดิม

พระพากุละ เกิดในวรรณะไวศยะ ตระกูลคหบดี

พระปิณโฑลภารทวาชะ เกิดในวรรณพราหมณ์ เป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน มีชื่อเดิมว่า “ภารทวาชะ”


๏ ชีวิตฆราวาส

พระพากุละ หลังจากเกิดได้ ๕ วัน พวกพี่เลี้ยงได้นำไปอาบน้ำในแม่น้ำยมุนา เพื่อความเป็นสิริมงคลและความไม่มีโรค ขณะที่พี่เลี้ยงกำลังอาบน้ำให้ท่านอยู่นั้น ปลาใหญ่ตัวหนึ่งได้มาฮุบท่านไปจากมือพี่เลี้ยง ครั้นฮุบเข้าไปแล้ว ปลาใหญ่ตัวนั้นก็เกิดอาการเร่าร้อนทุรนทุราย แหวกว่ายลงมาทางใต้จนมาถึงแม่น้ำคงคาแล้วถูกชาวประมงจับได้ และขาดใจตายในเวลาต่อมาไม่นาน หัวหน้าชาวประมงเห็นว่าเป็นปลาใหญ่จึงนำไปขายให้แก่ภริยาเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี โดยหวังจะได้ราคาดี ภริยาเศรษฐีให้ชำแหละปลา ทันทีที่ผ่าท้องปลา ทุกคนในที่นั้นก็ต้องตกตะลึงเพราะเห็นเด็กชายตัวน้อยนอนอยู่ในท้องปลา ผิวพรรณผุดผ่องน่ารักและยังมีชีวิตอยู่ ภริยาเศรษฐีเห็นแล้วก็เกิดความรักจึงรับเป็นลูกและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี

ข่าวคราวเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีได้เด็กจากท้องปลาแพร่สะพัดไปทั่ว มารดาบิดาที่แท้จริงซึ่งอยู่ที่เมืองโกสัมพีได้ทราบข่าวก็ดีใจมาก จึงรีบเดินทางมาพบภริยาเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ครั้นสอบถามถึงรายละเอียดแล้วจึงแจ้งว่า นั่นคือลูกชายของตนและจะขอรับกลับไปเลี้ยงดู

ฝ่ายภริยาเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีก็ไม่ยอมให้ เพราะเกิดความรักใคร่ในตัวเด็ก ในที่สุดเมื่อตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายจึงพากันไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี แล้วกราบทูลให้ช่วยตัดสิน พระเจ้าพาราณสีทรงวินิจฉัยแล้ว จึงตัดสินให้ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์เท่ากันในตัวเด็ก เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายตกลงใจผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงดูเด็ก เพราะเหตุที่เติบโตอยู่ใน ๒ ตระกูล ต่อมาเด็กนั้นจึงชื่อว่า “พากุละ” แปลว่า “คน ๒ ตระกูล”

ท่านใช้ชีวิตอยู่ในตระกูลทั้ง ๒ อย่างมีความสุขจนกระทั่งอายุถึง ๘๐ ปี

พระปิณโฑลภารทวาชะ เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาจบไตรเพท เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน แต่ต่อมาถูกมาณพเหล่านั้นทอดทิ้งเพราะเป็นคนกินจุ จึงไปเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ และสอนมนต์อยู่ที่นั่น เนื่องจากเมืองราชคฤห์มีเจ้าลัทธิมาก ท่านในฐานะเป็นเจ้าลัทธิใหม่จึงไม่ใคร่ได้รับความนับถือ เป็นเหตุให้ได้ลาภสักการะน้อยและเลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง


๏ การออกบวช

พระพากุละ ออกบวชเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี เนื่องจากได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส

พระปิณโฑลภารทวาชะ เมื่อไปอยู่ในเมืองราชคฤห์แล้ว เห็นว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก มีความประสงค์จะได้ลาภสักการะเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา


๏ การบรรลุอรหัตผล

พระพากุละ ครั้นบวชแล้วเจริญวิปัสสนาอยู่ ๗ วัน รุ่งเช้าของวันที่ ๘ ก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระปิณโฑลภารทวาชะ เนื่องจากฉันอาหารจุอันเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า “ปิณโฑลภารทวาชะ” (ภารทวาชะ ผู้แสวงหาก้อนข้าว) ในเวลาต่อมาท่านได้เที่ยวบิณฑบาตโดยไม่รู้จักประมาณ พระพุทธเจ้าทรงทราบความจริง จึงทรงใช้อุบายแนะนำให้ท่านรู้จักประมาณในการเที่ยวบิณฑบาต และการฉันอาหาร ท่านเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำแล้วเกิดความสลดใจ จึงเริ่มเจริญวิปัสสนา ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

๏ งานสำคัญ

พระพากุละ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งใน ๕๐๐ รูปที่ร่วมทำปฐมสังคายนา

พระปิณโฑลภารทวาชะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้ทำงานสำคัญไว้หลายอย่างด้วยกัน เท่าที่ปรากฏหลักฐาน คือ รับคำท้าประลองฤทธิ์ ช่วยเพื่อนให้เป็นสัมมาทิฎฐิ และแสดงธรรมโปรดพระเจ้าอุเทน

- รับคำท้าประลองฤทธิ์ เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองราชคฤห์ เศรษฐีคนหนึ่งมีความประสงค์จะทราบว่า มีพระอรหันต์อยู่ในโลกหรือไม่ จึงนำบาตรไม้จันทน์ไปแขวนไว้ในที่สูงแล้วท้าว่า หากพระอรหันต์มีอยู่ในโลกจริง ให้เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์นั้นลงมา เศรษฐีเมืองราชคฤห์กำหนดเวลาไว้ ๗ วัน พระมหาโมคคัลลานะเห็นว่า ๖ วันแล้ว ยังไม่มีใครเหาะขึ้นไปนำบาตรลงมาตามคำท้า ท่านเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา ด้วยโดยคนทั่วไปจะเข้าใจผิดได้ว่าไม่มีพระอรหันต์อยู่ในโลกจริง และวันนั้นเป็นวันที่ ๗ ซึ่งครบกำหนดตามที่เศรษฐีเมืองราชคฤห์ขีดเส้นตายไว้ จึงบอกพระปิณโฑลภารทวาชะซึ่งกำลังยืนห่มจีวรอยู่ด้วยกันเพื่อออกบิณฑบาต ให้เหาะขึ้นไปนำบาตรไม้จันทน์ลงมา พระปิณโฑลภารทวาชะทำตามที่พระมหาโมคคัลลานะบอก โดยท่านได้เข้าจตุตถฌาน พอออกจากฌานแล้วก็อธิษฐานให้ตัวเบาจนเหาะได้ ท่านเอานิ้วเท้าคีบหินแผ่นใหญ่เหาะเวียนรอบเหนือเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ จากนั้นจึงทำลายก้อนหินให้แหลกละเอียด แล้วไปยืนอยู่บนยอดเรือนของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ เศรษฐีเห็นแล้วเกิดศรัทธายอมรับว่า ท่านเป็นพระอรหันต์จริง จึงคว่ำหน้านอนราบกับพื้น แล้วอ้อนวอนให้ท่านลงมาจากยอดเรือน ผลของการแสดงฤทธิ์ของท่านครั้งนั้น ทำให้เศรษฐีเมืองราชคฤห์เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย

- ช่วยเพื่อนให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่เช่นกัน เรื่องมีอยู่ว่า พระปิณโฑลภารทวาชะมีความประสงค์จะช่วยเพื่อนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้เห็นประโยชน์ของการให้ทาน จึงกล่าวแนะนำ ครั้งแรกเพื่อนของท่านไม่เห็นด้วย เพราะสำคัญไปว่าท่านต้องการจะให้ตนเสียทรัพย์ ท่านเองก็ไม่ละความพยายามที่จะอธิบายให้เพื่อนเข้าใจ เหตุที่เพื่อนของท่านไม่ยอมเข้าใจเพราะยังฝังใจอยู่กับความรู้สึกเก่าๆ ที่ว่าท่านเป็นคนกินจุ จึงทำให้เขาเห็นไปว่า การที่ท่านมาบอกให้เขาให้ทาน ก็เพราะเพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง แต่ในที่สุดด้วยความปรารถนาดีของท่าน จึงทำให้เพื่อนเข้าใจ เกิดความเลื่อมใส คลายจากความเห็นผิด ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย

- แสดงธรรมโปรดพระเจ้าอุเทน เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองโกสัมพี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เรื่องมีอยู่ว่า ในฤดูร้อนวันหนึ่ง พระปิณโฑลภารทวาชะได้ไปพักกลางวันที่โคนต้นไม้ในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนได้เสด็จมาพบและได้ตรัสสนทนากับท่านดังนี้

พระเจ้าอุเทน : พระคุณเจ้าภารทวาชะ เหตุใดพระหนุ่มๆ ที่อยู่ในวัยคะนองจึงประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรัก

พระปิณโฑลภารทวาชะ : เพราะพระเหล่านั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้มองดูหญิงเป็นเหมือนมารดา พี่สาว น้องสาว ลูกสาว

พระเจ้าอุเทน : ขึ้นชื่อว่า จิตเป็นธรรมชาติโลเล แม้จะมองดูหญิงเป็นเหมือนมารดา พี่สาว น้องสาว ลูกสาว แต่บางครั้งเราก็ยังรัก แต่เหตุใดพระหนุ่มๆ ที่อยู่ในวัยคะนองจึงประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์ตลอดชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรัก

พระปิณโฑลภารทวาชะ : เพราะพระเหล่านั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาดูร่างกายเป็นของไม่สะอาด

พระเจ้าอุเทน : พระคุณเจ้าภารทวาชะ พระที่อบรมกาย จิต และปัญญามาดีแล้ว จึงจะนึกตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนได้ แต่พระที่ไม่ได้อบรมกาย จิต และปัญญา ยากที่จะนึกตามได้ เพราะบางคราวเราอยากนึกว่าไม่สวย แต่กลับเห็นไปว่าสวย แต่เหตุใดพระหนุ่มๆ ที่อยู่ในวัยคะนอง จึงประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต

พระปิณโฑลภารทวาชะ : ขอถวายพระพร เพราะพระเหล่านั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกายและนึกคิดเรื่องราวต่างๆ โดยมิให้ยึดถือ มิให้กำหนดหมาย มิให้เกิดความยินดียินร้าย

คำสอนนั้นมีผลทำให้พระเจ้าอุเทนเข้าใจถึงชีวิตของพระในพระพุทธศาสนา แล้วเกิดความเลื่อมใสประกาศพระองค์นับถือพระรัตนตรัย


๏ บั้นปลายชีวิต

พระพากุละ แม้จะบวชเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก ๘๐ ปี รวมอายุได้ ๑๖๐ ปี วันนิพพาน ท่านนั่งเข้าเตโชสมาบัติท่ามกลางพระสงฆ์ แล้วอธิษฐานให้เกิดไฟลุกไหม้ร่างกายของท่านหลังจากนิพพานแล้ว เพื่อศพของท่านจะได้ไม่เป็นภาระแก่บุคคลอื่นต่อไป

พระปิณโฑลภารทวาชะ แม้จะไม่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่าน แต่ก็สันนิษฐานได้ว่า ท่านคงจะมีชีวิตอยู่จนถึงช่วงหลังพุทธปรินิพพาน


๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

พระพากุละ และพระปิณโฑลภารทวาชระ ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะทั้ง ๒ รูป พระพากุละ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านไม่มีอาพาธ ส่วนพระปิณโฑลภารทวาชะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบันลือสีหนาท

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอสีติมหาสาวก ๒ รูปนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ตามความสามารถในชาติปัจจุบัน และตามที่ท่านตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ

พระพากุละ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าอโนมทัสสี ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองจันทวดี เมื่อเจริญวัยแล้วได้ศึกษาไตรเพท ครั้นจบแล้วเห็นว่าไม่มีสาระพอที่จะเปลื้องตนให้พ้นทุกข์ได้ จึงสละเพศฆราวาสออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญฌานจนได้บรรลุสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอโนมทัสสี และฟังธรรมจากพระองค์ คราวหนึ่งพระพุทธเจ้า ทรงประชวรด้วยพระโรคลม ท่านทราบแล้วจึงไปยังเชิงเขา เก็บเอาพันธุ์ไม้ต่างๆ มาปรุงเป็นพระโอสถถวาย ครั้นพระพุทธเจ้าเสวยแล้วพระโรคลมก็สงบ

ท่านเกิดปีติโสมนัส จึงตั้งความปรารถนาว่า ไม่ว่าจะเกิดในชาติใด ขออย่าได้เป็นโรคแม้แต่เพียงปวดศีรษะ จากชาตินั้นท่านไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลก ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าปทุมุตตระนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านไม่มีอาพาธ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณ แล้วทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล และจักได้รับเอตทัคคะด้านไม่มีอาพาธ”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านออกบวชเป็นฤาษีและได้บำเพ็ญฌานจนได้บรรลุสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ต่อมาได้เฝ้าพระพุทธเจ้าและฟังธรรมอยู่เนืองๆ และนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คราวหนึ่งเห็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าอาพาธด้วยโรคปวดศีรษะ อันเนื่องมาจากละอองเกสรดอกไม้พิษ ซึ่งปลิวมาจากป่าหิมพานต์ จึงออกไปรวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ มาปรุงเป็นยาถวายพระสาวกเหล่านั้น

พระสาวกทั้งหลายฉันแล้วก็หายจากโรคปวดศีรษะอย่างฉับพลัน จากชาตินั้นท่านไปเกิดเป็นพรหมอยู่พรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลกก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ


ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี ได้ทำบุญสำคัญคือสร้างวัดให้พระได้อยู่ปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งจัดหายามาไว้ให้พระยามเจ็บป่วย ท่านยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีเมืองโกสัมพี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ ในปัจจุบันชาติที่แม้จะมีอายุ ๘๐ ปีแล้วก็ยังไม่เคยเจ็บป่วย พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านไม่มีอาพาธดังกล่าวมาแล้ว

พระปิณโฑลภารทวาชะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นราชสีห์อยู่ที่ภูเขาจิตรกูฎ ซึ่งอยู่ด้านหน้าป่าหิมพานต์ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ ทรงเห็นว่าราชสีห์มีอุปนิสัยสมควรโปรด จึงได้เสด็จไปยังถ้ำของราชสีห์ เวลาที่ราชสีห์ออกไปหากิน ก็เสด็จเข้าไปในถ้ำ แล้วประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่กลางอากาศภายในถ้ำนั้น พระรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากพระวรกาย

ราชสีห์กลับจากหากิน เห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติ แผ่พระรัศมีอยู่ภายในถ้ำแล้วเกิดความเลื่อมใส กุศลวิบากที่สะสมไว้แต่อดีตชาติกระตุ้นเตือนให้ปรารถนาจะทำพุทธบูชา จึงออกไปคาบดอกกรรณิกามาปูเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้า โดยเริ่มปูจากพื้นดินให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงช่วงที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งในอากาศนั้น จากนั้นราชสีห์ก็ได้ยืนกระโหย่งประคองดอกบัวบูชาพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้าก็คาบดอกไม้เก่าทิ้ง แล้วนำดอกไม้ใหม่มาปูเป็นอาสนะถวายอีก ราชสีห์ทำอยู่อย่างนี้ตลอด ๗ วัน วันสุดท้ายพระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงออกจากนิโรธสมาบัติ มาประทับอยู่ที่ประตูถ้ำ ราชสีห์ทำประทักษิณ (เดินเวียนขวา) ถวายพระพุทธเจ้า ๓ รอบแล้วบันลือสีหนาท พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เจ้าซึ่งเกิดเป็นคนแล้ว จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ และจักได้บรรลุอรหัตผล ได้รับเอตทัคคะด้านบันลือสีหนาท”

ครั้นตรัสพยากรณ์แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จจากไป ราชสีห์มองตามพระพุทธเจ้าเสด็จด้วยความรักและอาลัยอย่างสุดซึ้ง จนไม่สามารถจะข่มไว้ได้ จึงหัวใจแตกตายในที่สุด ด้วยจิตที่ยังผูกพันในพระพุทธเจ้า ตายจากชาตินั้นแล้วก็กลับมาเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี เมื่อเจริญวัยได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมเนืองๆ และได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้เกิดเป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วได้บันลือสีหนาท คือ ประกาศให้ผู้ที่ยังมีความสงสัยในมรรคและผลถามท่านได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบันลือสีหนาทดังกล่าวมาแล้ว

๏ วาจานุสรณ์

พระพากุละ วันที่จะนิพพาน พระจำนวนมากมาประชุมกันเพื่อเยี่ยมท่านและถวายสักการะ ท่านได้ให้โอวาทพระเหล่านั้นว่า

ผู้ใดเอางานที่ควรทำก่อนมาทำทีหลัง
ผู้นั้นย่อมพลาดจากฐานะที่จะนำสุขมาให้
และย่อมเดือดร้อนภายหลัง
บุคคลควรพูดอย่างที่ทำ แต่ไม่ควรพูดโดยยังมิได้ทำ
บุคคลที่พูดแต่ไม่ทำ บัณฑิตย่อมกำหนดได้ว่ามีมาก


พระปิณโฑลภารทวาชะ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ท่านมีความประสงค์จะช่วยเพื่อน ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้รู้จักให้ทานเป็นการเสียสละ แต่เพื่อนไม่เข้าใจ กลับคิดว่าท่านทำเพื่อตัวท่านเอง เพื่อให้เพื่อนเข้าใจที่ถูกต้อง ท่านจึงกล่าวว่า

ชีวิตของเรานี้ เป็นอยู่อย่างเหมาะสม
อาหารอย่างเดียว ไม่ทำให้จิตสงบได้
เมื่อก่อนนี้เราเห็นแต่เพียงว่า ร่างกายอยู่ได้ด้วยอาหาร
จึงออกแสวงหาการไหว้ การบูชา จากตระกูลทั้งหลายนั้น
ซึ่งผู้รู้ทั้งหลาย เรียกกันว่า เปือกตม
มันเป็นลูกศรที่แหลมลึก ถอนออกยาก
คนต่ำช้าเท่านั้นจึงจะละสักการะได้ยาก


คำพูดนี้ทำให้เพื่อนผู้เป็นมัจฉาทิฏฐิเข้าใจท่านได้ถูกต้อง เขากลายเป็นสัมมาทิฎฐินับแต่วันนั้น


:b8: :b8: :b8:

:b39: ที่มา : :b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: :b8: :b8: ผนังพระระเบียง วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เป็นรูปนูนของพระอสีติมหาสาวก ในท่ายืนประนมมือ
น่าจะมีวัดเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: พระอสีติมหาสาวก : ความรู้ทั่วไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62111

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62110

:b44: พระอสีติมหาสาวก : พระนาลกะ-พระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62109

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มเพื่อนพระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62108

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62107

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62106

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62105

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62104

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62103

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระมาณพ ๑๖
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62102

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62101

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62100

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62099

:b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 18:14 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร