วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 04:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2023, 10:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ก.พ. 2007, 20:39
โพสต์: 174


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ทัศนะสู่ธรรม เรื่อง ความคิด จิตก่อนคิด
โดย อ.โกวิท เอนกชัย (ท่านเขมานันทะ)
เสวนาธรรม ณ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๐

ผมไม่ได้มาบรรยายที่นี่ แต่ก็เหมือนเดิม ทุกครั้งที่เริ่มบรรยาย สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ผมไม่รู้จะพูดอะไร ความไม่รู้นี่ปรากฏขึ้นอย่างมโหฬาร เพราะว่าสิ่งที่เราเรียกกัน หรือได้ยินในนามของสภาวะทั้งของตัวเองและของโลก อยู่นอกถ้อยคำของความคิดของเรา ดูเหมือนว่าความจริงของธรรมชาติ ซ่อนตัวอยู่ซึ่งๆ หน้า ดังนั้น ด้วยอาศัยสื่อภาษาซึ่งเป็นที่มาของความคิด รังแต่ทำให้จิตสร้างโลกของมันเองขึ้น

เรามักได้ยินในนามของ ค่าสมมติและเรามักจะได้ยินคู่เปรียบว่า ค่าปรมัตถ์ ค่าสมมติหมายถึงว่า มนุษย์สร้างคุณค่าขึ้น อย่างเช่นตัวอย่าง ทองคำ ซึ่งมนุษย์เท่านั้นที่รู้สึกว่ามีคุณค่ามหาศาล ในขณะที่ดินเหนี่ยว ก้อนดิน ขี้ฝุ่น ก็กลายเป็นสิ่งไร้ค่าไม่มีมูลค่า

แต่ผมคิดว่าทุกคนพอจะนึกตามได้ ในหมู่สัตว์ ไม่ว่าจะเป็นลิง หรือเป็นไก่ หรือปลา หรือนก จะรู้สึกว่าดินเหนียวกับทองคำนั้นแตกต่างกันไม่มาก อาจจะต่างกันตรงสีสรรค์ แต่มูลค่านั้นทัดเทียมกัน คือเป็นศูนย์ ไม่ได้เป็นบาท ไม่ได้เป็นสตางค์ ไม่ได้ดีไม่ได้ชั่วอยู่ในตัวมันเอง

พูดแบบคติธรรมโบราณนะครับว่า การที่เราได้พบปะกันในห้องประชุมนี้ คติโบราณที่เชื่อกันก็คือ อาจจะเป็นครั้งอดีตแต่ปางหลังเราเคยทำบุญร่วมกันไว้ ไม่เช่นนั้นทำไมจะต้องมาพบกัน ในพระคัมภีร์ศักสิทธิ์พราหมณ์โบราณพูดไว้นะครับว่า ผู้ที่รับพระพุทธศาสนา หรือมีความซาบซึ้งในคำสอน ของพระพุทธเจ้านั้น ครั้งอดีตเคยตั้งจิตปรารถนาจะเป็นพุทธะมาแล้วทั้งสิ้น และผู้ที่เคยปรารถนาจะเป็นพุทธะหรือเข้าให้ถึงพุทธะก็จะรู้ธรรมะได้ ส่วนผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเข้าไม่ถึง ก็จะรู้ธรรมอีกระดับหนึ่ง


ในบรรดาประดิษฐ์กรรมที่ล้ำเลิศที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบหรือประดิษฐ์ได้ ไม่มีสิ่งใดที่มีอานุภาพร้ายแรงเท่ากับภาษา ระเบิดปรมณูหรือขีปนาวุธ หรืออะไรๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง นั้นยังเป็นรอง ถ้าปราศจากภาษาเสียแล้ว การค้นพบประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ อื่นๆ ก็เป็นไปไม่ได้

โดยการค้นพบภาษา และพัฒนาภาษาให้กว้างขวางขึ้น มนุษย์ก็ใช้สื่อสารกัน ติดต่อกันรู้เรื่อง ถ่ายทอดประสบการณ์จากอนุชนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ ถ้าไม่มีภาษาไม่สามารถถ่ายประสบการณ์นั้นได้ ไม่ว่าเป็นภาษาเขียน ภาษาพูด หรือภาษาสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน

แต่ในที่สุด ประสิทธิภาพอันสูงส่งของภาษาก็กลับกลายเป็นตาข่ายที่ครอบคลุมโลกที่แท้จริง เราคิดด้วยภาษาของเรา ถ้าผู้ที่เคยเดินทางไปต่างประเทศจะพบว่า เราเข้าใกล้กลุ่มฝรั่ง หรือกลุ่มชาวญี่ปุ่น ถ้าตัวเองเคยรู้ภาษานั้นบ้าง ก็เริ่มคิดแบบภาษาอังกฤษ หรือภาษาญี่ปุ่น ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ

รวมความว่ามนุษย์เราคิดด้วยภาษาของเรา เวลาเราคิดเรากำลังพูดอยู่ข้างใน และในความคิดนั้นก็คือ มีมโนภาพปรากฏขึ้น เราคิดเป็นสิ่งๆ เช่น นาย ก. คิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะคิดถึงทุกสิ่งไม่ได้ครับ ไม่เชื่อท่านผู้ฟังลองปฏิบัติดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ครับ คิดถึงทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เลยไม่มีสักอย่างเดียว เมื่อจะคิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด มโนภาพของสิ่งนั้นก็จะปรากฏขึ้น

ดังนั้น บนจอใจของมนุษย์ มีสิ่งมหัศจรรย์ในการเนรมิตขึ้น สิ่งที่เราคิดขึ้นส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นเรื่องของอดีตถูกเนรมิตขึ้นใหม่ ดังนั้นวิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความคิดจึงเป็นวิถีชีวิตที่เป็นกระบวนการหยุดยั้งรั้งรออยู่ในอดีต เหมือนคนที่จมอยู่ในความคิด คือคนที่ขาดความสัมพันธ์โดยตรงกับปัจจุบัน ส่วนอนาคตนั้นเล่า ที่จริงเป็นเพียงอดีต ที่มันโผไปข้างหน้าเท่านั้นเอง ที่คาดการณ์ไป

ขบวนการดำรงอยู่ของมนุษย์เรากลับกลายเป็นกระบวนย้อนหลัง เมื่อผมคิดถึงจังหวัดที่เคยอาศัยอยู่ภาพของอดีตก็จะปรากฏขึ้น มโนภาพปรากฏขึ้นในจอใจ และผมไม่รู้ตัวในขณะนั้นๆ มโนภาพปรากฏขึ้นก็จะควบคุมจิตใจของผมโดยทั้งหมด และก็เริ่มมีอารมณ์ อาลัยอาวร หรือดีใจหรือเสียใจ อย่างหนึ่งอย่างใด

แต่ทว่า ในขณะที่มโนภาพปรากฏขึ้นต่อจิต โปรดสังเกตผมใช้สองถ้อยคำนะครับว่า มโนภาพปรากฏ “ในจิต” เราจะถูกควบคุมทันทีจากมโนภาพนั้นเพราะเราไม่รู้ตัวครับ เพราะสิ่งที่เกิดในจิตทั้งหมด เป็นมายาภาพทั้งสิ้น เราสามารถนึกคิดได้สารพัดสิ่ง แต่ถ้าในขณะที่มโนภาพเริ่มปรากฏขึ้นแล้วปรากฏ “กับจิต” ไม่ใช่ในจิต ในขณะนั้นๆ เอง ความลับของการดำรงอยู่ ก็จะถูกเปิดเผยขึ้น นั่นคือ อารมณ์แยกตัวจากจิต เมื่ออารมณ์แยกตัวจากจิต ทั้งอารมณ์ทั้งจิตไม่มีรากทั้งคู่ เปรียบประดุจกับคลื่นสองลูกกระแทกกันเต็มแรง ผลก็คือกระจายหายสูญไปเลย

ลองพิเคราะห์บางสิ่งดูนะครับว่า เรามีตาสำหรับเห็นรูป ถ้าไม่มีรูปให้ดูเลยตาจะละลายไปด้วยครับ ตาจะค่อยๆ หมดหน้าที่ หรือแขนที่ใช้แกว่งไกวและจับต้อง ถ้าเราไม่ใช้แขนนานๆ มันจะลีบครับ มันจะลีบเข้าลีบเข้า ดูเหมือนอวัยวะหรือองค์อินทรีย์ทุกส่วนมีหน้าที่ใช้สอยควบคู่กับอารมณ์ที่เข้ามาประกอบ ถ้าอารมณ์ไม่ปรากฏ อินทรีย์ก็จะหมดหน้าที่ลงหมดกิจลง ในขณะเดียวกันเมื่ออินทรีย์ไม่ทำหน้าที่ของอินทรีย์ อารมณ์ก็จะจบลงด้วย สองสิ่งนี้มา และไปด้วยกัน

ดังนั้น ในขณะที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏกับจิต โปรดสังเกตอีกครั้งนะครับว่า ผมไม่ได้ใช้คำว่าเกิดในจิต อารมณ์เกิดในจิตนั้นเรารู้ไม่ทันครับ เปรียบประดุจกับการฉายภาพยนต์บนจอ ถ้าเราเพลิดเพลินในท้องเรื่อง ที่ภาพยนต์เรื่องนั้นสรรแต่งขึ้น เราเข้าไปในเนื้อเรื่อง หรือเนื้อเรื่องก็มีทั้งสุขทั้งเศร้าทั้งโศก ทั้งอารมณ์ดีใจและเสียใจ เราจะเพลินไปในเนื้อเรื่องเหล่านั้นในภาพยนต์

แต่สมมติว่าเราเปลี่ยนท่าทีของการดูภาพยนต์ แทนที่จะดูเอาภาพยนต์ เอาเนื้อเรื่อง เอาอารมณ์ตามท้องเรื่อง เรากลายเป็นนักสำรวจอิสระ เราดูภาพ หรือบางครั้งเราเปิดโทรทัศน์ ที่ภาพบรรยายเป็นภาษาที่เราไม่เข้าใจ เราเห็นแต่ตัวละครอ้าปากหุปปาก กระพริบตา เดินหน้าเดินหลัง เสียงได้ยินอยู่แต่เราไม่เข้าใจความหมาย นั่นแสดงว่าเราถอนตนจากการตามติดเนื้อเรื่องไป มาเป็นผู้สำรวจอิสระ ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่สำคัญนะครับ ไม่ได้แนะให้ไปนั่งดูทีวีด้วยวิธีนี้นะครับ เพียงแต่ยกตัวอย่างให้ดู

ต่อจากนั้นพวกเราเริ่มสังเกตุให้กระชั้นชิดขึ้นอีก เราเริ่มเห็นลำแสง อย่างภาพยนต์กลางแจ้ง เราก็เห็นลำแสง พุ่งมาจากเครื่องฉาย เราค่อยๆ เลื่อนสายตา เลื่อนความสังเหตุ จากการเข้าไปในเนื้อเรื่อง มาสู่ภาพล้วนๆ และเสียงล้วนๆ ซึ่งเราไม่รู้เรื่อง ไม่มีความหมาย ไม่นำเราไปสู่อารมณ์ใด เพียงแต่ได้ยินได้ฟังได้เห็น ได้สัมผัสเท่านั้น เราเริ่มาเห็นลำแสง และในที่สุดเราเลื่อนมาถึงตัวเครื่องฉาย จากนั้นอีกเสี้ยววินาทีเดียว เราเห็นคนหนึ่งยืนฉายสิ่งนี้อยู่

ผมสร้างอุปมานี้ขึ้นมาเพื่อว่า จะค้นหาวิธีอธิบายว่า เมื่อเราเจริญวิปัสสนานั้นเราต้องทำอย่างไร การเจริญวิปัสสนาไม่ใช่การ มุ่งคิดให้แตกหัก ในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอย่างนั้นก็ได้ครับ แต่ก็จะเป็นข่ายของสมมติทั้งสิ้น ต่อให้เราคิดเป็นเดือน เป็นปี เป็นสิบปี ยี่สิบสามสิบปี ร้อยปี อย่างดีที่สุดของการใช้ความคิดปรุงแต่งเพื่อเข้าใจโลก เข้าใจสัจจะธรรม หรือธรรมชาติ

อย่างดีที่สุดก็คือ เราปราดเปรื่องแตกฉานในความคิด แต่ดูเหมือนเราจะไม่สามารถ นำผลได้อันนั้นไปจัดการกับความทุกข์ยากที่เราเผชิญหน้าจริงๆ อย่างโดดเดียวได้ หมายถึงว่า แม้จะทำมากในแง่นั้น แต่ผลจะน้อยนิดมากๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับการกระทำ แม้น้อยนิด แต่จะมีผลมากมายอย่างคาดไม่ถึง นั่นก็คือ การถอนตนจากความคิด


คงอาจจะต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเราถอนตนจากความคิดแล้ว เราจะกลายเป็นคนไม่มีหัวคิดหรือเปล่า และเราจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่ความคิดให้ความหมายและสวัสดิการณ์แก่เรา คนที่คิดมากคิดเก่ง คิดชัดเท่าไร เขาน่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องนี้คงไม่มีใครโต้แย้งหรือโต้เถียงได้นะครับ แต่ขอให้สังเกตสิ่งหนึ่งก็คือ เพราะความคิดอันมากมายใช่หรือเปล่าครับ ที่ทำให้เราทุกข์หนัก ทุกข์วิกฤติการณ์ทั้งหมดมันมาทางความคิดครับ

เราก็เผชิญหน้าสองด้านแล้วครับ ทำอย่างไรเราจึงไม่สูญเสียความคิด แต่เราไม่จำเป็นต้องทุกข์กับความคิดด้วย เมื่อความต้องการของเราดูจะขัดแย้งกันในตัว บางครั้งบางคืนเรานอนไม่หลับ แล้วสาเหตก็คือ เราไม่อาจหยุดยั้งความคิดของเราได้ เราไม่อยากจะคิดเลยเรื่องนั้น เรารู้ว่าถ้าขืนคิดเราจะเจ็บปวด แต่เราอดไม่ได้ เรารู้ดีว่ากรณีเช่นนี้เราไม่อยากจะโกรธ โกรธแล้วมันเหนื่อย เจ็บปวด โรคภัยไข้เจ็บจะรุมเร้า แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะต้องโกรธ

เรามีสติกันทุกคนนะครับ เว้นไว้แต่เราเป็นคนวิกลจริตนั้นก็เป็นความพิการหรืออาภัพพะ แต่คนทุกคนจะต้องมีสติ และเราก็มักจะได้ยินถ้อยคำที่กล่าวว่า ใช้สติตัวเดียวละทุกสิ่งทุกอย่างได้ ผมคิดว่าเราเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ สติไม่ใช่ตัวละเลย เป็นเพียงตัวการที่จะนำเรา ไปเผชิญกับความจริงเท่านั้น ส่วนตัวละเป็นอีกตัวหนึ่ง

เพื่อไม่ให้เป็นการลังเล ในข้อแนะของผมนะครับ ผมจะยกพุทธภาษิตขึ้นมาสำทับไม่ใช่เพื่ออวดภูมินะครับ ที่จริงพุทธภาษิตเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่มีมิติที่ลุ่มลึก ตีความได้หนึ่งชั้น สองชั้น สามชั้น หรือที่สุดก็ได้ เช่นยกตัวอย่าง พระพุทธเจ้าบอกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอรู้จักรูป เธอจักปรินิพพาน ฟังดูง่ายดีครับ รูปเราก็เห็นอยู่รู้จัก แต่เรายังมีปัญหายุ่งยาก

บางครั้งท่านบอกว่า เธอรู้จักเวทนา เธอจักปรินิพพาน เธอรู้จักวิญญาณ เธอจักปรินิพพาน แต่สำหรับประการหลังนั้นสำคัญมาก บางครั้งท่านบอกว่า เมื่อรู้จักวิญญาณ โดยความเป็นวิญญาณ ชื่อว่าอยู่ชิดประตูพระนิพพาน พอรู้จักจิตโดยความเป็นจิต ไม่ใช่โดยความคิดของเรา เราคิดว่ามันมีจิต อย่างนี้ไม่ใช่จิตครับ เป็นภาพสะท้อนของจิตแล้ว

เช่นเดียวกับที่ผมเคยยกตัวอย่างบ่อยๆ ในที่นี้นะครับว่า เราคิดว่าเราเป็นเรา ที่จริงภาวะที่เรารู้จักเป็นภาพสะท้อนเท่านั้น ผมชอบจะยกตัวอย่างว่า เมื่อเรายืนต่อหน้าแม่ เราก็รู้สึกว่าเราเป็นใครคนหนึ่งที่เป็นลูก เมื่อเรายืนต่อหน้าลูก เราก็รู้สึกว่าเราเป็นใครคนหนึ่ง ที่ยืนอยู่ต่อหน้าแม่หรือลูกของเรา อันหนึ่งอันใด

ภาพสะท้อนอันนั้นเปรียบเหมือนภาพลวงตาในทะเลทราย หรือในฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด ทำให้เกิดชั้นบรรยากาศ ลำแสงที่เดินทางจากวัตถุชิ้นหนึ่งชิ้นใด เป็นต้นไม้หรือตัวอาคาร มันเกิดการสะท้อนกลับหมดครับ จากชั้นของบรรยากาศ ทำให้เราเห็นภาพมีน้ำนองอยู่ข้างหน้า แต่ครั้นพอเราเดินทางเข้าไปถึง แหล่งที่มันเกิดจริงๆ ปรากฏว่ามันไม่มีครับ พอเราถอยกลับมาที่ตำแหน่งเดิม มันปรากฏมีขึ้นอีกแล้ว

ดังนั้น ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราไม่ควรจะถกเถียงกันเลยว่า ตัวตนมีอยู่หรือไม่มีอยู่ จะพูดให้มันมี มันก็มีขึ้นน่ะครับ เรื่องไม่มีเราพูดให้มีก็มีขึ้น เรื่องความชั่วของคนอื่น เราอยากให้มีเราก็พูดเข้าเดียวก็มีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏในความคิดเป็นแสงสะท้อนครับ เพราะตัวความคิดเองนั้นคือภาพสะท้อน โลกของความคิดเป็นโลกซึ่งปรุงแต่งขึ้นจากน้ำมือและพลังมโนภาพของมนุษย์

สำหรับสัตว์เดรัจฉานบางชนิดที่มีความเฉลียวฉลาด เช่นสุนัข อาจจะมีมโนภาพแต่กินช่วงสั้นๆ ผมเคยทดลองเลี้ยงสุนัขสองตัวครับ และวันหนึ่งเค้าก็กินอาหารคือกระดูกไก่ เค้ากินไม่หมดเพราะมันมาก มีชาวบ้านคนหนึ่งเอามาให้ เค้าก็นำไปฝังครับ สุนัขก็ขุดคุ้ยฝัง แต่ผมสังเกตดูว่าเค้าลืมไป วันสองวันเค้าลืมไปว่าเค้าทำอะไร

แต่มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่นอนๆ อยู่ เค้าสะดุ้งพงกหัวขึ้นมา ผมนั่งข้างๆ ก็นึกออกว่า เขาต้องคิดอะไรออกแล้ว และเค้าวิ่งตรงไปที่ตรงนั้น ที่เค้าฝังกระดูก คุ้ยขึ้นมาแล้วก็กินมัน แสดงว่าเค้าพึ่งนึกออกครับ ความคิดนั้นเองปรากฎในจิตของเค้า มิติทางความคิดก็คือมิติทางความจำ ในสิ่งอดีต ในการกระทำครั้งอดีต และความรู้สึกครั้งอดีต

ดังนั้น คนที่ฝังแน่นอยู่ในการกระทำความรู้สึก ความจำครั้งอดีต อาจจะเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลมมาก แล้ววันหนึ่งเราก็พบว่า ในความหลักแหลมของความทรงจำนั้น ได้กลับกลายเป็นวัวพันหลัก ผมเชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจคำว่าวัวพันหลัก แต่คนรุ่นใหม่อาจจะลำบาก เพราะว่าไม่ค่อยได้เห็นวัวเท่าไร คือวัวที่มันจะดิ้นหนีไปกินหญ้ากลางทุ่ง มันยิ่งดิ้นเท่าไรมันยิ่งพันตัวมันเองเข้า ในที่สุดพอถึงชั่วขณะหนึ่งก็ล้มตึง

ทุกๆ ขณะ กระแสของความคิดไหลผ่านเรา แล้วสิ่งที่เรียกกันว่า อาสวะ ผ่านเข้ามาทางความคิด กระแสอาสวะไหลต่อเนื่องอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ชี้ตรงไปสู่การทำลายความไม่รู้ตัว เพื่อเข้าไปตัดกระแสอาสวะที่ไหลอยู่ลึก

เมื่อครู่นี้ผมพูดเอ่ยถึงคำว่าสติ ที่เราคิดว่า สติทำให้ละกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ หรือบางคนอาจอธิบายขยายถึงขนาดละอาสวะได้ด้วย แต่แล้วไม่ตรงตามที่เป็นจริงครับ สติในความหมายของคำว่ารู้ตัวนั้น มีความหมายหลายซับหลายซ้อน พุทธองค์ทรงตรัสว่า สติเป็นสิ่งที่ดี แต่สตินั้นละเวรหาได้ไม่

เวรคืออะไรครับ อย่างตอนเราเป็นนักเรียนนี่ ครูก็จัดให้ทำเวร สมัยนี้คงไม่มีแล้ว สมัยโบราณต้องจัดเวรแล้วก็อยู่เวรเฝ้าเวร คือถึงเวลาต้องทำ ดังนั้นเวรก็คือกามคุณห้านั่นเอง ถึงเวลาต้องอยู่เวรอีกแล้ว ต้องไปกระทำกันอีกแล้ว ในการเสพ ในการกิน ในการอะไรก็สุดแท้ ดังนั้นสติละเวรไม่ได้ครับ เหมือนเวลาเราโกรธ เรารู้ตัวว่าเราโกรธ แต่เราโกรธ เรายังอดโกรธไม่ได้

ผมเคยเล่าให้บางท่านในที่นี้ฟัง อยากจะเล่าซ้ำอีก ด้วยคิดว่ามันมีประโยชน์อยู่ไม่มากก็น้อย สมัยผมเป็นหนุ่มอยู่ เคยไปศึกษาธรรมะจากครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านสอนดีมากครับ โดยหลักโดยทฤษฎีแล้วคิดว่าถูกร้อยเปอร์เซ็น ถูกต้องทุกอย่าง

คือท่านสอนเหมือนที่พวกเราส่วนใหญ่ทราบกันดีว่า เมื่อราคะก็ดี โทสะ โลภะ โมหะ ปรากฏขึ้นให้เรามีสติ กำหนดรู้ว่าราคะเกิดขึ้นแล้วและให้พิจารณาว่า ราคะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเราไม่ควรยึดมั่นถือมั่น โดยหลักทฤษฎีแล้วไม่มีอะไรน่าสงสัยคลางแคลงว่าจะผิด ผมเชื่อฟังตามนั้นนะครับก็ปฏิบัติตาม

แต่โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผมแล้วพบว่า หนักขึ้นครับ เพราะเมื่อราคะ โทสะ โมหะเกิด ไปดูมันเข้ามันเลยจำอารมณ์นั้นครับ จิตของคนธรรมดาทั่วไปเห็นอะไรมันจะจำอารมณ์นั้นทันที ดังนั้นยิ่งจำมันไว้เท่าไรยิ่งหนักขึ้น พะรุงพะรังขึ้นทุกทีๆ แทนที่จะเบาโปร่ง สบายๆ ผมติดตันปัญหานี้นานปีมากครับ ไม่ใช่วันสองวัน กว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ ก็เล่นเอาเหน็ดเหนื่อย และยุ่งยากมาก

การคลี่คลายสถานการณ์นั้น ผมพึ่งมารู้ด้วยตัวของตัวเอง หมายถึงไม่มีใครมาแนะนำอีก ก็คือ แทนที่จะดูราคะ โทสะ โมหะ ผมต้องสำรวจพื้นใจก่อนหน้าที่ราคะ โทสะ โมหะ ปรากฏนั้นให้แนบแน่น ให้เป็นเนื้อเป็นตัวเลย นั่นคือ แทนที่จะเอาตัวโทสะ ราคะ โมหะ แต่เอาตัวไม่มีนะครับ เอาตัวไม่มีเป็นฐาน ปกติที่เรานั่งอยู่นี้นะครับ ไม่มีครับ

ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ราคะก็ไม่มีครับ โทสะก็ไม่มี ถ้าใครอยากจะด่าผมนี่ ผมยินดีให้ด่า เอาเลยครับ เรารู้สึกว่าเราไม่อยากด่า เราไม่อยากมีมัน แต่ เราอาจจะมีโมหะบ้าง เช่นลืมๆ ตัว เผลอก็นั่งเข้าไปในความคิด เป็นโมหะอยู่บ้าง แต่โดยพื้นเพแล้ว เราจะไม่มีครับ แต่ในขณะที่เราไม่มี โทสะ โลภะ เหล่านี้ เรามักจะไม่เข้าใจครับ เราก็ปล่อยใจคิดนึกเล่นไปเรื่อยๆ แทนที่จะดูมันแล้วก็ทำความแนบแน่นสนิทสนม

ด้วยวิถีชีวิตของคนธรรมดาสามัญ ด้วยความรู้สึกตัวง่ายๆ นี้ครับ นี่เป็นรากฐานใหญ่มากสำหรับชีวิต เพราะว่าชีวิตของมนุษย์ จะราบรื่นได้ด้วยสภาวะปกติของกายและใจนะครับ ขณะที่เรานั่งอยู่ ขณะที่เรารู้ตัวเบาๆ ปลอดโปร่งนี้นะครับ คือขณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการภาวนา ไม่ใช่ขณะที่เรากำลังอยู่ในถ้ำในป่าหรือในเขา และไม่ใช่ขณะที่เราต่อสู้เพื่อจะละ ราคะ โทสะ และโมหะ


แต่ถ้าแม้นว่าเราคุ้นเคยกับภาวะที่ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะแล้ว ครั้นความคิดที่มี ราคะ โทสะ โมหะ ปรากฏ มันจะไม่เอาเองครับ เราไม่ต้องละครับ เมื่อเราไม่ต้องการมัน มันไม่น่าจะอยู่กับเรา เพราะว่าถ้าเราไม่ต้องการมันจริงๆ นี่ มันจะอยู่กับเราไม่ได้ คือเราไม่ได้คิดถึงมันเลย เราไม่ได้จำมันไว้เลย มันเข้ามาไม่ได้เลย

นี่คือข้อเท็จจริงที่ผมอยากจะเล่าสู่กันฟังนะครับว่า ในขณะที่เกิดโทสะ โลภะ โมหะนั้น อาวุธของเราไม่มีครับ ถ้าเราเอาความคิดไปปลง นั่นคือเอาความคิดไปละความคิด เหมือนกับว่าเรากำลังเล่นซ่อนหาอะไรกันอยู่ แล้วก็ถ้าเราข่มมันได้ เช่นเราคิดปลงว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา แต่เสร็จแล้วเพราะความจำ ความจำนั้นเปรียบเหมือนมือซึ่งเปียกน้ำแล้วก็ซุกลงในทรายแห้ง จะห้ามไม่ให้ทรายติดขึ้นมานี่ไม่ได้ครับ

ความจำของคนทั่วไปนั้นยังเปียกชื้นไปด้วยความปรารถนา คือชอบจำอารมณ์ที่ตัวเองปรารถนา แต่สิ่งที่ไม่ปรารถนาก็จำเหมือนกันแต่จำในแง่ลบ ใครด่าเจ็บๆ ก็จำไว้ หรืออะไรที่อร่อยเพลิดเพลินก็จะจำไว้ ดังนั้นกระบวนการความจำของเราจึงย้อนอดีตพะวักพะวงแต่อารมณ์ที่เคยลิ้มเคยลอง และย้อนกลับมากลายเป็นความหวาดกลัว ที่พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ

ยกตัวอย่างเรื่องความตาย ที่จริงผมชื่อว่าทุกคนไม่ได้กลัวตาย ถูกอาจจะกลัวเจ็บ หรือกลัวผลสืบเนื่องกับความตาย แต่เราจะกลัวสิ่งที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ไม่ได้ครับ มันผิดหลักในแง่จิตวิทยาหรือในแง่ประสบการณ์ เช่น เด็กเล็กๆ ไม่เคยรู้จักไฟ เขาจะไม่กลัวไฟ หรือไม่รู้จักมีดคมๆ เขาจะไม่กลัวมัน แต่พอแตะสักครั้ง เจ็บ เขาจะจำทันที ทีหลังเขาจะเริ่มสร้างมโนภาพจากประสบการณ์ของอดีต เพียงเห็นใบมีดเท่านั้นรู้สึกเสียววาปแล้ว พอคิดว่ามีดจะบาด รู้สึกมันจะบาดจริงๆ แล้ว ประสบการณ์นี้ถ้าสมมติว่ามีดบาด ในขณะที่มีดเฉือนไปในเนื้อ ตอนนั้นไม่เจ็บเท่าไรครับ

เมื่อเราถูกเชิญให้ขึ้นพูดในที่ประชุม ก่อนขึ้นนะครับ กลัวมากๆ แต่ตอนอ้าปากพูดแล้วก็ดูจะหายไปความกลัว มีเรื่องขำขันว่า อัปราฮัมรินคอน ก่อนขึ้นพูดซึ่งเขาก็เป็นนักพูดตัวเอ้ เขาให้สัมภาสษ์ว่าก่อนจะพูดผมกลัวแทบตายเลย แต่พออ้าปากพูดตายก็ไม่กลัวแล้ว อาการเช่นนี้คือเรามีการคาดเดาไปล่วงหน้า อันเนืองจากประสบการณ์ของความทรงจำของอดีต ดูเหมือนวิถีชีวิตของเราอยุ่ตรงนี้ ชีวิตเราจึงกลายเป็นวิถีแห่งการคาดเดาไปโดยปริยาย เป็นวิถีแห่งความตรึกนึก เป็นวิถีของตรรกะ คือคิดแยกแยะตลอดเวลา คาดการณ์ พยากรณ์ ดังนั้นวิถีแห่งความตรึกหรือวิถีแห่งตรรกะ จะต้องถูกเปลี่ยนยุทธวิธีครับ

การภาวนานั้นไม่ใช่อะไรอื่น คือยุทธศาสตร์แห่งการดำรงชีวิตอยู่ใหม่ แทนที่จะคล้อยตามกระแสของความคิดแยกแยะ เราเปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์แห่งสัมผัสบริสุทธิ์ ฐานของมันคือความรู้สึกตัว เมื่อเรากระพริบตา จะมีความรู้สึกสดประการหนึ่งปรากฏขึ้น เมื่อหายใจเข้า หายใจออก เพราะมันเป็นประสบการณ์จริง ซึ่งเรามักจะเรียกว่าปัจจุบันขณะ

แต่ประเด็นนี้ที่เป็นประเด็นฉกาจฉกันตรงที่ว่า การเปลี่ยนยุทธศาสตร์นี้เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เนื่องจากเราติดยึด ในอารมณ์ เราจำมันอย่างมั่นคง ดังที่ผมยกตัวอย่างเรื่องความตาย เราไม่น่าจะกลัวตาย เพราะว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์ของความตาย แต่ถ้าใครบางคนอาจจะคิดว่า เราอาจจะตายในชาติปางก่อน มันอาจจะสั่งสมประสบการณ์นั้นไว้ก็ได้ คิดอย่างนี้ก็ดีครับ แต่ผมจะไม่แล่นเลยไปสู่ประเด็นนี้นะครับ

ความกลัวตายนั้น ที่จริงเราไม่ได้กลัวครับ แต่เรากลัวจะพลัดพรากจากชีวิตซึ่งเราชิมแล้ว คือชีวิตที่เราดำรงอยู่ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ สำหรับรับรุ้อารมณ์ ดังนั้นเราลิ้มเข้าแล้ว ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา เรารู้รสหวาน เปรียว เค็ม มัน อร่อย ได้ดังใจ ไม่ได้ดังใจ เราล้วนแล้วแต่เต็มอัดด้วยความรู้ประเภทนี้นะครับ แล้วความรู้สึกอีกประการหนึ่งก็คือ เรารู้สึกว่ามันยังไม่พอ อายุขัยที่ธรรมชาติให้มานี้ ไม่พอสำหรับเรา ต่อให้เราเก้าสิบแล้ว เรารู้สึกขออีกสิบปี ห้าสิบปี หรือตลอดกาล ก็ยิ่งดีใหญ่

ถูกละ พระพุทธเจ้าหรือบัญฑิต ผู้รู้สอนว่าสิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนั้นควรจะละ แต่ฉันจะละต่อฉันพอใจแล้วเท่านั้น ดูเหมือนสิ่งนี้จะเป็นความดื้อรั้น ที่สุดในตัวมนุษย์เรา ฉันจะเลิก ยินดีจะเลิก แต่ว่า ต้องซะใจก่อน ต้องไปให้ถึงที่สุดมันก่อนจึงจะเลิก อยู่ดีดีจะมาเลิก ดุจะไม่อยู่ในสำนึกของคนทั่วไป

ที่ผมบอกว่า เราไม่ได้กลัวตาย แต่เรากลัวจะพลัดพรากจากชีวิต ซึ่งเราชิมแล้ว ส่วนความตายเรายังไม่รุ้ครับ ผมไม่รู้เลยครับ ยังไม่เคยตายเลยตอบไม่ได้ แต่ชีวิตซึ่งชิมเข้าแล้วและยังไม่อิ่ม ดังนั้นความกลัวตายโดยนัยยะทางาจิตวิทยา คือ กลัวจะพรากจากชีวิตซึ่งเป็นฐาน สำหรับชิมสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ฟักใฝ่หมกมุ่นในเรื่องของกามคุณ

คำว่ากามคุณนั้นไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว เรื่องการเสพรสทางวัตถุ คนหมกมุ่นฝักใฝ่ในเรื่องนี้ ก็จะเป็นคนที่กลัวตายมากๆ เพราะโดยการคิดอนุมานเอาว่า เมื่อความตายมาถึง อวัยวะที่รับรุ้รสชาติของโลกต่างๆ จะแหลกป่นลง ดังนั้นจึงกลัว กลัวจะสูญเสียพลังใจการย่อย ในการแยกแยะ ในการสัมผัส ในการดม ในการลิ้ม และในการสร้างความรู้สึก เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ยังไม่กล้าที่จะคิดว่าร่างกายไม่ใช่ของเรานะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกว่าปากประตูใหญ่

แต่พอเราพิจารณาด้วยสติปัญญา ทั้งใช้ความคิดและทั้งระดมความรู้สึกสัมผัส นั่นแสดงว่าผมไม่ได้ปฏิเสธการใช้ความคิดเลยนะครับ ความคิดอาจจะนำทางเรามา ท่อนหนึ่ง แต่ตัวความคิดมันมีปัญหาในตัวมันเอง ยุทธศาสตร์ของการภาวนานั้นเป็นยุทธศาสตร์ของการปรับแปลงปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา.


:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมคำสอน “ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44291

:b44: ประวัติ “ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24878

.....................................................
เมื่อเจ้าจักเห็น จงเห็นฉับพลัน พอตั้งต้นคิด หนทางปิดตัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร