วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 14:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 44 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สุทัตตะ หรือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกที่ป่าสีตวัน
ซึ่งเป็นป่าช้าขนาดใหญ่ มีความวังเวง น่ากลัว เป็นที่เผาศพของชาวเมืองราชคฤห์
ขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงกำลังเสด็จเดินจงกรมในเวลาจวนสว่าง
เมื่อทอดพระเนตรเห็นสุทัตตะ ทรงเสด็จลงจากที่จงกรม
แล้วตรัสเรียกว่า “สุทัตตะ มานี่สิ” ครั้นแล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา
ทำให้สุทัตตะได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ)
เข้าถึงพระสัทธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วถวายตนเป็นอุบาสก


รูปภาพ
สุทัตตะ หรือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” มหาอุบาสกผู้เลิศในทางถวายทาน
ได้ถวายที่ดินและอาคารเสนาสนะต่อคณะสงฆ์
โดยมีพระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาทรงรับถวาย
สุทัตตะได้หลั่งน้ำจากน้ำเต้าทองลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า
แสดงการอุทิศถวายมหาสังฆาราม วัดเชตวันมหาวิหาร แล้วต่อคณะสงฆ์
พระพุทธองค์ได้ทรงประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารแห่งนี้ในพรรษาแรก
และเป็นวัดที่ทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา

:b47: :b45: :b47:

30. วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี
[วัดพระเชตวัน]

สมัยพุทธกาล การสร้างวัดมิได้สร้างง่ายๆ และสร้างบ่อยเหมือนในยุคหลัง วัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือ “วัดพระเวฬุวัน” พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ “วัด” ในความหมายนี้ก็คือ สวนไผ่ หรือป่าไผ่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เวฬุวัน (ป่าไผ่) เวฬุวนาราม (สวนป่าไผ่) คงยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร

แต่เมื่อสร้างวัดที่เมืองสาวัตถีนั้นแหละ เข้าใจว่าคงมีสิ่งปลูกสร้าง มีอาคาร ปราสาท (แปลว่า เรือนชั้นหรือตึก) ด้วย คนสร้างเป็นเศรษฐี ชื่อเดิมว่า “สุทัตตะ” เศรษฐีที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต ไม่ใช่เศรษฐีค้าขายผูกขาดปั่นหุ้น ท่านผู้นี้ก่อนจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ตามประสาพ่อค้า คราวหนึ่งเดินทางไปเมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์ของน้องเขย เห็นคนในบ้านตระเตรียมสถานที่อย่างขะมักเขม้น ยังกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร จึงซักถามได้ความว่า มิได้เตรียมสถานที่เพื่อจัดปาร์ตี้อะไร หากแต่เตรียมเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์สาวก

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยความปลาบปลื้มดีใจ จึงถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ตนอยากไปพบ น้องเขยบอกว่า พรุ่งนี้ก็จะได้พบอยู่แล้ว

คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่าย เพราะอยากพบพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ทนรอจนถึงรุ่งเช้าไม่ไหว จึงตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ไปยังสถานที่พระพุทธองค์ประทับก่อนรุ่งแจ้ง

ขณะเขาเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสว่า “สุทัตตะ มานี่สิ” เขาขนลุกเป็นครั้งที่สอง ประหลาดใจที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขากำลังมาเฝ้า และทรงรออยู่ จึงเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” (เทศนาอันว่าด้วย ทาน ศีล โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งสวรรค์ และการปลีกออกจากกามารมณ์) เป็นการปูพื้นฐานจิตใจแก่เขา เขาได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกระดับจากความเป็นปุถุชนขึ้นเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เรียกว่าได้ “เข้าสู่กระแสพระนิพพาน”

“สุทัตตะ” ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงไตรสรณคมน์ตลอดชีวิต โดยเสด็จพระพุทธองค์ไปยังคฤหาสน์ของน้องเขย เขาได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ณ คฤหาสน์เศรษฐีผู้เป็นน้องเขย ตลอด ๗ วัน แล้วทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่อันสงัด” เพียงแค่นี้เศรษฐีระดับดอกเตอร์ก็รู้แล้วว่า พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา และตรัสให้หาที่อันเหมาะสมให้พระพุทธองค์ประทับ แล้วสุทัตตะก็ได้ทูลลากลับเมืองสาวัตถีด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยความสุขหาใดปาน


กลับถึงบ้านก็เที่ยวสำรวจสถานที่ที่เหมาะจะสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ ไปชอบใจสวนของเจ้านายในราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายเชต จึงไปเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตไม่อยากขายจึงโก่งราคาแพงลิบลิ่ว แพงขนาดไหนหรือครับ เจ้าเชตบอกว่าให้เอาเหรียญกระษาปณ์มาปูพื้นที่จนเต็มนั้นแหละคือราคาสวน

โอโฮ สวนตั้งหลายเอเคอร์จะใช้เหรียญสักกี่คันรถจึงจะเต็ม ไม่รู้ล่ะ เศรษฐีคิด เท่าไรก็สู้ อะไรประมาณนั้น จึงสั่งให้ขนกระษาปณ์จากคลังมาปูพื้นที่สวน ปูไปได้หมดเงิน ๑๘ โกฏิ (มากแค่ไหนผู้รู้คำนวณเอาก็แล้วกัน)


เจ้าเชตเห็นเศรษฐีเอาจริงเอาจังขนาดนั้น จึงถามว่า ทำไมจึงใจถึงปานนี้ จะซื้อสวนนี้ไปทำอะไรหรือ เศรษฐีบอกว่าจะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทันทีที่ได้ยินคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าเชตก็เกิดศรัทธาขึ้นมาทันที บอกเศรษฐีว่า เอาเท่าที่ปูไปแล้วนี้แหละ ที่เหลือขอให้เขาได้มีส่วนในการสร้างวัดบ้าง แล้วก็บริจาคเพิ่มอีก ๑๘ โกฏิ ช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ ใช้เวลาสร้างนานเท่าไรตำรามิได้บอกไว้ สร้างเสร็จได้ขนานนามว่า “วัดพระเชตวัน” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชต ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์

สุทัตตะที่ว่านี้มิใช่ใครที่ไหน เป็นคนเดียวกับ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธนั้นเอง นามเดิมท่าน สุทัตตะ ครับ เพราะความที่ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง สร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพก ณ สี่มุมเมือง จึงได้รับขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” อ่านออกเสียงว่า “อะนาถะบินดิกะเสดถี” นะครับ อย่าออกเสียงว่า “อะหนาด...” เป็นอันขาด แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาเสมอ ฝรั่งแปลเอาความว่า “เศรษฐีใจบุญ” (benefactor, benevolent)

ใครที่ไปมนัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ที่ประเทศอินเดีย และเนปาล (ลุมพินี สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า อยู่ที่ประเทศเนปาลครับ) ก็จะต้องไปเที่ยวชมและนมัสการพระเชตวัน จะเห็นว่าเป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีซากปรักหักพัง มีฐานของตึก และกุฏิของพระภิกษุสงฆ์สาวกต่างๆ ก่อด้วยอิฐอย่างแข็งแรง เข้าใจว่าตึกรามอะไรต่างๆ คงมีมาตั้งแต่แรกสร้างส่วนหนึ่ง สร้างเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง


นอกจากนั้นก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินและอนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกไว้ โดยการอำนวยการของพระอานนท์พุทธอนุชา เพื่อเป็น “เจดีย์” กราบไหว้แทนพระพุทธองค์ ยามเมื่อพระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกว่า “อานันทโพธิ์” (ต้นโพธิ์พระอานนท์)

“วัดพระเชตวัน” เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด นานกว่าสถานที่อื่น นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ได้สร้างวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของเมือง ชื่อ “วัดบุพพาราม” ด้วยการบริจาคทรัพย์จำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มิปรากฏว่าพระพุทธองค์ประทับที่วัดนี้นานและบ่อยเท่าพระเชตวัน

คัมภีร์พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า มีพระสูตรมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาขณะประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน นี้ เพราะฉะนั้น “วัดพระเชตวัน” จึงมิเพียงเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างขึ้น ณ เมืองสาวัตถี หากเป็นสถานที่พระพุทธองค์ประทับยาวนาน และทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย จึงนับเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง


:b8:

๏ สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50333

๏ อานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39333

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


31. มหาโจรชื่อดังคนแรกที่บรรลุพระอรหัต
[ท่านองคุลิมาล]

ถ้าบอกว่าคนที่ว่านี้คือมหาโจรองคุลิมาล หลายคนคงถามว่า ก่อนหน้านี้มีคนอื่นบ้างไหม

ขอเรียนว่าอาจจะมี แต่หลักฐานมิได้บอกชัดแจ้งเหมือนมหาโจรองคุลิมาล

เข้าใจว่ามหาโจรที่ดังมากยุคนั้นก็คือท่านผู้นี้แหละและดังมาจนถึงปัจจุบัน

องคุลิมาลเป็นบุตรของปุโรหิตนามว่าคัดดะ แห่งราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี มารดานามว่ามันตานี

ขณะเกิดนั้นอาวุธในคลังแสงลุกติโชติช่วงน่าประหลาดมาก

ปุโรหิตผู้บิดาขณะนั้นอยู่ในพระราชสำนัก กำลังเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่ กราบทูลพระราชาว่า เด็กที่เกิดในฤกษ์นี้จะเป็นโจรที่มีชื่อเสียงเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน

พระราชาตรัสถามว่า โจรธรรมดาหรือว่าโจรแย่งราชสมบัติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นโจรธรรมดาก็ไม่สนพระทัย

ปุโรหิตกลับมาถึงบ้านถึงได้รู้ว่าเด็กน้อยที่ว่านี้คือบุตรชายของตัวเอง กลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินขอกำจัดทิ้งเสียเพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนาม ถูกพระราชาทรงทัดทานไว้

จึงตั้งชื่อ “แก้เคล็ด” ว่า อหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน)

อหิงสกะก็เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครจริงๆ มีนิสัยใจคอสุภาพอ่อนโยน มีเมตตา กรุณา มีมนุษยสัมพันธ์ดี เคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นโจรตามคำทำนายของบิดา

บิดาส่งไปเรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา ก็ขยันศึกษา เคารพนับถืออาจารย์ แม้กระทั่งภริยาของอาจารย์อย่างดี เป็นที่โปรดปรานของอาจารย์อย่างยิ่ง

แถมยังมีสมองเป็นเลิศ เรียนเก่งล้ำหน้าเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหลาย จนเพื่อนๆ อิจฉาริษยา

อาจารย์เองเวลาจะดุด่าศิษย์อื่นๆ ที่ไม่ใส่ใจในการศึกษา ก็จะยกอหิงสกะเป็นตัวอย่าง และให้เอาอย่างอหิงสกะ ยิ่งทำให้พวกเขาเกลียดอหิงสกะยิ่งขึ้น จึงหาทางกำจัด โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ เข้าไปพูดจาให้ร้ายป้ายสีอหิงสกะ

แรกๆ อาจารย์ก็ไม่สนใจ แต่พอบ่อยเข้า หลายคนเข้า ก็ชักจะเชื่อว่าคงเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีมูลเลยพวกศิษย์อื่นๆ คงไม่พูดเป็นเสียงเดียวกัน

ในที่สุดก็ปักใจแน่วแน่ว่า อหิงสกะเป็นศิษย์ทรยศคิดล้างครู

(ในคัมภีร์พูดเป็นนัยๆ ว่า ถูกหาว่ามีอะไรกับภริยาของอาจารย์ด้วย “ถูกกล่าวหา” ก็รู้อยู่แล้ว จริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้)

อาจารย์เรียกลูกศิษย์รักผู้จะจบการศึกษามาพูดทำนองขอ “ค่าบูชาครู” (ครุปจาร หรือครุทักษิณา) ด้วยให้ไปเอานิ้วคนมาพันนิ้ว (ผู้แต่งประวัติพระองคุลิมาล บางท่านว่าอาจารย์จะถ่ายทอด “วิษณุมนตร์” ให้ จึงให้ไปฆ่าคนเอานิ้วมาพันนิ้ว)

ค่าที่เป็นคนเชื่อฟังอาจารย์อยู่แล้วและอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอน อหิงสกะจึงตกลงไปฆ่าคนเอานิ้วมือ ฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวกแขวนคอ กว่าจะได้เป็นร้อยๆ ก็ต้องเสียเวลานานพอสมควร และนิ้วที่ร้อยแขวนคอไว้บางนิ้วก็เน่าหลุดไปต้องหามาเพิ่มใหม่อยู่อย่างนี้ไม่ครบพันสักที

มาถึงช่วงนี้เสียงลือเสียงเล่าก็กระฉ่อนไปทั่วว่ามีมหาโจรดุร้ายไล่ฆ่าคนตัดเอานิ้วมาทำพวงมาลัย น่าสยดสยองเหลือเกิน จนผู้คนไม่กล้าเดินทางไปไหน

บิดาของอหิงสกะทราบว่ามหาโจรนี้คือบุตรชายของตนจึงกราบทูลให้พระราชาไปกำจัดเสียเพื่อความผาสุกของชาวเมือง

ผู้เป็นแม่ได้ทราบข่าวก็เป็นห่วงว่าบุตรของตนจะมีภัยถึงชีวิต ถึงแม้ลูกจะเป็นโจรก็เป็นลูกนาง นี่แหละครับความรักของแม่ที่มีต่อลูกมันยิ่งใหญ่มหาศาลเพียงใด

นางแอบหนีออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่คิดว่าบุตรชายตนเองอยู่เพื่อบอกให้ลูกรู้ตัวแล้วจะได้หลบหนีไปเสีย

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเพื่อไปโปรดในปัจจูสมัย (จวนสว่าง) องคุลิมาลปรากฏในข่ายคือพระญาณ

ทรงทราบด้วยญาณว่าองคุลิมาลมีอุปนิสัยจะได้บรรลุ เพื่อมิให้เธอถลำลึกลงไปในห้วงแห่งอกุศลกรรมมากกว่านี้ อันจะตัดทางแห่งมรรคผลนิพพานเสีย จึงเสด็จไปดักหน้า

องคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้า คิดว่าสมณะก็สมณะเถอะวะ ข้าจะฆ่าเอานิ้วมาให้ได้ ขาดนิ้วเดียวจะครบพันอยู่แล้ว

ว่าแล้วก็ชูดาบวิ่งเข้าใส่ ปากก็พร่ำว่า “หยุด สมณะ หยุด”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคตหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด”

มหาโจรแย้งว่า ท่านยังเดินไปอยู่ ทำไมพูดว่าหยุดแล้ว สมณโกหกด้วยหรือ พระองค์ตรัสว่า “เราหยุดทำบาปแล้ว เธอยังไม่หยุด” เท่านั้นแหละ มหาโจรองคุลิมาลก็ทิ้งดาบ เข้าไปกราบพระยุคลบาท ฟังธรรม

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนา เขาได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้แล้วทรงนำกลับไปยังพระเชตวัน

วันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงนำกองทัพย่อยๆ จะไปปราบองคุลิมาล ก่อนไปได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทำนองเอาฤกษ์เอาชัย

พระพุทธองค์ตรัสถามว่าจะยกทัพไปไหน

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่าจะไปปราบโจรองคุลิมาล

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าโจรองคุลิมาลละการทำบาปมาบวชเป็นศิษย์ตถาคตแล้วพระองค์ยังจะไปปราบอยู่ไหม

พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่าถ้าอย่างนั้นก็ได้รับอภัยโทษ แทนที่จะปราบ พระองค์กลับต้องนมัสการถวายความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่ พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปยังภิกษุหนุ่มตรัสว่านั่นคืออดีตโจรองคุลิมาล

แม้ทรงรู้ว่าบัดนี้พระภิกษุหนุ่มไม่เบียดเบียนใครอีกแล้ว พระราชายังอดสะดุ้งพระทัยไม่ได้ ทรงข่มความกลัวเข้าไปนมัสการภิกษุหนุ่ม ทรงปวารณาถวายจตุปัจจัย

แรกๆ พระองคุลิมาลบิณฑบาต นอกจากไม่ได้ข้าวแล้ว ยังได้ “เลือด” กลับวัดอีกด้วย เพราะผู้คนที่จำท่านได้ ก็เอาก้อนอิฐ ก้อนดิน ขว้างปา จนศีรษะแตกได้รับทุกขเวทนา คัมภีร์พระไตรปิฎกเล่าว่า ท่านถูกทำร้ายจนบาตรแตก จีวรฉีกขาดกะรุ่งกะริ่ง พระพุทธองค์ตรัสให้ท่านอดทนเพราะนั่นคือเศษกรรมของท่าน วันหนึ่งท่านพบหญิงมีครรภ์แก่เดินเหินลำบาก จึงมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสบอกให้ท่านแผ่เมตตาจิตให้นาง รุ่งขึ้นท่านไปบิณฑบาตพบสตรีคนแก่เดิม ท่านยืนสงบใกล้ๆ เธอ เปล่งวาจาตั้งสัตยาธิษฐานว่า

ยะโตหัง ภะคะนิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานา มิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ

ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาโดยชาติเป็นอริยะ (ตั้งแต่บวช) เราไม่เคยคิดทำลายชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านและบุตรในครรภ์ของท่าน

สิ้นคำสัตยาธิษฐาน สตรีคนนั้นก็คลอดลูกอย่างง่ายดาย คนจึงลือกันว่าท่านองคุลิมาลมี “มนต์” ทำให้คนคลอดลูกง่าย เพราะฉะนั้น “อังคุลิมาลปริตร” (สั้นๆ ข้างต้นนั้น) อาจารย์ยุคหลังได้รวบรวมไว้ในบทสวดเจ็ดตำนานเพื่อสวดเป็นสวัสดีมงคล หรือไม่ก็แยกสวดเฉพาะบททำน้ำมนต์ให้สตรีตั้งครรภ์ดื่มให้คลอดบุตรง่าย ท่านพระองคุลิมาลเมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นสาวกประเภทต้นคดปลายตรง ทำผิดในกาลก่อน ภายหลังกลับเนื้อกลับตัวได้เลิกละโดยสิ้นเชิง ดังพุทธวจนะตรัสสรรเสริญว่า “ผู้ใดทำบาปในกาลก่อน ภายหลังละได้ด้วยการทำกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น”

ท่านองคุลิมาลนับเป็นมหาโจรชื่อดังคนแรกที่ได้บรรลุพระอรหัตด้วยประการฉะนี้

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


32. รอยพระพุทธบาทรอยแรก

ว่ากันว่ารอยพระพุทธบาทมีอยู่ 5 แห่งเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ เพื่อให้ชาวโลกได้นมัสการ คือ (1) ที่สุวรรณมาลิก (2) ที่สุวรรณบรรพต (3) ที่สุมนกูฏ (4) ที่โยนกประกาศ และ (5) ริมฝั่งน้ำนัมมทา

5 แห่งที่ว่านี้จะเป็นพระพุทธบาท original หรือไม่ ไม่ยืนยัน สงสัยจะเป็นพระพุทธบาทจำลองเสียมากกว่า เพราะไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ยุคต้นๆ

ถ้าถามว่า รอยพระพุทธบาทรอยแรก หรือรอยต้นๆ อยู่ที่ไหน

ถ้าศึกษาพุทธประวัติจะพบเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยประทับรอยพระบาทไว้โดยเฉพาะ เข้าใจว่าจากนั้นมาเลยมีการจำลองพระพุทธบาทไว้สำหรับสักการะ

เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณกลางพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวกุรุรัฐ ณ ชนบทแห่งหนึ่ง มีสองสามีภรรยาและลูกสาวสวยคนหนึ่งนามว่า มาคันทิยา ผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้แต่งงานกับชายใด

อ้างว่าไม่มีใครเหมาะสมกับลูกสาวของตน

วันหนึ่งพราหมณ์บิดาของสาวงามคนที่ว่านี้พบพระพุทธเจ้าเข้าก็เกิดติดอกติดใจในบุคลิกภาพอันสง่าของพระพุทธองค์ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า “สมณะ ข้าฯ มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง เหมาะกับท่านมาก ข้าฯ ยินดียกให้เป็นภริยาของท่าน โปรดรออยู่ตรงนี้นะ ข้าฯ จะไปพาลูกสาวมาให้”

พระพุทธเจ้ามิได้ประทับ ณ จุดที่พราหมณ์บอก เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากที่นั้นนัก พราหมณ์รีบไปบอกภริยาให้แต่งตัวให้ลูกสาว บอกว่าได้พบบุรุษผู้เหมาะสมกับลูกสาวแล้ว จะรีบพาไปหา

ชาวเมืองได้ทราบข่าวก็พากันตามไป เพราะเท่าที่แล้วๆ มาพราหมณ์ไม่ยินดียกลูกสาวให้ชายหนุ่มคนใด อ้างว่ายังไม่เหมาะสมกับลูกสาวของตน บัดนี้แกบอกว่าพบชายหนุ่มที่เหมาะสมแล้ว จึงอยากจะไปดูว่าจะหล่อเหลาปานใด

ไปถึงจุดนัดหมาย พราหมณ์ไม่พบพระพุทธองค์ จึงสอดส่ายตาไปมา พบรอยพระพุทธบาทที่พระองค์ประทับไว้ จึงร้องบอกภริยาว่า “นี่คือรอยเท้าของเขา เขาต้องอยู่แถวๆ นี้แน่” ว่ากันว่า นางพราหมณีภริยาของพราหมณ์มีความเชี่ยวชาญใน “ปาทศาสตร์” (ศาสตร์ว่าด้วยการดูลายเท้า) พินิจพิจารณารอยพระพุทธบาทแล้ว จึงร้องบอกสามีว่า “เจ้าของรอยเท้านี้ไม่สนใจไยดีกามคุณแล้ว ตาเฒ่าเอ๋ย ป่วยการตามหาเขา”

พราหมณ์ดุภริยาว่า “เก็บตำราของแกไว้เถอะ อย่าทำตนเป็นจระเข้ในตุ่มเลย (คล้ายกับสำนวนไทยว่า “จระเข้ขวางคลอง” กระมัง) เจ้าหนุ่มหน้ามนคนนั้นรับปากฉันแล้ว” (ตอนแกบอกพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ประทับดุษณีภาพ พราหมณ์เลยเข้าใจว่า นิ่งคือการยอมรับ)

นางพราหมณีจึงร่ายโศลก ว่าด้วยการทายลักษณะรอยเท้าให้สามีและประชาชนที่รายล้อมอยู่ ณ บริเวณนั้นฟังดังนี้

รตฺตสฺส หิ อุกฺกฏิกํ ปทํ ภเว
ทุฏฺฐสฺส โหติ สหาสนุปีฬิตํ
มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ
วิวฏฉทสฺส อยมีทิสํ ปทํ

คนราคจริต รอยเท้าจะเว้าตรงกลาง
คนโทสจริต รอยเท้าจะจิกปลาย
ส่วนรอยเท้านี้ (ราบเสมอกัน) เป็นของคนหมดกิเลสแล้ว

คำพยากรณ์ไม่สบอารมณ์พราหมณ์มาก บอกให้ภริยาเงียบเสียง ตนเองก็สอดส่ายตามองไปมองมาพบพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ จึงจูงลูกสาวเข้าไปหา ละล่ำละลักว่า

“สมณะ ข้าฯ นำลูกสาวมาให้ท่านแล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสองสามีภริยามีอุปนิสัยจะได้บรรลุธรรม จึงตรัสว่า

“พราหมณ์ สมัยเราเป็นเจ้าชายแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยนั้น ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานาประการ มีนางสนมกำนัลสวยงาม คอยปรนนิบัติมากมาย ล้วนแต่รูปร่างสะคราญตาดุจนางอัปสรสวรรค์ก็มิปาน เรายังไม่ไยดี สละทิ้งมาหมด ออกบวชมาเป็นสมณะ แสวงหาทางหลุดพ้น จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะเลย”

พระพุทธดำรัสนี้กระตุ้นให้สองสามีภรรยาเข้าใจความจริงของสังขารร่างกาย เมื่อตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจบลงก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แต่ทำให้มาคันทิยา ลูกสาวคนสวย ผูกใจเจ็บ หาว่าสมณะ (พระพุทธเจ้า) ดูถูกตน

เมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพีในภายหลัง ได้พยายามแก้แค้นพระพุทธองค์ต่างๆ นานา

เมื่อเล่นงานพระพุทธองค์โดยตรงไม่ได้ ก็ไปลงที่สาวิกาของพระพุทธองค์ นามว่า สามาวดี ซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จนพระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น ด้วยแรงอาฆาตริษยา

ในที่สุดกรรมก็สนองกรรม นางมาคันทิยาก็ถูกประหารชีวิต ด้วยการเผาทั้งเป็นเช่นเดียวกัน

รอยพระพุทธบาทรอยนี้ นับเป็นรอยแรก หรือรอยแรกที่ทรงประทับไว้ ด้วยความมุ่งหมายเฉพาะ (คือเป็น “สื่อ” สอนธรรม) ขอสรุปเช่นนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีหลักฐานและเหตุผลที่ดีกว่า

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


33. ผู้กล่าวพุทธคุณ 100 บทคนแรก
[อุบาลีคหบดี]

เราเคยได้ยินพระพุทธคุณ 9 บท หรือ นวารหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ดังที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน หรือสรุปลงในพระพุทธคุณทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แต่น้อยคนจะได้ยินพระพุทธคุณ 100 บท

ผู้กล่าวพระคุณ 100 บทคือ อุบาลีคหบดี อดีตสาวกของนิครนถ์นาถบุตร หรือศาสดามหาวีระแห่งศาสนาเชน เมื่อแรกท่านผู้นี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาโต้วาทะแข่งกับพระพุทธเจ้า อาจารย์ของตนคือมหาวีระก็อนุญาต แต่ศิษย์รุ่นพี่คนหนึ่งชื่อทีฆปัสสีไม่เห็นด้วย

แกห้ามอุบาลีว่า อย่าเลย สมณโคดม เขามี “มนต์กลับใจ” ใครได้พูดกับเขา มักจะถูกเขาใช้มนต์กลับใจหันไปเลื่อมใสแทบทุกคน ทางที่ดีอย่าไปสู้กับเขาดีกว่า

อุบาลีถือว่าตนเป็นพหูสูต ไม่มีทางที่จะยอมง่ายๆ จึงไม่ยอมเลิกรา วันเวลาแห่งการโต้วาทะก็ใกล้เข้ามา

ผู้คนต่างก็รอเวลาเพื่อจะดูว่าใครเก่งกว่าใคร ตามประสาแขกมุง (ซึ่งคงไม่ต่างกับไทยมุงสักเท่าไหร่)

วันนั้นอุบาลีหมายมั่นปั้นมือว่าตนเองชนะแน่นอน เรื่องที่นำมาโตแย้งคือเรื่องกรรมซึ่งทางฝ่ายนิครนถ์เรียกตามศัพท์ของเขาว่า “ทัณฑ์” โดยเขาเห็นว่า กายกรรม (กายทัณฑ์) นั้นมีโทษมากกว่าวจีกรรม และมโนกรรม พระพุทธองค์ทรงโต้ว่า มโนกรรมนั้นสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมแพ้ด้วยเหตุผล จึงประกาศยอมแพ้ และยอมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามปรามตั้งสามครั้งว่า “อุบาลี คนมีชื่อเสียงอย่างท่านจะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน”

อุบาลี ก็ยืนยันว่า คิดดีแล้ว ขอยืนยันนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มิไยพระพุทธองค์จะทรงห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง

เมื่อเห็นว่าเขาไม่ฟัง พระพุทธองค์ก็ตรัสกับเขาว่า ตัวท่านเป็นอู่ข้าวอู้น้ำของพวกนิครนถ์มาก่อน เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ย่อมกระทบกระเทือนต่อพวกนิครนถ์มาก

ในระยะเริ่มต้นนี้ขอให้สำคัญข้าวและน้ำที่เคยให้แก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด

น่าสังเกตนะครับ พระองค์แทนที่จะเป็น “ศาสดากระหายสาวก” คือรีบๆ รับ แต่พระองค์กลับทรงแผ่พระมหากรุณาแก่พวกเขาเสียอีก น้ำใจอย่างนี้ยากจะหาได้ และดูเหมือนมันจะเด่นมากในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เมื่ออุบาลีประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ทีฆปัสสีทราบข่าว ก็ไปต่อว่า ศาสดามหาวีระ เห็นหรือยัง ข้าอุตส่าห์ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้เป็นยังไง อุบาลีคนเก่งของพวกเรา ถูกพระสมณโคดม “ดูด” ไปเสียแล้ว

มหาวีระ ไม่เชื่อว่าเป็นจริง จึงเดินทางไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านลูกศิษย์ ไปถึงเขาไม่ยอมให้เข้าบ้าน จนต้องขอร้องอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร เข้าไปแล้วเขาก็เชิญให้ไปนั่งที่ศาลาหน้าบ้านรออยู่พักใหญ่

อุบาลีออกมาก็นั่งอาสนะสูงกว่า ถูกอดีตศาสดาต่อว่าต่อขานว่าอุบาลี เจ้าจะบ้าไปแล้วหรือ นี่ศาสดาของเจ้านะ

อุบาลียืนยันว่า ข้าพเจ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นศาสดา หามีใครอื่นใดไม่

มหาวีระกล่าวว่า อุบาลี พระสมณะโคดมมีดีอะไรนักหนา เจ้าจึงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา

อุบาลีกล่าวว่า ถ้าท่านอยากฟังนะ ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระพุทธคุณของพระองค์ให้ท่านฟัง

ว่าแล้วก็กล่าวพระพุทธคุณทั้ง 100 บทไปตามลำดับ นัยว่าอุบาลีกล่าวได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งมหาวีระทนฟังไม่ไหว ยกไม้ยกมือร้องห้ามว่า พอแล้วๆ แล้วเลือดอุ่นๆ ก็พุ่งออกจากปาก

พวกลูกศิษย์ทั้งหลายต้องหามแกออกจากคฤหาสน์อุบาลี อดีตสาวกของแก ก่อนหน้านี้ก็สัจจกนิครนถ์ทีหนึ่งแล้ว มาคราวนี้ก็อุบาลีอีก ทั้งสองคนเป็นคนดังของพวกนิครนถ์

โดยเฉพาะคนหลังนี้ มิเพียงเป็นพหูสูตเท่านั้น ฐานะความเป็นอยู่ในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง นับเป็นเรี่ยวเป็นแรงของพวกนิครนถ์เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อเขาหันไปนับถือศาสนาอื่นเสียแล้ว ย่อมกระทบกระเทือนไม่น้อย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เขาถวายความอุปถัมภ์แก่ลัทธิดั้งเดิมของตนไปสักระยะหนึ่งก่อน

แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครเชื่อดอก เมื่อออกมาแล้วย่อมจะพยายามหนีไปให้ไกลที่สุดเป็นธรรมชาติ บางคนนับถือพุทธอยู่ดีๆ แสนจะขี้เกียจ พอเข้ารีตนับถือศาสนาอื่นกลับขยันขันแข็ง อ้างว่าเพราะเขานับถือศาสนาอื่น จึงทำให้ชีวิตดีขึ้น อย่างนี้ก็มี

มหาวีระ ตั้งแต่ออกจากบ้านอุบาลีวันนั้น ป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ ไม่ช้าไม่นานก็นิพพาน เข้าใจว่าคงเสียใจมาก แบบจิวยี่ในเรื่องสามก๊กก็ไม่ปาน

อุบาลีนับเป็นคนแรกที่กล่าวพุทธคุณ 100 บท มีบันทึกไว้ในอุปาลิวาทสูตร มัชฌิมนิกาย ด้วยประการนี้

:b8:

๏ อุบาลีคหบดี อดีตมือขวาของพระมหาวีระ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57860

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


34. สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินี
เพราะปัญญาเลิศ

[นางขุชชุตตรา]

พระพุทธศาสนานั้นมีข้อเด่นอยู่อย่างหนึ่งในหลายร้อยหลายพันอย่าง คือให้โอกาสแก่มนุษย์ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็น “คน” ทัดเทียมกัน แล้วก็ให้กำลังใจให้พยายามพัฒนาตนไปสู่เป้าหมายสูงสุด ด้วยวิริยะ อุตสาหะ และให้ความทัดเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรี บุรุษบรรลุมรรคผลได้ สตรีก็บรรลุได้ บุรุษมีโอกาสได้บวชเรียน สตรีก็มีโอกาสนั้นเหมือนกัน

นอกจากนี้ พระพุทธศาสนาชี้คุณค่าของคนที่รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ใครมีปัญญา ไม่ว่าจะเป็นคนเกิดในวรรณะไหนก็ได้รับการยอมรับ

ที่พูดมาหลายบรรทัดนี้ก็เพื่อเข้าหาเรื่องของสาวใช้คนหนึ่ง แถมยังพิการคือ ร่างค่อมด้วย ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คงแก่เรียน

สาวใช้พิการคนนี้คือ นางขุชชุตตรา ครับ

นางเป็นคนใช้ของนางสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทน กษัตริย์ผู้ครองเมืองโกสัมพี นางสามาวดีเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า ทุกวันมอบเงินให้นางขุชชุตตราไปซื้อดอกไม้มาจากนายมาลากร 8 กหาปณะเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า (เรื่องราวของนางสามาวดี จะนำมาเล่าภายหลัง)

ขุชชุตตรา ขยักไว้ 4 กหาปณะเพื่อตัวเอง เรียกง่ายๆ ว่า “ยักยอก” เจ้านายนั่นแหละ อีก 4 กหาปณะก็ซื้อดอกไม้ไปให้นายหญิง

วันหนึ่งนายมาลาการนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน พูดกับนางขุชชุตตราผู้มาซื้อดอกไม้ว่า

“หนู วันนี้ฉันอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหารที่บ้าน หนูช่วยเลี้ยงพระก่อนแล้วค่อยเอาดอกไม้ไปให้นายหญิงของหนูได้ไหม”

“ได้จ้ะ” ขุชชุตตราตอบ แล้วก็อยู่ช่วยงานจนแล้วเสร็จ เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ก็ทรงอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมแก่นายมาลาการและครอบครัว นางขุชชุตตราทีแรกจะรีบกลับ แต่ใจหนึ่งคิดว่าไหนๆ ก็รอมาแล้ว ลองฟังธรรมก่อนค่อยกลับดีกว่า จึงตั้งใจฟังธรรมจนจบ พอจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

นางขุชชุตตราซื้อดอกไม้ 8 กหาปณะ ได้ดอกไม้กำใหญ่กว่าทุกวัน ไปให้นายหญิงนางสามาวดี
นายหญิงของขุชชุตตราเห็นดอกไม้มากกว่าทุกวันจึงถามว่า

“วันนี้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินค่าดอกไม้แก่ฉันเพิ่มขึ้นหรือ”

“หามิได้ พระแม่เจ้า” นางตอบ

“เพราะเหตุใดดอกไม้จึงมากกว่าทุกวันเล่า”

นางขุชชุตตรา ก็เปิดเผยความจริงว่า “วันก่อนๆ นางยักยอกเอาไว้ใช้ส่วนตัว 4 กหาปณะ ซื้อดอกไม้เพียง 4 กหาปณะเท่านั้น”

“แล้ววันนี้ทำไมเธอไม่เอาไว้เพื่อตัวเอง 4 กหาปณะเล่า” นายหญิงถาม

“เพราะหม่อมฉันฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรม”

นางสามาวดีไม่โกรธสาวใช้เลย ที่ยักยอกเอาเงินค่าซื้อดอกไม้ กลับกล่าวด้วยความยินดีว่า

“โอ ดีจังเลย เจ้าช่วยแสดงธรรมที่เธอได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าให้เราฟังได้ไหม” เมื่อขุชชุตตรารับปาก นางสามาวดีจึงให้นางอาบน้ำชำระกายให้สะอาดพรมด้วยน้ำหอม ให้นางนุ่งผ้าสาฎกใหม่เอี่ยมเนื้อดีผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ปูลาดอาสนะและวางพัดอันวิจิตรไว้ข้างอาสนะ เชิญนางขุชชุตตราขึ้นนั่งบนอาสนะ

นางขุชชุตตราได้แสดงธรรมตามที่ได้ยิน ได้ฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า แก่สตรีจำนวน 500 คน มีนางสามาวดีเป็นประธาน นางเป็นคนมีความจำแม่น และมีความสามารถในการใช้คำสละสลวยธรรมเทศนาของนางเป็นที่จับจิตจับใจคนฟังมาก

ว่ากันว่าได้บรรลุธรรมไปตามๆ กัน


นางสามาวดีบอกว่า ต่อแต่นี้ไป เธอไม่ต้องทำงานเป็นคนใช้ ขอให้เธอดำรงอยู่ในฐานะมารดาและอาจารย์ในทางธรรมของพวกเรา ทุกวันขอให้เธอฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกลับมาแสดงให้พวกเราฟัง

นางขุชชุตตราจึงได้ “เลื่อนขั้น” ขึ้นมาเป็นอาจารย์แสดงธรรมแก่นายหญิง ตั้งแต่วันนั้นมาท่านอาจารย์ขุชชุตตราก็ทำหน้าที่ของตนไม่ขาดตกบกพร่อง นับว่าได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และบรรดาสตรีในวังด้วย

ในทางส่วนตัวก็คือ นางได้ฟังหลากเรื่องหลายปริยาย ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมกว้างขวางพิสดารขึ้น ชนิดที่ไม่สามารถหาเอาจากที่ไหน

ในไม่ช้าไม่นานนางก็กลายเป็น “พหูสูต” (ผู้คงแก่เรียน) เมื่อมีความรู้แตกฉาน นางก็มีลีลาในการแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดารและจับจิตใจยิ่งขึ้น

ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสยกย่องนางใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางสดับตรับฟังมาก คือเก่งกว่าคนอื่นในทางเป็นพหูสูตรหรือผู้คงแก่เรียน

การที่หญิงค่อมขี้ริ้วจนๆ คนหนึ่งได้รับเกียรติเห็นปานนี้ ก็เพราะพระพุทธศาสนาเปิดทางให้ พระพุทธศาสนามิได้มองแค่เปลือกนอกของคน หากมองที่ศักยภาพภายในมากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าในหมู่มนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจน คนมีปัญญาเป็นผู้ประเสริฐสุด

พระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลถามพระพุทธเจ้าในวันหนึ่งว่า เพราะเหตุใดนางขุชชุตตรา จึงมีร่างกายค่อม และเพราะเหตุใดจึงเป็นสาวใช้ของคนอื่น

พระพุทธเจ้าตรัสบุพกรรมของนางให้ภิกษุสงฆ์ฟัง (น่าสนใจมากครับ) ดังนี้

1. ชาติก่อนนางเคยเป็นอุปัฏฐายิกาของพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธรูปนั้นร่างค่อม นางนึกสนุกทำร่างค่อมเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะกรรมนั้นนางจึงมีร่างค่อมในปัจจุบันนี้

2. ชาติก่อนนางถวายข้าวปายาสร้อน ในบาตรพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธอุ้มบาตรร้อนจึงเปลี่ยนมืออยู่เรื่อย นางจึงถวายวลัยงา 8 อัน (เรียกอันหรือเปล่าไม่รู้สิครับ) เพื่อให้ท่านรองบาตร ผลแห่งการถวายวลัยงารองบาตรนั้น มาชาตินี้นางจึงเป็นพหูสูต

3. และเพราะการอุปัฏฐากดูแลพระปัจเจกพุทธ นางจึงบรรลุโสดาปัตติผล

4. ในชาติก่อนอีกชาตินึง นางเกิดเป็นธิดาเศรษฐี วันหนึ่งขณะนางแต่งตัวอยู่ พระเถรีอรหันต์รูปหนึ่งมาเยี่ยมนางที่บ้าน เวลานั้นนางมองหาคนใช้ไม่พบ จึงกล่าวกับพระเถรีอรหันต์ว่า พระแม่เจ้า ดิฉันไหว้ละ ช่วยหยิบกระเช้าเครื่องประดับให้ดิฉันหน่อย พระเถรีอรหันต์คิดว่า ถ้าไม่หยิบให้ นางจักทำความอาฆาตในเราตายแล้วจักไปเกิดในนรก แต่ว่าถ้าเราหยิบให้ นางจักเกิดเป็นสาวใช้ของคนอื่น แต่การเป็นคนใช้เขายังดีกว่า ว่าแล้วพระเถรีอรหันต์จึงหยิบกระเช้าให้นาง มาชาตินี้นางจึงเป็นคนใช้เขา


การทำบาป โดยเฉพาะต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์ แม้เพียงเล็กน้อยก็บันดาลผลหนัก ดังเรื่องของนางขุชชุตตราในชาติก่อน เพราะฉะนั้นเราพึงระวังมิให้เผลอทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร นี่คือข้อสรุปที่ได้ยินจากเรื่องนี้ขอรับ

:b8:

๏ นางขุชชุตตรา เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=26647

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


35. คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก

ผู้บวชเป็นพระภิกษุ โดยหลักการต้องละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีในเพศผู้ครองเรือน อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลย แม้ชื่อเสียงเรียงนามก็ละหมด ไปใช้ชื่อใหม่อันเรียกในภาษาพระว่า “ฉายา”

เช่นสมมุติชื่อเดิม “ขรรค์ชัย บุนปาน” ก็ต้องทิ้งไป เพราะนาม ขรรค์ชัย บุนปาน มันใหญ่ไป มีอิทธิพลทำให้คนเกรงกลัว ข้าราชการผู้ใหญ่รับตำแหน่งใหม่มาเยี่ยมยังบอกว่า มารับนโยบายใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดทิฐิมานะ บวชแล้วต้องเปลี่ยนเป็น “ปุญฺญปาโน” (ผู้ดื่มบุญ) อะไรทำนองนี้

สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ 6 พระองค์ออกบวช มี นายภูษามาลา หรือ “บาร์เบอร์” คนหนึ่งชื่ออุบาลีบวชด้วย เจ้าชายทั้งหลายอนุญาตให้นายภูษามาลาบวชก่อน ทั้งนี้เพื่อจะ “ถอนทิฐิมานะ” ให้ลูกน้องบวชก่อนอายุพรรษามากกว่า พวกตนจะได้กราบไหว้

ยิ่งไปกว่านี้ บวชแล้วถือว่าตัดขาดจากตระกูลวงศ์ เป็นคนของพระศาสนา ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป มีสกุลวงศ์ใหม่คือ “ศากยปุตติยวงศ์” วงศ์แห่งพระสมณะศากยบุตร มีพระบรมศาสดาเป็นพ่อ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นพี่น้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน’

นี้ว่าโดยหลักการ แต่โดยการปฏิบัติก็อาจย่อหย่อนไปบ้าง ดังเกิดกรณีพระปูติคัตตะขึ้น นามเดิมท่าน ติสสะ ต่อมาได้สมญานามว่า ปูติคัตติ (แปลว่า ผู้มีกายเน่าเหม็น) สาเหตุที่ท่านได้นามอันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ เนื่องมาจากท่านป่วยเป็นโรคผิวหนัง

แรกๆ ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็เกิดตุ่มขึ้นเต็มตัว คันยุบยิบ ยิ่งเกาก็ยิ่งแสบยิ่งคัน หนักเข้าก็เป็นหนองแตกไหลเยิ้มไปทั่วร่าง ส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา เพื่อนสหธรรมิกด้วยกันต่างก็รังเกียจเดียดฉันท์ ปล่อยให้เธอดูแลตัวเองตามบุญตามกรรม

ท้ายสุด เธอถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งนอนอยู่บนแคร่ รอความตายอย่างน่าสงสาร

พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงทรงชักชวนพระอานนท์เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของท่านติสสะ ไปถึงก็รับสั่งให้พระอานนท์ก่อไฟตั้งน้ำ น้ำเดือดแล้วทรงผสมน้ำอุ่นด้วยพระองค์เอง ทรงยกถังน้ำอุ่นไปเช็ดตัวให้ท่านติสสะ

โดยมิได้ทรงรังเกียจในกลิ่นเหม็นเน่าแต่ประการใด

ภิกษุทั้งหลายเห็นพระพุทธเจ้าทรง “ลงมือทำ” ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิดกัน มารับอาสาทำเอง พระองค์ตรัสว่า “ไม่ต้อง ตถาคตทำเอง”

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเช็ดร่างกายให้สักพัก ภิกษุหนุ่มก็มีร่างกายเบา เธอรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อตน ทั้งๆ ที่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันไม่เหลียวแลแล้ว เมื่อร่างกายเบา จิตใจก็สงบรำงับขึ้น พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาเตือนสติสั้นๆ ว่า

ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับแผ่นดิน

ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า หาประโยชน์อะไรมิได้ฉะนั้น

เธอพิจารณาไปตามกระแสพระพุทธดำรัส ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับสิ้นชีวิต เป็นพระอรหัตที่ตำราเรียกว่า “สมสีสี” (อ่าน “สะ-มะ-สี-สี” แปลว่า ผู้ดับกิเลสและดับชีวิตพร้อมกัน)

เป็นอันว่าเธอได้พ้นทุกข์แล้ว เป็นการพ้นทุกข์จากสังขารวัฏจักรอย่างถาวร ก็ยังเหลือแต่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนสหธรรมิกของติสสะนั้นแหละจะต้องเวียนว่ายต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงหันมายังภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างๆ ตรัสสอนว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละบ้านเรือนมา ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีญาติพี่น้อง พวกเธอพึงดูแลกันและกัน ถ้าพวกเธอไม่ดูแลกันเอง แล้วใครเล่าจะมาดูแล”

แล้วตรัสต่อไปว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครพึงหวังจะอุปัฏฐากตถาคตก็พึงอุปัฏฐากดูแลภิกษุไข้เถิด” ความหมายของพระองค์ก็คือ อย่ามัวเอาใจพระพุทธเจ้าเลย จงไปดูแลภิกษุไข้เถิด การดูแลภิกษุไข้ มีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธทีเดียว

พุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระภิกษุหนุ่ม “ปูติคัตตะ” ว่า

อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ

ฉุฑฺโฑ อเปตวิญญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ

ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับถมแผ่นดิน

ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ หาประโยชน์มิได้ฉะนั้น

ว่ากันว่า เป็นที่มาของคาถา “บังสุกุลเป็น” มาจนปัจจุบันนี้ (เดี๋ยวนี้ ประเพณีจะดูหายไปเกือบหมดสิ้น)

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


36. คาถาบังสุกุลครั้งแรก

คราวที่แล้วพูดถึงคาถาบังสุกุลเป็น ที่ (เชื่อว่า) เป็นต้นเหตุประเพณีสวดบังสุกุลแก่คนป่วยหนัก คราวนี้ก็ต้องพูดถึงบังสุกุลคนตาย เพื่อให้ครบเซ็ต

นอกเรื่องนิดหน่อย สมัยเขาสร้างทางรถไฟผ่านดงพญาเย็น (สมัย ร.5) มีคนตายจำนวนมาก เพราะถูกผีหลอกเป็นไข้หัวโกร๋น นายคนหนึ่งขณะนอนอยู่ ผีมาหลอกหลอน ค่าที่บวชมานาน ก็สวดคาถาต่างๆ มากมาย ผีไม่กลัว ไม่หนี แกนึกขึ้นมาได้ว่าสมัยบวชเคยสวดบังสุกุลบ่อยจึงสวดคาถาบังสุกุล “อนิจจา วะตะ สังขารา…” เท่านั้นแหละครับ ผีเปิดแน่บเลย

เพราะฉะนั้น ใครที่ถูกผีอำ หรือหลอกหลอน ไม่ต้องกลัว สวด “อนิจจา วะตะ สังขารา…” เข้าไว้ ไม่เชื่ออย่าหลบหลู่

สมัยพุทธกาล (อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ ฉากเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล) พี่ชายน้องชายสองคน เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาออกบวชพร้อมกัน

พี่ชายชื่อ พระมหากาล บวชแล้วก็เรียนกรรมฐาน เข้าป่าบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต

ส่วนน้องชายชื่อ พระจุลกาล บวชมาแล้วก็ปฏิบัติไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไร วันๆ ครุ่นคิดแต่เรื่องโลกๆ ทั้งๆ ที่บวชมาแล้ว

ดีว่าเป็นสมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยนี้คงมีเครื่องเล่นมากกว่าสมัยพุทธกาลมากมาย เช่น เกม อุปกรณ์มือถือต่างๆ ที่เอาไว้เล่นโซเชียลมีเดีย ดูคลิปวาบหวิวต่างๆ นานา

หลวงพี่เพ่งยังไงก็คงไม่เห็นอนิจจัง

วันหนึ่งหลวงพี่จุลกาล ไปบิณฑบาตในเมือง อดีต “เดอะเมีย” ของพระจุลกาลทั้ง 2 คนมาพบเข้า ก็มาซุบซิบกัน รู้กันสองต่อสอง แล้วก็ส่งเด็กไปนิมนต์หลวงพี่มาบ้านบอกว่าจะถวายภัตตาหาร พอหลวงพี่มาถึงบ้าน เดอะเมียทั้งสองก็ล็อกห้อง

ต่อไปนี้คือคำสนทนาระหว่างทั้งสาม (ผู้มีเทปอัดเทปมาให้)

“หลวงพี่หนีเราไปบวช ใครอนุญาตมิทราบ”

“ก็ขออนุญาตไม่ทัน เพราะพี่ชายชวนกะทันหัน ก็เลยตามไป” หลวงพี่แก้ตัว

“ถ้าเช่นนั้น หลวงพี่ก็ไม่เต็มใจบวชสิ” ทั้งสองซัก

“ก็ประมาณนั้นแหละ” หลวงพี่กล่าว นึกว่าเธอทั้งสองจะเห็นใจ

“ดีแล้ว ไม่อยากบวชแล้วบวชทำไม สึกเดี๋ยวนี้” ว่าแล้ว เดอะเมียทั้งสองก็ช่วยกันจับถอดจีวรออกเอากางเกงให้นุ่ง พี่ทิดแกก็คงอยากสึกอยู่แล้วด้วย จึงกระทำสำเร็จได้โดยง่าย เมื่อสึกอดีตสามีสำเร็จ ก็ส่งไปนิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

ภิกษุทั้งหลายทราบสาเหตุ ก็พากันซุบซิบ พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของพระสงฆ์ ก็ตรัสคาถาเทศน์สอนว่า “จุลกาล เธอนั่งคิดนอนคิดแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ในที่สุดก็ถูกมารผจญ เพราะใจไม่แข็งพอ ดุจต้นไม้อ่อน ถูกลมพัดได้ง่าย”

ทำนองจะตรัสบอกว่า อย่าเอาอย่างจุลกาล

ฝ่ายเมียของพระมหากาล ทราบข่าวว่าอดีตภรรยาพระน้องชายสามีได้พากันจับสามีสึก ก็อยากเอาตามอย่างบ้าง จึงให้คนไปนิมนต์พระมหากาลมารับบิณฑบาตที่บ้านตน พระสงฆ์ทราบข่าวก็เป็นห่วง กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

แต่ดูเหมือนว่าพระพุทธองค์ก็ทรงรู้แต่ก็ไม่เห็นทรงห้ามปรามอะไร พระทั้งหลายจึงไม่กล้าทัดทานอะไร

เมื่อไปถึงบ้าน เดอะเมียของพระมหากาล ทานโทษ ดูเหมือนจะสี่คนด้วยซ้ำก็ดาหน้าเข้ามา จะล็อกคอหลวงพี่เหมือนกับที่ภรรยาจุลกาลทำกับสามี

แต่ขออภัย หลวงพี่มหากาลท่านเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา รู้อะไรเป็นอะไร ก็นั่งสมาธิเหาะหนีไปได้อย่างปลอดภัย

พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุทั้งหลายภายหลังว่า “มหากาลนั้น ไม่ได้มองสรรพสิ่งว่าน่ารักน่าใคร่ จึงมิได้ไยดีในกามคุณ คนเช่นนี้มารย่อมทำลายไม่ได้ ดุจต้นไม้ใหญ่ ลมจะแรงขนาดไหนก็ไม่สามารถโค่นได้”

มีข้อมูลเกี่ยวกับการบรรลุพระอรหัตผลของพระมหากาลน่าสนใจ ท่านเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ได้เข้าไปอยู่ที่ป่าช้า มีนางสัปเหร่อชื่อกาลีคอยดูแลป่าช้าอยู่ นางจะทำหน้าที่เผาศพ ท่านขอกับนางว่า ก่อนเผาศพ ขอให้ท่านไปพิจารณาศพก่อน

วันหนึ่งท่านเห็นศพคนตายอายุยังน้อยเป็นสาววัยรุ่นอยู่ ก็พิจารณาไป ปลงธรรมสังเวชไปด้วย ว่ากันว่าความตายนี้ไม่ยกเว้นใครเลยนะ เด็กก็ตาย หนุ่มสาวก็ตาย แก่ก็ตาย โง่ก็ตาย ฉลาดก็ตาย ที่แก่แล้วตายก็ช่างเถิด เราเองก็คงจะตายในไม่ช้า จึงไม่ควรประมาทในสมณธรรม

แล้วท่านก็เจริญอสุภกรรมฐาน โดยกล่าวคาถาว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสมโม สุโข

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดและเสื่อมเป็นธรรมดา

เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป การระงับสังขารได้เป็นสุข

พิจารณาด้วยคาถานี้แหละ ทำให้ท่านได้เข้าถึงไตรลักษณ์ แล้วก็เจริญตามทางแห่งวิปัสสนาจนถึงที่สุด

คาถานี้ ชาวพุทธได้นำมาเป็นคาถาบังสุกุลมาจนบัดนี้

ข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง

สมัยพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

มีบุคคลสำคัญได้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวชหลายท่าน

เช่น พระอานนท์ พระอนุรุทธะ

ท้าวสักกะเทวราชก็ได้มากล่าวด้วยเช่นกัน

ว่ากันว่าท้าวเธอได้ยกเอาคาถา “อนิจจา…” นำมาแสดงด้วย

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


37. ภิกษุณีรูปแรกที่มีลูก
[ภิกษุณีนิรนาม มารดา “พระกุมารกัสสปะ”]

เรื่องนี้คงอื้อฉาวมากสมัยพุทธกาล แต่บังเอิญภิกษุณีเธอไม่ผิด คือมิได้ผิดศีล จึงไม่มีผลในแง่ลบ

เรื่องมีอยู่ว่า มีสตรีนางหนึ่งอยากบวชแต่ก็ไม่ได้บวช เพราะพ่อแม่ไม่ต้องการให้บวช จึงต้องแต่งงานอยู่กินกับสามี คอยปรนนิบัติสามีอย่างดี จนสามีพอใจ เมื่อได้โอกาสก็บอกกับสามีว่า ตนอยากบวช ขออนุญาตบวชได้ไหม สามีเห็นภรรยามีจิตใจหนักแน่น จึงอนุญาตให้ภรรยาบวช นางจึงไปบวชที่สำนักนางภิกษุณี

นางไม่รู้ดอกว่า ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยนางได้ตั้งครรภ์ เมื่อมาบวชแล้วครรภ์ก็โตขึ้นโตขึ้น จนปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งหลาย พระเทวทัต ผู้ดูแลนาง เห็นเช่นนั้น ก็มิได้สอบสวนอะไร สั่งให้นางสึกทันที เพราะกลัวเป็นความเสื่อมเสีย

นางยืนยันกับพระเทวทัตว่า นางมิได้ล่วงละเมิดสิกขาบทอะไร นางบริสุทธิ์ จะไม่ยอมสึกตามคำสั่งของพระเทวทัตเป็นอันขาด

พระเถระก็ชักไม่พอใจ ก็หลักฐานเห็นโทนโท่อย่างนี้ ถึงจะบอกว่าตนบริสุทธิ์ก็ฟังไม่ขึ้น พูดง่ายๆ ว่า “อมพระมาทั้งโบสถ์ก็ไม่เชื่อ” ประมาณนั้น

เมื่อพระผู้ดูแลไม่ยอมฟังเหตุผล ไม่ยอมสอบสวนหาสาเหตุ จะให้สึกท่าเดียว นางก็ต้องยื่นฎีกาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทราบสาเหตุอยู่ก่อนแล้ว แต่เพื่อให้เรื่องมันชัดในสายตาผู้คนทั้งหลาย จึงทรงมีพุทธบัญชาให้พระอุบาลีเถระ ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยเป็นผู้พิจารณาอธิกรณ์

เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้หญิง บุรุษก็ไม่ถนัดเป็นธรรมดา พระเถระจึงขอแรงงานนางวิสาขาให้ช่วย นางวิสาขาจึงนิมนต์ภิกษุณีมาสอบถามสองต่อสอง คงมีการตรวจอาการด้วยละครับ ตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของกายภาพ สอบถามวันมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย สอบถามวันหมดประจำเดือนอะไรประมาณนั้น อย่างละเอียด ทำรายงานส่งพระอุบาลีเถระ

นางสรุปว่า พระเถรีตั้งครรภ์ก่อนออกบวช

พระอนุรุทธะก็ถือเอาข้อมูลนั้นแหละ มาประมวลกับหลักฐานอย่างอื่น แล้วสรุปว่านางบริสุทธิ์ นำเสนอพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงประกาศว่า นางภิกษุณีไม่มีความผิด นางก็เลยไม่ได้ลาสิกขา พระเทวทัตก็หน้าแตกหมอไม่รับเย็บไปตามระเบียบ

เมื่อครบกำหนดแล้ว ทารกน้อยก็คลอดออกมา ภิกษุณีก็ต้องเลี้ยงลูกเองสิครับ คงทุลักทุเลน่าดูแหละ บังเอิญ พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ เสร็จจากเฝ้าพระพุทธองค์ ก็ทรงตรวจดูที่อยู่ของพระสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์

ทรงสดับเสียงเด็กร้องจึงเสด็จดำเนินเข้าไป เห็นภิกษุณีกำลังเลี้ยงทารกอยู่ ทรงถามไถ่ได้ความ จึงทรงออกพระโอษฐ์ขอเด็กไปเลี้ยง

นางภิกษุณีผู้เป็นแม่ก็จำใจให้ เพราะตนเองก็ไม่สะดวกในการเลี้ยงดู อีกอย่างลูกชายก็ไปอยู่ในรั้วในวังคงไม่ลำบาก

แต่หลังจากลูกจากไป นางก็มิเป็นอันปฏิบัติธรรม คิดถึงแต่ลูก จนไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลย ลูกชายของนาง ภายหลังออกมาบวชเป็นสามเณร ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุยังน้อย

นางรู้ข่าวว่าลูกชายบวช ก็ตามหา จนวันหนึ่งพบเข้า จึงวิ่งเข้าหาร้องว่า “ลูกๆ” ด้วยความคิดถึงสุดประมาณ สามเณรรู้ว่าถ้าพูดดีกับแม่ แม่ก็จะไม่บรรลุธรรมอะไร จึงทำเป็นเสียงเคร่งขรึม พูดว่า “อะไรกัน บวชมาตั้งนาน แค่ความรักแม่รักลูกยังตัดไม่ขาด” ว่าแล้วก็เดินหนีไป

ว่ากันว่าหัวใจผู้เป็นแม่แทบแหลกสลาย สลบฟื้นขึ้นมาแล้ว ทิฐิมานะก็เข้ามาแทรกแทนที่ “เสียแรงเราคิดถึงตั้งหลายปี ไม่เป็นอันกินอันนอน ลูกเราเห็นหน้าเรากลับพูดแบบไม่มีเยื่อใย ไม่รักก็ไม่รัก (วะ)” แล้วก็ตัดใจตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรม

เรื่องของนางภิกษุณีมีลูกก็จบลงด้วยประการฉะนี้

ลูกชายของนางภายหลังบวชพระแล้ว เป็นนักเทศน์มีชื่อเสียงนามว่า “กุมารกัสสปะ” ครับ

:b8:

๏ สามเณรกุมารกัสสปะ อรหันต์น้อยชีวิตพิสดาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57860

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในภาพ...“พระเจ้าพิมพิสาร” ทรงถือสุวรรณภิงคาร (น้ำเต้าทอง)
หลั่งน้ำอุททิโสทกลงบนพระหัตถ์พระพุทธเจ้า
ถวายที่ดินคือสวนหลวงเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ที่ตั้งเสนาสนะ
หรือวัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
แด่คณะสงฆ์ ชื่อว่า “วัดพระเวฬุวัน”
และได้มีการถวายตัวเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

:b47: :b45: :b47:

38. การเกิดขึ้นแห่งประเพณีกรวดน้ำครั้งแรก
[มีขึ้นเพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นสาเหตุ]

บอกไว้ก่อนว่า เป็นข้อมูลภายหลัง จะได้ไม่เถียงกัน ว่ากันว่าตอนแรกๆ ก็ไม่มีธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย หรือบรรพบุรุษของผู้กระทำกุศล มามีขึ้นเพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นสาเหตุ

ว่ากันว่าเมื่อครั้งพระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวันให้เป็นวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า อันนับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้น พระองค์มิได้ทรงอุทิศกุศลให้ผู้ตาย เพราะไม่ทรงทราบธรรมเนียม

ตกดึกคืนนั้นพระสุบินนิมิตเห็นพวกเปรตมากหน้าหลายตามาปรากฏตนขอส่วนบุญ

พระเจ้าพิมพิสารจึงนำความไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสให้พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแก่พระสงฆ์ใหม่

พร้อมกับให้ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารทรงกระทำตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ

คืนนั้นพวกเปรตทั้งหลายมาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ขออนุโมทนาในส่วนบุญที่พระองค์ทรงอุทิศไปให้

เมื่อทรงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่าพวกเปรตนั้นในอดีตชาติอันยาวไกลโพ้น เคยเป็นพระญาติของพระองค์ ครั้งนั้นพระองค์พร้อมทั้งหมู่ญาติได้ตระเตรียมถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ต่างก็ตระเตรียมการเป็นใหญ่มีของเคี้ยวของฉันอันประณีตเตรียมไว้พร้อมมูล

เมื่อภิกษุสงฆ์ยังมิทันได้ฉันภัตตาหารนั้น พวกญาติบางพวกเกิดหิวขึ้นมา จึงหยิบเอาอาหารขึ้นมารับประทานก่อนภิกษุสงฆ์ ด้วยผลกรรมนั้นพวกเขาจึงเกิดเป็นเปรตเรียกว่า “ปรทัตตูชีวิต” (เปรตผู้อาศัยส่วนบุญที่คนเขาอุทิศให้ยังชีพ) เมื่อไม่มีญาติพี่น้องอุทิศส่วนบุญไปให้จึงผอมโซไปตลอดกาล ดังกรณีญาติของพระเจ้าพิมพิสารนี้

แต่เมื่อพระองค์ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้ พวกเขาก็ได้รับดังกล่าวแล้ว

ว่ากันว่านี่คือที่มาแห่งธรรมเนียมการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ที่ถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

คุณค่าทางจริยธรรมที่ได้จากธรรมเนียมนี้ก็คือ เป็นการสร้างสำนึกแห่งความละอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี

ของที่เขาตั้งใจอุทิศถวายพระนั้นถือว่าเป็น “ของสงฆ์” ปู่ย่าตาทวดจะสอนลูกหลานมิให้แตะต้องเพราะจะเป็นบาป ตายไปจะไปเกิดเป็นเปรต ใครจะหาว่าเอาเปรตมาขู่ก็ตามเถอะ

มองอีกมุมหนึ่งเป็นนี้คือวิธีควบคุมจริยธรรมของคนให้มีหิริโอตตัปปะ รู้จักอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี ผิดกับคนสมัยนี้

เดิมทีคงเพียงตั้งใจอุทิศส่วนบุญเท่านั้นเอง ส่วนการจะเอาน้ำมารินอันเรียกว่ากรวดน้ำนั้น คงเพิ่มมาภายหลัง เพื่อให้เป็น “สัญลักษณ์” ตามธรรมเนียมของคนสมัยโน้น

อาจารย์บางท่านกล่าวว่า สมัยก่อนโน้น เขาใช้น้ำรินลงที่มือคนรับ ดังกรณีพระเวสสันดรตอนพระราชทานสองกุมารแก่พราหมณ์ชูชก ทรงยกคนโทน้ำรินน้ำลงที่มือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่าให้เป็นการเด็ดขาด

แต่ปัจจุบันนี้ใช้น้ำริน อันเรียกตามภาษา (ว่ากันว่าเขมร) “กรวด” จึงเรียกธรรมเนียมนี้ว่า “กรวดน้ำ”

แล้วก็มีระเบียบปฏิบัติว่า ให้รินน้ำตอนที่พระรูปแรกสวด “ยถา วาริวาหา...” เมื่อพระสงฆ์รับพร้อมกัน ก็ให้รินน้ำที่ยังเหลือให้หมด แล้วประนมมือรับพรจากพระสงฆ์ โดยไม่ต้องเอานิ้วจับชายเสื้อของคนรินน้ำ

แบบนี้ก็เห็นจะมีเฉพาะวงการพุทธไทย อย่างที่ประเทศศรีลังกา พระท่านว่าอนุโมทนาพร้อมกัน ขณะรินน้ำ ก็เพียงตั้งจิตอุทิศกุศลเท่านั้นไม่ต้องสวดอะไรให้รุงรัง

ถ้าจะกรวดน้ำโดยไม่มีพิธีการทำบุญอย่างอื่น เช่นใส่บาตรแล้ว อุทิศส่วนบุญแล้ว ยังไม่สบายใจ คล้ายๆ จะขาดอะไรไปสักอย่างจะกรวดน้ำแถมท้าย โดยนำพุทธวจนะสั้นๆ มาสวดว่า “อิทํ โน ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” ก็ได้


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


39. การประพรมน้ำพุทธมนต์ครั้งแรก
[ที่เมืองไพศาลี ครั้งเกิดโรคระบาด]

บอกไว้ก่อนว่าถึงแม้ว่าข้อมูลจะมีปรากฏในพระสูตรในพระไตรปิฎก แต่ก็น่าเชื่อว่าเขียนขึ้นและเพิ่มเติมภายหลัง

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงต้องการให้พระสูตรของพระองค์เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การทำน้ำพระพุทธมนต์และประพรมเพื่อขจัดภูตผีร้ายไม่น่าจะเป็นพุทธประสงค์

ก็ขอเล่าตามตำนานก็แล้วกัน


ที่เมืองไพศาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี เกิดโรคระบาด (อหิวาตกโรค หรือโรคห่า) ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เดือดร้อนไปทั่วเมือง

กษัตริย์ลิจฉวีนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลี

พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จไปตามคำนิมนต์ ทรงมีพุทธบัญชาให้พระอานนท์ พุทธอนุชา สวดรัตนสูตร อันว่าด้วยพระคุณของพระรัตนตรัย เพื่อขจัดโรคร้ายและอำนวยสวัสดีมงคลแก่ชาวเมืองไพศาลี พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบกำแพงเมือง

ภูตผีปีศาจร้ายได้ปลาสนาการไปหมดสิ้น ชาวเมืองมีกำลังใจเริ่มหายป่วยกันมากขึ้น

ดูเหมือนก่อนหน้าพระอานนท์เดินสวดรัตนสูตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ฝนตกลงมาห่าใหญ่ชะล้างพื้นให้สะอาด

พระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางพุทธบริษัท อันประกอบด้วยกษัตริย์ลิจฉวี ชาวเมือง และภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทรงสวดรัตนสูตรอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธโฆษาจารย์ (พระอรรถกถาจารย์) ได้อธิบายไว้ในอรรถกถาทีฆนิกายว่า พระพุทธองค์ทรงสวดเฉพาะ 5 คาถาแรกเท่านั้น ส่วนคาถาที่เหลือ พระอานนท์สวดมาก่อนแล้ว

เนื้อหาเป็นการสรรเสริญพระคุณของพระรัตนตรัย เช่น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ว่าในโลกไหน หรือรัตนะอันประณีตสวยงาม ไม่ว่าในสวรรค์ชั้นไหน จะเปรียบปานพุทธรัตนะนั้นหามีไม่

พระธรรมอันปราศจากราคะ อมตะ ประณีต ที่พระพุทธองค์ทรงมีจิตเป็นสมาธิบรรลุแล้วพระธรรมนั้น หาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้

สมาธิใดที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นอนันตริกสมาธิ หาสมาธิอื่นใดเสมอเหมือนมิได้

พระอริยบุคคล 8 จัดเป็น 4 คู่ ท่านเหล่านั้นพระสุคตทรงสรรเสริญ ควรทำบุญทำทานที่ถวายแก่ท่านเหล่านั้นมีผลมาก

พระอริยบุคคล ในศาสนาของพระโคตมพุทธะ ขยันขวนขวายด้วยดี มีจิตมั่นด้วยสมาธิไม่มีความใคร่ ได้เสวยความดับกิเลสเปล่าๆ (โดยไม่ต้องซื้อหา)

สัตบุรุษ (คือพระโสดาบัน) ผู้หยั่งรู้อริยสัจพระตถาคตตรัสเรียกว่า ผู้มีศรัทธาไม่คลอนแคลน ดุจเสาหลักเมืองที่ฝังลงดินลึก ลมพัดมาจากทิศทางใด ก็ไม่สามารถให้ขยับเขยื้อนได้

พระอริยบุคคล ผู้เห็นแจ้งอริยสัจสี่ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ แม้ว่ายังจะเป็นผู้ประมาทโดยมาก ย่อมมาเกิดอีกอย่างมากเจ็ดชาติ

พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรค พระโสดาบันและสังโยชน์ได้ 3 เป็นผู้พ้นจากอบายมุขทั้งสี่ และไม่ทำอนันตริยกรรม 6 (คือฆ่าพ่อ, ฆ่าแม่, ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต, ทำสงฆ์ให้แตกกัน และไปนับถือศาสนาอื่น)

พระโสดาบัน แม้จะทำชั่วด้วยกาย วาจา ใจ อยู่บ้าง ก็ไม่ปิดบังกรรมชั่วที่ทำไว้ เพราะผู้เห็นพระนิพพานแล้ว ไม่อาจปิดบังความชั่วที่ตนทำ

พุ่มไม้ใหญ่ ในป่า ผลิดอกออกใบ แตกกิ่งก้านสาขา พระตถาคตเจ้าทรงแสดงพระธรรมอันประเสริฐ ให้แตกกิ่งก้านสาขา ชี้ทางนำไปสู่พระนิพพาน ฯลฯ

ท้ายแต่ละพระคาถา มีถ้อยคำว่า ขอความสวัสดีมงคลจงมีแก่ผู้ที่มาประชุมกัน สวดสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์


เรื่องราวจะเกิดขึ้นสมัยพุทธกาลจริง หรือท่านแต่งในภายหลังโยงให้ถึงสมัยพุทธกาลยากจะทราบได้ เพราะเนื้อหารัตนสูตรไม่มีพูดไว้

ส่วนที่เล่าเรื่องพระอานนท์เดินสวดพระสูตรและประพรมพุทธน้ำพระมนต์นั้น พระอรรถกถาจารย์ท่านแต่งเติม


เมื่อครั้งลังกาทวีปเกิดกาฬโรคครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระเจ้าอุปติสสะที่สอง พระเจ้าแผ่นดินทรงนิมนต์พระสงฆ์เดินสวดรัตนสูตรนี้รอบเมือง

ว่ากันว่าโรคภัยได้หายในที่สุด จึงเกิดธรรมเนียมสวดพระปริตรนี้ กำจัดภัยพิบัติในประเทศนั้นสืบมา


:b8:

๏ ตำนานพระปริตร (เจ็ดตำนาน)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=19722

๏ ตำนานพระปริตร (สิบสองตำนาน)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=19723

๏ ความหมายและการสวดพระปริตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=44181

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


40. การเกิดนิกายครั้งแรก
สงฆ์แตกเป็น 2 ฝ่าย เมื่อ พ.ศ.100

อาทิตย์ที่แล้วเล่าเรื่องพระเมืองโกสัมพีทะเลาะกันครั้งแรกและครั้งยิ่งใหญ่ จนแทบจะเอาไม่อยู่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามี “ควันหลง” เหมือนควันหลงหลังเลือกตั้ง คือไม่มีการแตกแยกนิกาย

ความขัดแย้งกันทางความคิด ก่อรูปก่อร่างขึ้นอีกเมื่อสมัยสังคายนาครั้งที่ 1 คือ เมื่อพระมหากัสสปะรวบรวมพระอรหันต์สาวก 500 รูป ประชุมทำการสังคายนาครั้งที่หนึ่งนั้น พระอานนท์ผู้ที่ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สุด และโดยเสด็จมาตลอดในวาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ ได้เล่าเรื่องต่างๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านให้พระสงฆ์ฟัง หนึ่งในหลายเรื่องที่เล่าคือ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้”

ที่ประชุมสงฆ์ซักถามพระอานนท์ว่า สิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใด พระพุทธองค์ตรัสบอกไหม พระอานนท์ตอบว่า มิได้บอก ที่ประชุมซักอีกว่า แล้วทำไมท่านไม่ทูลถาม พระอานนท์กล่าวว่า ตอนนั้นมัวแต่กังวลใจว่าพระพุทธองค์จะจากเราไปแล้ว จะทำอย่างไร เลยไม่มีกะจิตกะใจจะซักถามเรื่องต่างๆ

ที่ประชุมสงฆ์เลยตำหนิว่าพระอานนท์ไม่รอบคอบ ไม่ตำหนิเปล่า ถึงขั้นปรับอาบัติทุกกฎแน่ะครับ [อาบัติคืออะไร ทุกกฎคืออาบัติระดับใด ไม่บอกครับ ให้ไปเปิดพจนานุกรม พุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในปัจจุบัน - สาวิกาน้อย) มาอ่านแล้วกัน]

เมื่อไม่ได้ความกระจ่าง พระสงฆ์ก็เลยแสดงความคิดเห็นแตกต่างกัน แบ่งเป็นพรรค เอ๊ย กลุ่มได้ 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่งเห็นว่า ยกเว้นปาราชิก 4 และสังฆาทิเสส 13 นอกนั้นนับเป็นสิกขาบทเล็กน้อยหมด อีกกลุ่มเห็นว่า เฉพาะสิกขาบทเกี่ยวกับมรรยาทต่างๆ เท่านั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย

เมื่อความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน พระมหากัสสปะประธานที่ประชุม จึงขอมติที่ประชุมว่าจะยกเลิกหรือไม่ เสียงข้างมากบอกว่าไม่ยกเลิก มติเสียงข้างมากนี้เรียกว่า “เถรวาท” (วาทะหรือข้อตกลงของพระเถระทั้งหลายในที่ประชุมนั้น) ต่อมาคำนี้กลายมาเป็นชื่อนิกายหนึ่ง หลังจากมีนิกายแล้ว

เมื่อเสียงข้างมากออกมาอย่างนี้ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ต้องยอมรับ ไม่มีปฏิกิริยาอะไร แต่ก็มี “ควันหลง” จนได้ ควันหลงนี้มิได้มาจากพระเถระที่เข้าประชุม มาจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งนามว่า พระปุราณะ

พระปุราณะมิได้ถูกเลือกให้เข้าบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ เอ๊ย ให้เข้าประชุมกับเขา ได้รับทราบมติที่ประชุมดังนั้นก็กล่าวว่า ในส่วนตัวของท่านเห็นว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธาธิบาย (คือมีพุทธประสงค์) เช่นนี้ ก็ต้องยกเลิกได้สิ

ดังเช่นสมัยพุทธกาลเมื่อเกิดข้าวยากหมากแพงขึ้น พระพุทธองค์ยังทรงยกเลิกสิกขาบทบางข้อ เช่น อนุญาตให้พระสะสมอาหาร หรือหุงต้มกินเองได้

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากพระพุทธองค์อย่างไร ก็จะยึดถือตามนั้น ไม่เชื่อมติที่ประชุม ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่ก็ยังไม่เกิดนิกาย มีเพียง “เค้า” ว่าจะเกิดเท่านั้น เวลาผ่านไป 100 ปี มี กลุ่มพระวัชชีบุตร เสนอให้แก้ไขสิกขาบท 10 ข้อ อันเรียกว่า “วัตถุ 10 ประการ” คือ

1. ตะวันบ่ายคล้อยไปประมาณ 2 องคุลี ฉันอาหารได้ (เทียบประมาณบ่าย 2 โมง)

2. เก็บเกลือไว้แล้วนำมาผสมกับอาหารอื่นฉันได้

3. ฉันอาหารในวัดแล้วเข้าบ้าน เขาถวายอีกฉันอีกได้

4. วัดใหญ่มีพระสงฆ์มาก จะแยกกันทำอุโบสถก็ได้

5. เวลาทำอุโบสถ แม้ยังไม่นำฉันทะของพระรูปที่ไม่เข้าประชุมมา สงฆ์จะทำอุโบสถก่อนก็ได้

6. ข้อปฏิบัติที่อุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติปฏิบัติมา แม้จะผิดก็ควรทำตาม

7. ฉันนมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้มได้

8. ฉันสุราอ่อนๆ ได้

9. ผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ไม่มีชายใช้ได้

10. รับเงินและทองได้

พระสงฆ์จำนวน 700 รูปได้ประชุมสังคายนา นำข้อเสนอทั้ง 10 ประการนั้นเข้าวินิจฉัย มติส่วนมากไม่ยอมรับ แต่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอมรับมติที่ประชุม คือแพ้แต่ไม่ยอมแพ้ จะกวาด 3 ที่นั่งภาคใต้สมัยหน้า เอ๊ย จะให้มีการแก้ไขสิกขาบทตามที่พวกตนเสนอให้ได้ จึงแยกตัวออกไป แสวงหาสมัครพรรคพวกได้จำนวนมากกว่าเดิมอีก ตั้งนิกายใหม่ชื่อว่า “มหาสังฆิกะ” มีจุดยืนว่าสิกขาบทใดๆ ที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

เมื่อเกิดมีนิกายมหาสังฆิกะ พระสงฆ์ดั้งเดิมก็กลายเป็นนิกายหนึ่งนามว่า “เถรวาท” มีจุดยืนว่าสิกขาบทใดๆ ที่ตราไว้โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไม่แก้ไข ต้องรักษาไว้ตามเดิม

พระสงฆ์ที่เคยสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่แตกก๊กแตกเหล่า ก็ได้แยกออกเป็นสองนิกาย คือ “นิกายมหาสังฆิกะ” และ “นิกายเถรวาท” ด้วยประการฉะนี้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.100 ถ้านับแบบพม่าและลังกาก็เป็น พ.ศ.101 ครับ


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2019, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


41

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2019, 13:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2019, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 44 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร