ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๕๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=49949
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2015, 17:08 ]
หัวข้อกระทู้:  ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๕๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ธัมมะในลิขิต
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

จากฉบับที่ ๑ ถึงฉบับที่ ๕๗
รวบรวมไว้โดย คุณเอี๋ยน ธัมมัญญู จังหวัดจันทบุรี

รูปภาพ[/center]
ฉบับที่ ๑
วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี
๙ มีนาคม ๒๔๙๙


เรื่องพระไตรลักษณ์ย่อมมีประจักษ์อยู่ทั้งภายนอกและภายในจิต
แม้เราจะพิจารณาเฉพาะจิต ก็ไม่ผิดจากสัจธรรม
ไตรลักษณ์เป็นสัจธรรมด้วย มีอยู่ประจำจิตเราทุกท่านด้วย
ข้อสำคัญก็คือให้รู้ด้วยปัญญา
สังขารธรรมที่เกิด (ปรุง) ขึ้นจากจิตย่อมมีลักษณะเป็นสาม
คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อริยสัจ ๔ รวมลงที่จิต
ขันธ์ ๕ เป็นอริยสัจด้วย เป็นไตรลักษณ์ด้วย
ในบรรดาขันธ์ ๕ ขันธ์ใดถูกจริตพึงพิจารณาขันธ์นั้นให้มาก
แม้เราตั้งความระวังสำรวมอยู่เฉพาะจิต ก็ไม่ผิดจากองค์มรรค
อย่างที่โยมทองแดงบอกว่าไม่ผิดนั้นอาตมาก็เห็นด้วย
ฉะนั้นขอให้พยายามเป็นลำดับ

คนเราถ้ามีความสงบแล้วก็เป็นสุข
ถ้าไม่มีความสงบแล้วก็ไม่มีสุข
ดังนั้นเราควรหาความสุขเพื่อเรา
การพิจารณาก็เพื่อทำจิตให้สงบ
และเกิดปัญญาฉลาดสามารถเปลื้องตัวออกจากเครื่องผูกพัน

การกำหนดเฉพาะจิตก็เพื่อความสงบของจิต
เมื่อจิตสงบแล้วก็ค่อยเกิดปัญญาหาทางแก้ตน
เหมือนบุคคลมีทุนทรัพย์แล้วก็จะเป็นเหตุให้คิดค้าหากำไร
เพื่อเปลื้องตนออกจากทุกข์ยากฉะนั้น เอวํ.

บัว

tongue tongue tongue

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2015, 17:10 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปน

ฉบับที่ ๒
วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ
๒๕ เมษายน ๒๔๙๙


การภาวนาโปรดได้พากันบำเพ็ญประจำวัน
การจะพยายามแก้ทุกข์ออกจากใจเป็นสิ่งสำคัญมาก
และพึงทราบสมุฏฐานที่เกิดของทุกข์เสียก่อน

สมุฏฐานของทุกข์ท่านก็กล่าวว่ากิเลส
สมุฏฐานของกิเลสก็คือจิตอีกเหมือนกัน (เป็นวัฏวน)
ดังนั้นทุกข์จึงต้องมีที่จิตเป็นสำคัญ
เมื่อฝึกฝนอบรมให้กิเลสหมดไปจากจิตแล้ว จิตจึงหาทุกข์บีบคั้นไม่ได้

แม้จะทุกข์ทางกาย
ก็เป็นแต่สักว่ากิริยาของขันธ์ซึ่งยังอยู่จะต้องแสดงอาการตามหน้าที่ของเขา
ความรู้ตามเป็นจริงของจิตที่ได้รู้รอบแล้วในขันธ์ทั้งหลาย
ก็เป็นเพียงรู้ความจริงของขันธ์อยู่เท่านั้น
หาได้ไปปรับโทษยกคุณขันธ์แต่ประการใดไม่

เมื่อจิตไม่ไปคว้าเอาทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ซึ่งเรียกว่าทุกขเวทนาแล้ว
ทุกข์ที่ปรากฏในขันธ์ก็ไม่ซึมซาบถึงจิต
จิตก็ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนไปตาม
ต่างก็ทำงานแลอยู่ตามความเป็นจริงของตน ไม่ระคนซึ่งกันและกัน
เรียกว่าหมดทางน้ำไหลเข้าไหลออก ก็เลยกลายเป็นน้ำนิ่งน้ำใสบริสุทธิ์ไป

จิตที่หมดทางไหลเข้าไหลออกของกิเลส ก็กลายเป็นจิตบริสุทธิ์
หมดความหวั่นไหวเช่นเดียวกับน้ำนั้น ขอได้พากันบำเพ็ญตามกำลัง
ชีวิตของเราทุกๆ คนในโลกจะอยู่ก็ไม่กี่วันเที่ยงแท้จะแตกดับอยู่แล้ว
รีบขวนขวายหาคุณงามความดีในเมื่อมีชีวิตอยู่
หาได้มากน้อยเป็นของเรา

เมื่อมีคุณงามความดีซึ่งเราได้สั่งสมไว้มากแล้ว
หากว่าเราไม่สิ้นกิเลส ยังจะกลับมาเกิดในโลกอีก
ก็จะเป็นผู้ไม่ผิดหวังในสถานที่เกิดและสิ่งที่เราต้องประสงค์
บุญเป็นเครื่องแก้ความขาดเขินบกพร่อง
ความทุกข์ทรมานท่านต้องแก้เราได้แน่ๆ

สิ่งที่จะให้สมหวังคือบุญนี้เอง
ท่านผู้สมหวังได้ผ่านทุกข์พ้นไปแล้วคือพระพุทธเจ้าของเรา
ท่านก็อาศัยบุญนี้เองเป็นคุณช่วยท่าน

ผู้ที่จะให้สมหวังในกาลข้างหน้าก็บุญนี้เอง
โปรดจำให้แม่น เพียรอย่าถอย
ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่เสียท่า
ตายไปแล้วก็ไม่เสีย จงทำดีให้มาก เอวํ.

บัว

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2015, 17:11 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปน

ฉบับที่ ๓
วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ
๑ มิถุนายน ๒๔๙๙


เรื่องคุณโยมจวน
หากท่านอุตส่าห์พิจารณาค้นคว้าในกองขันธ์ ๕ เข้าให้มาก
ก็จะเห็นโทษคุณมากขึ้นทีเดียว
จุดใดปมใดซึ่งเป็นเครื่องขัดข้อง
ในเมื่อเราพิจารณาขันธ์ ๕ เข้าให้มากแล้ว
ต้องเห็นจุดเห็นปมนั้นแน่นอน

การพิจารณาขันธ์ ๕ นี้พิสดารมาก
ทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา วิชชา
อันเป็นเครื่องถอดถอนกิเลสด้วย
คำว่าจุดว่าปมนั้นก็คือตัวกิเลสนั่นเอง
เมื่อปัญญายังไม่ละเอียดพอๆ กับกิเลสชนิดนี้
ก็ยังมองไม่เห็น แก้ไม่ตก ถอนไม่ขึ้น

กิเลสชนิดที่มองไม่เห็นนี้
ก็เลยกลายเป็นภัยแก่ท่านเองอีกหลายภพหลายชาติ
ถ้าจะคิดไปหน้าเดียว ไม่พิจารณาด้วยปัญญาให้ทั่วถึง
ก็อาจสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้

ซึ่งเหมือนหนทางเดินที่เราเข้าใจว่าเป็นทางเตียนโดยถ่ายเดียว
ก็ไม่ค่อยจะระวังอันตราย
แต่ว่าเสี้ยนหนามหรือเศษแก้วแตกอาจแทรกอยู่ในหนทางนั้นก็ได้
ในเมื่อเดินไปไม่ระวังก็ตำเท้าให้ได้รับความเจ็บปวดเดือดร้อนแก่ตัวเอง
นี่โทษเกิดขึ้นเพราะความตายใจเกินไป
ไม่มองด้วยสายตาให้ทั่วถึง

อนึ่งจิตนี้เมื่ออยู่ตามธรรมดาของตนก็เป็นของละเอียดอยู่แล้ว
เมื่อได้รับอบรมในทางที่ถูกยิ่งละเอียดขึ้นไป
ส่วนกิเลสเล่าก็ละเอียดไปตามกัน
อาศัยปัญญาเท่านั้น จะแก้กิเลสส่วนนี้ได้
ความสำคัญว่าอย่างนั้นอย่างนี้
อันนี้เป็นตัวสัญญา จะแก้กิเลสอย่างละเอียดไม่ได้
แก้ได้แต่ส่วนหยาบเท่านั้น

ดังนั้น ท่านจึงสอนให้อบรมปัญญา
การอบรมปัญญา ก็ได้แก่การค้นคิดในขันธ์ ๕
เอาขันธ์ ๕ เป็นหินลับ ปัญญาก็กล้าสามารถตัดกิเลสอย่างละเอียดได้
ก็พ้นทุกข์ได้ โดยไม่ต้องสำคัญตน
เมื่อพอแก่เหตุแก่ผลแล้ว
คำว่า “อมตํ หรือวิสุทธิธรรม” ก็เป็นขึ้นเอง
โดยไม่ต้องเสกสรรหรือสำคัญใดๆ
ใครๆ จะแต่งผลไม่ได้ แต่งได้แต่ตัวเหตุเท่านั้น

อนึ่ง การพิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็คือการพิจารณาเรื่องความเกิดความดับของขันธ์ ๕ นั้นเอง
ทั้งที่เป็นส่วนอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน
มีความเกิดความดับเป็นอันเดียวกัน
พิจารณาให้เห็นเป็นของไม่น่าไว้ใจหรือนอนใจ
ซึ่งเรียกว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันหมด

ต่อจากนั้นก็ทวนเข้ามาพิจารณาจิต
ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งอารมณ์ทั้งหลายอีก
ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นมหาโจรผู้สั่งสมกิเลสไว้ในตัวอีกเหมือนกัน
จึงควรพิจารณาจิตผู้รู้
ซึ้งธรรมทั้งหลายให้เห็นเป็นความจริงเสมอกับธรรมทั้งหลายอีก
ไม่อย่างนั้นจิตก็จะสำคัญว่าตนฉลาดเพราะไปรู้ธรรมทั้งหลาย
เลยลืมทวนกระแสเข้ามาพิจารณาและรู้เท่าตัวของตัวเอง

ประการหนึ่ง เมื่อจิตยังเพลินไปรู้
หรือตำหนิติชมธรรมส่วนอื่นว่าดีว่าชั่วอยู่ตราบใด
พึงทราบเถิดว่าจิตนั้นยังเป็นอวิชชาอยู่ตราบนั้น จัดว่ายังไม่ฉลาดพอ
และจัดว่ายังพ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะยังหลงตัวคือจิตอยู่

การพิจารณาที่จะให้รอบคอบในขันธ์ทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นขันธ์นอกขันธ์ใน และจิตเรา
ซึ่งนอกจากขันธ์ทั้งสองประเภทนั้น เป็นของสำคัญไม่น้อย

จิตนี้จะใช้ให้พิจารณาธรรมประเภทใด ทั้งใกล้ทั้งไกล
ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งภายนอกภายใน พอรู้ได้เห็นได้ไม่ยากนัก
แต่จะทวนเข้ามาพิจารณาจิตนี้ซิสำคัญยิ่ง
เมื่อกลับเข้ามาพิจารณาตรงนี้ได้แล้ว รู้ตรงนี้แล้ว
ว่าเป็นความจริงชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากความจริงใดๆ ทั้งหมด
พร้อมทั้งความไม่ยึดมั่นถือมั่นเสมอธรรมทั้งหลายแล้ว
นั่นแหละจึงจะหมดอวิชชาและอุปาทาน
จะปฏิญญาณตนว่าหลุดพ้นหรือไม่ก็หมดปัญหาในตัว

ดังนั้น ท่านผู้สิ้นจากความสำคัญไรๆ แล้ว
จึงเป็นเหมือนปิดปาก ไม่อยากพูดสุ่มสี่สุ่มห้า
ไม่อยากอวดตัวไม่อยากทดลอง
เมื่อปรากฏเฉพาะหน้าก็ดูไป ฟังไป ไม่อาลัยในความอยากดูอยากฟังอีก
ในเมื่อรูปเสียงเป็นต้น ผ่านพ้นไป
หมดคำว่าตัวดี ตัวชั่ว อยู่กลางๆ ตามความจริง
เพราะคำว่าดีหรือชั่วเป็นเหมือนสีย้อม
เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว หมดเรื่องเสกสรรเหมือนน้ำที่บริสุทธิ์แท้ไม่มีสีฉะนั้น เอวํ.

บัว

smiley smiley smiley

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2015, 17:12 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปน

ฉบับที่ ๔
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
๒๐ มิถุนายน ๒๔๙๙


การปฏิบัติธรรมทางจิต โปรดได้ค้นคิดในขันธ์ให้มาก
เรื่องมัคคสมังคีหรืออริยมรรคที่กล่าวถึงในฉบับก่อนนั้น
เป็นผลของงานซึ่งตัดกิเลสขาดไปเป็นตอนๆ ขอยกไว้
จะกล่าวถึงเรื่องงาน คือการดำเนินปฏิปทา
ซึ่งเราควรหยิบยกมาปฏิบัติให้พอดีแก่นิสัยวาสนาของเรา
นิสัยของคุณไม่ใช่นิสัยที่จะอยู่นิ่งๆ โดยอาการบังคับจิตไม่ให้คิดนึก
ที่ถูกควรค้นคว้าพิจารณาในขันธ์ภายนอกภายในด้วยปัญญาอยู่เสมอ
แต่ระวังความหมายรู้ล่วงหน้าไปก่อน จะเป็นการมักง่ายเกินไป
จะเสียทางปัญญาเรื่องอารมณ์

อดีตอนาคตไม่ควรโน้มน้าวมาสู่ใจที่บริสุทธิ์อยู่ในปัจจุบัน
จะทำจิตซึ่งตั้งอยู่ในปัจจุบันอันบริสุทธิ์ให้ขุ่นมัว
อดีตอนาคตไม่ใช่ตัวกิเลสและบาปธรรม ไม่ใช่ตัวนรก สวรรค์ และนิพพาน
ดวงจิตที่รู้อยู่ในปัจจุบันนี้เองจะเป็นดีเป็นชั่ว
ในเมื่อเราปล่อยไปคว้าอารมณ์ทำให้เป็นอดีตอนาคตขึ้น
ตัวปัจจุบันเลยหลงหลักที่ถูกแท้
จิตซึ่งรู้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้ไปทำเสียหายชั่วร้ายอะไร
มีแต่การชำระตนอยู่ด้วยปัญญา
แม้ว่าท่านพระอริยเจ้า ในคราวท่านหลงท่านก็ทำบาป
แต่เมื่อรู้ตัวแล้วท่านพยายามละโดยปัจจุบัน ก็หลุดพ้นได้อย่างทันตา

ภพก่อนเราจะเคยทำดีทำชั่ว แต่เราจำไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน
ตกลงคนเราร้อนก็เพราะสัญญาความจำของตนเอง
หากว่าขณะใดเราลืม มิได้เอาใจใส่ที่เราเคยเดือดร้อน
ขณะนั้นเราก็สบายเป็นธรรมดาของจิตไปเสีย
ที่เล่ามานี้คือโทษของอดีตที่เราไม่สำรวม แล้วปล่อยให้คิดตามอำเภอใจ
ดังนั้น ความผิดหรือถูกมีทุกคน
แต่เวลานี้เราไม่ทำและไม่ตั้งใจจะสั่งสมเก็บเอาไว้
เราตั้งใจจะบำเพ็ญหรือสั่งสมเก็บเอาไว้เฉพาะธรรมที่เป็นปัจจุับัน
อันสัมปยุตด้วยปัญญาเครื่องแก้ไขกิเลสและบาปธรรมอันเป็นทางพ้นทุกข์เท่านั้น

ดังนั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นในจิตซึ่งเป็นฝ่ายนิวรณ์
เราพึงทราบด้วยปัญญาทันทีว่าสิ่งนั้นคือมายาของจิตเอง
ไม่ใช่บาปกรรมมาจากอื่นที่ไหนเลย
การอบรมจิตจึงต้องรู้มายาของจิต
ไม่อย่างนั้นจะหลงกลมายาของจิต หาความบริสุทธิ์ไม่ได้เลย
เมื่อเรารู้มายาของจิตที่หลอกลวงเราทุกอย่างด้วยปัญญาแล้ว
จิตจะไปหามายามาจากไหนอีก
เหมือนเรารู้กลอุบายของคนที่จะมาหลอกลวงเรา
เราไม่เชื่อเขาแล้ว เขาจะต้มเราได้ที่ไหน
อันนี้ก็ฉันนั้น เมื่อกำลังสติปัญญารู้ทันความปรุง ความคิด หรือความหมายอยู่แล้ว
อาการเหล่านี้ก็ค่อยหมดมายาไปเอง
จิตเมื่อได้สติกับปัญญาเป็นพี่เลี้ยง
คอยสอดส่องความชั่วร้ายหมายโทษมิให้เกิดขึ้นได้
จิตก็จะนับวันผ่องใสบริสุทธิ์ไปเอง

นี่แหละคุณทั้งสอง อุบายเครื่องแก้ทุกข์ให้พ้นได้ในปัจจุบัน
ไม่ต้องไปคำนึงคำนวณถึงอำนาจวาสนาที่ไหน
การชำระใจให้บริสุทธิ์อยู่ทุกเมื่อด้วยสติปัญญามิได้ขาดวันขาดคืน
ห้วงน้ำในมหาสมุทรก็นับวันจะตื้นขึ้นทุกที
ความดีนับวันมากล้น ก็พ้นได้ตามใจหวัง เอวํ โปรดได้พิจารณาด้วยปัญญา

ขอให้พากันสนใจ สมบัติใหญ่ได้แล้วกินไม่รู้จักหมดสิ้น
แม้แผ่นดินหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์จะหมดไป
สมบัติใหญ่เรายังคงที่ไม่แปรผัน เป็นของอัศจรรย์เหลือโลก
โชคเรามีจึงได้เกิดมาพบศาสนา มีศรัทธาได้หว่านพืชอย่าได้จืดจาง
จงพยายามปล่อยวางด้วยปัญญา.


บัว

smiley smiley smiley

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2015, 17:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปน

ฉบับที่ ๕
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๙


ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามแนวที่ได้อธิบายให้ฟังแล้วในจดหมายทุกๆ ฉบับ
อย่าส่งจิตใจไปอื่นนอกจากกายกับจิตให้เกินกว่าเหตุ จะเสียเวลา
ทั้งจะนำความกังวลเดือดร้อนมาเผาผลาญเราเปล่าๆ
และขอแนะนำย้ำอีกว่า...
อย่าแสวงหาสันติธรรมคือพระนิพพานนอกไปจากกายกับจิต


ปัจจุบันเป็นบ่อเกิดแห่งบุญแลบาป
อดีตอนาคตไม่ใช่บุญแลบาป และมิใช่บ่อเกิดแห่งบุญแลบาป
ปัจจุบันนี้เองเป็นตัวบุญตัวบาป
เมื่อเรารักษาจิตให้อยู่ในปัจจุบันด้วยความมีสติแล้ว
กิเลสบาปธรรมที่ไหนจะเลื่อนลอยมาครอบงำจิตให้เราได้รับความเดือดร้อนเล่า

เหตุที่เราจะเดือดร้อนขุ่นมัว ก็เพราะปล่อยจิตให้คว้าโน่นคว้านี่ไม่อยู่เป็นสุข
คือคว้าอดีตอนาคตซึ่งเหมือนน้ำลายถ่มทิ้งแล้ว
คว้ากลับเข้ามาใส่ปากอีก ย่อมน่าสะอิดสะเอียนต่อลิ้นไม่น้อยเลย
อารมณ์หรือสิ่งที่ชั่วอะไรก็ตามที่ผ่านพ้นไปแล้ว
เราก็รู้แล้วว่าไม่ดียังคว้ากลับคืนมาเผาจิต
อันนี้ยิ่งร้ายกว่าน้ำลายที่ถ่มทิ้งเสียอีก เลยหาความเย็นไม่ได้เลย

เราอยู่ดีกินดีอย่าหาเรื่องใส่เรา
เราต้องการจะให้ไฟดับ ต้องไสฟืนออก แล้วไฟจะค่อยดับเอง
จิตถ้าได้เชื้อ คือ อดีต อนาคต เป็นปัจจุบันหนุนหรือส่งเสริมอยู่แล้ว
ก็จะไปกันใหญ่เหมือนไฟได้เชื้อฉะนั้น
ดังนั้น จึงควรรักษาจิตให้มีอารมณ์ที่ดีเป็นเครื่องดื่มโดยปัจจุบัน
ก็นับวันจะสงบสบายคลายจากสิ่งที่เป็นข้าศึก
จะมีแต่ความสงบสุขทุกอิริยาบถ
จึงจะสมนามว่าผู้ฉลาดทรมานจิตให้หายพยศได้

อนึ่ง สัตว์พยศเขายังทรมานได้ ธรรมดาจิตเมื่อมีกิเลสก็ต้องมีพยศ
เราจะหักห้ามหรือทรมานให้จิตหายพยศไม่ได้ จะเรียกว่าคนฉลาดที่ตรงไหน
เมื่อเราทรมานจิตได้มากน้อยก็ชื่อว่าเป็นคนฉลาดโดยลำดับ
จนถึงเรียกว่าเป็นคนฉลาดได้ (ยอดนักปราชญ์) เอวํ สวัสดี.

บัว

tongue tongue tongue

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2015, 17:15 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปน

ฉบับที่ ๖
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
๑ พฤษภาคม ๒๕๐๐


แม่ทองแดง เมื่อมีคนส่งเสริมมากเท่าไหร่
ก็พึงทราบว่าจะมีคนนินทามากเท่าเทียมกัน
ดังนั้นความเคลื่อนไหวในกิริยาใดๆ
ผู้ที่ได้เห็นหรือได้ยินในกิริยานั้นๆ จึงเก็บไว้ภายในใจ

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนายังถูกโลกธรรมรุมตี
แต่ก็คงเป็นพระพุทธเจ้าตามเดิมจนวันเข้านิพพาน
เราทุกคนมีพุทธประจำตัว เมื่อชำระให้บริสุทธิ์แล้ว
แม้โลกธรรมจะรวมหัวกันหมดทั้งโลกมาโจมตี ก็คงบริสุทธิ์อยู่ตามเดิม
เพราะความบริสุทธิ์นั้นไม่ใช่โลกธรรมๆ
จึงไม่สามารถแทรกซึมหรือลบล้างความบริสุทธิ์นั้นได้
ความจริงแท้ๆ (แก่นแท้) มีอยู่กับท่านผู้ใด
จะเป็นหญิง ชาย หรือนักบวชใดๆ
เพียงว่าผู้นั้นแย้มออกมาเท่านั้น เราก็พอรู้หรือพอเข้าใจได้

เราอย่าหลงกระพี้คือเห่าหอนของโลก
หูตาเรามี ใจเรามี ดูให้ดี ฟังให้ดี คิดให้ดี จะเห็นของดี (นักปราชญ์ภายนอกภายใน)
หนีจากตาหูและใจ ปัญญาของเราไปไม่พ้น
ต้นไม้บางชนิดมีแก่นอยู่ข้างนอก เช่น ต้นตาล เป็นต้น
บางชนิดมีแก่นอยู่ข้างในมีไม้พะยูงเป็นต้น คนเราก็ฉันนั้น
ดีนอกก็มี เช่น มีแต่กิริยามารยาทคำพูดถูกกาลเทศะ
สำนวนโวหารไพเราะ ภายในเหมือนถ่านไฟ
ดีในก็มี เช่น สมัยนี้ดีในมีน้อย ส่วนดีนอกตามสัญญาจะเหลือโลกอยู่แล้ว
เราสมาคมคบหาใคร ดูให้ถึงตา ถึงหู ถึงใจ
อย่าหลงตามใคร เมื่อถึงใจแล้วจับให้มั่น
ใครจะเห่าหอนแทะกัดไปอย่างไรไม่ต้องหวั่นไหว
นั่นแลท่านว่าใจนักปราชญ์

อนึ่งสมัยนี้นักวิทยาศาสตร์เจริญ สุนัขบ้าก็ชุมไปตามๆ กัน
เรารีบเตรียมยาไว้ติดตัว ไม่อย่างนั้นจะแย่.

บัว

onion onion onion

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 18 เม.ย. 2015, 17:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ : ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปน

ฉบับที่ ๗
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
๘ กรกฎาคม ๒๕๐๐


การเจ็บป่วยเป็นเทวทูตประจำตัว
ขออย่าได้ประมาทนอนใจ
โปรดพิจารณาตามบริเวณที่เจ็บป่วยนั้นแล
ให้เห็นด้วยปัญญาประจักษ์ว่า
อวัยวะทั้งหมดนี้เป็นของแน่เหลือเกิน
ที่จะเป็นเครื่องทับถมเราให้ได้รับความทุกข์
และไม่ตั้งอยู่นาน
ทั้งหาสาระอะไรไม่ได้
ทั้งจะตั้งหน้าไปสู่ความแตกสลายโดยถ่ายเดียวเท่านั้น
ต่างก็มีอยู่เป็นไปอยู่ด้วยกันอย่างนี้ทั่วโลก
หาที่หลบภัยไม่ได้เลย

แม้พระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนสามัญชนธรรมดา
ภัยอย่างอื่นๆ เราพอหลบหลีกได้บ้าง
ภัยอย่างนี้ต้องหลบหลีกด้วยปัญญา
คือหยั่งทราบตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าเป็นเข้าท่านมียาแก้
เราทั้งหลายไม่ค่อยมียาแก้ ต่างกันที่ตรงนี้.

บัว

tongue tongue tongue


:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

เจ้าของ:  ลูกหว้า [ 19 เม.ย. 2015, 09:04 ]
หัวข้อกระทู้:  ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๕๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ฉบับที่ ๘
วัดป่าบ้านตาด อุดรฯ
๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๐


การพิจารณากาย-จิต ให้ถือว่าเป็นกิจสำคัญประจำอิริยาบถ และโปรดระวังอย่าปล่อยให้จิตไปสำคัญหมายรู้ไว้ก่อน จะทำความตั้งใจในปัจจุบันที่มีต่อกาย-จิตให้เคลื่อนไหวไปตาม จะไม่เห็นความจริงที่มีประจำกาย-จิต พึงทำเหมือนเราเปิดหีบสิ่งของ ซึ่งส่งมาจากทางอื่นที่เราไม่เคยรู้สิ่งของภายในหีบมาก่อน ตั้งเจตนาไว้เพื่อจะดูเฉพาะสิ่งของภายในหีบเท่านั้น จนกว่าเราเปิดออกดู จะรู้ว่ามีอะไรบ้างในหีบนั้น การพิจารณากายก็พึงตั้งเจตนาไว้ว่ากาย-จิตเรานี้ก็เท่ากับหีบอันหนึ่ง แล้วพึงตั้งจิตไว้เฉพาะหน้า อย่าส่งไปตามสัญญาอดีตอนาคต กำหนดกาย-จิตไว้จำเพาะหน้าจนกว่าจะเห็นความเป็นอยู่ของอาการทั้งหลายที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน และจะเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าจนถึงความแตกดับ พึงพิจารณาให้เป็นปัจจุบันจริงๆ อย่าคาดหมายไปก่อน จะกลายเป็นความสะเพร่าของจิตติดสันดาน เลยจะไม่ได้อุบายอะไรจากการพิจารณากายกับจิต ทั้งจิตเองก็จะไม่มีกำลังความสงบ ตลอดถึงความแยบคายคือปัญญา จะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่ต้องเดือดร้อนไปก่อน

การพิจารณากายกับจิตซึ่งเป็นสถานที่เกิดปัญญาและความหลุดพ้นแท้ จะเป็นไปไม่ได้อย่างไรเล่า นักปราชญ์ท่านได้ชัยชนะจากสมรภูมินี้แท้ (จากกายกับจิต) นอกจากจิตจะไม่เอาเรื่องกาย-จิตมาเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานเสียจริงๆ ความรู้ในกายทุกส่วนซึ่งเกิดจากการคาดคะเน จะไม่เป็นผลที่พึงใจของเรา ในเมื่อเราไม่ผลักดันความรู้ชนิดคาดไปก่อนออกให้ห่างไกล ทรงไว้เฉพาะความรู้ที่เกี่ยวพันกันกับกายในปัจจุบัน นั่นแลจึงจะเป็นความรู้ใหม่เกิดขึ้นมาแทนตัว จึงจะเป็นความรู้สามารถรักษาจิตให้เที่ยงตรงต่อธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นฝ่ายดี ชั่ว และกลางๆ เราเริ่มพิจารณาคราวใดก็พึงตั้งจิตไว้ทำนองนี้ อย่าปล่อยให้จิตรู้หลอกไปก่อน


ส่วนผลคือความสงบสุขนั้น เป็นของเกิดเองจากการพิจารณาถูก เราไม่ต้องเดือดร้อนว่าจะไม่พ้นทุกข์ ทุกข์มันอยู่ที่กาย-จิตนี้เท่านั้น เพราะกิเลสอยู่ที่นี่จึงต้องพิจารณาที่นี่ เรียกว่าแก้ทุกข์หรือแก้กิเลส เราอย่าส่งจิตไปสวรรค์ นิพพาน นรกที่ไหน นรกคือความเดือดร้อนอันวุ่นวาย นิพพานคือความสงบสุข เมื่อชำระใจของเราได้ดีแล้ว ด้วยสติปัญญาและความเพียรจริงๆ เราจะรู้ได้ทั้งนรก ทั้งสวรรค์ และนิพพาน ณ ภายในจิตของเรานี้เท่านั้น หาไปรู้ที่อื่นไม่

คนทั้งหลายรู้ธรรมทั้งหลายแล้วไม่พ้นทุกข์ ทั้งกลับเป็นเสี้ยนหนามยอกแทงตนและผู้อื่นเข้าด้วยซ้ำ แต่พระพุทธเจ้าแลสาวกรู้ธรรมแล้วพ้นทุกข์ไปเลย พร้อมๆ กับความรู้ธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุใดระหว่างคนทั้งสองสามจำพวกนี้จึงต่างกันเล่า ก็เพราะความรู้เกิดจากปัจจุบันจิตอันกลายเป็นปัญญาไปในตัว กับความรู้คาดคะเน (สัญญา) มันต่างกันราวฟ้ากับแผ่นดินนั่นเอง จึงสามารถแปรคนทั้งสองจำพวกให้ต่างกัน เหตุที่ความรู้ที่เป็นปัจจุบันจิตจะเกิดได้ ก็ต้องพิจารณาปัจจุบันธรรมคือกายกับจิตนี้เอง เพราะกาย-จิต เป็นสถานที่สั่งสมกิเลสและเป็นสถานที่ถอดถอนกิเลสแลกองทุกข์ทั้งมวล ฉะนั้นเราควรตั้งจิตไว้โดยทำนองที่ว่าให้จิตอยู่กับกายจิตจริงๆ จนเรียกปัจจุบันได้เต็มที่ แล้วกระแสของปัจจุบันจิตจะกระจายแสงสว่าง คือ ปัญญาออกตามอาการของกายแลอาการของจิตโดยรอบคอบ จากนั้นก็จะได้เห็นทุกสิ่งทั้งที่เป็นคุณเป็นโทษ ปรากฏด้วยปัญญาอันชอบแท้ ตลอดกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน จะเรียกว่าฟังธรรมทุกเวลาก็ได้

ความเกิดแก่เจ็บตาย เราเคยได้ยินจนชินหู แต่ยังไม่ซึ้งถึงปัญญาแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่มีรสชาติพอที่จะให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ ทั้งนี้ก็เพราะสัญญาหมายกันไปเท่านั้น หาได้เป็นปัญญาหยั่งทราบความเกิดแก่เจ็บตายอย่างแท้จริงไม่ ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายซึ่งรู้ธรรมของพระองค์ด้วยสัญญา จึงกลายเป็นเจ้าแห่งทุกข์ แห่งกงจักรสังสารวัฏอีกด้วย คำว่า กงจักร เป็นต้น พึงทราบใกล้ๆ และย่อด้วยว่า กาย-จิตและอาการของจิตนี้เอง หมุนตัวเองให้หลงรัก-ชังในวัตถุและอารมณ์ทั้งที่เป็นภายนอกและภายในอยู่ไม่มีเวลาหยุดยั้งได้ ฉะนั้นจึงควรพิจารณาตัวกงจักรเป็นต้นนี้ ให้แยบคายด้วยปัญญาอยู่เฉพาะหน้า นักปราชญ์ท่านไม่หนีจากกายกับจิต ถือเป็นนิมิตประจักษ์ใจทุกเวลา ใช้ปัญญาสอดส่องอยู่เสมอ จึงสามารถพ้นจากสมมุติถึงวิมุตติ คือสภาพที่หาสมมุติบัญญัติไม่ได้แม้แต่น้อย นี่แหละเรียกว่า พ้นจากกงจักรตัวหมุนเวียน เราพึงทราบกงจักรหรือสังสารวัฏว่าอยู่ที่ไหนแน่ โดยนัยที่อธิบายมานี้ จะได้หายสงสัยกันเสียที

พระมหาบัว

เจ้าของ:  อุบาสกน้อย [ 27 ก.พ. 2018, 09:45 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ : หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  AAAA [ 27 พ.ค. 2019, 12:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 10 ธ.ค. 2020, 19:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

Kiss
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  Duangtip [ 10 ต.ค. 2021, 22:17 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๕๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  sirinpho [ 04 พ.ค. 2022, 17:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๕๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ดาราวรรณ [ 08 เม.ย. 2023, 09:34 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ธัมมะในลิขิต ฉบับที่ ๑-๕๗ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

Kiss :b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/